Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com


The Midnight University

Intellectual Property, Internet, Commons, Public Domain

ทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรส่วนรวม และอินเตอร์เน็ต
ข้ออ้างห่วยแตกเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และอินเตอร์เน็ต (๒)
ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทความชิ้นนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
รวบรวมผลงานวิชาการทางกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรส่วนรวม
และการปรับใช้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญาและอินเตอร์เน็ต

เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ปัจจุบันผู้ถือสิทธิหวงกันในทรัพย์สินทางปัญญาได้ใช้สิทธิหวงกันมากขึ้นตามลำดับ
เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางพาณิชย์อย่างไม่สิ้นสุด
บทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า ผู้ถือสิทธิหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาใช้สิทธิของตนเกินพอดี
จนกระทบต่อรากฐานระบบทรัพย์สินทางปัญญา ที่ต้องการกระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์ผลงาน
และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเป็นหลัก อันเป็นการทําลายสมดุลย์ระหว่างผลประโยชน์ของสังคมและผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิ
และยังได้ไปทําลายจิตใจสาธารณะอันเป็นวัฒนธรรมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ซึ่งให้ความสําคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 993
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18.5 หน้ากระดาษ A4)




รวบรวมผลงานวิชาการทางกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรส่วนรวม
และการปรับใช้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญาและอินเตอร์เน็ต
Review the Literatures of the Commons,
And Its Application to the Intellectual Property and the Internet

ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

ต่อจากตอนที่ ๑ (คลิกกลับไปทบทวน)

3.2 ทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญา
โดยหลักการแล้ว "ทรัพย์สินทางปัญญา" เป็นสิทธิหวงกัน (exclusive right) การใช้ประโยชน์ในงานสร้างสรรค์ เช่น งานลิขสิทธิ์, งานสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า โดยให้สิทธิการใช้ประโยชน์แก่บุคคลที่สร้างสรรค์งานแต่เพียงผู้เดียว ภายในช่วงระยะเวลาจำกัดหนึ่งๆ และกำหนดให้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นตกเป็นของสาธารณะ (public domain) ในภายหลัง ทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นสิทธิหวงกันที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผล 3 ประการหลัก

ประการแรก เพื่อชดเชยต้นทุนต่างๆ ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ลงทุนลงไป เช่น แรงกาย แรงสติปัญญา และเวลา รวมถึง เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น อันเป็นไปตามแนวความคิดในเรื่องความยุติธรรมตามธรรมชาติ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบุคคลที่ผู้สร้างสรรค์งาน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์โดยชอบที่จะได้ประโยชน์จากความอุตสาหะนั้นของตน (55)

ประการที่สอง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่และการเผยแพร่งานนั้นออกสู่สาธารณะ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานแก่มนุษยชาติต่อไป มิฉะนั้นแล้ว ผู้สร้างสรรค์งานก็จะมีเพียงทางเลือกเดียวที่จะต้องเก็บผลงานเป็นความลับไว้กับตัวเองเท่านั้น และต้องสูญหายไปตามกาลเวลา

ประการที่สาม ขณะที่เราตระหนักว่า ผู้สร้างสรรค์ได้ลงทุนลงแรงลงไปเพื่อสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งๆ แต่จะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่างานสร้างสรรค์ทุกงาน ล้วนสร้างสรรค์มาจากการรับรู้และต่อยอดมาจากผลงานของผู้สร้างสรรค์คนก่อนๆ การอ้างความเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์อย่างเด็ดขาดทั้งหมดจึงเป็นเรื่องเกินจริงและไม่สมเหตุสมผล

ดังคำเรียก งานนวัตกรรม ว่าเป็น "การยืนขึ้นไปบนบ่าของยักษ์ทั้งหลาย" (standing on the shoulders of giants) ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดทางความคิดได้เป็นอย่างดี หรือในตัวอย่างของงานเขียนที่มีการแลกเปลี่ยนและตรวจสอบความคิดเห็นกันอยู่ตลอด ย่อมทำให้เกิดการสังเคราะห์ทางความคิดอันเป็นประโยชน์มากกว่าความคิดของคนเพียงคนเดียว (56)

ข้อนี้อาจสังเกตได้จากหลักพื้นฐานของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่กำหนดให้พิจารณาระดับความสร้างสรรค์ของผลงานแต่ละประเภท โดยไม่ต้องถึงขนาดที่จะต้องสร้างสรรค์เองขึ้นมาทั้งหมด เช่น การพิจารณาระดับความสร้างสรรค์ด้วยตนเอง (originality) ในงานลิขสิทธิ์ ข้อนี้จะสังเกตได้ว่า งานแปลก็มีลิขสิทธิ์ได้ด้วยโดยไม่ต้องสร้างสรรค์เองทั้งหมด (57) หรือ งานสิทธิบัตรที่ต้องพิจารณา ความใหม่ (novelty), ประกอบกับ ระดับขั้นการพัฒนาที่สูงขึ้น (inventive step) และประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม (capable of industrial application) ของงาน (58)

โดยเหตุนี้จึงต้องยอมรับว่า งานสร้างสรรค์นั้นไม่ใช่ผลงานของผู้สร้างสรรค์เองทั้งหมด แต่เป็นการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของมนุษยชาติที่ต่อเนื่องกันไป สิทธิหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างแรงจูงใจแก่ผู้สร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะกับประโยชน์สาธารณะ ที่จะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของคนก่อนเพื่อสร้างสรรค์งานใหม่แก่สาธารณะต่อไป

Thomas Jefferson เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาว่า

"…ธรรมชาติสร้างให้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถหวงกันเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาด ตราบเท่าที่บุคคลเก็บรักษาความคิดนั้นเอาไว้กับตัว แต่เมื่อเขาได้เปิดเผยความคิดนั้นออกมา ความคิดนั้นก็จะกลายเป็นสมบัติของส่วนรวมไปในทันที และผู้ที่ได้รับรู้ความคิดนั้นก็ไม่สามารถแยกตัวเองออกจากความเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นได้ ลักษณะที่น่าสนใจก็คือ ไม่มีใครครอบครองสมบัติชิ้นนี้น้อยกว่าใคร เพราะทุกคนครอบครองสมบัติชิ้นนี้ทั้งหมดด้วยกัน

ใครที่รับรู้ความคิดของผม ไม่ได้ทำให้ผมครอบครองความคิดของตัวเองน้อยลง เป็นดั่งคนที่จุดเทียนของตัวเองจากเปลวไฟของผม ย่อมไม่ทำให้เปลวเทียนของผมส่องสว่างน้อยลง ความคิดสร้างสรรค์จึงควรที่จะเผยแพร่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งอย่างเสรีทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทางความคิดร่วมกันของมนุษย์และเพื่อการพัฒนาตัวเองต่อไป ความจริงข้อนี้จึงเป็นเรื่องการเอื้อเฟื้อและเอื้ออำนวยซึ่งกันและกันอย่างน่าทึ่งที่ถูกออกแบบมาแล้วโดยธรรมชาติ

เมื่อเราจุดไฟขึ้นย่อมส่องสว่างไปทั่วบริเวณโดยไม่ทำให้ที่อื่นดำมืดไป เหมือนอากาศที่เราใช้หายใจ, อาศัย, และเคลื่อนไหวร่างกายของเรา ย่อมไม่อาจถูกจำกัดหรือถูกครอบครองหวงกันไปได้ และเช่นเดียวกันกับการประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ โดยธรรมชาติแล้วย่อมไม่สามารถนับเป็นสมบัติที่ใครจะครอบครองเอาไว้ส่วนตัวได้

สังคมอาจให้สิทธิหวงกันประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนมีความคิดสร้างสรรค์อันอาจเป็นประโยชน์ได้ แต่ประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะมีต่อสังคมจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายและความเอื้ออำนวยของสังคมไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเดือดร้อนจนเกินไป การให้สิทธิหวงกันแก่การประดิษฐ์คิดค้น จึงไม่ใช่สิทธิตามธรรมชาติแต่เป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นตราบเท่าที่ยังเป็นประโยชน์แก่สังคม" (60)

การเปรียบเทียบคุณลักษณะการเผยแพร่ความคิด กับการจุดเทียนแห่งปัญญาของ Jefferson นั้นเรียบง่ายและตรงประเด็นโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก ทรัพย์สินทางปัญญาจึงไม่ใช่สิทธิที่มีได้ตามธรรมชาติ เป็นเพียงแต่สิทธิที่สร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์เฉพาะด้านเท่านั้น

เมื่อก้าวเข้าสู่บริบทของอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีสารสนเทศได้แยกเอาข้อมูลและการแสดงออกทางความคิดออกจากสื่อกลางที่ใช้เผยแพร่ทางกายภาพ การหวงกันทางปัญญาที่เคยอาศัยหลักกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน ย่อมไม่สามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมในยุคสารสนเทศ (61) กรณีจึงไม่ใช่ประเด็นที่อินเตอร์เน็ตสร้างปัญหาให้แก่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่อินเตอร์เน็ตได้ทำให้เราได้เห็นธรรมชาติของการจุดเทียนทางปัญญาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปัญหาย่อมเกิดขึ้นหากเรายึดติดกับการหวงกันและการโฆษณาเผยแพร่งาน (publication) ทางกายภาพแบบเก่าที่ไม่ใช่ลักษณะตามธรรมชาติของทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นข้อยกเว้นที่สังคมเห็นว่าจำเป็น (necessary evils) (62) ต้องสร้างขึ้นด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว ที่ต้องการจะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์งานขึ้นมา (63) ทั้งนี้อยู่ภายใต้หลักทั่วไปว่าด้วยทรัพยากรร่วมกันทางปัญญาของมนุษยชาติ (64)

3.3 อินเตอร์เน็ตไร้พรหมแดน
อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นมาจากข้อจำกัดทางการสื่อสารระหว่างกันของเครือข่ายต่างประเภท เพราะแต่ละเครือข่ายถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่เฉพาะด้านต่างๆ กัน ทำให้มีอุปสรรคในการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายเป็นอันมาก จึงเป็นที่มาของการสร้างมาตรฐานการเชื่อมต่อ (Open System Interconnection) เครือข่ายแบบเปิดและได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ARPANET, X.25, UUCP และ TCP/IP เป็นต้น (65)

จากนั้นระบบ TCP/IP ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นโดยการพัฒนาต่อยอดของ European Organization for Nuclear Research - CERN และขยายครอบคลุมไปทั่วโลกในปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตจึงเป็นช่องทางการสื่อสาร (medium) ที่มีพื้นฐานมาจากความพยายามพัฒนาเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ด้วยมาตรฐานเปิดแบบเดียวกันทั้งระบบ พัฒนาการของอินเตอร์เน็ตจึงเป็นไปในทิศทางที่มีลักษณะของการต่อยอดจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ และขยายต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ คุณค่าของอินเตอร์เน็ตจึงมีมากขึ้นตามขนาดของเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้น

ในทางกฎหมายพบว่ามีปัญหาอันเนื่องมาจากการเชื่อมต่อของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ไร้พรหมแดน ขณะที่ระบบกฎหมายแบ่งแยกตามพรหมแดน (territorial-based legal systems) ของประเทศทำให้ไม่สามารถปรับใช้กฎหมายตามพรหมแดนได้ กับลักษณะของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ไร้พรหมแดนดังกล่าว จึงมักเกิดเป็นปัญหาการตีความและการปรับใช้ระบบกฎหมายที่มีอยู่ เช่น

การตีความการเผยแพร่งานสู่สาธารณะ (publication) ผ่านอินเตอร์เน็ตตามกฎหมายเดิมที่การเตรียมไฟล์งานเพียงไฟล์เดียวก็เพียงพอแล้วที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านอินเตอร์เน็ต หรือปัญหาการพิจารณาประเทศที่เป็นต้นกำเนิดงาน (country of origin) (66) เป็นต้น

David R. Johnson (67) และ David G. Post (68) เสนอความเห็นที่สำคัญประการหนึ่งว่า การสื่อสารอินเตอร์เน็ตได้ก่อเกิดพื้นที่ใหม่สำหรับชุดกฎเกณฑ์ใหม่ทางกฎหมาย ให้มีโอกาสได้พัฒนาขึ้นมาโดยการพัฒนาชุดกฎเกณฑ์ใหม่นี้ก็เพื่อ ให้เหมะสมกับบริบทเฉพาะของอินเตอร์เน็ต เพราะระบบกฎหมายย่อมเป็นสิ่งสะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคม ลักษณะพิเศษเฉพาะของอินเตอร์เน็ตก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกทางกายภาพ กฎหมายอินเตอร์เน็ตย่อมบังคับใช้แก่ตัวบุคคล (subjects) บนอินเตอร์เน็ตในรูปแบบที่อ้างอิงกับ email หรือ นามสมมติ โดยไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบุคคลจริง (subjects) ในโลกทางกายภาพได้ และย่อมส่งผลให้สิทธิและหน้าที่ของบุคคลบนอินเตอร์เน็ตแตกต่างไปจากสิทธิและหน้าที่ของบุคคลจริงทางกายภาพ

หลักการทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น หลักความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติและหลักกฎหมายทรัพย์สินย่อมไม่สามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับอินเตอร์เน็ต ชุดกฎเกณฑ์ใหม่นี้ย่อมไม่อาจพัฒนาขึ้นมาได้จากหลักการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์ แต่ต้องเป็นไปตามหลักความยินยอม (consensually based rule sets) ข้อพิจารณาที่สำคัญก็คือ หลักเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) นั้นเป็นสิ่งสำคัญ และได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญมากที่สุดในโลกทางกายภาพ เพราะเมื่อรัฐาธิปัตย์จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะเสรีภาพในการพูดแล้ว ประชาชนไม่สามารถต่อสู้หรือหลีกหนีจากประเทศหรือเขตอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวได้โดยง่าย เพราะย่อมหมายถึงต้นทุนมหาศาลและความเจ็บปวดที่จะต้องแลกมา พัฒนาการของกฎหมายในหลายศตวรรษที่ผ่านมาจึงเป็นไปเพื่อลดทอนอำนาจของรัฐาธิปัตย์และรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่ในบริบทของอินเตอร์เน็ต บุคคลที่มีทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้และเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว ย่อมสามารถหลีกหนีออกจากเขตอำนาจทางกฎหมายบนอินเตอร์เน็ต (หากได้มีการสร้างขึ้นมาแล้ว) ที่ตัวเองไม่ต้องการได้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนบนอินเตอร์เน็ตย่อมแตกต่างไปจากรัฐกับประชาชนทางกายภาพอย่างสิ้นเชิง (69)

แม้อินเตอร์เน็ตจะพัฒนาขึ้นมาบนมาตรฐานแบบเปิด และขยายขอบเขตไปกว้างขวางทั่วโลกจนเป็นเสมือนช่องทางที่เปิดกว้างและเสรี ในการสื่อสารและเผยแพร่งานไร้พรหมแดน Professor Lawrence Lessig (70) ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาการสิ้นเสรีภาพของอินเตอร์เน็ต โดยชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างการควบคุม (architectures of control) ในอินเตอร์เน็ตที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตจนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของระบบเช่น password, cookie (71), digital certificate (72) , และ cryptography (73) เป็นต้น แม้ว่าจะมีความลังเลไม่เชื่อถือระบบควบคุมเหล่านี้ในตอนแรก แต่ปัจจุบันระบบควบคุมเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะกลายเป็นเครื่องมือที่จะควบคุมอินเตอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ (perfect control) ในอนาคต (74)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้บริหารสิทธิในการจัดจำหน่าย และควบคุมการเผยแพร่งานสร้างสรรค์ทั้งหมดผ่านระบบควบคุมข้างต้น อนาคตของอินเตอร์เน็ตกำลังจะตกอยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง AOL Time Warner และ Microsoft นวัตกรรมหรืองานสร้างสรรค์ใดจะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของบริษัทเหล่านั้น ขณะที่เราทุกคนให้ความสำคัญกับทรัพย์สินเอกชน (property right) มากเสียจนลืมที่จะจำกัดขอบเขตของทรัพย์สินเอกชนเหล่านั้น ช่องทางการสื่อสารที่เสรีที่สุดก็จะถูกปิดลงโดยที่เรายังไม่ทันสังเกตหรือคัดค้านได้ทัน (75) 999999999999

3.4 ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญาและอินเตอร์เน็ต
ปัจจุบันได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาในหลายรูปแบบ เช่นที่ Professor Carol M. Rose (76) เสนอให้สร้างกลุ่มสังคมแห่งการสร้างสรรค์ (creative community) โดยเผยแพร่ความคิดกันอย่างเสรีภายในกลุ่ม โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา กลุ่มก็จะสามารถหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นหากมีผู้ใดจะนำไปใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ภายนอกกลุ่ม เช่นเดียวกับลักษณะการจัดการทรัพยากรส่วนรวมของ Elinor Ostrom โดยเปรียบเทียบกับ res universitatis ที่ทรัพย์สินเป็นของกลุ่มคณะและจัดการกันเอง ในลักษณะที่เป็นทรัพยากรส่วนรวมภายในกลุ่ม แต่เป็นทรัพย์สินที่หวงกันจากภายนอก แต่ก็เห็นว่าในท้ายที่สุดความสร้างสรรค์ทั้งหลายก็ควรตกแก่สาธารณะ (public domain) (77)

Professor Yochai Benkler (78) ได้แสดงให้เห็นว่า มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกเหนือไปจากกิจกรรมทางตลาด ที่ได้รับการบันทึกเป็นสถิติเอาไว้ คือ การแบ่งปันกันภายในสังคม (social sharing) ซึ่งมีให้เห็นในชีวิตประจำวันภายในครอบครัว สำนักงาน และในละแวกบ้าน แต่ไม่เคยได้ถูกใช้พิจารณาเพื่อเป็นรูปแบบทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง มีแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการต้นทุนสูงเท่านั้น ที่ได้รับการดูแลและให้ความสำคัญเช่น โรงพิมพ์ขนาดใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์ และเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่

ปัจจุบันอุปสรรคของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการทุนมหาศาลได้ถูกลดทอนลงไปด้วยเทคโนโลยีในยุคข้อมูลข่าวสาร อินเตอร์เน็ตกำลังเข้าแทนที่ช่องทางสื่อสารทุกประเภท การแบ่งปันกันภายในสังคม จึงเป็นกิจกรรมที่มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นเข้าสู่ยุคการผลิตแบบแบ่งปันฉันท์มิตร (peer production) แทนที่สายการผลิต (assembly line) แบบเดิม ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานจากทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญา ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่หลากหลาย การผลิตในยุคข้อมูลข่าวสารจึงดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยสิทธิหวงกัน ที่มีแต่จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการเข้าถึงองค์ความรู้ (79) แนวความคิดในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นมากมายและเกิดเป็นรูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย ดังจะได้ยกตัวอย่างการดำเนินการที่สำคัญ เช่น

- ซอฟต์แวร์เสรี (Free Software) เป็นแนวทางที่ต้องการให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถมีโปรแกรมเสรีให้เลือกใช้ได้ ทดแทนโปรแกรมลิขสิทธิ์ที่เลวร้ายที่ต้องซื้อมาจากผู้ผลิตและติดขัดกับเงื่อนไขมากมาย แนวทางนี้เริ่มต้นจาก GNU project โดย Richard Stallman ในปี ค.ศ.1983 และได้ก่อตั้งมูลนิธิโปรแกรมเสรี (Free Software Foundation) ในอีก 2 ปีต่อมา ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโปรแกรมเสรีในปัจจุบัน โดยได้สร้าง ลิขสิทธิ์สาธารณะ (General Public License - GPL) ขึ้นมาโดยให้สิทธิเสรีแก่ผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ใน

(1) การใช้งานไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด,
(2) การศึกษาการทำงานและแก้ไขโปรแกรม,
(3) การแจกจ่ายซอฟต์แวร์ และ
(4) การพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมและเผยแพร่ต่อภายใต้ GPL แตกต่างจาก ซอฟต์แวร์แบบเปิด (Open Source Software) ที่ผู้เขียนหรือผู้พัฒนาได้เปิดเผยรหัสต้นฉบับ (Source code) แสดงการทำงานของโปรแกรมทุกขั้นตอน ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไป (User) สามารถใช้งานและพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมต่อไปได้สะดวก โดยมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ทางเทคนิคและคาดหวังพัฒนาการที่หลากหลาย แต่ไม่ได้เห็นว่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เป็นสิ่งเลวร้าย ปัจจุบันมีโครงการซอฟต์แวร์เสรีมากกว่า 23,000 โครงการ (80)

- Creative Common (cc) เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรก่อตั้งโดย Professor Lawrence Lessig, Professor James Boyle และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและคอมพิวเตอร์ เมื่อ ค.ศ.2001 เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่งานสร้างสรรค์ให้แก่บุคคลทั่วไป โดยที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถนำไปต่อยอดหรือเผยแพร่ต่อได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย โดยการสร้างวิธีการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์สำหรับการใช้ประโยชน์แก่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่สงวนสิทธิบางอย่างไว้สำหรับผู้สร้างสรรค์ เช่น การอนุญาตให้ใช้แบบไม่สงวนสิทธิ์ใดๆ ไว้เลย (No right reserved) และ การอนุญาตให้ใช้แบบสงวนสิทธิ์บางอย่างเอาไว้ (Some right reserved) เป็นต้น เนื่องจากวิธีการของ cc เกิดขึ้นมาตามกรอบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา จึงได้มีความพยายามปรับปรุงกรอบการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับประเทศต่างๆ แล้ว 31 ประเทศ (81)

- The Electronic Frontier Foundation เป็นองค์กรทางกฎหมายที่ไม่แสวงกำไรของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี ค.ศ.1990 โดย Mitch Kapor, John Gilmore, และ John Perry Barlow ที่รณรงค์เพื่อเสรีภาพในการพูดในบริบทของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน โดยมีส่วนร่วมในการสู้คดีที่สำคัญหลายคดีของสหรัฐอเมริกา, การให้คำปรึกษาและต่อสู้กับการข่มขู่ด้วยลิขสิทธิ์, การให้คำแนะนำแก่ศาลและรัฐบาล, การตรวจสอบและคอยโต้แย้งกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิการใช้ประโยชน์ของส่วนรวม เป็นต้น (82)

- Wikipedia เป็นโครงการสารานุกรมเสรี เพื่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีบนอินเตอร์เน็ต (free culture) ก่อตั้งโดย Jimmy Wales ในปี ค.ศ.2001 โดยให้ผู้ใช้งานทั่วไปร่วมกันสร้างและแก้ไขเนื้อหาได้อย่างเสรีบนพื้นฐานความเห็นที่เป็นกลาง (neutral point of view) ปัจจุบัน Wikipedia มีบทความเป็นจำนวนมากกว่า 3,800,000 บทความและเป็นภาษาต่างๆ กันมากกว่า 130 ภาษา (83)

- มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นมาจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นที่ปรึกษาของหลายกลุ่ม โดยมีโครงการสนทนาปัญหา ศิลปะ ปรัชญา การเมือง สังคม และวิทยาศาสตร์เป็นแกนในการทำกิจกรรม มีเจตจำนงที่จะให้การศึกษาแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนไม่สามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเปิดโอกาสให้กับคนทุกระดับชั้น และทุกระดับการศึกษา เพื่อเข้ามาเรียนกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ โดยเผยแพร่บทความและข้อมูลทั้งหลายภายใต้วิธีการอนุญาตแบบ "ลิขซ้าย" (84) (Copyleft) ซึ่งเป็นวิธีที่อนุญาตเพื่อให้ ใช้, ดัดแปลงแก้ไข, เผยแพร่ผลงาน, และส่งทอดเวอร์ชั่นต่างๆของผลงานนั้นๆได้ ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ "ลิขสิทธิ์" (copyright) (85)

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการสื่อสารแบบเปิดโดยมีเครื่องมือหลัก เช่น คลังข้อมูลดิจิตอล (Digital Repositories) และห้องสมุดออนไลน์ (Online Libraries) เป็นหัวใจสำคัญ และผ่อนคลายการหวงกันการใช้ประโยชน์ข้อมูลในระดับที่แตกต่างกันไป การเคลื่อนไหวเพื่อลดการหวงกันการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่หลากหลายสอดคล้องกับความเห็นที่สำคัญของ Professor James Boyle ที่กล่าวว่า

"ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงเวลาแบบเดียวกับที่นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมได้เริ่มต้นเมื่อทศวรรษ 1950-1960 ช่วงเวลานั้นก็มีกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในบทบาทต่างๆ ร่วมกันเคลื่อนไหว เช่น เจ้าหน้าที่อุทยาน พรานล่าสัตว์ และนักปักษีวิทยา เป็นต้น ในทางทรัพย์สินทางปัญญาเราก็มี นักวิศวกรรมซอฟต์แวร์, บรรณารักษ์, ศิลปิน, นักวิจารณ์, นักเขียนชีวประวัติ, นักวิจัยทางชีววิทยา, ฯลฯ ขณะที่ในช่วงปี 1950 มีความเคลื่อนไหวมากมายเกี่ยวกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติ, และน้ำมันรั่วเป็นมลพิษในแม่น้ำ

ในทางทรัพย์สินทางปัญญา เราก็กำลังเป็นกังวลเกี่ยวกับ พฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันของ Microsoft, ปัญหาจริยธรรมกับการจดทะเบียนสิทธิบัตรพันธุกรรมมนุษย์, และพฤติกรรมการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ข่มขู่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์และวิพากษ์วิจารณ์งานของตน จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาปัจจุบันของเรา มีความจำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการเพื่อแก้ปัญหาทางทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ กรอบทางทฤษฎีที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้เราวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นปัญหา และมุมมองแห่งประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เช่น นักปักษีวิทยา กับ พรานล่านก" (86)

โดยการเน้นย้ำให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญา (public domain) เช่นเดียวกับ โครงสร้างทางนิเวศวิทยา ของสิ่งแวดล้อม (Environment) ก็จะทำให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องแม้จะมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ก็สามารถตระหนักถึงปัญหาและดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันได้ (87)

4. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเครื่องมือสำคัญที่เป็นแรงจูงใจสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม เมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาททำให้การหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาขยายขอบเขตออกไป ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ถูกเน้นย้ำอยู่เสมอมาว่า ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นเมื่อจัดสรรสิทธิให้เอกชนดำเนินการและแข่งขันกัน ทำให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือโดยเข้าใจว่าเป็นความชอบธรรมที่ผู้ถือสิทธิควรจะได้

ปัจจุบันผู้ถือสิทธิหวงกันในทรัพย์สินทางปัญญาได้ใช้สิทธิหวงกันมากขึ้นตามลำดับ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางพาณิชย์อย่างไม่สิ้นสุด บทความนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ถือสิทธิหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาใช้สิทธิของตนเกินพอดี จนกระทบต่อรากฐานระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องการกระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเป็นหลัก อันเป็นการทําลายสมดุลย?ระหว?างผลประโยชน?ของสังคมและผลประโยชน?ของผู?ทรงสิทธิ และทําลายจิตใจสาธารณะอันเป?นวัฒนธรรมของเครือข?ายอินเทอร?เน็ต ซึ่งให?ความสําคัญกับการช?วยเหลือผู?อื่นโดยไม?หวังผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน (88) ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลกเนื่องจากบริบทของปัญหาได้เปลี่ยนไปสู่บริบทของอินเตอร์เน็ตที่ไร้พรหมแดน

ปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวมากมายในเรื่องนี้ แนวทางที่เริ่มเป็นที่ยอมรับและมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การเคลื่อนไหวเพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญา (public domain) และเพื่อยับยั้งและจำกัดขอบเขตการหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาโดยวิธีการต่างๆ เช่น การอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบเปิด (GPL), ห้องสมุดหรือคลังข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น ในประเทศไทยก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เช่น เวปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นต้น

ประการที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนต้องการเน้นย้ำคือ ปัญหาการหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาเกินพอดี เช่นที่ Hardin ได้กล่าวไว้ว่า "ปัญหาที่มนุษย์เผชิญอยู่ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางเทคนิค (no technical solution) เช่น การถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่ หรือการพัฒนาสายพันธุ์ธัญญาหารเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่ต้องเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ (considered professional judgment)"

ปัญหาการหวงกันทรัพย์สินทางปัญญา ที่จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคที่อาจแก้ไขได้ด้วยการสร้าง หรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาทางคุณธรรม การส่งเสริมและรณรงค์ให้เกิดสำนึกร่วมกันถึงความสำคัญของทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญา จึงเป็นแกนสำคัญของการดำเนินการที่จะจำกัดขอบเขตทรัพย์สินทางปัญญา ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงาน โดยก็ไม่กระทบต่อทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญาในภาพรวม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จบตอนที่ ๒ คลิกไปอ่านทบทวนตอนที่ ๑

อ้างอิง

(55) กรมทรัพย์สินทางปัญญา, "เหตุผลในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา", <http://www.ipthailand.org/dip/index.php?option= com_content&task=view&id=20&Itemid=314&limit=1&limitstart=1>

(56) Carol M. Rose, infra note 63

(57) Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works, Article 2

(58) Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPS), Article 27.1

(59) ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา (1743-1826) และเป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independence)

(60) Thomas Jefferson to Isaac McPherson, 1813. ME 13:333, "Property Rights - Rights Associated With Ownership", <http://etext.virginia.edu/jefferson/quotations/>

(61) John Perry Barlow, "The Economy of Ideas - Selling Wine Without Bottles on the Global Net", <http://homes.eff.org/ ~barlow/EconomyOfIdeas.html>

(62) Thomas B. Macaulay, "A Speech Delivered in the House of Commons" (Feb. 5, 1841), in VIII The Life and Works of Lord Macaulay 201 (London, Longmans, Green, and Co. 1897), see James Boyle, supra note 22

(63) Carol M. Rose, "Romans, Roads, and Romantic Creators: Traditions of Public Property in the Information Age", <http://www.law.duke.edu/pd/papers/rose.pdf>, see also Gian Maria Greco and Luciano Flori, supra note 13, pp.6-8

(64) Yochai Benkler, "Free as the Air to Common Use: First Amendment Constraints on Enclosure of the Public Domain", 74 N.Y.U. L. REV. 354, 361, 424 (1999)

(65) (1) ARPANET เป็นโครงการวิจัยขั้นสูงเพื่อการป้องกันประเทศที่เริ่มในปี ค.ศ.1969 ในสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดย สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงเพื่อการป้องกันประเทศ (Defense Advanced Research Projects Agency) ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ด้วยระบบ hypertext และ graphical user interface ที่ในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็นอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน, (2) X.25 เป็นมาตรฐานการสื่อสารหนึ่งตาม ITU-T เพื่อใช้กับการเชื่อมต่อผ่านระบบโทรศัพท์หรือ ISDN โดยการกำหนดมาตรฐาน 3 ชั้น (layers) ได้แก่ physical, data link, และ network ตาม OSI model, (3) UUCP - Unix to Unix CoPy เป็นคำเรียกโปรแกรมและวิธีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ที่สามารถสั่งให้ copy ไฟล์ได้ระหว่างเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Unix, (4) TCP/IP เป็นชุดมาตรฐานการสื่อสารคอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วย Transmission Control Protocol และ Internet Protocol ที่เริ่มต้นวิจัยโดย DARPA ในปี 1977 ต่อจากที่ได้สร้าง ARPANET แล้ว, see Wikipedia, "Defense Advanced Research Projects Agency", <http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_ Internet>

(66) World Intellectual Property Organization, "Private International Law Aspects of the Protection of Works and Objects of Related Rights Transmitted Through Digital Networks", (Geneva, December 1998)

(67) Visiting Professor, New York Law School
(68) Herman Stern Professor of Law, Temple University's Beasley School of Law

(69) David R. Johnson and David G. Post, "Law and Borders-The Rise of Law in Cyberspace", 48 Stanford Law Review 1367, (1996)

(70) Professor of Law, Stanford Law School

(71) เป็นระบบเก็บข้อมูลขนาดเล็กของ web browser ที่ใช้เก็บข้อมูลผู้ใช้งานเมื่อเข้าสู่เวปหนึ่งๆ ทำให้สามารถจดจำข้อมูลและการใช้งานทั้งหลายเอาไว้ เมื่อผู้ใช้งานเข้ามาอีกภายหลัง

(72) เป็นชุดข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แสดงเมื่อต้องการผ่านเข้าไปในระบบของเวปหนึ่งๆ ซึ่งมีข้อมูลที่สามารถใช้ตรวจสอบเพื่อการอนุญาตให้ใช้งานได้ เช่น ข้อมูลเครื่องคอมพิวเตอร์, ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ สัญชาติ อายุ อาชีพ และต้องขออนุญาตด้วย pass phrase หรือข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ม่านตา หรือ ลายนิ้วมือ

(73) การเข้ารหัสเพื่อป้องกันข้อมูลซึ่งมีข้อพิจารณาว่าสามารถใช้เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายก็ได้, see Lawrence Lessig, Infra Note 74

(74) Lawrence Lessig, Code and Other Laws of Cyberspace, (Basic Books, 1999), pp.35-39

(75) Lawrence Lessig, The Future of Ideas - The Fate of the Commons in a Connected World, (Vintage Books, 2001), pp.267-268

(76) Gordon Bradford Tweedy Professor Emeritus of Law and Organization and Professorial Lecturer in Law, Yale Law School

(77) Carol M. Rose, supra note 63
(78) Professor of Law, Yale Law School

(79) Yochai Benkler, The Wealth of Networks - How Social Production Transforms Markets and Freedom, (Yale University Press, 2006), <http://www.benkler.org/Benkler_Wealth_Of_Networks.pdf>, pp. 460-473

(80) The Free Software Foundation, <http://www.fsf.org/>
(81) Creative Commons, <http://creativecommons.org/>
(82) Electronic Frontier Foundation, <http://www.eff.org/>
(83) Wikipedia, <http://en.wikilpedia.org>

(84) โปรดดู สมเกียรติ ตั้งนโม, "สวนกระแสลิขสิทธิ์และเรื่องของลิขซ้ายโดยสังเขป", (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘), <http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2545/document9575.html>

(85) Midnight University, <http://midnightuniv.tumrai.com/>

(86) James Boyle, "A Politics of Intellectual Property: Environmentalism for the Net?", Duke Law Journal, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 47, October 1997), <http://www.law.duke.edu/shell/ cite.pl?47+ Duke+L.+J.+87>

(87) James Boyle, supra note 22., pp.71-74
(88) สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 23

5. บรรณานุกรม

Lawrence Lessig, Code and Other Laws of Cyberspace, Basic Books, (1999)

_______________, The Future of Ideas - The Fate of the Commons in a Connected World, Vintage Books, (2001)

Yochai Benkler, The Wealth of Networks - How Social Production Transforms Markets and Freedom, (Yale University Press, 2006), <http://www.benkler.org/Benkler _Wealth_Of_Networks.pdf>

เอกสารอื่นๆ

Dan Hunter, "Cyberspace as Place, and the Tragedy of the Digital Anticommons", (April 07, 2002)

David R. Johnson and David G. Post, "Law and Borders-The Rise of Law in Cyberspace", 48 Stanford Law Review 1367, (1996)

David Schmidtz, "The Institution of Property", (this revised version appears in Environmental Ethics: What Really Matters. What Really Works, edited by D. Schmidtz & Elizabeth Willott, New York: Oxford University Press 2002), <http://www.u.arizona.edu/~schmidtz/manuscripts/InstitutionofProperty.doc>
James Boyle, "The Second Enclosure Movement and the Construction of the Public Domain", Law and Contemporary Problems, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 66, Winter/Spring 2003), <http://www.law.duke.edu/ journals/66LCPBoyle>

---___________, "A Politics of Intellectual Property: Environmentalism for the Net?", Duke Law Journal, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 47, October 1997), <http://www.law.duke.edu/shell/cite.pl?47+ Duke+L.+J.+87>

Charlotte Hess and Elinor Ostrom, "Ideas, Artifacts, and Facilities: Information as A Common-Pool Resource", Law and Contemporary Problems, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 66, Winter/Spring 2003), <http://www.law.duke.edu/journals/66LCPHess>

Carol M. Rose, "Romans, Roads, and Romantic Creators: Traditions of Public Property in the Information Age", Law and Contemporary Problems, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 66, Winter/Spring 2003), <http://www.law.duke.edu/pd/papers/rose.pdf>

Garrett Hardin, "The Tragedy of the Commons", Science, 162 (1968): 1243-1248, <http://dieoff.org/ page95.htm>

_____________, "Extension of The Tragedy of the Commons", (published by The American Association for the Advancement of Science, 1998), <http://www.garretthardinsociety.org/articles/art_extension_tragedy_commons.html>

Gian Maria Greco and Luciano Floridi, "The Tragedy of the Digital Commons", <http://web.comlab.ox.ac.uk/oucl/research/areas/ieg/research_reports/ieg_rr141003.pdf>

Murray N. Rothbard, "Law, Property Rigths, and Air Pollution", Cato Journal, vol. 2, No. 1 (Spring 1982), <http://www.cato.org/pubs/journal/cj2n1/cj2n1-2.pdf>

Nancy Kranich, "The Progress of Science and Useful Arts: Why Copyright Today Threatens Intellectual Freedom", (A Public Policy Report, The Free Expression Policy Project), <http://www.fepproject.org/policyreports/ copyright2d.pdf>

_____________, "The Information Commons", (A Public Policy Report, The Free Expression Policy Project), <http://www.fepproject.org/policyreports/ InformationCommons.pdf>

Pamela Samuelson, "Mapping the Digital Public Domain: Threats and Opportunities", Law and Contemporary Problems, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 66, Winter/Spring 2003), <http://law.duke .edu/journals/66LCPSamuelsonf>

Yochai Benkler, "Through the Looking Glass: Alice and the Constitutional Foundations of the Public Domain", Law and Contemporary Problems, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 66, Winter/Spring 2003), < http://www.law.duke.edu/journals/66LCPBenkler>

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



030849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
การหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาจนเกินเหตุ
บทความลำดับที่ ๙๙๓ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
Thomas Jefferson เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาว่า …ธรรมชาติสร้างให้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถหวงกันเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาด ตราบเท่าที่บุคคลเก็บรักษาความคิดนั้นเอาไว้กับตัว แต่เมื่อเขาได้เปิดเผยความคิดนั้นออกมา ความคิดนั้นก็จะกลายเป็นสมบัติของส่วนรวมไปในทันที และผู้ที่ได้รับรู้ความคิดนั้นก็ไม่สามารถแยกตัวเองออกจากความเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นได้ ลักษณะที่น่าสนใจก็คือ ไม่มีใครครอบครองสมบัติชิ้นนี้น้อยกว่าใคร เพราะทุกคนครอบครองสมบัติชิ้นนี้ทั้งหมดด้วยกัน

ใครที่รับรู้ความคิดของผม ไม่ได้ทำให้ผมครอบครองความคิดของตัวเองน้อยลง เป็นดั่งคนที่จุดเทียนของตัวเองจากเปลวไฟของผม ย่อมไม่ทำให้เปลวเทียนของผมส่องสว่างน้อยลง ความคิดสร้างสรรค์จึงควรที่จะเผยแพร่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งอย่างเสรีทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทางความคิดร่วมกันของมนุษย์และเพื่อการพัฒนาตัวเองต่อไป ความจริงข้อนี้จึงเป็นเรื่องการเอื้อเฟื้อและเอื้ออำนวยซึ่งกันและกันอย่างน่าทึ่งที่ถูกออกแบบมาแล้วโดยธรรมชาติ

ในทางทรัพย์สินทางปัญญา เราก็กำลังเป็นกังวลเกี่ยวกับ พฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันของ Microsoft, ปัญหาจริยธรรมกับการจดทะเบียนสิทธิบัตรพันธุกรรมมนุษย์, และพฤติกรรมการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ข่มขู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์และวิพากษ์วิจารณ์งานของตน จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาปัจจุบันของเรา มีความจำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ เพื่อแก้ปัญหาทางทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ กรอบทางทฤษฎีที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้เราวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นปัญหา และมุมมองแห่งประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เช่น นักปักษีวิทยา กับ พรานล่านก"