Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com


The Midnight University

Intellectual Property, Internet, Commons, Public Domain

ทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรส่วนรวม และอินเดตอร์เน็ต
ข้ออ้างห่วยแตกเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และอินเตอร์เน็ต (๑)
ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทความชิ้นนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
รวบรวมผลงานวิชาการทางกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรส่วนรวม
และการปรับใช้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญาและอินเตอร์เน็ต

เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ปัจจุบันผู้ถือสิทธิหวงกันในทรัพย์สินทางปัญญาได้ใช้สิทธิหวงกันมากขึ้นตามลำดับ
เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางพาณิชย์อย่างไม่สิ้นสุด
บทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า ผู้ถือสิทธิหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาใช้สิทธิของตนเกินพอดี
จนกระทบต่อรากฐานระบบทรัพย์สินทางปัญญา ที่ต้องการกระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์ผลงาน
และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเป็นหลัก อันเป็นการทําลายสมดุลย์ระหว่างผลประโยชน์ของสังคมและผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิ
และยังได้ไปทําลายจิตใจสาธารณะอันเป็นวัฒนธรรมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ซึ่งให้ความสําคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 992
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 20.5 หน้ากระดาษ A4)




รวบรวมผลงานวิชาการทางกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรส่วนรวม
และการปรับใช้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญาและอินเตอร์เน็ต
Review the Literatures of the Commons,
And Its Application to the Intellectual Property and the Internet

ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

บทคัดย่อ
แนวความคิดเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรมีอยู่หลากหลายและมีการโต้แย้งทางความคิดอยู่เสมอมา โดยข้อโต้แย้งประการหลักก็คือ แนวทางใดที่จะทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นแนวความคิด 2 แนวทางหลัก ได้แก่

- การใช้ประโยชน์โดยการจัดสรรทรัพยากรให้เอกชน (private property) และ
- การใช้ประโยชน์ร่วมกัน (common property)

ซึ่งจะเห็นได้จากศตวรรษที่ผ่านมาว่า แนวทางการจัดสรรสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์เฉพาะบุคคลเป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากกว่า

ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามแนวทางนี้ แต่อยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างออกไปจากทรัพย์สินที่เป็นสิ่งของ ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาอันเนื่องมาการใช้สิทธิที่ได้รับการจัดสรรมากเกินไป จนกระทบต่อสิทธิที่บุคคลทั่วไปพึงมีในการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหายิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่งาน แนวความคิดการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบันมีนักวิชาการต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกันมากยิ่งขึ้น บทความนี้จะได้รวบรวมผลงานของนักวิชาการที่สำคัญในเรื่องนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวความคิดทางกฎหมายที่ได้รับการพัฒนาจนมาถึงปัจจุบันในยุคของอินเตอร์เน็ต และแนวทางที่กำลังจะดำเนินต่อไปในอนาคต

คำสำคัญ: ทรัพย์สินทางปัญญา, อินเตอร์เน็ต, ทรัพยากรส่วนรวม, สาธารณสมบัติ

Abstract
There are many controversial ideas of resource utilization. The main discussion is how to maximally benefit from the scarce resources; "private property" and "common property" regimes are the two major solutions for centuries. However, the private property has been taking into the major role as the most convincing principle of economics. The intellectual property has been established and developed but not exactly from the same ground of property of things. Today the intellectual property is expanding its border of exclusive rights and impairs individuals' reasonable rights to enjoy the common intellectual property. The more problematic issue has occurred when the intellectual property are published via the internet. The intellectual property has being reviewed. Legal academics already realize the expanding border of intellectual property. They are currently trying to emphasize the solution of common property. This article is aimed to review those distinguish literatures of the commons, its application to the information age today, and its fascinating way of tomorrow.

Keyword: Intellectual Property, Internet, Commons, Public Domain

1. ทรัพยากรส่วนรวม (Commons) คืออะไร?
ทรัพยากรส่วนรวม (commons) เป็นคำเรียกสิทธิการใช้พื้นที่เพื่อทำการเกษตรและปศุสัตว์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจารีตประเพณีที่เริ่มต้นในอังกฤษและเวลส์ตั้งแต่อดีต โดยแยกต่างหากจากกรรมสิทธิ์ที่ดินในขณะนั้น(1) ต่อมาในศตวรรษที่ 12 จึงเริ่มมีการจัดสรรให้ถือครองสิทธิเหนือพื้นที่แก่เจ้าของที่ดินเพิ่มยิ่งขึ้นเรียกว่า "Enclosure" ด้วยเหตุผลหลายประการทางเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น

สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือ เจ้าของที่ดินเกือบทั้งหมดเป็นชนชั้นสูงและเห็นพ้องกันว่า การเพิ่มเติมสิทธิแก่เจ้าของที่ดิน จะเป็นประโยชน์ในการจำกัดโรคระบาดของพืชและสัตว์ รวมถึงการทดลองพันธุ์พืชและสัตว์ เพราะเจ้าของที่ดินสามารถล้อมรั้วเพื่อแบ่งแยกพื้นที่กันได้อย่างชัดเจนต่างจากพื้นที่ส่วนรวม (commons) ที่ไม่สามารถทำได้ โดยออกเป็นกฎหมายเรียกว่า "Inclosure Consolidation Act of 1801" แม้การเพิ่มสิทธิหวงกัน (exclusive property right) เช่นนี้แก่ Enclosure จะได้รับการต่อต้านอย่างมากจากประชาชนที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน ในปลายศตวรรษที่ 19 ก็สามารถแบ่งแยกพื้นที่เป็น Enclosure ได้สำเร็จทั้งหมด (2)

ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรส่วนรวมมีคำเรียกอ้างอิงอยู่หลายคำ เช่น common-pool resource (CPR) และ common property resource บางที่เรียกเป็นระบบว่า common property regime ซึ่งโดยสรุปก็คือ ทรัพยากรประเภทหนึ่งที่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มในสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกันของชุมชนหรือกลุ่มคนหนึ่งๆ เช่น ป่าไม้ หรือแหล่งน้ำของชุมชน

อันนี้ต่างจากคำว่า "ทรัพยากรสาธารณะ" (public goods) ที่มีความหมายที่กว้างขวางกว่ามากเช่น ทะเล ท้องฟ้า อากาศ เป็นต้น เพราะทรัพยากรส่วนรวมประสบปัญหาความมีอยู่อย่างจำกัด อันไม่อาจใช้ประโยชน์พร้อมกันจำนวนมาก (congestion) และใช้ประโยชน์เกินขนาดได้ (overuse) เพราะทรัพยากรจะเกิดความเสียหายและสูญสลายไป มีข้อสังเกตว่าความหมายของทรัพยากรสาธารณะที่กล่าวมานี้ ถือได้ว่าถูกต้องในอดีตที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันก็เริ่มเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าทรัพยากรสาธารณะอย่าง ทะเล ท้องฟ้า และอากาศ ก็ไม่อาจยอมให้มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่จำกัดอีกต่อไป ความหมายของทรัพยากรส่วนรวม (commons) จึงมีขอบเขตกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น และมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

2. แนวความคิดเกี่ยวกับทรัพยากรส่วนรวม
ผลงานทางวิชาการที่ถือเป็นงานฉบับคลาสสิกชิ้นแรก ซึ่งจุดประกายการศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรส่วนรวมได้แก่ "The Tragedy of the Commons" โดย Garrett Hardin (3) , ตีพิมพ์ใน วารสารวิทยาศาสตร์ "Science" ฉบับที่ 162 ปี ค.ศ. 1968 (4) โดย Hardin ได้กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ตามความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด

เขาเห็นว่าพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรของมนุษย์แต่ละคน ได้ถูกแยกออกจากสำนึกการรับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยรวม และจะทำลายระบบนิเวศน์ในที่สุด ประกอบกับการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์อย่างไม่หยุดยั้ง ย่อมหมายถึงโศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของโลก เขาได้เสนอว่าแนวทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ใช่แนวทางเชิงเทคนิค (no technical solution) เช่น การถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่ หรือการพัฒนาสายพันธุ์ธัญญาหารเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่ต้องเป็นแนวทางที่เกิดจากการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ (considered professional judgment) โดยเขาเน้นย้ำไปที่ปัญหาจำนวนประชากรมนุษย์ (population problem) ว่าจะต้องเป็นระดับที่เหมาะสม (optimum) แก่การดำรงอยู่

Hardin ได้เสนอต่อไปว่าแนวทางแก้ปัญหาจึงอาจเป็นได้ใน 2 แนวทาง ได้แก่

- แนวทางการออกกฎหมาย (coercive force) และ
- แนวทางการจัดสรรทรัพยากรให้เอกชน (private property)

โดยการสนับสนุนไม่ให้ทรัพยากรเป็นของส่วนรวมที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่จำกัด (unmanaged commons) ดังที่เขากล่าวไว้ว่า

"หายนะอยู่ที่ปลายทางของเราทุกคน ที่เร่งรีบแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากสังคมโดยรวม ด้วยความเชื่อว่าตนเองมีสิทธิในการใช้สอยทรัพยากรส่วนรวมนั้นอย่างเสรี สิทธิเสรีในการใช้ทรัพยากรส่วนรวมนี้เองที่จะนำหายนะมาสู่เราทุกคน" (5)

ในเรื่องนี้มีคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมเพิ่มเติมว่า "การใช้สอยสาธารณสมบัติ (6) นั้นจะมีมากเกินไปถึงระดับที่ประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ได้จาการใช้ทรัพยากร (marginal resource benefit) น้อยกว่าต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal resource cost) อันมิใช่การใช้ทรัพยากรในระดับอุตมภาพ (optimal utilization)" และเสนอว่า "การไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ชัดเจน ไม่เพียงแต่เกื้อกูลให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืนเท่านั้น หากยังขัดขวางกระบวนการแปรสรรพสิ่งให้เป็นสินค้า (commodification) อีกด้วย โดยถือว่า ทรัพยากรเป็นสินค้า (resource as commodity) ความเป็นสินค้าของสรรพสิ่ง เกื้อกูลกระบวนการปริวรรตในระบบเศรษฐกิจ แต่การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อ เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปรากฏชัดเจน หากกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรไม่ชัดเจน การซื้อขายแลกเปลี่ยนย่อมไม่เกิดขึ้น

ผู้ที่ต้องการซื้อทรัพยากรใดย่อมต้องการเป็นเจ้าของทรัพยากรนั้น การซื้อขายเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ไม่มีผู้ซื้อคนใดยินดีจ่ายเงิน โดยไม่ได้ครอบครองหรือไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งที่ซื้อ" (7) นอกจากนี้ยังสามารถปรับใช้คำอธิบายว่าด้วย Prisoner's Dilemma จากทฤษฎีเกม (Game Theory) เพื่ออธิบายแนวทางการตัดสินใจของแต่ละคนในสถานการณ์ ที่การใช้ทรัพยากรของคนๆ หนึ่งย่อมกระทบต่อการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่มีอย่างจำกัด ซึ่งทางที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่ายคือการร่วมมือกัน (corporation)

งานชิ้นสำคัญนี้ของ Hardin ทำให้เกิดการโต้แย้งทางความคิดและอธิบายความหมายของทรัพยากรส่วนรวม (common property) ในหลายทาง เช่นที่เห็นว่า ทรัพยากรส่วนรวมตามที่ Hardin อธิบายนั้นหมายถึง การเปิดเสรีให้ใช้ประโยชน์ (open access), หรือที่เห็นว่ามีความหมายในทางที่เป็นการแสวงหาประโยชน์สูงสุดมากกว่า (profit maximization) (8) , หรือที่เห็นว่าบทความของ Hardin เป็นข้อสนับสนุนการแปรรูป และจัดสรรทรัพยากรแก่เอกชน (privatization) (9) เป็นต้น

ซึ่งขณะที่ Hardin มุ่งเน้นไปที่ปัญหาจำนวนประชากรโลก (population problem) นักวิชาการอีกหลายท่านก็ได้ต่อยอดแนวความคิดไปในบริบทอื่นๆเช่น ทรัพยากรป่า (10) สิ่งแวดล้อม (11) งานโฆษณา (12) และอินเตอร์เน็ต (18) เป็นต้น ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นการเสนอแนะแนวทางการใช้ทรัพยากรส่วนรวมในบริบทต่างๆ อย่างพอดีไม่มากจนเกินไปนั่นเอง

ก่อนหน้างานของ Hardin ไม่นาน ก็มีงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งของ Ronald H. Coase (14) ในปี ค.ศ.1959 ที่วิเคราะห์การดำเนินการบริหารและจัดสรรความถี่ทางโทรคมนาคมของ FCC (15) ว่าไม่มีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากภาระการจัดการ (transaction cost) ที่มากเกินไป แนวทางที่เหมาะสมคือ การจัดสรรสิทธิให้เอกชนดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดของตลาด (16) ซึ่งช่วยแสดงให้เห็นได้ถึงกระแสความคิดหลัก ที่สนับสนุนให้จัดสรรทรัพยากรแก่เอกชน แม้ในขณะนั้นจะฟังเป็นเรื่องตลกที่จะขายความถี่อันเป็นทรัพยากรสาธารณะให้เอกชน แต่ในปัจจุบันก็ได้เห็นการประมูลความถี่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก

Elinor Ostrom นักวิชาการทางสังคมศาสตร์และกฎหมายคนสำคัญ ก็ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้และสรุปว่า "ทรัพยากรส่วนรวม"ที่มีการจัดการโดยคนกลุ่มหนึ่ง จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่จัดการด้วยคนๆ เดียว ด้วยเหตุที่กลุ่มคนนั้นจะทำหน้าที่รักษาสมดุล ระหว่างผลประโยชน์และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรนั้น โดยการระบุตัวบุคคลที่สามารถเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และระบุระดับการใช้ประโยชน์ว่ามีได้เพียงใดทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการกำหนดตัวบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจในการจัดการทรัพยากรนั้น การจัดการทรัพยากรด้วยกลุ่มคนเช่นนี้ ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงในการใช้ทรัพยากร (17)

อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ.1998 Hardin ได้เขียนบทความที่เป็นการเพิ่มเติมจากงานชิ้นสำคัญของเขา "Extension of The Tragedy of the Commons" โดยได้ยอมรับความผิดพลาดในตอนที่เขาเขียนบทความครั้งแรกว่า เขาได้คล้อยตามแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของ Adam Smith (18) ที่เชื่อในการแข่งขันและการหาประโยชน์สูงสุดของแต่ละคน อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดโดยรวม ซึ่งเขาพบภายหลังว่าการหาประโยชน์สูงสุดของแต่ละคนไม่อาจนำไปสู่ประโยชน์โดยรวมได้ ดังที่ William Forster Lloyd (19) เคยกล่าวไว้ว่า "มีแต่หายนะของส่วนรวม (mutual ruin) ที่กำลังจะมาถึง" Hardin จึงสรุปว่าแนวทางที่เหมาะสมคือ การใช้ประโยชน์ร่วมกันเชิงจัดการ (managed commons) (20)

3. ทรัพย์สินทางปัญญา และอินเตอร์เน็ต ในฐานะที่เป็นทรัพยากรส่วนรวม
อินเตอร์เน็ตนั้นเป็นการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญเพราะการเชื่อมต่อถึงกันของคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ช่วยลดต้นทุนในการสื่อสารและส่งข้อมูลระหว่างกันอย่างมหาศาล และยิ่งเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่มากขึ้น กล่าวคือยิ่งมีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์และผู้ใช้งานมากขึ้นเพียงใด คุณค่าของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็ยิ่งมีมากขึ้นเพียงนั้น

ตรงกันข้ามกับแนวคิดที่ไม่ต้องการให้มีการใช้ทรัพยากรส่วนรวมมากจนเกินไป (21) ประกอบกับพัฒนาการของสื่อดิจิตอลที่มีความโดดเด่นกว่าสื่ออื่นๆ ได้แก่ ขนาดที่เล็ก ความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายไฟล์ รวมทั้งความสะดวกในการใช้งาน เช่น หนังสืออิเลคทรอนิกส์ (e-books) เพลงออนไลน์ และภาพยนตร์ในรูปแบบสื่อผสมดิจิตอล (Digital Multimedia) และที่สำคัญคุณภาพความคมชัดของสื่อดิจิตอลที่มีสูงกว่าสื่อแบบเดิมอย่าง กระดาษ หรือแถบบันทึกภาพและเสียง (video or audio cassettes) ทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและหลากหลายที่สุดในปัจจุบัน เปรียบได้กับแหล่งทรัพยากรส่วนรวม (commons) ที่มีค่ายิ่งเช่นเดียวกับ ท้องฟ้า อากาศ พื้นดิน และทะเล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ช่องทางสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตดังกล่าวยังมีปัญหาว่า บุคคลหนึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเสรีได้มากน้อยเพียงใด ขอบเขตของการใช้ประโยชน์ควรเป็นอย่างไร และจะสามารถคุ้มครองสิทธิของบุคคลอื่นที่อาจถูกละเมิดได้อย่างไร ในเรื่องนี้มีนักวิชาการมากมายที่กำลังศึกษาและเสนอแนะแนวทางอย่างหลากหลาย แต่สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรบนอินเตอร์เน็ตนั้นพบว่า มีปัญหาและแนวความคิดทางกฎหมายที่ควรแก่การพิจารณาดังนี้

3.1 ปัญหาการหวงกันทรัพย์สินทางปัญญากับอินเตอร์เน็ต
3.1.1 การหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาจนกระทบต่อสิทธิที่พึงมีของบุคคลทั่วไป
แนวทางพื้นฐานของทรัพย์สินทางปัญญาคือ ทรัพย์สินทางปัญญาถูกออกแบบให้เป็นเพียงขอบเขตบริเวณชั้นบางๆ ชั้นหนึ่ง ที่ล้อมรอบทรัพยากรส่วนรวมอันจะเป็นวัตถุดิบให้เกิดการสร้างสรรค์ต่อๆไป (22) แต่ปัจจุบันแนวทางดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปด้วยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เน้นย้ำถึงประสิทธิภาพของตลาด อันจะเกิดจากการจัดสรรสิทธิแก่เอกชน สิทธิหวงกันในทรัพย์สินทางปัญญาจึงเริ่มมีการขยายขอบเขตของสิทธิเพิ่มมากขึ้น จนกล่าวได้ว่าเริ่มรุกล้ำพื้นที่ส่วนรวมที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ทางปัญญาได้

ตัวอย่างปัญหาเช่น การจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชและสัตว์ หรือแม้กระมั่งสิทธิบัตรพันธุกรรมมนุษย์ ฝ่ายสนับสนุนการให้สิทธิบัตรอ้างถึงแรงจูงใจในการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันจะนำมาซึ่งยาและแนวทางการรักษาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ฝ่ายคัดค้านก็อ้างถึงความเป็นเจ้าของร่วมกันของมนุษยชาติ ใครจะมาเป็นเจ้าของเพียงคนเดียวไม่ได้ และไม่เห็นด้วยที่จะยินยอมให้ใช้แนวคิดเชิงพาณิชย์ในบริบทที่ไม่สามารถจะนำมาค้าขายกันได้ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการให้สิทธิบัตรแก่วิธีการทางธุรกิจ (business method) (23) , และ ฐานข้อมูล (database) (24) ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นทางหนึ่ง

Professor James Boyle (25) ได้อธิบายถึงปัญหาการขยายขอบเขตการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะได้แก่

1) ยุคการคัดลอกด้วยมือ เช่นที่พระหรือนักบวชต่างๆ คัดลอกพระคัมภีร์
ในยุคนี้การหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาทำได้ง่าย เพียงแค่การเก็บรักษาต้นฉบับเอาไว้เท่านั้น,
2) ยุคการพิมพ์และการถ่ายสำเนา, และ
3) ยุคอินเตอร์เน็ตและข้อมูลออนไลน์

ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้นทุนในการทำซ้ำลดลงเป็นลำดับพร้อมกันกับความสามารถในการหวงกันที่ลดลงเป็นลำดับเช่นเดียวกัน (26) เ

มื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาททำให้การหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปได้ยาก วิธีการต่างๆ จึงถูกคิดค้นเพื่อการยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและงานสร้างสรรค์ต่างๆ บนอินเตอร์เน็ต เรียกรวมๆว่า Digital Right Management (DRM) หรือเรียกอีกอย่างว่า Digital Restrictions Management ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้เพื่อการจำกัดการใช้ประโยชน์ในงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะแก่ ภาพยนตร์และดนตรี โดยวิธีต่างๆ เพื่อจำกัดไม่ให้ผู้บริโภคสามารถทำซ้ำงานต่อไปจนไม่สามารถควบคุมได้ซึ่ง Professor James Boyle เรียกว่าเป็น "ความพยายามเพื่อปักปันเขตแดนครั้งที่ 2" (Second Enclosure Movement) โดยผู้ประกอบการต่างๆ พยายามคิดค้นวิธีการมากมายขึ้นมาเพื่อควบคุม เช่น

- การจำกัดด้วยอุปกรณ์เฉพาะ กล่าวคือ สร้างเครื่องอ่านเฉพาะขึ้นมาเพื่อจำกัดการใช้งาน รวมถึงอุปกรณ์ที่เรียกว่า Dongle, USB card หรือ Smart card ที่จำเป็นต้องต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะใช้งานโปรแกรมหรืองานลิขสิทธิ์นั้น วิธีการนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายโดยเฉพาะแก่โปรแกรมหรือซอฟแวร์ที่ใช้ในองค์กร วิธีการนี้มีข้อจำกัดไม่แพร่หลายในระดับการใช้งานส่วนบุคคลก็เพราะความยุ่งยากที่จะต้องมีอุปกรณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีวิธีการที่เรียกว่า DIVX ที่กำหนดให้ต้องมีการโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อขอเปลี่ยนเครื่องเล่นทุกครั้ง วิธีการนี้ทำให้ผู้ซื้อเสียสิทธิอย่างน้อย 2 ประการได้แก่ การใช้ประโยชน์โดยธรรม (fair use) (27) และสิทธิที่ผู้ซื้อสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากการขายครั้งแรก (first-sale) (28) ของผู้สร้างสรรค์ เช่น การขายต่อ และการรวบรวมผลงาน เป็นต้น

- การเข้ารหัส (Content Scrambling System - CSS)
และสร้างเครื่องอ่านรหัสขึ้นมาเฉพาะ เพื่อไม่ให้สามารถนำไปเล่นในเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งสามารถจำกัดการใช้งานไปได้ในตัว อันหมายถึงสิทธิของผู้ซื้อที่ถูกจำกัดลงไปด้วย แต่วิธีนี้ก็ถูกแก้ไขได้ด้วยการวิธีการย้อนกลับทางวิศวกรรม (reverse engineering) ด้วยการถอดรหัส (DeCSS) ตัวอย่างเช่น การให้บริการดาวน์โหลดเพลงของ iTune ที่จำกัดจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้เล่นเพลงที่ดาวน์โหลดมาได้

- การปลดล็อกผลิตภัณฑ์ กล่าวคือ งานสร้างสรรค์ เช่น โปรแกรม หรือ ซอฟแวร์ จะไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าจะได้ลงทะเบียน (registration) กับเจ้าของงาน. Microsoft ถือเป็นรายแรกที่เริ่มใช้วิธีการนี้กับผลิตภัณฑ์ของตนได้แก่ Microsoft Reader วิธีการนี้เป็นการเพิ่มขั้นตอนและเรียกร้องข้อมูลส่วนตัว และจำกัดสิทธิการขายต่อของผู้ซื้อ โดยน่าพิจารณาว่าการดำเนินการในภายหลังที่มีการใช้ข้อมูลส่วนตัวดังกล่าว จะทำได้มากน้อยเพียงใด

- การซ่อนข้อมูลผู้ซื้อในผลิตภัณฑ์ (Digital Watermarking) โดยทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจากที่ใดโดยใคร หากตรวจเจอในที่ (ประเทศ) อื่น ก็จะสามารถดำเนินการทางคดีได้ แม้จะไม่ได้จำกัดการทำซ้ำ แต่ก็พบว่ามีปัญหามากในทางปฏิบัติเพราะไม่สามารถยืนยันชื่อผู้ซื้อที่แท้จริงได้ และไม่สามารถยืนยันได้ว่าการตรวจพบในที่อื่นเป็นความผิดของผู้ซื้อ เพราะผลิตภัณฑ์นั้นอาจถูกขโมยไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้ (29)

- XCP (Extended Copy Protection) เป็นชุดโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษ เพื่อป้องกันการทำซ้ำ CD ให้แก่ผู้จัดจำหน่าย Sony BMG เป็นรายแรกที่นำมาใช้โดยเรียกว่า "XCP-Aurora" ซึ่งทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะชุดโปรแกรมนี้ได้ฝังตัวลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน และทำงานอยู่เบื้องหลังการใช้งาน CD โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ และเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถกำจัดโปรแกรมออกได้โดยง่าย หากกำจัดโปรแกรมนี้ออกไปก็จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเล่น CD ได้ตามปกติ เรื่องนี้ถูกเปิดโปงโดย Mark Russinovich ซึ่งได้ทำการทดสอบโปรแกรมดังกล่าวและเผยแพร่ไว้ใน Blog ของเขาที่ชื่อว่า Sysinternals blog (30) ทำให้ Sony ต้องเรียก CD คืนกลับไปจากตลาด (31)

นอกจากนี้ยังมีวิธีการที่พยายามจะยับยั้งการใช้ประโยชน์ในงานสร้างสรรค์โดยการอ้างว่ามีสิทธิหวงกันตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ข่มขู่ให้บุคคลอื่นที่เผยแพร่งานของตนนั้นเข้าใจว่า กำลังละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตนและให้หยุดการเผยแพร่งานดังกล่าว เช่น การอ้างว่ากำลังถูกละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเอา ตัวละครประกอบ สถานที่ หรือเหตุการณ์ใดๆจากงานลิขสิทธิ์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต (ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถอ้างลิขสิทธิ์ได้) (32), การร่วมมือกันระหว่าง"ผู้ประกอบการรายใหญ่" กับ "ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต"เพื่อการใช้ข้อมูลส่วนตัว (privacy) ของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต รวมถึงการสืบค้นไปหาตัวผู้ใช้ประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์แม้เป็นการใช้โดยธรรม (fair use) (33) หรือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอย่างเป็นธรรมก็ตาม (34)

3.1.2 การออกกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต
สนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์แห่งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty) เป็นความตกลงเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศเมื่อปี ค.ศ.1996 มีประเทศภาคี 59 ประเทศ (ไม่รวมประเทศไทย) (35) โดยมุ่งเน้นแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในบริบทของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งไม่ได้คุ้มครองไว้เดิมตามอนุสัญญาเบอร์นฯ (36) ประเด็นที่สำคัญได้แก่

(1) การให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อย่างเดียวกันกับงานวรรณกรรม (literary works) (37)
(2) การให้ความคุ้มครองการรวบรวมข้อมูล (compilation of data or database) (38)
(3) การเพิ่มสิทธิควบคุมและหวงกันการจัดจำหน่าย (right to distribution) การให้เช่า (right to rental) (40)

(4) การเผยแพร่สู่สาธารณะ (right of communication to the public) ทั้งที่เป็นการสื่อสารทางสายหรือไร้สาย (41)
(5) มาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงงานโดยอาศัยช่องโหว่ทางเทคโนโลยี (circumvention of effective technological measures) (42) และ

(6) การคุ้มครองสิทธิการจัดการข้อมูลของงานลิขสิทธิ์ที่ผู้สร้างสรรค์กำหนด (rights management information) (43) และในทำนองเดียวกัน สนธิสัญญาว่าด้วยงานแสดงและงานบันทึกภาพและเสียง (WIPO Performances and Phonograms Treaty) ก็กำหนดเนื้อหาอย่างเดียวกันกับสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ฯ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของนักแสดงและผู้ผลิตงานบันทึกภาพและเสียง (44)

ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Digital Millennium Copyright Act (DMCA) เมื่อปี ค.ศ.1998 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลิขสิทธิ์เดิม (45) และอนุวัติการณ์ตามสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ฯ ประเด็นที่สำคัญได้แก่

(1) ให้ความคุ้มครองแก่กรณีที่ เทคโนโลยีทางการสื่อสารช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงมาตรการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ (anti-circumvention provisions) และกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการทำสำเนางานแก่งานบันทึกภาพและเสียง (46) และ

(2) จำกัดความรับผิดแก่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (safe harbor) ตามเงื่อนไขที่กำหนด (47)

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังได้ออกกฎหมายเพื่อขยายเวลาการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ (Copyright Term Extension Act 1998) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Sonny Bono Copyright Term Extension Act หรือชื่อในทางประชดประชันว่า Mickey Mouse Protection Act โดยมีเนื้อหาสำคัญได้แก่ การขยายอายุการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นอีก 20 ปี กล่าวคือขยายอายุการคุ้มครองสำหรับบุคคลทั่วไปจากเดิม 50 ปีหลังจากที่เสียชีวิต เป็น 70 ปี. และสำหรับงานรับจ้างทำจาก 75 ปีเป็น 95 ปี (48) อันจะเป็นผลทำให้งานลิขสิทธิ์ที่มีกำหนดจะต้องตกเป็นสาธารณะในปี ค.ศ.1998 ได้รับความคุ้มครองต่อไปอีก 20 ปีโดยเฉพาะแก่การ์ตูนเรื่อง Mickey Mouse

เรื่องนี้มีคดีที่น่าสนใจได้แก่ คดี Eldred v. Ashcroft โดยนาย Eric Eldred ผู้เผยแพร่งานที่ไม่มีลิขสิทธิ์ตกแก่สาธารณะ (public domain) นอกพาณิชย์บนอินเตอร์เน็ต ฟ้องว่ากฎหมายที่สภาคองเกรสออกมาเพื่อขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้น ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์และอายุการคุ้มครองที่จำกัด (limited time) (49) ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตราบเท่าที่อายุการคุ้มครองงานยังถูกจำกัดเอาไว้ ก็ไม่ปรากฏว่าสภาคองเกรสได้ออกกฎหมายที่เป็นการละเมิดหลักการตามรัฐธรรมนูญ (50)

ในส่วนของสหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยลิขสิทธิ์ (EU Copyright Directive)(51) ในปี ค.ศ.2001 เพื่ออนุวัติการณ์ตามหลักการของสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ฯ (WIPO Copyright Treaty) โดยมีเนื้อหาที่เป็นการคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการรวบรวมข้อมูล รวมถึงการให้สิทธิอันได้แก่ การจัดจำหน่าย การเช่า และการเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหาการเข้าถึงงานโดยอาศัยช่องโหว่ทางเทคโนโลยี (anti-circumvention)

ในสหรัฐอเมริกายังมีความพยายามที่จะกำหนดโทษทางอาญา แก่การละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต ได้แก่ No Electronic Theft Act 1997 (NET Act) โดยให้รวมถึงการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพาณิชย์ด้วย อันมีที่มาจากคดี United States v. LaMacchia (52) ที่ไม่สามารถเอาผิดนาย David LaMacchia นักศึกษาจาก MIT ที่มีงานอดิเรกในการเผยแพร่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านอินเตอร์เน็ต

สภาคองเกรสจึงออกกฎหมายเพื่ออุดช่องว่างดังกล่าวโดยให้ครอบคลุมถึงการทำซ้ำทางอิเลคทรอนิกส์ที่มีมูลค่าทางตลาดมากกว่าที่กฎหมายกำหนด (53) และเพิ่มโทษทางอาญาไปพร้อมกัน (54)

+++++++++++++++++++++++++

จบตอนที่ ๑ คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

อ้างอิง

(1) Wikipedia, "Commons", <http://en.wikipedia.org/wiki/Commons>
(2) Wikipedia, "Enclosure", <http://en.wikipedia.org/wiki/Enclosure>

(3) นักนิเวศวิทยาเมธี ชาวสหรัฐอเมริกา (1915-2003), ผลงานที่มีชื่อเสียงได้แก่ "The Tragedy of the Commons" และ Hardin's First Law of Ecology - "You cannot do only one thing", <http://en.wikipedia .org/wiki/Garrett_Hardin>

(4) Garrett Hardin, "The Tragedy of the Commons", Science, 162 (1968): 1243-1248, <http://dieoff.org/ page95.htm>

(5) "Ruin is the destination toward which all men rush, each pursuing his own best interest in a society that believes in the freedom of the commons. Freedom in a commons brings ruin to all."

(6) สำนวนของ รศ.ดร.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ "โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ" (The tragedy of the commons), อ้างต่อไป เชิงอรรถที่ 7

(7) รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ฉันทามติแห่งวอชิงตัน, (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2548), น.124

(8) Kepa M. Ormazabal, "Hardin and the"Tragedy" of Profit Maximization", (presented at the XII Annual Conference of the European Association of Environmental and Resource Economists 2003, held at Bilbao, Basque Country, Spain, from 28th to 30th June 20)

(9) Wikipedia, "Tragedy of the commons", <http://en.wikipedia.org/wiki/Garrett_Hardin>

(10) Robert J. Smith, "Resolving the Tragedy of the Commons by Creating Private Property Rights in Wildlife", Cato Journal, Vol. 1, No. 2 (Fall 1981), <http://www.cato.org/pubs/journal/cj1n2-1.html>, pp. 439-468

(11) Murray N. Rothbard, "Law, Property Rigths, and Air Pollution", (Cato Journal, vol. 2, No. 1, Spring 1982), <http://www.cato.org/pubs/journal/cj2n1/cj2n1-2.pdf>

(12) Matthew Syrett , "The Tragedy of the Advertising Commons", <http://www.marketingprofs.com/4/ syrett5.asp>

(13) Gian Maria Greco and Luciano Floridi, "The Tragedy of the Digital Commons", <http://web.comlab.ox.ac.uk/oucl/ research/areas/ieg/research_reports/ieg_rr141003.pdf>

(14) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี ค.ศ.1991 ผลงานชิ้นสำคัญที่ได้รับรางวัลโนเบล ได้แก่ "Coase Thoerem" จากบทความชื่อ "The Problem of Social Cost", 3 J.L.&Econ. (1960)

(15) Federal Communication Commission (FCC) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเชิงพาณิชย์แห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา

(16) Ronald H. Coase, "The Federal Communication Commission", 2 J.L.&Econ. (1959), see Thomas W. Hazlett, "The Wireless Craze, The Unlimited Bandwidth Myth, The Spectrum Auction Faux Pas, and the Punchline to Ronald Coase's "Big Joke": An Essay on Airwave Allocation Policy", <http://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id =286932>

(17) Elinor Ostrom, Randall Calvert, and Thrainn Eggertsson, Governing the Commons: The Evolution of Institutions for Collective Action, (Cambridge University Press, 1990), โดยได้วางกรอบการบริหารจัดการทรัพยากรส่วนรวมไว้และออกแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในระยะยาว 8 ลักษณะซึ่งรวมถึง การระบุขอบเขตที่ชัดเจน, กฎระเบียบและการบังคับใช้, วิธีการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากร, การจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลทรัพยากรและทุนทางสังคม รวมถึงช่องทางการสื่อสารภายในกลุ่มชุมชน, see Nancy Kranich, "Information Commons", (A Public Policy Report, The Free Expression Policy Project), <http://www.fepproject.org/ policyreports/InformationCommons.pdf>, pp.11-12

(18) นัก เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา และการเมือง คนสำคัญของโลก (1723-1790) มีผลงานที่สำคัญด้านเศรษฐศาสตร์คลาสสิกคือ "The Wealth of Nations" (1776), โปรดดูเพิ่มเติม สฤณี อาชวานันทกุล, "Adam Smith บิดาแห่งทุนนิยมเสรี ที่อยู่ชายขอบกว่าคุณคิด", <http://www.onopen.com/2006/02/364>

(19) Drummond Professor at Oxford and a Fellow of the Royal Society, (1795-1852) เป็นนักวิชาการคนแรกที่มีผลงานโดยใช้วลีที่ว่า "The tragedy of the commons", ผลงานชิ้นสำคัญได้แก่ "Two Lectures on the Checks to Population", (Oxford University Press, Oxford, England, 1833)

(20) Garrett Hardin, "Extension of The Tragedy of the Commons", (published by The American Association for the Advancement of Science, 1998), <http://www.garretthardinsociety.org/articles/art_extension_tragedy_commons.html>

(21) Carol M. Rose, infra note 63

(22) James Boyle, "The Second Enclosure Movement and the Construction of the Public Domain", Law and Contemporary Problems, Duke University Law School - The Center for the Public Domain, (Volume 66, Winter/Spring 2003), <http://www.law.duke.edu/journals/66LCPBoyle>, pp.37-38

(23) ตัวอย่างคดี เช่น บริษัท Amazon.com ฟ้องร้อง Barnes & Noble ว่าละเมิดสิทธิบัตรการซื้อสินค้าด้วยวิธีการ One Click Buying ของตนหรือการที่บริษัท Walker Asset Management ฟ้องร้องบริษัท Expedia ในเครือ Microsoft ว่าละเมิดสิทธิบัตรการประมูลโดยวิธี Reverse Auction ของตน, โปรดดู สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, "ปัญหาลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์", บทบัณฑิตย์ เล่ม 56 ตอน 3 กันยายน 2543 ; หน้า 69 - 92

(24) Directive 96/9/EC of the European Parliament and of The Council of 11 March 1996 on the legal protection of database

(25) Professor of Law, Duke Law School
(26) James Boyle, supra note 22, p.42

(27) Fair use เป็นหลักการที่ยกเว้นสิทธิหวงกันของเจ้าของลิขสิทธิ์ให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ในงานได้ในกรณีที่กำหนดอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่น เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เป็นต้น

(28) First sale เป็นหลักการเกี่ยวกับการสิ้นสิทธิ (exhaustion of right) จากการขายครั้งแรก ซึ่งผู้ซื้องานลิขสิทธิ์สามารถจำหน่าย จ่าย โอน สำเนางานที่ตนซื้อมาได้อย่างถูกกฎหมาย

(29) Wikipedia, "Digital Rights Management", <http://en.wikipedia.org/wiki/Digital_Rights_ Management>

(30) Mark Russinovich, "Sony, Rootkits and Digital Rights Management Gone Too Far", <http://www.sysinternals.com/ blog/2005/10/sony-rootkits-and-digital-rights.html>

(31) Wikipedia, "Extended Copy Protection", <http://en.wikipedia.org/wiki/Sony_rootkit>

(32) See "Fan Fiction", Chilling Effects Clearinghouse, A joint project of the Electronic Frontier Foundation and Harvard, Stanford, Berkeley, University of San Francisco, University of Maine, George Washington School of Law, and Santa Clara University School of Law clinics, < http://chillingeffects.org/fanfic/>

(33) See "CyberSLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation)", Ibid, <http://chillingeffects.org/johndoe/>

(34) See "Defamation", <http://chillingeffects.org/defamation/>

(35) ประเทศไทยแม้ไม่ได้เป็นภาคีของ WIPO Copyright Treaty แต่ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 และออก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาบังคับใช้แทนโดยมีเนื้อหาสำคัญเพิ่มเติมความคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์และให้สิทธิอื่นๆในทำนองเดียวกับที่ WIPO Copyright Treaty กำหนด

(36) Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works, 1886

(37) WIPO Copyright Treaty, Article 4
(38) WIPO Copyright Treaty, Article 5
(39) WIPO Copyright Treaty, Article 6
(40) WIPO Copyright Treaty, Article 7
(41) WIPO Copyright Treaty, Article 8
(42) WIPO Copyright Treaty, Article 11

(43) WIPO Copyright Treaty, Article 12
(44) WIPO Performances and Phonograms Treaty
(45) 17 USC ? 101-1332
(46) Digital Millennium Copyright Act 1998, Title 1
(47) Digital Millennium Copyright Act 1998, Title 2
(48) 17 USC ? 302

(49) "Congress shall have Power ... [t]o promote the Progress of Science ... by securing [to Authors] for limited Times ... the exclusive Right to their ... Writings.", The Copyright and Patent Clause, U. S. Const., Art. I, ?8, cl. 8

(50) Eldred et al. v. Ashcroft, Attorney General, No. 01-618. Argued October 9, 2002--Decided January 15, 2003, <http://caselaw.lp.findlaw.com/scripts/getcase.pl?court=US&vol=000&invol=01-618>

(51) Directive 2001/29/EC of the European Parliament and of the Council of 22 May 2001 on the harmonisation of certain aspects of copyright and related rights in the information society

(52) United States v. LaMacchia, Criminal Action No. 9410092-RGS, (December 28, 1994), Memorandum of Decision and Order on Defendant's Motion to Dismiss, <http://www.loundy.com/CASES/US_v_LaMacchia.html>

(53) 17 U.S.C. ? 506
(54) 18 U.S.C. ? 2319

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



020849
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
การหวงกันทรัพย์สินทางปัญญาจนเกินเหตุ
บทความลำดับที่ ๙๙๒ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ในทางทรัพย์สินทางปัญญา เราก็กำลังเป็นกังวลเกี่ยวกับ พฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันของ Microsoft, ปัญหาจริยธรรมกับการจดทะเบียนสิทธิบัตรพันธุกรรมมนุษย์, และพฤติกรรมการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ข่มขู่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาใช้ประโยชน์และวิพากษ์วิจารณ์งานของตน จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาปัจจุบันของเรา มีความจำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการเพื่อแก้ปัญหาทางทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ กรอบทางทฤษฎีที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้เราวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นปัญหา และมุมมองแห่งประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เช่น นักปักษีวิทยา กับ พรานล่านก"

โดยการเน้นย้ำให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของทรัพยากรส่วนรวมทางปัญญา (public domain) เช่นเดียวกับ โครงสร้างทางนิเวศวิทยา ของสิ่งแวดล้อม (Environment) ก็จะทำให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องแม้จะมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ก็สามารถตระหนักถึงปัญหาและดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันได้

ในสหรัฐอเมริกายังมีความพยายามที่จะกำหนดโทษทางอาญา แก่การละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต ได้แก่ No Electronic Theft Act 1997 (NET Act) โดยให้รวมถึงการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพาณิชย์ด้วย อันมีที่มาจากคดี United States v. LaMacchia ที่ไม่สามารถเอาผิดนาย David LaMacchia นักศึกษาจาก MIT ที่มีงานอดิเรกในการเผยแพร่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านอินเตอร์เน็ต สภาคองเกรสจึงออกกฎหมายเพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว โดยให้ครอบคลุมถึงการทำซ้ำทางอิเลค- ทรอนิกส์ที่มีมูลค่าทางตลาดมากกว่าที่กฎหมายกำหนด และเพิ่มโทษทางอาญาไปพร้อมกัน