Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

คำบอกเล่าจากประสบการณ์ตรง
บทเรียนจริงจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ
ณัฐฬส วังวิญญู : เล่า
นักวิชาการสาขาความเป็นผู้นำทางสิ่งแวดล้อม
Environmental Leadership, M.A.


บทความนี้ได้รับมาจาก อ.ชลนภา อนุกูล
เป็นเรื่องของคำบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงของคุณณัฐฬส วังวิญญู
จากการได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยนาโรปะ
ใจกลางเมืองโบลเดอร์ ในรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา
ซึ่งได้บรรยายถึงบรรยากาศการเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
และพูดถึงวิธีการสอน การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยทางเลือกในแนวทางการตื่นรู้ และการค้นหาตนเอง
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 988
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)




เรียนรู้ ค้นหา และเข้าใจ ที่นาโรปะ : คำบอกเล่าจากประสบการณ์ตรง
ณัฐฬส วังวิญญู : Environmental Leadership, M.A.

ความนำ
ความคิดเรื่องเรียนต่อนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากบวชและลาสิกขามาทำงานอยู่ที่เสมสิกขาลัย แล้วเกิดสนใจไปหาประสบการณ์ต่างวัฒนธรรมดูบ้าง แต่ก็ยังคิดอยู่ว่า หากจะไปทำอะไรผมก็อยากให้มีเรื่องการภาวนาอยู่ด้วย อยากให้ตรงนี้เป็นส่วนหลักของชีวิตมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนั่งหลับตาหรือภาวนาแบบไหนก็ตาม อาจารย์สุลักษณ์จึงแนะนำสองแห่งคือนาโรปะกับชูมาร์กเกอร์ คอลเลจ ผมเลือกนาโรปะเพราะรู้จักกับคุณอิไลแอสและราเบีย ซึ่งต่อมาเขาก็เป็นอาจารย์ผม

ผมส่งใบสมัครไป มีแรงฮึดขยันภาษาอังกฤษขึ้นมา ๑ เดือน พอไปสอบก็ผ่านเกณฑ์ ตอนนั้นปี ๑๙๙๕ ผมอายุประมาณ ๒๓ ปี ตอนแรกผมสนใจจิตวิทยาเชิงพุทธ สนใจในแง่ว่า เราจะไปทำงานเกี่ยวกับการบำบัดด้านในของคนได้อย่างไร แต่เนื่องจากผมมีปริญญาทางวิศวะ เขาก็เลยไม่ให้เข้า เขาต้องการคนที่เคยมีพื้นฐานทางจิตวิทยามาบ้าง เขาบอกให้ผมสมัครเข้าอย่างอื่น ผมจึงเลือกสาขาผู้นำสิ่งแวดล้อม (Environmental Leadership) ซึ่งเป็นคณะที่ใหม่มาก รุ่นผมเป็นรุ่นที่ ๒ ของปริญญาโท ก็ไปสอบสัมภาษณ์ ไปเป่าขลุ่ยให้เขาฟัง

เหตุผลที่ผมเลือกคณะนี้เพราะเป็นคณะเดียวในนาโรปะที่มีการสำรวจความรู้เกี่ยวกับการอธิบายโลก ว่าโลกมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร การเกิดขึ้นของทุนนิยม โลกาภิวัตน์ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์และโลก รวมไปถึงทฤษฎีที่เขานำมาใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายคือทฤษฎีระบบ(System theory) ซึ่งเป็นหลักอันเดียวกับอิทัปปัจยตาของพุทธศาสนา คิดว่าน่าสนใจผมเลยเลือกเรียน

๑. บรรยากาศภายในนาโรปะ
๒. เรียนอะไรกันบ้าง
๓. ประสบการณ์แห่งการแปรเปลี่ยนและความเข้าใจ
๔. ไปเรียนหลายอย่างกลับมาเมืองไทยแล้วทำอะไรอยู่
๕. จุดเด่นของนาโรปะในท่ามกลางมหาวิทยาลัยทางเลือก

๑. บรรยากาศภายในนาโรปะ
ตอนแรกที่ผมไป ก็จินตนาการว่า คงเหมือนแบบตักศิลา อยู่ที่นั่นปลูกผักกินเอง.. ไม่ใช่เลย(ส่ายหน้าช้าๆ ) เป็นโรงเรียนอนุบาลเก่าที่เขายกที่ให้ อยู่ใจกลางเมืองโบลเดอร์ ในรัฐโคโรลาโด เป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่ คล้ายๆ เชียงใหม่ อยู่ใกล้ภูเขา กิจกรรมของร้าน ธุรกิจเติบโตได้เพราะมหาวิทยาลัย นาโรปะอยู่ที่นั่นก็เป็นส่วนนิดเดียว ห้องสมุดของตัวเองเล็ก เลยต้องไปใช้ของมหาวิทยาลัยอื่นด้วย มีอาคารเล็กๆ ๒-๓ อาคาร ใช้เรียนใต้ต้นไม้บ้าง สนามหญ้าขนาด ๓-๔ ไร่ บ้าง นักศึกษาส่วนใหญ่จะพักอยู่ข้างนอกเพราะไม่มีอาคารหอพักให้ แต่ตอนนี้ได้ข่าวว่ามีแล้ว

ช่วงแรกจะรับเฉพาะคนที่เรียนจบอนุปริญญาแล้วมาสอนต่ออีก ๒ ปีก็จบ ตอนนี้รับตั้งแต่ปี ๑ คล้ายกับมหาวิทยาลัยบ้านเรา เด็กมัธยมที่เข้ามาเรียนปริญญาตรีก็น่าสนใจ ผมมองว่าสังคมอเมริกันเริ่มเปลี่ยน มีคนที่เปลี่ยนความคิด หันมาให้คุณค่ากับแนวทางนี้ มีงานวิจัยออกมาชื่อ cultural creative พบว่าคนที่คิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องหยิน-หยาง และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองมากขึ้น ในอเมริกามี ๒๕% แล้ว

นักศึกษาที่มาที่นาโรปะส่วนใหญ่เป็นพวกที่ต้องการรู้จักตัวเอง มาพร้อมกับสำนึกทางสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมอยู่บ้าง แต่หลักๆ แล้วต้องการรู้จักตัวเอง บางคนอาจมีพื้นฐานทางครอบครัวที่พ่อแม่สนใจแนวทางนี้ แต่เพื่อนผมส่วนใหญ่พ่อ-แม่เลิกกัน เขาก็ได้มาจากเพื่อนบ้าง บางคนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกาใต้ พ่อของครอบครัวอุปถัมภ์สนใจพุทธศาสนาเขาก็มาสนใจบ้าง ผมก็ไม่แน่ใจว่าคนพวกนี้มาจากไหน ๙๕% ของนักศึกษาที่นั่นเป็นฝรั่ง อเมริกันมากที่สุด มียุโรป อินเดีย อาฟริกา เอเชียอยู่บ้าง

๒. เรียนอะไรกันบ้าง
วิชาของที่นี่เป็น MA (master of Arts - มหาบัณฑิตศิลปศาสตร์) ไม่ใช่สายวิทยาศาสตร์ การเรียนประกอบด้วย ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ ๑. โลกข้างนอก ๒. โลกข้างใน และ ๓. การทำงานแบบกลุ่ม ในแต่ละเทอมจะมีองค์ประกอบของทั้งสามอย่างนี้ไปด้วยกัน และในกลุ่มเล็กๆ อย่างในกลุ่มของผมมีแค่ ๑๒ คน ก็จะสนิทกันมาก

เรื่องโลกข้างในเป็นวิชาการเข้าใจตัวเอง มีทั้งภาวนา ศิลปะ เป็นพุทธแต่ไม่ได้ใช้คำว่าพุทธ เขาใช้คำว่าวิชาว่าด้วยการสะท้อนภายใน เพื่อเข้าใจโลกและตัวเอง (contemplative study) นาโรปะก่อตั้งมาโดยเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ซึ่งเป็นลามะธิเบต จึงนำพุทธศาสนาแบบธิเบตมาเป็นพื้นฐาน เป็นเครื่องมือของความรู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี จิตวิทยา กวี ทุกอย่างกลับมาเรื่องพุทธคือ ปัจจุบันขณะคือพื้นฐานขององค์ความรู้ทั้งหมด

ถ้าไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันขณะได้ องค์ความรู้นั้นไม่จริง ความรู้นั้นบิดเบือน สาขาผู้นำสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกันจะมีการภาวนา เขาพยายามสอนให้ศาสนาไหนก็มาเรียนได้ ไม่ต้องมานับถือ ไม่ต้องเปลี่ยนพระเจ้าของตนเอง ถือว่าเป็นเพียงเครื่องมือ ปณิธานของนาโรปะต้องการให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่ชุมชนพุทธ แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพุทธ เขาถึงเรียกว่าเป็น Buddhist-inspired University

ยกตัวอย่างในแง่สิ่งแวดล้อม องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก เขาเอามาผนวกกับพุทธ เอามาผนวกกับคริสต์ดั้งเดิมว่ามองขบวนการนิเวศวิทยาอย่างไร การไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีอยู่ในทุกศาสนาไม่ใช่พุทธอย่างเดียว ความประทับใจอันหนึ่งอาจเป็นเพราะความเป็นวัชรยานก็ได้ คือการพยายามกลับไปสู่ความเป็นธรรมดา

ตรุงปะพยายามกระชากหน้ากาก ดึงให้ทุกคนลงมาติดดินให้หมดในแง่ความคิด เป็นธรรมดาให้มากที่สุด พิธีรีตองจะไม่ค่อยมี จะเป็นพิธีที่พยายามประยุกต์เข้ากับการศึกษา ที่นั่นมีลักษณะของบ้าน วัด โรงเรียน เพราะเป็นชุมชนเล็กๆ มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ ๗๐๐ คน (ตอนนี้คงมีเพิ่มเป็นพันแล้วกระมัง) ซึ่งถือว่าเล็กมากๆ การสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ก็จะง่ายเพราะมันเล็ก นั่นเรื่องความธรรมดา

และถ้าไปดูการสอนของเขาจะไม่มีภาษาบาลีเลย แต่เป็นเรื่องธรรมะทั้งนั้น ลูกศิษย์ที่มาช่วยล้วนเป็นคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการภาวนาร่วมกับเชอเกียม หลายคนเป็นศิลปินก็มาช่วยร่วมกันก่อตั้ง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับสาขาวิชาของตัวเอง อันนี้ผมว่าน่าสนใจ ไม่ใช่เอาไบเบิ้ลหรืออะไรมาสอน แต่พยายามหาว่า อย่างวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่หากตีความแบบพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร วิทยาศาสตร์แบบมีจิตวิญญาณได้ไหม คนสอนก็พยายามตั้งคำถามไปพร้อมๆ กับที่เขาสอน ทำให้ไม่มีบรรยากาศของการยัดเยียด

แต่บางวิชาก็ต่างกันไปมีลักษณะของการเลคเชอร์ บรรยายเหมือนกัน แต่อย่างวิชากระบวนการกลุ่ม การแก้ไขความขัดแย้งในกลุ่ม ก็จะบรรยายไม่ได้ ต้องให้สำรวจความขัดแย้งภายในกลุ่ม ใต้โต๊ะให้เอามาวางบนโต๊ะ มาดูกันให้ชัดเจน เอาแว่นขยายมาส่อง บางคนทนไม่ได้เดินออกจากห้องเลย เป็นการใช้ความรู้สึกเข้ามาเรียนมารับรู้ประสบการณ์ตรง บางคนร้องไห้

มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นวิชาความรุนแรงในสังคม และวิทยากรให้พวกเราถกกันเรื่องประเด็นการเมืองระหว่างเพศ (gender) ภายในเวลา ๑๐-๑๕ นาที ลุกพรึบขึ้นมาเป็นไฟเลย ผู้หญิงจะพูดก่อน พวกผู้ชายก็จะบอกว่าอายุฉัน ๔๐ กว่าแล้วนะ อุตส่าห์เป็นผู้ชายที่ดี มานั่งห้องนี้ มาเรียนแล้วยังโดนด่าอีก แล้ววิทยากรก็จะร่ายวิทยายุทธ์ออกมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง สนุกเหมือนกัน แต่บางทีมันใช้พลังทางอารมณ์เยอะ เปิดแผลออกมาใหญ่ ถ้าวิทยากรไม่แน่ใจจริงๆ คุมสถานการณ์ไม่ได้ก็อาจเกิดความโกลาหล

ตามหลักสูตรแล้วปริญญาโทเรียน ๒ ปี แต่ผมเรียนนานหน่อย เพื่อนที่เรียนด้วยกันก็เรียน ๒ ปีครึ่ง หรือ ๓ ปี เพราะทำงานด้วย ส่วนใหญ่คนที่มาเรียนจะทำงานด้วย เพราะค่าเรียนค่อนข้างแพง ได้ทุนการศึกษาก็ยังไม่พอเพราะเขาให้เพียงบางส่วน นาโรปะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยทางเลือกอื่นที่มีทุนมาก อาจารย์ส่วนใหญ่มาสอนด้วยใจ บางคนทำงานร้านอาหารเพื่อให้มีเงินใช้จ่าย บางคนมีเงินแล้วก็มาช่วยเต็มที่

เสน่ห์อันหนึ่งคือ ตอนที่ผมเรียนมีวิชาให้นักเรียนออกแบบหลักสูตรเอง คล้ายๆ เรียนแบบผู้ใหญ่ อยากเรียนเรื่องอะไร จะเลือกอาจารย์คนไหน กำหนดตารางอ่านหนังสือเอง ผมก็ขออาจารย์คนหนึ่งมาสอนผมเรื่องเศรษฐศาสตร์โลกาภิวัตน์ ผมอยากจะรู้ เขาก็นัดกินกาแฟด้วยกันทุกวันศุกร์ คุยกันไป ผมก็เขียนที่ผมเข้าใจให้เขาอ่าน เขาก็แก้ไขให้ และก็เปรียบเทียบว่าคิดแบบระบบเป็นอย่างไร คิดแบบเป็นเส้นตรงเป็นอย่างไร คิดอย่างไรถูก คิดอย่างไรผิด อันนี้ผมว่าเป็นเสน่ห์อีกอันคือ อาจารย์มีเวลาแลกเปลี่ยนบางทีไม่ได้เป็นเรื่องเรียนเลย คุยกันเรื่องส่วนตัว การเรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้อง เขาจะเห็นพัฒนาการของนักเรียนด้วย ในการประเมินผลก็จะมีให้นักเรียนประเมินกันเอง นักเรียนประเมินอาจารย์และอาจารย์ประเมินเรา

การอ่านหนังสือก็แล้วแต่วิชา แต่จะมีให้อ่านทุกวิชา อย่างวิชาที่เป็นนามธรรมหน่อย เช่นการเปลี่ยนแปลงสังคม ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมมนุษย์และธรรมชาติ ก็อ่านเยอะ อ่านกันจนท้อเลย อาจารย์กำหนดให้ อ่านแล้วต้องไปคุยกับเขา ต้องเขียนรายงานก็เหมือนทั่วๆ ไป อาจมีให้นำเสนอหน้าชั้น

โดยรวมแล้วเป็นบรรยากาศแบบตะวันออกเพียงแต่ไปอยู่ตะวันตก คือเป็นวงกลม นั่งพื้น และมีภาวนาก่อนเรียนประมาณ ๕ นาที แล้วจะคารวะกัน ก่อนเลิกชั้นก็ภาวนา ส่วนใหญ่จะเป็นบรรยากาศนี้ แต่นั่งเรียงแถวแล้วอาจารย์อยู่ข้างหน้าก็มี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวงกลม นั่งเก้าอี้ก็มี แต่เน้นการนั่งกับพื้น

๓. ประสบการณ์แห่งการแปรเปลี่ยนและความเข้าใจ
มีอยู่วิชาหนึ่งชื่อวิชา "ประสบการณ์จากธรรมชาติ" (Wilderness experience) เป็นวิชาที่ไม่ต้องใช้หนังสือเลย พาไปทะเลทรายไปอดอาหาร ๓ วัน อันนี้ไม่ต้องใช้หนังสือ หนังสือเล่มใหญ่คือธรรมชาติ เขาใช้วิธีแบบอินเดียนแดง คืออินเดียนแดงบอกว่า คนเราที่จะเรียนรู้ จะมีคำถามใหญ่ๆ ของชีวิต เช่นอาจจะถามว่า ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร บางคนสับสนว่าหน้าที่ของเราคืออะไร บางคนอาจเป็นผู้นำ บางคนเป็นผู้ตาม บางคนว่า เอ...ชีวิตคู่เราไม่ค่อยราบรื่น เราจะทำอย่างไร จะมีคำถามใหญ่ๆ มากับวิกฤตการณ์ของชีวิต

อินเดียนแดงจะส่งคนสับสนเข้าไปในธรรมชาติ ไปอยู่ไปภาวนา ไม่พูดกับใคร พูดกับธรรมชาติได้ แล้วรองรับคำถามนี้ไว้ แล้วปล่อยให้คำตอบผุดขึ้นมาเอง อินเดียนแดงเรียก "Vision Quest". Quest คือการตั้งคำถาม Vision คือภาพนิมิต คล้ายๆ เหมือนการบวชของอินเดียนแดง ส่งหนุ่มน้อยเข้าไปบวชกับธรรมชาติแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง ผู้อาวุโสจะฟัง แล้วช่วยตีความเชิงสัญลักษณ์ จะรู้เลยว่าเด็กคนนั้นมีหน้าที่อะไร และจะได้ชื่อใหม่ด้วย อันนี้เขาก็เอามาใช้กับที่ผมเรียน

เราไปอยู่ทะเลทรายทั้งหมด ๑๐ วัน เตรียมพร้อม ๒-๓ วัน แล้วออกไปอยู่คนเดียว เข้าเงียบ เพื่ออธิฐานที่จะรับบทเรียนจากธรรมชาติ อดอาหาร ๓ วัน จนครบก็กลับออกมา แล้วมาเล่าให้ฟังว่าบทเรียนอะไรที่เราเรียนรู้จากธรรมชาติแล้วคำถามเราได้รับการตอบไหม บางทีการตอบคำถามในธรรมชาติอาจจะไม่ใช่ว่าถ้าเป็นอย่างนี้ คุณต้องมีหน้าที่ไปเยียวยาโลก เยียวยาธรรมชาตินะ มันไม่ใช่ แต่จะเป็นแบบว่านกฮัมมิ่งเบิร์ดบินเข้ามา มีแมงมุมมาไต่ขา อาจารย์จะทำหน้าที่สำคัญคือตีความปรากฏการณ์เหล่านี้ เขาเรียกจิตวิทยาเชิงนิเวศ (ecopsychology) เพราะเขาถือว่าไม่ใช่เป็นการบังเอิญ การที่มดเลือกที่จะไต่เข้ามาหาคุณ ณ เวลานั้นที่คุณตั้งคำถามหนึ่งอยู่ในใจ เป็นปัจจุบันขณะ มันสะท้อนอะไร มีนัยยะสำคัญว่าอะไร

ประสบการณ์ของผมตอนนั้น ผมไม่เชื่อนะ ผมอาจจะถูกวิทยาศาสตร์ล้างสมอง ผมไม่เชื่อว่าธรรมชาติจะสอนผมได้ และผมก็ไม่โกหกตัวเองด้วย ผมไม่เชื่อ ผมก็บอกว่าไม่เชื่อ เวลาอาจารย์ตั้งคำถามว่าผมตั้งคำถามอะไร ผมบอกว่า ผมตั้งคำถามว่า คำถามอะไรที่เหมาะสมที่ผมควรจะตั้ง อาจารย์บอก เออ..เออ..อันนี้ก็ได้ แล้วออกไปดูแล้วกัน ปรากฏว่า ที่ที่ผมเลือกไปมันอยู่ทางทิศตะวันตก อยู่ใกล้หน้าผา สวยมากเป็นแคนยอน คล้ายวิหารศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติ แต่ตกลงไปตายเลย ทะเลทรายที่นั่นไม่ใช่แบบเป็นทรายนะ เพียงแต่ไม่มีน้ำ มีต้นไม้แบบพุ่มบ้าง อากาศแห้งมาก

จุดที่ผมเลือกเป็นทางทิศตะวันตก ไกลออกไปที่สุดเลย ๑ กิโลเมตร ผมมาคิดว่าผมคิดผิด อดอาหารไป ๓ วันเดินกลับมาแทบไม่ได้ แล้วมันขึ้นเขาลงเขาด้วย ไปอยู่ตรงนั้นผมทำทุกอย่างเลยเพื่อจะแสวงหาว่าคำตอบนั้นคืออะไร ทั้งตีลังกา แก้ผ้าเดิน ทำหมดเลย ก็ว่าเอ...เราจะได้คำตอบไหม เขาไม่ให้ใช้เต๊นท์ด้วยให้ใช้ผ้ายางกันน้ำค้าง ไม่ให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่ไม่ใช่ให้เราไปเสี่ยงอันตรายนะ แต่เรามีแนวโน้มที่จะสร้างความปลอดภัยให้ตัวเอง หากมีเต๊นท์ก็คงไม่ไปไหน อยู่แต่เต๊นท์

มีอยู่คืนหนึ่งบนยอดเขา ผมเอาหินมาวางเรียงกันเป็นวงกลม บอกตัวเองว่าคืนนี้จะตรัสรู้ล่ะ แล้วเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น ก่อนออกไปอยู่วิเวกเขาก็สอนการสร้างพิธีกรรมด้วยตัวเอง การสร้างพิธีกรรมมันช่วยสื่อได้ ให้อธิษฐานเชิญผู้คนที่เราคุ้นเคย รัก ผมก็เชิญพ่อแม่มา ผู้อาวุโสทั้งหลายที่จะให้ภูมิปัญญาเรา ช้าง สิงห์สาราสัตว์ทั้งหลายเรียกมาให้หมด เหมือนกับเรียกฟ้าเรียกฝน... ไม่มีเหตุการณ์ประหลาดอะไรเกิดขึ้น แต่วิธีการที่ผมไปตั้งคำถาม ฟังมัน ท้องก็หิวจ้อกๆ วันที่สองผ่านไป เห็นเครื่องบิน บินผ่านก็จินตนาการว่ามีขนมอะไรบนเครื่องบ้างนะ น่าจะหล่นลงมาบ้าง พวกถั่วลิสงอบเนยยิ่งดี

อาจารย์เขาตีความว่า ผมเลือกไปทางทิศตะวันตกอันหนึ่งเพราะว่า ตะวันตกในความหมายของอินเดียนแดงคือการตั้งคำถามกับตัวเอง วัยรุ่นจะอยู่ทางทิศตะวันตกเยอะ จะอยู่กับตัวเอง ตัวเองยังไม่เข้าใจตัวเองว่าตัวเองเกิดมาเพื่ออะไร ทำอะไร ไม่สามารถจะเคลื่อนไปสู่ทิศเหนือได้ ทิศเหนือคือทิศที่พร้อมจะทำงานรับใช้ชุมชน รับใช้ผู้อื่น รับใช้ตนเอง วัฒนธรรมเรา(สังคมสมัยใหม่)ส่วนใหญ่ติดกับทิศตะวันตกและทิศใต้ ทิศใต้เป็นทิศของการเกิด เป็นเด็ก เรื่องกาย เรื่องเซ็กส์ สังคมเราติดเรื่องกายมาก เรื่องเซ็กส์ด้วย ติดอยู่ทิศตะวันตก ความมืด วัยรุ่น และการสับสนในตัวเอง แต่ต้องการเสียงสะท้อนให้ตัวเองมาก เพื่อจะรู้ที่ทางว่าจะเคลื่อนไปยังทิศเหนืออย่างไร และจะเคลื่อนไปยังทิศตะวันออกอย่างไร ทิศตะวันออก คือการชื่นชมกับสิ่งที่เราทำ คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วพอผ่านระยะหนึ่งจะมาอยู่ทิศนี้ แต่มันจะวน ชีวิตของคนเราจะวน

อีกอันหนึ่งที่อาจารย์เขาบอกว่า ผมเลือกไปอยู่ทิศตะวันตกเพราะผมต้องการที่จะเข้าใจเสียงข้างในของตัวเอง เสียงของตัวเองคืออะไร ผมถูกเลี้ยงมาเสียงมันบอด เหมือนเปียโนที่กดไปไม่มีเสียง เขาบอกว่าให้เคลมหรือให้สิทธิ์กับเสียงตัวเอง เคลมความเข้าใจตัวเอง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเคลม อ้างอำนาจของพื้นดินให้เป็นพยานว่าพระองค์ตรัสรู้ คือทุกคนมีที่ทางของตัวเอง มีเสียงข้างในของตัวเอง การศึกษาต้องให้เขาได้ยิน รับรู้และเคลมเสียงข้างในของตัวเอง ยิ่งเราเป็นเอเซียต้องทำตามผู้ใหญ่ว่า เราไม่มีเสียงของตัวเอง อย่างน้อยตัวผมเป็นนะ ทีนี้การเปิดหลอดเสียงของตัวเอง ในทางจิตวิญญาณก็มีค่ามาก แทนที่มันจะอยู่เงียบๆ อย่างนั้น

วันที่ ๓ มันเริ่มชัด วันที่สองยังทุรนทุรายกับความทรมาน อาจารย์เขาเปรียบเทียบได้ดีว่า การที่เราอดอาหาร หนึ่งมันอยู่ในวิถีปฏิบัติของทุกศาสนา รวมทั้งศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาจัดตั้งด้วย เช่น ศาสนาของชนเผ่าทั้งหลายเขาก็มี มันไม่ใช่แค่การล้างร่างกาย มันยังล้างใจด้วย เหมือนกับระฆังที่เอาสิ่งอุดตันออกให้หมด ถ้าออกหมดจริงๆ พอตีปั๊บระฆังจะกังวาน...ไกลมาก

สิ่งที่ชัดในวันที่ ๓ คือ ร่างกายเราช้าลง เราเคลื่อนไหวได้ไม่เร็ว ค่อนข้างเพลียนิดหน่อย อีกอย่างหนึ่งคือระบบบัดดี้ (Buddy) คืออยู่ใกล้ๆ กัน แต่ไม่เห็นไม่ได้ยินกัน บัดดี้ต้องหมายที่ไว้สักที่ เอาหินทำเป็นวงกลมไว้แล้วเอาก้อนหินใส่ตรงกลาง คนหนึ่งมาเอาหินออกตอนเช้า อีกคนไปเอาหินเข้าตอนเย็น เพื่อให้รู้ว่ายังปลอดภัย ทุกวันก็ต้องเดินไป แต่ละจังหวะพอร่างกายมันช้าลง การรับรู้มันใหม่ รับรู้ว่าชีวิตที่มันธรรมดามันก็ดี ผมอธิบายไม่ถูก มันมีปีติอะไรบางอย่าง บางทีเราไม่รู้ว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างเท่ากับที่เราเรียน แต่มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเราแล้ว

อันหนึ่งที่เปลี่ยนคุณลักษณะบางอย่างข้างในผมเมื่อกลับมาสู่สังคมปกติ คือความไม่กลัวบางอย่าง ความไม่กลัวความทุกข์ ความไม่กลัวเปราะบาง อันนี้เป็นอันหนึ่งที่นาโรปะพูดถึงเป็นประจำคือความเปราะบาง เราทุกคนถูกเลี้ยงมาให้พยายามสร้างกำแพงแกร่งเพื่อปกป้องตัวเอง ตัวเราเปราะบางไม่ได้ ต้องมีท่าทาง สร้างภาพลักษณ์ เพื่อให้ตัวจริงไม่โดนทำลาย การกะเทาะสิ่งเหล่านี้ออกไปทำให้เรารู้สึกดิบแต่ไม่เถื่อน เปราะบางได้ จะมีภัยมีอะไรมา ไม่เป็นไร

ตรุงปะบอกว่า ความกล้าไม่ใช่สภาวะซึ่งปราศจากความกลัว แต่เป็นสภาวะของจิตใจที่กล้าเผชิญหน้ากับความกลัวอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือความไม่กลัว หรือ fearless คือไม่ใช่ว่าปราศจากความกลัว แต่กล้าที่จะเผชิญกับมันตรงๆ เขาบอกว่าเปลือยสิ่งห่อหุ้มของใจออกเสีย วิธีการเอาธรรมะมาพูดแบบที่เขาทำนั้น ผมรู้สึกว่ามันสื่อกับคนอย่างเรา กับคนยุคใหม่ได้

และตอนนั้นประเด็นเรื่องความตายก็อยู่ในแวดวงของนาโรปะ มีอาจารย์มาสอนเรื่องความตาย การตายอย่างมีสติ พวกเราทุกคนแม้อายุ ๒๐ กว่าก็เตรียมตัวตายกัน พอพร้อมที่จะตายก็ทำอะไรก็ได้ ดีอย่างที่ไม่ต้องไปเน้นเรื่องศีลธรรม ศีลธรรมของนาโรปะต้องมาจากใจ หมายความว่าบางคนก็กินเหล้า สูบบุหรี่ แต่มันไม่ใช่ประเด็นหลัก เถรวาทอาจไม่เห็นด้วย แต่ผมว่ามันมีคุณค่าอะไรบางอย่างอยู่ ไม่ตัดสินอะไรง่ายๆ ไปพ้นกรอบความคิดเรื่อง เป็นคนอย่างไรถึงจะดี

อันนี้เป็นหลักสูตรบังคับของสาขาสิ่งแวดล้อม หรือสาขาจิตวิทยาที่เรียนทุกสำนักไม่เฉพาะพุทธ เรียนเพื่อรับรู้ว่าไอ้การไม่มีตัวตนเป็นอย่างไร การไปอยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติช่วยเราอย่างไร การไปอยู่ในเมือง ไปอยู่กับความทุกข์มันก็ช่วยอย่างหนึ่ง ทุกอย่างเป็นครูได้หมด ครูเป็นแค่คนพาเราไปผ่านประสบการณ์ ช่วยบิดผ้าให้แห้ง บิดจนหยดสุดท้ายออกมา ครูนี่สำคัญ บางทีเขาต้องเก่งพอที่จะบอกว่ามีรอยดำด่างอยู่ตรงนี้ คุณต้องพร้อมเอามันออกเองนะ เราเอาออกให้คุณไม่ได้

บางคนมานาโรปะ ไม่พร้อมจะเปิดตรงนี้ก็มีปัญหา สังคมอเมริกันยังไม่ค่อยเปิดเรื่องอารมณ์ บางทีเราเห็นฝรั่งกอดกันแต่บางทีเรื่องอารมณ์ปิดนะ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เปราะบาง ผู้ชายจะมีเกราะมาก ซึ่งอันนี้ครูต้องถลกลงมาให้หมดเลย ถ้าคุณจะเรียนรู้อะไรสักอย่างจะเอาไว้อย่างนี้ไม่ได้ กระบวนการสำคัญมาก เผลอๆ ยิ่งกว่าเนื้อหาอีก คุณไม่เปิดคุณก็เรียนอะไรไม่ได้เลย ไปเรียนที่อื่นเถอะ หลายคนมานาโรปะก็ผิดหวัง

๔. ไปเรียนหลายอย่างกลับมาเมืองไทยแล้วทำอะไรอยู่

ผมเรียนได้ ๒ ปีครึ่ง พอดีอาจารย์อิไลแอสชวนผมกลับมาช่วยงาน ธรรมยาตราที่เชียงใหม่ผมเลยถือโอกาสกลับมา แต่ในช่วงเดินป่าก็มีงานจัดทำแผนที่ลุ่มน้ำ และผมเรียนเรื่องแผนที่มาบ้าง เลยกลับมาทำแผนที่ให้กับปกาเกอะญอ เป็นงานวิจัยด้วยและเป็นวิทยานิพนธ์ด้วยอยู่ ๑ ปี และช่วยจัดธรรมยาตราอีกปี ช่วยจัดทำกระบวนการร่างคำประกาศของปกาเกอะญอ เรื่องสิทธิและหน้าที่คนอยู่ป่า ก็เป็น ๓ อันหลักๆ

ทำแผนที่ก็สนุกดี ตอนนี้เรื่องป่าชุมชนกลายเป็นประเด็นที่ชาวบ้านต้องมาแก้ไข ต้องเข้ามามีส่วนร่วมเต็มที่ แผนที่เป็นเครื่องมือทำให้ชาวบ้านที่อยู่กับป่าและรักษาป่าจริงๆ... ถ้าพวกที่รักษาไม่จริงก็ไม่มีแผนที่ ให้พวกที่รักษาป่าจริงๆ ได้ใช้เป็นเครื่องมือที่จะสื่อสารกับสังคม มันยืนยันได้ว่าความเป็นจริงคืออะไร แผนที่ไม่ใช่การลงรายละเอียดเรื่องราวทางกายภาพอย่างเดียว แต่มันจะมีในส่วนของวัฒนธรรมด้วยว่า เราเชื่อเรื่องป่าอย่างนี้นะ ป่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าสะดือ ป่าผี ป่าเรือน และสายน้ำแต่ละสาย ห้วยแต่ละห้วย มีเรื่องราว มีชื่อท้องถิ่น ที่ไม่ปรากฏในแผนที่ทหาร แผนที่ท่องเที่ยวเลย มันมีเรื่องราวอย่างไร ทำแล้วสนุก ผมจดไม่ทันเลย

มีแผนที่ผึ้ง แผนที่หมี แผนที่ชายเครายาว และอีกหน่อยเขาจะไปใช้ทำหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่นของเขาได้ด้วย แต่ประเด็นที่เขาไปใช้หลักๆ คือเรื่องสิทธิในการที่จะได้อยู่กับป่าอยู่ในที่ที่เขาอยู่มานานแล้ว การโยกย้ายแผนที่ป่า ไร่หมุนเวียน แตกต่างจากไร่เลื่อนลอยอย่างไร เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ขณะเดียวกันในกระบวนการทำแผนที่ ผมในฐานะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญผมไปสอนเขาทำ ให้คนเฒ่าคนแก่ผู้หญิงผู้ชายมานั่ง และให้คนที่มีความเชื่อมั่นในการขีดเขียนพวกเยาวชนมานั่งฟัง เล่าไปก็ระบายสีไป สนุก เด็กก็ได้เรียนด้วย ใช้ทำในหมู่บ้านเลยไม่ได้เกณฑ์ให้เขาเข้ามาทำในเมืองใหญ่

โดยตัวกระบวนการมันเป็นการเอาข้อมูลความรู้เชิงนิเวศของแต่ละคนมาแบ่งปัน บางคนก็เถียงกันว่า ห้วยนั้นเมื่อก่อนไม่ใช่อย่างนั้นนะ จะได้สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาด้วย ไม่ใช่เป็นการรื้อฟื้นความจำหรือความรู้ที่มีอยู่เท่านั้น ปีหน้าคิดว่าจะจัดทำเพิ่มเติมร่วมกับองค์กรที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย

หลังจากนั้นผมกลับไปอเมริกาไปนำเสนอวิทยานิพนธ์ เขาทำน่ารักนะ เขาจะประกาศไปทั่วว่านักเรียนคนนี้จะมาเสนอวิทยานิพนธ์แล้วนะ มากินข้าว เขาเรียก brown bag lunch คือมานั่งกินข้าวในถุงก๊อบแก๊บสีน้ำตาลกัน แล้วก็มาฟัง คล้ายๆ แบบน้องชายกลับมาไกลมาเล่าให้ฟังว่าไปไหน ทำอะไรมา ไม่ใช่บรรยากาศแบบอาจารย์ใส่สูทมาจับผิด แต่การต้องแก้ไขก็มีแต่มันไม่ใช่บรรยากาศหลัก

เมื่อเสร็จผมก็กลับมาบ้าน ทางบ้านผมเขาไม่มีปัญหาอะไร เขาก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่แต่ก็รู้ว่า… อย่างน้อยบ้านผมไม่ใช่จีนสุดขั้ว ไม่ใช่ต้องหาเงินอย่างเดียว เขายังเชื่อในความดีอยู่ ตราบใดที่ยังมีความดีอยู่ก็โอเค ไม่ใช่ตัดลูก ไม่ถึงขนาดนั้น เขาส่งเสียให้ผมเรียนในปีแรกที่เหลือผมทำงานเอง อย่างน้อยที่บ้านก็ส่งบ้าง แต่ผมได้รับทุนส่วนหนึ่งของนาโรปะ และทำงานดูแลคนแก่ ทำงานร้านอาหาร รดน้ำต้นไม้ ตักหิมะ ถือว่าใช้ทุนน้อยมากถ้าเทียบกับนักเรียนไทยคนอื่นในเมืองเดียวกัน

ตอนนั้นพอเงินบาทตก พ่อก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เขาส่งให้ผมเป็นประมาณปีละ ๔ แสนบาท อันนี้น้อยนะ จ่ายเฉพาะค่าเรียน ค่ากินค่าอยู่ผมก็หาเอง ซึ่งก็ประมาณอีก ๔ แสนบาท ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงถ้าเทียบเป็นเงินไทย หน่วยกิตปริญญาโทประมาณ ๔๐๐ เหรียญต่อหน่วย อยู่ระดับกลางๆ ถ้าเทียบเมืองไทยก็แพง แต่ถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยที่นั่นก็ไม่แพงเท่าไหร่ อีกอย่างพวกที่จบนาโรปะส่วนใหญ่จะบ่นว่า "กูจะไปทำงานอะไรวะ มานั่งภาวนา ๙ หน่วยกิต จะให้ใครว่าจ้างว่า ภาวนามา ๙ หน่วยจะให้งานอะไร" เป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์หมดเลย

เราต้องสร้างงานเอง ผมกลับมาเมืองไทย เขาให้ผมไปสอนที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้ผมไปสอนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ผมไม่เชื่อ ผมจะไปสอนได้อย่างไร พอดีทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขชวนมาช่วยงานวิจัย เป็นงานเรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก และได้กลับมาเรียนรู้กับบ้านเกิดเมืองนอนเราด้วยว่า แนวคิดในเชิงเดียวกันมีอยู่แล้วที่ไหนบ้าง ในเผ่าพื้นเมืองก็ดี ในพุทธก็ดี ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานอะไรที่มันรู้สึกว่าไม่ใช่เรา

อีกเรื่องที่ทำคือมาจากผมกับอา วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่อยู่เชียงรายอยู่แล้วพอผมกลับมาและก็มีคุณมนตรี ทองเพียรอีกคน ก็คิดกันว่าจะทำอะไรดีนะ เลยคิดว่าอยากจะทำงานที่เราถนัด เราชอบงานเขียนงานแปล ช่วงหลังมาทำงานฝึกอบรมมากขึ้น เลยตั้งเป็นองค์กรเล็กๆ ขึ้นมา ขึ้นกับมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เป็นสถาบันชื่อสถาบันขวัญเมือง แรกความตั้งใจจริงๆ คืออยากจะทำองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม อยากจะเลี้ยงตัวเอง เหนื่อยกับการเป็นองค์กรเอกชนแล้วต้องไปง้อทุน ไปหาทุน เราพึ่งตัวเองได้ไหม อบรมแล้วพึ่งตัวเองได้ด้วย ที่ผ่านมาก็รับเอาปุ๋ยชีวภาพมาขายแต่ไม่เวอร์ค ก็เลิกไป ตอนนี้สงสัยต้องเป็นองค์กรเอกชนแล้ว มันอยู่ไม่ได้ แต่งานฝึกอบรมยังพอไปได้ โดยเฉพาะในด้านการแสวงหาดุลยภาพในชีวิต ผ่านการปรับเปลี่ยนวิธีคิด กระบวนการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม

ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา สถาบันขวัญเมืองร่วมกับกลุ่มแพทย์หัวก้าวหน้า มีคุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์เป็นหลัก จัดหลักสูตรฝึกอบรม "หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่" ให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนะคติของชีวิตบางอย่าง ให้เข้าใจตัวเองและคนอื่น ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างอ่อนโยน สอนโยคะและภาวนา ทำกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม ปรากฏว่าได้ผลมาก ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดน้อยลงเยอะ ความเครียดในชีวิตน้อยลง มีความสุขกับตัวเองและครอบครัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตอนนี้ก็ยังทำกิจกรรมนี้อยู่

จากงานฝึกอบรมที่จังหวัดแพร่ที่สถาบันขวัญเมืองไปร่วมจัดให้ ก็ทำให้เกิดกลุ่มเรียนรู้ เป็นชนชั้นกลางและพระที่สนใจการพัฒนาจิตใจและสังคม ชื่อกลุ่มเสขิยธรรมศึกษา น่ารักมาก มาถึงตอนนี้ก็เกิดผล เป็นกลุ่มเรียนรู้ที่แสวงหาสมดุลให้กับชีวิต สังคมและธรรมชาติ ตั้งคำถามกับกระแสความเป็นไปของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่เห็นธรรมชาติ และมนุษย์เป็นเพียงทรัพยากร เขาคิดกันเรื่องการศึกษาและสุขภาพองค์รวม มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน และจัดกิจกรรมกันอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ผมยังไปช่วยงานให้กับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ชื่อ Earth Rights International ในการก่อตั้งเครือข่ายฝึกอบรมในด้านนี้ ในระดับภูมิภาค ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น
โครงการ อีกชิ้นคืองานที่ทำกับกลุ่มชาวบ้านปกาเกอะญอรักษาป่าต้นน้ำที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นการทำแผนที่ภูมินิเวศวัฒนธรรม (Bioregional mapping) เพื่อการศึกษา สื่อสารและการจัดการป่าชุมชนต้นน้ำ

ส่วนงานทางเสมสิกขาลัยขณะนี้ จะเริ่มจัดการศึกษาทางเลือกในระดับอุดมศึกษา ผมก็มาดูแลให้ในภาคสิ่งแวดล้อมและนิเวศแนวลึก คิดว่าช่วยสอนให้ด้วยในปีหน้า ๓-๔ วิชา จะกลับมาทำให้เป็นเรื่องเป็นราว คิดหน่วยกิต อ้างอิงเหมือนระบบมหาวิทยาลัยแต่อาจจะไม่เข้าระบบ จนกว่าระบบเห็นว่ามันเวอร์ค ขอเอาปริญญามาให้ค่อยว่าไป แต่ตอนนี้ต้องทำให้มีหลักสูตรเป็นเรื่องเป็นราวก่อน

ทิ้งท้าย…
ผมเชื่อว่าชีวิตนี้เราได้รับการดูแลจากการทำความดีของเรา พูดอีกนัยคือว่าจักรวาลเขาก็ดูแลเราเอง เดี๋ยวก็มีมาเอง ถ้าเราไม่ต้องการที่จะมีเยอะนะ ถ้าผมต้องการรถ บ้านหลังที่สอง มันก็เป็นอีกเรื่อง มันไม่มีใครมาดูแลหรอก แต่ผมว่าเราจะได้รับการดูแลเอง ความเชื่อในความไม่รู้ ในอนาคตที่ไม่รู้ อันนี้เป็นอันหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการภาวนาแบบธิเบต องค์ภาวนาคือความไม่รู้ Walking into the unknown เราต้องอยู่กับความไม่รู้ให้ได้และต้องเชื่อในปัจจุบัน การกระทำและความคิดที่เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ที่เป็นไปในแต่ละปัจจุบันขณะ แล้วชีวิตมันจะดำเนินต่อไปได้เอง

๕. จุดเด่นของนาโรปะในท่ามกลางมหาวิทยาลัยทางเลือก
ผมไม่ได้สัมผัสมหาวิทยาลัยที่อื่นมาก มหาวิทยาลัยทางเลือกมีหลากหลายแล้วแต่นิยาม แต่สำหรับนาโรปะมีจุดเด่นทางเรื่องจิตใจชัดเจน ด้วยวิถีทางแห่งศิลป์ทั้งสมัยเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน อีกทั้งการไปเรียนรู้กับธรรมชาติ คือเห็นว่าอุดมคติ หรือนักศึกษาที่พึงประสงค์คืออะไร คือเป็นบุคคลที่ทำงานเพื่อโลกเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่ด้วยเหตุผล ระบบศีลธรรม จริยธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องมาจากใจ

เมตตาธรรมเป็นเรื่องของจิตใจที่น้อมรับและเผชิญหน้ากับความทุกข์ ความเป็นอนิจจัง และความไร้ตัวตน ตัวความคิดที่ถูกต้องอาจเป็นส่วนช่วยให้เกิดการบ่มเพาะคุณธรรมภายในใจ และความกรุณาเมตตาจะออกมาจากใจ เพราะจะมีความยั่งยืนและมีพลัง ไม่ถือดี แต่ยอมรับความเป็นมนุษย์ และตั้งคำถามสืบค้นและตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ กระบวนการศึกษาของเขาจึงต้องมาเชื่อมสมองกับใจเข้าด้วยกัน เวลาเลือกอาจารย์ก็จะเลือกด้วยมาตรฐานนี้

อาจารย์ก็ถือว่าเป็นนักเรียนทางจิตคนหนึ่ง สอนและเรียนไปด้วยกัน เพราะนาโรปะถือว่าการศึกษาคือการแปรเปลี่ยนการเติบโตข้างใน Education as Transformation เหมือนคำว่าสิกขา ก็มาจากคำว่า สะ-อิกะ ซึ่งแปลว่า การมองตน มีความหมายที่เหมือนกันเลย ต้องมามองตน เข้าใจ เป็นการศึกษาเพื่อให้บ่มเพาะปัญญา เพื่อความงอกงาม เปลี่ยนแปลงและเติบโตภายใน

อันที่สอง การรักษาขนาดของความเล็กไว้ทำให้คุณภาพบางอย่างยังอยู่ ถ้าใหญ่ขึ้นหลักหลายพันหรือเป็นหมื่นคน คุณภาพบางอย่างทำอย่างไรก็ไม่เกิดขึ้น มีคนพยายามขยายมหาวิทยาลัย แต่คณะกรรมการไม่ยินยอม ให้ไปทำใหม่อีกที่หนึ่งแล้วเข้าไปช่วยบริหาร ให้ทำแบบเล็กๆ นี่แหละ เล็กๆ แต่งาม เล็กๆ แต่มีคุณภาพบางอย่างที่จะไม่หายไป อย่างที่ชูมากเกอร์มีประโยคเก๋ว่า "Small is beautiful."

อันที่สาม พยายามสร้างความเป็นชุมชน นาโรปะถือว่าการเรียนรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองอย่างเดียวมันต้องมีกัลยาณมิตร นี่ก็กลับมาเรื่องพุทธ ในแต่ละโอกาสเขาพยายามให้เกิดมีกิจกรรมของชุมชนเช่น การภาวนาร่วมกัน วันสิ่งแวดล้อม วันที่สำคัญที่เขาถือว่าสำคัญ และเปิดให้คนข้างนอกเข้ามาด้วย เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างโดดเดี่ยวแปลกแยกจากชีวิตอื่นๆ แต่เป็นไปในข่ายใยของชีวิตที่ซับซ้อน มีพลังขับเคลื่อนของการร่วมไม้ร่วมมือ ปะทะสังสรรค์ในรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ

 





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 980 เรื่อง หนากว่า 16000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



280749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
เล่าบทเรียนจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ
บทความลำดับที่ ๙๘๘ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
เราไปอยู่ทะเลทรายทั้งหมด ๑๐ วัน เตรียมพร้อม ๒-๓ วัน แล้วออกไปอยู่คนเดียว เข้าเงียบ เพื่ออธิษฐานที่จะรับบทเรียนจากธรรมชาติ อดอาหาร ๓ วัน จนครบก็กลับออกมา แล้วมาเล่าให้ฟังว่าบทเรียนอะไรที่เราเรียนรู้จากธรรมชาติ แล้วคำถามเราได้รับการตอบไหม บางทีการตอบคำถามในธรรมชาติอาจจะไม่ใช่ว่าถ้าเป็นอย่างนี้ คุณต้องมีหน้าที่ไปเยียวยาโลก เยียวยาธรรมชาตินะ มันไม่ใช่ แต่จะเป็นแบบว่านกฮัมมิ่งเบิร์ดบินเข้ามา มีแมงมุมมาไต่ขา อาจารย์จะทำหน้าที่สำคัญคือ ตีความปรากฏการณ์เหล่านี้ เขาเรียกจิตวิทยาเชิงนิเวศ (ecopsychology) เพราะเขาถือว่าไม่ใช่เป็นการบังเอิญ การที่มดเลือกที่จะไต่เข้ามาหาคุณ ณ เวลานั้นที่คุณตั้งคำถามหนึ่งอยู่ในใจ เป็นปัจจุบันขณะ มันสะท้อนอะไร มีนัยยะสำคัญว่าอะไร

ประสบการณ์ของผมตอนนั้น ผมไม่เชื่อนะ ผมอาจจะถูกวิทยาศาสตร์ล้างสมอง ผมไม่เชื่อว่าธรรมชาติจะสอนผมได้ และผมก็ไม่โกหกตัวเองด้วย ผมไม่เชื่อ ผมก็บอกว่าไม่เชื่อ เวลาอาจารย์ตั้งคำถามว่าผมตั้งคำถามอะไร ผมบอกว่า ผมตั้งคำถามว่า คำถามอะไรที่เหมาะสมที่ผมควรจะตั้ง

อินเดียนแดงจะส่งคนสับสนเข้าไปในธรรมชาติ ไปอยู่ไปภาวนา ไม่พูดกับใคร พูดกับธรรมชาติได้ แล้วรองรับคำถามนี้ไว้ แล้วปล่อยให้คำตอบผุดขึ้นมาเอง อินเดียนแดงเรียก "Vision Quest". Quest คือการตั้งคำถาม Vision คือภาพนิมิต คล้ายๆ เหมือนการบวชของอินเดียนแดง ส่งหนุ่มน้อยเข้าไปบวชกับธรรมชาติแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง ผู้อาวุโสจะฟัง แล้วช่วยตีความเชิงสัญลักษณ์ จะรู้เลยว่าเด็กคนนั้นมีหน้าที่อะไร และจะได้ชื่อใหม่ด้วย อันนี้เขาก็เอามาใช้กับที่ผมเรียน (ณ มหาวิทยาลัยนาโรปะ)

midnigh-spirituality