Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
เกี่ยวกับการเมืองประชานิยมฝ่ายซ้าย
ฮูโก
ชาเวซ และลาตินอเมริกาในทัศนะของ วอลเดน เบลโล
ศ.ดร.
วอลเดน เบลโล
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์และ
ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
(Focus on the Global South)
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้
ได้รับมาจากคณะทำงานวาระทางสังคม
เป็นการบรรยายของ
ศ.ดร
วอลเดน เบลโล เรื่อง
การปฏิวัติทางนโยบาย กับการสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือก: ประสบการณ์จากละตินอเมริกา
จัดโดยศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 965
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
15.5 หน้ากระดาษ A4)
ฮูโก ชาเวซและลาตินอเมริกาในทัศนะของวอลเดน
เบลโล
ศ.ดร. วอลเดน เบลโล : อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์และ
ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South)
ความนำ
สวัสดีครับ ขอบคุณมากที่เชิญผมมาพูดในวันนี้และขอบคุณศูนย์เศรษฐศาสตร์ การเมือง
อาจารย์นพนันท์ที่สนับสนุนการสัมมนาวันนี้ ผมได้รับคำร้องให้พูดถึงคลื่นประชานิยมที่กำลังเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา
ผมคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะอยู่ไกลจากทวีปลาตินอเมริกา แต่ว่าเราก็ได้ยินข่าวว่ามีเหตุการณ์ใหม่ๆ
เกิดขึ้นในทวีปนั้นอยู่ตลอดเวลา เวลาเรามองสถานการณ์โลกในตอนนี้ เราจะเห็นว่าความขัดแย้งในตะวันออกกลางเกิดขึ้นอยู่
แต่ว่าเมื่อดูในลาตินอเมริกา มันทำให้เรามีความหวังเพิ่มขึ้น ดังนั้นวันนี้อยากจะอภิปรายว่า
ทำไมเหตุการณ์ในลาตินอเมริกาจึงสร้างความหวังให้กับชาวโลก
การปฏิวัติต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่
คงพูดได้ว่าลาตินอเมริกากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิวัติ เห็นชัดว่าเป็นการปฏิวัติต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่
เป็นขบวนการที่ต่อต้านการครอบงำของสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นจะลองดูว่ามันมีชุมทางของกระแสต่างๆอย่างไร
ในการปฏิวัติต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกา
เหตุการณ์แรกที่เห็นได้ชัดคือเมื่อฮูโก
ชาเวซ ขึ้นเป็นประธาธิบดีในเวเนซูเอล่าในปี 1998 (2541) โดยผ่านการเลือกตั้ง
หลังจากนั้นลูลาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธาธิบดีบราซิลในปี 2002 (2545) ซึ่งเป็นการรับสมัครเลือกตั้งครั้งที่สาม
จึงชนะ ในปี 2002 (2545) เนสเตอร์ คิชเนอร์ เป็นประธานาธิบดีใหม่ในอาร์เจนตินา
ปีที่แล้ว เอโว โมลาเลส ได้เป็นประธานาธิบดีในโบลีเวีย จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญสี่ครั้งที่แสดงถึงการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกา
แอนเดรีย โลเปรส โอปราดอร์ ของเม็กซิโกเองก็กำลังอยู่ในระหว่างการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในเม็กซิโกจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า
หนังสือพิมพ์นิวยอร์คสไทม์ได้อธิบายว่า โอเปรสเริ่มอาชีพโดยการอาศัยอยู่กับคนพื้นเมือง
แล้วก็เป็นผู้นำคนเข้าไปนั่งยึดภายในโรงงานน้ำมันและบ่อน้ำมันของรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้นเขาจึงเป็นนักเคลื่อนไหวมาตั้งแต่แรก จนขึ้นเมื่อเร็วๆนี้เป็นนายกเทศมนตรีของเม็กซิโกซิตี้
หนังสือพิมพ์บอกว่า ไม่ว่าจะชนะหรือไม่ เขาจะเป็นศูนย์กลางของการเลือกตั้ง เพราะเขาได้นำประเด็นความขัดแย้งทางชนชั้นออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
ในคำแถลงของเขาเมื่อเร็วๆนี้ เขาได้ประกาศที่จะอุทิศตนเพื่อกำจัดสิทธิประโยชน์ของชนชั้นอภิสิทธิ์ ซึ่งได้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองในเม็กซิโกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เขาได้ขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงประชามติของประชาชนด้วยว่า ประเทศต้องการที่จะดำเนินนโยบายการค้าเสรีและเข้าข้างธุรกิจต่อไป หรือว่าจะร่วมเข้ากับประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ ซึ่งมีผู้นำประชานิยมฝ่ายซ้ายซึ่งประกาศที่จะให้รัฐมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ให้กับคนจน
ติดหล่มเสรีนิยมใหม่ :
ประสบการณ์จากอาร์เจนตินา
กระแสที่เรียกว่าเป็นประชานิยมฝ่ายซ้าย เกิดขึ้นโดยที่เราต้องตั้งข้อสังเกตว่านโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่
ได้นำมาใช้ในลาตินอเมริกามากกว่าประเทศอื่นๆในโลก ดังนั้นจึงมีการบริหารเศรษฐกิจที่เป็นไปในทางตลาดเสรีมาโดยตลอด
เป็นหลักการใหญ่ที่ยึดมาในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีที่ไหนในโลกที่มีแนวนโยบายที่ยึดถือเสรีนิยมใหม่เท่าลาตินอเมริกา
ถ้าดูประเทศในลาตินอเมริกาจะเห็นว่าอาร์เจนตินาเป็นผู้ที่นำนโยบายไปใช้ แล้วได้รับผลกระทบอย่างค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นเราอาจจะต้องดูอาร์เจนตินาสักเล็กน้อย อาร์เจนตินาลดภาษีศุลกากร แปรรูปรัฐวิสาหกิจมากที่สุดในโลก ขจัดการควบคุมทุน ปล่อยเสรี ขายธนาคารให้ต่างชาติ ใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงิน ทำให้เป็นหนี้มากมายจนต้องหยุดชำระหนี้
เศรษฐกิจอาร์เจนตินาล่มสลาย ปี 2002 (2545) จีดีพีติดลบไปเกือบ 4% คนตกงาน ประมาณ 50% ตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทันทีทันใด และจนยิ่งกว่าประเทศที่ยากจนก่อนหน้านั้นในลาตินอเมริกาเสียอีก เทียบเท่ากับการโดนอาวุธนิวเคลียร์เลยทีเดียว จากที่รวยที่สุดกลายไปเป็นจนที่สุด
ดังนั้น โรเบิร์ต รูบิน รัฐมนตรีคลังสมัยคลินตันของอเมริกา บอกว่า ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมนโยบายตลาดเสรีไม่เกิดผลในลาตินอเมริกา แต่ประชาชนของอาร์เจนตินาไม่รอที่จะทดลองอีกต่อไป เพราะคิชเนอร์ออกมาประกาศว่าจะจ่ายคืนแค่ 10 สตางค์จากหนี้หนึ่งบาท ประชาชนสนับสนุนอย่างล้นหลามในการตัดสินใจที่จะลดการชำระหนี้ เป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ และจะจ่ายเงินเพียง 25 สตางค์ให้กับหนี้สถาบันเอกชน ในความเป็นจริง บางคนบอกว่า ถ้าคิชเนอร์ไม่มีท่าทีอย่างนี้ คือมีการประนีประนอม เขาอาจจะถูกประชาชนไล่ออกก็ได้
ถึงแม้เราอาจจะว่าการตัดสินใจเช่นนี้เป็นการบ้าบิ่น แต่ก็เป็นการตัดสินใจทางเดียวที่ทำให้อยู่รอดได้ คิชเนอร์สามารถทำตามที่เขาขู่ไว้ แม้ว่าเจ้าหนี้จะโวยวายฟ้องไอเอ็มเอฟให้มากำกับอาร์เจนตินา เพราะว่าไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้ในประวัติศาสตร์ที่จ่ายเพียงหนึ่งในสี่ของหนี้ที่กู้ไป คิชเนอร์บอกเจ้าหนี้ทั้งหลายว่าต้องรับสถานการณ์นี้ ไม่เช่นนั้นอีกไม่กี่สัปดาห์ เงินจะลดไปอีก จะจ่ายเพียง 10 สตางค์ต่อหนี้ 1 ดอลลาร์ ดังนั้น เขาทำอย่างนี้ได้ ทำให้หนี้อาร์เจนตินาลดลงอย่างฮวบฮาบ ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งจากประชาชน อีกอย่างที่เขาทำ คือ อาร์เจนตินาและบราซิลจ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟคืนไปทั้งหมดเพื่อจะเป็นอิสระ
อยากจะชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการในอาร์เจนตินา มีความสำคัญมากในการสร้างประชามติที่เป็นไปในทางต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกา ดังนั้น กระแสประชานิยมฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกานี้มันคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง หลายคนได้ยินคำนี้ซึ่งใช้ในการอธิบายผู้นำในลาตินอเมริกา
ประชานิยมฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา
: โดมิโก เปรอน และฮูโก ชาเวซ
ประชานิยม เป็นแนวทางการเมืองและโครงการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับบารมีของปัจเจกบุคคล
เขาหรือเธอมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงประชาชนต่างชนชั้น จะมีโครงการสำหรับคนงาน คนยากจนในสลัม
คนชั้นกลาง คนชนบทที่ยากจน นี่คือลักษณะบุคลิกของผู้นำที่เข้าถึงชนชั้นต่างๆได้ในขณะเดียวกันก็แยกอภิสิทธิ์ชนออกไป
ส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกาเป็นการต่อต้านอเมริกา เพราะว่าอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้จะทำงานกับอเมริกาคู่เคียงกันไป
ที่น่าสนใจคือ คนทางฝ่ายซ้ายที่ค่อนข้างจะทำงานเพื่อชนชั้น แต่ขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าร่วมกับฝ่ายประชานิยม
ในลาตินอเมริกามีประชานิยมฝ่ายซ้ายมายาวนาน ผู้นำประชานิยมคนหนึ่งคือ โดมิโก เปรอน ซึ่งสร้างมวลชนขึ้นมาจากสลัมในเมืองในช่วงปี 1950 (2493) ดังนั้น เปรอนจึงไม่ใช่แค่สามีของเอวิต้า เปรอน มันมีช่วงหนึ่งที่เขาได้รับความนิยมมากกว่าเอวิตาเสียอีก และเขาเป็นผู้นำคนแรกๆ ที่นำประชานิยมฝ่ายซ้ายมาใช้
ที่น่าสนใจ ในสายตาของอเมริกา คือ ผู้นำที่อันตรายที่สุด ฮูโก ชาเวซ เขาเป็นมาอย่างไร ถึงทำให้ประชานิยมมีพลังมากถึงขนาดนี้
ฮูโกในสายตาของผมยังหนุ่มอยู่ คือ อายุแค่ 52 ปี อย่างไรก็ตามคนพวกนี้ส่วนใหญ่อายุ 40-50 เท่านั้น จึงอยู่ในรุ่นใกล้ๆ กัน และเป็นรุ่นหนุ่มถ้าเปรียบเทียบในหมู่ผู้นำด้วยกัน ชาเวซเป็นทหารแต่แรกเพราะตอนแรกต้องการเป็นนักเบสบอล เพราะทหารเป็นสถาบันที่สนับสนุนผู้ต้องการเข้าร่วมทีมเบสบอล หลายคนบอกว่าดีที่เขาไม่ได้เป็นนักเบสบอลอาชีพแต่เป็นนักการเมือง เขาเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยด้านการสงครามที่ได้รับความนิยมสูง
เขาเข้าร่วมในการจัดตั้งแนวคิดตามซิมมอน โบลีวา ซึ่งเป็นผู้นำในอดีตที่พยายามรวบรวมลาตินอเมริกาเข้าด้วยกัน เพื่อต่อสู้กับสเปนในศตวรรษ 1800 ต่อมาเกิดเหตุการณ์หนึ่งเรียกว่าคาราคาโซ (Caracazo) ซึ่งเราพบเรื่องนี้ได้เวลาเราอ่านขบวนการต่อต้านไอเอ็มเอฟ เพราะเป็นเหตุการณ์ต่อต้านครั้งใหญ่สุด
ตอนนั้น เวเนซูเอลาขึ้นราคารถสาธารณะ ประชาชนต่อต้านไอเอ็มเอฟ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟสั่งการมา คารากัสอยู่ในหุบเขา ซึ่งบรรดาคนรวยทั้งหลายอาศัยอยู่ในหุบเขา ส่วนคนจนอยู่บนไหล่เขา การต่อต้านคือคนจนเดินขบวนออกมาล้อมคนรวยในหุบเขา แต่ก็เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก ชาเวซรู้สึกว่าถูกผู้นำใช้เพราะเป็นทหาร ถูกสั่งให้ฆ่าประชาชน เหตุการณ์นั้นทำให้ทหารหลายคนรู้สึกว่าถูกผู้นำใช้
ในปี 1992 (2535) ชาเวซก่อรัฐประหาร โดยเพื่อนทหารร่วมกัน ซึ่งเกือบจะประสบความสำเร็จ แต่ศูนย์กลางประกาศว่าไม่สามารถคุมคารากัสได้ ดังนั้นจึงต้องยอมมอบตัวต่อรัฐบาล ชาเวซได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาของโทรทัศน์บอกให้ทุกคนวางอาวุธ ซึ่งเขาประกาศได้ แต่เขาก็บอกด้วยว่าโอกาสมันจะยังมีอีกในเบื้องหน้า เหตุการณ์นั้น เขาได้สร้างความหวังให้ประชาชน เมื่อถูกปล่อยจากคุก ในปี 1998 (2542) ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงในเวเนซูเอลา
ชาเวซกับพวกพ้อง ร่างรัฐธรรมนูญ มีการปฏิรูปที่ดิน มีการจัดบริการทางสังคมใช้ทหารเป็นตัวนำส่งบริการ เปิดบริการของทหารให้คนจนมารักษาพยาบาล ปฏิรูประบบสาธารณสุข แต่ปรากฎว่าหมอและพยาบาลต่อต้าน เพราะการปฏิรูปเน้นไปที่การบริการคนยากจน ดังนั้นสิ่งที่เขาทำคือ ยกหูโทรศัพท์พูดกับฟิเดล คาสโตร ของคิวบาเพื่อขอหมอจากคิวบามาช่วย ดังนั้น คาสโตรจึงส่งหมอมาช่วย และให้บริการสาธารณสุขมูลฐานในชนบท ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นแล้วว่าผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง และก็มีคนโวยวายว่า เวเนซูเอลาถูกบุกโดยคิวบาจากการที่หมอเข้ามาในประเทศมากมาย
พัฒนาการที่น่าสนใจคือ หลังจากมีการรัฐประหารต่อต้านชาเวซ เขารอดมาได้เพราะคนจนตามไหล่เขาลงมาช่วย ขณะนั้นคนนึกว่ารัฐประหารสำเร็จแล้ว แต่ปรากฎว่าคนจนลงมาแล้วเรียกร้องให้ชาเวซเป็นประธานาธิบดีต่อไป คนทำรัฐประหารจึงกลัว จากนั้นไม่กี่วันเขาจึงกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป
ชาเวซเป็นประชานิยม แต่ก็มีความขัดแย้งหลายอย่าง แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีคนคัดค้านว่ามีการฉ้อฉล ประธานาธิบดี จิมมี่ คาเตอร์ ของสหรัฐอเมริกา พยายามตรวจสอบการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ เขายืนยันว่าการเลือกตั้งในเวเนซูเอลาเป็นการเลือกตั้งที่สะอาด
ทหารกับการช่วยปฏิรูปเวเนซูเอลา
ชาเวซอาจไม่ใช่คนที่เป็นอำนาจนิยม แต่เขาใช้วิธีการค่อนข้างรวมศูนย์ ไม่วางใจในพรรคการเมือง
เพราะว่าที่ผ่านมาคอรัปชั่นมากมาย สถาบันเดียวที่ช่วยเขาได้คือสถาบันทางทหาร
เขาไม่เชื่อทั้งสถาบันทางศาสนาและพรรคการเมือง เขาเชื่อว่าสถาบันทหารเป็นสถาบันเดียวที่ไม่ทุจริต
เขาใช้โอกาสในการรวบอำนาจทางทหาร จัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คนในปี
2002 (2545) ทหารเหล่านี้มีเส้นสายติดต่อกับรองกลาโหมของสหรัฐอเมริกา และถูกสั่งให้ลาออกไป
เพื่อตัดการโยงใยกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
ทหารได้ช่วยในปฏิรูปที่ดิน สร้างคลีนิค ช่วยเรื่องสาธารณสุข โดยมีหมอจากคิวบา กำลังสำรองนี้เรียกว่าเป็นกองกำลังโบลิวาเลียน ทางฝ่ายผู้วิพากษ์วิจารณ์บอกว่านี่คือการทำให้เวเนซูเอลาเป็นรัฐทหาร ส่วนผู้สนับสนุนบอกว่านี่คือการให้ทหารรับใช้สังคม ดังนั้น คุณจะเห็นว่ามีความแตกต่างทางความคิด
ในมุมมองของสหรัฐอเมริกาและอภิสิทธิ์ชน
ชาเวซอันตรายเพราะเหตุผล ๒ ประการ หนึ่ง, ชาเวซกระตือรือล้นในการปฏิรูป
สอง, เขาเป็นคนควบคุมแหล่งน้ำมัน และใช้มันทั้งในการบริการสังคมและสร้างพันธมิตรกับต่างประเทศ
เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนตัวยงกับรัฐบาลในโลกที่สาม แม้กระทั่งรัฐบาลบางรัฐบาลที่เราอาจจะไม่ชอบ
เช่น รัฐบาลลิเบีย และรัฐบาลซัดดัม ฮุดเซนในอิรัก แต่ชาเวซเคารพกระบวนการประชาธิปไตย
ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะล้มล้างเขา นี่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับฝ่ายขาวและสหรัฐอเมริกา
ซึ่งไม่สามารถใช้ข้ออ้างความไม่เป็นประชาธิปไตยในการล้มล้างเขาได้
ชาเวซได้รับการสนับสนุนจากภายในและจากทหารเอง ในนิตยสาร Foreign Policy จะพูดถึงชาเวซในแง่ของนักอำนาจนิยมเชิงแข่งขัน (competitive autocrat) ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าหมายความว่าอย่างไร อาจหมายความว่าเป็นนักอำนาจนิยม แต่เข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง ฝ่ายขวาจะมองว่าเขาเผด็จการ
นโยบายของเขาตอนนี้ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะตอบโต้อย่างไร เขาสามารถที่จะโต้กลับได้ ดังนั้นเขาใช้นโยบายแข็งในการต่อต้านหรือตอบโต้สหรัฐอเมริกาในการสร้างฐานความนิยมในประเทศ เขาพยายามที่จะหยุดยั้งการครอบงำของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่อง FTAA (เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา) ซึ่งเป็นการขยายออกจาก NAFTA (เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่พยายามผลักดัน
ALBA กับความสำเร็จของฮูโก
ชาเวซ
เขาพยายามตั้ง ALBA (Bolivarian Alternatives for the Americas) แต่ก่อนที่จะไปถึง
ALBA ทำไมชาเวซถึงถึงได้ประสบความสำเร็จนัก
ส่วนหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกาติดหล่มในอิรักมาก ไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบความเคลื่อนไหวในลาตินอเมริกาได้ทันทีทันควัน และเพราะสหรัฐอเมริกากำลังแพ้สงครามในอิรักและค่อนข้างอ่อนแอลงจึงไม่สามารถขู่ลาตินอเมริกาได้ เขาถูกมองว่าเป็นคนที่สามารถโดดเดี่ยวสหรัฐได้ ดังนั้น ผมคิดว่า มันทำให้เข้าใจว่า ถ้าจะมีใครสามารถใช้ประโยชน์จากการที่สหรัฐอเมริกาถูกแช่แข็งในสงครามอิรัก คนๆ นั้นคือชาเวซ ดังนั้น การเคลื่อนไหวของเขาจึงมีมิติทางการเมือง
ALBA คือ ทางเลือกสำหรับลาตินอเมริกา เป็นการเลียนคำ เพราะ FTAA ภาษาสเปนเรียก ALGA, ALBA เป็นทางเลือกการค้าของประชาชน ที่คิวบา โบลีเวีย และเวเนซูเอลาร่วมกันลงนาม ในปี 2003 เวเนซูเอลาจะช่วยเรื่องน้ำมันให้คิวบา ส่วนคิวบาจะส่งหมอไปเวเนซูเอลาและโบลีเวีย เป็นการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้าและบริการของผู้ลงนามทั้งสามประเทศ สำหรับคิวบา สินค้าส่งออกที่ดีที่สุดคือ หมอ ดังนั้น จึงเป็นการทำให้สินค้าส่งออกเกิดผลบวกในเชิงการเมืองและสังคม
ALBA ไม่ใช่แผนที่มีรายละเอียดมากมายอะไร มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อะไรบ้าง องค์ประกอบเหล่านั้น คือ
1. Petro Caribe เป็นข้อตกลงว่าประเทศในคาริบเบียนจะได้รับการลดราคาน้ำมันนำเข้า 40% จากเวเนซูเอลา
2. Petro Sur เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนที่จะจ่ายเป็นเงินสด อาร์เจนตินาจะจ่ายเป็นวัวให้เวเนซูเอลา แทนที่จะจ่ายเป็นเงิน โบลีเวียจะซื้อน้ำมันบางส่วนโดยใช้ถั่วเหลืองตามแต่จะตกลง จึงเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน
3. Telesur เป็นเครือข่ายการสื่อสารทางโทรทัศน์ที่ต่อต้านโทรทัศน์ที่คุมการสื่อสารของโลกอย่าง CNN
4. Banco del Sur เป็นความพยายามในการสร้างธนาคารทางเลือก เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคาร Inter American Development Bank ซึ่งคล้ายๆกับ Asian Development Bank ในเอเชีย ธนาคารนี้จะถูกก่อตั้งเร็วๆ นี้ ในเดือนมกราคมขณะที่ผมอยู่ที่คารากัส ชาเวซบอกว่าเวเนซูเอลาพร้อมจะให้เงิน 5 พันล้าน สำหรับธนาคารทางเลือกนี้ และอีก 5 พันล้านจะมาจากบราซิล ดังนั้นเขาพยายามที่ดึงให้บราซิลมาเข้าร่วมให้ทุน และเป็นไปได้ว่าธนาคารนี้ต่อไปอาจจะเป็นทางเลือกแทนธนาคารโลกก็ได้
มีข้อเสนอที่น่าสนใจในการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติยาว 7,000 ไปยังบราซิลและอาร์เจนตินา ขยายจากเวเนซูเอลาและโบลีเวียซึ่งจะสร้างงานให้คนงานได้ล้านคนตลอดเส้นทาง
ชาเวซบอกว่า ALBA นี้ไปไกลกว่าทุนนิยม เป็นวิสัยทัศน์ที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ยังคงเป็นส่วนของการริเริ่มอยู่ แต่ชัดเจนคือไม่ใช่การค้าเสรีและไม่เป็นไปตามกติกาของตลาดหรือทุนนิยม
ALBA กับ ASEAN
ตอนนี้ อยากที่จะเปรียบเทียบบางประเด็นซึ่งอาจจะแลกเปลี่ยนได้เพิ่มเติม
ผมคิดว่ามีการเปรียบเทียบได้ 2-3 อย่าง เช่น ระหว่างคิชเนอร์และทักษิณว่าทักษิณเป็นประชานิยมหรือไม่ คำตอบของผมคือไม่ เพราะแนวหนึ่งของประชานิยมต้องต่อต้านคนกลุ่มน้อย แต่ทักษิณเป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชนคนกลุ่มน้อย ดังนั้นวิธีการอาจจะใช่ประชานิยม แต่ตัวทักษิณไม่ใช่
เป็นไปได้แค่ไหนในการตั้งข้อตกลง ALBA ในเอเชีย อาเซียนก่อตั้งตั้งแต่ 1967 (2510) อายุ 35 ปีแล้ว แต่อาเซียนยังคงอ่อนแอ แม้ว่าจะมีเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ก็ยังอยู่ในกระดาษมากกว่า ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งผิดกับลาตินอเมริกา เพราะมีการนำเสนอต่อต้านการครอบงำ FTAA มี ALBA เป็นทางเลือกที่ชัดเจน ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ ASEAN จะมีการผสมผสานการค้าในแนวก้าวหน้าอย่าง ALBA
ท้ายที่สุด ความแตกต่างที่เห็นกับในลาตินอเมริกาคือ ความริเริ่มทางการเมืองเศรษฐกิจไม่สามารถจะถูกนำทางโดยความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว เพราะเรายังมีอีก 2 ประเทศที่ต้องระวัง คือ จีน ซึ่งกำลังกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ และญี่ปุ่นซึ่งแม้ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังถดถอยแต่ก็ยังมีอำนาจมาก ดังนั้นในอาเซียนจึงมีขั้วอำนาจที่ซับซ้อนมากกว่าในลาตินอเมริกา
ดังนั้น เนื่องด้วยเวลามีจำกัด ผมจงขอจบเพียงเท่านี้ แล้วจะได้แลกเปลี่ยน คำตอบหรือคำถาม เกี่ยวกับพัฒนาการในลาตินอเมริกา ปรากฎการณ์ประชานิยมฝ่ายซ้าย บทเรียนสำหรับประเทศไทย และ ALBA ว่ามีนัยยะอย่างไรต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
++++++++++++++++++++++++++++++++++
ช่วงคำถาม คำตอบ
คำถามที่ ๑ การที่ชาเวซสามารถใช้ทรัพยากรน้ำมันเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ
ที่ผ่านมานั้น มันมีนัยยะการต่อรองกับบริษัทข้ามชาติหรือสหรัฐอเมริกาอย่างไร
มีกระบวนการในการได้มาซึ่งการควบคุมอย่างไร และกระบวนการจัดการ มีความแตกต่างกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวไอเอ็มเอฟอย่างไร
ตอบ มีสามเรื่อง เรื่องแรกคือ วิสาหกิจน้ำมัน เหมือนรัฐหนึ่งของตัวมันเอง
ดังนั้นเขาจึงคุมได้ ดังนั้นหลังจากรัฐประหารที่คนจะล้มล้างเขา แล้วเขาสามารถกลับเข้ามาอยู่ในอำนาจใหม่ได้
เขาสามารถจะไล่ผู้บริหารออกได้หลายพันคน ดึงให้วิสาหกิจน้ำมันอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาเองได้
อีกปัจจัยคือ เวเนซูเอลามีบทบาทในโอเปค. ประมาณ 30% ของการนำเข้าน้ำมันของสหรัฐอเมริกามาจากเวเนซูเอลา
ดังนั้นเขาสามารถที่จะขู่สหรัฐอเมริกาได้ แล้วเขาก็พูดออกมาว่าถ้าสหรัฐอเมริกายังทำอย่างนี้ต่อไปจะไม่ขายน้ำมันให้
สหรัฐอเมริกามีรายงานออกมาว่า ถ้าไม่ได้น้ำมันจากเวเนซูเอลาย่อมจะมีผลทางยุทธศาสตร์ที่ไม่พึงปรารถนา
ดังนั้นเวเนซูเอลาจึงเป็นผู้นำในการเริ่มขบวนการมีอิทธิพลในโอเปค โดยเฉพาะการกำหนดราคา เพราะราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ เพราะชาเวซบอกว่าน้ำมันราคาต่ำเกินไปมาเป็นเวลานานแล้ว จากการถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ถ้าเราเป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกา เราสามารถกำหนดราคาตามที่มันควรจะเป็นได้ ด้วยเหตุนี้ น้ำมันจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาเวซ ไม่ใช่ทุกประเทศทำได้ เพราะประเทศส่วนมากไม่มีทรัพยากรน้ำมันที่จะใช้ได้
ชาเวซพยายามทำให้น้ำมันของเวเนซูเอลา เป็นพลังงานที่ประชาชนเข้าถึงและสามารถใช้ได้มากขึ้น และให้ประเทศบางประเทศ เช่น จีน ซึ่งต้องการมีความสัมพันธ์ทางการเมือง และต้องการน้ำมันได้เข้าถึงน้ำมันได้. ในส่วนของโบลีเวีย การยึดคืนน้ำมัน ในความเข้าใจผม คือทั้งบริษัทเอกชนและโบลีเวีย และบริษัทต่างด้าวต้องดำเนินการภายใต้สัญญาสัมปทาน ทำให้รัฐบาลควบคุมการใช้แก็ซและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่
คำถามที่ ๒
ประธานาธิบดีชาเวซในด้านหนึ่งไม่มีความเชื่อมั่นในพรรคการเมือง แต่ในอีกด้าน
เขาเคารพในระบอบประชาธิปไตย แต่ระบอบประชาธิปไตย ต้องมีพรรคการเมือง ใช้อำนาจผ่านพรรคการเมือง
ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน
ตอบ เป็นคำถามที่น่าสนใจ มีพรรคการเมืองในเวเนซูเอลา
สองพรรคที่อยู่ในอำนาจมานาน ชาเวซมองว่าสองพรรคนี้เป็นพรรคของคนรวย ซึ่งนำความทุกข์มาให้กับคนจน
ส่วนพรรคฝ่ายซ้ายเขาคิดว่ายึดในอุดมการณ์มากไปและแบ่งเป็นสายต่างๆ ดังนั้นจึงมีปัญหาในแง่ของการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย
จริงๆ มีขบวนการที่หนุนหลังเขา แต่เขาต้องการแค่ให้เป็นขบวนการเคลื่อนไหว ไม่ต้องการให้พัฒนาขึ้นพรรคการเมือง
ดังนั้นคนจึงถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับการปฏิวัติของคุณ เพราะว่ามันจะขึ้นอยู่กับความคิดของคุณว่าจะทำอะไร
ทำอย่างไรจะให้เกิดสถาบันทางการเมืองที่ให้มีผลระยะยาว ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนหนึ่งที่คนมองเห็นในนโยบายของชาเวซ
ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันที่แน่นอนมารองรับ มีคนมองว่าถ้า CIA ประสบความสำเร็จในการสังหารชาเวซ
โครงการปฏิรูปต่างๆ ก็จะล้มเหลวทั้งหมด เนื่องจากในเวเนซูเอลาทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่เขา
การปฏิบัติโบลีวาเรียนก็จะจบไป ผมอาจจะไม่เห็นด้วยถึงขนาดนั้น แต่มันก็เป็นปัญหา
ชาเวซเป็นคนที่มีบารมีมากกับคนจนในสลัมและในเมือง เขามีความสัมพันธ์อันนั้น ออกรายการโทรทัศน์เป็นประจำเพื่อให้การศึกษากับคนเหล่านี้ ดังนั้นจึงเป็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเขากับประชาชนโดยไม่ผ่านพรรคการเมือง อีกอย่างคือว่าเขาสามารถหลีกเลี่ยงการท้าทายของฝ่ายขวาได้ เพราะว่าทำให้ขบวนเคลื่อนไหวเหล่านี้เข้ามาร่วมการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการแบ่งแยก เพราะคนจำนวนมากไม่อยู่ในรายชื่อผู้เลือกตั้ง
สิ่งที่ชาเวซทำฉลาดมาก คือ พยายามดึงคนลงทะเบียนมาเป็นคนเลือกตั้ง รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในเวเนซูเอลามาเป็นเวลานาน ดังนั้น ที่น่าสนใจ ที่เราเห็นคือ การขยายของจำนวนคนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง อันนี้จึงเป็นพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่น่าสนใจ ดังนั้นสิ่งที่พรรคขวากำลังจับตา คือ เขาจะทำผิดรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่
คำถามที่ ๓
มีกระแสที่ไม่เอาซ้ายในลาตินอเมริกา เช่น ในเปรู คนสนิทกับชาเวซก็แพ้ ในเม็กซิโก
ผู้รับสมัครฝ่ายซ้ายก็มีแนวโน้มเหมือนกันเพราะว่าสนิทกับชาเวซ คิดว่าจะมีประเทศไหนอีกหรือไม่ที่จะมีแนวปฏิวัติทางซ้ายต่อจากโบลีเวีย
และอยากให้วิเคราะห์ต่อว่าเมื่อมีการเปลี่ยนประเทศแล้ว กระบวนการภาคประชาชนแข็งแรงต่อไปหรือเปล่า
เพราะเคยได้ยินมาว่าโมลาเลสในโบลีเวีย ยึดบริษัทน้ำมันได้จริงเพราะประชาชนมีความแข็งแกร่ง
ตอบ ในเรื่องประชาสังคม กรณีเวเนซูเอลา ค่อนข้างอ่อนแอ
ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เรื่องที่ดิน หรือเรื่องน้ำ ยังไม่มีการจัดตั้งการต่อสู้มากเท่ากับในไทยหรือในฟิลิปปินส์
ดังนั้นจึงเป็นการจัดตั้งพรรคการเมืองแบบมวลชนมาโดยตลอด มีคนชี้ว่า ชาเวซไม่ได้พยายามในการสร้างฐานประชาสังคมที่มั่นคง
ผมคิดว่าใช่ และก็ใช่ที่ว่าในโบลีเวีย โมลาเลสมีขบวนการของคนที่สนับสนุนการปลูกใบโคคา
มีการต่อสู้การครอบงำบริษัทข้ามชาติ ทั้งน้ำมัน แก็ซ มีกลุ่มชาวนาที่ต่อต้านการทำลายล้างไร่โคคา
ซึ่งเป็นการท้าทายฝ่ายขวามาตลอด ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีผ่านการเลือกตั้งได้
ชาเวซถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงในการเมืองประเทศอื่น เช่น เปรูและเม็กซิโก เป็นข้อกล่าวหาที่ฝ่ายขวายกขึ้นมาโจมตีชาเวซได้ว่าใกล้กับโอเปรดอนเม็กซิโก
ในเปรูที่เขาแพ้ไปก็เป็นคนที่ชาเวซประกาศสนับสนุน ดังนั้นจึงเป็นปฏิกริยาตอบโต้ชาเวซ
ซึ่งอาจจะเกิดกับเม็กซิโกก็ได้ เพราะว่ามีความกลัวกันว่าชาเวซจะมีอำนาจมากเกินไปในประเทศต่างๆ
อีกอย่าง คือ ชาเวซเป็นคนพูดมาก พูดตลอดเวลา ขี้โม้ ดังนั้น เป็นจุดอ่อนของเขา
อย่างเช่น ในเปรู เขาถูกกดดันว่าจะต้องระวังคำพูด ไม่เช่นนั้น พรรคการเมืองจะคิดว่ามีการแทรกแซงการเมืองในประเทศของตน ชาเวซมองว่าละตินอเมริกาก็คือลาตินอเมริกา พูดภาษาเดียวกัน ดังนั้นจะพูดสนับสนุนใครก็ได้ แต่แน่นอนว่ามันมีชาตินิยมอยู่ด้วย ดังนั้นอาจถูกการโต้กลับได้
นักการเมืองชื่อ อลัน กราเซีย ในเปรู เป็นผู้ที่ปฏิเสธหนี้ของเปรูในช่วง 1970 (2513) พยายามโต้ตอบคัดค้านไอเอ็มเอฟ แต่มีชื่อเสียในคอรัปชั่น เขาเป็นผู้ชนะที่เปรู ซึ่งจริงๆ ก็มาจากฝ่ายซ้าย
เม็กซิโกเป็นจุดยุทธศาสตร์มากสำหรับสหรัฐอเมริกา เพราะว่าถ้าโลเปรสได้รับการเลือกตั้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์อย่างมหาศาลกับอเมริกา ถ้าเขาได้รับเลือกตั้ง สหรัฐอเมริกาจะกังวลมาก คิดว่าตอนนี้มีกระบวนการที่พยายามล้มล้างเขาจากอเมริกา
คำถามที่ ๔
อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านหรือเปล่า ไปสู่อะไร ถ้าประเทศเดียวในลาตินอเมริกาเปลี่ยนคงไม่เกิดอะไรเท่าไร
แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นลูกคลื่น อาจจะเข้าสู่กลไกในภูมิภาค เรื่อง competitive autrocrat
ไม่ใช่สัญญาณที่ดีในระยะยาว การต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและบริษัทช้ามชาติมันชัดเจนทำให้ชาตินิยมลงหลักปักฐานภายใน
เป็นไปได้หรือไม่ว่าชาตินิยมมันมากเสียจนไม่เกิดความเคลื่อนไหว เช่น การต่อสู้เรื่องที่ดิน
ไม่เกิดการสู้รบภายใน อยากตั้งข้อสังเกตว่าเสรีนิยมใหม่พยายามลงรากในลาติน แต่ทำไม่ได้
อาจจะมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างมาก และบทบาทของสหรัฐอเมริกาชัดเจนมากเกินไป
ขณะนี้ เสรีนิยมเกิดขึ้นในทุกอณู กรณีที่เกิดกับลาตินไม่น่าจะเกิดในเอเชีย
ตอบ หลายคนผิดหวังสิ่งที่เกิดในบราซิล เพราะคนคาดว่าจะมีการนำนโยบายฝ่ายซ้ายขึ้นมา
เพราะลูลาเป็นตัวแทนของคนจนที่มาจากฝ่ายแรงงาน เมื่อเห็นว่าลูลาจะขึ้นมามีอำนาจ
คนหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ นักวิชาชีพก็เข้ามารวม ทำให้พรรคของลูลามีหลายหน้ามากขึ้น
จากเดิมเป็นพรรคแรงงาน คนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอภิสิทธิ์ชนในบราซิล ดังนั้นพลังฝ่ายขวาที่เข้ามาในพรรคการเมืองจึงถ่วงดุลไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป
สร้างอิทธิพลของตัวเองเพิ่มเรื่อยๆ ในพรรคการเมือง
หลายคนบอกว่าคนเหล่านี้นำนโยบายเสรีนิยมเข้ามาด้วยซ้ำไป อีกปัจจัยหนึ่งคือ มีความกลัวว่าถ้าลูลามาเป็นประธานาธิบดี
จะที่การไหลออกของทุน ดังนั้น เขาจึงให้สัญญากับไอเอ็มเอฟว่าจะเคารพตามเงื่อนไขไอเอ็มเอฟที่ประธานาธิบดีคนก่อนลงนามไว้
ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้มากเมื่อมามีอำนาจ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว
ยังมีการว่างงานในระดับสูง และการทำตามนโยบายไอเอ็มเอฟก็จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา
ในทางการค้า รัฐบาลลูลาพยายามผลักดันธุรกิจการเกษตรของบราซิล ดังนั้นจึงน่าแปลกว่า ลูลาขึ้นสู่อำนาจโดยมวลชน แต่กลับถูกครอบงำโดยฝ่ายขวา ขณะนั้นคนมองว่าเป็นยุคทองของบราซิล แต่ตอนนี้ลูลา กลายเป็นเพื่อนของประธานาธิบดีบุชไปแล้ว
ถ้าเราดูลาตินอเมริกา มันก็เป็นอย่างเดียวกับประสบการณ์ของประเทศโลกที่สาม ในช่วงทศวรรษ 1970 (2513) แทบทุกประเทศเป็นเผด็จการ และหลังจากนั้นก็มีขบวนการประชาธิปไตย ผู้นำประชาธิปไตยแบบเสรี คือผ่านการเลือกตั้งขึ้นมา เป็นการแข่งขันระหว่างอภิสิทธิ์ชนด้วยกัน จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและปฏิรูปน้อยมากตั้งแต่ 1980 (2523) เป็นต้นมา ลัทธิประชานิยมในลาตินอเมริกาจึงเป็นปฏิกิริยาโต้กลับเสรีนิยม . ในฟิลิปปินส์ หลังปี 1986 (2529) ที่เอามาร์คอสออกไปได้ ประชาธิปไตยเป็นเสรีนิยมล้มเหลวมาก เราอาจจะบอกว่าประชาธิปไตยของไทยหลัง 1992 (2535) ก็ไม่สามารถปฏิรูปทางสังคมเศรษฐกิจ การเมืองได้
ผู้นำในลาตินอเมริกา ไม่ใช่จะล้มล้างประชาธิปไตย
ทุกคนเคารพในประชาธิปไตย แต่มีข้อบกพร่องคือไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดกับ
ประชาธิปไตยแบบพรรคการเมืองได้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและประชาชนที่เลือกเขาขึ้นมา
ยังเป็นความสัมพันธ์โดยตรง เหมือนจักรพรรดินโปเลียน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นอันตราย
ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราต้องการ
คำถามที่ ๕
ที่อาจารย์พูดเป็นบทบาทของผู้นำมาก การที่จะทำอย่างชาเวซ เช่น ธนาคารและสื่อทางเลือก
ต้องมีบุคลากรจำนวนมากที่จะปฏิบัติได้ และคนเหล่านี้คงไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้นำ
อยากทราบถึงบทบาทของคนเหล่านี้มากขึ้น และมีการสร้างคนอย่างไร
ตอบ เรามีผู้นำที่มองตัวเองว่ากำลังทำทุกอย่างเพื่อประชาชน
ไม่มีใครสงสัยถึงความจริงใจของชาเวซ หรือโมลาเลส แต่คำถามที่ถามคือ เขาจะเอาประชาชนเข้ามาร่วมในการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันหรือเปล่า
ยังเป็นคำถามในใจของทุกคน
ประชาธิปไตยต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้เป็นสถาบัน เพราะสิ่งที่เราต้องการเห็นคือ
ผู้นำเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพาเขาเพียงอย่างเดียว มีคนเสนอสิ่งนี้ให้กับชาเวซเยอะ
อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้ อาจจะเป็นผู้นำของประชานิยมก็ได้
แม้ว่าจะมีความจริงใจและหัวก้าวหน้า แต่จะดึงดันที่จะไม่ฟังหรืออยากฟังเฉพาะ
ข่าวดี ถ้าเรามีโอกาสที่จะพบชาเวซ เราอย่าพลาดโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคนรอบข้างมักจะป้อนคำหวานให้แก่เขา
ถ้าผมมีเวลาหนึ่งนาทีกับชาเวซ ผมจะบอกว่าเขาทำอะไรที่ผิดบ้าง
เมื่อครั้งที่ผมเจอกับชาเวซ ผมบอกกับชาเวซในกรณีที่เกิดขึ้นที่ฮ่องกงกับการประชุมองค์การการค้าโลกว่า เห็นได้ชัดว่าท่านหักหลังขบวนการสังคมโลก โดยการให้ความสัมพันธ์กับบราซิลสำคัญกว่าผลประโยชน์ของประชาชน เพราะรอบโดฮาเป็นรอบที่แย่มาก ทุกคนรู้ดี แต่บราซิลอยากให้จบเนื่องจากต้องการผลักดันธุรกิจการเกษตรของตน และบทบาทของเวเนซูเอลาไม่แข็งในการเจรจาที่ฮ่องกงเลย ดังนั้นจึงขอให้ท่านมีจุดยืนที่แข็งในเจนีวา ซึ่งเขาไม่ได้ตอบอะไร ประเด็นที่ผมพยายามชี้คือ มันสำคัญสำหรับผู้นำประชานิยมเหล่านี้ ที่ขบวนการสังคมจะต้องเสนอข้อวิจารณ์ต่อผู้นำเหล่านี้ให้มากที่สุด
คำถามที่ ๖
มีการพูดถึงคิวบาหรือไม่ มีอะไรเป็นมิติใหม่ๆ ที่จะส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กับอเมริกา
ตอบ การโดดเดี่ยวคิวบาของสหรัฐอเมริกาถูกทำลายลง
เพราะการสร้างพันธมิตรระหว่างเวเนซูเอลาและคิวบา ดังนั้น ในข้อตกลงที่เรียกว่าข้อตกลงประชาชนระหว่างคิวบา
โบลีเวีย และเวเนซูเอาลา เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ที่แสดงว่า ประเทศในลาตินอเมริกาต้องการดึงคิวบาเข้ามาร่วมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
ดังนั้น ผู้รับผลกระทบในที่นี่คือนโยบายสหรัฐอเมริกาที่ต้องการโดดเดี่ยวคิวบา
อีกประการหนึ่งที่ชัดเจน คือ เขาประกาศตลอดเวลาว่า คาสโตรเป็นพ่อของเขาไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร
คำถามที่ ๗ ถ้าเราจะทำ ALBA ในอาเซียน เราจะเริ่มอย่างไร
ตอบ ในสหภาพยุโรปชัดเจนว่าจะมีการสร้างตลาดร่วมกัน
ปกป้องตลาดภายใน แต่อาเซียนยังไม่เคยตกลงกันได้ว่าจะเป็นอะไร ดังนั้นจึงมีแรงจูงใจสำหรับอาเซียนในการผสมผสานค้าขายกันเอง
ปรากฏว่าคนที่ได้ประโยชน์คือ ญี่ปุ่น คือ ค้าขายกันเองแต่เป็นสินค้าญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์
หรือสินค้าอิเล็คโทรนิค เราให้ญี่ปุ่นผสมผสานการค้าขายในภูมิภาคของเราภายใต้ผลประโยชน์ของญี่ปุ่น
ดังนั้น ถึงบอกว่า เรามีกระบวนการที่อ่อนแอมากในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
และธุรกิจด้วยกันในภูมิภาค
ผมคิดว่านี่เป็นภาระของเราที่จะทำให้อาเซียนเปลี่ยนกรอบจากการค้าเสรีไปเป็นสมาคมทางการค้าโดยมีการผสมผสานและเข้าร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ
มีการแบ่งงานกันทำในภูมิภาคตามความถนัดและระดับเทคโนโลยี อภิสิทธิ์ชนของอาเซียน
ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นที่จำต้องร่วมมือกันใดๆ เพราะคิดแต่ว่าเราจะเจาะตลาดโดยปิดตลาดเราได้อย่างไร
นั่นคือปัญหาใหญ่ของความร่วมมือ โดยเหตุนี้ 35 ปีที่ผ่านมาจึงไม่มีการผสมผสานทางเศรษฐกิจ
ไม่สามารถแข่งกับจีนได้ ขณะนี้เราควรจะพยายามเคลื่อนไปข้างหน้า มิเช่นนั้นเราจะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีน
คำถามที่ ๘
กรณีผู้นำลาตินที่ปฏิเสธอำนาจของอเมริกา และจะขับไล่อำนาจของบริษัทข้ามชาติ คิดว่าการเมืองในลาตินจะเป็นไปได้แค่ไหนในการหลุดพ้นจากอำนาจของอเมริกา
ตอบ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ที่มันต่างจากโครงการอื่นที่ผ่านมา
เพราะว่าได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากเวเนซูเอลา สิ่งเดียวที่เราเชื่อได้คือ
เวเนซูเอลามีทรัพยากรน้ำมัน ที่ชาเวซสามารถใช้เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
คำถามที่ ๙ ความคิดที่มีต่อเศรษฐกิจทางเลือกคือ
เราต้องกลับไปยังรากเหง้าของปัญหา คือธรรมชาติของมนุษย์. Good governance เป็นปัจจัยใหญ่ในการสร้างระบบทางเลือกขึ้นมา
เพราะผู้นำส่วนมากมีอัตตาสูง อยากฟังว่ามีความเห็นต่อระบบเศรษฐกิจทางเลือก ควรจะเป็นไปอย่างไร
แล้วจะมีความยั่งยืน ทำได้อย่างไร
อีกอย่างคือ ในขบวนการประชาชน ทักษิณไม่ได้รับความนิยมเท่าเดิมแล้ว แต่ว่ายังมองว่าเขาได้นำเสนอความเป็นผู้ประกอบการไปสู่คนชนบท
ซึ่งมองว่าเป็นจุดอ่อนของสังคมไทยอยู่แล้ว เพราะไม่มีหัวการค้า ดังนั้นระบบ OTOP
ที่นำเข้ามาพัฒนาผู้ประกอบการนั้น เป็นปัจจัยทางบวกซึ่งยังอยากจะเห็นอยู่
ตอบ
ผมไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดในเรื่องการสร้างผู้ประกอบการของทักษิณว่าเป็นจริงแค่ไหน
แต่ประการหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ไม่ว่าทักษิณจะทำอะไรที่ผิดพลาดไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นทางบวกคือ
เมื่อเขารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขานำนโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่ต่อต้านไอเอ็มเอฟ
เป็นตามแนวเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ซึ่งไอเอ็มเอฟไม่ชอบ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการในตอนนั้น
ผมจำได้ว่า เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ทักษิณบอกว่าไทยได้ประกาศเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟ
ใช่ไหม น่าสนใจเหมือนกัน สองเดือนก่อน รัฐบาลบราซิลและอาร์เจนตินาคืนเงินกู้ทั้งหมดให้กับไอเอ็มเอฟและก็ประกาศว่าเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟ
และสามอาทิตย์ก่อน รัฐบาลอินโดนีเซียจะตามประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟ
โดยจะจ่ายหนี้คืนทั้งหมดภายใน 2 ปี ดังนั้น ถ้าจะถามว่ามีเรื่องบวกอะไรที่เกิดขึ้นในระบอบที่คอรัปชั่นอย่างนี้บ้าง
ผมก็จะบอกว่า อย่างน้อยในช่วงต้น ก็คือการประกาศเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟ
คำถามที่ ๑๐
เราเห็นประชานิยมในภูมิภาคนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดในลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ
ความสามารถในการเชื่อมกับประชาชนในระดับล่าง นักเศรษฐศาสตร์อาจวิจารณ์ระบบประชานิยมว่า
เกี่ยวข้องกับการขาดวินัยทางการคลัง การใช้จ่ายเกินตัว อย่างไรก็ตามในลาตินอเมริกามีการปฏิรูปโครงสร้างซึ่งในบ้านเราไม่มี
อยากถามว่าในลาตินอเมริกามีการปฏิรูปที่ดินหรือไม่ มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหรือไม่
ตอบ สิ่งที่เกิดในไทย คือ มีคำประกาศมากมายที่ดูเหมือนเป็นประชานิยม
แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่า สิ่งที่ประเทศไทยมี คือ เป็นการนำประชานิยมไปใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งจะต่างไปจากที่เราจะเจอในลาตินอเมริกา เช่น ในเวเนซูเอลาจะมีนโยบายต่อต้านอภิสิทธิ์ชนอย่างชัดเจน
และมีนโยบายทางภาษีและปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายทรัพยากรไปสู่คนจน ซึ่งไม่เห็นเลยว่าทักษิณจะนำนโยบายเช่นนี้มาใช้ในประเทศไทย
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
ดังนั้นคนจึงถามชาเวซว่า
จะเกิดอะไรขึ้นกับการปฏิวัติของคุณ เพราะว่ามันจะขึ้นอยู่กับความคิดของคุณว่าจะทำอะไร
ทำอย่างไรจะให้เกิดสถาบันทางการเมืองที่ให้มีผลระยะยาว ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนหนึ่งที่คนมองเห็นในนโยบายของชาเวซ
ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันที่แน่นอนมารองรับ มีคนมองว่าถ้า CIA ประสบความสำเร็จในการสังหารชาเวซ
โครงการปฏิรูปต่างๆ ก็จะล้มเหลวทั้งหมด เนื่องจากในเวเนซูเอลาทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่เขา
การปฏิบัติโบลีวาเรียนก็จะจบไป ผมอาจจะไม่เห็นด้วยถึงขนาดนั้น แต่มันก็เป็นปัญหา
ชาเวซเป็นคนที่มีบารมีมากกับคนจนในสลัมและในเมือง เขามีความสัมพันธ์อันนั้น ออกรายการโทรทัศน์เป็นประจำเพื่อให้การศึกษากับคนเหล่านี้ ดังนั้นจึงเป็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเขากับประชาชนโดยไม่ผ่านพรรคการเมือง อีกอย่างคือว่าเขาสามารถหลีกเลี่ยงการท้าทายของฝ่ายขวาได้ เพราะว่าทำให้ขบวนเคลื่อนไหวเหล่านี้เข้ามาร่วมการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ชาเวซอาจไม่ใช่คนที่เป็นอำนาจนิยม แต่เขาใช้วิธีการค่อนข้างรวมศูนย์ ไม่วางใจในพรรคการเมือง เพราะว่าที่ผ่านมาคอรัปชั่นมากมาย สถาบันเดียวที่ช่วยเขาได้คือสถาบันทางทหาร เขาไม่เชื่อทั้งสถาบันทางศาสนาและพรรคการเมือง เขาเชื่อว่าสถาบันทหารเป็นสถาบันเดียวที่ไม่ทุจริต เขาใช้โอกาสในการรวบอำนาจทางทหาร จัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คนในปี 2002 (2545) ทหารเหล่านี้มีเส้นสายติดต่อกับรองกลาโหมของสหรัฐอเมริกา และถูกสั่งให้ลาออกไป เพื่อตัดการโยงใยกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา