Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การเมืองและสังคมไทยร่วมสมัย
ปฏิกริยาต่อรายงาน กอส. เรื่องของกรรมกร และเรื่องเด็กๆ

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและสุดสัปดาห์
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วย
1. พื้นฐานทางวัฒนธรรมของปฏิกิริยาต่อรายงาน กอส.
2. กรรมกร และ 3. เด็กๆ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 949
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)

 

ปฏิกริยาต่อรายงาน กอส. เรื่องของกรรมกร และเรื่องเด็กๆ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. พื้นฐานทางวัฒนธรรมของปฏิกิริยาต่อรายงาน กอส.
หลังจากรายงานของ กอส. ได้เสนอเป็นทางการแก่รัฐบาลแล้ว ผมก็เฝ้าดูว่าจะเกิดปฏิกิริยาอย่างไรต่อรายงานฉบับนี้บ้าง ทั้งจากรัฐบาลและจากสังคมไทย เท่าที่ดูมาถึงวันนี้ ปฏิกิริยาของรัฐบาลคือมึนชาครับ แม้แต่เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม คุณชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องภาคใต้โดยตรง ท่านก็ตอบว่ายังไม่ได้อ่านเพราะไม่มีเวลา (อันที่จริงรายงานมีใบปะหน้าที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า Executive Summary หรือรายงานย่อแก่ผู้บริหารอยู่ด้วย) ที่พอจะเข้าใจได้ก็คือ รัฐบาลมีปัญหารุมเร้าหลายด้าน และหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือภาคใต้ แต่ปัญหาภาคใต้คงถูกจัดไว้ลำดับท้ายๆ

ตรงกันข้ามกับรัฐบาล สังคมให้ความสนใจแก่รายงานฉบับนี้ "พอสมควร" คือไม่ถึงกับฮือฮา แต่ก็ไม่ถึงกับมึนชา สื่อสิ่งพิมพ์รายงานข่าวและเนื้อหาโดยย่อทุกฉบับ และมีคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของ กอส. เกือบทุกฉบับเหมือนกัน ผมหาโอกาสพูดคุยกับผู้คนเพื่อหยั่งปฏิกิริยาของเขาต่อรายงานฉบับนี้ แน่นอนไม่สู้จะมากมายนักหรอกครับ เพราะรายงานหนาขนาดนี้ ย่อมหาคนอ่านในสังคมไทยได้ไม่มากแล้วเอาความเห็นของเขามาผนวกกับนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ผมพบว่าประเด็นของข้อเสนอในรายงานที่ถูกคัดค้านหรือตั้งข้อสงสัยมากที่สุดมีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน

1. ให้ภาษามลายูเป็นภาษาสำหรับใช้งาน (working language)
2. การตั้งกองกำลังไม่ติดอาวุธที่เรียกว่าสันติเสนา
3. การตั้งศาลชาริอะห์หรือการใช้กฎหมายศาสนาสำหรับคดีบางประเภท
4. ความพร้อมในการเจรจากับทุกฝ่าย

หากหยิบข้อเสนอที่ถูกคัดค้านนี้มาพิจารณาแต่ละข้อแล้วก็ออกจะเข้าใจได้ยากสำหรับผมว่า สังคมไทยไม่สู้จะเห็นด้วยเพราะอะไร

ภาษาท้องถิ่นกำลังได้รับการส่งเสริมทั้งประเทศไทยเวลานี้โดยไม่มีประกาศอะไรเป็นทางการ จังหวัดเชียงใหม่, เทศบาลและเอกชนในเชียงใหม่รณรงค์ให้ "อู้กำเมือง" กันทุกวันศุกร์ วัดเกือบทุกวัดต้องเขียนชื่อวัดเป็นอักษรเมืองควบคู่ไปด้วย ถ้าจะพูดว่าอย่างน้อย "กำเมือง" ยังเป็นภาษาไทย ก็ต้องถามว่าแล้วภาษาจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี และอังกฤษ ซึ่งสังคมกำลังส่งเสริมให้เล่าเรียนกันในหลายรูปแบบอยู่เวลานี้เล่า ไม่เห็นมีใครรู้สึกกระอักกระอ่วน แม้บางรูปแบบของการส่งเสริมอาจทำให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยได้อย่าง "ไม่แข็งแรง" นักก็ตาม นี่ไงครับ "ภาษาใช้งาน" สำหรับชีวิตของคนในกระแสโลกาภิวัตน์

ในท่ามกลางอารมณ์ "การเปิดเสรี" ทางภาษา (ทั้งในสังคมและรัฐ) เหตุใดภาษามลายูท้องถิ่นจึงถูกตั้งข้อรังเกียจ ผมพยายามหาคำตอบด้วยการนั่งเถียงกับตัวเอง แล้วได้คำตอบที่ตัวพอใจมากที่สุดในช่วงนี้ดังนี้ครับ

ภาษาเป็นเรื่องของอำนาจ นี่ไม่ใช่ความคิดใหม่อะไรนะครับ การศึกษาของลูกผู้ดีโบราณของไทยก็เน้น "วิชาเสมียน" รวมทั้งความสามารถในการแต่งโคลงฉันท์ภาพย์กลอนด้วย เพราะภาษาเป็นที่มาของอำนาจนี่แหละครับ การสอนภาษาของไทยจึงต้องระวังไม่ให้ปัจเจกที่ได้อำนาจไปจากภาษานำเอาอำนาจนั้นมาสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ในสังคม

โดยเฉพาะเมื่อเราทำให้ "วิชาเสมียน" กลายเป็นแกนหลักของการศึกษามวลชน หลังปฏิรูปการศึกษาเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว เคยรู้สึกเหมือนผม (ซึ่งเรียนภาษาไทยมาจนจบอักษรศาสตรบัณฑิต) ไหมครับว่า การเรียนภาษาไทยคือการเรียนเรื่องการละเมิดทางภาษา มีอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง พูดอย่างนี้ไม่ได้ เขียนอย่างนี้ไม่ได้ แต่งอย่างนี้ไม่ได้ ยกเว้นแต่ที่ "ท่านอนุญาตไว้แล้ว เช่น เอกโทษ โทโทษ ในโคลงสุภาพ และกฎเกณฑ์ห้ามการละเมิดนั้นมีหยุมหยิมไปหมด

ครูภาษาไทยไม่เคยสอนว่า อะไรที่ทำได้บ้าง อะไรที่ควรทำได้บ้าง อะไรที่น่าจะกัดฟันทำดูบ้าง เพื่อเปิดขอบฟ้าทางภาษาให้กว้างไกลออกไปไม่สิ้นสุด อำนาจจาก "วิชาเสมียน" จึงทำให้ทะลุทะลวงขึ้นไปสูงเท่าไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบหรือโครงสร้างของ "ท่าน" เท่านั้น ภาษาจึงเป็นวิชาแห่งอำนาจที่สอนเพื่อลิดรอนอำนาจ

"กำเมือง" และอักษรเมืองเป็นเพียงเครื่องประดับ ไม่มีใครพยายามทำให้กลายเป็นภาษา "ใช้งาน" ได้จริงในชีวิตของผู้คนในยามที่ความเป็น "เมืองนอก" ของเชียงใหม่ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวกำลังหายไป ก็ต้องประดับประดาเมืองกันใหม่ให้คงเอกลักษณ์ความต่างเอาไว้ให้ชัด ไม่ว่าจะเป็นอาคารไปจนถึงการแต่งกายและภาษา ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับอำนาจของคนที่บังคับบัญชาภาษาเมืองได้เก่ง ให้เป็นศาสตราจารย์พอไหม?

ส่วนภาษาต่างประเทศให้อำนาจแก่คนที่เก่งภาษานั้นๆ แน่ แต่เป็นอำนาจที่จะหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เอามาใช้ทางการเมืองได้ไม่มากนัก ภาษาต่างประเทศจึงเป็นภาษาที่อยู่นอกเวทีอำนาจของไทย

ฉะนั้น ที่บอกว่าให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษา "ใช้งาน" จึงรับไม่ได้เลย เพราะงานที่จะให้ภาษามลายูรับใช้นั้นคือเรื่องของอำนาจโดยตรง เช่นทำให้เถียงกับนายอำเภอได้ ร้ายไปกว่านั้น นายอำเภอเองยังต้องใช้ภาษามลายูซึ่งไม่มีวันคล่องกว่าชาวบ้านไปได้ ยิ่งรู้สึกไร้อำนาจมากขึ้นไปใหญ่

จากข้อเสนอง่ายๆ ที่มองจากสภาพความเป็นจริงในพื้นที่จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่รับไม่ได้เช่นนี้

เรื่อง "สันติเสนา" นั้นน่าประหลาด คนที่รับข้อเสนอนี้ได้ทันทีคือ ผบ.ทบ. แต่คนที่รับไม่ได้คือคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ (ซึ่งคงมีแฟนแยะด้วย) ท่านท้วงว่าขนาดทหาร-ตำรวจติดอาวุธเพียบยังถูกยิงเป็นใบไม้ร่วง ขืนปลดอาวุธตัวเองมิตายกันเป็นเบือหรือ (ตรรกะอันเดียวกันนี้อาจใช้เพื่อแสดงว่าการติดอาวุธไม่มีประโยชน์ก็ได้นะครับ)

วัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังคำคัดค้านเรื่องนี้ ผมเดาว่าคือมโนภาพของอำนาจรัฐในความคิดของคนไทย ด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้ ผมคิดว่าอำนาจรัฐในความคิดของคนไทยมีอยู่ด้านเดียวคือด้านรังควาน (coercion) และกองทัพ (ทหาร-ตำรวจ) เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดหรือเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของอำนาจรัฐ เครื่องมือที่ไม่ติดอาวุธทำให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐหายไปครับ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือความรุนแรงทางกายภาพเป็นส่วนที่แยกออกจากอำนาจทางโลกย์ไม่ได้ ถึงเราจะกราบพระที่ไม่ติดอาวุธตลอดมา แต่พระไม่ใช่อำนาจทางโลกย์...อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในเชิงสัญลักษณ์

ศาลชาริอะห์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ ร.5 ทรงผนวกเอารัฐมลายูมาเป็นส่วนหนึ่งของสยามแล้ว ท่านก็ทรงยกเว้นให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องมรดกและครอบครัวได้ นโยบายนี้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ อาจมีเว้นบางช่วงและดีกรีของการกำกับโดยกระบวนการกฎหมายไทยอาจจางหรือเข้มต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง หมู่บ้านมลายูมุสลิมก็เหมือนหมู่บ้านไทยอื่นๆ นั่นก็คือส่วนใหญ่ของกรณีพิพาทถูกระงับภายในชุมชนมากกว่าอาศัยกระบวนการของศาล เช่น ผัวเมียหย่ากัน จะแบ่งสมบัติอย่างไร หากตกลงกันไม่ได้คนที่เขาพากันไปหาคือคนซึ่งได้รับความนับถือในชุมชน อาจเป็นอิหม่าม หรือโต๊ะครู หรือกรรมการมัสยิดบางคน แล้วการไกล่เกลี่ยของเขาก็ไม่ได้อิงกับกฎหมายอิสลามหรือไทยเคร่งครัดนัด ข้อพิพาทระงับไปได้ในระดับที่น่าพอใจก็แล้วกัน

อันที่จริงก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อยในทุกสังคมมุสลิมที่จะใช้กฎหมายชาริอะห์อย่างเต็มที่ในโลกปัจจุบัน นักวิชาการมุสลิมเองก็มีเรื่องต้องถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มาก ยิ่งนำมาใช้ในสังคมที่กฎหมายหลักไม่ใช่กฎหมายอิสลาม (เช่น ในมาเลเซีย เป็นต้น) ก็ยิ่งมีเรื่องต้องถกเถียงกันมากขึ้นไปอีก ฉะนั้น เอาเข้าจริง การยอมรับศาลชาริอะห์ (แค่ไหน อย่างไร รายงาน กอส. ไม่ได้บอก เพียงแต่เสนอให้น่าจะศึกษาทำความเข้าใจกันให้ดี) จึงมีคุณประโยชน์ในแง่สัญลักษณ์เท่านั้น คือยกระดับความแตกต่างทางวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นสถาบันแห่งชาติ จะมีผลในทางปฏิบัติอย่างไรยังเป็นเรื่องต้องศึกษาและต้องคิดกันอีกมาก

ข้อเสนอให้เจรจา เช่นเดียวกับข้อเสนอให้เจรจา เป็นเรื่องของการเปลี่ยนท่าที ไม่ใช่เริ่มกระบวนการ negotiation(เจรจาต่อรอง) ท่าทีของรัฐไทยเวลานี้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนต้องยอมรับโครงสร้าง, กฎหมาย และความสัมพันธ์ที่มีอยู่เวลานี้เสียก่อน มีอะไรไม่พอใจก็ให้ร้องเรียนได้ ไม่อย่างนั้นก็มาตีกัน ท่าทีอย่างนี้นำไปสู่ความสงบหรือไม่ก็เห็นกันอยู่ ท่าทีที่พร้อมจะเจรจาคือการเปิดพื้นที่ให้แก่คนซึ่งไม่ยอมรับโครงสร้าง, กฎหมาย หรือระบบความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ ไม่จำเป็นต้องใช้การวางระเบิดหรือยิงตำรวจ แต่มีพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคัดค้านโดยสงบได้มากมาย

ประเด็นจึงไม่ใช่ "เจรจากับใคร?" อย่างที่มักจะถามกันเสมอ แต่พื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวโดยสงบได้เปิดขึ้นแก่ทุกคนแล้ว ไม่ว่าจะมีความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับรัฐไทยอย่างไรก็ตาม

ผมคิดว่าในระดับพื้นฐานเลยทีเดียวแล้ว เรายังมีความสับสนระหว่าง unity กับ uniformity หรือระหว่างสิ่งที่เราเรียกว่า"ความสามัคคีหรือเอกภาพ"กับ"เอกรูป" สภาวะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเหมือนกัน

อันที่จริงคำว่าสามัคคีในภาษาบาลีแปลว่าผู้เดินร่วมทางเท่านั้น จะแต่งตัว, พูดภาษา, นับถือศาสนา, นับญาติ ฯลฯ ต่างกันอย่างไรก็ได้ เพียงแต่เดินร่วมทางไปสู่เป้าหมายอันเดียวกันเท่านั้น. แต่เราเอา"ความสามัคคี"ไปปนกับความเป็น"เอกรูป" คือต้องมีรูปเหมือนกันหมด จึงไม่เปิดพื้นที่ให้แก่ความแตกต่างหลากหลายในชาติของเรา และรู้สึกว่าชาติจะถูกบั่นรอน ถ้าเกิดพื้นที่ของความแตกต่างเพิ่มขึ้นจนสูญเสียเอกรูปไป

ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดในภาคใต้กว่าสองปีมาแล้วนี้ (ที่จริงนานกว่านั้นแยะ) อันที่จริงไม่ใช่ปัญหาของพื้นที่นั้น แต่เป็นปัญหาของรัฐไทย, วัฒนธรรมไทย, โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองไทย, การศึกษาไทย ฯลฯ มากกว่า

เราคงแก้ปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืนไม่ได้ ตราบเท่าที่เราไม่ยอมแก้ปัญหาของรัฐไทยไปพร้อมกัน

2. กรรมกร
หลังจากสองวันของการประชุมเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐศาสตร์การเมืองภายใต้ทักษิณผ่านไป ครูของผมลุกขึ้นถามว่า ทำไมในสองวันที่ผ่านมาจึงไม่มีใครพูดถึงกรรมกรเลยสักแอะ มีคำตอบจากนักวิชาการสังคมศาสตร์หลายท่าน แต่ดูเหมือนไม่ใช่คำตอบตรงๆ

สรุปรวมก็คือ กรรมกรจริงๆ เพิ่งเกิดมีขึ้นในชั่วอายุคนแรกนี้เอง นัยยะของความหมายคือ กรรมกรไม่ใช่คนที่ไร้สมบัติโดยสิ้นเชิงนอกจากแรงกาย ถ้าไม่ขายแรงงานก็ไม่รู้จะไปทำอะไร เพิ่งมีคนอย่างนั้นเกิดขึ้นไม่นานมานี้เองและนับเป็นชั่วอายุคนแรกของกรรมกรไทย ฉะนั้นจึงยังมีความผูกพันกับการผลิตด้านเกษตรกรรมในชนบทอยู่สูง อย่างน้อยก็ในความนึกฝันของกรรมกรเอง ด้วยเหตุดังนั้น กรรมกรจึงไม่มีสำนึกว่าตัวเป็นกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์เฉพาะบางอย่าง สำหรับเป็นฐานของการต่อรองทางการเมืองในสังคม ไม่มีการจัดตั้งเพื่อการนั้น

สรุปของสรุปอีกทีหนึ่งก็คือ เมื่อคุยกันเรื่องการเมือง เลยไม่มีความจำเป็นต้องนำเอากรรมกรเข้ามาในการวิเคราะห์ด้วย

ผมไม่แน่ใจว่า นี่เป็นคำตอบที่ใช้สำหรับอธิบายความละเลยของวงวิชาการต่อกรรมกรได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า งานรับจ้างเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สุดของประชากรส่วนใหญ่ของไทย สำคัญกว่างานในภาคเกษตรถึง 2:1 เป็นอย่างต่ำ แม้แต่จำนวนประชากรที่อาจนับได้ว่าเป็น "กรรมกร" แท้ๆ คือไม่มีรายได้จากภาคอื่นเลยนอกจากรับจ้างแรงงาน ก็มีจำนวนมากกว่าเกษตรกรแท้ๆ

ตามความเข้าใจของผม (ซึ่งอาจจะผิด) ก็คือ งานวิชาการที่ศึกษากรรมกรของไทยมีน้อย นักวิชาการที่สนใจศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังก็น้อย โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับภาคเกษตรกรรม ยิ่งถ้าเจาะไปถึงกรรมกรนอกระบบ คือไม่อยู่ในโรงงานขนาดกลางถึงใหญ่ จึงไม่ได้ค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำและไม่มีประกันสังคม ก็ยิ่งแทบจะหาตัวเลขอะไรไม่ได้สักอย่าง ลงไปถึงผู้รับจ้างรายชิ้น (ทั้งที่บ้านและโรงงาน) ซึ่งไม่ถูกใครนับเป็นกรรมกรเลย ยิ่งขาดข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้ขึ้นไปใหญ่

เราประเมินไม่ถูกว่า นโยบายของ ทรท.ที่เรียกกันว่า "ประชานิยม" มีผลต่อคนเหล่านี้อย่างไร ที่เราเห็นความกระตือรือร้นของคนกลุ่มนี้เป็นเพียงผิวที่ฉาบข้างหน้านิดเดียว คือคนขับแท็กซี่, ตุ๊กๆ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งได้ประโยชน์แน่จากโครงการ 30 บาท และโครงการเอื้ออาทรต่างๆ (ซึ่งถึงแม้ยังเข้าไม่ถึง แต่ก็ยังฝันได้ว่าจะเข้าถึงสักวันหนึ่งข้างหน้า) แต่อย่างที่กล่าวแล้วคือ คนเหล่านี้เป็นเพียงจำนวนน้อยนิดเดียว ในหมู่ผู้ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่า "กรรมกร"

ไม่เฉพาะแต่นักวิชาการเท่านั้นนะครับที่ไม่ให้ความสนใจแก่กรรมกร พรรคการเมืองก็ไม่สนใจเหมือนกัน ประชาธิปัตย์ซึ่งอ้างว่ามีอายุมา 60 ปี ไม่เคยมีนโยบายอะไรเกี่ยวกับกรรมกรเลย พรรคชาติไทยก็ไม่สนใจ พรรค ทรท.ซึ่งได้คะแนนท่วมท้นจากประชาชนไทย ก็ว่ากันว่าได้จาก "รากหญ้า" ซึ่งไม่รู้แน่ว่าหมายถึงคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการของเมือง หรืออยู่ในภาคเกษตรกรรมของชนบท

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่เป็นการเลือกตั้งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คะแนนไม่ออกเสียงค่อนข้างกระจุกอยู่ในเขตเมือง แปลว่า 16 ล้านเสียงของ ทรท.ค่อนข้างไหลมาจากชนบท แปลว่านโยบายที่ได้รับการสนองตอบอย่างดีจาก "รากหญ้า" ของ ทรท.นั้น ไม่ได้รับการสนองตอบดีเท่านั้นจากกรรมกร

อันที่จริง พรรคการเมืองใดก็ตามที่กรรมกรรู้สึกว่าสามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของเขาได้ จะมีฐานเสียงที่เข้มแข็งไม่น้อย แม้อาจยังไม่ชนะการเลือกตั้งทันที เพราะกรรมกรส่วนใหญ่ยังขาด "สำนึกทางชนชั้น" แต่ก็เป็นฐานเสียงที่จะเติบโตต่อไปข้างหน้าอย่างหลีกหนีไม่พ้น ยิ่งกว่านี้ ถ้าความผูกพันของกรรมกรกับท้องถิ่นของตนเบาบางลง อิทธิพลของหัวคะแนนในชนบทก็ยิ่งลดลง กลายเป็นคะแนนเสียงอิสระที่เลือกนโยบายมากขึ้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กรรมกรมีศักยภาพที่จะเป็นเสียงเด็ดขาดในการเมืองแบบเลือกตั้งอย่างมาก แต่กลับได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองน้อยเหลือเกิน ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?

ผมอยากจะเดาคำตอบไว้ดังนี้… การเมืองไทยประกอบด้วยสองส่วน คือคะแนนเสียงจากระดับ "รากหญ้า" ส่วนหนึ่ง กับการบริหารงานของรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง สองส่วนนี้ควรเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่มันไม่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน

ส่วนของการบริหารงานประกอบด้วยนายทุน (ทั้งที่ออกมาเล่นการเมืองเอง หรือสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง) มีผลประโยชน์อันขัดแย้งกับ "รากหญ้า" เยอะแยะไปหมด นับตั้งแต่แย่งชิงเอาทรัพยากรมาใช้ ไปจนถึงกดราคารับซื้อสินค้า และผดุงรักษาโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของรัฐไว้สำหรับตัวหาประโยชน์

พรรคการเมืองประสบความสำเร็จที่จะจัดตั้งผู้คนในภาคชนบท ทำให้ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องจัดตั้งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของ "รากหญ้า" ในชนบทจริง พรรค ทรท.เพียงแต่เจือจานส่วนแบ่งของงบประมาณให้ตกถึงมือคนบางกลุ่มในชนบทมากขึ้น แต่ไม่เคยปรารถนาที่จะไปแก้ไขโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าในตลาดหรือในกฎหมาย เพื่อเอื้อต่อประโยชน์ของ "รากหญ้า" จริง

ฉะนั้นนายทุนจึงไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร เช่นนายทุนที่หากินกับการทำเกษตรตามพันธะสัญญารูปแบบต่างๆ ก็ยังคงเอารัดเอาเปรียบนากุ้ง, ปลากระชัง, ไก่, ข้าวโพดอ่อน, ผักบางชนิด ฯลฯ ต่อไปได้เหมือนเดิม เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดอยากไป "จัดระเบียบ" การทำเกษตรตามพันธะสัญญาให้เป็นธรรมขึ้น จะว่าเป็นความก้าวหน้าก็ได้ แต่ก็ก้าวไปในทิศทางเดียวกับที่พรรคการเมืองไทยได้ทำอยู่นั้นเอง

แต่พรรคการเมืองไม่มีวิธีจะจัดตั้งคะแนนเสียงของกรรมกร หรือพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือถึงจัดตั้งได้ก็จัดการไม่ได้ คือไม่รู้จะประนีประนอมผลประโยชน์ของกรรมกรและทุนได้อย่างไร สวัสดิการของกรรมกรหมายถึงการลิดรอนผลประโยชน์ของทุนโดยตรง ถึงจะผลักให้รัฐเป็นผู้แบกรับแต่ผู้เดียว ก็คงทนแรงต่อต้านของคนชั้นกลางผู้เสียภาษีไม่ได้

เช่นถ้าให้เงินเพิ่มอีก 300 บาทแก่กรรมกรที่มีรายได้ไม่ถึง 7,000 บาทต่อเดือน ถ้าเอาเงินนี้มาจากกองทุนสวัสดิการ ก็เท่ากับผลักภาระต้นทุนให้กรรมกรช่วยกันจ่าย แทนที่จะบังคับให้ทุนเป็นผู้จ่าย ถ้าเอาเงินจากงบประมาณ ก็เท่ากับว่าเราทุกคนช่วยจ่ายค่าแรงของนายทุนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นภาระหน้าที่ของทุนต้องเป็นผู้ทำเอง วิธีที่เหมาะสมกว่าคือเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และลงทุนบังคับใช้ให้ได้ผลจริงแก่กรรมกรทุกประเภท แต่นั่นหมายถึงการเป็นปฏิปักษ์กับทุนซึ่งสนับสนุนพรรคการเมืองอยู่

ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ใช่แต่นักวิชาการเท่านั้นที่ประชุมกันสองวันแล้วไม่ได้พูดถึงกรรมกรสักแอะ พรรคการเมืองไทยซึ่งเล่นการเมืองไทยมาหลายทศวรรษแล้ว ก็ไม่ได้พูดถึงกรรมกรสักแอะเหมือนกัน

3. เรื่องเด็กๆ
"เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า" แล้วผู้ใหญ่ในวันหน้าจะเป็นอย่างไร ก็เหมือนผู้ใหญ่ในวันนี้ไงครับ

ทุกครั้งที่ใคร-ไม่ว่าในวัฒนธรรมอะไร-บอกว่าเด็กไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ เขากำลังบอกว่าผู้ใหญ่เป็นอย่างนั้นและเป็นอย่างนี้ทุกทีไป ทั้งนี้เพราะเมื่อเรานิยามคนอื่นว่าอย่างไร เรากำลังนิยามตัวเองว่าเป็นอย่างไรไปพร้อมกัน

ความต่างระหว่างผู้ใหญ่-เด็ก เป็นความคิดสากลเลยก็ว่าได้ นั่นคือปรากฏในทุกวัฒนธรรม จนกระทั่งพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ (เช่น โกนจุก, เข้าสุหนัด, ไล่เด็กหนุ่มไปใช้ชีวิตร่วมกันนอกหมู่บ้าน, หรือรับปริญญา ฯลฯ) ก็ปรากฏในทุกวัฒนธรรมเหมือนกัน ด้วยเหตุดังนั้น ผู้ใหญ่ในแต่ละวัฒนธรรมมีมโนภาพเกี่ยวกับตัวเองอย่างไร จึงอาจศึกษาได้จาก "ความเป็นเด็ก" ของวัฒนธรรมนั้นๆ

อันที่จริงบทความนี้ควรจบแค่นี้แหละครับ เพราะพอพูดถึง "ศึกษา" ผมก็ระย่อเสียแล้ว ควรทิ้งไว้ให้คนอื่นเขา "ศึกษา" ต่อเอาเอง แต่ขืนทำอย่างนั้น คุณเสถียร จันทิมาธร อาจบอกว่างั้นคุณไปหาที่เขียนใหม่ตามกระดานข่าวในเว็บไซต์เองแล้วกัน ผมจึงต้องขอพูดต่อถึงแนวทางของการศึกษาหากผมต้องลงมือทำเองไว้นิดหน่อย

ว่ากันตามหลักกว้างๆ ทุกวัฒนธรรมย่อมวาดภาพของเด็กไว้สองด้านใหญ่ๆ คือด้านอำนาจ และด้านศักยภาพ แม้ว่าเป็นสองด้าน แต่ก็สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

ดูเผินๆ เหมือนเด็กทารกมีอำนาจมาก เพราะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เด็กยิ่งเล็กก็ยิ่งทำอะไรได้ตามใจชอบมากขึ้นไปใหญ่ จะร้องไห้, ขี้แตกเยี่ยวแตกอย่างไรก็ไม่มีใครว่า แต่ที่จริงแล้วการอนุญาตให้เด็กทำอะไรได้ตามใจชอบนั้น มาจากสมมติฐานที่ว่าเด็กไม่มีอำนาจต่างหาก ในกรณีนี้เป็นความไร้อำนาจทางกายภาพตามธรรมชาติ เช่น พูดไม่ได้ บอกไม่ได้ไปจนถึงอั้นฉี่อั้นอึไม่ได้ ฯลฯ แต่ก็ไม่มีวัฒนธรรมไหนปฏิเสธว่า แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้าเขาจะทำได้ คือมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะหมายถึงผู้ใหญ่คนไหนนี่สิครับที่จะเป็นปัญหาที่แต่ละสังคม และยุคสมัยคิดไม่เหมือนกัน

ไม่แต่เพียงอำนาจทางกายภาพเท่านั้นที่เด็กไม่มี อำนาจทางจิตใจและความคิดก็ไม่มีเหมือนกัน ด้วยเหตุดังนั้น เด็กจึงต้องอยู่ในการกำกับ ควบคุมของผู้ใหญ่ ทั้งทางกาย, ใจ และแม้กระทั่งความคิด เพื่อพัฒนาศักยภาพในตัวเขาให้ค่อยๆ โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ "ความเป็นผู้ใหญ่" ตามความคิดของผู้ใหญ่จึงถูกปลูกฝังลงในเด็ก ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงบอกว่า "ความเป็นผู้ใหญ่" หรือตัวตนในความคิดของผู้ใหญ่ในแต่ละวัฒนธรรมนั้นสะท้อนออกมาในการเลี้ยงเด็ก

ในสองวัฒนธรรมที่ผมมีประสบการณ์อยู่บ้าง (ผมไม่กล้าพูดว่ามีความรู้-เพราะไม่เคยพยายามทำให้ประสบการณ์นั้นกลายเป็นความรู้) คือฝรั่งและไทย ผมคิดว่าความแตกต่างในการเลี้ยงเด็กระหว่างสองวัฒนธรรมอยู่ตรงนี้แหละครับ คือไม่ใช่เพราะฝรั่งและไทยมองเด็กต่างกัน แต่เพราะฝรั่งและไทยมองผู้ใหญ่ต่างกันต่างหาก

สรุปประสบการณ์ที่ไม่เคยถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นความรู้ของผมก็คือ ไทยมีแบบแผนค่อนข้างตายตัวว่า ผู้ใหญ่ซึ่งเด็กมีศักยภาพจะเป็นได้นั้นคืออะไร เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงต้องเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ที่เป็นชายต้องเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ที่เป็นหมอ, เป็นครู, เป็นซีอีโอ, เป็นชาวนา, เป็นกรรมกร, เป็นหัวขโมย ฯลฯ ควรเป็นอย่างไร

แบบแผนความเป็นผู้ใหญ่ของฝรั่งไม่ตายตัวเท่าไทย พูดให้สุดโต่งก็คือ เด็กมีศักยภาพจะเป็นผู้ใหญ่ได้หลายแบบมาก และด้วยเหตุดังนั้น ฝรั่งจึงปล่อยให้เด็กโตไปได้หลายทาง ทะลึ่งบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะผู้ใหญ่ทะลึ่งแล้วได้ดีก็แยะ ดื้อบ้าง รั้นบ้าง ซนบ้าง ล้วนเป็นศักยภาพที่อาจนำไปสู่อะไรที่ดีๆ ได้ทั้งนั้น แล้ววันหนึ่งตัวเด็ก สมองเด็ก และจิตใจเด็กก็จะโตขึ้น จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เหมือนใคร นอกจากเหมือนตัวเขาเอง

ผมเข้าใจว่าฝรั่งไม่ได้คิดอย่างนี้มาแต่เดิมนะครับ ฝรั่งก็เคยมีแบบแผนตายตัวของความเป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน จนเมื่อสังคมฝรั่งเปลี่ยนไปเป็นสังคมปัจเจกมากขึ้น ใจฝรั่งจึงมองความแตกต่างระหว่างคนเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แม้จะเห็นว่าหมอนี่บ๊องๆ ก็ดูน่ารักดี (คือไม่ใช่ต้อง "เซอร์" เพราะใครๆ เขาก็ "เซอร์" กันนี่ครับ)

ความรู้ทางสรีรวิทยา, ชีววิทยา, จิตวิทยา และวิทยาอื่นๆ ยิ่งเสริมความคิดใหม่ของฝรั่งให้มีรากฐานทางวิชาการแข็งขึ้น เช่น ความรู้ว่าความเป็นไปได้ที่มนุษย์คนหนึ่งซึ่งเกิดจากการผสมกันของพ่อแม่นั้น จะมีลักษณะเฉพาะของตนเองได้เป็นล้านๆ อย่าง ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม ก็ยิ่งทำให้การบีบบังคับให้เด็กเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งดูไร้เหตุผลไปจนหมด (ผมไม่ทราบหรอกครับว่า เพราะฝรั่งคิดเชิงปัจเจกก่อน ความรู้ที่แสวงหามาได้จึงออกมาเป็นอย่างนี้ หรือเพราะความรู้ที่แสวงหามาได้ตรงกับความจริงตามธรรมชาติ)

ฉะนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมการเลี้ยงเด็กของฝรั่งนั้นที่จริงไม่ใช่ของฝรั่ง แต่เป็นของสังคมปัจเจกต่างหากก็ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเป็นวัฒนธรรม มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยหรือตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมที่อยู่ในสมัยนั้นๆ

แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า หากสังคมใดเปลี่ยนเป็นสังคมปัจเจกแล้ว วัฒนธรรมการเลี้ยงเด็กก็จะเปลี่ยนไปเหมือนฝรั่งเอง เพราะมนุษย์ไม่เคยตัวเปล่าเล่าเปลือยอย่างนั้น แต่ทุกคนเผชิญสังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมปัจเจกโดยมีฐานของวัฒนธรรมเดิมติดตัวอยู่ทั้งนั้น ในขณะเดียวกันความเป็นสังคมปัจเจกก็ไม่ใช่มีรูปแบบเดียว สังคมปัจเจกในแต่ละแห่งแต่ละสมัย ยังมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้แตกต่างกันอย่างมากด้วย

คนไทยที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองตกอยู่ในความสัมพันธ์เชิงปัจเจก หรือสังคมปัจเจกมากขึ้น จนบางกลุ่มบางเหล่าแทบจะไม่ต่างจากนิวยอร์ก แต่คนไทยก็ยังไม่ได้เลี้ยงลูกเหมือนฝรั่งอยู่ดี เพราะส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้ใหญ่ยังต้องไปสัมพันธ์กับบุคคลและโครงสร้างที่ความลดหลั่นกันทางสถานภาพมีความสำคัญยิ่ง แม้แต่คำว่า "ผู้ใหญ่" ในภาษาไทยยังมีสองความหมาย คือคนที่โตแล้ว กับคนที่โตแล้วในโครงสร้างทางอำนาจหนึ่งๆ เราจึงสามารถตักเตือนใครๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะมีอายุสักเท่าไรว่า "ต้องรู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่"

เราจึงพัฒนาศักยภาพของเด็กในขอบเขตจำกัดว่า เขาควรโตไปอย่างไรในสถานภาพที่เขาจะดำรงอยู่หรือเราอยากให้เขาดำรงอยู่ เด็กที่ชอบกีตาร์มากกว่าคำนวณ จึงเป็นที่น่าวิตกห่วงไยแก่พ่อแม่ที่เป็นคนชั้นกลางมาก

อิทธิพลของสังคมปัจเจกขยายไปทั่วโลก ผ่านระบบการศึกษา (ที่จริงคือระบบความรู้), สื่อ, การค้าระหว่างประเทศ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ ไปจนถึงทุกซอกทุกมุมก่อให้เกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องของเด็ก-ผู้ใหญ่เหมือนกันไปหมด เพราะเด็กถูกเลี้ยงมาเพื่อเป็นผู้ใหญ่ในสังคมอย่างหนึ่ง แต่กลับต้องมาเผชิญกับสังคมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะปัจเจกมากขึ้น กลายเป็นความตึงเครียดระหว่างวัย

ผมมีความประทับใจว่า คนในเอเชียทุกสังคม นอกจากมีปัญหาความตึงเครียดระหว่างวัยมากแล้ว ยังมีความวิตกว่าเด็กกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ตามที่ตัวคิดว่าควรจะเป็นอีกด้วย

คนญี่ปุ่นบ่นว่า สังคมญี่ปุ่นจะอยู่ได้อย่างไรในอนาคตเมื่อเด็กๆ เหล่านี้กลายเป็นผู้ใหญ่และพนักงานของบริษัทเหมือนผู้ใหญ่ในทุกวันนี้แล้ว เพราะเขาคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่เคยคิดถึง "ส่วนรวม" (ไม่ว่าจะหมายถึงบริษัทหรือชาติ) เลย คนจีนก็บ่น, คนไทยก็บ่น, คนมาเลเซียก็บ่น, ฯลฯ ทำนองเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศภูฐาน ยังพบด้วยความประหลาดใจว่าคนภูฐานก็วิตกห่วงไยทำนองเดียวกันทั้งๆ ที่สังคมภูฐานได้ชื่อว่าพยายามรักษาสังคมดั้งเดิมไว้มากที่สุดอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ คือ ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ย่อมมีความขัดแย้งด้านอุดมคติของความเป็นมนุษย์ (หรือพูดให้ขลังกว่านี้คือความขัดแย้งทางศีลธรรม) สูง ซึ่งสะท้อนออกมาในด้านการเลี้ยงเด็ก ซึ่งก็คือทัศนะว่าผู้ใหญ่หรือคนย่อมเป็นอย่างไรนั่นเอง

ผมเริ่มเรื่องไว้อย่างหนึ่ง แล้วมาลงเอยอย่างนี้ได้ไงไม่ทราบ


 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



160649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความ เกี่ยวกับการเมืองและสังคมไทย
บทความลำดับที่ ๙๔๙ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
แต่พรรคการเมืองไม่มีวิธีจะจัดตั้งคะแนนเสียงของกรรมกร หรือพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือถึงจัดตั้งได้ก็จัดการไม่ได้ คือไม่รู้จะประนีประนอมผลประโยชน์ของกรรมกรและทุนได้อย่างไร สวัสดิการของกรรมกรหมายถึงการลิดรอนผลประโยชน์ของทุนโดยตรง ถึงจะผลักให้รัฐเป็นผู้แบกรับแต่ผู้เดียว ก็คงทนแรงต่อต้านของคนชั้นกลางผู้เสียภาษีไม่ได้

เช่นถ้าให้เงินเพิ่มอีก 300 บาทแก่กรรมกรที่มีรายได้ไม่ถึง 7,000 บาทต่อเดือน ถ้าเอาเงินนี้มาจากกองทุนสวัสดิการ ก็เท่ากับผลักภาระต้นทุนให้กรรมกรช่วยกันจ่าย แทนที่จะบังคับให้ทุนเป็นผู้จ่าย ถ้าเอาเงินจากงบประมาณ ก็เท่ากับว่าเราทุกคนช่วยจ่ายค่าแรงของนายทุนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นภาระหน้าที่ของทุนต้องเป็นผู้ทำเอง วิธีที่เหมาะสมกว่าคือเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และลงทุนบังคับใช้ให้ได้ผลจริงแก่กรรมกรทุกประเภท แต่นั่นหมายถึงการเป็นปฏิปักษ์กับทุนซึ่งสนับสนุนพรรคการเมืองอยู่

เรื่อง "สันติเสนา" นั้นน่าประหลาด คนที่รับข้อเสนอนี้ได้ทันทีคือ ผบ.ทบ. แต่คนที่รับไม่ได้คือคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่... วัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังคำคัดค้านเรื่องนี้ ผมเดาว่าคือมโนภาพของอำนาจรัฐในความคิดของคนไทย ด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้ ผมคิดว่าอำนาจรัฐในความคิดของคนไทยมีอยู่ด้านเดียวคือด้านรังควาน (coercion) และกองทัพ (ทหาร-ตำรวจ) เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดหรือเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของอำนาจรัฐ เครื่องมือที่ไม่ติดอาวุธทำให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐหายไป

 

The Midnight University website