Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
รายงาน
กอส. เกี่ยวกับแนวโน้มความรุนแรง
อนาคตเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของไทย
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(คณะกรรมการรอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ)
รายงานที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
อันเกี่ยวเนื่องกับแนวโน้มของปรากฏการณ์รุนแรงในอนาคต
โดยมีหัวข้อสำคัญคือ
พิจารณาแนวโน้มความรุนแรงจากการคาดการณ์ของฝ่ายต่างๆ และตัวเลขสถิติ,
ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ภาคใต้, แนวโน้มความอ่อนแอของรัฐและชุมชน,
หยุดแนวโน้มความรุนแรงด้วยชัยชนะของสังคมไทย
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 957
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
22.5 หน้ากระดาษ A4)
อนาคตเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของไทย
รศ.ดร.ชัยวัฒน์
สถาอานันท์ : คณะกรรมการรอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
แนวโน้มของปรากฏการณ์รุนแรงในอนาคต
สิ่งที่ต้องพิจารณา
คือ คาดการณ์ว่าแนวโน้มของเหตุการณ์รุนแรง(ภาคใต้ไทย)ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตมิใช่การนำเสนอว่า อนาคตจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรได้บ้างซึ่งเป็นไปได้ทั้งดีและไม่ดี
ทั้งที่น่าพึงปรารถนาและน่าหลีกเลี่ยง แต่การคาดการณ์แนวโน้มอนาคตเป็นการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วมาเรียบเรียง
จัดระเบียบและตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปข้างหน้า
หากเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ เป็นดังที่เกิดขึ้นมาแล้ว (1)
ในแง่นี้การคาดการณ์แนวโน้มอนาคตเปรียบเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้า คือชี้ให้เห็นว่าหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเช่นนี้ต่อไป จะเกิดภัยอะไรขึ้นในภายหน้า เพราะเช่นนี้จึงต้องมุ่งมั่นแสวงหาลู่ทางการรักษาที่ผ่อนเบาหรือแก้ไขปัญหาในอนาคตให้ได้ แต่ควรต้องตระหนักแต่ต้นว่า การฆ่าฟันทำร้ายที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมเป็น"การเตือนภัยที่ล่าช้าไปแล้ว" สำหรับปรากฏการณ์ความรุนแรงซึ่งมีที่มาจากโครงสร้าง และมีระบบวัฒนธรรมบางลักษณะคอยให้ความชอบธรรมอยู่ หากหาวิธีแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างและระบบวัฒนธรรมได้ ก็อาจหยุดยั้งป้องกันไม่ให้การฆ่าฟันทำร้ายกันเลวร้ายลงไปกว่านี้ได้เช่นกัน (2) ในบางกรณีผลจากการหยุดยั้งป้องกันมิให้สถานการณ์เลวลง อาจมีส่วนช่วยผลักดันให้สถานการณ์พลิกกลับไปสู่จุดก่อนเกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ระดับความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นในรอบทศวรรษที่แล้วมาได้ด้วย
พิจารณาแนวโน้มความรุนแรงจากการคาดการณ์ของฝ่ายต่าง
ๆ และตัวเลขสถิติ
ในระยะนี้ มีการคาดคะเนสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหลายฝ่าย
เช่น รายงานของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรระบุแนวโน้มสถานการณ์ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า
กลุ่มก่อความไม่สงบจะยังดำรงความมุ่งหมายแบ่งแยกดินแดนต่อไป คาดว่าคงจะก่อเหตุร้ายต่อเนื่อง
โดยจะไม่คำนึงถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมทั้งของตนเอง อันจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในอำนาจรัฐ
เจ้าหน้าที่ข้าราชการเกิดความกลัว และเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานออกจาก 3 จังหวัดมากขึ้น
(3)
ต้นเดือนตุลาคม 2548 หลังเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 นายทหารบางคนเชื่อว่าเหตุการณ์จะยิ่งบานปลายออกไป เพราะไม่สามารถแยกแยะ "คนร้าย" ออกจากประชาชนได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดที่ชัดเจนได้ (4)
จากการสำรวจความเห็นของประชาชนทั้งราษฎรและเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ระหว่างวันที่
21 ถึง 25 กันยายน 2548 พบว่า ผู้คนที่เห็นสถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมรวมทั้งที่เห็นว่าเลวร้ายลงมากมีจำนวนถึงร้อยละ
55.7 ขณะที่ร้อยละ 35.4 เห็นว่าสถานการณ์เหมือนเดิมคือมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นประจำ
(5) แม้บางท่านในกอส. เองก็คาดเดาสถานการณ์ไปในทางที่จะเลวร้ายลง (6)
แต่เมื่อดูภาพแนวโน้มการเคลื่อนตัวของเหตุการณ์ความรุนแรงแบบอนุกรมเวลาในรอบ
24 เดือนตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึงธันวาคม 2548 (7) สิ่งที่เห็นชัดก็คือ แนวโน้มที่เพิ่มระดับความรุนแรงนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน
2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2548 หลังจากที่พุ่งขึ้นสูงสุด ในช่วงต้นปี 2547 จากนั้นก็เริ่มตกลงอีกครั้งในช่วงปลายปี
2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ดังที่ปรากฏในแผนภูมินี้
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547-2548 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเห็นได้ชัด
เพราะสาขาการประมงซึ่งเป็นภาคเกษตรที่สำคัญในพื้นที่มีผลผลิตลดลงอย่างมาก ธุรกิจภาคเอกชนอย่างการขออนุญาตก่อสร้างต่าง
ๆ ก็ลดลงมากด้วย ภาคเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวลดลงมากที่สุดคือ โรงแรม/ภัตตาคาร
รองลงมาคือภาคอสังหาริมทรัพย์/การให้เช่า/บริการทางธุรกิจ
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มสถิติเศรษฐกิจบางภาคเช่น เงินฝากและสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์พบว่า เพิ่มสูงขึ้น หรือการจดทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุกก็มีมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเป็นสำคัญ คนที่มีรายได้น้อยและปานกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ยังคงเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
นอกจากนั้นแม้ว่าปัจจัยจากภายนอกจะทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐเองก็ใช้จ่ายงบประมาณในพื้นที่มากขึ้น (เช่น ปี 2547 เบิกจ่ายงบประมาณจริง 18,143.6 ล้านบาทซึ่งมากกว่าปี 2546 ถึงร้อยละ 37 และในปี 2548 เบิกจ่ายงบประมาณจริง 25,335.4 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปี 2547 ถึงร้อยละ 40) แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มากนัก (8)
เมื่อประเมินแนวโน้มในอนาคตจากข้อมูลความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และถ้าไม่มีเงื่อนไขต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง สรุปได้ว่า
1. ความรุนแรงคงจะดำเนินต่อไป แม้ในช่วงปลายปี 2548 จำนวนเหตุการณ์รุนแรงจะลดลงบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังไม่เห็นแนวโน้มว่าความรุนแรงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
2. การใช้ระเบิดมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มในครึ่งหลังของปี 2548 พบว่า มีการใช้ระเบิดสร้างความรุนแรงมากขึ้นกว่าการลอบวางเพลิงเช่นที่เคยเป็นมา
3. ประชาชนสามัญตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
4. ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อเนื่องไป
พิจารณาแนวโน้มความรุนแรงจากความสัมพันธ์สองชุด
นอกจากการประเมินแนวโน้มความรุนแรงที่น่าจะเกิดขึ้นบนฐานข้อมูลที่เป็นความเห็นของฝ่ายต่าง
ๆ หรือที่เป็นสถิติตัวเลขข้างต้นแล้ว ยังอาจพิจารณาได้จากการวิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรง
ไม่ใช่ด้วยการพยายามตอบคำถามว่า ใครเป็นผู้ก่อเหตุ หรือผู้กระทำลงมือทำเช่นนั้นเพราะอะไร
แต่โดยพิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนหมู่เหล่าต่าง
ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นชายแดนภาคใต้และในระดับประเทศ
อาจกล่าวได้ว่าสันติภาพและความมั่นคงภายในของทุกประเทศขึ้นต่อความสัมพันธ์ 2 มิติ คือ
- ความสัมพันธ์แนวดิ่งระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐ และ
- ความสัมพันธ์แนวนอนคือระหว่างผู้คนซึ่งแตกต่างหลากหลายกันในรัฐนั้นเอง
และความสัมพันธ์ทั้งคู่นี้ก็ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติอีกชั้นหนึ่ง
ในส่วนที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน สันติภาพและความมั่นคงของไทยวางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และระหว่างผู้คนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู กับชาวไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ และความสัมพันธ์คู่นี้ก็วางอยู่ในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในระดับโลกอีกทอดหนึ่ง
ระหว่างความสัมพันธ์ 2 มิติคือ รัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเองนั้น ความมั่นคงของประเทศขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในรัฐด้วยกันเองยิ่งกว่าระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะถ้าผู้คนซึ่งแตกต่างหลากหลายในรัฐแตกแยกเกลียดชังกัน คงยากที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจะดีไปด้วยได้ ในทางกลับกัน แม้บางยุคบางสมัยที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนร้าวฉาน แต่ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในรัฐเข้มแข็งรักใคร่กัน ความมั่นคงของประเทศก็จะถูกโอบอุ้มคุ้มครองอยู่ด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในรัฐนั้นเอง
ปัญหาสำคัญยิ่งในขณะนี้คือ เหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น กระทบความสัมพันธ์ทั้ง 2 มิติอย่างไร ความเข้าใจในเรื่องนี้น่าจะชี้ให้เห็นแนวโน้มความรุนแรงในอนาคตข้างหน้าว่า จะเป็นอย่างไรได้บ้าง
ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ภาคใต้
4 มกราคม 2547
คนร้ายไม่ทราบจำนวน แต่ทางกองทัพคิดว่าน่าจะมีผู้ปฏิบัติการประมาณ 50 คน บุกเข้าไปในกองพันพัฒนาที่
4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่บ้าน ปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
ปล้นปืนไป 403 กระบอก สังหารทหารทั้งหมด 4 นาย การปล้นปืนจากค่ายทหารครั้งนี้ดำเนินไปในเวลาที่เกิดการลอบวางเพลิงอาคารโรงเรียน
และที่พักสายตรวจทั่วจังหวัดนราธิวาสทั้งหมด 22 จุด
เหตุการณ์นี้มีความสำคัญไม่ใช่เพราะมีการปล้นปืนจำนวนมากในคราวเดียว แต่เพราะการบุกค่ายทหาร ปล้นปืน ฆ่าทหารเท่ากับการโจมตีแกนแห่งอำนาจการใช้ความรุนแรงของรัฐ ดังนั้น ในสายตาของรัฐจึงต้องตอบโต้ด้วยการรื้อฟื้นสถาปนาอำนาจรัฐในพื้นที่ให้คืนมาโดยเร็วที่สุด
ในแง่นี้ 4 มกราคม 2547 เป็นการกระทบกระแทกฐานะของรัฐในสายตาของประชาชน เพราะถ้ารัฐยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธของตนไม่ได้ ป้องกันมิให้อาวุธในมือของตนหายไม่ได้ จะคุ้มครองประชาชนตามหน้าที่ของตนอย่างไร เหตุการณ์ครั้งนี้สั่นคลอนสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างรุนแรง
22-24
มกราคม 2547
ชาย 2 คนใช้มีดยาวเชือดคอพระภิกษุอายุ 64 ปี ที่เพิ่งกลับจากบิณฑบาตรูปหนึ่งที่อำเภอบาเจาะ
จังหวัดนราธิวาส 2 วันต่อมา มีผู้ดักทำร้ายและสังหารพระภิกษุสามเณรอีก 3 รูปที่อำเภอเมือง
จังหวัดยะลา คราวนี้มรณภาพ 2 รูป ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดเป็นสามเณรอายุเพียง
13 ปี
เหตุการณ์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง 2 ประการคือ
ประการแรก แม้จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเคยเกิดเหตุรุนแรงมาเป็นเวลานาน แต่การสังหารและทำร้ายพระภิกษุเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย การกระทำเช่นนี้เสมือนจงใจทำลายขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่คอยกำกับเหตุรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวมาแต่อดีต จากเดิมแม้จะมีความขัดแย้งระหว่างกันหรือใช้ความรุนแรงต่อกัน ก็มิได้ข้องแวะกับผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นนักบวชรักษาศีลในศาสนาด้วยแล้ว จัดเป็นข้อถือสาอยู่นอกวังวนของความรุนแรงทางการเมืองในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ประการที่สอง คมมีดที่ใช้ในเหตุรุนแรงนี้ ไม่เพียงเอาชีวิตพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ยังได้กรีดลงบนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ จากที่เคยคบหาไว้ใจกันและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม กลายมาเป็นความโกรธ ไม่ไว้วางใจ และในบางกรณีอาจถึงขั้นเกลียดชัง อันเป็นภัยร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงทั้งในระดับพื้นที่และในระดับประเทศ
12 มีนาคม 2547
สมชาย นีละไพจิตรเป็นทนายความมุสลิมที่มีบทบาทสูงในการว่าความให้กับชาวมุสลิมที่ถูกกล่าวหา
ในคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มากว่า 20 ปี รวมทั้งคดีสำคัญ
ๆ เช่น กรณีผู้ต้องหาเผาโรงเรียนเมื่อปี 2536 จนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง หรือคดีนายแพทย์แวมะหะดี
แวดาโอ๊ะและพวกในคดีเป็นสมาชิกขบวนการก่อการร้าย เจไอ ซึ่งถูกจับในปี 2546 จนศาลยกฟ้องในที่สุด
ทนายสมชายหายตัวไปหลังพบกับเพื่อนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เชื่อกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของเขา และฝ่ายรัฐบาลเองก็ยอมรับว่า ทนายสมชายที่หายตัวไปคงเสียชีวิตแล้ว ดังคำกล่าวของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในการตอบกระทู้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 ว่า "...ผมมีข้อมูลว่า นายสมชาย ได้ไปพูดคุยกับใครก่อนเสียชีวิต..." ขณะที่นายกรัฐมนตรีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 ว่า "...เราได้ทราบว่าเสียชีวิตแล้วจากพยานหลักฐานแวดล้อม"
เหตุการณ์นี้สำคัญเพราะสมชาย
นีละไพจิตร เป็นทนายความมุสลิมผู้ต่อสู้เพื่อชาวมุสลิมที่ถูกกล่าวหาในปัญหาความรุนแรงใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน การที่เขาถูกอุ้มหายไปเท่ากับการทำลายคน ๆ หนึ่งซึ่งเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
และด้วยเหตุนี้เขาจึงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในระบบด้วยกระบวนการทางกฎหมายตลอดมา
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทนายสมชายจึงส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน
ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศรู้สึกว่า กระทั่งคนที่มีศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของรัฐตลอดมา
ยังไม่สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ คงไม่ต้องกล่าวว่า ศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างไร
28 เมษายน 2547
เมื่อผู้คนนับร้อยตัดสินใจถืออาวุธอย่างมีดพร้าเข้าโจมตีที่ทำการของรัฐพร้อม
ๆ กันใน 3 จังหวัด จนเจ้าหน้าที่โต้ตอบด้วยอาวุธปืน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเสียชีวิต
5 คนและผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 106 คนรวมทั้งการยิงเข้าใส่มัสยิดกรือเซะ ที่จังหวัดปัตตานี
จนฝ่ายผู้ก่อการซึ่งยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จากภายในมัสยิดเสียชีวิตทั้งหมด 32
คน ถ้าเปรียบเทียบจำนวนคนตายระหว่างฝ่ายรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบ คงเห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายรัฐประสบชัยชนะเพราะสังหารผู้ก่อการได้จำนวนมากโดยฝ่ายตนสูญเสียน้อยกว่า
แต่ถ้าไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเพียงการสู้รบทางทหารเท่านั้น ปัญหาคือคน 106 คนที่ตายเหล่านี้ถูกจดจำอย่างไรโดยผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่
ศพของคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปฝังโดยไม่มีการอาบน้ำเหมือนศพมุสลิมทั่วไป แต่ฝังไปทั้งหยดเลือดและรอยกระสุนเพราะเห็นคนเหล่านี้เป็นผู้ตาย "ชะฮีด" คือคนที่ตายด้วยน้ำมือของคนที่ไม่ใช่มุสลิมในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาศาสนาอิสลาม ดังนั้นวิธีที่พวกเขาตายได้ชำระศพให้ "สะอาด" แทนการอาบน้ำศพเรียบร้อยแล้ว การใช้มีดพร้าเข้าต่อสู้กับอาวุธสมัยใหม่เป็นภาพของความกล้าหาญที่มีองค์ประกอบของศรัทธาไว้ด้วยอย่างสำคัญ
การเลือกก่อการในวันซึ่งคนในท้องถิ่นเชื่อว่า
เคยเกิดเหตุปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างฝ่ายรัฐกับชาวมุสลิมที่ดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส
เมื่อปี 2491 มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเท่ากับว่าเหตุการณ์รุนแรง 28 เมษายน
2547 เป็นการพาคนตายเหล่านี้เดินเข้าไปในประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงความแปลกแยกระหว่างชาวมุสลิมในพื้นที่กับรัฐในปัจจุบัน
เข้ากับประวัติศาสตร์การต่อสู้รุนแรงในอดีต ขณะเดียวกันชาวไทยพุทธในพื้นที่ซึ่งเห็นคนธรรมดา
ๆ อายุตั้งแต่ต่ำกว่า 20 ปี ถึงกว่า 60 ปี ลุกขึ้นมาต่อสู้และยอมตายในเหตุการณ์
28 เมษายน 2547 ตามความเชื่อของตัว คงรู้สึกทั้งไม่เข้าใจและหวาดระแวงพร้อมกันไป
25 ตุลาคม 2547
เมื่อคน 3,000 คนไปชุมนุมกันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เรียกร้องทางราชการให้ประกันตัวชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู
ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน 6 คน สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะในระยะ 1 เดือนก่อนหน้านั้นก็เกิดเหตุทำนองนี้ขึ้น คือ เมื่อวันที่ 25 กันยายน
2547 ชาวบ้านปิดล้อมชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจสันติ ที่โรงเรียนบ้านไอบาตู อำเภอสุไหงปาดี
จังหวัดนราธิวาส เพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่หญิงชาวบ้านคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม
2547 ชาวบ้านระบุว่ามีชาย 2 คนแต่งกายคล้ายทหาร ยิงปืน 3 นัด บริเวณชายหาดปะนาเระ
จังหวัดปัตตานี จนชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นล้อมฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทั้งสองกรณีคลี่คลายไปได้เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ยอมให้ตรวจสอบความจริง
ใช้ความอดทนแม้ฝ่ายชุมนุมจะมีอาการก้าวร้าว จนในที่สุดมีการพูดคุยกัน และคลี่คลายสถานการณ์ไปได้
(9)
แต่เหตุการณ์ที่ตากใบกลับเจรจากันไม่สำเร็จ เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม
ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม 6 คน จับกุมผู้คนไว้ได้ประมาณ 1,300 คน ขณะลำเลียงผู้ที่ถูกจับไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร
ที่จังหวัดปัตตานี มีคนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจถึง 79 คน เพราะถูกทับหลายชั้นเป็นระยะเวลานาน
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่ไว้วางใจให้ทวีขึ้นในหมู่ประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า
ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ดังนั้นการปราบปรามด้วยกำลังจึงเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ ยิ่งกว่านั้นไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนร้ายจริงหรือเป็นเพียงผู้ชุมนุมเรียกร้องจากรัฐ
วิธีที่รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาจนต้องเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายไปยังค่ายทหาร
ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ ความตายของคนเหล่านี้ เป็นความตายระหว่างอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่
ภาครัฐได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ก็ดูเหมือนไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบตามที่ควร ผลก็คือความเชื่อถือไว้วางใจที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อรัฐยิ่งถูกกร่อนเซาะให้อ่อนแอลงไปอีก เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูรู้สึกเห็นได้ชัดว่า รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม และเมื่อเกิดเหตุขึ้นก็ไม่ได้แสดงอาการเสียใจกับความตายของคนเหล่านี้ ไม่แน่ว่าความรู้สึกเช่นนี้ เป็นความรู้สึกร่วมของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่หรือไม่ แต่หลายคนเห็นว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ คนในพื้นที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิมเปลี่ยนไป (10)
นอกจากนั้นในบริบทของความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค เหตุการณ์ตากใบเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อมวลชนและกลุ่มต่าง ๆ ในมาเลเซียพิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในทางลบอย่างกว้างขวาง นับ เป็นครั้งแรกที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยรวมศูนย์อยู่ที่รัฐสภาของประเทศเพื่อนบ้าน โดยสมาชิกทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่วมกันประณามการใช้มาตรการรุนแรงควบคุมตัวผู้ประท้วง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 79 คน ยิ่งกว่านั้นพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านยังร่วมกันตั้งกลุ่มสนใจศึกษาและทำกิจกรรม เรื่องภาคใต้ของไทยขึ้นเพื่อ "สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้าน" (11)
กล่าวได้ว่านอกจากจะกร่อนเซาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูแล้ว กรณีตากใบยังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงทั่วไปทั้งในแง่ที่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมถูกกดขี่ในประเทศไทย และในแง่ที่รัฐไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการทำทารุณผู้ถูกจับกุมถึงชีวิต
3 เมษายน 2548
เกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายแห่งที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะที่ห้างคาร์ฟูร์
สาขาหาดใหญ่ ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่และที่สนามบินหาดใหญ่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคน
และเสียชีวิต 1 คน เหตุการณ์นี้สำคัญเพราะเป็นการใช้ระเบิดซึ่งจงใจมุ่งเป้าไปที่ราษฎรสามัญ
ในสถานที่สาธารณะ อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า และสนามบิน อีกทั้งเกิดขึ้นที่หาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้
นับแต่นั้นดูเหมือนว่า แนวโน้มการลอบวางระเบิดจะมีมากขึ้น
การลอบวางระเบิดที่สนามบินและที่ห้างคาร์ฟูร์นี้ เป็นการสร้างความหวาดกลัวในหมู่สามัญชน
เพราะการซื้อสินค้าและการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในครั้งนี้กระทบชีวิตปรกติของสามัญชน
และสร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็บ่อนทำลายความไว้วางใจในรัฐว่า
จะสามารถดูแลรักษาความปลอดภัยและปกปักการใช้ชีวิตตามปรกติของสมาชิกในสังคมการเมืองลงไปอย่างสำคัญ
14
กรกฎาคม 2548
เกิดเหตุปิดเมืองก่อความวุ่นวายในจังหวัดยะลา ไฟฟ้าดับ มีการวางระเบิดในที่ต่าง
ๆ 5 ลูก ทั้งที่โรงแรม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ มีการวางเพลิงเผาร้านรวง ทำให้ชาวบ้านทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมบาดเจ็บ
17 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 2 คน ปรากฏการณ์นี้ทำให้รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
2 วันต่อมา
ถ้าจะประเมินจากจำนวนผู้เสียชีวิต เหตุการณ์นี้แทบจะไม่ต่างจากเหตุร้ายประจำวันที่เกิดขึ้นใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เพราะเกิดเหตุพร้อม ๆ กันหลายจุด ในเวลาหัวค่ำใกล้เคียงกัน
และไฟดับทำให้ทั้งเมืองตกอยู่ในความมืด ขณะที่เกิดไฟลุกในจุดต่าง ๆ ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ชาวยะลาและผู้พบเห็นรู้สึกว่า
ได้สูญสิ้นชีวิตปรกติที่ปลอดภัยไปแล้ว ความหวาดกลัวในความปลอดภัยของตัว ระบาดไปทั่วในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด
ผู้คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิมก็ไม่มั่นใจว่าอำนาจรัฐจะปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้
30-31
สิงหาคม 2548
อิหม่ามสะตอปา ยูโซะ ถูกลอบยิงที่บ้านละหาร อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ก่อนสิ้นใจได้สั่งชาวบ้านไว้ว่าอย่าให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูศพเพราะมั่นใจว่า
คนยิงตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มชาวบ้านละหารรวมตัวกันกว่า 400 คนเก็บตัวอยู่ในหมู่บ้านไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งบุคคลภายนอกเข้าไปภายในหมู่บ้าน
เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตน
หลังจากนั้นปรากฏว่ามีชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเดินทางออกจากประเทศไทย หลบหนีเข้าไปในตุมปัตของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอตากใบ ต่อมาทางการมาเลเซียได้ย้ายคนเหล่านี้ไปอยู่ในรัฐตรังกานู
บางฝ่ายเชื่อว่าการปิดหมู่บ้านและการอพยพของคน 131 คนนี้ เป็นการดำเนินการของผู้ก่อความไม่สงบ แต่ถ้าจะคิดเช่นนี้ก็ต้องสรุปว่า ชาวบ้านทั้งหมดซึ่งส่วนมากเป็นผู้ใหญ่และเด็กรวมกัน 40 คน ไม่สามารถคิดอ่านอะไรได้เอง ต้องทำตามคำสั่งหรือคำชี้ชวนของคนอื่นเสียหมด ในทางกลับกันถ้ามองว่าชาวบ้าน "เลือกเชื่อใคร" หรือ "ทำอะไร" ตามเหตุผลและความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ ก็จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งซ้อนอยู่ด้วยมิติทางวัฒนธรรม กล่าวคือ
ในความเชื่อของชาวมุสลิม คำสั่งเสียของคนใกล้ตายเป็นสิ่งที่ต้องนำมาปฏิบัติ ยิ่งในกรณีนี้ผู้สั่งเสียเป็นอิหม่ามซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้าน เมื่อท่านสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูศพ ชาวบ้านก็พยายามทำตาม คำสั่งเสียของผู้ตายรวมกับการขาดความเชื่อถือในรัฐ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนตัดสินใจปิดหมู่บ้านของตน ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามา หลังจากนั้นเมื่อวิธีการนี้ไม่เป็นผล ผู้คนบางส่วนจากชุมชนหลายแห่งรวมทั้งที่บ้านละหาร ก็ตัดสินใจเดินหนีออกไปจากอำนาจรัฐที่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม
อันที่จริงการประท้วงรัฐด้วยการเดินหนีไปเช่นนี้ เป็นวิธีที่ชอบตามหลักศาสนาอิสลามที่เรียกกันว่า "ฮิจเราะห์" คือ การอพยพเมื่อชาวมุสลิมรู้สึกว่าเผชิญกับความไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นก็เป็นวิธีที่ประชาชนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในสังคมไทยทำกันมาแต่โบราณ แต่เมื่อเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นในโลกที่มีแต่รัฐสมัยใหม่ การประท้วงด้วยการเดินหนีไป "เมืองอื่น" ก็กลายเป็นประเด็นนานาชาติไป (12) และส่งผลสะเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียยิ่งขึ้น กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัดก็เห็นว่ามาเลเซียควรให้คนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัยในมาเลเซีย ขณะที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน (PAS) ในกลันตันเห็นว่าชาวมาเลเซียต้องพยายามช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้มีสิทธิได้รับซะกาต
สื่อมวลชนในมาเลเซียฉบับหนึ่งวิเคราะห์ว่า
กรณีผู้อพยพ 131 คนเป็นปัญหาท้าทายทดสอบสำคัญสำหรับมาเลเซีย เพราะปรกติมาเลเซียไม่มีนโยบายให้ที่ลี้ภัยทางการเมืองกับผู้ใด
ถ้ายอมรับให้เข้ามาได้ก็อาจทำให้กลุ่มอื่น ๆ ทำตาม อีกทั้งถ้ามีการนำประเด็นทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในเวลาที่นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ
ซรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวีเป็นประธานองค์การประชุมกลุ่มประเทศอิสลาม (Organization
of Islamic Conferences - OIC) ก็จะยิ่งทำให้มาเลเซียถูกเข้าใจผิดไปมากขึ้น ขณะเดียวกัน
ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในชายแดนใต้ของไทยก็เชื่อมโยงผูกพันกับมาเลเซียทั้งทางประวัติศาสตร์
และสายเลือดผิดกับผู้คนกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้มาเลเซียลำบากใจที่จะปฏิเสธ
(13)
20-21 กันยายน 2548
หลังละหมาดมักริบ (หลังตะวันตกดิน) ในวันที่ 20 กันยายน 2548 ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนรัวที่ร้านน้ำชาของหมู่บ้านตันหยงลิมอ
อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีคนถูกยิง 6 คน เสียชีวิตไป 2 คน คนหนึ่งที่เสียชีวิตเป็นเด็กหนุ่มอายุเพียง
16 ปี เกิดข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนก่อเหตุ ไม่นานเมื่อเจ้าหน้าที่มาถึง
ประชาชนในหมู่บ้านก็มารวมตัวกันเตรียมเข้าล้อม เจ้าหน้าที่ถอยออกไปจากที่นั้น
แต่นาวิกโยธิน 2 นายออกรถไปไม่ทัน ทั้งสองถูกจับตัวไว้
ตลอดคืนและรุ่งเช้ามีความพยายามเจรจาเพื่อให้ชาวบ้านตันหยงลิมอปล่อยทหารทั้ง
2 นายนั้น บ่ายของวันที่ 21 กันยายน นาวิกโยธินทั้ง 2 นายเสียชีวิตแล้ว ศพมีร่องรอยถูกทำร้ายและถูกแทง
ชาวบ้านปิดบ้านเงียบไม่ยอมพูดกับผู้ใด และอยู่ในความหวาดกลัว
กรณีตันหยงลิมอนี้ มีปมปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์หลายลักษณะ เมื่อเกิดเหตุร้ายที่ร้านน้ำชา
และชาวบ้านไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ สถานการณ์เช่นนี้ก็คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นที่บ้านละหาร
จังหวัดปัตตานี ซึ่งสะท้อนความไม่ไว้วางใจในรัฐอย่างร้ายแรง เช่นเดียวกับเมื่อชาวบ้านจับนาวิกโยธินเป็นตัวประกันไว้
การจับตัวประกันอาจแสดงให้เห็นศักยภาพในการดูแลตนเองของชุมชน แต่การปล่อยให้นาวิกโยธินทั้งสองเสียชีวิต
แสดงให้เห็นว่าชุมชนได้ล่มสลายไป เพราะหมดความสามารถจะดูแลปกป้องคนที่อยู่ในอาณัติของชุมชนเองได้
ยิ่งกว่านั้นถ้าข้อความที่ สาธารณชนส่งเข้ามาตามรายการโทรทัศน์และวิทยุเป็นมาตรวัดความรู้สึกของคนได้ จะพบว่าเหตุการณ์นี้ดูเหมือนทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่มหาชนทั่วไปมาก (14) สังคมไทยตกอยู่ในความเกลียดชัง เหตุการณ์รุนแรงที่ตันหยงลิมอกระทบกระแทกความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธทั้งในพื้นที่ และในประเทศกับชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ และอาจรวมถึงชาวไทยมุสลิมในที่อื่น ๆ ด้วย
มีรายงานว่าชาวไทยมุสลิมที่ประสงค์จะไปช่วยงานศพของนาวิกโยธินทั้งสอง ไม่กล้าไปเพราะกลัวคนอื่น ๆ ที่ไปในงานจะมีปฏิกิริยา กรณีตันหยงลิมอ ถูกจัดว่าเป็นข่าวสะเทือนใจอันดับหนึ่งของปี 2548 ทำให้ "คนทั้งประเทศเกิดอาการเคียดแค้น เศร้าสลด" (15) บางฝ่ายเห็นว่ากรณีตันหยงลิมอเป็นความอ่อนแอของภาครัฐที่ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตของเจ้าหน้าที่เอาไว้ได้ แต่ในทางกลับกัน หลายฝ่ายเห็นว่ากรณีนี้เป็นการแสดงถึงความหนักแน่น อดทนของภาครัฐ ผู้เลือกใช้วิถีทางสันติแม้ต้องเสียสละชีวิตของเจ้าหน้าที่ จนทำให้ภาครัฐประสบชัยชนะยิ่งใหญ่ทางการเมือง
16
ตุลาคม 2548
เวลา 01.45 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกเข้าไปลอบสังหารพระภิกษุและเผากุฏิ ที่วัดพรหมประสิทธิ์
หมู่ 2 บ้านเกาะ ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี พระแก้ว กุสโร มรณภาพในสภาพถูกฟันคอเกือบขาดที่หน้ากุฏิ
บริเวณใกล้กันพบรถจักรยานยนต์ถูกเผาอีก 2 คัน ในเถ้าถ่านกุฏิที่ถูกเผา พบศพลูกศิษย์วัด
2 คน คือ ณรงค์ คำอ่อง อายุ 17 ปี และสถาพร สุวรรณรัตน์ อายุ 15 ปี ทั้งคู่เป็นเด็กหนุ่มชาวบ้าน
ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ ทั้ง 2 ศพมีร่องรอยถูกยิงด้วยปืนก่อนจะถูกเผา ทางการเร่งรัดจับกุมคนร้ายในคดีนี้จนได้
และคนร้ายยอมรับสารภาพในที่สุด
เมื่อเทียบกับเหตุสังหารพระภิกษุซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2547 แล้ว 2 เหตุการณ์นี้ต่างกัน ทั้งจำนวนพระภิกษุที่ต้องภัยความรุนแรงจนมรณภาพ ทั้งเวลาที่เกิดเหตุ แต่ที่สำคัญเห็นจะเป็นนัยทางวัฒนธรรมของกรณีวัดพรหมประสิทธิ์ เพราะแม้ทางการจะจับคนร้ายที่เป็นมุสลิมได้ แต่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่น้อย ก็ไม่เชื่อว่าคนก่อเหตุรุนแรงร้ายกาจทำร้ายเอาชีวิตนักบวชในศาสนาเช่นนี้จะเป็นมุสลิมไปได้ เพราะขัดกับคำสอนและความเชื่อทางศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน
ขณะที่ชาวพุทธส่วนหนึ่งคงเชื่อว่า ความรุนแรงที่ทำกับพระภิกษุในพุทธศาสนาเช่นนี้คงมิได้เกิดจากน้ำมือของชาวพุทธ ยิ่งกว่านั้นไม่เพียงความรุนแรงนี้จะทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างศาสนาในพื้นที่ให้ร้าวฉานลงไปกว่าเดิม
แต่ที่แตกต่างอย่างสำคัญ จากกรณีสังหารพระภิกษุขณะที่ท่านออกบิณฑบาตที่จังหวัดนราธิวาส และยะลา เมื่อเดือนมกราคม 2547 คือ เหตุรุนแรงนี้คุกคามเข้ามาในบริเวณวัด อันเป็นเขตพุทธาวาสซึ่งถือว่าเป็นเขตปลอดจากความรุนแรงทั้งปวง การเข้ามาสังหารพระภิกษุในเขตวัด นับเป็นการกร่อนเซาะขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่เคยทำหน้าที่จำกัดความรุนแรงทางการเมืองในสังคมไทยมาแต่โบราณ
7
พฤศจิกายน 2548
เวลา 19.25 น. คนร้ายกว่า 60 คนบุกโจมตีสถานีตำรวจภูธรอำเภอบันนังสตา และบ้านพักนายอำเภอ
ในจังหวัดยะลา หลังจากนั้นตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30 ถึง 23.00 น. เกิดเหตุปั่นป่วนทั่วเมืองยะลา
ทั้งการโจมตีสถานียุทธศาสตร์ที่บ้านกาลอ อำเภอรามัน ทั้งลอบวางเพลิงบ้านชาวบ้านที่ตำบลหน้าถ้ำ
ใช้อาวุธปืนยิงทำลายหม้อแปลงไฟฟ้า จนไฟฟ้าดับตลอดถนนยะลา-บันนังสตา วางเพลิงเผาที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล
2 แห่ง รวมทั้งลอบยิงสถานีอนามัย ในคืนนั้นมีชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย ทหารเสียชีวิต
1 คน และเจ้าหน้าที่ยิงคนร้ายเสียชีวิต 2 รายในที่เกิดเหตุ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ต้องหาที่มีหมายจับและมีค่าหัว
1 ล้านบาท
เหตุร้ายปลายปีครั้งนี้ ดูเหมือนจะตอกย้ำเหตุการณ์ปิดเมืองยะลาเมื่อกลางปี ในแง่สัญลักษณ์เป็นการท้าทายอำนาจของรัฐที่ต้องสร้างความสงบสุขในสังคม
การที่เกิดเหตุซ้ำทั้งที่สถานีตำรวจ และบ้านพักนายอำเภอ คงมุ่งสื่อสารว่า แม้คนของรัฐเองยังต้องถูกคุกคามจากภัยความรุนแรง
และคงไม่สามารถปกปักรักษาผู้คนสามัญได้
16 พฤศจิกายน 2548
เวลา 01.00 น. กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงไม่น้อยกว่า 10 คน กระจายกำลัง ใช้ปืนสงครามกราดยิงถล่มบ้านเรือนในหมู่บ้านกะทอง
ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส 3 หลัง จนมีผู้เสียชีวิตอยู่ในบ้าน 9 คน
เป็นผู้ใหญ่ 2 คน อายุ 40 และ 42 ปี เป็นเด็กสาวอายุตั้งแต่ 17 ถึง 20 ปี 3 คน
ที่เหลือเป็นเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีลงไป ที่อายุน้อยที่สุด 2 คน คนหนึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ
8 ขวบ คนเล็กที่สุดเป็นเด็กชายอายุเพียง 8 เดือนเท่านั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งยอมพูดคุยกับ
กอส. ในพื้นที่ล้วนเห็นตรงกันว่า ครอบครัวนี้ทั้งพ่อแม่ลูกเด็กเล็กแดงถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหาร
เหตุการณ์นี้สะท้อนชัดถึงระดับของความรุนแรงที่นับวันจะไม่มีขอบเขตยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการสังหารทารกมุสลิมอายุเพียง 8 เดือน กับเด็กหญิงอายุ 8 ขวบ ถ้าสมาชิกในครอบครัวนี้เป็นครอบครัวของอดีตผู้หลงผิดจริง เช่นที่ภาครัฐเชื่อ ก็แสดงว่า รัฐไม่อาจคุ้มครองป้องกันคนที่กลับตัวกลับใจได้ ถ้าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงทางการเมือง ก็แสดงชัดว่าผู้ใช้ความรุนแรง จงใจทำลายขอบเขตทางศาสนาวัฒนธรรมทุกชนิดที่เคารพในความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็ก ๆ ด้วยเหตุนี้ช่องว่างระหว่างรัฐกับผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ก็น่าจะฉีกขาดจากกันออกไปอีก
ผลสะเทือนของเหตุการณ์ทั้ง 12 ครั้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2548 สะท้อนให้เห็นชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่ไว้ใจในรัฐ เพราะไม่แน่ใจว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ของรัฐมากน้อยเพียงไร แม้กระทั่งข้อความข้างอาคารว่า "ฟาตอนีย์ เมอร์เดกา" (ปัตตานีเป็นเอกราช) ที่มีผู้ใช้สีสเปรย์พ่นไว้ด้วยอักษรยาวีหรืออักษรรูมี(คือตัวอักษรภาษาอังกฤษ) ตามอาคาร ป้ายทางหลวง หรือบนถนน ในชุมชน บริเวณอำเภอสุไหงปาดีและเจาะไอร้อง มีชาวไทยมุสลิมในพื้นที่บางส่วนเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ (16) ขณะเดียวกันชาวพุทธในพื้นที่ก็ไม่ไว้ใจในรัฐ เพราะเห็นว่าไม่สามารถปกปักรักษาพวกตนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเองได้
แนวโน้มความอ่อนแอของรัฐและชุมชน
ในแง่นี้สัญญาณอันตรายของรัฐไทยอ ยู่ที่การเคลื่อนเข้าใกล้ภาวะของรัฐที่ไม่สามารถประกันความปลอดภัยให้กับพลเมืองของตนได้
ไม่สามารถให้บริการสาธารณะกับผู้คนในรัฐได้ อีกทั้งยังดูเหมือนมีอาณาบริเวณที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึงมากขึ้นเรื่อย
ๆ ดูคล้ายกับสภาพที่รัฐค่อย ๆ หมดความสามารถจะปกครอง เพราะผลที่สำคัญประการหนึ่งของการที่รัฐอ่อนแอลงเรื่อย
ๆ จนปกครองไม่ได้คือ อีกฝ่ายสามารถเข้าครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวได้มากขึ้น ขณะที่ความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินเสื่อมโทรมลงไป
ความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินส่วนหนึ่ง
เป็นผลโดยตรงจากนโยบายของรัฐในเรื่องการเคารพอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คน การกระจายอำนาจในการกำหนดนโยบาย
และเปิดพื้นที่ทางการเมืองประชาธิปไตยให้คนในรัฐโดยเสมอภาคกัน ปัญหาประการหนึ่งอยู่ที่ทั้งนโยบายด้านวัฒนธรรม
และพื้นที่ประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย (17)
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ระหว่างปี 2481-2487 ได้ใช้นโยบายสร้างชาติด้วยการควบคุมทางวัฒนธรรม
เพื่อให้ผู้คนในประเทศ ไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือศาสนาใดมีสำนึกความเป็นไทย ตามข้อกำหนดรัฐนิยม
12 ฉบับ ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2482-2485 ผลจากรัฐนิยมเหล่านี้ทำให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู
ถูกจำกัดเสรีภาพทางวัฒนธรรม เช่น ได้รับคำสั่งไม่ให้แต่งกายตามแบบมลายูมุสลิม
ไม่ให้สอนภาษามลายูในโรงเรียน ไม่ให้พูดภาษามลายูในการติดต่อกับราชการ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นชื่อไทย
ให้ใช้ประเพณีไทยในด้านต่าง ๆ
ในปี 2486 รัฐบาลได้กำหนดให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แทนกฎหมายอิสลามด้านครอบครัวและมรดกเช่นที่เคยเป็นมา ผลประการหนึ่งคือ ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชมลายูปัตตานีเข้มแข็งขึ้น และได้รับความสนับสนุนจากผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยฝ่ายขบวนการอาศัยนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลนั้นเอง มาเป็นเครื่องปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมมลายูมุสลิม และเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติไปพร้อม ๆ กัน
แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2491-2500 ได้ดำเนินนโยบายการปกครองชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรักษาเอกภาพของประเทศและความเป็นปึกแผ่นภายในเป็นหลัก แต่นโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามช่วงที่สองนี้ ก็มีลักษณะผ่อนปรนประนีประนอมกว่าช่วงแรกมาก จะเห็นได้จากการตั้งนายเจ๊ะอับดุลลา หลังปูเต๊ะ ชาวมุสลิมจากจังหวัดสตูลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นต้น
ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมและการยอมรับให้แก่ระบบราชการของรัฐเผด็จการผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยเจาะลึกลงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่และสถาบันทางสังคมในพื้นที่ เช่น การพยายามควบคุมสถาบันศึกษาปอเนาะ หรือการพยายามเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรในพื้นที่ ด้วยการนำคนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
จะเห็นได้ว่านโยบายพัฒนาผ่านการควบคุมทางวัฒนธรรมในโครงสร้างรัฐเผด็จการเช่นนี้ มีส่วนทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้มแข็ง และได้รับความสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่มากขึ้น
ทั้งหมดนี้หมายความว่า
นโยบายของรัฐในระดับยุทธศาสตร์มีผลโดยตรงต่อปฏิกิริยาของประชาชนในพื้นที่ คราวใดที่นโยบายของรัฐบาลไทยซึ่งอ้าง"ความเป็นไทย"และไม่เคารพ
อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่น รวมอำนาจการกำหนดนโยบายไว้เฉพาะส่วนกลาง
และจำกัดพื้นที่ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ผู้ก่อความไม่สงบที่นำศาสนา วัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์ และการที่รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้คนมาเป็นข้ออ้างใช้ความรุนแรง
ก็ดูจะได้รับการตอบสนองจากผู้คนในพื้นที่มากขึ้น
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ทวีขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2547 ภาครัฐโต้ตอบด้วยความรุนแรงและจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตย แต่ในระยะหลังก็มีสัญญาณให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอยู่บ้าง เช่น ดูจะมีความเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่บางส่วนแสดงให้เห็นความอดกลั้น และใช้สันติวิธีต่อสถานการณ์มากขึ้น (เช่น กรณีตันหยงลิมอเมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2548) มุ่งสร้างความยุติธรรมในพื้นที่โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
สัญญาณเหล่านี้ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า สถานการณ์ในระดับยุทธวิธีหรือเหตุร้ายรายวันมีแนวโน้มจะเป็นไปตามที่ กอส. ประเมินไว้ และจะทรงตัวอยู่อย่างนี้อีกระยะหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ การแก้ปัญหาในทางยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับวิธีการในระดับโครงสร้างและวัฒนธรรม เพื่อตรึงประชาชนมิให้หันไปสนับสนุนฝ่ายใช้ความรุนแรง และฟื้นความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนให้คืนกลับมา
ไม่ว่ารัฐจะเป็นอย่างไร เข้มแข็งหรืออ่อนแอ หากชุมชนยังเข้มแข็ง ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายยังอยู่ร่วมกันในฐานะพลเมืองเสมอกันได้ ประเทศก็ยังมั่นคงปลอดภัยอยู่ได้ แนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ไม่เพียงรัฐอ่อนแอแทบหมดกำลังจะปกป้องคุ้มครองพลเมือง แต่ชุมชนเองก็ดูจะอ่อนแอลงด้วย
ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทั้งในประเทศก็ดูเหมือนจะถูกลิ่มแห่งความรุนแรง ตอกให้แยกห่างจากกันมากขึ้นทุกที เพราะชาวไทยพุทธบางส่วนในพื้นที่รู้สึกว่า คนไทยนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม "ต้องถอยร่นทางวัฒนธรรม" อำนาจรัฐก็ไม่ยุติธรรม เพราะลำเอียงเข้าข้างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ทำให้คนเหล่านี้ดูเหมือนมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนไทยหมู่เหล่าอื่น เวลาคนมุสลิมทำผิดไม่ค่อยถูกลงโทษ แต่หากเป็นคนศาสนาอื่นจะถูกลงโทษหนักที่สุดตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูกลับรู้สึกว่า ตนได้รับความไม่เป็นธรรม และมักได้รับการปฏิบัติจากรัฐไม่เหมาะสม อันเป็นผลจากการปฏิบัติตนในฐานะมุสลิม เช่น หากแต่งกายตามแบบชาวมุสลิมในภาคใต้ จะถูกหวาดระแวงทำให้ถูกตรวจค้นมากขึ้น (18)
ในระยะ 2 ปีมานี้ยังพบว่าในพื้นที่มีใบปลิวหลายประเภท ทั้งที่เผยแพร่โดยฝ่ายผู้ก่อการและโดยภาครัฐ ในใบปลิวที่ออกมาข่มขู่คนพุทธจะชี้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารหรือฝ่ายปกครองก็ล้วนเป็นชาวพุทธ เป็นศัตรูของพระเจ้าและศาสนา (กาฟิร) ขณะเดียวกันก็ข่มขู่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐโดยเรียกคนเหล่านี้ว่า มุนาฟิก (พวกหลอก ลวงหน้าไหว้หลังหลอก) ถ้าเป็นใบปลิวที่เขียนเป็นภาษามลายูจะมีเนื้อหาว่าด้วยความไม่ยุติธรรมของรัฐไทย แต่ถ้าเป็นภาษาไทยจะมีเนื้อหาโจมตีคนที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ (19)
แม้ในรายงานวิจัยโครงการ"ท้องถิ่นมองความรุนแรง: การสำรวจความเห็นสาธารณะจากสื่อมวลชนในพื้นที่, ใบปลิวและข้อเขียนข้างอาคาร(graffiti) ของ กอส."" จะระบุว่าไม่พบใบปลิวนี้อีกในช่วงปลายปี 2548 แต่ในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งระบุว่า ผู้นำศาสนาอิสลามหลายท่านได้รับใบปลิวที่มีเนื้อหา "6 ไม่ 1 ต้อง" คือ ไม่เจรจาประนีประนอมกับรัฐไทย, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่, ไม่ยอมรับระบบรัฐสภา, ไม่โยกย้ายหนีไปไหน, ไม่มอบตัว, และไม่รับเขตการปกครองพิเศษ. ส่วน 1 ต้อง คือ ต้องทำสงครามแบ่งแยก
จะเห็นได้ว่า แนวโน้มอันตรายในอนาคตประการหนึ่งคือ ภัยจากลิ่มแห่งความรุนแรงที่ทำลายสถาบันทางวัฒนธรรม ที่ผูกร้อยผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน และเปลี่ยนคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน แต่เห็นต่างกันให้กลายเป็นดังคนแปลกหน้าหรือกระทั่งเป็นศัตรู ลิ่มแห่งความแตกแยกนี้ทำให้ผู้คนผูกติดอยู่กับการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นผลโดยตรงของความกลัวและความหวาดระแวงต่อกัน
สภาพเช่นนี้นี่เองที่ทำให้การเลือกใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหา นอกจากจะผิดฝาผิดตัวแล้ว ยังจะทำให้อาการข้างหน้าเลวร้ายลงอีก ดังนั้น ทางออกของสังคมไทยเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มอันตรายในอนาคต จึงจำเป็นต้องหันมาหาแนวทางสมานฉันท์ซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ เพราะสังคมไทยเคยมีประสบการณ์แก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ยากเย็น ด้วยทางเลือกที่น่าอัศจรรย์จนประสบชัยชนะมาแล้วหลายครั้ง
หยุดแนวโน้มความรุนแรงด้วยชัยชนะของสังคมไทย
ชะตากรรมอย่างหนึ่งของข้อคิดที่สร้างสรรค์ และแตกต่างกว่าที่เคยเสนอกันมาคือ
ผู้คนไม่เชื่อกันว่าข้อเสนอแปลกใหม่เหล่านี้จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แต่สังคมไทยในอดีตเคยทำสิ่งอัศจรรย์ทางการเมืองมามากแล้ว
ถ้าครั้งหนึ่งทางออกเหล่านั้นของสังคมไทยเป็นไปได้ บัดนี้ทางออกอย่างแนวทางสมานฉันท์
ก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน
ในที่นี้จะขอยกกรณีตัวอย่างเพียง 2 กรณี คือ ชัยชนะของรัฐไทยในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ และชัยชนะของเหยื่อความรุนแรงกรณี 28 เมษายน 2547
กรณีที่หนึ่ง
ชัยชนะของการเมืองเหนือความรุนแรง: รัฐไทยในสงครามคอมมิวนิสต์ปี 2523
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการคอมมิวนิสต์ในป่าเติบโต เพราะเชื้อไฟแห่งความรุนแรงโหดร้ายที่รัฐเป็นผู้ใช้.
หลังจากนั้น 4 ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ฝ่ายทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่สู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
บรรลุข้อสรุปว่า การต่อสู้ในครั้งนั้นต้องอาศัยวิธีการต่อสู้อย่างใหม่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
หน่วยทหารระดับพื้นที่ ได้เริ่มแนวทางปฏิบัติใหม่ ๆ ของตนก่อน จนผู้บังคับบัญชาเห็นว่าประสบความสำเร็จจึงเขียนเป็นนโยบายขึ้นมา
(20)
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ (21) ถือกำเนิดขึ้นโดยมีลักษณะพิเศษหลายประการ ที่สำคัญคือ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายคอมมิวนิสต์ คำสั่งนี้ให้ถือว่า ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยเป็นเงื่อนไขของภัยคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้จึงให้ปฏิบัติต่อคนที่ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ในฐานะมิตรไม่ใช่ศัตรู โดยถือว่าพวกเขาเป็น "ผู้หลงผิด" และดังนั้นจึงคู่ควรกับการให้อภัย
และที่สำคัญคือ รัฐมุ่งเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองด้วยการสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและปกครองแผ่นดินของตน ถือว่างานการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดในการต่อสู้นี้ โดยใช้สันติวิธีเป็นแนวทางหลัก เหนือหนทางการใช้ความรุนแรงด้วยมาตรการทางทหาร (22)
ขณะเดียวกันผู้คนภาคส่วนต่าง ๆ ก็เปิดใจโอบกอดผู้คนเหล่านี้ไว้ด้วยความเมตตาอารี ให้พวกเขามีพื้นที่อยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นความเมตตาอารีที่ฝังอยู่ในเนื้อตัวของสังคมไทย และแสดงออกต่อคนหมู่เหล่าต่าง ๆ ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมเดียวกันที่เคยจับอาวุธต่อสู้กันมา หรือต่อเชลยศึกต่างชาติต่างภาษาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจนเลื่องลือไปทั่วโลก
อาจกล่าวได้ว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นภาพสะท้อนทั้งความกล้าหาญและความคิดสร้างสรรค์ของกองทัพไทย ที่จะใช้แนวทางการเมืองมาแก้ปัญหา และยุติสงครามระหว่างคนไทยด้วยกันจนได้ โดยอาศัยแนวทางสันติวิธีและการให้อภัยต่อคนที่เคยเป็นศัตรูต่อกัน เป็นความพยายามสร้างสังคมการเมืองชนิดที่มีความสมานฉันท์ เปิดพื้นที่ให้คนที่เคยเป็นศัตรูกลับเข้ามาอยู่ในสังคมการเมืองได้อย่างมิตร และนำพาประเทศไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้และความมั่นคงที่ยั่งยืนได้อย่างน่าอัศจรรย์
กรณีที่สอง
ชัยชนะของการให้อภัย: กรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี2547
สิบเอกสามารถ กาบกลางดอน อายุ 25 ปีเสียชีวิตระหว่างการต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ
ที่กรือเซะเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 แม่ของสิบเอกสามารถตระหนักดีว่า ลูกชายของตนจากไปแล้ว
และไม่มีวันหวนคืนมา เธอกล่าวว่า "ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป
ไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว เป็นความสูญเสียสำหรับทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่น
ๆ อีกหลายคน"
ส่วนกรณีซุลกิฟลิ ปานาวา อายุ 23 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่บริเวณสามแยกบ้านเนียง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ก็เช่นกัน พ่อของเขาตระหนักดีว่า จะไม่มีวันได้เห็นหน้าลูกชายอีกแล้ว แต่ในฐานะคนมุสลิมเขากล่าวว่า "ไม่เคยโกรธเจ้าหน้าที่เลย ถือว่าเป็นการกำหนดของพระเป็นเจ้า" (23) ความทรงจำเหล่านี้อาจกลายเป็นบาดแผลที่ไม่ยอมหายและสร้างความเจ็บปวดให้ผู้คน แนวทางสมานฉันท์มิได้หลอกตัวเองให้ลืมอดีตเหล่านี้ หรือทำราวกับว่าความทรงจำอันเจ็บปวดนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่มุ่งเปลี่ยนแปลงความทรงจำอันเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังแก้ไขปัญหาความรุนแรง ให้จดจำความตายของลูกหลานไทยอย่าง สิบเอกสามารถ กาบกลางดอน และซุลกิฟลิ ปานาวา เพื่อหาหนทางไม่ให้คนอื่น ๆ ในสังคมต้องกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงต่อไปอีก
คงมีหลายคนเห็นว่าควรจะแก้แค้นเอาคืน
แต่การแก้แค้นไม่ช่วยให้ได้ชีวิตลูกชายผู้สูญเสียคืนกลับมา จึงจำเป็นต้องเลือกวิธีต่อสู้กับต้นตอของปัญหาและ
"เอาคืน" ไม่ใช่ด้วยการแก้แค้น แต่ด้วยการพยายามช่วยคนอื่น ๆ มิให้กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
ตัวอย่างทั้งสองชี้ให้เห็นชัดว่า สังคมไทยเคยได้ชัยชนะในสภาพที่เกือบเป็นไปไม่ได้
เพราะสังคมไทยมีศักยภาพที่เอื้อต่อแนวทางสมานฉันท์อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในทุกระดับไม่เลือกว่าจะเป็นนักรบผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ
หรือสามัญชนที่มีภูมิหลังทางศาสนาวัฒนธรรมแตกต่างกัน ผู้คนเหล่านี้กล้าเสี่ยงทำการเพื่อบ้านเมือง
อาศัยความเมตตาอารี สันติวิธี และการให้อภัย เป็นหนทางเผชิญกับปัญหาความรุนแรง
ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย และในฐานะเหยื่อผู้สูญเสีย
ข้อเสนอแนวทางสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย เป็นข้อเสนอต่อรัฐและสังคมไทยเพราะมั่นใจว่า สังคมไทยมีศักยภาพที่จะทำให้แนวทางสมานฉันท์เป็นจริงเพื่อสันติภาพและความมั่นคงได้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การคิดถึงอนาคตมีหลายแบบ บางคนคิดถึงอนาคตที่ "เป็นไปได้" (possible futures) ซึ่งมักหมายถึงการสร้างภาพอนาคตหลากหลายรูปแบบทั้งที่ดีและเลว แต่การคาดการณ์แนวโน้มอนาคตหรือการทำ prognosis เป็นการนำเสนออนาคตที่ "น่าจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ปรากฏขึ้นแล้ว" (probable future)คำว่า prognosis ใช้กันมาตั้งแต่สมัย ฮิปโปเครตีส บิดาแห่งวิชาแพทย์สมัยกรีกโบราณ ด้วยความหมายคล้าย ๆ กับที่ใช้กันในปัจจุบันคือ ตั้งคำถามว่า คาดหมายว่าเส้นทางของโรคจะเป็นอย่างไรต่อไป และโอกาสที่คนไข้จะหายมีมากน้อยเพียงไรถ้าเส้นทางของโรคเป็นเช่นนั้น (www.medterms.com)
สำหรับวิชาความขัดแย้งและวิจัยสันติภาพ คำ ๆ นี้หมายถึงการคาดคะเนแนวโน้มของระบบใดระบบหนึ่งในเวลาที่ผ่านไป เพื่อคาดการณ์ว่า ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น คงเดิม หรือลดลง คงไม่ต้องกล่าวว่า การคาดการณ์ที่แม่นยำมีผลต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหา เช่น เมื่อมีนักวิจัยสันติภาพเสนอให้ยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมในชิลี (therapy) ก็เพราะคาดการณ์ว่า ความยุติธรรมที่แท้จริงไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ (prognosis) ภายใต้สภาพการณ์ที่ระบบการปกครองของชิลี ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว (diagnosis) โปรดพิจารณา
(http://www.unam.na/centres/hrdc/journal/docs/Conflict%20Transformation%20Jane.doc)(2) Johan Galtung, "Conflict Transformation by Peaceful Means (The Transcend Method)" (New York: United Nations Disaster Management Training Program, 2000), pp. 130-131
(3) นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 46 และนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 16, "รายงานผลการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "ก้าวต่อไปสู่ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้" (กรุงเทพ ฯ : วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, 2547), หน้า 74-75
(4) บางกอกทูเดย์, 4 ตุลาคม 2548
(5) ปิยะ กิจถาวร, หน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย, สำนักงานภาค ชมรมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, "รายงานวิจัย การศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงและผลการสำรวจความเห็นของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส (ฉบับร่าง)" (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548), หน้า 14
(6) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประธานและรองประธานคณะอนุกรรมการของ กอส. หลายชุด ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2548
(7) ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้: สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี" (พ.ศ.2547-2548), เอกสารสัมมนาทางวิชาการ เบื้องหลัง...เบื้องลึกกรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 11 กุมภาพันธ์ 2549), หน้า 78
(8) ราซีด๊ะ ระเด่นอาหมัด, ปาริชาติ เบ็ญฤทธิ์, อนุวัต สงสม แล รัญชิดา สังข์ดวง, "รายงานวิจัยการศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, กุมภาพันธ์ 2549)
(9) "ข่าวประชาสัมพันธ์" กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า/หน่วยเฉพาะกิจทักษิณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, 6 ตุลาคม และ12 ตุลาคม 2547
(10) คณะทำงานสำรวจรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดอง, คณะอนุกรรมการชุดที่ 5 , "รายงานความคิดเห็นของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548), หน้า 58
(11) ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง, "รายงานวิจัยมาเลเซียมองปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้" (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548)
(12) ดูคำอธิบายเรื่องนี้ได้ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ "สมานฉันท์ในทางปฏิบัติ" มติชน, 12 กันยายน 2548
(13) ดูข้อมูลจากสื่อมวลชนมาเลเซียได้ใน ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง, "รายงานวิจัยมาเลเซียมองปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้" (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548)
(14) เช่น "เราจะไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ 2 คนตายฟรี" , "นี่คือการกระทำของสัตว์เดรัจฉาน" , "ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่แก้ปัญหาด้วยการปิดหมู่บ้านและฆ่ามันทั้งหมู่บ้านเลย" โปรดพิจารณา จันจิรา สมบัติพูนศิริ, "เรื่องเล่าแห่งความกลัว" มติชนรายวัน, 4 ตุลาคม 2548
(15) บางกอกทูเดย์, 29 ธันวาคม 2548
(16) สะรอนี ดือเระ , "ความเห็นของคนท้องถิ่นต่อสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้: ศึกษาจากใบปลิว ข้อเขียนข้างอาคาร สื่อท้องถิ่น" (กรุงเทพ ฯ: รายงานวิจัยคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2549)
(17) ดูความเปลี่ยนแปลงของนโยบายเหล่านี้ได้ใน ปิยะนาถ บุนนาค, "นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้" (พ.ศ.2475-2516) (กรุงเทพ ฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534), หน้า 78-134
(18) ดูความเห็นเหล่านี้ได้ใน คณะทำงานสำรวจรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดอง, คณะอนุกรรมการชุดที่ 5, "รายงานความคิดเห็นของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" (กรุงเทพ ฯ : คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548), หน้า 60-61
(19) สะรอนี ดือเระ , "ความเห็นของคนท้องถิ่นต่อสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้: ศึกษาจากใบปลิว ข้อเขียนข้างอาคาร สื่อท้องถิ่น" (กรุงเทพ ฯ: รายงานวิจัยคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2549)
(20) บทสัมภาษณ์ พลตรี พิเชษฐ์ วิสัยจร รองแม่ทัพภาคที่ 4, "นิตยสารสารคดี, สิงหาคม 2548, หน้า 94
(21) หลังจากที่รัฐไทยต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วยอาวุธเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทิศทางการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ด้วยการถือว่า การต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ทางการเมือง และดังนั้นชัยชนะเด็ดขาด จะเกิดขึ้นจากมาตรการทางการเมืองเท่านั้น หลังจากที่รัฐบาลได้ออกคำสั่ง 66/2523 นี้ ได้สั่งให้ทุกหน่วยราชการถือปฏิบัติอย่างจริงจัง รัฐไทยก็ประสบชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาดจนเลื่องลือไปทั่วโลก
(22) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, "คำสั่ง 66/43?: รัฐ, ปัญหาวัฒนธรรมของรัฐ กับ การจัดการความขัดแย้งในศตวรรษใหม่" (กรุงเทพ ฯ : สถาบันยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, 2544)
(23) ดู ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, "เพราะเป็นคนที่ตาย", ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2547) , หน้า 50-69, ข้อความในเครื่องหมายคำพูดอยู่ในหน้า 67-68 และ63
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง
การคิดถึงอนาคตมีหลายแบบ บางคนคิดถึงอนาคตที่ "เป็นไปได้" (possible
futures) ซึ่งมักหมายถึงการสร้างภาพอนาคตหลากหลายรูปแบบทั้งที่ดีและเลว แต่การคาดการณ์แนวโน้มอนาคตหรือการทำ
prognosis เป็นการนำเสนออนาคตที่ "น่าจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ปรากฏขึ้นแล้ว"
(probable future)
คำว่า prognosis ใช้กันมาตั้งแต่สมัย ฮิปโปเครตีส บิดาแห่งวิชาแพทย์สมัยกรีกโบราณ
ด้วยความหมายคล้าย ๆ กับที่ใช้กันในปัจจุบันคือ ตั้งคำถามว่า คาดหมายว่าเส้นทางของโรคจะเป็นอย่างไรต่อไป
และโอกาสที่คนไข้จะหายมีมากน้อยเพียงไรถ้าเส้นทางของโรคเป็นเช่นนั้น
สำหรับวิชาความขัดแย้งและวิจัยสันติภาพ
คำ ๆ นี้หมายถึงการคาดคะเนแนวโน้มของระบบใดระบบหนึ่งในเวลาที่ผ่านไป เพื่อคาดการณ์ว่า
ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น คงเดิม หรือลดลง คงไม่ต้องกล่าวว่า การคาดการณ์ที่แม่นยำมีผลต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหา
ตัวอย่างทั้งสองชี้ให้เห็นชัดว่า สังคมไทยเคยได้ชัยชนะในสภาพที่เกือบเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีศักยภาพที่เอื้อต่อแนวทางสมานฉันท์อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในทุกระดับไม่เลือกว่าจะเป็นนักรบผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ หรือสามัญชนที่มีภูมิหลังทางศาสนาวัฒนธรรมแตกต่างกัน ผู้คนเหล่านี้กล้าเสี่ยงทำการเพื่อบ้านเมือง อาศัยความเมตตาอารี สันติวิธี และการให้อภัย เป็นหนทางเผชิญกับปัญหาความรุนแรง ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย และในฐานะเหยื่อผู้สูญเสีย