Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ยศธรและอัมมานา
: ความรุนแรงยังไม่จางที่ภาคใต้ (๑)
รศ.ดร.ชัยวัฒน์
สถาอานันท์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(คณะกรรมการรอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ)
รายงานที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
เกี่ยวกับ การเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ (ร่างที่ 8) ซึ่งได้นำมาเผยแพร่บางส่วนดังประเด็นต่อไปนี้
1. เรื่องของยศธรและอัมมานา
2. กรอบคิดเพื่ออธิบายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. วินิจฉัยเหตุ: ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.1 ปัจจัยชั้นบุคคล 3.2 ปัจจัยชั้นโครงสร้าง 3.3 ปัจจัยชั้นวัฒนธรรม:
4. สรุปข้อวินิจฉัยเหตุของปัญหา
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 947
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
20 หน้ากระดาษ A4)
รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ (ร่างที่
8)
"...ประชาชนที่อยู่ในประเทศ อยู่มานานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นคนไทย คือ เขาไม่ถือว่าเป็นคนไทยแท้จริง แท้จริงเขาอยู่และเกิดในเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้รับ เรียกว่าประโยชน์ของความเป็นไทย นี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเหมือนกัน เพราะว่า ถ้าหากว่ามีคนที่อยู่ในเมืองไทยแล้วมีความน้อยใจว่าไม่มีใครเอาใจใส่ ก็จะทำให้ความมั่นคงของประเทศด้อยไป "
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544
"ประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ทุกคนควรต้องเคารพ และยึดมั่นในหลักการของเมตตาธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้กฎระเบียบของสังคมและกฎหมายของบ้านเมือง คนไทยทั้งชาติไม่ว่าจะอยู่ภาคใดก็ตามของประเทศ ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ ความห่วงใยอาทรต่อพี่น้องคนไทยร่วมชาติ ซึ่งเขากำลังมีความทุกข์อย่างเหลือล้นออกมาให้ประจักษ์"
พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2548
รายงานที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ
1. เรื่องของยศธรและอัมมานา
2. กรอบคิดเพื่ออธิบายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. วินิจฉัยเหตุ: ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. สรุปข้อวินิจฉัยเหตุของปัญหา
1. เรื่องของยศธรและอัมมานา
ยศธร มีพี่ 3 คน พี่คนโตต้องออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้าน พี่สาวคนที่สองเสียชีวิตไปแล้ว
พี่ชายคนที่สามอายุ 11 ปีป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว พ่อของยศธรชื่อวิชิต
ขายขนมและผลไม้หน้าร้านชำเล็ก ๆ ริมถนน วันนั้นเวลาโพล้เพล้ มีคนขี่มอเตอร์ไซค์มาซื้อของที่ร้าน
2 คน ยศธร เห็นพ่อหยิบขนมปังใส่ถุงให้สองคนนั้น ก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่ฉับพลันเสียงปืนดังขึ้น
3 นัด ยศธรทันเห็นพ่อล้มลงจมกองเลือดอยู่หน้าบ้าน พ่อไม่ตาย แต่นับจากวันนั้น
พ่อไปส่งลูกๆ ที่โรงเรียนไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นอัมพาต จะลุกจะนั่งเก้าอี้ต้องให้แม่กับลูก
ๆ ช่วยกันยกตัว ทุกคืนพ่อจะผวาเวลาได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ ทุกวันเวลาแม่หยิบของให้ลูกค้า
พ่อก็มือสั่น เหงื่อออกท่วมตัว เพราะไม่รู้ว่าที่คนขี่มอเตอร์ไซค์หยิบออกมาจากกระเป๋าจะเป็นเงินหรือปืน
ยศธรรู้ว่า ภาพแม่กับพวกลูก ๆ ขายของหน้าร้านกลายเป็นภาพน่ากลัวจนพ่อต้องกลั้นใจ
อัมมานา อายุ 8 ขวบ มีพี่สาวคนหนึ่งอายุ 13 ปี พ่อของอัมมานาชื่อ มะตอลาฟี เป็นอดีตทหารผ่านศึก วันนั้นอัมมานาจำได้ว่าดึกแล้ว ที่บ้านปิดไฟนอนกันหมด แต่ก็ตกใจตื่นเพราะมีคนกลุ่มใหญ่มาพังประตูบ้าน อัมมานาทันเห็นคนพวกนั้นจับพ่อไว้แล้วถามเป็นภาษาไทยว่า "เอ็งเอาปืนที่ปล้นไปไว้ที่ไหน" พ่อตอบว่าไม่รู้เรื่อง คน 10 คนนั้นก็ซ้อมพ่อ พอสองยามก็ลากพ่อไปขึ้นรถ 3 วันต่อมาเขามาบอกว่า พบศพพ่อทิ้งไว้ข้างถนน มีรอยถูกจี้ด้วยไฟฟ้า จมูกหัก แม่พูดกับคนที่มาเยี่ยมว่า "กลัวจนไม่รู้จะกลัวอะไรแล้ว ได้แต่บอกตัวเองว่าถึงจะกลัวอย่างไร ถ้าเขาต้องการฆ่า เขาก็ฆ่าเราได้อยู่ดี"
ทั้ง 2 เรื่องไม่ใช่นิยาย
เรื่องแรกวิชิต วิลาศไพสิฐ อายุ 47 ปี เป็นหัวหน้าครอบครัวไทยพุทธถูกยิงจนทุกวันนี้เป็นอัมพาตที่
อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เรื่องที่สอง ศพมะตอลาฟี แมะแซะ ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู
ถูกพบอยู่ริมถนนที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี
2547 (1)
ความรู้สึกของเด็กอย่างยศธรและอัมมานาสองคนนี้คาดเดาได้ไม่ยากนัก ยศธรคงอยากจะปลอบพ่อแต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไร
คงสงสารแม่ที่ต้องรับภาระหนัก และเสียใจที่พ่อต้องเป็นอย่างนี้ เขาไม่เข้าใจว่าพ่อไปทำอะไรให้ใคร
ยศธรจึงอาจรู้สึกโกรธและเกลียดคนที่ยิงพ่อ อัมมานาก็เช่นกัน เธอคงรู้สึกไม่ต่างจากยศธร
คือ สงสารแม่และโกรธเกลียดคนที่ทำกับพ่อของเธอเช่นนั้น
ที่น่ากลัวคือ จำนวนของเด็กอย่าง 2 คนนี้เพิ่มขึ้นทุกวันและทุกหนแห่งตามปริมาณและตำแหน่งแห่งที่ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้คนทุกหมู่เหล่า สื่อมวลชนระบุว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเด็กๆ หลายพันคนถูกทำให้เป็นกำพร้าเพราะความรุนแรงระบาดมาเกือบ 2 ปีนี้ (2)
งานสมานฉันท์ใส่ใจกับชีวิตและอนาคตของเด็ก ๆ เหล่านี้ เพราะนี่คืออนาคตของสังคมไทย ถ้าพวกเขาผูกพันรักใคร่กัน ไม่ว่าจะมีใครคิดร้ายเพียงไรสังคมไทยก็มั่นคงแข็งแรง แต่หากพวกเขาเติบโตขึ้นด้วยความโกรธแค้นเกลียดชัง หรือเพียงไม่แยแสใส่ใจในทุกข์ร้อนของกันและกัน อนาคตของสังคมไทยก็จะมืดทะมึนไปด้วยเมฆหมอกแห่งความรุนแรง ไม่ว่าจะใช้ปืนกี่กระบอกหรือใช้กำลังสักเพียงไรก็สร้างความร่มเย็นในสังคมให้หวนคืนมาไม่ได้
คนผิดคนร้ายมีในบ้านเมืองนี้แน่ และควรต้องดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย แต่จากข้อมูลของทุกฝ่ายล้วนตรงกันว่า คนเหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก (3) แต่ก็เป็นคนหลายกลุ่มที่มีจุดมุ่งหมายหลายเรื่อง ไม่ใช่เพียงเฉพาะหวังจะแยกดินแดน (4) และดูจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ช่วยให้คนเหล่านี้ทำการของตนได้ผลอย่างต่อเนื่อง
เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังคมไทยต้องเข้าใจว่า แม้ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปมเหตุในระดับโครงสร้างคล้ายปัญหาชนบทไทยในที่อื่น ๆ คือประสบปัญหาความยากจน ความโหดร้ายในการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากอำนาจเศรษฐกิจภายนอก ความอ่อนด้อยของคุณภาพการศึกษา ความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม แต่ความขัดแย้งนี้ถูกทำให้เข้มข้นอันตรายขึ้น เพราะความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ ภาษา และประวัติศาสตร์อันถูกใช้เป็นข้ออ้างแห่งความรุนแรงได้ง่าย
การเอาชนะปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก โดยมุ่งจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อยทั้งในพื้นที่และในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง และต่อสู้กับข้ออ้างแห่งความรุนแรงในระดับวัฒนธรรม
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มิได้ทำงานเพียงเพื่อจะหยุดความรุนแรงรายวัน แต่มีฐานะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางลดความรุนแรงในสังคมไทย สร้างสันติที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น จึงมุ่งทำงานสมานฉันท์กับเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ
1. มุ่งหาหนทางให้ผู้คนทั้งส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิม และส่วนน้อยที่เป็นพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อยู่ในสังคมการเมืองไทยอย่างพลเมืองไทยที่มีความสุขตามสมควร
2. มุ่งหาหนทางให้ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจเหตุอันซับซ้อน ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ร้อนของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้3. มุ่งคิดถึงการสร้างอนาคตที่ผู้คนซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และระหว่างผู้คนในที่นั้นกับสังคมไทยส่วนรวม เพื่อให้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข
งานสมานฉันท์จึงเป็นความพยายามจะตอบปัญหาว่า
เหตุร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราได้อย่างไร จะลดทอนผ่อนเบาปัญหาที่รุมเร้าอยู่ในตอนใต้ของประเทศด้วยการลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงได้อย่างไร
จะสรรค์สร้างสังคมการเมืองไทยอย่างไร เพื่อให้ลูกหลานอย่างยศธรและอัมมานาอยู่กันต่อไปได้อย่างมีกำลังใจ
ในฐานะสมาชิกของสังคมไทย ที่สำคัญให้พวกเขาอยู่ด้วยกันได้อย่างมีศักดิ์ศรีและสิทธิเสมอกัน
และเอื้ออาทรต่อกันในฐานะเป็นพลเมืองของสังคมไทยที่เข้มแข็งร่วมกัน
2. กรอบคิดเพื่ออธิบายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หากพิจารณาปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยแนวทางและภาษาทางการแพทย์
คงต้องเริ่มต้นจากการวินิจฉัยโรค โดยระบุให้ได้ว่าโรค หรือปัญหาความรุนแรงในที่นี้คืออะไร
เหตุที่ก่อให้เกิดโรคคืออะไร จากนั้นจะพยากรณ์โรคคือ ชี้ให้เห็นครรลองของโรคที่เป็นว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
เมื่อพิเคราะห์จากสภาพและแนวโน้มในปัจจุบัน พร้อมกับพิจารณาด้วยว่าร่างกายหรือสังคมการเมืองจะฟื้นฟูกลับสู่สภาพปรกติได้หรือไม่
ขั้นตอนสุดท้ายคือ การรักษาโรค หมายถึงข้อเสนอและกระบวนการรักษาโรคให้ร่างกายหรือสังคมการเมืองฟื้นฟูกลับมามีสุขภาพดีดังเดิม
(5) คงไม่ต้องกล่าวว่า การรักษาโรคหรือแก้ไขปัญหาเป็นผลโดยตรงของการวินิจฉัยโรค
หากข้อวินิจฉัยผิด แนวทางแก้ไขก็จะพลาดตามไปด้วย
แนวทางการวินิจฉัยโรคหรือปัญหาความรุนแรงในที่นี้อาศัยแนวคิดเรื่องชั้นต่าง ๆ ของความรุนแรงเป็นหลัก โดยเห็นว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เช่นเดียวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกหนแห่ง คือประกอบด้วยชั้นความรุนแรง 3 ชั้น
ชั้นแรก
เป็นชั้นที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือ ตัวบุคคล (หรือกลุ่ม) ผู้กระทำความรุนแรง
หมายถึงคนที่ฆ่าผู้คนรายวัน ทั้งราษฎร พระสงฆ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนความรุนแรงที่เชื่อกันว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำ
ชั้นที่สอง เป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ
บุคคลหรือกลุ่มเหล่านี้มิได้ดำรงอยู่ในความว่างเปล่า หากแต่ดำรงอยู่ในโครงสร้างของสังคม
เช่น ลักษณะของครอบครัว ชนิดของการศึกษาที่เขาได้รับ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สภาพการว่างงาน
หรือฐานะตำแหน่งในสังคม อาจกล่าวได้ว่าเงื่อนไขเชิงโครงสร้างเหล่านี้ เป็นแหล่งให้กำเนิดบุคคลที่ใช้ความรุนแรง
การมุ่งจัดการกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยไม่สนใจหรือไม่เข้าใจว่าโครงสร้างมีผลต่อตัวบุคคลอย่างไร
ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในระยะยาวมากนัก
ชั้นที่สาม คือ ชั้นทางวัฒนธรรมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการกระทำต่าง
ๆ ทำให้ผู้ใช้ความรุนแรงรู้สึกว่า การกระทำของตนเป็นที่ยอมรับได้เพราะถูกต้องชอบธรรม
(เช่น เห็นว่าการทรมานคนที่ถูกหาว่าทรยศต่อชาติ หรือพยายามแบ่งแยกดินแดนเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบแล้ว
หรือการเข่นฆ่าทำร้ายคนที่มิได้เป็นพวกเดียวกันกับตน นับถือคนละศาสนา ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น
เป็นสิ่งสมควรกระทำ)
ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ นาย ก. เป็นผู้ก่อความไม่สงบยิงเจ้าหน้าที่ ข. ซึ่งทำงานให้รัฐเสียชีวิต
นาย ก.มิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แต่เป็นบุคคลที่ก่อกำเนิดมาจากเงื่อนไขอายุ (เช่น
เป็นวัยรุ่น) ดำรงอยู่ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ (เช่น ครอบครัวยากจน และตนเองไม่มีงานทำ)
ประสบกับเงื่อนไขความอยุติธรรมในพื้นที่ (เช่น ตนหรือคนใกล้ตัวเคยถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐรังแกอย่างไม่เป็นธรรม)
ได้รับรู้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์บางเรื่อง (เช่น การที่รัฐชาติสยามใหม่ผนวกรวมรัฐปัตตานีเมื่อศตวรรษที่แล้ว)
และอื่น ๆ
เงื่อนไขเหล่านี้รวมกันล้วนให้กำเนิดคนอย่าง นาย ก. ซึ่งมีมากมายหลายคน หากนาย ก. เห็นว่า การยิงเจ้าหน้าที่หรือราษฎรที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ความรุนแรงในกรณีนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อมีปัจจัยทางวัฒนธรรมทำให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ ข.เป็นศัตรู และการเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ ข.เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบแล้ว ความรุนแรงก็เกิดขึ้น
ในทางกลับกันถ้านาย ก. เป็นเจ้าหน้าที่ และนาย ข. เป็นวัยรุ่นไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มาชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 คำอธิบายนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่ ก. ก็ดำรงอยู่ในโครงสร้างแบบหนึ่ง (เช่น เป็นคนต่างถิ่น ต้องจากลูกเมียมาทำหน้าที่เสี่ยงอันตรายในดินแดนห่างไกล ต้องอยู่ในฐานะซึ่งมีหน้าที่ปราบปรามผู้ร้าย ถูกอบรมสั่งสอนมาด้วยประวัติศาสตร์ที่มีกรุงเทพ ฯ เป็นศูนย์กลาง เชื่อว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จึงเห็นประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประวัติศาสตร์แห่งการขบถ ทรยศต่อชาติ ขณะที่ตนเองต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชาติบ้านเมือง ในสภาพจิตใจที่เครียดเพราะความหวาดระแวง ฯลฯ)
เมื่อมองว่าคนที่อยู่ต่อหน้าเป็นผู้ร้าย ก็เป็นการสมควรที่จะใช้ความรุนแรง จะทุบตีอย่างไร หรือจะบรรทุกผู้คนเหล่านี้จนจะเป็นจะตายอย่างไรก็ไม่สำคัญอะไรนัก ในแง่นี้ ถ้าจะมุ่งแต่ปราบคนร้าย หรือย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างเดียว ก็จะไม่มีวันแก้ปัญหานี้ได้ เพราะไม่ได้ใส่ใจกับปัจจัยในระดับโครงสร้าง อันเป็นบ่อเกิดของผู้คนที่ใช้ความรุนแรง และเงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงของฝ่ายต่าง ๆ
การแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนด้วยแนวทางสมานฉันท์ ต้องหาหนทางดำเนินการกับปัจจัยที่ส่งผลก่อให้เกิด และให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงทั้งในระดับโครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม โดยไม่ลืมตัวบุคคลผู้ก่อให้เกิดความรุนแรงที่เห็นได้ชัดพร้อมกันไป
3. วินิจฉัยเหตุ: ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในช่วงเวลา 11 ปี ตั้งแต่ปี 2536-2546 เกิดเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดปัตตานี ยะลา
และนราธิวาส (รวมทั้งสงขลาและสตูลในบางครั้ง) ขึ้น 748 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ
68 ครั้ง แต่ในปี 2547 และ 2548 เกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นอย่างน่าตระหนก กล่าวคือในปี
2547 มีเหตุรุนแรง 1,843 ครั้ง ในปี 2548 เกิดเหตุ 1,703 ครั้ง รวมทั้ง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์รุนแรง
3,546 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,175 คน และบาดเจ็บ 1,765 คน โดยเฉลี่ยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรอบ
2 ปีที่ผ่านมาปีละ 1,773 ครั้งหรือเดือนละ 148 ครั้ง กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นในปี
2547-2548 นี้นับเป็นอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 26 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนเหตุความไม่สงบในรอบ
11 ปีก่อนหน้านั้น
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นกว่า 3,000 ครั้งนับจากต้นปี 2547 เป็นต้นมา มีคำอธิบายได้หลายแนวทาง เช่น
1. รายงานของคณะทำงานพิเศษของรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่มี
พลเอก ชัยศึก เกตุทัต เป็นประธาน เน้นการเจาะข้อมูลบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ บนฐานความเชื่อว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการต่าง ๆ เช่น ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ยุทธศาสตร์ชาติจักรวรรดิที่เห็นประโยชน์จากสถานการณ์ และขบวนการค้าสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ (เช่น อาวุธเถื่อน ยาเสพติด) (6)
2. คณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา สรุปว่า สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดชาย
แดนภาคใต้เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ หลายประการ เช่น ปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรม ไม่ใช่เพราะกลุ่มคนร้ายหรือขบวนการเท่านั้น แต่ที่รุนแรงและแก้ไขยากเพราะ เงื่อนไขทางสังคมจิตวิทยา อันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ หรือความเข้าใจผิด หวาดระแวง และความรู้สึกในทางลบต่ออำนาจรัฐที่สะสมมาเป็นเวลานาน ทำให้ประชาชนในพื้นที่เปราะบางจนบางฝ่ายเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ (7)
3. ผลการศึกษาของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ได้แบ่งปัญหาออกเป็น 4 ด้าน คือ3.1 ด้านสงคมจิตวิทยา หมายถึงปัจจัยทางประวัติศาสตร์และลักษณะเฉพาะทางศาสนาวัฒนธรรมของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นทั้ง "หัวใจสำคัญของความขัดแย้งและความรุนแรงครั้งนี้" และเป็นปัญหาที่ "ท้าทายการปกครองของประเทศชาติอย่างมาก" มายาวนาน
3.2 ด้านการเมือง เห็นว่าปัญหาเกิดจากนโยบายของรัฐไม่ตรงกับความต้องการในท้องถิ่น กลไกของรัฐขาดประสิทธิภาพ รัฐเข้าใจปัญหาการก่อการร้ายผิดพลาด และไม่กล้าดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
3.3 ด้านเศรษฐกิจ เห็นว่าสถานการณ์รุนแรงกระทบต่อรายได้ของประชาชนและทำให้การอุปโภคบริโภคลดลงบ้าง และ
3.4 ด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งเห็นว่าแก่นของปัญหาอยู่ที่แนวคิดแบ่งแยกดินแดน อันเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง และปัจจัยทางสังคมจิตวิทยาอีกทีหนึ่ง (8)
กอส. เห็นว่า ใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายหรือสังหารผู้บริสุทธิ์ ทำลายทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ คนเหล่านั้นก่ออาชญากรรมและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ แต่ในแง่หนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อกลวิธีและมาตรการรุนแรงเกินขอบเขตของรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการประเมินสถานการณ์และวางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เช่น การยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43)
ขณะเดียวกันมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู (9) ในพื้นที่ว่า ตนเองถูกมองเป็นคนนอก คนชายขอบ หรือประชาชนชั้นสองในรัฐที่มุ่งจะทำลายภาษาและจารีตประเพณีของพวกเขา คนหนุ่มคนสาวรู้สึกถูกกีดกันในการดำรงชีพ ไม่มีส่วนร่วมในระบบการปกครอง ข้าราชการในพื้นที่จำนวนหนึ่งฉ้อราษฎร์บังหลวง ไร้ประสิทธิภาพ ปราศจากความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้คนส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม จึงไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐเอาชนะความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะเห็นใจผู้ก่อการ หรือไม่ก็กลัวภัยความรุนแรงจะคุกคามตนและครอบครัว
กอส. จึงวินิจฉัยเหตุของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังต่อไปนี้
1. ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความยุติธรรมและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ขณะเดียวกันทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน และประชาชนบางกลุ่มเลือกที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน เพราะเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมพึ่งไม่ได้
2. นโยบายของรัฐสับสนระหว่างแนวทางสันติวิธีกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิม ๆ โดยใช้ความรุนแรงเป็นหลัก หน่วยงานของรัฐขาดเอกภาพในการทำงานและมีช่องว่างในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ยิ่งกว่านั้นประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองเพียงพอ สำหรับการใช้สันติวิธีในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม และเรียกร้องสิ่งที่ตนปรารถนา3. เด็กและเยาวชนในพื้นที่ไม่ได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้เข้าสู่ตลาดงานได้ และขาดดุลยภาพระหว่างการศึกษาสายสามัญกับสายศาสนา
4. ชาวบ้านในท้องถิ่นเผชิญกับปมขัดแย้งภายใน คือ ด้านหนึ่งชีวิตตามธรรมชาติของพวกเขากำลังถูกคุมคาม โดยพลังทุนนิยม/วัตถุนิยมขนาดใหญ่ จนรู้สึกไม่อาจต่อต้านต่อรองได้ แต่อีกด้านหนึ่งมีความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่า ที่ประสงค์จะดำเนินชีวิตเรียบง่ายของตนตามหลักศาสนา โดยไม่ปรารถนาจะต่อกรกับพลังจากภายนอก กับคนรุ่นใหม่ที่ถ้าไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตให้คล้อยตามพลังที่คุกคามตน ก็ต่อต้านขัดขวางด้วยวิธีการต่าง ๆ
5. ปมปัญหาเหล่านี้ดำรงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูเหมือนว่า ความแตกต่างระหว่างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กับชาวไทยพุทธที่เป็นคนกลุ่มน้อยในเรื่องต่าง ๆ จะชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่อง การมีทหารในพื้นที่ การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือการควบคุมสถาบันศึกษาปอเนาะ อาจเพราะอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มโดดเด่นขึ้น ขณะเดียวกันก็ยอมรับสถาบันวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันน้อยลง
6. ปรากฏการณ์ความรุนแรงในภาคใต้และปัญหาทั้งหมดดำรงอยู่ในบริบทสังคมการเมืองไทย คือบ้างก็ไม่เห็นความสำคัญของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเอาเลย ในขณะที่บางฝ่ายก็เห็นเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาคุกคามรัฐ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งที่ควรจะถือว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นพลังสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมการเมืองไทย
3.1 ปัจจัยชั้นบุคคล
กอส. ตระหนักดีว่าเหตุการณ์รุนแรงทั้งหลายเกิดขึ้นได้ เพราะมีคนที่เลือกใช้ความรุนแรงเพื่อต่อสู้
โดยเฉพาะเพื่อแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นมาแล้วเกือบ 1 ศตวรรษ ขบวนการที่เด่นชัดเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี
2490 บุตรเจ้าเมืองปัตตานี (ตนกูมะไฮยิดดิน) ตั้งสมาคมรวมเผ่ามลายูผู้ยิ่งใหญ่
(Kumpulan Melayu Raya -KAMPAR) ขึ้นมา คนเหล่านี้ไม่พอใจรัฐบาลกลางที่กรุงเทพ
ฯ ซึ่งทำให้ผู้ปกครองท้องถิ่นสูญเสียอำนาจในรัฐชาติไทยใหม่ ที่กำลังถือกำเนิดขึ้นในเวลานั้น
จนที่สุดเกิดขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani - BRN) ขึ้นตั้งแต่ 13 มีนาคม 2503 ก่อนองค์กรพูโล (Patani United Liberation Organization-PULO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2511 ถึง 8 ปี และก่อนแนวร่วมเพื่อเอกราชปัตตานีที่รู้จักกันในนามเบอร์ซาตู (Barisan Bersatu Kemerdekaan- BERSATU) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2532 ถึงเกือบ 3 ทศวรรษ
จนกระทั่งในระยะหลังเกิดกลุ่มที่ใช้ภาษาทางศาสนากำหนด อัตลักษณ์ของตนในการต่อสู้อย่าง ขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี (Gerakan Mujahidin Patani - GMP) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 16 กันยายน 2528 ซึ่งถือว่าตนเป็น "นักสู้เพื่อศาสนาอิสลาม" (มูจาฮีดีน) มุ่งมั่นสถาปนา "รัฐปัตตานีดารุลมาอารีฟ" ปัจจุบันเชื่อกันว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เข้มแข็งที่สุดคือ BRN-Coordinate ซึ่งมีทั้งปีกยุวชน (Pemuda) ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2535 และขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่ากลุ่มดังกล่าวมีส่วนปฏิบัติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ กลุ่มนี้แบ่งกองกำลังออกเป็น 3 ส่วนคือ
- คอมมานโด กองกำลังระดับคอมมานโด ทำหน้าที่ควบคุมทางยุทธวิธี มีจำนวนประมาณ 200 คน
- อาร์เคเค กองกำลังระดับหน่วยจรยุทธขนาดเล็กประจำถิ่น หรืออาร์เคเค (Runda Kumpulan Kecil - RKK) ที่จริงคำนี้เป็นคำเรียกขานหน่วยจรยุทธขนาดเล็กที่มีอยู่ในอินโดนีเซีย กลุ่มก่อความไม่สงบได้นำมาใช้
- เปอร์มูดอ กองกำลังระดับก่อเหตุก่อกวน (เรียกว่า เปอร์มูดอ) มีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10,000 คน ทำการเคลื่อนไหวในพื้นที่ 230 หมู่บ้าน ทำหน้าที่หาข่าวและก่อกวนรายวัน
เหตุที่ยากจะจับกุมกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่
เพราะโครงสร้างองค์กรไม่ชัดเจน มีการทำงานในลักษณะเป็นหน่วยย่อยอิสระหรือเซลล์
(cells) ที่อาจมีบางหน่วยทำงานของตนนอกโครงสร้างของ BRN-Coordinate ด้วยซ้ำ (10)
คณะกรรมการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่
ได้ปรับการทำงานของตนเป็นรูปเครือข่ายมีโครงสร้างเป็น 5 ชั้น ประกอบด้วย (11)
- กลุ่มผู้ชี้นำทางความคิด
- กลุ่มการเมืองทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนร้าย
- กลุ่มเศรษฐกิจทำหน้าที่ระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อใช้ในการก่อความไม่สงบ
- กลุ่มกองกำลังที่ได้รับการฝึกหัดมาให้ทำงานตามคำสั่งของกลุ่มการเมือง และ
- กลุ่มแนวร่วมหรือกลุ่มเสี่ยงที่จะเปลี่ยนเป็นกองกำลังใช้ความรุนแรงในเวลาต่อไป
แต่เมื่อตั้งคำถามว่าเหตุรุนแรงทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยน้ำมือใคร ทั้งหมดเป็นเพราะฝีมือของกลุ่มขบวนการเหล่านี้หรือ? ฝ่ายความมั่นคงของรัฐสรุปว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงเหล่านี้มีทั้งกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ กลุ่มอิทธิพลผลประโยชน์ และกลุ่มที่ทำเพราะเรื่องส่วนตัว
สำนักข่าวกรองแห่งชาติสรุปว่า เกิดเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 528 กรณีในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2548 ในจำนวนนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง 261 คดี หรือร้อยละ 49.4 (12) ขณะที่ข้อมูลของฝ่ายตำรวจระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 เกิดคดีอุกฉกรรจ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 701 คดี แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ก่อคดีเหล่านี้ถึง 566 คดี หรือร้อยละ 80.7 (13)
ข้อแตกต่างระหว่างตัวเลขของฝ่ายข่าว/ความมั่นคงและตำรวจเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะตัวเลขของฝ่ายข่าวที่ว่าร้อยละ 49.4 ของเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความมั่นคง มาจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเดิมและรูปแบบของเหตุการณ์ (เช่น มีข่าวแจ้งเตือนว่าจะเกิดเหตุร้าย หรือการใช้ระเบิดที่มีวิธีการและส่วนผสมเฉพาะบางอย่าง) ส่วนตัวเลขของตำรวจที่ว่าร้อยละ 80.7 ไม่อาจระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ เกิดจากตัวเลขของคดีที่ไม่สามารถจะหาพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายจับได้ในขณะนั้น แต่ในกรณีที่จับกุมและหาพยานหลักฐานได้ก็พบว่า บางรายสารภาพว่าก่อคดี (เช่น วางระเบิด หรือโยนเรือใบ) มากว่า 10 ครั้ง
ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยเห็นว่า
สาเหตุของเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจากการฉวยโอกาสแก้แค้นเรื่องส่วนตัว และกลุ่มฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่
มากกว่าจะเป็นเรื่องการเมืองของการแบ่งแยกดินแดนที่ฝ่ายรัฐเชื่อ (14)
ยิ่งกว่านั้นยังมีเหตุผลอีก 2 ข้อที่สำคัญกว่า ซึ่งทำให้ กอส. เลือกสนใจตัวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วยวิธีใช้ความรุนแรงเหล่านี้น้อยกว่าเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง
และวัฒนธรรมอื่น ๆ
ข้อแรก คณะผู้บริหารในรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และฝ่ายข่าวหลายท่านให้ข้อมูลตรงกันว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่จริง ปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในฐานโครงสร้างเดิมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่ม BRN-Coordinate โดยยังมีเงื่อนไขที่ทำให้แนวคิดและอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดยังคงดำรงอยู่ในหมู่คนรุ่นใหม่ไม่ได้แตกต่างจากอดีต อีกทั้งการปลุกเร้าความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ก็ดูจะได้ผลมากขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็สรุปตรงกันว่า ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของกลุ่มผู้ก่อการ คือปัญหาความไม่เป็นธรรม และการสนับสนุนของประชาชน
ด้วยเหตุนี้การละเมิดสิทธิในรูปแบบต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีผลทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อหาเหตุผลให้ประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกมุสลิมเข้ามาแทรกแซง แต่แกนนำและสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่คนจำนวนน้อยมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หากประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกเชื่อมั่น ไว้วางใจรัฐ และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ และ/หรือปรารถนาจะจัดการกับปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ด้วยตนเองดังนั้น อาจสรุปได้ว่า แม้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ก่อความรุนแรง แต่สาเหตุที่สำคัญกว่านั้นและควรเป็นเป้าหมายหลักของการแก้ไขปัญหา คือ การสร้างความเป็นธรรมและการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อลดอิทธิพลของขบวนการและการเผยแพร่อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีทางเลือกหรือมีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง
ข้อสอง ปัญหาที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ ความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่กับผู้คนส่วนน้อยชาวพุทธ ถ้าไม่สามารถฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างผู้คนและลูกหลานของพวกเขาเหล่านี้ และระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในสังคมไทยให้ได้ อนาคตของสังคมไทยนั้นเองที่จะเป็นปัญหาหนักหนากว่ามาก
กอส. เห็นว่าเหตุของปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้มีสาเหตุเดียว และผู้ก่อเหตุรุนแรงก็มีหลายพวกหลายกลุ่ม คนเหล่านี้ทำการของตนด้วยเหตุจูงใจที่แตกต่างจากกัน แต่เมื่อตั้งคำถามว่าเหตุใดคนเหล่านี้จึงดูเหมือนจะทำการของตนอย่างได้ผล ดังจะเห็นได้จากการที่ความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และผู้คนในพื้นที่จำนวนมากตกอยู่ในความหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจทั้งในเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหวาดระแวงกันเอง ระหว่างชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูและชาวไทยพุทธเชื้อสายต่าง ๆ คำตอบอยู่ที่การเข้าใจเหตุปัจจัยหลายอย่างทั้งในระดับบุคคล เช่น การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ของฝ่ายผู้ก่อการ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงของภาครัฐ แต่ที่สำคัญคือเหตุปัจจัยระดับโครงสร้าง เช่น การบังคับใช้กฎหมาย ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจท้องถิ่น ปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ การศึกษา ประชากร และเงื่อนไขทางวัฒนธรรมทั้งในและนอกพื้นที่ซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง
3.2 ปัจจัยชั้นโครงสร้าง:
ประกอบด้วยการบังคับใช้กฎหมาย, เศรษฐกิจท้องถิ่น, การศึกษา, ประชากร, และภูมิศาสตร์ชายแดน
3.2.1 การบังคับใช้กฎหมาย
ลักษณะพิเศษของการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
แต่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยตลอดมา ทั้งนี้เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบกระบวนการยุติธรรมและระบบการดำเนินคดีอาญาของประเทศ
ที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม และมีปัญหาระดับวัฒนธรรมคือทัศนคติเชิงอำนาจ
ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐคุ้นเคยมานาน ทำให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยเน้นที่ความสะดวก
มากกว่าการปฏิบัติตามหลักกฎหมาย และการคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้เกี่ยวข้อง
ซึ่งทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น
การตรวจค้นโดยไม่มีหมาย การจับก่อนสืบสวนทีหลัง การควบคุมตัวเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ การไม่เคารพสิทธิของผู้ต้องหา เช่น สิทธิในการมีทนายและผู้ที่ตนไว้วางใจร่วมอยู่ด้วยในระหว่างการสอบสวน การใช้อำนาจนอกระบบกฎหมาย เช่น การลักพาตัว หรือแม้กระทั่งการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสังหารผู้ต้องสงสัย โดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมที่เรียกกันว่า การวิสามัญฆาตกรรม เป็นต้น (15)
แม้ปัญหาดังกล่าวจะมีให้เห็นทั่วไป แต่เมื่อไปเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นของประเทศ จะมีผลกระทบที่รุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่นี้มีความผูกพันยึดโยงกันด้วยข้อผูกมัดทางศาสนา และวิถีวัฒนธรรมมาหลายชั่วอายุคน มีลักษณะการรวมตัวเป็นเครือข่ายชุมชนที่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน และพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมในลักษณะรวมหมู่ตอบโต้ หรือไม่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อมีบุคคลในชุมชนถูกดำเนินการอย่างไม่ยุติธรรม หรือด้วยวิธีการรุนแรงและขาดเมตตาธรรม พฤติกรรมของชาวบ้านเป็นการแสดงกลไกในการป้องกันตนเอง
ยิ่งกว่านั้น หากการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นกับบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือในชุมชน เช่น อิหม่าม โต๊ะครู ก็ย่อมส่งผลกระทบให้ผู้คนมองรัฐในแง่ลบมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมาจากต่างพื้นที่ ขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมมุสลิม หรือมีอคติเห็นว่าชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ไม่ใช่พวกเดียวกันกับตน ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ก.
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการวิจัยของกอส. ที่ดำเนินการศึกษาครอบคลุมช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม 2545
ถึง มิถุนายน 2548 พบข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ได้กระทำต่อประชาชนซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัย
ผู้ถูกกล่าวหา ผู้กระทำผิด หรือจำเลย และต่อญาติพี่น้องของบุคคลเหล่านั้นโดยไม่สมควรหลายกรณี
ซึ่งส่งผลให้เกิดเครือข่ายของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหรือเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก
ปัญหาที่คนเหล่านี้ประสบอย่างเป็นรูปธรรมบางเรื่องได้แก่
- การดำเนินกระบวนการยุติธรรมโดยขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ (16)
- การใช้อำนาจบังคับให้ผู้ต้องสงสัยมาให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย (17)
- การใช้อำนาจค้นที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย (18)
- การจับกุมเด็กและเยาวชนที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย การควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลายาวนานโดยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
- การปฏิบัติต่อผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ต้องขังในเรือนจำหรือสถานที่ควบคุมโดยไม่คำนึงถึงหลักที่ต้องปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม
- การไม่คืนของกลาง
ความรู้สึกในหมู่ประชาชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐนั้น ในความเป็นจริงฝังรากลึกและมีพัฒนาการที่ควบคู่กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาโดยตลอด ความรู้สึกเช่นนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อรัฐบาลประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ยุบเลิก ศอ.บต. และในส่วนของกระบวนการยุติธรรมได้ใช้ตำรวจเป็นหน่วยปฏิบัติหลัก อันเป็นระบบการบังคับใช้กฎหมายกรณีปรกติ โดยขาดการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้มาตรการที่รุนแรง และถูกวิจารณ์ว่าเป็นวิธีนอกกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิเช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงในปี 2546 และการดำเนินการภายหลังเหตุการณ์การปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้น
สภาพดังกล่าวทำให้ปัญหาลุกลามขยายตัว ประกอบกับเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ภาครัฐใช้ความรุนแรง หรือวิธีการที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาเช่น กรณีการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่กรือเซะ กรงปินัง และสะบ้าย้อย กรณีเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และการหายตัวไปของทนายความสมชาย นีละไพจิตร นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนยิ่งไม่ไว้วางใจภาครัฐ และไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
สภาพเหล่านี้ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางกระบวนการยุติธรรม เพราะขาดความร่วมมือจากประชาชน เป็นเหตุสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดประสิทธิภาพ ผลคือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ หรือไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาใช้ในการดำเนินคดีได้ ทำให้การดำเนินคดีหลายเรื่องไม่สามารถนำสู่การลงโทษ ประกอบกับสถานการณ์ที่รุนแรงหนักขึ้น อาจเป็นแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนหันไปใช้วิธีนอกกฎหมายมากขึ้น ในการรวบรวมพยานหลักฐาน
ข.
ทัศนะของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
กอส. สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่พบว่า ปัญหาเรื่องความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง
ที่ควรดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้ (19)
- เจ้าหน้าที่ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนก่อนลงมือจับกุมทุกครั้ง ไม่ควรจับผู้บริสุทธิ์
- เจ้าหน้าที่ต้องให้เกียรติกับผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุม เพราะยังไม่รู้ว่าเขากระทำผิดหรือไม่
- เจ้าหน้าที่ต้องไม่บังคับผู้ต้องหาให้รับสารภาพและไม่ซ้อมผู้ต้องหา
- เจ้าหน้าที่ต้องไม่ยัดเยียดข้อหา และให้โอกาสคนที่ถูกจับได้พูดในสิ่งที่เขาเป็น
- ในการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายและพูดจาสุภาพ
- ต้องมีการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ให้ชัดเจน เกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- เจ้าหน้าที่ต้องยึดมั่นในพยานหลักฐานในการสืบสวนสอบสวน
- ต้องเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้องของผู้ต้องหาและจำเลยได้เข้าเยี่ยม
- ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด
- ในการดำเนินคดี ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นธรรมจากทนายความได้
- การดำเนินคดีต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและยุติธรรม
- รัฐต้องชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
- รัฐต้องให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างแท้จริงและเท่าเทียมกัน
- รัฐให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการทำงานของกระบวนการยุติธรรม
ที่สำคัญคือ ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.5 รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทั้งทางชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินและจิตใจ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและญาติพี่น้อง และอีกครึ่งหนึ่งได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ แต่ปรากฏว่ามีประชาชนกลุ่มตัวอย่างเพียงส่วนน้อย ที่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย หรือการบรรเทาผลร้าย ทั้งที่มีหน่วยงานทำหน้าที่หลายหน่วย ได้แก่ สภาทนายความ ชมรมทนายความมุสลิม หอการค้าจังหวัด เหล่ากาชาดจังหวัด และจากคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น แต่การเยียวยากลับล่าช้าและไม่เพียงพอ (20)
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 83.8 เห็นด้วยกับการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม และร้อยละ 76.7 เห็นด้วยกับการจัดตั้งศาลชารีอะฮฺใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 88.8 ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกในภาคใต้ เพราะมองว่าเป็นวิธีการที่รุนแรง ทำให้ประชาชนมีความหวาดกลัว ไม่มีสิทธิเสรีภาพ และเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไป
และร้อยละ 61.2 ไม่เห็นด้วยกับการนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้ เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำมาหากินและเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีความหวาดกลัว กดดัน ไม่มีสิทธิเสรีภาพ และเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไป มีลักษณะเหมือนกฎเผด็จการที่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคน ๆ เดียว ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมและจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น นอกจากนี้บางส่วนเห็นว่าการออกพระราชกำหนด ฯ ไม่ได้มาจากความเห็นของคนในพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับควบคุมสถานการณ์ (21)
ค. ผลกระทบจากการนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
พ.ศ.2548 มาใช้
เมื่อประชาชนรู้สึกไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
ในการให้ข้อมูลเบาะแสการกระทำความผิดของผู้กระทำความรุนแรง และเมื่อกระบวนการด้านนิติวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัด
ทำให้ภาครัฐไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากการนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้
เพื่อเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถนำตัวผู้ต้องสงสัยมาควบคุมและสอบถามข้อมูล
โดยยกเว้นหลักทั่วไปของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การนำพระราชกำหนด ฯ มาบังคับใช้แม้ว่าจะมีความจำเป็นเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลโครงสร้างการก่อการร้ายที่ไม่สามารถได้มาด้วยวิธีอื่น และเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่ลุกลามขยายตัวมากยิ่งขึ้น แต่จากสภาพวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมาก่อน ทำให้การนำมาตรการที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก เป็นเสมือนดาบสองคมที่หากใช้อย่างไม่เหมาะสม สามารถสร้างผลเสียต่อภาครัฐได้มากเช่นกัน
จากการพิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ในการป้องกันและควบคุมการก่อเหตุร้าย ศึกษาโดยการเปรียบเทียบเหตุการณ์ความไม่สงบ ก่อนและหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่า การใช้พระราชกำหนดฯทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เว้นแต่จะสามารถควบคุมผู้ก่อเหตุได้อย่างแท้จริง โดยไม่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้บริสุทธิ์ หรือกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อภาครัฐให้ลดลงไปอีก (22)
ง.
การขาดนโยบายอย่างบูรณาการในการบังคับใช้กฎหมาย และการกำกับดูแลที่เป็นเอกภาพ
ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้สะท้อนชัดว่า กระบวนการยุติธรรมมีจุดอ่อนอยู่ที่ขาดการกำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพ
การบังคับใช้กฎหมายในสถานการณ์ที่ซับซ้อนเช่นนี้จำต้องมีการกำหนดนโยบายทางอาญาอย่างเป็นระบบ
สำหรับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และต้องจัดตั้งกลไกที่สามารถเข้าไปผลักดันการปฏิบัติ
และกำกับนโยบายซึ่งต้องเป็นการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ
แต่การดำเนินการที่ผ่านมา ระบบงานยุติธรรมของประเทศไทยยังขาดกระบวนการดังกล่าว
การพยายามบูรณาการนโยบายด้านการยุติธรรม
เช่น ที่กระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้นำเอาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้หลักการ
"ยุติธรรมชุมชน" รวมทั้งการสร้างกระบวนการรับคำร้องเรียน และตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่อย่างจริงจัง
ตลอดจนจัดตั้ง "กองทุนยุติธรรม" เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
ยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นแนวทาง เพื่อนำไปบูรณาการกับนโยบายด้านความมั่นคงในพื้นที่
กอส. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้เคยเสนอเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548
ให้รัฐบาลจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมและอำนวยความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมีองค์ประกอบจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำศาสนาและภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกรอบแนวทาง
และดูแลการบังคับใช้กฎหมายใน 3 จังหวัดภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว
โปร่งใส เป็นธรรมและสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย
และให้คำแนะนำเพื่อพัฒนามาตรฐานงานยุติธรรม ฯลฯ
แม้รัฐบาลจะรับข้อเสนอดังกล่าว และให้ความสำคัญกับปัญหาการอำนวยความยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอยส.) ขึ้น แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ และกรอบอำนาจหน้าที่ก็ไม่ครอบคลุมถึงการกำหนดนโยบายทางอาญาอย่างบูรณาการเช่นที่ กอส. ได้เคยเสนอไว้
++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) โสภณ สุภาพงษ์, "ชีวิตที่เหลืออยู่ (ชายแดนใต้ 8): วงจรบาปบนชีวิตผู้บริสุทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า," ไทยโพสต์, 27 กรกฎาคม 2548
(2) มติชนรายวัน,10 สิงหาคม 2548 ระบุว่า จำนวนเด็กที่กลายเป็นกำพร้าเพราะความรุนแรงมีถึง 6,020 คน ในขณะที่ข้อมูลจากส่วนสนับสนุนและประสานราชการภูมิภาค กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 มีเด็กกำพร้าจากเหตุความไม่สงบ 1,100 คน ส่วนที่ "กำพร้าทั่วไป"มี 12,176 คน
(3) พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่กล่าวในงานเลี้ยงแสดงความยินดี ณ ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ว่า เหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากการกระทำของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่มีแนวความคิดที่แตกต่าง...ผมขอยืนยันว่าชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 95) เป็นคนดี มีความน่าสงสาร"
(4) พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร, "การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548," ภาพข่าวทักษิณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 6 (15-31 กรกฎาคม 2548), หน้า 6-7
(5) แนวทางวิเคราะห์เช่นนี้ปรากฏอยู่ใน Johan Galtung, Peace by Peaceful Means (London: SAGE, 1996) , pp. 1
(6) อ้างถึงใน รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการลอบวางระเบิด และก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กรุงเทพ ฯ: สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547), หน้า 3
(7) คณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา, รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล (กรุงเทพ ฯ: กองกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2542), หน้า 5-1
(8) นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 46 และนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 16 ประจำปีการศึกษา 2546-2547, รายงานผลการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "ก้าวต่อไปสู่ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้" (กรุงเทพ ฯ: วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, 2547) ข้อความในอัญประกาศอยู่ในหน้า 23 และ 22 ตามลำดับ
(9) เป็นคำที่เสาวนีย์ จิตต์หมวด เสนอให้ใช้แทนคำว่า "มลายูมุสลิม" ที่มีผู้ใช้มาก่อน คำนี้ชี้ให้เห็นความหลากหลายและความเป็นหนึ่งเดียวได้ในเวลาเดียวกัน จึงมีประโยชน์อย่างน้อย 2 ข้อ คือ ข้อแรก ชี้ให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายในหมู่มุสลิมในสังคมไทย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เช่น ในภาคเหนือมีคนไทยมุสลิมเชื้อสายจีน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคนไทยมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน ในภาคกลางมีคนไทยมุสลิมเชื้อสายอินเดีย-อาหรับ-เขมร เป็นต้น ข้อสอง ชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะมีเชื้อสายชาติพันธุ์ใด แต่ชาวมุสลิมในประเทศนี้ก็เป็นพลเมืองไทยด้วยกัน มีศักดิ์และสิทธิตามรัฐธรรมนูญเฉกเช่นคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ทั่วประเทศ
(10) ดูรายละเอียดเหล่านี้ได้ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการลอบวางระเบิด และก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กรุงเทพ ฯ: สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547), หน้า 43-44; ชิดชนก ราฮิมมูลา, "การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี: กรณีศึกษาขบวนการแบ่งแยกดินแดนและการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย", วารสารสงขลานครินทร์ (ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-เม.ย. 2547), หน้า 97-112, และ International Crisis Group, Southern Thailand: Insurgency, not JIHAD (Asia Report No.98, May 18, 2005), pp.12-16
(11) พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์, "ยุทธศาสตร์และแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" (คณะกรรมการนโยบายการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้, 27 ธันวาคม 2548) , หน้า 2-3
(12) รวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2548 (จัดทำเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2548)
(13) ข้อมูลของ ศปก. ตร.สน. ยะลา รวบรวมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2548
(14) ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, "หนึ่งปีหนึ่งทศวรรษความรุนแรงชายแดนภาคใต้", หน้า 87 ข้อสรุปนี้มาจากการสำรวจข้อมูลเฉพาะในจังหวัดปัตตานีระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2547 คือ ก่อนเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 แต่ในงานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งคือ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, "ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้: สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ.2547-2548) เอกสารการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง เบื้องหลัง...เบื้องลึก กรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 11 กุมภาพันธ์ 2549) , หน้า 86 พบว่า ประชาชนอีกบางส่วนเห็นว่า ร้อยละ 85 ของเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่เกิดจากฝีมือของฝ่ายก่อการ ร้อยละ 12 เป็นเรื่องอาชญากรรมส่วนบุคคล ส่วนอีกร้อยละ 3 เกิดจากภาครัฐ
(15) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก คณะกรรมาธิการการบริหารและการยุติธรรม วุฒิสภา, รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องพัฒนาการขององค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือทางแพ่ง (กรุงเทพฯ: บริษัทเคพี พริ้นติ้ง จำกัด, 2539); กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทย (กรุงเทพ ฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2544), หน้า 27-45
(16) ตัวอย่างเช่น กรณีการจับกุมนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ กับพวกในข้อหา เจไอ โดยพยานหลักฐานมีแต่เพียงคำซัดทอด ซึ่งต่อมาศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งกรณีดังกล่าวได้สร้างความโกรธแค้นในหมู่เยาวชนมุสลิมเป็นจำนวนมาก
(17) ตัวอย่างเช่น กรณีการจับกุมตัวนายอามะ หะยีดือราแม ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่บังคับเอาตัวไปสอบถามเกี่ยวกับการเผาโรงเรียนบ้านตาแปด อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยไม่ได้รับอนุญาตในการแจ้งให้ญาติพี่น้องว่าถูกใครนำตัวไปและไปที่ใด จนกระทั่ง 5 วันหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้มารดาของนายอามะทราบว่า อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา
(18) ตัวอย่างเช่น กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอาวุธครบมือจำนวนประมาณ 30 นายปิดล้อมบ้านนางปีเสาะ อูโดะ และขอเข้าไปตรวจค้นโดยไม่มีการแสดงหมายค้น และไม่ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนทราบ ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ
(19) จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ, การดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดภาคใต้: ปัญหาและแนวทางแก้ไข (ฉบับสมบูรณ์) (กรุงเทพ ฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548) หน้า 163-170
(20) เพิ่งอ้าง, หน้า 129-137
(21) เพิ่งอ้าง, หน้า 84-85
(22)เพิ่งอ้าง
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
การพยายามบูรณาการนโยบายด้านการยุติธรรม เช่น ที่กระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้นำเอาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้หลักการ
"ยุติธรรมชุมชน" รวมทั้งการสร้างกระบวนการรับคำร้องเรียน และตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่อย่างจริงจัง
ตลอดจนจัดตั้ง "กองทุนยุติธรรม" เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
ยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นแนวทาง เพื่อนำไปบูรณาการกับนโยบายด้านความมั่นคงในพื้นที่
กอส. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้
จึงได้เคยเสนอเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ให้รัฐบาลจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมและอำนวยความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมีองค์ประกอบจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำศาสนาและภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกรอบแนวทาง
และดูแลการบังคับใช้กฎหมายใน 3 จังหวัดภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว
โปร่งใส เป็นธรรมและสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย
และให้คำแนะนำเพื่อพัฒนามาตรฐานงานยุติธรรม ฯลฯ
ขณะเดียวกันมีความเชื่อในหมู่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ในพื้นที่ว่า ตนเองถูกมองเป็นคนนอก คนชายขอบ หรือประชาชนชั้นสองในรัฐที่มุ่งจะทำลายภาษาและจารีตประเพณีของพวกเขา คนหนุ่มคนสาวรู้สึกถูกกีดกันในการดำรงชีพ ไม่มีส่วนร่วมในระบบการปกครอง ข้าราชการในพื้นที่จำนวนหนึ่งฉ้อราษฎร์บังหลวง ไร้ประสิทธิภาพ ปราศจากความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้คนส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม จึงไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐเอาชนะความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะเห็นใจผู้ก่อการ หรือไม่ก็กลัวภัยความรุนแรงจะคุกคามตนและครอบครัว
3.1 ปัจจัยชั้นบุคคล
3.2 ปัจจัยชั้นโครงสร้าง:
3.3 ปัจจัยชั้นวัฒนธรรม: