Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
จากสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(๒)
อินเดีย : จากกำเนิดพุทธศาสนาถึงการปลดปล่อยอาณานิคม
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
โดยมีหัวข้อสำคัญดังนี้คือ
การเกิดขึ้นของพุทธศาสนา,
สถานภาพของสตรีตามความเชื่อโบราณ,
วัฒนธรรมการบริโภคอาหารตามความเชื่อโบราณ,
จากศาสนาสู่การปกครอง (ยุคฮินดู), การเข้ามาของศาสนาอิสลาม, อาณานิคมของอังกฤษ,
อินเดียในสังคมโลกปัจจุบัน, อินเดียและประเทศไทย
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 955
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
19.5 หน้ากระดาษ A4)
อินเดีย : จากกำเนิดพุทธศาสนาถึงการปลดปล่อยอาณานิคม
อินเดียจากสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (๒)
ดร.ประมวล
เพ็งจันทร์
การเกิดขึ้นของพุทธศาสนา
เมื่ออารยธรรมอารยันเจริญรุ่งเรืองบนแผ่นดินอินเดียมาได้ประมาณ 1,000 กว่าปี
พัฒนาการในเชิงการเปลี่ยนแปลง ได้ปรากฏชัดเจนในลักษณะปฏิพัฒนา (Dialectics -
วิภาษวิธี) นั่นคือ มีการนำเสนอแล้วมีการโต้ตอบ ที่สุดก็นำไปสู่การได้ข้อสรุปใหม่
(Thesis, Anti-thesis, Synthesis) ด้วยการปรับปรุงข้อสรุปเก่าให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
กระแสความคิดหลักของพวกพราหมณ์ที่เป็นชนชั้นนำในสังคมอารยัน ได้ถูกโต้ตอบจากคนกลุ่มอื่น
ๆ ในสังคม
เมื่อมาถึงยุคที่สุดแห่งพระเวท (ยุคเวทันต) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยุคอุปนิษัท คือ ยุคที่ศิษย์แสวงหาครูแล้วมอบตัวเป็นศิษย์ ด้วยการเข้าไปนั่งใกล้ ๆ ครู (อุปนิษัท แปลว่า เข้าไปนั่งใกล้) ปฏิกิริยาโต้ตอบกับผู้นำทางสติปัญญาคือ พราหมณ์ นั้น ได้ปรากฏชัดเมื่อบุคคลกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่พราหมณ์ แต่เสนอตัวเองมาทำหน้าที่เป็นผู้นำทางสติปัญญาเช่นเดียวกับพราหมณ์ บุคคลเหล่านี้รู้จักกันในชื่อว่า "สมณะ"
สมณะ (แปลว่าผู้สงบ) นั้น เป็นใคร จากวรรณะใดก็ได้ ความสำคัญของสมณะไม่ได้อยู่ที่วรรณะ หรือโคตรสกุล แต่อยู่ที่ "ความรู้" สมณะผู้ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อถือในชาติกำเนิดเริ่มอ่อนด้อยลง เพราะมีข้อเสนอโต้ตอบเรื่องความรู้ ความสามารถ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ อันมิใช่ข้อกำหนดจากเทพเจ้า
การปรากฏขึ้นของสมณะในสังคมอินเดีย เป็นหลักฐานยืนยันว่า กระบวนการโต้ตอบกับพราหมณ์ประสบความสำเร็จ และตัวอย่างอธิบายความสำเร็จนี้ได้ชัดเจนที่สุด คือ การเกิดขึ้นของพุทธศาสนา ภาพแห่งความสำเร็จของพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นภาพของความสำเร็จที่เป็นปัจเจกบุคคล หากแต่เป็นภาพแสดงความสำเร็จที่เป็นชุมชน สังคม ที่เรียกว่า "สงฆ์"
ความสำเร็จนี้ ทำความเข้าใจได้ผ่านบทบาทของพระสมณโคดม ที่มาจากศากยสกุล วรรณกษัตริย์ แต่ได้ละทิ้งภาระกิจหน้าที่ตามข้อกำหนดโดยวรรณะ ที่จะต้องแสวงหาอำนาจทางการปกครอง แต่มาแสวงหาความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตใหม่ นอกไปจากชุดความรู้ที่พวกพราหมณ์สร้างไว้ เมื่อพระสมณโคดมค้นพบคำอธิบายชุดใหม่ ที่อยู่นอกกรอบคำอธิบายของพวก พรามณ์ พระองค์ได้ประกาศคำอธิบายชุดใหม่นั้นให้ผู้อื่นได้รับรู้ และทำให้ผู้ที่ได้รับรู้นั้นเข้าใจว่า ชีวิตตามความหมายที่พระองค์ทรงค้นพบนั้น มีเป้าหมายอยู่ที่ไหน และเข้าถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร
ด้วยพลังแห่งความรู้ที่พระสมณโคดมมีอยู่ ทำให้ตัวท่านเองถูกเรียกขานกันในชื่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า(ผู้ค้นพบความรู้ด้วยตนเองโดยชอบ) และคำอธิบายความหมายและคุณค่าต่าง ๆ ของพระองค์ ถูกรู้จักกันในชื่อว่า พุทธศาสนา (คำสอนของผู้รู้)
อุบัติการณ์แห่งพุทธศาสนาที่เป็นชุดคำอธิบายความหมายและคุณค่าต่าง ๆ ในสังคมใหม่ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในเชิงโครงสร้าง สังคม และในเชิงคตินิยม สังคมอินเดีย ที่ถูกกำหนดทิศทางด้วยความคิดของพวกพราหมณ์ ผ่านความเชื่อในคัมภีร์พระเวท ได้ถูกโต้แย้งอย่างมีพลังจากพุทธศาสนา
- พราหมณ์สอนเรื่อง "อาตมัน" ว่า เป็นตัวตนที่ถาวร อมตนิรันดร์
- พุทธศาสนาสอนเรื่อง "อนัตตา" (อนาตมัน) ว่า คนเราไม่มีตัวตนที่ถาวรตายตัว
- พราหมณ์สอนเรื่อง "พรหมัน" ว่า เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เป็นเป้าหมายที่มนุษย์เราจะบรรลุถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพเจ้า
- แต่พุทธศาสนาสอนเรื่อง "นิพพาน" ว่า เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เป็นเป้าหมายแห่งความดับลง ซึ่งอุปทานในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ว่าเป็นตัวเรา หรือของๆ เรา
- พราหมณ์สอนให้เชื่อในอำนาจขององค์เทพเจ้าผู้ลิขิตชะตาชีวิตของมนุษย์
- แต่พุทธศาสนาสอนให้เชื่อมั่นในการกระทำของมนุษย์เอง ที่ไม่มีอำนาจของเทพเจ้าองค์ใดมาแทรกแซงได้
ความเชื่อและคำอธิบายอันเป็นรากฐานนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อคำอธิบายปลีกย่อยเกี่ยวกับชีวิตและสังคม รวมถึงกระทบต่อโครงสร้างสังคม ที่ถูกกำหนดไว้ด้วยระบบความเชื่อตามชุดคำอธิบายจากคัมภีร์พระเวท โครงสร้างสังคมที่ถูกกำหนดไว้ด้วยระบบวรรณะได้คลายออก เกิดการกำหนดใหม่ด้วยระบบคุณค่าจากการกระทำ
คำอธิบายความเป็นไปต่าง ๆ ในชีวิตที่เคยอธิบายด้วยเทวลิขิต ก็เปลี่ยนมาเป็นการทำความเข้าใจจากเหตุปัจจัยในทางสังคม ความตายตัวในรูปแบบและจารีตที่เคยถูกกำหนดด้วยความเชื่อในข้อกำหนดจากสวรรค์ ก็คลี่คลายมาเป็นการอธิบายด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่เป็นประจักษ์ ตัวอย่างเรื่องนี้เช่น เรื่องสถานภาพของสตรี วัฒนธรรมในการรับประทานอาหาร เป็นต้น
สถานภาพของสตรีตามความเชื่อโบราณ
สถานภาพของสตรีนั้นเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ระหว่างชาวอารยันที่กำหนดสายสัมพันธ์ทางโลหิตผ่านผู้ชาย
ขณะที่ทราวิฑ (ดราวิเดียน หรือ มิลักข) นั้น กำหนดสายสัมพันธ์ผ่านผู้หญิง ความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมนี้
โยงไปสู่ระบบความเชื่อทางศาสนาที่ถูกสร้างขึ้นจากฐานทางวัฒนธรรม พวกอารยันนั้น
นับถือเทพเจ้าที่สถิตอยู่บนฟ้า และเมื่อพวกอารยันยกย่องให้ผู้ชายเป็นใหญ่ เทพเจ้าของอารยันจึงเป็นเทพผู้ชาย
เช่น สุริยเทพ ขณะที่พวกทราวิฑนั้นเคารพ แผ่นดิน, แม่น้ำ ดังนั้น เทพเจ้าของทราวิฑจึงเป็นผู้หญิงตามคติของเผ่าชน
เทพเจ้าประจำแผ่นดินจึงเป็นพระแม่ธรณี เทพเจ้าประจำแม่น้ำ คือ พระแม่คงคา เป็นต้น
ด้วยความแตกต่างกันทางจารีตวัฒนธรรมเช่นนี้ เมื่อต้องมาต่อสู้กัน ความเป็นหญิง เป็นชาย จึงกลายมาเป็นเดิมพันกันทางสงครามวัฒนธรรม และเมื่อพวกอารยันมีชัยเหนือพวกทราวิฑ ความเป็นชายก็มีชัยเหนือความเป็นหญิง เทพเจ้าสูงสุดเป็นเทพเจ้า(ชาย) ส่วนพระแม่เจ้า(หญิง) ก็ถูกลดลงมาเหลือเพียงแต่ "ศักติ" (ชายา) ของมหาเทพเท่านั้น และนี่ ก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงสังคมด้วย เมื่อวัฒนธรรมอารยันเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของอินเดีย ผู้ชายจึงเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงมีสถานภาพเป็นเพียงแค่สมบัติของผู้ชาย ดังเช่นที่กล่าวไว้ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ว่า ผู้หญิงเมื่อเป็นเด็กเป็นสมบัติของพ่อ เมื่อโตแต่งงานแล้วเป็นสมบัติของสามี และเมื่อแก่ตัวลงเป็นสมบัติของลูกชาย
วัฒนธรรมไทยที่รับมาจากอินเดียก็ยังมีร่องรอยนี้อยู่ เช่น สังคมไทยเรียกผู้ชายที่แต่งงานว่าเป็น "สามี"ของสตรีที่เป็นคู่สมรส คำว่า"สามี"ซึ่งมีความหมาย หรือแปลว่า เจ้าของ นั่นคือเมื่อคุณสมชายเป็นสามีคุณสมหญิง ก็หมายความว่า คุณสมชายเป็นเจ้าของคุณสมหญิง นั่นเอง
ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นหญิงเป็นชายในยุคพระเวท ที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมอารยัน ผู้หญิง จึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และสติปัญญาของสังคมได้ นักบวชผู้หญิงจึงไม่มีในสังคมอินเดียช่วงยุคพระเวท แต่เมื่อเกิดพุทธศาสนาขึ้น กระบวนการโต้ตอบกับระบบความเชื่อแบบพราหมณ์ก็ปรากฏชัดเจน และในที่สุดก็เกิดนักบวชหญิง คือ ภิกษุณี ขึ้นในชุมชนของชาวพุทธ
วัฒนธรรมการบริโภคอาหารตามความเชื่อโบราณ
วัฒนธรรมการบริโภคอาหาร ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อธิบายสถานการณ์ทางสังคมของอินเดียได้ดี
สังคมอารยันนั้นเป็นสังคมที่เร่ร่อนผจญภัย การเลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงไว้เพื่อเป็นยุทธปัจจัยและเป็นพาหนะ
หรือถ้าจะเป็นอาหารได้ก็เพียงแค่น้ำนมของสัตว์ที่เลี้ยง การฆ่าสัตว์เลี้ยงเป็นอาหารจึงเป็นข้อห้ามทางจารีตประเพณีของชาวอารยันที่เดินทางเข้ามาสู่อินเดีย
อาหารหลักของอารยันจึงเป็นพืช
ขณะที่พวกทราวิฑนั้นเป็นชุมชนหรือสังคมที่อยู่กับที่ ไม่เคลื่อนย้าย มีอาชีพทำการเกษตรและปศุสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยงไว้นั้น เป็นการเลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานและเป็นอาหารด้วย พวกทราวิฑจึงรับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหาร แต่เมื่อวัฒนธรรม 2 สายนี้ต้องมาปะทะกัน สงครามทางวัฒนธรรมก็เกิดขึ้น สุดท้ายเมื่อวัฒนธรรมอารยันมีชัยเหนือวัฒนธรรมทราวิฑ การบริโภคเนื้อสัตว์จึงกลายเป็นความชั่ว-บาป และเป็นการบริโภคของคนชั้นต่ำ ที่คนชั้นสูงคือ พวกอารยัน รู้สึกชิงชังรังเกียจเป็นอย่างยิ่ง
พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับจารีตวัฒนธรรมกระแสหลักที่พวกอารยันกำหนดจึงอนุญาตให้นักบวชในพุทธศาสนาบริโภคเนื้อสัตว์ได้
ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเป็นไปอย่างสอดคล้องกับคนทุกระดับชั้น
นั่นคือ จะบริโภคมังสวิรัติก็ได้ จะบริโภคมังสะก็ได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เอาตัวนักบวชเป็นที่ตั้ง
หากแต่เอาชุมชนเป็นตัวกำหนด
ประเด็นเรื่องการรับประทานอาหารมีเนื้อหรือไม่มีเนื้อนี้ ถูกโต้ตอบกลับด้วยข้ออ้างเรื่องเมตตาธรรมจากพวกพราหมณ์
แต่นั่นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นข้ออ้างเชิงปัจเจกบุคคล ซึ่งพุทธศาสนาในยุคนั้นพยายามยืนยันหลักชุมชน
และเคารพวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน และหลักเมตตาธรรมของพุทธเป็นสภาวธรรมในมิติทางสังคม
มากกว่าจะเป็นการครุ่นคิดเชิงปัจเจก
นอกจากแง่มุมเชิงวัฒนธรรม ในมิติของความหมายและคุณค่าของชีวิตเป็นรายย่อยแล้ว
กระบวนการโต้ตอบกับกระแสความคิดของพวกพราหมณ์ยังมีผลกระทบในมิติความหมายของสังคม
ดังเช่นกรณีโครงสร้างสังคมที่ก่อนหน้าพุทธศาสนา ศูนย์กลางอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พวกพราหมณ์
แต่หลังจากการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาแล้ว อำนาจของสังคมก็เคลื่อนย้ายไปสู่พวกกษัตริย์นักปกครอง
แม้กระทั่งการเอ่ยชื่อวรรณะที่กล่าวเป็นลำดับว่า พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร
กลายมาเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ที่ความสำคัญเปลี่ยนไปเช่นนี้ เป็นข้อยืนยันได้อย่างดีก็คือ
นับจากยุคพุทธศาสนามาแล้ว กระบวนการบันทึกความเป็นอินเดีย ก็เปลี่ยนแปลงจากที่เคยบันทึกไว้ตามหลักการศาสนา
กลายมาเป็นบันทึกไว้จากหลักการปกครองของพวกนักปกครอง
จากศาสนาสู่การปกครอง
(ยุคฮินดู)
ก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา ศูนย์กลางการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงทางสังคมของอินเดีย
รวมศูนย์อยู่ที่ศาสนา วัดหรือศาสนสถาน เป็นศูนย์กลางของสังคมอินเดีย แต่ภายหลังการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาแล้วปรากฏว่า
ศูนย์กลางของสังคมได้เปลี่ยนไปจากวัดทางศาสนา สู่วังของกษัตริย์ผู้ปกครอง
ความชัดเจนในเรื่องนี้ปรากฏชัด นับจากการปกครองของราชวงศ์เมารยะเป็นต้นมา โดยเฉพาะพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมาริยะ เป็นหลักฐานยืนยันว่า ทิศทางของอินเดียถูกกำหนดโดยนักปกครอง ไม่ใช่นักบวชอย่างในอดีตที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า แม้อำนาจจะอยู่ที่นักปกครอง แต่นักปกครองอินเดียในช่วงนั้น ก็ถูกกำหนดโดยลัทธิความเชื่อทางศาสนาอีกทอดหนึ่ง ดังกรณีของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เป็นนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ แต่ทิศทางในการปกครองก็ถูกกำหนดด้วยความเชื่อในพุทธศาสนา
แล้วความแตกต่างอยู่ตรงไหน ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า นักปกครองต้องเลือกว่าจะใช้ระบบความเชื่อแบบใดมาเป็นหลักในการปกครอง นักศาสนาเป็นผู้ผลิตระบบความเชื่อเสนอต่อสังคม และสังคมต้องครุ่นคิดพิจารณาว่า จะเสนอชุดความเชื่อแบบใดออกไป เพราะผู้ที่นำระบบความเชื่อนั้นไปใช้ ก็ต้องตระหนักในผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามระบบความเชื่อนั้นอีกทอดหนึ่ง กรณีของพุทธศาสนากับพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในการอธิบายความหมายเชิงปฏิบัติของนักบวชและนักปกครอง
การเกิดขึ้นของราชวงศ์คุปตะในทางภาคเหนือของอินเดีย และราชวงศ์ปัลวะทางภาคใต้ เป็นปรากฏการณ์ในอดีต ที่สามารถอธิบายความหมายแห่งความเป็นอินเดีย ที่เป็นไปภายใต้การกำหนดทิศทางของนักปกครองได้อย่างชัดเจน
นักปกครอง ไม่ใช่ศาสดาผู้ซึ่งผลิตความเชื่อและคำอธิบายความหมายของชีวิตและโลก แต่เป็นนักปฏิบัติที่สามารถจะเลือกเอาความเชื่อและคำอธิบายชุดใดมาใช้ก็ได้ เป้าหมายของนักปกครองอยู่ที่ผลของการใช้ความเชื่อหรือคำอธิบายชุดใดก็ได้ ขอเพียงแต่ให้เกิดผลคือ สันติสุขของประชาราษฎร์
อินเดียภายใต้การกำหนดทิศทางของนักปกครอง (พระราชา) จึงเป็นอินเดียที่เกิดกระแสการสังเคราะห์ระบบความเชื่อที่ถูกผลิตขึ้นภายในสังคมอินเดีย ให้เป็นระบบความเชื่อที่มีความหลากหลาย แต่เป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ สันติสุขของอาณาประชาราษฎร์ และระบบความเชื่อที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นใหม่นี้ รู้จักในชื่อว่า "ฮินดู"
ฮินดู เป็นวิถีแห่งชีวิตของชาวอินเดีย ที่ถูกประดับประดาตกแต่งให้งดงามอลังการณ์ด้วยจินตนาการแห่งชีวิตและโลก
การเข้ามาของศาสนาอิสลาม
ความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของอินเดีย นับจากการเกิดขึ้นของอารยธรรมพระเวทเป็นต้นมา
มีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาโดยตลอด และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงจากปฏิกิริยาโต้ตอบกันเองภายใน
เช่น การเปลี่ยนแปลงทิศทางของสังคมจากที่เคยกำหนดโดยนักบวชมาเป็นนักปกครอง แม้ว่าบางช่วงจะมีอำนาจจากภายนอกเข้ามาสู่อินเดีย
แต่พลังอำนาจนั้นก็ถูกพลังจากภายในของอินเดียบดทับดูดกลืน จนอำนาจนั้น ๆ กลายเป็นเพียงแค่ปัจจัยทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
หาได้เป็นอำนาจกำหนดทิศทางแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดียไม่
ดังเช่นกรณีการเข้ามาของกรีก โดยกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ในช่วงหลังพุทธกาล 200 กว่าปี ซึ่งในที่สุดแล้ว อำนาจความรู้ความคิดแบบกรีก ก็ได้กลายมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของอินเดียเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่เปลี่ยนโฉมหน้าของอินเดียได้อย่างชัดเจน และเป็นการเปลี่ยนทิศเปลี่ยนทางได้นั้น คือ การเข้ามาของกษัตริย์มุสลิม
ความรุ่งเรืองของศาสนาอิสลามที่มีศูนย์กลางอยู่ในตะวันออกกลาง
ได้แผ่ขยายมาถึงอินเดียเมื่อตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 11 ขณะนั้น ประเทศอัฟกานิสถาน
ซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดอินเดียได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของนักปกครองมุสลิมคือ
สุลต่านมะห์มุด แห่งฆอชนี และท่านสุลต่านผู้นี้เอง ที่ได้นำกองทัพมุสลิมบุกเข้ายึดแคว้นปัญจาบของอินเดียไว้ได้
และเหตุการณ์นั้นเปรียบเสมือนกับการทะลุผ่านกำแพงอินเดียได้แล้ว เพราะหลังจากที่ปัญจาบเริ่มตกอยู่ภายใต้การปกครองของนักปกครองมุสลิม
ก็ไม่ยากที่นักปกครองมุสลิมคนอื่นจะเข้ามาสู่อินเดียภายในได้
ในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 12 สุลต่านมูฮัมมัด ฆูรี ซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศอัฟกานิสถาน
ก็ได้ขยายเขตปกครองของมุสลิม จากปัญจาบลงไปถึงเบงกอล หลังจากนั้น นักปกครองชาวมุสลิมก็ได้สถาปนากรุงเดลี
ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการปกครองของชาวมุสลิม
ราชวงศ์โมกุล
การปกครองอินเดียโดยนักปกครองมุสลิมก้าวมาถึงจุดรุ่งเรืองสูงสุด เมื่อกษัตริย์บาบาร์
เชื้อสายมองโกลเข้ามายึดกรุงเดลีได้ ในปี ค.ศ. 1526 แล้วสถาปนาราชวงศ์โมกุลขึ้น
และกษัตริย์ในราชวงศ์โมกุล นี้ก็ได้เป็นเจ้าผู้ปกครองอินเดียยาวนานถึง 250 ปี
นานเพียงพอที่จะทำให้ความเป็นอินเดียที่ถูกปรุงแต่งด้วยระบบความคิด ความเชื่อ
ที่ผลิตขึ้นโดยชาวอินเดียมาอย่างยาวนาน ถูกระบบความเชื่อจากต่างวัฒนธรรม เข้ามามีส่วนผสมในการปรุงแต่งความเป็นอินเดีย
ทั้งในส่วนจิตสำนึกของบุคคล และในส่วนโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรมของอินเดีย
ในยุคสมัยของราชวงศ์โมกุลนี้เอง ที่วัฒนธรรมเปอร์เซียได้เข้ามาผสมกับวัฒนธรรมอินเดีย แล้วกลายมาเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน งานศิลปกรรมเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความเป็นอินเดีย ที่ผสมผสานระหว่างอินเดียกับเปอร์เซียเข้าด้วยกัน จนแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นอินเดีย อันไหนเป็นเปอร์เซีย เมื่อคนไทยนึกถึงอินเดียมักจะนึกถึงทัชมาฮาล ความงาม ความยิ่งใหญ่ของทัชมาฮาล คือตัวอย่างของอินเดียที่ถูกผสมด้วยวัฒนธรรมเปอร์เซีย
ในช่วงปลายของราชวงศ์โมกุล หลังจากพระเจ้าออรังเซบแล้ว อำนาจรวมศูนย์ที่เคยมีอยู่ที่กรุงเดลีก็ค่อย ๆ เสื่อมลง กษัตริย์ผู้สืบอำนาจต่อจากพระเจ้าออรังเซบ แม้จะยังได้รับการยอมรับจากแคว้นอื่นๆอยู่ แต่ก็เป็นไปในเชิงรูปแบบ มากกว่าจะเป็นการยอมรับอำนาจจากศูนย์กลางคือกรุงเดลีอย่างแท้จริง และในที่สุด เมื่อบริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษเข้ามา อำนาจปกครองของกษัตริย์มุสลิมก็เสื่อมลง
อาณานิคมของอังกฤษ
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอินเดียถูกเปิดขึ้นเมื่อบริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษเข้ามาทำการค้าในประเทศอินเดีย
เป็นประวัติศาสตร์ที่ศูนย์อำนาจได้เคลื่อนย้ายอีกครั้ง หลังจากที่เคยเคลื่อนย้ายจากนักบวชไปสู่นักปกครอง
แล้วก็ต้องย้ายศูนย์แห่งอำนาจไปสู่พ่อค้าที่เดินทางมาจากต่างแดน ชาวอังกฤษที่เข้ามาสู่อินเดียนั้นมาในนามของพ่อค้า
ความจริงแล้วมีหลายชาติที่เข้ามาทำการค้ากับอินเดีย ที่สำคัญ เช่น ชาวโปรตุเกส
ชาวฮอลันดา ชาวฝรั่งเศส เป็นต้น
โปรตุเกส นับเป็นยุโรปชาติแรก ๆ ที่เข้ามาทำการค้าบนแผ่นดินอินเดีย นับตั้งแต่วัสโก ดากามา เดินทางมาถึงเมืองกาลิกัตทางตะวันตกของอินเดีย ตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 15 และสามารถสร้างเมืองท่าของตัวเองขึ้นเป็นผลสำเร็จที่เมืองกัว (Goa) หลังจากชาวโปรตุเกสแล้ว ก็มีชาวฮอลันดาและชาวฝรั่งเศส ส่วนอังกฤษนั้นเข้ามาในภายหลังเมื่อชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และฝรั่งเศสได้มีกิจการที่อินเดียอยู่ก่อนแล้ว
บริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษ ได้มีโอกาสเรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวของชาติยุโรปที่เข้ามาก่อน บทเรียนบทหนึ่งที่อังกฤษได้เรียนรู้คือ การนำศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในอินเดียเป็นอุปสรรคต่อการค้า บทเรียนนี้ รู้ได้จากการที่ชาวโปรตุเกสและฝรั่งเศสได้ให้นักการศาสนา เข้ามาทำการเผยแพร่คริสตศาสนา ภายใต้การสนับสนุนของพ่อค้า ทำให้เกิดเป็นปฏิปักษ์กับชาวอินเดีย ทั้งที่เป็นมุสลิมและฮินดู เพราะบทเรียนเช่นนี้ พ่อค้าชาวอังกฤษจึงไม่ปรารถนาจะให้เรื่องศาสนามาเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจการค้า ที่สำคัญคือ ชาวอังกฤษเองกลับเป็นผู้สนับสนุนชาวอินเดียไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดูในการต่อสู้กับพ่อค้าต่างศาสนา
แม้จะเข้ามาสู่อินเดียหลังชาติอื่น แต่อังกฤษกลับประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และมากกว่าชาติอื่น ภายในเวลาไม่นาน บริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษ ก็สามารถจัดตั้งศูนย์การค้าของตัวเองได้ตามเมืองท่าสำคัญ นับตั้งแต่แถบตะวันตกที่เมืองสุรัต บอมเบย์ มาจนถึงแถบตะวันออก คือ มัทราส และกัลกัตตา ทั้งนี้ก็ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ
เมื่อมาถึงช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงที่อำนาจปกครองรวมศูนย์โดยกษัตริย์มุสลิมเริ่มเสื่อมลง เป็นโอกาสให้พ่อค้าชาวอังกฤษมีโอกาสเข้าไปแทรกแซงด้วยการช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีความขัดแย้งกัน จนในที่สุด บริษัทอิสต์อินเดียก็มีอิทธิพลเหนือเจ้าผู้ปกครองเหล่านั้น และนำไปสู่การมีอำนาจเหนือแผ่นดินอินเดียในเวลาต่อมา
ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 19 ประเทศอินเดียทั้งหมดก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ นั่นคือ บางส่วนเป็นเขตปกครองของอังกฤษโดยตรง เรียกว่า บริทิช ราช (British Raj) เขตปกครองโดยตรงนี้มีประมาณ 3 ใน 5 ของอินเดียทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นการปกครองโดยมหาราชาผู้ครองนคร ที่แตกแยกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ที่แม้จะปกครองตนเองได้แต่ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ กล่าวคือ ไม่สามารถปฏิเสธอำนาจของอังกฤษได้
ช่วงประมาณ 100 ปี ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นร้อยปีแห่งความเป็นไปของอินเดีย ที่ถูกกำหนดทิศทางโดยผู้ปกครองชาวอังกฤษ อินเดียที่แตกเป็นแคว้นเล็ก แคว้นน้อยมานานหลายร้อยปี ถูกเชื่อมโยงให้ติดกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยระบบทางรถไฟและการสื่อสารไปรษณีย์ที่อังกฤษจัดสร้างขึ้นบนแผ่นดินอินเดีย
ภายใต้การยึดครองให้เป็นอินเดียเดียวกัน โดยอำนาจการปกครองของอังกฤษนี้ ภายในความเป็นอินเดียเองกลับแตกร้าวเป็นส่วน ๆ ที่เกาะติดกันอยู่ได้เพราะอำนาจบังคับจากภายนอกที่มาบีบไว้ ที่สุดรอยแตกร้าวก็ปรากฏออกมา เมื่ออำนาจจากภายนอกไม่สามารถร้อยรัดรวมอินเดียไว้ให้เป็นเนื้อเดียวกันได้
นับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มา จนถึงช่วงได้รับอิสรภาพในช่วงกลางศตวรรษ กระบวนการสลัดออกจากการปกครองของอังกฤษก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด อินเดียก็สลัดจากการปกครองแบบอาณานิคมออกไปได้ พร้อม ๆ กับการแตกอินเดียออกเป็นฮินดูสถาน (เขตประเทศชาวฮินดู) และปากีสถาน (เขตประเทศชาวมุสลิม)
อินเดียในสังคมโลกปัจจุบัน
อิสรภาพจากการปกครองของอังกฤษมาสู่อินเดีย พร้อม ๆ กับปัญหานานับประการ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเงื่อนของปัญหาที่ถูกหมักหมมไว้ในสังคมอินเดียมานานหลายร้อยปี
นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่อินเดียถูกรุกรานจากอำนาจภายนอก
การเข้ามาของกษัตริย์ชาวมุสลิมเมื่อ
700 กว่าปีมาแล้ว ทำให้ความเป็นอินเดียต้องโต้ตอบกับอำนาจภายนอก จนกลายเป็นความบอบช้ำในความเป็นอินเดีย
หลังจากนั้น ก็ต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของพ่อค้าชาวอังกฤษอีกร่วม 200 ปี
อันเป็นช่วงเวลาแห่งความตกต่ำของอินเดีย อิสรภาพในการปกครองตนเอง ต้องแลกมาด้วยการแบ่งอินเดียออกเป็น
2 ส่วน และเป็นระเบิดเวลาที่ทำลายขวัญของชาวอินเดียอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งทุกวันนี้
ชาวอินเดียที่อยู่ในฮินดูสถานได้เพียรพยายามสร้างอินเดียใหม่ขึ้น แต่ก็เป็นความเพียรพยายามที่เต็มไปด้วยอุปสรรคนานาประการ
เป็นความเพียรพยายามบนซากปรักหักพังของศาสนาและวัฒนธรรม ที่ถูกเหยียบย่ำทำลายโดยลัทธิความเชื่อจากภายนอกอินเดีย
ในสถานการณ์ที่บอบช้ำอ่อนล้าภายในเช่นนี้ ชาวอินเดียต่างพยายามมุ่งมั่นที่จะสร้างชาติอินเดียให้รุ่งเรืองเหมือนอดีต
กำลังภายในของอินเดีย ถูกสร้างขึ้นด้วยการหันไปมองอดีต อดีตที่จะเรียกร้องปลุกเร้าพลังแห่งชาติอินเดียให้ฟื้นตื่นขึ้นมา
เพื่อแสดงความเป็นอินเดียให้ปรากฏต่อสายตาของชาวโลกอีกครั้ง
ธงชาติอินเดียที่มีรูปธรรมจักรอยู่ตรงกลาง ถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาให้สะบัดสู่กระแสลมที่พัดผ่าน "ธรรมจักร" คือสัญลักษณ์ของอินเดีย ที่เป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนาและฮินดู ฮินดู คือ ระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นบนแผ่นดินอินเดียโดยชาวอินเดีย ในช่วงเวลาหลายพันปี
ทั่วโลกรู้จักอินเดีย ผ่านธรรมจักร คือ พุทธศาสนา เพราะการหมุนไปแห่งจักร คือ ธรรม อันเป็นผลิตผลของอินเดีย ที่ทำให้ความเป็นอินเดีย มีคุณค่า และความหมายต่อชาวโลก วันนี้ ชาวอินเดียชักธงชาติซึ่งมีธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์อยู่ตรงกลางขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อโบกสะบัดให้ชาวโลกได้ประจักษ์อีกครั้งว่า ยังมีอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของโลก
1. สังคม
อินเดียเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่และยาวนาน มีอารยธรรมที่สืบต่อกันมานานหลายพันปี
วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สามารถย้อนโยงให้เห็นถึงความเป็นมาที่สืบต่ออย่างไม่ขาดตอน
ไม่น้อยกว่า 5,000 ปี
- อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ เป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า 5,000 ปี และได้สร้างอารยธรรมขึ้นมาเหนือแผ่นดินอินเดีย
- การเข้ามาของอารยัน ก่อให้เกิดการผสมผสานอารยธรรมเดิมกับอารยธรรมอารยัน ซึ่งเป็นผลตกทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
การผสมผสานวัฒนธรรม วิถีชีวิต และแนวคิดต่าง ๆ ของประชาชนอินเดีย ได้ผลิดอกออกผลเป็นลัทธิศาสนา ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อประชาชนอินเดียและชาวเอเชียทั้งมวล ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาเมื่อ 500 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช และต่อมาประมาณ 300 กว่าปี ก่อนคริสตศักราช อินเดียได้รับอิทธิพลจากชาวกรีกอีกครั้ง จากการยกทัพเข้ามาของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช
ประมาณ 200 กว่าปีก่อน ค.ศ. พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งแคว้นมคธ ได้แผ่ขยายอิทธิพลของอินเดียให้ปกคลุมไปทั่วภาคพื้นประเทศอินเดีย ความเป็นอินเดียได้ขยายไปตลอดช่วงของราชวงศ์ต่าง ๆ ของอินเดีย เช่น ราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์คุปตะ ราชวงศ์โจละ ราชวงศ์วัฒนะ
ประวัติศาสตร์ชาติอินเดียได้เปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 11 เมื่ออำนาจของชาวมุสลิมรุ่งเรืองเข้มแข็งในแถบตะวันออกกลาง แล้วแผ่ขยายเข้ามาสู่อินเดีย และในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 อำนาจของกษัตริย์มุสลิมก็เข้ามาสู่อินเดีย และสามารถยึดครองอินเดียไว้ได้
ในตอนต้นศตวรรษที่ 17 ชาวอังกฤษเริ่มเข้ามาค้าขายในอินเดีย และแล้วอินเดียก็ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เมื่อกองกำลังทหารอังกฤษเข้ามายึดครองอินเดียด้วยการอ้างว่า เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทการค้าของอังกฤษ ร่วม 200 ปี ที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1947 อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ แต่อินเดียก็ต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฮินดูสถาน และปากีสถาน
อินเดียในปัจจุบัน คือ ฮินดูสถานหรือภารตที่ได้รับความบอบช้ำจากการเข้ามามีอำนาจการปกครองจากภายนอกมาอย่างยาวนาน ประชาชนชาวอินเดียในปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพของบุคคลที่กำลังฟื้นฟูความรู้สึกแห่งความเป็นอินเดีย ที่บอบช้ำจากการรุกรานของคนต่างวัฒนธรรม ความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกย่ำยีโดยคนต่างวัฒนธรรมนี้ ทำให้ชาวอินเดียมีท่าทีต่อคนต่างชาติในลักษณะที่บางครั้ง ชาวต่างประเทศที่ไปเยือนอินเดียก็ยากที่จะเข้าใจ
การที่จะมองสังคมอินเดียให้เห็นความเป็นอินเดียที่ชัดเจนได้นั้น ต้องมองด้วยสายตาที่เห็นใจและเข้าใจในความเป็นอินเดีย ที่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขอันยุ่งยากและซับซ้อนหลายประการ ด้วยประชากรที่มากกว่า 1 พันล้านคนในปัจจุบัน อีกทั้งมีความต่าง ทั้งทางด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ สภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ความแตกต่างอันหลากหลายนี้จะเป็นรากฐานให้เกิดความเป็นเอกภาพได้อย่างไร นี่คือโจทย์ข้อใหญ่ของผู้นำอินเดียในยุคปัจจุบัน ความเพียรพยายามในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นความเพียรพยายามเพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นเอกภาพ บนความแตกต่าง (Unity in Diversity)
ผู้ที่มองไปที่สังคมอินเดีย
ต้องมองให้เห็นความแตกต่างเป็นความงดงาม มองให้เห็นความล่าช้าเป็นความดี และที่สำคัญ
มองเห็นความบกพร่องไม่สมบูรณ์เป็นบทเรียนอันล้ำค่า ถ้าหากมองได้อย่างนี้ การเพ่งมองไปที่สังคมอินเดีย
ก็จะมีคุณค่าและความหมายที่ดีงามต่อผู้มอง แต่ถ้าหากเมื่อใดที่เรามองด้วยสายตาที่ไร้ความเห็นใจ
ขาดความเข้าใจ เราก็จะพบความแตกต่างที่น่ารังเกียจ เห็นความไร้ระเบียบเป็นสิ่งเลวร้าย
และเห็นความล่าช้า เป็นความสูญเสีย
2. การเมือง การปกครอง
26 มกราคม ค.ศ. 1950 อินเดียได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก และเป็นฉบับเดียวที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ภายหลังจากที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ รัฐธรรมนูญของอินเดียได้ประกาศให้ประเทศอินเดียเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย(Socialist
Secular Democratic Republic) มีการปกครองระบบรัฐสภา แยกอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ฝ่าย
คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจอยู่ที่รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย
1. โลกสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนอินเดียทั่วประเทศ ในอัตราส่วน 1.5 ล้านคนต่อผู้แทน 1 คน
2. ราชสภา คือ วุฒิสภาหรือสภาสูง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากตัวแทนรัฐ และดินแดนสหภาพต่าง ๆ จำนวน 250 คน และตัวแทนอาชีพอิสระพิเศษอีก 12 คน ซึ่งเสนอชื่อและแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี 1 ใน 3 ของสมาชิกราชสภา จะครบวาระลงในทุก ๆ 2 ปี
นอกจากรัฐสภาที่เป็นผู้ใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชนอินเดียแล้ว ยังมีสภานิติบัญญัติแห่งรัฐในรัฐต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชนในรัฐนั้น สภานิติบัญญัติแห่งรัฐในบางรัฐ เช่น อันธรประเทศ ทมิฬนาฑู อุตรประเทศ มีรูปแบบของสภานิติบัญญัติคล้าย ๆ กับส่วนกลาง คือ มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในบางรัฐมีสภานิติบัญญัติเป็นแบบสภาเดียว ที่เลือกตั้งจากประชาชน
รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย พิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณแผ่นดิน ที่เสนอโดยรัฐบาล และมีอำนาจตรวจสอบ ปลดประธานาธิบดีได้ก่อนครบวาระ
พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน เป็นอำนาจของโลกสภาเท่านั้นในการอนุมัติ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด ได้ขยายวาระของสมาชิกโลกสภาและสภาแห่งรัฐจาก 5 ปี เป็น 6 ปี
ฝ่ายบริหาร
อำนาจในการบริหารอยู่ในมือของรัฐบาล ซึ่งอำนาจในฝ่ายบริหารถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
คือ ส่วนกลาง ได้แก่ กิจการด้านกลาโหม ต่างประเทศ การคลัง คมนาคม และส่วนรัฐ
ได้แก่ กิจการด้านการเกษตร การศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น รัฐบาลกลางมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า
เป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารกิจการส่วนกลาง
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาจากโลกสภา โดยสมาชิกส่วนข้างมากจะเป็นผู้เลือกสมาชิกผู้หนึ่งขึ้นมา
แล้วเสนอให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนคณะรัฐมนตรีอาจจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้
แต่ต้องได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกโลกสภาใน 6 เดือน หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
มิฉะนั้น ความเป็นรัฐมนตรีจะต้องสิ้นสุดลง
รัฐบาลแห่งรัฐ มีมุขมนตรีเป็นหัวหน้า เป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารกิจการส่วนรัฐ มุขมนตรีและคณะมนตรีมาจากรัฐสภาแห่งรัฐ โดยสมาชิกส่วนข้างมากของรัฐสภาแห่งรัฐ เป็นผู้เลือกและจัดตั้งคณะมนตรี คล้าย ๆ กับการจัดตั้งรัฐบาลกลาง โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งตามข้อเสนอของสภา
ฝ่ายตุลาการ
มีประธานศาลฎีกาเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด อำนาจฝ่ายตุลาการเป็นอำนาจรวม ไม่แยกเป็นส่วนกลางและส่วนรัฐ
แต่ถูกกระจายออกไปเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุธรณ์ และศาลสูง
ประธานาธิบดี คือ บุคคลที่มีสถานภาพเป็นประมุขของชาติ เป็นผู้ใช้อำนาจทั้ง 3
ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ใช้อำนาจผ่านรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ
ใช้อำนาจผ่านรัฐสภาและสภาแห่งรัฐ ฝ่ายตุลาการ ใช้อำนาจผ่านศาลสถิตยุติธรรม โดยโครงสร้างอำนาจเช่นนี้
ประธานาธิบดีจึงมีอำนาจเหนือผู้นำทั้ง 3 ฝ่าย และมีอำนาจปลดผู้นำทั้ง 3 ฝ่ายได้
โดยการประกาศยุบโลกสภาและสภาแห่งรัฐ และปลดประธานศาลฎีกาก่อนครบวาระได้
แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว
ผู้มีอำนาจจริง ๆ คือ นายกรัฐมนตรี เพราะคนที่ไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ
บุคคลที่ถูกเลือกโดยนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีคือ ผู้นำพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในโลกสภา
ที่มีกลไกควบคุมรัฐสภาและสภาแห่งรัฐได้อยู่แล้วในภาคปฏิบัติที่เป็นเช่นนี้เพราะประธานาธิบดีถูกเลือกโดยสมาชิกรัฐสภาและสภาแห่งรัฐ
ระบบการเมืองของอินเดีย มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของหลักการและวิธีการ เพราะเป็นการผสมผสานลักษณะต่าง
ๆ ของระบบการเมืองจากทั่วโลกให้มาปรากฎอยู่ในอินเดีย และอินเดียเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด
และมีความหลากหลายซับซ้อนมากที่สุด แต่อินเดียก็ยังคงสภาพความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้อย่างน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
3. เศรษฐกิจ
หลังจากที่ได้รับอิสรภาพในปี ค.ศ.1947 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
อินเดียได้ประกาศเป็นประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย และด้วยแนวทางการปกครองที่มีลักษณะเป็นสังคมนิยม
ทำให้ช่วงแรก นับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพมาจนถึงปี ค.ศ.1990 เป็นช่วงเวลา 40 ปี
ที่ประเทศอินเดียปิดประเทศทางด้านเศรษฐกิจ โดยเน้นการลงทุนเฉพาะภายในประเทศ ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเคร่งครัด
ด้วยแนวนโยบายทางเศรษฐกิจแบบกึ่งสังคมนิยม ทำให้อินเดียไม่มุ่งเน้นการแข่งขันกับตลาดข้างนอก
แต่เน้นเศรษฐกิจพอเพียงภายในประเทศ
จากแนวนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเก่า ทำให้อินเดียสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดภายนอก ยิ่งเมื่อประสบกับปัญหาทางการเมือง ที่ในอดีตพรรคครองเกรสได้ครองอำนาจมายาวนานจนกลายเป็นว่า แนวนโยบายแบบสังคมนิยมเป็นนโยบายหลักของพรรคคองเกรส เมื่ออำนาจทางการเมืองเปลี่ยนไป ความคิดที่จะทบทวนนโยบายทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น ประกอบกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดในอินเดียเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ จนในที่สุด อินเดียก็ได้ประกาศใช้นโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ ในปี ค.ศ. 1991
นโยบายเศรษฐกิจใหม่นี้ เป็นการรื้อปรับระบบโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในยุคใหม่ของอินเดีย นโยบายใหม่ทางเศรษฐกิจ ได้เปิดประตูให้ทุนต่างชาติเข้ามาสู่อินเดียได้ พร้อม ๆ กับสนับสนุนนักลงทุนภายใน โดยการยกเลิกกฎระเบียบที่เข้มงวดซึ่งได้ใช้ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา กิจการของรัฐหลาย ๆ ส่วน ถูกแปรรูปไปเป็นกิจการของเอกชน และได้ส่งเสริมให้มีการแข่งขันโดยใช้ระบบกลไกตลาดเสรีเป็นตัวกำกับการแข่งขัน
มาถึง ณ วันนี้ อินเดียได้ผ่านทศวรรษแรกแห่งการประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ไปแล้ว ช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านไป ทำให้อินเดียถูกจับตามองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก พอ ๆ กับประเทศจีน และเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดประเทศหนึ่ง
ด้วยประชากรที่มากกว่า 1 พันล้านคน ทำให้อินเดียถูกมองว่าเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากจีน ในแง่ของตลาดแรงงาน อินเดียเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกมากประเทศหนึ่ง เมื่อมองจากภายนอก อินเดียเป็นประเทศที่นักลงทุนข้ามชาติต่างจ้องมองด้วยความสนใจ หากแต่เมื่อมองจากภายในสังคมอินเดียเอง ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีคนยากจนมากที่สุดในโลก
อินเดียมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
(Poverty Line) ถึง 29.9 % ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้ว เป็นประชาชนที่ยากจนมากกว่า
300 ล้านคน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประชากรทั่วโลกที่ถูกจัดว่าเป็นคนยากจนแล้ว
เป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 3 ของคนยากจนทั้งโลก ที่อยู่ในประเทศอินเดีย กล่าวอย่างง่ายๆ
ว่า ถ้ามีคนยากจนเดินมา 3 คน 1 ในนั้นจะเป็นคนอินเดีย หรือเมื่อจะกล่าวเทียบเคียงกับประชาชนไทยแล้ว
ก็จะกล่าวได้ว่า เฉพาะคนยากจนในอินเดีย ก็มีจำนวนมากกว่าคนไทยทั้งประเทศถึง 5
เท่า
ประชาชนผู้ยากจนกว่า 300 ล้านคนนี้ มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อแสวงหาอาหาร เสื้อผ้า
และที่อยู่อาศัยเท่านั้น ในชีวิตของพวกเขา อาหารเพียงเพื่อประทังชีวิตในแต่ละวัน
เสื้อผ้าที่พอจะปกปิดร่างกายและห่มคลุมเพื่อกันหนาว ที่เพียงแค่พอซุกหัวนอนยามค่ำคืน
คือความหมายของชีวิตที่เป็นอยู่บนโลกใบนี้
แม้ว่ารัฐบาลอินเดียทุกยุคทุกสมัยจะเพียรพยายามก้าวไปข้างหน้า เพื่อก้าวให้ทันนานาประเทศ แต่ก็ไม่สามารถจะทอดทิ้งประชาชนผู้ยากไร้จำนวนมากนี้ไว้ได้ ในสายตาของนักลงทุนข้ามชาติหรือพ่อค้าที่มุ่งกำไร คนกว่า 300 ล้านคนนี้ อาจจะไม่อยู่ในสายตาของพวกเขา แต่สำหรับชาวอินเดียทั่ว ๆ ไปแล้ว คนกว่า 300 ล้านคนนี้ คือเพื่อนร่วมชาติของเขา เพราะฉะนั้น โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจของอินเดีย จะต้องมีพื้นที่ให้คนเหล่านี้ด้วย และนี่ก็คือ ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่ใครก็ตามที่ปรารถนาประโยชน์จากการค้าขายกับอินเดีย ควรคิดคำนึงไว้ด้วย
อินเดียและประเทศไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและไทย เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานในแง่มุมที่ลุ่มลึก
ซึ่งความสัมพันธ์นี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงอดีต และช่วงปัจจุบัน
แต่ทั้ง 2 ช่วงนี้ก็มีสายใยแห่งความหมายที่โยงถึงกัน
ก. ไทยและอินเดียในอดีต
ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียในอดีต เป็นความสัมพันธ์กันในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม
ความสัมพันธ์กันในมิตินี้ มีความเก่าแก่ยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ชาติไทย นั่นคือ
ขณะที่เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยย้อนหลังไปได้ประมาณ 700 - 1,000 ปี แต่ความสัมพันธ์ของประชาชนบนแผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทย
มีความสัมพันธ์กับอินเดียมานานกว่า 1,000 ปี
ศาสนาของชาวอินเดียทั้งพุทธและพราหมณ์
ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชนแถบนี้มานานนับพันปีแล้ว ไม่ว่าในช่วงอาณาจักรสุโขทัย
อาณาจักรล้านนา หรือกรุงศรีอยุธยา ล้วนแต่พบว่า ชาติไทยถูกสร้างขึ้นมาจากความรู้สึกสำนึกภายในกรอบของความเชื่อแบบอินเดีย
ที่เสนอผ่านศาสนาพุทธและพราหมณ์ ความเป็นชุมชนไทยที่วางตั้งอยู่บนความสัมพันธ์
ที่มีหลักธรรมในพุทธศาสนาเป็นฐานรองรับ ความเป็นรัฐไทย ที่มีโครงสร้างของอำนาจที่กำหนดไว้ตามคติแห่งพุทธและพราหมณ์
ล้วนแต่เป็นผลผลิตทางความคิดจากอินเดีย จึงไม่เกินความเป็นจริงหากจะกล่าวว่า
เราสร้างสังคมไทยและชาติไทยขึ้นมา จากองค์ประกอบทางความเชื่อที่นำเข้ามาจากอินเดีย
แม้เมื่อเราได้สร้างสังคมและชุมชนด้วยองค์ประกอบทางความคิดจากอินเดียแล้ว เราก็ยังนำเข้าจารีต
วัฒนธรรมต่าง ๆ จากอินเดียเข้ามาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรมและวัฒนธรรม
อีกทั้งประเพณีต่างๆ ก็นำมาจากอินเดีย แล้วปรุงแต่งให้เหมาะสมกับชุมชนและสังคมไทยตลอดมา
ความสัมพันธ์กันในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างไทยและอินเดีย มาสดุดหยุดลงเมื่ออินเดียอ่อนแอลงในทางวัฒนธรรมและศาสนา สินค้าทางวัฒนธรรมที่ผลิตขึ้นในอินเดียเริ่มขาดแคลนและลดน้อยลงสำหรับสังคมไทย ทั้งนี้ก็เพราะ อินเดียซึ่งเป็นดินแดนที่ผลิตศาสนาและวัฒนธรรมส่งออก มีปัญหาภายในที่ถูกรุกรานโดยชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรม จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะผลิตวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ให้กับสังคมโลกได้ ในช่วงนี้เอง ที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียสะดุดลง
ข. ไทยและอินเดียในปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียในยุคปัจจุบันเริ่มฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ขณะที่เป็นยุวกษัตริย์ ได้เสด็จประพาสอินเดีย ในปี ค.ศ. 1872 ซึ่งขณะนั้นอินเดียเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ
และความสัมพันธ์ไทย-อินเดียปรากฏชัดยิ่งขึ้น
ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์ได้ทรงเคยศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยวรรณกรรมของอินเดีย จนถึงกับทรงมีพระราชนิพนธ์งานหลายชิ้น ที่เป็นการรื้อฟื้นกลิ่นอายของอินเดียให้มาปรากฏในความรู้สึกของประชาชนคนไทยอีกครั้ง ดังงานพระราชนิพนธ์ เช่น รามเกียรติ์ ศกุนตลา มัทนะพาธา ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
6 แล้ว ก็ยังมีนักปราชญ์ท่านอื่นที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอินเดีย ด้วยการถ่ายทอดความเป็นอินเดียให้ปรากฏในงานวรรณกรรมมาสู่ภาคภาษาไทย
นักปราชญ์เหล่านั้น เช่น ท่านเสถียรโกเศศ, ท่านนาคประทีป, อาจารย์แสง มนวิทูร
เป็นต้น
ในกระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ไทยกับอินเดียนั้น นอกจากชาวไทยแล้ว ชาวอินเดียเองก็ได้มีบทบาทในการสร้างสรรค์นี้ด้วย
ในช่วงปลายยุคอาณานิคมอังกฤษซึ่งมีอำนาจเหนือแผ่นดินอินเดียนั้น ชาวอินเดียได้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพแห่งความเป็นอินเดีย
ประเทศไทยได้มีส่วนโดยอ้อมคือ ได้ให้ที่พักพิงแก่นักบวชฮินดูที่ต้องลี้ภัยออกมาจากอินเดีย
แล้วมาอาศัยแผ่นดินไทยอยู่ บุคคลผู้นี้คือ สวามี สัตยา นันทบุรี
ท่านสวามีผู้นี้ แม้ท่านจะมาอาศัยแผ่นดินไทยอยู่ในฐานะผู้หนีภัย แต่ท่านก็ได้สร้างคุณูปการอย่างมากต่อความสัมพันธ์ไทย-อินเดียยุคปัจจุบัน ทั้งในส่วนสร้างความรู้ความเข้าใจในความเป็นอินเดีย ผ่านงานเขียนของท่านจำนวนหลายเรื่อง เช่น ปรัชญาตะวันออก ตรรกวิทยา ปรัชญาโยคะ ฯลฯ สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือท่านได้สร้างองค์กรความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ที่ก่อให้เกิดผลทางสังคมไทยอย่างยิ่งคือ ท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต ขึ้น และอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต นี้เอง ที่เป็นประดุจสะพานทอดเชื่อมให้ชาวไทยและชาวอินเดียได้ไปมาหาสู่กัน ผู้เขียนสารคดีนี้ ได้เดินทางไปสู่อินเดีย ก็เพราะได้ไปใช้บริการความรู้จากอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ นี้เอง
อีกผู้หนึ่งที่อดมิได้ที่จะเอ่ยถึง เพราะท่านผู้นี้ เป็นเสมือนหนึ่งทูตอินเดียประจำประเทศไทย ท่านคือ อาจารย์กรุณา กุศลาสัย ท่านเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาอินเดียที่สังคมไทยได้มีโอกาสลิ้มรสแห่งความเป็นอินเดียผ่านท่าน ชีวิตของท่าน เป็นเหมือนตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในอินเดียยุคใหม่ แล้วมอบให้สังคมไทยได้ทดลองสัมผัสดู ผลงานแปลเช่น พบถิ่นอินเดีย ของบัณฑิตยวาหระลาล เนร์รู อัตชีวประวัติของท่านมหาตมะคานธี คีตาญชลีของมหากวีเอกรพินทรนาถฐากูร ล้วนแต่เป็นผลงานแปลของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ทั้งนั้น
นอกจากนี้แล้วยังมีงานเขียนของท่านอีกมากมาย เช่น ภารตวิทยา อินเดียอนุทวีปที่น่าทึ่ง ฯลฯ ล้วนแต่เป็นผลงานที่ทำให้คนไทยได้สัมผัสกับความเป็นอินเดียที่งดงามและลุ่มลึก ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาสัย นี้เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนกล้าเดินทางไปศึกษาในประเทศอินเดีย
ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียยุคใหม่ นอกจากจะเป็นความสัมพันธ์ในทางการศึกษา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมแล้ว ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ก็เป็นอีกสะพานหนึ่งที่เชื่อมให้ไทยและอินเดียได้ติดต่อกัน มีนักธุรกิจไทยไปลงทุนที่อินเดีย และมีนักธุรกิจอินเดียมาลงทุนที่ประเทศไทย มาวันนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลอินเดีย ได้มีความสัมพันธ์ร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่าทางการระหว่างไทย-อินเดีย มากถึง 42,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 84,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2547
ความร่วมมือกันระหว่างไทยและอินเดีย
เป็นไปทั้งในลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี เช่น ความร่วมมือกันภายใต้โครงการความร่วมมือแม่โขง-คงคา
(Mekong - Ganga Coperation - MGC) เป็นความร่วมมือกันระหว่างไทย - อินเดีย -
พม่า - ลาว - กัมพูชา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมความร่วมมือกันในด้านการค้า การท่องเที่ยว
และวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือล่าสุดที่ทั้งสองประเทศได้มีการเซ็นสัญญาตกลงกันแล้ว
เช่น
- การร่วมมือกันป้องกันผู้ก่อการร้าย
- การท่องเที่ยว
- การขยายเขตการบิน การขนส่ง
- การป้องกันเรื่องยาเสพติด
- การเชื่อมโยงการสัญจรด้าน พม่า ไทย อินเดีย และอันดามัน
- การยกเว้นค่าวีซ่า พาสปอร์ทของทางราชการ
- การร่วมมือด้านการเกษตรและเคมีชีวภาค
- กองทุนตลาดพันธบัตร เอเชียบอนและ
- ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี
- การเปิดตลาดการค้าเสรี
นับเป็นความร่วมมือที่มีขอบเขตกว้างขวางเป็นพิเศษและส่งผลอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
บริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษ
ได้มีโอกาสเรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวของชาติยุโรปที่เข้ามาก่อน บทเรียนบทหนึ่งที่อังกฤษได้เรียนรู้คือ
การนำศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในอินเดียเป็นอุปสรรคต่อการค้า บทเรียนนี้ รู้ได้จากการที่ชาวโปรตุเกสและฝรั่งเศสได้ให้นักการศาสนา
เข้ามาทำการเผยแพร่คริสตศาสนา ภายใต้การสนับสนุนของพ่อค้า ทำให้เกิดเป็นปฏิปักษ์กับชาวอินเดีย
ทั้งที่เป็นมุสลิมและฮินดู เพราะบทเรียนเช่นนี้ พ่อค้าชาวอังกฤษจึงไม่ปรารถนาจะให้เรื่องศาสนามาเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจการค้า
ที่สำคัญคือ ชาวอังกฤษเองกลับเป็นผู้สนับสนุนชาวอินเดียไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดูในการต่อสู้กับพ่อค้าต่างศาสนา
แม้จะเข้ามาสู่อินเดียหลังชาติอื่น แต่อังกฤษกลับประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
และมากกว่าชาติอื่น
ภายในเวลาไม่นาน บริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษ ก็สามารถจัดตั้งศูนย์การค้าของตัวเองได้ตามเมืองท่าสำคัญ
นับตั้งแต่แถบตะวันตกที่เมืองสุรัต บอมเบย์ มาจนถึงแถบตะวันออก คือ มัทราส และกัลกัตตา
ทั้งนี้ก็ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ
สถานภาพของสตรีนั้นเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ระหว่างชาวอารยันที่กำหนดสายสัมพันธ์ทางโลหิตผ่านผู้ชาย ขณะที่ทราวิฑ (ดราวิเดียน หรือ มิลักข) นั้น กำหนดสายสัมพันธ์ผ่านผู้หญิง ความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมนี้ โยงไปสู่ระบบความเชื่อทางศาสนาที่ถูกสร้างขึ้นจากฐานทางวัฒนธรรม พวกอารยันนั้น นับถือเทพเจ้าที่สถิตอยู่บนฟ้า และเมื่อพวกอารยันยกย่องให้ผู้ชายเป็นใหญ่ เทพเจ้าของอารยันจึงเป็นเทพผู้ชาย เช่น สุริยเทพ ขณะที่พวกทราวิฑนั้นเคารพ แผ่นดิน, แม่น้ำ ดังนั้น เทพเจ้าของทราวิฑจึงเป็นผู้หญิงตามคติของเผ่าชน เทพเจ้าประจำแผ่นดินจึงเป็นพระแม่ธรณี เทพเจ้าประจำแม่น้ำ คือ พระแม่คงคา เป็นต้น