Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ภาษีแนวเสรีนิยม-ภาษีแนวรัฐสวัสดิการ
โครงสร้างภาษีของไทย : ความไม่เป็นธรรมที่ควรแก้ไข
วัชรพล พุทธรักษา
นิสิตปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บภาษี ๒ แนวทาง
ซึ่งมาจากฐานคิดที่ต่างกัน และส่งผลต่อสังคมต่างกัน
ในบทความชิ้นนี้ได้เสนอวิธีการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมในสังคมไทย

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 953
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)


โครงสร้างภาษีของไทย : ความไม่เป็นธรรมที่ควรแก้ไข
วัชรพล พุทธรักษา : นิสิตปริญญาโท ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทนำ
เหตุการณ์สำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤติทางการเมืองในช่วงต้นปี 2549 คือกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์อย่างมีลับลม ซับซ้อน และไม่โปร่งใสของตระกูลชินวัตร และดามาพงษ์ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลไทยรักไทย นำไปสู่ประเด็นหลักในการชุมนุมขับไล่ของกลุ่มผู้ประท้วงเป็นเวลานานนับเดือน

ผลกระทบจากกรณีการขายหุ้นดังกล่าวไม่เพียงส่งผลต่อการล้มลงชั่วคราวของรัฐบาลเท่านั้น แต่ในทางวิชาการแล้วเราควรให้ความสนใจ และเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อระบบภาษี และมาตรการในการบังคับเก็บภาษีของไทยเสียที

บทความชิ้นนี้เป็นงานเก่าที่เขียนขึ้นในปี 2548 แต่ผู้เขียนมองว่าน่าจะยังมีประโยชน์อยู่บ้างในแง่ของการตั้งคำถามต่อ "แนวคิด" เกี่ยวกับระบบภาษี/โครงสร้างภาษีของไทย จึงได้นำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

ระบบภาษี ในด้านหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ออกแบบมา เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ภาษีสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นทางสังคมได้ นอกจากนี้รายได้จากภาษียังสามารถนำมาสร้างประโยชน์สาธารณะได้ในหลายประการ ในรูปแบบของสวัสดิการสังคมต่างๆ แต่ทั้งนี้สังคมแต่ละแห่งก็มีโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับแนวคิดที่แต่ละสังคมยึดถือเป็นแนวทางในการเก็บภาษี

งานชิ้นนี้มุ่งศึกษาเพื่อตอบคำถามว่าประเทศไทยควรมีระบบโครงสร้างภาษีเช่นใด? โดยจะได้ทำการเปรียบเทียบวิธีการเก็บภาษีระหว่าง 2 แนวคิดด้วยกันคือ แนวเสรีนิยม และแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย (หรือแนวรัฐสวัสดิการ) และยกตัวอย่างประกอบเพื่อเป็นการสนับสนุนคำตอบ ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้

1. ท่าทีต่อเรื่องการเก็บภาษีของ 2 แนวคิด
เนื่องจากวิธีการเก็บภาษีของแนวคิดต่างๆ นั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับท่าทีที่มีต่อระบบสวัสดิการด้วย เช่น ถ้ารัฐใดให้ความสำคัญกับระบบสวัสดิการสูง การเก็บภาษีเงินได้ก็จะมีสูงตามไปด้วย ขณะที่ถ้าเป็นรัฐที่ไม่ให้ความสำคัญกับระบบสวัสดิการมากนัก การเก็บภาษีเงินได้ก็จะมีความเข้มงวดน้อยกว่ารัฐที่เน้นสวัสดิการ ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาท่าทีของแนวคิดต่างๆที่มีต่อการเก็บภาษี เราจึงควรพิจารณาจากมุมมอง หรือท่าทีของแนวคิดนั้นๆที่มีต่อระบบสวัสดิการด้วยนั่นเอง

1.1 แนวเสรีนิยม
จากงานของ ระพีพรรณ คำหอม (2545: 76-80) ได้อธิบายท่าทีของแนวคิดเสรีนิยมที่มีต่อระบบสวัสดิการ ไว้โดยสรุป ดังนี้

แนวคิดหลักของแนวเสรีนิยมนั้นเน้นที่ความเป็นปัจเจกบุคคลเป็นหลัก และมีฐานคติว่าคนนั้นมีความสามารถ มีสิทธิในการแสวงหา และครอบครองทรัพย์สิน/ผลประโยชน์จากการทำงานของแต่ละคน และจุดเน้นสำคัญของแนวเสรีนิยมก็คือ การให้ความสำคัญกับตลาดเสรี โดยเชื่อว่าระบบตลาดนั้น จะสามารถทำการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้กับบุคคลได้เป็นอย่างดี โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซง

ดังที่ได้กล่าวไปว่า แนวเสรีนิยมนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคล และตลาดเสรี ดังนั้นท่าทีที่แนวเสรีนิยมจะมีต่อระบบสวัสดิการก็คือ รัฐนั้นไม่จำเป็นต้องจัดสวัสดิการให้กับบุคคล เพราะว่าบุคคลแต่ละคนนั้นมีสิทธิในการแสวงหาสิ่งที่ตนต้องการได้อย่างดีอยู่แล้วนั่นเอง

รัฐที่ยึดถือแนวเสรีนิยมในการบริหารระบบเศรษฐกิจจึงมีท่าทีต่อการเก็บภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้ในลักษณะที่ไม่เข้มงวดมากนัก และเห็นว่าควรจะเก็บภาษีให้น้อยลง เพื่อให้เกิดผลกำไรของปัจเจกบุคคลได้อย่างสูงที่สุดนั่นเอง

1.2 แนวสังคมนิยมประชาธิปไตย (แนวรัฐสวัสดิการ)
จากงานของ ระพีพรรณ คำหอม (2545: 68-75) อีกเช่นกันที่ได้ อธิบายท่าทีของแนวรัฐสวัสดิการที่มีต่อระบบสวัสดิการไว้โดยสรุป ดังนี้

แนวรัฐสวัสดิการนั้นให้ความสำคัญกับรัฐมากกว่าแนวเสรีนิยม โดยมองว่าแม้รัฐจะใช้กลไกตลาดในการบริหารระบบเศรษฐกิจ แต่รัฐก็ยังมีความสำคัญ และควรมีบทบาทในการเข้าแทรกแซง เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้น้อยลง โดยวิธีการที่รัฐจัดให้มีสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และทั่วถึงครอบคลุมสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น การมีงานทำ, การมีที่อยู่อาศัย, การรักษาพยาบาล, การจัดการศึกษา ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าแนวรัฐสวัสดิการนั้นให้ความสำคัญกับบทบาทรัฐในการจัดสวัสดิการ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนในสังคม เป็นหลัก ดังนั้น ท่าทีของแนวรัฐสวัสดิการที่มีต่อการเก็บภาษีจึงเป็นลักษณะที่มีความเข้มงวดมาก โดยเฉพาะการเก็บภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า ซึ่งจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน อีกทั้งยังนำรายได้จากภาษีมาจัดสวัสดิการให้กับคนทุกคนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกันอีกด้วย

2. ประเทศไทยมีโครงสร้างภาษีเช่นใด? และโครงสร้างที่เป็นอยู่นั้นมีความเป็นธรรมหรือไม่?
โครงสร้างภาษี อาจจำแนกได้ 2 ประเภทด้วยกัน (อนุสรณ์ สรพรหม และคณะ, 2545: 280-282) ได้แก่

2.1 จำแนกตามการรับภาระของผู้เสียภาษี โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

- ภาษีทางตรง หมายถึง ภาษีที่ผู้เสียภาษีเป็นผู้รับภาระในการเสียภาษีเองโดยตรง เช่น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมรดก เป็นต้น
- ภาษีทางอ้อม หมายถึง ภาษีที่ผู้เสียภาษีสามารถผลักภาระในการเสียภาษีไปให้ผู้อื่นได้ทั้งหมด
หรือบางส่วน เช่นภาษีศุลกากร, ภาษีการค้า (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นต้น

2.2 จำแนกตามลักษณะของฐานภาษี แบ่งเป็น

- ภาษีที่เก็บจากเงินได้ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน ได้แก่ ภาษีมรดก, ภาษีที่ดิน, ภาษีทรัพย์สิน
- ภาษีที่เก็บจากโภคภัณฑ์ เป็นภาษีที่เก็บเมื่อมีการขาย หรือใช้สิ่งของ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีศุลกากร, ภาษีสรรพสามิต

ในที่นี้จะใช้เกณฑ์จำแนกตามการรับภาระของผู้เสียภาษีเป็นหลัก ในการพิจารณาระบบโครงสร้างภาษีของไทย ซึ่งหากจะใช้เกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยนั้น มีโครงสร้างภาษีในลักษณะการเก็บภาษีทางตรง ที่น้อยกว่าการเก็บภาษีทางอ้อม ซึ่งคิดเป็นอัตราการเก็บภาษีทางตรงต่อภาษีทางอ้อมได้ ประมาณ 20-30 ต่อ 70-30 (วิวัฒน์ชัย อัตถากร, 2544: 29-33; เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม, 2546: 359; มติชนรายวัน, 2544: 6; ไพจิตร โรจนวานิช, 2530: 8-9) ซึ่งต่างจากประเทศที่มีสวัสดิการสังคมอย่างดี ที่จะมีอัตราการเก็บภาษีทางตรงมากกว่าภาษีทางอ้อม คิดเป็นอัตรา 80 ต่อ 20 เลยทีเดียว

ผู้เขียนมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าโครงสร้างภาษีของไทยนั้น เก็บจากภาษีทางอ้อมมากกว่าการเก็บจากภาษีทางตรง เช่นในงานของ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม (2546: 359-360) ที่มีข้อมูลยืนยันได้ว่า นับจากปี 2504 ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีทางตรง จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดเป็นร้อยละ 10.2 ของรายได้จากภาษีทั้งหมดขณะที่ส่วนที่เหลือนั้น เป็นภาษีทางอ้อม และเมื่อเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวมากขึ้นภาษีทางตรงก็สามารถเก็บได้มากขึ้น โดยคิดเป็นร้อยละ 21.5 ของรายได้ทั้งหมด และเพิ่มเป็นร้อยละ 24.8 ของรายได้จากภาษีทั้งหมดในปี 2533

วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ของอุษณีย์ ธโนศวรรย์ (2530: 4) ก็ได้ให้ข้อมูลยืนยันว่าโครงสร้างภาษีของไทยนั้น เก็บจากภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง โดยมีข้อมูลการเก็บภาษีในปี 2527 เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า มีการเก็บภาษีทางอ้อมจากภาษีการค้า มากกว่าการเก็บภาษีทางตรง ดังข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า มีการเก็บภาษีทางอ้อมเฉพาะภาษีการค้าอย่างเดียวในปี 2527 ได้ถึง 29,788.49 ล้านบาท ขณะที่สามารถเก็บภาษีทางตรงจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมกันได้ 31,441.72 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเพียงภาษีการค้าอย่างเดียวก็มีจำนวนเกือบเท่ากับภาษีทางตรง 2 ชนิดรวมกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ยังยืนยันได้ว่าในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 นั้นรัฐบาลสามารถเก็บภาษีทางอ้อมจากภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถึง 18,590 ล้านบาท ขณะที่สามารถเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเวลาเดียวกันได้ 9,141 ล้านบาท เท่านั้น ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้นิติบุคคลเก็บได้ 8,493 ล้านบาท
(ที่มา: http://www.bot.or.th/bothomepage/databank/EconData/EconFinance/tab35.asp)

จากข้อมูลดังกล่าวที่ยกมานำเสนอนี้ สามารถยืนยันได้ว่าโครงสร้างภาษีของไทยนั้นมีการเก็บภาษีทางอ้อมได้มากกว่าภาษีทางตรง ซึ่งถือว่า "เป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่เป็นธรรม" (อุษณีย์, 2530: 1-3; ใจ อึ๊งภากรณ์, 2543: 30) เนื่องจากภาษีทางอ้อมโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นการเก็บภาษีในอัตราคงที่ ไม่ว่าบุคคลจะมีรายได้สูง หรือต่ำก็จะต้องรับผิดชอบการจ่ายภาษีในอัตราที่เท่ากัน ซึ่งทำให้คนจน หรือผู้ที่มีรายได้น้อยเสียเปรียบผู้ที่มีรายได้มากกว่า ขณะที่ภาษีทางตรง โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเก็บในอัตราก้าวหน้า ที่เก็บจากผู้มีรายได้มากในอัตราสูง แต่เก็บจากผู้มีรายได้ต่ำกว่าในอัตราที่ต่ำลงมา ซึ่งมีความเป็นธรรมมากกว่าการเก็บภาษีในอัตราคงที่

นอกจากนี้ยังอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยนั้นได้รับเอาแนวคิดเสรีนิยมมาใช้ในเรื่องการเก็บภาษี มากกว่าที่จะใช้แนวรัฐสวัสดิการ ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลพยายามเอาใจคนชั้นกลาง มากกว่าคนจนด้วยการเปลี่ยนเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่จะต้องชำระภาษีจาก ผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท เป็น 80,000 บาทต่อปี ทำให้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งได้ประโยชน์ขณะที่คนจนแม้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ แต่ก็แบกรับภาระจากภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราสูงอยู่ต่อไป
(ดู พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 412) พ.ศ. 2545, http://www.rd.go.th/publish/12996.0.html)

นอกจากนี้ระบบสวัสดิการของไทยยังเป็นไปตามแนวเสรีนิยม ที่ไม่มุ่งเน้นการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนมากนัก ขณะที่ระบบสวัสดิการที่มีอยู่ เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ก็มิได้เป็นสวัสดิการที่แท้จริงตามแนวรัฐสวัสดิการแต่อย่างใด เพราะเป็นการจัดสวัสดิการให้อย่างมีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้สวัสดิการที่เป็นอยู่ของไทยก็ไม่มีลักษณะถ้วนหน้า เช่น การลงทะเบียนคนจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจะช่วยแต่คนที่จนตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดว่าเป็นจนเท่านั้น เป็นต้น

3. ประเทศอื่นๆ มีตัวอย่างการใช้โครงสร้างภาษีแบบต่างๆ เช่นใด? และมีความเป็นธรรมหรือไม่?
นอกจากไทยแล้ว ตัวอย่างประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากการยึดแนวเสรีนิยมในการเก็บภาษี เช่นเดียวกันกับไทยก็คือ "ประเทศสิงคโปร์"
(ดู กรรณิการ์ กิจติเวชกุล, 2548: 38-42) ดังจะได้อธิบายดังต่อไปนี้

ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี และจัดได้ว่ามีความร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของเอเชียซึ่งเป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น โดยที่สิงคโปร์นั้นได้ยึดถือการปฏิบัติตามแนวเสรีนิยมอย่างมากในการบริหารเศรษฐกิจ โดยมีฐานคติสำคัญ คือการยึดหลักปัจเจกบุคคลเป็นหลักที่ถูกกระตุ้นโดยอดีตผู้นำ ลี กวน ยู ว่าให้ทำงานหนัก และมองว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคน ควรจะหามาด้วยตนเองไม่ใช่พึ่งพารัฐ ส่วนปัญหาเรื่องคนจนนั้น สิงคโปร์ตามแนวเสรีนิยมมองว่า เป็นเพราะไม่มีความสามารถในการแข่งขันเพียงพอ ซึ่งทางแก้ก็คือต้องนำไปพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

เมื่อสิงคโปร์ดำเนินการตามแนวเสรีนิยม ดังนั้นบทบาทรัฐในการจัดสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมในสังคมจึงมีน้อยมาก ส่งผลให้คนยากจนในสิงคโปร์ที่นับวันยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นทุกปี และพวกเขาเหล่านั้นต้องถูกละเลย และทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นทุกขณะ (ดู กรรณิการ์, 2548: 38-42)

นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีลักษณะการใช้โครงสร้างภาษี ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนรวยมากกว่าคนจน ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้ประกาศลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากร้อยละ 26 เหลือเพียงร้อยละ 20 ขณะที่ไปเรียกเก็บภาษีการค้าและบริการเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5 ซึ่งผู้ที่มีรายได้น้อย จะเป็นผู้เสียเปรียบผู้ที่มีรายได้สูงกว่า เพราะว่าต้องจ่ายภาษีในอัตราเดียวกัน ขณะที่มีฐานรายได้ที่แตกต่างกัน

ขณะที่ตัวอย่างประเทศที่ยึดแนวรัฐสวัสดิการเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น "ประเทศสวีเดน" นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเข้มงวดในเรื่องของการเก็บภาษีมาก ดังเห็นได้จากตัวเลขในปี 1994 ซึ่งสวีเดนนั้นเก็บรายได้จากภาษีคิดเป็น ร้อยละ 55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ขณะที่เมื่อเทียบกับ "สหรัฐอเมริกา" ที่ยึดแนวเสรีนิยมในการเก็บภาษีจะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกานั้นสามารถเก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 29.8 ของ GDP เท่านั้น (Charles Lockhart, 2003: 389)

จุดเน้นสำคัญของแนวรัฐสวัสดิการก็คือ การเน้นบทบาทรัฐในการสร้างความเท่าเทียม และเป็นธรรมทั้งในทางสังคม และเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการใช้กลไกตลาด ซึ่งแนวรัฐสวัสดิการนั้นเชื่อว่าการใช้กลไกตลาด โดยให้รัฐแทรกแซงโดยจัดให้มีสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม และถ้วนหน้านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสวีเดนจัดได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีสวัสดิการทางสังคมที่ดีมากประเทศหนึ่ง

ข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศที่ยึดแนวรัฐสวัสดิการในการเก็บภาษีนั้น มีการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนมากกว่าประเทศที่ยึดแนวเสรีนิยม ควรพิจารณาที่ ตัวเลขแสดงการใช้จ่ายทางสังคมของรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศที่ยึดแนวรัฐสวัสดิการ เช่นสวีเดน นั้นมีค่าใช้จ่ายทางสังคมโดยรัฐสูงถึงร้อยละ 32 ของ GDP ในปี 1985 ขณะที่ประเทศที่ยึดแนวเสรีนิยมเป็นหลัก เช่น สหรัฐอเมริกานั้น มีค่าใช้จ่ายทางสังคมเพียงร้อยละ 18.2 ของ GDP เท่านั้นในปี 1985 เช่นกัน

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐที่ยึดแนวรัฐสวัสดิการในการเก็บภาษีนั้น จะมีการใช้จ่ายทางสังคม ในรูปแบบสวัสดิการสังคมเป็นจำนวนมากกว่ารัฐที่ยึดแนวเสรีนิยมอย่างชัดเจน (ระพีพรรณ, 2545: 79)

4. สรุป: ประเทศไทยควรมีโครงสร้างภาษีเช่นใด?
จากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้ศึกษาพบว่า ไทยนั้นยึดถือแนวเสรีนิยมเป็นหลักในการเก็บภาษี และมีลักษณะโครงสร้างภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง ซึ่งทำให้คนจน หรือผู้มีรายได้น้อยต้องแบกรับภาระภาษีทางอ้อม โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเท่ากันกับผู้ที่มีรายได้สูงกว่า ขณะที่ภาษีทางตรง โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมรดก เป็นต้น นั้นเป็นภาษีที่มีความเป็นธรรมมากกว่า เพราะเป็นการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ผู้ที่มีรายได้มากกว่าจะต้องแบกรับภาระในการจ่ายภาษีมากกว่า แต่เมื่อโครงสร้างภาษีที่เป็นอยู่จริงของประเทศไทยนั้น เป็นการเก็บภาษีจากภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโครงสร้างภาษีของไทยจึงไม่มีความเป็นธรรม

และจากการศึกษาตัวอย่าง ประเทศอื่นๆ ที่ยึดแนวคิดในการเก็บภาษีต่างกัน เราจะพบว่าประเทศที่ยึดถือแนวรัฐสวัสดิการในการเก็บภาษี เช่น สวีเดนนั้นจะมีโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรม และเก็บภาษีได้มากกว่า โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่ยึดแนวเสรีนิยม เช่นสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ประเทศที่ยึดแนวรัฐสวัสดิการนั้นยังสามารถนำรายได้จากภาษีมาใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมได้มากกว่าประเทศที่ยึดแนวเสรีนิยม ซึ่งเป็นการพยายามสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย

ดังนั้นในการตอบคำถามสำคัญดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นของงานชิ้นนี้ว่า ประเทศไทยควรมีระบบโครงสร้างภาษีเช่นใด? นั้นสามารถตอบได้ว่า ประเทศไทยนั้นควรจะมีโครงสร้างภาษีที่สร้างความเป็นธรรมแก่คนทุกชนชั้น ทุกระดับฐานะ นั่นคือ ควรมีโครงสร้างภาษีที่เก็บจากภาษีทางตรง โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล รวมถึงภาษีมรดก ในอัตราสูง ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมมากขึ้นเพราะภาษีประเภทนี้เก็บในอัตราก้าวหน้า อันถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้วิถีทางหนึ่ง ขณะที่ควรมีการเก็บภาษีทางอ้อม ในอัตราที่ลดต่ำลง เพื่อคนจนจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระในส่วนนี้มากจนเกินไป

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล. 2548. "New poor in Singapore", global report. a day weekly. 34(7-13 มกราคม 2548), 38-42.

เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม. 2546. การคลังว่าด้วยการจัดสรรและการกระจาย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ใจ อึ๊งภากรณ์. 2543. ร่วมกันต้านตลาดเสรี คัดค้านการขายรัฐวิสาหกิจเรียกร้องรัฐสวัสดิการ. กรุงเทพฯ : กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน.

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 412) พ.ศ. 2545, http://www.rd.go.th/publish/12996.0.html, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2548.

ไพจิตร โรจนวานิช. 2530. "โครงสร้างภาษีอากรของไทย", ใน ที่ระลึกงานฉลอง 5 รอบ ศาสตราจารย์ เติมศักดิ์ กฤษณามระ. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

มติชนรายวัน, 1 สิงหาคม 2544.

ระพีพรรณ คำหอม. 2545. สวัสดิการสังคมกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิวัฒน์ชัย อัตถากร. 2544. กับดักทางปัญญา. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร.

อนุสรณ์ สรพรหม และคณะ. 2545. คู่มือและแนวข้อสอบเข้าศึกษาต่อปริญญาโทเศรษฐศาสตร์. กรุงเทพฯ : สกายบุ๊กส์.

อุษณีย์ ธโนศวรรย์. 2530. ปัญหาโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย. วิทยานิพนธ์
รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Lockhart, Charles. 2003. "American and Swedish Tax Regimes: Cultural and Structural Roots" in Comparative Politics vol.4, 2003.

http://www.bot.or.th/bothomepage/databank/EconData/EconFinance/tab35.asp,
เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2548.


 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



200649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
ความรู้วิธีการเก็บภาษีสองแนวทาง
บทความลำดับที่ ๙๕๓ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
ขณะที่ตัวอย่างประเทศที่ยึดแนวรัฐสวัสดิการเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น "ประเทศสวีเดน" นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเข้มงวดในเรื่องของการเก็บภาษีมาก ดังเห็นได้จากตัวเลขในปี 1994 ซึ่งสวีเดนนั้นเก็บรายได้จากภาษีคิดเป็น ร้อยละ 55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ขณะที่เมื่อเทียบกับ "สหรัฐอเมริกา" ที่ยึดแนวเสรีนิยมในการเก็บภาษีจะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกานั้นสามารถเก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 29.8 ของ GDP เท่านั้น (Charles Lockhart, 2003: 389)

จุดเน้นสำคัญของแนวรัฐสวัสดิการก็คือ การเน้นบทบาทรัฐในการสร้างความเท่าเทียม และเป็นธรรมทั้งในทางสังคม และเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการใช้กลไกตลาด ซึ่งแนวรัฐสวัสดิการนั้นเชื่อว่าการใช้กลไกตลาด โดยให้รัฐแทรกแซงโดยจัดให้มีสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม และถ้วนหน้านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสวีเดนจัดได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีสวัสดิการทางสังคมที่ดีมากประเทศหนึ่ง

 

แนวรัฐสวัสดิการนั้นให้ความสำคัญกับรัฐมากกว่าแนวเสรีนิยม โดยมองว่าแม้รัฐจะใช้กลไกตลาดในการบริหารระบบเศรษฐกิจ แต่รัฐก็ยังมีความสำคัญ และควรมีบทบาทในการเข้าแทรกแซง เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้น้อยลง โดยวิธีการที่รัฐจัดให้มีสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และทั่วถึงครอบคลุมสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น การมีงานทำ, การมีที่อยู่อาศัย, การรักษาพยาบาล, การจัดการศึกษา ฯลฯ