Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

บทอ่านเพื่อการศึกษาทางกฎหมาย
คัดลอกคำพิพากษาคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และ
โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย

บทอ่าน เอกสารคัดลอกคำพิพากษาคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
ได้รับมาจาก
ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย
ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 952
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17.5 หน้ากระดาษ A4)

 

1. คัดลอกคำพิพากษาคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย

2. ศาลสงขลาพิพากษายกฟ้องกลุ่มคัดค้านฯท่อก๊าซจะนะ ในข้อหาต่อร่างกายและความผิดต่อเสรีภาพ
(๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙๗)
ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

1. คัดลอกคำพิพากษาคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
ความนำ - คำพิพากษาคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
คำพิพากษาของศาลปกครองชี้ชัดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สลายการชุมนุมของเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวจะทำให้สังคมเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมในวันที่ 20 ธันวาคม 2545

เนื่องจากที่ผ่านมาทางรัฐบาลที่บริหารประเทศโดยนายทักษิณ ชินวัตร และมีพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวหาและให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่ากลุ่มคัดค้านฯ เป็นพวกที่ใช้ความรุนแรง ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงขั้นใส่ร้ายป้ายสีเครือข่ายคัดค้านฯว่า "ฉีกเสื้อตนเองเพื่อสร้างภาพ" และพกพาอาวุธ และเคยกล่าวว่าพร้อมจะรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเรียกร้องมีสำนึกรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพียงการชดใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงินคงไม่เพียงพอ เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินได้ เพราะทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และพล.ต.อ.สันต์ ทำให้สังคมไทยเข้าใจเครือข่ายคัดค้านผิด ว่าเป็นพวกชอบใช้ความรุนแรง เป็นพวกทำผิดกฎหมาย ทั้งที่การชุมนุมโดยสงบ ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ สามารถที่จะทำได้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

เนื่องจากโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับชุมชน ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้คัดค้านฯ เรียกร้องมาตลอดว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่การลงนามทำสัญญาระหว่างประเทศ การจัดทำประชาพิจารณ์ แต่รัฐไม่รับฟังกลับใช้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสนับสนุนและผลักดันโครงการฯ แม้กระทั่งปัจจุบันทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังกระทำผิดโดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย)จำกัด บุกรุกครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ ดังนั้นขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่รับใช้บริษัทต่อไป...

ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย
.........................................................................................................................................

เอกสารคำพิพากษา ศาลปกครองสงขลา
O คำพิพากษา (ต.๑๘)

คดีหมายเลขดำที่ ๔๕๔/๒๕๔๖
คดีหมายเลขแดงที่ ๕๑/๒๕๔๙
ในพระ ปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสงขลา

วันที่ ๑ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙


นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ ที่ ๑ ผู้ฟ้องคดี
นายสุไลมาน หมัดยุโส๊ะ ที่ ๒
นายสุริยา หว่าหลำ ที่ ๓
นางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ที่ ๔
นายเจะหมัด สังข์แก้ว ที่ ๕
นายสาลี มะประสิทธิ์ ที่ ๖
นายมะแอ พรหมอินทร์ ที่ ๗
นางมลิยะ หีมมุเด็น ที่ ๘
นายสักการิยา หมะหวังเอียด ที่ ๙
นายตอเหด เส็นอาลามีน ที่ ๑๐
นายคอเบด หมัดเมาะ ที่ ๑๑
นายมูฮัมหมัดขัดตะรี มะหะจิ ที่ ๑๒
นางขอ เหล็มนุ้ย ที่ ๑๓
นายวิโรจน์ สะอุ ที่ ๑๔
นายรอเฝด หัดยุมสา ที่ ๑๕
นายวิทวัส มะเด ที่ ๑๖
นายโส๊ะ หลำโส๊ะ ที่ ๑๗
นายรอเด็น หมะประสิทธิ์ ที่ ๑๘
นายบรรจง นะแส ที่ ๑๙
นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ที่ ๒๐
นางสาวศุภวรรณ ชนะสงคราม ที่ ๒๑
นางสาวทัศนีย์ รุ่งเรือง ที่ ๒๒
นายพิชิต ไชยมงคล ที่ ๒๓
นางสาวสุรัตน์ แซ่จุ่ง ที่ ๒๔
นายหะสัน โต๊ะด่าหวี ที่ ๒๕
นายอะหมัด โต๊ะหยม ที่ ๒๖
นายรอหีม หวังหลำ ที่ ๒๗
นายเดช เขร็มล่า ที่ ๒๘
นายนาเฉช ดุหนิ ที่ ๒๙
นางเล็ก ช่วยบุญญะ ที่ ๓๐

ระหว่าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑
จังหวัดสงขลา ที่ ๒
กระทรวงมหาดไทย ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
..................................................................................................................................................

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า (คัดลอกจากคำพิพากษาหน้า 30-42)
"...คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องสรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๒ กับประชาชนกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้ทบทวนการอนุมัติโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ และได้นัดหมายให้มาพักรอ ณ สวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถโรงแรม เจ.บี.

การเดินทางไปชุมนุมได้ใช้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๙ และได้ว่าจ้างรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒๕ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ ให้ขนส่งผู้ชุมนุมไปยังสถานที่ชุมนุม ผู้ฟ้องคดีที่ ๒๓ ในฐานะรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และกลุ่มนักศึกษาผู้มีความเห็นคัดค้านโครงการก่อสร้าง ท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ได้เข้ามาร่วมเพื่อเดินทางไปชุมนุม

ครั้นเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๓ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒๕ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๖ คนขับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒๗ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางมาถึงอำเภอหาดใหญ่ และได้เดินทางต่อไปจนถึงทางเข้าถนนจุติอนุสรณ์ บริเวณวงเวียนน้ำพุ แต่ไม่สามารถเดินทางต่อไปเพื่อเข้าไปรวมตัวกันที่หน้าสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถโรงแรม เจ.บี. ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดให้เส้นทางบริเวณรอบโรงแรม เจ.บี.เป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัย โดยได้ตั้งแผงเหล็กและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวปิดกั้นไว้บริเวณสะพานจุติ - บุญสูง ซึ่งอยู่ห่างโรงแรม เจ.บี.ประมาณ ๓๕๐ เมตร

ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๓ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒๕ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๖ และคนขับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒๗ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ และกลุ่มผู้ชุมนุม จึงหยุดรอยู่ที่หน้าแผงเหล็กและมีการเจรจาขอเคลื่อนเข้าไปยังสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถโรงแรม เจ.บี. ระหว่างที่รออยู่นั้นเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินการสลายการชุมนุมของผู้ฟ้องคดี ที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๓ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ซึ่งได้ร่วมชุมนุมและสังเกตการณ์ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒๕ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๖ และกลุ่มผู้ชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมบางคน จึงเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑๓ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๙ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒๕ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ ที่ใช้ขนส่งผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายและผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เสียเสรีภาพในการชุมนุม จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวต่อศาลปกครองสงขลา ซึ่งศาลปกครองสงขลาได้พิจารณาคำฟ้องดังกล่าวแล้วเห็นว่า

ตามคำฟ้องข้างต้น ได้กล่าวอ้างว่า การดำเนินการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นการกระทำ เพียงกรรมเดียวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ รวมสองประการ คือ ผู้ฟ้องคดีที่๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ได้รับความเสียหายโดยต้องยุติการชุมนุม เพื่อยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้ทบทวนการอนุมัติโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี.อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ อันเป็นความเสียหายต่อเสรีภาพในการชุมนุมประการหนึ่ง และผู้ฟ้องคดีที่ ๑๓ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ ได้รับความเสียหายโดยได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย อันเป็นความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินอีกประการหนึ่ง

ซึ่งศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๓ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับร่างกายและทรัพย์สิน แต่ให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการเสียเสรีภาพในการชุมนุม ตามคดีหมายเลขดำที่ ๔๕๔/๒๕๔๖ ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑๓ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๓๐ ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองสงขลาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองสงขลาข้างต้น ตามคำสั่งคำร้องหมายเลขแดงที่ ๗๑๓/๒๕๔๗ คดีนี้จึงมีประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยเพียงว่า

การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณสถานที่ที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี.อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด้วยการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อสั่งการการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและวางแนวแผงเหล็กกั้นขวางทางเข้าโรงแรม เจ.บี. ตลอดจนการดำเนินการสลายการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ เป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ หรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ หรือไม่ เพียงไร

พิเคราะห์แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การตระเวนชายแดน การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนและอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา ๓ และมาตรา ๑๑ ของพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ประชาชนในเขตอำนาจรับผิดชอบ ควบคุม และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเขตอำนาจรับผิดชอบ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย มาตรา ๔ และมาตรา ๕ ของ พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๓๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๐

จังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสังกัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง
กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยเฉพาะในการปฏิบัติตามแผนการรักษาความสงบแห่งชาติของสำนักนายกรัฐมนตรี (รช.๑๔๑) เมื่อเกิดสถานการณ์การก่อความไม่สงบและการจลาจลขึ้น ในขั้นต้นให้การอำนวยการป้องกันการก่อความไม่สงบและการจลาจลเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยตามหน้าที่ด้วยการใช้กำลังตำรวจ ส่วนราชการพลเรือนและรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการรักษาความสงบตามที่กองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งราชอาณาจักรกำหนด

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยได้ร่วมกันดำเนินการให้มีการจัดทำแผน ชื่อแผน แหลมสน ๐๕/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ เพื่อรักษาความปลอดภัยการประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี.อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๕ และได้แต่งตั้งผู้ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนรักษาความปลอดภัย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มอบอำนาจให้พลตำรวจตรี สัณฐาน ชยนนท์ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามที่กำหนดไว้ในแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/๔๕) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ การจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจแนวลวดหนามและแผงเหล็กกั้น การจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมหรือศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าในพื้นที่เกิดเหตุตามแผนฉบับเดียวกันนี้

เห็นว่าการจัดทำแผนรักษาความปลอดภัยการประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ขึ้นดังกล่าว เป็นการกระทำในทางปกครองตามอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๑-๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๕ มิได้เป็นการกระทำต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เพื่อยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกต้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ดังกล่าวแต่อย่างใด

ส่วนการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อสั่งการ การวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และวางแนวลวดหนามและแผงเหล็กกั้นขวางทางเข้าโรงแรมก็เป็นการปฏิบัติไปตามแผนรักษาความปลอดภัยที่วางไว้ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เพื่อยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่)ข้างต้นเช่นกัน จึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ แต่ประการใดไม่ อีกทั้งการกระทำส่วนนี้ไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ได้กล่าวอ้างขึ้นเป็นข้อพิพาทว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เพื่อยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่กลับได้ความจากคำฟ้องว่า

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสลายการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งชุมนุมอยู่ ณ บริเวณสะพานจุติ - บุญสูง อันเป็นทางเข้าถนนจุติอนุสรณ์ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๔ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เช่นนี้ เห็นว่า เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม มาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และได้บัญญัติต่อไปในวรรคสองของมาตราดังกล่าวว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว เสรีภาพในการชุมนุมแบ่งเป็นสองลักษณะคือ เสรีภาพในการชุมนุมที่มิใช่เป็นการชุมนุมสาธารณะลักษณะหนึ่งในลักษณะนี้ ถ้าเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือปราศจากอาวุธ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมไม่ได้ ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือ เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ ในลักษณะนี้ แม้จะมีการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญให้อำนาจหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะจำกัดเสรีภาพได้ แต่ต้องมีบทกฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้ โดยกฎหมายที่ให้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้
กฎอัยการศึก

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ได้ชุมนุมอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย บริเวณสะพานจุติ - บุญสูง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อันเป็นสถานที่สาธารณะ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งการชุมนุมสาธารณะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้จะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า การชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้ว การจำกัดเสรีภาพการชุมนุมจะกระทำได้เมื่อมีบทกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้อำนาจ และมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ข้างต้น

ในปัญหานี้ได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดี ๒๒ กับประชาชนกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้ทบทวนการอนุมัติโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยนัดหมายให้มีการพักรอ ณ สวนหย่อม ใกล้อาคารจอดรถโรงแรม เจ.บี. โดยมีผู้ฟ้องคดีที่ ๒๓ เข้าร่วมเดินทางมาชุมนุม และผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ไปสังเกตการณ์และร่วมชุมนุม

เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๓ และกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางถึงทางเข้าถนนจุตินุสรณ์บริเวณสะพานจุติ - บุญสูง เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ นาฬิกา แล้วไม่สามารถเดินทางไปยังจุดนัดหมายที่บริเวณสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถโรงแรม เจ.บี. ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางแนวลวดหนาม แผงเหล็ก และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวปิดกั้นไว้ ซึ่งได้มีการเจรจาต่อรองกันเกี่ยวกับสถานที่ที่จะใช้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเสนอให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมใช้บริเวณพื้นที่ว่างในถนนซอยข้างธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม เป็นที่ชุมนุมแทนบริเวณสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถโรงแรม เจ.บี.

และในระหว่างที่รอผลการเจรจาอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ดังนี้ ศาลได้นำแผ่นบันทึกภาพและเสียง (แผ่นวีซีดี) พยานวัตถุ ซึ่งได้บันทึกภาพเหตุการณ์ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีและกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ผลักดันให้มีการสลายการชุมนุมมาเปิดฉายดูแล้ว ปรากฏว่า ภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏต่อศาล เป็นเช่นเดียวกันกับข้อเท็จจริงจากสรุปเหตุการณ์จากวีดีทัศน์การชุมนุมเรียกร้องกรณีท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ในเอกสารผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีความรุนแรงอันเนื่องมาจากโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย (เอกสารลำดับที่ ๖๙/๗๖) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับคู่กรณีฝ่ายใดได้จัดทำขึ้นว่า

ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินอ้อมแผงเหล็กเข้าไปอยู่ฝั่งที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังชุมนุมอยู่แล้วผลักดันเพื่อสลายการชุมนุมนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลามกำลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บางส่วนนั่งล้อมวงใกล้แผงเหล็ก บางสวนก็นั่งและบางส่วนก็ยืนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในที่ชุมนุมบริเวณสะพานจุติ - บุญสูง โดยไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังกระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใด ๆ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ากำลังจะใช้ความรุนแรง

และยังปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานการพิจารณาสอบสวน และศึกษาเรื่องกรณีการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย บริเวณถนนหน้าโรงแรม เจ.บี. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (เอกสารลำดับที่ (๖๙/๗๗ หน้า ๒๓) ที่ได้บันทึกไว้ว่า จากหลักฐานคำให้การประกอบกับเทปบันทึกเหตุการณ์ คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภาพบว่า

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวใช้กระบองเคาะโล่และดาหน้าเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม โดยใช้โล่ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ถอยร่นไปนั้น ไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำการอย่างใดที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งตามอำนาจหน้าที่หรือพยายามกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศหรือแจ้งข้อความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังจะใช้อำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบโดยใช้กำลังหรือได้แจ้งข้อหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด

จากภาพเหตุการณ์และข้อเท็จจริงข้างต้นเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ซึ่งได้ร่วมชุมนุมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมได้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่าการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมมิได้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๔ และใช้ความรุนแรง ขัดคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่เกิดเหตุ ที่สั่งให้ยุติการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังบริเวณหวงห้าม ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปรักษาความสงบ มีและพกพาอาวุธ

และให้การเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่เกิดเหตุเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธและกำลังกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จึงรายงานต่อผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมด้วยการจับกุมผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่โดยที่คำให้การและคำให้การเพิ่มเติมที่ต้องการโน้มน้าวให้ศาล เห็นว่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การ และให้การเพิ่มเติมว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ชุมนุมโดยไม่สงบและมีอาวุธ อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาและเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่โดยที่คำให้การและคำให้การเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดังกล่าว ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้เห็นจริงดังที่ได้ให้การและให้การเพิ่มเติมไว้ ทั้งยังขัดกับภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏจากการที่ศาลได้เปิดฉายแผ่นบันทึกภาพและเสียงข้างต้น และขัดกับข้อเท็จจริงจากสรุปเหตุการณ์จากวีดีทัศน์การชุมนุมเรียกร้องกรณีท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ในเอกสารผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีความรุนแรงอันเนื่องมาจากโครงการท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดทำขึ้น

ทั้งยังขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากรายงานการพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องกรณีการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน ผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย บริเวณถนนหน้าโรงแรม เจ.บี.อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึง ผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ความรุนแรง ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปรักษาความสงบ หรือกำลังกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และเป็นการชุมนุมโดยมีอาวุธอันเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม และสลายการชุมนุมได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ให้การและให้การเพิ่มเติม

ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการชุมนุมโดยมีอาวุธ แม้จะปรากฏจากคำฟ้องและบัญชีทรัพย์ท้ายคำฟ้อง คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๙๕/๒๕๔๖ ของศาลจังหวัดสงขลา ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสงขลาโจทก์ นายรัชฎะหรือรัชฎะ วัฒนศักดิ์ กับพวกรวม ๑๒ คน จำเลย เรื่องความผิดฐานมั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่ที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้นไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีและใช้อาวุธและร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ พาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุผลสมควร ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้อาวุธจากจำเลยกับพวกได้ในที่ชุมนุม ซึ่งเป็นที่ชุมนุมที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันชุมนุมอยู่ คือ

(๑) ไม้ธงทำด้วยไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร บางส่วนตัดปลายให้แหลม จำนวน ๑๕ อัน
(๒) มีดซาปาต้ายาวทั้งด้าม ๑๐ นิ้ว พร้อมฝักจำนวน ๑ เล่ม
(๓) หนังสติ๊กด้ามไม้ จำนวน ๗ อัน
(๔) ลูกตะกั่วใช้ยิงกับหนังสติ๊ก จำนวน ๘๒ ลูก
(๕) มีดพับ จำนวน ๑ เล่ม
(๖) กรรไกรปลายแหลม จำนวน ๑ เล่ม ก็ตาม

ก็เห็นว่าไม้ธงและกรรไกร มิใช่อาวุธโดยสภาพ แต่หากจะเป็นอาวุธได้ก็โดยได้ใช้หรือเจตนาจะใช้และในการเดินทางมาชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมมีเจตนาร่วมกันมาแต่แรกที่จะให้มีการพาไม้ไผ่และกรรไกรมาในที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะใช้ไม้ไผ่และกรรไกรเป็นอาวุธ แต่กลับปรากฏจากภาพที่ศาลได้เปิดฉายแผ่นบันทึกภาพและเสียง (แผ่นวีซีดี)พยานวัตถุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ถือธงมาเพื่อชุมนุมในที่เกิดเหตุ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีไม้ไผ่เป็นด้ามธง เพื่อประโยชน์ในการถือนำขบวนมาชุมนุมมิใช่เพื่อประโยชน์ที่จะใช้เป็นอาวุธ แต่ได้ใช้เป็นอาวุธหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าผลักดันเพื่อสลายการชุมนุม จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นของผู้ชุมนุมแต่ละคน มิใช่เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นแต่แรกของกลุ่มผู้ชุมนุม

ส่วนมีดซาปาต้า จำนวน ๑ เล่ม และมีดพับ จำนวน ๑ เล่ม่ กับหนังสติ๊กด้ามไม้ จำนวน ๗ อัน แม้จะเป็นอาวุธโดยสภาพ แต่มีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบกับจำนวนคนในกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมมีเจตนาร่วมกันที่จะพาอาวุธดังกล่าวมา จึงเชื่อว่าการพาอาวุธดังกล่าวมาเป็นเจตนาของผู้ที่เป็นเจ้าของโดยลำพัง ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดี ที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่น่าจะรู้เห็นด้วย

จึงเห็นว่าการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ เมื่อการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้ว จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจำกัดเสรีภาพ
ในการชุมนุมดังกล่าวด้วยการสลายการชุมนุมได้หรือไม่

พิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ตามมาตรา ๔๖(๗) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ และมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การตระเวนชายแดนการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชน และอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา ๓ และมาตรา ๑๑ ของพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๑

โดยตำรวจภูธร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยแก่ประชาชน ในเขตอำนาจรับผิดชอบ ควบคุม และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเขตอำนาจ รับผิดชอบ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย ตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ ของพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๓๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๐

จังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และมีหน้าที่ปฏิบัติตามแผนการรักษาความสงบแห่งชาติของสำนัก นายกรัฐมนตรี (รช.๑๔๑) เมื่อเกิดสถานการณ์การก่อความไม่สงบและการจลาจลขึ้น

ในขั้นต้นให้การอำนวยการป้องกันการก่อความไม่สงบและการจลาจล เป็นความผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ตามหน้าที่ด้วยการใช้กำลังตำรวจ ส่วนราชการพลเรือน และรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการรักษาความสงบตามที่กองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน แห่งราชอาณาจักรกำหนด

ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยได้ร่วมกันดำเนินการให้มีการจัดทำแผนชื่อแผน "แหลมสน ๐๕/๒๕๔๕" ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมาประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) ณ โรงแรม เจ.บี.อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๕ และได้แต่งตั้ง ผู้ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนรักษาความปลอดภัย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มอบอำนาจให้พลตำรวจตรี สัณฐาน ชยนนท์ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามที่กำหนดไว้ในแผนรักษาความสงบ (กรกฏ/๔๕) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ การจัดวางกำลังแนวลวดหนามและแนวแผงเหล็กกั้น การจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมหรือศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าในพื้นที่เกิดเหตุตามแผนฉบับเดียวกันนี้ และประกอบกับภาพเหตุการณ์จากการเปิดฉายแผ่นบันทึกภาพและเสียง ที่ศาลได้เปิดฉายดูข้างต้นแล้ว จึงเห็นว่า

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินอ้อมแผงเหล็กกั้นเข้าไปยังฝั่งที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังชุมนุมกันอยู่ แล้วผลักดันให้สลายการชุมนุมจนเกิดการชุลมุนต่อสู้กัน ตามที่ปรากฏในภาพจากแผ่นบันทึกภาพและเสียงนั้น เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และแผนรักษาความปลอดภัยตามกฎหมายและระเบียบข้างต้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยกันเป็นการกระทำทางปกครอง

แต่โดยที่การชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น และการชุมนุมดังกล่าวได้ชุมนุมกันอยู่ที่บริเวณสะพานจุติ - บุญสูง อันเป็นที่สาธารณะ การจะจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวซึ่งเป็นการชุมนุมสาธารณะ ด้วยการสลายการชุมนุมจะทำได้เฉพาะในกรณีที่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการณ์สงคราม หรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุมนี้ หาได้มีบทกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจจำกัดการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธไม่ และบทกฎหมายประกอบกับแผนรักษาความปลอดภัยที่ให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยข้างต้นก็หาใช่บทกฎหมายเฉพาะดังกล่าวไม่ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จำกัด เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมด้วยการสลายการชุมนุมเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่เป็นละเมิดในทางปกครองพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้บัญญัตินิยามความหมายไว้ จึงต้องนำหลักกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นละเมิดในทางแพ่งมาอนุโลมใช้กับการกระทำที่เป็นละเมิดทางแพ่งที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว การกระทำที่เป็นละเมิดจะต้องเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัยเสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

ซึ่งในกรณีที่ทำให้เขาเสียหายแก่เสรีภาพนั้น แม้คำว่าเสรีภาพในทางแพ่งหรือในกฎหมายเอกชนจะมีหมายความไปในทางที่เกี่ยวกับ ความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อกระทำหรือไม่กระทำการใดตามที่ตนปรารถนา แต่คำว่าเสรีภาพตามกฎหมายมหาชน จะมีความหมายไปในทางที่เกี่ยวกับความมีอิสระที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ความหมายของคำว่าเสรีภาพในทางกฎหมายเอกชน ต่างกับความหมายของคำว่าเสรีภาพในทางกฎหมายมหาชนก็ตามแต่ โดยที่คดีปกครองเป็นคดีเกี่ยวกับกฎหมายปกครองอันเป็นกฎหมายมหาชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ก็เป็นกฎหมายมหาชน คำว่าเสรีภาพในทางคดีปกครองจึงต้องหมายรวมถึงเสรีภาพตามกฎหมายมหาชนด้วย

เมื่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา ๔๔ จึงก่อให้เกิดหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่งดเว้นไม่กระทำการใดอันเป็นการละเมิดเสรีภาพดังกล่าว หากมีการกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพดังกล่าว ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะให้ความคุ้มครอง มิฉะนั้นแล้วการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพไว้ ก็หาเกิดประโยชน์อันใดไม่

เมื่อคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุม ได้ชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติรังรองไว้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ พระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจกระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๑ และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๕๓๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๐

และแผนรักษาความปลอดภัยแหลมสน ๐๕/๒๕๔๕ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ด้วยการผลักดันให้มีการสลายการชุมนุม อันเป็นการกระทำทางปกครองที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมด้วยการใช้อำนาจตามกฎหมายทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ได้รับความเสียหายโดยไม่อาจอยู่ชุมนุมต่อไปเพื่อรอยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมคณะรัฐมนตรี(นอกสถานที่) ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ ได้

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๒๔ หรือไม่เพียงไร เห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ซึ่งแม้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ จะไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าการไม่อาจใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยการอยู่ชุมนุมต่อไปได้ ทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นเงินตามที่ฟ้องก็ตาม

เมื่อในทางกฎหมายปกครองมิได้บัญญัติไว้เกี่ยวกับการวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด จึงต้องนำหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดและเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรและความร้ายแรงแห่งละเมิด มาใช้ในการวินิจฉัยค่าเสียหายในคดีนี้

เมื่อการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติรับรองไว้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว ด้วยการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดที่มีความร้ายแรง เนื่องจากเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เห็นสมควรกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เป็นเงินคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ด้วย จึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑

พิพากษาให้ผุ้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ เป็นเงินคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาคืนค่าธรรมเนียมแก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ ตามส่วนแห่งการชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก"

นายอำพน เจริญชีวินทร์ ตุลาการเจ้าของสำนวน
รองอธิบดีศาลปกครองสงขลา

นาวาเอก วุฒิ มีช่วย
อธิบดีศาลปกครองสงขลา

นายจักริน วงศ์กุลฤดี
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสงขลา
ตุลาการผู้แถลงคดี : นายถาวร เกียรติทับทิว

.................................................................................................. (จบการคัดลอก)

สืบสานการต่อสู้และจิตสำนึกเพื่อชุมชนของ "เจริญ วัดอักษร"
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะทำพิธีมอบเหรียญเจริญ วัดอักษรและจัดให้มี ปาฐกถาเจริญ วัดอักษร ประจำปี ๒๕๔๙
โดยคัดเลือกให้ เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นปาฐกประจำปี ๒๕๔๙
ในวันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ณ บริเวณลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

กำหนดการ
10.00 -- 10.15 น. อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวต้อนรับ และอ่านคำประกาศสดุดีเกียรติคุณ
10.15 -- 11.00 น. ตัวแทนจาก"เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ"แสดงปาฐกถา
11.00 -- 11.30 น. พิธีมอบเหรียญเจริญ วัดอักษรและสุนทรกถาโดย อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
11.30 -- 12.00 น. พิธีละหมาดฮายัด
12.00 -- 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน

สนใจรายละเอียด คลิกไปอ่านได้จากที่นี่


2. ศาลสงขลาพิพากษายกฟ้องกลุ่มคัดค้านฯท่อก๊าซจะนะ
ในข้อหาต่อร่างกายและความผิดต่อเสรีภาพ

อีกหนึ่งคดีที่ตอกซ้ำความถูกต้องของกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 เวลา 09.30 น. ศาลจังหวัดสงขลาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่หมายเลขดำที่ดำ 2243/2546

ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โจทก์ยื่นฟ้อง นายอ่าหลี หรือหมัด สันสุวรรณ และนายเผาซี สะอุ จำเลย ในข้อหาความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ

นายวนนท์ บุญรักษ์ ผู้พิพากษา และนายวันชัย แก้วพรหม ผู้พิพากษาองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์ห้อง 303 ศาลจังหวัดสงขลา พิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โจทก์ยื่นฟ้องนายอ่าหลี หรือหมัด สันสุวรรณ และนายเผาซี สะอุ จำเลย ในข้อหาความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ สรุปคำพิพากษาโดยสังเขปว่า

พนักงานอัยการสงขลา ฝ่ายโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องประมาณ 15-16 คน โดยมีมีด ไม้ ปืนเป็นอาวุธ ได้ร่วมกันข่มขืนใจนายสกล ชัยนนท์ ผู้เสียหายที่ 1 และนายสายลม โทวะดี ผู้เสียหายที่ 2 กับพวกอีกหลายคน ขณะทำการสำรวจปริมาณจำนวนที่ดินที่จะใช้ถมที่บริเวณก่อสร้างของโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ไม่ให้ทำการสำรวจและไล่ออกไปจากบริเวณที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากที่จำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันใช้ไม้และมีดทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง จนได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่ร่างกาย เสรีภาพ จึงไม่ทำการสำรวจต่อไปได้ และจำยอมต่อการข่มขืนใจของจำเลยกับพวก ต้องวิ่งหลบหนีออกไปจากบริเวณที่ทำการสำรวจ เหตุเกิดที่ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายอาญามาตรา 83, 295 , 309 วรรคสอง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะนายสุไหลมาน โหดเด็น และนายประเสริฐ สาหีม นายสมเจตน์ เกตุวัตถา พร้อมคนงานนายสกล ชัยนนท์ ผู้เสียหายที่ 1 นายสายลม โทวะดี ผู้เสียหายที่ 2 เข้าพื้นที่โครงการก่อสร้างท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย หมู่ที่ 8 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อทำการสำรวจปริมาณจำนวนดินที่จะใช้ถมที่บริเวณสำหรับก่อสร้างโครงการฯ ได้มีกลุ่มคนประมาณ 15- 20 คนเข้าขัดขวางจนไม่สามารถทำการสำรวจต่อไปได้

ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจ รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและความผิดต่อเสรีภาพ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทย์มีนายสุไลหมาน โหดเด็น นายเด็น หมัดหลี นายประเสริฐ สาหมี นายสมหมาย จันทร์เกษม นายสมพงษ์ วรรณสุทธิ นายสมเจตน์ เกตุวัตถา เบิกความทำนองเดียวกันไม่ยืนยันว่าผู้ทำร้ายร่างกายเป็นจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าพยานฝ่ายโจทก์มีเพียงนายโส๊ะ หัดเหาะ เพียงคนเดียวที่เบิกความต่อศาลว่า หลังรับโทรศัพท์นายประเสริฐ เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณดังกล่าวขณะนั้นกลุ่มของนายประเสริฐ และพวกอออกไปจากพื้นที่แล้ว ระหว่างทางเห็นกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์สวนทางออกมาประมาณ 6-7 คัน มุ่งหน้าไปทางลานหอยเสียบ

พยานจำหน้าได้ว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย เนื่องจากทั้งสองเป็นลูกบ้านพยานเท่านั้น และพยานยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ไม่ได้เห็นหน้าจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด เห็นเพียงด้านข้าง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร พยานโจทก์ปากนี้มาถึงบรืเวณที่เกิดเหตุหลังเหตุการณ์ยุติลงแล้ว พยานไม่ได้อยู่ในเหตการณ์ขณะผู้เสียหายทั้งสองถูกทำร้างร่างกาย ดังนั้น ลำพังคำเบิกความพยานปากดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายและข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสอง

นอกจากนั้นพยานโจทก์ทั้งหมดที่ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ขณะกลุ่มคนประมาณ 15-20 คน เข้าสอบถามนายสุไหลมาน และห้ามมิให้ทำการสำรวจต่อไป ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยทั้งสองอยู่ร่วมในกลุ่มคนดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะมีการทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเกิดขึ้น

พยานทุกปากเบิกความตรงกันว่า กลุ่มคนดังกล่าวสวมหมวกไหมพรม หรือไม่ก็มีผ้าปิดบังใบหน้า สำหรับผู้เสียหายทั้งสองเบิกความ แต่เพียงว่า ขณะทำงานอยู่นั้นมีคนร้ายสวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้าเข้ามาทำร้ายนผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น ไม่ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ลงมือทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองไม่ ทั้งภายหลังเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองแล้ว วันที่ 17 ธันวาคม 2546 เมื่อจัดให้ผู้เสียหายทั้งสองชี้ตัว กลับปรากฏว่าผู้เสียทั้งสองไม่ขอชี้ตัวตามคำให้การสอบสวนเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยทั้งสอง พิพากษายกฟ้อง

บรรยากาศที่ศาลสงขลาในวันนี้คึกคักเนื่องจากมีชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดสวมใส่เสื้อสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม

ในวันเดียวกันนี้ที่ศาลแขวงจังหวัดสงขลา คดีที่กลุ่มคัดค้านฯท่อก๊าซไทย-มาเลเซียยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยและจังหวัดสงขลา พล.ต.ต.สัณฐาน ชยานนท์ได้เดินทางมาเป็นพยานในศาล ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมเข้าฟังการสืบพยานจนแน่นห้องพิจารณาบางส่วนต้องนั่งอยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาเนื่องจากไม่สามารถเข้าไปร่วมฟังได้ทั้งหมด

นางสุไรดะ โต๊ะหลี ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้รู้สึกดีใจที่ศาลสงขลาพิพากษายกฟ้องกลุ่มคัดค้านฯ จะนะ เพราะเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่กลุ่มคัดค้านฯทำเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และปกป้องวิถีชีวิตตลอดจนหลักการศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหลายคดีที่ทางกลุ่มถูกพนักงานอัยการจังหวัดสงขลาฟ้องร้องดำเนินคดี ได้รับคำพิพากษายกฟ้องมาโดยตลอดหลายคดี อีกทั้งที่ผ่านมายังรับคดีที่เราฟ้องกลับต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549

และล่าสุดที่ศาลปกครองสงขลาพิพากษา ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายให้กลุ่มคัดค้านฯ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ลงมามอบเหรียญเจริญ วัดอักษรให้กับกลุ่มคัดค้านฯ ส่งผลให้มีบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจกลุ่มคัดค้านฯ เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมามีคนร้ายทุบรถยนต์ส่วนตัวของนางสาวศุภวรรณ ชนะสงคราม ซึ่งจอดอยู่บริเวณหน้าศาลจังหวัดสงขลา เชื่อว่าเป็นการข่มขู่คุกคาม ท้าทายจากบุคลคนที่ไม่พอใจกลุ่มคัดค้านฯ เนื่องจากที่ผ่านมาศาลได้พิพากษายกฟ้องหลายคดี ซึ่งถือว่าบุคคลที่กระทำกล้าและไม่เกรงกลัวต่อศาล เนื่องก่อเหตุการณ์ทุบรถยนต์ดังกล่าวบริเวณหน้าศาลสงขลา

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 06-9666147
09-7338609


 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



190649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
เอกสารคำพิพากษาศาลปกครองคดีท่อก๊าซฯ
บทความลำดับที่ ๙๕๒ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
คำว่าเสรีภาพตามกฎหมายมหาชน จะมีความหมายไปในทางที่เกี่ยวกับความมีอิสระที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ความหมายของคำว่าเสรีภาพในทางกฎหมายเอกชน ต่างกับความหมายของคำว่าเสรีภาพในทางกฎหมายมหาชนก็ตามแต่ โดยที่คดีปกครองเป็นคดีเกี่ยวกับกฎหมายปกครองอันเป็นกฎหมายมหาชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ก็เป็นกฎหมายมหาชน คำว่าเสรีภาพในทางคดีปกครองจึงต้องหมายรวมถึงเสรีภาพตามกฎหมายมหาชนด้วย

เมื่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา ๔๔ จึงก่อให้เกิดหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่งดเว้นไม่กระทำการใดอันเป็นการละเมิดเสรีภาพดังกล่าว หากมีการกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพดังกล่าว ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะให้ความคุ้มครอง มิฉะนั้นแล้วการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพไว้ ก็หาเกิดประโยชน์อันใดไม่

 

ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินอ้อมแผงเหล็กเข้าไปอยู่ฝั่งที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๒๔ และกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังชุมนุมอยู่แล้วผลักดันเพื่อสลายการชุมนุมนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลามกำลังประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บางส่วนนั่งล้อมวงใกล้แผงเหล็ก บางสวนก็นั่งและบางส่วนก็ยืนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในที่ชุมนุมบริเวณสะพานจุติ - บุญสูง โดยไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังกระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใด ๆ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ากำลังจะใช้ความรุนแรง

The Midnightuniv's web 2006