นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



การเมืองเรื่องของนโยบายไทยรักไทย
ชำแหละนโยบายประชานิยม นโยบายเพิ่มความยากจน
เบญจา ศิลารักษ์
นักวิชาการอิสระนอกภาครัฐ
สำนักข่าวประชาธรรม

งานวิชาการชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
แกะรอยนโยบายทักษิณ ผลกระทบรากหญ้า
เนื้อหาของบทความชิ้นนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของพรรคไทยรักไทย
ผ่านโครงการต่างๆ อาทิเช่น การพักชำระหนี้ กองทุนฟื้นฟู เอสเอ็มแอล และโครงการโคแก้จน

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 876
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)




แกะรอยนโยบายทักษิณ ผลกระทบรากหญ้า (๑)
เบญจา ศิลารักษ์ : สำนักข่าวประชาธรรม

ขณะที่มีกระแสการไล่นายกฯ ออกจากการบริหารทั่วประเทศที่มาจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ไม่แต่เฉพาะการเคลื่อนไหวของนายสนธิ ลิ้มทองกุลเท่านั้น ด้วยเหตุผลหลักๆ คือนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถตอบคำถามของสังคมกรณีความไม่โปร่งใสเรื่องการซุกหุ้นที่เกาะบริติช เวอร์จิ้นได้ โดยมีความเห็นว่ารัฐบาลทักษิณนั้นหมดความชอบธรรมในการ บริหารประเทศแล้ว แต่ดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังคงใช้ข้ออ้างเดิมๆ ว่ากลุ่มที่คัดค้านเป็นกลุ่มเล็กๆ ประชาชนอีก 19 ล้านเสียงยังคงสนับสนุนรัฐบาลอยู่ เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาระดับรากหญ้าทำมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สิน ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย จนถึงระบบสวัสดิการของชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรคุยอวดผลงาน 5 ปีเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าสามารถทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นจาก 4.9 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดปี 2548 เป็น 7.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนไทยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น เส้นความยากจนได้ขยับจาก 1,135 บาทต่อคนต่อเดือนมาอยู่ที่ 1,243 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลทักษิณนั้นพยายามชูการแก้ปัญหาของคนจนในชนบทมาหาเสียงอย่างต่อเนื่อง อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน เอสเอ็มแอล กองทุนหมู่บ้าน โอท็อป โคล้านตัว (โคแก้จน) โครงการจัดสรรที่ดินให้แก่คนจน เป็นต้น

แม้ว่านโยบายเหล่านี้ที่เรียกขานกันว่าเป็นนโยบายประชานิยมจะถูกใจคนชนบทจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็แน่นอนว่าการหว่านโปรยเม็ดเงินไปสู่รากหญ้าอาจทำให้ประชาชนบางส่วนรู้สึกพึงพอใจ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวนั้นยังขาดการวิเคราะห์อย่างรอบด้านในสังคม ต้องยอมรับความจริงว่าพลังของประชาชนในการตรวจสอบนโยบายดังกล่าวนั้นถูกทำให้อ่อนแรงอย่างเหลือเชื่อ

อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนในชนบทบางส่วนจะรู้สึกพึงพอใจกับนโยบายประชานิยม แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ามีประชาชนรากหญ้าที่สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดจากนโยบายประชานิยมเช่นกัน ซึ่งน่าสังเกตว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมนี้ รัฐบาลจะตอบคำถามอย่างไรกับสังคม

สำนักข่าวประชาธรรมรวบรวมความเห็นของภาคประชาชนต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาของประชาชนระดับรากหญ้ามานำเสนอในที่นี้ โดยหวังว่าจะทำให้สังคม จะร่วมกันตรวจสอบนโยบายรัฐบาลอย่างจริงจังนับจากนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

พักชำระหนี้ กับ กองทุนฟื้นฟูที่ไม่คืบหน้า
อาจกล่าวได้ว่านโยบายพักชำระหนี้ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงกับเกษตรกรในช่วงสมัยแรก และก็ได้ผลท่วมท้น เพราะเกษตรกรพากันเทคะแนนเสียงให้กับไทยรักไทยก็เพื่อหวังว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาหนี้สิน แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขของนโยบายพักชำระหนี้ของเกษตรกร กำหนดให้เกษตรกรที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ต้องมีหนี้สินไม่เกิน 1 แสนบาท และต้องเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะปรากฏว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินเกิน 1 แสนบาท

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) อันเป็นกลุ่มองค์กรเกษตรกรที่รวมตัวกันเพื่อติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเกษตรกรพบว่า นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลนั้นไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรจริง ชาวบ้านในสมาชิกเครือข่ายส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าสู่นโยบายพักชำระหนี้ได้ เพราะมีหนี้โดยเฉลี่ยครอบครัวละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาททั้งสิ้น ทั้งนี้เกษตรกรมีข้อเสนอว่าต้องการปลดหนี้มากกว่า "พักชำระหนี้"

นอกจากนี้ข้อเสนอของ สกน.ยังเห็นว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการให้กองทุนฟื้นฟูชีวิต และพัฒนาเกษตรกรใช้การได้จริงตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2542 กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกิดจากข้อเสนอของเกษตรกร แต่ปรากฏว่าแม้จะจัดตั้งมาถึง 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีเกษตรกรรายใดได้รับการพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

- สมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทนสกน.สะท้อนว่าเหตุที่การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยใช้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีความคืบหน้าเลย เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาเกษตรกร ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ นั้นชัดเจนว่าต้องการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรโดยการพัฒนาอาชีพ เปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและบริหาร

- ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ เองก็ยอมรับเองว่าภายในคณะกรรมการกองทุนก็มีความขัดแย้งภายในองค์กร เนื่องจากความเข้าใจไม่ตรงกันทั้งเกษตรกร หน่วยงานราชการ กลไกรัฐรวมทั้งรัฐบาลด้วย

- ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า อุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานตามกองทุนฟื้นฟูฯไม่คืบหน้า เป็นเพราะรัฐบาลจงใจหลีกเลี่ยงที่จะนำกฎหมายนี้มาใช้ โดยแต่งตั้งตัวแทนของนักการเมืองเข้าไปบริหารงาน ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ให้เกษตรกรบริหารงานเอง ยิ่งไปกว่านั้นตามหลักการของกองทุนฟื้นฟูฯ นั้นต้องให้เกษตรกรฟื้นฟูชีวิตมากกว่าการกู้ยืมเงิน แต่รัฐบาลยังไม่จัดสรรงบประมาณให้

จากกองทุนหมู่บ้านถึงเอสเอ็มแอล
รัฐบาลแถลงผลงาน 4 ปีก่อนการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลสมัยที่ 2 ว่ากองทุนหมู่บ้านช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย 13 ล้านคน งบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกระจายมาเป็น 2-3 ระลอก วัตถุประสงค์ของกองทุนระบุว่า เพื่อเป็นแหล่งทุนในการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน

แต่จากการติดตามของนโยบายดังกล่าวโดยสภาประชาชน จ.สุรินทร์เมื่อปี 2546 พบว่านโยบายกองทุนหมู่บ้านเป็นนโยบายเร่งด่วน การดำเนินการไม่มีการเตรียมความพร้อม ทำให้ชาวบ้านที่เข้ามาขอกู้เงิน ไม่ได้นำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่วนใหญ่เป็นการนำไปหมุนหนี้มากกว่า การพิจารณาอนุมัติให้กู้เงินก็ไม่มีความเท่าเทียม เช่น ที่ชุมชนศรีบัวราย อ.เมือง จ.สุรินทร์ คนจนไม่มีสิทธิกู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้าน เพราะไม่มีหุ้นอยู่ หรือเวลาขอกู้ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะคณะกรรมการกองทุนกลัวว่าจะไม่ได้เงินคืน เป็นต้น

นอกจากนี้กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นการสร้างภาระ เพิ่มหนี้สินให้กับชาวบ้าน เช่นกรณีบางหมู่บ้านไม่เคยมีหนี้กลับมีหนี้เพราะกองทุนเงินล้าน เมื่อได้เงินล้านมา ไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนอะไรก็นำไปซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น เช่น มอเตอร์ไซด์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือบางหมู่บ้านก็นำเงินไปลงทุนทำเกษตรเชิงพาณิชย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทำกันมาก่อน เช่นหมู่บ้านกะเหรี่ยงในเขตภาคเหนือ สุดท้ายก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาคืนกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

กองทุนหมู่บ้านหลายแห่งทำให้ชุมชนแตกแยกกันมากขึ้น เกิคความคิดแตกแยกในการบริหารจัดการกองทุน ขณะที่คนจนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะคณะกรรมการกลัวว่าจะไม่มีเงินส่งคืนกองทุน

มาถึงงบพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน หรือ เอสเอ็มแอล ที่รัฐบาลทักษิณอนุมัติงบประมาณให้ในสมัยที่ 2 โดยจะให้งบประมาณแก่ชุมชนโดยตรง หมู่บ้านขนาดเล็กหมู่บ้านละ 200,000 บาท หมู่บ้านขนาดกลางหมู่บ้านละ 250,000 หมู่บ้านขนาดใหญ่ หมู่บ้านละ 300,000 บาท. รัฐบาลอนุมัติงบประมาณดังกล่าวตั้งแต่กลางปี 2547 ถือเป็นเงินแบบให้เปล่า เพื่อแก้ปัญหาส่วนรวมให้กับประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน และพัฒนาอาชีพให้แก่ชุมชนโดยให้ประชาชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง

ปีงบประมาณ 2547 รัฐบาลได้กระจายงบประมาณไปสู่หมู่บ้านจำนวน 253 ล้านบาท จำนวน 1,024 หมู่บ้าน ปีงบประมาณ 2548 ค.ร.ม.อนุมัติงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 9.4 พันล้านบาท เพื่อกระจายให้แก่หมู่บ้านทั้ง 3 ขนาด จำนวน 38,250 หมู่บ้าน ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้ประกาศแล้วว่า มีการตั้งงบประมาณเอสเอ็มแอลตลอด 4 ปีที่รัฐบาลบริหารประเทศรวมทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท

อาจกล่าวได้ว่างบประมาณเอสเอ็มแอลเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ ภายหลังจากงบกองทุนหมู่บ้านละล้านที่กระจายมาสู่ชุมชน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีการกระจายงบประมาณเอสเอ็มแอลมาสู่ชุมชนอีกระลอก นโยบายดังกล่าวจึงถูกติดตามตรวจสอบเช่นกันว่า การใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาความยากจน จะมีความยั่งยืนและสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้หรือไม่

หลังการอนุมัติงบประมาณก้อนแรกปีงบประมาณ 2547 จำนวน 253 ล้านบาท รัฐบาลได้มีการประเมินผลโครงการเอสเอ็มแอลปีแรก ซึ่งพบว่าการนำงบประมาณไปใช้นั้น งบประมาณที่ชุมชนนำไปใช้มากที่สุดคือด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร้อยละ 39.43, โครงการด้านการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 15, ด้านการส่งเสริมรายได้และอาชีพร้อยละ 13.80, ด้านสวัสดิการชุมชนร้อยละ 27.22 และด้านอื่นๆ อีกร้อยละ 4.56

จากการติดตามของสำนักข่าวประชาธรรมพบว่า การกระจายเงินดังกล่าวกระจายไปตามสายผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นงบพัฒนาหมู่บ้าน โดยเฉพาะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่นสร้างถนนมากที่สุด ส่วนการพัฒนาอาชีพถือว่าน้อยมาก

- สมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทน สกน.มีความเห็นว่า การกระจายเงินครั้งนี้ของรัฐบาลทักษิณ เหมือนกับนโนยายผันเงินสู่ชนบทในสมัยนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งพบว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาชาวบ้านอย่างแท้จริง แม้จะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารเงิน แต่ก็ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาท้องถิ่น ชาวบ้านจะได้แค่ถนน สะพาน น้ำประปา และค่าแรง "ที่สุดก็เป็นแค่เงินที่จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็หายไป และสร้างระบบอุปถัมภ์เพื่อหาเสียงทางการเมือง ทั้งที่งบประมาณในส่วนนี้มีอยู่แล้วใน อ.บ.จ. หรือ อ.บ.ต"

หากรัฐบาลอยากใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท ก็ควรนำไปอุดหนุนในช่องทางอื่นมากกว่า โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นระดมความเห็นของชาวบ้านจากแต่ละชุมชน แล้วทำแผนพัฒนาชุมชนว่าต้องการแบบไหน เช่น ส่งเสริมชาวบ้านที่ทำโอท็อปแต่ยังไม่เข้มแข็ง นำไปต่อยอดสิ่งดีๆ ที่ชุมชนได้ทำมา หรือเป็นกองทุนของหมู่บ้าน ชุมชนมีอำนาจจัดการบริหารเงิน แต่ไม่ใช่เหมือนกับกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลทำที่ผ่านมา เป็นต้น แล้วรัฐบาลค่อยไปสนับสนุนทุ่มเททรัพยากร งบประมาณลงไปช่วยเหลือ "คุณทักษิณทำอะไรก็ได้ในทางการเมือง ไม่ต้องไปผ่าน ส.ส. อำนาจสั่งจ่ายอยู่ที่คุณทักษิณคนเดียว แน่นอนว่าเงินลงถึงพื้นที่เร็วขึ้น ประชาชนได้เงินโดยตรง แต่ผลของเงินที่ลงไปไม่มีใครรู้ว่า ประโยชน์ตกถึงคนจนจริงหรือไม่"

- วีระพล โสภา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า นโยบายนี้ถือเป็นเงินการเมือง ชาวบ้านโดยทั่วไปก็จะชอบใจที่จะได้เงิน แต่ถ้าเป็นชาวบ้านที่ติดตามการแก้ปัญหาคนจนก็จะเข้าใจ และเกิดคำถามว่าจะเป็นการนำเงินก้อนใหม่มาให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเหมือนกองทุนหมู่บ้านหรือไม่ เป็นเงินผันสู่ชนบทเพื่อเสริมสร้างระบบอุปถัมภ์หรือไม่ ในส่วนของตนเห็นว่า เหมือนกับเป็นการบอกกับชาวบ้านว่าถ้าต้องการเงินจะต้องมอบอำนาจให้กับคุณทักษิณ เพื่อนำเงินออกมาจ่ายได้ เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า และเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกล่าวต่อว่าความเห็นตนนั้นไม่ได้ดูถูกความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านว่าจะบริหารเงินไม่เป็น แต่การนำภาษีของประชาชนมาใช้ ต้องมีความรอบคอบเป็นอย่างยิ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ถ้าหากรัฐบาลมีเจตนากระจายอำนาจการคลังจริง ทำไมไม่ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นทุกปี อันเป็นหน้าที่ที่ทุกรัฐบาลต้องทำ

วีระพล โสภา กล่าวว่า คำถามสำคัญคือการแจกเงินให้ชาวบ้านรัฐบาลจะแจกได้นานแค่ไหน และตนเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาชาวบ้านได้จริง หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาระดับรากหญ้า ตนเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ทำให้ชาวบ้านสร้างรายได้จากผลผลิตการเกษตรของตน โดยเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเอง ราคาสินค้าเกษตรต้องไม่ตกต่ำ และยกเลิกการเปิดการค้าเสรีที่เข้ามาทำลายตลาดสินค้า

เอสพีวี กับโครงการโคแก้จน
หนึ่งในนโยบายแก้จนของเกษตรกรที่ฮือฮา และฉาวโฉ่อย่างมากคือนโยบายโคแก้จน โดยรัฐบาลได้จัดตั้งองค์กรนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่เรียกกันคุ้นหูว่า เอสพีวี (Special Purpose Vehicle ) หรือ บริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด (สอท.) เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย โดยเอสพีวีมีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรด้านการจัดการตลาด และการเงิน สำหรับสินค้าเกษตรตัวแรกที่เอสพีวีจะช่วยเหลือคือ โคเนื้อ จึงเกิดโครงการ โคแก้จนดังกล่าว นอกจากนี้ก็มีโครงการปาล์มน้ำมัน และโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในระยะต่อไปอีกด้วย

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อตั้งเอสพีวีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โครงการวัวแก้จน หรือโครงการวัวล้านครอบครัวก็เริ่มต้นดำเนินการ คณะรัฐมนตรีอนุมัติส่งมอบโคเนื้อรุ่นแรกของโครงการที่รับการสนับสนุนโดยผ่านกลไกเอสพีวี ให้เกษตรกรจำนวน 2.5 แสนตัวในเดือนกรกฎาคม 2548 และครบ 5 ล้านตัวในปี 2551

วงเงินกู้ระหว่างปี 2548-2551 รวมทั้งสิ้น 36,042 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณด้านการผลิตโคเนื้อ 33,532 ล้านบาท การแปรรูปและผลิตภัณฑ์ 1,710 ล้านบาท ด้านการตลาด 800 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2548 ใช้เงินลงทุนด้านการผลิตโค 5,497 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 8,303 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อโครงการสำเร็จในปี 2550-2551 จะมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 1.95 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ 34,543 ล้านบาทต่อปี หรือมีรายได้เพิ่มครอบครัวละ 1.3 - 2.5 หมื่นบาทต่อปีสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเพื่อผลิตลูกขาย และมีรายได้เพิ่ม 1.8 หมื่นบาทต่อ ปี สำหรับเกษตรกรที่รับจ้างผสมเทียม

โครงการดังกล่าวถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100 % เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรยากจน จะได้รับลูกโคก็ต่อเมื่อผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมวิธีการเลี้ยงโคอย่างถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ และต้องทำความเข้าใจต่อสัญญาของเอสพีวีเสียก่อน ช่วงเริ่มต้นหน่วยงานหลักที่จะทำหน้าที่ในการจัดหาสินเชื่อให้แก่เกษตรกร คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เจ้าเดิม ในโครงการระบุว่าจะส่งมอบโคให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเมื่อลูกโคหย่านม มีอายุประมาณ 7-8 เดือน เงื่อนไขในการเลี้ยงโคนั้นจะต้องให้อาหารหญ้าที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น เมื่อโคโตเต็มที่ บริษัทเอสพีวีจะรับซื้อคืนกิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อจำหน่ายให้โรงฆ่าสัตว์

แต่ในความเป็นจริงจากการศึกษาขององค์กรพัฒนาเอกชนในอีสานพบว่า การเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์การเกษตรที่บ้านโพนยางคำ ต.เนินหอม จ.สกลนคร โคที่จะขุนได้ต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 300-400 กิโลกรัม อายุประมาณ 2-4 ปี ถึงจะทำให้เนื้อมีคุณภาพ นอกจากนี้อาหารของโคที่ขุนในแต่ละวันต้องใช้เงินที่สูงมาก ไม่ใช่แค่หญ้า แต่ประกอบด้วยน้ำ หญ้าสดในฤดูฝนวันละ 6-12 กิโลกรัมต่อตัว ฟางข้าวทดแทนหญ้าสด 3-6 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน อาหารข้น (อาหารเม็ด) 6-7 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน กากน้ำตาลวันละ 2-3 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน

ในส่วนของอาหารข้นนั้นมีสูตรอาหารที่จะต้องมีสัดส่วนของโปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ กาก แป้ง ซึ่งวัตถุดิบไม่ได้อยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลืองหรือปลาบ่น น่าสังเกตว่าวัตถุดิบเหล่านี้อยู่ในมือของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของนายทุน

- นายศิริศักดิ์ ฉลามศิลป์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรโพนยางคำ ยอมรับว่าแม้สหกรณ์ฯ จะมียอดจำหน่ายอาหารข้นสูงถึง 210 ตัน ก็ยังไม่ผลิตอาหารข้นเองเพราะต้นทุนสูงมาก วัตถุดิบต้องสั่งซื้อจากบริษัทใหญ่ๆ
ข้อเท็จจริงด้านต้นทุนการผลิตที่สูงมากเช่นนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้จะหายจนได้จริงหรือ เพราะจากข้อมูลจากสหกรณ์โพนยางคำนั้น ขนาดสหกรณ์โพนยางคำรับซื้อราคาประกันกิโลกรัมละ 89 บาท เกษตรกรยังแทบไม่ได้กำไร แถมบางตัวยังขาดทุนด้วยซ้ำ ดังนั้นหากบริษัทเอสพีวีรับซื้อราคากิโลกรัมละ 50 บาท เกษตรกรจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

นโยบายของรัฐบาลทักษิณที่มีต่อประชาชนระดับล่างยังมีอีกมาก เช่น การส่งเสริมการปลูกยางพาราในภาคเหนือและอีสาน, โอท็อป, 30 บาทรักษาทุกโรค, นอกจากนี้ยังมีนโยบายสาธารณะใหญ่ๆ เช่น นโยบายพลังงาน, นโยบายการจัดการน้ำ, การจัดการป่า, การจัดการที่ดิน, การศึกษา, สาธารณสุข, และเอฟทีเอ, สำนักข่าวประชาธรรมจะทยอยมานำเสนอในโอกาสต่อไป


แกะรอยนโยบายทักษิณ ผลกระทบรากหญ้า (๒)

เบญจา ศิลารักษ์ และ มนูญ มุ่งชู : สำนักข่าวประชาธรรม
สำนักข่าวประชาธรรมได้จัดทำรายงานพิเศษชุด "แกะรอยนโยบายทักษิณ" มาแล้ว 1 ตอน ตอนแรกนำเสนอประเด็นนโยบายพักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล และโครงการเอสพีวี กับโคแก้จนไปแล้ว ตอนนี้ถือเป็นตอนที่ 2 นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับยาเสพติด โอท็อป และโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา

ยาเสพติดฆ่าตัดตอน ละเมิดสิทธิมนุษยชน
นโยบายที่ฮือฮา และถูกตั้งคำถามอย่างมากจากนักสิทธิมนุษยชน และประชาชนโดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้า คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดในปี 2546 ช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 โดยรัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด 3 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 โดยมีการตั้งเป้าตัวเลข เช่นว่าถ้ามีสถิติการจับกุมมากก็จะได้รางวัล

ภายหลังการดำเนินงาน ขณะที่รัฐบาลแถลงถึงผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามพบว่า ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการฆ่าตัดตอน โดยมียอดผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 2,500 ศพ
แม้ในช่วงแรกๆ ชนชั้นกลางอาจจะเห็นดีด้วยกับรัฐบาล ที่หันมาเอาจริงเอาจังกับปัญหายาเสพติด แต่ภายหลังจากที่มีการฆ่าตัดตอนเป็นจำนวนมาก เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป ในการตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรรม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพราะการตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ หลายกรณีไม่มีการสืบสวน สอบสวนใดๆ และยังมีกรณีการขึ้นบัญชีดำที่ผิดพลาดอีกเป็นจำนวนมาก จนทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องถูกวิสามัญฆาตกรรม

ชุมชนหลายชุมชนโดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขาพบว่า ภายหลังการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด ทำให้หมู่บ้านมีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น เพราะพ่อแม่ ญาติพี่น้องถูกฆ่าตัดตอนกลายเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน นอกจากนี้นโยบายการปราบปรามขั้นเด็ดขาดนี้ยังไม่อาจสาวไปถึงผู้บงการใหญ่ได้ ซึ่งบางส่วนก็แฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการและนักการเมือง เพียงแค่ทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดหยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่ง แต่หลังจากนี้การแพร่ระบาดของยาเสพติดก็หวนคืนมาอีกครั้ง เพราะผู้ค้ารายใหญ่ และผู้เสพยังคงอยู่ดำรงอยู่เช่นเดิม

โอท็อป ใครได้ประโยชน์ ?
โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอท็อป คืออีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลประชานิยมชุดนี้ภูมิใจนำเสนอด้วยหวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพต่างๆ ของชุมชนในระดับรากหญ้ามีรายได้เสริมขึ้นมา สอดรับกับโครงการพักชำระหนี้ และกองทุนหมู่บ้านที่เป็นแหล่งเงินกู้ใหม่ของชุมชนที่จะได้กู้มาประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องห่วงกังวลกับเรื่องหนี้สินเดิมเพราะได้รับการพักชำระหนี้ไว้แล้ว

ผลจากการโฆษณาโครงการ 3 ประสานดังกล่าวส่งผลให้ ไทยรักไทย ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐบาลพรรคเดี่ยวด้วยเสียงท่วมท้น ภายใต้การนำของผู้บัญชาการประเทศที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ที่มีแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยการทุ่มเม็ดเงินลงสู่ชุมชนอย่างเต็มอัตราสูบ ด้วยความเชื่อว่าเงินจะบันดาลทุกอย่างได้ดั่งใจฝัน แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว สวนทางกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ต้องการให้ชุมชนอยู่พอดี กินพอดีไม่ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง

โอท็อป คืออีกโครงการประชานิยมหนึ่งที่รัฐได้ไหลเงินลงสู่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมที่มุ่งผลิตเพื่อแข่งขันภายใต้กลไกตลาดแบบทุนนิยม ทั้งที่ชุมชนเองยังไม่พร้อมทั้งองค์ความรู้ด้านการผลิต การตลาด การบริหารการจัดการองค์กร โอท็อปจึงเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการธุรกิจในชุมชน ที่ทำการผลิตมาก่อนและเข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่มาจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการโอท็อป เพราะเห็นว่าจะเป็นช่องทางการตลาดหนึ่งเท่านั้น ส่วนผู้ผลิตระดับรากหญ้าที่ขาดประสบการณ์ และที่ยังล้มลุกคุกคานอยู่ต่างก็ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือกลุ่มที่ผลิตเหล้าพื้นบ้าน สาโท และไวท์ ที่ช่วงแรกๆ มาจดทะเบียนกันอย่างคึกคักร่วม 2,000 กลุ่ม ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการมือใหม่จึงได้แต่ทำการผลิตที่เน้นแต่ปริมาณเพื่อป้อนตลาดอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงคุณภาพ และศึกษาทิศทางของตลาด หลังจากนั้นเพียงปีเดียว กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาเปิดเผยว่า เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยกลุ่มหรือ 5% เท่านั้น ที่เหลือ เลิกกิจการ เพราะขาดทุนซ้ำยังติดหนี้ทั้งในและนอกระบบกันหลายหมื่น หลายแสน เจ๊งกันระนาว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากลุ่มที่เหลือ 5 %ที่ว่านั้นก็คือกลุ่มธุรกิจชุมชนที่มีเงินหนากว่านั่นเอง

นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดจากแนวทางการส่งเสริมที่มุ่งเพียงการตลาดด้านเดียวยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โอท็อปรากหญ้าล้มหายตายจากไป แม้กระทั่งกลุ่มที่ได้รับการรับรองให้เป็นโอท็อป 4 - 5 ดาว แต่เป็นการรับรองเพียงความสะอาดและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เท่านั้น ไม่ได้รับรองถึงคุณภาพ รวมทั้งการบริหารการจัดการองค์กรไปด้วย

ดังนั้นการส่งเสริมกลุ่มโอท็อป จะต้องไม่มองข้ามกลุ่มที่ทำการผลิตวัตถุดิบที่ป้อนให้กลุ่มแปรรูปด้วยว่า กระบวนการผลิตเหล่านั้นเป็นมาอย่างไร หากสินค้าโอท็อปสวยหรูเพียงหน้าตา แต่ฉาบทาด้วยสารเคมีก็ผิดเจตนาที่รัฐอ้างว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย นำครัวไทยสู่ครัวโลก เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ทำการผลิต กลุ่มแปรรูป และกลุ่มที่ถนัดเรื่องการตลาด จะต้องถูกส่งเสริมไปพร้อม ๆ กัน

นางปรีชา ทองพินทุ ประธานกลุ่มแปรรูปอาหารจากกล้วย บ้านกวางดีด ต.โนนสมบูรณ์ อ.นาจรวย จ.อุบลราชธานี สะท้อนให้ฟังว่า เริ่มก่อตั้งกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2542 พอพัฒนาการอำเภอเห็นว่าทำได้สะอาดดี จึงได้ทำเรื่องขอองค์การอาหารและยา (อย.) ให้ ส่วนเรื่องการตลาดก็จะเร่ขายตามงานแสดงสินค้า ส่งขายตามร้านค้าบ้าง ตามโรงพยาบาลบ้าง นาน ๆ ทีทางพัฒนาการอำเภอก็จะสั่งให้ทำเพื่อจะนำไปขายในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี กรุงเทพ

ทุกครั้งที่ทางอำเภอสั่งมา ทางกลุ่มจะคัดสรรกล้วยอย่างดีทำอย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ จนเมื่อปี 2547 ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มก็ได้รับรางวัล 4 ดาว แต่ทำไปทำมาก็ต้องหยุด เพราะต้นทุนสูงขึ้น กล้วยราคาจากแรก ๆ ที่ทำหวีละ 5 บาทตอนนี้ขยับเป็นหวีละ 14 - 20 บาทและน้ำตาลก็ขึ้นราคาอีก ทำให้สมาชิกหลายคนลาออกไปทำงานที่กรุงเทพเพราะได้เงินดีกว่า รอเงินปันผลจากกลุ่มทุก ๆ 3 เดือนได้เพียงคนละ 2-3 พันบาทเท่านั้น

เมื่อถามถึงหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุน ประธานกลุ่มแปรรูปกล้วย ชี้แจงว่า ส่วนใหญ่จะช่วยในรูปสิ่งของเช่น พัฒนาชุมชนอำเภอช่วยเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการแปรรูปกล้วย 60,000 บาท และอบต. 30,000 บาท องค์การต่างประเทศอย่างเดนมาร์ก บริจาคตู้อบราคา 20,000 บาท ล่าสุดนี้มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตร จังหวัดอุบลฯ ที่ช่วยเหลือเป็นตัวเงินลงมา 40,000 บาท แต่เป็นช่วงที่สมาชิกยังไม่พร้อมที่จะทำการผลิตเพราะส่วนใหญ่ยังไม่กลับจากทำงานที่กรุงเทพฯ จึงได้นำเงินมาให้สมาชิกกู้ยืมโดยทางกลุ่มคิดดอกเบี้ยร้อยละบาท นางปรีชากล่าว

เสียงสะท้อนเหล่านี้จึงดูไม่สอดคล้องและเป็นไปตามคำโฆษณาของรัฐบาลที่ว่า โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มียอดขายมหาศาล ทะยานจาก 200 กว่าล้าน เมื่อปี 2544 เป็น 50,000 กว่าล้านในปีนี้ (2549) และอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะพุ่งขึ้นเป็นแสนล้าน โดยโครงการนี้มีชุมชนได้รับประโยชน์ 36,000 ชุมชนทั่วประเทศ

เมธาวี นินนานนท์ เจ้าหน้าที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า โครงการโอท็อปนั้นไม่ได้ประสบผลสำเร็จทั้งหมดตามที่รัฐกล่าวอ้าง แต่ที่เห็นโชว์ในงานแสดงสินค้าหรือร้านค้าต่างๆ นั้นเป็นผลสำเร็จของเป็นของกลุ่มที่มีทุนหนา ส่วนกลุ่มที่อยู่ระดับรากหญ้าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ รูปแบบการยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็น 2 ดาว 3 ดาวนั้น ตนเห็นว่าเป็นการกีดกันพัฒนาการของกลุ่มรายย่อย กล่าวคือ คนที่ไม่ได้ดาวก็จะเข้าไม่ถึงแหล่งทุนเพื่อที่จะนำมาพัฒนางานต่อ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็จะมุ่งส่งเสริมกลุ่มที่มีดาวเป็นหลัก

" ที่ผ่านมาแนวทางการส่งเสริมไม่ได้สอดคล้องกับคนรากหญ้า แต่เอื้อกับกลุ่มธุรกิจชุมชนมากกว่า ดังนั้นกลุ่มที่ได้ดาวก็จะเป็นเพียงกลุ่มเดิม ๆ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีดาวก็จะไม่กล้าเปิดเผยผลงานของตน ทำให้ขาดกำลังใจที่จะสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายกลุ่มก็จะสลายตัวไปเหลือเพียงกลุ่มธุรกิจชุมชนที่มีทุนหนา ถึงจะดำรงอยู่ได้ " เจ้าหน้าที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น จ.อุบลราชธานี กล่าว

จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าตัวเลขยอดขายมหาศาลที่รัฐบาลนำมาอวดอ้างนั้นในความเป็นจริงแล้วใครคือผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง มายาภาพที่เจ้าหน้าที่รัฐนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ว่ารัฐได้ส่งเสริมกลุ่มโอท็อปชุมชนให้เข้มแข็งนั้นแท้จริงแล้ว โอท็อปชุมชนรากหญ้าจริง ๆ ได้รับอานิสงค์จากโครงการนี้สักกี่ราย...?

ยางพารา ความจริงที่รัฐไม่เปิดเผย
บทเรียนความล้มเหลวจากการส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว ได้สร้างความบอบซ้ำให้กับภาคเกษตรกรรมมายาวนาน นับตั้งแต่การส่งเสริมให้ปลูกปอ มันสัมปะหลัง อ้อย และพืชเชิงเดี่ยวอื่น ๆ จนที่สุดเกษตรกรภาคชนบทที่ถูกความผันผวนของราคาฉุดกระชากดำดิ่งลงสู่วังวนของหนี้สิน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยจนเป็นที่มาของคำว่า "ลูกจ้างใส่ทอง เจ้าของไร่ใส่โซ่" ซึ่งหมายถึงคนต่างถิ่นที่มารับจ้างก็จะรับเงินรายวันไป ส่วนเจ้าของไร่ กลับถูกโซ่พันธนาการของโรงงานเนื่องจากไปกู้เงินออกมาก่อน

จนถึงปัจจุบันแม้หลายคนจะเลิกปลูกอ้อยไปหลายสิบปีแล้วแต่ก็ยังต้องตามใช้หนี้โรงงานอย่างไม่รู้วันสิ้นสุด ร่องรอยความเจ็บปวดเหล่านั้นควรยิ่งที่รัฐบาลจะหยิบยกขึ้นมาทบทวนก่อนตัดสินใจส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวชนิดใหม่

ยาพารา พืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ ที่น่าจับตา
แม้ว่ายางพาราจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนอีสาน เพราะจากการศึกษาพบว่า ยางพาราได้เข้ามาในอีสาน 40 - 50 ปีมาแล้ว โดยคนที่ไปรับจ้างกรีดยางภาคใต้ได้นำกลับมาปลูก เพราะเห็นว่าเป็นไม้แปลกแต่ไม่ได้มุ่งเน้นปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจแต่อย่างไร กระทั่ง สถาบันวิจัยยางเห็นว่าภาคอีสานปลูกยางได้จึงทดลองปลูกเพื่อศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เมื่อปี 2521 เปิดหน้ายางเมื่อปลายปี 2527 และพบว่า

แม้ภาคอีสานจะมีวันกรีดมากกว่าภาคใต้ แต่ปริมาณที่กรีดได้แต่ละวันจะน้อยกว่า เพราะปริมาณน้ำฝนน้อย แต่ผลจากการศึกษาพบว่ายางมีคุณภาพไม่ต่างจากภาคใต้ รัฐบาลจึงได้มีมติ ค.ร.ม. 20 มิ.ย. 2532 ให้ สกย.ส่งเสริมการปลูกยางในภาคอีสานโดยให้ทุนให้เปล่า 2 ปีครึ่งแก่เกษตรกร แต่เมื่อครบกำหนดยางไม่สามารถกรีดได้จึงได้ขยายทุนให้เปล่าเพิ่มเป็น 7 ปีครึ่ง โดยให้พันธุ์ยาง ปุ๋ย เงินค่าแรงงานเกษตรกรไร่ละ 4,621.50 บาท รายละไม่เกิน 14 ไร่ กำหนดพื้นที่ 150,000 ไร่ กระทั่งปี 2544 รัฐบาลจึงยุตินโยบายให้เงินทุนให้เปล่าเพราะเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นเรียกร้องทุนแบบให้เปล่าบ้าง

พัฒนาการดังกล่าวจะเห็นว่า เกษตรกรภาคอีสานที่สามารถกรีดยางได้ในปัจจุบันนั้น ได้เริ่มทดลองปลูกมาก่อนหน้านี้แล้วไม่น้อยกว่า 5 - 10 ปี จังหวะราคายางในปัจจุบันที่สูงมาก ทำให้เกษตรกรเริ่มตื่นตัวหันมาสนใจปลูกยางพารากันอย่างคึกคักตลอดระยะเวลา 1- 2 ปี ที่ผ่านมานี้พร้อมกับการโหมโรงของรัฐบาลที่คาดว่าราคายางพาราจะสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก

นายเทพเจริญ สินศิริ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนปลูกเริ่มปลูกยางมาตั้งแต่ ปี 2534 โดยการส่งเสริมของเกษตรอำเภอ ตอนแรกส่งเสริมให้ชาวบ้านคนละ 10 ไร่ แต่ตนให้ 20 ไร่ โดยทางเกษตรอำเภอให้พันธุ์ยาง ให้ปุ๋ย ค่าแรงขุดหลุม ค่าไถ ค่าพรวนดิน โดยปลูกแทนแปลงที่เคยปลูกมันสัมปะหลัง ช่วง 3 ปีแรกก็ยังปลูกมันสำปะหลัง และถั่วลิสงแซมอยู่ แต่ตนพบว่าหากปลูกมันสำปะหลังแซมยางจะไม่ค่อยโตจึงหยุด จึงปลูกเพียงไม้พุ่มขนาดเล็กเช่น ถั่วลิสง

นายเทพเจริญ เล่าต่อว่า สวนยางของตนเปิดกรีดไม่พร้อมกัน บางแปลง 7 ปี ส่วนแปลงที่ดินไม่ดีก็ยืดเป็น 10 ปี เปิดกรีดปีแรกประมาณปี 2541 ราคาช่วงนั้น กิโลกรัมละ 25 บาท เนื่องจากดินเสื่อมคุณภาพจากการปลูกมันสำปะหลังมาก่อนจาก 20 ไร่จึงเหลือเพียง 15 ไร่ ที่ผ่านมากรีดได้ระหว่าง 39 - 53 แผ่น กรีด 2 วันหยุด 1 วัน หยุดกรีดเดือน กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน คือ 1 ปี หยุด 3 เดือน ช่วงหน้าฝนวันฝนตกก็กรีดไม่ได้ ถ้ากรีดอยู่ฝนตกก็ต้องหยุดกรีดและเก็บยางไปทำเป็นขี้ยางขาย ซึ่งราคาก็ต่ำกว่ายางแผ่น ส่วนการดูแลก็มีค่าปุ๋ยไร่ละ 2 กระสอบต่อปี

"ตอนนี้หมู่บ้านเปลี่ยนไปมาก บ้านหลังใหญ่ขึ้น มีรถกระบะ รถมอเตอร์ไซค์เยอะ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นวัยรุ่นไม่ไปขายแรงงานต่างถิ่น ส่วนใหญ่กรีดยางอยู่ที่บ้าน ที่ผ่านมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดต่าง ๆ มามากแล้วต้นทุนสูง ราคาต่ำไม่คุ้มทุน แต่พอตัดสินใจปลูกยางความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น " นายเทพเจริญ กล่าว

หากมองเพียงปรากฎการณ์ที่เห็นนี้ ย่อมเป็นสิ่งเร้าสำคัญให้เกษตรกรรายอื่นคล้อยตาม และตัดสินใจทุ่มทุนปลูกยางพาราบ้าง โดยลืมไปว่าเจ้าของสวนยางเหล่านั้น ที่พวกเขาประสบผลสำเร็จได้เพราะเงินทุนให้เปล่าของรัฐบาลไม่ใช่เงินทุนตัวเอง

นายสิง ยี่เข่ง บ้านโป่งน้อย ต.คอนสาย อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เจ้าของสวนยางที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกย.ที่เปิดหน้ายางมาแล้ว 3 ปี ได้พูดเตือนสติคนที่เพิ่งจะเริ่มปลูกยางใหม่ ว่า การปลูกยางพาราต้องใช้เงินทุนสูงมาก และต้องลงทุนระยะยาวคือประมาณ 5 - 7 ปี บางพื้นที่เป็น 10 ปี หากไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลก็คงยากที่เกษตรกรจะปลูกเองได้

" ที่จริงตนไม่กล้าบอกคนอื่นตรง ๆ อย่างนี้หรอก เดี๋ยวเขาหาว่าพอตัวเองทำได้ก็จะกีดกันคนอื่น แต่จากประสบการณ์ของคนที่ทำมาก่อน ก็อดเป็นห่วงไม่ได้โดยเฉพาะคนที่ลงทุนเอง เพราะต้นทุนสูง กล้ายางไร่ละ 90 ต้น ๆ ละ 16 บาท ใส่ปุ๋ยไร่ละ 1,000 บาทต่อปี ฉีดยาฆ่าหญ้า ถ้าไม่ฉีดเองก็ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานอีก อย่างไร่ติดกัน เริ่มปลูกเมื่อปี 47 ลงทุนเอง ประมาณ 90 ไร่ แค่ 2 ปีกว่าหมดเงินไปแล้ว 9 แสนบาท และกว่าจะได้กรีดอีก3 - 5 ปี ที่ต้องคอยดูแลต่อไปจนกว่าจะได้กรีดต้องลงทุนอีกเท่าไหร่ พอถึงวันเปิดหน้ายางก็ต้องลงทุนเพิ่มอีก คือซื้อถ้วยรับน้ำยาง ลวดรัดถ้วย กระป๋องตวง ไม้กวาดน้ำยาง มีดกรีดยาง และที่สำคัญคือเครื่องรีดยาง โรงอบยาง อนาคตหากยางราคาไม่ดีเหมือนปัจจุบัน จะทำให้เกษตรกรที่ลงทุนเอง เป็นหนี้สินล้นตัว สำหรับคนที่เอาที่ดินไปจำนองไว้กับนายทุน สุดท้ายที่ดินก็จะหลุดมือไปในที่สุด " นายสิงกล่าว

ไม่เพียงแต่เรื่องการลงทุนเท่านั้น ยางพารายังเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ อีกมากมายหากจะไล่เรียงดูจะพบว่า ปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะยางพาราเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ การทำสวนยางของไทยที่ผ่านมาเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อสะดวกในการดูแลจัดการเจ้าของสวน จึงใช้ยาฆ่าหญ้าและทำลายพืชชนิดอื่น ทำให้พื้นที่ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ และเมื่อฝนตกลงมาจะชะล้างสารเคมีเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อสะสมไปนาน ๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนที่อยู่ในชุมชน

นอกจากนี้ยังมีกรณีการบุกรุกที่สาธารณะ ที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม และป่าหัวไร่ปลายนาซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนเพื่อปลูกยาง เช่น กรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติโคกผาดำ ป่าโคกหนองข่า และป่าภูบ่อบิด บ้านหนองแคน ม.9 ต.นาด้วง อ.นาด้วง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 10,000 ไร่โดยมีนายทุนและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในท้องถิ่นและต่างถิ่นหลายคน โดยใช้รูปแบบต่าง ๆ เช่นการซื้อต่อจากชาวบ้านที่บุกรุกเพื่อปลูกข้าวโพดมาก่อนแบบปากเปล่า บางแห่งมีผู้นำหมู่บ้านเป็นพยานขายในราคาตั้งแต่ไร่ละ 2,000 - 4,000 บาท ทั้งนี้ยังมีคนต่างชาติมากว้านซื้อที่ดิน โดยผ่านญาติพี่น้องภรรยาที่เป็นคนไทยเพื่อปลูกยางพารา
การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราโดยมองเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่มองบริบทด้านสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นบทสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลทั้งที่ได้ประกาศนโยบาย ส่งเสริมเกษตรกรรมแบบพอเพียง เกษตรอินทรีย์ มาตลอด

หากรัฐบาลไม่อยากเห็นเกษตรกรกลับเข้าสู่วังวนหนี้สินอย่างเก่าจะต้องหันกลับไปทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา ไม่ใช่ตระบันเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยเฉพาะการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแบบจิงโจ้ ตามที่ท่านผู้นำประเทศกล่าว ย่อมสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะนำพาประเทศไปสู่หายนะ

...................................................................................
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 หมู่ 5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร 0-5381-0779, 0-9759-9705 55555555555

12-18 กุมภาพันธ์ 2549
แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
270349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

นโยบายนี้ถือเป็นเงินการเมือง ชาวบ้านโดยทั่วไปก็จะชอบใจที่จะได้เงิน แต่ถ้าเป็นชาวบ้านที่ติดตามการแก้ปัญหาคนจนก็จะเข้าใจ และเกิดคำถามว่าจะเป็นการนำเงินก้อนใหม่มาให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเหมือนกองทุนหมู่บ้านหรือไม่ เป็นเงินผันสู่ชนบทเพื่อเสริมสร้างระบบอุปถัมภ์หรือไม่ ในส่วนของตนเห็นว่า เหมือนกับเป็นการบอกกับชาวบ้านว่าถ้าต้องการเงินจะต้องมอบอำนาจให้กับคุณทักษิณ เพื่อนำเงินออกมาจ่ายได้ เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า และเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

The Midnightuniv website 2006