Free Documentation
License
Copyleft : 2006,
2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document, but changing it is not allowed.
หากนักศึกษา
และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
The Midnight
University
ร่างบทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร
เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์
รศ.ดร.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ)
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นร่างบทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร
เกี่ยวกับการเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์
ซึ่งเอกสารฉบับนี้ได้นำเสนอความเป็นมาเกี่ยวกับการจัดตั้ง
กอส. ขึ้น
การกำหนดเป้าหมายการทำงาน การวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
มาตรการสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเข้าใจภาพกว้างทั้งหมดเกี่ยวกับการดำเนินการของ กอส. ที่ผ่านมา
สุดท้าย เป็นบทความของบะรูนห์ จากเนชั่นสุดสัปดาห์ ซึ่งได้วิจารณ์ร่างของ
กอส.ฉบับนี้
ทางกองบรรณาธิการได้นำมารวบรวมไว้อยู่ในภาคผนวก สนใจคลิกอ่านได้จากที่นี่
ภาคผนวก
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 940
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๗ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
15.5 หน้ากระดาษ A4)
เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ :
ร่างบทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร
รศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ)
ความนำ
เมื่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกลามต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2547 จนเกิดเหตุเศร้าสลดในกรณีตากใบ
คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน 144 คน ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2547 เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
หันมาให้ความสำคัญกับสันติวิธีและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ต่อมานายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญให้นายอานันท์
ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการชุดนี้ โดยให้มีอิสระเต็มที่ในการเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากฝ่ายต่างๆในสังคม
มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำงานร่วมกัน
ในวันที่ 28 มีนาคม 2548 นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 104/2548 แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีกรรมการ 48 คน เพื่อ "ให้บุคคลจากส่วนต่าง ๆ ของสังคม มาร่วมแรงร่วมใจกันหาทางยุติปัญหาดังกล่าวของประเทศในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ สันติสุข และความยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง"
และต่อมายังได้ออกคำสั่ง ที่ 132/2548 และที่ 212/2548 แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในภายหลังอีก 2 ท่าน คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย
- บุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 17 คน
- เป็นบุคคลในภาคประชาสังคมนอกพื้นที่ 12 คน
- จากภาคการเมืองทั้งที่เป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล 7 คน
- ส่วนอีก 12 คนมาจากภาคราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้ ทั้งในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาอื่นๆ
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เห็นว่าคนผิดคนร้ายมีหลายกลุ่ม มุ่งหลายเรื่องไม่ใช่เพียงเฉพาะหวังจะแยกดินแดน ที่สำคัญคนเหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก และควรต้องดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย แต่ขณะนี้ดูจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ช่วยให้พวกเขาทำการของตนอย่างได้ผลต่อเนื่อง
ที่สำคัญยิ่งกว่าปัญหาความรุนแรงรายวันคือ อนาคตของสังคมไทยซึ่งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในสังคม ถ้าพวกเขาผูกพันรักใคร่กัน ไม่ว่าจะมีใครคิดร้ายเพียงไร สังคมไทยก็มั่นคงแข็งแรง แต่หากพวกเขามีความโกรธแค้นเกลียดชัง หรือเพียงไม่แยแสใส่ใจในทุกข์ร้อนของกันและกัน อนาคตของสังคมไทยก็จะมืดทะมึนไปด้วยเมฆหมอกแห่งความรุนแรง ไม่ว่าจะใช้ปืนกี่กระบอกหรือใช้กำลังสักเพียงไร ก็สร้างความร่มเย็นในสังคมให้หวนคืนมาไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ กอส.จึงมิได้ทำงานเพียงเพื่อจะหยุดความรุนแรงรายวัน แต่มีฐานะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางลดความรุนแรงในสังคมไทย สร้างสันติที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น จึงมุ่งทำงานสมานฉันท์กับเป้าหมายสำคัญ 3 อย่าง คือ
เป้าหมายการสมานฉันท์
1. มุ่งหาหนทางให้ผู้คนทั้งส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมและส่วนน้อยที่เป็นพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อยู่ในสังคมการเมืองไทยอย่างพลเมืองไทยที่มีความสุขตามสมควร
2. มุ่งหาหนทางให้ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ เข้าใจเหตุอันซับซ้อนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ร้อนของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. มุ่งคิดถึงการสร้างอนาคตที่ผู้คนซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และระหว่างผู้คนในที่นั้นกับสังคมไทยส่วนรวม เพื่อให้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข
งานสมานฉันท์จึงเป็นความพยายามจะตอบปัญหาว่า เหตุร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราได้อย่างไร จะลดทอนผ่อนเบาปัญหาที่รุมเร้าอยู่ในตอนใต้ของประเทศ ด้วยการลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงได้อย่างไร จะสรรค์สร้างสังคมการเมืองไทยอย่างไร ให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้อย่างมีศักดิ์และสิทธิเสมอกัน และเอื้ออาทรต่อกันในฐานะเป็นพลเมืองของสังคมไทยที่เข้มแข็งร่วมกัน
วินิจฉัยปัญหา
สังคมไทยต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจว่า แม้ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปมเหตุในระดับโครงสร้างคล้ายปัญหาชนบทไทยในที่อื่น
ๆ คือประสบปัญหาความยากจน ความโหดร้ายในการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากอำนาจเศรษฐกิจภายนอก
ความอ่อนด้อยของคุณภาพการศึกษา ความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม
แต่ความขัดแย้งนี้ถูกทำให้เข้มข้นอันตรายขึ้น เพราะความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์
ภาษา และประวัติศาสตร์อันถูกใช้เป็นข้ออ้างแห่งความรุนแรงได้ง่าย การเอาชนะปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก
โดยมุ่งจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อยทั้งในพื้นที่และในประเทศ
เพื่อแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง และต่อสู้กับข้ออ้างแห่งความรุนแรงในระดับวัฒนธรรม
กอส.เห็นว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างปัญหาความยากจน หรือความไม่เป็นธรรม เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรง เพราะเป็นทั้งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดแนวร่วมและการสนับสนุนทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ใช้ความรุนแรงได้ ขณะเดียวกันก็วินิจฉัยชัดว่า ศาสนาไม่ใช่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็เกี่ยวกับความรุนแรงนี้ในฐานะข้ออ้างที่คนบางกลุ่มนำมาใช้ให้ความชอบธรรมกับวิธีการรุนแรงของตน ที่สำคัญศาสนาก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ใช้ให้ความชอบธรรมเช่นนี้
ประวัติศาสตร์ปัตตานีและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ความเป็นมลายูก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงด้วย
ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นจากเงื่อนไข 3 ประการคือ
ประการแรก เป็นเงื่อนไขเชิงบุคคล ได้แก่ การใช้อำนาจทางการปกครองที่ในทางที่ผิดเหมือนไม่มีขอบเขต การใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ และ การตอบโต้ของฝ่ายรัฐด้วยความรุนแรง
ประการที่สอง เป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง อันได้แก่
- ความไม่เป็นธรรมอันเกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมและลักษณะการปกครองที่เป็นอยู่
- เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เข้มแข็ง มีคนจนจำนวนมาก ขณะที่ความกดดันทางทรัพยากรธรรมชาติ กำลังผลักชาวบ้านเข้าสู่ความยากจนและไม่มีทางเลือก
- การศึกษาที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ประชาชนส่วนใหญ่ มีพลังเอาชนะการท้าทายทางสังคมในรูปต่างๆทั้งทางโลกและทางธรรม
- ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ขณะที่จำนวนประชากรไทยพุทธลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ปัญหาเกิดขึ้นในบริบทภูมิรัฐศาสตร์บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยและในมาเลเซีย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้คนระหว่างสองประเทศอย่างแจ่มชัด
ประการที่สาม เงื่อนไขทางวัฒนธรรม ได้แก่ ลักษณะเฉพาะทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพื้นที่คือ ศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และประวัติศาสตร์ปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง หรือทำให้ผู้คนไม่น้อยยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาศัยเงื่อนไขทางชาติพันธุ์ผสานกับศาสนามาเป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม
แนวโน้มในอนาคต
เมื่อประเมินแนวโน้มในอนาคตจากข้อมูลความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี
2547 ถึง สิ้นปี 2548 ถ้าไม่มีเงื่อนไขต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง คงสรุปได้ว่า
1. แม้ในช่วงปลายปี 2548 จำนวนเหตุการณ์รุนแรงจะลดลงบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังไม่เห็นแนวโน้มว่า ความรุนแรงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
2. การใช้ระเบิดมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มในครึ่งหลังของปี 2548 พบว่า มีการใช้ระเบิดสร้างความรุนแรงมากขึ้นกว่าการลอบวางเพลิงเช่นที่เคยเป็นมา
3. ประชาชนสามัญตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
4. ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
5. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่ไว้ใจในรัฐ เพราะไม่แน่ใจว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ของรัฐมากน้อยเพียงไร
6. สถาบันทางวัฒนธรรมที่ผูกร้อยผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันอ่อนกำลังลง และเปลี่ยนคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันแต่เห็นต่างกันให้กลายเป็นดังคนแปลกหน้า หรือกระทั่งเป็นศัตรู ลิ่มแห่งความแตกแยกนี้ทำให้ผู้คนผูกติดอยู่กับการใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นผลโดยตรงของความกลัวและความหวาดระแวงต่อกัน
สภาพเช่นนี้นี่เองที่ทำให้การเลือกใช้ความรุนแรงมาแก้ปัญหา นอกจากจะผิดฝาผิดตัวแล้ว ยังจะทำให้สถานการณ์ข้างหน้าเลวร้ายลงอีก ดังนั้นทางออกของสังคมไทยเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มอันตรายในอนาคต จึงจำเป็นต้องหันมาหาแนวทางสมานฉันท์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้
มาตรการสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง
มาตรการการเมืองสมานฉันท์
กอส. เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตราพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(พ.ร.บ. ดับไฟใต้) เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง เสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
กอส. เห็นว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะประสบผลสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากกลไกที่อำนวยให้ยุทธศาสตร์ของภาครัฐในพื้นที่เป็นเอกภาพ และอีกส่วนมาจากกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีกลไกทั้งสอง หรือหากมีก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอ ดังนั้นจึงเสนอให้ออกพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ. ดับไฟใต้) เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา
พระราชบัญญัตินี้ ควรบัญญัติการตั้งองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 องค์กร ดังต่อไปนี้
1. ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) มีหน้าที่
- ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และวิธีการแก้ปัญหาในหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ในหมู่ประชาชนในพื้นที่และในสังคมทั้งหมดเป็นส่วนรวม และในประชาคมโลก
- สร้างความเป็นเอกภาพในยุทธศาสตร์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบังคับบัญชา ระดับปฏิบัติ
- เสนอแนะการโยกย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกจากพื้นที่
- ส่งเสริมการพัฒนาระบบและกระบวนการความยุติธรรมเพื่อสันติสุข และสมานฉันท์ใน พื้นที่
- ระงับยับยั้งการกระทำหรือนโยบายจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ขัดยุทธศาสตร์ของ ศยส. รวมทั้งมีอำนาจรายงานการกระทำดังกล่าวแก่รัฐบาล
- ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ความพอเพียง สมดุล สมานฉันท์ และร่มเย็นเป็นสุข
- ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกภาคประชาชน ที่จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ในการวางแผนการพัฒนา และในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญ
- เสนอแนะและรายงานการทำงานประจำปีต่อรัฐบาลและรัฐสภา
2. สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สภานี้จะไม่เป็นสภาที่ใช้อำนาจราชการหรืออำนาจบริหารอื่นใด แต่เป็นสภาที่ส่งเสริมกระบวนการการสร้างความรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การสร้างความยุติธรรม การพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง ทำหน้าที่เสนอแนะเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พิจารณาติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยราชการในพื้นที่ รวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งที่สามารถวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ความพอเพียง สมดุล ยุติธรรม สมานฉันท์ และร่มเย็นเป็นสุข3. กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์
ควรให้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับและรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนจำนวนมากพอสมควร ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่เป็นอิสระ อาจมอบให้สภาเพื่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้เสนอชื่อคณะกรรมการกองทุน
มาตรการสมานฉันท์เฉพาะหน้า
1. กอส. เสนอให้กองทัพไทยจัดตั้งหน่วยสันติเสนาซึ่งเป็นกองกำลังพิเศษผสมระหว่างพลเรือน
ทหารและตำรวจที่ไม่ติดอาวุธในการทำหน้าที่เฉพาะคือป้องกันมิให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้ว
ลุกลามกลายเป็นความรุนแรง
2. กอส. เสนอให้รัฐบาลไทยแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐเลือกใช้วิธีสานเสวนากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
และให้มีเอกภาพทางนโยบายความมั่นคงในเรื่องนี้
3. กอส. เสนอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกร้องเรียนว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ
ที่สำคัญ ให้คัดเลือกเฉพาะข้าราชการที่สุจริตและมีความเข้าใจลักษณะเฉพาะของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เข้าไปปฏิบัติราชการในพื้นที่
มาตรการสมานฉันท์ยั่งยืน
1. กอส. เสนอให้ปฏิรูประบบการจัดการและระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะต่าง
ๆ เช่น ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ท้องน้ำ ทะเลชายฝั่ง ป่าพรุ ตลอดจนป่าชุมชน ให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนอย่างเป็นระบบเพิ่มจากเดิมที่เป็นเฉพาะของปัจเจก
นิติบุคคล องค์กรท้องถิ่นและส่วนราชการ โดยกำหนดให้มีสิทธิกลางของชุมชนในการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
พื้นที่สาธารณะและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และให้รัฐบาลเร่งนำเอาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนเสนอให้รัฐสภาพิจารณาใหม่
2. แก้ปัญหาการว่างงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันคิดหาหนทางอันหลากหลาย
และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
3. สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมด้วยความจริง -หลักนิติธรรม-
ความพร้อมรับผิด และเสริมความเข้มแข็งของสังคมด้วยการให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมรักษาความยุติธรรมด้วยการ
- สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
- สร้างความเป็นเอกภาพของการกำหนดนโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรณาการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
- เสริมสร้างประสิทธิภาพของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรรม
- สร้างระบบการตรวจสอบการดำเนินกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ
- ปรับทัศนคติและวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
- เสริมสร้างบทบาทของภาคประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรม และพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางเลือก
4. ปรับปรุงระบบกฎหมายอิสลามในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการพิจารณาใช้ระบบศาลชารีอะฮฺบางส่วนในพื้นที่
5. แก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
พ.ศ.2540 เพื่อให้เกิดความเอกภาพและความโปร่งใสชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการ
และศาสนบริจาค
6. คงสภาพความหลากหลายในระบบการศึกษา -เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาสามัญ- และให้ความสำคัญกับนักเรียนไทยในต่างประเทศ
7. เสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการ
- ให้มีมติคณะรัฐมนตรีเร่งรัดการติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 โดยให้ทุกกระทรวงรายงานผลความคืบหน้าในการปฏิบัติเป็นระยะ รวมทั้งเผยแพร่รายงานอย่างกว้างขวางต่อสาธารณชนด้วย
- ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง มีหน้าที่ตรวจทานกฎหมายที่อาจขัดต่อแนวทางสันติวิธี แล้วยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านั้น รวมทั้งบัญญัติมาตรการส่งเสริมสันติวิธีด้วย
- ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เร่งจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้สืบต่อจากฉบับ พ.ศ. 2542-2546 โดยเร็วเพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์สันติวิธีที่สำคัญ โดยให้สภาความมั่นคงแห่งชาติติดตามผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์อย่างใกล้ชิด
- สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมในประเทศไทยและในโลกมุสลิม โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี บนฐานศาสนาอิสลามที่โลกมุสลิมยอมรับ
- ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับประเทศมุสลิมเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาความรุนแรงในระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นความต่อเนื่องเพื่อมิให้เกิดช่องว่างเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนความสัมพันธ์กับมาเลเซีย นอกจากนั้นยังต้องเร่งสร้างความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขของประเทศไทยกับองค์กรมุสลิมนานาชาติสำคัญๆ
8. ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในขอบเขตทั่วประเทศที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในสังคมไทย
9. ส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในการเผชิญกับความขัดแย้งทั้งประเทศ
10. ประกาศให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานเพิ่มเติมอีกภาษาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพื่อลดอุปสรรคในการติดต่อระหว่างประชาชนกับทางราชการ
11. จัดให้มีสานเสวนาเพื่อความสมานฉันท์
12. สร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมต่อต้านความรุนแรง ด้วยการเพิ่มความอดทนต่อกันหรือ
"ขันติธรรม" โดยให้คนส่วนน้อยและคนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสมาพบกันในเวทีที่เป็นทางการหรือกึ่งทางการ
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างแท้จริง รวมถึงฝึกการรับฟังความคิดที่แตกต่าง
และการหาทางออกร่วมกัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก : บะห์รูน-วิจารณ์ร่าง กอส.
"บะรูนห์" คอลัมน์นิสต์"สวนทางปืน"
ในเนชั่นสุดสัปดาห์
ความจริงร่าง กอส.ฉบับนี้ หากได้อ่านประกอบกับบทวิเคราะห์ ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
และ อ.เกษียร เตชะพีระ บรรยายในหลักสูตร"มลายูศึกษาเพื่อความสมานฉันท์"
ในหัวข้อ "สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต"
ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ. ปัตตานี ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค. 2549 ที่ผ่านมา
ผมเห็นว่าจะได้ความสมบูรณ์ ในการมองปัญหาและมองเห็นทัศนะและภาพรวมของความเป็นไปใน
3 จังหวัดได้ดีขึ้น
สำหรับผมแล้วร่างฉบับนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าของ กอส.ต่อปัญหา แต่ก็ยังได้กลิ่นอายของ กอส.ที่ยังมองรัฐคือ เหตุของความรุนแรง ไล่เรียงกันมาตั้งแต่อดีต ยุครัตนโกสินทร์ ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งวนเวียนอยู่กับเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา และความต้องการเป็นตัวตนคนมลายู ผมขอตั้งขอสังเกตเรื่องเหล่านี้ว่า แนวร่วมที่ปฏิบัติการในวันนี้ไม่มีใครเกิดทันรุ่นจอมพล ป.พิบูลสงครามหรอก การลิดรอนสิทธิหรือขัดขวางการเป็นมลายูหรือมุสลิม คนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ผมเชื่อว่าไม่ได้สัมผัสโดยตรงแล้ว แต่ถ้าเป็นความอธรรมที่เกิดจากน้ำมือคนของรัฐแน่นอนยังคงมีอยู่ และไม่ใช่เฉพาะที่นี่เท่านั้น มันเกิดทั่วประเทศ
แต่ปัญหาสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบัน ความด้อยของ กอส.ในการมองทะลุเหตุของปัญหานั้น เพราะเอาข้อมูลเก่าๆ ในอดีตที่เป็นความคับแค้นใจซึ่งมันถูกบรรเทาไปแล้วสำหรับคนที่ต่อสู้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ออกมาต่อสู้ในวันนั้นกลับเป็นคนออกมาบอกเล่า ในวันนี้มันจึงสับสนไปหมด คือผมไม่อยากวิจารณ์ร่างนี้ แบบวิชาการ แต่ขออนุญาตตั้งเป็นข้อสังเกตให้ได้ค้นคว้าหาคำตอบกันดีกว่า เช่น การที่ กอส. รู้สึกว่าน่าจะเรียกคนในสามจังหวัดเป็นไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เพราะรู้สึกว่าจะเป็นที่พอใจของผู้คนที่นี้ แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ ?
ถ้าจะหยิบยกตัวอย่าง เช่น คนมุสลิมไทยแต่งงานกับมุสลิมจีนมีลูกแต่งกับมุสลิมผรั่งมีลูกแต่งกับอาหรับ อย่างนี้คนรุ่นนี้จะเป็น ไทยมุสลิมเชื้อสายอะไร? เชื้อชาติมันคืออะไร? มีแล้วสำนึกแล้วมันตีกันจะมีไว้ทำไม? อิสลามบอกว่ามนุษย์ต้องสังกัดธรรมะ ไม่ใช่สังกัดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เมื่อมีคำว่ามุสลิมแล้วมันสูงสุดไม่ต้องมีอะไรพ่วงท้ายให้เป็นพลพรรคของ "อิบลิส"หรอก
เป้าหมายของผมคืออยากบอกว่าเหตุของความรุนแรงต้องพิจารณาห้วงเวลาขณะเกิดด้วย และต้องมองย้อนอดีต อย่างน้อย คุณควรต้องเป็น 1 ใน 3 สถานะเหล่านี้ จึงจะมองความเป็นไปใน 3 จังหวัดชัดเจน คือ
1. คุณต้องเป็นแนวร่วมเป็นคนของขบวนการ ถึงจะรู้และเข้าใจว่าเขาสู้เรื่องอะไร ไม่ใช่มานึกคิดเองว่าน่าจะสู้เพราะเรื่องนั้นประเด็นนี้
2. คุณต้องรู้จักอิสลามในฐานะศาสนาที่มีเป้าหมายในการปฏิวัติสังคม ไม่ใช่อิสลามที่ต้องการเพียงให้มนุษย์กราบไหว้พระเจ้า
3. คุณต้องเห็นประวัติศาสตร์ด้วยตาเนื้อไม่ใช่จิตนาการหรือบันทึกของใครต่อใครที่มีผลประโยชน์แอบแฝง โดยเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ประเด็นอื่นๆ ในการสมานฉันท์สังคมนี้ ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะผมฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ปัตตานีแล้วดูเหมือนจะยิ่งใหญ่มากๆ แต่ทำไมวันนี้ที่นี้ถึงไม่ยิ่งใหญ่ เราพูดถึงปาตานียิ่งใหญ่แต่ไม่ค่อยได้พูดถึงว่ามันเสื่อมได้อย่างไร?
ความรู้สึกเบื้องต้นเราคิดว่า คงเพราะสยามเป็นผู้ทำลาย เพราะเราถูกปลูกฝังมาเช่นนั้น แม้แต่ในร่างฉบับนี้ ได้กล่าวว่าปาตานีเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสนาอิสลามที่ดีที่สุดในแหลมมลายู ผมไม่แน่ใจว่าเอาข้อมูลมาจากไหน แต่ผมอยากเรียกร้องให้ลองตั้งประเด็นขึ้นมาว่า อะไรคือสัญลักษณ์หรือข้อบ่งชี้ว่าเป็นเช่นนั้น? โรงเรียนสอนศาสนาหรือปอเนาะมีมากที่สุดในยุคนั้นสักกี่แห่ง? มัสยิดกว่า 1,600 แห่ง เกิดขึ้นมาในช่วงใด ? มันมีก่อนการรวมเป็นรัฐใหม่กับสยามหรือว่าอยู่ในสมัยปาตานีเดิม? มากกว่าหรือน้อยกว่าอย่างไร? สังคมในอดีตปาตานีกับปัจจุบันยุคไหนผู้คนปฏิบัติศาสนกิจจริงจังกว่ากัน?
แล้วยิ่งพิจารณาประวัติศาสตร์ให้ดีจะเห็นว่า ส่วนของคนจีนหายไป เราพูดกันแต่มลายู จนลืมไปว่าคนมลายูหรือคนจีนกันแน่ที่เป็นพ่อค้าวานิชของปาตานี ความรุ่งเรืองของปาตานีคนจีนทำเรื่องเดียวคือหล่อปืนใหญ่หรือ? แล้วสุสานจีนที่ริมทะเลตันหยงลุโละ ใกล้กับกรือเซะเป็นของใคร? สมัยผมเด็กๆ ดำน้ำงมหาหอยกัน เห็นป้ายหินหน้าหลุมศพของชาวจีน จมทะเลเป็นเหมือนโขดหินกินเนื้อที่ประมาณ สองสามสนามฟุตบอลมีเป็นหมื่นหลัก บางป้ายยังเห็นโผล่มาเวลาน้ำลด ปัจจุบันก็ยังดำน้ำไปดูได้
หรือลองย้อนกลับไปสามสิบปีก่อนไปถึงรุ่นปู่รุ่นทวดผม ในแต่ละหมู่บ้านตำบลใหญ่จะมีร้านทอง ร้านรับซื้อยางที่เป็นของคนจีน มีชื่อเรียกตามถนัดของชุมชน เช่น ร้านเจ๊ะมะรับซื้อยาง ร้านปูเต๊ะขายทอง แล้ววันนี้คนจีนเหล่านี้หายไปจากหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อไรและทำไม? ผมหมายถึงว่าเมื่อปาตานีผนวกกับสยามแล้ว คนจีนก็ยังอยู่ในชุมชน แต่ในห้วง ๒๐ ปีนี้เองที่เริ่มหายไป แล้วลองทบทวนดูขบวนการเรียกร้องเอกราชปาตานีเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร? และทำไมวันนั้นคนจีนจึงยังอยู่ในชุมชนได้ แล้วลองดูต่อไปซิว่า ทำไมขบวนการฯที่อ้างความเป็นมลายู จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเพื่ออิสลาม ? เพราะการชูประเด็นมลายูมันขายไม่ได้แล้วใช่มั้ย?
ซึ่งหากจะวิจารณ์จริงๆ แล้ว อังกฤษเข้าครองมลายูแต่ไม่เอาปาตานี ทั้งๆ ที่เป็นเมืองใต้อิทธิพลของสยามเหมือนกลันตัน ตรังกานู และยังเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดียวกัน แล้วทำไมคนปาตานีไม่เกลียดอังกฤษที่ล่าอาณานิคมแต่เกลียดสยาม บันทึกต่างๆ ที่มีเรื่องราวปาตานีหากมีความร้ายกาจของสยามผสมอยู่ ชาติใดเป็นผู้บันทึก จับเชลยศึกปาตานีร้อยหวายพาขึ้นกรุงเทพเป็นจริงหรือ? ทำไมมันจึงเหมือนกับกรณีแคชเมียร์ ถ้าวันนั้นอังกฤษยินยอมให้อยู่กับปากีสถานเพราะเป็นเผ่าเดียวกันภาษาเดียวกัน วันนี้ความหมางใจระหว่างอินเดียกับปากีสถานกรณีแคชเมียร์ ก็เหมือนไทยกับมาเลเซียที่หมางใจเรื่องขบวนการต่อสู้ของปาตานี เรื่องนี้เป็นด้านประวัติศาสตร์
แล้วถ้าลองดูในด้านภูมิศาสตร์บ้าง ปาตานีเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ พอที่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนได้จำนวนมากหรือ? มีลมมรสุมให้เรือสินค้าเข้าออกตลอดปีหรือไม่? และระหว่างปาตานีกับมะละกาที่ไหนน่าจะเป็นเมืองท่าที่ใหญ่กว่ากัน. แล้วลองมองในด้านภาษาบ้างร้อยละ ๙๐ ของภาษามลายูที่ใช้อยู่ล้วนเป็นภาษาอื่นๆ นั้นหมายถึงว่าชุมชนที่นี้เรียนรู้และพัฒนาจากผู้อื่น ร่วมหุ้นกันค้าขายมลายูเรียก กงสี ซึ่งเป็นภาษาจีน แน่นอนคนจีนต้องเป็นคนอธิบายให้คนมลายูรู้จักวิธีการนี้ คำว่า ฟิเกร แปลว่าความคิดมาจากภาษา อาหรับ คำว่า "ซาลูวา"แปลว่ากางเกงมาจากเปอร์เซีย แสดงว่า คำพูดเรียกสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่เดิม รู้จักจากเจ้าของเดิม และมีมากถึงร้อยละ 90 มันหมายถึงสังคมนั้นก้าวหน้าอยู่เดิมจริงหรือ?
ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะเมื่อเราถูกปลูกฝังถูกทำให้เข้าใจว่าเรายิ่งใหญ่ แล้วหันมาดูตัวเองวันนี้มันไม่ใช่ เมื่อมีคนบอกเราว่า สยามไงมันเป็นคนทำลายเรา ทำให้เราตกต่ำลูกหลานมลายูปาตานีตกต่ำ เพราะสยาม แล้วเราก็เข้าร่วมกับคนบางกลุ่มบอกเล่าเรื่องราวเล่านี้ เพื่อหวังสร้างแรงกระตุ้นที่จะกอบกู้ ก่อให้โกรธเกลียดสยาม เราให้ความหมายของโลกมลายูถึงสุมาตรา แต่อินโดนีเซียกลับไม่ยอมรับว่าเขาคือมลายู เขาบอกว่าเขาคือ ยาวา อักษรยาวีที่เป็นรูปเดียวกันกับอักษรอาหรับแต่อ่านเป็นความหมายมลายู ที่ใช้อยู่ในบ้านเราก็มาจากเขา บันทึกในโลกมุสลิมรู้จักมะละกา แต่เราบอกลูกหลานเราว่า โลกรู้จักปาตานีมากกว่า
ตรงนี้แหละที่ผมบอกว่ามันคือหัวใจ โลกของมลายูปาตานีที่เป็นจริงทางประวัติศาสตร์อยู่ไหนกัน? ลังกาสุกะ กับสิงหนคร มันยิ่งใหญ่ต่างกันแค่ไหนเพียงใด? คือถ้าหากเราเห็นปาตานีก่อนสยามจะผนวกเป็นแค่เพียงเมืองที่ผู้ชายไม่ใส่เสื้อนุ่งโสร่งมีผ้าคาดศรีษะ ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงปาเต๊ะเกล้าผมไม่สรวมใส่ฮิญาบ มีมัสยิดรวมกันทั้งสามจังหวัดไม่ถึง 60 แห่ง บรรดาเจ้าเมืองเล่นพนัน มีระบบควบคุมสังคม คือ สุลต่านปกครอง สืบสันติวงศ์แย่งชิงบัลลังค์ มีคนจีนเป็นผู้มีอิทธิพลนอกเมืองที่เรียก เซอเดฆา(คนรวยมลายู) โอรังกายอ (คนรวยจีน) และมี โบมอหรือบอมอ คือหมอผีหมอรักษาซึ่งถ้าได้เป็นผู้รู้ศาสนาก็จะยิ่งมีอิทธิพล ทำนองเป่าน้ำมนต์
เหล่านี้คือความจริงของผู้คนที่นี้ซึ่งคนอายุ 40 ปีขึ้นไปย่อมรู้แก่ใจดี ถ้าทุกคนกลับมาอยู่กับความจริงมองเห็นความเสื่อมของปาตานี ความตกต่ำของลูกหลานมลายูมันเกิดขึ้นเพราะใครกันแน่ ?คือผมไม่ได้ปฏิเสธประวัติศาสตร์ แต่ผมอยากให้พิจารณาตามความจริงที่ปรากฏในวันนี้ด้วย ถ้าเราให้คะแนนความเจริญด้านต่างๆ ของเมืองสักเมืองเต็มสิบ ปาตานีจะได้คะแนนเท่าไร? ถ้าเราให้สิบทุกด้านแล้วย้อนกลับมาดูวันนี้ ซึ่งมันได้คะแนนแค่แปด ความรู้สึกว่ามันลดลงและอยากรู้ว่าเพราะอะไรใครทำให้ลดลง? เราก็ต้องหาแพะรับบาปเพราะเราไม่โทษตัวเองอยู่แล้ว แต่กลับกัน ถ้าคะแนนของปาตานีในอดีตได้แค่สาม ปัจจุบันแปดเราจะรู้สึกและมองเห็นทันทีถึงความก้าวหน้าและจะยุติธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมหนึ่งๆ หรือสังคมโลก
เราจะอยู่เพื่อวันนี้และอนาคต แต่จะไม่เจ็บจำจนสังคมเราถดถอย คนรุ่นผมบางคนพ่อแม่ไม่ให้เรียนหนังสือเพราะกลัวจะกลายเป็นสยาม แต่บางครอบครัวส่งลูกเรียนจนเป็นแพทย์เป็นทนาย เช่น คุณเด่น โต๊ะมีนา แล้วกลับมาต่อสู้เพื่อพี่น้อง และที่เห็นได้ชัดก็คือ คนที่เรียนหนังสือท่ามกลางกระแสคัดค้านของสังคมในวันนั้น กลับกลายเป็นคนที่ออกมาต่อสู้และเรียกร้องอะไรต่ออะไรให้อิสลาม ให้มลายูมากกว่าคนที่ผูกใจเจ็บต่อสยาม และรอวันล้างแค้นเพียงอย่างเดียว
พื้นที่สีแดงมีคนเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้สักเท่าไร? ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษามลายูก็ตามเถอะ สังคมไทย นักวิชาการต้องกล้าวิจารณ์ ไม่ใช่ กลัวจะเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ต้องกล้าถามมุสลิมเหมือนกันว่า ในเมื่อคุณบอกว่าระบบสังคมคุณดีสมบูรณ์ทุกอย่าง มีระบบ ซะกาต เป็นเหมือนประกันสังคม แล้วทำไมมุสลิมจึงยังยากจน มีขอทาน และยังเห็นเด็กเดินเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างมัสยิด ระบอบคอลีฟะห์(กาหลิบ)เคยปกครองเกือบครึ่งโลก(อาณาจักรอิสลาม) แล้วสังคมโลกเป็นอย่างไรยุคนั้น อยู่ดีกินดีถ้วนหน้าหรือ? ทำไมและทำไมอีกเยอะแยะที่มีคำถามต่อมุสลิม
แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อเราสร้างประวัติศาสตร์เชื้อชาติแล้วก็เอาศาสนาอิสลามมาผูกและ ลงท้ายด้วยสยามเป็นผู้ทำลายอีก รวมแล้วทั้งเผ่าพันธุ์ทั้งศาสนาเคยยิ่งใหญ่ที่ปาตานีแต่ตกต่ำเพราะสยาม นี้แหละคือคำตอบที่ว่าทำไมจึงสามารถปลุกเร้าคนหนุ่มสาว รุ่นแล้วรุ่นเล่าลุกขึ้นต่อสู้และเชื่อว่าเป็นข้อกำหนดทางศาสนา เกิดความชอบธรรมในจิตสำนึกในการกระทำรุนแรง และถ้า กอส. ยังคงปฏิเสธว่า ศาสนา ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็เท่ากับเสียเวลาอีกนานกว่าจะเห็นทางออก
เพราะสำหรับผู้คนที่นี้เมื่อประวัติศาสตร์ถูกทำให้เชื่อเช่นนี้ พวกท่านจึงไม่ต้องแปลกใจที่ไม่เคยเห็นนักการศาสนาที่นี้ รวมกันหลายๆ คนแล้วออกมาแถลงประณามว่า กลุ่มบุคคลที่ก่อความรุนแรงในวันนี้เขากำลังทำผิดหลักศาสนา การตีความการต่อสู้กับความอยุติธรรมที่สยามก่อขึ้นต่อคนมลายู มันค่อยๆ พัฒนาประวัติศาสตร์และความเชื่อจนกลายเป็นการทำลายศาสนาด้วยแล้วในวันนี้
ดังนั้นการที่เด็กหนุ่มคนสาวในหมู่บ้านออกมาวิ่งไล่ต้อนครูพร้อมตะโกนว่า "กาฟิร" สร้างความชอบธรรมและความเชื่อว่า จะตีให้ถึงปางตายก็เป็นบุญกุศล คือสิ่งที่เกิดกับครูจูหลิง หรือการจัดการศพคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 แบบการตายพลีชีพ นั้นเท่ากับยอมรับว่าเด็กหนุ่มเหล่านี้ถือมีดวิ่งหาตำรวจแล้วถูกยิงตายเป็น ชะฮีด ฝังศพโดยไม่ต้องอาบศพ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่กรณีที่เชื่อว่าตายเพราะถูกคนของรัฐสังหาร คำถามและอุทธาหรณ์เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ กอส.จะต้องค้นคว้าหาคำตอบ
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัด คือ ต้องยอมรับก่อนว่า มันมีการตีความศาสนาโยงกับประวัติศาสตร์ จึงจะมองเห็นว่าการลอบยิงทหารตำรวจ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 ก่อนการปล้นปืน ซึ่งกระบวนการจัดตั้งเพื่อทำการต่อสู้ มันเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ที่เงื่อนไขว่า รัฐปัจจุบันกระทำความรุนแรงหรือไม่ และไม่ได้มาจากเหตุจะมีหรือยุบ ศอบต. หรือไม่? และไม่เกี่ยวกับว่าคุณทักษิณจะพูดว่าเป็นโจรกระจอกหรือไม่? มันเป็นสิ่งที่มีแรงกระตุ้นโยงใยจากอดีตไม่ใช่ปัจจุบัน
การฟันพระมันเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ นั่นหมายถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลือกใช้วิธีการเช่นนี้ โดยไม่เกี่ยวว่ารัฐจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ ? ส่วนไฟมันลุกโชนได้ดีขึ้นเพราะ รัฐเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาแบบโง่เขลา ความเป็นรัฐตำรวจ คิดแบบตำรวจ สืบสวน สอบสวนจับกุม คุมขัง ส่งฟ้องจบ คิดเพียงว่าเมื่อมีผู้ก่อเหตุก็ไปตามจับตัวมันมา โดยไม่สนว่าทำไมเขาจึงก่อเหตุ? ทั้งๆ ที่การต่อสู้ที่เกิดจากความเชื่อทางศาสนามันไม่ใช่อาชญกรรม มันเป็นการเมือง เป็นปัญหาความขัดแย้งทางสังคม จึงต้องแก้ด้วยการเมือง แก้ด้วยวิธีการทางสังคม
วิธีการต่างๆที่ กอส.นำเสนอถือว่าดี โดยเฉพาะแนวทางสมานฉันท์ 9 ประการ ถือเป็นสุดยอดของยุทธศาสตร์ หากรัฐบาลจะถือเป็นหลักของนโยบายและขยายทั้งในราชการทุกส่วนและประชาชนทุกหมู่ ยิ่งประเด็นที่พูดถึงว่า จะต้องเปิดเผยความจริงและต้องเป็นความจริงของทุกฝ่าย หากใช้วิธีการทางสังคมจะยิ่งชัดเจน เช่น ใช้ทางนำจากอิสลาม ด้วยการที่ กอส.เป็นแกนนำในการระดมนักการศาสนาในพื้นที่แล้วมาวิเคราะห์วินิจฉัย ความเชื่อทางศาสนาแต่ละประเด็นต่อทั้งกรณีประวัติศาสตร์และการยอมรับให้การเสียชีวิตจากการต่อสู้นี้ว่า ควรจะอยู่ในฐานะภาพของชะฮีดหรือไม่?
ผมเชื่อว่าเพียงแค่ประเด็นเหล่านี้ถูกปลดล็อกออก และปริศนาของประวัติศาสตร์ความเป็นจริงของปาตานีถูกทำให้เห็นภาพที่แท้จริง สอดคล้องกับความจริงในอดีต ไม่ใช่ยึดโยงอยู่กับบันทึกที่ไม่มีที่มาที่ไป และแอบแฝงการเมืองของมหาอำนาจในแต่ละยุค ไฟใต้ที่ไม่เคยมอดก็จะค่อยๆดับ
ความจริงมันไม่ใช่เรื่องยากเย็น
หากมองและเข้าใจด้วยสายตาของคนในจริงๆ และทุกคนพูดความจริง และต่อสู้อย่างมีเกียรติ์และศักดิ์ศรี
คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า "จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระผู้อภิบาลด้วยวิทยปัญญา
และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า"
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อความบางส่วนจากบทความ
สังคมไทยต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจว่า
แม้ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปมเหตุในระดับโครงสร้างคล้ายปัญหาชนบทไทยในที่อื่น
ๆ คือประสบปัญหาความยากจน ความโหดร้ายในการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากอำนาจเศรษฐกิจภายนอก
ความอ่อนด้อยของคุณภาพการศึกษา ความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม
แต่ความขัดแย้งนี้ถูกทำให้เข้มข้นอันตรายขึ้น เพราะความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์
ภาษา และประวัติศาสตร์อันถูกใช้เป็นข้ออ้างแห่งความรุนแรงได้ง่าย
การเอาชนะปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก
โดยมุ่งจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อยทั้งในพื้นที่และในประเทศ
เพื่อแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง และต่อสู้กับข้ออ้างแห่งความรุนแรงในระดับวัฒนธรรม
กอส.เห็นว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างปัญหาความยากจน หรือความไม่เป็นธรรม เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรง เพราะเป็นทั้งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดแนวร่วมและการสนับสนุนทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ใช้ความรุนแรงได้ ขณะเดียวกันก็วินิจฉัยชัดว่า ศาสนาไม่ใช่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็เกี่ยวกับความรุนแรงนี้ในฐานะข้ออ้างที่คนบางกลุ่มนำมาใช้ให้ความชอบธรรมกับวิธีการรุนแรงของตน ที่สำคัญศาสนาก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ใช้ให้ความชอบธรรมเช่นนี้