Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

ธุรกิจอเมริกัน-แรงบันดาลใจและนโยบายบกพร่อง
การลากเส้นต่อจุด และโลกไม่ปลอดภัยสำหรับมิกกี้เมาส์
รวบรวมโดยกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
โครงการแปลตามอำเภอใจ
โครงการส่งเสริมความรู้ข้ามทวีป ข้ามภาษาและวัฒนธรรม

บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน ประกอบด้วย
๑. Steve Jobs "จงหิวโหย จงโง่เขลา"
๒. จักรวรรดิของบุช : การทำให้โลกไม่ปลอดภัยสำหรับไมโครซอฟท์และมิกกี้เมาส์
เรื่องแรกเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของผู้ก่อตั้ง ผู้ก่อตั้ง Apple และผู้สร้าง Macintoch
ส่วนเรื่องที่สองเกี่ยวกับนโยบายโลกาภิวัตน์จักรวรรดิ์ของบุช ซึ่งเข้ามาแทนนโยบายโลกาภิวัตน์บรรษัทของคลินตัน
และมันกำลังทำให้ธุรกิจและยี่ห้ออเมริกันมีปัญหาไปทั่วโลก
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 941
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)

 



การลากเส้นต่อจุด และโลกไม่ปลอดภัยสำหรับมิกกี้เมาส์
รวบรวมโดยกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - โครงการแปลตามอำเภอใจ

1. Steve Jobs "จงหิวโหย จงโง่เขลา"
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ : แปลและเรียบเรียงจาก Fortune ฉบับเดือนกันยายน 2548

สุนทรพจน์ที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลกของ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple และผู้สร้าง Macintoch
โอวาทที่ Steve Jobs ผู้สร้าง Macintosh แสดงในวันรับปริญญา(พิเศษ)ของมหาวิทยาลัย Stanford เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้แก่บัณฑิตจบใหม่ในวันนั้น แต่ยังรวมไปถึงโลกคอมพิวเตอร์ที่ Silicon Valley และยังคงได้รับการชื่นชมและกล่าวขวัญไปทั่วโลกจนถึงวันนี้

สุนทรพจน์วันนั้น Jobs เพียงแต่เล่าถึงบทเรียนในชีวิตของเขา 3 บท แต่เป็น 3 บทที่ทำให้เขา ซึ่งแม้แต่แม่ที่แท้จริงก็ไม่ต้องการกลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก

บทเรียนแรกของ Jobs ซึ่งเขาเรียกว่า "การลากเส้นต่อจุด"
เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ตัวเขาเองไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะได้ลาออกหลังจากเรียนในมหาวิทยาลัย Reed College ไปได้เพียง 6 เดือน ส่วนเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยนั้น Jobs กล่าวว่า มันเริ่มขึ้นตั้งแต่เขายังไม่เกิด

แม่ที่แท้จริงของเขา ซึ่งเป็นนักศึกษาสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ต้องการเลี้ยงดูเขา และตัดสินใจยกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก แต่เธอมีเงื่อนไขว่า พ่อแม่บุญธรรมของลูกของเธอจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย Jobs เกือบจะได้เป็นลูกบุญธรรมของนักกฎหมายที่จบมหาวิทยาลัยและมีฐานะ ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายว่า พวกเขาไม่ต้องการเด็กผู้ชาย

กว่า Jobs จะได้พ่อแม่บุญธรรม ซึ่งต่อมาเป็นผู้เลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ ก็อีกหลายเดือนหลังจากเขาเกิด เนื่องจากแม่ที่แท้จริงของเขาเกิดจับได้ว่า ว่าที่พ่อแม่บุญธรรมของ Jobs ได้ปิดบังระดับการศึกษาที่แท้จริงซึ่งไม่ได้จบมหาวิทยาลัย และพ่อบุญธรรมของ Jobs ไม่ได้เรียนมัธยมด้วยซ้ำ แต่ต่อมาเธอก็ได้ยอมเซ็นยก Jobs ให้แก่พ่อแม่บุญธรรม เมื่อพวกเขารับปากว่าจะส่งเสียให้ Jobs ได้เรียนมหาวิทยาลัย

17 ปีต่อมา Jobs ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสมตามความต้องการของแม่ที่แท้จริง ผู้ไม่เคยเลี้ยงดูเขาแต่กลับต้องการกำหนดชะตาชีวิตของลูกที่ตนไม่เคยเลี้ยงดู เพียง 6 เดือนในมหาวิทยาลัย Jobs ใช้เงินเก็บที่พ่อแม่บุญธรรมซึ่งเป็นเพียงชนชั้นแรงงานได้สะสมมาตลอดชีวิต หมดไปกับค่าเล่าเรียนที่แสนแพง Jobs ตัดสินใจลาออก เพราะเขามองไม่เห็นคุณค่าของการเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่สามารถช่วยให้เขาคิดได้ว่า เขาต้องการจะทำอะไรในชีวิต

แม้ว่าตอนนี้เมื่อมองกลับไปเขาจะรู้สึกว่า การตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะการลาออกทำให้เขาไม่ต้องฝืนเข้าเรียนในวิชาปกติที่บังคับเรียน ซึ่งเขาไม่เคยชอบหรือสนใจ แต่สามารถเข้าเรียนในวิชาที่เขาเห็นว่าน่าสนใจได้ แต่เขาก็ยอมรับว่า นั่นเป็นชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อเขาไม่ได้เป็นนักศึกษาจึงไม่มีห้องพักในหอพัก และต้องนอนกับพื้นในห้องของเพื่อน ต้องเก็บขวดโค้กที่ทิ้งแล้วไปแลกเงินมัดจำขวดเพียงขวดละ 5 เซ็นต์ เพื่อนำเงินนั้นไปซื้ออาหาร และต้องเดินไกล 7 ไมล์ทุกคืนวันอาทิตย์ เพื่อไปกินอาหารดีๆ สัปดาห์ละหนึ่งมื้อที่วัด Hare Krishna

อย่างไรก็ตาม เขาชอบที่หลังจากลาออก เขาสามารถที่จะไปเข้าเรียนวิชาใดก็ได้ที่สนใจ และวิชาทั้งหลายที่เขาได้เรียนในช่วงนั้น ซึ่งเขาใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือน โดยเลือกเรียนตามแต่ความสนใจและสัญชาตญาณของเขาจะพาไป ได้กลายมาเป็นความรู้ที่หาค่ามิได้ให้แก่ชีวิตของเขาในเวลาต่อมา และหนึ่งในนั้นคือ วิชา ศิลปะการประดิษฐ์และออกแบบตัวอักษร (calligraphy)

Jobs ยอมรับว่า ในตอนนั้นเขาเองก็ยังมองไม่ออกเช่นกันว่า จะนำความรู้ที่ได้จากวิชานี้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในอนาคตของเขา แต่ 10 ปีหลังจากนั้น เมื่อเขากับเพื่อนช่วยกันออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรก วิชานี้ได้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไม่เคยนึกฝันมาก่อน และทำให้ Mac กลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ที่มีการออกแบบตัวอักษรและการจัดช่องไฟที่สวยงาม

ถ้าหากเขาไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัย เขาก็คงจะไม่เคยเข้าไปนั่งเรียนวิชานี้ และ Mac ก็คงไม่อาจจะมีตัวอักษรแบบต่างๆ ที่หลากหลาย หรือ font ที่มีการเรียงพิมพ์ที่ได้สัดส่วนสวยงาม รวมทั้งเครื่องพีซี ซึ่งใช้ Windows ที่ลอกแบบไปจาก Mac อีกต่อหนึ่งก็เช่นกัน คงจะไม่มีตัวอักษรสวยๆ ใช้อย่างที่มีอยู่ในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม Jobs บอกว่า ในเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะสามารถ "ลากเส้นต่อจุด" หรือหยั่งรู้อนาคตได้ว่า วิชาออกแบบและประดิษฐ์ตัวอักษร (คอลิกราฟฟี่) จะกลายเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ในการออกแบบ Mac เขาเพียงสามารถจะลากเส้นต่อจุดระหว่างวิชาลิปิศิลป์กับการคิดค้นเครื่อง Mac ได้อย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อมองย้อนกลับไปข้างหลังเท่านั้น

ในเมื่อไม่มีใครที่จะลากเส้นต่อจุดไปในอนาคตได้ ดังนั้นคำแนะนำของ Jobs ก็คือ คุณจะต้อง "ไว้ใจและเชื่อมั่น" ว่า จุดทั้งหลายที่คุณได้ผ่านมาในชีวิตคุณ มันจะหาทางลากเส้นต่อเข้าด้วยกันเองในอนาคต ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา โชคชะตา ชีวิต หรือกฎแห่งกรรม ขอเพียงแต่คุณต้องมีศรัทธาในสิ่งนั้นอย่างแน่วแน่

บทเรียนชีวิตบทที่สองที่ Jobs เล่าต่อไปคือ ความรักและการสูญเสีย
Jobs อายุเพียง 20 ปี เมื่อเขาเริ่มก่อตั้ง Apple กับเพื่อนที่โรงรถของพ่อ เพียง 10 ปีให้หลัง Apple เติบโตจากคนเพียง 2 คนกลายเป็นบริษัทใหญ่โตที่มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์และพนักงานมากกว่า 4,000 คน แต่หลังจากที่เขาเพิ่งเปิดตัว Macintosh ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดของเขา ได้เพียงปีเดียว Jobs ก็ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งเองกับมือ เมื่ออายุเพียงแค่ 30 ปี หลังจากเขาทะเลาะถึงขั้นแตกหักกับนักบริหารมืออาชีพ ที่เขาเองเป็นผู้ว่าจ้างให้มาบริหาร Apple และกรรมการบริษัทกลับเข้าข้างผู้บริหารคนนั้น

ข่าวการถูกไล่ออกของเขาเป็นข่าวที่ใหญ่มาก และเช่นเดียวกัน มันเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา Jobs กล่าวว่า เขาได้สูญเสียสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิตไปในพริบตา และเขารู้สึกเหมือนตัวเองพังทลาย เขาไม่รู้จะทำอะไรอยู่หลายเดือน และถึงกับคิดจะหนีออกจากวงการคอมพิวเตอร์ไปชั่วชีวิต

แต่ความรู้สึกอย่างหนึ่งกลับค่อยๆ สว่างขึ้นข้างในตัวเขา และเขาก็พบว่า เขายังคงรักในสิ่งที่เขาทำมาแล้ว ความล้มเหลวที่ Apple มิอาจเปลี่ยนแปลงความรักที่เขามีต่อสิ่งที่ได้ทำมาแล้วแม้เพียงน้อยนิด เขาจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเขาพบว่า การถูกอัปเปหิจาก Apple กลับกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเขา เพราะความหนักอึ้งของการประสบความสำเร็จได้ถูกแทนที่ด้วยความเบาสบายของการเป็นมือใหม่อีกครั้ง และช่วยปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ จนสามารถเข้าสู่ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ที่สุดในชีวิตของเขา

ช่วง 5 ปีหลังจากนั้น Jobs ได้เริ่มตั้งบริษัทใหม่ชื่อ NeXT และ Pixar และพบรักกับ Laurence ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของเขา Pixar ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนจากคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องแรกของโลกนั่นคือ Toy Story และขณะนี้เป็นสตูดิโอผลิตการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ส่วน Apple กลับมาซื้อ NeXT ซึ่งทำให้ Jobs ได้กลับคืนสู่ Apple อีกครั้ง และเทคโนโลยีที่เขาได้คิดค้นขึ้นที่ NeXT ได้กลายมาเป็นหัวใจของยุคฟื้นฟูของ Apple

Jobs กล่าวว่า ความล้มเหลวเป็นยาขมแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้ เมื่อชีวิตเล่นตลกกับคุณ จงอย่าสูญเสียความเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณรัก Jobs เชื่อว่า สิ่งเดียวที่ทำให้เขาลุกขึ้นได้ในครั้งนั้น คือเขารักในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้นคุณจะต้องหาสิ่งที่คุณรักให้เจอ เพราะวิธีเดียวที่จะทำให้คุณเกิดความพึงพอใจอย่างแท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันยอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่คุณจะทำให้คุณสามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ก็คือ คุณจะต้องรักในสิ่งที่คุณทำ และถ้าหากคุณยังหามันไม่พบ อย่าหยุดหาจนกว่าจะพบ และคุณจะรู้ได้เองเมื่อคุณได้ค้นพบสิ่งที่คุณรักแล้ว

บทเรียนที่สาม ความตายเมื่ออายุ 17
ส่วนบทเรียนชีวิตบทสุดท้ายในโอวาทของเขาคือ ความตาย เมื่ออายุ 17 ปี. Jobs ประทับใจในข้อความหนึ่งที่เขาได้อ่านมา ซึ่งเสนอแนวคิดให้คนมีชีวิตอยู่โดยคิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต และตลอด 33 ปีที่ผ่านมา Jobs จะถามตัวเองในกระจกทุกเช้าว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตของเขา เขาจะยังคงต้องการทำสิ่งที่เขากำลังจะทำในวันนี้หรือไม่ ถ้าหากคำตอบเป็น "ไม่" ติดๆ กันหลายวัน เขาก็รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเปลี่ยนแปลง

Jobs กล่าวว่า วิธีคิดว่าคนเราอาจจะตายวันตายพรุ่ง เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเท่าที่เขาเคยรู้จักมา ซึ่งได้ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ในชีวิตได้ เพราะเมื่อความตายมาอยู่ตรงหน้า แทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนอื่น ชื่อเสียงเกียรติยศ ความกลัวที่จะต้องอับอายขายหน้าหรือล้มเหลว จะหมดความหมายไปสิ้น เหลือไว้ก็แต่เพียงสิ่งที่มีคุณค่าความหมายและความสำคัญที่แท้จริงเท่านั้น

วิธีคิดเช่นนี้ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้คุณไม่ตกลงไปในกับดักความคิดที่ว่า คุณมีอะไรที่จะต้องสูญเสีย เพราะความจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีแต่ตัวเปล่าๆ ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่ตับอ่อนชนิดที่รักษาไม่ได้ และจะตายภายในเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน แพทย์ถึงกับบอกให้เขากลับไปสั่งเสียครอบครัวซึ่งเท่ากับเตรียมตัวตาย แต่แล้วในเย็นวันเดียวกัน เมื่อแพทย์ได้ใช้กล้องสอดเข้าไปตัดชิ้นเนื้อที่ตับอ่อนของเขาออกมาตรวจอย่างละเอียด ก็กลับพบว่า มะเร็งตับอ่อนที่เขาเป็นนั้นแม้จะเป็นชนิดที่พบได้ยากก็จริง แต่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด และเขาก็ได้รับการผ่าตัดและหายดีแล้ว

นั่นเป็นการเข้าใกล้ความตายมากที่สุดเท่าที่ Jobs เคยเผชิญมา และทำให้ขณะนี้เขายิ่งสามารถพูดได้เต็มปาก เสียยิ่งกว่าเมื่อตอนที่เขาเพียงแต่ใช้ความตายมาเตือนตัวเองเป็นมรณานุสติว่า ไม่มีใครที่อยากตาย แม้แต่คนที่อยากขึ้นสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนเพื่อจะไปสวรรค์ แต่ก็ไม่มีใครหลีกหนีความตายพ้น และเขาคิดว่า มันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น Jobs เห็นว่า ความตายคือประดิษฐกรรมที่ดีที่สุดของ "ชีวิต" ความตายคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ความตายกวาดล้างสิ่งเก่าๆ ให้หมดไปเพื่อเปิดทางให้แก่สิ่งใหม่ๆ

ดังนั้น Jobs บอกว่า เวลาของคุณจึงมีจำกัด และอย่ายอมเสียเวลามีชีวิตอยู่ในชีวิตของคนอื่น จงอย่ามีชีวิตอยู่ด้วยผลจากความคิดของคนอื่น และอย่ายอมให้เสียงของคนอื่นๆ มากลบเสียงที่อยู่ภายในตัวของคุณ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องมีความกล้าที่จะก้าวไปตามที่หัวใจคุณปรารถนา และสัญชาตญาณของคุณจะพาไป เพราะหัวใจและสัญชาตญาณของคุณรู้ดีว่า คุณต้องการจะเป็นอะไร

Jobs ปิดท้ายสุนทรพจน์ของเขา ด้วยการหยิบยกวลีที่อยู่ใต้ภาพบนปกหลังของวารสารฉบับสุดท้าย ของวารสารเล่มหนึ่งที่เลิกผลิตไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเขาเปรียบวารสารดังกล่าวเป็น Google บนแผ่นกระดาษ และเป็นประดุจคัมภีร์ของคนรุ่นเขา วารสารดังกล่าวมีชื่อว่า The Whole Earth Catalog จัดทำโดย Stewart Brand ส่วนวลีนั้นคือ "จงหิวโหย จงโง่เขลาอยู่เสมอ" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหวังจะเป็นเช่นนั้นเสมอมา

+++++++++++++++++++++++++++

2. จักรวรรดิของบุช : การทำให้โลกไม่ปลอดภัยสำหรับไมโครซอฟท์และมิกกี้เมาส์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลจาก Bush's Bad Business Empire : Making the World Unsafe for Microsoft and Mickey Mouse By Mark Engler [http://www.tomdispatch.com/index.mhtml?pid=33201

รัฐบาลบุชนั้นขึ้นชื่อลือชาในด้านการทำให้ทำเนียบขาวแนบแน่นกับธุรกิจเป็นพิเศษ ถ้าคุณเอาทีมภารกิจพิเศษด้านพลังงานที่ปฏิบัติงานเป็นความลับของดิก เชนีย์, การตัดลดภาษีครั้งมโหฬาร มาบวกกับทีมนักล้อบบี้ของบรรษัทที่ช่วยเขียนกฎหมายเอื้อต่ออุตสาหกรรมของตัวเอง คุณก็จะพบว่าข้อกล่าวหาข้างต้นน่าเชื่อถือมากทีเดียว กระนั้นก็ตาม มีเหตุผลหลายประการให้คิดในด้านตรงข้ามได้ด้วยว่า บางที "จอร์จ บุช" กับ "ดิก เชนีย์" อาจไม่ใช่นายทุนที่เก่งกาจเลย

ประวัติส่วนตัวของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในข้อที่เป็นนักธุรกิจผู้ล้มเหลว เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดี, ส่วนดิก เชนีย์นั้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักวาดภาพว่าเขาเป็นอดีตซีอีโอผู้ปราดเปรื่อง ส่วนฝ่ายก้าวหน้าก็กล่าวหาว่าเขาเป็นตัวตายตัวแทนของบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน แต่ความจริง เชนีย์ก็มีประวัติชีวิตที่น่าเคลือบแคลงไม่แพ้บุช แม้ว่าเขาจะสร้างความเติบโตให้ฮัลลิเบอร์ตันได้ในช่วง 4.5 ปีที่เป็นประธานบรรษัท

แต่ผลงานชิ้นโบดำที่เขาทิ้งไว้ให้ก็คือ การเข้าซื้อบริษัทเดรสเซอร์อินดัสตรีส์ในปี ค.ศ. 1998 ด้วยมูลค่า 7.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งกลายเป็นดีลอัปยศ หลังจากเชนีย์คลายมือจากบังเหียนฮัลลิเบอร์ตันได้ไม่นาน บริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตันหลายแห่งต้องยื่นขอความคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลาย และราคาหุ้นของบรรษัทก็ตกต่ำดิ่งเหว นิตยสารโรลลิงสโตนรายงานไว้ในเดือนสิงหาคม 2004 ว่า "แม้ว่าราคาหุ้นของฮัลลิเบอร์ตันจะเด้งขึ้นจากสงคราม [อิรัก] แต่นักลงทุนที่ทุ่มเงินลงไป 100,000 เหรียญในหุ้นบรรษัทนี้ก่อนที่เชนีย์จะก้าวออกมาเป็นรองประธานาธิบดี มูลค่าหุ้นของเขาในวันนี้ก็ยังน้อยกว่า 60,000 ดอลลาร์อยู่ดี"

นักวิเคราะห์หลายคนฟันธงว่า รองประธานาธิบดีเชนีย์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หุ้นของฮัลลิเบอร์ตันตกต่ำ หรืออย่างดีก็ตั้งคำถามกับความสำเร็จของเชนีย์ในฐานะผู้นำทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น เจสัน อี พุตแมน นักวิเคราะห์หุ้นด้านพลังงานคนหนึ่งกล่าวว่า "โดยรวมแล้ว เชนีย์มีความสามารถในระดับกลาง ๆ เท่านั้น" ส่วนบรรณาธิการข่าวหุ้นของนิตยสารนิวส์วีคม, อัลลัน สโลน พูดตรง ๆ ออกมาเลยว่า เชนีย์เป็น "ซีอีโอที่บริหารได้เละตุ้มเป๊ะ"

พอมาถึงสงครามอิรัก เราได้ยินกันมามากแล้วเรื่องรัฐบาลบุชให้ความเอื้ออาทรแก่บรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน, เบคเทล และบริษัทอื่น ๆ อีกหยิบมือหนึ่ง แต่เรามักไม่ค่อยคำนึงถึงความเป็นไปได้ว่า 'สงครามต่อต้านการก่อการร้าย' อาจเป็นการทำร้ายธุรกิจใหญ่ ๆ ของสหรัฐฯ อย่างสาหัส ต่อให้เชื่อว่าทำเนียบขาวจงใจก่อสงครามโพ้นทะเลเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจอเมริกัน แต่ก็ไม่มีเหตุผลให้เชื่อเลยว่า รัฐบาลบุชทำได้สำเร็จตามที่วางเป้าหมายไว้

หนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจเริ่มส่งเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่า บรรดาผู้นำภาคธุรกิจที่เคยหวังว่า รัฐบาลบุชจะผลักดันระบบโลกาภิวัตน์บรรษัทของคลินตันให้ทะยานขึ้นไป ตอนนี้พวกเขากลับแสดงความหวั่นเกรงต่อระเบียบโลกที่บุชสร้างขึ้น การตัดลดภาษีและยกเลิกข้อบังคับในประเทศเป็นโบนัสชิ้นงามก็จริง แต่บรรษัทข้ามชาติจำนวนมากของสหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาน่าหวาดเสียว อดีตซีอีโอผู้ล้มเหลวในทำเนียบขาวกำลังผลักดันระเบียบวาระโลกที่ให้ผลประโยชน์แค่ส่วนเสี้ยวน้อยนิดในชุมชนธุรกิจอเมริกัน แล้วทิ้งส่วนที่เหลือจำนวนมากให้ประสบชะตากรรมจากความขุ่นแค้นของพลเมืองโลก และความง่อนแง่นทางเศรษฐกิจ

หากจะวิจารณ์การทำงานของบุช, เชนีย์ และสาวกนีโอคอนส์คนอื่น ๆ คำวิจารณ์อย่างเบาะ ๆ ว่า พวกเขา "มีความสามารถในระดับกลาง ๆ เท่านั้น" ก็อาจจะเบาไปหน่อย ส่วนคำวิจารณ์ว่า พวกเขา "บริหารได้เละตุ้มเป๊ะ" ดูจะใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า เราลองมาดูตัวอย่างกันสักเล็กน้อย

สงครามต่อต้าน KFC
ในช่วงระยะหลังๆ KFC ต้องผจญวิบากกรรมอย่างหนักในโลกมุสลิม เมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว ระเบิดลูกหนึ่งระเบิดขึ้นในร้านไก่ทอด KFC ในเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ KFC ตกเป็นเป้า ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม ฝูงชนมุสลิมชีอะห์ที่โกรธแค้นประธานาธิบดีมูชาราฟ และข่าวการทำร้ายนักโทษที่อ่าวกวนตานาโม เข้าไปจุดไฟเผาร้าน KFC อีกสาขาหนึ่ง ยังมีอีกสองสาขาที่ถูกบุกทำลายหลังจากสหรัฐฯ โจมตีอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2001

KFC ไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อเดียวที่เผชิญชะตากรรมแบบนี้ แมคโดนัลด์ก็เช่นกัน มันตกเป็นเป้าการบุกทำลายทั้งในปากีสถานและอินโดนีเซีย การจุดไฟเผาร้านฟาสต์ฟู้ดเป็นแค่สัญญาณบอกอุณหภูมิธุรกิจที่เป็นผลพวงจากนโยบายต่างประเทศอเมริกันที่เปลี่ยนไป ถ้านโยบายการทูตของคลินตันคือความพยายามที่จะทำให้โลกนี้ปลอดภัยสำหรับมิกกี้เมาส์, ไมโครซอฟท์และไก่ทอดล่ะก็ นโยบายของบุชและเชนีย์ก็คือ การทำให้ธุรกิจเหล่านี้ตกอยู่ในอันตราย

รัฐบาลคลินตันนั้นชูธงสนับสนุนการสร้างระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 'ที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์' และความร่วมมือ กล่าวคือระเบียบแบบพหุภาคีที่นักวิจารณ์มักเรียกกันว่า 'โลกาภิวัตน์บรรษัท' ส่วนรัฐบาลบุชแม้จะประกาศปาว ๆ ว่าสนใจในประเด็นอย่าง 'การค้าเสรี' แต่กลับนำเสนอนโยบายที่แตกต่างออกไปมาก โดยหันไปยึดหลักรุกรานก้าวร้าวและ 'นโยบายข้าเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว' (unilateralism) รัฐบาลบุชจึงสร้างรูปแบบใหม่ของ 'โลกาภิวัตน์จักรวรรดิ' ขึ้นมา ถึงขนาดทำให้สถาบันพหุภาคีอย่างองค์การการค้าโลกกลายเป็นเป็ดง่อยไปเลย

แทนที่จะดำเนินงานผ่านองค์กรดังกล่าว รัฐบาลบุชกลับแสดงอาการแข็งกร้าว ไม่ยอมประนีประนอมในการต่อรองด้านการค้า และการพัฒนาระหว่างประเทศ แต่ผูกโยงการค้าและความช่วยเหลือเข้ากับข้อผูกมัดทางด้านการทหารโดยตรง มิหนำซ้ำยังผลักไสไล่ส่ง 'ยุโรปเก่า' ผู้เบื่อหน่ายสงคราม ไม่ยอมให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนน้อยในระบบโลกาภิวัตน์ใหม่นี้ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐบาลบุชเริ่มรื้อทำลายระเบียบโลกที่เคยรับใช้บรรษัทข้ามชาติเป็นอย่างดีในยุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษ 1990 ซึ่งกรุยทางให้บรรษัทข้ามชาติรุ่งเรืองขึ้นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

พูดสั้น ๆ ถ้าบุชเป็นประธานาธิบดีน้ำมัน เขาก็ไม่ใช่ประธานาธิบดีดิสนีย์หรือโคคา-โคลา ถ้าเชนีย์ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อช่วยให้ฮัลลิเบอร์ตันฟื้นตัว สงครามที่เขาก่อก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อสตาร์บัคส์สักเท่าไรเลย

ยี่ห้ออเมริกาชักรุ่งริ่ง
ไม่ว่าการวางเดิมพันอย่างบ้าบิ่นของรัฐบาลบุชเพื่อครองโลก จะช่วยให้โกยกำไรในอนาคตอันใกล้หรือไกลก็ตาม แต่ต้นทุนทางธุรกิจกำลังปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ คลื่นของความรู้สึกต่อต้านอเมริกันนิยมกำลังแผ่ไปทั่วโลก ไปไกลยิ่งกว่าการวางระเบิดร้าน KFC ในเอเชียใต้หรือความเกลียดชังในตะวันออกกลาง

หนังสือพิมพ์ เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ตั้งข้อสังเกตว่า "ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงที่กำลังก่อตัวขึ้น" ต่อสหรัฐอเมริกา เป็นอุปสรรคต่อแผนขยายการลงทุนของบริษัทดิสนีย์ในเอเชีย ยิ่งกว่านั้น นโยบายต่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมของบุช กำลังกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้บริโภค แม้กระทั่งในประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน

ในเดือนธันวาคม 2004 มีรายงานสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคจำนวน 8,000 คน ในหลาย ๆ ประเทศ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า "หนึ่งในสามของผู้บริโภคทั้งหมดในแคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, รัสเซียและสหราชอาณาจักรกล่าวว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ 'สงครามต่อต้านการก่อการร้าย' และการยึดครองอิรัก เป็นภาพประทับที่รุนแรงที่สุดที่พวกเขามีต่อสหรัฐอเมริกา... ผู้บริโภคมองว่านโยบายต่างประเทศของอเมริกาในปัจจุบันเป็นภาพติดลบ ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นภาพบวกมาก่อนในอดีต"

ยี่ห้อสินค้าที่การสำรวจระบุว่าตกอยู่ในความเสี่ยง มีอาทิเช่น บุหรี่มาร์ลโบโร, แมคโดนัลด์, อเมริกันแอร์ไลน์, เอกซอน-โมบิล, เชฟรอน เท็กซาโก, ยูไนเต็ดแอร์ไลน์, บัดไวเซอร์, ไครสเลอร์, ตุ๊กตาบาร์บี้, สตาร์บัคส์ และเจเนรัลมอเตอร์ เป็นต้น

ผลการประเมินที่ใกล้เคียงกันนี้ยังมีปรากฏในสื่อมวลชนธุรกิจอื่น ๆ อาทิเช่น ไฟแนนเชียลไทม์ ของอังกฤษ ('โลกกำลังหันหลังให้ยี่ห้ออเมริกา') และ ฟอร์บส์ ('ยี่ห้ออเมริกากำลังมีปัญหา?') นิตยสาร ยูเอส แบงเกอร์ ในเดือนสิงหาคม รายงานผลการสำรวจอีกอันหนึ่งที่ชี้ว่า "41% ของชนชั้นนำในแคนาดามีแนวโน้มจะซื้อสินค้าอเมริกันน้อยลงเพราะนโยบายของรัฐบาลบุช ตัวเลขนี้ยังนับว่าน้อยเมื่อเปรียบกับ 56% ในอังกฤษ, 61% ในฝรั่งเศส, 49% ในเยอรมนี และ 42% ในบราซิล"

ไม่ใช่แค่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ผู้นำในวงการธุรกิจอเมริกันเอง ก็เริ่มโยงสภาพตกต่ำทางเศรษฐกิจกับนโยบายจักรวรรดินิยมบ้างแล้ว บทความใน ยูเอส แบงเกอร์ เตือนว่า "ซีอีโอของบรรษัทอเมริกันส่วนใหญ่ ซึ่งกิจการมีการจ้างงานนอกประเทศถึง 8 ล้านคน เริ่มยอมรับแล้วว่า ความรู้สึกต่อต้านอเมริกันกำลังเป็นปัญหา" รวมทั้งบทความใน บอสตันเฮรัลด์ ที่ระบุว่า "ผู้บริหารที่ถูกสำรวจความคิดเห็นถึง 62% .....กล่าวว่า สงครามกำลังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของอเมริกาในธุรกิจโลก"

บรรษัทอเมริกันติดหล่ม
แต่ปัญหามีแค่ภาพลักษณ์เท่านั้นหรือ? หรือสงครามทำให้กำไรของธุรกิจลดน้อยถอยลงไปด้วย? ในเดือนมิถุนายน 2004 นักข่าวของ ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่า บรรษัทที่มีผลประกอบการย่ำแย่หลายร้อยบริษัทต่าง ก็โทษสงครามเป็นแพะรับผิด ในจำนวนนี้ ฮิวเลตต์-แพ็คการ์ดอ้างว่า การยึดครองอิรักก่อให้เกิดความไม่แน่นอนและส่งผลร้ายต่อราคาหุ้นของบริษัท นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสื่ออีกจำนวนไม่น้อยที่คร่ำครวญว่า สงครามทำให้รายได้จากโฆษณาลดน้อยลง

แม้ว่าการโยนความผิดให้สงครามอาจเป็นวิธีปัดความรับผิดชอบของผู้บริหารบางคน แต่กระนั้น เสียงบ่นแสดงความไม่พอใจก็พึงต้องรับฟัง ดังที่ผู้จัดการของกองทุนแห่งหนึ่งเขียนไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า 'บรรษัทธุรกิจกำลังติดหล่มสงครามอิรัก' กองทุนอีกแห่งหนึ่งสรุปว่า "ราคาของการทำสงคราม (ในอิรักและอัฟกานิสถาน) อาจสูงกว่าที่สังคมอเมริกันคาดหมายหรือเต็มใจที่จะแบกรับ"

แน่นอน เรารู้ว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างกำลังทำกำไรงาม ยอดขายหน้ากากป้องกันแก๊สพิษและรถฮัมวีกันกระสุนพุ่งสูงขึ้น แต่บริษัทที่หนุนหลังสงครามเหล่านี้เป็นแค่กลุ่มน้อย ในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับเผชิญมรสุมอย่างหนัก ทั้งสายการบิน, โรงแรม, รีสอร์ต, ภัตตาคาร ฯลฯ ต่างกล่าวโทษสงครามว่าเป็นต้นเหตุของรายได้ที่ลดลง ผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเตือนว่า:

"สหรัฐฯ กำลังสูญเสียรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลีกเลี่ยงการมาเที่ยวสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะภาพพจน์ที่ด่างพร้อยและนโยบายการออกวีซ่าที่ล่าช้ายุ่งยาก..." นายโรเจอร์ ดาว ผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งอเมริกายังเตือนต่อไปด้วยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาพพจน์ที่ดีของประเทศ "ถ้าเราไม่จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการท่องเที่ยว มันจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวที่ร้ายแรงมากต่อยี่ห้อสินค้าอเมริกัน ไม่ว่าโคคา-โคลา, เจเนรัลมอเตอร์หรือแมคโดนัลด์"

ฝันร้ายทางเศรษฐกิจตั้งเค้าล่วงหน้า
ทุก ๆ ปี ผู้นำภาคธุรกิจจะมารวมตัวกันในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในยุคคลินตันนั้น ถึงจะมีการประท้วงอยู่ข้างนอก บรรยากาศในการประชุมก็ยังคึกคักแจ่มใส ทว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา บรรยากาศอึมครึมลงเรื่อย ๆ ผู้นำภาคธุรกิจเริ่มแสดงความกังวลต่อสงคราม และไม่สบายใจกับการใช้ 'นโยบายข้าเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว' ของมหาอำนาจโลก

นักเศรษฐศาสตร์สายก้าวหน้าอย่าง ดีน เบเคอร์และมาร์ค ไวส์โบรท เขียนรายงานชื่อ 'ต้นทุนทางเศรษฐกิจของสงครามในอิรัก' เตือนว่า นอกจากต้นทุนที่เกิดจากความเป็นปฏิปักษ์ต่อต้านอเมริกันในต่างแดนแล้ว ยังมีประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอีก 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

- ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจอเมริกันสูญเสียตำแหน่งงานไปหลายแสนตำแหน่งในระยะเวลา 7 ปี

- ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายขึ้นอีกในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนด้านความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้การเติบโตของจีดีพีชะลอตัวลง และ

- ความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมัน อาจฉุดประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

เมื่อมาร์ค อิงเลอร์ ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ สอบถามเบเคอร์ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตามข้อสรุปในรายงานข้างต้น เบเคอร์ย้ำว่าตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายก็จริง แต่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงให้เห็นเป็นระยะ ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจริง ๆ แม้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของจีนและอินเดียที่เพิ่มมากขึ้น แต่สงครามในอิรักยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติม รายงานของหน่วยข่าวกรองก็เป็นไปในทางเดียวกันคือ ชาวอเมริกันมีความปลอดภัยในชีวิตน้อยลง แม้กระทั่งเวลาหลายชั่วโมง ที่เสียไปกับการเข้าแถวรอตรวจสอบด้านความปลอดภัยที่สนามบินหรือรถไฟใต้ดิน ก็ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยเลย

และเมื่อไรที่ค่าเงินดอลลาร์ที่สูงเกินความเป็นจริง แต่โป่งพองอยู่ได้เพราะเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ -คือ จีนและญี่ปุ่น-ยังยอมปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป แต่มิใช่ตลอดไปแน่ เมื่อนั้นฝันร้ายทางเศรษฐกิจย่อมกลายเป็นความจริงขึ้นมา

ธุรกิจจะหันหลังให้รัฐบาลบุชหรือไม่?
ผลสำรวจความนิยมในตัวประธานาธิบดีบุชยามนี้ทำสถิติต่ำสุดตลอดเวลา และ 'การมุ่งหน้าต่อไป' ยังคงเป็นนโยบายทางการของวอชิงตันต่อสงครามอิรัก ในบริบทเช่นนี้ ไม่น่าประหลาดใจเลยที่นักการเมือง 'สัจนิยม' ของพรรครีพับลิกันเองอย่าง เบรนท์ สโควครอฟท์ (ซึ่งเตือนไว้ใน วอลสตรีทเจอร์นัล ตั้งแต่ก่อนสงครามแล้วว่า "สงครามจะมีราคาแพงมากอย่างไม่ต้องสงสัย - พร้อมกับส่งผลพวงร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของโลก") กำลังส่งเสียงโวยวายอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่บรรดาซีอีโอบรรษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปหานโยบายโลกาภิวัตน์พหุภาคีในสไตล์ของคลินตันอีกครั้ง

แต่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของฝ่ายไหน - บุชหรือคลินตัน - ก็ล้วนแต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของฝ่ายก้าวหน้าทั้งสิ้น ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งครั้งหน้าเข้าไปมากเท่าไร การชิงดีชิงเด่นกันภายในพรรครีพับลิกันก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญที่จะเปลี่ยนเหยี่ยวประจำทำเนียบขาวให้กลายเป็นเป็ดง่อย คงดีไม่น้อยถ้าการกลายสภาพเป็นสัตว์ปีกคนละประเภทนี้เร่งเร็วขึ้นจากความไม่พอใจของผู้นำภาคธุรกิจ ซึ่งหลังจากชั่งตวงวัดต้นทุนที่เกิดจากนโยบายต่างประเทศของบุชกันใหม่ ก็ตัดสินใจว่าการเป็น 'จักรวรรดิ' นั้น มันไม่คุ้มกันเลย

หมายเหตุเกี่ยวกับผู้เขียน
Mark Engler เป็นนักเขียนในนิวยอร์กซิตี เป็นนักวิเคราะห์ในกลุ่ม Foreign Policy in Focus มีเว็บไซท์ http://www.democracyuprising.com Kate Griffiths เป็นผู้ช่วยวิจัยเพื่อเขียนงานชิ้นนี้

 






สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



080649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความแปลจากนักวิชาการอิสระ
บทความลำดับที่ ๙๔๑ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
รัฐบาลคลินตันนั้นชูธงสนับสนุนการสร้างระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 'ที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์' และความร่วมมือ กล่าวคือระเบียบแบบพหุภาคีที่นักวิจารณ์มักเรียกกันว่า 'โลกาภิวัตน์บรรษัท' ส่วนรัฐบาลบุชแม้จะประกาศปาว ๆ ว่าสนใจในประเด็นอย่าง 'การค้าเสรี' แต่กลับนำเสนอนโยบายที่แตกต่างออกไปมาก โดยหันไปยึดหลักรุกรานก้าวร้าวและ 'นโยบายข้าเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว' (unilateralism) รัฐบาลบุชจึงสร้างรูปแบบใหม่ของ 'โลกาภิวัตน์จักรวรรดิ' ขึ้นมา ถึงขนาดทำให้สถาบันพหุภาคีอย่างองค์การการค้าโลกกลายเป็นเป็ดง่อยไปเลย

แทนที่จะดำเนินงานผ่านองค์กรดังกล่าว รัฐบาลบุชกลับแสดงอาการแข็งกร้าว ไม่ยอมประนีประนอมในการต่อรองด้านการค้า และการพัฒนาระหว่างประเทศ แต่ผูกโยงการค้าและความช่วยเหลือเข้ากับข้อผูกมัดทางด้านการทหารโดยตรง มิหนำซ้ำยังผลักไสไล่ส่ง 'ยุโรปเก่า' ผู้เบื่อหน่ายสงคราม ไม่ยอมให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนน้อยในระบบโลกาภิวัตน์ใหม่นี้ด้วย

 

KFC ไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อเดียวที่เผชิญชะตากรรมแบบนี้ แมคโดนัลด์ก็เช่นกัน มันตกเป็นเป้าการบุกทำลายทั้งในปากีสถานและอินโดนีเซีย การจุดไฟเผาร้านฟาสต์ฟู้ดเป็นแค่สัญญาณบอกอุณหภูมิธุรกิจที่เป็นผลพวงจากนโยบายต่างประเทศอเมริกันที่เปลี่ยนไป ถ้านโยบายการทูตของคลินตันคือความพยายามที่จะทำให้โลกนี้ปลอดภัยสำหรับมิกกี้เมาส์, ไมโครซอฟท์และไก่ทอดล่ะก็ นโยบายของบุชและเชนีย์ก็คือ การทำให้ธุรกิจเหล่านี้ตกอยู่ในอันตราย

Midnightuniv website 2006