นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



บันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่ ๘
เริ่มที่เรื่องของหมอฟัน แต่ไปจบลงที่ทฤษฎีลิง (ตอน ๒)
ทพ. วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ
ภาควิชาทันตกรรมชุมชน
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากโครงการเชียงใหม่สำนึก
เป็นการบันทึกคำสนทนาเรื่องทันตแพทย์ ร๊วย รวย
เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความเป็นมาของวิชาชีพทันตแพทย์ และข้อพิจารณาทางจริยธรรมต่อวิชาชีพดังกล่าว
และไปจบลงที่ข้อเสนออันหลากหลายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มต้นจากคนเล็กๆ ของสังคม

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 930
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)




เริ่มที่เรื่องของหมอฟัน แต่ไปจบลงที่ทฤษฎีลิง (ตอน ๒)
ทพ. วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิชัย : ในส่วนที่ผมจะเริ่มตอนแรกแล้ว ยังไม่ได้เริ่ม(หัวเราะ) ก็เลยเอาข้างหลังมาก่อน ท้ายสุดแล้วผมเชื่อว่ามันจะมาพันกันเองอีกทีหนึ่ง ผมเลยหยิบเอาตัวอย่างอันนี้มาอันหนึ่ง ต้องออกตัวก่อนว่าเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ที่มาในวันนี้อาจจะไม่ใช่ความเห็นกลางของวงการวิชาชีพ ผมอาจจะไม่ใช่ตัวแทนที่ดีเสียทีเดียว



เดี๋ยวต้องอธิบายเรื่องนี้ก่อน เพราะมันสัมพันธ์กับเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไป สิ่งที่ผมจะเล่าคือ เรื่องของฟันคุด (แสดงแบบจำลองภาพตัดขวางฟันคุด) ฟันคุดโดยทั่วไปแล้ว หมายถึง ฟันที่ไม่สามารถขึ้นตรง ๆ ได้ ถ้าขึ้นตรง ๆ อย่างนี้ได้ถือว่าฟันขึ้นปกติ แต่ถ้าเอียงแบบนี้ถือว่าเป็นฟันคุด ขึ้นไม่ได้ วิธีการในการรักษาของหมอก็คือ กรีดเหงือกซึ่งศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า เปิด flap ที่แปลว่า"แผ่น" ก็คือ กรีดเหงือกแล้วเปิดแผ่นเหงือกออกไป จริง ๆ แล้วจะต้องมีกระดูกหุ้มฟันตรงนี้อยู่ เขาจะเอาหัวกรอ ๆ กระดูกเข้าไป

ถ้ากรณีแบบนี้ เขาจะกรอแบ่งฟันออกเป็น ๒ ซีกคือซีกที่เป็นตัวฟันกับซีกที่เป็นราก แล้วเอาเครื่องมือไปงัดเอาส่วนที่เป็นตัวฟันออกมาก่อน แล้วตามด้วยซีกที่เป็นรากออกมา อันนี้คือเชิงเทคนิค แต่ถ้าฟันเอียงนิดเดียว แต่ก็ขึ้นไม่ได้ หมอบางคนเขาจะใช้วิธีเอาหัวกรอเข้าไปกรอฟันที่เอียงนั้นออกนิดนึง แล้วเอาเครื่องมืองัดออกมา ที่จะเล่าต่อไปนี้ มันมีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่ก็คือว่า ปกติแล้วการทำฟันที่เรียกว่าฟันคุด มันก็จะมีแบ่งเกรดความยากง่ายของฟันคุดที่ยาก ๆ ก็คือแบบนอนมา ยากไปกว่านั้นก็คือ กลับหลังหันแบบนี้

อันนี้คือโดยสรุป ผมมีกระทู้อยู่กระทู้หนึ่ง ซึ่งโพสท์เข้าไปในเว็บไซต์ของสถาบันดอทคอมเป็นเว็บไซต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันแต่ละสถาบัน และมีกระทู้รวมอยู่ มันมีกระทู้อยู่อันหนึ่ง ตั้งชื่อกระทู้เข้ามาแล้วคนนี้โพสท์เข้าไป จะลองเล่าให้ฟังและอาจจะอธิบายซ้ำนิดหน่อยเนื่องจากมีศัพท์เทคนิคอยู่หลายช่วง

หมอคนนี้เป็นคนโพสท์เข้าไปแล้วบอกว่า เขาเจอคนไข้อยู่คนหนึ่ง ตอนแรกไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร แกปวดฟันเนื่องจากเศษอาหารติดตรงซี่ฟันคุด ตรวจดูแล้วปรากฏว่าเป็นฟันคุดล้มมาทางด้านหน้า ก็คือ คล้าย ๆ แบบนี้ เราก็บอกว่าซี่นี้ต้องผ่าออก มันเป็นฟันคุด ถอนแบบธรรมดาไม่ได้ แล้วก็เอารูปมาอธิบายให้ดูอย่างละเอียด บอกว่าอีกหน่อยซี่ที่ติดกันจะผุและเสียไปด้วย ซึ่งในทางวิชาชีพถือว่าฟันกรามเองจะใช้งานหลักอยู่แค่ ๒ ซี่ คนไข้แกก็เลยบอกว่าเอาออกเลยก็ได้ หมอก็เลยตอบว่าถึงแม้มันจะเป็นฟันคุดที่ล้มมาทางด้านหน้า แต่ก็ไม่ยากอะไร ไม่ต้องเปิด flap ไม่ต้องกรีดเหงือกแล้วเปิดเหงือกออก ก็แค่เอาหัวกรอลงไปกรอแบ่งฟันแล้วงัดออก ซึ่งในทางวิชาชีพแล้วถือว่าฟันซี่นี้ขึ้นมาเยอะพอสมควรแล้ว เห็นในปาก ถึงจะกรอแบ่งฟันได้แล้วก็งัดออกมา

เขาบอกว่าทำอยู่ประมาณสัก ๑๐ นาทีก็เสร็จ แล้วก็คิดไปตามราคา rate ของฟันคุด ก็คือ ๑,๕๐๐ บาทคนไข้ทำเสร็จแล้วก็ออกไป จ่ายเงินตามปกติแล้วก็กลับไป ที่รู้สึกผิดก็เพราะว่า ตอนเที่ยงวันนั้นตัวเองออกไปกินข้าว เห็นคนไข้คนนั้นกำลังนั่งขายไข่ปิ้งอยู่ริมถนน น้ำตาเกือบไหล เขาขายไข่ปิ้งตั้งกี่ร้อยกี่พันฟองกว่าจะได้ ๑,๕๐๐ มาทำฟันกับเรา ๑๐ นาทีหมดเลย อันที่จริงเราทำมันก็ไม่ยากอะไร ถ้ารู้ก่อนว่าเขาลำบากอาจจะคิดราคา ๔๐๐ บาทเท่าถอนฟันก็ได้ จะทำยังไงดี เอาเงินไปคืนเขาดีไหม

จริง ๆ แล้ว ผมเคยเอาโจทย์แบบนี้ไปคุยกับนักศึกษาปี ๕ เหมือนกันว่านักศึกษาคิดยังไงกับกระทู้นี้ ถ้าเราเป็นคนตอบเขาจะตอบว่ายังไง จริง ๆ แล้วมันมีเนื้อหาของกระทู้ที่ตอบมาหลังจากนี้ยาวพอสมควร แล้วพอผมรับปากที่จะมางานนี้ ก็ได้กลับเข้าไปค้นหาอีกที ปรากฏว่ากระทู้นี้หายไปแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าเว็บมาสเตอร์ คงจะเอาออก เพราะ sensitive ต่อคนอื่นที่เข้ามาอ่านแล้วจะมองวิชาชีพอย่างไรรึเปล่าทำนองนี้ เขาก็เลยเอาออก ทั้ง ๆ ที่โพสท์เข้ามาเดือน ๑๐ ปี ๒๐๐๕ นี่เอง จากข้อความที่เกิดขึ้นแบบนี้ ถ้าในฐานะของประชาชนทั่วไป ถ้ารู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เรารู้สึกอย่างไร
ยะยาว

ชลนภา : คือปกติแล้วจะสงสัยเสมอ เรื่องค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการรักษา คือมันคงคล้าย ๆ กับโรคอื่น ๆ อย่างเหมือนกับว่าเราขาหักหรือหมาขาหัก อย่างแพทย์บอกว่าคิดเงิน ๒,๐๐๐ เจ้าของหมาจะยอมจ่ายขาหมา ๒,๐๐๐ มันสมเหตุสมผลไหม หรือว่าเราจะปล่อยให้มันพิการไป เพราะหนึ่งไม่มีเงินจ่าย สมมติเป็นหมาของคนขายไข่ปิ้งหรือปล่อยให้มันพิการแต่มันมีชีวิตอยู่ได้ หรือสองถ้าหากมันรักษาได้ หมาก็ไม่จำเป็นต้องพิการ คือ มันจำเป็นต้องรักษาหรือจำเป็นต้องปล่อยให้มันเป็นไป แล้วค่าใช้จ่ายของมันที่แท้จริงของมันคืออะไร เห็นเขาบอกว่า ๑๐ นาทีรักษาได้ ๑,๕๐๐ บาทเ น่าสนใจมากเหมือนไขกุญแจแกร๊กเข้าบ้าน (หัวเราะ) มันเป็นค่าของอะไร ค่าวิชาหรือค่าไปเช่าเครื่องมือ

วิชัย : อันนี้เป็นคำถามใช่ไหมครับ

ชลนภา : ค่ะ ถ้าเป็นโรงพยาบาล มันก็ยังเห็นชัดอยู่ ค่าเตียงผ่าตัด ค่าบุคลากรทางการแพทย์ แต่หมอฟัน เก้าอี้ตัวนึง ผู้ช่วยอีกสักคนสองคน แล้วอะไรคือค่าใช้จ่าย ไม่รู้จริงๆ นึกไม่ออกแต่ว่าเราก็ต้องยอมจ่ายทุกครั้งไป เป็นเหมือนกับจำยอมต้องจ่าย

วิชัย : ผมอาจจะตอบไม่ได้นะครับ แต่ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเคยยกตัวอย่างคุยกับนักศึกษาเหมือนกัน ต่อเนื่องจาก case นี้ ก็คือว่าสมมติว่ามีคนสักคนหนึ่งเดินเข้ามาให้เราทำฟันให้ ก็ฟันผุธรรมดาระดับนักศึกษาก็ทำได้ เผอิญว่าคนที่เดินเข้ามาหา สมมุติเขามาเจอคน ๒ คน คนที่หนึ่ง คือ ทันตแพทย์ซึ่งจบระดับปริญญาตรีทั่ว ๆ ไป แล้วไม่ได้เรียนต่อ คนที่สองคือทันตแพทย์ซึ่งไปจบวิชาทางด้านการอุดฟันมา คนไข้มาเจอ ๒ คนนี้ได้รับการอุดฟันเหมือนกัน คือ แก้อาการผุเหมือนกัน แต่ราคาซึ่งคนไข้จะต้องจ่ายไม่เท่ากัน จ่ายให้กับทันตแพทย์ที่จบปริญญาตรี ถูกกว่าทันตแพทย์ที่ไปจบต่อมาแล้ว ผมก็ถามว่ากรณีแบบนี้คิดยังไง เพราะว่าคนไข้คนนี้เดินมาให้นักศึกษาปี ๔ ทำ นักศึกษาปี ๔ ก็ทำได้เหมือนกัน

ชลนภา : แล้วไม่มีราคากลางรึค่ะ ตอนนี้

วิชัย : ราคากลางเท่าที่ผมทราบ ที่พอจะทำได้มีจังหวัดเดียว คือจังหวัดนครสวรรค์ ที่คลินิกเอกชนทำราคากลางให้ใช้ร่วมกัน จังหวัดอื่นนี่ยังไม่เคยได้ยินว่ามีไหม

สมเกียรติ :
ผมคิดว่าก่อนจะตอบคำถามอาจารย์ มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้วิธีการกลั่นกรองและฐานคิดจากศาสตร์ชนิดไหน คือ สมมติถ้าเกิดในฐานคิดที่เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์ ผมว่าต้องคิดถึงการลงทุนทั้งหมดของวิชาชีพแพทย์ เช่น หมอที่ไปจบทางด้านอุดฟันหลังปริญญาตรี เขาสูญเสียโอกาสที่จะหารายได้ สมมติ ๓ ปีที่เขาไปต่อช่วงนั้น คือ ช่วงสูญเสียโอกาส รายได้ และได้ความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น

ในขณะที่ทันตแพทย์อีกท่านหนึ่ง จบปริญญาตรีแล้วทำงานเลย ผมคิดว่าถ้าจะตอบคำถามนี้ มันมีอะไรซับซ้อนกว่าที่จะเป็นเรื่องอะไรปกติง่าย ๆ คือ มันมีเรื่องของการสูญเสียโอกาสในการประกอบวิชาชีพ ๓ ปีที่ไปเรียนต่อ อันที่สอง ก็คือคุณวุฒิที่สูงขึ้น หรือวิทยาการที่มันก้าวหน้าที่เขาไปเรียนรู้ตลอดเวลา เขาอัพเกรดตัวเองอยู่ตลอดเวลา และได้รับความรู้ความเชี่ยวชาญ ในขณะที่คนที่จบปริญญาตรีทางแพทย์ธรรมดาทำได้ เพราะมันเป็นโรคธรรมดา ยิ่งเรียนสูง ถ้าเราเชื่อว่าการเรียนรู้ ทำให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาหรือความเกี่ยวเนื่องของปัญหาเชื่อมโยงมากขึ้น ผมคิดว่าการที่เราไปวางใจกับคนที่มีความรู้ทางการแพทย์ที่สูงกว่าก็น่าจะเป็นราคาที่เราต้องจ่าย

ทีนี่ถ้าเกิดเรามาคิดบนฐานของมนุษยธรรม ก็ต้องถือว่าเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งเลย ที่เราจะใส่โจทย์ข้อมูลหรืออะไรเพื่อที่จะได้คำตอบที่มันหลุดออกมาอีกคนละชนิด อย่างกรณีแบบที่อาจารย์ยกตัวอย่างมา ผมคิดว่าสมมติถ้าคนขายไข่ปิ้งไปโรงพยาบาลที่มันชื่อฝรั่ง แล้วรักษาโรคฟันเช่นเดียวกับคลินิกเล็ก ๆ แล้วราคาต่างกันด้วยน่ะ ผมแนะนำว่าคนขายไข่ปิ้งควรจะไปคลินิกเล็ก ๆ แต่ว่าคุณก็จะได้รับบริการแบบที่มันอาจจะไม่โอ่อ่า มาตรฐานหรือไม่มีเพลงประกอบในการทำฟัน ผมไม่รู้ (หัวเราะ) คือ องค์ประกอบเหล่านี้ทั้งหมดมันมีค่าใช้จ่าย เช่น ติดแอร์ ห้องที่ค่อนข้างสบาย/สวยงาม ห้องกระจก เก้าอี้ที่ทันสมัย ความปลอดภัยที่สูงกว่า ผมคิดว่าถ้าคิดในแง่เศรษฐศาสตร์นี้เป็นการลงทุนและมีราคาหมด

คนขายไข่ปิ้งเลือกได้ระหว่างหมอจีน หมอสมุนไพร แพทย์แผนตะวันตก ราคามันแตกต่างกันหมดเลย เขาเลือกได้ตั้งแต่ต้นด้วย คือถ้าผมป่วย ผมจะดูน่ะ ผมรู้จักอาจารย์แต่ทำไมผมเลือกอาจารย์ ผมมีโอกาสเลือกไง ผมเป็นทุกข์ แล้วผมจะแก้ทุกข์โดยที่ผมมีโอกาสเลือกผมคิดว่าคนขายไข่ปิ้งเลือกแล้ว

วิชัย : จริงหรือเปล่าครับ ทำไมอาจารย์คิดว่าคนขายไข่ปิ้งเขาเลือกแล้ว

สมเกียรติ : คิดว่า หมอที่เดินออกมาปุ๊บ เจอคนขายไข่ปิ้งผมคิดว่าคนขายไข่ปิ้งเลือกความสะดวกมันใกล้ที่ทำธุรกิจของเขา เขาประหยัดเวลา อันต่อมาก็คือว่าเป็นราคาที่เขาไม่ได้ต่อรอง อันนี้คิดว่าถ้าเป็นราคาที่เขาไม่ต่อรอง แสดงว่าเขายินดีจ่าย อันนี้ให้ความเป็นธรรมหน่อยน่ะ

วิชัย : ไม่ คนอื่นไปก็ไม่เคยต่อรอง

ณัฏฐิรา : มันต่อรองได้ด้วยรึค่ะ

วิชัย : เออ นั่นน่ะซิ

สมเกียรติ :
ไม่ การต่อรองของเรา ไม่ใช่พูดด้วยปากน่ะ แต่เราไปครั้งเดียว วิธีต่อรองของเรากับวิชาชีพแพทย์คือ เราไปหาเขาครั้งเดียว

วิชัย : แต่ในกรณีนี้เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปอีกรึเปล่า

สมเกียรติ : แต่อาจารย์ก็ให้ข้อมูลเราไม่มากพอ ฉะนั้นเราจึงต้องสันนิษฐานจากข้อมูลที่มีอยู่ พูดในปัญหาที่ซับซ้อนที่เขาเขียนเพราะถ้าเกิดเอาโจทย์ของอาจารย์มาพูดเลย ผมว่าผู้พิพากษาอาจจะพิพากษาอะไรผิดเยอะมาก ถ้าเกิดไม่ได้ไต่ถามพยานบุคคล ตรวจสอบพยานทางวัตถุ ไม่ได้ไปสืบค้นกับคนที่เห็นเหตุการณ์ให้ครบถ้วน แล้วพิพากษาจากเอกสารอย่างเดียว ผมว่าศาลพิพากษาผิดเยอะเลย ฉะนั้นข้อมูลที่อาจารย์ให้จึงเป็นข้อมูลภาคเอกสารซึ่งสั้นมากต้องถามคนขายไข่ปิ้งว่ายินดีจ่ายไหม หรือว่าคราวต่อไป เขาไปหาหมอคนนี้อีกไหม แล้วหมอคนนี้แสดงความเมตตาแบบนี้ถูกต้องไหม จริง ๆ ผมอาจจะต้องอบรมหมอคนนี้ด้วยน่ะ ที่มีมนุษยธรรมมากเกินไป (หัวเราะ) คือ ในความซับซ้อนของปัญหามันไม่ได้ง่ายแบบนั้น มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย

ชลนภา : ตัวเองก็ยังสนใจเรื่องต้นทุนที่แท้จริง เหมือนเราขายของ เราก็ต้องรู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ มันถึงจะกำหนดราคา แล้วเราถึงเข้าใจเรื่องความสมเหตุสมผล แล้วปรากฏว่ามันมีปัญหาหนึ่งคือว่า เหมือนกับทันตแพทย์เขาเป็นเจ้าของความรู้เรื่องทำฟัน คนอื่นเขาก็ไม่รู้ว่าควรจะเป็นยังไง แล้วหมอก็ไม่เคยมาคุยกับเราจริง ๆ ไม่รู้ว่าอยากให้เรารู้รึเปล่า

สมเกียรติ : อาจารย์มันยากน่ะ ครั้งแรกที่ผมฟันแตกผมรู้สึกทันทีเลยว่า เอ้ย หมอฟันแม่งช่วยสุขภาพจิตผมมากเลย ฟันที่ผมแตกได้เพราะผมไปเคี้ยวกระดูก แล้วฟันผมแตก ผมรู้ทันทีว่าผมแก่ แล้วผมไปหาอาจารย์ อาจารย์เสริมความมั่นใจของผมว่า เออ...มันไปหยุดความรู้สึกทางจิตวิทยา นี่ผมเล่าให้อาจารย์ฟังหลายครั้งว่าผมรู้สึกว่าหมอฟันมีประโยชน์ตรงนี้ ก็คือว่าในแง่ psychology ที่ทำให้เรารู้สึกว่าความแก่ของเราซ่อมแซมได้ ผมยินดีจ่ายไง

ไม่ใช่แค่ยินดีจ่าย แต่ผมรู้สึกว่าผมได้ฟื้นความมั่นใจในตัวเองด้วยวิธีการทางทันตกรรม โอเค คนเป็นฟันคุดแม้เขาจะขายไข่ปิ้งในราคาลูกละ ๓ บาทกับความเจ็บปวดที่มันหยุด และอันตรายในอนาคตที่มันจะไม่ต้องเผชิญอะไรหลายอย่างมาก ซับซ้อนกว่านั้นคือ ไม่ใช่แค่ฟันหายปุ๊บ ทุกอย่างมันกลับมา มันมีอนาคตด้วยไง มันซื้ออนาคตข้างหน้าที่คุณจะไม่ปวดฟัน มันซื้ออนาคตหลายอย่าง ในแง่ psychology มีความมั่นใจมากขึ้น ไม่มีกลิ่นปาก สิ่งที่เขาจ่าย ๑,๕๐๐ ผมว่าเขาซื้อหลายอย่าง เขาถึงยอมจ่ายด้วยราคาไข่ปิ้ง ๓ บาท ประมาณ ๕๐๐ ฟอง

ชลนภา : คิดถึงว่า แม้กระทั่งในทางสาธารณสุข ไม่พูดถึงระเบียบเอกสาร เขามองเรื่องทำฟันเป็นศัลยกรรม คือทำสวยหรือว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ

วิชัย : เขาแบ่งกันอยู่ อย่างครอบฟันที่ว่าคือว่าทำสวย แต่ว่าอุดฟัน ขุดหินปูน ถอนฟัน อย่างนี้ ถือว่ารักษา ส่วนเรื่องของฟันปลอมเพื่อความสวย แต่ตอนหลังเขามีการเสนอว่า ฟันปลอมถ้าจะเป็นฟันปลอมในเชิงเพื่อการใช้งาน เพื่อสุขภาพ มันก็เลยจำกัดกลุ่มฟันปลอม เช่น ฟันปลอมที่เรียกว่าครอบฟัน ไม่ถือว่าเป็นกลุ่มเพื่อสุขภาพ เป็นกลุ่มของความสวย เขาก็เลยไปเป็นฟันปลอมแบบถอดได้ แนวโน้ม คือ เป็นพวกผู้สูงอายุ ซึ่งมีการสูญเสียฟันอย่างนั้นอยู่แล้ว อันนี้เพื่อสุขภาพ

ชลนภา : ที่ประเทศอย่างเยอรมันเคยเจอเพื่อน เขาอุดฟันปกติเขาใช้สีเงิน ๆ ในเมืองไทยตอนนี้มีวัสดุใหม่ ๆ เข้ามา กึ่ง ๆ เซรามิค คือ เพื่อนเคยฟันแหว่ง เขาบอกว่าต้องใช้อะไรครอบ และใช้วัสดุค่อนข้างดีและมันเบิกได้ เบิกได้เพราะว่า ถ้าไม่ทำเธอจะรู้สึกว่าชีวิตฉันหมดสวยแล้วมีปัญหากับสุขภาพจิต กลายเป็นเรื่องสุขภาพไป คือมันมีการตีความ

สมเกียรติ : ผมอยากจะฟังหมอวิชัยพูดต่อ กรณีที่ยก case นี้ขึ้นมา ผมไม่อยากให้คำตอบของผม ไปหยุดสิ่งที่อาจารย์ต้องการพูดจริง ๆ เพราะว่าผมเพียงแค่ยกตัวอย่างใน case ที่ผมมองจากมุมมองที่มันมีแว่นขยายหลายชนิดเป็นเครื่องมือในการพิจารณา อันนี้เป็นการมองหรืออ่านเหตุการณ์จากการที่อาจารย์นำมาเสนอให้พวกเราอย่างหนึ่ง จริง ๆ แล้วทัศนะส่วนตัวของอาจารย์ เป็นแบบไหน?

วิชัย : คือ ฟังอาจารย์พูดเหมือนอาจารย์กำลังเดาอยู่ ผมต้องการพิพากษา case นี้ จริง ๆ แล้วผมไม่มีเจตนาพิพากษาแน่นอน อย่างที่อาจารย์บอกก็คือว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เอกสารเพียงแค่นี้ ข้อความเพียงแค่นี้ เราเอาอะไรตัดสินได้ว่าออกหัวหรือว่าออกก้อย ผมคิดว่า การอ่านกระทู้นี้แล้วรู้สึก happy กับมันมากเลย happy มากที่มีเรื่องแบบนี้ออกสู่สาธารณะ เพราะว่าใครก็ตามที่มาอ่านเรื่องนี้ พร้อมที่จะคิดไปทางไหนก็ได้ และผมสนุกกับการที่จะฟังว่า คน ๆ นี้ คิดไปทางไหน

เพราะอะไร เพราะอาจารย์สมเกียรติตอบไปแล้ว ก็คือว่า มันขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้น ฐานคิดเขามาจากอะไร และชัดมากเลยเช่น กรณีที่อาจารย์พูดถึงประเด็นสุดท้ายที่อาจารย์พูดแล้วจบ ก็คือ ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์บอกว่าผมอาจจะต้องไปอบรมมนุษยธรรมหมอคนนี้ด้วยซ้ำไป กระทู้ที่ตอบมาต่อจากอันนี้ มีประเด็นนี้จริง ๆ ก็คือว่า หมอคนนี้ คุณกำลังจะทำลายระบบของคลินิก ระบบของคลินิกเขา set ขึ้นมาแล้วไงว่าฟันคุดมันคือ ๑,๕๐๐ บาทและการตั้งราคานี้ ที่เมื่อสักครู่ถามว่าคิดจากอะไร คือต้นทุนอะไร แพงเกินจริงหรือเปล่า ก็มีเหตุผลหนึ่งในการตั้งราคาขึ้นมา ถือว่าราคานี้เป็นราคากลาง ซึ่งเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันไปแล้ว เช่น กรณีนี้มันง่ายแต่เขาแจ๊คพ็อต ที่จะต้องมาเฉลี่ยทุกข์ไป

สมเกียรติ : คนที่ได้รับบริการแบบนี้ จริง ๆมันมีเป็นพันคน คนนี้ทุกข์เพราะรายได้น้อยและของเขาง่าย

วิชัย : เผอิญว่าอีกคนเข้ามาเหมือนกัน แต่ฟันคุดแบบที่มันกลับหลังหัน พวกนี้ทำแทบตายก็ชั่วโมงหนึ่ง ๑,๕๐๐ เหมือนกัน ก็เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน แต่อันที่จริงมันมีวิธีการตั้งราคา จริง ๆ แล้วฟันคุดเขาไม่ได้ใช้ราคาเดียวอย่างนี้หรอก ปัจจุบันคลินิกต่างๆ เขาจะใช้วิธีตั้งช่วง ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ บาท หรือ ๑,๕๐๐ - ๓,๐๐๐ บาทอะไรทำนองนี้

ชลนภา : แต่ตัวเองฟังว่า ๑ ชั่วโมง ๑,๕๐๐ ก็ยังสงสัยอยู่ดี มีอาชีพอะไรทำรายได้ชั่วโมงละ ๑,๕๐๐ บาท

สมเกียรติ : คืออาจารย์ชลนภาคิดในลักษณะที่มัน machanic มาก เพราะว่า หมอฟันจะเผชิญกับคนไข้ ๖ ชั่วโมงประจำการ ก็เลยเอา ๑,๕๐๐ ไปคูณ ๖ ชั่วโมง ซึ่งไม่จริงไง เนื่องจากว่า continuity อย่างนี้มันไม่เกิด ถึงมันเกิดก็ไม่ใช่โรคฟันคุดอย่างเดียว บางคนมาหาหมอฟันเพื่อจะอุดฟันหรือขูดหินปูน ราคามันก็ต่างกันไปในแต่ละชั่วโมง หรือ หมอฟันอาจจะต้องนั่งฟังเพลง ๔ ชั่วโมงแล้วมีคนไข้มาคนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าสถานที่ประกอบการอยู่ย่านไหนด้วยน่ะ หลายอย่างมันเฉลี่ยมากเลย มิติมันจึงค่อนข้างซับซ้อน

ชลนภา : อันนี้คือมองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ ๑,๕๐๐ ทางเศรษฐศาสตร์ เพราะว่าราคาทางเศรษฐศาสตร์ มันต้องถามว่าต้นทุนจริง ๆ ต้องมาดูอีกเหมือนกัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่เราบอกค่าบริการเท่านี้ แต่จริง ๆ ไม่เคยรวมค่าทำเขื่อน โรงงานไฟฟ้า ต้นทุนอะไรที่เอามาคิด เหมือนกับว่าต้นทุนจบ ป.ตรี มันต้องเป็นอย่างนั้น จบ ป.โท เป็นอย่างนี้ อันนี้คือ ต้นทุนที่เอามารวมด้วยรึเปล่า หรือต้นทุนจบมหาวิทยาลัยนี้อาจจะคนละราคา แต่ว่าก็น่าสนใจว่า จริง ๆ มันเป็นราคากลางที่วิชาชีพนั้นทำกันเอง หรือจริง ๆ แล้วควรจะมาจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาดูด้วย อันนี้เรายังไม่ได้ยกขึ้นมาคุยกัน

สมเกียรติ : ผมเห็นด้วยว่า stake holder ทั้งหมด ไม่ใช่แพทย์อย่างเดียว ผู้ใช้บริการจากแพทย์ด้วย รวมทั้งบุคลากรที่ดูแลกำกับ วิชาชีพอะไรต่าง ๆ คิดว่าน่าจะเข้ามามีส่วนในทุกวิชาชีพ ไม่ใช่หมออย่างเดียว ทั้งหมดน่าจะวางแผนในทุกวิชาชีพให้มันเกิดมาตรฐานกลางที่ stake holder ทุกฝ่ายยอมรับ แล้วถ้ามันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาแล้ว ในมิติทุกอย่างจะถูกชั่งน้ำหนักแม้แต่คนจนที่จะมารักษารากฟัน หรือคนรวย คือทุกอย่างจะถูกคิดอย่างรอบคอบ แทนที่จะเป็นวิชาชีพอย่างเดียว

ผมเคยคุยกับหมอเกือบ ๑๐ ปีมาแล้ว ตอนที่เขาเริ่มมีการประเมินคุณภาพของคณะต่าง ๆ แล้วมีอาจารย์จากทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาพูดว่าจะมีการปรับปรุงโรงพยาบาล ผมบอกว่าคนไข้ต้องมีส่วนในการปรับปรุงโรงพยาบาล เพราะว่าเขาเป็นคนใช้บริการจากคุณ ไม่ใช่เป็นศาสตราจารย์นายแพทย์ ฯลฯ จากมหาวิทยาลัยมหิดล รามาธิบดี ศิริราช จุฬาฯ เท่านั้นที่มาเป็นผู้ปรับปรุงและประเมินคุณภาพ ไม่ใช่ เวลาคุณจะปรับปรุงเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไม่ใช่ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีการสอนซึ่งมีคณะแพทย์อยู่ด้วย ไม่ใช่แค่นั้น คุณต้องเอาคนไข้ที่ไปใช้บริการด้วย เข้ามามีส่วนในการปรับปรุงการบริการ หรือปรับปรุงคุณภาพของระบบการแพทย์หรือสาธารณสุขทั้งหมด

ชลนภา : เพราะมันมีฐานคิด แค่ว่าการผลิตทันตแพทย์ คือมันไม่ใช่ว่าทันตแพทย์ไปเรียนแล้วเสียโอกาสในการทำรายได้ แต่ประเด็นมันคือว่าทันตแพทย์ก็ไม่เคยลงทุนสร้างสถาบัน โรงเรียนทันตแพทย์ขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นเงินของส่วนรวมเอาไปทำ เหมือนกับว่าคนในสังคมลงทุนเอาเงินภาษีไปทำเพื่อผลิตบุคลากร เพื่อมาเอื้อซึ่งกันและกันตรงนี้ แต่มันกลายเป็นว่ากลายเป็นเรื่องขุดทอง ก็ไม่รู้คำถามของอาจารย์ว่าร๊วย รวย มันมาจากความสงสัยในข้อแบบนี้รึเปล่า

วิชัย : ความจริงแล้วมันควรจะมีเครื่องหมายคำถามข้างหลังด้วยซ้ำไป (หัวเราะ) ขอแลกเปลี่ยนต่อ เมื่อสักครู่ของอาจารย์สมเกียรติก็คือว่า ข้อเสนอที่อาจารย์เสนอมันมีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นอีก ในแวดวงวิชาชีพ ยกตัวอย่างเช่น สาขาจัดฟัน สาขานี้ทุกวันนี้ถือว่าเป็นสาขาที่ทำรายได้แบบร่ำรวยมหาศาลมากเลย ไม่มีหมอจัดฟัน แม้แต่คนเดียวที่ต๊อกต๋อย คือทำอาทิตย์หนึ่ง วันเดียวหรือสองวัน ใช้ชีวิตอยู่อย่างสบาย มีวัตถุที่ให้ใช้ได้อย่างสบาย แต่เชื่อไหมครับว่าปี ๆ หนึ่ง มีคนที่ต้องการเรียนต่อในสาขานี้ แต่ละสถาบันที่เปิดสอนศึกษาต่อปีหนึ่งมีคนมาสมัครแล้วแต่ อย่างเชียงใหม่เองเกือบพันคน รับได้เต็มที่ ๕ คน. ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดปีหนึ่งไม่รู้กี่พันมาสมัครกัน ก็รับได้ประมาณนี้ ๕ คน

และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ คนที่อยู่ในแวดวงสาขา เฉพาะทาง ๆ ด้านนี้ เขาขีดกรอบไว้ด้วย ขีดวงไว้ด้วยว่าห้ามไม่ให้คนอื่นมาทำการจัดฟัน ถ้าไม่ได้มาเรียนต่อ เช่น จะมีบริษัทเอกชนจัดการอบรมในเรื่องของการจัดฟันเป็นคอร์ส ๆ คอร์สที่ ๑, ๒, ๓, ในที่สุดแล้วหมอที่เดินเข้ามาช๊อปปิ้งในคอร์สเหล่านี้ สามารถจะจัดฟันได้ คนเหล่านี้ก็จะถูกมองว่าผิดกฎหมาย คนที่จะทำได้ต้องมาเรียนแบบนี้เท่านั้น ทำได้แค่ปีละ ๕ คนเองน่ะ ปีเว้นปีด้วย และทั่วประเทศมีสถาบันที่จะเปิดอย่างนี้ได้ น่าจะประมาณสัก ๕ มหาวิทยาลัย ที่สอนในระดับปริญญาโทแล้วออกไปได้

คิดดูครับว่า ๒ ปี มีคนประมาณ ๒๕ คนที่สามารถจะทำแบบนี้ได้ มันก็เลยมีคำถามซ้ำใหญ่มากและก็ปั่นป่วนวงการมากในช่วงหนึ่งก็คือว่า ถ้าอย่างนั้นขอดูหน่อยว่าค่ารักษาพยาบาลที่คุณคิดไป จริง ๆ มันเท่าไหร่แน่ เพราะคุณเล่นสร้าง need หรือเปล่า สร้าง demand แล้วกั๊กตัวเองไว้ ฉันกลายเป็นคนสำคัญไปไง เพราะว่าบุคลากรประเภทนี้มันมีน้อย

จึงได้มีการตั้งคำถามกันว่า ราคานี้มันถูกต้องจริงไหม ลองมาแบกันจริงซิว่ามันสักเท่าไหร่แน่ ทำไมมีบางคลินิกที่แบบเหมือนจะทุบหม้อข้าวเลย เจอจัดฟัน ๒๐,๐๐๐ แล้วทำไมมันอยู่ได้ ราคานี้อยู่ได้ ทำไมอีกคลินิกจัดฟัน ๖๐,๐๐๐ อย่างนี้มันแปลว่าอะไร ทำนองนี้ อันนี้คืออย่าว่าแต่การที่เอา
stake holder ที่อาจารย์พูดถึงเลย ในวิชาชีพเดียวกัน ย่อยไปเป็นสาขา ยังบีบตัวเองอยู่ในสาขา เฮ้ย เอ็งอย่ามายุ่ง ฉันจะเป็นคนกำหนดเส้นทางนี้ในแวดวงฉันเอง ซึ่งอันนี้น่ากลัว ใน sense ผมนี่คือ ความน่ากลัวของวิชาชีพ อย่างนี้ไม่ต้องไปพูดถึงเลยว่าราคากลางของการอุดฟันคืออะไร

ชลนภา : แล้วสาขาทันตแพทย์เขามีจรรยาบรรณวิชาชีพไหม?

วิชัย : มีครับ มีสภาวิชาชีพอยู่

ชลนภา : มีตัวเลขไหมค่ะว่าพอจบทันตแพทย์แล้วจะเปิดร้านต้องลงทุนเท่าไหร่?

วิชัย : แล้วแต่ครับว่า มันไปอยู่ในทำเลแบบไหน เช่น ถ้าไปเปิดแถวสีลมนี่คงต้องลงทุนเยอะ พูดถึงเฉพาะอุปกรณ์ที่จะเสริมเข้าไปในร้าน ตอนนี้อาจจะประมาณ ๕ ล้าน เฉพาะเก้าอี้ทำฟันตัวเดียว ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในเรื่องของเก้าอี้ทำฟันของไทยก็มี แต่ของไทยก็จะมีข้อด้อยในระบบอะไรบางอย่าง เช่น เสียง่าย ซึ่งถ้าคิดในเชิงระยะยาวแล้ว เราก็จะไปจ่ายเงินค่า maintainance คือไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านบาทแน่ ๆ อย่างมีคนที่เพิ่งไปลงทุนเปิดคลินิกอยู่ที่ระยอง เขาลงทุน ๔๐ ล้าน

ชลนภา : เคยได้ยินเรื่องของทันตแพทย์คนนึง เขาบอก เขาเปิดทำงานวันเดียว แล้วที่เหลือก็คือ ออกไปทำงานกับชุมชน ก็เหมือนอย่าง case ที่บอกไม่ต้องหาเงินทุกวัน ตอนนี้คนที่มีรายได้น้อยหรือคนยากคนจนในเมืองไทย เขาสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรม ยังไงได้บ้าง ผ่านตรงไหน อย่างไร?

วิชัย : ก็ขึ้นอยู่กับการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ๓๐ บาท หน่วยย่อยที่สุดก็ต้องไปสถานีอนามัย ก็จะมีบุคลากรให้บริการอยู่เหมือนกัน ก็เป็นงานที่ไม่ซับซ้อนมาก อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูนธรรมดา ถ้ายากไปกว่านั้นก็เดินเข้าโรงพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ราคา ๓๐ บาทหมด

สุทธาธร : ค่อนข้างแปลกใจเพราะแต่ก่อนในรุ่นที่กำลังจัดฟัน มีความรู้สึกว่าอาย เป็นอะไรที่น่าอายมากกับการจัดฟัน แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเทรนด์ว่าถ้าคุณไม่จัดฟัน มันตกยุคหรืออะไรอย่างนี้

วิชัย : รุ่นผมที่เรียนมาด้วยกัน ก็มีอยู่คนเดียวที่จัดฟันตอนอยู่ ม.ปลายและเขาก็อายมาก เขาก็จะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่รู้ว่าพ่อแม่บอกว่าให้ทำ อายมากเลย จำได้เราก็ล้อกันในสมัยนั้น

สุทธาธร : แล้วมันไปคลิ๊กตรงไหนกลายมาเป็นแฟชั่นในตอนนี้

วิชัย : คลิ๊กตรงไหน เริ่มยังไงนี่ผมไม่รู้ แต่ส่วนหนึ่งแน่ ๆ ก็คือว่ามีเริ่มมีการสร้างความนิยม ค่านิยมอะไรบางอย่าง เช่น การจัดฟันแล้วก็ต้องมีสี ๆ ใส่มียางสีนู้น สีนี้ มีเครื่องมือสีนั้น สีนี้ ให้มันกลายเป็นเครื่องประดับไป ก็ที่หน้า มช. ไม่ใช่เหรอ วันนั้นก็ลงข่าวอยู่ มีแบบเครื่องมือไปรัดไว้เฉย ๆ ให้ดูคล้ายกับไปใส่เครื่องมือจัดฟัน

สุทธาธร : กำลังสงสัยกันว่าไอ้เรื่องจัดฟันทำไมมันกลายเป็นแฟชั่น

สมเกียรติ : ในด้านหนึ่ง มันบ่งบอกฐานะทางเศรษฐกิจทันทีเลย คือ มันเป็น index ที่บอกว่ามาจากครอบครัวที่มีฐานะ แรก ๆ เลยนะคือมันเป็นดัชนีเลยถ้าเกิดคุณดัดฟัน มันเหมือนกับเราใส่นาฬิกา คล้าย ๆ กัน ถ้าคุณใส่ Rolex คุณไม่ใช่คนธรรมดา มันเป็นค่านิยมชนิดหนึ่ง ที่บอกว่าคุณมาจากครอบครัวที่มีฐานะ

วิชัย : คือมันมีส่วนที่ต่อเนื่องกันอยู่ มีงานวิจัยที่ลงไปตามเก็บกับกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในเชียงใหม่ ข้อมูลที่ confirm ตรงนี้ก็คือว่า คำว่าบ่งบอกฐานะทางเศรษฐกิจคือ เขาจำเป็นที่จะต้องเข้ากลุ่ม เขาจะต้องเข้ากลุ่มให้ได้ ซึ่งในกลุ่มนั้นมันมีค่านิยมแบบนี้อยู่ เขาก็ต้องสร้างตัวเองให้สามารถเข้าไปยืนอยู่ในนั้นให้ได้ ก็โดยการวิธีนี้ ซึ่งรวยจริงรึเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ แต่เป็นการทำให้รู้สึกว่าตัวเอง…

สมเกียรติ : เป็นแค่สัญญะบอกว่าคุณมาจากครอบครัวที่ดีมีฐานะ ซึ่งอันนี้เป็นค่านิยมไม่ต่างอะไรกับที่ผู้ชายต้องใส่เสื้อ Arrow ถ้ายิ่ง Arrow มันอยู่ตรงหน้าอกเลย แต่ผมคิดว่าวิธีวิเคราะห์ของผมมันหยาบเกินไป มันน่าจะมีคำอธิบายและทุกวันนี้เขายังยอมอมสารตะกั่ว ที่มันไม่มีราคาแต่มันบอกว่าฉันไม่ Ordinary แต่ปลอม รู้สึกว่าอันตรายมาก

ชลนภา : แล้วตอนนี้ในทางระบบการผลิตโรงเรียนทันตแพทย์ มีการคุยในเรื่องนี้มากขึ้นไหมค่ะ จริง ๆ อย่างน้อยก็เรื่องการตั้งคำถาม

วิชัย : ถามว่าคุยกันมากไหม คุยกันมากนะครับ แต่ว่าเป็นการคุยเพื่อไปสู่ทางตัน ผมสรุปอย่างนี้เพราะว่า หลายวงที่ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งคุยด้วยจะเป็นการคุยกันแล้วสรุปสุดท้าย คือว่า ทำอะไรไม่ได้หรอก เหตุผลของการที่บอกว่าทำอะไรไม่ได้หรอก จากวงพวกนี้ก็คือ เขาโตมา พ่อแม่เขาเลี้ยงมา โรงเรียนเขาสอนออกมา ตั้งกี่ปีแล้วยังทำได้แค่นี้เลย แล้วคนพวกนี้มันดัดยากแล้วไง แล้วมาอยู่มือเราอีกแค่ ๖ ปีเอง เราจะไปทำอะไรได้

อันที่สองก็คือ เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันทำในคณะ ในสถาบันการศึกษา จะมาให้ใครคนใดคนหนึ่งทำ ทำไม่ได้ แล้วก็รอต่อไปซิ เพราะรอให้ทุกคนทำ เป็นเหตุผล ๒ เหตุผล คุยกันอีกชาติก็มีเหตุผลแค่นี้ แล้วก็นำไปสู่ทางตันอย่างที่ผมว่า เพราะฉะนั้นก็อย่าทำอะไร เพราะตัวเรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของและต้องรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้อง take action หรืออะไร

เรื่องนี้ผมก็เพิ่ง debate กับภาควิชาไปเมื่อ summer ที่ผ่านมานี่เองว่าเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณต่อวิชาชีพเหล่านี้ เราควรจะต้องหาเทคนิควิธีการรูปแบบอะไรก็แล้วแต่ ในการที่จะต้องถ่ายทอดหรือว่าอบรมนักศึกษา สร้างเขาขึ้นมา อะไรบางอย่างก็คงต้องทำ ก็มีอาจารย์อีกฝั่งหนึ่งเขาบอกว่านักศึกษาควรจะต้องรู้เรื่องเหล่านี้ต่างหาก เช่น ควรจะต้องรู้ว่าถ้าจะเปิดคลินิก ตัวอักษรใหญ่ขนาดนี้ ไม่ควรได้นะมันจะผิด คุณจะออกไปทำผิด ๆ โดยที่อ้างว่าคุณไม่รู้ไม่ได้ กฎหมายบังคับอยู่ ผมก็จะบอกว่ากฎหมายมันมีตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ถ้าพื้นฐานของคุณดีแล้ว คุณจะทำผิดกฎหมาย คนอื่นก็จะเข้าใจว่า คือพลั้งเผลออย่างที่อาจารย์ว่า คือ ถ้าเจตนามันไม่ได้มีอย่างนั้น ก็ไม่เกิดขึ้นหรอก

สมเกียรติ : ขอแลกเปลี่ยนอย่างนี้ครับ ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง อันที่จริงเป็น secondary source ชื่อ "The power of the powerless" คือ อำนาจของคนที่ไร้อำนาจ ประธานาธิบดีเชคโกสโลวาเกียคนหนึ่งเป็นคนเขียน ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะเป็นประธานาธิบดี เกิดการปฏิวัติที่เรียกว่าการปฏิวัติกำมะหยี่(Velvet Revolution) เกิดขึ้นมาจากลักษณะแบบนี้คือ เขาเชื่อมั่นว่า อำนาจของคนที่ไร้อำนาจมี แล้วมันมีทฤษฎีหนึ่งที่ทำให้ปัจเจกกล้าที่จะแหกกฎหรือกบฏต่อระบบได้ ผมจำชื่อทฤษฎีไม่ได้แน่นอน ผมขอเรียกว่าเป็น "Theory of smallthing" เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง มักจะเกิดขึ้นกับคน ๒-๓% ก่อน แล้วหลังจากนั้นมันจะแผ่ขยายออกเป็น ๑๒% แล้วเป็น ๓๓% หรือ ๖๖% มันจะเป็นอย่างนี้ ทฤษฎีนี้จริง ๆ เขาเรียกว่า…

ชลนภา : tipping point

สมเกียรติ : เช่นปรากฏการณ์สนธิ เกิดขึ้นจากคนอย่างสนธิ ๒ - ๓ คน แล้วมันก็เกิดอาจารย์คณะรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์จากจุฬาและธรรมศาสตร์รวมกัน ไม่เห็นด้วยกับทักษิณ ตรงนี้เป็น ๑๒ % พอ ๑๒% เสร็จแล้วบูมเป็น ๖๖ % แล้วในทฤษฎีบอกว่าส่วนที่เหลือ อีกไม่กี่สิบเปอร์เซนต์ คือพวกที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ปล่อยมัน

คืออย่างการที่ทันตแพทย์บางกลุ่มรู้สึกว่าปัญหาตีบตัน ผมคิดว่าทุก ๆ คนจะรู้สึกตีบตันคล้าย ๆ กับทันตแพทย์ ถ้าไม่รับรู้ทฤษฎีเหล่านี้ คือทุกอย่างหากต้องการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นจาก ๒-๓% ก่อนแล้วหลังจากนั้นจะขยายตัวเป็น ๑๒% แต่ว่าในแต่ละช่วงจาก ๒-๓% ไปถึง ๑๒ % จาก ๑๒ % ไป ๖๖ % เขาถือว่า ต้องมี sell man คนที่จะขายไอเดีย เพราะคน ๒-๓%จะขยายตัวเป็น๑๒ % ไม่ได้ มันไม่มีตัวเชื่อมมันจะมีภาวะที่เรียกว่า sell man ที่เอาไอเดียนี้ไปขายต่อ พอขายถึง ๑๒ % แน่นอนจะต้องมีคนขายมากขึ้นอีก

ชลนภา : ทฤษฎีนี้ทางจิตวิวัฒน์ก็ยอมรับเรื่องนี้มาก ๆ อย่างคุณมากาเรต วิตลี่ เป็นนักมานุษยวิทยาหรือสังคมวิทยา เขาก็พูดประโยคที่ถูกเสนอซ้ำบ่อย ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงในโลกนี้เกิดจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ส่วน tipping point จะทำให้เห็น เพราะทฤษฎี tipping point เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์แบบอยู่ ๆ ดัดฟันมันบูมขึ้นมาได้ยังไง หรือว่าอยู่ ๆ โรคนึงมันระบาดได้ยังไง เพราะมันจะเกิดจากกลุ่มเล็ก ๆ แต่ว่าพอมันถึงจุดหนึ่งเขาเรียก critical mass ไม่เยอะอาจจะ ๒-๓ % ไม่ถึง ๕ % อยู่ ๆ มันก็จะแผ่ขยายใหญ่พรึ่บไปเลย การเปลี่ยนแปลงคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มีคนคิดคล้าย ๆ กันอยู่ประมาณนี้ แล้วมันจะดำเนินไปเอง อันนี้คือไอเดียหลัก ๆ

ปัจเจกชนทุกวันนี้รู้สึกอ่อนแรงมาก ๆ เพราะมันขาดคนที่คิดคล้าย ๆ กัน รู้สึกว่าขาดพลังที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งน่าสนใจมากกว่า ปัจเจกชนจริง ๆ มันเกิดจากความรู้สึกว่าเราเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้ ความเป็นปัจเจกจึงเกิดขึ้น แต่ว่าความเป็นปัจเจกของสังคมไทยปัจจุบันมันกลายเป็นว่ายวบลง เมื่อเราเอาตัวเองไปเทียบกับระบบโครงสร้างใหญ่ ๆ ซึ่งตรงนี้อาจต้องมาตรวจสอบกันว่าทำไม มันเกิดอะไรขึ้นกับความเป็นปัจเจกตรงนี้

สมเกียรติ : ยังมีคำอธิบายอีกชุดหนึ่งเขาเรียก"ทฤษฎีลิงตัวที่ ๑๐๐" อันนี้เก่ามากเลย มาก่อน Tipping point เคยอ่านพบและรู้สึกชอบ แต่ก่อนจะพูดถึงทฤษฎีนี้ ผมขอเริ่มที่เรื่องการกระโดดลงจากขบวนรถไฟสายที่คนส่วนใหญ่โดยสารไปตามกระแสก่อน เมื่อสักครู่ที่ อ.ชลนภาพูดเรื่องที่เขามักจะไปโทษระบบการศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่ว่า "มันไม่มีความเป็นกลาง หากว่าคุณยังอยู่บนขบวนรถไฟ" (You Can't Be Neutral on a Moving Train )อะไรทำนองนี้

ระบบศึกษาเป็นขบวนรถไฟ ชนิดหนึ่งที่มีเป้าหมายที่จะมุ่งไป ซึ่งแน่นอนตอนนี้เห็นได้ชัดว่า มันไปตามกระแสทุนนิยมแน่ ๆ ระบบการศึกษาของเรา ฉะนั้นวิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ก็คือว่า คุณต้องกระโดดลงจากรถไฟก่อน อันดับแรกเพราะคุณจะไม่มีทางเป็นกลางได้ในขณะที่คุณอยู่บนขบวนรถไฟ ถึงแม้คุณจะอยู่กลางขบวนแต่เส้นทางที่มันมุ่งไปมันคือสายที่นำไปสู่ระบอบทุนนิยม มันจะพาคุณไปบนรางสายนั้นเรื่อยๆ จุดกึ่งกลางจึงเคลื่อนตามไปด้วยอย่างสัมพัทธ์

แต่ถ้าคุณกระโดดลงจากขบวนรถเมื่อไหร่ คุณเปลี่ยนเส้นทางได้ทันที แล้วคุณไม่จำเป็นต้องบอกว่าคุณเป็นกลางด้วย เพราะว่าบนขบวนรถไฟ ไม่เคยมีตรงไหนเป็นกลาง เพราะคนที่อยู่ตรงกลางโบกี้ มันก็ไหลไปอยู่ดี มันมุ่งไปที่ขั้วใดขั้วหนึ่ง

ที่นี้ผมกลับมาที่ทฤษฎีลิงตัวที่ ๑๐๐ เขาบอกว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นจากลิงบนเกาะแห่งหนึ่ง รุ่นลูกรุ่นหลานมันรู้จักการนำหัวมัน(พืช)ที่ขุดขึ้นมาจากดินแล้วนำไปล้างน้ำก่อนกิน คือรุ่นปู่รุ่นย่าของลิงพันธุ์นี้กินหัวมันโดยการขุดขึ้นมาจากดินแล้วกินเลย จึงมีเศษหินดินทรายติดเข้าไปในปากด้วย แต่มีลิงตัวหนึ่ง ริเริ่มที่จะนำเอาหัวมันที่ขุดขึ้นมาไปล้างน้ำก่อนแล้วจึงค่อยกิน และมันได้ชักชวนลิงที่เป็นรุ่นเดียวกันให้ทำอย่างนั้น เป็นลิงใน generation เดียวกัน ปรากฏว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับลิงรุ่นใหม่ ซึ่งกินหัวมันโดยการล้างน้ำก่อน และมันเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกระทั่งถึงปริมาณหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ

หมายความว่ามันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของลิงรุ่นใหม่ทั้งหมด ซึ่งรู้จักการนำหัวมันไปล้างน้ำก่อนกิน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเกาะอื่นๆ ที่มีลิงพันธุ์นี้อยู่ และเป็น generation เดียวกัน ข้อที่ชวนสงสัยคือว่า เกาะต่างๆ เหล่านั้นมันไม่ได้เชื่อมต่อกัน แต่ความรู้นี้มันถ่ายทอดไปได้อย่างไร โดยไม่มีการสื่อสาร ข้อสรุปของผู้วิจัยจึงนำเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับทฤษฎีเกี่ยวกับอุณหภูมิที่เป็นจุดเดือดของน้ำที่ 100 องศา C หมายความว่า น้ำได้สะสมปริมาณความร้อนจนถึงระดับหนึ่งแล้วมันค่อยๆ เดือดผุดขึ้นมาเป็นจุดๆ ก่อน หลังจากนั้นมันก็เริ่มเดือดผุดเพิ่มขึ้นๆ และแล้วในทันทีทันใดก็พรึบขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมด

คือเขาเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณที่ว่า พอถึงระดับหนึ่งมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ วิธีการตามทฤษฎีลิงตัวที่ ๑๐๐ นี้ ชาวตะวันตกได้นำไปใช้กับการรณรงค์เรื่องการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์หรือนุค(nuke) คือด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของอาวุธนิวเคลียร์แพร่กระจายไปในคนหนุ่มสาว จนข้อมูลนั้นสั่งสมมากถึงปริมาณหนึ่งซึ่งมันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพในคนหนุ่มสาวเหล่านั้น กรทั่งผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป อาฟริกา หรือเอเชีย generation นี้ ก็จะลุกขึ้นมาต่อต้านพิษภัยของอาวุธทำลายล้างนี้พร้อมกัน จนพวกที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธร้ายนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ติดตามทฤษฎีนี้จนกระทั่งสามารถบอกได้ว่ามันได้ผลหรือไม่ และที่มีการเซ็นสัญญาห้ามการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ที่ผ่านมา มันมีผลอันเนื่องมาจากทฤษฎีลิงตัวที่ ๑๐๐ หรือเปล่า อันนี้ต้องช่วยไปค้นคว้ากันเอาเอง จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมมักจะชอบทฤษฎีแบบนี้ เพราะว่ามันทำให้เราเชื่อมั่นว่าคนเล็ก ๆ สิ่งเล็ก ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราไม่ต้องไปเชื่อในระบบ มันทำให้เรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่อยู่ในครรลอง

ชลนภา : แต่ว่ามันมีวิธีอธิบายทางวิทยาศาสตร์เรื่องทำนองแบบนี้ มันเหมือน myth มากเลย ถ้าอย่างหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้ยินแกก็จะเล่าว่าวิธีนี้มันเหมือนกับปลูกฝังความเชื่อชนิดหนึ่งลงไปในสังคมด้วยการเล่าเรื่องๆ หนึ่งออกมา. myth ที่เล่าซ้ำ ๆ เพื่อนำไปสู่ทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เมื่อเรื่องเล่าลิงตัวที่ ๑๐๐ จริง ๆ ก็เคยค้นในเว็บ แต่หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยทฤษฎีอันนี้ เป็นเรื่องในทางวิทยาศาสตร์

แต่ถ้ามองเป็น myth มันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างเรื่องที่อาจารย์ประเวศ หลัง ๆ มักจะชอบเล่า นักบินอวกาศเอ็ตการ์ มิชเชล ขึ้นไปบนยานอวกาศ แล้วมองกลับมาบนโลกแล้วเขารู้สึกเปลี่ยน อันนี้เป็น myth อันหนึ่งซึ่งพยายามสร้างขึ้นเพื่ออะไรบางอย่าง หลัง ๆ มาก็เหมือนกับใช้ลองทฤษฎีว่า เหมือนสังคมเราคนไม่ค่อยเชื่อมั่นแล้วว่าทำดีได้ดี เขาก็เลยลองวิธีเปลี่ยนว่า ลองมาทำ project ประเภทแผนที่คนดี แผนที่ความดี เล่าเรื่องดีๆ ออกมา ส่งข่าวดีๆ ออกมา เพราะตอนนี้หน้าหนังสือพิมพ์มีแต่ข่าวร้ายๆ แย่ๆ หมดเลย ถ้าทำเรื่องนี้ซ้ำๆ เยอะๆ มันจะช่วยพากันไปได้ ตัวเองเข้าใจว่าเราอยู่ในองค์กรที่หมดหวังมากเลย คนโน้นก็ไม่ไหว คนนี้ก็ไม่ไหว มันคงทำให้ตัวเราเล็กลง และอ่อนแรงไปในที่สุด

(คลิกกลับไปทบทวน ตอนที่ ๑)

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
230549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnightuniv website 2006
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกหรือผ่านการสังเวยชีวิตของคนบางกลุ่มด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นในอังกฤษยุคต้น เขาจะใช้วิธีว่า ถ้าคุณจะมาถอนฟัน คุณไปนั่งกินเหล้าก่อน เขามีห้องไว้ให้เลย จัดเหล้าจัดอะไรให้นั่งกินกันเต็มที่จนเมา แล้วถึงจะเข้ามาถอนฟัน อันนี้คือความคิดของยุคนั้น คนไข้ไม่ต้องรู้เรื่อง ไม่ต้องรู้ตัวมาก แต่ถ้ายุคปัจจุบันใครลองกินเหล้ามาก่อน จะถูกไล่กลับไป เพราะความดันเลือดจะขึ้น การสูบฉีดโลหิตจะมากขึ้นเวลาถอนฟันจะอันตราย เลือดจะไหลไม่หยุด แต่ถ้ายุคสมัยนั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาซึ่งเสียไปกี่ศพก็ไม่รู้