นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



บันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่ ๘
เริ่มที่เรื่องของหมอฟัน แต่ไปจบลงที่ทฤษฎีลิง (ตอน ๑)
ทพ. วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ
ภาควิชาทันตกรรมชุมชน
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากโครงการเชียงใหม่สำนึก
เป็นการบันทึกคำสนทนาเรื่องทันตแพทย์ ร๊วย รวย
เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความเป็นมาของวิชาชีพทันตแพทย์ และข้อพิจารณาทางจริยธรรมต่อวิชาชีพดังกล่าว
และไปจบลงที่ข้อเสนออันหลากหลายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มต้นจากคนเล็กๆ ของสังคม

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 929
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)




เริ่มที่เรื่องของหมอฟัน แต่ไปจบลงที่ทฤษฎีลิง (ตอน ๑)
ทพ. วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่ ๘
วันเสาร์ที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔:๐๐ - ๑๗:๐๐ น.
ณ เติ๋นผญา วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม

๑. ทพ. วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๒. รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๓. ดร. สุทธาธร สุวรรณรัตน์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๔. คุณอรทัย พงศ์เชี่ยวบุญ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๕. คุณชลนภา อนุกูล ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์
๖. คุณณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มเชียงใหม่สำนึก

ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับวิชาชีพทันตแพทย์
สมเกียรติ : สำหรับวันนี้ที่อาจารย์หมอวิชัยเตรียมมา เกี่ยวกับเรื่อง "ทันตแพทย์... ร๊วย รวย"
อาจารย์มีประเด็นที่จะเสนอแล้วหรือจะให้ถามนำด้วยคำถามครับ?

วิชัย : ผมอยากนำด้วยคำถามครับ

สมเกียรติ :
ถ้าจะนำด้วยคำถาม ผมใคร่รับฟังเรื่องประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับวิชาชีพทันตแพทย์ซึ่งมีกำเนิดขึ้นมาบนโลก เพราะคิดว่าน่าสนใจ และรวมถึงประวัติของวิชาชีพทันตแพทย์ในประเทศไทยรวมไปถึงอินเดียด้วย ซึ่งอาจารย์เคยเล่าให้ฟัง ผมเองคิดว่าเรื่องดังกล่าวควรถูกบันทึก เนื่องจากว่าคนนอกซึ่งไม่ได้เรียนแพทย์จะได้เข้าใจว่าเกิดขึ้นมาได้ยังไง ทำไมต้องแยกออกจากคณะแพทยศาสตร์ หรืออย่างช่วงแรกๆ ที่วิชาชีพดังกล่าวรวมอยู่ในร้านตัดผม หรือมีคนจีนจีนประกอบอาชีพดังกล่าว ทั้งหมดเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนนอก อาจารย์จะช่วยปูพื้นในเชิงประวัติศาสตร์ได้ไหมครับ เพื่อปรับให้เราในฐานะคนฟังมีพื้นเท่าๆ กันก่อน

วิชัย : ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์คร่าวๆ เกี่ยวกับเรื่องของทันตแพทย์ ในส่วนที่ผมเห็นว่าน่าจะเกี่ยวกับเรื่องที่นำไปสู่การเสนอของผมวันนี้ ในเชิงประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วในวงการทันตแพทย์ ถือว่ามีคนๆ หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งวงการทันตแพทย์ยุคใหม่หรือยุคปัจจุบัน… นับตั้งแต่คนนี้ ถือว่าทุกคนที่เดินตามเส้นทางของเขา คือ ปิแอร์ ฟอชาร์ด(Pierre Fauchard) เป็นชาวฝรั่งเศส (คศ. 1678 - 1761)

เดิมทีเดียวปิแอร์ ฟอชาร์ด เป็นทหารเสนารักษ์ของกองทัพเรือ ด้วยความที่ว่าเขาเป็นทหารเสนารักษ์จึงต้องให้การรักษาพยาบาลทั่วไป แล้วเมื่อถึงคราวที่ตัวเองต้องลงเรือไปกับกลุ่มทหาร เวลามีใครเจ็บไข้ได้ป่วย ตัวเองต้องให้การดูแลอย่างเต็มที่ ด้วยความที่ตัวเองรับภาระแบบนี้ เผอิญว่ามีเรื่องที่จะต้องดูแลเกี่ยวกับเรื่องของฟันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เขาก็จำเป็นต้องแสดงบทบาทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

เดิมทีเดียวเขาเป็นทหารเสนารักษ์ซึ่งสนใจทางด้านงานผ่าตัดอยู่ ก็มีทหารที่อยู่ในหน่วยกองเรือ เจ็บป่วยขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องฟัน เขาก็เลยต้องทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งในยุคสมัยนั้นงานเกี่ยวกับเรื่องของฟัน จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานผ่าตัดเสียส่วนใหญ่ การผ่าตัดก็คือ ทำยังไงถึงจะถอนฟันซี่นี้ออกได้ คือจะเป็นเรื่องของการรักษาที่รุนแรงเป็นหลัก หลังจากที่เขาทำตรงนี้แล้ว พอเขากลับเข้าฝั่งอีกทีก็เกิดความสนใจต่อเนื่องว่า จริงๆ งานทางด้านนี้ เขาเองก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ ดังนั้นจึงเริ่มศึกษาทางด้านนี้ พอรู้มากเข้า เขาก็เลยสถาปนาเป็นสถาบันขึ้นมาซึ่งต้องการถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องทางด้านทันตกรรมเป็นหลัก

เพราะฉะนั้นในยุคแรกที่เกิดขึ้น งานทันตกรรมเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด ซึ่งพ่วงอยู่กับปัจจุบันนี้ คือปัจจุบัน ดีกรีของทันตแพทย์เมื่อจบในระดับปริญญาตรี ถ้าย่อเป็นภาษาอังกฤษ คือ DDS เขาย่อมาจาก Doctor of Dental Surgery คือ หลายคนจะเข้าใจว่าเป็น Dental Science หรือ วิทยาศาสตร์ทางด้านทันตกรรม แต่อันที่จริงแล้ว S มาจาก Surgery เพราะเติบโต มาจากงานศัลยกรรม

และนับตั้งแต่ยุคนี้เป็นต้นมา เริ่มมีการที่ใครก็ตามซึ่งจะบอกว่าตัวเองเป็นทันตแพทย์ต้องมาเข้าสถาบันของปิแอร์ ฟอชาร์ด ตรงนี้คือจุดหักเหที่ทำให้อาจารย์สมเกียรติ บอกว่ามันเคยมีการเอาพวกงานเกี่ยวกับงานทำฟันทั้งหลายไปอยู่ในบาร์เบอร์ ในร้านเสริมสวย ยุคก่อนหน้านี้ก็คือเป็นยุคที่งานเกี่ยวกับการทำฟันเป็นเรื่องของความสวยงามอะไรต่างๆ ดังนั้นมันจึงไปอยู่ในร้านเสริมสวยหมด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืองานทันตกรรม ไปทำฟัน ตัดผม ทำเล็บ

เพราะฉะนั้น พอหลังจากที่ปิแอร์ได้สถาปนาตรงนี้ขึ้นมา งานทันตกรรมที่เคยมีอยู่เดิมในบาร์เบอร์ ก็เริ่มถูกบอกว่าเถื่อน มันเป็นตัวที่แยกชัดเจนว่าอันนี้คือ"เถื่อน" แต่สิ่งหนึ่งที่เวลาผม บรรยายให้กับนักศึกษาฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์หรือวิวัฒนาการ ในวิชาชีพเอง สิ่งหนึ่งที่จะต้องตั้งไว้ให้นักศึกษา ไว้เตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาคือว่า สิ่งที่ปิแอร์ทำขึ้นมานั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะว่าปิแอร์ เป็นแค่คนที่ไปพยายามที่จะรวบรวมเอาสิ่งที่เคยมีอยู่เดิมในบาร์เบอร์ช๊อปหรือว่าตามข้างถนน แล้วมาทำให้มันเป็นหลักเป็นการอะไรบางอย่าง เป็นของตัวเอง แล้วก็บอกว่าอันนี้มันเป็นศาสตร์ที่ถูกต้อง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกหรือผ่านการสังเวยชีวิตของคนบางกลุ่มด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นในอังกฤษยุคต้น เขาจะใช้วิธีว่า ถ้าคุณจะมาถอนฟัน คุณไปนั่งกินเหล้าก่อน เขามีห้องไว้ให้เลย จัดเหล้าจัดอะไรให้นั่งกินกันเต็มที่จนเมา แล้วถึงจะเข้ามาถอนฟัน อันนี้คือความคิดของยุคนั้น คนไข้ไม่ต้องรู้เรื่อง ไม่ต้องรู้ตัวมาก แต่ถ้ายุคปัจจุบันใครลองกินเหล้ามาก่อน จะถูกไล่กลับไป เพราะความดันเลือดจะขึ้น การสูบฉีดโลหิตจะมากขึ้นเวลาถอนฟันจะอันตราย เลือดจะไหลไม่หยุด แต่ถ้ายุคสมัยนั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาซึ่งเสียไปกี่ศพก็ไม่รู้ ซึ่งการที่เขาใช้เหล้ามาเป็นเครื่องมืออาจพบว่ามันมีข้อบกพร่องอยู่ ก็เลยกระโดดไปถึงว่าถ้าเช่นนั้น มันน่าจะมีสิ่งอื่นๆ เช่น เอาแก๊สมาเป่า เอาควันมารม เพื่อให้เกิดอาการชาหรือว่าไม่รู้สึกตัว แล้วถึงจะถอนฟัน คืองานยุคแรกๆนั้นเป็นแบบนี้

การถอนฟันในอังกฤษราวปีคศ. 1970 ที่ต้องมีการดื่มเหล้าก่อนที่จะรับการถอนฟัน

หรืออย่างพวกหมอฟันเถื่อนที่เขามีการให้บริการตามข้างถนน ก่อนหน้าที่ปิแอร์ จะสถาปนาเป็นสถาบันแล้วทำให้เกิดมีใบประกอบโรคศิลป์ขึ้น การรับรองต่อความสามารถของคนที่ทำงานเกี่ยวกับทันตกรรมเขาก็รับรองได้หลายวิธี อย่างเช่น เอาจำนวนฟันที่ถอนได้มาร้อยกันเป็นพวงแบบองคุลีมาล โชว์เลยว่านี่คือผลงานของตัวเอง ใครมีจำนวนฟันมากก็รู้สึกว่าคนนี้มีประสบการณ์มาก คนให้การยอมรับหรือยุคหลังจากนั้นมาก็เริ่มมีใบที่เขาทำขึ้นมาเองเป็นหนังสัตว์ ที่เขียนเป็นจารึกว่าเขาได้เริ่มต้นประกอบอาชีพดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และเคยไปทำที่ไหนยังไงมาบ้าง ก็คือใบประกอบโรคศิลป์ในยุคถัดมา มันมีการล้อตามระบบแบบนี้มาอยู่ก่อน คือ ส่วนที่มีการพัฒนาเกิดขึ้น

สมเกียรติ : ประเด็นต่อมาที่สงสัยคือว่า สิ่งที่อาจารย์เล่าทั้งหมดที่เป็นภูมิหลังประวัติความเป็นมาที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก ส่วนในส่วนอื่นของโลกเป็นอย่างไรบ้างครับ

วิชัย : ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลของโลกตะวันตกอย่างเดียว จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงเรื่องงานทันตกรรมมันไม่ได้มีจุดกำเนิดมาจากโลกตะวันตกเสียทีเดียว แต่ผมคิดว่าวิชาชีพนี้สมัยใหม่ ถูกทำให้เกิดขึ้นในโลกตะวันตกในยุคปิแอร์ ฟอชาร์ด แต่ถ้าดูในแง่ประวัติศาสตร์ของงานทัตนตกรรมแล้ว เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ของงานทันตกรรมไปเกิดที่อียิปต์ จีน และเม็กซิโก คือ หากไปค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ เราจะพบหลักฐานทางโบราณคดี จะพบเรื่องราวดังกล่าวอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด ส่วนทางตะวันตกตามมาทีหลัง

เช่น เทคโนโลยีสมัยปัจจุบันที่เราถือว่าก้าวหน้ามาก และกำลังทำเงินให้กับทันตแพทย์อย่างมาก คือ"รากเทียม" ถือว่ามาถล่มทลายงานจัดฟันเยอะมากเพราะ งานจัดฟันทีได้เงิน ๔- ๕ หมื่นแต่ต้องใช้เวลาหนึ่งปี แต่รากเทียมซี่เดียวอย่างเก่งก็ไม่เกิน ๑ เดือนสามารถหาเงินได้จากตรงนี้ประมาณ ๖ หมื่นขึ้น แต่ถ้าเราไปดูในประวัติศาสตร์แล้วปรากฏว่า ชนเผ่ามายาเป็นชนเผ่าซึ่งได้มีการทำรากเทียมมาก่อนแล้ว



รากฟันเทียมจำนวน ๓ ซี่ของชนเผ่ามายา คาดว่ามีอายุในราว ๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล

สมเกียรติ : หลักฐานที่เขาไปเจอคืออะไร

วิชัย : กระโหลก ขากรรไกร ก็คือ เป็นหลักฐานซึ่งเป็นกรามล่าง เราพบว่าซี่ฟันของกรามชุดนี้มีไม่ครบ ซี่ฟันที่เป็นฟันธรรมชาติ ไม่ครบแต่ว่ามีงาช้างบ้าง มีอะไรบ้างเสียบเข้าไปแทน ซึ่งลักษณะวิธีการมันคือ"รากเทียม"ในปัจจุบัน เป็นแบบฟันปลอมก็มี ซึ่งเขาใช้งาช้างบ้าง กระดูกสัตว์บ้าง ใช้โลหะมามัดเพื่อไปเชื่อมติดกับฟันซี่อื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดของฟันปลอมในยุคปัจจุบัน พวกนี้เกิดขึ้นในอียิปต์โดยเกิดขึ้นมานานมาก ซึ่งสิ่งนี้ตะวันตกไม่มี หลักฐานที่ทางตะวันตกค้นพบ เท่าที่ผมมีโอกาสอ่านส่วนใหญ่จะเป็นพวกหลังปี ค.ศ.ทั้งนั้น แต่อย่างอียิปต์นี้ เก่าแก่ยาวนานมากที่เขาเจอกัน อย่างของจีนที่เขาค้นพบก็เป็นพวกฟันปลอมอะไรต่างๆ ไม่รู้ว่าเจอในสมัยราชวงศ์อะไร

สุทธาธร : "ฟันปลอม"กับ"รากเทียม"มันต่างกันยังไงค่ะ

วิชัย : "รากเทียม"นี่ถือว่าเป็นลักษณะของการเอาวัตถุแปลกปลอมภายนอกฝังเข้าไปในกระดูก แต่ถ้าเป็น"ฟันปลอม"จะไม่ทำอะไรกับกระดูก เป็นการวางไปบนรากฟันธรรมชาติเดิมหรือวางไปบนสันเหงือก แต่ถ้ารากเทียมนี้ต้องมีส่วนที่ฝังเข้าไปในกระดูก. สำหรับรากเทียมเราถือว่า เป็นการใส่ฟันเพื่อทดแทนฟันซี่นั้นๆ โดยที่ฟันซี่นั้นถูกถอนออกไปแล้ว ถ้าทิ้งไว้นานๆ มันจะมีช่องว่างระหว่างฟันอยู่ ถ้าหากต้องการใส่ฟันเพื่อเติมให้มันเต็ม กรณีที่ทำแบบรากเทียมก็คือ เจาะกระดูกเข้าไป เหมือนปักเสาเข็มลงไป

รากเทียมจะให้ความรู้สึกของความเป็นธรรมชาติมากกว่า เวลาเคี้ยวอาหาร แรงกดจะถ่ายทอดลงไปในกระดูกเรา ถ้าเป็นฟันปลอม จะรู้สึกเหมือนมีปลอมสักซี่นึงไปวางแตะไว้บนเหงือก เวลาเคี้ยวความรู้สึกจะต่างกับการที่แรงมันถ่ายทอดลงไปสู่กระดูก เขาถือว่ามันต่างกันอย่างนั้น

อรทัย : คล้าย ๆ ครอบฟันไหมค่ะ

วิชัย : ครอบฟันนี่ถือว่าเป็น ฟันปลอมอีกชนิดหนึ่ง เป็นฟันปลอมที่วางไปบนรากฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่

สมเกียรติ : แล้วเรื่องครอบฟันนี้สมัยก่อนใช้วัสดุอะไร ทำไมต้องครอบ?

วิชัย : ทำไมต้องครอบ คล้ายๆ อย่างนี้ครับ สมมติว่าฟันเดิมของเราซี่ประมาณขนาดนี้ สมมติว่ามีการผุแล้วทำให้ฟันแหว่งออกไป อันนี้คือส่วนที่แหว่งออกไป ทำให้เหลือแค่นี้ ทั้ง ๆ ที่ซี่เดิมมันควรจะเต็ม สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนๆ นั้น บางทีอาจจะรู้สึกรำคาญว่าการใช้งานหรือการเคี้ยวมันไม่มีประสิทธิภาพ วิธีการก็คือว่า เราจะทำการรักษาโดยที่ทำยังไงก็ได้ให้ซี่ฟันดูเต็มเหมือนเดิม ก็โดยการทำครอบฟัน เหมือนกับการทำหมวกแล้วใส่ไว้ด้านบน มันก็จะเท่าเดิม

ครอบฟันที่เป็นทองก็มี แต่ถ้าเป็นยุคก่อน ยุคก่อนไม่มีครอบฟัน แต่ถามว่ามีฟันทองไหม? ตอบว่า "มี" ถ้าเป็นหลักฐานของอียิปต์ ฟันที่จะใส่เข้าไปทดแทนบริเวณที่ไม่มีซี่ฟัน เขาก็ทำฟันปลอมขึ้นมาซี่หนึ่งแล้วทำห่วงเชื่อมต่อซี่ฟันปลอมนั้น ยื่นออกไปทั้งสองข้างคล้ายๆกับแหวน ยื่นออกมาเพื่อจะคล้องกับฟันซี่ข้าง ๆทั้งสองข้าง ที่อียิปต์เขาทำกันอยู่ในยุคสมัยก่อน ปัจจุบันแบบนี้ไม่มีแล้วครับ เทคโนโลยีปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีห่วงนี้ไปรัดฟันข้างเคียง

สุทธาธร : เห็นเหมือนกับว่า เวลาจะทำต้องทำซี่ข้าง ๆ ด้วย

วิชัย : ใช่ครับ เทคโนโลยีที่ว่าก็คือ ข้างๆ ช่องว่าง(ของฟันที่ถูกถอนออกไป)นั้น ต้องมีฟัน ๒ ซี่ คือ ฟันธรรมชาติที่มีอยู่เดิม วิธีการคือ กรอฟัน ๒ ซี่นี้ให้มันเล็กลง แล้วก็ใช้วิธีครอบ แบบที่ผมว่า ก็คือ ครอบฟันนี่ซี่นึง นี่อีกซี่หนึ่ง แล้วทำฟันปลอมมาอีกซี่นึง เชื่อมติดกัน วิธีคิดเดียวกัน คือ ต้องอาศัยซี่ข้างเคียงในการไปเกาะไว้ แต่วิธีการเกาะจะไปเกาะทั้งซี่ จะไม่ใช่เป็นห่วง


สมเกียรติ : เขาเชื่อมด้วยอะไร

วิชัย : โลหะ แต่พอกข้างนอกด้วย เขาเรียกว่าเป็นกระเบื้องพอสซีเลน(porcelain) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีลักษณะสีเหมือนฟัน มันแค่เคลือบเฉยๆ มันก็คือมีค่าเท่ากับกระเบื้องมีโอกาสแตกได้ หากเอาไปใช้เคี้ยวน้ำแข็งอะไรอย่างนี้ แล้วซ่อมไม่ได้ ต้องรื้อยกชุด

สุทธาธร : แล้วอย่างของเมืองไทย พูดถึงการทำพวกทันตกรรม แต่ก่อนเรามีหรือว่าฟันเราดีมาก

วิชัย : แต่ก่อนไม่มีนะครับ มันก็เหมือนล้อตามๆ กันมาก็คือ ราชวงศ์มักจะมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงบริการแบบนี้ก่อน เมืองไทยก็เหมือนกันเป็นแบบนี้ อย่างถ้าเราดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอียิปต์ เราก็จะเห็นเลยว่ากระโหลกชุดนี้ เป็นของราชินีองค์นี้ แล้วก็มีการนำไปถ่ายภาพรังสีอะไรออกมาก็จะเห็นว่า ราชินีองค์นี้เคยทำฟันมาก่อน ราชินีองค์นี้มีฟันผุ ซึ่งเขาคาดว่าก็เพราะว่าอาหารที่กินมันสมบูรณ์ มันก็เลยเสี่ยงต่อการผุ แล้วเขาไปดูว่ารูปปั้นหรือรูปวาดที่อยู่ในผนังของอียิปต์ก็จะพบพวกเป็นก้อน เป็นแป้ง หรือน้ำตาล ในขณะที่พวกชนชั้นไพร่ไปดูฟันของผู้คนเหล่านี้ ฟันจะสึกเตียน เหี้ยนกัน เพราะว่าอยู่กลางดินกินกลางทราย ไม่ได้มีอาหารที่อ่อนนุ่มเช่นเดียวกับบรรดาชนชั้นสูงกินกัน เพราะฉะนั้นฟันก็จะสึกกันไปหมด

ในเมืองไทยก็คล้ายๆ กันก็คือ คนที่เข้าถึงบริการแบบนี้ในช่วงต้นๆ ได้แก่ราชวงศ์ ซึ่งการเข้าถึงบริการก็มาทางฝรั่งพวกมิชชันนารี แล้วถึงจะเริ่มส่งคนไทยไปเรียนรู้ ศ. พันเอกหลวง วาด วิทยาวัฑฒ์ ถือว่าเป็นคนไทยยุคต้นๆ ที่ได้มีโอกาสไปเรียนแล้วเอาความรู้ทางตะวันตกแบบนี้เข้ามาเผยแพร่และก่อตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ระดับปริญญาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ (แต่ตามบันทึกนั้น ทันตแพทย์ระดับปริญญาที่ให้บริการคนแรกในเมืองไทยคือ Dr. George Mcfarland หรือ พระอาจวิทยาคม โดยได้ตั้งคลินิกส่วนตัวให้บริการที่ปากคลองตลาด)

สุทธาธร : นึกว่ากินหมากกันเยอะ ก็เลยไม่ผุ

วิชัย : คือถามว่ากินหมากแล้วฟันไม่ผุ จริงไหม? คือจริง เพราะว่าในธรรมชาติของการกินหมากมันก็มีเทคนิค ใช่ไหมครับ อันนี้ประกอบด้วย ๒ ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ก็คือ การกินหมากฟันไม่ผุเพราะว่า หมากมันเป็นลักษณะของเส้นใยซึ่งเหนียว ถ้าเป็นความรู้ในปัจจุบันเขาจะอธิบายว่า เส้นใยที่เหนียวแบบนี้คนเคี้ยวต้องใช้แรงและใช้ระยะเวลาในการเคี้ยวนาน การใช้แรงและระยะเวลาในการเคี้ยวที่นานแบบนี้ อันนี้อธิบายแบบวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้ว่า ต่อมน้ำลายของเราจะฉีดน้ำลายออกมาเพื่อช่วยในการย่อยสลายซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ น้ำลายที่ขับออกมาจะช่วยล้างพวกเศษอาหารที่มันตกค้างอยู่ในปาก

ถ้าถามว่าทำไมก่อนนอนถึงต้องแปรงฟัน ก็เพราะเหตุที่ว่าช่วงที่เรานอนน้ำลายจะไม่ไหล หรือไหลช้า คืออัตราการไหลจะต่ำมาก เพราะฉะนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากได้สูง เขาเลยบอกว่า ถ้าแปรงครั้งเดียวต่อ ๑ วัน ให้แปรงก่อนนอนเถอะ ถ้าเชิงอนามัยช่องปากอย่างนี้ดีกว่า แต่ในเชิงสังคมต้องว่ากันอีกที (หัวเราะ)

ในส่วนที่สอง ของการเคี้ยวหมาก คือธรรมชาติของการเคี้ยวหมากของคนสมัยก่อน หลังจากที่เราเคี้ยวหมากเสร็จแล้ว ผมไม่เคยเห็นเองน่ะครับ ที่เขาเขียนจะมีว่า คือมีการเอาหมากมาถูฟันด้วย เป็นเส้นๆ ในการขัดด้วยคือ ยุคก่อนที่จะมีแปรงสีฟัน เขาก็ใช้วิธีการแบบนี้ ในการทำความสะอาดฟันอยู่แล้ว โดยใช้กิ่งข่อย กิ่งไม้จี้ เอามาทุบ แล้วใช้วิธีเดียวกันนี้ในการทำความสะอาดฟัน ทุบปลายให้มันแบนๆ แล้วเอามือประคองแล้วถู ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับหมาก

สมเกียรติ : แล้วคุณสมบัติของหมากเองที่มันมีสารเคลือบอะไร เกี่ยวไหม คุณสมบัติของหมาก ก็คือ หมากกับปูนผสมกันแล้วมันก็กลายเป็นอะไร ที่มันข้น ๆ เหนียวๆ แดง ๆติดฟันเคลือบไปเลย เกี่ยวไหม สำหรับตัวเคลือบ

วิชัย : ตัวเคลือบ ผมไม่แน่ใจ แต่ในแง่ของการป้องกันฟันผุ มันป้องกันได้อยู่แล้ว เพราะสิ่งที่มันไปเกาะบนฟัน มันก็ทำให้เศษอาหารติดยาก มันก็ตรงไปตรงมาในแง่ของฟันผุ ถ้าในแง่ของอีกโรคหนึ่งที่มันเกี่ยวข้องก็คือ โรคเหงือกอักเสบก็จะกลายเป็นอันตรายไป กลายเป็นความเสี่ยงเพราะพวกนี้จะเก็บสะสมคราบจุลินทรีย์ได้ง่าย เพราะความเหนียวของมันทำให้พวกนี้ติดง่าย

สมเกียรติ : กรณีที่เราแปรงฟันตอนกลางคืน มันไปเกี่ยวอะไรกับต่อมน้ำลายของเราจะชุ่มชื่น ถ้าอย่างนั้นเรากินน้ำเฉยๆ ได้ไหม

วิชัย : ไม่ครับ ที่ผมพูดถึงเรื่องการแปรงฟันก่อนนอน หมายถึงว่า ด้วยอัตราการไหลของน้ำลายของคนเราถ้าเรานอน อัตราการไหลมันจะต่ำ อัตราการไหลของน้ำลายมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการชะล้างคราบอาหารที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก ยิ่งพูดเท่าไหร่ ก็จะหลั่งน้ำลายออกมาก พวกนักพูด ฟันจะไม่ค่อยผุ

สมเกียรติ : แต่เป็นปากนกกระจอกแทน แม่งพูดจน ไอ้ห่า เมื่อไหร่มึงจะเช็ดว่ะ (หัวเราะ) กูดูทีวี อึดอัดฉิบเป๋งเลย

วิชัย : พวกนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคน้อยลง หมายถึง โรคฟันผุ

สุทธาธร : แสดงว่ากลางคืน มันชะน้อยเพราะฉะนั้น เราก็ล้างเศษอาหารออกไปก่อน

วิชัย : ใช่ครับ ก็จัดการล้างเอาคราบสกปรก ทั้งหลายออกไปก่อน มันก็ทำให้ความเสี่ยงลดลง แต่ว่ามันเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือธรรมชาติพยายามจะบอกอยู่ตลอดเวลาว่า มันไม่มีอะไรหรอกที่มันมีดีอยู่ด้านเดียวและก็มีเสียอยู่ด้านเดียว แม้แต่ในปากก็เถอะ เช่น กรณีคนซึ่งมีน้ำลายไหลอยู่เยอะๆ ในด้านดีของมันก็คือ มันช่วยล้างทำความสะอาด แล้วมันทำให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคฟันผุน้อยลง แต่ในอีกด้านหนึ่ง สมมติว่าคนๆ นั้น เผอิญมีแร่ธาตุในร่างกายที่เป็นกลุ่มตระกูลฟอสเฟต แคลเซียม ถ้ามีเยอะมันจะออกมาทางน้ำลายด้วย เวลามันออกมาที่น้ำลายแล้วเกิดการตกค้างสะสมมันกลายหินปูนแทน

ชลนภา : นึกว่าฟันจะเรืองแสง (หัวเราะ)

วิชัย : อันนั้นต้องเป็นพวกซิลิเนียม คือ มันก็มีดี มีเสียอยู่ในตัวเหมือนกัน คนที่น้ำลายเยอะๆ ในฐานะของทันตแพทย์ เวลาเราตรวจฟันเราก็จะไม่ค่อยไปสนใจเรื่องฟันผุ เพราะฟันเขาจะไม่ค่อยผุ แต่เราจะไปดูเรื่องหินปูนแทน

สมเกียรติ : ผมอยากจะให้อาจารย์ช่วยพูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาในประเทศไทย ก่อนที่จะมาเป็นวิชาชีพทันตแพทย์ จริงๆ คนไทยเราเองรักษาเรื่องฟันกันอย่างไร

วิชัย : ถ้าในเอกสารเท่าที่เคยอ่าน เขาจะใช้คำว่า"หมอจีน" หมอจีนมีในบ้านเราตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เคยสัมภาษณ์อาจารย์หมอถาวร อนุมานราชธน ซึ่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์บอกว่าก่อนที่อาจารย์จะมาอยู่เชียงใหม่ แล้วมาตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คนเชียงใหม่ก่อนหน้านั้นเขาอยู่กันได้ยังไง อาจารย์บอกว่าคนเชียงใหม่ก่อนหน้านั้นมีทางเลือกในการรักษาอยู่ ๒ ทาง

ทางที่หนึ่ง คือเป็นพวกหมอมิชชันนารี ซึ่งมักจะไม่ค่อยมาประจำ คือเป็นหมอที่อาสาสมัครเข้ามา เหมือนกับการก่อกำเนิดของโรงพยาบาลแมคคอมิค ก็มาในลักษณะแบบนี้ อันนี้เป็นศาสตร์แบบตะวันตกเข้ามา

กับอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เราเรียกว่า"หมอจีน" คือเป็นกลุ่มที่มาจากประเทศจีนจริงๆ เพราะว่าประเทศจีน ถ้าตามประวัติศาสตร์ก็คือ รู้อยู่แล้วว่าเขามีวิวัฒนาการเรื่องเหล่านี้มาก่อนหน้าตะวันตกด้วยซ้ำไป ก็จะมีคนพวกนี้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาแล้วเข้ามาให้บริการ ซึ่งการบริการของหมอจีนก็มีทั้งส่วนที่เหมือนกับทางตะวันตกและส่วนที่เป็นศาสตร์ดั้งเดิมของเขาจริงๆ ซึ่งเท่าที่เคยคุยกับอาจารย์ถาวร ซึ่งไม่แน่ใจว่าอาจารย์ถาวรตอบตามเอกสารรึเปล่า เพราะเผอิญว่าตรงกับเอกสารที่อ่านมา ก็คือ ในสมัยการรักษาก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ก็คือ เป็นทางเลือก ๒ ทางแบบนี้

นั่นคือ ไม่เป็นมิชชันนารี ก็เป็นพวกหมอจีน ซึ่งให้บริการกันทั่วไปอยู่แล้ว หมอจีนส่วนใหญ่จะเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มเห็นว่าสามารถประกอบเป็นอาชีพได้ก็เลยมาเปิดร้าน จนถึงทุกวันนี้มี ๒ ร้านที่รับถ่ายทอดจากรุ่นบรรพบุรุษ ทุกวันนี้ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ แถวตลาดวโรรสร้านหนึ่ง อีกร้านหนึ่งอยู่แถวโรงเรียนปริ๊นซ์ รอแยล เปิดเป็นทางการเลย เปิดให้เห็นเลยว่ามีบริการแบบนี้

สมเกียรติ : ตอนเด็กๆ ผมเคยเห็นแถวเยาวราช มันมีโหลแก้วน่ะ แล้วเอาฟันมาโชว์ในตู้กระจกคือ ในย่านคนจีน มันเป็นยังไง อาจารย์พอรู้เรื่องไหมแถวเยาวราช

วิชัย : อันนี้ไม่รู้

สุทธาธร : ตัวของคณะทันตแพทยศาสตร์ แยกจากคณะแพทยศาสตร์มาตั้งแต่แรกเลยหรือไม่

วิชัย : ไม่ครับ ก่อนหน้านี้อยู่ร่วมกันที่คณะแพทย์ ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนกลางเมื่อก่อนก็เป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แล้วถึงจะแยกออกมาเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ภายหลัง ก่อนหน้านี้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสาขาหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ อย่างปัจจุบันที่เป็นพวก ENT ก็คือ พวก หู คอ จมูก ตาก็เป็นสาขาหนึ่ง จมูกก็เป็นสาขาหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสาขาฟัน เป็นแผนกหนึ่ง

ชลนภา : แล้วตอนนี้ แยกออกมาชัดเจน ใบประกอบโรคศิลป์ หมอกับทันตแพทย์แยกออกมาชัดเจนหรือไม่?

วิชัย : นี่แยกชัดเจนครับ

สมเกียรติ : เท่าที่ฟังอาจารย์เล่ามาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา อาจารย์ไม่พูดถึงอินเดียเลย อินเดียไม่มีศาสตร์เรื่องนี้ หรือว่ามีความเป็นมาอย่างไร

วิชัย : อินเดียผมไม่มีข้อมูลจริง ๆ ครับ

ชลนภา : แล้วตำราไทยล่ะค่ะ มีการจารึกอะไรเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาและรักษาโรคฟัน

วิชัย : ตำราโบราณของไทยที่มักจะใช้อ้างอิงเสมอคือวรรณกรรม มันไปปรากฏอยู่ในวรรณกรรมแทน ที่ไปเขียนแบบนิราศ ที่เขียนไว้ว่าไปนิราศนี่ก็ไปพบอะไรอยู่บ้าง จะปรากฏแบบนั้นแทน แต่ไม่ปรากฏแบบอื่น ก็คือสิ่งที่พูดถึงที่วิธีการ การทำความสะอาดฟัน ในยุคโบราณทำยังไงก็คือ สิ่งที่ปรากฏในวรรณกรรม ไม่ได้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นในลักษณะการเขียนเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สมเกียรติ : แล้วในตำราแพทย์แผนไทยมีไหม การรักษาด้วยสมุนไพรเกี่ยวกับโรคฟัน อย่างนี้มีรึเปล่า?

วิชัย : ไม่แน่ใจนะครับ ในประสบการณ์นี้ไม่เคยเจอ ยกเว้นเสียแต่ว่าศาสตร์สมัยใหม่ ย้อนกลับไปอธิบายอีกที นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ แต่สิ่งที่ได้รับการบันทึกไว้ตั้งแต่อดีตมาอยู่แล้ว อันนี้ไม่เคยเห็น แต่ถ้าเป็นยุคปัจจุบัน จะอธิบายใหม่ว่า ตัวนี้ใช้ได้ ตัวนั้นใช้ได้ อันนี้มีแน่ ๆ

สมเกียรติ : หรือสมัยก่อนชาวชนบทไม่ค่อยป่วยเป็นโรคฟัน เลยไม่บันทึกเพราะว่ากินอาหาร ที่มันถูกสุขลักษณะ

วิชัย : คือส่วนหนึ่ง อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวมาก ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ที่มันไม่ค่อยมีบันทึก อาจจะเป็นไปได้ว่า สังคมแบบเราไปผูกกับสังคมแบบพุทธ ในสมัยก่อนมันอาจจะแรงพอ ความเชื่อแบบพุทธที่บอกว่าเป็นเรื่องของสังขารที่เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นไปตามกาล เช่นที่พูดถึงเรื่องฟันในบาลีด้วยว่า นขา ทันตา โลมา เกศา ตะโจ พวกนี้ถือว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง ทันตก็เป็นเรื่องนึงที่บอกว่ามันไม่เที่ยง ก็เหมือนเส้นผมนั่นแหละ เส้นผมก็หลุดร่วงได้ เช่นเดียวกับเรื่องของฟัน อันนี้ผมก็ตีความเอาเอง เรื่องนี้เลยไม่ค่อยมีการบันทึกไว้ เป็นความเห็นผม แต่ถามว่าเขามีการนำเอาสมุนไพรต่างๆมาใช้ไหม เอาสมุนไพรนู่น สมุนไพรนี่มาใช้ต้องมีแน่ๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีสาส์นที่ถ่ายทอดได้มาถึงปัจจุบันนี้

ชลนภา : ทุกวันนี้คนรู้สึกเหมือนถูกโปรแกรมว่า คุณเป็นโรคฟัน ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ทุกคนต้องไปหาหมอฟัน เหมือนถูกสาปว่าต้องเป็นโรคฟันอะไรสักอย่าง ต้องไปใส่ที่ดัดฟัน ต้องไปขูดหินปูน ต้องไปทำโน่นทำนี่ เพราะถ้าไม่ทำคุณจะมีปัญหา เหมือนพวกเราทั้งหลายถูกขู่ เราก็เลยไม่รู้ว่าขู่ เพราะเป็น commercial หรือว่าเพราะเราสุขภาพแย่ลงกว่าสมัยก่อนจริงๆ ตัวนี้พอจะมีบันทึกไว้ไหม อย่างน้อย ๑๐-๒๐ ปีหลัง

วิชัย : เรื่องของบันทึก โดยส่วนตัวผมเอง ผมไม่ค่อยเชื่อว่าสุขภาพของเราแย่ลง สมมติว่าถ้าเอา ๑๐-๒๐ ปีหลัง ถามว่าข้อมูลที่บันทึกคืออะไร เขาก็จะบอกว่า ข้อมูลบันทึกที่เชื่อถือได้อ้างอิงได้ ก็คือ การสำรวจสภาวะทันตสุขภาพของคนไทย ซึ่งผมคิดว่ากรณีที่ตั้งคำถามแบบนี้ มันต้องย้อนกลับไปดูด้วยว่าถ้าเป็นคนเมื่อก่อน แม้แต่เดี๋ยวนี้ก็เถอะ วันก่อนผมเพิ่งคุยกับพยาบาลซึ่งทำงานเก็บข้อมูลกับคนไข้โรคหัวใจ เขาก็บอกว่าคนไข้โรคหัวใจ เดี๋ยวนี้มีมากขึ้น

สุทธาธร : เพราะคนรู้ว่าเป็นโรคหัวใจมากขึ้น

วิชัย : ไม่ใช่ ที่ผมคุยกับเขาผมไม่ได้คุยตรงนี้ แต่ได้คุยกับเขาตรงว่าเคยสงสัยไหมว่าทำไมมากขึ้น เมื่อก่อนมันมากอย่างนี้รึเปล่า เขาบอกว่าเมื่อก่อนไม่เยอะขนาดนี้ ผมว่าจริงรึเปล่าสิ่งที่มันมากขึ้น เพราะว่าคุณเอาเครื่องมือ เดินไปควานหาต่างหาก มันก็เลยเยอะไง? และเดี๋ยวนี้โรงพยาบาลมีคลินิก สถานีอนามัยมีหน้าที่ในการที่จะต้องเอาเครื่องไม้เครื่องมือตระเวนไปตามบ้าน

ฉี่ออกมา เอาแขนมาเจาะเลือด มันจะไม่เจอได้ยังไง ก็เมื่อก่อนมันไม่ได้ออกไปควานหาไง เมื่อก่อนนี้คือว่า คุณรู้สึกเจ็บป่วยคุณเดินเข้ามา แต่เดี๋ยวนี้ ใช้วิธีออกไปควานหา แล้วมันจะไม่เยอะได้ไง ผมว่ามันก็มากขึ้นซิ มันก็ถูกอีกเหมือนกันในเรื่องทันตกรรม ถามว่าเมื่อก่อนเยอะไหม เมื่อก่อนก็อาจจะเยอะ

สมเกียรติ : แสดงว่าอาจารย์ไม่เชื่อในเรื่องของยุคสมัยที่มันเปลี่ยนแปลงไป มันก่อให้เกิดอาการโรคเพิ่มขึ้น เช่น วิถีชีวิตของเราเปลี่ยน อาหารการกินของเราเปลี่ยน คือ ถ้าอาจารย์คิดว่าทุกคนมีอาการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ถูกเครื่องมือไปตรวจสอบเจอ ก็แสดงว่าไม่เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน ของยุคสมัย แต่ละช่วงที่มันเปลี่ยน เช่น เราบริโภคน้ำตาลมากขึ้น ผ่านน้ำผลไม้ ผ่านชา กาแฟ ผ่านอะไรก็แล้วแต่ที่มันผสมน้ำตาลเยอะมากเลยถ้าเราไปอ่านป้ายสลากดู กรณีแบบนี้ทันตกรรมปัจจุบันได้ให้ความสนใจรึเปล่าว่า มันเกี่ยวข้องกับการบริโภคของยุคสมัยที่มันเปลี่ยนการบริโภค

วิชัย : คือ บางคนเขาก็บอกว่าโรคทางทันตกรรม ถือว่าเป็นโรคตามยุคสมัยก็คือว่า โลกที่ทันสมัยหรือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเจริญ เข้าไปถึงแห่งนั้นๆ แล้วโรคฟันจะตามเข้าไป คล้ายกับว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นถนนลาดยางเลื้อยไปที่ไหน เราก็จะเห็นขนมขบเคี้ยววิ่งตามไปเป็นขบวน ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริง ก็ยอมรับว่าเป็นอย่างนั้นจริง

คือถามว่าเป็นยุคสมัยหรือเรื่องของพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป มีผลเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคมากขึ้นไหม ก็ใช่อยู่ แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าข้อมูลที่เราได้มา บางครั้งผมก็รู้สึกว่าก็เป็นข้อมูลที่เราไปตามถนน ไม่ใช่หรือ เราก็ไปตามถนน ข้อมูลที่ได้มามันก็ bias อยู่ในตัว มันเหมือนกับวันก่อนมีนักศึกษาปริญญาเอก เขามานำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของข้อมูลข่าวสาร และเรื่องของคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เขาก็พูดในหลายแง่หลายมุม เรื่องหนึ่งที่เขาพูดถึงก็คือว่าจะพยายามทำข้อมูลพื้นฐาน หาข้อมูลพื้นฐานให้ได้ว่า สภาวะที่มีอยู่ในช่องปากของผู้สูงอายุ ขณะนี้เป็นยังไง แล้วเราจะตั้งเป้าข้างหน้าหรือว่าทำนายอนาคตข้างหน้าว่าอย่างไร

เช่น ของญี่ปุ่นเขาก็จะมีการตั้งเป้า ๒๐:๒๐ หรือในปีศตวรรษที่ ๒๐ ผู้สูงอายุจะต้องมีฟันอยู่ ๒๐ ซึ่งในปากก็คือ ๒๐:๒๐ สำหรับตัวเลข ๒๐ หน้าคือศตวรรษ ๒๐ หลังก็คือฟันในปาก เพราะฉะนั้นในคนไทยก็น่าจะมีการตั้งเป้าหมายนี้เหมือนกัน ถ้าดีที่สุดเลยก็คือ ทำให้สามารถมีฟันอยู่ในปากได้ครบ ก็ปรากฏว่ามันก็มีงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทอยู่คนหนึ่ง อาจารย์ ทพ.ทรงวุฒิเป็นที่ปรึกษา เขาไปเก็บข้อมูลที่เชียงรายกับชนเผ่าอาข่า ข้อมูลที่ได้มาก็คือว่า ชนเผ่าอาข่า เขามีความเชื่ออย่างหนึงก็คือว่า ใครก็ตามที่เสียชีวิตไปในวัยสูงอายุ ก็คือ"แก่ตาย" แล้วยังมีฟันเหลือในปากครบ จะนำความหายนะมาสู่ลูกหลาน เพราะถือว่าตัวเองเอาทุกอย่างไว้หมดเลยไม่ยอมแบ่ง ไม่ยอมให้มันมีอะไรสูญเสียไปบ้างเพื่อคนรุ่นหลัง แม้แต่ฟันยังไม่ยอมเสียสักซี่

สมเกียรติ : แล้วเรื่องนี้อาจารย์ถอดรหัสมันได้ไหม ว่ามีนัยอะไร เคยคิดรึเปล่า

วิชัย : มันจะมีนัยอะไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตีความมันว่าอย่างไร? ถ้าตีความเอาเองผมคิดว่า มันน่าจะเป็นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมอะไรบางอย่างในการอยู่ร่วมกัน ถ้าในความเห็นของผมคือ คนที่อยู่ในสังคมที่มันจะอยู่รวมกันได้แบบนั้น และไม่ใช่อยู่ร่วมกันเฉพาะที่เราเห็นหน้าว่าคนนี้ยังอยู่ แต่เราอยู่ร่วมกันในฐานะที่แม้ว่าคนนี้จะตายไปแล้วก็ยังอยู่ด้วยกันอยู่ก็คือว่า คนหนึ่งซึ่งมีความเสียสละตัวเอง หรือกับอีกคนหนึ่งซึ่งห่วงทรัพย์สมบัติ หวงอะไรก็แล้วแต่แม้กระทั่งฟันเขาก็ยังมีอยู่เต็มปาก มันเป็นสัญญะอะไรบางอย่างที่เป็นการบ่งบอกว่า คนๆ หนึ่งตายไปแล้ว คนนี้หวงสมบัติไว้และเอาสมบัติของตนไปฝัง ไปอะไร สมมตินะครับ แล้วไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ว่าฟันเขาอยู่เต็มด้วย มันจะกลายเป็นว่าคนๆ นี้ ไปอยู่โลกของเขาเถอะ อย่ามาอยู่โลกกับฉันที่ยังมีชีวิตอยู่

คล้ายๆ ทำนองนี้ครับ ซึ่งลักษณะความเชื่อแบบนี้คิดว่ามันมีส่วนในการที่ทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่กับ คนที่ตายไปแล้วสามารถที่จะอยู่ด้วยกันได้ ยังพึ่งพากันอยู่ ให้คนที่ยังอยู่ในปัจจุบัน รู้สึกว่าที่ตัวเองยังอยู่ได้แบบนี้เพราะการเกื้อหนุนอะไรบางอย่างของคนที่จากไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากความเสียสละของคนที่จากไปก่อนหน้านี้ เลยทำให้คนที่อยู่ทุกวันนี้อยู่ได้ เพราะฉะนั้น ตัวเองก็มีหน้าที่ที่ต้องทำอะไร บางอย่างเพื่อทำให้คนที่จะอยู่รุ่นต่อไปมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าในความหมายที่ผมคิดว่าถ้าจะเอาไปใช้ในการที่จะอธิบาย ผมคิดว่าผมจะตีความแบบนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าจริงรึเปล่า?

สมเกียรติ : อยากจะลองมาพิจารณาเกี่ยวกับหลักฐานในทางโบราณคดี เท่าที่ทราบมักจะมีการกำหนดอายุศพที่ขุดค้นพบ นอกจากดูสภาพของกระโหลกศีรษะแล้ว เขาจะดูว่ามีฟันครบหรือเปล่า สำหรับคนที่ตายไปแล้วในทางโบราณคดี ถ้าเป็นกระโหลกของคนแก่ฟันมักจะไม่ครบ ถูกไหม? ถ้าเป็นคนหนุ่มสาว เขาจะดูว่าฟันครบแสดงว่าตายตั้งแต่ยังไม่แก่ แต่ถ้าเกิดศพที่ค้นพบเจอกระโหลก แล้วฟันเหลือน้อยเต็มที แสดงว่าตายตอนอายุมากแล้ว

วิชัย : ไม่น่าจะใช่ แต่ถามว่าเกี่ยวไหม เกี่ยวได้ ที่บอกว่าไม่แน่ก็คือว่า ข้อมูลที่อาจารย์พูดถึง ผมคิดว่ามันพอใช้ได้ แต่ว่าหยาบมาก ถ้าสมมติจะเอาหลักฐานในช่องปากเป็นหลักฐานในการกำหนดอายุแล้ว มันมีข้อมูลอื่นซึ่งละเอียดกว่าเยอะ เช่น ลักษณะของซี่ฟันว่ามันสึกแค่ไหน หรือแม้แต่กระดูกก้อนนี้ (มุมของกระดูกขากรรไกรล่างที่อยู่ใต้กกหูลงมา (angle of mandible) หรือกระดูกตรงหลังติ่งหูเรา ลักษณะของกระดูกพวกนี้สามารถกำหนดอายุ พอจะบอกได้ว่า มันมีการเสียดสีหรือใช้มานานแค่ไหน พวกนี้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งน่าเชื่อถือยิ่งกว่าจำนวนซี่ฟัน ถามว่าจำนวนซี่ฟันใช้ได้ไหม ก็ใช้ได้ แต่ว่ามันหยาบไป หยาบเกินกว่าที่จะเอามาใช้ คือเห็นกระดูกขากรรไกรสักขา ขากรรไกรล่าง ถ้าเอามาวาง พอจะบอกได้เลยว่าหญิงหรือชาย

สมเกียรติ : ดูได้ยังไง

วิชัย : ถ้ากระดูกขากรรไกรล่างของผู้หญิงแนวโน้มมันจะสอบ แต่ของผู้ชายจะกางมากกว่า หรืออย่างกระดูกบริเวณนี้(angle of mandible) ถ้าเทียบระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ผู้ชายจะเป็นเหลี่ยม ผู้หญิงจะมน จะไม่หักมาก หรือกระดูกของขากรรไกรล่างตรงบริเวณนี้(ใกล้ๆ angle of mandible)จะมีกล้ามเนื้ออยู่มัดหนึ่ง ถ้าในทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า massetter กล้ามเนื้อมัดนี้จะช่วยในการอ้าปากหุบปาก มันจะดึงข้างบนนี้ มัดข้างล่างที่ยึดอยู่ตรงนี้ เราจะดูได้เลยว่า ถ้าผิวกระดูกบริเวณนี้ซึ่งมันขรุขระๆ ถ้ารอยขรุขระนี้มันกว้างและขรุขระมาก มักแสดงว่าเป็นผู้ชาย


สมเกียรติ : แม้แต่กระโหลกน่ะ เวลาพบคนตายเขาจะดูว่าส่วนหน้าผากว่าลาดหรือโค้งมน ถ้าเป็นผู้ชายจะลาดแต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะโค้งมน ผู้ชายจะเป็นเหมือนหน้าผาค่อนข้างลาดลงมาตรง ผู้หญิงจะโค้งมนกว่า แล้วเวลาเขียนรูปโครงกระโหลกด้านข้าง เราแยกได้เลยตั้งแต่ว่าส่วนกระโหลกหญิงหรือชาย และแม้แต่ตำแหน่ง pelvis เชิงกรานของผู้หญิงก็จะกว้างกว่าผู้ชายเห็นชัดเจน

เวลาเขียนรูปผู้หญิง หรือถ้าทำเป็นภาพยนตร์ animation เขาจะเขียนให้ช่วงแขนตั้งแต่ระดับข้อศอกลงมาถึงมือกางออก ผู้หญิงต้องเดินกางแขนกว่าผู้ชาย คุณไปดูในตลาดซิ แกว่งเชียว ถ้ายิ่งแก่จะยิ่งแกว่งกางออก มันออกไปตามช่วงสะโพก เพราะเชิงกรานของผู้หญิงกว้างแล้วไม่สามารถเดินแล้วแกว่งแขนธรรมดา มันจะออกนิดๆ ตามวัย

ชลนภา : แต่ในภาพของชนเผ่าบางชนเผ่า เท่าที่เคยเห็นคนบางเผ่าของแอฟริกาถือศีล สะโพกใหญ่มากทั้งผู้หญิงผู้ชายแน่นมาก หรือเวลาเขาเต้นรำ ผู้ชายขยับสะโพกได้ ซึ่งทางเอเชียหายากมากผู้ชายขยับสะโพกได้หรือบางคนเขาบอกว่า ถ้าคนที่บวชโกนหัวหมดแล้วห่มผ้าหมด บางทีแยกไม่ออกระหว่างผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าเป็นทางสรีระก็อาจจะเช็คกันไป ข้างนอกถ้ามีอะไรหุ้มอยู่ มีเนื้อหนังอาจจะแยกไม่ออก

(คลิกไปอ่านต่อ ตอนที่ ๒)

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
220549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnightuniv website 2006
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกหรือผ่านการสังเวยชีวิตของคนบางกลุ่มด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นในอังกฤษยุคต้น เขาจะใช้วิธีว่า ถ้าคุณจะมาถอนฟัน คุณไปนั่งกินเหล้าก่อน เขามีห้องไว้ให้เลย จัดเหล้าจัดอะไรให้นั่งกินกันเต็มที่จนเมา แล้วถึงจะเข้ามาถอนฟัน อันนี้คือความคิดของยุคนั้น คนไข้ไม่ต้องรู้เรื่อง ไม่ต้องรู้ตัวมาก แต่ถ้ายุคปัจจุบันใครลองกินเหล้ามาก่อน จะถูกไล่กลับไป เพราะความดันเลือดจะขึ้น การสูบฉีดโลหิตจะมากขึ้นเวลาถอนฟันจะอันตราย เลือดจะไหลไม่หยุด แต่ถ้ายุคสมัยนั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกมาซึ่งเสียไปกี่ศพก็ไม่รู้