นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



การเมืองเรื่องของสังคมไทยปัจจุบัน
ลูกไล่ประวัติศาสตร์ ปฏิรูปการเมือง และเรื่องประตูหมู่บ้าน
.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


ผลงานวิชาการ ๓ ชิ้นนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน
๑. ลูกไล่ในประวัติศาสตร์
๒. ปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการทางสังคม
๓. ประตูหมู่บ้าน

เรื่องแรกเกี่ยวกับความบันเทิงไทยที่ส่งผลกระทบความรู้สึกกับประเทศเพื่อนบ้าน
เรื่องที่สองเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองที่เป็นเรื่องของกระบวนการทางสังคมมากกว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และเรื่องสุดท้าย เกี่ยวกับสาเหตุที่ชนบทถูกปิดตายมานมนาน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 919
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)




ลูกไล่ประวัติศาสตร์ ปฏิรูปการเมือง และเรื่องประตูหมู่บ้าน
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. ลูกไล่ในประวัติศาสตร์
ไม่นานมานี้ สื่อเขมรประท้วงหนังไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงฉากคุกนรกแห่งหนึ่งว่า ทำให้คนเขมรย้อนรำลึกถึง"ตูลเสลง" หรือ ค่ายกักกันของเขมรแดง ซึ่งชาวกัมพูชาจำนวนมากมายต้องเสียชีวิตลง สื่อเขมรอ่อนไหวเกินไปหรือไม่? ก็ไม่เชิงทีเดียวนัก เพราะผู้สร้างไทยต้องการจะให้คุกนรกแห่งนั้นไม่ใช่ไทย จึงเขียนอักษรอะไรที่ไม่ใช่ไทยไว้ให้เห็น แล้วเขาเลือกอักษรเขมรครับ

อักษรเขมรซึ่งผู้สร้างต้องการสื่อแต่ว่าไม่ใช่ไทย กลายเป็นกัมพูชาแหงๆ ในสายตาของเขมร เรียกได้ว่าเป็นความบกพร่องโดยสุจริตขนานแท้เสียยิ่งกว่าซุกหุ้นหลายเท่าตัว แม้กระนั้นก็ยังอดตั้งข้อสงสัยกับความ "สุจริต" ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยก็ขาดสำนึกอ่อนไหวฉับไว (sensitivity) ต่อความรู้สึกของคนอื่น

นักหนังสือพิมพ์เขมรคนหนึ่งวิจารณ์ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นความเจ็บปวดของชาวกัมพูชา เขาจึงไม่ต้องการให้ใครเอาเหตุการณ์ครั้งนั้นมาใช้เพื่อความบันเทิง หากคนไทยอยากเอาความโหดร้ายป่าเถื่อนมาขาย ก็มีเหตุการณ์โหดร้ายป่าเถื่อนในเมืองไทย ที่เอามาทำขายแลกกับความบันเทิงได้เยอะแยะ เช่น มีคนตายในสงครามยาเสพติดไปกว่า 2,000 คน นี่ก็เอามาทำขายได้ เป็นต้น สะใจเขมรมั้ยล่ะครับ

หลายคนคงนึกถึงหนังเรื่อง The Killing Field ของฮอลลีวู้ด ซึ่งไม่ได้ยินข่าวการประท้วง นอกจากการแสดงความไม่พอใจของกลุ่มเขมรแดง. คำอธิบายที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ สถานการณ์แตกต่างออกไปแล้ว รัฐบาลกัมพูชาซึ่งได้รับความสนับสนุนจากเวียดนาม ย่อมพอใจที่ชาวโลกได้รู้เกี่ยวกับความโหดร้ายป่าเถื่อนของเขมรแดง เพราะจะทำให้การยึดครองกัมพูชาของเวียดนามมีความชอบธรรมมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนชาวกัมพูชาย่อมอยากบอกเล่าถึงประสบการณ์อันเลวร้ายที่เขาเพิ่งเผชิญมาแก่ชาวโลก

แต่ผมคิดว่ายังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ลึกกว่านั้น นั่นก็คือนั่นมันหนังฮอลลีวู้ดซึ่งอเมริกันเป็นคนทำ ในขณะที่นี่มันหนังไทย ซึ่งคนไทยเป็นคนทำ และอะไรที่คนไทยทำนั้นน่าระแวงสงสัยเสมอว่า อาจทำเพื่อลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามชาวกัมพูชา

ไม่ใช่เพียงเพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาที่ผ่านมาในอดีต ถูกเสนอในภาพที่ไม่ค่อยดีนักจากทั้งสองฝ่ายเท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์กับสหรัฐที่ผ่านมาก็ไม่ได้ราบรื่นนัก โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดปูพรมในกัมพูชาตะวันออกระหว่างสงครามเวียดนาม และการบ่อนทำลายรัฐบาลพนมเปญด้วยการตั้งรัฐบาลหุ่นลอนนอลขึ้นแทน

แต่เพราะความรู้สึกว่าเขมรเป็น "ลูกไล่" ของไทย และในความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นความรู้สึกที่เขมรมีต่อไทยเท่านั้น ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกอย่างเดียวกันนี้กับเขมรด้วย คนไทยไม่เคยรู้สึกตัวว่าเป็น "ลูกไล่" ของใคร ไม่ใช่เพราะเราไม่เคยถูกคนอื่นรังแกนะครับ แต่เพราะความเป็น "ลูกไล่" นั้นเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์นิพนธ์ ถ้าเราเขียนประวัติศาสตร์ให้ไม่เป็น "ลูกไล่" เราก็ไม่เป็น "ลูกไล่" แค่นั้นเองจริงๆ

มีเหตุผลที่การเขียนประวัติศาสตร์ของไทยไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็น "ลูกไล่" ของฝรั่งเศส, อังกฤษ หรือสหรัฐ ซึ่งผมจะพูดข้างหน้า และเพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าเป็น "ลูกไล่" นี่แหละครับ ที่อาจทำให้เราไม่ค่อยมีสำนึกอ่อนไหวฉับไวกับความรู้สึกของเพื่อนบ้าน. ความรู้สึกว่าเป็น "ลูกไล่" ไม่ได้เกิดจากการที่เคยทำสงครามกันมาในอดีต เช่น ไทยไม่เคยรู้สึกว่าตัวเป็น "ลูกไล่" ของพม่า ทั้งๆ ที่กษัตริย์พม่าสามารถยึดราชธานีของกษัตริย์ไทยไปได้ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง และในทางตรงกันข้าม พม่าก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเป็น "ลูกไล่" ของไทย เพราะในสำนึกทางประวัติศาสตร์ของพม่า ไทยไม่ใช่ภัยคุกคามของเขา

เช่นเดียวกับเวียดนาม ถึงไทยกับเวียดนามจะรบกันมาหลายหนเพื่อแข่งขันอิทธิพลในลาวและกัมพูชา แต่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้สึกว่าเป็น "ลูกไล่" ของกันและกันมีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่รู้สึกว่าเป็น "ลูกไล่" ของไทย และไทยเองก็เผลอๆ รู้สึกว่าเขาเป็น "ลูกไล่" ของเราด้วย นั่นคือกัมพูชา และลาว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ เพราะฝรั่งเศสมาสอนให้รู้สึกอย่างนั้น คำอธิบายนี้จริงในแง่หนึ่ง ซึ่งอาจพิสูจน์ได้ด้วยตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส แต่อธิบายได้ไม่หมด ฝรั่งเศสอ้างเสมอว่าเพราะอำนาจของฝรั่งเศสนั่นแหละที่ทำให้ลาวและกัมพูชาไม่สูญสิ้นไปจากแผนที่โลก เพราะถูกสยามผนวกเข้าไปในราชอาณาจักรของตัว ข้ออ้างนี้จริงแน่ แต่สิ่งที่ฝรั่งเศสป้องกันไว้จากสยามไม่ใช่ "ประชาชาติ" กัมพูชาหรือลาวนะครับ สิ่งที่ฝรั่งเศสปกป้องเอาไว้คือโครงสร้างการเมืองและสังคม (polity) โบราณอันหนึ่ง ภายใต้กษัตริย์ที่พนมเปญและหลวงพระบาง

"ประชาชาติ" ลาวและกัมพูชา เป็นสิ่งที่คนลาวและคนเขมรสร้างขึ้นมาเอง และความทรงจำร่วมกันที่คนเขมรและคนลาวสร้างขึ้นเพื่อประชาชนของเขาก็คือ ความเป็น "ลูกไล่" ของไทย ซึ่งทั้งเบียดเบียน, รังแก, ดูถูกเหยียดหยาม และเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ "ประชาชาติ" ทั้งสองตลอดมาในประวัติศาสตร์ ถ้าการสร้างชาติจำเป็นต้องสร้างศัตรูของชาติขึ้นมา ไทยถูกเลือกให้ทำหน้าที่อันนั้น อย่างเดียวกับที่เราเลือกพม่าแหละครับ

อันที่จริงความทรงจำร่วมกันว่าเคยเป็น "ลูกไล่" ของไทยนั้น ไทยเองก็มีส่วนช่วยสร้างขึ้นด้วย ตำราประวัติศาสตร์ไทยเองก็พูดถึงกัมพูชาและลาวว่า เคยและควรเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย การสละสิทธิเจ้าประเทศราชของไทยในกัมพูชาและลาว เป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยมักเล่าด้วยความขมขื่น ในขณะที่การสละสิทธิ์อย่างเดียวกันในรัฐมลายูให้แก่อังกฤษ กลับเล่ากันมาอย่างสบายๆ

อย่าลืมนะครับว่า ก่อนหน้าจะมีเส้นเขตแดนของรัฐประชาชาติขึ้นอย่างชัดเจนนั้น มีคนลาวและเขมรเข้ามาเรียนหนังสือ (และอื่นๆ) ในประเทศไทยจำนวนมาก นวลเจีย ผู้นำเขมรแดงคนหนึ่งนั้นเป็นศิษย์เก่าทั้ง ตมธก. และ มธก. คำขวัญที่บันดาลใจเขาตลอดมาก็คือ ...เขารักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เขารักประชาชน (รวมทั้งคนที่ถูกสังหารไปหลายแสนคนด้วย)

อาจารย์มหาสีลา วีระวง นักปราชญ์ลาวนั้น ที่จริงเป็นคนร้อยเอ็ด เคยเป็นข้าราชการไทยด้วยซ้ำ แต่ท่านตัดสินใจข้ามไปอยู่ฝั่งโน้นเพราะความฝังใจที่ได้ยินเรื่องเล่าดูหมิ่นเหยียดหยามวีรบุรุษของท่านในเมืองไทย คือ เจ้าอนุวงศ์. ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ของความเป็น "ลูกไล่" จึงเป็นสิ่งที่ทั้งฝรั่งเศสและไทยช่วยกันเขียนให้แก่กัมพูชาและลาว จนฝังใจคนลาวและเขมรสืบมา

ก่อนหน้าที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของทั้งไทย ลาว และกัมพูชา จะเปลี่ยนไป ผมคิดว่าเราต้องมีสำนึกอ่อนไหวฉับไวกับความรู้สึกเป็น "ลูกไล่" ของเขาให้มาก จะมีมากได้ก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเขาตามที่เขารู้สึกจริง ไม่ใช่ไปชี้ผิดชี้ถูกว่าความรู้สึกนี้ผิด ไม่ตรงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรืออะไรทำนองนั้น

แม้แต่ตัวผมเองก็ต้องยอมรับว่าอดเอาความรู้สึกผิด-ถูกเข้าไปปนไม่ได้ เช่นคำว่าเขมรในภาษาไทยนั้น ผมคิดว่าตรงกับคำว่า "ขแมร์" ในภาษาเขมร ไม่ได้มีความหมายในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามแต่อย่างไร แม้ในเพลงชาติของกัมพูชาเองก็ใช้คำว่า "ขแมร์" เป็นชื่อชนชาติสืบมาจนถึงสมัยเขมรแดงจึงได้เลิกใช้

แต่ไม่ว่าจะถูกหรือผิด นักปราชญ์กัมพูชาปัจจุบันไม่คิดว่าคำว่าเขมรตรงกับคำว่า "ขแมร์" เสียแล้ว แต่เห็นว่าเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยามเชิงชาติพันธุ์ไป ฉะนั้น เราก็ควรเลิกใช้คำว่า "เขมร" เสียที แต่ผมก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า ในภาษาไทยไม่ได้มีความหมายเหยียดหยามแต่อย่างไร และตราบเท่าที่ผมเขียนภาษาไทย ผมก็ใช้ของผมไปเรื่อยๆ เรียกว่าดื้อดึงด้วยเหตุผลของเรื่องถูก-ผิด โดยไม่เอาความรู้สึกของคนอื่นมาพิจารณาเลย

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า มันมีรายละเอียดมากที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการทำร้ายความรู้สึกของเขา อย่างคนสร้างหนังไทยที่ใช้อักษรเขมร ก็คงไม่เจตนาจริง เพราะนึกไม่ถึงว่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่ชาวกัมพูชาประสบภายใต้เขมรแดงนั้น เป็นประสบการณ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีนัยะสำคัญเกินกว่าจะให้คนอื่นเอามาเสนอในรูปของความบันเทิงได้ โดยเฉพาะคนที่เขารู้สึกตัวว่าเป็น "ลูกไล่"

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ให้ความรู้สึกเป็น "ลูกไล่" นั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ความชอบธรรมแก่ระบบอำนาจที่สนับสนุนประวัติศาสตร์นิพนธ์อย่างนั้นด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็เช่นอำนาจของอินโดจีน ฝรั่งเศสย่อมไม่อยากสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ทำให้กัมพูชาและลาวรู้สึกว่าตัวเป็น "ลูกไล่" ของฝรั่งเศส แต่การเป็น "ลูกไล่" ของไทยกลับให้ความชอบธรรมแก่อำนาจของฝรั่งเศส

พม่ารู้สึกตัวว่าเป็น "ลูกไล่" ของอังกฤษ แน่นอน ประวัติศาสตร์นิพนธ์อย่างนี้ย่อมสร้างขึ้นโดยระบบอำนาจที่เป็นศัตรูกับอังกฤษ ความรู้สึกของพม่าอ่อนไหวในเรื่องนี้มาก จนกระทั่งไม่ยอมเป็นสมาชิกของเครือจักรภพเมื่อได้เอกราช และไม่นานมานี้เพิ่งเปลี่ยนระเบียบจราจรจากเดินรถข้างซ้ายแบบอังกฤษเป็นข้างขวาตามแบบ "สากล"

ในเมืองไทย คนที่รังแกเรามากที่สุดน่าจะเป็นอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยไม่ได้ทำให้เรารู้สึกตัวว่าเป็น "ลูกไล่" ของอังกฤษหรือฝรั่งเศส ก็เพราะถ้าประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยทำอย่างนั้น ก็เท่ากับบั่นรอนความชอบธรรมของระบบอำนาจในเมืองไทยโดยตรง บริหารกันอย่างไรจึงทำให้เราตกเป็น "ลูกไล่" ของอังกฤษ-ฝรั่งเศสได้อย่างนั้น

สรุปก็คือ ถ้าสุลต่านในชวายังครองอำนาจสืบมา ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียก็จะไม่มีฮอลันดาเป็นตั้วเหี่ยที่คอยรังแกประชาชน ถ้าอังกฤษรักษาระบอบกษัตริย์ของพม่าสืบมา ประวัติศาสตร์พม่าก็จะไม่มีอังกฤษเป็นอันธพาลเช่นเดียวกับที่เราพบในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของลาว, เขมร, ไทย และมาเลเซีย แต่ไม่พบในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของเวียดนาม, พม่า และอินโดนีเซีย

2. ปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการทางสังคม
นักวิชาชีพและนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง รวมตัวกันเพื่อจัดร่าง "ธรรมนูญสังคม" เพื่อวางแนวทางปฏิรูปการเมือง ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป้าหมายหลักของการปฏิรูปก็คือ จะเกิดการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริง และการเมืองที่ต้องมีผู้รับผิด (accountable) จริง การริเริ่มเช่นนี้นับเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะถึงอย่างไรเราก็หลบเลี่ยง "กระแส" ปฏิรูปการเมืองไม่พ้น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอะไรกัน แต่ถูกนักการเมืองเอาไปสรุปไว้ก่อนแล้วว่าคือแก้รัฐธรรมนูญ

การปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำอะไรอย่างเดียวแล้วจบ ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าที่จริงแล้วการปฏิรูปการเมืองในครั้งแรกยังไม่จบ เพียงแต่ว่ากระบวนการปฏิรูปถูกฝ่ายรัฐยึดกุมไปเสียหมด โดยสังคมไม่ยอมเคลื่อนไหวกำกับควบคุมให้เป็นไปตามเจตนาของตน ซึ่งปรากฏอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ. ความพยายามของกลุ่มนักวิชาชีพและวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อกระตุ้นให้สังคมเคลื่อนไหวเข้ามากำกับการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักการเมือง แล้วต่างกลับไปนอนบ้านรอรับผลดีที่จะเกิดเองโดยอัตโนมัติ

ในการแถลงข่าว กลุ่มนี้กล่าวว่ามีธงอยู่สองธงที่กลุ่มวางไว้เป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง

- ธงแรกคือ จริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งอาจมีการออกกฎหมายใหม่ หรือบังคับใช้ระเบียบที่ออกสมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ให้มีผลในทางปฏิบัติ และ
- ธงที่สองคือ การเผยแพร่การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยให้แก่คนชนบท เพื่อให้เขารู้ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีอยู่แค่รับเงินแล้วไปกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น

ฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ นักวิชาชีพ-วิชาการกลุ่มนี้เชื่อว่าการเมืองจะดีต่อเมื่อ

1. นักการเมืองดี (หรือถูกบังคับให้ดี) และ
2. ประชาชนผู้เลือกตั้งในชนบทเลิกขายเสียงและเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น

ข้อสรุปทั้งสองนี้เป็นข้อสรุปเก่าแก่ นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้ว ทั้งนักการเมืองและคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าอุปสรรคของประชาธิปไตยไทยอยู่ตรงสองข้อนี้ เผด็จการทหารแต่ละชุดก็รับเอาข้อสรุปสองข้อนี้ไปใช้เพื่อให้ความชอบธรรมแก่ระบอบเผด็จการของตน แม้แต่หลังการ "ปฏิวัติ" 14 ตุลา ยังมีโครงการส่งนักศึกษาออกไปสอนประชาธิปไตยแก่ประชาชนบ้านนอกเหมือนกัน

แต่ผ่านไปเกือบ 75 ปีแล้ว ไม่ว่าข้อสรุปดังกล่าวจะถูกใช้เป็นข้ออ้างหรือเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ก็ตาม ไม่มีอะไรดีขึ้นในการเมืองไทย นักการเมืองก็ยังไม่ดีได้อย่างใจ (ซ้ำยังอาจจะเลวร้ายไปกว่าเก่าด้วย) ประชาชนบ้านนอกก็ยังคง "ตีนโตๆ" (ตามคำกล่าวของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) คือ หูป่าตาเถื่อนที่เลือกนักการเมืองไม่ได้เรื่องเข้ามานั่งในสภาเหมือนเดิม

เมื่อไรก็ตามที่เราตอบคำถามใดมาถึง 75 ปีแล้วยังตอบผิดอยู่นั่นเอง เราไม่ควรสงสัยเพียงตัวคำตอบเสียแล้ว แต่ควรสงสัยตัวคำถามด้วย

มีคำถามประเภทที่ตอบอย่างไรๆ ก็ผิดเสมอ เพราะตั้งคำถามไว้ผิด
มีกฎหมายอะไรในโลกนี้หรือที่สามารถบังคับให้คนทุกคนมีจริยธรรมได้ เอาวินัยสงฆ์เป็นตัวอย่างก็ได้ ความเสื่อมโทรมของวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในปัจจุบัน เกิดจากสองสาเหตุคือ

1. ผู้กำกับควบคุมพระสงฆ์ตั้งแต่ระดับพระสังฆาธิการและพระอุปัชฌาย์ไม่เอาเป็นธุระ หรือร้ายไปกว่านั้นตัวท่านเองก็ย่อหย่อนในพระวินัย
2. สังคมไทยไม่แคร์ว่าพระภิกษุบางรูปกำลังเอาขยะสาดลงไปในพระศาสนาอยู่ตลอดเวลา

นักการเมืองที่ละเมิดจริยธรรม (ที่ตราขึ้นไว้แล้วก็ตาม หรือที่คิดจะตราขึ้นใหม่ก็ตาม) ไม่ใช่เป็นนักการเมืองระดับเล็กๆ แต่อย่างที่รู้ๆ กันว่ากินความมาตั้งแต่ระดับสังฆราชถึงเณร ฉะนั้นถึงจะเขียนกฎหมายให้ระเบียบจริยธรรมของนักการเมืองมีบทลงโทษอย่างชัดเจนแค่ไหน ระเบียบนั้นก็ไม่มีทางที่จะถูกบังคับใช้ได้เลย ก็ขนาดกฎหมายอาญา นักการเมืองก็ยังสามารถหลบเลี่ยงได้ สาอะไรกับระเบียบจริยธรรม

ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าพนักงานแต่เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญกว่าก็คือ ต้องมีสังคมที่อาทร (concerned) และสังคมที่มีการจัดองค์กรเข้มแข็งพอจะเคลื่อนไหวได้ ปัจจัยส่วนนี้สำคัญกว่ากฎหมายและการบังคับใช้โดยเจ้าพนักงานเสียอีก. ความจริงแล้วการละเมิดจริยธรรม หรือแม้แต่กฎหมายของรัฐบาลกระทำต่อหน้าสังคมที่เฉยเมย ไม่ไยดี หรือร้ายไปกว่านั้นสนับสนุนด้วยซ้ำ (เช่น กรณีซุกหุ้นครั้งแรก, การฆ่าตัดตอน, การละเมิดกฎหมายในภาคใต้, การออก พ.ร.ก.เอื้อธุรกิจของตนเอง ฯลฯ)

สิ่งที่น่าคิดกว่าจึงต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง เหตุใดสังคมไทยรวมทั้งสังคมของคนชั้นกลางในเมืองด้วย จึงเป็นอย่างนี้ บางคนอธิบายว่าเพราะระบบข่าวสารข้อมูลไม่มีคุณภาพ แถมยังถูกปิดกั้นเสียอีก บางคนยกให้แก่ระบบการศึกษา ซึ่งสอนให้คนเห็นแก่ตัวและมืดบอดต่อประโยชน์ส่วนรวม บางคนยกให้แก่มาตรการทั้งในและนอกกฎหมายที่รัฐใช้คุกคามประชาชน นับตั้งแต่ตรวจสอบภาษีหรือยึดทรัพย์ด้วยกฎหมาย ปปง.หรืออุ้มฆ่า, บางคนบอกว่ามีกฎหมายหยุมหยิมที่กีดขวางการจัดองค์กรในภาคประชาชน ฯลฯ

จะด้วยเหตุใดก็ตาม น่าจะมีคำตอบที่ชัดพอจะเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ และผลักดันให้เกิดกฎหมาย, องค์กร, หรืออะไรอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่เป้าหมายคือ ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่อาทรและสังคมที่เข้มแข็ง จริยธรรมทางการเมืองเกิดได้เฉพาะในสังคมแบบนี้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยจริยธรรมของนักการเมืองหรือไม่ก็ตาม

สังคมเปลี่ยนได้เพราะได้เรียนรู้ และสังคม (หรือแม้แต่บุคคล) ก็เรียนรู้ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง การสั่งสอนอบรมใดๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ไม่มากนัก เด็กในโรงเรียนได้เรียนรู้อะไรที่ครูไม่ได้สอนมากกว่าที่ครูสอน (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ยิ่งกว่านั้น การลงมือปฏิบัติจริงยังก่อให้เกิดการเรียนรู้อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

ฉะนั้นถ้าอยากให้สังคมเรียนรู้ ต้องทำให้โอกาสของการลงมือปฏิบัติจริงเป็นสิ่งที่ทำได้ แถมทำได้ง่ายๆ และปลอดภัยเสียด้วย ใครๆ ก็สามารถเป็นคุณวีระ สมความคิด ได้ นอกจากนี้เป็นแล้วต้องปลอดภัยด้วย ฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้ถ่องแท้ว่า อะไรที่คุกคามคุณวีระ สมความคิด อยู่เวลานี้ จะป้องกันได้อย่างไร จะขจัดได้อย่างไร ถ้าขนาดคุณวีระยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างโดดเดี่ยวเช่นนี้ จะมีสังคมที่สามารถลงมือปฏิบัติการจริงได้อย่างไร

ในชนบท มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนต้องทำตามความประสงค์ของ "หัวคะแนน" เงินซื้อเสียงไม่ใช่เงื่อนไขเดียว ซ้ำยังอาจเป็นเงื่อนไขที่ไม่สู้จะสำคัญนักด้วย ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหาซื้อเสียง จึงไม่ควรเริ่มต้นด้วยการประณามว่าคนขายเสียงคือ พวก "ตีนโต" หรือหูป่าตาเถื่อน แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ที่แวดล้อมชีวิตของคนในชนบท และดูว่าจะสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขเหล่านั้นได้อย่างไร โดยเฉพาะเงื่อนไขทางการเมืองการปกครอง ซึ่งอาจผลักดันให้เปลี่ยนภายใต้การปฏิรูปการเมืองได้

อันที่จริง ชาวชนบทบางกลุ่มที่ได้เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาแล้ว เช่น กลุ่มต่อต้านท่อก๊าซที่จะนะ, ต่อต้านเชื่อนปากมูลและเขื่อนอื่นๆ, ต่อต้านท่อก๊าซพม่า, ต่อต้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง, ต่อต้านเอดีบีที่จะบังคับให้ไทยเก็บค่าน้ำ, ฯลฯ ล้วนได้เรียนรู้การมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยจากการลงมือปฏิบัติจริงทั้งนั้น

คนเหล่านี้เปลี่ยนไป และน้อยมากที่จะกลายเป็นคนขายเสียงอีก เพราะได้ลิ้มรส "อำนาจ" ของประชาชน ซึ่งทั้งโคตรเหง้าตัวไม่เคยลิ้มมาก่อน โดยไม่ต้องได้รับการอบรมจากนักวิชาการใดๆ เขากลายเป็นนักประชาธิปไตยหลักของบ้านเมืองเสียยิ่งกว่าคนกลุ่มใด เพียงแต่ว่าจำนวนของคนเหล่านี้ยังมีน้อย ซ้ำยังถูกรัฐหรือหน่วยงานของรัฐรังแกไม่หยุดหย่อน

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำในชนบทก็ไม่ต่างจากทำในเมืองคือ ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย และทำได้จริง ใครๆ ก็ทำได้ โดยไม่มีภัยคุกคามใดๆ แต่ก่อนจะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวบ้าน จะมีทางปฏิรูปการเมืองอย่างไรจึงจะขจัดเงื่อนไขเหล่านั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้มีเหตุที่ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหวมากมาย เพราะเขากำลังถูกแย่งยื้อทรัพยากรนานาชนิดไปจากมือของเขา เพียงแค่ไม่มีเงื่อนไขขัดขวางเท่านั้น ชาวบ้านก็พร้อมจะเคลื่อนไหวอยู่แล้ว และในการลงมือปฏิบัติจริงเช่นนั้น เขาก็จะได้เรียนรู้การมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยได้ลึกซึ้งมากมายเกินกว่าใครจะไปสอนเขาได้

ปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่การแก้กฎหมายเพียงไม่กี่ฉบับ ฉะนั้นหากต้องการปฏิรูปการเมือง เป้าหมายที่สำคัญคือ ทำให้เกิดกระบวนการทางสังคมที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่การแสวงหาคำตอบสำเร็จรูป

บทความนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนกันเพื่อผลักดันไปสู่กระบวนการทางสังคม ซึ่งนักวิชาชีพ-วิชาการกลุ่มนี้ได้เริ่มไปในทิศทางเดียวกันนี้แล้ว

3. ประตูหมู่บ้าน
หลังการรัฐประหารนองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หมู่บ้านในประเทศไทยถูกปิดตาย มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านรายงานการเข้าออกของคนแปลกหน้า หลายหมู่บ้านจับ "คนแปลกหน้า" ส่งอำเภอหรือตำรวจ หลายหมู่บ้านไล่ "คนแปลกหน้า" ออกไปจากหมู่บ้าน ถัดจากนั้นมาอีกหลายปี นักวิชาการที่อยากเข้าไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้าน ต้องไปขอหนังสือจากจังหวัดหรืออำเภออนุญาต จึงสามารถเข้าไปได้ เป็นมาตรการกรองเพื่อปกป้องหมู่บ้านให้ไร้ "มลพิษ" ทางการเมือง

หมู่บ้านเป็นพื้นที่ล่อแหลมยิ่งกว่าในเมือง ซึ่งเขาได้จับคอมมิวนิสต์และญวนแขวนคอหรือเผานั่งยางกลางเมือง รวมทั้งกวาดเก็บหนุ่มสาวที่เชื่อว่าเป็นคอมไปขังไว้หมดแล้ว ดังนั้น เมืองจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมได้รัดกุม แต่หมู่บ้านคือพื้นที่ของการบ่อนทำลายชาติ แม้แต่แตงโมที่ปลูกกันในหมู่บ้านเพื่อเลี้ยงเมืองก็อาจปนเปื้อนสารพิษที่ทำให้ผู้กินจู๋ได้

เป็นเวลานานต่อมาที่ผมเข้าใจว่าการปิดหมู่บ้านในครั้งนั้นก็เพราะฝ่ายขวาได้อำนาจ และต้องการจะป้องกันมิให้ฝ่ายซ้ายไปสร้างฐานกำลังในหมู่บ้าน จึงเป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่าฝ่ายซ้ายจะถูกขจัดออกไปหมดจากสังคม หรือฝ่ายขวาจัดเหล่านั้นหลุดจากอำนาจไปแล้ว แต่นานเข้าๆ ผมก็สำนึกได้ว่า ไม่ใช่แล้วล่ะ หมู่บ้านไทยถูก "ปิด" มาตั้งนานแล้ว และอะไรๆ ที่เกิดในเมืองไม่สามารถผ่านเข้าสู่หมู่บ้านได้ตามธรรมชาติหรอก แต่ต้องผ่านการกรองที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจก็มี เกิดขึ้นตามระบบเศรษฐกิจและสังคมก็มี สิ่งที่เราเห็นตอนหลัง 6 ตุลาคือการขยับให้มาตรการปิดกั้นและมาตรการกรองแข็งขึ้น จนแลเห็นได้ชัดเท่านั้น

เมื่อตอนผมเป็นเด็กซึ่งอยู่ในช่วงก่อนยุคพัฒนาจะเริ่มขึ้น ผมเคยหนีโรงเรียนนั่งเกวียนชาวบ้านเข้าไปเที่ยวเล่นในหมู่บ้าน "หลังเขา" ทางเกวียนเป็นประตูเดียวที่หมู่บ้านเปิดสำหรับการติดต่อกับโลกภายนอก ผมพบด้วยความอิจฉาว่าเด็กๆ ในหมู่บ้านไม่ต้องไปโรงเรียนอย่างผมหรอก เพราะไม่มีโรงเรียนให้ไป ถ้าใครอยากเรียนหนังสือ ก็ต้องนั่งเกวียนออกมาเรียนในเมืองทุกวัน ซึ่งเท่ากับไม่ต้องหลับต้องนอนกันทั้งครอบครัว เพราะแค่ไปรับส่งอย่างเดียวก็หมดเวลาไปทั้งวันและคืนแล้ว จะมาเป็นเด็กวัดในเมือง ก็ต้องมีญาติหรือพรรคพวกที่จะทำให้อยู่วัดได้ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ไม่มี ฉะนั้นเด็ก "หลังเขา" จึงไม่เคยถูกครูตีเลย

การที่เราไม่สร้างโรงเรียนที่ "หลังเขา" มานาน ก็มักเข้าใจกันด้วยเหตุผลที่เห็นได้ชัดว่า เราไม่มีเงินพอจะสร้างทั้งโรงเรียนและครู จึงต้องสร้างเฉพาะในที่ซึ่ง "คุ้ม" ที่สุด คือมีเด็กพร้อมจะเรียนอยู่แยะ ได้แก่ ในและใกล้เมือง ฟังดูก็มีเหตุผลดีนะครับ แต่คิดอีกทีหนึ่ง ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงินน้อย แต่อยู่ที่ว่าเรามีจินตนาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรต่างหาก เราอยากให้สังคมเปลี่ยนอย่าง "พลิกแผ่นดิน" หรือเราอยากให้สังคมเปลี่ยนอย่างที่กำกับควบคุมได้ ถ้าเราต้องการอย่างหลัง ก็ต้องระวังอย่าปล่อยให้การศึกษาซึ่งเป็นเอเย่นต์ของความเปลี่ยนแปลงที่มีพลังที่สุด ทำงานของมันอย่างอิสระ ต้องคอยกำกับควบคุมไว้ตลอดเวลา

ผมคิดถึงสหรัฐในสมัยที่เขาพยายาม "ปฏิรูปการศึกษา" สมัยนั้นมีครอบครัวและชุมชนตั้งอยู่ "หลังเขา" ในอเมริกามากทีเดียว และมลรัฐต่างๆ ก็ไม่ได้มีเงินมากมายเหมือนปัจจุบัน แต่เขาก็พยายามนำการศึกษาไปถึงเด็กเหล่านั้นด้วยวิธีการไม่แพงหลายอย่าง เช่น มีครูเท้าเปล่าที่ตระเวนไปสอนสัปดาห์ละครั้ง แปลว่าเด็กและครอบครัวต้องจัดการเองมาก จัดให้พ่อแม่มีความสามารถในการสอนลูกเอง และเปิดการสอบเทียบความรู้ที่ยืดหยุ่นได้มาก ส่งเสริมสถาบันการเรียนรู้นานาชนิด ซึ่งทำให้ได้ "ครู" อีกมากแม้ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับครูในเมืองก็ตาม

น่าสังเกตว่า จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องไม่ทำให้หลักสูตรแข็งตายตัวอยู่รูปเดียว อาจยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ฉะนั้น ถ้ามีเงินน้อยแล้วต้องการขยายการศึกษา ก็ต้องทำให้การศึกษามีลักษณะเปิดกว้าง คือเกิดการเรียนรู้หลายรูปแบบและหลากเนื้อหา ตรงกันข้าม ถ้าทำให้การศึกษาแข็งโป๊กในรูปแบบและเนื้อหาเดียว การลงทุนก็จะแพงมาก และไม่มีทางขยายการศึกษาไปถึงคนส่วนใหญ่ได้

ประเด็นที่จะต้องตัดสินใจจริงๆ จึงอยู่ที่ว่า ด้วยเงินจำนวนน้อยที่มีอยู่นั้น จะใช้มันอย่างไร จะให้การศึกษาขยายไปกว้างที่สุดดี หรือจะให้ผู้คนได้เรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากให้รู้ดี

ผมคิดว่าเมืองไทยเลือกอย่างหลังมาตั้งแต่ต้น คือให้ผู้คนได้รู้สิ่งที่เราคิดว่าควรรู้มากกว่าทำให้การเรียนรู้ได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ฉะนั้น จึงเอาเงินไปลงทุนกับ "โรงเรียน" ซึ่งเป็นสถาบันซึ่งแม้จะแพงมาก แต่รักษามาตรฐานที่แข็งโป๊กของการศึกษาได้ จึงให้อำนาจที่จะกำกับควบคุมความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างรัดกุม กว่าปล่อยให้การเรียนรู้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง

ฉะนั้น แม้ว่าในภายหลังนโยบายพัฒนา มีโรงเรียนเปิดขึ้นในหมู่บ้าน "หลังเขา" สักเท่าไร ระดับการศึกษาของคนในหมู่บ้านสูงขึ้นสักเท่าไร หมู่บ้านก็ยังถูกปิดจากความคิดริเริ่มของตนเอง เปลี่ยนไปได้ตามจังหวะจะโคนที่คนนอกหมู่บ้านเป็นผู้กำหนด เพราะการศึกษาที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปถึงหมู่บ้านได้ ต้องผ่านตัวกลางเพียงอันเดียวคือโรงเรียน

การปิดหมู่บ้านลักษณะนี้ ปิดได้แน่นและถาวรกว่าคำสั่งมหาดไทยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านรายงาน "คนแปลกหน้า" มากมาย และในความเป็นจริงก็ได้ปิดหมู่บ้านมานานแล้ว ซ้ำยังปิดอยู่จนถึงทุกวันนี้ด้วยซ้ำ แม้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านอย่างลึกซึ้งและใหญ่โตกว้างขวางอย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ได้ "แปลกหน้า" ในหมู่บ้านก็ยังเป็นคนสองจำพวกเท่านั้น คือ "เจ้าหน้าที่รัฐ"และ"พ่อค้า" คนในหมู่บ้านที่เติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นพ่อค้า ก็คือคนกลุ่มเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งบัดนี้ถูกรัฐผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการเสียแล้ว หรือ อบต. ซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวพันอยู่กับรัฐอย่างแนบแน่น

เช่นเดียวกับการศึกษา สื่อก็อยู่ในลักษณะเดียวกันสามารถทะลุทะลวงเข้าไปถึงหมู่บ้านได้ และสื่อที่ชาวบ้านเข้าถึงไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ แต่คือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นสื่อที่ถูกควบคุมอย่างเด็ดขาดจากรัฐตลอดมา
ผมเข้าใจว่า กสช. ซึ่งควรเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญเสียทีกลับถูกแช่แข็งไว้ด้วยวิธีต่างๆ มาจนทุกวันนี้ก็เพราะวิทยุชุมชน (และโทรทัศน์ชุมชนในอนาคต) อาจจะทะลุทะลวงหมู่บ้านให้เปิดขึ้นมาแก่ "คนแปลกหน้า" ได้

จริงอยู่ ผลประโยชน์ของวิทยุและโทรทัศน์ที่ทำธุรกิจอยู่เวลานี้ ก็เป็นปัญหาหนึ่งแน่ แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่ากับการเปิดสื่อท้องถิ่นที่รัฐคุมไม่ได้ให้เข้าไปถึงหมู่บ้าน น่าสนใจนะครับว่า วิทยุชุมชนกำลังถูกนิยามว่าต้องไม่ทำธุรกิจ ฉะนั้นคนที่จะทำวิทยุชุมชนในภายหน้าจึงไม่ใช่พ่อค้านอกหรือในหมู่บ้าน เขาคือคนที่รัฐไม่เคยรู้หัวนอนปลายตีน และอาจเปิดประตูหมู่บ้านให้แก่อะไรต่อมิอะไรที่รัฐควบคุมไม่ได้เอาเลย

ฉะนั้น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังจะหลุดจากการผูกขาด จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ เพราะหมู่บ้านจะถูกเปิดออกโดยเสรีเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ

ผมควรกล่าวด้วยว่า อันที่จริงมีคนภายนอกที่ไม่ใช่รัฐได้เล็ดลอดเข้าไปในหมู่บ้านมาก่อนแล้ว ประกอบด้วยคนสองหรือสามจำพวก

หนึ่ง. คือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งสร้างเครือข่ายทางธุรกิจหรือทางการเมืองผ่านพ่อค้าในหมู่บ้าน จนสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนี้ในการเมืองระดับชาติได้ เช่น ใช้เป็นหัวคะแนในการเลือกตั้ง แต่นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงหมู่บ้าน อีกทั้งไม่มีสมรรถภาพจะเปลี่ยนได้ด้วย เนื่องจากเขาต้องประนีประนอมผลประโยชน์กับเอเย่นต์ของเขาในหมู่บ้าน ในแง่นี้เขาจึงไม่ใช่ผู้เปิดประตูหมู่บ้านอย่างเสรี เขาเพียงแต่แง้มประตูเพื่อสอดแทรกเข้าไปเองเท่านั้น ไม่น่ากลัวเท่าไร

สอง. การแทรกเข้าไปในหมู่บ้านจากฐานในเมือง ไม่อาจทำได้โดยไม่ต้องประนีประนอมกับรัฐ ฉะนั้น คนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่ไม่ได้มีฐานอยู่ในเมือง ได้แก่ พคท. ซึ่งมีฐานอยู่ในป่า แต่ในที่สุด พคท. ก็ถูกสถานการณ์ระหว่างประเทศและภายในประเทศทำให้สูญสิ้นพลังไป (อันที่จริงขบวนการนักศึกษาระหว่าง 2516-2519 น่ากลัวอย่างมากก็เพราะเปิดประตูหมู่บ้านให้ "คนแปลกหน้า" จากในเมืองแทรกเข้าไปในหมู่บ้านได้ เพราะรัฐหมดสมรรถภาพที่จะกีดกัน)

สาม. คนที่อาศัยฐานนอกเมืองคล้ายๆ กันในการทะลุทะลวงเข้าไปสู่หมู่บ้านคือเอนจีโอ และด้วยเหตุดังนั้นรัฐบาลไทยทุกชุดจึงเห็นเอนจีโอเป็นศัตรูเสมอ และหาทางบั่นรอนอิทธิพลของเอนจีโอลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผมทำนายอนาคตไม่เป็น แต่ผมเชื่อว่าประตูหมู่บ้านจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการกำหนดอนาคตของประเทศไทย

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก
บทความในภาคผนวกนี้ กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียนผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิก

น้องลาวจ๋า พี่ไทยรักน้องมาก:
จาก "หมากเตะ" สู่วาทกรรม "เอื้ออาทร" ระหว่างประเทศในแอคเม็กซ์ (ACMECS)
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เมื่อต้องยืนอยู่บนรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือเรือข้ามฝากแล้วไม่สามารถหาที่เกาะยึดเพื่อการทรงตัวเมื่อเวลายานพาหนะเคลื่อนตัวได้ บังเอิญโชคดีมีเพื่อนมาด้วย ท่านผู้อ่านเคยหยอกล้อกับเพื่อนเช่นนี้หรือไม่…เกาะแขนเพื่อน แล้วบอกให้เจ้าตัวรู้ว่าท่านกำลัง "เกาะลาว" (ไม่ใช่ "เกาะราว") …สำหรับผู้เขียน มุขแบบนี้เคยได้ยินมาหลายครั้ง แต่ครั้งล่าสุดก็เมื่อวานเย็นระหว่างอยู่บนเรือข้ามฝากนี้เอง

โดยไม่ต้องพูด ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าความคิดและความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก ที่มีต่อประเทศลาวและคนลาวนั้นเป็นอย่างไร ความไม่พอใจของคนลาวที่เกิดขึ้นกับหนังเรื่อง "หมากเตะ" ของไทยที่แม้จะยังไม่ได้ออกฉายในโรงเป็นตัวอย่างอย่างดีว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวนั้น มันมีบางสิ่งบางอย่างแอบแฝงอยู่ แม้ว่าผู้จัดทำอาจจะตั้งใจแค่ให้หนังสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมโดยใช้ คนลาวเป็นตัวละครเท่านั้น

แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพื้นฐานของการคิดหนังเรื่องนี้อยู่บนสมมุติฐาน หลายอย่างอันเป็นผลมาจากบริบทความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างไทยกับลาวในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น คนไทยคิดว่าคนลาวขี้เกียจ (ดังนั้นในการออกกำลังกายวิ่งจึงต้องให้สุนัขมาวิ่งไล่หลัง) คนลาวไม่รู้จักความหนาว (และความหนาวน่าหมายถึงความเป็นตะวันตก ดังนั้น จึงต้องไปฝึกเตะในห้องเย็น) คนลาวไม่ทันสมัย (เลยต้องย้อมผมสีทองให้ดูสมัยใหม่) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากเราเป็นคนลาวบ้างก็คงต้องสะอึกเหมือนกันเป็นแน่

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกศึกษา ให้สัมภาษณ์ในรายการเช้าทันโลกทางวิทยุเอฟเอ็ม 96.5 ว่า "…กรณีลาวและกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษและเฉพาะเลย เพราะในแง่ของวัฒนธรรมไทย เรามองลาวกับเขมรเป็นลูกไล่ คือคนที่ต่ำกว่า แต่เราจะไม่ค่อยกล้าทำอย่างนี้กับพม่าและมาเลเซีย…" ซึ่งไม่น่าแปลกใจ หากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของสถาบันเอเชียศึกษาในลาวเมื่อหลายปีก่อนจะพบว่า แม้โดยรวมแล้ว คนลาวเห็นไทยเป็นมิตรมากกว่าศัตรู แต่คนลาวเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนตัวอย่างเห็นว่าไทยเคยทำสิ่งซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อลาว และไทยเป็นประเทศที่ดูถูกลาวมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ

ท่านทูตลาวพูดถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอันเป็นที่มาของเรื่องนี้ใน รายการถึงลูกถึงคนว่า "…เอาประเทศเล็กประเทศน้อยด้อยพัฒนาเศรษฐกิจตกต่ำ การกีฬาก็ไม่พัฒนาดี เศรษฐกิจก็ยังมีอันจำกัดบุคลากรก็จำกัด วิชาการก็จำกัด แล้วเอามาเป็นประเด็นเพื่อตลกเฮฮา" ความแตกต่างอย่างมากทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและลาวเป็นสาเหตุสำคัญที่อธิบายความสัมพันธ์ในลักษณะสูง-ต่ำ ในสายตาของไทยได้เป็นอย่างดี ไทยมีจีดีพีมากกว่าลาวประมาณเกือบ 20 เท่า มีรายได้ประชากรต่อหัวต่างกันประมาณ 6 เท่า ดังนั้นไทยจึงมองลาวว่าด้อยกว่า ทั้งๆที่หากนับจากเกณฑ์วัดด้านอื่นแล้ว เช่น สิ่งแวดล้อม หรือปัญหาสังคม ไทยอาจจะเป็นรองลาวหลายเท่าก็เป็นได้

ทัศนคติสูง-ต่ำเช่นนี้ไม่ได้ปรากฏขึ้นเพียงแต่ในงานด้านวัฒนธรรมเท่านั้น ในนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ภายใต้รัฐบาลคุณทักษิณก็กำลังใช้ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจนี้ เพื่อประโยชน์ของนักลงทุนไทยบางกลุ่ม ถึงแม้จะพยายามเน้นว่าเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (win-win situation) ก็ตาม

โครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (หรือ ACMECS) ระหว่างไทย กัมพูชา พม่า ลาวและเวียดนาม เป็นการริเริ่มของไทยเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทย เข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินอันอุดมสมบูรณ์แรงงานราคาถูกรวมถึงสิทธิทางภาษี (จีเอสพี) ในประเทศเพื่อนบ้านได้โดยไทยจะสร้างสาธารณูปโภค และสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลไทยกล่าวว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้น ลดความยากจนและช่องว่างทางเศรษฐกิจ สร้างงานและลดการอพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทย

อันที่จริงการช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเพื่อนบ้านให้แน่นแฟ้นขึ้น แต่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่

1. ทัศนคติแบบสูง-ต่ำมีอิทธิพลมาก
2. ความแตกต่างทางเศรษฐกิจอย่างมาก และ
3. สายตาของคนไทยจำนวนหนึ่งที่มองแต่เรื่องกำไรเป็นตัวตั้ง

นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแอคเม็กซ์นี้ สมควรจะได้รับการตั้งคำถามและตรวจสอบว่าแท้ที่จริงแล้ว จะสร้างผลผลิตที่เป็นผลประ โยชน์ทั้งสองฝ่ายจริงหรือไม่ หรือเป็นโครงการที่เพียงหนุนเสริมความสัมพันธ์สูง- ต่ำแบบเดิมให้ดำรงอยู่ต่อไป หรืออาจจะเข้มแข็งมากขึ้น และทัายที่สุดแล้ว ไทยก็หวังจะเห็นลาวไม่สามารถเติบโตบนแข้งขาของตัวเองได้อยู่ดี


ก่อนจบ อยากให้ท่านผู้อ่านลองดูเนื้อหาบางส่วนของข้อตกลงซึ่งเวเนซูเอลาและคิวบาเซ็นกับโบลีเวีย ในการยอมรับ "ทางเลือกโบลีวาเรียนสำหรับประชาชนทวีปอเมริกา" (ALBA) และข้อตกลงการค้าของประชาชนร่วมกันในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

มาตรา 2: ประเทศภาคีจะร่วมกันสร้างแผนยุทธศาสตร์เพื่อรับประกันผลผลิตที่หนุนเสริมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันบนการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างมีเหตุผล การสงวนรักษาทรัพยากร การขยายตัวการจ้างงาน การเข้าถึงตลาด และแง่มุมอื่นๆ ที่จะสร้างความสมานฉันท์ที่แท้จริงและได้รับการผลักดันจากประชาชนของเรา

มาตรา 4: ประเทศภาคีจะทำงานร่วมกันและประสานกับประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือในประเทศเหล่านี้ โดยใช้วิธีการที่เคยทดลองและทดสอบและมีประสิทธิภาพกับประชากรทุกหมู่เหล่า ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จมาแล้วในเวเนซูเอลา

มาตรา 5: ประเทศภาคีตกลงที่จะจัดให้มีการลงทุนในสิ่งที่สนใจร่วมกัน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของบริษัทรัฐร่วมทุนสองชาติ ผสมหรือในรูปแบบสหกรณ์ โครงการการจัดการร่วมกันและรูปแบบอื่นๆ ตามแต่จะตัดสินใจจะให้ความสำคัญกับความริเริ่ม ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการมีส่วนร่วมของคนในสังคม การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทางอุตสาหกรรม และความมั่นคงด้านอาหาร ภายใต้กรอบการเคารพและรักษาสิ่งแวดล้อม

มาตรา 6: ในกรณีที่เป็นการร่วมทุนระหว่างสองชาติหรือสามชาติ คู่ภาคีจะทำทุกอย่างเมื่อธรรมชาติและต้นทุนของการลงทุนสามารถทำได้ เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศผู้รับทุนจะถือหุ้นอย่างน้อย 51%

มาตรา 10: รัฐบาลจะสนับสนุนการพัฒนาโครงการวัฒนธรรมร่วมกัน โดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประชาชน

มาตรา 12: รัฐบาลของเวเนซูเอลาและคิวบายอมรับความต้องการพิเศษของโบลีเวีย ในฐานะประเทศซึ่งทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย และถูกปล้นในช่วงหลายศตวรรษ ของการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมและอาณานิคมใหม่

ตัวอย่างมาตรการที่คิวบาต้องดำเนินการในฐานะส่วนหนึ่งของความสัมพันธกับโบลีเวีย ภายใต้ข้อตกลงนี้เช่น จะสร้างองค์กรร่วมระหว่างคิวบาและโบลีเวียที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อให้บริการด้านการผ่าตัดด้านสายตาที่มีคุณภาพสูง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับพลเมืองโบลีเวียทั้งหมดที่ขาดทรัพยากรการเงินที่จำเป็น จะให้ทุนการศึกษา 5,000 ทุนสำหรับฝึกหมอและผู้เชี่ยวชาญในสาขาทางการแพทย์ จะแบ่งปันประสบการณ์ วัสดุประกอบการเรียนการสอนและทรัพยากรด้านเทคนิคที่จำเป็น ในการดำเนินโครงการให้ความรู้ในสี่ภาษาสำหรับประชากรทุกส่วนที่มีความต้องการ และจะแบ่งปันประสบการณ์การอนุรักษ์พลังงานและจะร่วมมือในโครงการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งอาจจะสร้างทรัพยากรทางการเงินที่แลกเปลี่ยนได้

ตัวอย่างมาตรการที่เวเนซูเอลาต้องดำเนินการ ในฐานะส่วนหนึ่งของความสัมพันธกับโบลีเวียภายใต้ข้อตกลงนี้ เช่น เวเนซูเอลาจะสนับสนุนความร่วมมือในด้านพลังงานและเหมืองแร่ โดยให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและกฎหมาย เพิ่มปริมาณน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดน้ำมันและอื่นๆ ตามจำนวนที่จะตอบสนองความต้องการภายในของโบลีเวีย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงาน โดยโบลีเวียจะจ่ายตอบแทนเป็นผลิตภัณฑ์ของตน จะบริจาคเงิน 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยดูแลความต้องการด้านสังคมและการผลิตของชาวโบลีเวียตามแต่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจ จะให้ทุนการศึกษา 5,000 ทุนในสาขาต่างๆที่เป็นที่สนใจในการพัฒนาและที่เกี่ยวข้องกับการผลิต

สำหรับมาตรการที่โบลีเวียจะต้องดำเนิน ในความสัมพันธ์ที่มีต่อคิวบา และเวเนซูเอลา เช่น โบลีเวียจะใช้ความเชี่ยวชาญในการศึกษาด้านคนพื้นเมืองทั้งในทางทฤษฎีและวิธีการศึกษาวิจัย จะร่วมกับรัฐบาลอีกสองประเทศในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การศึกษา และฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมในสาขายาสมุนไพร จะช่วยด้านความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศภาคี โดยการให้ส่วนเกินของไฮโดรคาร์บอน

18 พฤษภาคม 2549
Kannikar KIJTIWATCHAKUL
FTA Watch

 


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
120549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnightuniv website 2006
คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ เพราะฝรั่งเศสมาสอนให้รู้สึกอย่างนั้น คำอธิบายนี้จริงในแง่หนึ่ง ซึ่งอาจพิสูจน์ได้ด้วยตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส แต่อธิบายได้ไม่หมด ฝรั่งเศสอ้างเสมอว่าเพราะอำนาจของฝรั่งเศสนั่นแหละที่ทำให้ลาวและกัมพูชาไม่สูญสิ้นไปจากแผนที่โลก เพราะถูกสยามผนวกเข้าไปในราชอาณาจักรของตัว ข้ออ้างนี้จริงแน่ แต่สิ่งที่ฝรั่งเศสป้องกันไว้จากสยามไม่ใช่ "ประชาชาติ" กัมพูชาหรือลาวนะครับ สิ่งที่ฝรั่งเศสปกป้องเอาไว้คือโครงสร้างการเมืองและสังคม (polity) โบราณอันหนึ่ง ภายใต้กษัตริย์ที่พนมเปญและหลวงพระบาง