The Midnight University
บทวิเคราะห์การเมืองไทยร่วมสมัย
วิเคราะห์รัฐธรรมนูญ
อำนาจวุฒิสภา และการเมืองบนท้องถนน
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ
อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วใน นสพ.มติชน ประกอบด้วย
๑. แก้ก่อนแล้วค่อยคิดว่าแก้ทำไม
๒. ที่ลึกและกว้างกว่ารัฐธรรมนูญ
๓. การเมืองบนท้องถนนกับอันธพาล
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 902
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
8.5 หน้ากระดาษ A4)
วิเคราะห์รัฐธรรมนูญ
อำนาจวุฒิสภา และการเมืองบนท้องถนน
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักวิชาการอิสระ อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๑. แก้ก่อนแล้วค่อยคิดว่าแก้ทำไม
เราจะปฏิรูปการเมืองกันอย่างไร ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยการตกลงกันเสียก่อนว่า อะไรคือปัญหาในระบบการเมืองของเรา
แล้วค่อยมาช่วยกันคิดว่า จะแก้ปัญหานั้นกันอย่างไร บางเรื่องอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ถึงแก้ไปก็ไม่ตอบปัญหาของระบบการเมือง
อันที่จริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พยายามจะตอบปัญหาของระบบการเมืองไทยอยู่มาก แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในหลายปัญหา
โจทย์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ การเมืองในระบบอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐได้ เหตุดังนั้นจึงสร้างกลไกตรวจสอบควบคู่กันไปอีกหลายองค์กร และหลายกระบวนการ เช่นองค์กรมหาชนอิสระหลายอย่าง สิทธิของชุมชนและพลเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วม ประกันสิทธิเสรีภาพของสื่อ ฯลฯ เป็นต้น
โจทย์อีกอันหนึ่งก็คือ ความไม่มีเสถียรภาพของฝ่ายบริหาร และการที่ถูกผูกมัดมากเกินไปด้วยกฎหมายหรือกระบวนการทางนิติบัญญัติ ในการจัดการบริหาร ทำให้ฝ่ายบริหารไม่มีสมรรถนะที่จะบริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพได้ ด้วยเหตุดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงได้พยายามขจัดอุปสรรคของการบริหารลงให้มาก พร้อมกับสร้างเงื่อนไขทางการเมืองที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล ด้วยความหวังว่าจะทำให้เกิดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
โจทย์สำคัญประเด็นสุดท้ายคือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการเมืองของประชาชนไทย มีอันตรายต่อประเทศและระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว โจทย์ข้อนี้รัฐธรรมนูญมองความไม่เท่าเทียมระหว่าง"ส่วนกลาง"กับ"ส่วนภูมิภาค-ท้องถิ่น"เป็นหลัก (ทั้งๆ ที่ความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยมีหลายมิติกว่านั้น) ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงสร้างมาตรการบังคับบางอย่าง ที่ต้องกระจายทรัพยากรและอำนาจจากส่วนกลางไปให้ทั่วถึง รวมทั้งประกันสิทธิพื้นฐานที่พลเมืองไทยทุกคนย่อมมีเท่าเทียมกัน ก็เป็นมาตรการบังคับอีกส่วนหนึ่งไปในตัวด้วย
โจทย์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอาจกล่าวได้ว่า โดยกว้างๆ แล้วก็ยังเป็นโจทย์ของสังคมไทยปัจจุบันอยู่ แต่ประสบการณ์ในการเมืองระบบใหม่เกือบสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่า คำตอบของรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่ และที่สำคัญกว่าก็คือกฎหมายลูกทั้งหลายที่ออกมารองรับ ไม่นำไปสู่คำตอบที่รัฐธรรมนูญวางไว้เป็นเป้าหมาย
ตัวอย่างเช่นโจทย์เรื่องเสถียรภาพและประสิทธิภาพของฝ่ายบริหาร ก็ยังอาจถือว่าเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องระวังไม่ให้ระบบการเมืองบ่อนทำลายลงเสีย แต่การจะให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ อาจไม่ได้มาด้วยคำตอบอย่างที่รัฐธรรมนูญออกแบบเอาไว้ เพราะพรรคไทยรักไทยได้ทำสิ่งที่รัฐธรรมนูญคาดไม่ถึง คือการกุมเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภา แต่เสถียรภาพของไทยรักไทยกลับไปบ่อนทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งรัฐธรรมนูญได้สร้างเอาไว้
ถึงอย่างไร เราน่าจะต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังต้องการให้รัฐบาลนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบการเมือง (ซึ่งมีสังคมเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของระบบนั้น)
ความไม่เท่าเทียมยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม แต่การกระจายทรัพยากรที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ยังเป็นแค่เงินงบประมาณ ซ้ำกระจายไปแล้วกลับไม่ค่อยตกถึงคนทั่วไป หากไปกระจุกอยู่กับกลุ่มคนที่ได้เปรียบอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้ามกับงบประมาณ ทรัพยากรที่เป็นของท้องถิ่นกลับถูกส่วนกลางเข้าไปจัดการหนักมือมากขึ้น โดยประชาขนในท้องถิ่นไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายเลย ทั้งๆ ที่ทรัพยากรเหล่านั้นล้วนมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั่วไปมากกว่าเงินงบประมาณ คำตอบของโจทย์ในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม จึงต้องหมายถึงการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นแก่ประชาชนมากขึ้น ซึ่งอาจออกมาในรูปของการทบทวนแก้ไขกฎหมายระดับ พ.ร.บ.เท่านั้น เช่นกฎหมายป่าไม้, กฎหมายชลประทาน, กฎหมายการศึกษา,ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ ก็อาจไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในสังคมได้มากนัก เช่นสิทธิการเรียนฟรีในชั้นประถมและมัธยม ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเข้าถึงการศึกษาซึ่งมีมาตรฐานต่างกันอย่างมาก การเข้าถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมืองของคนในสังคมยิ่งรุนแรงขึ้น โจทย์เดิมของรัฐธรรมนูญยังอยู่ แต่เราอาจต้องจินตนาการถึงคำตอบใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญอาจเปิดช่องไว้ให้แล้ว แต่ต้องมีคำตอบใหม่ก่อน จึงสามารถรู้ได้ว่ารัฐธรรมนูญเปิดไว้ให้หรือไม่
การมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญวางเป็นคำตอบสำคัญอันหนึ่ง แก่โจทย์การตรวจสอบถ่วงดุลการเมืองในระบบ เกือบจะไร้ความหมายไปหมด แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของความล้มเหลวไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญเท่ากับกฎหมายและระเบียบที่ใช้เพื่อการนี้ เช่นสิทธิในการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ถูกทำให้เกือบจะเป็นหมันด้วยระเบียบการตรวจสอบที่เกินความจำเป็น และข้อบังคับการประชุมสภา ที่อาจบรรจุเข้าเป็นวาระไว้หลังสุด จนในที่สุดก็ตกไปเพราะไม่ได้ผ่านการพิจารณาสักวาระเดียว
สิทธิของชุมชนในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นไร้ความหมาย หากระเบียบการทำประชาพิจารณ์ และการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ เอื้อต่อการให้อำนาจแก่รัฐและทุนในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรทุกชนิดในท้องถิ่นโดยไม่ให้ประชาชนได้ตรวจสอบเลย
โจทย์ของการปฏิรูปการเมืองอยู่ที่สังคม อะไรคือปัญหาที่สังคมไทยต้องเผชิญอยู่ และเราจะแก้ปัญหานั้นในระบบการเมืองของประชาธิปไตยได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ไม่ใช่เครื่องมืออันเดียว ซ้ำในหลายเรื่องยังเป็นเครื่องมือที่ไม่ค่อยได้ผลด้วย เช่นเราจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐธรรมนูญช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่ขึ้นอยู่กับว่าสังคมต้องค้นหา, ผลักดัน, และสนับสนุนการปฏิรูปมากน้อยเพียงไรต่างหาก
ภาคสังคมจะขยับตัวอย่างไรจึงจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง ถ้าสังคมขยับตัวแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำไม่ใช่เรื่องที่จำกัดเฉพาะผู้เชี่ยวชาญไม่กี่ร้อยคนด้วย หากเป็นมติของประชาชนทั่วไปซึ่งไม่มีใครขวางได้
ฉะนั้นจึงออกจะเป็นความคิดที่หยาบเกินไป ถ้าจะเริ่มปฏิรูปการเมืองกันด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ โดยสังคมไม่ชัดเจนว่าอะไรคือโจทย์ และอะไรคือคำตอบที่เราต้องการ
เพราะปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่การประชุมกันของนักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ ปัญหาของการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ก็คือ ไม่มีแม้แต่กระแสสังคมที่กว้างขวางรองรับ ยังไม่พูดถึงไม่มีการผลักดันให้กระบวนการทางสังคมได้เริ่มขึ้นเลย แต่ต่างสรุปกันง่ายๆ ว่าแก้รัฐธรรมนูญ แก้อะไร แก้ทำไม แก้แล้วมุ่งจะได้อะไร ล้วนเป็นคำถามที่ไม่มีความสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้
๒. ที่ลึกและกว้างกว่ารัฐธรรมนูญ
เพิ่งเลือกวุฒิสมาชิกกันไป
ขณะที่เขียนยังไม่รู้ว่าหมู่หรือจ่า กล่าวคือไม่รู้ว่าวุฒิสภาใหม่จะเป็นสภาเครือญาติหรือไม่
แต่ถึงไม่เป็น ก็ใช่ว่า "ระบบตัวแทน" จะไม่มีปัญหาในระบบการเมืองไทย
และในยามที่ใครๆ ก็พูดถึงกันแต่การปฏิรูปการเมือง ไม่ว่าจะมีความจริงใจต่อการปฏิรูปหรือไม่ก็ตาม
ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านคิดถึงเรื่องของ "ระบบตัวแทน" กันทั้งระบบ
ทุกคนพูดว่าวุฒิสภามีหน้าที่ตรวจสอบร่างกฎหมายที่ส่งขึ้นมาจากสภาผู้แทนฯ แต่การตรวจสอบที่ว่านั้นหมายความว่าทำอะไร อาจมีความคิดไม่ตรงกันนัก ผมคิดว่าหัวใจจริงๆ ของการตรวจสอบ ไม่ใช่การตรวจด้านเทคนิคของกฎหมาย ซึ่งปล่อยให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้เช่นกฤษฎีกาเป็นผู้ทำจะดีกว่า แต่การตรวจสอบของวุฒิสภาก็คือความพยายามจะหยั่งดูว่า เมื่อใช้ร่างกฎหมายนั้นจริงๆ แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แต่จะหยั่งดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ใช่หยั่งจากเนื้อหาของร่างกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องเอาเนื้อหาของกฎหมายไปวางทาบลงบนความเป็นจริงของสังคมไทย ในระบบบังคับใช้ที่อาจจะขาดประสิทธิภาพ และในท่ามกลางความฉ้อฉลของนักการเมือง จะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไรเพื่อบรรเทาผลร้ายของกฎหมาย หรือทำให้กฎหมายบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งใจมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่นพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉิน อาจมีเป้าประสงค์ที่เหมาะสม แต่เมื่อนำไปวางทาบลงบนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ อาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นก็ได้ หากวุฒิสภายอมผ่านพระราชกำหนดนี้ ก็น่าจะแนะนำฝ่ายบริหารว่าควรจะต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการใช้อำนาจนั้นไปในทางที่บ่อนทำลายเป้าประสงค์ของพระราชกำหนดเสียเอง เป็นต้น. ในแง่นี้ (โดยปราศจากการวิจัย) ผมรู้สึกว่า วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ด้านนี้ดีกว่าวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แม้ทำหน้าที่เป็น "ตรายาง" คล้ายๆ กันดังคำครหาก็ตาม
อีกด้านหนึ่งของการตรวจสอบนั้นเกี่ยวข้องกับ "ระบบตัวแทน" และผมคิดว่ามีความสำคัญกว่าหรืออย่างน้อยก็เท่ากันกับที่กล่าวแล้วข้างต้น นั่นก็คือวุฒิสภาจะสามารถหยั่งถึงผลในทางปฏิบัติจริงของร่างกฎหมายได้ ก็โดยฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และนั่นคือเหตุผลที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาสามารถเรียกคนมาให้การ สามารถเอาคนนอกมานั่งในกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมาย สามารถเรียกเอกสารมาดู ฯลฯ ตลอดจนสามารถออกไปรับฟังความคิดเห็นของคนในสังคมได้
หน้าที่ตรงนี้ของวุฒิสภาเมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นเวทีให้เสียงของคนกลุ่มต่างๆ ได้ดังออกมาในสังคม และกลายเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการที่จะออกกฎหมายมาใช้บังคับกัน
ในการปฏิบัติหน้าที่ประการแรก วุฒิสมาชิกจะใช้วิจารณญาณของตนเองได้ดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าสามารถเข้าถึงความเป็นจริงของสังคมไทยมากน้อยเท่าไร จะเข้าถึงได้มากก็ต้องฟังคนอื่นให้มากและให้กว้างเหมือนกัน แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องใช้วิจารณญาณของตนในการตัดสินใจ
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ประการที่สองนั้น ยิ่งใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตัวน้อยลงไปใหญ่ เพราะวุฒิสภาเป็นแค่เวทีเปิด จะต้องทำให้เสียงของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เสียงไม่ดัง ได้มีโอกาสดังผ่านเวทีวุฒิสภาให้มาก วิธีที่จะทำอย่างนั้นได้คงต้องอาศัยยุทธวิธีหลากหลาย. ในแง่นี้ ผมก็รู้สึกเหมือนกันว่า วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ขายตัวไปกว่าครึ่ง ก็ยังทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ดีกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
แม้กระนั้นก็ยังไม่พอ ยังไม่พอกับปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่น่ะครับ
ปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ก็คือ ครึ่งหนึ่งหรือกว่าครึ่งของพลเมืองไทยไม่มี "ตัวแทน" เพราะระบบตัวแทนที่เราใช้อยู่เวลานี้ไม่สามารถสร้าง "ตัวแทน" ให้แก่คนกลุ่มใหญ่สุดนี้ได้ คนกลุ่มนี้คือแรงงานระดับล่างในภาคอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม, และบริการ บวกกับเกษตรกรรายย่อยในชนบท ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มีฐานะยากจน ไม่ใช่ยากจนแต่ในปัจจุบัน หากยากจนในอนาคตด้วย เพราะไม่มีทุนเพียงพอจะพัฒนาตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของตนเองหรือการศึกษาของลูกหลาน เรียกว่าจนกันไปทั้งโคตรเลย
และสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้เขายากจนก็มาจากนโยบายของรัฐเอง ที่ตั้งใจเอาผลประโยชน์ของเขาไปแลกกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยไม่ใส่ใจว่าความมั่งคั่งนั้นไปกระจุกอยู่กับคนระดับบนจำนวนหยิบมือเดียว คงจำได้ว่าจนถึงต้นทศวรรษ 2530 นายกรัฐมนตรีไทยแต่ละคนยังพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า ศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจไทยนั้นสูงมาก เพราะเรามีแรงงานราคาถูก จนกลางทศวรรษนั้นไปแล้ว จึงได้เริ่มสำนึกว่า แรงงานราคาถูกที่ไม่มีการพัฒนานั้นแหละคืออุปสรรคของการแข่งขัน
ในภาคเกษตรของเกษตรกรรายย่อย รัฐได้แย่งเอาทรัพยากรที่เขาใช้ในการหาเลี้ยงชีพมาให้หลุดไปจากมือเขา เพื่อเอามาผลิตพลังงานราคาถูกบ้าง, ผลิตแหล่งท่องเที่ยวบ้าง, ผลิตวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมอาหารบ้าง ฯลฯ คนที่ไม่มีทรัพยากรการผลิตจะไม่จนได้อย่างไร ฉะนั้น ไม่ว่าเขาจะมีเงินสดในมือมากขึ้นเพียงใด แท้จริงแล้วเกษตรกรรายย่อยล้วนยากจนลงจนแทบจะหมดตัวทั้งนั้น
เหตุใดคนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้จึงยอมให้รัฐใช้นโยบายสร้างความยากจนให้แก่เขามาเนิ่นนานเช่นนี้ เหตุผลตรงไปตรงมาก็เพราะเขาไม่มีเสียง หรือไม่มีอำนาจทางการเมืองไว้ต่อรองเชิงนโยบายเลย "ระบบตัวแทน" ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ได้ออกแบบมาให้คนกลุ่มนี้มีตัวแทนของตนได้เองจริง อย่านึกถึงแค่ ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้นนะครับ พรรคการเมืองของเขาก็ไม่มี, องค์กรวิชาชีพที่เข้มแข็งและเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของเขาจริงก็ไม่มี, พื้นที่สื่อก็ไม่มี, พื้นที่ในเนื้อหาการศึกษาของชาติก็ไม่มี, พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบการเมืองทั้งระบบไม่มีที่ให้คนกลุ่มนี้สักตารางนิ้วเดียว
ด้วยเหตุดังนั้น ความไม่มีตัวแทน (underrepresentation ในภาษาอังกฤษ ซึ่งฟังดูแล้วยังอ่อนกว่าสภาพที่เป็นจริงด้วยซ้ำ) ของคนกลุ่มใหญ่สุดในสังคมไทยจึงเป็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ความเป็นเวทีเปิดของวุฒิสภานั้น ถึงเปิดอย่างไรก็ยังไม่กว้างเพียงพอที่จะให้คนกลุ่มที่ไม่มีตัวแทนเหล่านี้ได้ส่งเสียงให้ดังพอได้
อันที่จริง ผมเองออกจะสงสัยว่า เขาออกแบบวุฒิสภามาให้ปิดสำหรับคนกลุ่มนี้ด้วยซ้ำ (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เช่น คุณสมบัติของวุฒิสมาชิกต้องจบปริญญาตรีและมีอายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป ก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่า คนที่มีคุณสมบัติอย่างนี้ในสังคมไทยจะมาจากไหนได้ ถ้าไม่ใช่ The Establishment หรือกลุ่มเก๋า แล้วใครเล่าครับที่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายสร้างความยากจน, สนับสนุนนโยบายอย่างนั้นผ่านทั้งสื่อและผ่านทั้งงานวิชาการ, ร่วมกันประดิษฐ์วัฒนธรรมที่จะจรรโลงนโยบายลำเอียงเช่นนั้นตลอดมา ก็คนที่ร่วมอยู่ในกลุ่มเก๋าหรือ The Establishment เหล่านี้นั่นเอง
อย่าเพิ่งรีบไปแก้รัฐธรรมนูญนะครับ ผมยังไม่ได้เสนอให้แก้อะไรทั้งนั้น ผมยกตัวอย่างจากวุฒิสภาขึ้นมาเพราะเห็นได้ง่ายดีว่า ถ้าอยากจะปฏิรูปการเมือง ต้องเริ่มจากปัญหาในระบบการเมือง ไม่ใช่เริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะปัญหาในระบบการเมืองนั้นมีมิติที่มากกว่า และลึกกว่าข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาก เช่น จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร จึงสามารถทำให้คนทำหนังสือพิมพ์สำนึกได้ว่า ความรับผิดชอบของคุณนั้นกว้างกว่าลูกค้าที่ซื้อหนังสือพิมพ์ของคุณอ่าน หรือเสียเงินลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของคุณ คนเกือบหรือกว่า 30 ล้าน ที่ไม่มีเงินซื้อหนังสือพิมพ์จะมีโอกาสโผล่หน้าในหนังสือพิมพ์ของคุณบ้างได้ไหม ถ้าเขาไม่ได้เอาลูกไปทิ้งกองขยะ
ก็จะเห็นได้นะครับว่า ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญเลย แต่มีความสำคัญในระบบการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ผมกำลังหวั่นเกรงว่า การปฏิรูปการเมืองกำลังตกไปอยู่ในมือของนักการเมือง หรือไม่มีทีท่าจะขยายไปสู่คนนอกกลุ่มเก๋าหรือ The Establishment เลย ในที่สุดปัญหาในระบบการเมืองก็ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างไร เพราะการแก้ไขให้ถึงตัวปัญหาจริง ต้องการความเข้าใจที่ลึกกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย และต้องการความกล้าคิดนอกกรอบของรัฐธรรมนูญแบบตะวันตก ซึ่งตั้งบนสมมติฐานว่าคนทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมือง ซึ่งไม่จริง
๓. การเมืองบนท้องถนนกับอันธพาล
ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในสภาจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และด้วยความเชื่อมั่นว่าถึงจะเลือกตั้งใหม่
พรรคไทยรักไทยก็จะได้ที่นั่งสูงสุดอยู่นั่นเอง แต่นายกรัฐมนตรีกลับประกาศยุบสภา
และในที่สุดก็ต้องประกาศเว้นวรรคไม่รับตำแหน่งนายกฯ ในสภาที่เกือบทั้ง 500
ที่นั่งเป็นของ ทรท.ทั้งหมด เพราะพรรค ทรท.พ่ายแพ้แก่การเมืองบนท้องถนน
การเมืองบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาในสมัยแรก ทรท.ประสบความสำเร็จในการสร้างความนิยมในสังคมไทยได้กว้างขวาง คือครอบคลุมทั้งคนชั้นกลางในเมือง และคนในชนบท ผู้ที่ใช้การเมืองบนท้องถนนเข้าไปมีส่วนร่วมเชิงนโยบายจึงไม่ประสบความสำเร็จ เช่นกลุ่มต่อต้านท่อก๊าซที่จะนะ, กลุ่มต่อต้านเหมืองโพแทชที่อุดรธานี, สมัชชาคนจน ฯลฯ
ขนาดใช้กำลังตำรวจตีหัวชาวบ้าน หรือใช้เทศกิจอุ้มผู้ประท้วง สังคมยังเงียบเฉยไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจว่าสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญถูกย่ำยี (โดยเฉพาะพวกคนชั้นกลางในเมือง ที่เห็นชอบกับการระงับใช้สิทธิเสรีภาพข้อนี้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวแต่จะกระทบเงินเดือนของตัว)
ฉะนั้นพรรค ทรท.จึงไม่เคยเผชิญกับการเมืองบนท้องถนนจริง สามารถใช้อำนาจรัฐขจัดออกไปอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องเกรงการละเมิดรัฐธรรมนูญ จนกระทั่ง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวประท้วงด้วยการเมืองบนท้องถนนครั้งหลังสุดนี้ ทรท.จึงแทบไม่มีประสบการณ์อะไรในกระเป๋า ที่จะล้วงลงไปใช้เพื่อต่อสู้กับการเมืองบนท้องถนนของคนชั้นกลางได้เลย และต้องถอยกรูดไปอย่างที่เห็นกันอยู่
การเมืองบนท้องถนนมีอำนาจบางอย่างที่ไม่อาจตอบโต้ได้ด้วยการเมืองในระบบ และควรเข้าใจอำนาจตรงนี้ให้ดี
ประการแรก
การเมืองบนท้องถนนเกาะติดกับประเด็น
ไม่ได้เกาะติดกับพรรคการเมือง, แก๊งการเมือง, หรือตำแหน่งในทางการเมือง ประเด็นที่การเมืองบนท้องถนนเกาะติดจึงต้องเป็นประเด็นที่คนอื่นเห็นว่ากระทบต่อตัวด้วย
สิ่งที่กระทบนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ที่มีพลังกว่าคือ
กระทบต่ออุดมการณ์ของตัว
ฉะนั้น แม้บางคนอาจใช้การเมืองบนท้องถนนเพื่อเสนอปัญหาส่วนตัว เช่นชาวนาถูกนายทุนโกงที่ดิน
ประกาศแขวนคอตายหน้าทำเนียบ คนชั้นกลางก็รู้สึกเดือดร้อน เพราะกระทบต่อสำนึกทางศีลธรรมของตัว
แม้จะรู้ดีว่าที่ดินของชาวนาทั่วประเทศไทยหลุดจากมือเจ้าของทุกวัน ด้วยความไม่เป็นธรรมของระบบก็ตาม
การต่อสู้ของการเมืองบนท้องถนนจึงเป็นการต่อสู้กันที่ประเด็นซึ่งถูกหยิบขึ้นมาเป็นเหตุผลของการชุมนุม
การเบี่ยงประเด็นไม่ช่วยให้เอาชนะได้ ตรงกันข้ามยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ความชอบธรรมมากขึ้น
ประการที่สอง
จำนวนของผู้ร่วมในการเมืองบนท้องถนนไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่สุด แน่นอนว่ามีมากดีกว่ามีน้อย
เพราะการเมืองบนท้องถนนก็เหมือนการเมืองในระบบ ตรงที่นักการเมืองต้องอ้างเสมอว่าเป็นตัวแทนของคนอื่น
นักการเมืองของการเมืองบนท้องถนนอ้างว่าเป็นตัวแทนของคนอีกมากที่ไม่ได้ออกมานั่งประท้วง
ดังนั้น ถ้ามีจำนวนมาก การอ้างดังกล่าวก็ฟังหนักแน่นขึ้น
แต่จำนวนอย่างเดียวไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญเท่ากับประเด็น ฉะนั้น การแสดงว่าฉันก็มีพวกมากเหมือนกัน
ด้วยการเกณฑ์คนจากหัวเมืองมาประท้วงแข่งกันจึงไม่เกิดประโยชน์ แม้แต่การเลือกตั้งที่ตัวชนะขาดลอยยังไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย
เพราะประเด็นที่ถูกการเมืองบนท้องถนนหยิบยกขึ้นมาโจมตีก็ยังอยู่เหมือนเดิม
ประการที่สาม
การเมืองบนท้องถนนมีโอกาสสูงที่จะทำให้ประเด็นซึ่งตัวหยิบขึ้นมากลายเป็นประเด็นสาธารณะ
เพราะสื่อมักจะติดตามและเสนอการเมืองบนท้องถนน ยุทธวิธีที่จะยึดพื้นที่ในสื่อจึงมีความสำคัญมาก
การปิดข่าวให้สนิทหากทำได้จึงพอได้ผล แต่การบิดเบือนข่าวมีอันตรายมากกว่า เพราะทำให้คนอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
และทำลายความชอบธรรมของตัวมากขึ้นด้วย
ประการที่สี่ การเมืองบนท้องถนนก็เหมือนกับการเมืองในระบบ
นั่นคือเวทีอภิปรายไม่ได้มีแต่บนท้องถนนหรือสภาเพียงอย่างเดียว ถ้า "จุดติด"
แล้ว การอภิปรายของการเมืองบนท้องถนนจะขยายไปยังวงสัมมนาทางวิชาการ, คอลัมน์บนหน้าหนังสือพิมพ์,
เว็บไซต์, โต๊ะกาแฟ ฯลฯ ได้เท่ากันหรืออาจจะมากกว่าการอภิปรายในสภาเสียอีก
(เพราะการอภิปรายในสภามีจุดสิ้นสุด คือการลงมติ) แรงกระเพื่อมนี้เป็นส่วนที่แยกออกจากกันไม่ได้
และระงับได้ยากมาก
คงมีอีกหลายประการที่อาจกล่าวถึงลักษณะพิเศษของการเมืองบนท้องถนนได้ แต่แค่นี้ก็พอแล้วที่จะชี้ให้เห็นว่า
ทรท.ประสบความล้มเหลวแค่ไหนในการตอบโต้กับการเมืองบนท้องถนนที่ผ่านมา
จนถึงทุกวันนี้ นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้ตอบข้อข้องใจของการเมืองบนท้องถนนให้กระจ่างสักเรื่องเดียว
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขายหุ้นและผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ การตีโวหารไม่ใช่คำตอบ
ในสถานการณ์ที่การเมืองบนท้องถนนเข้มแข็ง การตีโวหารกลับยิ่งให้ผลร้ายกว่า
เพราะเท่ากับแสดงว่าผิดจริง
การยุบสภาเพื่อให้ "ประชาชนตัดสิน" ไม่ใช่คำตอบ ยิ่งการเลือกตั้งไม่ชอบธรรมยิ่งไม่ใช่คำตอบ เพราะจำนวนไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่สุดดังกล่าวแล้ว ใครก็ตามที่แนะนำนายกฯให้ยุบสภาและจัดเลือกตั้ง ไม่เข้าใจการเมืองบนท้องถนนเลย
ประเด็นที่การเมืองบนท้องถนนหยิบขึ้นมาโจมตีนั้น "ติด" สื่อเสียแล้ว สะกิดหน่อยก็จะโผล่กลับมาอีกได้ง่ายๆ การ "กลบข่าว" หรือ "เบี่ยงเบนข่าว" ทำไม่ได้ง่ายเสียแล้ว แม้แต่ประกาศขอเว้นวรรค ยังไม่ทำให้สื่อเลิกจับจ้อง เพราะการเมืองบนท้องถนนประสบความสำเร็จที่ทำให้คุณทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละคือตัวปัญหา ถึงการเมืองบนท้องถนนยุติลงชั่วคราว แต่กระแสของประเด็นยังไม่หยุด คงกระจายอยู่ทั่วไปในวงสัมมนา-เสวนาทั่วไป เป็นเชื้อสำหรับเกิดการเมืองบนท้องถนนใหม่ได้เสมอ
โดยปราศจากสภา เพราะการเลือกตั้งยังไม่นำมาซึ่งสภา ฉะนั้น จึงไม่มีรัฐบาลที่แท้จริง ถึงเปิดสภาได้สักวันหนึ่งข้างหน้า ก็เป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน เหตุดังนั้น การเมืองไทยเวลานี้และต่อไปในภายหน้าอีกหลายเดือนจึงเป็นการเมืองบนท้องถนน เพราะการเมืองในระบบไม่ทำงาน และดังที่กล่าวแล้วว่า การเมืองบนท้องถนนคือสิ่งที่ ทรท.อ่อนแอที่สุด ที่ผ่านมาก็ตอบโต้ได้ไม่ตรงจุด และที่เป็นอยู่ปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าว่าได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากความล้มเหลวของตน
ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้ ดูเหมือนแม่ทัพสำหรับการต่อสู้กับการเมืองบนท้องถนน กลับตกไปอยู่ในมือของนักเลงอันธพาล และวิธีเดียวที่อันธพาลรู้จักก็คือวิธีอันธพาล นับตั้งแต่การใช้กำลังเข้าปิดล้อมหนังสือพิมพ์คมชัดลึก, ป่วนเวทีของประชาธิปัตย์ที่เชียงใหม่, สืบมาจนในทุกวันนี้คือ ป่วนเวทีอภิปรายของกลุ่มสมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในต่างจังหวัด
แต่การเมืองบนท้องถนนคือการเมืองบนสื่อ วิธีอันธพาลจึงกลับให้ผลร้ายมากกว่าผลดี ยังไม่มีใครรู้เลยว่าพันธมิตรจะพูดอะไรที่อุดรฯ สื่ออาจไม่สนใจเลยก็ได้ แต่เพราะมีกองกำลังอันธพาลไปป่วน โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่สนใจจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทำให้การพูดของพันธมิตร ซึ่งอาจจืดสนิทกลายเป็นข่าวที่คนทั้งประเทศสนใจ
ไม่ใช่สนใจเฉยๆ แต่สนใจอย่างสะดุ้งสะเทือนว่า สิทธิเสรีภาพของตัวหรือที่ตัวยึดถือว่ามีความสำคัญกำลังถูกคุกคาม พูดอีกอย่างหนึ่งคือ กระทบคนจำนวนมากในเชิงอุดมการณ์ ดูเหมือนวิธีอันธพาลส่อให้เห็นว่า ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงขนาดนี้ของ ทรท. พรรคก็ยังไม่พบหนทางที่จะต่อสู้กับการเมืองบนท้องถนนได้
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
โดยปราศจากสภา
เพราะการเลือกตั้งยังไม่นำมาซึ่งสภา ฉะนั้น จึงไม่มีรัฐบาลที่แท้จริง ถึงเปิดสภาได้สักวันหนึ่งข้างหน้า
ก็เป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน เหตุดังนั้น การเมืองไทยเวลานี้และต่อไปในภายหน้าอีกหลายเดือนจึงเป็นการเมืองบนท้องถนน
เพราะการเมืองในระบบไม่ทำงาน และดังที่กล่าวแล้วว่า การเมืองบนท้องถนนคือสิ่งที่
ทรท.อ่อนแอที่สุด ที่ผ่านมาก็ตอบโต้ได้ไม่ตรงจุด และที่เป็นอยู่ปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าว่าได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากความล้มเหลวของตน
ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้ ดูเหมือนแม่ทัพสำหรับการต่อสู้กับการเมืองบนท้องถนน
กลับตกไปอยู่ในมือของนักเลงอันธพาล และวิธีเดียวที่อันธพาลรู้จักก็คือวิธีอันธพาล
นับตั้งแต่การใช้กำลังเข้าปิดล้อมหนังสือพิมพ์คมชัดลึก, ป่วนเวทีของประชาธิปัตย์ที่เชียงใหม่,
สืบมาจนในทุกวันนี้คือ ป่วนเวทีอภิปรายของกลุ่มสมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในต่างจังหวัด