นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



ประวัตศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย
สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ (ตอนที่ ๑)
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ สาขาประวัติศาสตร์


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาผู้เขียน
จากต้นฉบับเดิมชื่อ
ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์จากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕
เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณผู้เขียนสำหรับข้อมูลนี้
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 913
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)




สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ (ตอนที่ ๑)
(ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์จากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕)
กำพล จำปาพันธ์ : นักวิชาการอิสระ สาขาประวัติศาสตร์


การร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ : สถานะความหมายกับบทบาทสำคัญที่หายไป
หลังจากที่เหตุการณ์วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ผ่านพ้นไป โดยไม่ปรากฏมีการต่อต้านจากอีกฝ่ายเท่าที่ควร เนื่องจากฝ่ายผู้ก่อการวางแผนดำเนินงานไปในทางที่ไม่ให้เกิดความสูญเสีย ทั้งฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงทราบข่าวขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน พระองค์ก็ไม่ทรงมีพระราชดำริที่จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะนั้น ตรงข้ามพระองค์ทรงรับสั่งตกลงจะกลับคืนสู่พระนคร เพื่ออำนวยการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนต่อไป ปัญหาที่หนักหน่วงแก่คณะผู้ก่อการลำดับถัดไปจึงได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นหลักประกันความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นการยึดอำนาจแล้ว กรณีนี้เองที่เป็นปัญหาถกเถียงอยู่ในขณะนั้นหรือแม้ระยะหลังต่อมาก็ยังเถียงกันอยู่

ดังที่ทราบกันภายหลังคือ ในช่วงหัวเลี้ยวก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ๒ ฉบับ เพื่อจะได้ทดลองศึกษาดูว่าเหมาะสมกับประเทศสยามหรือไม่ นับเป็นรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ดำริที่จะให้มีขึ้นมาเอง และก็ด้วยเหตุดังนั้นรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจึงออกมาพร้อมพระราชประสงค์ที่จะใช้รัฐธรรมนูญที่ทรงมีบทบาทร่างขึ้นมานี้ เพื่อค้ำจุนสถานภาพของพระองค์ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยมีตัวแบบเปรียบเทียบเป็นรัฐธรรมนูญตามการปกครองระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นร่างของพระยาราชกัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ร่างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ฉบับที่สองร่างโดยนายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ ร่างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๔ (1) ซึ่งก่อน ๒๔๗๕ ทั้งสองฉบับ

เข้าใจว่า ภายหลังมีการตีความปะปนกันระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญกับพระราชดำริที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2) ทั้งที่ทั้งสองเป็นคนละเรื่องกัน การมีพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความเท่ากับว่า พระองค์ทรงต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระองค์จะไม่ทรงมีบทบาท หากพระองค์ต้องการใช้รัฐธรรมนูญที่ทรงมีพระราชดำริให้ร่างขึ้นเองนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแก่สถาบันของพระองค์ ดังจะเห็นได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า "เค้าโครงเบื้องต้น" ฉบับแรกของพระยาราชกัลยาณไมตรี ระบุข้อความมาตรา ๑ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์" (3) และมาตรา ๒ ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย" (4) รวมทั้งความในมาตรา ๑๑ ที่ว่า "อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์" (5)

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา นั้นได้ร่างขึ้นเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า "A Outline of Changes in the Form of Government" (เค้าโครงการเปลี่ยนรูปรัฐบาล) เนื้อหาสาระสำคัญก็ไม่ได้แตกต่างจากฉบับพระยาราชกัลยาณไมตรี คือยังเน้นย้ำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ โดย "พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี" (6) ไม่มีบทบัญญัติยืนยันสิทธิอำนาจของราษฎร ส่วนขอบเขตของอำนาจพระมหากษัตริย์ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญทั้งสอง

หากถือตามร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองก็เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่า อำนาจพระมหากษัตริย์จักเป็นสิ่งที่ไม่ได้ปรากฎเพียงเฉพาะในพระปรมาภิไธย ตามประเพณีการเมืองการปกครองระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ "เค้าโครงเบื้องต้น" เป็นการเน้นย้ำถึงอำนาจพระมหากษัตริย์ ตามการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง (7) ซึ่งก็ถูกปฏิเสธแม้จากภายในระบอบการเมืองแบบสมบูรณาฯ เองด้วยซ้ำ

แต่เมื่อเทียบเนื้อหาสาระกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือที่เรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕" ที่ร่างโดยผู้ก่อการ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีเนื้อหาสาระสำคัญแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือเป็นรัฐธรรมนูญที่ระบุชัดถึงสิทธิอำนาจของราษฎร เช่นว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" (8) ไม่เพียงเท่านั้น หากแต่กล่าวเฉพาะในส่วนของผู้ก่อการเอง รัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ยังถือเป็นการยกฐานะ "คณะกรรมการราษฎร" ไว้สูงเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ สามารถใช้อำนาจแทนราษฎรได้เท่ากับพระมหากษัตริย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย (9)

รัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๕ จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนย้ายองค์อธิปัตย์จากกษัตริย์เป็นราษฎร ยืนยันถึงสิทธิอำนาจของราษฎรในการกระทำการทางการเมือง ผลทางตรงก็คือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปรากฏรูปธรรมเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่เพียงประกาศโฆษณาชวนเชื่อ เช่น แถลงการณ์ หรือเอกสารอื่นที่ออกมาสนองตอบต่อสถานการณ์การเคลื่อนไหวที่เป็นไป ณ ขณะนั้น ทั้งรัฐธรรมนูญยังถูกใช้เป็นฐานสำคัญของอำนาจที่มีการแบ่งแยกออกจากองค์พระมหากษัตริย์อย่างเด่นชัด

ปัญหาสถานะอำนาจของพระมหากษัตริย์ใหม่
ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยความยินยอมของคณะราษฎรก็ได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาขึ้น ๖๐ คน และในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้นก็ได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการาษฎรและคณะกรรมการราษฎรขึ้น ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ( หรือนายกรัฐมนตรี ) ประกอบด้วยคณะกรรมการราษฎรจำนวน ๑๔ คน ได้แก่

๑. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ
๒. มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา
๓. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
๔. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
๕. นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์
๖. อำมาตย์เอก พระยาประมวลวิชาพูล
๗. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ
๘. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม
๙. นายนาวาตรี หลวงสินธุ์สงครามชัย
๑๐. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
๑๑. รองอำมาตย์ตรี หลวงเดชสหกรณ์
๑๒. รองอำมาตย์เอก นายตั้ว ลพานุกรม
๑๓. รองอำมาตย์เอก นายประยูร ภมรมนตรี และ
๑๔.นายแนบ พหลโยธิน (10) เป็นต้น

การแต่งตั้งเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการแถลงนโยบายขอความไว้วางใจต่อสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ประธานกรรมการราษฎรเสนอรายชื่อบุคคลในคณะรัฐบาลต่อสภา และเมื่อสภาอนุมัติคณะกรรมการราษฎรก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ด้วยเหตุที่ ครม. ชุดแรกนี้มีอายุการทำงานเพียง ๕ เดือน กับอีก ๑๒ วัน คือในระหว่างวันที่ ๒๔ สิงหาคม - ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เท่านั้น (11) บทบาทหน้าที่จึงมีไม่มากนัก อีกทั้งยังคาบเกี่ยวกับบทบาทสภาผู้แทนราษฎรกับคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย

แม้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา กับคณะราษฎร จะยังไม่ปรากฏก็ตาม การดำเนินงานของ ครม. ชุดนี้จำกัดเพียงการอำนวยการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจในส่วนที่สำคัญๆ อันจะส่งผลให้เกิดภาวะดุลยภาพแก่รัฐบาลชุดต่อมา และก็ด้วยบทบาทการอำนวยการในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญนี้เอง ต่อมารัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ก่อโครงสร้างอำนาจแบบใหม่ขึ้นมา คณะกรรมกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย

๑. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
๒. พระยาเทพวิฑูร
๓. พระยามานวราชเสวี
๔. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์
๕. พระยาปรีดานฤเบศร์
๖. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
๗. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ภายหลังตั้งเพิ่มอีก ๒ คน คือ)
๘. พระยาศรีวิสารวาจา
๙. นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน (12) เป็นต้น

ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรก็ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจต่างๆ ที่มีผลอย่างสำคัญต่อรูปแบบรัฐใหม่ มีการยกเลิกโครงสร้างการบริหารงาน ตลอดถึงกลไกต่างๆ จากระบอบการปกครองแบบเดิม ควบคู่กับการออกพระราชบัญญัติ ตัวบทกฎหมายใหม่ที่ออกมารองรับโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่สอดรับกับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการธำรงอำนาจของการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง

ที่สำคัญที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้ก็เช่น การออกพระราชบัญญัติยกเลิกภาษีสมพัตรสร พุทธศักราช ๒๔๗๕ (13) การประกาศยกเลิกสภาการป้องกันพระราชอาณาจักร (14) การประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ (15) ประกาศยกเลิกสภาการคลัง (16) ยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา (17) ประกาศให้โอนกรมตรวจเงินแผ่นดินในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมาขึ้นตรงต่อคณะกรรมการราษฎร (18) ร่างกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (19)

ประกาศลดพิกัดการเก็บเงินค่านาเป็นเงิน ๓๐ สตางค์ จากที่เคยมีการลดให้ก่อนหน้านี้แล้วรวมเป็น ๕๐ สตางค์ โดย "เห็นว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนาซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรา [สภาผู้แทนราษฎรกับรัฐบาล - ผู้อ้าง]" (20) ทั้งนี้นับเป็นผลต่อเนื่องจากกรณีกระทู้ถามของพระยาวินัยราชสุมนตร์ เรื่องรัฐบาลดำริจะช่วยเหลือชาวนาอย่างไร (21) และที่สำคัญนอกเหนือจากนี้ที่สภากระทำในระยะเดียวกัน ก็ยังมีการประกาศยกเลิกกรมราชเลขาธิการที่เคยมีมาแต่ครั้งสมบูรณาฯ อีกด้วย (22)

กล่าวเฉพาะในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจพระมหากษัตริย์อย่างเห็นได้ชัด องค์อธิปัตย์จากเดิมที่เป็นกษัตริย์ก็กลายเป็นราษฎรในที่สุด อำนาจอธิปไตยสูงสุดในการปกครองประเทศ ถูกนิยามใหม่ให้เห็นว่าอำนาจนั้นมาจากราษฎรแต่ละคนที่รวมกันเป็นชาติ แนวคิดเกี่ยวกับการแยก "กษัตริย์" ออกจาก "ชาติ" ดังที่มีพัฒนาการมาแต่ครั้ง ร.ศ. ๑๓๐ และกรณีการเคลื่อนไหวของชาวจีนก๊กมินตั๋ง ต่างปรากฏเป็นจริงทั้งในรูปลายลักษณ์ ไปจนถึงการถกเถียงในพื้นที่ต่างๆ เช่นที่มีการอภิปรายในสภาว่า :

อำนาจอธิปไตย ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า "Sovereignty" คืออำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการนั้นมาจากปวงชน มิใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาจากชาติ คือ ราษฎรรวมกัน แต่อำนาจนี้ราษฎรรวมกันทุกคนจะต่างคนต่างใช้ไม่ได้ เราเอาอำนาจนั้นมารวมกันเป็นหนึ่งเข้าเป็นอันหนึ่ง แล้วพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น แม้พระมหากษัตริย์ทรงใช้ก็จริง แต่ว่าท่านมิได้ทรงใช้ตามพระทัย ทรงใช้ตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (23)

ทั้งนี้ผู้ก่อการไม่ลืมที่จะอ้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนแปลงอำนาจเชิงโครงสร้างดังกล่าว จากจารีตประเพณีที่เคยมีมาในสังคมไทย นั่นคือหลักอเนกนิกรสโมสรสมมติ ซึ่งเป็นแนวคิดทางพุทธศาสนาที่รองรับสถานะและอำนาจของพระมหากษัตริย์ แม้จะคนละบริบทกันแต่โดยเนื้อหาแล้ว จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวนี้ ถูกทำให้เข้ากันได้กับแนวคิดเรื่องการปกครองระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าอำนาจสูงสุดในการเมืองการปกครองนั้นมาจากประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจดังกล่าวก็โดยเป็นตัวแทนประโยชน์ของประชาชนรวมกัน ดังปรากฏในคำอภิปรายดังนี้ :

มาตรา ๒ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตย อันที่จริงความตอนต้นในมาตรานี้ว่าโดยลักษณะสำคัญแล้วก็เป็นการยกเอาประเพณีของเราแต่โบราณขึ้นกล่าวซ้ำเท่านั้นเอง คือ ถ้าเราค้นดูหนังสือโบราณพระนามพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม ขนบธรรมเนียมราชประเพณีราชาภิเศกก็ตาม จะปรากกว่าความตอนหนึ่งในพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีว่า อเนกนิกรสโมสรสมมต และในพิธีบรมราชาภิเศกก็มีพราหมณ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบิด้วยประชาชนอัญเชิญเสด็จขึ้น หาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยพระราชอำนาจที่มาจากสวรรค์อย่างต่างประเทศบางแห่งเข้าใจไม่ ทั้งนี้ก็เป็นการแสดงว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมาแต่ปวงชน ความตอน ๒ ในมาตรานี้เป็นข้อความที่แสดงลักษณะของการปกครองว่าเป็นราชาธิปไยตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งปวงชนทั้งหลาย ทรงใช้พระราชอำนาจแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (24)

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็สนับสนุนบทบัญญัติมาตรา ๒ ที่ว่า อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้น โดยบทบัญญัติแห่งรับธรรมนูญนี้ โดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ทรงเห็นว่า ""ย่อม" ก็ดีอยู่แล้ว เพราะหมายความว่า เป็นประเพณีไทยเดิม" (25) เนื่องจากพระองค์เป็นที่ยอมรับกันว่าทรงมีความสามารถด้านอักษรศาสตร์ การประพันธ์ และการบัญญัติคำ โดยเฉพาะการคิดหาคำไทยมาใช้แทนศัพท์ภาษาต่างประเทศ และแน่นอนที่จะต้องทรงอ้างว่าเป็นคำไทยแต่เดิม

ทั้งที่จริงพระองค์ทรงประดิษฐ์คำใหม่มาประยุกต์ใช้ต่างหาก เช่น คำว่า "ประชาชาติ" ที่ทรงเสนอให้ใช้เทียบเคียง Nation ในภาษาอังกฤษ ทั้งที่ก่อนหน้าหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร เคยมีผู้เสนอให้ใช้ "ชาติ" อยู่ก่อนแล้ว คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเน้นย้ำชาติในนิยามที่หมายถึงประชาชนรวมกัน หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ทรงกล่าวให้เหตุผลสำหรับการหักล้างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า :

คำว่า "ชาติ" นั้น เคยใช้กันมา แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าความหมายซึ่งอยู่นั้นกว้างไป ปทานุกรมให้ความหมายว่า การเกิด การเป็นขึ้นมา การเอากำเนิดใหม่ พวกตระกูล ครัว เหล่ากำเนิด ชนิด จำพวก ชั้น หมู่ ถ้าผู้อ่านเทียบกับคำอธิบายพจนานุกรม ออกซฟอร์ดข้างบนนี้แล้ว ก็คงจะเห็นว่า "ชาติ" กินความกว้างไป ข้าพเจ้าจึงได้เสนอคำว่า "ประชาชาติ" ซึ่งเห็นว่าจะกินความตามลักษณะ ซึ่งปทานุกรมออกซฟอร์ด อธิบายไว้นั้นได้

ที่ข้าพเจ้าไม่แปลว่า "ประเทศชาติ" นั้น เพราะชนชาติโปล Poles เมื่อก่อนมหาสงคราม ถือตนว่าเป็น Nation แต่ต้องขึ้นแก่รัสเซีย จึงจะเรียกว่า "ประเทศชาติ" หาได้ไม่ แต่ถ้าเรียกว่า "ประชาชาติ" ไม่ขัดกับศัพท์

คำว่า "ประชาชาติ" นั้น เราพึงใช้สำหรับ Siamese Nation ได้ เพราะเป็นประเทศเอกราช คำว่า "ประชาชาติ" นั้น ตรงกับอังกฤษว่า Nation in International Law ประชาชาติในนิติธรรมระหว่างประชาชาติอีกประการหนึ่ง ตั้งแต่มหาสงครามมานี้ นิติธรรมระหว่างประชาชาติก็รับรู้ National minorities หรือประชาชนส่วนน้อยในประเทศ หรือประชาชนส่วนน้อยนั้นแล้ว ในกรณีนี้ถ้าจะใช้ "ประเทศชาติ" ก็ขัดกับศัพท์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดตามหลักวิชา และข้าพเจ้าเห็นว่า "ประชาชาติ" กินความเท่าเทียมกับคำว่า Nations (26)

จะเห็นได้ว่าเป็นการนิยาม Nation โดยเน้นย้ำนัยสำคัญมาที่ประชาชนนั่นเอง ที่อธิบายไว้เยิ่นเย้อเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าก็เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะแยกพระเดชออกจากพระคุณ แล้วยกไว้เบื้องสูงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดำเนินมาบรรลุจุดสูงสุดก็ในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับในปีเดียวกันนี้

รัฐธรรมนูญนอกจากจะเป็นหลักประกันแก่ความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงที่อำนาจถูกเปลี่ยนย้ายมาเป็นของราษฎรแล้ว ในส่วนของพระมหากษัตริย์เอง รัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่จำกัดอำนาจของพระองค์ทั้งโดยนัยยะและตัวบทอักษร ทั้งสองประเด็นนี้อาจมองเป็นเรื่องเดียวกันได้ในบางครั้ง เพราะไม่แยกขาดจากกันอย่างสัมบูรณ์ แต่ในแง่ของกระบวนการขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง การจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งถ้าสำเร็จในขั้นตอนนี้แล้ว ขั้นตอนอื่นก็จึงสามารถเกิดขึ้นตามมาได้ (27) จากอำนาจที่มีอยู่จริงตามโครงสร้างการบริหารของระบอบสมบูรณาฯ ก็กลายมาเป็นอำนาจที่เป็นจริงก็แต่เพียงพระปรมาภิไธย แนวพระราชดำริ และพระบรมราโชวาท

หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ ไกรฤกษ์) เจ้าของผลงานเขียนในบริบทของการร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๔๗๕ ที่ชื่อ "อธิบายธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ" (28) นอกจากจะชี้ให้เห็นประเด็นความแตกต่างและความเหมือนในบางประการของรัฐธรรมนูญสยามที่เพิ่งร่างเสร็จสิ้นนั้น กับรัฐธรรมนูญของหลายต่อหลายประเทศ อธิบายถึงคุณลักษณะสำคัญของรัฐธรรมนูญสยามว่า มีคุณค่าเฉพาะของตนเองสำหรับสังคมไทยแล้ว หลวงจักรปาณีฯ ยังได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์นี้ว่า จะส่งผลให้เกิดเงื่อนไขใหม่แก่อำนาจในเชิงโครงสร้าง ใช่ว่าอำนาจพระมหากษัตริย์จะสูญหายไปโดยสิ้นเชิงไม่ เพราะอำนาจพระมหากษัตริย์ยังมีมิติของวัฒนธรรมชาติ อย่างน้อยในสองประการสำคัญ คือ :

(๑) กษัตริย์ยังคงเป็นประมุขและยังคงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอันสำคัญของชาติ เพราะราษฎรส่วนมากของเราคุ้นเคยกับการปกครองแบบอื่นนอกจากราชาธิปตัยไม่ ตราบใดที่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงราชย์อยู่ ราษฎรส่วนมากก็มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความมั่นคง, ความสงบ, และความสามัคคีให้แก่ชาติอยู่เป็นนิจ.

(๒) กษัตริย์ที่มีความสามารถและรู้จักทำหน้าที่ ย่อมทำพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่การปกครองได้มาก โดยทรงเป็นผู้ออกความเห็นต่างๆ ในการแผ่นดินซึ่งโดยปกติพระองค์ย่อมจะทรงช่ำชองกว่าผู้อื่นใด เพราะกษัตริย์ทำการประจำตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา มีโอกาสรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ โดยใกล้ชิด จึงอาจชี้ได้ว่ากิจการอันใดรัฐบาลควรจะทำหรือไม่ และควรจะเลือกผู้ใดเป็นเสนาบดีเป็นต้น

นอกจากนี้อำนาจรอกำหมายไว้ได้ ๗ วัน (Suspending Veto) ตามมาตรา ๘ กษัตริย์ย่อมมีอำนาจแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ซึ่งสภาราษฎรส่งมานั้นให้ดีขึ้นอีก อนึ่งถ้ากษัตริย์ไม่ยอมลงพระนามในกฎหมายใดๆ ก็เป็นการเตือนสติรัฐบาลอยู่ในตัว และจะทำให้ราษฎรรู้สึกตัวและใช้ความระวังระไวในสิทธิของตนยิ่งขึ้น ส่วนทางที่เสียในการจำกัดอำนาจกษัตริย์ที่ไม่ฉลาดหรือไม่สามารถก็ไม่มีอำนาจทำการบ้านเมืองให้เสียได้ ส่วนกษัตริย์ที่ทรงเกียจคร้านก็คงไม่ทำอะไรเลย แต่การงานของรัฐบาลก็จะคงดำเนินไปตามอย่างเคยนั่นเอง. (29)

+++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ


(1) วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ [กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ, ๒๕๒๓] น. ๑๓๑.

(2) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับการตีความดังกล่าวนี้ อาทิเช่น สนธิ เตชานันท์. รวบรวม. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๕). พิมพ์ครั้งที่ ๒. [กรุงเทพฯ : โครงการผลิตเอกสารทางวิชาการ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๒๘ ] ;

หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์. การศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗) [กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๐] ;

แถมสุข นุมนนท์. "พระราชปรารภทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย. " การปกครองและสังคมไทย [กรุงเทพฯ : เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ (อบ. ๑๐๒) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๑] น. ๓๘ - ๔๓.

(3) วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ, น. ๑๓๒.

(4) เพิ่งอ้าง.
(5) เพิ่งอ้าง, น. ๑๓๔.
(6) เพิ่งอ้าง, น. ๑๓๕.

(7) ดังที่ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในงานที่ชื่อ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ [กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓] น. ๕๒.

(8) ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต. เอกสารการเมือง - การปกครองไทย พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๗๗ [กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๑๘] น. ๒๑๓.

(9) กระมล ทองธรรมชาติ. วิวัฒนาการของระบอบรัฐธรรมนูญไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. [กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, ๒๕๒๔] น. ๑๔.

(10) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านราธิปพงศ์ประพันธ์. ประวัติรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงปัจจุบัน [กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๑] น. ๖- ๗.

(11) ชัยอนันต์ สมุทวณิช และพีระศักย์ จันทวรินทร์. รวบรวม. ข้อมูลพื้นฐานกึ่งศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย [กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๔] น. ๑๖.

(12) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านราธิปพงศ์ประพันธ์. ประวัติรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกฯ, น. ๑๗ ; ชั้นต้นโปรดดู รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๑/๒๔๗๕ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕.

(13) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๔/๒๔๗๕ วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕.
(14) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๕/๒๔๗๕ วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕.

(15) เพิ่งอ้าง.
(16) เพิ่งอ้าง.
(17) เพิ่งอ้าง.

(18) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๖/๒๔๗๕ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕.

(19) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๑๒/๒๔๗๕ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ การนี้พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ อภิปรายรับรองและแถลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ในการบังคับใช้ระหว่างกฎมนเทียรบาลกับกฎหมายบ้านเมืองที่ออกโดยอำนาจสภาผู้แทนราษฎรว่า "กฎหมายบ้านเมืองนั้นใช้ทั่วไป ส่วนกฎมนเทียรบาลนั้นใช้ฉะเพาะหมู่เหล่า ฉะนั้นกฎมนเทียรบาลจึงไม่มีอำนาจที่จะไปลบล้างกฎหมายบ้านเมือง" นัยหนึ่งจึงหมายถึงสภาพที่กฎมนเทียรบาลเป็นที่ยอมรับกันว่าจะขัดแย้งกับกฎหมายบ้านเมืองโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทั้งการจำกัดกรอบการพิจารณาสถานภาพกษัตริย์กับเจ้าผ่านกฎมนเทียรบาล ในที่นี้นับเป็นครั้งแรกที่บ่งนัยวิพากษ์อย่างเป็นลายลักษณ์ว่า เป็นเรื่องของคนส่วนน้อยเพียงบางหมู่เหล่าเท่านั้น.

(20) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๑๕/๒๔๗๕ วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕.
(21) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๘/๒๔๗๕ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕.
(22) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๒๒/๒๔๗๕ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕.
(23) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕.
(24) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๓๔/๒๔๗๕ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕.

(25) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านราธิปพงศ์ประพันธ์. ประวัติรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกฯ, น. ๒๔.

(26) เพิ่งอ้าง, น. ๒๕ - ๒๖.

(27) โปรดดู กำพล จำปาพันธ์. "โครงสร้างอำนาจในชีวประวัติการเมืองไทย." ใน เวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
[http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2545/document95211.html].

(28) หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ( วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์ ). อธิบายธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ [พระนคร : โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ, ๒๔๗๕].

(29) เพิ่งอ้าง, น. ๓๒ - ๓๓.

(จบตอนที่ 1) คลิกไปอ่านต่อตอนที่ 2


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
060549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
กษัตริย์ที่มีความสามารถและรู้จักทำหน้าที่ ย่อมทำพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่การปกครองได้มาก โดยทรงเป็นผู้ออกความเห็นต่างๆ ในการแผ่นดินซึ่งโดยปกติพระองค์ย่อมจะทรงช่ำชองกว่าผู้อื่นใด เพราะกษัตริย์ทำการประจำตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา มีโอกาสรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ โดยใกล้ชิด จึงอาจชี้ได้ว่ากิจการอันใดรัฐบาลควรจะทำหรือไม่ และควรจะเลือกผู้ใดเป็นเสนาบดีเป็นต้น
นอกจากนี้อำนาจรอกำหมายไว้ได้ ๗ วัน (Suspending Veto) ตามมาตรา ๘ กษัตริย์ย่อมมีอำนาจแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ซึ่งสภาราษฎรส่งมานั้นให้ดีขึ้นอีก อนึ่งถ้ากษัตริย์ไม่ยอมลงพระนามในกฎหมายใดๆ ก็เป็นการเตือนสติรัฐบาลอยู่ในตัว และจะทำให้ราษฎรรู้สึกตัวและใช้ความระวังระไวในสิทธิของตนยิ่งขึ้น
The Midnightuniv website 2006