The Midnight University
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย
"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
:
พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน (ตอนที่ ๒)
พล.ต.ท. สมเกียรต พ่วงทรัพย์ และ โสภณ
สุภาพงษ์
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นการถอดเทปมาจากการสัมนาทางวิชาการเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ซึ่งจัดขึ้นที่ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เนื่องจากข้อความที่ถอดเทปมีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น ๒ ตอน
ตอนที่ ๑ นำเสนอเนื้อหาทางวิชาการโดย คณิต ณ นคร และ ไพโรจาน์ พลเพชร
ตอนที่ ๒ นำเสนอเนื้อหาทางวิชาการโดย สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ และ โสภณ สุภาพงษ์
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 900
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
18.5 หน้ากระดาษ A4)
"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน
(ตอนที่ ๒)
เวทีสัมนาและอภิปราย ณ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันเสาร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙ ตั้งแต่ ๙.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
: พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน?" (ตอนที่ ๒)
วิทยากร : สมเกียรติ พ่วงทรัพย์, โสภณ สุภาพงษ์
สมเกียรติ
พ่วงทรัพย์
ผมต้องขอขอบคุณที่เชิญผมมาร่วมสัมนาทางวิชาการ ในหัวข้อเรื่อง"หมิ่นสถาบันฯ
หรือเครื่องมือในการคุกคามประชาชน" ครับวันนี้คงจะได้ประโยชน์ในทางวิชาการและคงจะเป็นการเสนอแนวทางให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกลไกรัฐ
สามารถนำไปเป็นข้อคิดและแนวทางแก้ไขต่อไปได้
ท่าน อ.คณิต ได้พูดในเรื่องหลักการของกฎหมาย, ท่านไพโรจน์ก็ได้พูดเรื่องข้อเท็จจริง, ส่วนผมเป็นตำรวจ และเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นมานั้น ถ้าพูดจริงๆ แล้วในฐานะที่เป็นอดีตนายตำรวจ ผมก็เกี่ยวข้องด้วย แล้วก็ต้องยอมรับว่า ตำรวจนั้นตามค่านิยมของสังคม สังคมก็ให้การยอมรับไม่สูงนัก แต่ผมก็เชื่อว่ายังมีตำรวจอีกมากมายที่ผมได้สัมผัส บางสิ่งบางอย่างเขาก็รู้สึกไม่เห็นด้วยกับตำรวจบางคนซึ่งปฏิบัติออกนอกลู่นอกรอย
ผมอยากจะอธิบายอย่างนี้ว่า คำว่ากลไกรัฐทุกคนก็จะพุ่งไปที่พนักงานสอบสวน ซึ่งผมอยากจะกราบเรียนอย่างนี้ว่า พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อสังคมมอบหมายอำนาจทางกฎหมายให้ปฏิบัติ คือสามารถที่จะสืบสวนจับกุมบุคคลได้ แต่ก็มีเงื่อนไขอย่างที่ อ.คณิตว่า คือมีวิอาญามาจำกัด ตำรวจนั้นจะสืบสวนหรือกล่าวหาใครก็แล้วแต่ ถ้าปฏิบัตินอกลู่นอกรอยไม่ยึดวิอาญา ผลกระทบบั้นปลายก็มีซึ่งคงไม่ต้องอภิปรายมาก เพราะว่าเมื่อปี 2545 ผมได้เขียนบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่คิดว่าวันนี้จะนำออกมาถ่ายทอดได้ เป็นเรื่องของตำรวจที่ออกนอกลู่นอกรอย แล้วมันจะเกิดผลอย่างไรในตัวเขา
ความที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติตามวิอาญาและรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น เพราะว่าถ้าตำรวจปฏิบัติไปไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้ประชาชนนั้นเสียสิทธิเสรีภาพ หรือเสียชื่อเสียงได้ อย่างที่คุณไพโรจน์กล่าวถึงว่าเอาไปประหารกันทางการเมือง ตำรวจที่ต้องปฏิบัติตามวิอาญานั้น ทุกคนครับก่อนที่จะมาเป็นพนักงานสอบสวน เขาจะต้องยึดถือการวินิจฉัยหรือการจะต้องใช้ดุลยพินิจ ในการที่จะจับกุมใครมาดำเนินคดี
คำว่าดุลยพินิจนั้นจะต้องใช้ดุลยพินิจให้รอบคอบ หรือถ้าหากจะผิดพลาดก็จะต้องไม่มีเจตนา แต่ถ้าใช้ดุลยพินิจแบบผิดกฎหมาย โดยอาศัย หรือมีผู้หลักผู้ใหญ่ หรือมีใครบอกว่า ขอร้องให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเพื่อหวังผลทางด้านยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ ถ้าใครผิดพลาดด้วยการที่ไปกล่าวหาใคร หรือดำเนินคดีใคร บั้นปลายชีวิตก็ไม่ค่อยราบรื่น เพราะว่าจะมาอ้างว่า ตำรวจนั้นมีหน้าที่รักษากฎหมายอย่างเดียวแค่นี้ไม่ได้ เพราะจะต้องใช้ดุลยพินิจให้รอบคอบ
ในการที่จะกล่าวหาใครเป็นผู้ต้องหา
การใช้ดุลยพินิจนั้นต้องมีกฎเกณฑ์ อันที่หนึ่งจะต้องตรวจสอบพยานหลักฐานกับข้อเท็จจริง
ว่าพยานหลักฐานมั่นคงไหม ชีวิตของการเป็นตำรวจ พยานหลักฐานที่ผมเคยเจอในคดีสำคัญที่ผมทำมา
บางครั้งพยานบุคคลก็อาจจะไม่ได้ให้การอย่างแจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้นตำรวจจะต้องรู้จักการชั่งน้ำหนักพยาน
การที่จะไปอ้างว่า จับกุมใครโดยอาศัยพยาน แค่นั้นอย่างเดียวมันคงไม่เพียงพอ
ถ้าไปเชื่อพยานอย่างไม่มีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบแล้วและไปดำเนินการ อันนี้ก็อาจจะถูกฟ้องได้
ดังนั้นการใช้ดุลยพินิจในการที่จะปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะฉะนั้นถ้าผู้ปฏิบัติงานขาดความรอบคอบ หรือต้องการผลงาน ผมคิดว่าไม่อยากจะแก้ตัวให้กับตำรวจ
เพียงแต่ให้ข้อคิดและเคยเอามาเขียน ชีวิตส่วนตัวที่ผมรับราชการมาผมไม่เคยที่จะ,
ไม่ใช่พูดเข้าข้างตัวเอง, ผมถือว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าตำรวจไปยุ่งเรื่องการเมืองแล้วนั้น
ประวัติศาสตร์สอนไว้ แล้วผมยังเชื่อว่าการสืบสวนนั้นคือการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างที่ท่าน
อ.คณิตพูด คือแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักฐาน
ผมสอน ผมบรรยายวิชาสืบสวนสอบสวน ผมเขียนตำรา ผมบอกว่าตำรวจที่แต่งเครื่องแบบทุกคน ไม่ใช่จะสืบสวนได้ทุกคน คนอาจจะคิดว่าการสืบสวนนั้นง่าย แต่การสืบสวนนั้นมันเป็นศาสตร์ ที่มีวิชาการและต้องมีประสบการณ์นำมาผสมกัน ถึงจะเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด และนอกจากนั้นมันยังต้องมีตรรกะ คือมีเหตุและผล
ในส่วนตัวผมเห็นว่า กรณีที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับผู้ใดเกี่ยวกับเรื่องพิทักษ์สถาบันฯ หรือเครื่องมือคุกคามประชาชนนั้น ทุกท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้คงจะทราบดีว่า หลังวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนชาวไทย ซึ่งก็คงจะเป็นข้อคิดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ต่อไปนี้จะดำเนินการอย่างที่คุณไพโรจน์กล่าวถึงคือ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผมคิดว่าตำรวจหรือพนักงานสอบสวนนั้นคงต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า มีความจำเป็นอย่างไร เพราะถ้าหากไม่อธิบายหรือไม่สมเหตุสมผล ผมก็ยังเป็นห่วงรุ่นน้องๆ ที่ยังเป็นตำรวจอยู่ว่า มันจะก้าวก่ายหรือพาตัวเองไปฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ต้องฝากให้บรรดานักกฎหมายไปคิดกันดู
การที่นำเรื่องเหล่านี้มาพูดก็ด้วยความห่วงใยที่มีต่อสถาบันฯ เพราะว่าในชีวิตที่เป็นตำรวจ ผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 2506 สถาบันตำรวจนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสอบสวน มีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา เพราะเป็นสถาบันฯการสอบสวนที่มีความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าหากสังคมเขาไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้ใจ หรือถ้าผู้มีอำนาจใช้สถาบันตำรวจ หรือสถาบันการสอบสวนนั้นไปในทางไม่ถูกต้อง ถ้าเขาหมดอำนาจ สถาบันจะทำอย่างไร?
สิ่งที่ผมพูดเหล่านี้
ได้เคยสื่อไปถึงผู้ใหญ่ในกรมตำรวจ ตอนที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้ให้ตำรวจไปดำเนินคดี
กับผู้ดำเนินการทางการเมือง ผมก็ขอร้องผู้ใหญ่ในกรมตำรวจ โทรศัพท์ไปด้วยความห่วงใยว่า
ตำแหน่งหน้าที่นั้นมาแล้วก็ไป แต่ขอให้รักษาสถาบันให้ได้ พออีก 2 วันคือวันจันทร์ที่
28 พฤศจิกายน พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์
ผมได้ขออนุญาตท่านแล้วจึงนำมาอ่านให้ฟังดังนี้
"เฮงซวยที่พูดจาแบบนี้ แถมตำรวจก็ยังคอยแต่จะเอาใจนาย มีอย่างที่ไหน ตำรวจมีหน้าที่รับแจ้งความดำเนินการ
แต่นี่ระดับผู้บัญชาการตำรวจ ไปสั่งให้ลูกน้องเดินสายไปแจ้งความทุกจังหวัด
ต้องการแต่จะเอาใจนายกฯ มันบ้ากันไปหมดทั้งกรมตำรวจแล้ว ทำไม ผบ.ตร.ถึงยังเงียบอยู่
ไม่อออกมาแสดงท่าทีอะไรบ้าง ในเมื่อตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมาย แต่กลับไปแจ้งความกลั่นแกล้งคนอื่นเสียเอง
ผมขอเตือนว่า ถ้าตำรวจยังไปกลั่นแกล้งประชาชนแบบนี้ ระวังให้ดีว่าประชาชนจะทนไม่ได้
เขาจะลุกฮือขับไล่สักวันหนึ่ง"
ผมนำเรื่องนี้มาพูด เพื่ออยากจะบอกให้ทุกท่านเข้าใจว่า ตำรวจทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น หรือคนที่เคยรับผิดชอบกรมตำรวจก็ยังมีความห่วงใย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ผมช่วยพูดแทนกรมตำรวจซึ่งไม่ได้มีโอกาสมาพูดแก้ตัว ณ ที่นี้
ต่อไปผมขอพูดให้เข้ากับที่คุณไพโรจน์ที่ว่า ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น กลุ่มการเมืองบางกลุ่มซึ่งได้พยายามที่จะตั้งข้อกล่าวหา ต่อผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน โดยเอาคำพูดหรือข้อเขียนซึ่งอาจจะจาบจ้วงหรือไม่นั้น แล้วจะมีคนนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งความกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดี ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือว่า การดำเนินการใดๆ ก็ตามให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเหตุและผล ตามพยานหลักฐาน
ในอดีตในฐานะที่ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลเก่า ผมก็อยากจะเรียนอย่างนี้ว่า ตำรวจสันติบาลเขามีหน้าที่อยู่ 2 ประการ บางครั้งผู้ใหญ่ในกรมตำรวจก็อาจจะลืมเหมือนกันว่า ตำรวจสันติบาลเขามีหน้าที่อะไร? หน้าที่อันที่หนึ่งก็คือว่า มีหน้าที่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนหน้าที่ประการที่สองก็คือว่า หน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ
สำหรับหน้าที่ในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คือว่า ผมก็คงไม่ผิดมารยาทที่จะนำมาเล่าให้ฟัง คือเขาจะให้ตำรวจนั้นสดับตรับฟังหรือตรวจสอบ หรือสืบสวนหาข่าวว่า บุคคลใดก้าวก่ายหรือให้ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างวันนี้เรามาพูดหัวข้อนี้ ผมก็เชื่อว่าตำรวจก็จะต้องมาอัดเทปเพื่อไปรายงานผู้บังคับบัญชา อันนี้เป็นของธรรมดาครับ ไม่ต้องไปถือสาอะไร เพราะเราอยู่ในสังคมเสรีประชาธิปไตยด้วยกัน
ที่นี้ตำรวจเขาตรวจสอบอย่างนี้ อะไรเกิดขึ้นทราบไหมครับ? เขาจะเอาข้อมูลนี้ไปพิจารณาถึงพฤติกรรมของบุคคลต่างๆ ว่า ถ้าหากมีการกล่าวหากันในเรื่องของการฝ่าฝืนมาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เขาก็จะต้องรู้เลยว่าบุคคลผู้นั้นมีประวัติอย่างไร? เพราะการกระทำความผิดในมาตรา 112 มันต้องดูที่เจตนาด้วย ดูประวัติย้อนหลัง อย่างคนที่มีความจงรักภักดี แสดงออกมาชัดเจน สังคมก็รู้ ในวังก็รู้ แต่บางครั้งก็ไปแปลความหมายคำพูด หรือการกระทำที่ผิดไป สันติบาลเขาก็จะต้องเอาข้อมูลนี้ไปประกอบการพิจารณา ใครผิดนั้นต้องให้ตำรวจสันติบาลเป็นคนดำเนินการ แต่ตอนหลังนี้ผมก็ไม่ทราบ
ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าเพื่อให้เห็นภาพความยุติธรรม หรือการดำเนินการที่ตำรวจได้กระทำไปในช่วงแรกจึงขอกล่าวเพียงเท่านี้ ส่วนรอบหลังนั้นผมจะยกตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้น และในช่วงที่ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลนั้น ผมได้รับนโยบายอย่างไรในคดีอย่างนี้ แล้วคดีที่เกิดขึ้นซึ่งผมจะยกมา 4 คดี ก็อยากจะยกมาเพื่อให้ท่านได้วิเคราะห์และวิจารณ์ได้ว่า เรื่องต่างๆ ที่ตำรวจได้ทำไปนั้น เขารักษาสถาบันฯ หรือเขาคุกคามประชาชน ขอขอบคุณครับ
โสภณ สุภาพงษ์
สิ่งที่ผมจะมาพูดในวันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรลึกซึ้ง แต่ท่านผู้จัดอยากให้ผมมาสะท้อนความรู้สึกในฐานะประชาชนเสียมากกว่า
ผมอยากจะเริ่มด้วยความคิดเห็นประกอบกับข้อมูลความรู้ที่พอมี ในประเด็นเกี่ยวกับบ้านเมือง
ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นปัญหาระหว่างผู้นำประเทศหรือรัฐบาลกับประชาชน
ผมมีความเห็นตรงกันกับหลายท่านที่ว่า การที่ผู้บริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาลใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือ ที่จะกำจัดประชาชนซึ่งตัวเองไม่พอใจ แล้วก็เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่สมควรอย่างยิ่ง ที่ผมเห็นว่าไม่เหมาะสมและไม่สมควร 4 ประการอย่างน้อย คือ
ในประการแรก
เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมก็เพราะว่า กฎหมายนี้หรือรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
มันเกิดและสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางสังคม และที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
2475 ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มาจากความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยที่ฐานของรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาจากความขัดแย้งของขุนนางกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นอยู่ตลอด
เหตุการณ์ซึ่งเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มันเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี
2475 รูปแบบและระบบการเมืองในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นรูปแบบของจักรวรรดิ์
ไม่มีดินแดนเป็นราชอาณาจักรและประเทศราชต่างๆ แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐประชาชาติ(nation
state) ระบบการปกครองที่ใช้เป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราช พัฒนาจากธรรมิกราชาสมัยสุโขทัย
มาเป็นเทวราชาในสมัยอยุธยา แล้วก็สืบเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านก็อยู่ในลักษณะของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
ในช่วงต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กระแสของประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้เริ่มเข้ามา มีการปรับเปลี่ยนพระราโชบายในการปกครองแผ่นดิน จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี 2475 ฉะนั้นพื้นฐานเดิมมาจากความขัดแย้งลักษณะนั้น ก่อนหน้านั้น ระบบชนชั้นในสังคมได้มีการแบ่งฐานันดรระหว่าง"เจ้า"กับ"สามัญชน" แต่ในทางการเมืองถึงแม้ว่าเจ้านายจะมีอำนาจปกครองบ้านเมือง อย่างไรก็ตามสถาบันขุนนางซึ่งเป็นสามัญชนก็มีบทบาทอยู่ตรงกลางและก็ครอบงำสังคม และหลายครั้งที่ขุนนางสามารถยึดอำนาจรัฐและสถาปนาตนเองเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองได้
ภาพนี้แสดงให้เห็นว่ามันมีความขัดแย้ง ทั้งทางด้านความคิดและการปกครองระหว่างขุนนางกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพามาสู่เหตุการณ์ 2475 ก่อนหน้านั้นการปกครองโดยพระเจ้าอยู่หัว ก็อาจจะมีภาพต่างๆ แต่พระราชปณิธานเกี่ยวกับบทบาทพระมหากษัตริย์ที่ชัดเจนก็คือภาพ ในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 "ตั้งใจจะอุปถัมภ์ภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี" ภาพอันนี้คือภาพซึ่งเป็นมาโดยตลอด
จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศเมื่อปี 2475 ต้องยอมรับว่ามีความขัดแย้ง มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในระบบในระดับหนึ่ง และในที่สุด ทางออกและข้อยุติในการเปลี่ยนแปลงก็ออกมาในรูปแบบของการประนีประนอม ระหว่างปรัชญาโลกทัศน์สถาบันอำนาจเดิมกับสถาบันอำนาจใหม่ ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นพระประมุขของประเทศ มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และบทบาทของกษัตริย์ก็เป็นเรื่องของการปรึกษาหารือ รวมถึงการตักเตือน ซึ่งพระองค์ทรงมีบทบาทนั้น แต่ก็มีกฎหมายที่ระบุบทบาทและพระราชอำนาจเอาไว้หลายประการในฐานะประมุขของประเทศ อำนาจในทางนิตินัย และอำนาจในการยับยั้งกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ และก็รับการถวายฎีกา
ด้วยการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2475 จะเห็นว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวปี 2475 เขียนไว้ในมาตรา 6 ว่า กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว จึงเห็นได้ชัดว่า มีการระบุอย่างชัดเจนถึงการป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์จากขุนนาง จากรัฐบาล จากผู้ปกครอง ซึ่งไม่ได้เป็นการที่จะป้องกันจากประชาชน
ในรัฐธรรมนูญ 2475 มาตรา 3 ก็มีการปรับปรุงข้อความเขียนว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้. ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้พูดถึงองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งก็เป็นข้อความเดียวกันกับปี 2475 แล้วมีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุว่า ผู้ใดจะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดรร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
จะเห็นได้ว่ารากฐานของสังคม การพัฒนาสิ่งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ 2475 ด้วยเจตนาที่สร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างสถาบันกษัตริย์กับขุนนางหรือรัฐบาล เพราะฉะนั้นความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้มีพื้นฐานให้รัฐบาลใช้ฟ้องเพื่อเล่นงานประชาชน คือโดยพื้นฐานไม่ได้เป็นเครื่องมือในลักษณะนั้น
ในประการที่สอง
สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยเฉพาะในรัชกาลปัจจุบันแนบแน่นมากกับประชาชน
แต่ไม่ใช่แนบแน่นด้วยการสถาปนา หรือแนบแน่นด้วยความผูกพันเดิม เดิมสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนห่างไกลกัน
ห่างไกลทั้งความเป็นอยู่ ห่างไกลทั้งระยะทาง สำหรับความแนบแน่นของรัชกาลนี้กับประชาชน
เป็นความแนบแน่นที่เรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์
ผมคิดว่าการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในการกำจัดประชาชนจากฝ่ายปกครองหรือฝ่ายรัฐบาล
ในประเด็นนี้ได้ทำลายความสัมพันธ์ที่แนบแน่นอย่างยิ่งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล
โดยรู้เท่าถึงกาลหรือไม่ถึงกาลก็ไม่ทราบ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย. ในความแนบแน่นที่ผมจะอธิบายเพิ่ม
เพื่อจะให้เห็นกันว่า ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่
5 ธันวาคม 2470 มีพระเชษฐาและพระเชษฐพระคินีซึ่งมีพระชนม์มายุมากกว่า 2 ปีและ
4 ปี เมื่อปี 2470 ได้ทรงกลับมาศึกษาอยู่ในเมืองไทยพร้อมกับพระราชบิดา ซึ่งพระราชบิดาได้สิ้นพระชนม์ในปี
2472 เมื่อในหลวงทรงมีพระชนม์มายุได้ 2 พรรษา ในระหว่างการศึกษาขั้นต้นประมาณ
5 พรรษา ก็เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น
และด้วยความขัดแย้งซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในที่สุดครอบครัวของพระองค์ก็ต้องเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองโรซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2476 ตอนนั้นในหลวงทรงมีพระชนม์มายุได้ 6 พรรษา เมื่อไปประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้กลับเมืองไทยเพียงแค่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อพระชนม์มายุ 11 พรรษา ก็กลับมาประมาณ 2 เดือน ซึ่งก็เป็นระยะเวลาอันสั้นและพระชนม์มายุน้อยเกินกว่าที่จะสัมผัสกับประชาชน แต่ความสำคัญก็คือเมื่อพระชนม์มายุ 18 พรรษา ตรงนั้นผมคิดว่าน่าสนใจมาก ก็คือได้เสด็จถึงประเทศไทยในวันที่ 5 ธันวาคม 2488 ในครั้งนั้นได้ทรงกลับมา พระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงพระสหายเก่า เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ต่างประเทศ โดยบันทึกมีข้อความดังนี้
"เมื่อข้าพเจ้าเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไรและเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขา" อันนี้คือความสัมพันธ์ "ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน" อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น
เมื่อพระชนม์มายุ 18 ได้กลับมา จะเห็นได้ว่าโดยพื้นฐานของสถาบันกษัตริย์ หรือในหลวงรัชกาลนี้ ถ้าเรามองดูจะเห็นว่ามีข้อจำกัดมาก อย่างน้อยก็ 6-7 ประการในความสัมพันธ์นี้ ซึ่งผมเรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดความสัมพันธ์อันแนบแน่นดังกล่าว มาได้อย่างไร? เพราะว่า มีอุปสรรคมากมาย
ในประการแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือกำเนิดในราชสกุลอันสูงในสังคมไทย มีระบบเจ้านายและไพร่ต่อเนื่องกันมา มีช่องว่างมาก
ในประการที่สอง เนื่องจากในทางสังคมแล้ว ในด้านระยะทางซึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพก็ห่างไกลกันเหลือเกิน
ในประการที่สาม การเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จากฐานะพระอนุชาธิราช ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นองค์รัชทายาทในการสืบราชสมบัติ เพราะฉะนั้นในหลวงในรัชกาลนี้ไม่ได้วางแผนหรือเตรียมพระองค์มาก่อนเลย เพราะไม่ได้อยู่ในสายการสืบราชสมบัติ.
ในประการที่สี่ การขึ้นครองราชย์ก็เกิดขึ้นจากเหตุปัจจุบันทันด่วน ไม่ได้มีการพัฒนาที่เป็นขั้นตอน อยู่ๆ ปุ๊บป๊บตอนอายุ 18 กลับมาประเทศไทย แล้วคิดว่าจะกลับไปเรียนต่อต่างประเทศ เกิดปัญหาในประเทศ รัชกาลที่ 8 สวรรคต ก็ต้องขึ้นครองราชย์ทั้งๆ ที่ไม่พร้อมเลย แล้วก็ต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อ
ในประการที่ห้า อุปสรรคก็คือข้อจำกัดในเรื่องพระราชอำนาจและบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร
ในประการที่หก การครองราชย์ก็เป็นยุวกษัตริย์ มีผู้สำเร็จราชการซึ่งมีบทบาทขัดแย้งพอสมควร และในประการสุดท้าย ซึ่งมาจากกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็คือ บรรยากาศทางการเมือง ภายใต้ระบบอำมาตยธิปไตย ตลอดจนทัศนคติของนักการเมืองที่ครองอำนาจ แม้แต่กระทั่งหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ และก็เหินห่างจากเจ้านาย ซึ่งมีผลต่อสถาบันกษัตริย์ ถึงแม้โดยทางการจะมีการยอมรับสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องตระหนักด้วยว่าในช่วงนั้น เจ้านายหรือรัฐบาลมีความสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ในลักษณะถดถอย และเป็นปฏิปักษ์
การเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนตอนนั้นในช่วงเวลาเกือบ 1 ปี เกิดความสัมพันธ์ซึ่งมหัศจรรย์มาก
ผมขอเล่าเพียงนิดเดียวว่า คือพระองค์ท่านทรงเสด็จพร้อมกับรัชกาลที่ 8 โดยไม่ทรงรู้สึกเบื่อหน่ายในการที่ต้องพบกับพสกนิกร
เมื่อใดที่หมายกำหนดการจะประพาสที่ใด ไม่เคยต้องให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องคอย
แม้ในยามที่ทรงประชวร ก็จะอุตสาหะเสด็จโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน และในเดือนพฤษภาคม
2489 ได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อก็ยิ่งประพาสต่างจังหวัดถี่ขึ้น การผูกพันระหว่างในหลวงกับประชาชนก็ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น
ผมอยากจะอ่านบันทึกสักนิดหนึ่ง วันที่จะต้องเสด็จกลับ วันที่ 18 สิงหาคม เป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ในเอกสารเรื่อง ข้าพเจ้าจากสยามสู้สวิตเซอร์แลนด์ ทรงบันทึกไว้ว่า "เราต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว อะไรๆ ก็จะเสร็จหมด หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม เราต้องทูลลาให้เสร็จ ไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่กำหนดไว้แต่เดิม เพื่อจะได้รีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง" ท่านให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก "ผู้คนอะไรช่างมากมายอะไรเช่นนั้น เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่าจะให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบบอกว่าให้เข้ามาซิ เพราะเหตุว่าวันอาทิตย์เป็นวันของประชาชน เป็นวันของเขาจะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าอยากจะแลเห็นราษฎร เพราะว่ากว่าจะกลับมาอีก ก็คงอีกนานมาก"
ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ได้บันทึกเอาไว้ดังนี้ "วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากกันไปแล้ว ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรก็มาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้า รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นได้เร็วขึ้นบ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงของใครคนหนึ่ง ร้องออกมาดังๆว่า "อย่าละทิ้งประชาชน" อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้" อันนี้ก็เป็นข้อความซึ่งเรารับฟังและก็ผูกพันมาตลอด
"เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยจงใจมาส่งเราให้ถึงที่ ต่อจากนั้นก็เดินขึ้นเครื่องบินฝ่าฝูงชนที่มาเฝ้าดูจนถึงวาระสุดท้าย เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องเป็นการให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องเสียงดังสั่นหวั่นไหว กลบเสียงโห่ร้องก้องกังวาลของประชาชนที่ดังอยู่ทั้งหมด พอถึง 12 นาฬิกาเราก็ออกเดินทาง มาบินอยู่เหนือพระนคร 3 รอบ ยังมองเห็นประชาขนแหงนดูเครื่องบิน ทั่วถนนทุกสายในพระนคร"
ใครที่กำลังจะฟ้องประชาชนในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ควรรับรู้เรื่องเหล่านี้ และตระหนักว่าท่านได้ทำอะไร?
แล้วก็มีพระราชหัตถเลขาอันหนึ่งซึ่งเขียนถึงพระสหายร่วมชั้นเรียน ที่ให้คำตอบซึ่งเคยทรงถามตัวเองว่า ประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ในพระราชหัตถเลขานั้นมีคำตอบที่บันทึกไว้อย่างนี้ครับ "ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้าเมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ ก็คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง" พระราชหัตถเลขานั้น ได้บอกถึงสิ่งเหล่านี้
ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน แนบแน่นด้วยการปฏิบัติของพระองค์ท่าน ซึ่งทรงเข้าถึงประชาชนและได้ผูกพัน การฟ้องร้องขณะนี้ได้ตระหนักหรือเปล่าว่า ได้ทำลายสิ่งที่มีค่าในสังคมไทยด้วยอารมณ์ส่วนตัวหรือเปล่า
ในประการที่สาม ที่ผมเห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างมาก ก็คือภาพลักษณ์ของพระองค์ท่านที่ปรากฏในนานาชาติ เราจะพบว่าสถาบันการศึกษาหรือสถาบันที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ได้ทูลกล้าวถวายปริญญากิติมาศักดิ์มากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในสาขาวิชาการต่างๆ หลากหลายมาก ทั้งเกียรติประวัติ รางวัล รวมถึงรางวัลแม็กไซไซ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการประกอบพระราชกรณียกิจ และสืบเนื่องมาจากพระราชดำรัสตอนขึ้นครองราชย์ "เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ภาพนี้ได้ปรากฏในนานาชาติแล้วเป็นที่ประทับใจของคนทั้งโลก
แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังฟ้องประชาชนว่าหมิ่นกระมหากษัตริย์ อันนี้ได้ทำลายอะไรลงไปรู้หรือเปล่า ผมคิดว่าความเห็นแก่ตัวในระดับนี้ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก สำหรับผู้ใหญ่ หรือรัฐบาล หรือผู้นำประเทศ น่าจะมีสามัญสำนึกอันเป็นปรกติง่ายๆ
ในประการที่สี่
ปีนี้เป็นปีที่ครบ
60 ปีของรัชสมัย เราจะมีพิธี มีกิจกรรมหลายอย่างที่รำลึกถึงบุญคุณอันนี้ ในขณะที่มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
โดยประชาชนหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 30-40-50-60 คดี มันเป็นไปได้อย่างไรสังคมไทย
แสดงว่ามันต้องมีศรีธนนชัยเกิดขึ้นแล้ว เพราะดูตามสภาพการณ์ของบ้านเมืองมันไม่ใช่
เพราะฉะนั้น จากรากฐานของกฎหมาย จากรัฐธรรมนูญ ที่มาจากพื้นฐานความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์
แต่มันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายความรักระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตริย์
และความใกล้ชิดของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน มีความใกล้ชิดมาแต่ดั้งเดิม
ประชาชนสามารถเข้าถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรงมาตลอด ไม่ได้มีที่ไหนเขียนว่าจะต้องมีรัฐบาลอยู่ตรงกลาง
แล้วถ้ามาอยู่ตรงกลางและทำหน้าที่อย่างศรีธนนชัย อันนี้ยิ่งจะไปกันใหญ่ ท่านทำอะไรผิดพลาดขึ้นมาหรือเปล่าในการดูแลบ้านเมืองกับการใช้เครื่องมือเหล่านี้
ดังนั้นในประเด็นสุดท้าย ผมคิดว่ากฎหมายเหล่านี้ต้องมีการปฏิรูป ต้องให้ผู้เสียหายเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีบทลงโทษผู้ที่ใช้กฎหมายเหล่านี้โดยมีเจตนาฉ้อฉลด้วย เพราะว่าผู้ที่นำไปใช้โดยเจตนาฉ้อฉลต่างหาก ที่เป็นผู้ที่หมิ่นประมาทในความเป็นจริง เพราะนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ไปใช้ในการก่อกรรมทำเข็ญ ไปใช้ในการทำร้ายผู้อื่น อันนี้ยิ่งกว่าหมิ่นประมาทด้วยซ้ำไป ในที่นี้ผมต้องคิดแบบไพร่คนหนึ่ง เราสร้างประเทศมายาวนาน ทหาร-ตำรวจได้ปฏิณญานว่าจะรักษาราชบัลลังค์ด้วยชีวิต ตอนนี้มีระบอบฯที่กำลังจะมาทำลายอยู่ ควรที่จะถึงเวลาซึ่งจะต้องทำตามคำปฏิณญานเอาไว้ ขอบคุณครับ
สมเกียรติ
พ่วงทรัพย์
ช่วงนี้ผมอยากจะนำคดีที่เกิดขึ้นในอดีตมานำเสนอ 4 คดี. 3 คดีแรก เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ว่า
ความผิดอาญาตามมาตรา 112 นั้นถูกนำมาใช้ในการเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชนหรือไม่
อีก 1 คดีเป็นเรื่องที่จะเป็นตัวอย่างให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการที่จะช่วยกันเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์
ได้หรือไม่?
คดีแรกที่ผมอยากจะยกตัวอย่างขึ้นมาก็คือว่า ผมขอย้อนไปตอนที่ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล คือคดีแรกนี้เกี่ยวกับข้องกับนักคิด นักเขียน นักสังคม ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ แต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ปีนั้นผมเป็นผู้บัญชาการฯ พ.ศ.2540 บุคคลท่านนี้ได้ไปพูดที่สหรัฐอเมริกา แล้วมีการนำมาลงหนังสือพิมพ์ว่าเป็นการหมิ่นสถาบันฯ ประมวลความผิดแบบนี้ เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดที่จะดำเนินการสอบสวน มีการนำเรื่องนี้เข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม แล้วอัยการสูงสุดก็ให้สันติบาลเป็นพนักงานสอบสวน
ผมได้มอบหมายให้รองผู้บัญชาการ พลตำรวจโทโยธิน มัธยมนันท์ เป็นคนสอบสวน แต่ด้วยความรอบคอบ พลตำรวจโทโยธิน ก็ได้ไปถามไปยังสำนักราชเลขาฯว่า คดีเรื่องนี้มีพระประสงค์อย่างไร? พลตำรวจโทโยธินก็รายงานให้ผมทราบว่าท่านราชเลขาฯ บอกว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงถึงนั้นไม่ติดใจ และผมก็ทราบจากอธิบดีกรมตำรวจ ประกอบกับบทความที่คุณเกษียรเขียนมา ผมขออนุญาตอ่าน
"พลตรีสนั่น ขจรประสาท ได้พูดกับผมเมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า รับสั่งกับเขาเองว่าต่อแต่นี้ไปให้เลิก ไม่ให้จับในคดีหมิ่นนี้" และคุณเกษียร ก็เขียนว่า "เสียดายที่สิ่งที่ท่านรับสั่ง ไม่ได้แพร่หลายเท่าที่ควร" อันนี้ผมก็คงไม่ต้องอภิปรายมาก แต่มีบทความที่สื่อมาถึงผมในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผมก็แจ้งให้พนักงานสอบสวนซึ่งขณะนั้นกำลังดำเนินคดีอยู่ ขอให้ใช้หลักรัฐศาสตร์ นั่นคือเรื่องที่ต้องพิจารณาว่า ถึงแม้กฎหมายนั้นจะเป็นเช่นนั้น แต่ว่านโยบายที่ควรผ่อนผันได้ในการปฏิบัติงาน อย่างนี้เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ก็คงจะใช้หลักรัฐศาสตร์ได้
ตามข้อเท็จจริง คดีที่ผิดกฎหมายแล้วมาใช้หลักรัฐศาสตร์ ผมว่าอดีตอัยการสูงสุดก็อยู่ ณ ที่นี้ เดี๋ยวก็คงอภิปรายได้ คดีร้ายแรงต่างๆ เช่น คดีกบฎหรืออะไรก็แล้วแต่ อัยการสูงสุดก็เคยถอนเรื่องจากศาล เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง ไม่ใช่ว่าทำผิดกฎหมายแล้วจะถอนกันไม่ได้ หรือจะต้องดำเนินการไปจนถึงที่สุด
อีกเรื่องหนึ่ง จะเป็นเรื่องของการเอาข้อหามาตรา 112 นี้มาใช้ในเรื่องการเมืองหรือไม่ เมื่อสักครู่นี้คุณไพโรจน์ก็ได้พูดไปแล้ว ก็คือว่า เรื่องของคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ผมกราบเรียนให้เห็นตอนนี้ก่อนว่า คุณหญิงกัลยา โสภณพานิชนั้น ได้รับใช้เบื้องยุคลบาทในเรื่องสารานุกรมไทยไม่น้อยกว่า 30 ปี นี่คือส่วนหนึ่งของความจงรักภักดีหรือไม่ เพียงแต่นำเอาพระราชดำรัสซึ่งน่าจะเป็นผลดีนั้น แต่เอามาไม่หมด และเอามาใช้ในช่วงฤดูกาลหาเสียงก็เลยถูกดำเนินคดี แต่วันนี้คดีดังกล่าว เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการก็คือ อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ไม่รู้ว่าสำนักงานตำรวจสูงสุดนั้นจะมีความเห็นแย้งหรือไม่
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ในขณะที่โดนมรสุมเรื่องนี้นั้น เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ผมต้องขออนุญาตเล่าเบื้องหลังก่อนว่า เมื่อพลตำรวจเอกสวัสดิ์ ได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ พวกผมกลุ่มหนึ่งได้พบกับท่าน ตอนนั้นได้หารือกันกับท่านว่า ท่านได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจและท่านจบจากโรงเรียนนายร้อยด้วย ขออย่างเดียวได้ไหมว่า อย่าให้การเมืองนั้นเข้ามามีอำนาจบงการแต่งตั้งตำรวจ ตอนนั้นอธิบดีสวัสดิ์ก็รับปาก แล้วก็ถามกลับมาว่า พวกผมช่วยได้ยังไง ผมไม่เคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เลย ผมบอกถ้าท่านถูกอิทธิพลโดนกลั่นแกล้งผมจะเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เริ่มเขียนหนังสือเป็น ผมไม่ใช่นักเขียน เลยต้องขออนุญาต ตอนนั้นผมเขียนเรื่องช่วยเหลือพี่สวัสดิ์ แม้กระทั่งเรื่องพนักงานสอบสวนด้วย
แล้วอธิบดีสวัสดิ์ โดนเรื่องอะไรรู้ไหมครับ ก็มีหนังสือพิมพ์ดูเหมือนว่าจะชื่อฮอนโนลูลู เขียนหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อธิบดีสวัสดิ์ได้พิจารณาเห็นว่า หนังสือพิมพ์นั้นไม่ควรเข้ามาในประเทศไทย แต่อธิบดีสวัสดิ์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ก็มีรัฐมนตรีมหาดไทย ผมขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ เป็นนายทหาร มีการขอการแต่งตั้ง มีทั้งผัวทั้งเมียเลย อธิบดีสวัสดิ์ไม่ยอม
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว อธิบดีสวัสดิ์ก็ให้ตำรวจแปลหนังสือพิมพ์นั้น แล้วก็ต้องเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อออกคำสั่งไม่ให้หนังสือพิมพ์นั้นเข้ามา เพียงแต่แปลข้อความนั้น พอดีการแปลนั้นไปแพร่หลายในหน้าหนังสือพิมพ์ นักกฎหมายซึ่งความจริงพี่สวัสดิ์ก็บอกชื่อเหมือนกัน ที่พวกเราให้ฉายากันว่าเนติบริกร บอกว่าพี่สวัสดิ์ผิดเพราะไปแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็โดนย้ายไปแล้วครับ พี่สวัสดิ์ก็ได้ทำหนังสือกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วท่านก็เล่าให้ผมฟัง ท่านได้เข้าเฝ้า 45 นาทีรวมทั้งภรรยาท่านด้วย แล้วก็ได้รับกระแสพระราชดำรัสว่า ไม่ติดใจ. อันนี้ก็ต้องไปพิจารณาเองว่า คดีที่เกิดขึ้นนั้นได้มีการใช้มาตรา 112 เพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ ก็ไปพิจารณากันดูเพื่อจะช่วยกันแก้ไขทางวิชาการ
อีกเรื่องหนึ่ง ผมต้องขอชมกรมตำรวจ เป็นการรักษาสถาบันฯ ท่านคงจะจำได้ถึงพลตำรวจเอกประยูร โกมาลชุน ขณะนี้ท่านเสียชีวิตแล้ว มีคดีเรื่องเจ้าคุณอุดม มีพฤติกรรมเรียกทรัพย์เพื่อขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พูดจริงๆ แล้ว เมื่อสื่อรายงานไปก็คงจะมีคนคิดว่า เงินที่ได้เรียกทรัพย์มาจากประชาชนนั้น อาจจะให้ใช้ได้บ้างก็มีการเปิดเผย แต่พลตำรวจเอกประยูร โกมาลชุน พอดีผมใกล้ชิดกับท่าน แล้ววันที่ผมนั่งอยู่กับท่านนั้น ท่านโดนอิทธิพลจากนักการเมืองผ่านมาทางอธิบดีกรมตำรวจ ขอคดีเรื่องนี้
เมื่อท่านลองดูประวัติของท่านนั้น เป็นนายตำรวจที่ตำรวจผู้ปฏิบัติทุกท่านจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างแล้ว ผมคิดว่าประชาชนก็คงจะสบายใจได้ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ท่านไม่ยอมครับ ทั้งๆ ที่คนที่โทรศัพท์มานั้น ใหญ่ๆ มากมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย เสียงโทรศัพท์กระแทกไปเลยแล้วท่านก็ลาออกไป เรื่องนี้ศาลชั้นต้นก็ตัดสินไปแล้ว นี่คือตัวอย่างที่ว่าตำรวจเป็นผู้รักษาสถาบันฯไม่ให้เสียหาย ใครจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างผมไม่ว่า ผมหวังว่าเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังนี้ ตำรวจรุ่นหลังๆ ในการที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ ผมก็คงจะจบแค่นี้ครับ
ไพโรจน์
พลเพชร
ฟังจากเรื่องที่พลตำรวจโทสมเกียรติ พ่วงทรัพย์เสนอ เป็นประเด็นที่น่าคิดสำหรับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
อย่างประเด็นเรื่องเกี่ยวกับกลไกในการฟ้องร้อง จะเห็นได้ว่า ตำรวจพยายามที่จะถามไปยังสำนักราชเลขาฯ
ซึ่งอันนี้เป็นกลไกที่สำคัญที่เราจะพัฒนาให้เป็นกลไกที่เป็นทางการได้หรือเปล่า
เพราะจริงๆ กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตำรวจไม่น่าจะใช้ดุลยพินิจฝ่ายเดียวในการฟ้องหรือไม่ฟ้อง
อาจจะจำเป็นต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้
ประเด็นต่อมาซึ่งผมคิดว่าสำคัญก็คือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่เพียงดูข้อความ แต่จะต้องดูภูมิหลังอย่างที่ท่านเรียน ว่าต้องดูภูมิหลังของคนที่ถูกกล่าวหาด้วย อยู่ในเรื่องอะไร เขาเป็นคนแบบไหน มีเจตนาจริงหรือไม่ อยู่ในเรื่องของวิชาการหรืออยู่ในเรื่องแบบไหน? ผมคิดว่าอันนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบมากกว่าข้อความบางข้อความ แล้วมาพูดว่าหมิ่นหรือไม่หมิ่น นี่ถ้าใช้หลักกฎหมายนะครับ. แต่ว่าถ้าหากทางการเมือง แบบนี้ไม่ชนะ ต้องเอาข้อความที่กินใจแล้วก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เผยแพร่ เพราะในทางการเมืองใช้รูปแบบอย่างนี้
ประเด็นที่สาม เท่าที่ท่านเล่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ด้วย ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ มีความเที่ยงธรรมในการใช้กฎหมาย ไม่ตกเป็นเครื่องมือในทางการเมือง ก็จะสามารถดำรงความยุติธรรมได้ ที่นี้ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่ว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ดำรงความยุติธรรมได้ ขณะที่คนที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถให้คุณให้โทษ และการที่เขาสนองตอบในทางการเมือง สามารถได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์มหาศาล อันนี้เป็นประเด็นที่เจ้าหน้าที่ขั้นต้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้
ประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าสำคัญในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คิดว่า อย่างไรก็ตามการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มันกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งซึ่งมีความเห็นแตกต่าง คนใดก็ตามที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ขัดแย้งกับรัฐมากๆ ก็อาจถูกข้อหาเหล่านี้ได้ง่าย เพียงแต่ใช้คำพูดในเรื่องที่ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ
แท้จริงการพูดถึงเรื่องสถาบันฯ มีการพูดอยู่ 2 ระดับเสมอ คือด้านที่เป็นสาธารณะและในด้านที่ไม่เป็นสาธารณะ สำหรับในด้านที่ไม่เป็นสาธารณะ เป็นเรื่องส่วนบุคคลมีการพูดกันมากมายมหาศาล เพียงแต่ว่าเรื่องเหล่านี้มันไม่เพียงเปิดเผยออกมาได้ และจริงๆ ในสังคมไทย คนไทยมีวิจารณญานอยู่พอสมควรที่จะพูดแบบไหน พูดอย่างไร แม้แต่ปาฐกถา 14 ตุลายังต้องเซ็นเซอร์ไปตั้งหลายเดือน กว่าจะเผยแพร่ออกมา นั่นคือตัวอย่างของการพูดเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาทางวิชาการแท้ๆ แต่ก็ยังมีการเซ็นเซอร์และห้ามเผยแพร่ในวันนั้น อันนี้คือตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยระมัดระวังเรื่องนี้เสมอ
ที่มีการระมัดระวังเรื่องนี้สูงก็เพราะว่า มีโอกาสที่จะถูกกล่าวหา โดยเฉพาะฝ่ายที่มีความเห็นขัดแย้งกับผู้ที่มีอำนาจ โอกาสที่จะถูกกล่าวหานี้ง่ายมาก ดังนั้นการพูดถึงประเด็นอะไรก็ตาม จะโดนข้อหานี้ เป็นการสกัดการใช้สิทธิทางการเมืองในที่สุด เพราะข้อกล่าวหานี้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิในทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ซึ่งผมคิดว่า ถามว่าจะแก้ไขอย่างไรในอนาคต อันนี้ผมยังไม่เห็นว่าจะทำอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญคือ เราจะต้องมาทำความเข้าใจในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทางวิชาการ ในทางกฎหมาย ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่
ประเด็นต่อมาคิดว่า ที่สำคัญทำอย่างไรถึงจะให้กระบวนการใช้มันไปยุติที่ศาล มันไม่ใช่ยุติในทางการเมือง พอจบในประเด็นทางการเมือง ขัดแย้งในทางการเมือง ทุกอย่างก็จบหมด มันไม่มีข้อยุติสักทีว่า มันคืออะไรในเรื่องเหล่านั้น การพูดอย่างนี้ หมิ่นหรือไม่หมิ่น ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องไปยุติกันที่ในศาล ซึ่งผมก็มีข้อสังเกตที่จะนำเสนอเท่านี้
โสภณ สุภาพงษ์
ผมคงไม่มีอะไรเพิ่มเติมมาก แต่เห็นด้วยที่ว่ากรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 99%
มาจากผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารบ้านเมือง อยากจะทำร้ายใครก็นำเรื่องนี้มาใช้
แล้วกฎหมายนี้ก็เลยกลายเป็นเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งนำมาใช้ในการทำสิ่งที่ไม่ดี
เห็นได้ชัดว่ากฎหมายนี้คงจะต้องมีการปฏิรูป เพื่อไม่ให้คนที่ฉ้อฉลนำมาใช้
ผมอยากจะยกตัวอย่างเสริม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดมีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก็คือกรณีของรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวิทย์ อย่างกรณีนั้นโดยสามัญสำนึกของเด็กๆก็รู้ว่าไม่ใช่ แต่ก็เกิดกระบวนการฟ้อง เพียงต้องการที่จะทำลายกันในทางการเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง คงจำได้ใช่ไหมที่ท่านได้พูดเรื่องการประกันสุขภาพ ขอให้มีแบงค์ที่มีรูปในหลวงก็จะได้รับการรักษาพยาบาล ซึ่งท่านพูดว่าขอให้มีในหลวงก็จะได้รับการรักษา ความหมายของท่านทุกคนรู้ว่าหมายถึงแบงค์ซึ่งมีรูปในหลวง แค่นี้ก็เอาไปขยายผลเป็นคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
แสดงว่าการใช้ข้อกล่าวหาแบบนี้ ทุกครั้งมาจากผู้มีอำนาจทั้งนั้น ไม่มีใครใช้โดยลอยๆ เพื่อตัวเองหรอกครับ ผู้มีอำนาจใหญ่โตในบ้านเมืองเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องไม่ให้คนที่ฉ้อฉลหรืออำนาจที่ฉ้อฉลนั้น นำเอากฎหมายนี้มาใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมอย่างมาก อันนี้เป็นการกระทบกับสถาบันฯรุนแรงมาก
คณิต ณ
นคร
ผมก็คงจะต้องเอาหลักไว้ก่อน ในกระบวนการยุติธรรมถ้าเราใช้หลัก ยึดหลัก ปัญหาต่างๆ
ก็จะคลี่คลายลงไปได้ มันทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างมีหลักมีเกณฑ์ คือคดีอาญา
เป็นเรื่องของการใช้หลักตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องของใคร เป็นเรื่องของการตรวจสอบความจริง
ความจริงที่เป็นความจริงแท้ของเรื่อง ที่นี้การตรวจสอบมันเป็นภารกิจเบื้องต้น
แต่ว่าเวลาเราทำเราตรวจสอบไม่ถึงแก่น แล้วก็เป็นการตรวจสอบฝ่ายเดียว อันที่จริงจะต้องฟังสองหู
ถ้ากระบวนการยุติธรรมของเราทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล ตรวจสอบจนถึงแก่น
แล้วคนที่ถูกลงโทษจะมีเปอร์เซ็นต์สูง แต่ว่าของเราระบบการตรวจสอบตั้งแต่ต้นมันเสีย
เลยไปๆ มาๆ ก็จึงมีการยกฟ้องเยอะ อันนี้ก็แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของเรา
ดังที่ผมพูดเอาไว้ตั้งแต่รอบแรกแล้วว่า ความผิดที่ยอมความได้ สามารถปล่อยไปเลยได้ แต่ความผิดอาญาแผ่นดินมี 2 ประเภท อย่างในต่างประเทศ สำหรับความผิดอาญาแผ่นดินของเรา หากเกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องลงไป ไม่ต้องรอให้ใครมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ผมมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ก็เพราะเหตุว่า เรามองว่าไม่มีใครมาบอก ทั้งๆ ที่รู้กันเต็มบ้านเต็มเมือง ธนาคารอะไรนี้เน่าสุดๆ แล้ว และก็ปล่อยกันจนกระทั่งบานปลาย ผมคิดว่านี่เป็นความรับผิดชอบของกระบวนการยุติธรรม
เมื่อเราเริ่มแล้ว เราต้องมีหลัก ไม่ใช่ทำกันโฉ่งฉ่าง แต่ต้องค่อยๆ แกะรอยว่าอะไรเป็นอะไร ของเราไม่ได้เริ่มในลักษณะนั้น เริ่มต้นเราก็ทำข่าวให้ดัง และประชาชนทุกคนก็มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สำหรับการแสดงความคิดเห็นก็จะต้องมีข้อมูล ต้องบริโภคข่าวสารจึงจะแสดงความคิดเห็นได้ แต่ของเรานี้การให้ข่าวในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ว่าอยากจะให้นะครับ ไม่มีที่ไหนเป็นแบบบ้านเรา คืออะไรก็ให้ไปหมด หลักฐานต่างๆ ก็ให้ข่าวไปโดยไม่ดูอะไรเลย อย่างเมื่อเช้าผมดูข่าว ตำรวจก็โดนฟ้อง เพราะการให้ข่าวที่มันไม่มีหลัก
สำหรับการให้ข่าวในกระบวนการยุติธรรมต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อไม่ให้เสียหายต่อการตรวจสอบ ในการค้นหาความจริง จะต้องไม่กระทบต่ออะไรต่างๆ อย่างที่ผมยกตัวอย่างคดีของนายทานากะ อัยการในญี่ปุ่นเขาทำงานกันเงียบๆ อย่าไปถามนะครับว่าใครทำคดีนี้ ไม่มีทางรู้เลย มารู้เอาวันที่เขาออกหมายจับ ส่วนบ้านเราเป็นอย่างไรครับ
ผมเรียนว่ากฎหมายของเรานี้ดี แต่ว่าเวลาปฏิบัติทำเสียหมด แล้วยิ่งมาใช้มาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจับ การค้น อะไรต่างๆ แต่เดิมมันไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะเราปล่อยให้ตำรวจออกหมายจับหมายค้นได้เอง เราก็ผลักดันเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญว่า ต่อไปนี้ต้องศาลเท่านั้น แต่หลายๆ ครั้งเท่าที่ผมสังเกต มันกลายเป็นว่าเปลี่ยนคนเซ็นหมาย มันไม่ได้ตรวจสอบกันจริงๆ จังๆ อย่างที่ผมยกตัวอย่างการเข้าไปตรวจค้นที่อยุธยา มีหลายที่ครับ บางครั้งบอกว่า เอ! ถ้าผมรู้ว่าเป็นบ้านผู้แทน ผมก็ไม่ออกหมายให้ อันนี้ก็มี เพราะว่าขบวนการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมต้องทำหน้าที่ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนคนเซ็น ถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
ผมเรียนตั้งแต่ต้นแล้วว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ คนในกระบวนการยุติธรรม จริงๆ เขาเรียกร้องความเป็นเสรีนิยม ไม่ใช่อำนาจนิยม แต่พวกเราสอนเรื่องอำนาจนิยมกันเยอะ ผมก็เลยมองว่าการที่นักกฎหมายของเราเป็นปัญหาในสังคม คือความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษา เราเป็นอย่างที่สุภาษิตฝรั่งบอกว่า ผลไม้ของต้นไม้พิษ ถ้าคณะนิติศาสตร์เป็นพิษ สำนักอบรมเป็นพิษ ก็จะเอาอะไรที่ไหน การที่มันเกิดคนอย่างศรีธนนชัยก็เพราะเหตุนี้ มันต้องรู้ว่าภารกิจแท้ๆ ของตัวคืออะไร ถ้าเราไม่รู้ภารกิจ บ้านเมืองก็จะยุ่ง
เรื่องของกฎหมายแก้โทษ อย่าไปอนุมัติเลย ไม่มีประโยชน์หรอก เราควรจะมาดูประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมเรามีประสิทธิภาพ คนมันกลัวเข้าคุก แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ คนก็ไม่กลัว
สมเกียรติ
พ่วงทรัพย์
ผมขอสั้นๆและคิดว่าเป็นประโยชน์ เกี่ยวกับบทความของอาจารย์ คณิต ซึ่งได้เขียนเรื่องกระบวนการยุติธรรมต้องนิ่ง
โดยเฉพาะตำรวจนั้น น่าจะนิ่งน้อยกว่า หมายความว่า ข้อคิดอันนี้จะต้องไปปรับปรุงแล้วว่า
ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นนี้ ได้มีบุคคลระดับครูบาอาจารย์ ได้ให้ข้อคิดว่ากระบวนการยุติธรรมมันชักจะไม่ตรงไปตรงมา
และถ้ายังคิดกันไม่ออกและปล่อยให้ดำเนินการต่อไปข้างหน้า ผมก็คิดว่าน่าเป็นห่วงสถาบันตำรวจ
ผู้เข้าร่วมสัมนา (1)
ผมอยากจะเสนอสั้นๆว่า อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้รับพิจารณาว่าข้อความใด หรือการกระทำใด
อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อว่าข้อความนั้น การกระทำนั้น มันจะเป็นสิ่งที่ดี
ยุติธรรม เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่ถูกฟ้องว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะฉะนั้นสมควรที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน
ข้อที่สองผมอยากเสนอว่า จงอย่าถามว่ากฎหมายมีเจตนารมย์อย่างไร แต่จงถามว่าผู้ออกกฎหมายนั้นๆ มีเจตนาอย่างไร?
ข้อที่สามผมอยากจะถามว่า เป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ดำเนินคดี จะไปถามสำนักราชเลขาฯ ว่าควรจะทำอย่างไร?
ผู้เข้าร่วมสัมนา
(2)
กระผมมีมุมมองอย่างนี้ในฐานะนักกฎหมาย มาตรา 112 ถ้าไปดูเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ถ้าเราไปดูมาตรา 133 จะเป็นการหมิ่นประมาทพระราชาธิบดีอะไรต่างๆของต่างประเทศ
ถ้อยคำในมาตรา 112 กับ 133 เหมือนกันทุกอย่าง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงอาการอาฆาตมาดร้าย
เหมือนกันทุกประการ แต่เราจะสังเกตว่า ในกรณีหมิ่นราชาธิบดี ราชินี รัชทายาท
ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ซึ่งเหมือนกันเลย ไม่เคยมีใครนำข้อความหรือการกระทำอะไรต่างๆเหล่านี้มากล่าวหาเลย
ทั้งๆ ที่มีปรากฏอยู่เสมอๆ อันนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เอาไปประยุกต์ใช้กับมาตรา
112 จะเห็นว่าข้อความเหมือนกัน แต่เวลาจะกล่าวหาทางการเมือง ไม่เหมือนกันเลย
ไม่มีการเอาไปใช้
ที่นี้ในคำพิพากษาเกี่ยวกับข้อความหมิ่นประมาท มักจะเป็นการไปดูประโยค ไปดูคำบางคำ ในความคิดเห็นของผม ผมเห็นด้วยกับคำอภิปรายของวิทยากรบางท่านว่า คดีพวกนี้ควรจะดูข้อเท็จจริง ดูภูมิหลังของผู้กล่าวหรือผู้กระทำ ดูข้อความทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่นำมาแต่เฉพาะบางจุด เพราะข้อเท็จจริงอะไรต่างๆ ตลอดจนภูมิหลังทั้งหลาย จะวัดเจตนาในการกระทำผิด
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 895 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ว่า เราจะสามารถเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ หรือรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯเรื่องอะไรได้บ้าง ในมิติใดบ้าง ในเรื่องอะไรที่สามารถรู้ได้ เรื่องอะไรรู้ไม่ได้ ในเรื่องอะไรที่เรียกว่าหมิ่นประมาท เรื่องอะไรที่เรียกว่าดูหมิ่น ในเรื่องอะไรที่เรียกว่าอาฆาตมาดร้าย สังคมไทยไม่ชัดเจนในประเด็นตรงนี้ เช่นเราจะเรียนรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ไหม? เราจะเรียนรู้สถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ไหม? เราจะเรียนรู้สถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้แค่ไหน? ในมิติไหน ในขอบเขตไหน? ถ้าในขอบเขตทางวิชาการได้ไหม? สังคมไทยไม่มีคำตอบ