นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง
เศรษฐศาสตร์การเมืองกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตอน ๒)
คณะทำงานวาระทางสังคม
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ : ผู้ดำเนินรายการ


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากคณะทำงานวาระทางสังคม
เกี่ยวเนื่องกับการสัมนาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้ร่วมสัมนาในตอนที่ ๑ ประกอบด้วย
๑. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี

๒.
อัมมาร์ สยามวาลา : สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ กอส.
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณสำหรับข้อมูลถอดเทปนี้
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 911
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)




เศรษฐศาสตร์การเมืองกับ 3 จังหวัดภาคใต้ (ตอนที่ ๒)
คณะทำงานวาระทางสังคม

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
สวัสดีครับ ประเด็นที่ผมจะขอนำเสนอในวันนี้คือ เรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมันจะผสมระหว่างข้อมูลทางด้านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาในด้านลึก ทางผู้จัดเสวนาต้องการให้ผมพูดในเรื่องของอำนาจ โครงสร้างอำนาจ ปัญหาอิทธิพลหรืออำนาจมืด และปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ ปัญหาในแง่ที่เป็นภูมิหลังของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย รวมทั้งเรื่องประเด็น Maga Project ต่างๆ

ซึ่งประเด็นรายละเอียดพวกนี้ นับว่าเป็นโจทย์ที่ยากมากเกินกว่าที่ผมจะอธิบายได้ บางอย่างเกิดเนื่องจากความรู้ของผมด้วย ผมจึงคิดว่า ผมจะขอเชื่อมโยงเฉพาะในประเด็นที่มันเกี่ยวข้องโดยตรงที่ผมสามารถที่จะนำเสนอได้ ก็คือ ในเรื่องของประเด็น ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจจะเกี่ยวพันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วย และปัญหาอิทธิพลอำนาจมืด หรือธุรกิจนอกระบบต่างๆ เท่าที่จะทำได้ โดยจะพยายามเชื่อมโยงให้เห็นถึงภาพเหล่านี้ ดังนั้นในภาพใหญ่ของการนำเสนอของผมจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ

ช่วงแรก คือการพูดถึงภูมิหลังหรือลักษณะของข้อมูลโดยทั่วไปที่แสดงให้เห็นความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นข้อมูลใหม่ที่ผมปรับปรุงขึ้นมาจากฐานข้อมูลเดิมที่พัฒนาขึ้นมา และได้ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้ง 2 ปีหลังที่ผ่านมาจนถึงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2548 ว่า เหตุการณ์มันเกิดขึ้นในลักษณะอย่างไร ที่เรียกว่าเป็นความรุนแรง

ช่วงที่สอง จากนั้นแล้วผมจะชี้ให้เห็นถึงลักษณะของความรุนแรง ลักษณะเฉพาะต่างๆ เช่น เป้าหมาย หรือกลุ่มเป้าหมายของเหตุการณ์ และวิธีการหรือยุทธวิธีในการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ

ช่วงสุดท้าย ผมจะพยายามเชื่อมโยงให้เห็นถึง ประเด็นปัญหาในเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ปัญหาเรื่องยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาก และจะพยายามตอบปัญหาให้เห็นว่ามันมีความเกี่ยวพันกันหรือไม่ ระหว่างประเด็นปัญหาในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ ประเด็นปัญหาเรื่องยาเสพติดกับประเด็นของความรุนแรงที่เกิดขึ้น เหล่านี้คือ ประเด็นทั้งหมดที่ผมจะนำเสนอในวันนี้

ในช่วงแรก จะนำข้อมูลมาให้ดูจาก "แผนภูมิแสดงจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี" ถ้าหากว่าเราจะดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้งบางส่วนของจังหวัดสงขลาและสตูล ถ้าเราดูข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 - 2546 หรือประมาณ 11 ปี เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเท่าที่ประมวลได้ เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นซึ่งหมายถึงความรุนแรงที่เกิดจากทั้งการยิง การลอบฆ่า การเผาสถานที่ราชการ การโจมตีทหารตำรวจ หรือว่าการก่อความไม่สงบในประเด็นการเมืองเหล่านี้ รวมแล้วเกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 700 กว่าครั้ง แต่เมื่อดูในปี พ.ศ. 2547-2548 เหตุการณ์มันรุนแรงขึ้นอย่างที่เราได้ทราบกันมาแล้ว เช่น

ในปี พ.ศ.2547 เหตุการณ์จะเกิดขึ้นประมาณ 1,843 ครั้ง และในปี พ.ศ.2548 เกิดขึ้นประมาณ 1,703 ครั้ง นี่เป็นการประมวลสถิติของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าเมื่อรวมทั้ง 2 ปี (พ.ศ.2547-2548) เหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดที่นับรวมได้ 3,546 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นปีละ 1,700 กว่าครั้ง นับเป็นเดือนก็คือเดือนละ 147-148 ครั้ง อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2547-2548 นับเป็นอัตราเพิ่มของความรุนแรงเข้มข้นสูงขึ้น คือเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 300-400 เปอร์เซ็นต์ ของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบ 11 ปี นับเป็นอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 374 ของเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 11 ปีก่อนหน้านั้น

เมื่อเรามองพิจารณาภาพรวมทั้งหมด จากแผนภูมิ "เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ พ.ศ. 2536-48" จะเห็นว่า ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2536-2548) มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 4,294 ครั้ง แต่ถ้าคิดระหว่างปี พ.ศ. 2536-2546 เท่านั้น จะเกิดขึ้นทั้งหมดเพียง 748 ครั้ง หรือคิดเป็นเหตุการณ์ร้อยละ 17 ของเหตุการณ์ทั้งหมด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 นั้นเกิดขึ้น 3,500 กว่าครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบ 13 ปี แสดงว่าความเข้มข้นของเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นสูงมาก

หากเราดูจากเส้นกราฟ จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรามองในแนวระนาบมันจะดูขึ้นๆ ลงๆ ไม่มากนัก แต่มันจะไปกระโดดพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2547-2548 ซึ่งข้อมูลใกล้เคียงกัน อาจจะตกลงนิดหน่อย แต่ถ้าหากเรามองในแง่ของความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่เราได้มาถือว่าใกล้เคียงกัน แม้ปี พ.ศ.2548 จะไม่พุ่งสูงมากเหมือนปี พ.ศ.2547 แต่ก็ถือว่าระดับใกล้เคียงกัน โดยประมวลทั้งหมด เราจะพบว่าร้อยละ 83 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2547-2548 เพียง 2 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับร้อยละ 17 ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2539-2546 จะเห็นถึงระดับของความรุนแรงและความเข้มข้นของเหตุการณ์

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงปี พ.ศ.2544 จนถึง ปี พ.ศ.2548 มันก็มีระดับของความรุนแรงสูงขึ้นด้วย อาจจะเป็นทั้งเหตุปัจจัยภายในและภายนอก เหตุปัจจัยภายในก็คือว่า มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. รวมถึงการปรับเปลี่ยนผู้นำและข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งมีผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ภายใน

และในช่วงเวลาดังกล่าวช่วงเดียวกันนั้น เหตุการณ์ภายนอกในช่วงปี พ.ศ.2544 ก็เกิดเหตุการณ์ World Trade Center โดยการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ซึ่งมีผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เหตุการณ์ในการก่อการร้ายสากล อันส่งผลต่อสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักและความรุนแรงในที่อื่นๆ ด้วย เหล่านี้เป็นประเด็นที่มีความสอดคล้องกันบางอย่างในเรื่องของสถานการณ์ภายในและภายนอก

ที่เราพุดถึงปัจจัยภายในและภายนอกเหล่านี้ ก็เพราะว่า เราเชื่อว่ามันมีประเด็นในเรื่องของสถานการณ์ภายนอกเช่น ประเด็นในเรื่องศาสนาหรืออุดมการณ์ แนวคิดต่างๆ หรือการเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ รวมทั้งอิทธิพลของมหาอำนาจ ล้วนมีผลกระทบต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ด้วย ซึ่งปัจจัยภายนอกเหล่านี้มันจะมาประกอบกันกับปัจจัยภายใน อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเด็นทางการเมือง และบวกกับสถานการณ์อื่นๆ ซึ่งอาจจะรวมถึงประเด็นในเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความไม่เป็นธรรมในทางสังคม ความไม่เป็นธรรมในทางการเมือง ความไม่เป็นธรรมในการบริหาร ความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติต่อประชาชนอันเป็นระยะเวลายาวนาน รวมทั้งปัญหาในทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาส และปัญหาการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราจะต้องกล่าวถึงกันอย่างมาก ทั้งเรื่องประเด็นปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ ปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นต่างๆ จะเห็นได้ว่าปัจจัยหลายๆ ปัจจัยทั้งภายในภายนอกและปัจจัยที่มองเห็นและมองไม่เห็นนั้น มันมาประชุมพร้อมกันหลายๆ อย่าง และมันไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญหรือว่าอยู่ดีๆ ก็มาสุมรวมกันแล้วระเบิดตูมขึ้นมาทีเดียว มันน่าจะมีอิทธิพล กฎเกณฑ์ หรือความสัมพันธ์อะไรบางอย่างที่เราน่าจะวิเคราะห์ได้ น่าจะทำความเข้าใจมันได้เพื่อที่จะแยกแยะและเอามาเป็นประเด็นในเรื่องของตัวแบบในการวิเคราะห์ เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ความซับซ้อนยังมีอยู่มาก และเหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากที่จะทำความเข้าใจ

แต่ประเด็นในเรื่องปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกรวมทั้งเรื่องที่ผมเรียนให้ทราบมาแล้ว ถ้าเราเอามามองในแง่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้วสำคัญมาก เพราะว่ามันคลาสสิก มันมองให้เห็นถึงว่า ทุกอย่างมันเกี่ยวพันกันหมด แต่ทำอย่างไรเราจะหาความสัมพันธ์ความเกี่ยวพันของสิ่งเหล่านี้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และปัญหาความรุนแรงที่เกิดและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และมันมีผลกระทบกลับไปกลับมาต่อภาพรวมของการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจของสังคมไทยด้วย รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลในกรุงเทพฯ

อีกแง่หนึ่งผมจะพิจารณาถึงเป้าหมาย และเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ข้อมูลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มีคนตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ถ้ารวมและประมาณ 2,940 คน ในจำนวนนี้มีคนตายอยู่ 1,175 คน และบาดเจ็บอยู่ 1,765 คน ซึ่งเป็นสถิติโดยประมาณจากแหล่งข้อมูลเท่าที่เราประมาณได้ สิ่งที่น่าสังเกตในประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็คือ เรามาดูที่เป้าหมายหรือเหยื่อของความรุนแรง กล่าวคือ จำนวนคนตายในเหตุการณ์ทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของการนับถือศาสนาแล้ว จะพบว่า คนไทยมุสลิมเป็นผู้ที่เสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ

เรามักจะเข้าใจว่า เหตุการณ์ความไม่สงบนี้ คนไทยพุทธเป็นเป้าหรือเป็นเหยื่อของความรุนแรง หรือสื่อต่างๆ ก็ชี้ให้เห็นเช่นนั้น ความจริงแล้วก็เป็นเหยื่อในส่วนหนึ่งด้วย แต่ว่าโดยเปรียบเทียบแล้วคนมุสลิมก็ยังเป็นเป้าของความรุนแรงและการเสียชีวิตอยู่มากทีเดียว แล้วคนมุสลิมที่เสียชีวิตเหล่านั้นถ้ารวมแล้วประมาณ 607 คน คิดเป็นจำนวนร้อยละ 51.7 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนคนไทยพุทธที่เสียชีวิตมีจำนวน 538 คน คิดเป็นร้อยละ 45.8 ของผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดในรอบ 2 ปี

คราวนี้เมื่อเรามาเปรียบเทียบจากผู้บาดเจ็บ ข้อมูลจะต่างกัน กล่าวคือ คนไทยพุทธได้รับการบาดเจ็บมากกว่าเป็นจำนวน 1,085 คน คิดเป็นร้อยละ 61.5 ส่วนคนมุสลิมบาดเจ็บจำนวน 498 คน คิดเป็นร้อยละ 28.2 ของผู้บาดเจ็บ โดยเปรียบเทียบแล้ว หากเรานับภาพรวมของผู้เสียชีวิตทั้งคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิมต่างก็เสียชีวิตมากทั้งสองฝ่าย เพียงแต่คนไทยมุสลิมเสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ แต่เมื่อมาดูด้านผู้บาดเจ็บคนไทยพุทธจะบาดเจ็บมากกว่าและเป็นจำนวนที่มากมายทีเดียว อาจเป็นเพราะคนไทยพุทธเป็นเหยื่อของเหตุการณ์หลายๆ อย่างซึ่งรวมทั้งเรื่องของการวางระเบิดด้วย ซึ่งอาจได้รับการบาดเจ็บมากกว่า ซึ่งท่านจะดูได้จากแผนภูมิที่แสดงถึงคนตายและคนบาดเจ็บที่เทียบจากการนับถือศาสนา

เป้าหมายอีกอย่างที่น่าสนใจคือ เป็นคนกลุ่มไหนกันแน่ที่เป็นเป้าของความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2547-2548 จากแผนภูมิ "โครงสร้างการค้าเสพติดใน จชต." จะเห็นได้ว่าราษฎรหรือประชาชนทั่วไปเป็นเป้าของความรุนแรงมากที่สุด โดยรวมทั้ง 2 ปีก็ยังเป็นกลุ่มที่มีจำนวนสูงที่สุด เป้าที่รองลงมาคือทหารและตำรวจ แต่ประชาชนทั่วไปเป็นเป้าของความรุนแรงที่ชัดมาก ดังนั้นเหตุการณ์การฆ่ารายวันที่เกิดขึ้น คนที่สูญเสียมากที่สุดคือประชาชนโดยทั่วไป ไม่ใช่ทหารตำรวจหรือข้าราชการเป็นหลัก ดังนั้นมันจึงเป็นความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อสังคมระดับรากหญ้าอย่างมากทีเดียว

เมื่อเปรียบเทียบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้ง 2 ปี จากแผนภูมิแสดงการเปรียบเทียบจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ มันน่าสังเกตว่า มันจะสูงขึ้นในช่วงต้นปี พอมาถึงช่วงปลายปีมีแนวโน้มที่จะลดลงระดับหนึ่งเหมือนกันในจำนวนผู้ที่บาดเจ็บหรือผู้ที่เสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงน้ำท่วม ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วยจึงทำให้เหตุการณ์เบาบางลง ถ้าเราเทียบดูภาพของความถี่ในการก่อเหตุทุกอย่าง จากตารางความถี่ก่อเหตุแยกประเภทพรายเดือน ทั้งในเรื่องของการวางเพลิง การยิง การวางระเบิด ที่เป็นรายเดือนทั้ง 2 ปี จะเห็นได้มีการก่อเหตุการณ์ยิงหรือการลอบสังหารสูงที่สุด รองลงคือเรื่องของวางระเบิดและมีการวางเพลิงด้วย ในระดับของความรุนแรงถ้าเราไม่นับเดือนธันวาคม จะเห็นได้ว่าไม่ได้ลดลงเท่าไหร่จัดอยู่ในระดับที่คงที่ เฉพาะเดือนธันวาคมเท่านั้นที่ตกลง

ถ้าเราจะประเมินว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร หากเราดูจากแนวโน้มของเหตุการณ์ในรอบ 2 ปีนี้ จะเห็นว่าอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก แต่ก็ยังไม่แย่ลง เพราะถ้าสถิติพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากกว่านี้ แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีการรักษาระดับของความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และอย่างใกล้เคียงกันและไม่สูงไปกว่านี้ ก็แสดงถึงเหตุการณ์ที่ยังทรงตัวคงที่อยู่ เหล่านี้คือภาพของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

จากภาพรวมเราจะเห็นว่า การยิงจะเป็นยุทธวิธีในการก่อเหตุความรุนแรงมากที่สุด นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของการลอบวางระเบิดและลอบวางเพลิง ส่วนจังหวัดที่เกิดเหตุมากที่สุดคือจังหวัดนราธิวาส รองลงมาคือจังหวัดยะลา และปัตตานี เมื่อเราดูเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดก่อเหตุของอำเภอในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าอำเภอเมืองยะลาเป็นพื้นที่ที่มีการก่อความไม่สงบเป็นจำนวนครั้งสูงสุด รองลงก็คือเหตุการณ์ที่นราธิวาส ที่มากคืออำเภอระแงะและอำเภอสุไหงปาดี เหล่านี้คือพื้นที่ทั่วไปที่เราเห็นข่าวเหตุการณ์บ่อยมาก เพียงแต่เมืองยะลาเท่านั้นที่เห็นเหตุการณ์เด่นชัดขึ้น ปีที่แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองยะลายังไม่มากเท่านี้ แต่ปีนี้พุ่งสูงขึ้นทำให้สถิติยอดรวม 2 ปีสูงขึ้น

ปีที่แล้วเหตุการณ์การร้ายแรงเกิดขึ้นที่ปัตตานีมากที่สุด ดูจากแผนที่ เป็นการประมวลเหตุการณ์ 2 ปีที่เกิดขึ้น จะเห็นว่ามีจุดเต็มไปหมด (ดูแผนที่ของ"เหตุการณ์ช่วงปี 2547-2548 เฉพาะจังหวัดสงขลา นราฯ ยะลา ปัตตานี 2,438 เหตุการณ์") ท่านเห็นจุดอย่างหนาแน่นมากมายในภาพนี้แล้ว อย่าไปคิดว่าจะไม่มีที่ที่เราไปไหนไม่ได้เลย ที่แสดงนั้นเป็นพียงจุดของการเกิดเหตุที่กระจายกันเท่านั้น ถ้าหากเราขยายแผนที่ตามตารางให้มากขึ้น เราจะเห็นมันกระจายกันไม่เป็นอย่างมากมายดังภาพ เดี๋ยวท่านจะมาหวาดกลัวว่า แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร

แนวโน้มของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านจะเห็นได้ว่า มันได้กระจายเข้ามาที่แถวอำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา อำเภอนาทวี ในบางส่วนของจังหวัดสงขลาด้วย ซึ่งเป็นการเคลื่อนตัวของเหตุการณ์ก่อความรุนแรงในตอนหลัง โดยในบางครั้งก็เกิดขึ้นที่หาดใหญ่ด้วย นี่คือ Pattern หรือแบบแผนของการก่อเหตุความรุนแรงที่ปรากฏขึ้น ซึ่งทำให้เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร

ปัญหายาเสพติด ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ
เมื่อพูดถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประเด็นปัญหายาเสพติด ถ้าหากเราตั้งคำถามว่า ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้นมันเกี่ยวพันในเรื่องของการก่อความไม่สงบไหม และเกี่ยวพันอย่างไร เพราะปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบที่น่าจะเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความไม่สงบก็คือ ปัญหายาเสพติด เราจะมาดูความเชื่อมโยงของมันได้หรือไม่และเป็นอย่างไร

จากข้อมูลที่เราศึกษามา สภาพปัญหายาเสพติดในพื้น 3 จังหวัดภาคใต้ มันจะเกี่ยวพันกับเรื่องของการผลิต การค้ายาที่นำมาจากภายนอกพื้นที่ภาคใต้ เช่น อาจจะมาจากมาเลเซีย หรือมาจากภาคเหนือ หรือพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคกลาง ส่วนกลุ่มนักค้าจากภาคใต้หรือกลุ่มนักค้าจากประเทศมาเลเซีย มักจะใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นที่เก็บพักสินค้าก่อนนำไปจำหน่ายใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยมีพื้นที่ที่สำคัญที่เกิดการค้าหรือการแพร่ระบาดยาเสพติดมากที่สุด คือที่จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะที่อำเภอสุไหงโกลก อำเภอตากใบ และอำเภอแว้ง อันเป็นพื้นที่ที่มีรายงานเรื่องของการค้ายาเสพติดมากที่สุด ซึ่งพื้นที่เหล่านี้นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องฐานของการเป็นแหล่งระบายยาเสพติดไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ สิ่งนี้เป็นรายงานการจับกุมการค้ายาเสพติดที่เกิดขึ้น เป็นข้อมูลทางราชการ

ในด้านตัวยาที่แพร่ระบาดมากคือ กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน สารระเหย ยาแก้ไอ วัตถุออกฤทธิ์ทางประสาทต่างๆ ยาเสพติดประเภท club drugs ซึ่งคือยาเสพติดประเภทความบันเทิง เป็นยาแก้ไอที่ผสมตัวยาอื่นๆ อีกหลายชนิดที่แพร่ระบาดอย่างมาก แล้วมีการประมาณว่า มีผู้ที่เสพยาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 20,000 ถึง 30,000 คนโดยเป็นจำนวนเยาวชนที่คาดว่าอาจจะติดยา และมีแนวโน้มของอัตราส่วนของผู้เสพรายใหม่สูงขึ้นมาก โดยดูจากพื้นที่ในสถานบำบัดยาเสพติด จะมีรายงานผู้ติดยารายใหม่ที่เข้ารับการบำบัดและถูกจับกุมสูงมากขึ้น ประมาณ 70% ของ case ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี อันเป็นตัวชี้อย่างหนึ่งของการแพร่ระบาดไปสู่ผู้ติดยารายใหม่มากขึ้น และเป็นสัดส่วนที่สูง สะท้อนถึงการแพร่ระบาดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหาจากปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน และก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเยาวชนส่วนที่เกี่ยวข้องกับการติดยา อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการก่อเหตุของความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งก็มีการพบกันอยู่ว่าใช่จริงในการจับกุม เพียงแต่มีจำนวนไม่มากนัก

ตามสถิติ เยาวชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบจริงๆ แล้ว ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยตรงนั้น เป็นเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ข้อมูลยังไม่มีการยืนยันว่าผู้ก่อความไม่สงบทั้งหมดเป็นผู้ติดยา อันนี้ต้องระวังอย่างมากในข้อสรุป เพราะถ้าเราต้องหาความสัมพันธ์ระหว่าง เหตุการณ์ทั้งสองนั้นเราต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพียงแต่ข้อมูลเท่าที่มีพบว่ามีความเกี่ยวพันกันในบางส่วนของผู้ก่อเหตุกับผู้ติดยา

ถ้าจะพิจารณาทางโครงสร้างของการค้ายาเสพติดในพื้นที่ โครงสร้างนี้มันเกี่ยวกับเรื่องของกลุ่มอิทธิพลการค้ายาเสพติดและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องของเศรษฐกิจนอกระบบ โดยประมาณที่ผมทำ Model (ดู"Model โครงสร้างการค้ายาเสพติดใน จชต." ) จากการวิเคราะห์ภาพรวมเท่าที่จะเป็นไปได้ว่า มันอาจจะเกิดจากอะไร จะเห็นว่า กลุ่มนักค้ายา อาจจะมาจากภายนอกภาคใต้หรือภายนอกเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของกลุ่มการค้ายายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีความสัมพันธ์กัน รวมทั้งอาจมีความสัมพันธ์กับภายนอกประเทศได้ด้วย โดยใช้เป็นแหล่งที่เก็บพักยาเสพติด จากนั้นแล้วเมื่อเกิดการแพร่ระบาดภายในพื้นที่ที่เป็นฐานเศรษฐกิจ แล้วมีการส่งต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ

ส่วนในเรื่องความเชื่อมโยงกับธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น เรื่องของการค้าของเถื่อน การขนของเถื่อนตามชายแดน บ่อนการพนัน ถ้าจะมีความสัมพันธ์กันก็จะมีอยู่ในช่วงของกลุ่มการค้าในพื้นที่ ส่วนในแง่ของความสัมพันธ์ที่มีต่อขบวนการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้น ถ้าจะมีก็จะเป็นในทางอ้อม คือหมายความว่ายังหาหลักฐานไม่พบว่า มันมีความสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างกลุ่มนักค้ายาเสพติด ซึ่งน่าจะมีนักค้ายาเสพติดรายใหญ่เกี่ยวข้องกับก่อความไม่สงบ แม้จะมีข่าวออกมาจากทางราชการบ่อยๆ ว่ามีพวกนี้เกี่ยวข้องอยู่ในการก่อความไม่สงบก็ตาม แต่ว่าข้อมูลที่พิสูจน์ได้หรือเป็นหลักฐานที่มัดอย่างชัดเจนว่า พวกนั้นมีความเกี่ยวข้องกันก็ไม่ชัดเจน

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า การแพร่ระบาดยาเสพติดหรือการค้าขายยาเสพติดที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบก็เป็นได้ อาจจะเป็นผลพลอยได้ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมันก็มีผลตามมาในแง่ของคนระดับล่าง คืออาจจะมีการเสพยาเสพติดในบุคคลทั่วๆ ไป และกลุ่มผู้เสพในพื้นที่บางส่วน ก็อาจจะถูกชักชวนให้ไปก่อเหตุปฏิบัติการความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับหมู่บ้านหรือระดับชุมชน แต่ว่ามันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้เสพในระดับเยาวชน ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ ซึ่งไปปฏิบัติการในพื้นที่แบบไม่ซับซ้อนมาก อย่างเช่น การไปโปรยตะปูเรือใบ การไปเผาสถานที่ต่างๆ การทำลายตู้โทรศัพท์ การพ่นสี การก่อกวนต่างๆ แต่ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น มีลักษณะของการปฏิบัติการต่อทหารที่รุนแรง การโจมตีเป้าใหญ่ๆ ทางการทหาร หรือเหตุการณ์ที่ต้องใช้เทคนิคสูง อาจจะไม่ใช่คนกลุ่มนี้ เพราะผมเชื่อว่าในแง่ของศักยภาพในการก่อเหตุและตัวบุคคลที่เป็นเยาวชนที่ติดยานั้น ไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้

โดยสรุปในเรื่องของการเกี่ยวพันนั้น ถ้าเป็นในระดับบน ความเกี่ยวพันโดยตรงยังไม่ชัดเจนในเรื่องของขบวนการยาเสพติดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบ เราจะหาจุดเชื่อมโยงที่สัมพันธ์กันโดยตรงไม่ได้ แต่ในระดับล่าง มีความเป็นไปได้ว่ามีการทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งตามที่ผมเข้าใจจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำการวิจัยและทำการศึกษาองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ ความสัมพันธ์มันจะเป็นภาพเหล่านี้ (ดู"Model โครงสร้างการค้ายาเสพติดใน จชต.") มันไม่ใช่โดยตรงแต่เป็นโดยอ้อม บางคนเรียกว่า เป็นความสัมพันธ์แบบระนาบข้าง หมายความว่า มันไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน แต่มันตีคู่กันไป คือเป็นอยู่ข้าง ๆ กัน จะโดยตรงก็ไม่ใช่ มันไม่ชัดเหมือนอย่างกรณีอัฟกานิสถานหรือตาลีบันที่ให้การสนับสนุนการค้ายาเสพติดโดยตรง ได้รับเงินจากการค้านี้โดยตรง เป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองของการก่อการร้าย มันเป็นเรื่องของความผูกพันกันที่เป็นเช่นนั้น

แต่ในกรณีของภาคใต้ในประเทศไทย หลักฐานเท่าที่เราทราบตอนนี้ ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีความเกี่ยวพันกันโดยตรงขนาดนั้น แต่ถ้าถามว่า มีปัญหาไหม ขอตอบว่า มีมากด้วย เพราะว่าปัญหายาเสพติดนั้นเป็นปัญหาที่หนักมากในตอนนี้ที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนมุสลิม ซึ่งรัฐบาลก็ควรต้องแก้ไขเพราะเป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวพันกับปัญหาโครงสร้างความยากจน ปัญหาการด้อยโอกาสทางการศึกษา ปัญหาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่ที่จะต้องรีบแก้ไขและเยียวยารักษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมซึ่งมีปัญหาของความด้อยโอกาสและความยากจนต่างๆ เหล่านี้

แต่เราต้องแยกออกมาระหว่าง"ปัญหายาเสพติด" กับ"ปัญหาการเกิดการก่อการร้าย"หรือการก่อความไม่สงบ ถ้าความสัมพันธ์มันยังไม่ชัดเจนแล้ว เราไม่อาจสรุปได้ว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกัน คราวนี้มาถึงคำถามว่า ถ้าเราแก้ปัญหายาเสพติดได้ เราจะแก้ปัญหาเหตุการณ์ก่อความไม่สงบได้บ้างได้หรือไม่ ผมว่าอาจจะแก้ได้บางส่วน ซึ่งเป็นผลในทางอ้อม แต่ไม่ใช่โดยตรง

นี่คือการแบ่งเขตของหมู่บ้านที่มีปัญหายาเสพติดในพื้นที่ (ดูตาราง "จำนวนหมู่บ้านความมั่นคงกับปัญหายาเสพติด") ซึ่งมีปัญหารุนแรง มีการประเมินว่า มีปัญหายาเสพติดแรง กลุ่มที่มากที่สุดคือหมู่บ้านที่จังหวัดนราธิวาส จะเห็นได้ว่า มันจะมีความทับซ้อนกันอยู่ระหว่างพื้นที่เกิดเหตุความไม่สงบกับพื้นที่ที่เกิดปัญหาเรื่องยาเสพติดด้วย แต่ในแง่ของการวิเคราะห์ทางวิชาการแล้ว เราไม่สามารถจะหาความสัมพันธ์ได้โดยตรง แต่ก็เป็นข้อสังเกตว่า ถ้าหากจะแก้ปัญหา เราต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างความยกจน การศึกษา ความด้อยโอกาสในการพัฒนาของพี่น้องภาคใต้ แล้วเราก็อาจจะสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกันได้ก็คือ ปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด และรวมถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ มันเป็นการแก้ปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมที่เกิดขึ้น

นี่คือภาพรวมของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่ของเศรษฐกิจนอกระบบและปัญหายาเสพติด เท่าที่ผมจะพยายามเชื่อมโยงให้เห็นได้ การศึกษานี้จึงเป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น ยังมีข้อมูลอีกหลายๆ อย่างที่จำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไปเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น การวิเคราะห์ต่างๆ ของผมนั้น อาจจะผิดก็ได้ อันนี้ไม่ยืนยันว่าสิ่งที่วิเคราะห์นั้นถูกต้องเสมอไป ท่านผู้ฟังอาจจะมีข้อโต้แย้งประการใด ผมยินดีรับฟังครับ ขอบคุณครับ

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ : ผู้ดำเนินรายการ
ผมเชื่อ Agreement ของอาจารย์ศรีสมภพนั้นน่าสนใจมาก เมื่อผมฟังแล้วสรุปคล้ายๆ กับว่า เหตุแห่งความไม่สงบทางภาคใต้นั้น แท้จริงแล้วตัวแปรหลักๆ นั้นมันไม่น่าจะมาจากตัวแปรภายใน 3 จังหวัด แต่มันเป็นตัวแปรเชิงโครงสร้างที่มันเกิดขึ้นทั่วประเทศ เพียงแต่ใน 3 จังหวัดนั้นมันมีปัจจัยภายในที่เอื้ออำนวยกว่า คล้ายๆ เช่นนั้น เพราะฉะนั้นถ้าสมมุติว่า Agreement นี้ถูกต้องมีข้อมูลตามที่อาจารย์เสนอมา ผมคิดว่า รัฐบาลต้องปรับวิธีในการแก้ปัญหาแล้ว ไม่ใช่ใช้นโยบายพุ่งตรงไปที่ภาคใต้อย่างเดียว เพราะที่จริงแล้วสามเหลี่ยมภาคใต้มันเป็นผลผลิตชนิดหนึ่งของโครงสร้างใหญ่ เพียงแต่ว่า ใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้นมันมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยกว่า เป็นปัจจัยเสริม ไม่ใช่ปัจจัยหลัก

ถ้าหากเป็นเช่นนั้น กรอบความคิดต่างๆ ของรัฐบาลต้องเปลี่ยน จะคิดเพียงว่าปัญหานี้มันเกิดขึ้นเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ว่ากันแต่ 3 จังหวัดภาคใต้ ลงพื้นที่อยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้อย่างเดียว คงไม่น่าจะใช่แล้ว โครงสร้างใหญ่ทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนด้วย แล้วไปดูปัจจัยเสริมที่มันทำให้โครงสร้างใหญ่มันทำงานไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพนั้นมันคืออะไร อย่างเช่น เรื่องความยากจน เรื่องความไม่ยุติธรรม

ตามข้อสรุปของผม ผมว่ามันมีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างชนิดหนึ่งเรียกว่า ความสัมพันธ์ไม่เสมอภาค (Unequal Relation) ซึ่งความไม่สัมพันธ์ในทางเสมอภาคนี้มันกินพื้นที่ทางความยุติธรรม ทางเศรษฐกิจ ทางศาสนา ทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค ซึ่งความสัมพันธ์ไม่เสมอภาคนี้มันไม่ได้เกิดเฉพาะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มันเกิดทั่วไป เพียงแต่ว่า ใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้น เขามีประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะของเขาอยู่ เป็นวัฒนธรรมแข็ง จึงกลายเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยที่จะทำให้เกิดการปะทะได้ง่ายขึ้น ในขณะที่อื่นอาจไม่เกิดแบบนี้ มันอาจเกิดแต่ปรากฏการณ์อาจจะไม่เกิดอย่างนั้น ดังนั้นถ้าเราจะแก้ปัญหาโดยไปเน้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้โดดๆ ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ผมคิดว่า มุมมองต่อไปนี้ ท่านศาสตราจารย์ ดร.อัมมาร์ สยามวาลาท่านคงจะให้ความคิดอะไรที่น่าสนใจต่อไปอีก ขอเรียนเชิญอาจารย์ครับ

อัมมาร์ สยามวาลา : สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ กอส.
สวัสดีครับ ผมขอขอบคุณสถาบันวิจัยสังคมที่กรุณาให้โอกาสผมมาเสนอความเห็นอะไรบางอย่าง ความจริงแล้วคนที่รู้เรื่องภาคใต้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็มีนั่งอยู่แถวนี้หลายคน แต่ผมโดนอุปโลกน์ขึ้นมาให้ทำงานนี้โดยที่ไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้เลย จึงต้องเรียนลัดและเรียนเร็วเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ

ผมอยากจะนำเสนอความเห็นกว้างๆ เกี่ยวกับปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้ ความจริงแล้วการที่จะพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น เราต้องสามารถโยงปัญหาเชิงเศรษฐกิจกับปัญหาการเมืองได้ว่ามันเกี่ยวพันกันอย่างไร มันต่อเนื่องกันอย่างไร มันสัมพันธ์กันอย่างไร แต่ผมมิบังอาจที่จะทำอย่างนั้นในขณะนี้ เพราะว่ายังไม่ค่อยแม่นนักในเรื่องประเด็นทางการเมืองใน 3 จังหวัดภาคใต้ แต่จะลองเสนอความเห็นอะไรบางอย่างตอนท้าย

ปัญหาภาคใต้ : เกิดจากการพัฒนาและการไม่พัฒนา
ผมอยากจะให้ข้อคิดเห็นง่ายๆ บางอย่างก็คือว่า ขั้นแรก ปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีความยากจนและมีอะไรหลายๆ อย่างตามที่ได้ยินมา มันเกิดขึ้นเพราะได้มีการพัฒนาและไม่มีการพัฒนาพร้อมกันใน 3 จังหวัดภาคใต้ คำว่าพัฒนานั้นเราใช้กันจนพร่ำเพื่อจนเดี๋ยวนี้ มันไม่แน่ใจแล้วว่ามันมีความหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสภาพัฒนาฯ และ NGOs เห็นพ้องต้องกันก็คือว่า การพัฒนาก็คือหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่ท่านผู้อำนวยการจากสภาพัฒน์ฯ พูด และที่ท่านอาจารย์สุพจก็พูด นั่นคือการพัฒนาในความหมายหนึ่ง ผมจะไม่นิยามว่าการพัฒนาคืออะไร แต่ท่านจะได้เห็นในบริบทเองว่า ผมหมายความว่าอะไร แต่สรุปง่ายๆ ก็คือ เกิดทั้งจากการพัฒนาและการไม่พัฒนา

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการพัฒนานั้นคือแรงกดดันที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือว่า ประชากรไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิต หรือ ผลิตภาพของตัวเองอย่างที่พูดกันมาได้อย่างรวดเร็วพอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรัพยากรธรรมชาตินั้นกำลังถูกลิดรอนหมดสิ้นไป มันมีคำคมจากคนอินเดียนแดงอยู่ว่า "เราสำคัญตัวเองว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นมรดกที่เราได้จากบรรพบุรุษ แต่ไม่ใช่เลย ทรัพยากรธรรมชาติคือสิ่งที่เราขโมยจากลูกหลานของเรา" นับเป็นข้อคิดที่น่าสนใจ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นอย่างนั้น

กรณีประมง
ผมจะขอยกตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือกรณีการประมง ซึ่งดังตัวเลขที่ให้กันมาก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจทั้งจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส จังหวัดนราธิวาสนั้นตัวเลขมันไม่แสดงเพราะท่าเรือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งๆ ที่ชาวประมงที่นราธิวาสก็มี แต่เรือประมงก็สำคัญที่การขึ้นท่า จึงทำให้ความสำคัญไปอยู่ที่ปัตตานี

สิ่งแรกที่ผมได้รับการศึกษาจากชาวบ้านทันทีที่เริ่มงานนี้ ก็คือว่า ได้มีโอกาสไปเจอกับชาวประมงในจังหวัดปัตตานี อำเภอยะหริ่ง ตรงนี้ผมต้องยอมรับว่า ได้รับการจัดให้มีปาฐกถาที่ชั้นเยี่ยมที่สุด พร้อมทั้งมี Audio Visual อย่างชัดเจน ค่อนข้าง Impressive มากจากหัวหน้าชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวประมงพื้นบ้านก็คือ เขาจะอาศัยเพียงเรือกอและเล็กๆ ในการจับปลาอยู่ตามริมชายฝั่ง แล้วเขาก็ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลานาน เพราะเขาถือว่า เขาได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนแถวนั้นเป็นเจ้าของ หรือตัวเขาเองเป็นเจ้าของ

แต่อยู่ดีๆ ก็มีเรืออวนรุน อวนลาก ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ มีกำลังผลิตค่อนข้างมหาศาล มากวาดเอาปลาไปหมด ดังนั้นรายได้ชาวประมงพื้นบ้านก็ตกลง ปัญหามันเห็นได้ชัดเจน ไม่ต้องการวิทยาศาสตร์มาอธิบาย แต่เขาก็อุตส่าห์ทำแบบจำลองเรือมาให้ผมดู ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ทำให้รายได้ของชาวประมงพื้นบ้านตกต่ำลงค่อนข้างมาก แล้วเขาก็พยายามดิ้นรนมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีได้ หลังจากดำเนินการมานานร่วม 25 ปี ใน 5 ปีก่อนหน้านี้เขาก็ได้รับชัยชนะมาอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลยอมประกาศให้ว่า พื้นที่ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ห้ามไม่ให้เรืออวนรุน อวนลากเข้ามา หลังจากนั้นการต่อสู้ก็ยังได้สิ้นสุดไม่ เพราะมันเป็นชัยชนะบนแผ่นกระดาษเท่านั้น มันไม่ได้เป็นชัยชนะในการปฏิบัติการจริง เนื่องจากเรืออวนรุน อวนลากก็ยังสนุกกับการจับปลาอยู่เหมือนเดิม ยังมีเรื่องเล่าได้อีกมาก ปัญหาก็คือว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่เขาเคยมี แต่บัดนี้ไม่มี

กรณีป่าพรุ พื้นที่สาธารณะที่เป็นปัญหา
ถัดไปอีกแห่งหนึ่ง ผมก็ไปพบคนที่ "ป่าพรุ" ซึ่งศัพท์ราชการอาจบอกว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่สรุปแล้วเป็นพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันของชาวบ้าน เพราะว่าสภาพอุทกวิทยาและสภาพน้ำที่มันมีอยู่ในป่าพรุนั้น มันไม่ชวนให้เป็นกรรมสิทธ์ส่วนบุคคล กรรมสิทธ์ปัจเจกชนได้ เราต้องเข้าใจให้ดีว่าปัญหาทรัพยากรธรรมชาตินั้น มันเป็นที่เกิดขึ้นเฉพาะในที่ดินเฉพาะพื้นที่สาธารณะเป็นหลัก ที่นาที่ไร่และสวนยางนั้นมันเป็นกรรมสิทธ์ปัจเจกชนไปแล้ว ต่างคนต่างทำมาหากิน ดังนั้นโดยรวมแล้วมันเป็นปัญหากับพื้นที่สาธารณะซึ่งค่อยๆ ถูกยึดครอง

ในกรณีเรืออวนรุน อวนลาก ก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเอื้อให้คนเข้ามา ในกรณีของป่าพรุมันเป็นที่ดินว่างเปล่าซึ่งคนมองแล้วก็เกิดความกระหาย ในบางจุดบางพื้นที่มีความสวยงามมาก จึงทำให้คนเกิดอยากจะทำ Resorts ทำสวนปาล์มบ้าง เยอะแยะไปหมด จึงเป็นการยึดเอาที่ดินตรงนั้น ซึ่งชุมชนแถวนั้นเขามองว่า ที่ดินตรงนั้นพวกเขาเป็นเจ้าของ แต่เป็นความหมายในเชิงใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อใช้ทำมาหากิน ป่าพรุจึงเป็นแหล่งที่สองที่ผมเห็นว่าเขาถูกคุกคามตลอดเวลา เดชะบุญที่ได้ไปในที่ที่ยังไม่ได้ถูกคุกคาม เพราะถ้าถูกคุกคามแล้วก็คงกลายเป็นที่ของปัจเจกชนไปเรียบร้อยแล้ว มันก็คงไม่มีชุมชนที่ออกมาโวยวายและชักชวนให้ผมไปคุยด้วย

ปัญหาเขตอุทยาน
อันสุดท้าย เป็นเรื่องเบาบางที่คิดว่า รัฐและชุมชนสามารถมองเห็นร่วมกันได้ก็คือ ป่าที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือป่าหลวง อันเป็นป่าที่อยู่บนสันเขา ซึ่งชาวบ้านได้ไปปลูกลองกองและปลูกยางมาเป็นเวลานาน แล้วเก็บเกี่ยวผลจากอันนั้น แต่พอรัฐบาลประกาศออกมาว่าเป็นเขตอุทยานแล้ว ก็ออกกฎออกมาว่า ห้ามตัดต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้น ชาวบ้านก็เริ่มมีปัญหา เพราะเขาเคยอาศัยแถวนั้น เคยได้ใช้ประโยชน์จากป่าโดยที่มิได้ทำลาย เมื่อชาวบ้านเขาคิดอยากจะเปลี่ยนต้นไม้ในพื้นที่นั้น โดยตัดต้นไม้เดิมที่เสื่อมโทรมแล้วมาทำประโยชน์ แล้วนำของใหม่มาปลูกโดยมิได้ทำให้โล่งเตียน แต่เรื่องนี้ยังคงต้องอยู่ในการเจรจานานพอสมควร

เมื่อผมได้มาอยู่ กอส. ผมเริ่มมีเส้นสาย จึงพยายามดิ้นรนกับทางราชการ สามารถเจรจาให้ ครม.เปลี่ยนแล้ว แต่ข้างล่างนั้นยังไม่ยอมเปลี่ยน ดังนั้นคนที่อำเภออาจสามารถ โปรดทราบไว้ด้วยว่า การมาเยือนของท่านายกรัฐมนตรีนั้น มันไม่ได้ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร

อีกเรื่องคือเรื่อง "สวนดุซง" ซึ่งก็เป็นที่ดินสาธารณะอีกที่หนึ่งที่เป็นปัญหา และประเทศไทยเราก็ไม่มีระบบการจัดการและการวางกติกาที่ให้เกียรติกับชุมชนในฐานะที่เป็นเจ้าของเดิม และก็ให้มีระบบที่มันเป็นทางการขึ้น และปกป้องชุมชนจากการถูกตักตวงถูกยึดครองโดยบุคคลจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือนายทุน หรือใครก็ตามที่มาแสวงประโยชน์ อันนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ยังต้องดำเนินการต่อไป

เพื่อจะมาถึงโจทย์ที่ให้พูด ปัญหาการกระทบกระทั่ง ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติถูกครอบครองหรือแย่งชิง มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้ แต่มันเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย อะไรเป็นข้อพิเศษเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจึงเข้าไปดูอะไรอีกหลายอย่าง ผมไปดูว่า ชุมชนนั้นเขาหาทางออกอย่างไรทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และข้างนอก

เรื่องของตัวเลขประชากร และการย้ายถิ่น
เขาได้ให้ข้อมูลแก่ผมที่อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยชิ้นหนึ่ง ผมไปดูตัวเลขประชากรที่เป็นพุทธกับมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องโปรดเข้าใจก่อนว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธกับชาวมุสลิมเท่านั้น ศาสนาอื่นเช่น คริสเตียนนั้นมีน้อยมาก มีไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็พบว่าประชากรมุสลิมนั้นเพิ่มมากขึ้น ตามที่เคยกล่าวหากันว่าคนมุสลิมนั้นลูกดกและอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งก็มีพื้นฐานความเป็นจริงอยู่บ้าง บางคนก็อ้างว่า เป็นเพราะผู้ชายมุสลิมนั้นมีภรรยาหลายคน

ผมก็อยากถามว่า การที่ผู้ชายมุสลิมมีภรรยาหลายคนเป็นเหตุให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผมขอยืนยันว่า ไม่ใช่เหตุที่ทำให้เพิ่มขึ้น อาจจะลดลงด้วยซ้ำ ขอเชิญท่านไปคิดดูเอาเอง แต่โดยทั่วไปแล้วการแต่งงานหลายครั้งของชายมุสลิมไม่ได้ทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นแน่ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม อัตราการมีลูกของผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นอยู่ในอัตราที่สูงกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ และหากแยกย่อยออกเป็นชาวพุทธกับชาวมุสลิม เราก็จะเห็นว่า ชาวมุสลิมมีมากกว่าข้อมูลนี้ชัดเจน แต่ไม่ใช่เป็นการมากกว่ามาแต่ดั้งเดิม มันเพิ่งมามากกว่าในระยะที่มีนโยบายวางแผนครอบครัวของคุณมีชัยลงไป

ก่อนหน้านั้นคนพุทธจะมีอัตราการให้กำเนิดที่สูงกว่า แต่มีมีการคุมกำเนิดก็ยอมรับโดยง่าย แต่คนมุสลิมกลับมีข้อกังขาเรื่องการคุมกำเนิดอยู่บ้าง ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ค่อยๆ ลดลงเล็กน้อย ขณะที่คนพุทธมีอัตราที่ลดลงฮวบฮาบ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีอัตราการขยายตัวของประชากร คราวนี้ปัญหาที่ตามมาคือ คนพุทธก็ยังมีอัตราการเจริญพันธุ์สูงกว่า 2.0, แสดงว่ามันยังคงขยายตัวอยู่ แต่จริง ๆแล้ว คนพุทธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูลก่อนปี พ.ศ.2546-2547 หรือก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ จำนวนคนพุทธลดลง ทั้งๆ ที่มีอัตราการเกิดมากกว่าการตาย ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า มีการโยกย้ายถิ่นออกไปของคนพุทธออกไปค่อนข้างมาก

นี่คือครูของแนวทางที่ผมจะให้คำตอบ เมื่อคนย้ายออก หมายความว่าเขามองไม่เห็นถึงอนาคตทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วทำไมคนพุทธเท่านั้นย้ายออก คนมุสลิมไม่ย้ายออก ความจริงคนมุสลิมก็ย้ายออกเหมือนกัน เช่น คนมุสลิมมีการย้ายไปอยู่ที่มาเลเซียมากพอสมควร อาชีพที่ประเทศมาเลเซีย Associate กับ 3 จังหวัดชายแดนและกับคนปัตตานี คือ อาชีพขายต้มยำ ซึ่งรู้สึกว่าเป็น Monopoly ของคนจาก 3 จังหวัดชายแดนในมาเลเซีย

ปัญหาเรื่องภาษาและโรงเรียน
แต่โดยทั่วไปแล้วคนมุสลิมชอบจะอยู่กับที่ไม่ค่อยมีการย้ายออกเท่าที่ควร แต่คนพุทธนี่ย้ายออกไปเยอะมาก คำถามคือ ทำไมเป็นคนพุทธ ผมว่าที่เป็นคนพุทธเพราะเหตุว่า คุณภาพการศึกษาที่คนพุทธได้รับนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าคนมุสลิมโง่กว่า แต่เราต้องเข้าใจว่า คนมุสลิมเป็นคนที่มีพื้นเพที่ใช้ภาษาแม่คือมาลายูนอกจากภาษาไทย จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ได้บังคับให้เด็กทุกคนในโรงเรียนรัฐบาลต้องเรียนทุกวิชาเป็นภาษาไทย ซึ่งมันกลายเป็นปัญหาที่เป็นชนักติดหลังอย่างยาวนานที่ทำเขารู้สึกว่า ตนเองอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่า และเด็กที่เรียนในโรงเรียนของรัฐจนถึงระดับชั้นมัธยมนั้น ก็จะเรียนอย่างง่อนแง่นมาโดยตลอด จึงเป็นปัญหาเช่นนี้มาสม่ำเสมอ และปรากฏว่าผลที่ตามมาอีกอันหนึ่งคือ เด็กหมดกำลังใจทีจะเรียนต่อ

ผมได้มีโอกาสคุยกับเด็กในโรงเรียนเมื่อตอนที่ผมได้เข้าไปสัมภาษณ์ครูในโรงเรียน สิ่งที่ผมพบก็คือ เด็กในชั้นระดับมัธยมปลายขึ้นไป จะเป็นเด็กผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ อันนี้เป็นข้อมูลในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เด็กผู้หญิงนี้จะเรียนมากกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งถ้าเราได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิถีมุสลิมก็คือ คนมุสลิมนั้นค่อนข้าง Conservative ต่อการที่ผู้หญิงจะเรียนหนังสือ แต่ว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กลับตรงกันข้าม กล่าวคือ ผู้หญิงจะเรียนมากกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งเพราะผู้หญิงมีความอดทนมากกว่าผู้ชาย โดยทั่วไปก็เป็นเช่นนั้นตอนที่ผมอยู่ธรรมศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยพยายามกีดกันไม่ให้ผู้หญิงเข้า เพราะว่าถ้าปล่อยให้เข้าตาม Competitive Exam แล้วผู้หญิงจะมีจำนวนร่วม 70 - 80 % ของเด็กที่ Entrance

ปัญหาก็คือการศึกษาซึ่งมีเกณฑ์ที่ต่ำกว่าในส่วนอื่นๆ ของประเทศ มันจะมีที่มาจากตรงนี้ ผมมีความยินดีว่า เวลานี้กระทรวงศึกษากับชุมชนมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้เริ่มที่จะหาทางเข้าหากันได้ดีขึ้น นานมาแล้วจนบัดนี้ ในกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็ยังคงมีความรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นแนวทางที่รัฐบาลไทยใช้ในการกลืนวัฒนธรรม และกลืนความเป็นอัตลักษณ์ของเขา แล้วชุมชนก็มักจะค้านกับการศึกษาของรัฐ แต่สิ่งที่ผมไปเจอ ผมพบว่าผู้ปกครองเด็กต่างทักท้วงมาว่า โรงเรียนประถมของรัฐนั้นให้การศึกษาสามัญไม่เพียงพอและไม่ดีพอ เขาไม่ได้บ่นว่า กำลังกลืนอัตลักษณ์นะครับ เขาอยากให้ทางโรงเรียนสอนได้ดีกว่านี้ เท่าที่พบคือเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1 ยังเซ็นชื่อตัวเองเป็นภาษาไทยไม่ได้เลย ปัญหาต่างๆ จึงทับถมมา เหล่านี้คือส่วนที่ไม่พัฒนา

ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายไปนั้น ทำให้คนต้องหนีออกจากภาคเกษตร แต่หนีออกแล้วมีงานอื่นรองรับหรือไม่ งานที่จำเป็นต้องมีการศึกษาระดับหนึ่ง แต่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การศึกษาไม่ดีพอ ถ้าเราดูตัวเลขภาวะการว่างงานโดยเฉพาะคนหนุ่มอายุ 20 - 30 ปี ก็จะเห็นว่าใน 3 จังหวัดชายแดนอยู่ในเกณฑ์ 8 - 9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ หรือส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย จะอยู่ในเกณฑ์ 3 - 4 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นตัวเลขของชายหนุ่มอายุระหว่าง 20 - 30 เปอร์เซ็นต์

ผู้หญิงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีปัญหานั้นเท่าไหร่ เพราะจะแต่งงานเร็ว จะมีปัญหาก็ตรงที่รายได้ไม่ดีพอ ซึ่งเป็นรายได้จากการที่ต้องทำอะไรอย่างอื่นที่ต้องหนีออกจากการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ผมมองว่า ปัญหาของความยากจนก็ดี การว่างงานก็ดี อะไรต่างๆ เหล่านี้มันพัวพันกับหลายๆ อย่างที่มากับกระบวนการทั้งที่พัฒนาและไม่พัฒนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรง
ผมขอพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวโยงกับความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะมีหลักฐานหรือข้อมูลอะไรมายืนยันได้ อย่างน้อยผมก็ไม่เคยมีโอกาสที่สัมภาษณ์ผู้ก่อการร้าย เท่าที่พอทราบมา หลายคนที่เป็นครูของผู้ก่อการร้าย เขาบอกว่าจะมีเด็กอายุระหว่าง 20 - 30 ปี เป็นผู้ปฏิบัติการที่เป็นกำลังสำคัญ แต่มันยังมีข้อมูลที่กระจัดกระจาย

เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา มีการนำเสนอแผนที่ของการกระจายที่ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่ในแผนที่นั้นมันบอกว่า คนไปก่อเหตุการณ์ที่ไหน ซึ่งอันนั้นมันจะบอกเราว่า คนไปก่อเหตุการณ์ที่ไหน แต่หลวงจะบอกอยู่ตลอดเวลาว่า ในการก่อการร้ายนั้น ที่ที่เกิดเหตุการณ์นั้นคนทำจะไม่ได้มาจากที่นั่น พวกเขาจะมาจากที่อื่น เรามาดูว่า สถานที่ที่เป็นแหล่งเพาะของผู้ก่อการร้ายอยู่ที่ไหนบ้าง เราต้องมาดูข้อมูลที่อาจารย์ปิยะ กิจถาวร ได้ทำมาให้ ท่านชี้ให้เห็น Correlation (ความเกี่ยวโยง)ระหว่าง "เขตสีแดงของรัฐบาล" กับ"พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ" คือ เขตป่าพรุ เขตประมง ต่างๆ เห็นภาพที่ได้ชัดว่า ที่ที่มีปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มักมีสีแดง มันเป็นเหตุการณ์ที่กระจัดกระจาย

สรุป ไม่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ
แต่ผมขอจบท้ายด้วยข้อสังเกตอันหนึ่งที่ลบล้างในสิ่งที่ผมเพิ่งพูดไป ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนตัวของผม เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ทั้งสิ่งที่ผมพูดและสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ผมพูด สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ก็คือว่า ผมไม่คิดว่า เหตุผลทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวอธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่แน่นอนที่สุดก็คือ ไม่ใช่เป็นเหตุผลเดียวแน่นอน อย่างดีที่สุดมันเป็นปัจจัยเสริม เป็นตัวที่หา Recruit หาผู้ปฏิบัติการเพื่อให้มีผู้ปฏิบัติการณ์ได้สะดวกขึ้นสำหรับผู้ที่จะก่อการ ดังนั้น ผมอยากจะพูดเพียงว่า อย่าพยายามเกี่ยวโยงเรื่องเศรษฐกิจกับปัญหาความรุนแรงมากเกินไป

พอดีตอนนี้ผมกำลังมีเรื่องที่ต้องถกเถียงกับอาจารย์ชัยวัฒน์ ซึ่งกำลังร่างรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) อยู่ ท่านชอบยกอุปมาอุปไมยว่า มันเหมือนกับการวินิจฉัยโรคว่า โรคในภาคใต้มันเกิดขึ้นจากอะไร การวินิจฉัยโรคมันเป็นอุปมาอุปไมยที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เพราะเหตุว่า เวลาคุณไปหาหมอเพื่อให้หมอวินิจฉัยโรค หมอก็จะตอบกลับมาว่า คุณเป็นมาลาเรีย คุณเป็นอหิวาต์ คุณเป็นโรคไข้หวัด เป็นการชี้ชัดลงไปเป็นคำตอบเดียว แต่ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันไม่ใช่คำตอบเดียว

ถ้าจะพูดก็คือว่า มันมีประวัติเหมือนกับคนที่เป็นโรคเรื้อรังมาเป็นเวลายาวนาน ร่างกายมีแผลเป็นเต็มไปหมด เกิดอะไรขึ้นนิดหนึ่งก็อ่อนไหว คือมันเริ่มมีปัญหาง่าย อันนี้ผมคิดว่า เป็นปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดน เป็นเรื่องของแผลที่มีมาเป็นเวลายาวนาน เป็นแผลที่ไม่ได้รับการดูแลและไม่ได้รับการเยียวยา แล้วมันยังสั่งสมคั่งค้างมานาน มันจึงไม่ใช่เหตุผลเดียวที่จะให้คำตอบได้ทั้งหมด และวิธีการแก้ไขก็ไม่ใช่เป็นการแก้กันได้ง่ายๆ ผมขอจบเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ : ผู้ดำเนินรายการ
ผมสรุปที่อาจารย์อัมมาร์ได้ให้บทวิเคราะห์ได้ 3-4 ประการ ใน

ประการแรก เป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติน่าจะเป็นตัวเร่งตัวหนึ่ง เหตุที่ผมกล่าวว่า มันเป็นเพียงตัวเร่งตัวหนึ่งก็เพราะอาจารย์มีข้อสรุปตอนท้ายว่า ตัวแปรทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักของการก่อความไม่สงบ ถ้าตัวแปรทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยหลัก ก็แปลว่า การแย่งชิงทรัพยากรก็คงจะเป็นตัวเร่ง เป็น Catalyst การแย่งชิงทรัพยากรที่เป็นตัวเร่งตัวนี้ ว่าไปแล้วมันเกิดขึ้นทั่วประเทศ ถ้าพูดตามภาษาเศรษฐศาสตร์การเมืองก็แปลว่า มันได้มีการเปลี่ยนผ่านของระบบที่เป็นทรัพย์สินร่วมไปสู่ทรัพย์สินส่วนตัว การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นได้เพราะเลือกที่จะพัฒนาไปบนเส้นทางของทุนนิยม

ลักษณะของทุนนิยมนั้นมีหลักๆ อยู่ 4 ประการ
1. ปัจจัยทรัพย์สินต่างๆ นั้นเป็นของปัจเจกบุคคล
2. ปัจเจกบุคคลนั้นใช้ทรัพย์สินนั้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
3. การใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนนั้น มักกระทำการโดยผ่านกลไกตลาด และ
4. ทุกอย่างเป็นสินค้า

ดังนั้นลักษณะใน 4 ประการนี้ของทุนนิยมมันจะเป็นตัวเปลี่ยนผ่าน ทำให้วัฒนธรรมชุมชนต้องปรับเปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมทุนนิยม ประชาชนอยู่กับวัฒนธรรมชุมชน อยู่กับระบบทรัพย์สินร่วม เมื่อวัฒนธรรมทุนเข้าไปมันได้ถูกเปลี่ยน การเปลี่ยนตรงนี้ก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทุกอย่าง ก็เหมือนกับการคลอดบุตร กล่าวคือมันต้องเสียเลือดเสียเนื้อ แต่บุตรที่ออกมานั้นจะเป็นที่ปรารถนาหรือเป็นที่พอใจรักใคร่แก่เราหรือไม่ หรือพิกลพิการก็ไม่รู้เหมือนกัน นั่นเป็นเรื่องของความคิดเชิงทฤษฎี

ประการที่สอง ที่น่าจะเป็นตัวเร่งอีกตัวหนึ่งก็คือ การศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ การศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพตัวนี้ทำให้คนหนุ่มคนสาวที่ไม่มีการศึกษาประสบปัญหาอย่างมาก ดังเช่นที่อาจารย์อัมมาร์กล่าวมาว่า เด็กที่เรียนมัธยม 1 แล้วยังเซ็นชื่อไม่เป็น มันจึงยากอยู่ที่จะไปทำงานทำการอะไร จึงโยงไปถึงเรื่องของคนพุทธที่ย้ายถิ่น โดยจริงๆ แล้วคนพุทธที่ย้ายถิ่นทางภาคใต้นั้นไม่ได้เกิดเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น คนทางภาคใต้นั้นมีประเพณีที่ชอบส่งให้ลูกเรียนหนังสือ ขนาดขายไร่ขายนา ขายวัวขายควาย เพื่อส่งให้ลูกเรียนหนังสือ แล้วเด็กส่วนใหญ่ก็มาเรียนกรุงเทพฯ พอเรียนจบแล้วก็ทำงานในกรุงเทพฯ และตั้งรกรากที่กรุงเทพฯเหมือนผม จึงเป็นเรื่องปกติครับ ในเรื่องของคนพุทธเราต้องแยกถิ่นออกมากกว่าแน่นอน โดยเฉพาะ Young Generation รุ่นหลัง ๆ มันไม่กลับบ้านกันเลย

ดังนั้นการกรีดยาง การทำนาในภาคใต้ปัจจุบันนั้น ต้องจ้างคนทำทั้งหมด ชาวสวนยางก็จะกลายเป็นผู้จัดการสวนยาง ชาวนาก็ต้องกลายเป็นผู้จัดการไร่นา เพราะว่าผู้เป็นพ่อแม่ก็มักจะอายุมากแล้ว ลูกๆ วัยหนุ่มสาวไม่มีใครทำพวกนี้ มีน้อยมาก จะมีอยู่บ้างก็ตามภาคใต้ 3 จังหวัด แถวภาคใต้ตอนบนขึ้นมาไม่มีแล้ว เด็กมัธยมที่กรีดยางเป็นนั้นหาไม่ได้อีกแล้ว ย้ายถิ่นออกหมด เพราะฉะนั้นการย้ายถิ่นออกของชาวพุทธนั้นเป็นเรื่องปรกติของคนภาคใต้ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะกับคน 3 จังหวัดเท่านั้น

ประการที่สาม ตามข้อสรุปของอาจารย์อัมมาร์ ก็คล้าย ๆ กับที่ผมสรุปการบรรยายของอาจารย์ศรีสมภพ ว่าแท้จริงแล้วปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้มันเกิดจากตัวแปรผสมผสาน มันไม่ได้มีเพียงตัวแปรใดตัวแปรหนึ่ง และถ้าเราพูดแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือว่า โครงสร้างที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคนี้เป็น จักรกลใหญ่ โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มันนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคนั้น มันได้เกิดขึ้นทุกอณูของระบบสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เพียงแต่ว่า ณ จุดใดจุดหนึ่ง ถ้ามันมีตัวเร่งมากกว่า ปรากฏการณ์ก็จะเกิดมากกว่า ถ้าตัวเร่งไม่ค่อยมี ปรากฏการณ์ก็จะต่ำ

บังเอิญว่า 3 จังหวัดภาคใต้นั้นมันมีตัวเร่งอื่นๆ ที่มากกว่าภาคอื่นๆ ตัวเร่งที่ผมว่าก็ดังเช่นที่อาจารย์อัมมาร์ เล่าให้ฟังมาแล้ว เช่นการแย่งชิงทรัพยากรที่มันโจ่งแจ้งเกินไป เหมือนกับที่ผมเคยพูดเมื่อตอนต้นที่ว่า ทำไมคนมุสลิมต้องคอยตั้งคำถามว่า คนรวยมีแต่พวกหน้าขาว พวกหน้าขาวเป็นใคร ก็คือผู้ที่จะเข้าไปแย่งชิงทรัพยากร ไปดูซิครับ อวนลาก อวนรุนทั้งหลายเป็นคนนอกพื้นที่ทั้งนั้น ที่ป่าพรุก็มีคนไปแย่งชิงทำ Resort ล้วนเป็นคนนอกพื้นที่หมด ดังนั้นคนในท้องถิ่นเอง เขาก็มีวัฒนธรรมแบบของเขา มีภาษาแบบของเขา แล้วคนภายนอกก็เข้ามาแย่งชิงเขา ความรู้สึกแปลกแยกมันจะรุนแรงกว่าที่อื่น หากว่าคนกรุงเทพฯไปแย่งชิงทรัพยากรแถวจังหวัดสุพรรณ จังหวัดชัยนาทนั้น ความแปลกแยกจะไม่มากขนาดนี้ เพราะภาษาหน้าตาคล้ายคลึงกัน แต่พอไปถึงภาคใต้มันคนละเรื่อง

ตรงนี้เองที่ผมอยากพูดว่า ถ้าเราจะพิจารณาปัญหาภาคใต้ เราต้องพิจารณาในบริบททั้งหมดของประเทศในเรื่องของความสัมพันธ์ไม่เสมอภาค แล้วจากนั้นเราก็ไปแยกแยะว่า ตัวเร่งนั้นมันคืออะไร ต้องแก้จากระบบใหญ่ไปสู่ระบบย่อย แต่ที่รัฐบาลทำอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ไปจัดการแต่ระบบย่อย โดยไม่คำนึงถึงระบบใหญ่เลย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เหมือนกับกินยาแก้ปวดไปเรื่อยๆ แต่สาเหตุหลักนั้นเราจับไม่ถูกที่ มันจึงแก้ปัญหาไม่ได้ ข้อสรุปตรงนี้ผมจึงเห็นด้วยกับอาจารย์อัมมาร์เต็มที่ ต่อไปนี้ผมขอเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาวิพากษ์วิจารณ์กัน

(จบตอนที่ 2) คลิกไปอ่านต่อตอนที่ 3
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ 1


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
040549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ผมขอจบท้ายด้วยข้อสังเกตอันหนึ่งที่ลบล้างในสิ่งที่ผมเพิ่งพูดไป ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนตัวของผม เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ทั้งสิ่งที่ผมพูดและสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ผมพูด สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ก็คือว่า ผมไม่คิดว่า เหตุผลทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวอธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่แน่นอนที่สุดก็คือ ไม่ใช่เป็นเหตุผลเดียวแน่นอน อย่างดีที่สุดมันเป็นปัจจัยเสริม เป็นตัวที่หา Recruit หาผู้ปฏิบัติการเพื่อให้มีผู้ปฏิบัติการณ์ได้สะดวกขึ้นสำหรับผู้ที่จะก่อการ ดังนั้น ผมอยากจะพูดเพียงว่า อย่าพยายามเกี่ยวโยงเรื่องเศรษฐกิจกับปัญหาความรุนแรงมากเกินไป

The Midnightuniv website 2006