ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง
เศรษฐศาสตร์การเมืองกับ
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตอน ๓)
คณะทำงานวาระทางสังคม
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ : ผู้ดำเนินรายการ
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากคณะทำงานวาระทางสังคม
เกี่ยวเนื่องกับการสัมนาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตอนที่ ๓ เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับคำถามคำตอบของผู้เข้าร่วมสัมนา
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณสำหรับข้อมูลถอดเทปนี้
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 912
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
7 หน้ากระดาษ A4)
เศรษฐศาสตร์การเมืองกับ
3 จังหวัดภาคใต้
(ตอนที่ ๓)
คณะทำงานวาระทางสังคม
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ : ผู้ดำเนินรายการ
ต่อไปนี้ผมขอเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาวิพากษ์วิจารณ์กัน
สุรัตน์ โหราชัยกุล
: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมขอเรียนถามอาจารย์ราซิด๊ะ กรณีตัวเลขของอาจารย์ที่นำเสนอมา ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งของผมนั้นผิดหมดเลย
เท่าที่ผมเคยเรียนหนังสือมานั้นทำให้ผมประหลาดใจมากว่า จริงๆ แล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจเลย
อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยค้นพบเลยในไอร์แลนด์เหนือ ไม่เคยค้นพบเลย, ในพยัคฆ์ทมิฬ
ไม่เคยค้นพบเลย, ในแคชเมียร์ก็เช่นกัน ซึ่งทำให้ผมมองว่า ทางภาคใต้นั้นแตกต่างไป
ดังนั้นประเด็นแรก ผมจึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า ข้อสรุปจากตรงนี้อาจารย์จะพอฟันธงได้หรือไม่ครับว่า ทั้งๆ ที่มีความขัดแย้งความรุนแรงอยู่ ตามตรรกะของมนุษย์แล้วมันย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่ แต่ในหลายๆ ตัวชี้วัดของอาจารย์ยกเว้นเรื่องการหาปลา ผลทางเศรษฐกิจกลับดีขึ้น ตรงนี้อาจารย์พยายามจะบอกในเรื่องของงบประมาณที่ถูกอัดฉีดเข้าไปหรือมันเรื่องอะไรกันแน่ ผมอยากให้อาจารย์ช่วยฟันธงลงไปว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่ เท่าที่อาจารย์ศึกษามา
สำหรับประเด็นที่ 2 ของผมขอเรียนถามไปยังอาจารย์ศรีสมภพ ก่อนอื่นผมขอขอบคุณอาจารย์ศรีสมภพเรื่องตัวเลขที่ละเอียดมาก จึงอยากเรียนถามว่า ไม่ทราบว่ามีความพยายามที่จะแยกอาชญากรรมทั่วไป กับอาชญากรรมที่ไม่ใช่การก่อการร้าย ดังที่รัฐระบุหรือตีตราไว้บ้างหรือเปล่า เพราะเท่าที่ผมอ่านหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันนี้ดูราวกับว่า ภาคใต้ไม่มีอาชญากรรมอะไรอีกแล้ว เพราะทุกอาชญากรรมที่เกิดได้ถูกตีตราว่าเป็นการก่อการร้ายกันหมด
ประเด็นสุดท้าย ผมขอเรียนไปยังอาจารย์อัมมาร์ ก่อนอื่นผมขอขอบคุณอาจารย์อัมมาร์ที่สละเวลาอันมีค่าของอาจารย์มาให้ความรู้กับพวกเรา ผมเห็นว่าการหยั่งถึงทรัพยากรนั้น ไม่น่าจะใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจารย์บอกอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าเป็นเรื่องของการหยั่งถึงทรัพยากร แต่พอสรุปในตอนหลังอาจารย์กลับบอกว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจแทบจะไม่มีความสำคัญเลยในการอธิบาย เพราะว่าสิ่งที่เราเรียกว่า Relative deprivation มันเป็นตัวที่ชี้ให้เราเห็นถึงอัตลักษณ์ไม่ใช่หรือครับว่า เรารู้สึกด้อยกว่าคนอื่นอย่างไรและแบบไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาจารย์พูดนั้นไม่ไปขัดกับตอนแรกที่อาจารย์พูดถึงการหยั่งถึงทรัพยากรหรือครับ และขอเรียนถามอาจารย์อีกเป็นข้อที่ 2 ก็คือ ถ้าไม่มีนายกฯทักษิณคนนี้ ปัญหาจะคลี่คลายหรือเปล่าครับ
ราซิด๊ะ ระเด่นอาหมัด
: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
การที่อาจารย์สุรัตน์กล่าวว่า ตัวเลขไม่ได้ลดลงนั้น ไม่ใช่เลยค่ะ โดยภาพรวมนั้นชะลอตัวเป็นบางส่วน
แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้านักธุรกิจจะบอกว่าเศรษฐกิจแย่ไปหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอเราศึกษาลงไปจะพบว่า
มันแย่เป็นส่วนๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วคือ การขออนุญาตก่อสร้างนั้นลดลง เมื่อการก่อสร้างลดธุรกิจต่อเนื่องก็ต้องลดตามไปด้วย
มีทั้งผู้รับเหมา การขายวัสดุก่อสร้าง การจ้างงานในส่วนนี้ลดลง ส่วนปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าลด
ก็หมายความว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ลดลง
แต่ทางภาคใต้มีตัวเลขที่ดูขัดแย้งกันคือ ยอดเงินฝากในภาพรวมยังสูงอยู่ เมื่อไปถามผู้จัดการธนาคารกรุงเทพที่ปัตตานีว่า ทำไมเงินฝากยังสูงอยู่ เขาก็ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะคนบางคนเขายังไม่ลงทุน เนื่องจากรอดูสถานการณ์ก่อน ส่วนเพื่อนของดิฉันที่ศึกษาเรื่อง"ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม" พบว่าคนจำนวนมากเป็นคนจน แต่มีคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ยังเป็นคนรวยอยู่ซึ่งคิดเป็น 10 % แต่เม็ดเงินในมือของเขานั้นอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่สูง
ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ เพราะว่ายังไม่ได้มีการศึกษาเป็นทางการ คนภาคใต้ส่วนหนึ่งเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งลูก ทิ้งปู่ย่าตายายไว้ในพื้นที่ การที่ไปทำงานในมาเลเซียจำนวนมากนั้น มีการส่งเม็ดเงินกลับมาที่ประเทศไทย พอดีดิฉันได้มีโอกาสไปเช็คข้อมูลกับอาจารย์ปิยะที่ทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศมาเลเซีย แม้ว่าจะยังไม่ได้ตัวเลขที่แน่นอนว่า เม็ดเงินที่เข้ามาแต่ละเดือนแต่ละปีนั้นเป็นเท่าไหร่ แต่รู้ว่าเยอะมาก จึงเป็นตัวช่วยสำหรับเศรษฐกิจรากหญ้าที่บอกว่าแย่ ทำกินไม่ได้ผลนั้น มันมีเงินจากภายนอกเข้ามาในจุดนี้ด้วย
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
ผมขออธิบายเพิ่มเติมเรื่องที่อาจารย์สุรัตน์ถามมา ในกรณีแยกข้อมูลเรื่องการขัดแย้งส่วนตัวและการก่ออาชญากรรมออกจากกรณีก่อความไม่สงบจะได้หรือไม่
ผมขอเรียนดังนี้ครับ ข้อมูลที่ผมนำเสนอนั้นมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน แหล่งหนึ่งก็คือการคัดกรองโดยตัดมาจากรายงานของหนังสือพิมพ์รายวันในรอบ
2 ปีที่ผ่านมา และพยายามจะแยกว่า ส่วนที่เป็นเรื่องอาชญากรรมจริงๆ นั้นเราจะแยกออกไป
และอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งก็คือ ได้มาจากแฟ้มคดีอาชญากรรมของตำรวจ ซึ่งมีการบันทึกใน
Database ของเขาแล้วเราเอามา Cross check กันสองทาง ในแฟ้มของตำรวจเองก็จะแยกในกรณีของอาชญากรรมออกไป
ดังนั้นใน Database ชุดนี้ได้มีการแยกออกไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ก็เพื่อที่จะเช็คซ้ำอีกที เราก็เช็คในแง่ของแต่ละกรณีที่เกิดเหตุขึ้น โดยเราอาจประเมินได้ไหมว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดจากเรื่องส่วนตัวบ้างหรือเปล่า เช่น การแก้แค้นส่วนตัว กรณีของอาชญากรรม หรือว่าเรื่องของยาเสพติด การหักหลังกันในการค้ายาเสพติด ก็พยายามเช็คกันอยู่ ถึงได้ว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของ Cases ทั้งหมดถูกประเมินว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นกรณีของความขัดแย้งส่วนตัว เป็นเรื่องชู้สาว เรื่องอาชญากรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคง มันก็เป็นข้อขัดแย้งที่ว่า การประเมินนี้มันน่าเชื่อถือหรือไม่ เนื่องจากมันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เพราะบางแหล่งของการวิเคราะห์ก็บอกว่า ข้อมูลมันน่าจะครึ่งต่อครึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เราต้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลลึกถึงในระดับชุมชนจึงน่าจะตรวจสอบได้แน่นอน แต่ที่ผมทำจะได้ว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของคดีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
ผมขอถามถึงประเด็นต่อเนื่องหน่อยหนึ่งว่า ทำไมเป้าหมายหลักกลายเป็นบุคคลทั่วไปครับ
มีข้ออธิบายไหมครับ
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
ดูจากกรณีของผู้ถูกกระทำ เช่น เราดู Background ว่าเป็นใคร เช่น เป็นราษฎรทั่วไป
คนทำมาหากินทั่ว ไปที่ไปตัดยางแล้วถูกฆ่า ไปขายของแล้วถูกฆ่า ดังนั้นนี่เป็นลักษณะของการ
Classified สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะออกมาเป็นกรณีของมวลชนทั่วไป หากถามว่าเพราะอะไร?
ก็ต้องมาวิเคราะห์กันอีกที่หนึ่ง
แต่ผมมองว่า หากเรามองถึงเป้าหมายของผู้ก่อเหตุจะพบว่า ครึ่งต่อครึ่งนั้นคนมุสลิมเป็นฝ่ายที่สูญเสียมากขึ้นด้วย อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องปัญหาของแนวคิดและอุดมการณ์ทางด้านความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมทั้งประเด็นเรื่องทางศาสนา ซึ่งมันคงต้องซับซ้อนและต้องอธิบายอะไรกันอีกเยอะ มันไม่ใช่หัวข้อในวันนี้ แต่นี่คือส่วนหนึ่งที่มีแรงผลักดันที่สำคัญ กล่าวคือขบวนการนั้นมันมีความต่อเนื่อง มีพัฒนาการ มีแนวคิดที่ชัดเจนบางอย่างในแง่ของการกระทำเช่นนี้ และกรณีของกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มของคนมุสลิมที่ถูกทำร้ายด้วย ก็จะเป็นคนที่มีประวัติของการเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือว่ามีการทำงานร่วมกัน โดยเป็นผู้ประสานงาน เป็นสายข่าวที่ทำงานให้กับรัฐ ซึ่งพวกนี้จะมีประวัติเช่นนี้อยู่
แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกส่วนหนึ่งของกรณีที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตอบโต้กับ รวมทั้งกรณีของการอุ้มฆ่านั้นก็เป็นจริงในแง่ของหลักฐานที่เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่มากนักเท่าที่ผมประเมินจากรายงานของข้อมูลที่ผมมีอยู่ ก็แล้วแต่จะประมาณว่าถูกผิดอย่างไร เนื่องจากมันมีความคลาดเคลื่อนอยู่ในแง่ของการเก็บข้อมูล แต่มันก็มีกรณีเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำด้วย เพียงแต่ไม่มากเท่ากับกรณีที่ถูกระบุว่าเป็นการก่อการร้ายหรือการก่อความไม่สงบจากกลุ่มของขบวนการเหล่านี้ มันจึงมีแนวคิดว่า ทำไมถึงได้มีการทำร้ายประชาชนมากขึ้น นับเป็นปัญหาที่เราต้องขบคิดกันอีกที ผมก็เพียงตั้งเป็นหัวเรื่องไว้สำหรับจะไปศึกษาค้นคว้าต่อไป
อัมมาร์ สยามวาลา :
สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ กอส.
คำถามแรกที่ถามมาเกี่ยวกับเรื่องการช่วงชิงทรัพยากรนั้นไม่ถือว่าเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ
จริงๆ แล้วผมก็ไม่เคยอ้างเช่นนั้น นั่นเป็นเรื่องที่ผู้นำการอภิปรายเป็นคนหยิบมาเอง
มาผูกเองเพราะท่านเป็น Marxis แต่ผมเป็น Neo classical ผมมองว่า สิ่งต่างๆ
ที่เกิดขึ้นนั้น ซึ่งท่านผู้ดำเนินรายการใช้คำว่า ความไม่เสมอภาค แต่ผมใช้คำว่า
ไม่ยุติธรรม มันมีข้อแตกต่างกันบ้าง ซึ่งในตัวมันเองอาจจะเป็นชนวนให้คนบางคนมีปฏิกิริยาออกมาได้ในด้านที่จะก่อความไม่สงบ
คือไม่มี Evident ที่จะบอกว่า One way or the other ว่ามันจะเป็นอย่างนี้หรือไม่
แต่ถ้าใช้ Judgement ของผม ผมไม่คิดว่านี่เป็นปัจจัยหลัก
สำหรับคำถามข้อที่สองนั้น อยากบอกว่าผมพยายามที่จะไม่พูดถึงขาประจำของผมมาตลอดงานนี้แล้ว แต่ท่านก็ถามยุให้พูดจนได้ ผมเรียนตรงๆ ว่า ผมไม่ทราบว่า Culture factor ถ้าไม่มีขาประจำของผมเป็นนายกฯอยู่ด้วย มันจะเป็นอย่างไร? เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องประเมินถึงนโยบาย ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งผมรู้เรื่องของท่านเป็นอย่างดี ผมคิดว่ามันไม่มีผลบวกหรือลบในทางใดทางหนึ่งต่อปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ว่ามันมาจากนโยบายความมั่นคงเป็นหลัก และอันนั้นนี่เป็นส่วนที่ผมรู้น้อยมาก ถ้าผมรับฟังสิ่งที่ผมกำลังถูกกรอกหูมากๆ ว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเรื่องตูมตามขึ้นมาปี พ.ศ.2547 มีอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่พูดกันชัดๆ เลยว่า เป็นฝีมือของขาประจำของผม ก็คือ การยุบ ศอ.บต.
หากเราเชื่อว่า อันนั้นคือสาเหตุ ผมคิดว่า อาจารย์ศรีสมภพก็คงจะเห็นด้วย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะคนตั้งใจจะทำแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มันเกิดขึ้นเพราะอีกฝ่ายหนึ่งอ่อนแอเกินกว่าที่จะตามจับตัวได้ เมื่อตามจับตัวไม่ได้ วิธีที่รัฐทำก็คือ ไปเที่ยวจับใครต่อใครไม่รู้ จับผิดจับถูก มันยิ่งทำให้เขามีคนสนับสนุนมากขึ้น เขาก็ยิ่งมีเหตุผลที่จะทำ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย และความบกพร่องในด้านงานความมั่นคงของเราและการข่าวของเราในการที่จะตามจับตัวคนร้ายให้ถูกต้อง นั่นก็เป็นสาเหตุหลักอีกอันหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นเพราะว่า ศอ.บต. ถูกยุบ หรือเพราะขาประจำของผมได้ขึ้นมาเป็นนายกแล้วก็ได้ดึงเอาพรรคพวกของท่านมาดูแลเรื่องความมั่นคง จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าก็หาทราบไม่
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
ท่านอาจารย์อัมมาร์ก็ยังยืนยันตาม ข้อสมมุติของท่านว่า ท่านไม่เห็นว่าตัวแปรทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก
การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติแม้จะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นแค่ตัวเร่ง ผมก็สรุปอย่างนั้น
แต่ท่านก็ยังเห็นว่า ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นตัวเร่งแน่นอน ปัจจัยหลักท่านก็แย้มให้เราได้ทราบบ้างแล้วว่า
ไม่ใช่ตัวนี้ แต่เป็นปัจจัยทางด้านความมั่นคง
อิศรา ศานติศาสน์ :
ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมมีคำถามอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกขออนุญาต Comment งานของอาจารย์ราซิด๊ะ และข้อที่สองนั้นอาจารย์อัมมาร์หรืออาจารย์ท่านใดจะตอบผมก็ได้นะครับ
ในส่วนของอาจารย์ราซิดะนั้น ผมอ่านดูข้อมูลที่อาจารย์นำเสนอแล้วนี้ ตัวแปรหรือตัวเลขที่มันเพิ่มขึ้นแล้วดูดี ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดนั้นเป็นตัวแปรที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Nominal คือเป็นตัวแปรที่นับค่าเงินเฟ้อเข้าไปด้วยเกือบทั้งหมด เช่น การจดทะเบียน หรือการขออนุญาตก่อสร้างประเภทนั้น ตัวเลขที่เป็น Real term คือที่นับเป็น Figure Unit ได้นี้ มันลดลงเกือบทั้งหมด ดังนั้นข้อสรุปของผมถ้าดูจากตรงนี้ ผมคิดว่า มันน่าจะได้ข้อสรุปที่ตรงกันข้ามกับที่อาจารย์ราซิดะว่า ก็คือ
ถ้ามองใน Real term เอา Nominal มาหารด้วย Inflation แล้วจะเห็นว่า เศรษฐกิจภาคใต้นั้นน่าที่จะแย่ลง ถามว่าเราแย่ลงเพราะอะไร ผมดูในข้อมูลที่นำเสนอทั้งของอาจารย์ราซิดะและของท่านอื่นด้วย มันมีอยู่ 2 ตัว แน่นอนในเรื่องของราคายางนั้นใช่แน่ๆ เพราะมันเป็นปัจจัยที่กำหนดจากภายนอก จะรบกันให้ตายอย่างไร ในเมืองไทยราคายางมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่ราคายางดีขึ้น ขณะที่ผลผลิตมันค่อนข้างที่จะคงที่ มันก็ผลักให้รายได้ของชาวสวนยางดีขึ้นแน่นอน
อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของงบ กอ.สสส.จชต. ซึ่งวิทยากรท่านหนึ่งบอกว่ามีทั้งหมด 5,000 ล้าน งบ 5,000 ล้านนี้เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของ 3 จังหวัดแล้วมันเท่ากับ 6 เปอร์เซ็นต์ของ 9 หมื่นล้าน ถ้าคิดเฉพาะตรงนี้ มันดึงเอา Income Effect เข้าไปเยอะมากเลย จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะมีเงินไปซื้อรถ หรือมีการใช้จ่าย หรือมีเงินฝากเพิ่มขึ้น ผมขออนุญาตเสนอในประเด็นนี้
สำหรับข้อสองที่จะเรียนถาม ผมกำลังมี Hypothesis อยู่อันหนึ่งว่า มันเป็นไปได้ไหมว่า เรา Underutilize Human Resources ในพื้นที่ 3 จังหวัด ผมไม่ได้มองว่าคน 3 จังหวัดภาคใต้นั้น ด้อยการศึกษาไปเสียทั้งหมด เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยซึ่งเป็นคนซึ่งเป็น Cream อยู่ ซึ่งก็เป็น Cream ซึ่งมีโอกาสได้ไปศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ แต่ว่าไม่ได้มีโอกาสกลับมารับใช้บ้านเกิดของตนเอง ทั้งจะโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจจะอยู่กรุงเทพฯ หรือภาคเหนือและภาคอื่นๆ อีกส่วนหนึ่งไปทำงานมาเลเซียหรือทำงานตะวันออกกลาง ตรงนั้นหรือเปล่าที่ทำให้เขาขาดแคลนอะไรบางอย่างไป แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะเอามันสมองเหล่านี้ให้กลับมาในพื้นที่ ผมขอคำถามแค่สองข้อนี้ครับ
อัมมาร์ สยามวาลา :
สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ กอส.
ในเรื่องการศึกษาที่ผมสนใจอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่การศึกษาระดับบนแต่เป็นการศึกษาระดับล่าง
เรื่องการศึกษาระดับบนนั้น ผมไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ผมต้องการที่จะพยายามที่จะหาจุดเชื่อมกับปัญหาเรื่องความรุนแรง
แน่นอนที่ผมคิดว่า ผู้นำด้านก่อการทั้งหลายในหลายคนก็มีลักษณะในระดับผู้นำ
แต่กำลังปฏิบัติการก่อการท่าทางจะมาจากด้านล่างมากกว่า
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
ข้อสรุปของอาจารย์อัมมาร์ก็คือ การศึกษาพื้นฐาน การอ่านออกเขียนได้นั้นในระดับล่างยังไม่มีประสิทธิภาพ
แต่ในระดับบนนั้นท่านยังไม่พูดถึง เพราะหากเราพูดถึงด้านบน มันไม่ใช่เฉพาะ
3 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น สมองไหลของภาคใต้ทั้งหมดก็นั่งอยู่ในที่นี้ทั้งนั้น
นาวาเอก ณ ณรงค์ ทวีวัฒน์
: สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง
จากแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย (IMT-GT) เราจะเห็นได้ว่า มีการเขียนวัตถุประสงค์ไว้ว่า
ท่านมหาเธร์ โมฮัมหมัด ต้องการหาแนวทางยุติข้อขัดแย้งต่างๆ ระหว่าง 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน
และเพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างอำนาจการต่อรองร่วมกัน ในเรื่องการสร้างอำนาจการต่อรองร่วมกันนั้น
ผมพอที่จะเข้าใจว่า เป็นการสร้างอำนาจในภูมิภาคเพื่อต่อรองกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น
ซึ่งจากการที่สังเกตมาว่า ถ้ามีประเทศในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจทางตะวันตก
จะต้องโดนลิดรอนหรือมีการทำลายขึ้นมาแทบทุกครั้ง
อย่างอาเซียนนั้นไม่สามารถร่วมกันได้ในด้านความร่วมมือทางการทหาร จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือกันทางการทหารในอาเซียนนั้นเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะมีมหาอำนาจคอยบ่อนทำลาย ทีนี้คำถามก็คือว่า แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายนี้ จะเป็นสาเหตุหนึ่งหรือไม่ที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาอีกโรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อโรคร้ายตัวสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของเรา มันพัฒนาไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
เรื่อง IMT-GT มันเรื่องยาว แต่เรื่องสามเหลี่ยมภาคใต้ เรื่องช่องแคบมะละกา
เป็นเรื่องที่อยู่ใน Action Plan ของ CFR (Council on Foreign Relations) ซึ่งอยู่เบื้องหลังรัฐอเมริกาทั้งหมด
เป็นยุทธศาสตร์แข่งขันระหว่างจีนกับอเมริกา ประเทศไทยเป็นข้อต่อที่สำคัญมากกับทุกเรื่องตรงนี้
เรื่องมันยาวผมขอตอบเพียงเท่านี้
เริงชัย ตันสกุล
ผมเห็นว่า IMT-GT เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ผมอยากจะยกตัวอย่างว่า
กรณีของ IMT-GT นี้ ถ้าเราอยู่ในหาดใหญ่เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว คงจะทราบเรื่องท่อแก๊สและโรงแยกแก๊สเป็นอย่างดี
ผมอยากจะลองวิเคราะห์ดูว่า ฝ่ายหนึ่งของ IMT-GT ก็คือ TGM ซึ่ง TGM ก็คือการลงทุนระหว่าง
2 ประเทศ อย่างปิโตรนัส ก็คือ บริษัทปิโตรเลียมของประเทศมาเลเซีย ร่วมกับ บริษัทปิโตรเลียมของไทย
(ปตท.) ครึ่งต่อครึ่ง ห้าสิบต่อห้าสิบ แต่มันไม่เพียงแค่นั้น มันจะมีนายทุนจากข้างนอกเข้ามาแล้วก็มีทุนภายในประเทศด้วย
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็คือชุมชน ฝ่ายชุมชนก็คือ ชุมชนที่เป็นมุสลิมกับชุมชนที่เป็นพุทธด้วย มีคนที่มีการศึกษาตั้งแต่ไม่มากจนถึงกระทั่งถึงมากปนกันอยู่ ผมเข้าใจว่า เรื่องศาสนาไม่ได้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ผมเข้าใจว่า ตามที่อาจารย์อัมมาร์ได้พูดถึงก็คือ มันเป็นเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบของผู้ที่มีอำนาจทางทุนนิยมของเงินที่มีจำนวนมาก และใช้อำนาจรัฐลงมาด้วย
ตัวอย่างมีชัดเจนมากในกรณีนี้ หลายเรื่องติดอยู่ศาลปกครอง การบังคับใช้กฎหมายเห็นได้ชัดเจนมาก มีการเลือกฝ่าย และหากจะเอากันจริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ผิดกฎหมายทั้งนั้นเลย การใช้ที่สาธารณะก็ชัดเจนมาก การทำ EIA การทำ Public Hearing การใช้อำนาจในการแก้ปัญหา เกือบทุกเรื่องเลยครับ ถ้าหากว่าเราดูจริงๆ สาเหตุนี้ IMT-GT มาจากรัฐบาลมาเลเซียครึ่งหนึ่ง รัฐบาลมาเลเซียพยายามผลักดันให้เกิดตรงนี้มาหลายปีแล้ว ถ้าให้คุณสุพจพูดก็คงจะละเอียดยิ่งขึ้น ตั้งแต่สมัยรองนายกอำนวย วีรวรรณ ค่อนที่จะชัดเจนว่า ประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ แต่มาตอนหลังนี้จะชัดมาก
และก็ผมเข้าใจว่า หากเรื่องเช่นนี้ มันมีความพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันจะไม่ใช่ 3 จังหวัดแล้ว ความจริง 5 จังหวัดภาคใต้นั้นมันชัดอยู่แล้ว สตูลกับสงขลาไม่เคยได้ถูกตัดออกจากสาระบบเลย และเรื่องที่กระแทกขึ้นมาจากปัตตานี สตูลขึ้นมา ก็เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ตอนนี้มันจะกระเทือนขึ้นไปเป็น 8 จังหวัดแล้ว เพราะ IMT-GT มันจะลามไปเป็น 8 แต่ความจริงมันเป็น 14 จังหวัด เพราะเราไม่ได้เลือกพรรคไทยรักไทยมาทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมห่วงมากก็คือ วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ คนกรุงเทพฯจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ คนที่อายุ 50 ปีอย่างรุ่นผมนั้นคงทราบดีว่า ตุลา 2 ครั้งนั้นมันหมายถึงอะไร พฤษภาคม 1 ครั้ง แล้วจะมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์อีกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ วันนี้ (24 มกราคม 2549) ตอน 6 โมงเย็นนั้น เรามี"สนธิสัญจร" ที่หาดใหญ่ ผมอยากจะได้ช่วยติดตามการถ่ายทอดสดของ ASTV เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าถ่ายทอดจากหาดใหญ่ และคงจะพูดเรื่องขายหุ้นด้วย
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "จาก TS ไปสู่ ST" คือ TS ทักษิณกับ ST
สนธิ เป็นบทกลับ เมื่อสักครู่อาจารย์อัมมาร์ก็อุตส่าห์ยกให้ผมเป็น Marxist
ทั้งที่เป็นไม่ได้สักที แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นคนศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง
ผมอยากบอกว่า ณ บัดนี้ ทุนนิยมไทย กำลังก้าวสู่ระบบทุนผูกขาด และเป็นทุนผูกขาดที่รวบอำนาจทุนและอำนาจรัฐ
เบียดขับทุนคู่แข่ง แย่งชิงความมั่งคั่ง พัฒนาไปสู่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า
Robber Baron หรือพูดภาษาชาวบ้านว่า พวกกลุ่มโจรทุนสามานย์
การกำจัดอิทธิพลของทุนสามานย์นั้น ในประวัติศาสตร์ไม่ว่าในยุโรปหรืออเมริกา มีแต่ต้องใช้พลังถ่วงดุลที่ Galbratte เรียกว่า Counter Variances Power ซึ่งพลังถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช้พรรคการเมือง แต่คือพลังของประชาชน เพราะฉะนั้นที่อาจารย์เริงชัยเอ่ยชวนนะครับ ขอเชิญตามอาจารย์ไปด้วยกันนะครับ ขอบคุณครับ
อมรา พงศาพิชญ์ : คณบดีคณะรัฐศาสตร์
จุฬาฯ ประธานคณะทำงานวาระทางสังคม
ดิฉันขอกราบขอบคุณท่านวิทยากรในนามของฝ่ายจัดเสวนา เราจัดสนทนาแบบนี้มา 3-4
ครั้งแล้ว และคงได้มีโอกาสจัดอีก 2-3 ครั้ง อย่างไรก็ตามเราก็อยากได้ความร่วมมือจากท่านผู้รู้
เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยมาเผยแพร่กัน ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณามา
และหวังว่าคงจะได้พบกันอีกในการประชุมครั้งต่อๆ ไป ขอขอบคุณค่ะ
(จบตอนที่ 3) คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ 1
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในฐานะที่เป็นคนศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมอยากบอกว่า ณ บัดนี้ ทุนนิยมไทย กำลังก้าวสู่ระบบทุนผูกขาด และเป็นทุนผูกขาดที่รวบอำนาจทุนและอำนาจรัฐ เบียดขับทุนคู่แข่ง แย่งชิงความมั่งคั่ง พัฒนาไปสู่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า Robber Baron หรือพูดภาษาชาวบ้านว่า พวกกลุ่มโจรทุนสามานย์ การกำจัดอิทธิพลของทุนสามานย์นั้น ในประวัติศาสตร์ไม่ว่าในยุโรปหรืออเมริกา มีแต่ต้องใช้พลังถ่วงดุลที่ Galbratte เรียกว่า Counter Variances Power ซึ่งพลังถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช้พรรคการเมือง แต่คือพลังของประชาชน