ความรู้ทางด้านนิจิศาสตร์และรัฐศาสตร์
(1)สัตยาเคราะห์
(2)ยกเลิกโทษประหาร และ(3)รัฐศาสตร์ไทย
ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการนิติรัฐศาสตร์ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้ว
เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนิติรัฐศาสตร์ในการเมืองไทยร่วมสมัย และฟิลิปปินส์
ประกอบด้วยบทความทางวิชาการขนาดสั้น ๓ ชิ้นคือ
๑. สัตยาเคราะห์ ๒. ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต
และ
๓. ภาคผนวก : มิติใหม่ของรัฐศาสตร์ไทย
หมายเหตุ: เรื่องที่ ๓ เรียบเรียงจาก"ประชาธิปไตยแบบไทยๆ
กับมิติใหม่ทางรัฐศาสตร์"
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 909
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
6.5 หน้ากระดาษ A4)
(1) สัตยาเคราะห์ (2) ยกเลิกโทษประหาร และ
(3) รัฐศาสตร์ไทย
ชำนาญ จันทร์เรือง : นักวิชาการนิติรัฐศาสตร์
๑. สัตยาเคราะห์
จากปรากฏการณ์
ของการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรที่ไม่เอาทักษิณ กับฝ่ายคาราวานคนจนที่เชียร์ทักษิณ
จนในที่สุดนายกทักษิณได้มีการประกาศเว้นวรรคทางการเมืองไปเมื่อคืนวันที่ 4
เมษายนที่ผ่านมานั้น เราได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้แบบอหิงสาบ้าง
อารยะขัดขืนบ้าง ฯลฯ
เราได้เห็นวิธีการแปลกๆ ใหม่ๆ เช่น การฉีกบัตรเลือกตั้งเพื่อประท้วงการเลือกตั้งง การปิดล้อมสำนักข่าวเนชั่น การบุกล้มเวทีปราศรัยของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม การปิดล้อมสถานที่รับสมัคร ส.ส. ไม่ให้พรรคเล็กเข้าไปสมัคร หรือการปิดล้อมสำนักงาน กกต.แล้วตรวจค้นทรัพย์สินผู้อื่นเพื่อหาตัวประธาน กกต. รวมไปถึงการการใช้ถ้อยคำโจมตีผู้อื่นด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย ฯลฯ โดยต่างฝ่ายต่างก็บอกว่าฝ่ายตัวเองใช้วิธีการแบบสันติ
จริง ๆ แล้วศัพท์พวกนี้ในทางการเมืองมีมานานแล้วไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านโดย ไม่ใช้กำลัง (passive resistance) หรือ การขัดขืนที่ไม่ใช้กำลัง (non-violent rebellion) แต่ที่โด่งดัง ที่สุดก็คือวิธีการที่เรียกว่า สัตยาเคราะห์ ที่มหาตมาคานธีเป็นแบบอย่างของวิธีการต่อสู้แบบดื้อแพ่งโดยยึดหลักอหิงสา (Ahimsa) ซึ่งมหาตมาคานธีแปลว่า ความรักในมวลมนุษย์ เป็นการฝึกและบังคับใจไม่ยอมให้มีการทำร้ายหรือแก้แค้นผู้ใด
วิธีการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์นี้มหาตมาคานธี ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์และหนังสือหลายเล่ม ที่สำคัญคือคัมภีร์ภควัทคีตา ซึ่งสอนเรื่องอหิงสา และการต่อสู้ตามหน้าที่ด้วยความเสียสละ และจากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งสอนว่าเมื่อแก้มขวาถูกตบให้หันแก้มข้างซ้ายให้เขาตบด้วย รวมถึงหนังสือของเฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau) ที่กล่าวถึงวิธีการต่อสู้ของประชาชนแบบ ดื้อแพ่ง (Civil Disobedience) ซึ่งนักวิชาการบ้านเราแปลกันไปแปลกันมาจนกลายเป็นคำว่าอารยะขัดขืน ทั้งๆ ที่รากศัพท์เดิมไม่มีคำว่าอารยะแต่อย่างใด
สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) แปลตามตัวอักษรว่า "การยึดมั่นในความจริง" มาจากคำว่า สัตยะ แปลว่า ความจริง สนธิกับคำว่า อาครหะ แปลว่า การยึดมั่น รวมแล้วแปลว่า การยึดมั่นในความจริง โดยมหาตมาคานธีเชื่อว่า อหิงสาเป็นวิธีเดียวที่จะเข้าถึงสัจจะหรือความจริง มหาตมาคานธี อธิบายว่า อหิงสาคือความรักสิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อยที่สุดให้เทียบเท่าตนเอง บุคคลจะมีอหิงสาได้ก็ต่อเมื่อได้ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จนอยู่เหนืออารมณ์รัก เกลียด เหนือการยึดติดหรือหลีกหนี การมีความบริสุทธิ์ทั้งทางใจ คำพูด. "อหิงสา"คือความถ่อมตนให้ถึงขีดสุดจนปราศจากตัวตน โดยในการต่อสู้จะไม่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง
หลักการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ด้วยการใช้หลักอหิงสาและดื้อแพ่งนี้ เป็นวิธีการต่อสู้ที่ได้ผลเพราะไม่ใช้ความรุนแรงหรือสิ้นเปลืองอาวุธ เป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรม จึงไม่มีผู้ประณาม มีแต่ผู้เห็นอกเห็นใจ และเอาใจช่วยหรือให้ความสนับสนุน. กล่าวโดยย่อก็คือ อหิงสากับการดื้อแพ่งนั้นเป็นคนละความหมายกัน แต่เมื่อนำมารวมเข้าด้วยกันจึงกลายเป็นสัตยาเคราะห์นั่นเอง
ตัวอย่างของการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ ที่คนทั่วโลกต้องจดจำอย่างไม่มีวันลืมเลือนก็คือการรายงานข่าวการต่อต้านการห้ามผลิตเกลือของราษฎร โดยผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน เวบบ์ มิลเลอร์ ที่ถูกส่งไปทั่วโลกของสำนักข่าวยูไนเต็ดเพรส เมื่อ 12 พฤษภาคม 1930 ว่า
...ทันทีที่ได้รับคำสั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียจำนวนหนึ่งก็พุ่งเข้าหากลุ่มผู้เดินขบวนที่กำลังตรงเข้ามาแล้วกระหน่ำตีลงไปบนศีรษะของพวกเขา... ไม่มีผู้เดินขบวนคนไหนทำแม้แต่จะยกแขนขึ้นมาปิดกั้นการทุบตี พวกเขาร่วงลงไปกองกับพื้นราวกับลูกโบว์ลิ่ง จากจุดที่ผมยืนอยู่ผมได้ยินเสียงกระบอง ที่หวดลงไปบนหัวกะโหลกที่ปราศจากเครื่องป้องกันอย่างเต็มแรง ชวนให้รู้สึกคลื่นเหียน ฝูงชนที่มาคอยเฝ้าดูต่างส่งเสียงครางและกลั้นลมหายใจ เพราะรู้สึกเจ็บตามไปด้วยทุกครั้ง...
...ภายในเวลาเพียงสองหรือสามนาที ที่พื้นก็เต็มไปด้วยร่างของมนุษย์ที่ร่วงลงไปกองทับถมกัน มีรอยเลือดขนาดใหญ่บนเสื้อผ้าสีขาวของพวกเขา อาสาสมัครที่ยังไม่ถูกตียังคงเดินตรงไปข้างหน้าอย่างสงบและแน่วแน่โดยไม่มีการแตกแถว จนกระทั่งทุกคนในแถวหน้าสุดถูกฟาดจนลงไปกองกับพื้น หน่วยปฐมพยาบาลรีบเอาเปลเข้าไปหามตัวคนเจ็บออกมา โดยไม่ถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ...
...จากนั้นอาสาสมัครก็ตั้งแถวหน้ากระดานขึ้นใหม่...
พวกเขาเดินอย่างองอาจและมั่นคง เชิดศีรษะขึ้นโดยปราศจากเสียงดนตรีหรือเสียงเชียร์ให้กำลังใจ...
ตำรวจพุ่งไปข้างหน้าแล้วกระหน่ำตีจนคนที่อยู่ในแถวที่สองล้มลง ไม่มีการต่อสู้
ไม่มีการขัดขืน ...อาสาสมัครกลุ่มแล้วกลุ่มเล่ายังเดินตรงไปข้างหน้า...ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าที่หน่วยปฐมพยาบาลต้องเอาเปลเข้าไปหามร่างอันอ่อนระทวยที่อาบไปด้วยเลือดออกมาอย่างไม่ขาดสาย
นอกจากนั้นตัวอย่างของการดื้อแพ่ง หรือการต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของมหาตมาคานธีอีกตัวอย่างก็คือการต่อต้าน"กฎหมายเราแลตต์"ของอังกฤษ
ที่เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยสามารถจับกุมคุมขังราษฎรที่หัวแข็งอย่างเบ็ดเสร็จ
มหาตมาคานธีเชิญชวนชาวอินเดียให้ร่วมประท้วงด้วยสันติวิธีโดยการนัดหยุดงานหนึ่งวัน
ปรากฏว่าชาวอินเดียนับล้านๆ คน พากันหยุดงาน ไม่มีชาวไร่ชาวนาคนไหนออกไปทำไร่ไถนา
ไม่มีการเทียมวัวออกไปไถหว่าน ไม่มีเกวียนวิ่งไปตามชนบทหรือตามหัวเมืองต่างๆ
ร้านค้าทุกแห่งปิดเงียบ โรงเรียนและสถานที่ราชการถูกทิ้งร้าง และถนนทุกสายเงียบสงัด
เพราะทุกคนอยู่แต่ในบ้านเพื่อสวดมนต์และงดทานอาหาร
ตามเมืองใหญ่ๆ มีคนจำนวนมากมาชุมนุมกัน และมีการเดินขบวนซึ่งแสดงความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม บางแห่งชาวฮินดูกับมุสลิมถึงกับดื่มน้ำจากถ้วยเดียวกัน เพื่อยื่นยันความเป็นพันธมิตรซึ่งการต่อต้านในครั้งนี้ ต่อมามีผลต่อเนื่องถึงการประกาศเอกราชของอินเดีย เพราะอังกฤษได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามต่อผู้ปราศจากอาวุธ และไร้การตอบโต้จนเป็นที่ตำหนิติเตียนไปทั่วโลก
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวทางการต่อสู้ที่เรียกว่าอหิงสาหรือการดื้อแพ่งที่รวมเรียกว่าสัตยาเคราะห์นั้นแท้ ที่จริงแล้วเป็นเช่นไร และที่ผ่านมาการกระทำของผู้ที่อ้างว่าเป็นไปโดยสันติหรืออารยะขัดขืนนั้น เป็นไปในแนวทางนี้ หรือไม่ ฤาว่าเป็นแต่เพียงการอ้างเอาคำพูดที่สวยหรูมารองรับความชอบธรรมการกระทำของตนเท่านั้นเอง
๒. ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต
จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะฟิลิปปินส์เดลีอินไควร์เรอร์ เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา
รายงานว่าประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ได้ประกาศในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ว่า
รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยให้เหลือเพียงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนนั้น
ทำให้ได้รับเสียงสะท้อนกลับอย่างมากมายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ในส่วนที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง
และต่อต้านอาชญากรรมและคอรัปชั่น ตลอดจนผู้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมและญาติพี่น้องผู้เคราะห์ร้ายต่างก็ออกมาประณามอย่างรุนแรง
และกล่าวโจมตีว่านางอาร์โรโยต้องการเอาใจกลุ่มผู้นำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
และกลุ่มสหภาพยุโรป
ส่วนผู้ที่เห็นด้วย เช่นกลุ่มเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ต่างก็ออกมาสนับสนุนคำประกาศของนางอาร์โรโย โดยออกมาเรียกร้องให้เร่งเสนอร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตเข้าสู่รัฐสภาฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะเชื่อว่าตราบใดที่กฎหมายนี้ยังไม่ผ่านสภาฯ ก็จะยังไม่เชื่อว่านางอาร์โรโยมีความจริงใจที่จะผลักดันในเรื่องนี้
ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายอาญาของฟิลิปปินส์ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2475 กำหนดโทษประหารชีวิตไว้เป็นบทลงโทษที่สูงสุด จวบจนถึงปี 2530 สมัยของประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน ได้มีการแก้ไขไม่ให้มีการใช้โทษประหารชีวิต แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อถึงสมัยของประธานาธิบดีฟิเดล รามอส บทบัญญัติของการลงโทษประหารชีวิตก็ถูกนำมาใช้อีกภายใต้กฎหมาย "The Heinous Crimes Law"
ปัจจุบันสมัยของประธานาธิบดีอาร์โรโย
ได้มีกลุ่มต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างมากมาย อาทิ
Catholic Bishop Conference of the Philippines (CBCP - การประชุมสังฆนายกคาธอลิกแห่งฟิลิปปินส์)
โดยอ้างกฎของพระเจ้า (God's Law) ว่าพระเจ้าให้ชีวิตแก่มวลมนุษย์ ฉะนั้นผู้ที่จะพรากชีวิตควรเป็นพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น
(God is the giver of life and thus, it should be Him who should take it
away)
อีกกุล่มหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยเช่นกันคือ The Philippine Alliance of Human
Rights Advocates (PAHRA - พันธมิตรผู้ให้การสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนฟิลิปปินส์)
โดยเห็นว่า โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิของการมีชีวิตอยู่(Right to life)
โดยเห็นว่า เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน (cruel) และเป็นการลงโทษที่มิใช่วิสัยของมนุษย์
(inhuman punishement) อีกทั้งมิใช่วัตถุประสงค์ของการลงโทษเพื่อฟื้นฟูแก้ไขให้กลับตัวเป็นคนดี
แต่กลับจะเป็นการตัดโอกาสเช่นว่านั้นเสีย
ในส่วนของมุมมองในระดับนานาชาติเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตนั้น สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (Federation Internationale des Ligues des Droits de L'Homme - FIDH) ได้คัดค้านและต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างแข็งขันโดยให้เหตุผลพอที่จะสรุปได้ว่า
1. โทษประหารชีวิตขัดต่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักการสูงสุดและบรรทัดฐานสำคัญของการจัดการการปกครองของสังคม โทษประหารชีวิตขัดแย้งโดยตรงต่อหลักการดังกล่าวในทุกกรณี และเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความยุติธรรม เพราะโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำชีวิตกลับคืนมาได้ จึงขัดต่อความคิดที่ว่า อาชญากรสามารถกลับตัวมีชีวิตใหม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง
2. โทษประหารชีวิตไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
ประเด็นสนับสนุนโทษประหารชีวิตที่ได้ยินกันเสมอคือ เพื่อปกป้องสังคมให้พ้นจากอันตรายของอาชญากรรม และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง เพราะในสังคมที่มีบทลงโทษประหารชีวิต ไม่ได้มีอาชญากรรมน้อยไปกว่าสังคมที่ไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิต แม้กระทั่งการมีโทษประหารชีวิตหรือบทลงโทษทารุณกรรมอื่น ๆ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างไม่ให้เกิดอาชญากรรมอีก ก็ไม่มีประสิทธิผลตามเป้าหมายเช่นกัน
เพราะจากการศึกษาการเกิดคดีอาชญากรรมในประเทศต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมลดลงในประเทศใดๆ เลย ยกตัวอย่าง แคนาดามีอัตราการฆาตกรรมสูงสุด 3.09 ต่อประชากร 100,000 คน ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีก่อนการยกเลิกโทษประหารชีวิตคดีฆาตกรรม และลดลงเป็น 2.41 ใน พ.ศ. 2523. ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ มีรายงานคดีฆาตกรรม 5.5 ต่อประชากร 100,000 คน, ส่วนแคนาดามีรายงานเพียงแค่ 1.8 ใน พ.ศ. 2543
3. ประเด็นขัดแย้งกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล
ในระดับสากล แม้แต่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระบุว่า โทษประหารชีวิตเป็นข้อยกเว้นของสิทธิเพื่อการมีชีวิต ตามด้วยการให้ความคุ้มครองพิเศษ ความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้มีอำนาจตีความกติการะหว่างประเทศ ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 6 ว่าด้วยสิทธิเพื่อการมีชีวิต "ยืนยันที่จะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต และควรพิจารณามาตรการทุกรูปแบบของกระบวนการยกเลิกเพื่อความสัมฤทธิ์ผลของสิทธิการมีชีวิต"
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ทุกปีคณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศที่ยังมีบทลงโทษประหารชีวิต "ชะลอการลงโทษประหารชีวิตเพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์แบบ"
ในส่วนของไทยเรา ดูเหมือนว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากที่เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตด้วยอาวุธปืน เป็นฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกายแทน แต่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต กลับยังหาข้อสรุปไม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและป่าเถื่อนขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับนโยบายฆ่าตัดตอนของรัฐบาลที่ผ่านมา
โลกเราพัฒนาไปไม่หยุดยั้ง แม้แต่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศคู่แฝดของไทยที่ดูเหมือนจะล้าหลังกว่าเราในหลายๆ เรื่อง กำลังจะยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว แต่ว่าเรายังคงย่ำเท้าอยู่กับที่ ฉะนั้น ในยุคของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยเช่นในปัจจุบันนี้ ถึงเวลาที่เราจะได้หยิบยกนำประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตมาถกแถลงกันใหม่ได้หรือยัง
๓. ภาคผนวก : มิติใหม่ของรัฐศาสตร์ไทย
เรียบเรียงจาก : ประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับมิติใหม่ทางรัฐศาสตร์
จริงๆ แล้วคำว่ารัฐศาสตร์มาจากคำว่า Political Science ซึ่งคำว่า science แปลว่าศาสตร์หรือวิชาการ
ส่วน politics หมายถึง การเมืองซึ่ง สืบเนื่องมาจากภาษากรีกว่า polis ที่แปลว่าเมืองนั่นเอง
ฉะนั้น รัฐศาสตร์ก็คือ วิทยาศาสตร์ของการเมือง (Science of Politics) นั่นเอง
การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบันจะเน้นไปที่การศึกษาระบบการเมือง หรือกระบวนการทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการบริหารงานภาครัฐ มากกว่าการศึกษารัฐศาสตร์ในอย่างที่เน้นไปในแง่ขององค์การต่าง ๆ เช่น รัฐบาล รัฐธรรมนูญ ฯลฯ เหมือนในอดีต ที่ผ่านมา ดังนั้น นักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันจึงมักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่ม องค์กร และสถาบันต่างๆที่พยายามแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลในการใช้อำนาจของรัฐ
อย่างไรก็ตามในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะเน้นหนักในการให้ความสำคัญของรัฐ แตกต่างกันไป เช่น
- ในสมัยกรีก ให้ความสำคัญกับ"ศีลธรรมจรรยา"
- ในขณะที่สมัยโรมัน พูดถึงรัฐในความหมายของ"การรวมกันของสังคมที่ยอมรับในสิทธิซึ่งกันและกัน"
- ในสมัยกลาง นักบุญออกัสตินพูดถึง"รัฐในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรของพระเจ้า"
- ส่วนนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่มอง"อำนาจในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐ เพราะการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจเพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร" ตามที่ ลาสเวลล์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้ว่าไว้
สำหรับทฤษฎีต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษารัฐศาสตร์ อาทิ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการก่อกำเนิดของรัฐก็อธิบายได้หลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีเทวสิทธิ์(Divine Theory) ทฤษฎีสัญญาประชาคม(Social Contract Theory) ทฤษฎีพละกำลัง(Force Theory) ทฤษฎีธรรมชาติ(Natural Theory) ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution Theory) ฯลฯ และทฤษฎีอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง
แต่ทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์การเมืองการปกครองของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกก็คือ ทฤษฎีวงจรอุบาทว์ของชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่พูดถึงการปฏิวัติรัฐประหารแล้วตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง แล้วก็วกไปที่การปฏิวัติรัฐประหารอีกไม่รู้จบ ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเรียกว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่อธิบายการเมืองการปกครองไทยว่า คนชนบทเป็นผู้ตั้งรัฐบาลแต่คนชั้นกลางในเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 35 นั่นเอง
ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถนำทฤษฎีทั้งสองนี้ และทฤษฎีอื่น ๆ ที่เคยมี (หรืออาจจะมีแต่ผู้เขียนศึกษาไปไม่ถึง) มาอธิบายได้ว่า ทำไมรัฐบาลที่ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พร้อมทั้งมีนายทุนหนุนหลังอย่างมหาศาลจึงไม่สามารถปกครองประเทศได้ และแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลที่เป็นสัญญลักษณ์ของศูนย์อำนาจของรัฐไทยได้ จนต้องเป็นสัมภเวสี เร่ร่อนไปมาอยู่ระยะหนึ่ง
ความคิดเห็นของประชาชนแตกเป็นเสี่ยงๆ
ไม่จำเพาะว่าจะเป็นชาวชนบทหรือชนชั้นกลาง เพราะแม้แต่นักวิชาการเองก็ตามก็ยังแบ่งขั้วแยกข้างทางความคิด
แม้กระทั่งการที่จะถอยหลังไปขอพระราชทานรัฐบาลโดยการอ้างมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ
ซึ่งก็มีนักวิชาการจากหลายแขนงออกมา คัดค้านเพราะเป็นเสมือนหนึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ
จึงทำเอานักรัฐศาสตร์ต่างด้าวมึนงงกันเป็นแถวในปรากฏการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีนักรัฐศาสตร์ไทยบางคนออกมาเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานกับเขาเสียด้วย
ผมเชื่อว่าไม่ว่าเหตุการณ์จะจบลงเช่นไร กรณีนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดียิ่งของแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ที่จะต้องนำไปวิเคราะห์อย่างละเอียด
โดยอาจจะเรียกว่า "ไทยโมเดล (Thai Model)" หรืออาจจะเป็น "บางกอกโมเดล
(Bangkok Model)" ก็เป็นได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลของปรากฏการณ์ครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่นำไปสู่วิวัฒนาการทางการเมืองที่ไม่เคยปรากฏในประเทศอื่น
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
...ทันทีที่ได้รับคำสั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียจำนวนหนึ่งก็พุ่งเข้าหากลุ่มผู้เดินขบวนที่กำลังตรงเข้ามาแล้วกระหน่ำตีลงไปบนศีรษะของพวกเขา... ไม่มีผู้เดินขบวนคนไหนทำแม้แต่จะยกแขนขึ้นมาปิดกั้นการทุบตี พวกเขาร่วงลงไปกองกับพื้นราวกับลูกโบว์ลิ่ง จากจุดที่ผมยืนอยู่ผมได้ยินเสียงกระบอง ที่หวดลงไปบนหัวกะโหลกที่ปราศจากเครื่องป้องกันอย่างเต็มแรง ชวนให้รู้สึกคลื่นเหียน ฝูงชนที่มาคอยเฝ้าดูต่างส่งเสียงครางและกลั้นลมหายใจ เพราะรู้สึกเจ็บตามไปด้วยทุกครั้ง... (รายงานข่าวโดย ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน เวบบ์ มิลเลอร์)