ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง
เศรษฐศาสตร์การเมืองกับ
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตอน ๑)
คณะทำงานวาระทางสังคม
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ : ผู้ดำเนินรายการ
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากคณะทำงานวาระทางสังคม
เกี่ยวเนื่องกับการสัมนาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้ร่วมสัมนาในตอนที่ ๑ ประกอบด้วย
๑. ประพันธ์ มุกสิกพันธ์
๒. สุพจ จริงจิตร
๓. ราซิด๊ะ
ระเด่นอาหมัด
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณสำหรับข้อมูลถอดเทปนี้
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 910
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
19.5 หน้ากระดาษ A4)
เศรษฐศาสตร์การเมืองกับ
3 จังหวัดภาคใต้ (ตอนที่ ๑)
คณะทำงานวาระทางสังคม
ราณี หัสสรังสี : คณะทำงานวาระทางสังคม
การเสวนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 เรื่อง "เศรษฐศาสตร์การเมืองกับ 3 จังหวัดภาคใต้"
โดยวิทยากรจากพื้นที่ภาคใต้เอง และวิทยากรนักวิชาการที่จะร่วมวิเคราะห์ในระดับมหภาคด้วย
ต่อไปดิฉันขอเรียนเชิญอาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
สวัสดีท่านผู้ฟังทุกท่าน ดูเหมือนว่ากระแสเรื่อง การขายหุ้นชินคอร์เปอเรชันนั้นมันจะกลบกระแสเรื่องทางภาคใต้ไปแล้ว
ทุกวันนี้เรื่องนี้เป็นข่าวตลอดเวลา แต่ถ้าเชื่อมโยงกันก็น่าจะได้ ก็มีนักการเมืองบางคนพยายามเชื่อมโยงเรื่องนี้เหมือนกัน
โดยบอกว่าสงสัยสถานการณ์ภาคใต้มันคงมาถึงกรุงเทพฯแน่นอน ดังนั้นเราควรถือเงินสดกันไว้ดีกว่า
เลยมีการถือเงินสดไว้ถึง 70,000 ล้านบาท จริงๆ แล้วคนที่พูดตลกเช่นนี้อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องเล่น
ๆ ไป เพราะมันมีความเป็นจริงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ผมได้มีโอกาสไปประเทศเม็กซิโกมาเมื่อปี พ.ศ. 2541 ตอนที่ประเทศเม็กซิโกกำลังทำท่าเข้าด้ายเข้าเข็มช่วงวิกฤต คนรวย ๆ ในประเทศนั้นพากันขายทรัพย์สินทิ้ง แล้วเอาเงินไปฝากต่างประเทศถึง 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท ประเทศเม็กซิโกตอนนั้นทรุดลงทันที เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราอย่าประมาท อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยได้เหมือนกัน
เหมือนกับปัญหาภาคใต้ เมื่อตอนที่เรานับหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2546 นั้น เราวิเคราะห์ให้ฟังว่าปัญหาภาคใต้กำลังรุนแรงทางการเมือง คนที่มีอำนาจในรัฐบาลก็จะบอกว่า นักวิชาการที่คิดอย่างนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีมันสมอง อีก 2 สัปดาห์ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ภาคใต้ เราก็วิเคราะห์ต่อว่า นี่คือการนับหนึ่งของเหตุการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้ ผู้มีอำนาจก็ยังพูดต่ออีกว่า เป็นพวกโจรกระจอก ทำไปทำมาก็กลายเป็นนกกระจอกเทศ ตัวใหญ่ ปัญหาใหญ่เกินกว่าจะแก้ ทุกวันนี้ยังไม่จบกันเลย
วันนี้เราจึงต้องมาคุยกันต่อว่า จากสถานการณ์ต่าง ๆ ในภาคใต้ อะไรกำลังเป็นอยู่และอะไรกำลังจะเป็นไป ผมคิดว่า ท่านที่นั่งเป็นวิทยากรอยู่บนนี้ทั้ง 4 ท่านยกเว้นผม จะเป็นคนที่จะให้ความรู้ความคิดเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ทางภาคใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับท่านผู้รับฟังการเสวนา
- โดยท่านแรก เป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท่านได้อยู่กับข้อมูล ตัวเลขความเป็นจริงเรื่องเศรษฐกิจภาคใต้ ดังนั้นเราจะได้รับรู้กันในวันนี้ว่า เศรษฐกิจภาคใต้นั้นมันดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะอะไร ท่านก็คือคุณประพันธ์ มุกสิกพันธ์
- ท่านต่อไป มาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งก็คงจะมาให้ความเข้าใจในเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมทาง 3 จังหวัดภาคใต้เป็นอย่างดี แล้วคงจะนำเสนอให้ท่านเห็นว่า ถ้าเรามองจากมุมทางการเมือง อะไรกำลังเป็นอยู่และเป็นไปในภาคใต้ ท่านคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
- ถัดไปเป็นสุภาพสตรี อาจารย์มาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเช่นกัน และเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ท่านคงจะมาเสริมคุณประพันธ์ ในฐานะนักวิขาการ คืออาจารย์ราซิด๊ะ ระเด่นอาหมัด
- ท่านต่อไปเป็นกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม แต่ท่านแนะนำตัวเองว่าเป็นนักข่าว แสดงว่าท่านมีข่าวดีๆ ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยทางหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ฝากท่านช่วยเปิดเผยให้รับทราบในที่นี้แล้วกัน คือคุณสุพจ จริงจิตร ต่อไปผมขอเรียนเชิญคุณประพันธ์เป็นอันดับแรก
ประพันธ์ มุสิกพันธ์ : ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้
กราบเรียนผู้เข้าร่วมรับฟังทุกท่าน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสร่วมในเวทีนี้
วันนี้ได้รับเชิญมาให้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสังคมของภาคใต้ โดยจะมาแลกเปลี่ยนความรู้กับท่านในที่นี้
ดังนั้นผมขอนำเสนอข้อมูลเป็น Power Point ให้ท่านได้รับทราบ
ในส่วนที่ผมเตรียมมานำเสนอกับท่านในวันนี้ ผมพยายามจะแสดงข้อมูลเพื่อสถานภาพการพัฒนาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ณ วันนี้ และทิศทางการพัฒนาที่ใช้อยู่ หลังจากนั้นผมก็จะนำเสนอผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ภาคใต้ ดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้วว่า มันจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร และประเด็นที่ควรจะต้องเร่งเข้าไปแก้ไขทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีอะไรบ้าง? ที่กล่าวมานั้นจะเป็นส่วนที่ผมจะนำเสนอ และยังมีภาพฝากจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เพิ่งผ่านมาช่วงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ว่ามันจะเป็นผลกระทบอย่างไร ในอีกมิติหนึ่งกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
ผมขออนุญาตเริ่มจากข้อมูล "การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ในมิติเศรษฐกิจและสังคมนั้น เรามองพื้นที่อย่างไร ผมจะไม่บอกตัวเลขท่านทุกตัว เริ่มจากตาราง "สภาพทั่วไป" ผมจะหยิบตัวเลขช่องขวามือสุดให้เห็นว่า ณ วันนี้ถ้าเราดูในภาพรวมของพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่อยู่ประมาณ 15% ของภาคใต้. ประชากรมีประมาณ 20% ของภาคใต้. ร้อยละ 80 เป็นพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม มีขนาดเศรษฐกิจที่วัดตามตัวเลข GDP ประมาณ 88,000 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของภาคใต้ หรือ 1.3 ของประเทศ
ตัวเลขนี้มีความสัมพันธ์กับประชากร ท่านจะเห็นว่า ประชากรมี 1 ใน 5 แต่ขนาด GDP มีแค่ 1 ใน 6 หรือ 1 ใน 7 ของภาคใต้ ดังนั้นในความหมายผลิตภาพต่อคนของประชากร ณ วันนี้ยังถือว่าต่ำ ถ้าเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในภาค อีกสักครู่พบจะฉายให้ท่านดูว่า ต่ำกว่าภาคอื่นด้วยเหตุผลอะไร ตัวเลขที่ยืนยันก็คือ ขอให้ท่านดูตัวเลข GDP Per capita ที่ใช้วัด GDP เฉลี่ยต่อบุคคลนั้น เมื่อผมจัดลำดับของภาคใต้มาแสดงให้ดู จะพบว่า 3 จังหวัดชายแดนนั้นอยู่ในลำดับท้ายๆ ของภาคใต้
เมื่อดูจากภาคใต้มี 14 จังหวัด GDP per capita ของปัตตานี ยะลา นราธิวาส อยู่ลำดับที่ 10,12 และ14 ทั้งๆ ที่ตัวเลขจัดลำดับเมื่อปีที่แล้วยังเป็นลำดับที่ 8, 12 และ13 ส่วนลำดับที่14 คือจังหวัดพัทลุง เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงเกิดขึ้น เราจะพบว่ามีผลกระทบอย่างเห็นชัดทันทีคือเรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอยลงไป เมื่อเรามาดูในมิติทางด้านสังคม เรามาดูจำนวนคนจนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนคนจนที่วัดตามเกณฑ์เส้นความยากจนอยู่ประมาณ 300,000 คน ถ้าคิดทั้งภาคใต้จะมีอยู่ประมาณ 600,000 คน ดังนั้นคนจนภาคใต้ครึ่งหนึ่งจะอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเราเทียบสัดส่วนต่อประชากร ก็คิดประมาณ 17% ของประชากร นับเป็นสัดส่วนเดียวกับความยากจนในภาคอีสาน ที่เราถือว่าเป็นภาคที่มีจำนวนคนจนอยู่มากที่สุดนั่นเอง
ถัดไปเป็น "ความยากจนในเชิงพื้นที่" โดยเราใช้ข้อมูลที่วัดองค์ประกอบของปัจจัยต่างๆ ที่ชาวบ้านควรจะมีเพื่อการดำรงชีพ เราวัดโดยเกณฑ์ กชช2ค.และ จปฐ. เราจะพบว่า มีหมู่บ้านยากจนประมาณ 280 กว่าหมู่บ้านจากทั้งหมดประมาณ 1,600 หมู่บ้าน มีครัวเรือนยากจนตามที่แสดงในตาราง แสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่นี้มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมในแง่ความยากจนค่อนข้างหนาแน่นมาก
ต่อไปเป็นข้อมูลการจดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจน ท่านคงคุ้นกับข้อมูลนี้อยู่บ้างแล้ว แต่ที่ผมจะชี้ให้เห็นคือข้อมูลใน 3 รายการแรก เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับปัญหาในระดับประเทศ สิ่งที่ผมอยากให้ท่านเห็นคือ ข้อมูลนี้มีความสำคัญก็คือ ใน 3 รายการแรกเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความมั่นคงของการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องหนี้สิน หรือเรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาทั้ง 3 ประการนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์นั่นเอง เราจะพบว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปัญหานี้ค่อนข้างมาก ตัวเลขที่แสดงให้เห็นก็คงจะเป็นการยืนยันได้
ตารางต่อไปแสดงให้เห็นถึงปัญหา "คุณภาพชีวิต" ท่านจะเห็นถึงความชัดเจนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงคุณภาพชีวิต ถ้าเราใช้เกณฑ์เปรียบเทียบกับระดับภาคและกับระดับประเทศ ท่านจะเห็นตัวเลขที่ผมแสดงไว้ อัตราการเกิดนั้น เป็นที่ทราบกันว่าอยู่ในระดับร้อยละประมาณ 2 โดยเฉลี่ย ขณะที่ทั้งประเทศอยู่ระดับประมาณ 1.2 ระดับทั้งภาคใต้อยู่ประมาณ 1.5 - 1.6 ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรเราได้บ้าง วันนี้ถ้าเราเข้าไปในชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านจะเห็นประชากรวัยเด็กสูงมากๆ นี่คือประเด็นอันหนึ่งที่จะต้องเข้าไปดูแลคุณภาพชีวิตเด็ก นี่นับเป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องเข้าไปพัฒนาพวกเขา มีปัญหาหลากหลายที่เกิดกับเด็ก แต่ผมไม่มีเวลาที่จะอธิบายรายละเอียด วิทยากรท่านอื่นอาจมีข้อมูลดีกว่านี้
แต่ที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงก็คือ ในขณะที่ชุมชนอื่นในเมือง ในจังหวัดอื่นๆ นั้น โรงเรียนอนุบาลกำลังจะปิดตัวเพราะไม่มีเด็กมาเข้าเรียน แต่ในพื้นที่นี้กลับมีเด็กเล็กในสัดส่วนที่สูงมาก ดังนั้นปัญหาเด็กก็เป็นปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจ ข้อมูลถัดมาซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันก็คือ เมื่ออัตราการเกิดสูง การใช้บริการทางการแพทย์ในการทำคลอดย่อมสูง แต่ท่านโปรดดูตัวเลขในอัตราการตายในเด็กทารกและของมารดากลับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคและประเทศเกือบ 2 เท่าตัว มันแสดงถึงว่าต้องมีอะไรที่เป็นปัญหาอยู่ตรงนั้น อาจเป็นบริการทางการแพทย์ที่เขาเข้าไม่ถึง หรือเป็นบริการที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาควรจะได้รับหรือไม่ ค่าเฉลี่ยเหล่านี้ถึงสูงอยู่ นั่นเป็นประเด็นทางสังคมที่น่าใส่ใจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตารางถัดมาเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา ตัวเลขที่ผมนำมาแสดงนี้เป็นตัวเลขในปี พ.ศ. 2546 แต่ตัวเลข พ.ศ. 2547 -2548 ก็อยู่ในแนวนี้ ตัวเลขอาจเขยิบขึ้นนิดหนึ่ง จะเห็นจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าของภาคและของประเทศ มันจึงกลับไปที่เรื่องผลิตภาพของประชากรในพื้นที่ให้เห็นว่า เขายังมีผลิตภาพต่ำก็เพราะระดับการศึกษาของเขา อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภาคและของประเทศ สัดส่วนของประชากรที่ได้รับการศึกษากับจำนวนประชากรรวมของเขา เช่นอยู่ในวัยการศึกษาระดับนี้ ควรจะเข้าศึกษาดังนี้ ในระดับมัธยมศึกษาปลายขึ้นไปมีสัดส่วนเพียงแค่ครึ่งเดียว จึงดูเป็นปัญหาหนึ่งที่พบว่า ประชากรส่วนหนึ่งไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ เขาออกจากโรงเรียนในระหว่างการเรียนมัธยม และเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาแล้วเข้ามาแข่งขันในระดับที่สูงกว่า เขาก็มีผลการเรียนที่ค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์ ไปสอบแข่งขันกับผู้อื่นไม่ได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องลงไปดูแลเรื่องการศึกษาในพื้นที่ว่าจะทำอย่างไร จะช่วยเหลือหรือจะจัดบริการการศึกษากันอย่างไร?
โดยสรุปจากข้อมูลที่ผมนำเสนอ สถานภาพการพัฒนาของพื้นที่ในวันนี้ มันมีอยู่ 5 ประเด็นหลักที่น่าสนใจคือ เราจะพบว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายตัวต่ำกว่าอัตราของภาคและของประเทศมาโดยตลอด ตัวเลขตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ไล่มา มันได้บอกถึงช่องว่างของเศรษฐกิจกับพื้นที่อื่น และเป็นช่องว่างที่สะสมมานานนับเกือบ 10 - 20 ปี กล่าวคือมันได้ขยายตัวต่ำกว่ามาตลอด ช่องว่างที่เกิดขึ้นนานนับ 10 - 20 ปีนี้มันได้สะสมปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตรงนั้น โครงสร้างการผลิตที่แคบก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมันเติบโตได้ในอัตราต่ำ สาขาเกษตรค่อนข้างเป็นสาขาหลัก ส่วนสาขาที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน การใช้เทคโนโลยี เพื่อเป็นแหล่งจ้างงานของบุคคลที่มีการศึกษาดีๆ นั้นยังน้อยอยู่ในภาค สาขาอุตสาหกรรมที่เป็นตัวชี้ว่ามีการเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรว่าได้เท่าไหร่ยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำ
โครงสร้างของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านี้นับเป็นโครงสร้างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 10 ปี ดังนั้นนี่คือโครงสร้างทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดภาคใต้ ทั้ง 2 ปัจจัยนั้นที่ทำให้ตัวเลขที่ผมแสดงให้ท่านเห็นสักครู่นั้นคือ รายได้เฉลี่ยของ GDP per capita ของเขาอยู่ในระดับท้ายๆ ของภาค ความยากจนที่ปรากฏเป็นตัวเลขในตารางที่ผมแสดง จะเห็นว่ายังมีความหนาแน่นในพื้นที่ นอกจากนั้นคุณภาพชีวิตในแง่ของสาธารณสุขและเรื่องการศึกษาก็เป็นประเด็นที่ต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของภาคและของประเทศและทั้งหมดนี้คือ 5 ประเด็นที่ผมคิดว่าภาคเศรษฐกิจและสังคมต้องเข้าไปดูแลตรงนี้
ที่ผมนำเสนอก็ต้องการให้เห็นในมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ เรามองอย่างไร ทั้งๆ ที่ในพื้นที่ภาคใต้นี้มีศักยภาพในการพัฒนาและโอกาสค่อนข้างดี สิ่งที่แรกที่ผมเห็นว่ามันยังมีโอกาสดีอยู่ คือตัวเลขที่บอกชัดว่า ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่ โดยเฉพาะดิน น้ำ และป่าไม้ หากใครได้เข้าไปในพื้นที่ภาคใต้จะเห็นว่า แหล่งน้ำใหญ่ๆ ที่หล่อเลี้ยงอยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ทุกวันนี้ ยังมีน้ำเต็มลำน้ำตลอดปี มีฝนค่อนข้างดี มีป่าไม้ที่สมบูรณ์อยู่ประมาณร้อยละ 22 ซึ่งมันใกล้เคียงกับเกณฑ์ป่าสมบูรณ์ที่กำหนดไว้ว่าควรเป็นร้อยละ 25 ป่าไม้ที่นี่มีถึงร้อยละ 22 จึงถือว่า ค่อนข้างดี
มีเมืองชายแดนที่เป็นจุดค้าขายกับเพื่อนบ้าน มีวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ และมีการพูดถึงการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับโลกมุสลิม ซึ่งเราสามารถนำคุณค่าเหล่านี้มาสร้างเป็นมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้ โดยยังคงรักษาคุณค่าเอาไว้เหมือนเดิม และยังมีสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 3 จังหวัดภาคใต้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยะลา ปัตตานี และกำลังมีมหาวิทยาลัยนราธิวาสอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส เหล่านี้น่าจะเป็นสถาบันที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และจัดบริหารการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่นั้นได้
ดังนั้นนี่คือแนวคิดที่เราใช้ระดมความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่องที่มากำหนดว่า ทิศทางการพัฒนาในพื้นที่วันนี้นั้นคืออะไร จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผมเรียนให้ทราบ เราจะเห็นหนทางในการพัฒนาขึ้นมาให้ทัดเทียมพื้นที่อื่น ก็มีแนวคิดเป็นอยู่ 2 ฝั่งจากตาราง โปรดดูจากตาราง "แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ"
ในระดับพื้นที่ เราสามารถที่จะเข้าไปดู ไปสร้างความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจภายในพื้นที่ขึ้นมา แล้วสามารถเชื่อมโยงกับกิจกรรมเศรษฐกิจที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง เช่น ที่หาดใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ตอนล่าง น่าจะเชื่อมโยงถ่ายเทเศรษฐกิจลงไปสนับสนุนในพื้นที่ได้ นอกนั้นฝั่งทางขวามือของตารางมีโอกาสที่จะพัฒนาภายใต้แผน IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) และการเชื่อมโยงสู่โลกมุสลิมในแง่ของการพัฒนาสินค้าที่จะป้อนไปสู่ตลาดเหล่านั้น ซึ่งมีงานที่ศึกษาไว้บ้างแล้ว ดังนั้นภายใต้กรอบแนวคิดนี้ จึงมากำหนดว่าทิศทางการพัฒนาจริงๆ ในพื้นที่ที่เป็นอยู่วันนี้ ในยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดก็ดี ในยุทธศาสตร์ภาคก็ดี คือ
1. การเพิ่มคุณภาพหรือเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายใน
มี Product Champion ที่พูดถึงก็คือ พวกโค ไก่ และแพะที่จะเป็นฐานวัตถุดิบ
มีงานศึกษาลองรับไว้แล้วว่า ไก่อาจจะพัฒนาขึ้นมาเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลได้เร็ว
แพะอาจจะใช้เวลาถึง 5 ปี โคอาจจะใช้เวลาถึง 10 ปี เพราะว่าเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ
ในพื้นที่ยังน้อย แต่สำหรับไก่นั้น เรามีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยภาคเอกชน
เช่น CP ซึ่งได้ทำตรงนั้นไว้เยอะแล้ว เราสามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือตรงนั้นได้
ส่วนในแง่พืชเศรษฐกิจนั้น สำหรับพืชลองกองในวันนี้แม้ว่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง
แต่ก็ยังพอมีราคาที่คุ้มทุนอยู่ อาจจะมีทุเรียนกับเงาะที่ต้องปรับโครงสร้างไปสู่พืชอื่น
เนื่องจากว่าถ้ามองในแง่ Demand - Supply ในวันนี้ นับเป็นพืชที่มีปัญหาด้านราคาตลอดมา
มีงานวิจัยที่น่าสนใจก็คือ เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ไม่นิยมบริโภคทุเรียนแล้วเพราะเป็นพืชที่มีกลิ่น
มันได้ชี้ถึง Demand ในอนาคตของพืชพรรณเหล่านี้ จึงน่าที่จะเป็นประเด็นที่จะเข้าไปปรับโครงสร้างการผลิต
2. เรื่องอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
และเครื่องแต่งกาย
ผมไม่ขอลงในรายละเอียดมากนัก เพราะเป็นทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตอนนี้ได้มีแนวทางการพัฒนาเหล่านี้
และมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ส่วนเรื่องของสินค้าเครื่องแต่งกายมุสลิมนั้นน่าสนใจ
เนื่องจากมีชุมชนที่ผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิมเป็นหมวก เป็นผ้าคลุมผมนั้นนับเป็น
300 - 400 ชุมชน มีคนอยู่ในระบบประมาณ 6,000 - 7,000 คน ถ้าเอาจำนวนมารวมกัน
กันก็เปรียบเสมือนเป็นโรงงานใหญ่ๆ นั่นเอง แต่นั่นคือภาคการจ้างงานในชนบทที่เขาสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนที่เขาสามารถทำงานอยู่กับบ้านได้
ขณะที่เศรษฐกิจในพื้นที่แย่ แต่กิจกรรมการการผลิตเครื่องแต่งกายนี้กลับไปได้ดี
จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างงานในชุมชนที่น่าจะเข้าไปส่งเสริมให้เขาทำงานได้ดีขึ้น
3. เรื่องท่องเที่ยว ภูมิภาคนี้มีป่าที่อุดมสมบูรณ์
อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า มีความอุดมสมบูรณ์ถึง 22% และป่าตรงนี้เป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนที่สมบูรณ์เป็น
1 ใน 3 แหล่งของโลก มีความหลากหลายทางพืชพรรณธรรมชาติ ส่วนอีก 2 แหล่งนั้นอยู่ที่
คองโกและบราซิล แหล่งนี้เป็นความหลากหลายที่เขาวัดชี้กันด้วยจำนวนพืชพรรณที่วิจัยว่าสำรวจไว้แล้ว
กำลังรอที่จะเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวขึ้นมา แต่วันนี้เวลาอาจจะยังไม่อำนวยให้
แต่มันเป็นทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่
ทางด้านสังคมที่น่าจะต้องเข้าไปดูแล มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษายังมีเด็กบางกลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษา
แม้จะมีปัญญาชนมุสลิมในพื้นที่ แต่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นกำลังคนในพื้นที่ได้
เพราะยังติดเรื่องมาตรฐานการศึกษา เรื่องการเทียบโอนต่างๆ คิดว่าตอนนี้กระทรวงศึกษากำลังเข้าไปดูแลแล้ว
เรื่องของการพัฒนาบริการสาธารณสุขในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือเขาในเรื่องของการใช้ไปบริการการคลอดและอื่นๆ รวมทั้งเรื่องของสภาพแวดล้อมสังคมสันติสุข ที่มีการพูดคุยในประเด็นว่า จะต้องมีระบบการอำนวยความยุติธรรม เรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้เขามีวิถีชีวิตได้อย่างที่เขาควรจะเป็น เราควรจะพูดถึง การจัดโซนนิ่งไม่ให้มีแหล่งบันเทิงมาอยู่ใกล้ศาสนาสถานด้วย มันมีแนวทางอยู่แล้ว ซึ่งเหล่านี้คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ผมพียงแต่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่นี้มีการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ไว้ลองรับถ้ามันมีเศรษฐกิจมันโตขึ้นมา มีการพัฒนาด่านชายแดน มีเส้นทางขนส่งหลักๆ
สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ
สามเหลี่ยมแห่งความงอกงาม IMT
ถัดไปผมของพูดเรื่องแผน IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle)
ซึ่งหลายคนอาจมีคำถาม ผมขออธิบายให้ท่านทราบว่า โดยปรัชญาแล้วมันเป็นความร่วมมือที่ภาครัฐเน้นให้เอกชนของ
3 ประเทศนี้ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย)มาร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ร่วมมือกันลงทุนเพื่อผลิตสินค้า รัฐเพียงจัดทำบทบาท
1. ในเรื่องของการสร้างพื้นฐานสนับสนุน
2. เรื่องของการแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก
3. เรื่องของการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนได้ลงทุนและพัฒนาร่วมกัน และ
4. ช่วยกลั่นกรองโครงการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ให้กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม
สิ่งเหล่านี้มันอยู่ภายใต้เรื่องเอกชนเป็นตัวนำทั้งนั้น โครงการที่มีความก้าวหน้าแล้วก็คือ รัฐได้มีการพัฒนาด่านชายแดนขึ้นมา เช่น ด่านโกลก ด่านเบตง และกำลังจะสร้างด่านชายแดนแห่งใหม่ที่บูเก็ตดา นี่คือเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้มีการค้าขาย การท่องเที่ยว ให้เชื่อมโยงกันได้ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้นโครงการหลักๆ เหล่านี้มันก้าวหน้าแล้ว แต่ว่าโครงการลงทุนของภาคเอกชนร่วมกันวันนี้อาจจะยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
เรื่อง IMT-GT นั้นไม่ค่อยมีประเด็นอะไรมากนัก ผมเพียงแต่อยากจะนำมาเรียนให้ทราบว่า การพัฒนาภายใต้แผน IMT-GT นั้นก็ยังมีบทบาทต่อพื้นที่อยู่ เพียงแต่ความก้าวหน้าในแง่ของการลงทุน และการพัฒนาของโครงการภาคภาคเอกชนนั้นค่อนข้างไปได้ช้า
ส่วนเรื่องความก้าวหน้าที่เห็นชัดในวันนี้ คือเรื่องการขยายเวลาเปิดด่านที่สะเดา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ 3 พื้นที่ จึงทำให้มีการค้าขายเพิ่มขึ้นเป็น 4 - 6 เท่าตัว นับจากการขยายเวลาเปิดด่านจาก 06.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา ดังนั้นตอนนี้ด่านที่สะเดาเปิดถึงเที่ยงคืนแล้ว นี่เป็นความก้าวหน้าที่พอจะหยิบมาเป็นตัวเลขที่พอจะอธิบายเป็นรูปธรรมได้
ตารางเรื่อง พื้นที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย(IMT - GT) แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่มีการรวมกันเพื่อประกาศเป็นพื้นที่ความร่วมมือ แต่เดิมทีในแต่ละประเทศมีพื้นที่ที่มีความร่วมมืออยู่เพียง 4 - 5 จังหวัด แล้วจึงมาขยายเป็น 7 - 8 จังหวัดในภายหลัง เช่น ประเทศก็ได้ขยายไปถึงจังหวัดตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช ส่วนประเทศมาเลเซียได้ขยายไปถึงรัฐกลันตัน และสลังงอร์ สำหรับประเทศอินโดนีเซียก็ได้ขยายไปถึงสุมาตรา จัมบี เบงกูลู
ในส่วนที่ 2 ที่ผมต้องการนำเสนอคือ ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ว่าจะไปมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไรบ้าง ตัวเลขที่เห็นตารางซึ่งผมจะใช้อธิบายคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่านจะเห็นว่า เมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 มันมีผลกระทบทันทีกับตัวเลขทางเศรษฐกิจใน 3 จังหวัด กล่าวคือ ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยโตถึง 5.8 - 5.9 นั้น ได้ชะลอตัวลงเหลือเพียงแค่ 1.4 เท่านั้นเอง ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนของภาคใต้นั้นเหลือเพียง 2.4 จึงทำให้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2548 จึงมีแนวโน้มที่จะติดลบเนื่องจากภาคการผลิต เช่น ภาคการเกษตรที่ขึ้นอยู่กับยางพารา ประมง ต่าง ๆ ไม่น่าจะดีขึ้นในปี พ.ศ. 2548 นี้ พื้นที่ที่ชาวบ้านเปลี่ยนเวลากรีดยางในตอนเช้ามืดเวลาตี 1 มาเป็นเวลา 6 โมงเช้าเพื่อความปลอดภัย ก็จะมีปริมาณน้ำยางลดลง ประกอบกับปีที่แล้วก็มีฤดูฝนค่อนข้างยาว ยิ่งทำให้ผลผลิตลดลงไปมากกว่าอีกในปีพ.ศ. 2547 ดังนั้นในเรื่องเศรษฐกิจนั้น จึงมีดัชนีสำคัญๆ ที่ชี้ว่าน่าจะทำให้มีอัตราการเติบโตติดลบในปี พ.ศ. 2548
จากตาราง กิจกรรมการผลิตที่หดตัวหรือชะลอตัวลง ทำให้ท่านเห็นว่า สาขาอันไหนบ้างที่ติดลบเห็นชัดในปี พ.ศ. 2547 เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สาขาโรงแรมและภัตตาคารนั้นต้องหดตัวลงแน่นอน เพราะการท่องเที่ยวหายไปเลยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจุดสำคัญที่เบตงกับสุไหงโกลก ซึ่งที่สุไหงโกลกนั้นแทบจะหายไปจนหมด นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในปัจจุบันนี้ ล้วนเปลี่ยนพฤติกรรมการเที่ยวไปเลย โดยเคยเข้ามาวันศุกร์ มาเที่ยวค้างคืนแล้วก็กลับไปในวันอาทิตย์ แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเพียงไปเช้าเย็นกลับเท่านั้นเช่น เคยมาวันศุกร์เช้า ก็จะกลับไปภายในวันศุกร์เย็นทันที อาจมีการเข้ามาจำนวนครั้งมากขึ้น แต่ไม่มีการพักค้างคืน รายจ่ายในพื้นที่จึงไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นภาคการท่องเที่ยวจึงเห็ดชัดว่ามีการติดลบ - 13 เปอร์เซ็นต์ สำหรับภาคการเกษตร อันได้แก่ ยาง การประมง ผลผลิตก็ติดลบเช่นกัน ส่วนสาขาอื่นนั้นก็ลดลงเช่นกัน ตามตัวเลขที่ผมทำเปรียบเทียบไว้
ประเด็นปัญหาที่ผมเข้าใจว่า เป็นประเด็นเร่งด่วนทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่วันนี้ (ดูตาราง"ประเด็นปัญหาเร่งด่วน")ก็คือ ต้องเข้าไปแก้ไขความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนผู้ประกอบอาชีพที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทั้งภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นยางพารา การประมง และลองกอง ซึ่งต่างก็มีปัญหาการเข้าไปดูแลในสวนไม่ได้ เก็บเกี่ยวผลผลิตออกมาไม่ได้ เก็บเกี่ยวมาแล้วพ่อค้าภายนอกเข้ามารับซื้อไม่ได้ ล้วนเป็นปัญหาที่กระทบต่อการทำมาหากิน จึงมีโรงงานที่ปิดกิจการไปแล้ว 55 โรง แรงงานถูกเลิกจ้าง แหล่งจ้างงานใหม่ๆ ไม่เกิด ทำให้ปัญหาการว่างงานในพื้นที่สูง และมีการขาดแคลนแรงงานในบางประเภทกิจการ ส่วนปัญหาความยากจนนั้น น่าจะรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้
จากแผนภูมิที่ผมพยายามทำมาให้เห็นคือ เป้าหมายหลักที่ได้พยายามวางแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจเอาไว้ (ดูแผนภูมิ "เป้าหมายหลักการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 จชต."ในภาคผนวก) ตัวเลขที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนที่หายไปคือ ยางพารา หายไปถึง 10 % ของผลผลิต คือประมาณ 50,000 ตัน ตามที่ผมได้เคยเรียนให้ทราบว่า เนื่องจากชาวสวนยางประสบปัญหาเข้าไปกรีดยางไม่ได้ ต้องลดเวลากรีดยางลง พื้นที่การผลิตจึงลดลง ทำให้ตัวเลขผลผลิตหายไป 50,000 ตันคูณด้วยจำนวนเงิน 60 บาท/ตัน คิดเป็นเงิน 3,120 ล้านบาทที่หายไป แล้วก็ยังมีการสำรวจเรื่องของลองกอง เรื่องของโคเนื้อ ดูได้จากแผนภูมิเหล่านี้ ซึ่งเป็นตัวเลขจริงที่ได้สำรวจออกมาโดยสำนักงานเกษตรของ 3 จังหวัด
นอกจากนั้นเราก็ควรที่จะเข้าไปรักษาฐานการจ้างงานที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม เรื่องของอาชีพของกลุ่มอาชีพยากจน เช่น การประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามชายฝั่ง ประชาชนประสบปัญหาเดือดร้อนค่อนข้างมาก เราจึงควรต้องเข้าไปดูแล จากแผนภูมิ "ผังยุทธศาสตร์และแนวทาง/มาตรการ (Road map) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" (ดูแผนภูมิในภาคผนวก) ที่ผมนำเสนอจะเป็นแนวทางการฟื้นฟูเร่งด่วนของ 3 จังหวัดนั้น จะมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก กล่าวคือ
1. เรื่องของการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนของกลุ่มอาชีพที่ประสบปัญหาจากการดำเนินวิถีชีวิตตามปกติไม่ได้ ว่ามีกลุ่มอะไรบ้าง ซึ่งรายละเอียดอยู่เอกสารที่แจกไป
2. คือการฟื้นฟูภาคผลิตการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบและมีผลผลิตลดลง และที่มีเศรษฐกิจลดลงหลักๆ มีอะไรบ้าง
3. นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการไปพัฒนากิจกรรม ที่ผมบอกว่ายังมีโอกาสในการพัฒนาภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน เช่นเรื่องของการผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายมุสลิม ที่พี่น้องในชุมชนผลิตอยู่ มันสามารถทำต่อไปได้ ก็ควรจะไปใช้ตรงนี้เป็นโอกาสที่ทำให้ภาคชนบทมีงานทำ มีรายได้ต่อไปได้ นี้คือภาพรวมเศรษฐกิจสังคมที่นำแลกเปลี่ยนในวันนี้
ต่อไปนี้ผมจะขอให้ท่านดูภาพที่น้ำท่วมจากภาคใต้ ซึ่งเราจะเรียกว่า เป็นบาปซ้ำกรรมซัด เนื่องจากได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่เมื่อปลายปีที่แล้วกลับเกิดปัญหาภัยธรรมชาติตามมาอีก ภาพที่ท่านเห็นจากมอนิเตอร์เป็นภาพน้ำท่วมในพื้นที่ที่ฝากมาให้ดูกัน เป็นภาพน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี มีทั้งน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มจากภูเขา ภาพเหล่านี้ทำให้เราทราบถึงภาวะที่ยากลำบากของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ผมขออนุญาตจบการนำเสนอข้อมูลเพียงเท่านี้ ขอขอบคุณมากครับ
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
ตามที่คุณประพันธ์บรรยายมาทั้งหมดเป็นข้อมูลที่นำเสนอปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
เรายังขาดข้อมูลในมิติอื่น ๆ ที่ต้องดูกันต่อไป ดังนั้นผมขอเชิญวิทยากรท่านต่อไปเลยครับ
คุณสุพจ จริงจิตร
สุพจ จริงจิตร : กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
สวัสดีครับ เมื่อเราพูดถึงการพัฒนาภาคใต้ทั้งหมด คงไม่แตกต่างไปจากโครงการการพัฒนาในภาคอื่นๆ
ของประเทศ ที่ต่างก็มุ่งพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่เน้นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก
ซึ่งการพัฒนาในแนวนี้ สิ่งที่ต้องดูก็คือ ดูจากฐานทรัพยากรและทะเล ดิน น้ำ
ลม ไฟ และวัตถุดิบ เมื่อดูที่ตรงนี้ เราจะเห็นและ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภาคใต้ของเรานั้นค่อนข้างสมบูรณ์และเหมาะที่จะทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
เพราะฉะนั้นพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะจังหวัดชายแดนเท่านั้นของภาคใต้ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
ขยับไปจากพื้นที่ชายแดนขึ้นมาก็มี Southern Seaboard ซึ่งในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินคำว่า เป็นแหล่งผลิตพลังงาน เป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่ท้ายที่สุดทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ต่างก็พากันถอนการลงทุนอันเนื่องจากเห็นว่าไม่คุ้มทุน และพื้นที่เหล่านี้ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ขยับขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ก็มีสามเหลี่ยมท่าเรือซึ่งเชื่อมระหว่างท่าเรือเชียงแสน แหลมฉบัง และระนอง ที่กำลังจะปรับปรุงมาเพื่อรองรับการเป็นสามเหลี่ยมท่าเรือ ขยับขึ้นมาอีกนิดหนึ่งซึ่งเชื่อมต่อกับภาคใต้ของเราก็คือ Western Seaboard ซึ่งในส่วนนี้ พื้นที่ภาคใต้จะอยู่ติดกับอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐไทยเองไม่ได้มีอิสระในการกำหนดอะไรเองได้ดังใจ เราต้องยอมรับกับความเป็นจริงในข้อนี้ ดังนั้นอิทธิพลระหว่างประเทศย่อมมีผลต่อทิศทางการพัฒนาในแนวทางเช่นนี้
ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ประเทศจีน สิ่งที่ผมได้ยินจากปากของคุณสุมิตร มีสุนทรี ก็คือ กรณีท่าเรือระนองที่ถูกปรับขึ้นมาก็เพราะจีนขอร้อง ทางประเทศไทยก็ต้องรับมา และต้องปรับเพี่อให้เกิดสามเหลี่ยมท่าเรือ หรืออย่างกรณีประเทศญี่ปุ่นนั้นชัดเจนมาก ผมตามเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ IMT-GT มาโดยตลอด ทำให้ทราบว่า JICA (ไจก้า) นั้นมีข้อมูลของประเทศไทยเหนือกว่าหน่วยงานของรัฐไทยด้วยซ้ำไป ข้อมูลทรัพยากรทุกชิ้นในบ้านเราอยู่ในมือไจก้าหมดแล้ว
เพราะนั้น เมื่อเราติดตามต่อไปลึกๆ เราจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นทั้งในฐานะผู้ลงทุนและแหล่งทุนนี้ ค่อนข้างจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาในภาคใต้ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ไม่ว่าจะเป็น ADB, JICA, IOE, CS, JABIC ต่างก็พร้อมที่จะมีท่าทีสนับสนุน Maga Project ที่จะลงทุนของรัฐบาลในพื้นที่ตรงนี้ โดยเฉพาะในกรณีเรื่องพลังงาน ซึ่งเราจะเห็นได้จากท่าทีที่พยายามสนับสนุนให้ประเทศมาเลเซียสร้างท่อน้ำมันจากฝั่งมาเลเซียมายังอ่าวไทยแถวๆ จังหวัดสงขลา ซึ่งทางไทยเองก็ขอสงวนท่าทีมาโดยตลอด
นอกจากอิทธิพลจากต่างประเทศระดับ BIG แล้ว ในภูมิภาคนี้ เราต้องยอมรับความจริงอีกอย่าหนึ่งซึ่งในหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ก็คือ แผนพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราล้วนมีอิทธิพลจากประเทศมาเลเซียอย่างเป็นด้านหลัก ผมขอยืนยันว่า อย่างเป็นด้านหลักจริงๆ ขอยกตัวอย่างโครงการ IMT-GT หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นความริเริ่มของมหาเธร์ โมฮัมหมัด เมื่อปี พ.ศ. 2536 ประเทศไทยเองเพิ่งมีแผนแม่บทพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า เพื่อรองรับการพัฒนา IMT-GT ในปลายปี พ.ศ. 2538 ประเทศมาเลเซียได้เสนอเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา และทางประเทศไทยเองก็มีแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา โดยใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติเมื่อปี พ.ศ. 2541
ประเทศไทยไม่ได้มีแผนเขตเศรษฐกิจพิเศษปีนัง-สงขลา แต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา โดยใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ เรื่องปีนัง-สงขลานั้น มาเลเซียเสนอเพื่อที่จะทำการพัฒนาใน 4 ด้านคือ 1.ท่อน้ำมัน 2. ท่อก๊าซธรรมชาติ 3. ถนน และ 4. รถไฟ สำหรับประเทศไทยเองขอสงวนเรื่องท่อน้ำมัน แต่ในปีพ.ศ. 2540 ประเทศมาเลเซียกลับอนุมัติให้บริษัทของมาเลเซียร่วมทุนกับบริษัทของประเทศไทยคือ บริษัทสีอู่ทอง ร่วมกันสร้างท่อน้ำมัน โดยที่ OECF แสดงท่าทีสนับสนุนเรื่องเงินทุน แล้วทางไทยก็ขอสงวน
คือขณะนี้โครงการยังไม่เกิด แต่ได้ข่าวว่า ทางประเทศมาเลเซียเองกำลังศึกษาเส้นทางใหม่ในการศึกษาเส้นทางวางท่อน้ำมันคือจากสตูลมาออกสงขลา เป็นข่าวที่ผมเพิ่งได้รับรายงานมา นั้นย่อมหมายความว่า ประเทศมาเลเซียนั้นไม่ยอมละความพยายามในสิ่งที่ไทยขอสงวน ประเทศไทยเพิ่งมีบทบาทมากขึ้นในการปรับเขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา มาเป็นเขตเศรษฐกิจสงขลา-เมดาน ในปีพ.ศ. 2543 ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทพอสมควรทีเดียว โดยการพ่วงการพัฒนาเพิ่มมาอีก 2 อย่างคือ ความร่วมมือทางด้านสายส่งไฟฟ้า และการเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเล
สิ่งที่ผมจะบอกเล่าต่อไปก็คือ ความน่าสนใจที่ว่า ขณะที่หลายคนกำลังมองว่าโครงการ IMT-GT นั้นไม่คืบหน้า แต่ผมกลับมองว่า มันมีความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากที่ท่อก๊าซประสบความสำเร็จ คือสามารถผลักดันให้เกิดการสร้างท่อก๊าซได้ อันดับแรก สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ซึ่งเดิมได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบริหารกันไปใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวแทนเอกชนของไทยในความร่วมมือ 3 ฝ่าย ได้ถูกเทคโอเวอร์โดย 3 องค์กรธุรกิจของไทย คือ สมาคมธนาคาร หอการค้า และสภาอุตสาหกรรม ขณะนี้ประธานสภาธุรกิจไม่ใช่คนชายแดนภาคใต้ แต่เป็นตัวแทนจากหอการค้าไทย เลขาสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด น่าจะมาจากสภาอุตสาหกรรม
ทันทีที่คนกลุ่มนี้เข้าไปบริหาร ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า มีความคืบหน้าในหลายๆ อย่าง เช่น เรื่องการปรับกฎระเบียบระหว่างประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในย่านนี้ พยายามปรับกฎระเบียบให้มีการบริการ One Stop Service, การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุน อย่างเดือนเมษายนนี้จะมีการจัดสัมมนา IMT-GT เรื่องการค้าและการลงทุน
มีการเชิญนักลงทุนจากทั้ง 3 ประเทศ คือจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยที่นายกรัฐมนตรีของไทย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย จะมาปาฐกถาเพื่อบอกว่าประเทศของเขาพร้อมที่จะเปิดช่องทางให้มีการลงทุนในเขต ในพื้นที่นี้อย่างไร โดยจะมีการจัดสัมมนากันที่หาดใหญ่ในเดือนเมษายนนี้ มีการพูดถึงเรื่องแรงงานที่จะนำมาใช้ในภาคใต้ 300,000 คน ซึ่งมีการเซ็นต์ MOU กับประเทศพม่า ลาว และเขมร และขณะนี้ก็ได้มีการตระเตรียมจะนำแรงงานลาวเข้ามาในเบื้องต้น ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียพยายามที่จะ ล๊อบบี้ ขอส่งแรงงานจากอาเจ๊ะห์เข้ามาในพื้นที่ความร่วมมือ แต่ทางประเทศไทยเองยังกังวลเรื่องความมั่นคง จึงยังคงปฏิเสธอยู่
สิ่งหนึ่งที่ผมลืมบอกไปก็คือ ภายใต้โครงการ IMT-GT นี้ หากเรากางแผนที่ออกมา เราจะพบว่า ภาคเหนือของมาเลเซียกับภาคใต้ของไทยนั้นจะเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจะมีเส้นทางการขนถ่ายสินค้าจากสามเหลี่ยมขึ้นมาทางเหนือ แยกเข้าประเทศเขมร เข้าไซ่ง่อน แยกเข้าลาว เข้าดานัง ขึ้นทางเหนือ เข้ายูนนาน ไปเชียงแสน
เมื่อดูจากตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า
ถ้าความร่วมมือ 3 ฝ่ายเป็นจริง เขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งภาคเหนือของมาเลเซียและภาคใต้ของไทยเป็นจริง
เขตการค้าเสรี AFTA (อาฟต้า) จะเป็นจริงทันที เพราะฉะนั้นผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า
ทำไมรัฐไทยพร้อมที่จะตีหัวชาวจะนะ สงขลา เพื่อจะให้เกิดท่อก๊าซ และผมก็ไม่แปลกใจว่า
ทำไมหลังจากเกิดท่อก๊าซแล้ว ความเคลื่อนไหวตรงนี้คึกคักขึ้นมาทันที
ผมจะขอผ่านไปอีกประเด็นหนึ่งก็คือ หลังจากปี พ.ศ. 2547 มีความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ
เกิดยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย - มาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2547 มีพื้นที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการไปแล้ว
คือ ปาดังเบซาร์ โคตาเบอซาร์ อาบาตัน สะเดา โคตาเบอร์ดามาร์ และบ้านประกอบ
โคตาร์บุตตราและกำลังเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเขตการค้าเสรี ที่พื้นที่จะเหรียน
ลุ่มน้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พื้นที่จะเหรียน บ้านประกอบ ดูเรียนบุหรง พื้นที่จะเหรียน
ปาดังเบซาร์ สะเดา บูกิต กายูฮิตัม นี่คือการเปลี่ยนแปลง
ถ้ากลุ่มทั้งหมดเป็นไปตาม Step นี้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชายแดนใต้ ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจะคืออะไร? ผมว่าเมื่อสักครู่นี้ท่านผู้อำนวยการพูดชัดมากว่า ภาคใต้นั้นการศึกษาของคนอยู่ในระดับต่ำ และยากจน ตรงนี้เองที่จะเกิดปัญหาขึ้นมาอย่างมากมายพอสมควรในสายตาของผม ถ้าเรามีกระบวนการจัดการไม่ดีพอ และเร่งมันเกินไป การแย่งใช้ทรัพยากร ที่ดิน น้ำ เกิดขึ้นแน่ บางเรื่องอาจจะกระทบกระทั่งเล็กๆ น้อยๆ แต่บางเรื่องก็จะกระทบกระทั่งกันหนัก โครงสร้างพื้นฐานที่ขณะนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เรียบร้อย จะต้องมีการสร้างกันมาใหม่ ซึ่งแน่นอนมันอาจก่อให้เกิดการปะทะกันได้ระหว่าง"คนท้องถิ่น"กับ"โครงการขนาดใหญ่" ซึ่งก็เหมือนๆ กับที่อื่น
เรื่องวัฒนธรรม การศึกษา ไม่ต้องพูดถึง แรงงาน และทุนสารพัดประเภทก็จะลงมา ตั้งแต่ทุนที่ไม่ได้เรื่องไปจนถึงทุนที่ได้เรื่อง ผมคิดว่าตรงนี้มันจะทำให้เกิดการปะทะกันทางวัฒนธรรมอย่างขนานใหญ่ ผมไม่แน่ใจว่า แรงงานต่างด้าว 300,000 คนที่จะลงไปในพื้นที่จะไปก่อปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ หรือไปปะทะอะไรกันขึ้นหรือไม่ ในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้ารัฐคิดแต่เพียงว่า การพัฒนาในพื้นที่แนวนี้จะไปสร้างงาน สร้างความเจริญ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คนภาคใต้ซึ่งมีวัฒนธรรมแข็ง และหากพูดอย่างตรงไปตรงมา เขาค่อนข้างจะล้าหลังกว่าทุกพื้นที่ จะสามารถรองรับสถานการณ์นี้ได้ทันไหม ถ้ารองรับไม่ทัน สิ่งต่างๆ เละเทะไหลลงไปอย่างรวดเร็ว จะเกิดอะไรขึ้น สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ความรุนแรงที่เคยรุนแรงอยู่แล้วจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างกังวลใน ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2536
สุดท้ายที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตคือ ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ผมไม่แน่ใจนักว่า การพัฒนาแนวนี้ซึ่งประเทศจีนก็จะพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แล้วประเทศสหรัฐอเมริกาจะอยู่อย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ ซึ่งผมไม่อาจจะจินตนาการได้ จึงอยากจะฟังข้อคิดเห็นจากนักการศึกษาหรือนักวิชาการทางด้านการต่างประเทศว่า มองตรงนี้ว่าอย่างไร?
ผมคิดว่า มันน่าจะมีผล เพราะเหตุผลหนึ่งที่จีนยอมถอนการลงทุนเรื่องพลังงาน มันชัดเจนว่า
ประการที่หนึ่ง ไม่คุ้มกับการลงทุน
ประการที่สอง เขามองว่า มันจะกระทบต่อความมั่นคง เพราะไทยค่อนข้างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา แล้วหากเขาเข้ามาลงทุนขนาดนี้แล้วไทยยังใกล้ชิดกับอเมริกาอีก มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาในการลงทุน
เมื่อจีนมองขนาดนี้แล้ว ผมว่า มันน่าจะมีนัยยะทางด้านความมั่นคงอยู่พอสมควรทีเดียว สำหรับการพัฒนาชายแดนภาคใต้ ผมขอจบการนำเสนอข้อคิดเห็นเพียงเท่านี้ก่อน ขอบคุณครับ
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
ผมขอจับประเด็นสังเคราะห์โดยสรุปว่า สิ่งที่คุณสุพจพูดมาทั้งหมดนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นไปตามทฤษฎีของการปะทะทางวัฒนธรรม
ที่ระบบทุนนิยมเร่งรัดพัฒนา เร่งขยายการผลิต ซึ่งควบคู่กันมานั้นก็คือการขยายตลาดในการบริโภคขนาดใหญ่
รวมถึงวัฒนธรรมแบบทุน ซึ่งตรงนี้เองที่คุณสุพจห่วงว่า วัฒนธรรมแบบทุนมันจะไปขัดแย้งกับวัฒนธรรมมุสลิมหรือไม่
ระดับความขัดแย้งมันมากน้อยแค่ไหน ล้วนเป็นคำถามที่นำไปสู่ว่า ความไม่สงบของภาคใต้นั้น
ถ้าตกอยู่ภายใต้การขยายตัวของทุน ตามข้อสันนิษฐานของคุณสุพจก็คือ ความรุนแรงน่าจะเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ตรงนี้มันคล้ายๆ กับว่า มันกำลังจะเป็นศูนย์ทดลองของการช่วงชิงอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของมหาอำนาจต่างๆ เพราะพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้นั้นมันเป็นตัวเชื่อมของหลายวัฒนธรรม เป็นตัวเชื่อมของระบบหลายๆ ระบบ แล้วก็ยังเป็นภูมิประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์ ที่สามารถก่อให้เกิดความอ่อนไหวต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งผมคิดว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลก็มองอยู่ แต่รัฐบาลอาจจะมองต่ำเกินไป เมื่อมองต่ำเกินไป เส้นทางการพัฒนาที่เป็นอยู่นั้น ก็เหมือนกับที่คุณสุพจพยายามที่จะอธิบายให้ฟังว่า มันเป็นเส้นทางที่สวนทางกับพื้นฐานของคนภาคใต้เหล่านี้ โดยที่รัฐบาลก็ไม่พยายามที่จะยับยั้งมัน นอกจะไม่ยับยั้งแล้วยังขยายตัวต่อไปอีก พยายามจะทำให้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการอีก ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้อาจจะได้รับคำตอบอยู่บ้าง หรือมีเหตุผลข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้น จากท่านอาจารย์ราซิด๊ะ ขอเรียนเชิญอาจารย์ในลำดับต่อไป
ราซิด๊ะ ระเด่นอาหมัด
: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
สวัสดีค่ะ สำหรับดิฉันจะมาพูดในส่วนของผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่มีต่อเศรษฐกิจของ
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่เป็นจังหวัดอยู่ใต้สุด
นับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ดิฉันซึ่งเป็นชาวปัตตานีมาโดยกำเนิด
ปัจจุบันนี้ก็ยังทำงานสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ได้รู้สึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุกคน
ทุกศาสนาเป็นอย่างมาก มันเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายยิ่งกว่าครั้งใดๆ
ในอดีต
ทุกวันนี้ หลายๆ คนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอยู่อย่างมีความเครียด การใช้ชีวิตตามปกติแต่เดิมนั้นได้หายไปในพื้นที่ทันที แม้กระทั่งการเดินจ่ายตลาดก็ต้องทำอย่างเร่งรีบ กล่าวคือรีบไปรีบกลับ หากมีธุระอะไรก็ต้องรีบๆ ไปทำ รีบกลับบ้าน รีบกลับที่ทำงาน เราจะไม่เดินเตร็ดเตร่กันอย่างในอดีตเหมือนเมื่อก่อน หลายคนที่ชอบวิ่งออกกำลังกายตอนเย็นๆ ก็ต้องงดกิจกรรมไปเลยก็มี ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างมาก
เมื่อเราพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ
บางพื้นที่ก็บอกว่าเศรษฐกิจแย่ลง ค้าขายไม่ค่อยได้ ก็ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงทำให้ดิฉันเกิดความสนใจที่จะศึกษาว่า
จากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว มันได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไรบ้าง
จึงเป็นที่มาของการศึกษาในครั้งนี้
สำหรับวัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะเปรียบเทียบดูว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
สถานการณ์ดังกล่าวได้มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวมในพื้นที่อย่างไรบ้าง
โดยมองในภาพรวม วิธีการศึกษาก็จะพิจารณาจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญๆ
โดยเริ่มจาก
1. ภาคการผลิต เราก็จะดูในส่วนของภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร
ในภาคเกษตรเราก็จะพิจารณาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ได้แก่ ศึกษาผลผลิตยางแผ่นดิบคุณภาพ
3 โดยดูถึงราคาและปริมาณ ศึกษาปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่า ส่วนการพิจารณานอกภาคการเกษตรนั้น
จะดูในส่วนของอุตสาหกรรม ตัวชี้วัดก็จะไปมองในส่วนของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม
และการจดทะเบียนเพิ่มของโรงงานอุตสาหกรรม
2. ภาคการลงทุนเอกชน ตัวชี้วัดจะไปดูที่ พื้นที่การขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล
ปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ การจดทะเบียนใหม่ของรถบรรทุก
3. ภาคการเงิน ตัวชี้วัดที่จะไปดูก็คือ ปริมาณเงินฝาก
ปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ การใช้เช็คโดยผ่านสำนักหักบัญชี
4. ภาคอุปโภคบริโภคเอกชน จะไปดูตัวชี้วัดคือ
จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน การจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
การจดทะเบียนใหม่ของรถจักรยานยนต์
5. ภาคการคลัง สำหรับในภาคการคลัง จะพิจารณาจากที่มาของรายได้
เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีสรรพากร ภาษีด่านศุลกากร และรายได้อื่นๆ ของส่วนราชการ
ด้านรายจ่ายจะพิจารณาจากงบประมาณแผ่นดินที่เบิกจ่ายจริงในพื้นที่ 3 จังหวัด
เนื่องจากช่วงที่ศึกษานั้นใช้เวลา 4 เดือน กล่าวคือ ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ปี พ.ศ. 2548 ดิฉันมีการแบ่งเกณฑ์ในการศึกษาดังนี้ คือ เราใช้ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ
โดยใช้ข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2546 และช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 ส่วนในช่วงตอนเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ
จึงเอาตอนที่มีการปล้นปืนเมื่อ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 มาเป็นเกนฑ์ เนื่องจากเหตุการณ์ตั้งแต่ครั้งนั้นมาก็ทำให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่มาเรื่อยจวบจนปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2547 ข้อมูลจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2547
ถึง พ.ศ. 2548 เป็นขอบเขตในการศึกษาครั้งนี้
1. ภาคการผลิต
สำหรับในภาคการเกษตร เราจะพิจารณาทั้งราคาและปริมาณยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ซึ่งพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่จัดเก็บยางแผ่นดิบคุณภาพ
3 เป็นสำคัญ ราคาของยางพาราเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยภายนอก แต่การที่ยางพารามีราคาสูงขึ้น
มันได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนระดับรากหญ้าได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ยังคงมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ปริมาณจัดเก็บผลผลิตยางพาราแผ่นดิบคุณภาพ 3 นั้นพบว่าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
เพราะพื้นที่ที่ปลูกยางในปัตตานีนั้นน้อยอยู่แล้ว ยางพาราที่ได้มากนั้นมาจากจังหวัดยะลา
และนราธิวาส
จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนเวลาในการกรีดยาง
จากที่เคยเริ่ม ตี 1 ตี 2 ก็ต้องมากรีดเอาตอนหัวรุ่ง แต่โดยภาพรวมปริมาณยางลดลงเพียงเล็กน้อย
สำหรับปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่ขึ้นท่า ซึ่งจะอยู่ที่จังหวัดปัตตานีเป็นสำคัญ
ส่วนจังหวัดยะลานั้นไม่มีพื้นที่ติดทะเล ส่วนนราธิวาสนั้นแม้ติดทะเลเหมือนกันแต่เรือประมงเข้าฝั่งไม่ได้
เนื่องจากน้ำไม่ลึกพอที่จะให้เรือเทียบท่า
ที่จังหวัดปัตตานี เราพบว่าปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่านั้นลดลงเป็นอย่างมากหลังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งปัจจัยหนึ่งก็เนื่องมาจาก ผู้ประกอบการเรือประมงแม้จะเป็นชาวปัตตานีก็จริง แต่ก็เลี่ยงนำเรือไปขึ้นท่าที่อื่น เช่น ไปจอดที่สงขลา ที่ท่าเรือปากพนังแทนที่จะกลับมาที่ปัตตานี อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดน้อยลง รวมถึงปัจจัยด้านราคาน้ำมันก็สูงขึ้นด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยลบมาโดยตลอด
ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าลดลงนั้น มันมีผลต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปลากระป๋อง อุตสาหกรรมปลาป่น หรืออาหารทะเลแช่แข็ง ล้วนมีการส่งออกน้อยลง การจ้างงานในส่วนอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ลดลงในระดับหนึ่ง ส่วนการพิจารณานอกภาคการเกษตร ได้แก่ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของอุตสาหกรรม ข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2548 ถ้าเทียบโดยภาพรวม มีปริมาณลดลงเพียงเล็กน้อย
2.
ภาคการลงทุนเอกชน หากเราพิจารณาจากพื้นที่การขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล
จะพบว่า ลดลงเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดว่ามีผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะที่จังหวัดยะลาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กลับลดลงเป็นอย่างมาก และมีผลกระทบไปยังธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง
ผู้รับเหมา ตลอดจนช่างทำเฟอร์นิเจอร์ ช่างทำมุ้งลวด และอื่น ๆ จึงมีคนจำนวนมากที่ต้องตกงาน
เมื่อเราหันมาพิจารณาที่อุตสาหกรรมแจ้งเลิก อย่างเช่น ที่ปัตตานี ตัวเลขเดือนมกราคมถึงมิถุนายน
พ.ศ. 2548 มีโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งเลิก 4 โรง ที่จังหวัดยะลา 5 โรง หากดูเช่นนี้ก็เหมือนไม่มากนัก
แต่เมื่อมาดูทุนจดทะเบียนอุตสาหกรรมแจ้งเลิก เราจะเห็นกราฟขึ้นสูงมาก ซึ่งหมายความว่า
อุตสาหกรรมที่แจ้งเลิกเพียง 4 - 5 โรงนั้นล้วนเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เลิกกิจการ
ย่อมหมายถึงคนงานจำนวนมากตกงาน และมีการโยกย้ายไปอยู่ที่จังหวัดอื่นทันที ส่วนสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้ง
3 จังหวัด การจดทะเบียนใหม่รถบรรทุกก็ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน ถึงเดือนมกราคมปี
พ.ศ.2548 ก็ยังมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอดจองรถยังเพิ่ม ทำให้เห็นว่าคนส่วนหนึ่งยังมีกำลังซื้ออยู่
3.
ภาคการเงิน ตัวชี้วัดที่จะศึกษาก็คือ เงินฝาก ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลขถึงมิถุนายนปี พ.ศ.2548 ปริมาณเงินฝากทั้ง 3 จังหวัดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ดูจากภาคลงทุนเอกชนแล้วมาดูในส่วนการเงิน ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อดูมูลค่าการใช้เช็คผ่านสำนักหักบัญชี จนถึงมิถุนายน 2548 เมื่อเปรียบเทียบกับปี
2547, 2546 มีมูลค่าการใช้เช็คในเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี
แต่สัดส่วนมูลค่าเช็คคืนเพราะไม่มีเงินต่อเช็ครับเข้ามีจำนวนน้อยลง มีมูลค่าเช็คมากขึ้น
แต่เช็คเด้งน้อยลง ก็ถือว่าเศรษฐกิจในพื้นที่คนก็ยังดีอยู่ มีจังหวัดนราธิวาสเท่านั้นที่เช็คคืนเพราะไม่มีเงินนี้สูงขึ้นมาหน่อย
4. ภาคการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ตัวชี้วัดก็คือตัวภาษีมูลค่าเพิ่ม
จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ปัตตานีเพิ่มสูงขึ้นมากว่า 2 จังหวัด จุดหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บจากฐานภาษีการใช้จ่ายของประชาชน
ในพื้นที่ และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ปัตตานีเพิ่ม นราธิวาสเพิ่ม ยะลาลดลงเล็กน้อย
ปัตตานีที่เพิ่มจุดหนึ่งบังเอิญว่า Big C ไปเปิดสาขาปัตตานี Big C อาจเป็นธรรมดาของจังหวัดในเมืองหลวง
แต่แถวชนบทนี่ถือว่าฮือฮามาก ยอดขายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ในจุดนี้จึงทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มในปัตตานีเพิ่มขึ้นสูงด้วย
การจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ยอดจองสูงมาก ตอนปลายปี Honda
Civic เปิดตัวที่ปัตตานีดิฉันยังไปจอง เขาบอกจองแล้ว 3 วันยอดจอง 40 คันของปัตตานี
เมื่อตอนต้นปีก็ไปสุ่มตามศูนย์ขายรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ยอดจองสูงหมดเลย ทุกยี่ห้อ
แล้วอีกส่วนหนึ่งการจดทะเบียนใหม่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จดทะเบียนใช้ทะเบียน
3 จังหวัดใต้มีจำนวนหนึ่ง แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งซื้อแต่ขอจดทะเบียนป้าย กทม.
มันไม่ได้รวมในส่วนนี้ยอดจดทะเบียนยังสูงอยู่ รวมทั้งของตัวเองด้วยถ้าซื้อรถใหม่ก็ไม่เอาป้ายปัตตานี
เพราะป้ายปัตตานีไปได้แค่หาดใหญ่ พอเลยหาดใหญ่ตำรวจขอค้นทุกด่าน ไปพักโรงแรมไหนเขาบอกว่าโรงแรมเต็มไม่ให้พัก
ก็เลยต้องมาจดป้ายกรุงเทพมหานคร จึงสรุปว่ายอดขายรถทางชายแดนใต้ก็ยังสูงอยู่
แต่เมื่อมาดูที่ รถจักรยานยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นพาหนะของคนระดับรากหญ้า พบว่า ราคายางที่สูงขึ้นมีผลต่อกำลังซื้อที่สูงขึ้น แต่เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในปัจจุบัน จึงทำให้มีการออมมากขึ้น เก็บไว้กินไว้ใช้ยามขาดแคลน ดังนั้นปัจจัยสถานการณ์ความไม่สงบมีผลอย่างมาก เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ยอดซื้อรถจักรยานยนต์ต้องสูงขึ้นแน่ ดิฉันจึงคิดว่า ยอดการซื้อรถตกลงในระยะสั้นเท่านั้น
เมื่อพิจารณาการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ตรงนี้ก็จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นสูง อาจเป็นเพราะสถานการณ์ความไม่สงบทำให้คนหวาดกลัว พากันเปิดไฟฟ้ากันตลอด เวลานี้ที่ปัตตานีสว่างทั้งเมือง สว่างขนาดนี้ไม่ทราบว่าลอบวางระเบิดกันได้อย่างไร
5. ภาคการคลัง
ตัวชี้วัดมองจากด้านรายได้ว่า การจัดเก็บรายได้เป็นอย่างไร การจัดเก็บรายได้โดยภาพรวมทั้ง
3 จังหวัดนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้ลดลงเท่าไหร่นัก เราใช้ปีงบประมาณเป็นเกณฑ์
กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2547 - 2548 นั้นสูงกว่าปี พ.ศ. 2546 ยกเว้นที่จังหวัดยะลา
รายได้ลดลงเล็กน้อย การจัดเก็บของสรรพากรในพื้นที่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเมื่อเช็คดูจะเห็นว่ามันเพิ่มมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับภาษีสรรพสามิตนั้นในพื้นที่ลดลง หากลองย้อนกลับไปเช็คที่ตัวเลข เราจะพบว่าภาษีเหล้า
เบียร์ จัดเก็บได้น้อยลง อาจจะเป็นเพราะว่าตั้งแต่มีสถานการณ์เกิดขึ้น คนยังไม่ค่อยกล้าตั้งวงเหล้ารับประทาน
สถานบันเทิงก็ขายเหล้าได้น้อยลง ภาษีสรรพสามิตจึงจัดเก็บได้น้อย
ส่วนภาษีด่านศุลกากร จังหวัดนราธิวาสยังถือว่า มีสินค้าผ่านด่านสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่จังหวัดยะลานั้นในปี พ.ศ.2547 ยอดตกลงทันที แต่ในปี พ.ศ.2548 นั้นเริ่มดีขึ้น ส่วนจังหวัดปัตตานีนั้นไม่มีพื้นที่ติดชายแดนมาเลเซียเหมือนยะลากับนราธิวาส ดังนั้นภาษีศุลกากรจะจัดเก็บได้เพียงแค่ทางทะเลเท่านั้น ซึ่งมีปริมาณเล็กน้อย ด้านการจัดเก็บรายได้จากหน่วยงานอื่น ๆ นั้นลดลง
เมื่อเรามาดูด้านรายจ่าย ซึ่งดิฉันขอดูข้อมูลได้ยากสักหน่อย แต่เมื่อเราดูแล้วพบว่า งบประมาณรายจ่ายทั้ง 3 จังหวัดโดยภาพรวมสูงขึ้น สามารถพูดได้ว่า วิกฤตเป็นโอกาสสำหรับงบประมาณรายจ่าย เพราะเมื่อก่อนจะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ มีงบประมาณลงไป 13,000 กว่าล้านบาท แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ซึ่งสถานการณ์เกิดแล้ว กลับเพิ่มมาเป็น 25,000 กว่าล้านบาท นับเป็นปริมาณที่สูงมาก
เราลองมาดูรายจังหวัด จังหวัดยะลาในปี พ.ศ. 2547 งบประมาณรายจ่าย 4,900 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ. 2548 งบประมาณกลับขึ้นมาถึง 14,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณของ กอ.สสส.จชต ที่เบิกใช้ผ่านคลังจังหวัดยะลา เพื่อใช้ในงาน 3 จังหวัดภาคใต้ งบประมาณจังหวัดยะลาจึงสูงขึ้นมากด้วยเหตุนี้ แต่เมื่อเรามาดูเรื่องงบประจำของปัตตานีกับนราธิวาสลดลง แต่ยอดพุ่งสูงขึ้นที่ยะลา ส่วนงบลงทุนนั้นมีมากทั้ง 3 จังหวัด เมื่อเราดูสัดส่วนเปรียบเทียบระหว่างงบประจำกับงบลงทุนตอนก่อนเกิดสถานการณ์ปีพ.ศ.2546 ที่ปัตตานี งบประจำมี 89 % แต่งบลงทุนมีเพียงแค่ 11% เมื่อมีสถานการณ์ความไม่สงบงบลงทุนจะเพิ่มขึ้นทั้ง 3 จังหวัด เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว
เมื่อพูดถึงงบ กอ.สสส.จตช. โดยแยกออกมาดูอย่างเดียว มีมากถึง 5,000 กว่าล้านบาท ลองมาดูกันว่า เขาเอาไปทำอะไรกันบ้าง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2548
- มีการจัดสรรเพื่อความมั่นคง 1,314 ล้านบาท
- จัดสรรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ 337 ล้านบาท
- ด้านค่าตอบแทนพิเศษ 2,200 ล้านบาท
- งบ กอ.สสส.จชต. ส่วนกลางมี 1,200 ล้านบาท
งบประมาณมีมาแสดงแค่นั้น ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด เป็นตัวเลขที่สามารถเผยแพร่ได้ เราจะเห็นว่า มีเม็ดเงิน 5,000 กว่าล้านที่ทุ่มเข้าไปในการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ในพื้นที่ Cost-Benefit ไม่ทราบว่าจะคุ้มกันหรือไม่ สำหรับเงินที่ทุ่มลงไป เหล่านี้เป็นคำถามที่ดิฉันถามตนเองว่า รัฐทุ่มเข้าไปขนาดนี้กับผลที่ได้มันคุ้มหรือไม่ เมื่อเทียบกับผู้ก่อความไม่สงบที่ใช้งบไม่มาก
สรุปผลการศึกษา
ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบต่อพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาพรวมพบว่า
สถานการณ์ดังกล่าวมันส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ทำให้ชะลอตัวลง แต่เป็นเพียงบางส่วน
ไม่ได้ชะลอตัวทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน
ได้แก่
- ปริมาณและราคาของสัตว์น้ำที่ขึ้นท่า ลดลงมาก จนส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องลดการผลิตลง
- กระทบต่อมาก็คือ ปริมาณพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลก็ลดลงมาก ส่งผลกระทบไปยังธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ มีปริมาณธุรกิจที่ลดลง
แต่ที่ยังดีอยู่ ได้แก่ ส่วนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบไม่ชัดเจน เช่น
- ราคาและปริมาณยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 โดยภาพรวมยังถือว่าราคาสูงขึ้น ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเศรษฐกิจระดับรากหญ้าได้ระดับหนึ่ง
- การจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล การจดทะเบียนรถบรรทุก ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
- ยอดเงินฝาก ยอดเงินสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ก็ยังเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่า ยังมีคนในพื้นที่กลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้ออยู่ เงินฝากก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเราจะเห็นว่า เศรษฐกิจของ 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ได้แย่ไปหมดทุกด้าน ซึ่งดิฉันมองในแง่ภาพรวมของเศรษฐกิจชายแดนใต้ แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบนั้น ประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้ใช้ชีวิตตามปกติ มันกระทบกับรายได้ความเป็นอยู่ของเขา หลายคนกล่าวว่า ตนเองแย่ลง
ในการศึกษาครั้งต่อไป ดิฉันจะลงในรายละเอียดมากขึ้น แต่สำหรับการศึกษาครั้งนี้ มองเป็นภาพรวมก่อนในเงื่อนไขเวลาที่จำกัดเพียง 4 เดือนในการศึกษา ยังคงมีภาค 2 ต่อไปอีก สำหรับวันนี้ดิฉันขอจบลงเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
: ผู้ดำเนินรายการ
ผมรับฟังข้อสรุปจากอาจารย์ราซิด๊ะดูแล้วก็ไม่น่าตกใจนักว่า สถานการณ์ความไม่สงบนั้นมันก็ไม่ได้มีส่วนกระทำให้เศรษฐกิจทางภาคใต้ทรุดโทรมอะไรมากมาย
แต่หากเราพิจารณาทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมจึงมีคำถามกลับไปว่า ส่วนที่มันลดลงไป
ถ้าผู้มีอำนาจรัฐที่มักจะมีสมมุติฐานว่า การก่อความไม่สงบมักจะได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ
ถามกลับไปว่า ความไม่สงบที่มีผลต่อการลดลงของมูลค่าบางสิ่งบางอย่าง มันจะถูกชดเชยด้วยเงินที่เข้ามาจากต่างชาติเพื่อความไม่สงบหรือไม่
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าที่จะอาจชดเชยไปได้เหมือนกัน
ประการต่อมา แล้วตัวแปรทางเศรษฐกิจมันมีผลอะไรต่อความไม่สงบบ้างหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า รัฐนี้มักจะตั้งคำถามอย่างง่ายๆ ว่า ที่มันเกิดความไม่สงบก็เพราะคนมันยากจน เศรษฐกิจไม่ดี คนว่างงานมากใช่ไหม แสดงว่า ความไม่สงบ น่าจะเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งด้วย ใช่หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบ แต่ถ้าให้ผมสรุปจากการสังเกตการณ์ ผมคิดว่าตัวแปรทางเศรษฐกิจก็มีอยู่บ้าง ในลักษณะที่ว่า ทาง 3 จังหวัดภาคใต้ ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจมันค่อนข้างเป็นแผลใจทางสังคม ประเด็นเหล่านี้บางคนอาจไม่ได้คิด แต่คนแถวนั้นเขาคิด เช่น ชาวบ้านบอกว่า ที่ดีๆ ที่ร่ำรวยนั้นได้แก่พวกหน้าขาวทั้งนั้น พวกหน้าดำหน้าแดงมัวแต่จนอย่างเดียว
คำพูดเหล่านี้มันมีนัยยะทางเศรษฐกิจอยู่ คือความแตกต่างของความมั่งคั่งของคนในสังคมตรงนั้น ทำไมคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่มานาน ทำมาหากินตามปกติ ทำเท่าไหร่ก็ไม่รวย แต่คนบางคนมาจากไหนไม่ทราบได้ โผล่มาก็รวยเลย หรืออย่างเช่นมีการบอกว่า ตอนนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแล้วก็ควรขายที่ดินทิ้งเสีย ย้ายไปอยู่ที่อื่น ปรากฏว่าคนที่รับซื้อนั้นเป็นคนมาจากที่อื่น ผมคิดว่า ประเด็นในเชิงละเอียดอ่อนเช่นนี้ ไม่ค่อยมีใครศึกษากันเท่าไหร่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความไม่สงบกับเศรษฐกิจ
เรามักจะดูว่า ความไม่สงบกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไร แต่ถามว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น มันมีส่วนต่อการเกิดความไม่สงบหรือไม่ ยังไม่เคยมีใครศึกษาจริงๆ แล้วน่าศึกษามาก เพราะประเด็นนี้เมื่อผมฟังจากชาวบ้านแล้ว เกิดความรู้สึกว่าจริงอย่างที่เขาพูด คนมุสลิมในพื้นที่ทำมาหากินที่นั่นชั่วนาตาปี กลับไม่ร่ำรวยสักที คนหน้าขาวโผล่จากไหนไม่ทราบ กลับรวยเอา รวยเอา เขาทำอะไรกันนักหนา ผมฝากเป็นคำถามด้วย
ในช่วงที่สองนี้ เรามีวิทยากรเพิ่มคือ ศาสตราจารย์ ดร. อัมมาร์ สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของประเทศไทย และเป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติด้วย แต่ก่อนที่จะถึงอาจารย์อัมมาร์ ผมขอเรียนเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
(จบตอนที่ 1) คลิกไปอ่านต่อตอนที่ 2
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แล้วตัวแปรทางเศรษฐกิจมันมีผลอะไรต่อความไม่สงบบ้างหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า รัฐนี้มักจะตั้งคำถามอย่างง่ายๆ ว่า ที่มันเกิดความไม่สงบก็เพราะคนมันยากจน เศรษฐกิจไม่ดี คนว่างงานมากใช่ไหม แสดงว่า ความไม่สงบ น่าจะเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งด้วย ใช่หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบ แต่ถ้าให้ผมสรุปจากการสังเกตการณ์ ผมคิดว่าตัวแปรทางเศรษฐกิจก็มีอยู่บ้าง ในลักษณะที่ว่า ทาง 3 จังหวัดภาคใต้ ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจมันค่อนข้างเป็นแผลใจทางสังคม ประเด็นเหล่านี้บางคนอาจไม่ได้คิด แต่คนแถวนั้นเขาคิด เช่น ชาวบ้านบอกว่า ที่ดีๆ ที่ร่ำรวยนั้นได้แก่พวกหน้าขาวทั้งนั้น พวกหน้าดำหน้าแดงมัวแต่จนอย่างเดียว