นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทสนทนากับนักแปลอิสระ
ภัควดี วีระภาสพงษ์: พูดเรื่องทฤษฎีการแปล (ตอนที่ ๒)
โครงการเชียงใหม่สำนึก
จิตวิวัฒน์เชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความถอดเทปที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นการสนทนาเกี่ยวกับทฤษฎีการแปล
นำสนทนาโดยภัควดี วีระภาสพงษ์
ต้นฉบับนำมาจาก
บันทึกการประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึกครั้งที่ ๗
วันเสาร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔:๐๐ - ๑๗:๐๐ น.
ณ เติ๋นผญา วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 905
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)




ภัควดี วีระภาสพงษ์ : พูดเรื่องทฤษฎีการแปล (ตอนที่ ๒)
จิตวิวัฒน์เชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

พูดเรื่องทฤษฎีการแปล : ช่วงถามตอบ
รวิมาศ : อยากให้คุณภัควดีเล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า เวลาแปล ใช้แนวคิดไหน แนวทางไหน หรือว่ามีปัญหาอะไรบ้าง?

ภัควดี : คือความสนใจในเรื่องทฤษฎีการแปลมาทีหลัง ตอนแรกเราก็แปลก่อน เมื่อก่อนเราเคยคิดอย่างที่หลายๆ คนคิด คือแปลไปเถอะไม่ต้องมีทฤษฎี แต่ว่าพอเราแปลมาแล้ว บางทีเราก็โดนวิจารณ์ มันทำให้เราเริ่มหันมาสนใจแนวคิดหรือทฤษฎีการแปลจริงๆ แล้วเพิ่งมาสนใจในระยะช่วงหลังๆ แล้วมีอีกหลายคนที่เขียนการแปลได้ดีอีกคน แต่เขาไม่ได้อยู่สังกัด สำนักไหน คือ คูล เดอรา เขาเขียนเรื่องการแปลได้ดี เขาเคยพูดอยู่อันหนึ่งที่ชอบมาก เขาบอกว่า "นักแปล นักเขียนทุกคนพยายามจะไปให้พ้น ทะลวงกรอบภาษา ในภาษาดั้งเดิมของตัวเองที่ใช้ พยายามที่จะฉีกกรอบภาษาออกไป"

นักแปลส่วนใหญ่ ด้วยความที่ว่าแปลให้คนอื่นอ่าน มักจะพยายามเอาภาษาของนักเขียนมาใส่ไว้แบบไวยากรณ์ที่ใช้กันแบบโรงเรียน อันนี้เป็นข้อเตือนสติของนักแปล ซึ่งคิดว่าก็ดีมาก บางคนก็บอกว่างานแปลทุกชิ้น มักจะใช้ภาษาที่เก่ากว่าภาษาต้นฉบับเสมอ เพราะว่านักแปลส่วนใหญ่เวลาแปลหนังสือ เราไม่สามารถที่จะใช้คำแสลงในปัจจุบันนี้ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าคำแสลงในปัจจุบันมันจะคงทนไปถึงเมื่อไหร่ โดยธรรมชาติเวลาเราเลือกใช้คำเก่ากว่ายุคตัวเองเสมอ มันก็เลยมักจะทำให้งานแปลมีภาษาที่ถอยหลังไปเล็กน้อย

คล้ายๆ กับเราไม่มีความมั่นใจว่าถ้าเราใช้แสลงปัจจุบัน เราไม่รู้ว่าแสลงนี่จะตายเมื่อไหร่ เราก็เลยถอยไปใช้คำที่เก่า แล้วมันยังใช้มาอยู่จนถึงปัจจุบัน มักจะโดยธรรมชาติ แต่อาจจะยกเว้นนักแปลพวกบทพากย์ภาพยนตร์ ซึ่งเขาจะใช้ศัพท์ปัจจุบันได้

การคิดศัพท์บัญญัติ มันมีข้อถกเถียงที่ว่าศัพท์บัญญัติควรบัญญัติไหม บางคนก็บอกควร บางคนก็บอกไม่ควรบัญญัติ คือศัพท์บัญญัติ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าควรบัญญัติคือ การแปลอย่างหนึ่ง สิ่งที่นักแปลเจอในการแปลหนังสือก็คือว่า เนื่องจากเราแปลต้นฉบับที่มาจาก ความคิดและวัฒนธรรมของชนชาติอื่นๆ สิ่งที่เราพบเจอก็คือว่า เหมือนเราเดินไปเจอทางตันของภาษาตัวเองเสมอ สิ่งที่นักแปลต้องทำก็คือ เราต้องพยายาม พอเรามาชนพรมแดนของภาษาของตัวเอง เราต้องพยายามดันพรมแดนออกไป ให้พรมแดนภาษาของเราขยายออกไปครอบคลุมความคิดที่มาจากชนชาติอื่นหรือวัฒนธรรมอื่น อันนี้ก็คือหน้าที่ของศัพท์บัญญัติในแง่หนึ่ง

อีกหน้าที่หนึ่งคือ พยายามที่จะทำให้ภาษาตัวเองไปครอบคลุมการคิดของภาษาอื่น ที่นี่ถามว่าทำยังไง มันก็คงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ส่วนใหญ่เรามักจะไปใช้คำบาลีมาผสมคำขึ้นมาใหม่ เพราะว่าภาษาบาลีมันมีคำที่กว้างกว่า คนก็มองว่าใช้ศัพท์บัญญัติก็ไม่รู้เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันมันก็อยู่ที่การใช้ ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปยุคก่อนอย่างคำว่า ธนาคาร สหกรณ์ แม้แต่คำว่าประเทศ เป็นคำที่ถ้าเราย้อนไป ๒๐๐ หรือ ๑๕๐ ปีก่อน มันก็ไม่มี และเป็นคำที่ไม่มีใครเข้าใจ

อย่างคำว่าโลกาภิวัตน์ ยุคหนึ่งไม่มีใครเข้าใจคำว่าโลกาภิวัตน์ แต่ในช่วงเวลาไม่นานทุกคนก็เข้าใจกันหมด แต่ถ้ายุคก่อนอย่างวรรณ ไวทยากร เวลาท่านบัญญัติศัพท์ ท่านจะบอกว่า การบัญญัติศัพท์ไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด การบัญญัติจะใช้ได้หรือไม่ อยู่ที่คนใช้ อยู่ที่มหาชนจะยอมรับหรือไม่

จันทร์เพ็ญ : มันจะส่อความหมายได้รึเปล่า คนพูดกับคนฟังจะรู้ความหมายนั้นรึเปล่า ภาษาไทย รากภาษาก็มาจากหลายภาษา บาลี สันสกฤต ความหมายหนึ่งมีได้หลายคำ แต่พอมาถึงศัพท์วิทยาศาสตร์เกิดปัญหาที่ว่า การที่จะพูดให้เจาะจงไปว่า คำที่มันมีความหมายเหมือนกันจริงๆ หาได้ยากมาก ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมามันกลายเป็นว่า คำภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยมันยาวยืดออกมา ก็เลยใช้ยาก

ภัควดี : ถ้าเป็นญี่ปุ่นเขาจะทับศัพท์เลย แต่จะออกเสียงเป็นญี่ปุ่น ถ้าเป็นภาษาที่ใช้อักษรโรมัน อย่างอินโดนีเซีย เขาก็จะทับศัพท์แต่เขาจะออกเสียงให้เหมือนกับคนอินโด ฯ

พิภพ : ภาษาดั้งเดิมเราเป็นภาษาพูด คำว่า"ภาษา" มาจากคำว่า"ภาษ" แปลว่า พูด มันก็ทับศัพท์ การแสดงอะไรที่เป็นนามธรรม ภาษาไทยก็จำกัดก็ต้องอาศัยภาษาแขก บาลีสันสกฤตมาช่วยไม่อย่างนั้นไม่มีทางสื่อได้ แต่พอใช้ภาษาแขกมากๆ คนก็อ่านไม่รู้เรื่อง

รวิมาศ : จากประสบการณ์ จะดูเอาว่าถ้ามันทับแล้วดูรุงรัง ยกตัวอย่างที่เจออย่างเช่น elemental being ถ้าเขียน elemental being เราก็จะพยายามหาความหมายก่อนว่าเขาหมายถึงอะไร แล้วค่อยมาหาคำพอจะสื่อใกล้เคียง คงไม่สามารถสมบูรณ์ ๑๐๐ % แต่พอถูๆ ไถๆ ตอนนี้ก็เสนอเขาไว้ ๒ คำคือ "ธาตุอารักษ์" อีกคำหนึ่งจำไม่ได้ แต่มีคนแย้งว่ามันดูเกินไป กำลังอยู่ในขั้นที่ดูกันว่าตกลงจะเอายังไงกันแน่

ชลนภา : เรื่องนี้น่าสนใจ อย่างการหันกลับไปใช้ภาษาบาลี หนังสือหลายเล่มที่เผยแพร่ออกมาที่เป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษเขาพื้นๆ มาก แล้วคนทั่วไปอ่านได้ แต่พอแปลเป็นภาษาไทยกลับกลายเป็นภาษาที่หรูมาก คนยุคใหม่อ่านไม่ได้ ภาษาสวยๆ ทำไมต้องบาลี

พิภพ : มันมีนิดนึงที่พูดตอนต้น เรื่อง translate กับ interpret ผมว่า ๒ คำนี้แทบจะเป็นไวพจน์กัน แทนกันได้ แต่ว่าในโลกปัจจุบันเวลาพูดคำ interpreter จะชัดเจนว่าเป็นล่าม คือพูด. แต่ translator ส่วนมากจะหมายถึงงานเขียน อย่างเช่น interpreter ในหนังที่ฌอน เพน แสดง มันค่อนข้างชัด แต่จริงๆ มันคล้ายกันมากแล้วมันมีนิยามจริงๆ

รากศัพท์ ๒ คำนี้เหมือนกันเลย คำว่า trans คือ เปลี่ยนนำไปสู่อีกที่หนึ่ง ส่วนคำว่า interpret ก็ความหมายเดียวกัน นำไปยังอีกที่หนึ่ง แต่มันมีอีกความหมายหนึ่งของคำว่า interpret ที่น่าสนใจ คือหมายถึง การต่อรอง อย่างที่บอกว่าจะแปลหรือไม่แปล หรือจะศัพท์บัญญัติหรือไม่ศัพท์บัญญัติ หลักเกณฑ์ผมว่ามันมีอยู่อันเดียวก็คือ ฝรั่งเขาเรียกว่าเราจะยอมรับ degree of approximation (ระดับของความใกล้เคียงหรือประมาณ) ยังไง แค่ไหน คือระดับที่จะ approximate คือระดับที่เราเห็นสมควร เพราะว่าในแต่ละวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ในแต่ละบริบทไม่เหมือนกัน

อย่างเรื่องศาสนาที่ภัควดีบอก คนที่เป็นออร์โทด็อกซ์ ก็จะบอกว่าพระวจนะของพระเจ้าแปลไม่ได้ แปลแล้วมันเสื่อม มันไม่ศักดิ์สิทธ์ เช่น อาจารย์พุทธทาสเอาบทสวดมนต์มาแปล พูดบาลีคำ ภาษาไทยคำ คนต้อต้านเยอะมาก แต่ตอนหลังเริ่มเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น จริงๆ ที่ทำต่อจากอาจารย์พุทธทาส พวกสรภัญญะ เป็นภาษาพูด มีการต่อต้าน แต่มันแล้วแต่บริบท เงื่อนไขมันอยู่ที่ degree of approximation คือ ระดับของการยอมรับการประมาณ เรายอมรับตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหนแต่ละสังคม เพราะว่ามีไม่เท่ากัน แต่ละบริบทมีไม่เท่ากัน แต่ละกลุ่มก็มีไม่เท่ากัน

จริงๆ ผมชอบที่บอกว่า นักแปลหรือล่ามก็คือ"นักต่อรองหรือนักเจรจา" ถ้าไม่ต่อรอง แปลมั่วๆ เดี๋ยวก็โดนไปตีความหรือไปล่วงละเมิด อย่างเรื่องของการ์ตูนพระมะหะหมัด เดนมาร์คตีพิมพ์ แล้วหนังสือพิมพ์ในยุโรปตีพิมพ์ ในยุโรปผมดูแล้วมันก็เป็นเรื่องการแปล การตีความที่มันไม่เหมือนกัน สำหรับชาวมุสลิมบางสายเขาเห็นว่าพระมะหะหมัดถูกนำไปตีความ แปลอย่างอื่นไม่ได้ ของศักดิ์สิทธิ์มายังไง ต้องไปอย่างนั้น

แต่ในขณะที่ฝรั่งเป็น freedom of expression ที่เขาจะสามารถแปลความหมายไปในเชิงที่ตลกก็ได้ การ์ตูนมี ๑๔ รูป บางรูปก็เสียดสีพระมะหะหมัดเรื่องผู้หญิง แดกดันว่าทางอิสลามเขาเหยียดผู้หญิง บางรูปก็ค่อนข้างจะขำขัน หลายรูปก็ค่อนข้างจะหยาบคายเหมือนกัน เช่น เอารูปพระมะหะหมัดไปยืนอยู่กับผู้ต้องหาหลายคนในห้องชี้ตัว แล้วให้คนมาชี้ตัว ปรากฏว่าคนชี้ตัวชี้ไม่ถูก มีเคราหมดทุกคน บางเรื่องผมว่ามันก็ไม่ค่อยเหมาะสม ตรงนี้แหละที่ผมว่า degree of approximation อยู่ระดับไหนไม่เท่ากันแต่ละสังคม

รวิมาศ : ในวงการวิทยาศาสตร์อาจจะทับศัพท์ได้เยอะหน่อย

สุทธาธร : คือ การทับศัพท์มันจะได้ ในสำหรับคนที่ทำงานวิจัย บางครั้งเราต้องการจะถ่ายทอดข้อมูลของเราลงไปให้ชาวบ้าน ให้คนอื่นใช้ แม้แต่นักศึกษาเองแล้วเราทับศัพท์หมดมีปัญหาเหมือนกัน

พิภพ : เพราะว่า วิทยาศาสตร์สถาปนาตัวเองเป็นศาสนา (หัวเราะ) การแปลเขารับไม่ได้ degree of approximation มีน้อย

จันทร์เพ็ญ : บางคำมันต้อง precise เวลาใช้มันต้องแม่นไปเลยว่า มันคืออันนี้ มันพลิกไม่ได้ มันถึงจะสื่อลงไปได้ว่าการอธิบายต่อเนื่องกันมาอย่างนี้

สุทธาธร : แต่ว่าลักษณะที่เป็นหนังสือเรียนหรือหนังสือวิชาการ เขาก็ใช้ทับศัพท์ไปเลย เพราะว่ามันทำให้ความหมายเปลี่ยนน้อยลง

สมเกียรติ : ผมขอย้อนกลับที่คุณพิภพพูดเรื่องเสรีภาพในการเขียนการ์ตูนล้อพระมะหะหมัด พอดีผมได้รับบทความของคุณสุชาติ เศรษฐมาลินี ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยพายัพและเป็นมุสลิม ผมคิดว่าเขาเขียนได้ดี คือว่าฝรั่งหลายคนพยายามจะบอกว่า คุณไม่รู้จักอารมณ์ขันเอาเสียเลย ไม่รู้จักเสรีภาพเหรอ ยกรูปพระเยซูเตะฟุตบอลกับเด็กๆ เปรียบเทียบกับพระมะหะหมัดที่โพกหัวและมีลูกระเบิด เขาก็อธิบายง่ายๆ ว่า ขณะที่คุณล้อเลียนพระเยซู พระเยซูเต็มไปด้วยความเมตตาเตะลูกบอลกับเด็ก แต่พระมะหะหมัดเป็นอสูรกายที่คอยทำร้ายคนอื่นๆ

อาจารย์สุชาติผู้เขียนบทความเสนอว่า ขณะที่คุณเรียกร้องถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในการเขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนอะไรต่างๆ คุณได้เคารพเสรีภาพหรือสิทธิของชาติพันธุ์หรือไม่ เพราะคุณกำลังป้ายให้ชนชาติหนึ่งกลายเป็นทรราช กลายเป็นคนชั่ว เป็นสิ่งที่เลวร้าย ถ้าคุณคิดว่าเสรีภาพของคุณสามารถที่ละเมิดสิทธิภาพทางชาติพันธุ์ของคนอื่นได้ คุณยังนับสิ่งที่นั้นว่าเป็นเสรีภาพอีกหรือ

แล้วเขาก็ยกตัวอย่างง่ายๆว่า ทำไมเราเห็นชาวมุสลิมแล้วเรารู้สึกว่าเขาเป็นคนโหดร้ายโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้มันเกิดมาจากการสั่งสมในจิตสำนึกของเราทีละเล็กละน้อยผ่านคำบรรยายก็ดี ผ่านภาพเขียนก็ดี หรือผ่านคำพูดหรือคำอธิบายป้ายสีที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขาเป็นระยะๆ มาโดยตลอด ผมคิดว่าข้อเสนอของ อ.สุชาติน่าสนใจมากว่า เสรีภาพของคุณมันรวมไปถึงการดูถูกผู้หญิงด้วยไหม หรือการเอาเปรียบ หรืออะไรต่างๆ ถ้าเสรีภาพทำได้ทุกอย่าง มันก็เป็นการละเมิดชนิดหนึ่ง กลับมาทางศิลปะบ้าง การพยายามจะแปลสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น Impressionism ซึ่งในราชบัณฑิต แปลว่า ประทับนิยม (หัวเราะ) อันนี้ผมไม่รู้จะพูดอย่างไรดี

ภัควดี : มีอยู่คำหนึ่ง คำว่า"กัมมันตรจิตรกรรม" เขาแปลจากคำว่าอะไร?

สมเกียรติ : เข้าใจว่ามาจากคำว่า Action painting มันเหมือนกับการมีกำลังที่จะแสดงศักยภาพ กัมมันตภาพ จะมีลักษณะอย่างนี้ คือมันพร้อมที่จะระเบิดหรือมีแรงศักย์ในการกระทำอย่างต่อเนื่อง หรือว่ามีปฏิกิริยา. คำว่า Action painting พยายามจะแปล แต่คำนี้คนที่อยู่ในวงการศิลปะจะเห็นภาพในหัว อ๋อ… เป็นความรุนแรงของการตวัดปัดป้ายสีบนฝีแปรงลงบนผินผ้าใบ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างหนึ่ง

พิภพ : ต้องแปลว่าภาพเขียนเชิงปฏิบัติการ (หัวเราะ)

ชลนภา : เรื่องการแปลดิฉันมองเป็น ๒ จุด การแปลเป็นเรื่องท้าทายอำนาจอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ อันนี้ชัดเจน การท้าทายของเขาทำให้เกิดการพลิกผัน การยึดอำนาจ การเพิ่มความรู้ของคนกลุ่มหนึ่งเข้ามา. หรือยุคหนึ่งช่วงวรรณกรรมรัสเซียก่อนยุคลีโอ ตอสตอยล์ไม่มีการแปลเลย เสร็จแล้วก็แปลกันอุตลุด หลังจากนั้นวงการวรรณกรรมรัสเซียเจริญขึ้น ทำให้เห็นเหมือนกันว่าการแปลเป็นเหมือนหน้าต่างเหมือนสะพาน ไม่พูดถึงแปลเป็นคำๆ มันต้องแปลเอาความคิด

พิภพ : ที่ภัควดีพูดมาทั้งหมดมีอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ได้พูด คือเจตจำนงในการแปล การแปลมีเจตจำนงและสำคัญมาก ยกตัวอย่างคำว่า constitutional monarchy เราแปลว่าอะไร? เราแปลว่าระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งผิด constitutional monarchy คือ ระบบกษัตริย์ที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากษัตริย์ อันนี้แปลผิดแต่เจตจำนงการเมืองชัดเจน เพราะต้องการสถาปนาระบอบกษัตริย์ไว้

สมเกียรติ : คิดว่าประสบการณ์ในการแปลทุกๆ คนคล้ายๆ กัน ก็คือโดนตำหนิก่อน มีคราวหนึ่งที่ผมแปลเรื่องทรราช ลงในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีคนส่งเมล์หาผมบอกว่า แปลอย่างนี้อย่าแปลดีกว่า เขาบอกผมแบบที่คุณภัควดีบอกเลย คือการแปลในลักษณะคำต่อคำ ผมเลือกวิธีที่เลวที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ อ่านรวมๆ พอรู้เรื่องแต่ให้มันกลืนเป็นภาษาไทย มันไม่กลืน คือไม่มีใครกลืนลง เขาก็เลยเขียนมาต่อว่าผม

สุทธาธร : กำลังคิดเรื่องคำต่อคำ กำลังคิดถึงเรื่องคอมพิวเตอร์ เดี๋ยวนี้มีประเภทที่พยายามสร้างโปรแกรมที่แปลได้ มันไม่เชิงแปลภาษา แต่ให้สามารถคุยกับคอมพิวเตอร์ได้รู้เรื่อง

ชลนภา : มีโปรเจคหนึ่งของยุโรปซึ่งทำมาเกือบ ๒๐ ปี เขาต้องการจะรวมยุโรป ทั้งอิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส เช่นใส่ภาษาเยอรมันแปลเป็นภาษาอิตาลีได้กี่คำ มีคำอธิบายเสร็จสรรพ มันไม่เวิร์คแต่มัน ช่วยล่ามให้แปลเร็วขึ้น ๕๐ % แต่ไม่มีวันที่จะแปลได้ ๑๐๐%

จันทร์เพ็ญ : ปกติอ่านนิยาย ทั้งนิยายจีน นิยายแปล มันมีงานแปลที่แปลได้ดี แปลแล้วสื่อใจความได้ทั้งหมดอย่าง นิยายจีนลักษณะภาษาของเขาจะบ่งบอก อ่านแล้วชอบงานแปลตรงนั้นก็รู้สึกขอบคุณคนที่แปล แต่พอมาเรียนภาษาเองแล้วมาอ่านหนังสือต้นฉบับ รู้สึกว่าชอบที่จะอ่านจากต้นฉบับมากกว่า หรือแม้แต่หนัง ละครทีวี จะไม่ชอบให้มีพากย์ลงไป อย่างแดจังกึม (หัวเราะ) เพราะภาษาตรงนั้นมันสื่อออกมาตรงน้ำเสียง บุคลิกของตัวละครแต่ละตัวที่จะออกมา

ถ้าพากย์ภาษาไทย ถ้าหากว่าเขาทำได้ดีพอ มันต้องมีการกำกับเสียง มันต้องมีการสื่อบุคลิกของตัวละครออกมาตรงนั้นด้วย อย่างเช่นตัวการ์ตูนของญี่ปุ่นมันไม่มีเสียงอยู่ในนั้นมาแต่แรก เขาจะมีการกำกับเสียง ผู้กำกับเสียงนี่อ่านเสียงเป็นวันๆ ลองพูดแบบนั้นซิ แบบนี้ซิ เพื่อจะสื่ออารมณ์ตรงนั้นให้ได้ สำหรับตัวเองแล้วเวลาดูพวกการ์ตูนญี่ปุ่น หนังเกาหลี จะดูเป็นภาษาของเขาหมด แล้วอ่าน subtitle เอา ตรงนี้มันจะช่วยได้ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแปลสักเท่าไหร่ แต่งานแปลที่มีคุณภาพจะชอบมากและจะเคารพมาก

สมเกียรติ : อ.จันทร์เพ็ญเห็นด้วยกับการแปลน่ะ แต่ไม่ใช่เป็นการแปลเป็นบทพากย์ออกมาเป็นคนไทยพูด แต่อาจารย์ก็อ่าน subtitle ภาษาอังกฤษอยู่ดี ผมว่าวิธีการดูหนังของอาจารย์คล้ายๆ กับการที่ผมฉายหนังในกระบวนวิชาศิลปวิจารณ์ ผมจะบอกนักศึกษาว่า ห้ามเอาหนังพากย์มาฉาย คุณต้องใช้หนังที่มี sound on film เป็นต้นฉบับตลอด และให้มี subtitle ได้เป็นภาษาไทย

เพราะเสียงต่างๆในภาพยนตร์ แม้แต่เสียงคลิ๊ก เสียงลูกบิดประตู หรือแม้กระทั่งหนังที่จบแล้ว คุณห้ามรีบปิดหนัง คือตอน title สุดท้ายขึ้น มันคือการกล่อมอารมณ์ หมายความว่าในขณะที่หนังมันค่อยๆ ปั้นอารมณ์ของเราตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง climax พอมันถึง climax แล้วมันจะค่อยๆคลี่คลาย คนทำภาพยนตร์เขาจะพาอารมณ์คนดูค่อยถอยลงมาตามลำดับ อันนี้เป็นสูตรพอสมควรของหนังกระแสหลักสไตล์ฮอลลีวูดแ ต่อยากให้เรียนรู้ว่าระบบมันเป็นอย่างไร

หนังบางเรื่องหลังจาก climax ก็จะเป็นช่วงขาลง คือมันจะค่อยๆพาอารมณ์ของคนดูลงมา อาจมีดนตรี ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นเบาๆ มืดลงนิดนึง มีเสียงเพลงขึ้นมา แล้วมี title ขึ้นต่อมาบอกรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์ พวกนี้ทั้งหมดคุณต้องดูให้ครบทั้งกระบวนการ เราจะได้เดินออกจากโรงหนังแบบที่สุขภาพจิตดีอยู่ แต่บางเรื่องก็แกล้งคนดู มันอาจจะจบห้วนๆ ไม่เป็นไปตามสูตร ถ้าหนังเป็นอย่างนั้น นั่นเขาจงใจจะทิ้งคุณ ปล่อยให้อารมณ์ของคุณคว้าง เขาจะไม่เอื้ออาทรคุณ(หัวเราะ)

ผมขอกลับมาสู่เรื่องของการแปลเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณูปการในเรื่องนี้ แม้ว่าการแปลจะไม่เป็นที่ยกย่องนักในความคิดเห็นของหลายๆ คน ดังที่คุณภัควดีว่าไว้แล้ว แต่การแปลหรือการถ่ายทอดภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง คือการส่งผ่านแคปซูลความรู้จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง คนที่เป็นนักแปลเป็นคนที่ต้องใช้เวลาไปกับการฝึกปรือ เรียนรู้ไวยากรณ์ เรียนรู้คำศัพท์อย่างลึกซึ้ง รวมๆ แล้วกว่าจะเก่งอาจใช้เวลา 10-20 ปี เพื่อพยายามถ่ายทอดให้มันเป็นภาษาของเรา การทำดังกล่าว หมายถึงการแปลและเผยแพร่ มันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้ความรู้ขยายตัว ทำให้สังคมคิดพร้อมกันในเรื่องนั้นๆ ได้ อันนี้ผมหมายความว่าการแปลงานทางความคิด ทำให้เรารู้ และเข้าใจ ซึ่งสามารถที่จะนำไปเป็นฐานคิดต่อไปได้

แทนที่ผู้อ่านต้นฉบับจะคิดได้คนเดียว คุณและอีกหลายๆ คนก็คิดได้เหมือนกันถ้ามันถูกแปลและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในสังคมญี่ปุ่นหรือหลายๆ สังคมที่ส่งเสริมให้มีการแปลก็เพราะว่า เขาพยายามจะขยาย area ทางความรู้ของเขา ผมคิดว่าคุณูปการของการแปลคือ การพยายามที่จะไปเสริมผืนดินในท้องทะเลให้กับผืนแผ่นดินของเรา คือแผ่นดินของเราอาจจะแค่นี้ เราก็ช่วยกันแปลอีกนิดนึง เพื่อที่จะเพิ่มเติมทรัพยากรทางความคิด-ความรู้ให้มากขึ้น เหมือนถมดินลงไปในท้องทะเล ทำให้สัตว์บกอย่างเราเดินได้ไกลและกว้างมากขึ้น

คิดว่าในสังคมที่เราถ้ากินแต่ของเดิม สติปัญญาเดิมๆ เราก็จะคิดวนเวียนอยู่อย่างเก่าตามบริบทแวดล้อมของเรา เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความรู้เพิ่มขึ้นใหม่ๆ เราก็คิดได้กว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น เรามีความคิดแบบนิวเคลียร์ฟิสิกส์, แบบฟริดจ๊อฟ คาปร้า, คิดแบบฟูกูโอกะ, และที่สำคัญก็คือว่าเมื่อเราขยายดินแดนและเราเรียนรู้มันมากพอ มันเป็นการสั่งสม inner voice หรือเสียงภายในให้กับเรา เป็น reference ภายในที่เรามีเพิ่มขึ้น ขยายฐานทรัพยากรในการคิดของเรา ไม่อย่างนั้นเราจะมีทรัพยากรทางความคิดแบบจำกัด

จริงๆ แล้วที่พูดมาทั้งหมดเป็น concept ของผม พอผมคิดอย่างนี้ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องความสละสลวยของภาษา ผมสนใจเรื่องการแสวงหาความรู้ของคนอื่นมาเพิ่มเติม territory ทางความคิดของเรา ฉะนั้นเวลาที่ผมแปลอาจารย์นิธิมักจะตำหนิผมเป็นประจำ คุณแปลคำต่อคำ วันนี้คุณภัควดีบอกว่า ผมแปลแบบมัดขาบนเส้นเชือก (หัวเราะ)

ภัควดี : ไดเดนพูด

สมเกียรติ : เวลาแปลหนังสือนี้ผมจะค่อนข้างระมัดระวัง เคยอ่านงานของครูที่เป็นนักแปลบาลีบางท่านเตือนว่า อย่าทำตัวเป็นพยัคฆ์ข้ามห้วย คืออันนี้ง่าย ข้ามไปเลย หรืออันไหนไม่รู้ มั่วเลยข้ามเลย ซึ่งการกระทำดังกล่าวมันจะไปทำร้ายคนอ่านทีหลัง พอคิดอย่างนี้ก็เลยไม่ค่อยสนใจความสละสลวย เน้นเอาความถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลานั้นๆ ผมสนใจเรื่อง territory ทางความคิด แต่ถามว่าไม่สนใจความสละสลวยเลยหรือ ก็ไม่ใช่! พักหลังก็สนใจมากขึ้น ก็เพราะมีคนด่านั่นเองเป็นครู

เพราะว่าถ้าคิดแบบของผมก็จะไม่มีใครอ่านรู้เรื่อง ต้องแคร์คนอ่าน คือทำให้มันอ่านง่ายและราบรื่นขึ้น ผมเคยเขียนไว้ในคำนำหนังสือแปลเล่มหนึ่ง ในคำนำผมเขียนว่า ผมทำหน้าที่เป็นบ่อน้ำดิบ ให้คุณ คุณมีหน้าที่ตักน้ำแล้วเอามาต้มให้สุก ผมหาน้ำมาให้คุณแล้วแต่น้ำอาจจะขุ่น หน้าที่ของคุณเวลาที่คุณไปอ่าน คุณไปต้มให้สุกเอง เวลาที่คุณนำไปใช้ คุณจะเขียนใหม่ให้มันดูดีขึ้นก็ได้ แต่พักหลังผมจะดูแลภาษามากขึ้น

รวิมาศ : ประเด็นที่เราอาจจะไม่ได้คุยกัน คือ จริง ๆ การแปล คืองานศิลปะ คือไม่ใช่คำต่อคำแต่ต้องทำออกมาให้มันน่าอ่าน แล้วเรารู้สึกว่าเราพึงพอใจที่เราได้ทำด้วย อ่านแล้วตัวเราเองรู้สึกว่า ใช้ได้ แล้วแปลไม่ใช่คำต่อคำ เราต้องตีความก่อน แปลคือแปลความหมายแต่ไม่ใช่แปลคำ แปลความคิดที่อยู่เบื้องหลัง

จันทร์เพ็ญ : ที่ชอบงานแปลบางอย่าง ไม่เชิงว่าภาษาดีเท่าไหร่ แต่สื่อความหมายออกมาได้ คือ อ่านงานแปลมาก่อน แล้วไปหาต้นฉบับมาอ่านจนได้ เออ.. เขาก็สื่อมาได้ทั้งหมด เขาก็เอา content มาให้เราได้ทั้งหมดแต่ตอนอ่านตอนแรกมันจะรู้สึกว่า ใช่หรือเปล่า คือพยายามจะไปหาตรงนี้มาอ่าน

รวิมาศ : นักวิทยาศาสตร์จริงๆ ก็แล้วแต่ แต่นอกจาก content แล้วมันมีรสของภาษา มันมีมิติที่ไม่ใช่สาระหรือ content ในการอ่านนั้น

จันทร์เพ็ญ : แต่สิ่งที่หลงเหลือจากตรงนั้นเวลาที่อ่านจริงๆ จะรู้สึกว่ามันใช่หรือเปล่า เพราะมันตะกุกตะกัก

ภัควดี : อย่างเช่นการแปลกวีนิพนธ์ คือมันมีคำถามว่าจะเอารสหรือจะเอาเนื้อ ถ้าจะเอาเนื้อยังไงๆ ก็ไม่ได้รส แต่ถ้าเอารสได้แต่ไม่ต้องเอาเนื้อ รสของกวีนิพนธ์ส่วนหนึ่งมันไปผูกอยู่กับรูปแบบของร้อยกรอง

เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเป็นทฤษฎีการแปล อ่านยากมาก ตรงนี้เอโก้เขาถึงพูดถึงการต่อรอง คือหมายถึงว่า ได้ content ครบ ได้เนื้อหาครบแล้วรสล่ะ เอโก้บอกว่านี่คือการต่อรองระหว่าง ๒ อย่าง คือนักแปลต่อรองว่าคุณจะเอาอะไร รสลดไปหน่อยแต่ได้ content ด้วยเอาไหม หรือเอาแต่รสหมดเลยเนื้อหาไม่เอาเลยอย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง อย่างสไตล์เนอร์ เขาจะสนับสนุนเอารสอย่างเดียว ขอให้ได้กระบวนรสเหมือนต้นฉบับ แต่ถ้าเป็นเอโก้ เขาจะต่อรอง

รวิมาศ : อย่างกวีนิพนธ์ ยกตัวอย่าง ปรัชญาชีวิตของคาลิน ยิบราล ที่อาจารย์ระวี ภาวิไล แปล คือได้ทั้งเนื้อหาและรสชาติของภาษา

พิภพ : งานของคาลิน ยิบราลไม่ได้ถึงกับเป็น poem เป็น approach เฉยๆ มันแปลง่ายกว่าอยู่แล้ว แต่ภัควดีพูดเป็นลักษณะที่เป็น poem คำแต่ละคำในกวีมันตีความหมายได้หลายอย่าง อันนี้เป็นความจงใจของกวีที่ใช้คำ ซึ่งการแปลมันเป็นไปไม่ได้ ที่คนแปลจะไปใส่ความหมาย ก็อาจจะทำให้กวียาวไป ๒-๓ เท่า เป็นการตีความมากกว่าเป็นการแปล นอกเหนือจากกวีมีอีกอันน่ะ ซึ่งแปลยาก คนที่พูดคือเวอร์จิเนีย วูฟ สิ่งที่แปลยากที่สุดอันหนึ่งก็คือ"อารมณ์ขัน" เป็นเรื่องของวัฒนธรรม

ภัควดี : โดยทั่วไป ส่วนใหญ่คนที่ทำงานแปลใหม่ๆ มักจะแปลคำต่อคำ หลังจากนั้นจะก้าวไป เริ่มแปลให้ถูกตามความหมาย แล้วมาถึงจุดหนึ่งมันจะเกิดปัญหาคือว่า ในบางกรณีมันจะเกิดกรณีว่าเอ๊ะ ถ้าให้ความหมายถูก มันจะไม่สวย แต่ถ้าจะให้สวยความหมายจะเพี้ยนก็จะต้องต่อรอง บางครั้งที่แปลก็จะใช้หลายๆ อย่าง บางครั้งก็ใช้ลักษณะแบบสหสัมพันธบท ดูว่าบริบทแวดล้อม อย่างเช่น ตอนที่แปลคำว่า kitsch รสนิยมสาธาน ในเรื่องความเบาหวิว เหลือทน ของชีวิตจริงๆ รู้ว่า kitsch ไม่ได้แปลแคว่ารสนิยมสาธาน มันเป็นลักษณะทางศิลปะอย่างหนึ่ง kitsch เป็นภาษาเยอรมัน ตอนที่แปลเป็นรสนิยมสาธาน จริงๆ รู้ว่าถ้าใช้คำๆ นี้มันไม่ตรงทีเดียว แต่ว่ามันตรงกับในนิยายเรื่องนั้น แต่ตอนนั้นเลือกโดยไม่รู้ตัวว่าเราจะใช้วิธีนี้ คือดูจากสหสัมพันธบท

สมเกียรติ : kitsch เวลาที่ผมแปลในงานทางศิลปะ ผมไม่ได้ใช้รสนิยมสาธาน แต่แปลว่า "กำมะลอ" มันปลอม มันไม่ใช่ของแท้ เช่นเอางานของปิกาสโซ่มาลอก แล้วติดฝาผนังที่บ้านเราเรียก kitsch เลียนแบบให้ดูเหมือนของจริง. ลายไทยก็เหมือนกัน ลายรดน้ำของเราชนิดหนึ่ง เราเรียกว่าลายกำมะลอเพราะเราไปลอกมาจากจีน คือจีนเขามีวัสดุที่เรียกรัก ซึ่งใสกว่าของไทยและผสมสีได้ ของไทยเก่งเฉพาะรักดำกับปิดทอง จีนมีรักสี มีรักทีผสมสีได้แล้วเขียนออกมา แต่ของไทยเอามาเลียนแบบด้วยการใช้รักดำ แล้วเขียนสีทับลงไป, over painting บนรัก ไม่ได้อยู่ในเนื้อรัก อย่างนี้เราเรียกกำมะลอ ที่สำคัญผมคิดว่าใครแปลอะไรก็แล้วแต่วงเล็บไว้ข้างหลัง เพราะคนอ่านมาจากหลายสาขาวิชา เวลามาอ่าน เราก็วงเล็บสักนิด ใส่ภาษาต้นฉบับ มันให้อภัยคนแปลได้

พิภพ : เวลาเราสวดมนต์ ถามว่าแปลแล้ว ทำไมไม่สวดแปล ทำไมต้องสวดบาลีเพราะศักดิ์สิทธิ์ มันเป็น myth เป็นการสร้างรหัสยนัยให้คนเชื่อและศรัทธา

สุทธาธร : อาจเป็นเพราะเวลาแปลเป็นไทย แทนที่จะสั้นมันยาวมากหรือเปล่า

พิภพ : อย่างที่บอกทุกคำที่มันแปลออกมามันไม่ ๑๐๐ % มันมีขาดมีเกินที่ผมบอกตั้งแต่ต้นเรื่อง degree of approximation แต่ทางวิทยาศาสตร์เขาจะบอกไม่ได้เลย ไม่ยอมรับ degree of approximation ถามว่าทำไม ไม่ยอมรับเพราะเขาต้องการให้เป็นสถาบันเป็นรหัสยนัย (หัวเราะ)

สุทธาธร : มองในแง่ที่ว่า บางครั้งของทางวิทยาศาสตร์มักจะเป็นอะไรที่ทื่อๆ การที่เราใส่อะไรแล้วมันเกิดการเพี้ยนจากจุดที่มันเคยเป็น พอไปแปลต่อหรือเอาข้อมูลตรงนั้นไปใช้ต่อ อาจจะเกิดการผิดพลาด คิดว่ามองในลักษณะนั้นมากกว่า

จันทร์เพ็ญ : ภาษาไทยมันจะเหมือนมีอารมณ์อยู่ในคำ ในคำมันจะมี positive, negative อะไรอยู่ มันจะมีอารมณ์อยู่ด้วยพอเอามาใส่ในภาษาวิทยาศาสตร์ ตัว fact ตรงนั้นมันแสดงถึงอารมณ์ไม่ได้ อย่างละมุนภัณฑ์ มันละมุนละไม

ชลนภา : ยังสงสัยทำไมงานแปลทางวิทยาศาสตร์มีน้อยกว่าสังคมศาสตร์หรือวรรณกรรมอย่างชาร์ล ดาร์วิน ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย

ภัควดี : แต่ text สังคมศาสตร์ที่มีการแปลก็น้อย มีแต่ประเภทนักวิชาการเขียนถึง เอาง่ายๆ อย่างคนที่เราอ้างมาก ๆ อย่างแม็กซ์ เวเบอร์ ก็ไม่มีแปลเป็นภาษาไทย อย่างมากก็แปลเรื่องทุนของมาร์กซ์, อดัม สมิทซ์ เราไม่มีการแปลเป็นไทย

text ทางประวัติศาสตร์ก็แทบจะไม่มี ส่วนใหญ่เป็นสรุปความคิดมาให้ แต่การแปลจริงๆ ในส่วนตัวก็คิดว่าเป็นปัญหาที่ไม่มีการแปลต้นฉบับออกมาอย่างที่อาจารย์พูดบอกว่า การแปลในแง่หนึ่ง ก็เป็นการขยายพรมแดนทางความรู้ออกไป อย่างประเทศที่เขามีความเจริญทางความคิด เขาจะแปลมาก อย่างหนังสือต่างประเทศออกมาเขาจะแปล เหมือนอย่างสายวรรณกรรมส่วนหนึ่งคิดว่า วรรณกรรมไทยมีการชะงักงันไปพักหนึ่ง เพราะว่าไม่มีการแปลวรรณกรรมร่วมสมัยต่างประเทศออกมาสักเท่าไหร่ ทำให้การเขียนวรรณกรรมของนักเขียนไทยชะงักไปเยอะ หรือว่าแนวคิดทางสังคมศาสตร์ของไทย ก็มีจุดตีบตันตรงนี้หลายอย่าง

เราจะเห็นว่าในบางเรื่องเราจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เท่าที่ตัวเองรู้ อย่างเช่นว่าเมืองไทยหาคนรู้เรื่องละตินอเมริกานั้นไม่มี แสดงว่าอาณาบริเวณศึกษาแทบล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ฟิลิปปินส์ แทบจะไม่มีเท่าที่รู้มีอาจารย์อยู่คนหนึ่งที่รู้เรื่องฟิลิปปินส์ในเมืองไทย ซึ่งไม่ยอมไปพูดที่ไหน. เกาหลีใต้ ความรู้เรื่องเกาหลีใต้ นอกจากแดจังกึม(หัวเราะ)ก็ไม่เห็น. อินโดนีเซียมีอาจารย์อยู่คนสองคน อย่างนี้เป็นต้น ในหลายๆ แง่ของเราถึงมีปัญหาในเรื่องนี้มาก ทำให้การต่อยอดในเชิงทางความคิด มันก็หยุดนิ่งไปมากพอสมควร

พิภพ : ผมว่ามันก็คือการที่เราไปสยบยอมวัฒนธรรมฝรั่ง ทำไม เพราะเราไม่เข้าใจ ก็เหมือนเราไม่เข้าใจศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ทางนิติศาสตร์ก็เหมือนกัน เวลาคุณไปเขียนคำฟ้องต้องอ้างอิงคำละติน ไม่อ้างอิงศาลไม่รับฟ้อง ในศาลตะวันตกจะ strict มากในการเขียนคำฟ้อง ต้องอิงกลับไปที่รากที่เป็นละติน ถามว่าทำไม เพราะว่าคนไทยไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจก็รับมาแบบสยบยอม เรียนรู้แบบเทคนิค ภาษาไม่ใช่เรื่องเทคนิค เราเรียนรู้ว่าเราจะพูดภาษาอังกฤษยังไง เราเรียนรู้เวลาทักทาย How are you? แต่เราไม่เคยถามว่าทำไมต้องพูดว่า How are you?

เราเรียนรู้อย่างเดียวเพื่อจะเป็นอย่างนั้น เลียนแบบอย่างเดียว คำทักทายมีเยอะแยะเต็มไปหมด How are you? ใช้กันน้อยมากในอเมริกาในอังกฤษจะพูด How are you going?ในไอร์แลนด์พูด How is your head? หัวคุณเป็นยังไง ก็คือ How are you? เหมือนกัน แต่เราไม่เคยถาม ปัญหาคือเรารับทุกอย่างมารับมาใช้เชิงเทคนิค How to? แต่ไม่เคยรับในเชิงว่า Why? ทำไมพูดอย่างนั้น

เป็นธรรมดาที่เรามองข้ามอาณาบริเวณของเราตลอดเวลา เพราะเราไปสยบยอมกับสิ่งที่เราไม่รู้ ยิ่งไม่รู้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งไปสยบยอมกับฝรั่งเท่านั้น มันก็กลายเป็นปมด้อยของเราที่สืบทอดมา จริงๆ ผมว่าญี่ปุ่นนี่เหมือนกันน่ะ ที่ว่าแปลเยอะผมไม่แน่ใจว่า จะขยายสติปัญญาของคนญี่ปุ่น เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่น จีน ไม่ด้อยกว่าวัฒนธรรมฝรั่ง ภาษาจีนเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งในโลกเก่ากว่าภาษาอังกฤษและทุกภาษา ภาษาจีนมีตั้งเกือบ ๓,๐๐๐ ปีและเป็นภาษาที่ถ้าเราสามารถเรียนภาษาจีน เราสามารถกลับไปอ่านภาษาจีนโบราณได้ไม่ยาก แสดงว่ามีการสืบทอดมาเป็นระบบมากกว่าภาษาอังกฤษอีก เรากลับไปอ่านภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันไม่ได้ ภาษาละตินยิ่งอ่านไม่ได้อ่านอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้เรียน

เรื่องของภาษา เรื่องของการแปลมันก็อยู่ตรงนี้แหละว่าเข้าใจไหม ทำไมคิดอย่างนั้น ผมแปลงานผมก็ต้องดูทำไมคนเขียนถึงเขียนแบบนี้ ผมไม่เคยสนใจว่าเขียนอะไร แต่ผมสนใจว่าต้องเขียนอย่างนี้ ผมสังเกตอะไรที่มันผิดปกติ ผมไม่ได้สังเกตอะไรที่มันปกติ เพราะปกติมันเลียนแบบกันได้ คือเรื่องๆ เดียวกัน ทำไมนักเขียนคนนี้เขียนอย่างนี้ แต่ผมสนใจว่าเขียนเหมือนคนอื่นยังไง

สมเกียรติ : ผมว่าเราน่าจะคุยเลยไปถึงเรื่องของการ decode ด้วย เพราะว่าการ translate หรือ interpret กับ decode มันต่างกัน อย่างภาษาจีนผมคิดว่าแค่ถอดความออกมาไม่พอ ทุกวันนี้เวลาผมจะสอนหนังสืออย่างเช่น คำว่าศิลปวิจารณ์ ผมจะเปิดพจนานุกรมภาษาจีน แล้วค่อยๆ decode ภาษาภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวหนังสือของภาษาจีนนั้นออกมา อย่างคำว่า"ยุติธรรม" มีคราวหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องไปพูดเรื่องความยุติธรรม ผมกลับไปดูในภาษาจีนปรากฏว่าพบตาชั่งอยู่ในอักษรจีนตัวนั้น

อย่างคำว่า "แม่" ออกเสียงจีนกลางว่า "มา". ในภาษาจีนเขียนคำว่าแม่ จะประกอบด้วยอักษรสองตัวประกอบกัน มีคำว่า"ผู้หญิง"บวกคำว่า"ม้า". ส่วนคำว่า"ผู้ชาย" อ่านว่า"หนัน" มีตัวอักษรอยู่ 2 ตัวประกอบกัน ข้างบนเป็นรูปที่นาเป็นตะแกรง(เขียนภาษาจีนประกอบ) ส่วนข้างล่างนี่แปลว่ามีด คนทำนาเอามีดออกไปด้วย(แปลว่าผู้ชาย). ส่วนคำว่า"ผู้หญิง" อ่านว่า"หนี่ว" เหมือนภาพคนกำลังหาบของ ดูอ้อนแอ้น คือผมคิดว่าอันนี้เป็นระดับของ decode

คำว่า "แม่" ในภาษาจีนมีคำว่า "ผู้หญิง" กับคำว่า "ม้า" บวกกัน แค่รู้ว่าผู้หญิงบวกม้ามันมีความหมายน่ะ ม้าเป็นสัตว์ที่เกือบไม่มีเวลานอน ม้านอนวันหนึ่งไม่เกิน ๒-๓ ชั่วโมง เป็นสัตว์ที่ต้องระวังตัวตลอดเวลา และคนจีนยกย่องมากเพราะมีประโยชน์. คำว่า"ฮูหยิน" ที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ ก็คือ"เมีย"นั่นเอง คำนี้มีคำว่า"ผู้หญิง"กับ"ไม้กวาด" คือคนที่ทำหน้าที่ในบ้าน ทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถู อันนี้ทำให้เรามองเห็นทัศนคติ ค่านิยมของชาวจีนในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ไปพร้อมกัน

เราไม่ใช่เพียงแค่ถอดความ เข้าใจ concept แต่ถ้าเกิดเรากลับไปแกะ ไป decode มันถึงระดับที่มาของภาษา ก่อนที่มันจะมาสนธิกัน สังเคราะห์เข้าด้วยกัน มันมาจากคำว่าอะไร เพราะระดับนั้น เราจะอ่านมันได้ลึกซึ้งมากขึ้น

ภัควดี : ในต่างประเทศส่วนใหญ่ที่เขาแปลกวีนิพนธ์ จะเป็นกวีเป็นส่วนใหญ่ ต่อให้เป็นกวีก็ยังถูกวิจารณ์ บางคนใช้วิธีไม่แปลแต่เขียนเลียนแบบ เขียนเลียนแบบ เขาใช้ imitation สมัยก่อนสมมติว่าบทกวีคนนึง เขียนขึ้นมาใหม่โดยเอาเนื้อหา เอาโครงมาเขียนใหม่ จริงๆ ต้องคิดว่างานแปลเป็นงานที่สั่งสมเรื่อยๆ ปัญหาคือ คนที่วิจารณ์งานแปลบางครั้งไม่เข้าใจ บางทีเราก็คิดว่าทำไมไม่มองมันเป็นงานสั่งสม และในสังคมจำนวนมากอย่างในทางตะวันตก การฟื้นฟูศิลปวิทยาการก็เกิดจากการแปลผิดก็มี ตีความผิด คนละเรื่องที่เขาบอกแปลอริสโตเติลครั้งแรก คนละเรื่องกับที่อริสโตเติลพูด แล้วในขณะเดียวกัน ถ้าบอกว่าแปลไม่ดี ถ้าให้ดีคุณมาแปลซ้ำ โดยทั่วไปการแปลซ้ำจะดีกว่าเดิมเสมอ

พิภพ : เขาเรียกบกพร่องโดยสุจริต (หัวเราะ)

สมเกียรติ : ผมชอบแปล เพราะต้องการเพิ่มเติมพื้นที่เหยียบย่างในการใช้ความคิดให้มากขึ้น ผมเคยคุยกับอาจารย์นิธิ จริงๆ ผมแปลทุกเรื่องที่น่าสนใจและคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน แบบไม่อยู่ในแบบแผนเรื่องอะไรโดยเฉพาะ ผมเคยเสนออาจารย์นิธิว่าผมอยาก"แปลตามอำเภอใจ" "อาจารย์พอจะหาทุนให้ผมแปลตามอำเภอใจได้ไหมครับ" ผมถาม. อาจารย์งงมาก บอกว่าแล้วผมจะไปหาทุนให้คุณได้ไง "แปลตามอำเภอใจ" (หัวเราะ)

นอกจากนี้อาจารย์ลองอ่านงานแปลของผมแล้ว มันไม่ได้เรื่อง พอดีบนโต๊ะมีหนังสือเรื่อง"สมันยาแห่งดอกกุหลาบ"ที่ผมกำลังอ่านอยู่ใกล้ๆ อาจารย์หยิบขึ้นมา แล้วนำมาให้ผม "คุณลองอ่านซิ แค่บทแรกอ่านเฉพาะช่วงนี้สั้นๆ คุณว่าเขาแปลดีไหม" ผมตอบว่าจะมาเทียบกับผมได้ไง นั้นเขามืออาชีพ (หัวเราะ) อาจารย์ชอบสมันยาแห่งดอกกุหลาบ

ภัควดี : แต่เล่มนั้นเป็นเล่มที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด ความจริงเรื่องนี้มี ๒ เวอร์ชั่น ตอนแรกที่แปลอยากแปลเพราะว่า ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้พิมพ์ แต่แปลเพราะตอนนั้นเราไปอ่านงานของแสงทองมาก เป็นนักแปลเหมือนกันภาษาสวยมาก เราอ่านแล้วเรารู้สึกคลั่งไคล้ เล่มนี้ใช้ภาษาเก่าได้เราก็เลยเอามาแปล

พอเจอสำนักพิมพ์คบไฟ เขาบอกเขาจะพิมพ์ ตอนนั้นแปลไปได้ส่วนหนึ่ง แล้วมาคิดว่าจะต้องแก้ภาษาไหมให้คนอ่านรู้เรื่อง ตัดสินใจว่าอย่าแก้ดีกว่า อันนี้เป็นความเชื่อของตัวเองส่วนหนึ่งว่า ศัพท์มันอยู่ที่ว่าเอามาใช้หรือไม่เอามาใช้ ถ้าไม่เอามาใช้มันก็ตาย และมีศัพท์ของไทยจำนวนหนึ่ง เพราะความกลัวว่าจะยากเกินไปเลยไม่เอามาใช้ เช่น สีข้างของสัตว์มีคำหนึ่งคือคำว่า "สวาบ" เป็นคำไทยที่หายไป ซึ่งมันจะตรงมากแต่มันหายไป. ในขณะที่คำว่า "muzzle" ที่แปลว่า "ปากของสุนัข" ทีอย่างนี้เรายอมรับฝรั่งใช้ muzzle เรายอมรับฝรั่งใช้คำนี้ แต่ทำไมเวลาลองใช้คำว่า"สวาบ" คนบอกว่าเราพูดไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่เป็นคำอยู่ในพจนานุกรมด้วย

ตอนนั้นก็เลยคิดว่าไม่แก้เอาแบบนั้นเลย พิมพ์มาเสร็จก็ถูกวิจารณ์แต่ก็มีคนอ่านพวกหนึ่งชอบมาก อีกพวกหนึ่งบอกว่าหนังสือแปลเล่มนี้อ่านไม่รู้เรื่อง พอดีว่าคนที่วิจารณ์บางคนเป็นคนซึ่งมีชื่อเสียง เขาไม่ได้งานเล่มนี้จนจบ อ่านไปนิดเดียวแล้วเขาก็บอกว่าภาษาไม่ดี คือใช้ภาษาอ่านไม่รู้เรื่อง ทางสำนักพิมพ์คบไฟเขาก็เลยไม่สบายใจ บอกว่าให้เราแก้ได้ไหม? เราก็รู้ว่าชิ้นแรกมันมีข้อบกพร่อง ในหลายๆ อย่าง คือแปลตรงมากไป แปลคำต่อคำมากไป ก็เลยนำไปแก้ซึ่งก็แตกต่างกันพอสมควรกับเวอร์ชั่นแรก แต่บางอย่างก็ยังคงไว้ เลยมีต้นฉบับ ๒ ชิ้น อันแรกเป็นอันที่ใช้ภาษาแบบเดิมไปเลย

สมเกียรติ : ภาษาเก่ากว่าความเป็นจริงนิดหน่อย แต่มันต้องเก่าเพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยกลาง ศตวรรษที่ ๑๓ คุณภัควดีต้องการจะแปลให้ได้รสของภาษาในสมัยกลาง ซึ่งของเราก็คือการย้อนยุค การใช้ภาษาซึ่งมันเกือบจะเป็นไวพจน์กัน

ภัควดี : แต่บางคนเขาบอกว่าต้นฉบับของเอโก้ เขียนไม่ได้ยากเท่านั้นแต่ความจริงต้นฉบับเอโก้มันจะไม่ยากที่บทสนทนา มันจะเป็นภาษาที่ค่อนข้างใหม่ แต่ถ้าเป็นภาษาบรรยายก็พอกัน

พิภพ : ของเอโก้เป็นงานแปลมาอีกที

ภัควดี : คนอ่านมีรุ่นพี่อยู่คนนึง เขาบอกว่า เขาอ่าน ๒ ชิ้นที่แปล เขาชอบอันแรกมากกว่าเพราะเขาอ่านแล้วรู้สึกน่ากลัวดี มันให้บรรยากาศตอนเข้าเขาวงกต หอสมุด เขาบอกว่าอ่านแล้วกลัวมาก พออ่านฉบับที่สอง เขาบอกว่าเฉยๆ แต่ฉบับที่สองน่าจะดีกว่า เพราะมันมีการแก้ซ้ำ เพราะงานทุกอย่างแก้ซ้ำ มันก็แก้ได้เรื่อยๆ

ณัฏฐิรา ก๋าวินจันทร์ : ถอดความจากการบันทึกเสียง

(คลิกกลับไปอ่านตอนที่ ๑)

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
280449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

บางคนก็พูดในเชิงดูถูกดูแคลนก็มี อย่างสำนวนภาษาอิตาเลียนที่บอกว่า "การแปลก็คือการทรยศ" เพราะว่ามันไม่มีการแปลอะไรที่จะได้เทียบเท่ากับภาษาเดิม นี่เป็นความเชื่อของเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนักเขียนเป็นจำนวนมากที่ยกย่องงานแปล อย่างเช่น คนที่ยกย่องมาก คือ เกอเต้ ยกย่องงานแปลมากและในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นนักแปลด้วย เกอเต้จะเกี่ยวข้องกับงานแปลมาก และก็มีนักเขียนบางคนอย่าง ดับบลิว เอช อาร์เดน เขาบอกว่านักแปลที่ดีต้องมีคุณสมบัติ ๒ อย่างในตัว และต้องมีควบคู่กัน - อันที่หนึ่ง คุณจะต้องมีความเป็นบัณฑิตอย่างที่สุด
- อีกด้านหนึ่ง คุณจะต้องเป็นคนที่โง่บัดซบเลยที่จะมาทำงานนี้

 
The Midnightuniv website