นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



นักปรัชญาพูดเรื่องการแปลภาษา
เกอเธ่และโชเปนฮาวเออร์ : การแปลภาษาและถ้อยคำ

ภัควดี วีระภาสพงษ์

นักแปล และนักวิชาการอิสระ


หมายเหตุกองบรรณาธิการ
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้แปล
เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักปรัชญาพูดถึงเรื่องของแปลภาษา-หนังสือ
โดยแบ่งประเภทของการแปลได้หลายประเภท
รวมทั้งการทำความเข้าในมโนทัศน์เกี่ยวกับถ้อยคำในภาษาอื่น
สำหรับบทความนี้ประกอบด้วยเรื่องเกี่ยวกับการแปล ๒ เรื่องคือ
๑. โยฮันน์ วูล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ : การแปล
๒. อาเธอร์ โชเปนฮาวเออร์ : ว่าด้วยภาษาและถ้อยคำ
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 892
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)



เกอเธ่และโชเปนฮาวเออร์ : การแปลภาษาและถ้อยคำ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง

1. โยฮันน์ วูล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ : การแปล
2. อาเธอร์ โชเปนฮาวเออร์ : ว่าด้วยภาษาและถ้อยคำ

1. โยฮันน์ วูล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ : การแปล
Johann Wolfgang von Goethe (1) : Translations
แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Sharon Sloan

การแปลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. การแปลเป็นร้อยแก้ว
2. การแปลโดยการเลียนแบบ
3. การแปลที่บรรลุกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับต้นฉบับ

1. การแปลเป็นร้อยแก้ว
การแปลมีสามประเภท ประเภทแรกแนะนำให้เรารู้จักประเทศต่างด้าวในสำนวนภาษาของเราเอง การแปลด้วยร้อยแก้วธรรมดาเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับวัตถุประสงค์นี้ ร้อยแก้วเหมาะที่สุดที่จะใช้เป็นการแนะนำ มันถอดฉันทลักษณ์ของศิลปะแห่งกวีนิพนธ์ออกไปจนหมด และสยบแม้แต่ระลอกคลื่นครื้นครั่นที่สุดของพลังกวีให้เหลือแค่น้ำนิ่งได้ การแปลเป็นร้อยแก้วธรรมดาช่วยให้เราได้ตื่นตาตื่นใจกับความงามแบบต่างด้าว โดยที่ยังอยู่ท่ามกลางความรู้สึกนึกคิดประจำชาติของเราเอง ในชีวิตประจำวันของเรา และโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น การแปลช่วยยกระดับตัวเรา โดยถ่ายเทอากาศที่สูงส่งกว่าเข้ามาในชีวิตของเรา งานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของท่านลูเธอร์จะก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ทุกครั้งที่อ่าน

ยกตัวอย่างเช่น น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากมีการแปล Nibelungen(2) เป็นร้อยแก้วที่เรียบเรียงอย่างดีเสียตั้งแต่แรก และจัดประเภทให้เป็นวรรณคดีพื้นบ้าน รสชาติอันป่าเถื่อน มืดมน เคร่งเครียดและแปลกประหลาดของยุคอัศวินสมัยกลาง จะยังคงส่งผ่านมาถึงเราด้วยพลังเต็มเปี่ยม การแปลแบบนี้ยังทำได้หรือสมควรทำหรือไม่ในตอนนี้ คงต้องปล่อยให้บรรดาเอตทัคคะทางด้านวรรณคดีโบราณเป็นผู้ตัดสินใจ จะเป็นการดีที่สุด

2. การแปลโดยการเลียนแบบ
ยุคที่สองของการแปลเกิดตามมา เมื่อนักแปลพยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะของความเป็นต่างชาติ แต่ทั้งนี้เพียงเพื่อดูดซับเอาแนวความคิดแบบต่างประเทศและเอามานำเสนอเป็นของตัวเอง ข้าพเจ้าอยากเรียกการแปลประเภทนี้ว่า การเขียนเลียนแบบ (parodistic) โดยใช้ในความหมายที่พื้นฐานที่สุดของคำ ๆ นี้

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้เปรื่องปฏิภาณมักนิยมการเขียนเลียนแบบ ชาวฝรั่งเศสใช้วิธีนี้ในการแปลผลงานกวีนิพนธ์ทั้งหมด: มีตัวอย่างหลายร้อยตัวอย่างในงานแปลของเดอลีล(3) ทำนองเดียวกับที่ชาวฝรั่งเศสปรับประยุกต์คำภาษาต่างประเทศ ให้เข้ากับการออกเสียงแบบของตน ชาวฝรั่งเศสยังปรับแต่งความรู้สึก ความคิด แม้กระทั่งวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ด้วย ผลไม้ต่างประเทศทุกชนิด ต้องมีผลไม้ที่งอกบนดินฝรั่งเศสมาเทียบแทนกัน

งานแปลของวีลัน(4) ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ วีลันเองมีความเข้าใจและรสนิยมเฉพาะตน ซึ่งเขานำมาปรับใช้กับวรรณคดีโบราณและประเทศต่างด้าวตามแต่ตัวเขาจะเห็นสมควร นักแปลผู้ยอดเยี่ยมคนนี้ถือเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย เขามีอิทธิพลอย่างล้นเหลือเสียจนไม่ว่าอะไรก็ตามที่ถูกใจเขา ไม่ว่าเขาจะซึมซับและถ่ายทอดต่อคนร่วมยุคสมัยอย่างไร ทุกคนก็ตอบรับอย่างดีและชื่นชอบผลงานของเขาเสมอ

3. การแปลที่บรรลุกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับต้นฉบับ
เพราะเราไม่สามารถอ้อยอิ่งอยู่ได้นานนัก ไม่ว่าในสภาวะที่สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องเปลี่ยนผ่านจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง เราจึงได้พานพบกับการแปลยุคที่สาม ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายและขั้นสูงสุดของสามยุค ในยุคนี้ เป้าหมายของการแปลคือการบรรลุถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยสมบูรณ์กับต้นฉบับเดิม จนกระทั่งงานแปลไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อแทนที่ต้นฉบับ แต่อยู่ในสถานะของต้นฉบับ

งานแปลประเภทนี้ต้องเผชิญกับการต่อต้านรุนแรงในระยะแรก ทั้งนี้เพราะนักแปลผูกพันแน่นแฟ้นกับต้นฉบับ จนเขาละทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติตนเองไปไม่มากก็น้อย และสร้างสรรค์งานแปลประเภทที่สามนี้ ซึ่งรสนิยมของมหาชนต้องอาศัยเวลาถึงจะไล่ตามทัน

ในตอนแรก แวดวงนักอ่านไม่พอใจกับงานของฟอสส์(5) (ผู้ที่เราชื่นชมสักเท่าไรก็ไม่พอแก่คุณูปการที่เขาสร้างไว้) จนกระทั่งเมื่อหูของมหาชนค่อย ๆ ปรับตัวเข้ากับการแปลประเภทใหม่และเริ่มคุ้นเคยกับมัน บัดนี้ ใครก็ตามที่ประเมินถึงขอบเขตของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ความหลากหลายที่ชักนำเข้ามาสู่ชาวเยอรมัน สัมผัสและจังหวะที่กลายเป็นผลดีต่อผู้เริ่มต้นที่มีใจและมีความสามารถ การที่อารีโอสโต(6) และทาสโซ เช็คสเปียร์และกัลเดรอน(7) ถูกนำมาให้เรารู้จักมากขึ้นเป็นสองหรือสามเท่า ในฐานะนักประพันธ์ต่างชาติที่กลายร่างเป็นเยอรมัน ก็ได้แต่หวังว่า ประวัติวรรณกรรมจะยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ใครเป็นคนแรกที่เลือกเส้นทางนี้ ทั้ง ๆ ที่มีอุปสรรคนานัปการก็ตาม

ผลงานของฟอน ฮัมเมอร์(8) ส่วนใหญ่เป็นการแปลงานชิ้นเอกของตะวันออกด้วยวิธีการคล้ายคลึงกัน เขาเสนอแนะว่า การแปลควรทำให้ใกล้เคียงกับรูปแบบภายนอกของต้นฉบับดั้งเดิมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ การแปลผลงานบางบทของเฟอร์ดูซี ที่เพื่อนเราคนนี้ผลิตออกมาน่าเชื่อถือแค่ไหน ย่อมพิสูจน์ได้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการแปลงแบบประยุกต์ที่มีตัวอย่างให้หาอ่านได้ในหนังสือ Fundgruben (9) ในทัศนะของเรา การบิดเบือนกวีจนพิกลพิการไปเช่นนี้เป็นความผิดพลาดที่น่าเศร้าที่สุด ที่นักแปลผู้ขยันขันแข็งและมีความสามารถอาจกระทำได้ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในวรรณคดีทุกประเภทมีงานแปลทั้งสามยุคปรากฏซ้ำและย้อนหลังสวนทางเสมอ รวมทั้งดำรงอยู่พร้อมกันด้วย การแปล Shahnama (10) และงานเขียนของนิซามิเป็นร้อยแก้วยังมีประโยชน์อยู่ เหมาะสำหรับการอ่านเอาเรื่อง ซึ่งจะช่วยไขให้เห็นความหมายที่เป็นแก่นของผลงานเหล่านั้น เราสามารถประเทืองปัญญากับประวัติศาสตร์ ตำนาน ข้อคิดทางจริยธรรม และค่อย ๆ ทำความคุ้นเคยกับทัศนคติและวิถีการคิด จนกระทั่งรู้สึกสนิทใจกับมันได้ในที่สุด

ลองนึกถึงเสียงแซ่ซ้องอย่างไม่มีข้อกังขาที่เราชาวเยอรมันมีต่องานแปลอย่าง ศกุนตลา ซึ่งความสำเร็จคงต้องยกความดีความชอบส่วนใหญ่ให้แก่การแปลเป็นภาษาร้อยแก้ว ที่ถอดเอาความเป็นกวีนิพนธ์ออกไป บัดนี้ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะมีการแปลซ้ำใหม่ในรูปแบบที่สาม ซึ่งไม่เพียงต้องตรงกับภาษาพื้นถิ่นต่าง ๆ สัมผัส จังหวะและสำนวนดั้งเดิมในต้นฉบับ แต่ยังพลิกฟื้นเอาความเป็นกวีนิพนธ์ที่มีลักษณะเฉพาะอันแตกต่างจากเราขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบที่ไพเราะรื่นหูด้วย ในเมื่อต้นฉบับของผลงานอมตะชิ้นนี้มีอยู่ในปารีส หากมีชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ที่นั่นสักคนยอมแบกรับภาระนี้ เขาย่อมได้รับคำสรรเสริญอย่างไม่มีสิ้นสุด

ในทำนองเดียวกัน นักแปลชาวอังกฤษผู้แปล Messenger of the Clouds (11) สมควรได้รับความชื่นชมทุกประการ เหตุผลง่าย ๆ ก็เพราะ การที่เราได้รู้จักกับผลงานแบบนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตของเราเสมอ แต่งานแปลของเขาจัดอยู่ในยุคที่สองอย่างแท้จริง ใช้วิธีเรียบเรียงถอดความและขยายความเข้ามาช่วย ในการแปลยังเอาใจหูและประสาทสัมผัสของชาวซีกโลกเหนือด้วยฉันทลักษณ์แบบ iambic pentameter

ข้าพเจ้ายังติดค้างคำขอบคุณที่ต้องมอบให้แก่โคเซการ์เทน(12) ที่แปลบทกวีบางบทจากภาษาต้นฉบับโดยตรง มันช่างให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ผู้แปลชาวอังกฤษยังถือวิสาสะตามอำเภอใจในบางแง่ด้วย คือมีการยักย้ายเปลี่ยนแปลงท่วงทำนองหลักของเรื่อง ซึ่งดวงตาสุนทรียะที่เชี่ยวชาญย่อมจับติดและติเตียนในทันที

เหตุผลที่เราเรียกการแปลยุคที่สามว่าเป็นยุคสุดท้ายด้วย สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ สั้น ๆ ดังนี้ งานแปลที่พยายามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับต้นฉบับ ย่อมใกล้เคียงที่สุดกับการแปลแบบบรรทัดต่อบรรทัด และเอื้อต่อการเข้าใจต้นฉบับอย่างยิ่ง ใช่ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราย่อมถูกชักนำกลับไปหาต้นฉบับภาษาเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อนั้น วงจรที่ความแปลกแยกกับความคุ้นเคย สิ่งที่รู้กับสิ่งที่ไม่รู้ ซึ่งเคลื่อนเข้ามาหากันอยู่เสมอ ย่อมบรรจบสมบูรณ์ในท้ายที่สุด

2. อาเธอร์ โชเปนฮาวเออร์ : ว่าด้วยภาษาและถ้อยคำ
Arthur Schopenhauer : On Language and Words (13)
แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Peter Mollenhauer

ถ้อยคำคือสาระที่ยืนยงที่สุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เมื่อใดที่กวีผู้หนึ่งดักเก็บความรู้สึกวูบไหวที่สุดเอาไว้ในถ้อยคำที่เหมาะสมที่สุดได้ เมื่อนั้น อารมณ์ที่กลายร่างเป็นถ้อยคำจะคงอยู่ต่อไปนับพันปี และจะเบ่งบานขึ้นใหม่ทุกครั้งในใจผู้อ่านที่ละเอียดอ่อนทุกคน...

ใช่ว่าทุกถ้อยคำในภาษาหนึ่งมีคำแปลที่เทียบเท่ากันได้อย่างแท้จริงในอีกภาษาหนึ่ง เพราะฉะนั้น ใช่ว่าทุกมโนทัศน์ที่แสดงออกผ่านถ้อยคำในภาษาหนึ่งจะเป็นคู่แฝดกับมโนทัศน์ที่แสดงออกผ่านถ้อยคำในอีกภาษาหนึ่งได้...

บางครั้ง ในบางภาษาก็ขาดถ้อยคำที่ใช้แทนมโนทัศน์บางอย่าง แม้ว่ามโนทัศน์นั้นอาจมีอยู่ในภาษาอื่น ๆ เกือบทุกภาษาก็ตาม ตัวอย่างที่ชอบอ้างกันบ่อย ๆ จนเฝือก็คือ การที่ภาษาฝรั่งเศสไม่มีคำที่เทียบเท่ากับคำว่า "to stand" ในอีกด้านหนึ่ง มีบางมโนทัศน์ที่มีถ้อยคำสำหรับแสดงออกอยู่ในภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น แล้วภาษาอื่น ๆ จึงรับไปใช้ตามบ้าง...

มีบ้างเหมือนกันที่ภาษาต่างประเทศภาษาหนึ่ง ทำให้เราได้รู้จักมโนทัศน์ที่ผิดแผกออกไปเล็กน้อย ซึ่งไม่มีถ้อยคำที่แสดงออกได้เที่ยงตรงในภาษาของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครก็ตามที่ใส่ใจถี่ถ้วนในการเสนอความคิดอย่างถูกต้องเที่ยงตรง ย่อมนำคำภาษาต่างประเทศคำนั้นมาใช้โดยตรง โดยไม่แยแสเสียงโวยวายของนักอนุรักษ์ภาษาเถรตรงทั้งหลาย

ในทุกกรณีที่ถ้อยคำบางคำไม่สามารถหาคำคู่แฝดในอีกภาษาหนึ่ง ที่ให้มโนทัศน์เหมือนกันสนิทได้ พจนานุกรมจะเสนอคำพ้องหรือคำที่มีความหมายใกล้เคียงหลาย ๆ คำ ทุกคำกินความหมายของมโนทัศน์นั้น แต่ก็ไม่ถูกเผงเสียทีเดียว มันเพียงแต่ชี้ให้เห็นพรมแดนของความหมายที่ขีดเส้นอาณาเขตที่มโนทัศน์นั้นจะเคลื่อนไหวครอบคลุมได้... นี่คือสาเหตุที่การแปลย่อมมีความบกพร่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยากยิ่งที่ประโยคที่มีลักษณะเฉพาะ กระชับและมีนัยสำคัญ จะโยกย้ายถ่ายโอนจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง จนสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิงในภาษาใหม่ แม้กระทั่งในประเภทร้อยแก้ว การแปลที่ใกล้เคียงความสมบูรณ์ที่สุด อย่างดีก็แค่เชื่อมโยงกับต้นฉบับในแบบเดียวกับที่บทประพันธ์ดนตรีท่อนหนึ่ง เชื่อมโยงกับการนำมาบรรเลงในอีกบันไดเสียงหนึ่ง นักดนตรีย่อมเข้าใจเรื่องนี้ดี

งานแปลทุกชิ้น ถ้าไม่ตายซากและใช้ลีลาสำนวนที่เค้น แข็งกระด้างและไม่เป็นธรรมชาติ มันก็ต้องสลัดตัวเองให้หลุดจากข้อจำกัดของการยึดติดกับภาษา และพอใจแค่ความหมายในแบบ ? peu pr?s ซึ่งฟังผิดไปจากเดิม ห้องสมุดงานแปลก็คล้ายกับห้องแสดงศิลปะที่มีแต่ภาพวาดที่เอามาพิมพ์ซ้ำ ดูอย่างการแปลงานประพันธ์ของนักเขียนสมัยโบราณสิ: มันเป็นได้แค่ของเลียนแบบชัด ๆ ไม่ต่างจากรากชิโครีคั่วที่ใช้ชงแทนกาแฟ กวีนิพนธ์นั้นแปลไม่ได้ ทำได้แค่เรียบเรียงใหม่ กระนั้นก็ยังกระโดกกระเดกเสมอ

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเราเรียนรู้ภาษาใหม่ ปัญหาหลักจึงอยู่ที่การทำความเข้าใจมโนทัศน์ที่ภาษาต่างประเทศนั้นมีถ้อยคำแสดง แต่ในภาษาของเราหามีคำเทียบเท่าที่เที่ยงตรงไม่---ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้น ในการเรียนภาษาต่างประเทศ เราจึงต้องทำแผนที่สำรวจมโนทัศน์ใหม่ ๆ หลายประการซึ่งไม่เคยมีอยู่มาก่อนขึ้นมาในดวงความคิดของเรา ผลที่ตามมาก็คือ เราไม่เพียงเรียนรู้ถ้อยคำ แต่ยังได้มโนทัศน์มาด้วย

นี่ยิ่งเป็นความจริงในการเรียนภาษายุคคลาสสิก เนื่องจากคนโบราณมีวิธีสื่อสารแตกต่างไปจากภาษาของเรามาก มากยิ่งกว่าที่ภาษาสมัยใหม่แตกต่างจากกันและกัน ประเด็นนี้ชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุดเมื่อต้องแปลไปเป็นภาษาละติน เราต้องใช้วิธีสื่อความหมายที่แตกต่างจากต้นฉบับโดยสิ้นเชิง อันที่จริง ความคิดต่าง ๆ ที่ต้องการโอนถ่ายไปเป็นภาษาละตินจะต้องนำมาจัดองค์ประกอบและขึ้นรูปใหม่ทั้งหมด เราต้องนำความคิดมาแตกย่อยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สุด แล้วนำมาจัดขึ้นรูปเป็นภาษาใหม่ ด้วยกระบวนการเช่นนี้ ที่จิตจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งยวดจากการเรียนภาษาโบราณ

เราสามารถหยั่งซึ้งถึงจิตวิญญาณของภาษาที่ต้องการเรียน ก็ต่อเมื่อยึดกุมมโนทัศน์ที่ภาษานั้นบ่งชี้ผ่านถ้อยคำแต่ละคำได้อย่างถูกต้องแล้ว รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงคำแต่ละคำเข้ากับมโนทัศน์ที่สอดรับในภาษาต่างประเทศได้ทันที เราไม่มีทางยึดกุมจิตวิญญาณของภาษาต่างชาติได้ ถ้าเราแปลแต่ละคำเป็นภาษาแม่ของเราก่อน แล้วเชื่อมโยงคำเข้ากับมโนทัศน์ที่ใกล้เคียงในภาษาของเรา ---ซึ่งมักไม่ตรงกับมโนทัศน์ในภาษาต้นทาง--- เมื่อทำเช่นเดียวกันกับทั้งประโยค ผลลัพธ์ก็ออกมาไม่แตกต่างกัน

หากคน ๆ หนึ่งยึดกุมจิตวิญญาณของภาษาต่างประเทศได้มั่นเหมาะ คน ๆ นั้นย่อมก้าวกระโดดก้าวใหญ่ เข้าสู่ความเข้าใจในชนชาติที่พูดภาษานั้น เพราะดังเช่นบุคลิกย่อมเชื่อมโยงกับจิตของปัจเจกบุคคลฉันใด ภาษาย่อมเชื่อมโยงกับจิตของชนชาติฉันนั้น ความเป็นนายเหนือภาษาอื่นอย่างสมบูรณ์เกิดขึ้นเมื่อคน ๆ นั้นไม่เพียงสามารถแปลหนังสือ แต่สามารถแปลตัวเองเข้าไปอยู่ในภาษาอื่น ทั้งที่ไม่ได้สูญเสียปัจเจกภาพของตัวเองไป ก็ยังสามารถสื่อสารในภาษานั้นได้ทันที และสร้างความพอใจให้แก่ชาวต่างชาติได้เท่า ๆ กับเพื่อนร่วมชาติของตน

คนที่มีความสามารถทางปัญญาจำกัด จะเชี่ยวชาญในภาษาต่างชาติได้ไม่ง่ายนัก คนประเภทนี้เรียนรู้ถ้อยคำได้ก็จริง แต่พวกเขาใช้ถ้อยคำเพียงแค่ในความหมายที่เทียบเคียงอย่างหยาบ ๆ กับภาษาแม่ของตนเท่านั้น และยังคงใช้วิธีสื่อความหมายและประโยคที่ผูกติดอยู่กับภาษาแม่เสมอ ไม่สามารถบรรลุถึง "จิตวิญญาณ" ของภาษาต่างชาติได้

เรื่องนี้อธิบายได้จากความจริงที่ว่า การคิดของคนประเภทนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสารัตถะในตัวเอง แต่ส่วนใหญ่เป็นการหยิบยืมมาจากภาษาแม่ โดยหยิบเอาสำนวนและการสื่อความหมายในขณะนั้นมาใช้แทนความคิดของตน ดังนั้น พวกเขาจึงรู้จักแต่สำนวนการพูดที่ใช้กันจนเกร่อ (วลีคร่ำครึ phrases banales) ในภาษาของตน แล้วจับมาผสมรวมกันอย่างขัดเขิน จนรู้ได้ทันทีว่าพวกเขาเข้าใจความหมายที่ตัวเองกำลังพูดเพียงพร่องแพร่ง และการคิดทั้งหมดของพวกเขามีเกินกว่าแค่การรู้จักพูดจาเพียงเล็กน้อย ไม่ต่างจากการพูดอย่างไร้ความคิดของนกแก้วนกขุนทองสักเท่าไร

ในทางตรงกันข้าม หากคน ๆ หนึ่งสามารถสร้างความแปลกใหม่ในการสื่อความหมายและรู้จักใช้รูปแบบเฉพาะตัวที่เหมาะสม นั่นย่อมเป็นข้อบ่งชี้ถึงจิตที่เหนือกว่าอย่างไม่มีทางผิดพลาดไปได้

จากทั้งหมดที่พรรณนามาข้างต้น เห็นได้ชัดว่ามโนทัศน์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ความหมายแก่สัญญะใหม่ ๆ ยิ่งกว่านั้นยังเห็นชัดด้วยว่า มโนทัศน์ต่าง ๆ ที่รวมกัน ใช้อธิบายถึงมโนทัศน์ที่ใหญ่กว่าและคลุมเครือกว่า เนื่องจากมีคำเพียงคำเดียวที่ใช้แทนมันได้ ก็ยังสามารถขัดเกลาโดยเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง และความเชื่อมโยงที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนจะถูกค้นพบ เพราะภาษาต่างชาติย่อมสื่อถึงมโนทัศน์โดยอาศัยภาษาภาพพจน์หรือการอุปมาอุปไมยที่มีอยู่ดั้งเดิมในภาษานั้น ดังนั้น ความใกล้เคียง ความคล้ายคลึง ความแตกต่าง และความสัมพันธ์ที่มีอยู่นับไม่ถ้วนระหว่างวัตถุต่าง ๆ จึงผุดขึ้นมาอยู่ในระดับของจิตสำนึก โดยเป็นผลพวงมาจากการเรียนภาษาใหม่ และทำให้เราประจักษ์ถึงมุมมองหลายชั้นหลายเชิงของปรากฏการณ์ทั้งหมด

นี่เป็นการยืนยันว่า คนเราคิดแตกต่างกันไปในทุกภาษา การคิดของเรามีการปรับเปลี่ยนและถูกปรุงแต่งใหม่ในระหว่างการเรียนรู้ภาษาต่างชาติแต่ละภาษา และการรู้หลายภาษา นอกจากข้อได้เปรียบที่เห็นชัด ๆ มากมายแล้ว ยังเป็นวิธีการให้ความรู้แก่จิตโดยตรง แก้ไขและปรับปรุงการรับรู้ของเราให้สมบูรณ์ขึ้น โดยอาศัยความหลากหลายที่ปรากฏให้เห็นและการขัดเกลามโนทัศน์

ในขณะเดียวกัน การรู้หลายภาษาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้การคิด เพราะโดยกระบวนการเรียนรู้หลาย ๆ ภาษา มโนทัศน์จะแยกขาดออกจากถ้อยคำมากขึ้นเรื่อย ๆ การเรียนภาษาในยุคคลาสสิกยิ่งส่งผลในด้านนี้มากกว่าภาษาสมัยใหม่ เพราะมันแตกต่างไปจากภาษาของเรา ความแตกต่างนี้ไม่เหลือที่ให้กับการแปลแบบคำต่อคำ แต่บังคับให้เราแตกแยกย่อยความคิดทั้งหมดและประกอบมันขึ้นมาใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม หรือ (หากจะขอนำการเปรียบเทียบในวิชาเคมีมาใช้)

ขณะที่การแปลภาษาสมัยใหม่ภาษาหนึ่งไปเป็นภาษาสมัยใหม่อีกภาษาหนึ่ง เราเพียงแต่แตกประโยคที่ต้องการแปลออกเป็นองค์ประกอบย่อย แล้วจับมันมารวมกันใหม่ ส่วนการแปลเป็นภาษาละตินมักจะต้องแยกย่อยประโยคออกเป็นองค์ประกอบที่พื้นฐานที่สุดอย่างละเอียด (นั่นคือ เนื้อหาทางความคิดล้วน ๆ) แล้วจึงนำมาสร้างเป็นประโยคขึ้นใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น บ่อยครั้งที่คำนามในข้อความของภาษาหนึ่งต้องย้ายไปเป็นคำกริยาในอีกภาษาหนึ่ง หรือไม่ก็กลับกัน ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ อีกมาก กระบวนการแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นเช่นกัน เมื่อเราแปลภาษายุคคลาสสิกเป็นภาษาสมัยใหม่ มันจึงช่วยเผยให้เห็นถึงระยะห่างของความสัมพันธ์ที่เรามีกับนักประพันธ์ในยุคคลาสสิก โดยอาศัยการแปลนั่นเอง...

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) จาก "?bersetzungen," Noten und Abhandlungen zum bessern Verstandnis des westostlichen Divans (Stuttgart , 1819).

(2) วรรณคดีประจำชาติของเยอรมัน เป็นเรื่องราวของเจ้าชายซิกฟรีดผู้เกรียงไกร เต็มไปด้วยการล้างแค้นและการสังหารหมู่

(3) Abb? Jacques Delille นักแปลชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง และมีผลงานจำนวนมากในยุคร่วมสมัยกับเกอเธ่

(4) Christoph Martin Wieland แปลบทละคร 22 เรื่องของเช็คสเปียร์เป็นภาษาเยอรมัน ในระหว่างปี ค.ศ. 1762-1766

(5) Johann Heinrich Voss นักแปลชาวเยอรมันที่แปลงานของโฮเมอร์ โดยใช้ฉันทลักษณ์แบบ hexameters (บทกวีบาทหนึ่งมีหกจังหวะ)

(6) Ludovico Ariosto (1474-1533) กวีชาวอิตาเลียน

(7) Calder?n de la Barca (1600-81) นักเขียนบทละครและกวีชาวสเปน เป็นผู้ประพันธ์บทละครถึง 120 เรื่อง

(8) Joseph von Hammer-Purgstall นักบูรพาคดีศึกษาชาวเวียนนา

(9) Fundgruben des Orients งานเขียนวิจารณ์ด้านบูรพาคดีศึกษาที่ ฟอน ฮัมเมอร์ เป็นบรรณาธิการ

(10) The Book of Kings กวีนิพนธ์ขนาดยาวของเฟอร์ดูซี (Firdusi) กวีชาวเปอร์เซีย

(11) บทละครเรื่อง เมฆทูต ของกาลิทาส ผู้ประพันธ์ศกุนตลา แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Horace H. Wilson

(12) Ludwig Gotthard Kosegarten ปราชญ์-นักประพันธ์ในยุคร่วมสมัยกับเกอเธ่

(13) จาก "?ber Sprache und Worte" ใน Parerga und Paralipomena (1800) ตีพิมพ์ซ้ำใน Sammtliche Werke, ed. Julius Frauenst?dt, vol. 6, chapter 25, section 309 (Leipzig: Brockhaus, 1891), pp. 601-7.

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
150449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

หากคน ๆ หนึ่งยึดกุมจิตวิญญาณของภาษาต่างประเทศได้มั่นเหมาะ คน ๆ นั้นย่อมก้าวกระโดดก้าวใหญ่ เข้าสู่ความเข้าใจในชนชาติที่พูดภาษานั้น เพราะดังเช่นบุคลิกย่อมเชื่อมโยงกับจิตของปัจเจกบุคคลฉันใด ภาษาย่อมเชื่อมโยงกับจิตของชนชาติฉันนั้น ความเป็นนายเหนือภาษาอื่นอย่างสมบูรณ์เกิดขึ้นเมื่อคน ๆ นั้นไม่เพียงสามารถแปลหนังสือ แต่สามารถแปลตัวเองเข้าไปอยู่ในภาษาอื่น ทั้งที่ไม่ได้สูญเสียปัจเจกภาพของตัวเองไป ก็ยังสามารถสื่อสารในภาษานั้นได้ทันที

The Midnightuniv website 2006