นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



เปิดแฟ้มเอกสาร องค์กรนิรโทษกรรมสากล
รายงานประเทศไทย: จับตาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้
(ตอนที่ ๑)
โดย: องค์กรนิรโทษกรรมสากล
AMNESTY INTERNATIONAL
Report : Thai version


บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากคุณสุภัตรา ภูมิประภาส
ทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบพระคุณเอาไว้ ณ ที่นี้
การเผยแพร่เอกสารฉบับนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีวัตถุประสงค์ให้สังคมไทย
เห็นถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐ และกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้
ซึ่งที่ปฏิบัติการต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และโดยไม่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 896
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 40.5 หน้ากระดาษ A4)




รายงานประเทศไทย โดย : องค์กรนิรโทษกรรมสากล
AMNESTY INTERNATIONAL : Report (Thai version)

AI Index: ASA 39/002/2006 (Public)
News Service No: 346. 4th January 2006


สารบัญ

1. คำนำ
2. ที่มา
3. พัฒนาการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในปีพ.ศ. 2547

4. พัฒนาการช่วงพ.ศ. 2548
(i) คณะกรรมการอิสระเพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติ
(ii) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548
(iii) ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป
(iv) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับรายงานระยะแรกของประเทศไทยต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

5. ความล้มเหลวของระบบยุติธรรมอาญา
(i) คำนำ
(ii) ความล้มเหลวของการสอบสวน
(iii) "การหายตัวไป" กับกรณีที่อาจ "หายตัวไป"
(iv) การทำร้ายผู้ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม
(v) การจับกุมและคุมขังในภาคใต้
(vi) การทรมานและการปฏิบัติไม่ดีอื่นๆ
(vii) "บัญชีดำ" และการควบคุมตัวในค่ายทหาร

6. การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มการเมืองติดอาวุธ
(i) การสังหารชาวบ้านคนพุทธ

7. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

รายงานประเทศไทย : ความยุติธรรมเป็นบ่อเกิดแห่งสันติสุขที่แท้จริง
1. คำนำ
สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือนราธิวาส ปัตตานีและยะลา เลวร้าย ลง อย่างหนักภายหลังเหตุการณ์ปล้นอาวุธจากค่ายทหารโดยกลุ่มผู้ก่อการติดอาวุธเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 โดยประชาชนพันกว่าราย ทั้งพลเรือนและเจ้าหน้าที่ต้องถูก คร่าชีวิต ไปในเหตุการณ์รุนแรงทั้งหลาย การโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธเกิดขึ้นแทบไม่เว้นวัน ขณะเดียวกันทางการก็พยายาม แก้ไขสถานการณ์ด้วยการทุ่มกำลังรักษาความมั่นคงจำนวนมาก เข้าไปเสริมในพื้นที่ พร้อมทั้งเพิ่มอำนาจรัฐด้วยการออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ความขัดแย้งได้ส่งผลกระทบที่เลวร้าย อย่างหนักต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถเดินทาง ค้าขายหรือทำงานได้อย่าง ปลอดภัยท่ากลางสถานการณ์เช่นนี้

องค์กรนิรโทษกรรมสากล ได้ลงเก็บข้อมูลวิจัยในพื้นแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในกรุงเทพฯ
ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม พ.ศ.2548 และธันวาคม พ.ศ.2547 ข้อมูลที่นำเสนอในรายงาน ฉบับนี้ สะท้อนสิ่งที่เราได้ประสบในพื้นที่และครอบคลุมประเด็นหลักด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึง การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ การข่มขู่และคุกคามเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน กรณีผู้สูญหาย การคุมขัง โดยไม่มีเหตุอันควร และการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม (ill treatment)

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มการเมืองติดอาวุธ เช่นการ จงใจทำร้ายพลเรือน ไม่ว่าด้วยการฆ่า การขู่ฆ่า และการทำลายทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการทำมาหากินของประชาชน และในการลงพื้นที่ครั้งล่าสุด เจ้าหน้าที่ขององค์กรนิรโทษกรรมสากลได้สัมภาษณ์ผู้คนกว่า 70 ราย ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐบาลในกรุงเทพฯ ไม่สามารถให้เราเข้าพบ องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้มีโอกาส เยี่ยมชมโครงการช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระ บรมราชินีนาถ ทรงตั้งขึ้นที่อำเภอเมือง นราธิวาส

บุคคลที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลสัมภาษณ์มาจากหลากหลายกลุ่มของภาคประชาชน ทั้งชาวพุทธและมุสลิม รวมถึงครูอาจารย์ ทนายความ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านและบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง บุคคลที่เราสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ดำรงชีพจากการทำสวนยาง เกษตรกรรม หรือธุรกิจรายย่อย คณะขององค์กรนิรโทษกรรมสากลได้เยือนพื้นที่หลายแห่งใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึง"พื้นที่สีแดง"ในอำเภอระแงะและสุไหงปาดี นราธิวาส อำเภอปานาเระและ ยะรังในปัตตานี กับอำเภอบันนังสตาในยะลา(1)

บุคคลที่เราสัมภาษณ์สิบกว่ารายเป็นเหยื่อโดยตรงของความรุนแรง หรือไม่ก็เป็นญาติและผู้เกี่ยวข้องของเหยื่อซึ่งให้ข้อมูลโดยตรงกับเรา แทบทุกรายที่เราสัมภาษณ์ แสดงความหวาดกลัวอย่างหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนและครอบครัว พร้อมทั้งได้ขอให้เราอย่าเปิดเผยชื่อพวกเขา ด้วยเหตุนี้องค์กรนิรโทษกรรมสากลจึงไม่ได้ระบุชื่อ หรือรายละเอียดอื่นๆ ที่อาจเป็นการเปิดเผยตัวตนของผู้ที่ให้ข้อมูลกับเรา

2. ที่มา
อาณาจักรสยาม (2) ผนวกรัฐปาตานี ซึ่งกินพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและบางส่วนของจังหวัดสงขลาในปัจจุบัน เมื่อต้นคริสตศวรรษที่ 20 ประชากรกว่า 80%ในพื้นที่แถบนี้เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและพูดภาษามลายู (3) ภาษาเขียนของภาษามลายู ที่เรียกกันว่ายะวี ใช้อักขระอารบิค จากคำบอกเล่าของผู้นำชุมชนมุสลิม ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูส่วนใหญ่ใช้ภาษา มลายูเป็นภาษาแม่ และอ่านเขียนภาษาไทยไม่คล่อง สามจังหวัดนี้มีลักษณะเป็นชนบท เต็มไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ และมีอุตสาหกรรมประมงในอ่าวไทย

ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีลักษณะทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาแตกต่างไปจากประชากรไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธสายเถรวาท ชาวมุสลิมในไทยส่วนใหญ่ รักษาธรรมเนียมและวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาแบบปอเนาะ ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในพื้นที่

ปอเนาะคือโรงเรียนประจำของมุสลิม ที่เน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักศาสนา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ทางการได้จับครูปอเนาะหลายราย และเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 ทางการได้ปิดปอเนาะชื่อดังแห่งหนึ่งปัตตานี สะแปอิง บาซอ ครูใหญ่ปอเนาะธรรมวิทยาในจังหวัดยะลา กำลังโดนหมายจับ ข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนจากทางการไทย ซึ่งกล่าวหาว่าเขาเป็นสมาชิกคน สำคัญของ Barisan Revolusi Nasional (BRN) กลุ่มทางการเมืองติดอาวุธ (4)

ผู้นำมุสลิมและผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนบอกกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ซึ่งป็นคนพุทธแบ่งแยกเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เคารพแนวปฏิบัติตามประเพณีและศาสนาของชาวมุสลิม นักวิจัยในพื้นที่คนหนึ่งรายงานว่า เวลาเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปตรวจค้นบ้านหรือปอเนาะ พวกเขาจะไม่ถอดรองเท้า และพาสุนัขตำรวจไปด้วย

เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเหยียบย่ำผืนพรม ที่พวกเขาใช้เวลา สวดมนต์ขณะที่ค้นบ้านของพวกเขา แหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า ผู้ถูกคุมขังชาวมุสลิมถูกบังคับให้นุ่งกางเกงขาสั้นซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่เหมาะสมสำหรับการทำละหมาด นักวิชาการมุสลิมรายหนึ่งกล่าวกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า ควรมีการปรับปรุงระบบการศึกษาในภาคใต้ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมได้มีโอกาสก้าวหน้าทางวิชาชีพได้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบราชการซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า "ผมรู้สึกว่าชาวมุสลิมมีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา" นักศึกษาชาวมุสลิมอีกรายให้ความเห็นว่า "ความเป็นตัวตนของเราช่างโดดเด่นและแตกต่าง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เราเห็นดีเห็นงามกับความรุนแรง ผมอยากให้ทางการเห็นออกเห็นใจและให้ความเคารพชาว บ้าน...เพราะ หากทางการเข้าใจและเคารพชาวบ้านอาจให้ความร่วมมือมากกว่านี้"

กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองติดอาวุธเริ่มดำเนินการเรียกร้องเอกราชตั้งแต่สยามผนวกดินแดนนี้ และหนึ่งในกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดคือ Patani United Liberation Organization หรือพูโล(PULO) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ถือกำเนิดมาแต่ พ.ศ.2511 และทุกวันนี้ยังคงออกแถลงการณ์ทางเว็บไซต์ (5) กระแสความเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มการเมืองชาวมุสลิมที่ติดอาวุธนั้นขึ้นๆลงๆตลอดช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 21

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ.2523) นายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ได้ริเริ่มนโยบายหลายๆประการ ภายใต้นโยบาย"ใต้ร่มเย็น"เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการชายแดนภาคใต้ หรือ ศอปต. พร้อมกับผลักดันให้ชาวมุสลิมท้องถิ่นลงเล่นการเมือง อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2544 เขาได้เริ่มทะลายโครงสร้างการบริหารในภาคใต้ที่มีการดำเนินงานกันมาร่วมยี่สิบปี โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ การยุบ ศอปต.และกองกำลังผสมตำรวจ พลเรือน ทหาร หรือ พตท.43 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545

ภายหลังกระแสเหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลก็ได้ตั้งหน่วยงานประสานงานขึ้นมาใหม่ คือกองอำนวยการสร้างเสริมสันติสุขชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต) นายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ทหาร ระดับสูง และรัฐมนตรีกลาโหมที่ดูแล เรื่องความมั่นคงในภาคใต้บ่อยครั้ง (6)

ตั้งแต่กระแสความรุนแรงทวีขึ้นเมื่อต้นปีพ.ศ. 2547 กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองติดอาวุธ ที่ก่อการ โจมตียังไม่ได้ออกมาแสดงตน ไม่เคยประกาศข้อเรียกร้องทางการเมือง และไม่เคยเผยท่าทีว่าจะ เจรจากับรัฐบาล ยิ่งไปกว่านี้ยังไม่เคยมีกลุ่มใดที่ออกมาประกาศความรับผิดชอบ ว่าเป็นผู้ก่อการ ในกรณีใดๆ ก็ตาม เชื่อกันว่ากลุ่มเหล่านี้ทำการกันภายใต้โครงสร้างหน่วยย่อยตามหมู่บ้าน และจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่ได้แสดงความพยายามว่าจะยึดหรือครอบครองดินแดน

ยุทธศาสตร์ของพวก เขาไม่เหมือนกับของกลุ่มการเมืองติดอาวุธในอดีต ซึ่งมักโจมตีเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือทรัพย์สมบัติของทางราชการ กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันจงใจมุ่งเป้าไปที่พลเรือน กับเจ้าหน้าที่ซึ่งรวมถึงชาวมุสลิมที่ถูกมองว่าให้ความร่วมมือกับทางการ บางครั้งผู้ก่อการก็ได้ทิ้งจดหมายไว้ ณ จุดเกิดเหตุ โดยมีข้อความว่าทำนองว่า พวกเขาจะโจมตีต่อไปตราบเท่าที่ทางการยังคงจับและฆ่าคนบริสุทธิ์

ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 มีคนพบศีรษะและศพของชาวพุทธ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 คนที่ถูกฆ่าตัดคอ พร้อมกับข้อความที่ประกาศว่า "ตราบใดที่คุณยังฆ่าคนบรสุทธิ์ เราก็จะฆ่าคน บริสุทธิ์ของคุณ" (7) มีการเผยแพร่ใบปลิวซึ่งไม่ปรากฏแหล่งที่มาที่เรียกร้องให้ผู้คนหยุดทำงานวันศุกร์ ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 (8) ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทำให้ภารกิจการ บรรเทาความรุนแรง ยากขึ้นสำหรับทางการ

รัฐบาลเริ่มที่จะเชื่อว่ากลุ่ม Barisan Revolusi Nasional-Coordinate (BRN-Coordinate) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงบางกรณี (9) องค์กรความขัดแย้งสากล (International Crisis Group-ICG) วิเคราะห์ว่ากลุ่ม BRN-Coordinate กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยุวชนเปอมูดา ซึ่งอยู่ใต้ร่มเงาของ BRN-Coordinate เป็นกลุ่มการเมืองติดอาวุธที่มีบทบาทมากที่สุด

ICG รายงานว่าเป็นที่เชื่อกันว่า เปอมูดาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุลอบยิงและลอบวางระเบิดรายวันส่วนใหญ่ กลุ่มการเมืองติดอาวุธอื่นๆ ที่เชื่อกันว่ายังคงเคลื่อนไหวอยู่ก็มี เช่นกลุ่ม Gerakan Mujahidin Islam Patani - GMIP ซึ่งต่อสู้เพื่อรัฐอิสลามอเสระ และอีกกลุ่มคือกลุ่มพูโลใหม่ ซึ่งแตกแขนงมา จาก พูโล (10)

ICG และนักวิเคราะห์ระบุด้วยว่า จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า กลุ่มที่ก่อการในภาคใต้ ได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองติดอาวุธในภูมิภาคนี้อย่างเช่นกลุ่มเจมะ อิสลามิยะ (Jemaah Islamiyah- JI) แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ในอนาคต (11) ทั้งรัฐบาลและนักวิเคราะห์ต่างพยายามหาตัวตนของกลุ่มและบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีทั้งหลาย

ผู้สังเกตการณ์บางรายเชื่อว่า เหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งพอสมควรนั้นมีต้นตอ มาจาก อาชญากรรมซึ่งรวมถึงการลักลอบค้าอาวุธ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการล้างแค้นส่วนตัว บางรายให้ความเห็นว่า มีคนฉวยโอกาสจากสถานการณ์ความสับสนและรุนแรง ในอันที่จะก่ออาชญากรรมโดยไม่ต้องถูกลงโทษ อย่างไรก็ดีนักวิชาการในพื้นที่สองท่านกล่าวกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า กลุ่มการเมืองติดอาวุธเป็นผู้ลงมือก่อการในเหตุการณ์ส่วนใหญ่

ยุทธวิธีหนึ่งที่กำลังความมั่นคงมักนิยมใช้ในการปราบปรามเหตุโจมตีก็คือ การติดอาวุธให้กับพล
เรือนนับพันๆ รายในเขตชายแดนภาคใต้เพื่อป้องกันตนเอง ซึ่งหมายความว่าประชาชนที่ติดอาวุธได้กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 กองทัพบกประกาศจะเกณฑ์ ฝึกฝนและติดอาวุธให้กับประชาชนกลุ่มใหม่ในสามจังหวัดชายแดน เพื่อให้พวกเขาป้องกันหมู่บ้าน (12) กำลังความมั่นคงไทยเคยติดอาวุธให้พลเรือนมาก่อน ในสมัยที่ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และหนึ่งในกลุ่มพลเรือนติดอาวุธนี้เป็นที่รู้จักกันในนามชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านหรือ ชรบ.

ชรบ.ไม่มีเงินเดือนประจำแต่ได้รับเบี้ยเลี้ยง ชรบ.ส่วนใหญ่ก็คือ ชาวบ้านที่มาทำหน้าที่อาสาสมัครเป็นครั้งคราว ชรบ.ในภาคใต้เป็นประชาชนมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมโดยกลุ่มการเมืองติดอาวุธมุสลิม แหล่งข่าวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีฆาตกรรมชรบ.สองรายคือ มะริกิ สะมะแอ คนงานก่อสร้างวัย 30 ปี กับน้าชื่อมัต สะมะแอ วัย 53 ปี ซึ่งมีอาชีพเป็นคนงานรับจ้างรายวัน ทั้งสองอาศัย อยู่ที่ตำบล กะยากละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

เมื่อต้นปี 2548 ผู้ใหญ่บ้าน ได้เกณฑ์ทั้งสองให้เป็นอา สาสมัคร ชรบ. โดยมีหน้าที่ส่วนหนึ่งคือผลัดกันเป็นเวรยามเฝ้าหมู่บ้านตอนกลางคืน ระหว่างที่ทั้งสองขี่มอเตอร์ไซค์ออกตระเวณตามปกติเมื่อเวลาประมาณหนึ่งทุ่มวันที่ 5 เมษายน 2548 สองน้าหลานถูกลอบยิงหลายนัดใกล้ๆ กับสุสานสุดเขตหมู่บ้าน ชาวบ้านที่รุดเข้าไปดูจุดเกิดเหตุรายงานว่า ปืนของทั้งสองถูกขโมยไป มะริกิ สะมะแอถูกยิงตามลำตัวและที่ขาทั้งหมดสี่นัด และมัต สะมะแอโดนยิงเข้าที่อกและมือ

เจ้าหน้าที่ทางการได้สัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีวิตหนึ่งครั้ง และเจ้าหน้าที่จาก กอ.สสส.จชต.ได้มาเยือนที่บ้านหลังเกิดเหตุหนึ่งวัน และได้ให้เงินช่วยเหลือ 200,000 บาท (13) มะริกิ สะมะแอเป็นหัวเรือใหญ่ในการหาเลี้ยงครอบครัว และพี่น้องหกคน มัต สะมะแอ เลี้ยงภรรยาและลูกอีกแปดคน เท่าที่ทราบทางการไม่ได้ดำเนินการติดตามสอบสวนต่อไปแต่อย่างใด

3. พัฒนาการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในปีพ.ศ. 2547
เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งจากเหตุการณ์นั้นมีทหารเสียชีวิตสี่นายและปืน 400 กว่ากระบอกโดนลักไป ขณะเดียวกันโรงเรียนอีก 20 แห่งถูกลอบวางเพลิง ซึ่งลักษณะเหมือนกับเป็นการปฏิบัติการที่วางแผนไว้แล้ว นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จัดการกับเหตุการณ์ด้วยการประกาศใช้กฏอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจมหาศาล กับทหารในสามจังหวัด

ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดว่ามาตราใดของกฏอัยการศึกที่ถูกนำมาบังคับใช้ในภาคใต้ แต่เท่าที่ปรากฏมาตราที่ถูกยกมาใช้บ่อยที่สุดคือ อำนาจใจการเข้าตรวจค้นและการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย และการตั้งจุดตรวจทหารทั่วไปในพื้นที่ ทางการได้จับกุมผู้คนไม่ระบุจำนวนภายใต้มาตราต่างๆ และได้เพิ่มกำลังความมั่นคงในพื้นที่ อย่างไรก็ดีความรุนแรงทางการเมืองไม่ได้ลดลง

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 สมชาย นีละไพจิตร ทนายความชาวมุสลิมที่กำลังสู้คดีความให้กับคนมุสลิมหลายรายที่โดนจับกุม เกี่ยวกับข้อหาความรุนแรง และเป็นผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกกฏอัยการศึกในภาคใต้ เขาได้ถูกอุ้ม"หายตัวไป" ในกรุงเทพมหานคร ทุกวันนี้ยังไม่มีใครพบตัวเขา "การหายตัวไป"ของทนายความสมชาย ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากกับการทำงานของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ ทนายความมุสลิมในพื้นที่บอกกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า นับตั้งแต่ทนายความสมชาย "หายตัวไป" พวกเขารู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งในยามที่โดนข่มขู่คุกคาม

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มการเมืองติดอาวุธกลุ่มหนึ่ง ปฏิบัติการจู่โจมสถานที่ราชการพร้อมกันหลายแห่งในจังหวัดยะลา ปัตตานีและสงขลา วันที่ 28 เมษายนเป็นวันครบรอบการลุกฮือเรียก ร้องการแบ่งแยกดินแดนเมื่อ พ.ศ. 2491 ชาวมุสลิมจำนวนมากเสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงสาม วันเมื่อครั้งนั้น

วันที่ 28 เมษายน 2547 ชายหลายกลุ่มจับอาวุธมีดพร้า และปืนเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ และจุดตรวจ 11 แห่งในสามจังหวัด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงห้ารายเสียชีวิต ชาวมุสลิมหนึ่งร้อยกว่ารายถูกสังหาร โดยกองกำลังความมั่นคงจากการตอบโต้ และหนึ่งในเหตุการณ์วันนั้นก็คือ ชายหนุ่ม 19 รายถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงเสียชิวิตที่หมู่บ้านสุโสะ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีรายงานว่า 15 รายมีบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะ ซึ่งแสดงว่าพวกเขาอาจโดนยิงระหว่างที่วิ่งหนี หรือไม่ก็โดนวิสามัญฆาตกรรม

เหตุการณ์ใหญ่อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการที่ชาย 31 คนในมัสยิดกรือเซะ ปัตตานี โดนกองกำลังความมั่นคงสังหารหลังจากที่บางคนในกลุ่มนั้น ได้โจมตีจุดตรวจในบริเวณใกล้เคียงและได้สังหารเจ้าหน้าที่ความมั่นคงสองราย จากเหตุการณ์นั้น องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้ส่งสารให้กับรัฐบาลไทย โดยแสดงความกังวลกับการที่รัฐตอบโต้การจู่โจมสถานที่ทั้ง 11 แห่ง รวมถึงการใช้กำลังรุนแรง และเรื่องความเป็นไปได้ของการกระทำวิสามัญฆาตกรรม

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนราว 1,500 คน ชุมนุมกันหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ นราธิวาส เพื่อประท้วงการควบคุมตัวอาสาสมัคร ชรบ.หกราย (14) หลายชั่วโมงผ่านไปมีรายงาน ว่า ผู้ประท้วงพยายามรุมเข้าไปในแนวตำรวจ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงอาศัยการฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาในการสลายฝูงชน ผู้ประท้วงบางรายขว้างปาก้อนหินและสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ความมั่นคง ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าและในระยะสูงระดับศีรษะตรงเข้าใส่ฝูงชน มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 7 รายในระหว่างการชุมนุม และผู้ร่วมชุมนุมโดนทหารทุบตีภายหลังในขณะที่พวกเขาถูกจับมัดมือโดนบังคับให้นอนคว่ำหน้าลงพื้นท่ามกลางแดดเผาเป็นเวลาหลายชั่วโมง (15)

จากนั้นผู้ร่วมชุมนุมกว่า 1,300 คนถูกต้อน ขึ้นรถบรรทุกและให้นอนเรียงกันหกชั้นเพื่อเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานี การเดินทางกินเวลาห้าชั่วโมงและในระหว่างนั้น คนที่อยู่ชั้นล่างๆถูกคนข้างบนกดทับ มีผู้เสียชีวิต 78 ราย จากการขาดอากาศหายใจ ไตวาย และอวัยวะสำคัญหยุดทำงาน

เมื่อเดือนธันวาคม 2547 องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้สัมภาษณ์ชายหนุ่มมุสลิมสามราย ซึ่งทั้งสาม ถูกขนส่งทางรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ชายสองคนรายงานว่า ทหารใส่รอง เท้าบู๊ตเตะและใช้ไม้ตีเขาทั้งสองภายหลังการจับกุม หนึ่งในสองราย นี้เล่าว่าโดนด้ามปืนยาวตบหน้า ชายหนุ่มอีกรายเล่าให้องค์กรนิรโทษกรรมสากลฟังว่าเขาไตวาย ทุกวันนี้นั่งหรือยืนไม่ได้ จากการกระทำด้วยน้ำมือของทหาร

ผู้ใกล้ชิดของชายรายนี้กล่าวว่า กระดูกสันหลังของเขาเสียหายอย่างหนัก เหยื่อรายนี้บอกว่าเขาต้องล้างไต และไม่ได้รับความช่วยเหลือชดเชยจากรัฐบาล เหยื่อรายนี้ให้คณะขององค์กรนิรโทษกรรมสากลดูบาดแผลกลัดหนองยาวหลายนิ้วที่ต้นแขนซ้าย เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าระหว่างที่อยู่ในรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธ เขาถูกทับอยู่ชั้นล่างสุดและคนที่นอนซ้อนกันหกชั้น และทหารได้เอาถุงพลาสติคคลุมหัวเขาไว้ เพื่อนร่วมชะตากรรมรายอื่นช่วย กันเอาถุงออกจากหัวเพื่อให้เขาได้หายใจ เขาเข้าโรงพยาบาลไปแล้วสามแห่งในช่วง 16 วัน โดยที่สภาพเจ็บป่วยของเขาไม่ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้รับเอกสารบันทึกปากคำของผู้ถูกทหารจับกุม 28 ราย ณ จุดประท้วงที่ตากใบ เหยื่อ 9 รายที่ให้ปากคำกล่าวว่า ทหารใส่รองเท้าบู๊ตเตะ และ/หรือใช้ไม้ตีลงไปที่แผ่นหลัง หลังจากบังคับให้พวกเขานอนคว่ำหน้าลงกับพื้น จากนั้นทหารก็ต้อนพวกเขาไปขึ้นรถบรรทุก แล้วให้พวกเขานอนซ้อนกันหกชั้นก่อนพาไปยังค่ายอิงคยุทธ ปัตตานี ระหว่างทางมีรายงานว่าทหารได้ตีและเตะคนที่พยายามโงหัวขึ้นมา หลายรายที่ให้ปากคำกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ร่วมชุมนุม และกำลังเดินทางกลับบ้าน แต่ได้แวะดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางรายบอกว่าโดนเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงคุมตัวก่อนหรือหลังการชุมนุม

ญาติ 5 รายของชายที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุชุมนุม หรือระหว่างการเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธ ได้ให้ปากคำในบันทึกที่ทางองค์กรนิรโทษกรรมสากลได้รับ พวกเขากล่าวว่า หลังจากที่ญาติได้หายตัวไป พวกเขาได้เดินทางไปตามหาที่ค่ายอิงคยุทธ และพวกเขาต้องดูรูปถ่ายเพื่อชี้ตัวญาติ หลักฐานภาพถ่ายที่พวกเขาได้เห็นทั้งหมดปรากฏว่า ชายทั้ง 5 รายมีใบหน้าบวมปูด สองรายในนั้นดูเหมือนคอหัก และสามในห้าศพนั้นมีบาดแผลสดที่ใบหน้า

องค์กรนิรโทษกรรมสากลกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า กำลังความมั่นคงของไทยใช้กำลังเกินความจำเป็นในเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 รายจากการที่เจ้าหน้าที่ยิงปืนเข้าใส่ฝูงชน ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการที่ผู้คนกว่า 1,300 คนถูกขนส่งจากสถานีตำรวจไปยังค่ายทหาร เป็นวิธีปฏิบัติ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม การที่ให้คนนอนซ้อนกันหกชั้น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้นำชีวิตคนไปเสี่ยง ซึ่งผลที่ตามมาคือการเสียชีวิตของผู้คน 78 ราย

รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสองชุด เพื่อสอบสวนเหตุการณ์สังหารที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และการใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ตากใบ รายงานผลการสอบสวนทั้งสองฉบับ ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อเดือนเมษายน 2548 (16)

รายงานเรื่องการบุกยึดมัสยิดกรือเซะสรุปว่า กองกำลังความมั่นคงใช้กำลังเกินความจำเป็น เกี่ยวกับสถานการณ์การคุกคามโดยกลุ่มชายภายในมัสยิด (17) ส่วนรายงานเกี่ยวกับกรณีชุมนุมที่ตากใบสรุปว่า ทางการไม่ได้จงใจทำร้ายผู้ชุมนุม อย่างไรก็ดีคณะกรรมการสอบสวนพบว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการขนย้ายผู้ชุมนุมผิดที่ "ปฏิบัติหน้าที่ย่อหย่อน" (18) ไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงรายใดเลยที่ถูกนำสู่เข้ากระบวนการยุติธรรม สำหรับการที่พวกเขาใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการตอบโต้การโจมตีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และเหตุการณ์ที่ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และการปฏิบัติการทารุณกรรมต่อผู้ชุมนุมที่ตากใบ

4. พัฒนาการช่วง พ.ศ. 2548
(i) คณะกรรมการอิสระเพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรชนะการเลือก ตั้งทั่ว ไปด้วยเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น ได้ที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภาและทำให้สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ภายในเดือนเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ที่มีกรรมการ 50 คนขึ้นมา โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน เพื่อสร้างสันติสุขและการสมานฉันท์ในภาคใต้

ภาคประชาสังคมขานรับความคิดริเริ่มนี้อย่างดี ในฐานะที่จะเป็นกลไกในการทำความเข้าใจปัญหาและหาหนทางแก้ไขโดยสันติ กอส.ได้จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 5 ชุดคือ

1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และ สิทธิมนุษยชน
2. คณะอนุกรรมการการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
3. คณะอนุกรรมการศึกษา วิธีการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของมนุษย์
4. คณะอนุกรรมส่งเสริมพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย
5 คณะอนุกรรมเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ (19)

เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของคณะอนุกรรมการเหล่านี้ ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่ของประชาชานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง เพื่อประกอบการนำเสนอนโยบายเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและการสมานฉันท์ กอส.ยังได้มีข้อเสนอหลายประการ รวมถึงข้อเสนอแนะให้ยก เลิกการประกาศใช้กฏอัยการศึกในภาคใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 (20) และว่าชาวใต้ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในท้องถิ่น (21) กอส.เตรียมสรุปรายงานฉบับเต็ม เผยแพร่แก่สา ธารณชนในช่วงต้นปีพ.ศ. 2549 (หมายเหตุ : ซึ่งนับถึงวันที่บทความชิ้นนี้ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ายงานฯ อย่างเป็นทางการ)

(ii) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม หนึ่งวันให้หลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายจู่โจมตัวเมืองยะลา คณะรัฐมนตรีได้ ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พรก.ฉุกเฉิน) ซึ่ง ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศภาวะฉุกเฉิน ในวันที่ 19 ตุลาคม 2548 นายกรัฐมนตรีอาศัยมาตราใน พรก.ฉบับนี้ ประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี โดยพรก.นี้มา แทนที่ กฏอัยการศึกที่มีผลในพื้นที่นี้ (22)

มาตราต่างๆ ในพรก.ฉุกเฉินนี้ รวมถึงการให้อำนาจคุมขังโดยปราศจากข้อหาหรือคดีได้ถึง 30 วัน ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย การใช้สถานที่ที่ไม่ใช่ทัณฑสถานเป็นที่ควบคุมตัว การห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าว และการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตาม พรก.ฉุกเฉินนี้ไม่ต้องรับผิดทางกฏหมาย (23)

รัฐสภาผ่าน พรก.ฉุกเฉิน เมื่อเดือนสิงหาคม รัฐบาลไทยได้ดำเนินการต่ออายุภาวะฉุกเฉินในสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ พรก. ฉุกเฉินฉบับนี้ไปอีกสามเดือนเมื่อเดือนตุลาคม พลันที่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินเมื่อเดือนกรกฏาคม นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกอส.แสดงท่าทีคัดค้านเพราะ พรก. นี้ให้ความคุ้มครองทางกฏหมายแก่เจ้าพนักงาน และให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่นายกรัฐมนตรีในการประกาศภาวะฉุกเฉิน (24) ภาคประชาสังคมรวมถึงสภาทนายความแห่งประเทศไทย ต่างประนามพรก.ฉบับนี้กันโดยทั่วหน้า (25)

(iii) ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป
หลายกรณีของการก่อเหตุสังหาร และลอบวางระเบิดรายวันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดปีพ.ศ. 2548 มีรูปแบบการเตรียมการและดำเนินการที่แยบยลมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการลอบโจมตีของกลุ่มติดอาวุธเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 รายและมีการขโมยอาวุธปืนไปจำนวนหนึ่ง (26)

ขณะเดียวกันความไม่ไว้วางใจและหวาดกลัวต่อทางการ ในหมู่ชาวบ้านมุสลิมปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น วันที่ 29 สิงหาคม ภายหลังจากที่อิหม่ามสะตอปา ยูโซะ แห่งหมู่บ้านละหาน อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ถูกผู้ก่อการไม่ทราบสังกัดลอบยิงเสียชีวิต ชาวบ้านเกือบร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กพากันปิดล้อมหมู่บ้านไม่ให้เจ้าหน้าที่ทางการเข้า มีรายงานว่าชาวบ้านเชื่อว่าผู้ยิงอิหม่ามคือเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นมีรายงาน ว่าอิหม่ามสะตอปา ซึ่งไม่ได้เสียชีวิตทันทีที่ถูกลอบยิงได้สั่งเสียไว้ว่า ทหารเป็นผู้ยิงเขา และไม่ต้องพาเขาไปโรงพยาบาล เพราะกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงลักพาตัวจากโรงพยาบาล (27)

ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ที่บ้านละหาน มีรายงานว่าชาวไทยมุสลิม 131 คนหนีไปมาเลเซียและ ได้ขอลี้ภัยอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลมาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวง ใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เข้าสัมภาษณ์คนไทยกลุ่มนี้ ในขณะที่รัฐบาลไทย เรียกร้องให้มีการส่งตัวบางคนในกลุ่มนี้กลับ รัฐบาลมาเลเซียตอบว่าจะไม่ส่งกลับหากจนกว่าจะ มีหลักประกันว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหากกลับไทย

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 รัฐบาลมาเลเซียได้ส่งหนึ่งใน 131 คนนี้คือนายฮัมซะ ซาอุด กลับมาให้ทางการไทยควบคุมตัว มีรายงานว่าทางการไทยออกหมายจับนายฮัมซะตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2547 เมื่อกลับมาไทย นายฮัมซะถูกตั้งข้อหา 9 ประการรวมถึงฆาตกรรมและกบฏ (28) ซึ่งทั้งสองข้อหานี้มีโทษสูงสุด ขั้นประหารชีวิต องค์กรนิรโทษกรรมสากลคัดค้านการลงโทษประหารชีวิตในทุกกรณี และ ได้เคยรายงานเรื่องการตัดสินลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ชาวบ้านมุสลิม 2 รายถูกยิงเสียชีวิตและอีก 4 รายบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาที่หมู่ 7 ตำบลตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส จากการกราดยิงโดยคนร้ายที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร นาวิกโยธินสองนายที่อยู่ในแถบที่เกิดเหตุเข้าไปในหมู่บ้าน และถูกชาวบ้านล้อมจับไว้ โดยมีรายงานว่าชาวบ้านเชื่อว่านาวิกโยธินสองนายนี้ เป็นผู้ยิงกราดเข้าใส่ร้านน้ำชา

ชาวบ้านปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในหมู่บ้านและ หลังจากหนึ่งวันที่มีการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับตัวแทนทางการ มีการพบศพนาวิกโยธินสองนายนี้ในหมู่บ้าน เป็นที่เชื่อกันว่าเหตุการณ์สังหารนี้เป็นฝีมือกลุ่มการเมืองติดอาวุธ ผลการชันสูตรศพนาวิกโยธิน ระบุว่าทั้งสองคนถูกทรมานจนเสียชีวิต (29)

สำหรับความเคลื่อนไหวในด้านที่ดี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อตั้งศูนย์นิติธรรม ขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย กอส.และสภาทนายความแห่งประเทศไทยร่วมกันบริหารศูนย์นิติธรรมแห่งนี้ (30) ตามกรอบข้อตกลง จะมีการตั้งศูนย์นิติธรรมขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการคุ้มครองตามกฏหมายและเพื่อติดตามการใช้ พรก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ทนายความจากสภาทนายความแห่งประเทศไทยจะช่วยเหลือผู้ถูกจับกุม ประธาน กอส. นายอานันท์ ปันยารชุน เรียกร้องให้รัฐบาลให้งบสนับสนุนเพียงพอแก่ทนายความเพื่อให้บริการด้านนี้ (31)

แหล่งข่าวในแวดวงกฏหมาย ที่ทางองค์กรนิรโทษกรรมสากลได้พูดคุยด้วยกล่าวว่า เท่าที่ผ่านมา มีทนายความไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน ที่โดนจับในข้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง และยังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ้างทนายความมาว่าความด้านนี้ให้

(iv) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับรายงานระยะแรกของประเทศไทย ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 19-20 กรกฏาคม 2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (UN Human Rights Commission) ได้พิจารณารายงานระยะแรกของประเทศไทยว่าด้วย การปฏิบัติตามพันธกรณีของ ข้อตกลงนานาชาติ ว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights- ICCPR) ในรายงานสรุปคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้แสดง ความกังวลในหลายประเด็นรวมถึงเรื่อง พรก.ฉุกเฉิน เรื่องการที่มีข้อกล่าวหาอยู่เนืองๆเกี่ยวกับวิสามัญฆาตกรรม และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารปฏิบัติมิดีต่อพลเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ภายใต้ในห้วงปี 2547 และเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานมักใช้วิธีทรมานและปฏิบัติไม่ดีต่อผู้คุมขัง (32) ในประเด็นเรื่อง พรก.ฉุกเฉิน คณะกรรมการฯแสดงความกังวลว่า "...พรก.เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการภายใต้ภาวะฉุกเฉินตามพรก. โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาหรือทางวินัย ซึ่งทำให้สภาพการทำผิดโดยไม่ต้องถูกลงโทษเลวร้ายลงไปอีก ไม่ควรให้มีการคุมขังใดๆ ก็ตามโดยไม่มีเหตุผลเกินกว่า 48 ชั่วโมง" (33)

รัฐบาลไทยส่งสารตอบคำถามที่คณะกรรมการฯ ถามกับคณะผู้แทนไทยในการประชุมพิจารณารายงานระยะแรกว่า "ตราบเท่าวันที่ 15 กรกฏาคม 2548 ประเทศไทยยังไม่เคยประกาศภาวะฉุกเฉิน นับตั้งแต่เข้าเป็นภาคีในข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง เมื่อ ค.ศ. 1996 อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2548 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการนำพระราชกำหนดฉุกเฉินฉบับใหม่ มาใช้แทนกฎหมายฉบับปี ค.ศ.1952 และจะมีการนำร่าง พรก.ฉบับใหม่นี้เข้าสู่รัฐสภา ตอนที่สภาฯเปิดสมัยประชุมในเดือนกันยายน 2005" (34)

ในระหว่างการประชุมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะผู้แทนรัฐบาลไทยกล่าวว่า จะทำคำประกาศส่งให้สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะฉุกเฉินตามคำนิยามของมาตรา 4(3) ของข้อตกลง ICCPR อย่างไรก็ดี จนถึงเดือนธันวาคม 2005 รัฐบาลไทยยังไม่ได้แจ้งฝ่ายสนธิสัญญาของสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติอย่างเป็นทางการว่า ไทยจะขอยกเว้นจากการปฏิบัติตามบางมาตรา ของข้อตกลง ICCPR มาตรา 4(3) ซึ่งระบุไว้บางตอนว่า:
"ประเทศภาคีใดๆ ในข้อตกลงที่จะใช้สิทธิละเว้นไม่ปฏิบัติตาม จะแจ้งให้ประเทศภาคีอื่นทราบทันที โดยผ่านตัวกลางคือเลขาธิการสหประชาชาติว่า จะขอละเว้นการปฏิบัติตามมาตราใด ด้วยเหตุผลจำเป็นประการใด และจะมีการติดต่อผ่านตัวแทนดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อแจ้งกำหนดวันที่จะยกเลิกการขอละเว้น"

องค์กรนิรโทษกรรมสากล ได้เข้าร่วมการประชุมที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเกี่ยวกับประเทศไทยที่เจนีวา และกับผู้แทนไทยบางท่านจากกระทรวงยุติธรรม (35) ในระหว่าง การประชุม องค์กรนิรโทษกรรมสากลแสดงความกังวลอย่างยิ่งเรื่อง พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีการประกาศ ใช้ไม่กี่วัน ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ คณะผู้แทนไทย ให้หลักประกันกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า รัฐบาลจะไม่ยับยั้งสิทธิของประชาชนที่สูญเสียเสรีภาพ ในอันที่จะขอพิสูจน์ว่าการที่ตนถูกคุมขังนั้น ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 9 (4) ของข้อตกลง ICCPR และในมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2540

คณะผู้แทนไทย กล่าวด้วยว่าจะมีการนำมาตรการป้องกันอื่นๆ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญมาใช้ รวมถึงการที่ต้องสันนิษฐานว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ยิ่งไปกว่านี้คณะผู้แทนไทยระบุว่า ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน จะได้รับโอกาสพบทนายความและญาติ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ยินดีที่มีโอกาสได้นำประเด็นสำคัญนำเสนอต่อคณะผู้แทนไทย อย่างไรก็ดี ทางองค์กรฯมีข้อกังวลว่าในทางปฏิบัติ ผู้ถูกจับกุมคุมขังภายใต้อำนาจของ พรก.ฉุกเฉิน ไม่มีสิทธิได้ใช้มาตรการ สำคัญต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการได้มีโอกาสพบทนายความและญาติโดยเร็ว และสิทธิในการที่จะขอพิสูจน์ว่าการคุมขังนั้นชอบด้วยกฏหมาย (36)

5. ความล้มเหลวของระบบยุติธรรมอาญา
(i) คำนำ
องค์กรนิรโทษกรรมสากลเข้าใจถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคง อันสืบเนื่องมาจากความรุนแรงในภาคใต้ และทางองค์กรฯ ประณามการจงใจฆ่าพลเรือนนับสิบๆ หรืออาจนับร้อยราย กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มการเมืองติดอาวุธที่ไม่ปรากฏนาม องค์กรฯตระหนักว่ารัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในภาคใต้ และในอันที่จะนำตัวผู้ก่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

การกะทำใดๆเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของรัฐบาล ต้องสอดคล้องกับกฏหมายและมาตรฐานกฏหมายสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยเหตุนี้ทางองค์กรฯ จึงกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลวของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย ในอันที่จะให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในแถบชายแดนภาคใต้

ความล้มเหลวในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและข้อบกพร่องอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นประเด็นหลักของรายงาน ที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลเผยแพร่มาในช่วงปีพ.ศ. 2540-2547 สิ่งที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลเป็นห่วงครอบคลุมไปถึงเรื่องการทรมาน และวิธีกระทำ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการลงโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีตรวนนักโทษเป็นระยะเวลานานๆ และการที่ผู้ทำการฆาตกรรมคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนลอยนวลไม่ต้องโทษ (37)

ยิ่งไปกว่านี้ เป็นระยะเวลาหลายปีมาแล้วที่องค์กรนิรโทษกรรมสากล แสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้กระทำผิดจากฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากการฆ่าและการ "หายตัวไป" ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อพ.ศ. 2535 ซึ่งทหารใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ (38)

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ องค์กรนิรโทษกรรมสากลแสดงความกังวลอย่างยิ่ง กับการที่รัฐบาลไทยประกาศ "สงครามกับยาเสพติด" ช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2546 ซึ่งมีรายงานว่าปฏิบัติการนี้มีคนเสียชีวิตไป 2,245 ราย ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า กรณีฆาตกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องของนักค้ายาเสพติดฆ่ากันเอง อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่สามารถที่จะสืบสวนสาเหตุการฆ่าเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในหลายกรณีมีรายงานว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความกังวลด้วยว่า การที่ผู้กระทำการฆ่าเหล่านี้ไม่ต้องโทษตามกระบวนการยุติธรรม มีส่วนส่งเสริมวัฒนธรรมไม่เกรงกลัวการกระทำผิดในหน่วยงานความมั่นคง (39)

(ii) ความล้มเหลวของการสอบสวน
ในกรณีของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความกังวลเป็นพิเศษ เกี่ยวกับการที่ทางการไม่สามารถดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องการทำร้าย ประชาชนทั้งชาวพุทธและมุสลิม ชาวบ้านทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมนับสิบๆ รายบอกกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า ไม่มีการสอบสวน หรือไม่ก็มีการสอบสวนอย่างลวกๆ พวกเขาแสดงความคับข้องใจที่ไม่มีการคุ้มครองหมู่บ้าน แม้ว่าจะมีกำลังเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงอยู่ในพื้นที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต "พื้นที่สีแดง" ที่รัฐบาลระบุว่าเป็นเขตที่มีความรุนแรงสูงสุด

สมาชิกภาคประชาสังคมของไทยก็เล็งเห็นเช่นกันว่า ในกรณีรุนแรงส่วนมาก รัฐบาลไม่สามารถหา ตัวบุคคลหรือกลุ่มผู้ก่อการเหตุโจมตีรุนแรงต่างๆ ในภาคใต้ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. กล่าวเมื่อเดือนกรกฏาคม 2548 ว่า "ร้อยละ 85 ของเหตุฆาตกรรม รัฐบาลไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ซึ่ง แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลล้มเหลวในการหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง" (40) ความล้มเหลวของทางการในการสอบสวนการฆ่าประชาชนชาวพุทธและมุสลิม ในสามจังหวัดมีส่วนสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว

เช่นที่ได้กล่าวข้างต้น กำลังรักษาความมั่นคงของไทยได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในช่วงปีพ.ศ. 2547 และอาจกระทำการวิสามัญฆาตกรรมคนที่เข้าโจมตีทรัพย์สินราชการเมื่อวันที่ 28 เมษายน กอง กำลังความมั่นคงยังได้ยิงผู้ประท้วงที่ตากใบเสียชีวิต 7 ราย และได้กระทำการอันเลวร้ายต่อผู้คนอีกนับร้อยส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย มีผู้เสียชีวิตจากทั้งสองเหตุการณ์นี้ 200 กว่าราย จากจำนวนกว่า 1,000 รายที่เสียชีวิตนับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547

ในช่วงปีพ.ศ. 2548 ไม่มีการเผชิญหน้าครั้งสำคัญๆ ระหว่างกำลังความมั่นคงและกลุ่มการเมืองติดอาวุธ หรือผู้ประท้วงอันส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมากๆ อย่างไรก็ดี ชาวมุสลิมยังคงตกเป็นเป้าถูกสังหารในภาวะการณ์ที่คลุมเครือ และซึ่งไม่มีการสืบสวนหาสาเหตุอย่างถ่องแท้โดยกำลังด้านความมั่นคง

องค์กรนิรโทษกรรมสากล ได้รับข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับกรณีฆาตกรรมทำนองนี้หนึ่งกรณี จากแหล่งข่าวที่เปิดเผยไม่ได้. ริดวน แวมะนอ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นชาวมุสลิมวัย 24 ปี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2548 พร้อมกับเพื่อนสองคนไม่นานหลังจากที่โรงเรียนปอเนาะของพ่อเขา โดนทางการบุกเข้าตรวจค้นและสั่งปิด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

ทหารบุก เข้าค้นโรงเรียนปอเนาะยีฮัดวิทยา ที่ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และได้สั่งปิดโรงเรียนในข้อหาว่า ทางโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายแบ่งแยกดินแดน อับดุลเลาะห์ แวมะนอ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน และตำรวจกำลังต้อง การตัวเขา (41)

จากข้อมูลที่ทางองค์กรฯได้มา ริดวนกับเพื่อนพากันไปที่บ้านหลังหนึ่งนอกหมู่บ้านของพวกเขา ที่อำเภอยะหริ่ง ริดวนกับเพื่อนอีกสองคนนั้นถูกยิงเสียชีวิตประมาณ 19.30 น. ซึ่งเป็นเวลา ละหมาด มีรายงานว่ารถปิ๊กอัพไม่มีป้ายทะเบียนคันหนึ่งมาที่บ้านหลังดังกล่าว ในขณะที่ชายหนุ่ม ทั้งสามโดนยิงเข้าหลายนัดที่ศีรษะและลำตัว โดยที่ผู้สังหารใช้ปืนเก็บเสียง มีรายงานว่าตำรวจกลุ่มหนึ่งมาที่ที่เกิดเหตุสิบนาทีให้หลัง และเท่าที่ทราบไม่มีการสอบสวนทางนิติวิทยา เนื่องจากชาวบ้านในละแวกบ้านนั้นพบปลอกกระสุนปืนในที่เกิดเหตุในวันรุ่งขึ้น ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับฆาตกรรมกรณีนี้

บทความในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น อ้างคำพูดของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีว่า ชายทั้งสามถูกผู้ก่อการร้ายฆ่า และตำรวจพบใบปลิวในที่เกิดเหตุเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยภาคใต้ของชาวมุสลิมจากการปกครองของไทย ข่าวชิ้นนี้กล่าวด้วยว่า ญาติๆประหลาดใจอย่างมากต่อคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าฯปัตตานี เนื่องจากทางครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับโทรศัพท์แจ้งจากทางการว่า ริดวนประสบอุบัติเหตุและกำลังอยู่ที่โรงพยาบาล และเมื่อญาติไปถึงที่โรงพยาบาลก็พบ ว่าริดวนถูกยิงเสียชีวิตแล้ว (42)

(iii) "การหายตัวไป" กับกรณีที่อาจ "หายตัวไป" และ"การบังคับให้หายตัวไป"
ตามที่บรรยาย ในย่อหน้าเกริ่นนำที่ 3 ในคำประกาศสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจาก การบังคับให้หายตัวไป (the UN Declaration on the Protection of All Persons from Enforced Disappearances) หมายถึงกรณีที่ "บุคคลถูกจับ คุมขัง หรือลักพาตัวโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม หรือถูกลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ หรือระดับต่างๆ ของรัฐบาล หรือโดยกลุ่มที่มีการจัดตั้ง หรือบุคคลที่ทำหน้าที่แทน หรือได้รับการสนับสนุนทางตรงหรือทางอ้อม ได้รับการยินยอมหรือรับรู้ของรัฐบาล ตามมาด้วยการปฏิเสธที่เปิดเผยชะตากรรมหรือที่อยู่ของคนที่เกี่ยวข้อง หรือการปฏิเสธที่จะรับรู้ว่าเกิดการลิดรอนเสรีภาพ ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฏหมาย"

กฎบัตรกรุงโรมว่าด้วยศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) นิยามอาชญากรรมต่อมนุษยชาติของ "การบังคับให้หายตัวไป" ไว้ว่าคือ... " การจับ กักขัง หรือลักพาตัวบุคคลโดยหรือด้วยการให้อำนาจ การสนับสนุนหรือเห็นชอบของรัฐ หรือองค์กรทางการเมือง ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพนั้น หรือให้ข้อมูล เกี่ยวกับชะตากรรมหรือแหล่งที่อยู่ของบุคคลเหล่านั้น ด้วยเจตนาที่จะปลดพวกเขาออกจากการคุ้ม ครองทางกฏหมายเป็นเวลานาน" (43)

มีผู้คนไม่ทราบจำนวนที่ดูเหมือนจะ"หายตัวไป" นับตั้งแต่เหตุการณ์รุนแรงปะทุขึ้นเมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. 2547 หน่วยงานทั้งทางการและกึ่งทางการพยายามจัดตั้งกลไกรับคำร้องเรียน จากญาติของ"ผู้ที่หายตัวไป" หรือจากครอบครัวของคนที่อาจหนีออกจากบ้านไป อย่างไรก็ดีความ พยายามในการเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับ "คนที่หายตัวไป" เผชิญอุปสรรคที่เป็นผลพวงจาก การลอบ ทำร้ายและการขู่ฆ่าคนในพื้นที่ ที่พยายามช่วยสืบสวนและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ (44)

ผู้ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านนี้อยู่ บอกกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า การประเมินตัวเลขคนที่สูญหายไปเป็นภารกิจที่ลำบากอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเพราะคำขู่ที่พวกเขาได้รับ และอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะ ชาวบ้านมักหวาดกลัวเกินกว่าที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีเหล่านี้ หลายคนบอกว่าเขาต้องหยุดสืบสวนกรณี "คนที่หายตัวไป"เอาไว้ก่อนในขณะนี้

อย่างไรก็ดี องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีโอกาสได้เก็บข้อมูลโดยตรงจากกรณีประชาชนมุสลิมที่ "หายตัวไป" หรือ สงสัยว่าจะ"หายตัวไป" 4 กรณี ทุกกรณีที่นำเสนอ ณ ที่นี้ เกิดขึ้นภายหลังเหตุ การณ์ปล้นปืน จากค่ายทหารในนราธิวาสเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่บอกกกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า เป็นช่วงที่มีคน "หายตัวไป" หลายกรณี (45)

ทั้ง 4 กรณีในที่นี้ ทางการไม่ได้ดำเนินการสอบสวนเป็นกิจจะลักษณะ และเสาะหาผู้กระทำการลักพาตัวหรือต่อชะตากรรมหรือที่อยู่ของ "ผู้ที่หายตัวไป" ผู้ทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ที่ทำงานรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สูญหายบอกทางองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า ในบางกรณี ครอบครัวของบุคคลที่ "หายตัวไป" ไม่พยายามที่จะแจ้งความกับตำรวจเพราะพวกเขาเห็นว่า "มันไม่มีประโยชน์" คนที่ทำงานสืบสวนกรณีเช่นนี้กล่าวด้วยว่า บางครอบครัวพยายามที่แจ้งความแต่ทางตำรวจไม่รับแจ้ง อย่างไรก็ดีมีบางกรณีที่แจ้งความได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนไม่เคยมีการสอบสวนเกิดขึ้นเลย

ประมาณตีสองของวันที่ 9 มกราคม อิบราฮิม กาโย ชาวมุสลิมที่ทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์วัย 40 กว่าปี ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พกอาวุธและแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 คนพาออกจากบ้านของเขา ที่บ้านป่าหวัง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ชายกลุ่มนี้บอกว่าต้องการสอบปากคำ แต่พวกเขาไม่ได้บอกว่าจะพาไปสอบปากคำที่ไหน หรือว่าจะสอบปากคำเรื่องอะไร ญาติของอิบราฮิมแจ้งความกับตำรวจที่สถานีภูธรอำเภอและได้คอยแวะไปที่โรงพักเนืองๆ เพื่อสอบถามความคืบหน้า ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านของเขาก็ช่วยกันตามหาตัวเขา ไม่นานต่อมาครอบครัวได้รับแจ้งว่า พบศพของเขาที่นราธิวาส อย่างไรก็ดี เมื่อพวกเขาได้เห็นศพเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2547 ศพนั้นเน่า สลายไม่อยู่ในสภาพที่พวกเขาจะบอกได้ว่า ใช่ญาติที่หายไปหรือไม่

ในกรณีที่เกี่ยวโยงกัน อาบูดิมัน วัย 24 ปี เพื่อนของอิบราฮิม กาโย ซึ่งประกอบอาชีพทำสวนของ ตนเอง ถูกสันนิษฐานว่าโดนลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 9 มกราคมโดยชายกลุ่มเดียวกันจากร้านน้ำชา ต่อจากนั้นชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวได้พาอาบูดิมันไปด้วย เพื่อไปลักพาตัวอิบราฮิม กาโยที่บ้าน เป็นรายต่อไป ครอบครัวของอาบูดิมันก็ได้แจ้งความกับสถานีตำรวจภูธร อำเภอบันนังสตาเช่นกัน แต่พวกเขาไม่เคยได้รับข่าวคราวว่าอาบูดิมันไปอยู่ที่ไหน หรือว่ามีการสอบสวนการหายตัว ไปของเขา

และในวันที่ 9 มกราคม 2547 วันเดียวกันนั้น สะตา ลาบก พ่อค้าวัย 32 ปี จากหมู่ 6 ตำบลบางโพ อำเภอเมือง นราธิวาส "หายตัวไป" ภายหลังจากไปรายงานตัวสถานีตำรวจ มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 8 มกราคม มีตำรวจกลุ่มหนึ่งราว 20 คนไปที่บ้านของเขาและขอเข้าค้นบ้าน ตำรวจได้ค้นบริเวณ บ้านและรถยนต์ของเขา แต่ไม่ได้พบสิ่งของผิดกฏหมายแต่อย่างใด จากนั้นตำรวจก็ยึดรถของเขาไป พร้อมกับมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นของญาติเขา และบ่ายวันเดียวกันนั้น สะตา ลาบก นำทะเบียนรถ ของเขาไปแสดงที่สถานีตำรวจท้องที่และได้รับรถคืน

วันที่ 9 มกราคม เขาขับรถไปนราธิวาสและได้พบกับญาติที่ทำงานเป็นคนขับรถตู้ ญาติคนนั้นได้ขอให้เขาช่วยนำห่อพัสดุของลูกค้าไปให้รถส่งของอีกเจ้าหนึ่ง สะตา ลาบกนำพัสดุนั้น ไปให้รถตู้ที่สี่แยกเยาวราช และที่นั่นเขาได้เจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนที่บอกให้เขาไปหาที่สถานี ตำรวจโดยไม่ได้ระบุสาเหตุ จากนั้นสะตา ลาบก ก็เดินทางออกจากสำนักงานบริษัทที่รับส่งพัสดุ โดยมีนายตำรวจคนนั้นตามไป หลังจากนั้นตำรวจก็กล่าวหาว่าเขามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ลอบวางระเบิด หนึ่งสัปดาห์ให้หลังจากที่เขา "หายตัวไป" ทางครอบครัวได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจในอำเภอ แต่ทราบว่าไม่มีการสอบสวนใดๆ อย่างไรก็ดี ทางการได้เสนอเงินชดเชยเบื้องต้น ให้กับทางครอบครัว 10,000 บาทและเสนอว่าจะจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกชายของสะตา ลาบก

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 อิบรอฮิม เซะ ชาวสวนยางวัย 39 ปีและอดีตครูสอนศาสนาถูกลักพาตัวไปจากบ้านของเขา ที่หมู่บ้านโต๊ะโพคา จังหวัดนราธิวาส ประมาณเที่ยงคืนโดยกลุ่มชายฉกรรจ์ถืออาวุธและสวมหน้ากาก ชายราว 5-6 คนซึ่งมากันในรถสองคันเข้าค้นบ้านและจับตัวเขาไว้ ขณะที่อีกกลุ่มเข้าค้นในห้องนอน ครอบครัวของเขาเข้าแจ้งเหตุกับตำรวจในวันรุ่งขึ้น แต่ตำรวจบอกกับครอบครัวว่า กลุ่มคนที่ดำเนินการน่าจะเป็นอาชญากรมากกว่าเป็นเจ้าพนักงาน ทางครอบครัวของเขาไม่เคยได้รับทราบข่าวคราวใดๆ จากตำรวจอีกเลย แม้ว่าพวกเขาได้ไปตามหาอิบรอฮิม เซะ ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาด้วย จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน

องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความห่วงใยว่าบุคคลข้างต้นทั้ง4 รายนี้อาจจะ"หายตัวไป" โดยเฉพาะ อย่างยิ่งจากการที่เหตุการลักพาตัวทั้ง 4สี่กรณีนี้ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหาร ที่นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่อาจ "หายตัวไป"เหล่านี้จะไม่เป็นที่ประจักษ์ จนกว่ารัฐบาลไทยจะริเริ่มการสืบสวนที่มีประสิทธิภาพ เป็นอิสระและเป็นกลาง และดำเนินการกับผู้รับผิดชอบต่อการกระทำสิ่งเหล่านี้ตามกระบวนการยุติธรรม

คำประกาศสหประชาชาติ ว่าด้วยการคุ้มครองทุกคนจากการบังคับให้หายตัวไป กล่าวว่า รัฐใดๆก็ตามจะไม่กระทำการหรือเพิกเฉยต่อการ "หายตัวไป" ซึ่งควรถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฏหมายแผ่นดิน หลักการของสหประชาชาติว่าด้วย การป้องกันและการสืบสวนการวิสามัญฆาตกรรม (UN Principles on the Effective Prevention and Investigation of Extra-legal, Arbitrary and Summary Executions) (46) ระบุว่ารัฐบาลต่างๆ ควรมีกฏหมายห้ามกระทำ วิสามัญฆาตกรรม และให้หลักประกันว่า กำลังความมั่นคงมีสายการบังคับบัญชาที่เข้มงวด

(iv) การทำร้ายผู้ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม
องค์กรนิรโทษกรรมสากล ได้สัมภาษณ์คนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลายรายในภาคใต้ รวมทั้งนักวิจัยที่เก็บข้อมูล นักศึกษามหาวิทยาลัยและนักวิชาการ ตั้งแต่ต้นปีค.ศ. 2001 เป็นต้นมา ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 19 รายถูกลอบสังหาร มีหนึ่งรายที่"หายตัวไป"และหลายรายเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร (47) หลายรายถูกขู่ฆ่าอยู่เนืองๆ หรือถูกสะกดรอย

การละเมิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งบรรยากาศยังคงตึงเครียดและผันผวน ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนบางคนได้รับคำขู่ทางโทรศัพท์ อินเตอร์เนท หรืออีเมล์ส่วนตัว ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนรายหนึ่งกล่าวว่า ได้รับโทรศัพท์ลึกลับเมื่อต้นปี 2548 โดยคนที่โทรศัพท์มาบอกว่า "ระวังตัวไว้ อาจตายได้"

คนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนเล่าให้ฟังว่า พวกเขาไม่ลงเยี่ยมคนตามหมู่บ้านและไม่ออกจากบ้านตอนกลางคืน ส่วนบางรายก็ล้มเลิกการสอบสวนติดตามกรณีไปเลยเพราะว่า พวกเขาเกรงกลัวผลที่อาจตามมา อย่าสงไรก็ดี พวกเขาต่างแสดงความกังวลต่อชะตากรรมของชาวบ้านที่ถูกคุกคาม ชายหนุ่มมุสลิมมลายูรายหนึ่งบอกว่า "ผมเป็นนักศึกษายังโดนขนาดนี้ แล้วชาวบ้านล่ะ? ชาวบ้านเดือดร้อนยิ่งกว่าผมเสียอีก... ชาวบ้านสูญเสียอยู่ตลอดเวลา พวกเขาต้องทนทุกข์ สูญเสีย และเจ็บปวด ถ้าคุณต้องการสันติภาพ คุณก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรมและ มนุษยธรรม"

คนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรายหนึ่งถูกทำร้ายในภาคใต้ แต่เขาเอาชีวิตรอดจากการถูกลอบสังหารมาได้ ราวแปดโมงครึ่งเช้าวันที่ 1 กันยายน 2548 มุสตาฟา สะตอปา นักวิจัยชาวมุสลิม ถูกยิงเข้าสองครั้งที่ไหล่และด้านหลัง ใกล้บ้านของเขาในจังหวัดปัตตานี หลังจากที่เขาโดนติดตาม ในลักษณะข่มขู่มาแล้วสองครั้งก่อนหน้านั้น เขากำลังทำงานสืบสวนติดตามกรณีคนที่สูญหายไป ในภาคใต้ รวมถึงกรณีของคนที่อาจ"หายตัวไป" นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองใน ภาคใต้ สองสัปดาห์ก่อนที่เขาจะถูกยิง มุสตาฟาถูกชายฉกรรจ์มีอาวุธขี่มอเตอร์ไซค์สะกดรอยตาม (48) องค์กรนิรโทษกรรมสากลไม่ทราบว่า การสืบสวนเบื้องหลังการลอบทำร้ายกรณีนี้มีความคืบหน้า ประการใด ทางองค์กรฯเรียกร้องให้รัฐบาลสอบสวนกรณีนี้อย่างทันควัน และโดยละเอียดเพื่อนำผู้กระทำการเข้ารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความกังวลเรื่องที่ไม่มีความคืบหน้า ในการสืบสวนกรณี "หายตัวไป"ของทนายความสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่หายไปตั้งแต่วันที่12 มีนาคม พ.ศ. 2547 กรมสืบสวนคดีพิเศษ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ได้รับคดีนี้ไปตั้งแต่เดือน กรกฏาคม 2548 อย่างไรก็ตาม ภรรยาของนายสมชายให้สัมภาษณ์ว่าเธอรู้สึกผิดหวังที่การสืบสวนไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด (49)

เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 มีการเริ่มดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่ถูกจับในข้อหาพัวพันกับการ "หายตัวไป"ของทนายสมชาย เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้ถูกตั้งข้อหาปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ของกฏหมายอาญาและข้อหา " ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด" ตามมาตรา 309

รัฐบาลไทยได้ตอบคำถามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ที่สอบถามเรื่องนี้เมื่อเดือนกรกฏาคม 2548 ว่า "...เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายถูกตั้งข้อหาลิดรอนเสรีภาพของนายสมชาย...อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายมิได้ถูกตั้งข้อหาที่แรงกว่านั้นเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักพอที่จะพิสูจน์ว่านายสมชาย นีละไพจิตรเสียชีวิตแล้ว..."

องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้หลักประกันว่า "การหายตัวไป" ทุกกรณี เป็นความผิดตามกฏหมายอาญาไทย ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 4 ของคำประกาศสหประชาชาติว่าด้วย การคุ้มครองทุกคนจากการบังคับให้หายตัวไป (the UN Declaration on the Protection of All Persons from Enforced Disappearances) มาตราที่ 14 ของคำประกาศนี้ระบุด้วยว่า ใครก็ตาม ที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำการบังคับให้บุคคลอื่นหายตัวไป ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ความรุนแรงในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งผลกระทบต่อสังคมทุกระดับไม่ว่าจะเป็น นักการศึกษา นักเรียน เกษตรกร ชาวสวนยาง นักธุรกิจ อิหม่าม และพระสงฆ์ ประชาชนที่ทำ มาค้าขายกล่าวกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า พ่อค้ายางและเสื้อผ้าจากต่างถิ่นหวาดกลัวเกินกว่าที่จะเดินทางเข้ามาค้าขายในภาคใต้ ซึ่งส่งผลเสียหายให้กับธุรกิจ ประชาชนในพื้นที่ไม่ว่าคนพุทธหรือมุสลิม ต่างหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางยามค่ำมืด และแทบทุกคนบอกกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า พวกเขาพยายามเข้าบ้านกันก่อนพระอาทิตย์ตก

พื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่และอย่างปลอดภัยของภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ทนายความ ผู้นำชุมชน ลดน้อยถอยลงอย่างมากนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ นอกจากนี้สถานการณ์ความมั่นคงที่เลวร้ายลง ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวพุทธและมุสลิม ที่เมื่อก่อนนี้เคยถ้อยทีถ้อยอาศัยให้ความร่วมมือกัน บัดนี้ทั้งสองกลุ่มเกิด ความหวาดกลัว และไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักว่า ยังคงมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมของภาคประชาสังคม ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสจะเป็นสีแดงไปเสียทั้งหมด และสถานการณ์ ความมั่นคงในแต่ละหมู่บ้านก็แตกต่างกันไป

องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้พูดคุยกับกลุ่มที่ทำงานด้านสันติสุขและสมานฉันท์ รวมทั้งกลุ่มผู้หญิง ที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงทั้งพุทธและมุสลิม ที่เป็นญาติเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรง คณะ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดเวทีหลายครั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง เช่น เมื่อเดือนกันยายน 2548 คณะกรรมาธิกาสิทธิฯได้จัดการประชุมที่มีจุดประสงค์ให้ชาวมุสลิมและพุทธ เรียนรู้การช่วยเหลือเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2548 ศูนย์ข่าวอิศราเริ่มดำเนินการ โดยมีสำนักงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยการสมานฉันท์โดยอาศัยความเข้าใจทางวัฒนธรรม และการรายงานข่าวที่หลากหลาย ศุนย์ข่าวอิศรา เป็นโครงการที่ กอส.ให้เงินสนับสนุน ร่วมกับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและสมาคมผู้สื่อข่าวภาคใต้ ข่าวต่างๆที่นักข่าวในพื้นที่ของศูนย์ข่าวอิศรานำเสนอนั้น สื่อสามารถนำไปเผยแพร่ได้ฟรี (50)

กลุ่มภาคประชาชน อย่างเช่น กลุ่มชาวประมงขนาดเล็กปัตตานีก็ได้จัดตั้งเวทีประมงพื้นบ้านขึ้นมา ซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์การทำมาหาเลี้ยงชีพดั้งเดิม และทรัพยากรปลาจากการทำประมงขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (51)

(v) การจับกุมและคุมขังในภาคใต้
ตั้งแต่ที่เหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองปะทุขึ้นเมื่อพ.ศ. 2547 ทางการได้จับกุมผู้ต้องสงสัยว่า เกี่ยว ข้องหรือให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองติดอาวุธไปแล้วไม่ทราบจำนวน เป็นเรื่องลำบากที่จะ ประเมินว่าทุกวันนี้มีจำนวนคนถูกคุมขังอยู่ทั้งสิ้นกี่คน เนื่องจากมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยอยู่เนืองๆ และคนที่ถูกจับกุมบางรายก็ได้รับการปล่อยตัวไปหากไม่มีหลักฐานพอ หรือบางรายก็ได้รับยกฟ้อง

ขณะที่จัดทำรายงานฉบับนี้ แหล่งข่าวในแวดวงกฏหมายประเมินว่า มีคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงใน ภาคใต้อยู่ประมาณ 60 กว่าคดี มีผู้คนจำนวนหนึ่งถูกจับจากการสังหารนาวิกโยธิน 2 นาย ที่ตำบลตันหยงลิมอ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 ขณะที่มีรายอื่นๆ ที่ถูกจับกุมและคดีความอยู่ใน การพิจารณาของศาล อย่างเช่น กรณีครูสอนศาสนาหรืออุ๊สต๊าซ 8 คน ซึ่งเพิ่งเริ่มไต่สวนเมื่อเดือนตุลาคม 2548 และยังคงดำเนินการอยู่จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2548 รายงานข่าวกล่าวว่า พวกเขาถูกจับกุมในข้อหากบฏ วางเพลิง และฆาตกรรมหลายราย ในระหว่างปี พ.ศ.2538-2547 (52)

เจ้าหน้าที่ขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ได้คุยกับทนายความหลายคนที่ให้รายละเอียด กรณีที่ผู้ต้องสงสัยไม่มีโอกาสได้พบทนายตอนที่เพิ่งถูกจับใหม่ๆ ยิ่งไปกว่านี้ แหล่งข่าวจากแวดวงทนายความและผู้นำชุมชนกล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยที่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านการแปลภาษาไทยและมลายู และพวกเขามักเจอปัญหาด้านภาษาในระหว่างการสอบปากคำ เพราะพวกเขามักไม่เข้าใจคำถาม ผู้ต้องขังมักถูกจับให้เซ็นเอกสารที่เป็นภาษาไทย ที่มีข้อความระบุว่าพวกเขาได้อ่านและเข้าใจข้อความในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยและพยานชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือให้มีล่ามช่วยแปลภาษา ในระหว่างการไต่สวนคดีในศาล

ผู้ถูกจับกุมในข้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรง ถูกคุมขังอยู่ตามสถานที่ต่างๆหลายแห่ง เช่น สถานีตำรวจ ค่ายอิงคยุทธบริหารในปัตตานี เรือนจำกลางจังหวัดยะลา โรงเรียนฝึกตำรวจยะลา แหล่งข่าวในพื้นที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่ชาวมุสลิมถูกจับและคุมขัง ภายใต้อำนาจกฏอัยการศึก ที่มีใช้ในพื้นที่กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2548 และภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ถัดจากนั้นมา (53)

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาสงขลาฯ 3 คนที่ถูกจับกุมในข้อหาต้องสงสัยพัวพันกับการฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเดือนมกราคม 2548 ไม่มีโอกาสได้พบทนายความหรือญาติตลอดเวลาที่ถูกคุมตัว เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าเป็นไปตามกฏอัยการศึก ในช่วงแรกนักศึกษากลุ่มนี้ถูกคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจ โดยที่ไม่มีใครรับรู้ จากนั้นพวกเขาถูกย้ายไปขังไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

มาตรา 12 ของ พรก.ฉุกเฉินระบุว่า บุคคลต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตาม พรก.จะ "ต้องถูกควบคุม ไว้ในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถานหรือเรือนจำ" ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่ ไม่ใช่คุกอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนต้องสงสัยที่ถูกจับภายใต้ พรก.มักถูกคุมตัว ไว้ที่โรงเรียนฝึกนายตำรวจที่จังหวัดยะลา หรือค่ายอิงคยุทธบริหาร

แหล่งข่าวในแวดวงกฎหมายกล่าวว่า บุคคลต้องสงสัยที่โดนจับในข้อหาเกี่ยวข้องกับฆาตกรรมนาวิกโยธิน 2 นาย ที่ตันหยงลิมอ ถูกคุมตัวไว้ที่โรงเรียนฝึกนายตำรวจยะลา โดยที่พวกเขาไม่ได้พบทนายความและญาติเป็นเวลาหลายวัน ผู้ต้องสงสัยอีกกลุ่มที่ถูกจับในข้อหาเกี่ยวกับการลอบวางระเบิดกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ก็ถูกคุมขังไว้ที่โรงเรียนตำรวจนี้เช่นกัน และไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายและครอบครัวเช่นกัน

องค์กรนิรโทษกรรมสากล มีความห่วงใยเกี่ยวกับวิธีการจับกุมและควบคุมตัวตามมาตร 12 ของ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งเปิดช่องให้มีการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยไว้ได้โดยปราศจากข้อกล่าวหาเป็นเวลา 30 วัน ถึงแม้มาตรา 12 จะกำหนดไว้ว่าเจ้าพนักงานต้องขอคำร้องจากศาลก่อนเข้าจับกุมและคุมขัง บุคคลต้องสงสัยเพื่อควบคุมตัวไว้ได้เกินกว่า 7 วัน มาตรานี้ไม่ได้กล่าวอย่างชัดแจ้งถึงสิทธิของผู้ต้องสงสัยในการที่จะโต้แย้งว่า การควบคุมตัวนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามสิทธิที่ประกันไว้ในมาตรา 9(4) ของข้อตกลงนานาชาติ ว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights- ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี

ยิ่งไปกว่านี้ มาตรา 12 ของ พรก.ฉุกเฉิน เปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกจับภายใต้ พรก.นี้ถูกควบคุมตัวไว้ในที่ที่ไม่ใช่สถานที่คุมขังตามปกติ มาตรา 10 ของคำประกาศสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองทุกคนจากการบังคับให้หายตัวไป (the UN Declaration on the Protection of All Persons from Enforced Disappearances) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"1) บุคคลที่สูญสิ้นอิสรภาพจะถูกควบคุมตัวไว้ใน สถานที่ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นที่คุมขัง..." และว่า
2) ญาติและทนายความของบุคคลที่ถูกควบคุมตัว จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัวทันที..."

การควบคุมตัวไว้ในสถานที่ที่มีสถานะเป็นที่คุมขัง เป็นการป้องกันไม่ให้มีการทารุณกรรมและเกิดการ"หายตัวไป"

การควบคุมตัวบุคคลในลักษณะที่ไม่ให้ติดต่อใครได้เลยนั้น ขัดกับหลักกฏหมายสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการกระทำการทรมานหรือปฏิบัติไม่ดี หลักการที่ 19 ในหลักการคุ้มครองบุคคลในเรื่องการควบคุมตัวและจองจำ (54) (the Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment) ระบุว่าบุคคลที่สูญเสียอิสรภาพ มีสิทธิที่จะติดต่อกับสมาชิกครอบครัวและติดต่อกับโลกภายนอก

องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางกฏหมายจากทนายความ อันเป็นสิทธิที่บุคคลหลายคนที่ถูกจับตาม พรก.ฉุกเฉินไม่ได้รับ ผู้ต้องสงสัยบางรายที่ถูกคุมตัวภายใต้กฏอัยการศึก ที่มีผลบังคับใช้ในภาคใต้จนกระทั่งเดือนกรกฏาคม 2548 ก็ไม่ได้รับ สิทธิให้พบทนายความทันทีเช่นเดียวกัน ผู้ถูกจับกุมภายใต้เงื่อนไขกฏหมายทั้งสองกรณีดังกล่าว เพิ่งได้โอกาสพบทนายความอีกหลายวันต่อมาให้หลังจากการถูกจับกุม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้กล่าวไว้อย่างเป็นทางการว่า เพื่อป้องกันการทารุณและการปฏิบัติที่มิชอบ "ไม่ควรให้มีการคุมขังโดยที่โลกภายนอกไม่รับรู้...การคุ้มครองผู้ถูกคุมขังหมายรวมถึงสิทธิพบแพทย์ และทนายความทันทีและอย่างสม่ำเสมอ และภายใต้การควบคุมดูและที่เหมาะสมเมื่อจำเป็นต้องมีการไต่สวน รวมถึงให้พวกเขามีโอกาสได้พบสมาชิกในครอบครัวด้วย" (55) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนย้ำด้วยว่า "คนที่ถูกจับกุมทุกคนต้องได้มีโอกาสพบทนายความทันที" (56)

องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความกังวลเช่นกันว่า ไม่มีความช่วยเหลือเรื่องแปลภาษาไทยมลายู และไทยให้กับผู้ถกคุมขังหรือพยานในศาล สิทธิในการที่จะมีล่ามในขั้นตอนการดำเนินการ ตามกระบวนการทางอาญา รวมถึงการสอบปากคำโดยตำรวจ การสอบสวนเบื้องต้น หรือการ สอบถาม หลักการที่ 14 ของหลักการคุ้มครองบุคคลในเรื่องการควบคุมตัวและจองจำ (the Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment) ระบุในบางตอนว่า "บุคคลที่ไม่เข้าใจภาษาดีพอหรือพูดภาษาเดียวกับทางการที่จับกุมคุมขังพวกเขา มีสิทธิจะได้รับความช่วยเหลือด้านล่ามแปลเป็นภาษาที่เขาเข้าใจได้ทันที..." เกี่ยวกับสาเหตุที่เขา ถูกจับกุม ข้อกล่าวหา และคำอธิบายถึงสิทธิที่เขาพึงได้ และจะใช้สิทธินั้นได้อย่างไร ในขณะที่ถูกจับกุม (57)

มาตราที่ 14(3) ของข้อตกลง ICCPR กล่าวถึงสิทธิที่บุคคลซึ่งต้องข้อหาทางอาญาพึงได้รับไว้ว่า รวมถึง "การหาล่ามมาช่วยเหลือให้ฟรีหากบุคคลนั้นไม่สามารถเข้าใจหรือพูดภาษา ที่ใช้ในศาล
การได้รับข้อมูลทันทีและอย่างละเอียดว่า เขาถูกจับด้วยเหตุใด ในข้อหาใด ในภาษาที่เขาเข้าใจ"

(vi) การทรมานและการปฏิบัติไม่ดีอื่นๆ
ผู้ถูกคุมขังเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้บางรายโดนให้ใส่ตรวนโลหะหนัก 4.5 กิโลกรัมเป็น เวลาต่อเนื่องยาวนาน องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้รับข้อมูลมาว่า กลุ่มนักศึกษา 6 คนที่ถูกจับภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 โดนตีตรวนในลักษณะนี้ขณะถูกคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ จังหวัดยะลา การตีตรวนนักโทษประหารเป็นวิธีปฏิบัติในเรือนจำบางขวาง องค์กรนิรโทษ กรรมสากลก็เคยรายงานกรณีอื่นเรื่องการตีตรวนบุคคลที่ไม่ได้ต้องโทษประหาร เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (58) การล่ามโซ่ตรวนโลหะหนักถือเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและไม่เคารพ ศักดิ์ศรี หรือเป็นการลงโทษในกรณีเช่นนี้ องค์กรนิรโทษกรรมสากลย้ำคำเรียกร้องให้กรม ราชทัณฑ์ยกเลิกการล่ามตรวนในคุก

องค์กรนิรโทษกรรมสากลเคยรายงานการใช้วิธีทรมานโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในประเทศไทย ต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่อ่อนแอเช่นชนกลุ่มน้อย แรงงานพลัดถิ่นและผู้อพยพ (59) ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้มีรายงานว่า ชายไทยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ 5 รายที่ทนายความสมชาย นีละไพจิตรสู้คดีความให้ก่อนหน้าที่เขาจะ "หายตัวไป" เมื่อเดือนมีนาคม 2547 ถูกตำรวจทรมานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ตามคำบันทึกของทนายความสมชายเอง สมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของไทย (60) ในงานสัมนาเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาทนายความแห่งประเทศไทยรายงานว่า ตำรวจใช้วิธีทรมานและการข่มขู่ เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยสารภาพ สภาทนายความกล่าวด้วยว่า ผู้ต้องสงสัยหลายรายที่ถูกจับกุมตามอำนาจ พรก.ฉุกเฉิน ถูกคุมตัวโดยที่ไม่สามารถติดต่อกับภายนอกได้ และถูกทรมาน โดนปฏิบัติด้วยไม่ดีและถูกตำรวจขู่ (61)

ในช่วงเยือนพื้นที่เมื่อปี 2547 องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้สัมภาษณ์ชายไทยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ รายหนึ่ง ซึ่งเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า เขาถูกตำรวจทรมานเมื่อปี 2545 อย่างไร ชายคนนี้ซึ่งเกี่ยวดองผ่านทางภรรยากับผู้นำกลุ่มพูโลคนหนึ่ง ถูกจับเมื่อเดือนตุลาคม 2545 และถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมผู้ใหญ่บ้าน ตอนแรกสุดตำรวจนำตัวเขาไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี ระหว่างการสอบปากคำชายคนนี้เล่าให้ฟังว่า ตำรวจเอาน้ำร้อนราดตัวเขาและทุบตี เมื่อเขาตอบคำถามไม่เป็นที่ถูกใจของตำรวจ

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทุ่มเก้าอี้ไม้ตัวใหญ่ใส่เขา และก็ใช้เก้าอี้ตัวเดียวกันนั้นเป็นเครื่องมือทุบตีเขา เขาถูกสอบสวนปากคำอยู่สามวันสามคืนและคำถามหลักก็คือ เขาได้"เลี้ยงโจรก่อการร้าย"จริงหรือไม่ ครอบครัวเขาได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเขาได้ 4 วันหลังจากที่เขาถูกจับกุม ในที่สุดแล้วเขาได้มีโอกาสพบทนาย และเขาได้รับการปล่อยตัวอีกไม่กี่เดือนให้หลัง

องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความกังวลเกี่ยวกับรายงานที่มีมาอย่างสม่ำเสมอ เรื่องการใช้วิธีทรมานและการปฏิบัติที่ไม่สมควรของทางการไทย การใช้วิธีทรมานและการปฏิบัติที่ไม่สมควรนั้น ขัดกับ มาตรา 7 ของข้อตกลง ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและข้อตกลงนี้ห้ามการทรมาน และปฏิบัติ ที่ไม่สมควรในทุกกรณี ภายใต้มาตรา 4(2) ของข้อตกลงฉบับนี้ ไม่เปิดช่องให้มีการขอละเว้นไม่ ปฏิบัติตามแม้ในกรณีภาวะฉุกเฉิน ทางองค์กรฯรับรู้ถึงเจตนาที่รัฐบาลไทยจะให้การรับรองสนธิสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม (the Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) (62) และขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบรรณรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว และนำมาตราต่างๆ ในสนธิสัญญานี้มาเป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายในประเทศ เพื่อนำมาปฏิบัติและเป็นหลักประกันว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ทัณฑสถาน จะไม่ทรมานและปฏิบัติไม่ดีต่อบุคคล

(vii) "บัญชีดำ" และการควบคุมตัวในค่ายทหาร
มีรายงานออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ว่าทางการได้จัดทำ"บัญชีดำ"หรือ"รายชื่อบุคคลที่ต้องสงสัย" ว่าให้การสนับสนุนหรือเห็นคล้อยตามกับกลุ่มก่อการชายหนุ่มชาวมุสลิมหลายสิบราย ซึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ในหมู่บ้านและอำเภอว่า มีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีและถูกเชิญชวนให้ไปรายงานตัวกับทางจังหวัด ข่าวที่ออกมาสื่อมวลชนบอกว่าคนกลุ่มนี้ "เข้ามอบตัว" กับ ทางการ (63) และหลายคนถูกให้เข้าอยู่ฝึกอบรมที่ค่ายทหารเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ถึงสิบวัน

เมื่อเดือนกันยายนและตุลาคม 2547 องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้มีโอกาสเก็บข้อมูลโดยตรงเกี่ยว กับเรื่องบัญชีดำ ไม่มีใครรู้ว่าทางการมีวิธีรวบรวมจัดทำ"บัญชีดำ"ดังกล่าวอย่างไร หรือใช้อะไร เป็นพื้นฐานในการตัดสินว่าชื่อใครควรอยู่ในบัญชีนี้ เชื่อกันว่าพวกที่เข้ารายงานตัว ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาประกรใด ผู้นำชุมชนกล่าวว่า ชายหนุ่มมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เคร่งศาสนา รวมถึงครูสอนศาสนาและพวกที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศมุสลิม เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดว่าจะมีชื่อปรากฏใน "บัญชีดำ" เท่าที่ทางองค์กรฯทราบ ไม่มีกลไกทางยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้มีการร้องเรียนคัดค้านการที่ชื่อตนเข้าไปอยู่ใน "บัญชีดำ"นี้

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าสบายใจนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูจากวิธีการที่ทางการ"ทำสงครามกับยาเสพติด"เมื่อปี 2546 ขณะนั้นกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำ"บัญชีดำ" ของผู้ต้องสงสัยร่วม 42,000 ราย และวิธีการรวบรวมจัดทำบัญชีนี้ก็ไม่เคยเป็นที่เปิดเผย คนที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีนี้ มักจะออกมารายงานตัวกับทางการท้องถิ่นเพื่อเคลียร์ชื่อเสียงของตน อย่างไรก็ดีหลายคนในบัญชีก็โดนยิงเสียชีวิต ระหว่างเดินทางกลับจากการรายงานตัวที่สถานีตำรวจ หรือสำนักงานราชการอื่นๆ โดยมือสังหารที่ไม่มีใครรู้ แต่ในภาวะการณ์นี้บ่งชี้ว่า อาจเป็นการกระทำวิสามัญฆาตกรรม (64)

องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้สัมภาษณ์ชายหนุ่มมุสลิมหลายรายในอำภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน 2548 ชายหนุ่มกลุ่มนี้ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในพื้นที่ว่ามีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีดำ และพวกเขาได้เดินทางไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งตามที่ทางการกำหนด ขณะที่พวกเขาไม่ได้ถูกใช้กำลังบังคับให้ไปรายงานตัว พวกเขาต่างรู้สึกว่าตนไม่มีทางเลือกในเรื่องนี้

ขั้นแรกสุดพวกเขาไปรายงานตัวที่อำเภอ จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอก็บอกให้พวกเขาไปที่สำนักงานจังหวัด ตลอดขั้นตอนเหล่านี้พวกเขาไม่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ หรือ ไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการถึงที่มาว่า ทำไมชื่อพวกเขาจึงปรากฏอยู่ในบัญชี เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งในกลุ่มถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมเขาถึงถูกขึ้นบัญชี เจ้าหน้าที่ตอบว่าเป็นเพราะมีคนเห็นเขากับเพื่อนๆ อีกสองสามคนพบปะกันเป็นกลุ่ม

เมื่อพวกเขาไปถึงที่สำนักงานจังหวัดนราธิวาส มีทีมแพทย์มาเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ และพิมพ์ลายนิ้ว มือของพวกเขา จากนั้นพวกเขาก็ถูกพาไปงานแถลงข่าวที่มีผู้แทนสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และ วิทยุโทรทัศน์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและแม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมอยู่ในงานแถลงข่าวด้วย พวกเขา ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเลยว่า จะมีเหตุการณ์เช่นนี้ และพวกเขาประหลาดใจอย่างมากที่ถูกนักข่าวและช่างภาพถ่ายรูปและซักถาม คำบรรยายรูปภาพจากงานแถลงข่าววันนั้นก็คือ "การเข้ามอบตัว ระลอกแรก"

พวกเขาได้รับแจ้งว่าทุกคนต้องไปที่ค่ายพระปกเกล้าที่จังหวัดสงขลา พวกเขาทุกคนบอกว่าได้รับ การดูแลอย่างดีระหว่างอยู่ที่ค่าย และไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาสอบปากคำพวกเขา พวกเขาเข้าฝึก อบรม และถูกเชิญชวนให้พูดแสดงความเห็น ได้รับประทานอาหารฮาลาลและได้รับอนุญาตให้ละหมาด หนึ่งในกลุ่มนั้นบอกกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า "ที่ค่ายก็เรียบร้อยดี แต่นั่น ไม่ใช่ ปัญหา ประเด็นก็คือผลที่ตามมาหลังจากนั้น ทุกๆคนคิดว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างไป เดี๋ยวนี้เรา ดำเนินชีวิตอย่างลำบาก เพราะว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็กลัวเรา ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไปจาก หน้ามือเป็นหลังมือ"

ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสกล่าวกับองค์กรนิรโทษกรรมสากลว่า การฝึกอบรมในค่ายจะหยุดดำเนินการในช่วงเดือนถือศีลอดแล้วค่อยเริ่มอีกหลังจากนั้น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2548 กลุ่มผู้ชาย 137 คนมารายงานตัวในพิธีที่ศาลาว่าการจังหวัดยะลา ต่อหน้าสื่อมวลชนและตัวแทนเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง พวกเขาได้รับแจ้งให้มารายงานตัวเพื่อเข้าร่วม "การฝึกอบรมสร้างสันติสุข" ที่ค่ายทหารในตำบลคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา

ผู้เข้าอบรมหลายรายร้องเรียนว่า ถูกบังคับให้ไปร่วมงาน และชายมุสลิมรายหนึ่งบอกได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่ให้พูดกับนักข่าว (65) พวกเขากล่าวด้วยว่า พวกเขากลัวตกเป็นเป้าของกลุ่มก่อการภายหลังจากที่พวกเขากลับจากฝึกอบรมที่ค่าย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลากล่าวว่า 7 คนจาก137 คนเท่านั้นที่เป็นบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นแกนนำ กลุ่มก่อการร้ายหรือว่าเป็นผู้เห็นอกเห็นใจ และว่าส่วนที่เหลือนั้นถูก"เกลี้ยกล่อม" ให้เข้าร่วม"พิธีมอบตัว" สำหรับ"ผู้หลงผิด" (66)

แนวคิดเรื่อง"บัญชีดำ" เป็นสิ่งแปลกแยกหลักกฏหมายและสิทธิมนุษยชน ในกรอบกฏหมายและ หลักเกณฑ์สิทธิมนุษยชนสากล ผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมที่เป็นที่ยอมรับกันในความหมาย สากลอาจจะโดนฟ้องเป็นรายบุคคล ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลเรื่องความ เป็นธรรม รัฐบาลไม่สามารถที่จะประกาศ"ขึ้นบัญชีดำ"บุคคล และใช้ข้ออ้างดังกล่าวในอันที่คุมตัวพวกเขาไว้ในค่าย โดยไม่ได้กล่าวหาว่าพวกเขากระทำผิดข้อหาใด และส่งพวกเขาออกพบสื่อมวลชนโดยที่พวกเขาไม่ได้ยินยอม และรัฐบาลก็ไม่อาจละเมิด สิทธิมนุษยชนใดของบุคคลเหล่านี้

องค์กรนิรโทษกรรมสากลมีความห่วงใยด้วยว่าการกระทำเช่นนี้ อาจถูกนำไปใช้ในการคิดบัญชีส่วนตัวหรือทางการเมือง ยิ่งไปกว่านี้ กระบวนการของการขึ้นบัญชีดำและการบังคับให้ไปเข้าฝึก อบรมในค่าย เป็นการตีตราบุคคลเหล่านี้และเป็นการกระทำที่ปฏิเสธหลักการที่ต้องสันนิษฐานว่า บุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิในการถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น เจ้าหน้าที่ทางการจะต้อง ไม่ตัดสินกรณีต่างๆเองล่วงหน้า (67)

องค์กรนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลแจกแจงรายละเอียดการใช้"บัญชีดำ" หรือ"รายชื่อผู้ต้องสงสัย" และถ้าหากว่ารายชื่อดังกล่าวเป็นทางการ ให้เปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาและหน่วยงาน ใดเป็นผู้จัดทำรายชื่อดังกล่าว ภายใต้ข้อกฏหมายใด องค์กรฯเรียนย้ำกับรัฐบาลไทยด้วยว่า ภายใต้ มาตรา 9 (1) ของข้อตกลง ICCPR บุคคลไม่ควรถูกจับหรือคุมขังตามอำเภอใจ และขอเรียกร้อง ให้รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า บุคคลจะไม่ได้รับผลกระทบเสียหายจากการที่ถูกขึ้น"บัญชีดำ" กล่าวคือ ถูกขึ้นบัญชีจากข้อสงสัยที่ไม่มีมูล

+++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) นายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ให้มีการแบ่งพื้นที่ในนราธิวาส ปัตตานีและยะลาเป็นสีแดง เหลืองและเขียวตามระดับความรุนแรง ดูรายละเอียดจาก "Prime Minister threatens to pull aid plug on villages in hot spots," Bangkok Post 17 February 2005. ในเดือนตุลาคม ทางทหารระบุว่ามีพื้นที่สีแดง 247 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด ที่มา "Managing 'red zones' not easy, says Sonthi," Bangkok Post, 12 October 2005.

(2) สยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ.2482)

(3) ราว 20% ของประชากรในแถบชายแดนภาคใต้เป็นชาวไทยเชื้อสายไทยหรือจีน ขณะที่ประชากรไทย 95% นับถือพุทธ

(4) "Thailand tries eight Islamic teachers on terror charges," Bangkok Post, 12 October 2005

(5) ยกตัวอย่างเช่น "Thai Muslim militants call for self-government in south," Agence France Presse, 1 November 2005

(6) "Thaksin and the Resurgence of Violence in the Thai South: Network Monarchy Strikes Back," Duncan McCargo, University of Leeds, forthcoming in Critical Asian Studies, March 2006 อ้างอิงโดยได้รับอนุญาตจากผู้แต่ง

(7) "Man beheaded, two shot dead in southern Thailand," Agence France Presse, 14 October 2005.

(8) "Security stepped up across region," Bangkok Post, 12 November 2005.

(9) "Separatist group reportedly behind standoff in Thai southern village," Bangkok Post, 27 September 2005

(10) ดูหน้า I, Southern Thailand:Insurgency, not Jihad, International Crisis Group, 18 May 2005, Asia Report No. 98.

(11) ดูหน้า 21, Southern Thailand's Emergency Decree: No Solution, International Crisis Group, 18 November 2005, Asia Report No. 105.

(12) "Around 20,000 villagers in south to get arms, intelligence training," the Nation, 15 November 2005.

(13) 40 บาทเท่ากับ 1 ดอลลาร์

(14) จากรายงาน พวกเขาทุกคนได้รับการปล่อยตัว

(15) วีดีโอเทปและภาพถ่ายจากเหตุการณ์ประท้วงที่ตากใบ มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและองค์กรนิรโทษกรรมสากลก็ได้ดูหลักฐานเหล่านี้

(16) โปรดอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมอิสระเพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติในบทต่อไป

(17) "Kru Se Mosque Incident: Militants met to plan attack," an English summary of report in the Nation 16 April 2005

(18) "Tak Bai Report: Army chiefs deemed responsible," an English language summary of report in the Nation 26 April 2005

(19) The National Reconciliation Committee, July 2005, Committee Structures and Responsibilities, a document made available to Amnesty International (unofficial translation)

(20) "Martial Law could go," says PM, Bangkok Post, 6 May 2005

(21) "NRC: Give people in the South a say," Bangkok Post, 10 August 2005

(22) ไม่มีการเพิกถอนกฏอัยการศึกแต่อย่างไร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 มีการประกาศกฏอัยการศึกในพื้นที่สองอำเภอของสงขลา โปรดดู "Thai military puts two southern districts under martial law," the Nation, 3 November 2005.

(23) โปรดดูรายละเอียดการวิเคราะห์ พรก.ฉุกเฉินได้จากรายงานเรื่อง "More Power ,Less Accountability: Thailand's New Emergency Decree," International Commission of Jurists, August 2005.

(24) "Crisis in South: Anand and PM in show of unity," The Nation, 26 July 2005

(25) "Several southern Thai Muslims held by army after raid on school," Associated Press, 22 July 2005.

(26) "Militants kill four, snatch 42 guns in south Thailand," The Nation, 27 October 2005

(27) ดูหน้า 9-10, Thailand's Emergency Decree: No Solution, International Crisis Group, 18 November 2005, Asia Report No.105

(28) "Suspected Thai militant in court after Malaysia extradition," Agence France Presse, Bangkok, 9 December 2005.

(29) ดูหน้า 15-19, No Solution, International Crisis Group

(30) สภาทนายความแห่งประเทศไทย เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก "Law Society of Thailand" เป็น "the Lawyers' Council of Thailand."

(31) "Legal Aid alliance formed in the far south," Bangkok Post, 20 September 2005.

(32) ดูรายละเอียดที่ Human Rights Committee, Concluding Observations on Human Rights Committee, Thailand, CCPR/CO/84/THA

(33) ย่อหน้าที่ 13 อ้างแล้ว

(34) คำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรของราชอาณาจักรไทย ต่อประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการพิจารณารายงานระยะแรกของไทย ภายใต้มาตรา 40 ของข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights- ICCPR)

(35) องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้นำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก่อนการประชุม

(36) ดูกรณีตัวอย่างในบทที่ 5 ข้อ 5

(37) ดูรายละเอียดได้จากรายงานดังต่อไปนี้ Amnesty International, Thailand: Widespread abuses in the administration of justice, June 2002 (AI Index 39/003/2002); Thailand: Grave Developments - killings and other abuses, November 2003 (AI Index 39/009/2003); and Thailand: Memorandum on Human Rights Concerns, October 2004, (AI Index 39/013/2004)

(38) มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 52 รายและอีกหลายสิบรายได้รับบาดเจ็บหรือ "หายตัวไป" จากการที่ทหารยิงใส่ฝูงชนที่ประท้วง ดูรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จากรายงาน Amnesty International, Thailand: the Massacre in Bangkok, October 1992 (AI Index ASA 39/10/92)

(39) ดูรายละเอียดจากหน้า 3-13, Thailand: Grave Developments - killings and other abuses, November 2003 (AI Index 39/009/2003)

(40) "Weary southern Thailand fears worst over state of emergency," Agence France Presse, 22 July 2005.

(41) "Violence in the South/Prepaid phones, school raided," Bangkok Post, 20 May 2005.

(42) "Pattani Killings: Dead Muslims were 'silenced,' " The Nation, 22 June 2005.

(43) มาตรา 7 (2) (i) และ 7(1) ของ The Rome Statute of the International Criminal Court นิยามอาชญากรรม ต่อมวลมนุษยชาติไว้ว่า คือการบังคับให้คนหายตัวไปในกรณีที่ "เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีที่แพร่หลาย และเป็นระบบโดยมีเป้าหมายที่ประชากรทั่วไป โดยที่การโจมตีนั้นเป็นที่รับรู้"

(44) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่บทถัดไปเกี่ยวกับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

(45) องค์กรนิรโทษกรรมสากลได้รับรายชื่อส่วนหนึ่งของคนที่"หายตัวไป" โดยในรายชื่อดังกล่าวกรณีล่าสุดเกิดขึ้นกลางปี พ.ศ. 2548

(46) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1989 ตามข้อมติที่ 44/162

(47) ดูรายละเอียดหน้า 13-22, Amnesty International, Thailand: Grave Developments -Killings and Other Abuses, November2003, (AI Index 39/009/2003)

(48) "Army asked to put Satopa under its protection," Bangkok Post, 13 September 2005.

(49) "Somchai's wife to lead protest at DSI office," Bangkok Post, 23 November 2005.

(50) "Centre tries to tell real story of the South," The Nation, 29 September 2005.

(51) "Peaceful means the best way to fight for the right to fish," Bangkok Post, 27 September 2005.

(52) "Thailand tries eight Islamic teachers on terror charges," Bangkok Post, 12 October 2005.

(53) เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของพยานและผู้ที่ถูกจับ องค์กรนิรโทษกรรมสากลไม่เปิดเผยข้อมูลที่อาจระบุตัวตน รวมถึงชื่อ

(54) ซึ่งการประชุมสมัชชาทั่วไปของสหประชาชาติให้การรับรองตามข้อมติ 43/173 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1998.

(55) Human Rights Committee, 44th session (1992), General Comment No.20: Article 7 (Prohibition of torture or cruel, inhuman or degrading treatment or punishment) UN Doc.HRI/GEN/1/Rev.7 (2004) R 150., paragraph 11.

(56) Concluding Observations of the HRC:Georgia, UNDoc.CCPR/C/79/Add.74,9 April 1997, para.28

(57) โปรดดูหลักการข้อที่ 10 และ 13 ใน UN Body of Principles

(58) ดูหน้า 16, Amnesty International, Thailand: A human rights review based on the International Covenant on Civil and Political Rights, January 1999 (AI Index ASA 39/01/99)

(59) ดูหน้า 3-10, Amnesty International, Thailand: Widespread Abuses in the administration of justice, June 2002 (AI Index 39/003/2002)

(60) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหน้า 23 และภาคผนวก 10, Asian Legal Resource Centre, Institutionalised torture, extrajudicial killings and uneven application of law in Thailand, an alternative report to the initial report of Thailand to the Human Rights Committee, March 2005.

(61) "Muslim lawyers in southern Thailand demand an end to police torture," Bangkok Post, 27 November 2005.

(62) ดูรายละเอียดในหน้า 2, Amnesty International, Thailand: Memorandum on Human Rights Concerns, October 2004, (AI Index AI 39/013/2004) รายงานฉบับนี้สะท้อนรายละเอียดจากการเยือนประเทศไทยของเลขาธิการองค์กรนิรโทษกรรมสากล เมื่อเดือนกรกฏาคม 2547 โดยรัฐมนตรียุติธรรมขณะนั้นกล่าวกับองค์กรฯว่า รัฐบาลไทยกำลังเตรียมตัวรับรองสนธิสัญญา CAT

(63) เช่นข่าว "Suspected insurgents surrender in Thai south," Bangkok Post, 16 September 2005.

(64) ดูรายละเอียดใน Amnesty International, Thailand: Grave Developments-killings and other abuses, November 2003 (AI Index Number ASA 39/009/2003)

(65) "Risk group cries foul over training," Bangkok Post, 11 December 2005.

(66) "Kongsak presides over 'surrender' ," the Nation, 11 December 2005

(67) ดูรายละเอียดจาก UN Human Rights Committee, Twenty-first session (1984,) General comment No.13:Article 14 (Administration of Justice), UN doc.HRI/GEN/Rev.7 (2004), at 135, para.7

(คลิกไปอ่านตอนที่ ๒)

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 895 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
200449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ผู้ใกล้ชิดของชายรายนี้กล่าวว่า กระดูกสันหลังของเขาเสียหายอย่างหนัก เหยื่อรายนี้บอกว่าเขาต้องล้างไต และไม่ได้รับความช่วยเหลือชดเชยจากรัฐบาล เหยื่อรายนี้ให้คณะขององค์กรนิรโทษกรรมสากลดูบาดแผลกลัดหนองยาวหลายนิ้วที่ต้นแขนซ้าย เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าระหว่างที่อยู่ในรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธ เขาถูกทับอยู่ชั้นล่างสุดและคนที่นอนซ้อนกันหกชั้น และทหารได้เอาถุงพลาสติคคลุมหัวเขาไว้ เพื่อนร่วมชะตากรรมรายอื่นช่วย กันเอาถุงออกจากหัวเพื่อให้เขาได้หายใจ เขาเข้าโรงพยาบาลไปแล้วสามแห่งในช่วง 16 วัน โดยที่สภาพเจ็บป่วยของเขาไม่ได้ดีขึ้น

The Midnightuniv website 2006