นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



บทความเพื่อการศึกษาเรื่องทุนและผู้ดีตะวันตก
ทุนนิยม ตลาด และเรื่องของผู้ดีอังกฤษ

ไมเคิล ไรท : เขียน

นำมาจากคอลัมน-์ฝรั่งมองไทย-ในมติชนสุดสัปดาห์


หมายเหตุกองบรรณาธิการ
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เคยตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์
เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของทุนนิยมในโลกตะวันตกอย่างย่อๆ
และเรื่องอิทธิพลของตลาด รวมถึงเรื่องของผู้ดีอังกฤษ
ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจเพิ่มเติมจากบทความของ อ.นิธิ
ทางกองบรรณาธิการพิจารณาว่าเนื้อหาโดยรวมจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษา
เกี่ยวกับความรู้ต่างๆข้างต้น จึงได้รวบรวมมาไว้ในที่เดียวกัน
และโอกาสเดียวกันนี้ใคร่ขออนุญาตผู้เขียนนำมาเผยแพร่เพื่อประโยช์สาธารณะ

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 891
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)



ทุนนิยม ตลาด และเรื่องของผู้ดีอังกฤษ
ไมเคิล ไรท : ฝรั่งมองไทย

บนหน้าเว็บเพจนี้ประกอบด้วยบทความ 4 เรื่องดังนี้
1. ประวัติย่นย่อของทุนนิยม (A Very Brief History of Capitalism)
2. คุณเชื่อในตลาด, ไม่ใช่หรือ?(You believe in the Market, don"t you?)
3. ผู้ดีเก่ากับเศรษฐีใหม่ (ภาคที่ 1) (Old Gentry and the Nouveau Riche)
4. ผู้ดีเก่ากับเศรษฐีใหม่ (ภาคที่ 2) (Old Gentry and the Nouveau Riche)


1. ประวัติย่นย่อของทุนนิยม A Very Brief History of Capitalism
ทุนนิยมคืออะไร?
ทุนนิยมไม่ใช่เรื่อง "บุญ" หรือ "บาป," หากเป็นระบบแบ่งปัน (หรือแย่งชิง) อำนาจในสังคมโดยอาศัย ทรัพย์ เป็นหลักแทนพละกำลังกายและอาวุธ

สังคมดึกดำบรรพ์ล้วนเป็นเผ่าขนาดเล็กที่เป็นญาติๆ กันจึงไม่มีชนชั้น, มีแต่ผู้เฒ่าและผู้น้อยตามอายุและความรู้ความสามารถ, และแบ่งปันทรัพย์เท่าที่มีอยู่ (ของกิน, ของใช้) อย่างเสมอภาค, ไม่มีใครอดอยาก, หรือหากขัดสนก็อดอยากกันทั้งเผ่า ดังนี้ "ทรัพย์" ไม่มีความหมายและไม่เป็นเครื่องกำหนดว่าใครจะมีอำนาจภายในเผ่า แต่ในสมัยดึกดำบรรพ์ความสัมพันธ์ ระหว่างเผ่า ไม่มีระเบียบสวยงามเช่นนี้ เผ่าไหนมีชายฉกรรจ์และอาวุธมากกว่า และมีผู้นำเหี้ยมโหดที่สุด, ก็สามารถปล้นเผ่าอื่นได้โดยฆ่าชายทุกคนแล้วลากหญิงไปเป็นเมีย นี่คือระบบ "อำนาจ" สมัยดึกดำบรรพ์

สังคมมนุษย์ (จีน, ฮินดู, พุทธ, มุสลิม, คริสต์ ฯลฯ) ไม่ได้พัฒนาเสมอกันจึงต่างกันมาก, เหลือจะพิจารณาทั้งหมดได้, ผมจึงขอดูเฉพาะยุโรปตะวันตกหลังจักรวรรดิโรมันล้มราวคริสต์ศตวรรษที่ 5-6

ยุโรปก่อนทุนนิยม
ในสมัยกลาง (Middle Ages) หรือยุคมืด (Dark Age) ยุโรปตะวันตกแบ่งเป็นนครรัฐต่างๆ แต่ละรัฐจะสะสมพลฉกรรจ์, พลม้า, อาวุธยุทโธปกรณ์แล้วแย่งชิงอำนาจกันด้วยวิธีรุนแรงที่เรียกว่า "สงคราม" ภายในนครรัฐแต่ละกลุ่ม (แคว้น) ใครๆ ที่ฉลาดกว่ากัน, นักเลงกว่ากัน, หรือเหี้ยมโหดกว่ากัน, สามารถครองที่นา และชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งก็เป็น "ขุน" เป็น "พระยา" (Earls, Dukes, Barons, Lords ฯลฯ) แล้วส่งพลและเสบียงสมทบทัพหลวง อย่างนี้เรียกว่า "ระบบศักดินา" (Feudalism), เป็นระบบแบ่งอำนาจกันภายในแคว้นด้วยความรุนแรงเช่นกัน

เริ่มทุนนิยม
ต่อมายุโรปเริ่มเข้ายุครื้อฟื้นศิลปวิทยา (Renaissance) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 การค้าระหว่างหัวเมืองและแคว้นต่างๆ มีความสำคัญมากขึ้นรวมทั้งการเงินการธนาคาร, โดยเริ่มตามนครรัฐในอิตาลีเหนือก่อน จะเห็นได้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตระกูลเมดีจี (Medici) ที่ครองเมือง Florence และแผ่อำนาจทั่วไปนั้นไม่ใช่คนสูงศักดิ์จากยุคเดิม แต่เป็นมหาเศรษฐีนายธนาคารที่มี เงิน ซื้อพลรบ, บำรุงศิลปวิทยา, และซื้อตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาให้หลานๆ ครองกินศาสนา

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 นครรัฐ (City States) ต่างๆ กำลังรวมกันก่อตั้งเป็น ประเทศรัฐ (Nation States) รัฐบาลแต่ละประเทศจะมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและการค้า, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าต่างประเทศ ระบบอย่างนี้เรียกว่า Mercantilism, มีผลนำไปสู่การ ล่าเมืองขึ้น (Colonialism), จักรวรรดินิยม (Imperialism), และไม่ต้องสงสัย ความขัดแย้งกันเองว่าใครจะยึดครองทรัพยากรและตลาดในโลกภายนอก

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 (Adam Smith : Wealth of Nations, 1776) นักปราชญ์ผู้ก่อตั้งอุดมการณ์ "เศรษฐศาสตร์เสรีนิยม" (Economic Liberalism) รุ่นแรก ว่า รัฐควรวางเฉย, ปล่อยให้เศรษฐกิจเดินเอง (Laissez Faire) การผลิตและการค้าเสรีจะได้เติบโตขึ้นโดยอัตโนมัติ และสร้างความมั่งคั่งผาสุกให้แก่สังคมโดยทั่วไป

เผอิญปรัชญาใหม่นี้เกิดพร้อมกับการคิดประดิษฐ์เครื่องจักรใหม่ (Technological Revolution) เครื่องจักรเหล่านี้ทำให้นายทุนเจ้าของกิจการ สามารถทำลายศิลปหัตถกรรมชาวบ้านและยึดตลาดทั้งหมดด้วยสินค้าราคาต่ำและคุณภาพสม่ำเสมอ

ทุนนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปรัชญาเศรษฐศาสตร์เสรีผนวกกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ต่างสร้างความเหลื่อมล้ำและความอนาถาครั้งยิ่งใหญ่ ที่บ้าน แรงงานหมดศักดิ์ศรี, ไม่มีอำนาจต่อรอง, และมีชีวิตกินอยู่เยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน ในเมืองขึ้น (เช่น อินเดีย) ทรัพยากรทั้งหมดอยู่ในมือของอังกฤษ และอุตสาหกรรมพื้นเมือง (ทอผ้า, เครื่องมือ เครื่องใช้) ต่างยกเลิกเพราะสู้ผลิตภัณฑ์ราคาถูกจาก Birmingham ไม่ได้

ดังนี้ "ทุน" ได้จัดแจงแบ่งปันอำนาจระหว่างประเทศได้สำเร็จด้วยความรุนแรงบ้าง, เล่ห์เหลี่ยมบ้าง แต่ภายในประเทศ (เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน) ระบอบอำนาจไม่มั่นคงเพราะ

1. อำนาจการเมืองโดยมากอยู่ในมือชนชั้นเจ้านายเก่า (เจ้าของที่ดิน),
2. อำนาจเศรษฐกิจอยู่ในมือนายทุนรุ่นใหม่,
3. ชนชั้นกลางมีจำนวนน้อยจึงมีเสียงไม่มาก, และ
4. ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีอำนาจต่อรอง

คริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเป็น "ศตวรรษแห่งการปฏิวัติ" ในยุโรป ใครเห็นว่า คาร์ล มาร์กซ์ เป็นยักษ์เป็นมารหรือเพ้อฝัน ก็ควรกลับไปศึกษาสภาพสังคม-เศรษฐกิจในยุโรปยุคนั้นให้ดี

ที่สหรัฐไม่ใช่อย่างนั้นเพราะเขามีพลเมืองจำนวนไม่มาก, มีที่ดินและทรัพยากรเหลือเฟือ, คนกรรมาชีพจึงพอหวังกินอยู่ดีได้ มีแต่อินเดียนแดงกับคนผิวดำที่แร้นแค้นไร้อำนาจ

ทุนนิยมในครึ่งแรกคริสต์ศตวรรษที่ 20
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมสหรัฐ (เช่น น้ำมัน, เหล็ก และรถไฟ) มีลักษณะผูกขาด, รัฐสภาจึงเริ่มออกกฎหมายคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ ในยุโรปก็เช่นเดียวกัน :- ฝ่ายเสรีนิยมเห็นจำเป็นจะต้องคุ้มครองและให้สิทธิอำนาจแก่ชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ, และคุมพฤติกรรมของนายทุนให้อยู่ในขอบเขต

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตะวันตกโดยมากถือระบอบ "ประสม-ประสาน (Mixed Economy), คือเป็น ทุนนิยมเสรี แต่รัฐเข้ามาแทรกแบบสังคมนิยม ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด, การฮั้ว, การฉ้อราษฎร์บังหลวง, และ "มัจฉาคติ" (ปลาใหญ่กินปลาเล็ก)

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ระบบประสมนี้มีความสำเร็จในระดับหนึ่ง, คือสามารถแบ่งปันอำนาจได้ดีขึ้น เช่น ให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีสิทธิเลือกตั้ง, ทำให้รัฐต้องโปร่งใสและรับผิดชอบมากกว่าเดิม มีการรับรองสิทธิลูกจ้างให้ตั้งสหภาพและต่อรองกับนายจ้าง, และมีความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขและการศึกษาสำหรับประชาชน (ในระยะดังกล่าวมีข้อยกเว้น, คือประเทศรัสเซียที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจึงตกเป็นเหยื่อลัทธิ เลนินนิสต์ ที่มีวิธีแบ่งปันอำนาจเฉพาะต่างหากที่ไม่มี "ทุน" เป็นตัวเกณฑ์)

อย่างไรก็ตาม ระบอบประสมนี้ยังมีบกพร่องดังจะเห็นได้จากการที่เศรษฐกิจโลกหดหู่ (ราว ค.ศ.1930) ทำให้คนตกงานเป็นล้านๆ, และเกิดสงครามโลกถึงสองครั้ง (ค.ศ.1914-1918, 1940-1945) ที่ประเทศต่างๆ ใช้อาวุธแบ่งปันอำนาจกันใหม่ ไม่มีใครทราบสาเหตุแท้จริงของสงคราม บางท่านว่าโลภะโทสะโมหะ, บ้างว่าสันดานโหดธรรมดามนุษย์, หรือดาวร้ายแทรก

รัฐเป็นฝ่ายประกาศและดำเนินสงคราม, ไม่ใช่นายทุน อย่างไรก็ตาม สงครามเป็นกิจการแพงมาก, รัฐจึงไม่กล้าเป็นฝ่ายรุก (Aggressor) หากไม่มีทุนสนับสนุน บางทีผู้สนใจเรื่อง "สงครามและสันติภาพ" ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุน เป็นไปได้ไหมว่าในบางกรณีสงครามให้กำไรงามกว่าสันติภาพ?

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ระบบทุนนิยมประสม (Mixed Capitalism) มีทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จสร้างสรรค์ ที่สำคัญที่สุดคือมันได้ยกระดับประชาชนจำนวนมากเข้ามาอยู่ใน ชนชั้นกลาง ที่แข็งแกร่ง, มีการศึกษาและอำนาจพอที่จะมีบทบาทรับผิดชอบในการบ้านการเมือง แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกกระทำ, ไม่มีสิทธิรู้เห็นหรือแสดงความคิด

ความสำเร็จนี้ปรากฏในงานของ John Maynard Keynes (นักเศรษฐศาสตร์, ค.ศ.1883-1943) ที่นิยามบทบาทของรัฐในการควบคุมและส่งเสริมกลไกของทุน

ทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ประเทศโลกตะวันตกฟื้นเศรษฐกิจเร็วบ้างช้าบ้าง (สหรัฐไม่ต้องฟื้นเพราะฐานอุตสาหกรรมยังสมบูรณ์อยู่) แต่ทุกประเทศรวมทั้งสหรัฐ ถือหลักการของ Keynes ว่ารัฐต้องมีบทบาทแทรกแซงเศรษฐกิจ ไม่ให้ตลาดหัวขวิดก้นคว่ำ มีการตกลงระบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ งานสาธารณูปโภค (น้ำ, ไฟ, ไปรษณีย์-โทรคมนาคม ฯลฯ) เป็นหน้าที่ของรัฐ, รวมทั้งการสาธารณสุขและการศึกษาระดับประชาบาล มีการควบคุมธนาคาร, สถาบันการเงินอื่นๆ, ตลาดหลักทรัพย์และกองทุนต่างๆ ไม่ให้เล่นพิเรนทร์, ไม่ให้เล่นถั่วหาย มีการก่อตั้งเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ที่รับรองว่าไม่มีประชากรผู้ใดจะถูกทอดทิ้งให้อดตาย

ระบบประสม (ทุนนิยม+สังคมนิยม) นี้มีล้มลุกบ้าง, แต่โดยมากมีความสำเร็จหลายอย่าง เช่น
1.เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง,
2.ดึงประชากรส่วนใหญ่เข้ามาเป็นชนชั้นกลาง,
3.ลดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้ง,
4.แบ่งปันอำนาจในสังคมให้โปร่งใสและยุติธรรม

แต่ถึงต้นทศวรรษที่ 1980 หลักการ "ประสม" ของ Keynes ถูกฉีกทิ้งลงถังขยะและทุนนิยมเปลี่ยนโฉมใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ทุนนิยมปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20
ต้นทศวรรษ 1980 Ronald Reagan ในสหรัฐ และ Margaret Thatcher ในอังกฤษ ต่างเลิกศรัทธาหลักการ "เศรษฐกิจประสม" ของ Keynes ว่าเป็นนโยบายล้าหลังกีดขวางและขัดขาการดำเนินการของระบบทุน ท่านทั้งสองกลับศรัทธาทฤษฎี "ตลาดเสรี" (Free Markets) ของ Milton Friedman (นักเศรษฐศาสตร์ ค.ศ.1912-?)

ท่านว่าการแทรกแซงของรัฐทำให้ตลาดบิดเบี้ยวไม่สมดุล ดังนั้น รัฐควรวางเฉย, ปล่อยให้ตลาดเสรีเป็นตัวคุมเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ. เคยได้ยินอะไรคล้ายๆ กันมาก่อนไหม? ใช่แล้ว! มันคือคำสอน Laissez Faire ของ Adam Smith เจ้าเก่า กลับคืนชีพอีกครั้ง, ทั้งๆ ที่ประสบการณ์ 300 ปีแสดงว่า "ตลาดเสรี" ไม่มีตัวจริงแต่เป็นเรื่องหลอกตัวเอง (หรือหลอกชาวบ้าน?) ทั้งนี้ เป็นเพราะตลาดย่อมผูกขาดและปิดบัง (ในระดับหนึ่งระดับใด) โดยนิยาม, มิเช่นนั้นพ่อค้าจะทำกำไรสม่ำเสมอไม่ได้

โดยนิยามแล้ว "ตลาดเสรี" คือการพนันบริสุทธิ์แท้ ที่ทั้งเจ้ามือและลูกมือโกงกันไม่ได้เลย เกม "ตลาดเสรีจริงๆ" นี้อาจจะเล่นกันสนุกวันยังค่ำ แต่ไม่มีใครรวยครับ, เพราะในตลาดเสรีจริงๆ โกงกันไม่ได้ และไม่มีทางที่ใครจะเป็นมหาเศรษฐี น่าชวนพวกมหาเศรษฐี (และสหาย) ที่อ้างว่าตนเป็น "อนุรักษนิยมใหม่" (Neo-cons) และ "เสรีนิยมใหม่" (Neo-libs) มาเล่นใน ตลาดที่เสรีจริงๆ แต่ท่านคงไม่เอาเงินมาเล่นในบ่อนนี้แน่ๆ เพราะกลัวหมดตูด

ในขณะที่โลกตะวันตกกำลังรื้อฟื้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ล้าสมัย, นักคิดในโลกสังคมนิยม (เช่น เติ้ง เสี่ยว ผิง และ มิคาอิล กอร์บาช็อฟ) กำลังคิดการใหม่ว่าทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน-เหมา เจ๋อ ตุง บกพร่อง เป็นที่น่าเสียดายว่า ความเปลี่ยนแปลงในโลกสังคมนิยมเกิดในขณะนั้นพอดี, เพราะชวนให้เข้าใจผิดว่า สังคมนิยมตกถังขยะประวัติศาสตร์แล้วทุนนิยมมีชัยชนะ และเป็นเจ้าของบรมสัจจะทางทางเศรษฐกิจ, สังคมและการเมืองอย่างเถียงไม่ได้

ทุนนิยมในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21
ผู้มีอำนาจทางการเมืองปัจจุบันบางคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายโทนี่ แบลร์, นายบุช ผู้ลูก, และ นายทักษิณ ชินวัตร) ดูเหมือนต่างสืบทอด มรดกความคิด ทางการเมือง-เศรษฐกิจ จากผู้นำรุ่นก่อน, คือ นายเรแกน (ดาราหนังชั้น B), นางแทตเชอร์ (วิศวกรเคมี) และนายบุชผู้พ่อ (พ่อค้านักเก็งกำไรผูกขาด)

มรดกความคิดดังกล่าวเรียกว่า "ระบบเศรษฐกิจใหม่" (The New Economy), ประกอบด้วย

1. "ตลาดเสรี" ที่ไม่เสรีเพราะบรรษัทของประเทศมหาอำนาจเป็นเจ้ามือแจกไพ่ซ่อนถั่ว
2. "โลกาภิวัตน์" ซึ่งก็น่าจะเป็น "อาณานิคมใหม่" (Neo-Colonialism) คือการเสนอลูกปัดสวยๆ กับน้ำเมาแลกเปลี่ยนกับสิทธิที่จะเข้ามาครอบครองเศรษฐกิจของประเทศ

ขบวนการใหม่นี้ (This New Regime) คืออะไรกันแน่?

1. ความสำเร็จสุดยอดและสมบูรณ์แบบของทุนนิยม (Triumph of Perfect Capitalism)?
2. การบิดเบือนบ่อนทำลายทุนนิยม (Distortion and Perversion of Capitalism)?
3. ความคิดใหม่เอี่ยม (New Theory) ที่จะนำโลกไปสู่ความมั่งคั่ง ยุติธรรม เสมอภาค เยี่ยงยุคพระศรีอาริย์?

ท่านผู้อ่านช่วยกันคิด, เพราะผมจนใจจริงๆ

2. คุณเชื่อในตลาด, ไม่ใช่หรือ? You believe in the Market, don"t you?
ความนำ
ผมกำลังอ่านหนังสือที่ทั้งตลกมากและเต็มไปด้วยความคิดหนักๆ หนังสือชื่อ The Closed Circle (วงปิด) โดย Jonathan Coe (Alfred A. Knopf, New York 2005) หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายเรื่องแรกว่าด้วยชีวิต, มารยาทและจารีต (Manners and Morals) ในอังกฤษเมื่อปลายคริสตศตวรรษที่ 20 -ต้น 21 ขณะที่อุดมการณ์ทั้งหลายระเหยหายไป, เหลือแต่ "ตลาด" เป็นตัวกำหนดว่าใครจะมีความหมายหรือกลายเป็นขยะ

ผมอยากแปลตอนหนึ่งให้ท่านผู้อ่านฟัง, แต่ต้องปูพื้นเสียก่อน :-
ต้นทศวรรษ 1970 ด.ช.ปอล (ชาวอังกฤษ) กับ ด.ช.โรล์ฟ (ชาวเยอรมัน) ต่างอายุ 14 ขวบ พ่อแม่ทั้งสองรู้จักกันดี จึงตกลงรวมกันเช่าบ้านพักร้อนริมทะเลในประเทศเดนมาร์ก ขณะที่เด็กทั้งสองกำลังเล่นน้ำทะเลอยู่ โรล์ฟถูกกระแสน้ำพัดพาไปจวนเจียนจะจมน้ำตาย, แต่ปอลกระโดดลงไปดึงร่างของโรล์ฟขึ้นไปบนหาดทรายให้รอด โรล์ฟจึงเป็นหนี้ชีวิตปอล

ในสามทศวรรษต่อมาเด็กทั้งสองโตขึ้นมามีลูกมีเมีย, ทำดีทำชั่ว โรล์ฟเป็นกรรมการของบริษัทเยอรมัน ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตรถยนต์ Longbridge ในอังกฤษ. ส่วนปอลเป็นเลขานุการฝ่ายรัฐสภา (Parliamentary Secretary) ดูแลเรื่องอุตสาหกรรมในรัฐบาลของ โทนี แบลร์ ปี 2000 โรงงาน Longbridge ไม่ทำกำไร, มีแต่ขาดทุนหลายปีติดต่อกัน, บริษัทจึงตัดสินใจยุบเสีย, ซึ่งจะทำให้คนตกงานถึง 1,500 คน

ปอลไม่สนใจไยดีกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรรมาชีพ แต่เขาเห็นว่าหากช่วยกู้โรงงานนี้ได้, เขาคงได้ดิบได้ดีในพรรคและเป็นแก้วตาของท่านนายกฯ เขาจึงติดต่อกับโรล์ฟ โดยคิดจะทวงหนี้บุญคุณชีวิตที่เคยก่อไว้เมื่อ 30 ปีก่อน

โรล์ฟยินดีที่ได้รับการติดต่อจากเพื่อนเก่า จึงนัดให้ไปเจอกันที่โรงแรมเมืองตากอากาศในประเทศเดนมาร์กเหมือนอย่างแต่ก่อน สองเกลอกินเลี้ยงกินเหล้ากัน, เล่าประสบการณ์ในสามสิบปีที่ผ่านมาสู่กันฟัง เมากันพอสมควร ปอลทาบทามโรล์ฟว่า "คุณพอช่วยผมได้ไหม? ใช้เสียงของคุณในคณะกรรมการให้บริษัทอุ้มโรงงาน Longbridge ต่อไป, อย่าเพิ่งยุบ". โรล์ฟถอนใจใหญ่แล้วตอบว่า "ขอนอนคิดซักคืนหนึ่ง พรุ่งนี้ค่อยให้คำตอบ"

วันรุ่งขึ้นชายทั้งสองเดินลงไปบนชายหาดที่ครั้งกระโน้นเป็นที่เสี่ยงและกู้ชีวิต ท่ามกลางความเวิ้งว้าง, แสงแดดและเสียงคลื่น, โรล์ฟปรารภว่า "แปลกดี, ผมไม่มีความทรงจำว่า มันรู้สึกอย่างไร, การหลงกับกระแสน้ำ, การถูกลากลงไปสู่ท้องทะเล ผมคงรู้ตัวว่ากำลังจะตาย, แต่ที่คุณช่วยชีวิตผม, ผมจำไม่ได้ ผมรู้ว่าคุณช่วยจริง, แต่ผมสร้างภาพในใจไม่ได้". ปอลว่า "ผมจำไม่ค่อยได้เช่นกัน แต่นั้นมาเราได้เปลี่ยนแปลงกันมาก"

โรล์ฟว่า "ที่คุณช่วยชีวิตผมวันนั้นเป็นการดีจริงหรือ?" ปอลตอบทันทีว่า "ดีจริง ชีวิตมนุษย์เป็นของศักดิ์สิทธิ์, ใครๆ ต้องช่วยกู้ไว้โดยไม่ต้องนึกถึงความดีชั่ว. โรล์ฟว่า "แน่ใจหรือ? หากผมจมน้ำตายวันนั้น, เมียผมคงแต่งงานกับคนอื่นที่สร้างความสุขให้, คงไม่ต้องเจ็บปวดที่ผมคบหาเมียน้อยมากมาย จนเมียน้อยคนหนึ่งฆ่าตัวตาย ผมไม่หลอกตัวเองหรอก ผมเป็นคนเห็นแก่ตัวที่ไม่สามารถสร้างความสุขให้คนอื่น"

โรล์ฟเดินไปถึงริมน้ำและปอลเดินตามพลางฟังโรล์ฟว่า "คุณนึกออกหรือยังว่า ผมทำตามที่คุณขอร้องไม่ได้? คนจะชั่วอย่างไรก็พอกู้ได้, แต่บริษัทขาดทุนนั้น ต้องปล่อยให้เป็นไป ผมป็นหนี้บุญคุณชีวิต จึงยินดีช่วยคุณได้ทุกอย่าง, แต่ผมไม่อาจจะทำตามที่คุณขอร้อง มันเป็นไปไม่ได้". ปอลว่า "ผมได้แต่ขอให้คุณชวนคณะกรรมการให้พิจารณานโยบายอีกครั้ง..."

โรล์ฟตอบว่า "ผมเข้าใจว่าคุณขออะไร, แต่มันเป็นไปไม่ได้ เราไม่ได้พูดถึงการลากร่างของใครออกจากทะเล, ปอลเอ๋ย เราพูดถึงสิ่งที่มีอำนาจยิ่งกว่ากระแสมหาสมุทร, สิ่งพื้นฐานที่เถียงไม่ขึ้น, หักห้ามไม่ได้ นั่นคือตลาด, ที่อาจจะสร้างสรรค์หรือทำลายโดยไม่เมตตาไยดีกับใคร คุณเชื่อในตลาด, ไม่ใช่หรือ? คุณกับพรรคของคุณ?"
(จบความจาก The Closed Circle)

บทวิเคราะห์
ผมอัศจรรย์ใจมากกับประโยคสุดท้ายที่ว่า You believe in the market, don"t you? You and your party? ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์มาหลายพันปี คนเราเชื่อกันว่ามี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถิตอยู่เบื้องบนคอยดลบันดาลให้ได้ให้เสีย, ให้สุขให้ทุกข์ในโลกเบื้องล่างนี้, โดยเรียกต่างๆ นานากัน เช่น เทพเทวดา, พญาแถน, พระผู้เป็นเจ้า (God), บรรพบุรุษ, กรรม, หรือโชคชะตา (Fate)

ก่อนปัจจุบันไม่เคยมีใครที่ไหนยกย่อง ตลาด ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเคารพนับถือ ตลาด เป็นสถานที่ที่บรรพบุรุษของเราไปซื้อผักซื้อปลา, เป็นที่อำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ และมนุษย์เป็นเจ้าของตลาด มาบัดนี้ตลาดใหญ่กว่ามนุษย์ และกลายเป็นเจ้าของมนุษย์ด้วยซ้ำไป

แม้กระทั่งในสมัยใหม่ (คริสต์ศตวรรษที่ 19 -ต้น 20) พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญกับ "ตลาด" เลย พรรคอนุรักษนิยมเน้นที่ดินและทุนเป็นหลักพื้นฐาน, พรรคสังคมนิยมเน้น "แรงงาน" และพลังของประชาชน, พรรคนาซี/ฟาสซิสต์ เน้น "ชาติ" และอำนาจทหาร, "ตลาด" ไม่เคยเข้าอันดับเลย, เพิ่งมาโด่เด่เป็น "อำนาจ...ที่เถียงไม่ขึ้น, หักห้ามไม่ได้" ในทศวรรษ 1980 (สมัยเรแกน และแทตเชอร์)

ราว 2,000 ปีมานี้ ชาวพุทธ, ชาวคริสต์ และชาวมุสลิมต่างถามกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริตว่า "คุณเชื่อเรื่องกรรมไหม?", "คุณเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าไหม?" และ "คุณเชื่อฟังอัลกุรอ่านไหม?" ดังนั้น เมื่อโรล์ฟถามปอลอย่างซื่อๆ ว่า "คุณเชื่อในตลาดไหม?" คนอ่านย่อมฉงน, ใจหนึ่งอยากหัวเราะ (จะบ้าหรือ?), อีกใจหนึ่งหดหู่ (เป็นไปได้อย่างไร?)

ว่าอีกนัยหนึ่ง คำถามข้อนี้เป็นระเบิดทางปัญญา (Intelectual Bomb) ที่ปลุกผู้อ่านให้ตื่นขึ้นมาถามว่า "ตลาดเป็นตัวกำหนดชีวิตมนุษย์" นี้ 1. เป็นที่น่าปรารถนาไหม? และ 2. เป็นความจริงหรือเปล่า?

ความส่งท้าย
1. ผมเป็นคนหัวเก่าจึงรังเกียจตลาด, ไม่ยอมรับเป็นเครื่องกำหนดชีวิตของผม และไม่เห็นเป็นที่น่าเคารพหรือน่าปรารถนา
2. ผมเป็นคนหัวใหม่จึงไม่ยอมเชื่อง่ายๆ ว่า "ตลาดคือพระเจ้า" ผมสงสัยว่าอำนาจตลาดคือมายากลอีกชนิดหนึ่งที่คนคิดขึ้นมาเพื่อหลอกกันเอง
3. อย่างไรก็ตาม ผมต้องยอมรับว่าจนใจ หากเราไม่ยอมรับตลาดเป็นหลักนำแล้ว จะเอาอะไรเป็นหลักนำเล่า? ผมนึกไม่ออก

สุดท้ายนี้ ผมสังเกตว่า ท่านใดที่มีศรัทธาแรงกล้าในตลาดและเรียกร้องเสมอว่า ตลาดต้องปล่อยให้เสรี นั้น, โดยมากเป็นเจ้าของตลาดทั้งนั้น. ปัญหามีอยู่ว่า ตลาดที่มีเจ้าของจะ "เสรี" ได้อย่างไร? และเจ้าของตลาดอยากให้มัน "เสรี" จริงหรือ?

นังโมหิณี, แมวรักของผม, ไขปริศาว่า :- คุณจำไม่ได้หรือ, นิทานเรื่องแมวเจ้าเล่ห์ในคัมภีร์ปัญจตันตระ? แมวกะล่อนมันหลอกบรรดาหนูๆ เข้ามาใน "ตลาดเสรี" ของแมว, เขมือบตามใจชอบแล้วอ้างว่า "วิฬาร์ชาติไม่มีความผิด, เพราะมุสิกชาติมันโง่ถึงสมัครใจเป็นเหยื่อกันเอง

"หนูๆ เข้าหาแมวเจ้าเล่ห์ด้วยศรัทธา" (จากนิทานปัญจตันตระ, รูปสลักที่มามัลลปุรัม, พุทธศตวรรษที่ 11

3. ผู้ดีเก่ากับเศรษฐีใหม่ (ภาคที่ 1) Old Gentry and the Nouveau Riche
บทความอาจารย์นิธิในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1311 (30 ก.ย.-6 ต.ค.2548) อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีบทความชื่อ "วัฒนธรรมเศรษฐีใหม่" ว่าด้วยจรรยาและรสนิยมของ ผู้ดีเก่า เทียบกับของ เศรษฐีใหม่ ผมประทับใจบทความนี้มากด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น :-

1. ผมสนใจเรื่องนี้มากและเห็นด้วยกับ อ.นิธิ ในหลักการใหญ่ของท่านทั้งหมด (ที่อยากท้วงติงก็เฉพาะในรายละเอียดจิ๊บจ๊อยเพียงบางเรื่อง)
2. อ.นิธิเปิดโอกาสชวนให้ผมคิดลึกกว่าที่เคย เรื่องความหมายของคำว่า "ผู้ดีอังกฤษ"
(ซึ่งปัจจุบันคงไม่เหลือแม้แต่คนเดียวนอกจากในวรรณคดี)
3. บทความนี้ท้าทายให้ผมพิจารณาฐานะตัวเองว่า เป็น ผู้ดี ไพร่ อย่างไร (ผมไม่เป็นเศรษฐีใหม่แน่ๆ โล่งอกไปที !)

ต่อไปนี้ผมจะเขียนบทความในลักษณะ "จดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์นิธิ" ว่าด้วยสามเรื่องดังกล่าว :-

ผู้ดีเก่าในสังคมอังกฤษ
อ.นิธิพิจารณาเรื่องนี้อย่างซื่อสัตย์สุจริต เพราะเป็นคนภายนอกและมองเข้าไปจากห่างไกลจึงเห็นอะไรได้ชัด ผิดกับผมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เคยอยู่ใกล้ชิด (เยี่ยง "ปลาในน้ำ") จึงมองไม่ค่อยเห็นหรือเห็นเป็นภาพมัวๆ บิดๆ เบี้ยวๆ ท่านผู้อ่านจึงควรเชื่อ อ.นิธิ มากกว่าผม อ.นิธิจับวัฒนธรรมผู้ดีเก่าได้แจ๋ว แต่ผมขอท้วงติงในเรื่องจิ๊บจ้อยดังต่อไปนี้ :-

ที่ว่า "ผู้ดีเก่าฝรั่งเหยียดการดื่มไวน์ฝรั่งเศสทีละมากๆ อย่างที่เศรษฐีใหม่ชอบ ไม่ว่าขวดละเท่าไรก็ตาม เครื่องดื่มของผู้ดีเก่าคือแชมเปญ หากจะมีไวน์ฝรั่งเศสบ้าง ก็เป็นปริมาณที่น้อย ทั้งไม่ดื่มน้ำเปล่าด้วย เพราะเขาจะดื่มโซดาหรือน้ำแร่แทน"

เรื่องนี้ผมสงสัยว่า อ.นิธิคงดูหนังฮอลลีวู้ดมากไปหน่อย ที่จริงแชมเปญเป็นที่นิยมของพวกอวดสังคม (เศรษฐีใหม่) และพวกดาราหนังและทีวี ผู้ดีเก่าเป็นเซียนเหล้าองุ่นฝรั่งเศส แต่เขาจะไม่ไปสั่งซื้อตามโรงแรมหรูขวดละหมื่นบาทเป็นอันขาด ผู้ดีจะสั่งเหล้าองุ่นคุณภาพดีในราคาย่อมเยาว์จากไร่องุ่นในฝรั่งเศส ดังที่ปู่ย่าตายายเคยสั่งมาแต่ก่อน

ที่ว่า "ผู้ดีเก่าไม่ไปทัศนาจรปารีส, มอสโก หรือซานฟรานซิสโก (ซึ่งเศรษฐีใหม่ชอบเรียกว่าฟริสโก แต่ผู้ดีเก่าต้องเรียกเต็ม) แต่ต้องเที่ยวในที่ซึ่งคนทั่วไปไม่คิดถึงเลย เช่น ไปตกปลาแซลมอนที่อะลาสกา หรือไปล่าสัตว์ในแอฟริกา" เรื่องนี้ว่ายากเพราะลักษณะการท่องเที่ยวเปลี่ยนโฉมตลอดเวลา ถ้าผมเป็น "ผู้ดี" ผมจะไม่ใช้บริการของโรงแรมหรูๆ แต่จะไปพักผ่อนตามคฤหาสน์ของเพื่อนในชนบทของฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมนี ใครจะไปล่าสัตว์ในแอฟริกาหรือตกปลาในอะลาสกา ? คงมีแต่ลูกๆ เศรษฐีใหม่

ที่ว่า "ผู้ดีเก่าไม่สวมเสื้อผ้าแบรนด์เนมครับ ไม่ว่าจะแพงแค่ไหนก็ตาม เพราะผู้ดีเก่าสั่งตัดเย็บเสื้อผ้ากับร้านโด่งดังที่ไม่ได้เปิดบริการแก่คนทั่วไป อีกทั้งไม่นิยมสีจัดจ้าน ส่วนใหญ่แล้วจะใช้สีเรียบและค่อนข้างทึม เช่น ดำหรือเทา มีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่ใช้สีสด สีเสื้อผ้าที่ผู้ดีเก่ารังเกียจที่สุดคือสีม่วง"

เรื่องนี้น่าจะเป็นความจริงหากผู้ดีคนนั้นยังมีสตางค์ใช้ แต่ที่จริงผู้ดีเก่ามักขัดสนจึงแต่งตัวโกโรโกโสในชีวิตประจำวัน และมีชุดหรูไว้เพียงชุดเดียวใส่เมื่อออกงานหลวง มีแต่เศรษฐีใหม่เท่านั้นที่อาจจะสั่งตัดเสื้อผ้าเฉพาะตัวและแต่งได้หรูทุกวี่ทุกวัน

ที่ว่า "อีกทั้งผู้ดีเก่าไม่นิยมใช้เครื่องประดับเพชรพลอย ยกเว้นโอกาสพิเศษจริงๆ เท่านั้น". เรื่องนี้เป็นความจริงสิครับ ผู้ดีเขาไม่ซื้อเพชรพลอยจากห้างร้าน (น่าละอาย !) เขาใส่เฉพาะที่รับมาเป็นมรดก ล้างคราบออกด้วยเหล้ายีน (Gin) ซดเหล้าเข้าปาก เอาเพชรคล้องคอแล้วออกงานหลวงถอนสายบัวถวายคำนับ

ที่ว่า "ผู้ดีเก่าไม่ขี่เบนซ์หรือบีเอ็มหรอกครับ เขาใช้รถธรรมดาเหมือนคนทั่วไป แต่นิยมสีขาว" ผมเห็นด้วยว่าผู้ดีจะไม่ขี่เบนซ์หรือบีเอ็ม หากเขายังรวยจริงก็จะขี่โรลซ์หรือแจ๊กฯ หากไม่มีสตางค์จะขี่รถกระบะโทรมๆ ที่ว่า "นิยมสีขาว" นั้น ผมว่าเป็นไปไม่ได้ รถผู้ดีมีสีเดียวคือสีดำ สีขาว ? ต้องเป็นรถพยาบาลหรือรถของพระสันตะปาปา (Popemolsile)

เรื่องเหล่านี้จิ๊บจ๊อยดังว่ามาแล้ว ในเรื่องหลักๆ อ.นิธิจับไต๋ผู้ดีเก่าได้ดีกว่าผม เพราะมองด้วยสายตาบริสุทธิ์ ดีกว่าผมที่ถูกล้างสมองตั้งแต่เด็กว่า ผู้ดีเก่าเป็นคนดีจริงๆ และเป็นเจ้าของ "สมบัติผู้ดี" โดยแท้

ความส่งท้าย
นอกจาก อ.นิธิ จะมองชนชั้นฝรั่งด้วยสายตาใหม่ ท่านยังเปิดโอกาสให้ผมพิจารณาเรื่องนี้จาก "คนละมุม" ที่ผมไม่เคยมองมาก่อน เพราะผมเคยอยู่ใน "กรอบ" ของสังคมอังกฤษตั้งแต่ยังน้อย แม้ผมจะมาอยู่เมืองไทยมากกว่าครึ่งชีวิต แต่คนเราหนีไม่ค่อยพ้นการอบรมที่ได้รับมาในวัยเยาว์ ในบทความคราวหน้าผมจะพยายามรายงานความคิดใหม่เรื่องชนชั้นที่เกิดจากการอ่านบทความของ อ.นิธิ

4. ผู้ดีเก่ากับเศรษฐีใหม่ (ภาคที่ 2) Old Gentry and the Nouveau Riche
ความนำ
ในบทความ "วัฒนธรรมเศรษฐีใหม่" (มติชนสุดสัปดาห์ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม ฉบับที่ 1311) อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ "ผู้ดีเก่า" เพียงพอสมควรที่จะเทียบกับวัฒนธรรม "เศรษฐีใหม่", แต่ชวนให้ผมคิดอีกมากมายในเรื่องนี้

ปัญหาของผมคือ ผมเป็นเด็กอังกฤษที่ถูกล้างสมองให้รับสังคมอังกฤษตามที่กำหนดกันเอง และเผยกันอย่างผิวเผิน (At its face value) ผมไม่เคยซักถามหรือสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น "ผู้ดีเก่า" น่าจะเป็นคนดีจริงๆ และคงจะเป็นเจ้าของวัฒนธรรมดีงามโดยไม่ต้องสงสัย อาจารย์นิธิช่วยผมลืมตา ท่านว่า :-

"หัวใจสำคัญก็คือ เงินไม่ใช่คุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้ดีเก่า แม้ว่าเขาจะมีมากก็ตาม ที่สำคัญกว่าคือรสนิยมครับ (แต่ตั้งสติให้ดีด้วยนะครับว่า อะไรคือรสนิยมที่ดีนั้น ผู้ดีเก่าเป็นคนวางมาตรฐานขึ้นเอง) นัยยะของความนับถือที่มีต่อรสนิยมอันดีนี้ก็คือ เศรษฐีใหม่มีแต่เงิน และด้วยเหตุดังนั้น ผู้ดีเก่าจึงไม่ดูถูกคนจน เพียงแต่ไม่คบค้าหรือสุงสิงด้วยเท่านั้น (เพราะทนรสนิยมและกลิ่นของ "มัน" ไม่ไหวกระมัง)"

แต่เดิมผมทราบว่า "เงินไม่ใช่คุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้ดีเก่า" ดัง อ.นิธิเสนอ, แต่เข้าใจว่านี่คือสมบัติอันดีงามของผู้มีจิตใจสูง ผมเห็นผู้ดีเป็นคนใจพระถึงไม่อวดหรือยกย่องเงิน, ไม่เคยนึกเลยว่าที่เขาวางเฉยต่อเงินเป็นเพราะเขามีเยอะแยะตลอดมาไม่ต้องขยันสะสม

ที่ อ.นิธิว่า ผู้ดีเก่ารังเกียจเศรษฐีใหม่นั้น, ผมเชื่อตลอดมา ที่ว่า "ผู้ดีเก่าจึงไม่ดูถูกคนจน" ก็เห็นด้วยอีก เพราะผู้ดีแท้ย่อมมีใจโอบอ้อมอารีต่อคนยากไร้ไม่ใช่หรือ? ผมเพิ่งมาตาสว่างเมื่อ อ.นิธิเผยว่า ผู้ดีทนชนชั้นล่างได้เพราะ "ไม่คบค้าหรือสุงสิงด้วยเท่านั้น" ผมอยากเสริมว่า ผู้ดีเก่าคงทนไพร่ได้เพียงตราบเท่าที่ไพร่ยังราบคาบ, อยู่ในโอวาท, ไม่เงยหน้าเพ็ดทูลให้ระคายกรรณ

เรื่องชนชั้นฝรั่งนั้นซับซ้อนมาก มีหลายมิติ, เช่น

1. มิติวิวัฒนาการในประวัติศาสตร์ และ
2. มิติอุดมคติ/โลกแห่งความเป็นจริง (Ideal v. Real World)

1. มิติวิวัฒนาการในประวัติศาสตร์
ชนชั้นผู้ดีเก่าเริ่มก่อตัวขึ้นในสมัยกลาง (ยุคมืด) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-13 ขณะที่ทวีปยุโรปแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นแน้อย "อัศวิน" (Knight) ที่เหี้ยมโหดพอก็สามารถยึดที่ดินและไพร่พลเมือง แล้วสถาปนาตนเป็น เจ้านายศักดินา (Feudal Lord) ในระดับหนึ่งระดับใดแล้วแต่เจ้านายถิ่นข้างเคียงจะยอมรับ

ต่อมาในยุครื้อฟื้นศิลปวิทยา (Renaissance คริสต์ศตวรรษที่ 14 ขึ้นมา) ยุโรปค่อยจัดเป็นบ้านเป็นเมืองก่อตั้งกันเป็น นครรัฐ (Nation States) จึงต้องการอัศวินน้อยลง เจ้านายเก่ายังครองที่ดินและไพร่, แต่ค่อยๆ มีความสำคัญน้อยลงทีละนิด และเริ่มมีการเปลี่ยนมือ ตำแหน่ง "ผู้ดีเก่า" ถี่ๆ ยิ่งขึ้น

เช่นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ทะเลาะกับพระสันตะปาปาถึงตัดขาด ต่อไปเจ้านายผู้ใดยังสวามิภักดิ์กับกรุงโรมก็ถือว่าขบถ จึงถูกยกออกจากตำแหน่งและ (หากหัวยังอยู่กับบ่า) ก็ถูกยึดที่ดิน, ไพร่พลและคฤหาสน์ พระศาสนจักรก็โดนเช่นกัน, คือพระอาราม(เจ้าของที่ดินเก่าที่สำคัญ) ถูกยกเลิกและยึดที่ดิน พระเจ้าเฮนรี่แจกตำแหน่งบรรดาศักดิ์ให้กับผู้ที่เข้ามาสวามิภักดิ์ แล้วขายที่ดิน "พระ" ในราคาย่อมเยาให้

ผลก็คือ อังกฤษได้ชนชั้น "ผู้ดีเก่า" ที่ประกอบด้วย "เศรษฐีใหม่"

ขบวนการนี้ไม่ได้จบลงด้วยรัชกาลเฮนรี่ ที่ 8, แต่ดำเนินมาตลอด "ผู้ดีเก่า" ที่เหลืออยู่สมัยปัจจุบันโดยมากสอบสืบประวัติตระกูลได้เพียง 200-300 ปี ที่สอบได้ถึงรัชกาลเฮนรี่ ที่ 8 (ราว 500 ปี) มีน้อยมาก ที่อ้างประวัติย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นถึงยุคอัศวินสมัยกลางนั้น, ล้วนเป็นนิทานหลอกตัวเอง (หรือลวงโลก) ทั้งนั้น

ขบวนการแต่ง "นิทานอัศวิน" ขึ้นต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 เมื่อระบบศักดินา (Feudal System) เริ่มปั่นปวน, เพื่อแสดงถึงความประเสริฐของชนชั้นปกครองเก่า และรองรับสิทธิอำนาจให้ท่านปกครองต่อไป ตัวอย่างคือบรรดานิทานว่าด้วย King Arthur, เช่น "อัศวินโต๊ะกลม" (Knights of the Round Table) และ "จอกศักดิ์สิทธิ์" (The Holy Grail)

นิทานประเภทนี้ เป็นที่นิยมตลอดมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ Sir Walter Scott แต่ง Ivanhoe ฯลฯ แม้กระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยังมีนิทานบูชาความประเสริฐของชนชั้นผู้ดีเก่า, เช่น Wind in the Willows ของ Kenneth Grahame (ค.ศ.1908), และงานของ Evelyn Waugh และ Nancy Mitford (กลางคริสต์ศตวรรษ) เรื่องนี้นำไปสู่อีกมิติหนึ่งของชนชั้นผู้ดีเก่า, คือความต่างกันระหว่าง "ผู้ดีในอุดมคติ" และ "ผู้ดีในโลกแห่งความเป็นจริง"

2. มิติอุดมคติ/โลกแห่งความเป็นจริง
จากวรรณคดีเราได้ภาพว่า ชนชั้นผู้ดีเก่าได้สืบทอดเจตนารมณ์ของอัศวินสมัยกลางที่เป็นคนใจพระ, เสียสละ, โอบอ้อมอารี, ใช้อาวุธเพื่อปกป้องสตรีและผู้ยากไร้ที่ถูกอันธพาลรังแก หนังคาวบอยยุคหลังๆ นี้ เช่น Shane ก็ฉายซ้ำและเสริมภาพดังกล่าว

แต่ถ้าดูประวัติศาสตร์ก็จะเห็นภาพที่ซับซ้อนกว่านี้ อัศวินสมัยกลางเป็นลูกมือของชนชั้นเจ้าของที่ดิน ในยามศึกษาสงครามชนชั้นเจ้านาย และอัศวินจะนำประชาชนในการป้องกันแผ่นดิน, แต่ในยามสงบศึกอาจจะใช้ดาบรังแกประชาชน และปราบปรามราษฎรที่กระด้างกระเดื่อง บังอาจเรียกร้องสิทธิในการถือศาสนาหรือการครองชีพ เป็นต้น. ดังนี้ ผมเริ่มเข้าใจใหม่ว่า "ผู้ดี" ในประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเฉพาะพระคุณที่ใช้ในทางดีงามถูกหลักศีลธรรม, แต่ยังมีพระเดชที่ใช้ในทางโหดร้ายไร้ศีลธรรมอีกด้วย

ขอขอบคุณ อ.นิธิที่ช่วยผมลืมตาวิเคราะห์บทบาทชนชั้นสมัยเก่า, แทนที่จะหลับตาเชื่อตามที่ผมถูกอบรมมาแต่เด็ก

ความส่งท้าย
บทความของอาจารย์นิธิยังชวนให้ผมสงสัยว่า ผมอยู่ที่ไหนในอันดับชนชั้น? ผมยังงงอยู่, แต่ถ้าคิดออกเมื่อไรก็จะเขียนเล่าสู่กันฟัง

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
140449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ผู้มีอำนาจทางการเมืองปัจจุบันบางคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายโทนี่ แบลร์, นายบุช ผู้ลูก, และ นายทักษิณ ชินวัตร) ดูเหมือนต่างสืบทอด มรดกความคิด ทางการเมือง-เศรษฐกิจ จากผู้นำรุ่นก่อน, คือ นายเรแกน (ดาราหนังชั้น B), นางแทตเชอร์ (วิศวกรเคมี) และนายบุชผู้พ่อ (พ่อค้านักเก็งกำไรผูกขาด) มรดกความคิดดังกล่าวเรียกว่า "ระบบเศรษฐกิจใหม่" (The New Economy), ประกอบด้วย 1. "ตลาดเสรี" ที่ไม่เสรีเพราะบรรษัทของประเทศมหาอำนาจเป็นเจ้ามือแจกไพ่ซ่อนถั่ว 2. "โลกาภิวัตน์" ซึ่งก็น่าจะเป็น "อาณานิคมใหม่" (Neo-Colonialism) คือการเสนอลูกปัดสวยๆ กับน้ำเมาแลกเปลี่ยนกับสิทธิที่จะเข้ามาครอบครองเศรษฐกิจของประเทศ

 

The Midnightuniv website