The Midnight University
ทำความเข้าใจเหตุบ้านการเมืองวิกฤตทักษิณ-สนธิ
อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ
และวิธีการอหิงสา
รศ. ดร. เกษียร
เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้
เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วใน นสพ.มติชน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอธิบายการเมืองในช่วงวิกฤตทักษิณ-สนธิ ประกอบด้วย
๑.
อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ
๒. กับดักร่วมกันของเรา และ ๓.
มิจฉาทิฐิ ๑๑ ข้อเกี่ยวกับปฏิบัติการไม่รุนแรง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียน
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 882
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10.5 หน้ากระดาษ A4)
อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ
และวิธีการอหิงสา
โดย โดย เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1. "อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ"
ข้อเสนอเรื่อง "ถวายพระราชอำนาจคืน","ใช้มาตรา 7", หรือ
"นายกฯพระราชทานรัฐบาลพระราชทาน" ล้วนมีฐานคิดที่มาจากปรัชญาและธรรมเนียมปฏิบัติของระบอบเสรีประชาธิปไตยตะวันตกที่เรียกว่า
PREROGATIVE ซึ่งราชบัณฑิตยสถานแปลเป็นไทยว่า "อำนาจพิเศษ" หรือ
"พระราชอำนาจ"
PREROGATIVE นี่แหละคือรากเหง้าทางความคิดและแบบธรรมเนียมปฏิบัติของมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
- อำนาจของฝ่ายบริหารที่จะดำเนินการไปตามดุลพินิจเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ในกรณีที่กฎหมายมิได้ระบุบ่งบอกไว้ว่าให้ดำเนินการอย่างไร และบางครั้งกระทั่งในกรณีที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยซ้ำไป
- การที่ประชาชนอนุมัติให้ผู้ปกครองสามารถเลือกกระทำการต่างๆ อย่างเสรีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเมื่อกฎหมายเงียบเสียง (คือมิได้ระบุบ่งบอกไว้) และบางครั้งกระทั่งกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายด้วยซ้ำไป, รวมทั้งประชาชนยังยินยอมรับผลสำเร็จของการกระทำดังกล่าวด้วย
- อำนาจในการทำประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีกฎเกณฑ์กำกับ- การที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจเหนือกฎหมายเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
(John Locke, Chapter XIV : Of Prerogative, Second Treatise of Government, ค.ศ.1698)
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเนื้อหาของมาตรา
7 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งระบุว่า :-
"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ก็จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 7 จำกัดขอบเขตของ PREROGATIVE ให้แคบเข้าเฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น (กล่าวคือไม่เปิดช่องให้ใช้ในลักษณะที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติประดามีของรัฐธรรมนูญ) และยังตีวงกำกับสำทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ต้องเป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้นด้วย
นั่นหมายความว่าหากยึดการตีความมาตรา 7 อย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ก็มิอาจใช้อำนาจตามมาตรา 7 เพื่อ "ขอนายกฯพระราชทาน" ได้ เพราะมีมาตรา 201 แห่งหมวด 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำกับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากอ่านเอาเรื่องบรรดาข้อเสนอข้างต้นในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ความหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติของมันตามความเห็นของผู้เขียนก็คือ การเรียกร้องให้ใช้ อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ (ad hoc absolutism) นั่นเอง. มันสะท้อนความมุ่งมาดปรารถนาอยากได้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ที่อยู่นอกและเหนือรัฐธรรมนูญลงมาปฏิบัติ การขจัดกวาดล้างและจัดระเบียบสังคมการเมืองเสียใหม่เป็นการเฉพาะกิจเฉพาะกาล - ก่อนจะย้อนกลับเข้าสู่หลักนิติรัฐและระบอบรัฐธรรมนูญปกติอีกครั้งหนึ่ง
ทว่าในสภาพการณ์และเงื่อนไขใดเล่าที่การใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ จะมีฐานความชอบธรรมที่พออ้างอิงได้ในประวัติการเมืองประชาธิปไตยของไทย? ในทางหลักการ วาระความจำเป็นแห่ง อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ ปรากฏขึ้นเมื่อเกิดสภาพรัฐล้มเหลว (failed state) ที่รัฐประสบความล้มเหลวอย่างเป็นระบบในการปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานตามสัญญาประชาคมของมัน กล่าวคือ
- รัฐไม่สามารถปกป้องสิทธิในร่างกายชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง ก่อเกิดสภาพ "ภาวะธรรมชาติ" (the state of nature) หรือนัยหนึ่งเสมือนไร้รัฐ, ไม่มีศาลสถิตยุติธรรมที่ทรงสิทธิอำนาจเป็นที่ยอมรับของผู้คนโดยทั่วไปให้เป็นที่พึ่ง ; หรือ
- รัฐล่วงละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของพลเมืองเสียเอง ก่อเกิดสภาพ "ภาวะสงคราม" (the state of war) ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำสงครามกับพลเมือง ใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายชีวิต ทรัพย์สินประชาชนโดยปราศจากสิทธิอันชอบที่จะทำเช่นนั้น ; หรือ
- ประชาชนพลเมืองเพิกถอนความยินยอม (cansent) จากรัฐ หรือนัยหนึ่งไม่ยอมรับไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจรัฐโดยทั่วไป รัฐได้แต่ใช้กำลังบังคับ (coercion) มาข่มขี่ประชาชนพลเมืองให้ทำตามคำสั่งเท่านั้น
1) กลับสู่ภาวะธรรมชาติที่ไร้รัฐ ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสงครามของทุกคนต่อทุกคน (war of all against all) ทั้งนี้ ขึ้นกับความคงอยู่และเข้มแข็งของสายใยเครือข่ายประชาสังคมหรือ
2) สถาปนาสังคมการเมืองขึ้นมาใหม่ (refounding political society) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของบุคคลและฝ่ายต่างๆ ด้วยการใช้
ในประสบการณ์การเมืองไทย สถานการณ์ที่อาจจัดว่าเข้าข่ายหรือใกล้เคียงภาวะรัฐล้มเหลวดังกล่าวคือ เหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และพฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ซึ่งคลี่คลายไปด้วยการแต่งตั้งนายกฯพระราชทานและปฏิบัติการพลิกโผชื่อนายกรัฐมนตรี โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างนำรายชื่อเข้ากราบถวายบังคมทูลฯแต่งตั้ง
อย่างไรก็ตาม ข้อน่าคิดก็คือภาวะรัฐล้มเหลวดังกล่าวนี้ - เมื่อเรียนรู้แล้ว มีประสบการณ์แล้ว - ก็อาจสามารถวิศวกรรมหรือสร้างสถานการณ์ความล้มเหลวของรัฐ (to engineer state failure) ขึ้นมาได้อย่างน้อยก็ด้วย 2 วิธีการ ได้แก่ :-
1) ด้วยความรุนแรง เช่น ก่อจลาจล เผาบ้านเผาเมือง และ/หรือ ใช้กำลังทหาร-ตำรวจปราบฆ่าผู้คนกลางเมือง
(อาทิ ธนโชคและศิริกานดา, ผมผิดหรือ? ที่ยึดกรือเซะ! พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี, 2547, น.253-56)2) ด้วยปฏิบัติการไม่รุนแรงหรืออารยะขัดขืน (civil disobedience) อันเป็นมาตรการแสดงออกอย่างสันติวิธีว่าประชาชนพลเมืองเพิกถอนความยินยอม-ไม่ยอมรับไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจรัฐโดยทั่วไป จนรัฐและระบอบการเมืองทำงานไม่ได้ ดังที่ขบวนการอหิงสาของมหาตมะคานธีกระทำต่อรัฐเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เพื่อกู้เอกราชของอินเดีย หรือขบวนการสิทธิพลเมืองของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ กระทำต่อรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นอเมริกันเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองเสมอภาคแก่ชนผิวดำ
อย่างไรก็ตาม ในประวัติการเมืองประชาธิปไตยของไทย อีกกรณีหนึ่งที่มีการใช้อำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจเข้าแทรกแซงโดยตรงในทางการเมืองคือ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 โดยงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทั้งนี้ ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้แก่นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และรัฐมนตรีอีก 13 นาย จากคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น 20 นาย
สถานการณ์ตอนนั้นไม่ได้เกิดภาวะรัฐล้มเหลวแต่อย่างใด ทว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในวงการรัฐบาลระหว่าง [คณะเจ้าและขุนนางอนุรักษนิยมฝ่ายนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา] กับ [ปีกซ้ายของคณะราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนฝ่ายรัฐมนตรีหลวงประดิษฐมนูธรรม] เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯ เสนอ
การประกาศพระราชกฤษฎีกา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราครั้งนั้น จึงเท่ากับเป็นการใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจของกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่ง เพื่อขจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจนอกเหนือจากว่าใครฝ่ายใดสถาบันใดเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
เพื่อใช้พระราชอำนาจในพระราชกฤษฎีกานี้แล้ว ยังอยู่ตรงที่ว่าไม่นานต่อมา วันที่
20 มิถุนายน พ.ศ.2476 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ก็ถูกยึดอำนาจโดยคณะทหารบก ทหารเรือ
และพลเรือนภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และพันโทหลวงพิบูลสงคราม
จากนั้น รัฐบาลใหม่ที่มีพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีก็เปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
และออกพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรลง
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 นั้นเสีย โดยให้เหตุผลว่าการที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ
ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้น
"...มิได้อาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญประการใด ซึ่งทำให้เสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ" (ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2476)
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน กับกรณีตัวอย่างการใช้อำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจ (PREROGATIVE) ในอดีตของไทยแล้ว จะเห็นได้ว่ามันละม้ายใกล้เคียงกรณีพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราปี 2476 มากกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือพฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 กล่าวคือเป็นความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่าง [ฝ่ายรัฐบาลรักษาการทักษิณและผู้สนับสนุน] กับ [ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ต่อต้านทักษิณ] มากกว่าจะเป็นภาวะรัฐล้มเหลวใดๆ
ในภาวะขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองดังที่เป็นอยู่ จึงมิบังควรใช้อำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจตามมาตรา 7 มาจัดการความขัดแย้ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประมุขของคนไทยทุกคนทุกฝ่าย
การขอให้พระองค์ทรงใช้อำนาจตามมาตรา 7 พระราชทานนายกรัฐมนตรี ย่อมประหนึ่งเป็นการเรียกร้องให้พระองค์ทรงเลือกข้างเป็นของบางคนบางฝ่ายใด ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง อันย่อมส่งผลกระทบต่อสถานภาพและสัมพันธภาพของพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมืองไทย ฝ่ายที่เรียกร้องพึงไตร่ตรองใคร่ครวญดูว่าหากแม้นสมมุติว่าได้นายกฯพระราชทานชื่อทักษิณแล้ว ท่านจะรู้สึกอย่างไร? ในทางกลับกัน ฉันใดก็ฉันนั้น
การขอนายกฯพระราชทานด้วยอำนาจมาตรา 7 ก็ตาม, ขอให้กองทัพเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดย "ยืนอยู่ข้างประชาชน" ก็ตาม, กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วมีสาระเป้าหมายสำคัญเหมือนกันคือ ขอให้มีการใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจมาขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยอยู่นอกและเหนือรัฐธรรมนูญ
2. "กับดักร่วมกันของเรา"
มองจากมุมของระบบทุนนิยมไทย ปัญหาการเมืองที่เผชิญหน้าอยู่ตอนนี้คือ ชนชั้นนายทุนไทยจะสามารถเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการดูแลจัดการผลประโยชน์แห่งชนชั้นตน
ผู้สูญเสียความชอบธรรมและความไว้วางใจของประชาสังคมไปแล้วได้หรือไม่? และอย่างไร?
กล่าวในแง่นี้ สถาบันการเมืองทางการแห่งระบอบประชาธิปไตยไทย ไม่ว่ารัฐสภาหรือองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ทำงานของมันเพื่อสนองตอบความเรียกร้องต้องการยามคับขันของทุนนิยมอย่างไม่น่าพึงพอใจเสมอมา
แทนที่การผ่องถ่ายอำนาจ ผลัดเปลี่ยนตัวประธาน จะสามารถทำได้ตามช่องทางที่ชอบด้วยกฎหมายในกรอบสถาบันการเมืองทางการอย่างสงบสันติ และมีระเบียบแบบแผน กี่ครั้งแล้วที่ทหารต้องเคลื่อนกำลัง ม็อบต้องเคลื่อนขบวน เพื่อเปลี่ยนตัวประธานกรรมการทุนนิยมไทย? ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายรู้อยู่แก่ใจว่าการนองเลือดและมีศพล้มตายก่ายกองท้องถนนกรุงเทพมหานครนั้น ไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวและบรรยากาศการลงทุน แต่กระนั้นเราก็ยังปิดทางออกทางอื่นสำหรับตัวเอง และชวนกันเดินย่ำหนทางเดิมมุ่งหน้าสู่นรกอีกเช่นเคย!
ความหวังเดียวที่พึงมีได้ในเส้นทางสายประจำอันวังเวงมืดมิดนี้คือ เนื่องจากทุกฝ่ายผ่านเหตุการณ์ทำนองนี้มาอย่างน้อยก็สามครั้ง ต่างพอรู้บทของตัวเองแล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าจะต้องแสดงตามบทไปจนถึงที่สุด เอาแค่เบาะๆ พอเป็นพิธี พอหอมปากหอมคอ พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ควรจะหยุดจะพอ....
สถานการณ์ขณะนี้ดูเหมือนส่วนใหญ่ของชนชั้นนำกับชนชั้นกลางไทย-นอกกลุ่มอำนาจทักษิณ ณ ไทยรักไทย-ได้บรรลุฉันทามติแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (รักษาการ) ไป แต่ปัญหาทางปฏิบัติก็คือ ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นเช่นนั้นได้ด้วยวิถีทางปกติธรรมดาในระบอบ "ประชาธิปไตย"
นี่คือที่มาแท้จริงของบรรดาข้อเสนอ "ถวายพระราชอำนาจคืน", "นายกฯพระราชทาน", "รัฐบาลพระราชทาน", "ใช้มาตรา 7", "งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา" ฯลฯ จะบอกว่ามันเป็นอาการดิ้นรนหาทางออกของสังคมการเมืองไทยที่กำลังติด "กับดักประชาธิปไตย" ก็ได้ รวมทั้งการกลับมาของกระแสข่าวรัฐประหาร และการก่อตัวอย่างรวดเร็วนอกเหนือความคาดหมายจากม็อบสนธิ--ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย
โดยเฉพาะปรากฏการณ์หลัง เสมือนหลักฐานพิสูจน์ความถูกต้องอีกครั้งของทฤษฎีสองนัคราประชาธิปไตยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ โดยที่เจ้าของทฤษฎีเองก็ไม่คิดว่ามันจะมาเร็วอย่างนี้
จะว่าไปการบริหารด้วยนโยบาย (ประชานิยม-บริโภคนิยม-อุปถัมภ์) สำหรับคนจนรากหญ้า 5 ปีของระบอบทักษิณ ก็ส่งผลสะเทือนเปลี่ยนแปลงพื้นฐานความเป็นจริงของสภาพสองนัคราประชาธิปไตยที่ "คนต่างจังหวัดเลือกนักเลือกตั้งไปตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาลของนักเลือกตั้ง" ไปบ้างเหมือนกันกล่าวคือ
สำหรับนักเลือกตั้งหรือที่ พ.ต.ท.ทักษิณมักเรียกว่า "นายหน้าคนกลางทางการเมือง" นั้น ขุมกำลังนักเลือกตั้งอิสระนอกพรรครัฐบาล ถูกอำนาจรัฐและอำนาจบริหารที่เข้มแข็งบั่นทอน สะกดข่มหรือสยบไปพอควร, ส่วนมุ้งนักเลือกตั้งในพรรครัฐบาล ก็ผ่านช่วงตกต่ำที่เปรียบประดุจทาสของเจ้าของพรรค หรือผู้แทนราษฎรที่ถูกขังไว้ในคุกมา, จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรครัฐบาลเผชิญกระแสคลื่นต่อต้าน และวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองอย่างไม่คาดหมาย มุ้งนักเลือกตั้งในพรรคและขุมกำลังนักเลือกตั้งนอกพรรค จึงค่อยเงยหน้าอ้าปาก พูดได้ไอดัง รวมตัวต่อรองกระทั่งแก้เผ็ดเอาคืนด้วยการบอยคอตการเลือกตั้งได้
- คนจนชนบทและคนจนเมืองบางส่วน เช่น ชาวสลัม, คนขับแท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ ถูกดึงมาเป็นฐานสนับสนุนรัฐบาลด้วยนโยบายสวัสดิการและประชานิยมเพื่อทุนนิยม
- ในทางกลับกัน ชาวชนบทและคนหัวเมืองที่ฐานทรัพยากร และวิถีชีวิตได้รับผลกระทบเสียหายจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล ก็รวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรประชาชนอิสระ เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการและนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวในระดับต่างๆ กันตามสภาพเงื่อนไขที่เป็นจริง ทั้งแบบแยกย้ายกระจายเป็นจุดๆ และเชื่อมประสานหนุนช่วยกันเป็นขบวน หรือแสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พวกเขามิได้เป็นฐานเสียงผู้ลงคะแนน PASSIVE ให้นักเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลซื้อเอาๆ ยามเลือกตั้งอีกต่อไป อาทิ สมัชชาคนจน, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรบ่อนอก-หินกรูด, กลุ่มชาวจะนะที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์, รวมทั้งชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เพียงอยู่ในขั้นเริ่มแรก ยังไม่มาก ไม่กว้างและไม่ลึกพอที่จะเปลี่ยนโฉมการเมืองไทยจากสภาพ สองนัคราประชาธิปไตย ไปเป็น การเมืองประชานิยมเต็มรูป ที่แยกขั้วแบ่งข้างกันถนัดชัดเจนระหว่าง ("ประชาชนผู้ยากไร้" หรือคนจนเมือง+คนจนชนบทใต้ การจัดตั้งของพรรครัฐบาล) VS("ชนชั้นปกครองผู้มั่งมี" หรือชนชั้นนำ+คนชั้นกลางในเมืองฝ่ายค้าน) เหมือนในอาร์เจนตินาภายใต้ประธานาธิบดีฮวน เปรอง ในอดีต หรือเวเนซุเอลา ภายใต้ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ในปัจจุบันได้
แต่ไหนแต่ไรมา บุคลิกลักษณะพื้นฐานอย่างหนึ่งของการเมืองไทยคือ การปัดป่ายบ่ายเบนการเมืองเรื่องชนชั้น (deflection of class politics) ไปเป็นเรื่อง "ชาตินิยม" และ "ความเป็นไทย" เสมอมา สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณดิ้นรนริเริ่มในท่ามกลางจุดอับทางการเมืองขณะนี้คือ ปลุกและเปิดปล่อยปีศาจประชานิยมออกมา ซึ่งตัวมันเองก็เป็นแค่รูปแบบการเมืองเรื่องชนชั้นที่เสื่อมทรามแปรธาตุชนิดหนึ่ง (a corrupted form of class politics)
ด้วยเหตุนี้ เส้นทางเดินไปสู่การเมืองประชานิยมเต็มรูป - มิพักต้องพูดถึงการเมืองเรื่องชนชั้น - จึงยังอยู่อีกไกล เพราะถึงอย่างไรธาตุแท้ทางชนชั้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ณ แสนล้าน ก็ย่อมต่างจากเปรองหรือชาเวซลิบลับ
โดยพื้นฐานแล้ว ม็อบหนุนทักษิณจึงยังคงระดมจัดตั้งเคลื่อนไหวโดยผ่านกลไกรัฐ และเครือข่ายนักเลือกตั้งบางท้องที่เหมือนเดิม ไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลนักเลือกตั้ง, มิได้ "คิดใหม่ทำใหม่" แต่อย่างใด
ภายใต้ตรรกะสองนัคราประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็น "คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล" หรือ "คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล" ก็เป็นภาวะที่อีหลักอีเหลื่อชอบกล สำหรับคนต่างจังหวัด การที่คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาด้วยเสียงข้างมากของชาติก็นับเป็นเรื่อง unfair หรือไม่เป็นธรรม
แต่สำหรับคนกรุง การตัดสินอนาคตของชาติตามหลัก "เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข" ไม่ว่าใครอยู่ที่ไหนก็ 1 คน 1 เสียงเท่ากันนั้น พูดอย่างเลือดเย็นก็ต้องบอกว่า unrealistic หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงที่น่าทุเรศอัปลักษณ์แต่ก็ยังคงจริงของเมืองไทยก็คือ คนไทยไม่เท่ากัน คนกรุงมีอำนาจมากกว่าคนต่างจังหวัด เพราะคนกรุงโดยเฉลี่ยมีรายได้ การศึกษาและเข้าถึงกลไกรัฐตลาด และสื่อสารมวลชนได้มากกว่าคนต่างจังหวัดมากมายหลายเท่า
พูดอย่างไม่เกรงใจก็คือ
คนต่างจังหวัดมีอำนาจเท่าคนกรุงวันเดียวในรอบสี่ปีคือ วันเลือกตั้ง ส่วนอีก
1,460 วันที่เหลือ คนกรุงมีอำนาจมากกว่า รวมทั้งชุมนุมประท้วงกลางเมืองได้บ่อยกว่าต่อเนื่องกว่าและยืดเยื้อกว่าด้วย
(คิดดูง่ายๆ ว่าคาราวานชาวนาภาคเหนือและเกษตรกรภาคอีสานที่ ส.ส.และ รมว.ไทยรักไทยไประดมจัดตั้งมาจะทนทายาดเดินเท้าและขับรถอีแต๋นกับกระบะปุเลงปุเลงเป็นร้อยๆ
กิโลเมตร เพื่อเข้ามาชุมนุมเชียร์รัฐบาลในกรุงเทพฯได้สักกี่รอบ กี่ครั้งและนานกี่วันกัน?
ใครจะดูแลนาไร่? ทำมาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแทน?)
จึงในกรณีปัญหานายกฯทักษิณนี้ ไม่ว่าจะเลือกออกด้วยหนทางใด, แบบ unfair หรือ unrealistic, ก็มิมีทางจะบรรลุฉันทามติของคนไทยทั้งชาติร่วมกันได้, อดที่จะมีรสเปรื่องปร่าขมฝาดสร้างบาดแผลในใจสำหรับเพื่อนร่วมชาติกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมิได้
ที่เป็นเช่นนี้ จะว่าไปมันก็ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นกรรมรวมหมู่ของเราที่เดินมาบนหนทางพัฒนาทุนนิยมแบบไม่สมดุล ไม่เสมอภาค และไม่เป็นธรรมสายนี้ร่วมกันจนติด "กับดักสังคมเหลื่อมล้ำ" อยู่ด้วยกันที่นี่ จึงต่างฝ่ายต่างไม่เข้าอกเข้าใจกัน ทะเลาะขัดแย้งกัน โกรธแค้นเกลียดชังกันและกระทั่งอาจลงไม้ลงมือด้วยความรุนแรงถึงขั้นฆ่าฟันล้มตายกันที่นี่
เพื่อสิ่งใด?
3. "มิจฉาทิฐิ
11 ข้อเกี่ยวกับปฏิบัติการไม่รุนแรง"
"ถ้าไม่พอใจนายกฯ รวมกลุ่มกันมาอย่างนี้แล้วทุกคนต้องออกหมด ต่อไปจะมีระบบเกี้ยเซี๊ยกับนายกฯเป็นชุดๆ
ไปเรื่อย ประเทศไม่ต้องไปไหนแล้ว ดังนั้น ผมจึงต้องยืนอยู่บนหลักประชาธิปไตย
และยืนอยู่บนหลักรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง"
(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี) มติชนรายวัน,
7 มี.ค. 2549, น.14
"ผมรับปากจะอยู่กับพ่อแม่พี่น้อง
ผมสู้กับเขามา 6 เดือน จะสู้กับเขาต่อไปจนกว่าเขาจะลาออก หรือถ้าเขาไม่ออกผมก็จะสู้จนผมตายไปก่อน
ช่างมัน ผมขอสู้ครั้งนี้เพื่อเป็นการล้างบาปที่ตัวเองได้ทำมาในอดีต ขอทำเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน
พ่อแม่พี่น้อง ชีวิตมีแต่ความว่างเปล่า แต่ถ้าชีวิตนี้ได้ทำงานให้บ้านเมือง
ถึงตายก็คุ้มค่า"
(สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)
ผู้จัดการออนไลน์, 8 มี.ค. 2549 http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9490000031104
แม้ความขัดแย้งจะเป็นธรรมดาของโลกและชีวิต
แต่สิ่งที่สังคมการเมืองไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ จัดเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งอันแหลมคม
(acute conflict) เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อว่า เดิมพันของความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องหลักการขั้นมูลฐาน
เช่น "หลักประชาธิปไตย", "หลักรัฐธรรมนูญ", "เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน",
"บ้านเมือง" ฯลฯ
และฉะนั้นจึงเห็นว่าไม่ถูกต้องเหมาะสมที่จะใช้วิธีแก้ไขความขัดแย้งนี้ ด้วยการประนีประนอมรอมชอมขั้นพื้นฐานใดๆ
ตรงกันข้าม ต่างฝ่ายต่างปักใจเด็ดเดี่ยวว่าการยืนหยัดต่อสู้จนตัวตาย เป็นสิ่งจำเป็นและดีงาม, การพ่ายแพ้หรือยอมจำนนต่อฝ่ายตรงข้ามจะนำมาซึ่งความพินาศฉิบหาย, จึงเลือกงัดเอาวิธีการต่อสู้ที่เข้าใจว่าเข้มแข็งที่สุดทรงพลังที่สุดออกมาใช้... ซึ่งบ่อยครั้งในสถานการณ์ความขัดแย้งอันแหลมคม สิ่งที่งัดออกมามักเป็นความรุนแรง!
ทว่าความรุนแรงไม่ใช่เทคนิควิธีการต่อสู้เดียวที่เป็นไปได้, "ปฏิบัติการไม่รุนแรง" หรือ "การต่อสู้แบบไม่รุนแรง" (nonviolent action or nonviolent struggle) เป็นทางเลือกนอกเหนือจากความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้งอันแหลมคมต่างๆ ชั่วแต่ว่ามันมักถูกละเลยและไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักกัน ทั้งที่มันเคยถูกใช้และพิสูจน์พลานุภาพมาแล้วทั้งในประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535
แม้ฝ่ายผู้ประท้วงในทั้งสองเหตุการณ์จะไม่ปลอดจากการใช้ความรุนแรงเสียทั้งหมด แต่กระนั้น "ปฏิบัติการไม่รุนแรง" ก็เป็นเชื้อมูลหลักสำคัญที่สุดในการต่อสู้ของคนส่วนใหญ่ที่สุด ที่เข้าร่วมการประท้วงสองครั้งนั้น เบื้องหน้ากำลังติดอาวุธของฝ่ายรัฐบาล และการที่ฝ่ายผู้ประท้วงประสบชัยชนะทั้งสองครั้ง ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขามีอาวุธเหนือกว่า หรือใช้ความรุนแรงได้หนักหน่วงกว่าฝ่ายรัฐบาลอย่างแน่นอน!
"ปฏิบัติการไม่รุนแรง" ไม่ใช่สิ่งเร้นลับศักดิ์สิทธิ์ แต่เอาเข้าจริงตั้งอยู่บนสมรรถนะพื้นฐานของคนเราที่จะดื้อแพ่ง, ไม่ยอมร่วมมือ, แข็งขืนไม่เชื่อฟัง, และต่อต้านคู่ต่อสู้ที่เข้มแข็งอย่างทรงพลัง
"ปฏิบัติการไม่รุนแรง" ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่เฉพาะอริยบุคคล หรือพระอรหันต์เท่านั้นจะสำแดงออกมาได้ด้วยการ "ถูกตบแก้มซ้ายแล้วหันแก้มขวาให้ตบซ้ำ" หรือ "รักศัตรูของตัว", หากอยู่ในวิสัยของมนุษย์ขี้เหม็นเห็นแก่ตัวดีบ้างชั่วบ้างธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ ที่จะดื้อ จะขัดขืน, จะทำในสิ่งที่อยากทำแต่ถ้าไม่ชอบใจไม่ถูกใจถึงสั่งมากูก็ไม่ทำ ไม่ว่ากูจะเชื่อเรื่องอหิงสา วิหิงสา หรือไม่ยังไงก็ตาม และการดื้อรวมหมู่ของมวลประชามหาชนตัวเล็กๆ อันไพศาลนี่แหละสามารถส่งผลสะเทือนทางการเมืองชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เพื่อจะใช้เทคนิควิธีการต่อสู้แบบ "ปฏิบัติการไม่รุนแรง" อย่างถูกต้องและเข้าใจกระจ่าง เราพึงขจัดมิจฉาทิฐิหรือความหลงผิด 11 ประการ เกี่ยวกับมันเสียก่อน กล่าวคือ
1) ปฏิบัติการไม่รุนแรงไม่ได้แปลว่าผู้ใช้จะต้องงอมืองอเท้า ยอมตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ให้เขาทำเอาๆ ข้างเดียว, ไม่ได้แปลว่าจะต้องชูสองมือยอมจำนน หรือตัวสั่นงันงกด้วยความขี้ขลาดตาขาว, หากรักที่จะโงหัวลุกยืนขึ้นสู้ด้วยปฏิบัติการไม่รุนแรงแล้ว ก็ต้องปฏิเสธลบล้าง ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้เสียก่อน
2) ปฏิบัติการไม่รุนแรงเป็นวิธีการเข้าไปดำเนินความขัดแย้งอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะก่อให้เกิดพลังมหาศาล, เพียงแต่ลักษณะและผลลัพธ์ของมัน ย่อมจะแตกต่างจากการใช้ความรุนแรงไปดำเนินความขัดแย้งชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
3) ปฏิบัติการไม่รุนแรงไม่ใช่เพียงแค่การใช้วาทศิลป์ พูดจาชักจูงหรือส่งอิทธิพลผลสะเทือนทางจิตวิทยาล้วนๆ แม้ว่าวิธีการต่อสู้แบบนี้อาจรวมปฏิบัติการต่างๆ เพื่อส่งผลกดดันทางจิตใจให้อีกฝ่ายเปลี่ยนท่าทีไว้ด้วยก็ตาม, เอาเข้าจริงปฏิบัติการไม่รุนแรง เป็นเทคนิคการต่อสู้ที่ใช้พลังอำนาจทั้งทางจิตวิทยา, สังคม, เศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อประลองกำลังกับฝ่ายตรงข้ามในความขัดแย้ง
4) ปฏิบัติการไม่รุนแรงมิได้ตั้งอยู่บนสมมติฐานคิกขุ อาโนเนะ ที่ทึกทักว่าคนเรานั้น "ดี" โดยสันดาน หากตระหนักรับว่าคนเราทำ "ชั่ว" ก็มีทำ "ดี" ก็ได้ตั้งสองอย่าง และอาจทำเลวระยำต่ำช้าถึงขั้นทารุณโหดร้ายผิดวิสัยมนุษย์ด้วยก็ได้
5) การจะใช้ปฏิบัติการไม่รุนแรงอย่างได้ผล คนเราไม่จำต้องเป็นอริยบุคคล, พระอรหันต์ หรือสันติชนทั้งแท่งอย่างมหาตมะ คานธี แห่งขบวนการกู้เอกราชอินเดีย หรือ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ แห่งขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของชนผิวดำอเมริกัน เอาเข้าจริงส่วนใหญ่ที่สุดแล้วผู้ใช้ปฏิบัติการไม่รุนแรง จนประสบผลสำเร็จก็คือ ปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ
6) ความสำเร็จของปฏิบัติการไม่รุนแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อแม้ว่า คู่ขัดแย้งสองฝ่ายต้องยึดมาตรฐานและหลักการต่างๆ ร่วมกัน หรือมีผลประโยชน์สอดคล้องกันมากมาย หรือรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันทางจิตใจแต่อย่างใด (ทว่าถ้ามี มันก็ย่อมช่วยได้บ้าง)
หากแม้นคู่ต่อสู้เขาไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการต่อต้านอย่างไม่รุนแรงของเรา ยามเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงของเขา และฉะนั้นจึงไม่เห็นดีเห็นงามกับเป้าหมายของกลุ่มที่ต่อสู้แบบไม่รุนแรงอย่างเราแล้วละก็, พวกเราก็อาจใช้มาตรการบีบบังคับเขาอย่างไม่รุนแรงได้ การสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เขาบังคับใช้กฎหมายนโยบายได้ลำบาก, เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และอัมพาตทางการเมืองขึ้นนั้น ไม่จำต้องให้คู่ต่อสู้เขามาเห็นด้วยเออออห่อหมกกับเราเลย
7) ปฏิบัติการไม่รุนแรงนั้น ตะวันออกก็ใช้ได้ ตะวันตกก็ใช้ดี จะเป็นสังคมกำลังพัฒนาหรือก้าวหน้าทันสมัย ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน ไม่จำกัดจำเพาะแต่บางวัฒนธรรม หรือบางระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ
8) การใช้ปฏิบัติการไม่รุนแรงไม่ได้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ทึกทักว่า คู่ต่อสู้เขาคงจะไม่ใช้ความรุนแรงเอากับฝ่ายต่อต้านด้วยความไม่รุนแรงเหมือนกัน อันที่จริงแล้ว เทคนิควิธีการต่อสู้แบบไม่รุนแรงนั้นสามารถดำเนินงานต่อต้านความรุนแรงได้
9) ปฏิบัติการไม่รุนแรงอาจนำไปใช้เพื่อภารกิจ "ดี" และ "เลว" ได้ด้วยกันทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม หากนำปฏิบัติการไม่รุนแรงไปใช้เพื่อภารกิจที่ "เลว" แล้ว ก็จะส่งผลลัพธ์ทางสังคมแตกต่างกันมาก กับผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงไปทำภารกิจที่ "เลวๆ" เดียวกันดังกล่าว
10) ปฏิบัติการไม่รุนแรง หาได้จำกัดให้ใช้เฉพาะกรณีความขัดแย้งในประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่, และใช่ว่าปฏิบัติการไม่รุนแรงจะมีโอกาสสำเร็จได้ ก็แต่เมื่อใช้มันต่อกรกับคู่ต่อสู้ที่ค่อนข้างนุ่มนวลและรู้จักยับยั้งชั่งใจเท่านั้นก็เปล่า, ที่ผ่านมา ปฏิบัติการไม่รุนแรงเคยถูกใช้ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามสารพัดประเภทอย่างกว้างขวาง ไม่ว่ารัฐบาลที่เข้มแข็ง, ผู้ยึดครองต่างชาติระบอบอำนาจเด็ดขาด, รัฐบาลทรราช, จักรวรรดิ, เผด็จการหฤโหด และระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ฯลฯ และแม้จะลำบากยากเข็ญถึงเพียงใด ในบางกรณี การต่อสู้แบบไม่รุนแรงก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน
11) นิทานโกหกที่มักรับเชื่อกันเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งคือ "ความรุนแรงประสบผลเร็ว" และ "การต่อสู้แบบไม่รุนแรงใช้เวลานานกว่าจะเกิดผล" นี่ไม่เป็นความจริง มีตัวอย่างสงครามและการต่อสู้อย่างรุนแรงมากมายในโลก ที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อไม่รู้จักจบจับสิ้นนานหลายปี กระทั่งหลายทศวรรษ กลืนกินเลือดเนื้อชีวิตผู้คนไปก่ายกองโดยไม่ยักลงเอยแพ้ชนะสักที
ในทางกลับกัน การต่อสู้แบบไม่รุนแรงบางกรณีก็นำชัยชนะมาให้อย่างรวดเร็วในชั่วเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์
เทคนิควิธีการต่อสู้แบบไม่รุนแรงจะกินเวลานานเท่าไหร่
ยืดเยื้อแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอันหลากหลาย -ไม่มีคำตอบเป็นสูตรสำเร็จรูปล่วงหน้า-
รวมทั้งขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของบรรดาผู้ต่อต้านด้วยความไม่รุนแรงและภูมิปัญญาแห่งปฏิบัติการของพวกเขาด้วย
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ด้วยปฏิบัติการไม่รุนแรงหรืออารยะขัดขืน (civil disobedience) อันเป็นมาตรการแสดงออกอย่างสันติวิธีว่า ประชาชนพลเมืองเพิกถอนความยินยอม -ไม่ยอมรับ ไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจรัฐโดยทั่วไป จนรัฐและระบอบการเมืองทำงานไม่ได้ ดังที่ขบวนการอหิงสาของมหาตมะคานธี กระทำต่อรัฐเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เพื่อกู้เอกราชของอินเดีย หรือขบวนการสิทธิพลเมืองของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ กระทำต่อรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นอเมริกันเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองเสมอภาคแก่ชนผิวดำ