นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ธรรมยาตราบวชอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ในความวุ่นวาย ไม่อาจสงบนิ่ง : เหตุบ้านการเมืองร้อน
กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย


ข้อมูล ข่าวสารวิชาการเหล่านี้รวบรวมมาจากหลายแหล่ง
ทั้งส่วนที่กองบรรณาธิการได้รับมาทางจดหมายอิเล็กทรอนิก
และส่วนผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วบนสื่อต่างๆ ประกอบด้วย
๑.
ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่มีธรรมาธิปไตย
๒.
ต้องกา "ช่องไม่ลงคะแนน" ๓. แถลงการณ์ถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
๔. ทางตันของระบอบเลือกตั้ง ๕.
ก่อนและหลังมะม่วงหล่น
๖. แถลงการณ์ หยุดการคุกคามสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 878
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)




ในความวุ่นวาย ไม่อาจสงบนิ่ง : เหตุบ้านการเมืองร้อน

รวบรวมโดยกองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. ธรรมยาตรา เพื่อธรรมาธิปไตย
"ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่มีธรรมาธิปไตย"

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
เชิญประชาชนทุกคนร่วมแสดงพลังเพื่อสร้างหนทางสู่ประชาธิปไตยที่เป็นธรรม ไม่ให้ความไร้จริยธรรมได้กลับมา และให้ศีลธรรมเป็นหลักนำสังคมการเมือง ช่วยกันภาวนาเพื่อกระตุกเตือนคนไทยให้ได้สติและเจริญปัญญา เพื่อให้การเลือกตั้งใสสะอาด

ศาสนิกชนชาวพุทธ คริสต์ และอิสลาม ร่วมพลังทางจิตวิญญาณพร้อมเพรียงกัน ในการเดินภาวนาเพื่อธรรมาธิปไตย วันเสาร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๙

๑๕.๐๐ น. รวมพลังที่บริเวณหน้าวังสราญรมย์ (ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง) (ในส่วนของศาสนิกชนมุสลิม จะมีการละหมาดที่มัสยิดจักรพงษ์ บางลำพู และเดินมาร่วมกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)

๑๕.๓๐ น. เริ่มเดินภาวนาอย่างสงบและมีสติ มุ่งสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

๑๗.๐๐ น. ร่วมกันภาวนารอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำพิธีห่มผ้าธรรมะ (บวช) อนุสาวรีย์ฯ เพื่อนำธรรมะมาให้แก่ประชาธิปไตย

๑๘.๐๐ น. เสร็จงาน

จัดโดย เครือข่ายศาสนธรรมเพื่อธรรมาธิปไตย (ประกอบด้วยศาสนิกชนชาวพุทธ คริสต์ และอิสลาม)
* สำหรับผู้ร่วมเดินภาวนา กรุณาสวมเสื้อสีขาว

2. ต้องกา "ช่องไม่ลงคะแนน"
คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย ศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร มติชนรายวัน วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10245
วันอาทิตย์นี้ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนต้องไปลงคะแนน และต้องกา "ช่องไม่ลงคะแนน" ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับพรรคฝ่ายค้านที่บอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้ ท่านอาจจะไม่พอใจ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือนายสนธิ ลิ้มทองกุล ท่านอาจจะเบื่อผู้ชุมนุมอย่างเต็มที่ ท่านอาจอยากให้หรือไม่อยากให้มีการใช้มาตรา 7 จะรู้สึกอย่างไรก็ตาม ท่านต้องไปเลือกตั้งและกา "ช่องไม่ลงคะแนน"

พ.ต.ท.ทักษิณประกาศว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการให้ประชาชนออกเสียง ว่าจะเอาหรือไม่เอาเขา แม้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความผิดปกติอย่างเหลือเชื่อ และได้สมญาว่าเป็นการ "เลือกตั้งกำมะลอ" แต่ถ้ามีแต่คนสนับสนุนพรรคไทยรักไทยไปเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณจะใช้จุดนี้เป็นข้ออ้างถูไถให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป (ด้วยความร่วมมือของนิติบริกรที่ห้อมล้อมอยู่) ความเสียหายที่จะเกิดแก่สังคมไทยและประเทศชาติ จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ

มีเหตุผลที่ต้องไปออกเสียงเลือกตั้งและกา "ช่องไม่ลงคะแนน" 5 ประการ

1. ในกระบวนการยักย้ายถ่ายเทหุ้นเพื่อขายหุ้นบริษัทชินให้กับเทมาเส็ก มีร่องรอยการกระทำผิดกฎหมายหลายข้อ โดยเฉพาะประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับรายได้พึงประเมิน พระราชบัญญัติความลับทางราชการ กฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา พูดถึงมาตรฐานสากลที่ถือปฏิบัติกันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกาหลีใต้ เมื่อผู้นำระดับนายกฯ มีส่วนพัวพันกับความผิดทางอาญาถึงขนาดนี้ แม้เรื่องจะยังไม่ถึงชั้นศาล คือแค่ถูกสงสัยหรือมีมูล ผู้นำนั้นๆ ก็จะอยู่ในตำแหน่งไม่ได้เด็ดขาด ต้องลาออกไปนานแล้ว

2. พ.ต.ท.ทักษิณจะพยายามยึดเก้าอี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะการอยู่ในอำนาจจะช่วยไม่ให้เขาถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เขาต้องการอำนาจเพื่อปกปักษ์ตัวเอง ครอบครัว และพวกพ้อง จากการถูกลงโทษเข้าคุก ถูกปรับ หรือถูกตัดสินให้ละเว้นทางการเมือง การขายหุ้นชินครั้งนี้เปิดโปงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะทำผิดในมาตรา 209 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้รัฐมนตรีมีส่วนได้เสียในธุรกิจใดๆ อันเป็นประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภา นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนุญให้ไต่สวนเรื่อง "ซุกหุ้นภาค 2" แต่ศาลรัฐธรรมนุญไม่รับคำร้อง ซึ่งหากมีการสืบสวนและพบว่าผิดจริงจะต้องถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

3. อีกเหตุผลที่จะต้องยึดโยงเก้าอี้เอาไว้ ก็เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการควบคุมกระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนุญ เขาและพรรคได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนุญปัจจุบันเป็นอย่างมาก และไม่มีความประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนุญนี้แต่อย่างใด อนึ่ง หากต้องการจะแก้ไขก็น่าจะทำไปแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะพรรคไทยรักไทยมีเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นในสภา

4. อีกเหตุผลหนึ่ง คือ ต้องการควบคุมสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ต่อไป พ.ต.ท.ทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชนในชนบทเป็นอย่างมาก เพราะนโยบายของเขาโดนใจประชาชน เพราะว่าเขาสร้างภาพความเป็น "เพื่อน" กับประชาชนอย่างที่ไม่มีนายกฯไทยคนใดเคยทำสำเร็จมาก่อน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่นิยม เพราะสามารถควบคุมข่าวสารข้อมูล ที่ประชาชนในวงกว้างจะได้รับอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผ่านการควบคุมข้อมูลสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อนั้นสำคัญมากต่อความเป็นประชาธิปไตยของเรา ทำไมเราจึงประสบอุปสรรคมากมายในความพยายามปฏิรูประบบสื่อตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนุญ 2540 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การควบคุมโดยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปสื่ออย่างชัดเจน ดังนั้น จะก้าวหน้าต่อไปจะต้องไม่มีเขา

5. พ.ต.ท.ทักษิณกำลังใช้เวทีปราศรัยหาเสียงกระจายข้อมูล เกี่ยวกับความสำเร็จของเขาอย่างบิดเบือน ไม่ตรงต่อความเป็นจริง และสร้างภาพมายาว่า เขาเท่านั้นที่จะนำประเทศไทย แต่ภายใต้การนำของเขา เศรษฐกิจไทยกลับกลายเป็นเศรษฐกิจ ที่มีความเปราะบางมากขึ้น มีความสุ่มเสี่ยงกับปัจจัยภายนอกต่างๆ มากขึ้นในแนวทางซึ่งจะเป็นผลเสียอย่างมหันต์ในระยะยาว

ที่บอกว่าเพิ่มทุนสำรองให้ได้กว่า 5.3 หมื่นล้านเหรียญ แต่ขณะเดียวกันหนี้ต่างประเทศก็สูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ฐานะของประเทศไม่ดีมากอย่างที่เสนอ สำหรับอัตราการออมภาคครัวเรือนก็ลดลงจาก 14.4% ของจีดีพีเมื่อปี 2540 ขณะนี้เหลือ 5% ของจีดีพีเท่านั้นเอง ดังนั้น ประเทศจึงมีปัญหาว่ามีเงินออมที่ไม่เพียงพอ กับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่วางแผนว่าจะเพิ่มขึ้น

พ.ต.ท.ทักษิณสัญญาจะดำเนินโครงการประชานิยมต่างๆ ต่อไป และเสนอโครงการใหม่ๆ ใช้เงินมากอีกเป็นแถว แต่ผู้ฟังต้องตระหนักว่า เขาหมดเงินที่นำมาใช้กับโครงการเหล่านี้แล้ว และถ้าหากเขาจะหาเงินมาเพิ่มก็จะต้องเก็บภาษีทรัพย์สิน ที่ดิน ภาษีหุ้น ซึ่งจะกระทบกับตัวเอง ซึ่งเขาไม่พร้อมที่จะทำ ดังนั้น ข้อเสนอต่างๆ จึงเป็นสัญญาที่เลื่อนลอย

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีชื่อเสียงเลวลงในเรื่องต่อไปนี้ คือ ระดับการคอร์รัปชั่น การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และการเคารพหลักการที่ว่ากฎหมายต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยของประเทศและการสร้างสังคมที่ดี

ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายต้องป้องกันไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาทำร้ายประชาธิปไตยของไทยอีก
ต้องออกไปเลือกตั้งแล้วกา "ช่องไม่ลงคะแนน"

3. แถลงการณ์ถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
จากอาจารย์…คน ...สถาบัน
ขอเชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกตั้ง ๒ เมษา ๔๙ โดยกากบาทงดออกเสียง
เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้งมาตรา ๕๖ จึงกำหนดให้มี "ช่องไม่ลงคะแนน" อยู่ในบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนที่ต้องไปเลือกตั้งสามารถงดออกเสียงได้ในกรณีที่เห็นว่าไม่มีผู้ใดเหมาะสมที่จะลงคะแนนให้ โดยกฎหมายเลือกตั้งมาตรา ๗๒ วรรคสอง ยังกำหนดด้วยว่า ต้องมีการนับจำนวนคะแนนที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใครด้วย การลงคะแนนในช่องไม่ลงคะแนนหรือการงดออกเสียงจึงเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ทางการเมือง เช่นเดียวกับการลงคะแนนเลือกผู้สมัครผู้หนึ่งผู้ใดหรือพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด

การไปเลือกตั้งแต่ไม่ลงคะแนนให้ใครหรืองดออกเสียง จึงแตกต่างจากการไม่ไปเลือกตั้ง เพราะการไม่ไปเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้วยเบื่อหน่ายการเมือง หรือต้องการประท้วง หรือเพราะไม่มีใครให้เลือก หรือเหตุอื่นใด ล้วนแต่มีผลเท่ากับการนอนหลับทับสิทธิ ซึ่งมิได้เป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น

โดยที่การเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ นี้ มีพรรคการเมืองซึ่งเคยมี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่แล้วเพียงพรรคเดียวที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง คือพรรคไทยรักไทย ส่วนพรรคฝ่ายค้านไม่มีพรรคใดส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ทำให้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีเขตเลือกตั้งมากถึง ๒๗๑ เขต จากทั้งหมด ๔๐๐ เขตที่มีผู้สมัครเพียงแค่คนเดียว และเนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งมาตรา ๗๔ บัญญัติว่า ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัคร ส.ส. เพียงแค่คนเดียว ถ้าผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ด้วยเหตุดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้โดยการงดออกเสียง จึงมีความหมายในทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรประกาศว่า ถ้าในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้คะแนนไม่ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์จะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งทำให้การงดออกเสียงยิ่งมีความหมายต่อการกำหนดอนาคตการเมืองไทยหลังวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ มากยิ่งขึ้นไปอีก

ข้าพเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และสถานบันการศึกษาต่างๆ จำนวน...คน ....สถานบัน เห็นว่ามีความมัวหมองทั้งในเรื่องผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม และตราบใดที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่แก้ข้อกล่าวหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ การซุกหุ้น การหลีกเลี่ยงภาษี การทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้น ให้ประชาชนสิ้นสงสัย การชุมนุม การคัดค้าน การต่อต้าน การไม่ยอมรับ ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะผันผวน ตึงเครียด แบ่งเป็นฝักฝ่ายไปอย่างไม่จบสิ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งโดยสันติ และโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ข้าพเจ้าจึงขอประกาศเชิญชวนประชาชนดังต่อไปนี้

๑. ขอเชิญชวนประชาชนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ถ้าประชาชนไม่ต้องการให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้กากบาทงดออกเสียง โดยทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง "ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง" ซึ่งอยู่ด้านล่างทางขวามือของบัตรเลือกตั้ง ทั้งในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

๒. การใช้ตรายางกากบาทจะเป็นช่องทางให้ทุจริตได้ง่าย ดังนั้น ขอให้ประชาชนพกปากกาเข้าคูหา และใช้ปากกาทำเครื่องหมายกากบาทแทนการใช้ตรายาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งแต่ประการใดทั้งสิ้น

๓. ขอให้ประชาชนทั้งประเทศและสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ช่วยกันสังเกตการณ์และติดตามการเลือกตั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดหีบเลือกตั้ง การลงคะแนน การปิดหีบเลือกตั้ง การขนหีบเลือกตั้ง หากพบการทุจริต เช่น มีการเวียนกันมาลงคะแนน หรือการเปลี่ยนหีบเลือกตั้งระหว่างการขนย้าย ขอให้แจ้งข่าวให้สื่อมวลชนทราบโดยทันที

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคไทยรักไทย กับการงดออกเสียงของประชาชน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ อนาคตการเมืองไทยหลังวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ จะเป็นอย่างไร อยู่ที่การตัดสินใจของท่าน !

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

4. ทางตันของระบอบเลือกตั้ง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
จุดยืนของพรรคไทยรักไทยซึ่งใช้เป็นธงของการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้คือประชาธิปไตย ฟังดูตลกและไร้ความจริงใจอย่างน่าเศร้า (แก่ประเทศไทย) ก็พรรคที่ไม่เคยสนับสนุนประชาชนระดับรากหญ้า ให้มีส่วนร่วมทางการเมืองเลย ไม่ว่าจะในลักษณะเขียนกฎหมายเอง หรือลักษณะประท้วง (อันเป็นการสื่อสารทางสังคมอย่างเดียวที่ชาวบ้านมีในมือ) เป็นพรรคการเมืองที่ไม่เคยสะท้อนความต้องการและความคิดของประชาชน เพราะพรรคคิดให้เองหมด เป็นพรรคที่นั่งเป็นประธานการฆ่าตัดตอนกว่า 2,000 ศพ, การสังหารหมู่ที่กรือเซะ, สะบ้าย้อย และตากใบ รวมทั้งการอุ้มฆ่าอีกเป็นร้อยศพทั่วประเทศ

เป็นพรรคที่มัดเศรษฐกิจและอนาคตของชาติไว้กับตลาดและทุนของมหาอำนาจอย่างไม่มีทางดิ้นหลุด โดยไม่เคยถามประชาชนสักคำเดียว และเป็นพรรคที่เปิดให้ทุนทั้งภายในและต่างประเทศรุกเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรจากมือประชาชนอย่างไม่อั้น นับตั้งแต่ความหลากหลายทางชีวภาพไปจนถึงคลื่นโทรคมนาคมทุกประเภท พรรณนาความเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยของพรรคไทยรักไทยไปสามวันสามคืนก็ไม่หมด แต่ด้วยจังหวะอันพิลึกพิลั่นทางการเมืองในช่วงนี้ พรรคนี้แหละครับที่เลือกประชาธิปไตยเป็นจุดยืนสำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง

จากคำสัญญาลดแลกแจกแถมนานาชนิดที่เคยให้ กลับกลายเป็นการสร้างแนวร่วมเพื่อรักษาประชาธิปไตยไทย บอกคนที่ไม่เคยได้รับความเคารพจากพรรคมากไปกว่าฝูงชนในงานเทกระจาด ให้ลุกขึ้นมาปกป้องระบอบที่พรรคเรียกว่าประชาธิปไตย วีรบุรุษประชาธิปไตยของพรรคไทยรักไทย คือคนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย หรือพรรคอื่นใดก็ตาม

เพราะประชาธิปไตยของไทยรักไทยมีความหมายแค่การหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง 4 ปีครั้ง ไม่ได้มีความหมายถึงเวทีเปิดสำหรับคนทุกฝ่าย ได้เข้ามาต่อรองนโยบายกันอย่างเสมอภาค หรือการปกครองที่เคารพสิทธิมนุษยชนและกระบวนการที่เป็นธรรมทางกฎหมาย (due process of law) ประชาธิปไตยของไทยรักไทยจึงมีความหมายเพียงการเลือกตั้งเพื่อหา "คนดี" มาบริหารบ้านเมือง ไม่ได้มีความหมายถึงกระบวนการบริหารบ้านเมือง

น่าอัศจรรย์ที่ปรปักษ์ของพรรคไทยรักไทยเอง ก็มีทรรศนะต่อประชาธิปไตยแคบอย่างเดียวกัน กลุ่มที่ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองเรียกร้องหา "คนดี" มาบริหารบ้านเมือง แต่เพราะรู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งอาจจะไม่ส่งให้ "คนดี" ได้บริหารบ้านเมือง จึงอยากได้ "คนดี" จากการพระราชทาน พวกเขาไม่ใส่ใจเลยว่า เมื่อ "คนดี" คนนั้นได้บริหารบ้านเมืองแล้ว ยังมีกระบวนการประชาธิปไตยเหลือในสังคมไทยสำหรับการต่อรองเชิงนโยบายของคนกลุ่มต่างๆ อีกหรือไม่ โดยเฉพาะคนไร้อำนาจที่อยู่บนบันไดชั้นล่างๆ ของสังคม

ปรปักษ์ที่เป็นพรรคการเมืองของไทยรักไทย ก็มองประชาธิปไตยไม่ต่างจากไทยรักไทย พวกเขาโฆษณาให้ประชาชนร่วมมือกันในการล้ม "ระบอบทักษิณ" แต่ระบอบดังกล่าวนี้คืออะไร นิยามของพรรคการเมืองที่บอยคอตการเลือกตั้งดูจะง่ายเกินไป นั่นก็คือระบอบที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และบริวารใกล้ชิดเป็นผู้นำ หาได้มีความหมายถึงการทำลายและทำความอ่อนแอให้แก่องค์กรและกลไกของระบอบประชาธิปไตย จนกระทั่งกระบวนการประชาธิปไตยไม่อาจดำเนินไปได้ พวกเขามองบทบาทของประชาชนเหมือนกับพรรคไทยรักไทย คือผู้หย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้นอย่างเดียวกัน

อันที่จริง "ระบอบทักษิณ" ตั้งมั่นอยู่ในประเทศไทยมาก่อนจะมีพรรคไทยรักไทยนานมาก รวมถึงสมัยที่พรรคซึ่งเป็นปรปักษ์ของไทยรักไทยได้เคยบริหารบ้านเมืองด้วย ประชาธิปไตยในแง่กระบวนการถูกขัดขวาง ไม่ส่งเสริม หรือทำให้เป็นหมัน คุณทักษิณไม่ได้เป็นนักการเมืองคนแรก ที่อ้างสิทธิธรรมในการปกครองจากผลการเลือกตั้งหรือผลของมติสภา นายกรัฐมนตรีไทยที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารล้วนเคยอ้างมาแล้วทั้งนั้น คุณทักษิณอาจอ้างบ่อยกว่าคนอื่น เพราะได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นกว่าทุกคน

ฉะนั้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย จึงมีความหมายแคบเพียงการเลือกตั้ง ไม่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้นที่คิดอย่างนี้ กลุ่มใหญ่ในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็คิดอย่างเดียวกัน กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ กว่าค่อนของชนชั้นนำไทยคิดถึงประชาธิปไตยแค่นี้ คือหา "คนดี" มาบริหารบ้านเมือง ไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับกระบวนการในทางสังคมและวัฒนธรรม กระบวนการประชาธิปไตยมีอยู่อย่างเดียวคือการเลือกตั้ง

พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการยึดครองประเทศไทยก็เพราะอ่านตรงนี้ออก ถ้าประชาธิปไตยของคนมีเสียงในสังคมมีความหมายแคบแค่นี้ กลไกที่จะเอาชนะในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดต่างหากที่เป็นหัวใสำคัญในการยึดอำนาจบ้านเมืองไปได้อย่างเด็ดขาดเช่นกัน

พรรคไทยรักไทยประสานกลไกสองอย่างเข้าด้วยกัน
อันแรกคือ กลไกเก่าของนักเลือกตั้งที่มีเครือข่ายหัวคะแนนในท้องถิ่นต่างๆ โดยยอมลงทุนอย่างหนักกับนักเลือกตั้ง หรือพรรคของนักเลือกตั้งเหล่านี้ และ

อันที่สองคือ สร้างกลไกใหม่สำหรับประชาชนที่อยู่นอกเครือข่ายอุปถัมภ์ของหัวคะแนน ด้วยการใช้เทคนิคการตลาดแบบใหม่ ซึ่งได้ผลอย่างดีด้วย

แม้แต่กลุ่มชนชั้นนำที่ต่อต้านหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอยู่ในเวลานี้ จำนวนไม่น้อยก็เคยร่วมในอำนาจนั้น และโดยไม่ได้ให้ความเคารพต่อกระบวนการประชาธิปไตยในทำนองเดียวกัน ที่ไม่พอใจหัวหน้าพรรคอยู่เวลานี้ ก็เกิดจากพฤติกรรมที่เกินขีดจริยธรรมที่พวกเขาจะรับได้ ไม่ใช่ไม่พอใจกับ "ระบอบทักษิณ" (ไม่ว่าจะมีคุณทักษิณเป็นผู้นำหรือไม่) ซึ่งกลุ่มชนชั้นนำได้เสวยประโยชน์โภชผลตลอดมา

ความพ่ายแพ้ของพรรคฝ่ายค้านอย่างหมดประตูสู้ ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองเหล่านั้นหันกลับมาทบทวนประชาธิปไตยที่คับแคบ อันเป็นสิ่งที่ตัวเคย "เล่น" แล้วได้ชัยชนะมาก่อน พวกเขาคิดแต่จะหาทางหักล้างกลไกการเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยสร้างขึ้นใหม่ได้อย่างไร คิดมาห้าปีและทำมาห้าปีก็ยังหักล้างไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่คิดจะสร้างคะแนนเสียงของพรรคขึ้นเอง ยังคิดแต่จะเกาะเครือข่ายหัวคะแนนเหมือนเดิม โดยเงินตัวเองไม่ถึง พอจะซื้อเครือข่ายเหล่านี้ได้มากพอ

เลือกตั้งเมื่อไร ก็แพ้พรรคไทยรักไทยเมื่อนั้น จริงอย่างที่ป้ายหาเสียงของพรรคไทยรักไทยเหยียบย่ำเอาไว้ทั่วเมือง ยิ่งมีการยุบสภาอย่างไร้เหตุผล และหาทางเอาเปรียบในการเลือกตั้งอย่างไร้ยางอายเช่นนี้ พรรคฝ่ายค้านแทบจะหาโอกาสตีตื้นไม่ได้เอาเลย และด้วยเหตุดังนั้นจึงตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้ง (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกติกาอย่างแน่นอน - และทำกันอยู่บ่อยๆ ในประเทศอื่นๆ ทั้งโลก)

บอยคอตการเลือกตั้งก็คือ การไม่ลงสนามที่จะให้สิทธิธรรมแก่คู่แข่ง และนี่เป็นการตอบโต้พรรคไทยรักไทย ที่ได้ผลที่สุดใน 5 ปีที่ผ่านมา เพราะสิทธิธรรมเพียงอย่างเดียวที่ไทยรักไทยมีในการยึดอำนาจบ้านเมืองอย่างเด็ดขาดคือการเลือกตั้ง ซึ่งตัวคุมได้ และคงคุมได้ไปอีกนาน ถ้าพรรคฝ่ายค้านไม่เปลี่ยนเกมการแข่งชันไปสู่การเป็นนักสู้ให้แก่กระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่การหา "คนดี" เข้ามาบริหารบ้านเมือง

การลงสมัครพรรคเดียวอย่างไร้คู่แข่ง จึงทำลายสิทธิธรรมเพียงอย่างเดียวที่ไทยรักไทยมีอยู่

ฉะนั้น สิ่งที่ถึงทางตันในสังคมไทยเวลานี้จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นทางตันของระบอบเลือกตั้ง เราจะมีการเลือกตั้งที่ไม่ให้สิทธิธรรมแก่ผู้ปกครอง เราอาจจะมีผู้บริหารที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งเลย แต่ได้สิทธิธรรมจาก "พระราชอำนาจ" หากจะมีการเลือกตั้งอีกในภายหน้า คนที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองก็จะเป็นคนที่กุมกลไกการเลือกตั้งได้มากที่สุด ไม่ใช่คนที่ดีที่สุด และแน่นอนว่าไม่ใช่คนที่จะปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือกระบวนการทางสังคม เติบโตขึ้นมาถ่วงดุลอำนาจของตน

คนไทยยังจะตั้งคำถามที่ดูเหมือนลึกซึ้งหนักหนาว่า ไม่เอาชวนจะเอาใคร? ไม่เอาทักษิณจะเอาใคร ไม่เอานายนั่นนายนี่ แล้วจะเอาใคร เพราะเราคิดแต่ว่าจะหา "คนดี" มาปกครองบ้านเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง แต่เราไม่เคยคิดว่า ทำอย่างไรสังคมจึงสามารถกำกับควบคุมนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าเขาจะชั่วหรือดีก็ตาม

เราไม่ได้พบทางตันเพราะประชาธิปไตย แต่เราพบทางตันเพราะเราไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก เรายังติดอยู่แค่ระบอบเลือกตั้ง ซึ่งบัดนี้นำสังคมของเราไปสู่ทางตันแล้ว

5. ก่อนและหลังมะม่วงหล่น
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
อาการของกาลอวสานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี นั้นส่อให้เห็นมาร่วมสองเดือนแล้ว เหมือนเรือที่กำลังจะอับปาง ผู้คนสาละวนกับการตระเตรียมสละเรือเพื่อเอาตัวรอด มากกว่าเข้าไปห้อมล้อมปกป้องกัปตัน ยกเว้นก็แต่คนที่รู้ว่า ไม่มีหรืออาจไม่มีที่นั่งในเรือชูชีพเหลือสำหรับตัวเท่านั้น ที่ยังช่วยกัปตันอุดรูรั่วต่อไปอย่างไม่คิดชีวิต

กว่าเดือนมาแล้ว เมื่อจำเป็นต้องระดมผู้สนับสนุนในต่างจังหวัดขนานใหญ่ เพื่อช่วงชิงเนื้อที่ในสื่อและแสดงพลังของกลไกการเลือกตั้งที่น่าจะยังอยู่ในมือของคุณทักษิณ การชุมนุมของประชาชนได้ถูกจัดขึ้นในหัวเมืองใหญ่หลายแห่ง มีประชาชนจำนวนเรือนพันถึงเรือนหมื่นเข้าร่วม ในหลายจังหวัดที่ผมพอมีข้อมูลบ้าง พบว่าแกนหลักที่ออกเรี่ยวออกแรงระดมคนมาชุมนุมกันในสนามกีฬาของเมืองบ้าง, ลานหรือสนามกว้างของเมืองบ้าง ฯลฯ ล้วนเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับชาติ ใช่แต่เท่านั้น นักการเมืองระดับชาติที่สัมพันธ์ด้วยก็ไม่ใช่นักการเมืองของพรรคไทยรักไทยทั่วไป หากเป็นนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษของคุณทักษิณเอง

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ หากนักการเมืองระดับชาติในพรรคไทยรักไทยทุกคนจะจัดให้มีการชุมนุมใหญ่ในหัวเมืองทั่วไปหมด พวกเขาก็มีเส้นสายพอจะทำได้ แต่ไม่มีใครทำ หรือบางคนที่ทำก็ดูจะทำไปอย่างแกนๆ เช่น ชุมนุมหนุนทักษิณที่ใหญ่สุดในอีสานน่าจะอยู่ที่โคราช แต่ไม่ใช่ ร้ายไปกว่านั้น ในขณะที่มีการชุมนุมหนุนทักษิณที่โคราช ก็มีชุมนุมไล่ทักษิณที่โคราชเหมือนกัน ซ้ำดูจะเป็นชุมนุมคนไม่เอาทักษิณที่ใหญ่และคึกคักที่สุดในอีสานเสียด้วย

ดังที่สื่อได้ตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า นักเลือกตั้งในพรรคไทยรักไทยส่วนใหญ่กลับวางท่าทีสงบเงียบเหมือนนักบุญในยามที่หัวหน้าพรรคถูกโจมตีอย่างหนัก นักการเมืองที่ออกมาให้สัมภาษณ์ปะทะกับฝ่ายต่อต้านทักษิณ หรือออกมาหนุนทักษิณเต็มที่ ประกอบด้วยคนสองจำพวกเท่านั้น คือกะเป๋งซึ่งไม่มีอนาคตทางการเมืองอะไรเหลืออยู่เลย หากปราศจากทักษิณ ชินวัตร สักคนเดียว และอีกพวกคือนักเลือกตั้งสกุลยี้ ซึ่งแม้จะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาได้เสมออย่างเกือบจะแน่นอน แต่ไม่มีใครกล้านำเข้าไปร่วมในครธรัฐมนตรีอีก อย่างน้อยก็อีกนานพอสมควร

ที่น่าสังเกตยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ระบบราชการในส่วนภูมิภาคไม่ได้ขยับทำอะไรเลย เปรียบเทียบกับการชุมนุมหนุนสุจินดาในต่างจังหวัดใน 2535 ระบบราชการออกมาช่วยจัดการให้อย่างเต็มตัว แต่ครั้งนี้ระบบราชการพยายามวางตัว "เป็นกลาง" อย่างน่าทึ่ง ผู้ว่าราชการฯบางจังหวัดอาจมาเปิดงานชุมนุมหนุนทักษิณ แต่ก็มาตามคำขอร้องของนักการเมืองขาใหญ่เท่านั้น

ราชการรวนเรจากการมีเป้าหมายร่วม และผมคิดว่ายากมากในตอนนี้ที่จะสร้างเป้าหมายทางการเมืองร่วมกันขึ้นได้ในระบบราชการ มันสายไปแล้วล่ะครับ

นายอำเภอที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาแก้ปัญหาความยากจน ด้วยรูปแบบอาจสามารถที่กาญจนบุรี ไม่ได้กินเหล็กกินไหลมาหรอกครับ ที่ลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบนั้นจนเละ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า ปัญหาความยากจนล้วนเกิดจากนโยบายของรัฐบาลเอง ฉะนั้นจะแก้ปัญหาความยากจนต้องไปแก้ระดับนโยบาย ไม่ใช่ระดับอำเภออย่างที่ท่านนายกฯแสดงให้ดู

ข้าราชการอีกคนหนึ่งพูดว่า "เราทำงานหนักกว่าท่านนายกฯเสียอีก ในการพยายามช่วยให้ชาวบ้านพ้นจากความยากจน" ข้าราชการชั้นผู้น้อยของอำเภออาจพูดอะไรก็ได้ เพราะมีอะไรจะสูญเสียไม่มาก แต่การสัมมนาของกรมการปกครองย่อมต้องมีผู้ใหญ่ไปคอยกำกับอยู่ด้วย ท่านเหล่านั้นปล่อยให้เกิดการอภิปรายกันอย่างเสรีเช่นนี้ได้อย่างไร

ความรวนเรของเป้าหมายทางการเมืองในระบบราชการนั้น ไม่เว้นแม้แต่กองกำลัง ข่าวลือเรื่องนายทหารรุ่น 10 ของเตรียมทหาร (รุ่นเดียวกับคุณทักษิณ) มีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าควรจะทำอย่างไรดีกับสถานการณ์ล่อแหลมต่อ "เพื่อน" ขนาดนี้ ชี้ให้เห็นว่ากองทัพไม่อยู่ในฐานะที่เป็นกลุ่มก้อนพอจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างอิสระได้ หากกองทัพจะสามารถขยับทำอะไรทางการเมืองได้ จำเป็นต้องอาศัยอำนาจจากภายนอกซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมเท่านั้น จึงสามารถวางเป้าหมายร่วมสำหรับภารกิจให้ขยับเขยื้อนอย่างเป็นเอกภาพได้

ปราศจากการหนุนหลังของระบบราชการทุกส่วน คุณทักษิณคือนักการเมืองพลเรือนคนหนึ่ง ซึ่งต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างโดดเดี่ยว ในขณะที่ลิ่วล้อส่วนใหญ่กลายเป็นนักบุญที่มุ่งแสวงหาแต่หนทางจะกระโดดออกจากเรืออย่างสง่างาม ดังที่ ส.ส.ขอนแก่นคนหนึ่งได้พบหนทางนั้นแล้วน่าประหลาดที่ปฏิกิริยาของคุณทักษิณต่อกรณีการลาบวชของคุณเปรมศักดิ์ เพียยุระ คือ "ก็รู้อยู่ว่าหมอเปรมเป็นคนยังไง" อันเป็นคำพูดที่สามารถใช้ได้กับนักเลือกตั้งของไทยรักไทยกว่าค่อนพรรค เพราะคนเหล่านี้กระโดดออกจากเรืออับปาง แล้วขึ้นเรือใหม่มาตลอดชีวิตทางการเมืองของตัว

หลังการยุบสภา ป้ายหาเสียงของนักเลือกตั้งเหล่านี้จำนวนมากไม่มีรูปคุณทักษิณยิ้มเผล่อยู่ตรงหัวมุมบนอย่างเคย จะว่าพิมพ์ไม่ทันก็ไม่ได้ เพราะหลายป้ายในกรุงเทพฯ มีรูปของผู้สมัครขนาดใหญ่ติดหราอยู่ด้วย ในจังหวัดภาคเหนือบางแห่งที่ผมสอบถามจากเพื่อน มีรูปคุณทักษิณเฉพาะป้ายที่ผู้ลงสมัครบัญชีรายชื่อทำไว้เท่านั้น ส่วนผู้สมัครเขต มีแต่เบอร์หรือเบอร์และรูปตนเอง

คุณทักษิณกลายเป็นน้ำหนักที่ผู้สมัครไม่อยากแบกไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่เพียงเมื่อปีที่แล้วนี้ คุณทักษิณคือผู้สมัครคนเดียวของพรรคไทยรักไทยทั่วประเทศไทย ความไม่แปดเปื้อนจากคุณทักษิณให้ความหวังแก่นักเลือกตั้งว่า จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองสำหรับอนาคตทางการเมืองของตนได้

บางคนบอกผมว่า เพราะเป็นช่วงของการเลือกตั้ง สื่อโทรทัศน์จึงถือโอกาสเสนอข่าวของทั้งสองฝ่ายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น แต่ถ้าการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญจริง "สองฝ่าย" ที่สื่อจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางคือระหว่างพรรคไทยรักไทย และพรรคเล็กซึ่งเป็นคู่แข่ง ไม่ใช่ผู้ประท้วงที่สนามหลวงหรือพรรคที่บอยคอตการเลือกตั้ง

สื่อโทรทัศน์ไม่ถึงกับเลือกข้าง แต่สื่อโทรทัศน์เลือกที่จะทำอะไรซึ่งไม่เคยมีกึ๋นจะกล้าทำตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และฐานะที่ปลอดภัยที่สุดซึ่งสื่อโทรทัศน์เลือกคือ (ตามสำนวนฝรั่ง) กระโดดขึ้นไปนั่งคอยอยู่บนรั้ว รอดูว่าฝ่ายใดชนะ แล้วจะกระโดดลงจากรั้วให้ถูกข้าง แล้วค่อยยิ้มแหยๆ ซึ่งยังดีกว่าการถูกหมายหัว

คาถาที่ว่า "ไม่เอาทักษิณจะเอาใคร?" หมดความศักดิ์สิทธิ์ในหมู่นักธุรกิจที่บางกอกโพสต์ออกไปสำรวจ เกือบทุกคนยอมรับว่า หากไม่ใช่ทักษิณก็ยังมีคนอื่น บางคนอาจเสนอชื่อคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บางคนอาจเสนอชื่อพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ทุกคนยอมรับว่า ยังมีคนอื่นอีกมากนอกจากทักษิณ ที่น่าสนใจกว่าความเห็นก็คือส่วนใหญ่กล้าให้ระบุชื่อของตัว

ที่โหมกระพือกันว่า การเผชิญหน้าทางการเมืองในเวลานี้ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน ผู้นำของสมาคมนักธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกมาก ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีผลกระทบน้อยมาก หรือเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพราะการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ อีกมากนอกจากการเมือง… แต่อย่าให้ยืดเยื้อก็ดีกว่า (แปลว่าคุณทักษิณไปเสียก็ได้ สนามหลวงเลิกเสียก็ได้เท่าๆ กัน) เช่นเดียวกับคนทำโทรทัศน์ นักธุรกิจเหล่านี้เลือกจะกระโดดไปรอบนรั้ว ซึ่งปลอดภัยที่สุด

เฉพาะคนในวงการธุรกิจที่เลือกข้างผิดไว้เท่านั้น ที่จำเป็นต้องออกมาปกป้องคุณทักษิณ ก็ถ้าคุณทักษิณหลุดไป อย่างไรเสียรัฐบาลใหม่ (แม้เป็นรัฐบาลของไทยรักไทย) ก็ไม่สามารถระงับการทบทวนตรวจสอบการค้าหุ้นที่ผ่านมาของบริษัทบริวาร และเครือญาติของคุณทักษิณได้แน่… คิดดูก็แล้วกันว่าใครบ้างที่จะเดือดร้อนกับคำวินิจฉัยเบี้ยวๆ ของตัวบ้าง นี่แหละคือคนที่ออกมาปกป้องคุณทักษิณอย่างออกหน้า เช่นเดียวกับนักการเมืองสกุลยี้เก่ายี้ใหม่ ซึ่งอนาคตที่ดูเหมือนจะรุ่งโรจน์ของตัวต้องดับวูบไปพร้อมคุณทักษิณ

ดูยังไงๆ ก็ชัดเจนว่า คุณทักษิณคือมะม่วงเน่าที่รอวันหลุดจากขั้วอย่างแน่นอน เพียงแต่ไม่รู้แน่ว่าหลุดเมื่อไรและอย่างไรเท่านั้น แต่ปัญหาทางการเมืองของไทยไม่หยุดลงง่ายๆ เมื่อมะม่วงเน่าหล่น เพราะกระบวนการล้มทักษิณในครั้งนี้ไม่ได้ต่างอะไรจาก "ม้อบสีลม" สมัยคุณชวลิต ยงใจยุทธ เป็นความไม่พอใจคุณทักษิณมากกว่าที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" จึงไม่มีคำตอบอะไรให้แก้ปัญหาที่รัฐบาลไทยหลายยุคหลายสมัยได้ซุกไว้ใต้พรม คำตอบของพวกเขามีอยู่อย่างเดียวคือ "ออกไป"

ฉะนั้น นายกฯคนใหม่ ไม่ว่าจะมาจากไหน ไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองอะไร หรือไม่สังกัดพรรคการเมืองเลยก็ตาม จึงต้องเผชิญกับปัญหาที่ถูกซุกอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลทักษิณ และกระบวนการขับไล่ทักษิณไปพร้อมกัน ผมขอยกให้ดูเป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่ข้อครับ

เช่น ในความเป็นจริง กระบวนการขับไล่ทักษิณคงไม่หยุดอยู่แค่เปลี่ยนนายกฯ เพื่อประกันความปลอดภัยของพวกเขาในอนาคต รัฐบาลใหม่จะถูกบีบให้ตั้งกรรมการที่เชื่อถือได้ขึ้นมาสอบสวนการขายหุ้นชินคอร์ป แล้วลงสอบสวนเรื่องนี้ได้ ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้สอบเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมาก นับตั้งแต่การฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด สนามบินสุวรรณภูมิ การทำงานของ ปปง. กองสลาก ฯลฯ

ประชาชนระดับรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คงเรียกร้องเช่นกัน ให้สอบสวนไปถึงกรณีตากใบ กรือเซะ และการอุ้มฆ่าทั้งในภาคใต้และทั่วประเทศไทย การใช้เงินงบประมาณในโครงการกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล ฯลฯ คิดถึงผลสะเทือนเลื่อนลั่นของการสอบสวนเรื่องเหล่านี้เถิดครับ

เช่น รัฐบาลใหม่จะตัดสินใจอย่างไรกับการขายรัฐวิสาหกิจ เอฟทีเอ ทั้งที่ลงนามไปแล้วและที่ใกล้จะลงนาม นโยบายพลังงาน (จะเอานิวเคลียร์ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานหมุนเวียน ค่าเอฟที ค่าพลังงานของภาคอุตสาหกรรมและบริการ ฯลฯ) การปฏิรูปที่ดิน การจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์ การกระจายอำนาจการปกครองและการศึกษา ฯลฯ

รัฐบาลใหม่มีทางแก้ได้เพียงสองอย่าง หนึ่งคือซุกมันกลับเข้าไปไว้ใต้พรม หรือสองสร้างกลไกทางการเมืองของตนขึ้นใหม่ สำหรับเผชิญกับปัญหาเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา อันเป็นหนทางที่ทำได้ยาก และดูจะไม่มีใครมีกึ๋นพอทำได้ ฉะนั้น สังคมไทยก็กลับมา "สันติ" อยู่บนกองระเบิดตามเดิม สร้างความสบายใจให้เหล่ากระฎุมพีดัดจริตซึ่งพอจะหลับตาที่สายตาสั้นของตัวให้หลับได้

6. แถลงการณ์ หยุดการคุมคามสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 39 ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนเองไม่ว่าโดยการพูด การเขียน หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่น เว้นแต่จะเป็นการละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการแสดงออกของกลุ่มประชาชนที่ได้มาทำการขัดขวางการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม และการเรียกร้องของกลุ่มประชาชนที่มีต่อหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ให้ยุติการตีพิมพ์ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิด และรวมถึงคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายแจกวารสารฟ้าเดียวกันโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือว่าเป็นการกระทำที่คุกคามต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอื่นและสื่อมวลชน ซึ่งการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และไม่สามารถจะยอมรับให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทยปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ในระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครอง และในขณะเดียวกันก็จะต้องยอมรับการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอื่นว่า เป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถกระทำได้ ไม่ว่าตนเองจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม การประท้วงหรือโต้แย้งต่อความคิดเห็นนั้นสามารถกระทำได้ แต่ไม่ใช่การขัดขวางหรือคุกคามจนทำให้บุคคลที่มีความเห็นต่าง ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นนั้นได้

2. หากมีการแสดงความคิดที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น ก็มีกฎหมายอาญาที่ได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ เพราะฉะนั้น หากมีกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ก็สามารถที่จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ เช่น หากเห็นว่ามีผู้กล่าวข้อความหรือตีพิมพ์หนังสือ อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมสามารถที่จะดำเนินการตามช่องทางของกฎหมายได้

3. และหากการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยบุคคลหรือสื่อมวลชนเป็นความผิดจริง ก็ควรดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้เกิดการต่อสู้และชี้แจงในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวได้รับการตัดสินจากองค์กรที่เป็นกลาง และด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ประชาชนทั่วไปไม่มีอำนาจในการสั่งห้ามหรือลงโทษบุคคลได้ตามใจชอบ

ดังการใช้การชุมนุมกดดันให้สื่อมวลชนต้องยุติการพิมพ์เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ในความผิดที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ นับเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิใดๆ ตามกฎหมายรองรับเลย การกระทำเช่นนี้ไม่แตกต่างอะไรไปจากการกระทำตนเป็นศาลเตี้ยเอง ด้วยการตัดสินแล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดไปแล้วทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาใดๆ ว่าเป็นจริงตามที่ตนเองได้อ้างหรือไม่

การแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่การกระทำอันนี้ต้องมิใช่การคุกคามหรือทำให้ผู้อื่นไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนออกมาได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม เช่น การบุกรุกเวทีอภิปราย การใช้อำนาจเถื่อนข่มขู่สื่อมวลชน ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังมีรายนามข้างท้าย ขอเรียกร้องให้กลุ่มที่กำลังคุกคามการแสดงความคิดเห็นของบุคคลหรือกลุ่มอื่นๆ ที่มีความเห็นแตกต่างไปจากตน ยุติการกระทำดังกล่าวลงทันที แต่จะต้องยอมรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอื่น

ด้วยการแสดงความคิดเห็นและการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง จะเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และใช้ปัญญาระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมในการแก้ไขปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ มิใช่การใช้กำลังและการข่มขู่ดังที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน

คณาจารย์สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
31 มีนาคม 2549


1. กอบกุล รายะนาคร
2. ชัยณรงค์ เหลืองวิลัย
3. ชาตรี เรืองเดชณรงค์
4. นัทมน คงเจริญ
5. บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร
6. พรรณรายรัตน์ ศรีไชยรัตน์
7. ไพสิฐ พาณิชย์กุล
8. วสุ สิงหัษฐิต
9. วาทิศ โสตถิพันธุ์
10. วีระวุฑฒิ์ วัฑฒนายน
11. ศักดิ์ชาย จินะวงศ์
12. สมชาย ปรีชาศิลปกุล
13. อัษฎายุทธ ผลภาค


 





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
310349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ปราศจากการหนุนหลังของระบบราชการทุกส่วน คุณทักษิณคือนักการเมืองพลเรือนคนหนึ่ง ซึ่งต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างโดดเดี่ยว ในขณะที่ลิ่วล้อส่วนใหญ่กลายเป็นนักบุญที่มุ่งแสวงหาแต่หนทางจะกระโดดออกจากเรืออย่างสง่างาม ดังที่ ส.ส.ขอนแก่นคนหนึ่งได้พบหนทางนั้นแล้วน่าประหลาดที่ปฏิกิริยาของคุณทักษิณต่อกรณีการลาบวชของคุณเปรมศักดิ์ เพียยุระ คือ "ก็รู้อยู่ว่าหมอเปรมเป็นคนยังไง" อันเป็นคำพูดที่สามารถใช้ได้กับนักเลือกตั้งของไทยรักไทยกว่าค่อนพรรค เพราะคนเหล่านี้กระโดดออกจากเรืออับปาง แล้วขึ้นเรือใหม่มาตลอดชีวิตทางการเมืองของตัว

The Midnightuniv website 2006