นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



การเมืองเรื่องสังคมไทยร่วมสมัย
การค้ำยันการเมืองแบบพระราชทาน
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


งานวิชาการชิ้นนี้ได้รับการอนุเคราะห์จากผู้เขียนโดยตรง
และได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการนิตรสาร Onopen.com
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงขึ้นจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก วันพุธที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๙ หน้า ๔

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 877
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)




การค้ำยันการเมืองแบบพระราชทาน

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1) ก่อนจะถึงมาตรา 7:

มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา 5 ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
มาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

… สำหรับคนที่ไม่ได้เป็น "นักกฏหมายมหาชน" แต่ต้องมีชีวิต "เกี่ยวข้อง" กับกฏหมายมหาชน และเป็นส่วนหนึ่งของ "มหาชน" ที่เป็น "ประเด็น" ของกฏหมายมหาชน ผมคิดว่ามาตราที่สร้างปัญหาในรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่น่าจะหยิบยกมาพูดถึงในครั้งนี้ก็คือมาตรา ๖ ครับ เพราะเราไปให้คำจำกัดความว่า รัฐธรรมนูญเป็น "กฏหมาย" และเป็นกฏหมายสูงสุดเสียด้วย

เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ "กฏหมาย" มากกว่า "หลักการและเจตนารมณ์" เราจึงหันไปหามาตรา ๗ ที่ว่าถ้าไม่มี "บทบัญญัติ" ก็ให้หันไปหา "ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" และไปให้ความสำคัญกับคำว่า "ประเพณี" พูดง่ายๆก็คือ เมื่อเราทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียง "กฏหมาย" หรือ "ตัวบท" มันก็ง่ายที่จะหันไปใช้ "ประเพณี" แทนที่จะพูดถึง "หลักการและเจตนารมณ์" ในกรณีที่หาตัวบทไม่เจอ

หรือว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต้องหาตัวบท และไม่ต้องหา "เจตนารมย์ของกฏหมาย" กันอีกต่อไป ?

นอกจากนั้น เมื่อย้อนพิจารณามาตรา ๖ เรายังมองไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เอ่ยถึงในมาตราที่ ๖ นั้นมีที่ทางและเชื่อมโยงกับมาตราที่ ๒ และ ๓ อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญในความเข้าใจของผู้ร่าง(น่าจะรวมถึงสาขาอาชีพของนักกฏหมายมหาชนด้วย)นั้น โดยตัวของมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฏหมายและเครื่องมือเท่านั้นเอง

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว หากเราลองแกะรอยย้อนไปพิจารณาในส่วนของคำปรารภ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (1) (ที่อยู่ก่อนถึงมาตราแรก) เราจะพบความยอกย้อนของการอธิบายที่มาของรัฐธรรมนูญ ดังนี้

"... โดยที่ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นเวลากว่าหกสิบห้าปีแล้ว ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้มีการยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แสดงว่ารัฐธรรมนูญย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมแห่งกาลเวลาและสภาวการณ์ของบ้านเมือง

รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์สำคัญที่กระจ่างแจ้ง ชัดเจน สามารถใช้เป็นหลัก ในการปกครองประเทศและเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้ ..."

ความมหัศจรรย์ในคำปรารภอยู่ตรงที่ว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นหลักในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ มิใช่เป็นแค่กฏหมาย แต่ทว่าคำว่าหลักกับกฏหมายมันต่างกันอย่างไร คงต้องอภิปรายกันในวงกว้างกันต่อไป (หมายถึงว่า rule of law กับ law นั้นอาจไม่เหมือนกัน และที่สำคัญ rule of law กับ law อาจไม่เท่ากับ democracy, democratic rule of law, และ democratic law ด้วย) (2)

ประเด็นนี้ยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อย้อนดูประโยคที่ว่า "รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นเวลากว่าหกสิบห้าปีแล้ว" เราจะพบว่า แม้รัฐธรรมนูญจะถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นหลักในการปกครองประเทศ แต่จะบอกว่าที่ผ่านมานั้นเราเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นเวลากว่าหกสิบห้าปีแล้ว คงต้องพิจารณากันอีกมาก ว่าจริงหรือที่ว่าเราเป็นระบอบประชาธิปไตย และเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่อง !

ทีนี้มาดูประโยคที่ว่า "ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้มีการยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แสดงว่ารัฐธรรมนูญย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมแห่งกาลเวลาและสภาวการณ์ของบ้านเมือง"
ประโยคนี้เป็นประโยคที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมานั้นการยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้ง นั้นมิได้กระทำด้วยวิถีทางที่คนทั้งโลกเขาเรียกว่า "ประชาธิปไตย" แต่อย่างใด

แต่ถ้าเรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของจอมพลสฤษดิ์ก็คงจะพอได้ หรือถ้าจะเรียกว่าเผด็จการทหารนิยมก็คงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ หรือจะพูดว่า มีกี่ครั้งกันที่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญตามความเหมาะสมนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงจากวิถีทางประชาธิปไตย ?

ความวุ่นวายในเรื่องเหล่านี้ย่อมทำให้เราเกิดความกระอักกระอ่วน ที่จะอ่านท่อนจบของคำปรารภที่ว่า "ขอปวงชนชาวไทยจงร่วมจิตร่วมใจสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์ พิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศสถาพร แก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระบรมราชปณิธาน ปรารถนาทุกประการ เทอญ"

2) สภาวะคิดมากกับมาตรา 7
ขณะนี้เราสนใจกันแต่มาตรา 7 จนทำให้เกิดอาการ "คิดมาก" กันทั้งสังคม ทั้งฝ่ายต้องการเสนอให้มีรัฐบาลพระราชทาน และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพระราชทาน

ผมว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการขอพระราชทานรัฐบาลจำนวนไม่น้อยคิดมากจนเกินไป ว่าการนำเสนอให้มีรัฐบาลพระราชทานเป็นเรื่องของการ "รื้อฟื้น" วิธีคิดและกลุ่มพลังแบบ "เจ้านิยม" คิดไปเป็นตุเป็นตะถึงกับเชื่อว่า มีกลุ่มที่เชื่อว่าเป็นพวกที่สนับสนุนให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาททางการเมือง มีที่ไหนกัน ...

ความเชื่อเป็นตุเป็นตะเช่นนี้ นำไปสู่ความยากลำบากในการตอบคำถามที่ว่า มีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่กลุ่มคนที่เคารพศรัทธาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อีกจำนวนไม่น้อย ที่อาจรู้สึกไม่สบายใจกับการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง พูดง่ายๆว่าพวกเจ้านิยม พวกพลังฝ่ายขวาอะไรทำนองนั้นบางคนเขาอาจไม่ต้องการให้สถาบันที่เขารักและเคารพ มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเสียอีก

หมายความว่าถ้าเรายังวิเคราะห์การเมืองและประวัติศาสตร์(การเมือง) โดยสนใจในเรื่องของกลุ่มพลัง บางทีเราก็ต้องเผชิญปัญหาที่ว่า เมื่อเราเชื่อว่ากลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง บางทีกลุ่มนั้นอาจมีพฤติกรรมและมีเป้าหมายที่แตกต่างไป และไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (คือไม่เป็นทั้งเนื้อเดียวกันเอง และเนื้อเดียวกันตามที่เราเข้าใจ)

ดังนั้นถ้าเราจะสนใจวิธีคิดของพวกเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานให้ดี เราอาจไม่จำเป็นต้องไปสนใจและแตะต้องเรื่องของ "ผู้พระราชทาน" ก็ได้ในกรณีนี้ ในแง่นี้ ท่วงทำนองของการเคลื่อนไหวคัดค้านข้อเสนอเรื่องรัฐบาลพระราชทาน จึงน่าจะเป็นเรื่องของการคัดค้านรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง เสียมากกว่าการพูดเรื่องของการพระราชทาน เพราะการพูดถึงรัฐบาลพระราชทานก็คือการพูดถึงรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งนั่นเอง

และกระบวนการที่จะนำไปสู่การแต่งตั้งรัฐบาลนี้ สิ่งที่น่าสนใจ จึงมิได้อยู่ห้วงจังหวะของการ "พระราชทาน" หากแต่อยู่ที่ว่า รัฐบาลพระราชทานหรือรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งนั้น จะถูก "ค้ำยัน" ไว้ด้วยอะไรต่างหาก (3)

3) ว่าด้วยการค้ำยันรัฐบาลพระราชทาน
เป็นไปได้หรือไม่ว่า สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นั้นเป็นเรื่องของการค้ำยันสถาบันเอาไว้ด้วยสถาบันอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันที่เรียกว่า "กองทัพ"

ทั้งนี้ การค้ำยันสถาบันกษัตริย์นั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในมิติของความคิดและอุดมการณ์เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงมิติของอำนาจทางกายภาพ ที่จับต้องได้ และปรากฏตัวออกมาให้เห็นได้ และทำให้ความคิดและอุดมการณ์นั้นดำรงอยู่ และเชื่อว่าเป็นธรรมชาติ เป็นประเพณี

กองทัพเป็นสถาบันที่สำคัญในการค้ำยันความคิดและอุดมการณ์ในการเมืองแบบพระราชทาน ในความหมายที่ว่า เมื่อเกิดการกระทำทางการเมืองบางอย่างขึ้นในสังคมจากสถาบันเบื้องสูง กองทัพจะเป็นผู้ให้หลักประกันว่าจะไม่มีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากสังคม และท้าทาย รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์อำนาจพระราชทานดังกล่าว

ดังนั้นเราจึงไม่ควรไปยึดติดกับคำว่า "พระราชทาน" ให้มันมากนัก เพราะสิ่งนั้นเป็นการตีความมาตรา 7 ในแบบหนึ่งในหลายๆแบบเท่านั้นเอง แต่ควรสนใจเอาไว้ให้มากว่า ไม่ว่าการตีความมาตรา 7 ในแบบไหนก็ตามแต่ เราพูดถึง "การค้ำยัน" มาตรา 7 ด้วยอำนาจและอิทธิพลบางอย่างนอกเหนือจากความเชื่อในเรื่องหลักการประชาธิปไตยสากลทั้งสิ้น

ในแง่นี้จึงมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าเรากล้าที่จะ "เอ่ยอ้าง" ว่า "โดยที่ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นเวลากว่าหกสิบห้าปีแล้ว" ตามคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็อาจจะต้องถึงเวลาที่ต้องยอมรับว่า ในระยะเวลาเจ็ดสิบปีนี้ กองทัพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาโดยตลอด

กองทัพนั้นมีส่วนในการกำหนดทิศทางประชาธิปไตยในสังคมไทย และกองทัพมิใช่ศัตรูกับประชาธิปไตยในหลายๆกรณี อาทิ การที่นายทหารส่วนหนึ่งมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 การกำหนดนโยบาย 66/23 ที่มีส่วนผลักดันให้ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งนั้น มีที่ทางมากขึ้นเมื่อสังคมมีความขัดแย้ง

และในขณะเดียวกันยิ่งกองทัพมีการแบ่งฝักฝ่ายและขัดแย้งทางความคิด ประชาชนก็ยิ่งมีพื้นที่ในการกำหนดทิศทางของประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น ดังที่เราเห็นมาในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณี 14 ตุลา 2516 และ พฤษภาทมิฬ 2535

คงเป็นด้วยตรรกะดังกล่าวนี้หรือไม่ ที่ทำให้กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งกล้าที่จะร้องขอให้ทหารออกมาเคลื่อนไหว และพยายามที่จะติดต่อกับพลเอกเปรม ? พูดง่ายๆก็คือ แนวคิดของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการการเมืองแบบพระราชทานนั้น ถ้าพวกเขาไม่ใช่พวกฉวยโอกาสทางการเมืองไปวันๆ เขาคงเข้าใจว่าการค้ำยันมาตรา 7 ด้วยกองทัพเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นประเพณีการปกครองในแบบประชาธิปไตย ?

ในแง่นี้ผู้ที่เสนอให้เกิดการพระราชทานรัฐบาลผ่านการตีความตามมาตรา 7 นั้นจึงมิได้มีความ "จงรักภักดี" ต่อองค์ประมุขของประเทศมากหรือน้อยกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความในลักษณะดังกล่าว เพียงแต่ว่าผู้เสนอให้เกิดการพระราชทานรัฐบาลจากมาตรา 7 นั้น มี "ความภักดี" กับบทบาทที่เข้มข้นและเปิดเผยของทหารในระบอบประชาธิปไตยของไทยเสียมากกว่า

4) ความเข้มข้นและเปิดเผยของบทบาททหารในระบอบประชาธิปไตยของไทยในยุคปัจจุบัน
จริงหรือที่ทหาร "กลับเข้ากรมกอง" หมดแล้วภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ? ตามที่ทหารมักให้สัมภาษณ์ และตามที่ความรู้สึกของพวกเราบอกเอาไว้

เหตุการณ์ในช่วงของการเผชิญหน้าทางการเมืองที่สำคัญระหว่างฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เปิดเผยให้เห็นถึงบทบาททางการเมืองอันเข้มข้นและเปิดเผยของ พลเอก เปรม มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะสะท้อนจากแรงกดดันที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ มีต่อนายสมัคร และกรณี การระเบิดหน้าบ้านของ "ประธานองคมนตรี" เมื่อไม่นานมานี้

ความพยายามที่จะทำให้พลเอกเปรมเป็นผู้ค้ำยันระบอบการเมืองทางเลือกที่เรียกว่ารัฐบาลพระราชทานตามการตีความมาตรา 7 นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่นี้ความพยายามในการวิ่งเข้าหาพลเอกเปรมของกลุ่มพลังพันธมิตรนั้น แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าเพราะพลเอกเปรมนั้นเป็น "ประธานองคมนตรี" และ "รัฐบุรุษ" แต่ความจริงแล้ว มิติที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือบทบาทของพลเอกเปรมในฐานะ "ทหารเก่า" เสียมากกว่า

บทความทางวิชาการของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ชื่อ "ทหารเก่าไม่มีวันตาย ... พวกเขาเพียงแค่ถูกข้ามหัว" (Old Soldiers never Die, They are Just Bypassed) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1993 และ แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2002 ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ ในการพิจารณาเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ชัยอนันต์เห็นว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นไม่เหมือนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งเป็น "การปฏิวัติที่นำโดยนักศึกษา"

อาจารย์ชัยอนันต์เห็นว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจัดการโดยกลุ่มพันธมิตรที่ประกอบด้วย กลุ่มทหารที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้นำ รสช. นักธุรกิจ (ขนาดเล็กและกลาง) ปัญญาชน นักศึกษา และบรรดาพรรคการเมือง ในแง่นี้เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้น เป็นการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านแนวโน้มที่จะเกิดเครือข่ายพันธมิตรใหม่ในหมู่ทหาร และธุรกิจบางกลุ่มที่จะนำไปสู่เผด็จการ โดยเฉพาะการรวบอำนาจของ รสช. กับการสร้างเครือข่ายผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม มากกว่าเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย (4)

ในทัศนะของอาจารย์ชัยอนันต์ (อย่างน้อยในบทความชิ้นที่ผมกล่าวถึง) บทบาทของกองทัพในการเมืองภายหลังพฤษภาทมิฬนั้นเกิดขึ้นจาก สองปัจจัยใหญ่ คือการเคลื่อนไหวที่ผิดพลาดของกองทัพเองในช่วง รสช. และ บริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ กองทัพจึงจำกัดบทบาทของตัวเองลงอยู่เฉพาะเรื่องของความมั่นคง และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐบาลพลเรือนทั้งรัฐบาลชวน และบรรหาร

นอกจากนี้กองทัพเองก็ลดบทบาทในการมีบทบาททางตรงในการเมืองลง อาจารย์ชัยอนันต์อ้างคำสัมภาษณ์ พลเอกสุรยุทธ เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ว่า ตราบเท่าที่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภายังดำเนินไปเพื่อนำเสนอกฏเกณฑ์ต่างๆ สำหรับเกมส์ทางการเมือง การทำการรัฐประหารในแบบที่เคยเป็นมานั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ผู้นำกองทัพและกลุ่มของผู้นำเหล่านั้นจึงต้องอิงตัวเอง (realign) เข้ากับผู้นำของพรรคการเมือง หรือทำให้มองเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับกับการเมือง (be seen to be nonpolitical) หรืออย่างน้อย ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (at least nonpartisan) (5)

ทั้งนี้เพราะข้อเสนอหลักของอาจารย์ชัยอนันต์ก็คือ บทบาทของกองทัพนั้นจะไม่ได้ถูก "แทนที่" (replace) โดยกลุ่มอื่นๆ แต่จะถูก "ข้ามหัว" (bypassed) ไปซึ่งทำให้กองทัพต้องพยายามเชื่อมโยงกับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจกลุ่มต่างๆ (6)

อาจารย์ชัยอนันต์ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงของการ "ขจัดความเป็นเผด็จการอำนาจนิยม" (de-authoritarianization) บทบาทของพลเอกเปรม นั้นมีความสำคัญยิ่ง แม้ว่าพลเอกเปรมจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "รัฐบุรุษ" และ "องคมนตรี" ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วพลเอกเปรมย่อมถูกพิจารณาว่าอยู่เหนือการเมือง อย่างไรก็ตามอาจารย์ชัยอนันต์ชี้ให้เห็นว่า พลเอกเปรมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพ และเป็นประธานของเครือโรงแรมอิมพีเรี่ยล (Chairman of the New Imperial Hotel Group) ซึ่งเป็นเครือธุรกิจที่ถูกควบคุมโดยมหาเศรษฐีที่ได้สัมปทานสุรา

และนอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2539 พลเอกเปรมยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (Chairman of the Advisory Board of the CP Company) ทั้งนี้ไม่นับภาพการอวยพรพลเอกเปรมจากทหาร และข้าราชการระดับสูง เจ้าของหนังสือพิมพ์ และบรรดาสมาชิกชุมชนธุรกิจที่ทรงอิทธิพลในวันปีใหม่ และวันเกิดของพลเอกเปรมที่บ้านสี่เสาในทุกปี อาจารย์ชัยอนันต์เห็นว่า ด้วยบารมีของพลเอกเปรม จึงทำให้พลเอกเปรมนั้นดำรงตำแหน่งผู้อุปถัมน์ที่ทรงประสิทธิภาพ (7)

ในทัศนะของอาจารย์ชัยอนันต์ พลเอกเปรม แสดงบทบาทในฐานะ "ผู้ทำหน้าที่แทนผู้นำที่เข้มแข็ง" (a surrogate strongman) ของกองทัพ ในช่วงที่กองทัพไม่สามารถจะสร้างผู้นำที่เข้มแข็ง หรือกลุ่มก้อนที่มีบทบาทที่เข้มแข็ง และในขณะเดียวกัน ท่ามกลางลักษณะดังกล่าวนั้น บทบาทและสถานะของพลเอกเปรมจึงมีลักษณะเฉพาะ ท่ามกลางปัจจัยที่ได้กล่าวไปแล้ว แม้ว่าโดยตำแหน่งองคมนตรี พลเอกเปรมนั้นไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม (8)

ในส่วนบทสรุปของงานชิ้นดังกล่าว อาจารย์ชัยอนันต์ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยนั้นกำลังประสบกับประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ และแม้ว่าการรัฐประหารในแบบที่เคยเป็นมาอาจเป็นไปไม่ได้ แต่ทว่ากลุ่มพันธมิตรอนุรักษ์นิยมซึ่งประกอบด้วย ทหาร ขุนนางนักวิชาการ (เทคโนเครท) และ ธุรกิจ อาจจะใช้อิทธิพลของพลเอกเปรมเพื่อที่จะสร้างแรงกดดันกับรัฐบาลใดๆก็ตาม ที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นที่นิยมและไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเครือข่ายของพวกเขา (9)

งานเขียนของอุกฤษดิ์ ปัทมานันท์ ในเรื่องของ "ทักษิณ และกระบวนการกลับสู่ความเกี่ยวข้องทางการเมืองที่เปิดเผยและเข้มข้นของกองทัพ" (Thaksin and the Repoliticization of the Military) ชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่เปิดเผยขึ้นของการที่ทักษิณสร้างความสัมพันธ์กับกองทัพ เมื่อเทียบกับยุคหลังพฤษภาทมิฬ โดยเฉพาะอาจารย์อุกฤษดิ์เสนอว่า ทักษิณนั้นพยายามที่จะทำให้กองทัพกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของฐานเครือข่ายอำนาจของทักษิณ (10)

ยิ่งไปกว่านั้น งานของอาจารย์อุกฤษดิ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าเครือข่ายทหารจำนวนหนึ่ง ได้เข้ามามีส่วนในการก่อตั้งและดำเนินงานกับพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นพลเอกธรรมรักษ์ พลเอกยุทธศักดิ์ หรือพลเอกชวลิต ซึ่งในแง่นี้เราจะเห็นว่าในพรรคการเมืองหลังพฤษภาทมิฬ และหลังการปฏิรูปการเมือง พรรคไทยรักไทย(และคนรอบๆตัวของทักษิณ) ดูจะเป็นพรรคที่เต็มไปด้วยทหารเก่าจำนวนไม่น้อย ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการผนวกกับพรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิตนั่นเอง

ในงานของอาจารย์อุกฤษดิ์นั้นได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของพลเอกชวลิต และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยเฉพาะที่ชายแดนพม่าและกัมพูชา และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งนำไปสู่การกลับสู่ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายในแบบเดิม ซึ่งแตกต่างจากการพยายามปรับปรุงปฏิรูปกองทัพในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคของนายกชวนและพลเอกสุรยุทธ ภายใต้ความสัมพันธ์กับพลเอกเปรม ซึ่งรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของ พลเอกสุรยุทธและพลเอกวัฒนชัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพลเอกเปรมที่ลดลงในด้านหนึ่ง และ การที่ทหารที่มีตำแหน่งในระดับสูงนั้นมีความเกี่ยวข้องกับกิจการทางธุรกิจเสียเองในอีกด้านหนึ่ง อาทิ ธุรกิจของพลเอกชวลิต และพลเอกสมทัต รวมไปถึงการแต่งตั้งเครือญาติของทักษิณเองในการดำรงตำแหน่งในกองทัพในกรณีของ พลเอกชัยสิทธิ์ (11)

อาจารย์อุกฤษดิ์จึงสรุปว่า ลักษณะความสัมพันธ์ของทักษิณกับกองทัพนั้น จึงเป็นลักษณะของการทุจริตในเชิงโครงสร้างที่น่ารังเกียจ (distasteful structural corruption) ซึ่งเป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากที่ผ่านมาในทุกยุค นับตั้งแต่จอมพลป. จอมพลสฤษดิ์ และพลเอกชาติชาย เพราะเป็นการนำเอาทหารเข้าสู่โต๊ะบุฟเฟ่เสียเอง เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิวัติ

5) บทสรุป
การค้ำยันระบอบนายกพระราชทานมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า การขอพระราชทานนายกพระราชทานผ่านการตีความมาตรา 7

การค้ำยันระบอบนายกพระราชทานเกิดขึ้นได้ผ่านวิธีคิดของพวกที่ยอมรับความจริงว่า ทหารนั้นเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางประชาธิปไตยในสังคมไทย (และอาจจะเชื่อว่าทหารนั้นเกี่ยวข้องกับการเมืองในลักษณะของการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ อีกต่างหาก)

และในความเป็นจริงแล้วบทบาทของพลเอกเปรมในห้วงเวลาหลังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะเป็นห้วงเวลาที่ "ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" อันเนื่องมาจากตำแหน่งรัฐบุรุษและตำแหน่งองคมนตรี ก็ได้เปิดโอกาสให้นักวิชาการบางท่าน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่มเชื่อและจินตนาการไปได้ว่า รัฐบาลพระราชทานน่าจะเกิดขึ้นได้ผ่านการตีความมาตรา 7 ด้วยการค้ำยันจากพลเอกเปรม

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นจะต้องพูดถึงทั้งในปัจจุบัน และในการปฏิรูปการเมืองรอบที่สองก็คือ บทบาทของทหารในการเมืองไทย ว่าจะอยู่ที่ไหน และจะมีแค่ไหน

มาถึงตรงนี้เราคงต้องย้อนกลับพิจารณาคำสัมภาษณ์ของพลเอกสุรยุทธในตอนต้นอีกครั้ง ในประเด็นที่ "ทหารเก่า" ทำให้(มอง)เห็นว่า "ไม่เกี่ยวข้องกับกับการเมือง (be seen to be nonpolitical)" ว่าเกี่ยวข้องหรือแตกต่างไปจาก การ(ทำให้มองเห็นว่า) ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (at least nonpartisan) อย่างไร?

เพราะจะว่าไปแล้ว การขอพระราชทานรัฐบาลผ่านการตีความมาตรา 7 นั้นมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความจงรักภักดี หรือลัทธินิยมเจ้า มากเท่ากับการปรากฏตัวและดำรงอยู่ของแนวคิดและพฤติกรรมแบบ "ประชาธิปไตยแบบทหารนิยม" รูปแบบหนึ่งนั่นเอง (12)

+++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ:

1. http://www.parliament.go.th/con40/sec-0.htm

2. ผมนึกถึง รศ. พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย อาจารย์ผู้สอนวิชาทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญไทย และรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบสมัยที่ผมเรียนปริญญาตรี อาจารย์พงศ์เพ็ญเป็นผู้ที่สอนให้ผมและเพื่อนๆเห็นว่า กฏหมายกับกฏหมายในสังคมประชาธิปไตยนั้นไม่เหมือนกัน รวมทั้งสอนให้พวกเราพยายามค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในแต่ละฉบับ มากกว่ามองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฏหมาย และเมื่อนึกย้อนกลับไป ผมมั่นใจว่าในทุกชั่วโมงที่ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์พงศ์เพ็ญ เวลาที่อาจารย์พงศ์เพ็ญกล่าวถึง "รัฐธรรมนูญ" อาจารย์พงศ์เพ็ญมิได้มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียง "กฏหมาย" สักเท่าไหร่ หากแต่รัฐธรรมนูญนั้นเป็น "อะไรที่มากกว่านั้น"

3. ดังนั้นในงานชิ้นนี้กระผมจึง "ตั้งใจ" ที่จะหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาและอภิปรายความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์ และสถาบันกษัตริย์กษัตริย์กับการเมือง

สำหรับผู้ที่สนใจงานที่อภิปรายในเรื่องของสถาบันกษัตริย์กับการเมือง สามารถอ่านได้จาก Duncan McCargo. 2005. Network Monarchy and Legitimacy Crises in Thailand. The Pacific Review. Vol.18 No.4. December: 499-519, Kevin Hewison. 1996. The Monarchy and Democratization in his (ed.) Political Change in Thailand: Democracy and Participation. London: Routledge, และ ใจ อึ๊งภากรณ์. 2547. สถาบันกษัตริย์ ในระบบทุนนิยมไทย ใน ใจ อึ้งภากรณ์ และ นุ่มนวล ยัพราช. (บก.) รื้อฟื้นการต่อสู้: ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย. กรุงเทพฯ: ประชาธิปไตยแรงงาน.

สำหรับกรณีการพิจารณาข้อกล่าวหาและตัวอย่างคำตัดสินในเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมไปถึงแนวคิดแบบ Radical Conservative (อนุรักษ์นิยมเชิงวิพากษ์วิจารณ์) ของ ส.ศิวรักษ์ โปรดพิจารณา David Streckfuss. (ed.) 1996. Modern Thai Monarchy and Cultural Politics: The Acquittal of Sulak Sivaraksa on the Charge of Less Majeste in Siam 1995 and Its Consequences. Bangkok: Santi Pracha Dhamma Institute.

สำหรับท่านที่สนใจจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับรัฐบาลพ่อขุนอุปถัมน์แบบเผด็จการ ภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ อาจพิจารณาได้จาก Thak Chaloemtiarana. 1979. Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Bangkok: Social Science Association of Thailand. โดยเฉพาะบทที่ 4 Implementation of the Sarit System: Personal Leadership และบทที่ 6 The Roles of the Bureaucracy and Monarchy in the Sarit System

4. Chai-Anan Samudavanija. 1993. "Old Soldiers never Die, They are just Bypassed". In his 2002. Thailand: State-Building, Democracy and Globalization. Bangkok: Institute for Public Policy Studies. หน้า 172

5. เพิ่งอ้าง, หน้า 177
6. เพิ่งอ้าง, หน้า 179
7. เพิ่งอ้าง, หน้า 177

8. "As a privy councilor Prem is not supposed to be involved in politics, yet he is one of the longest-serving prime ministers to whom the leaders of all political parties turn - at one time or another, they have all served in one of his cabinets - while high-ranking military officers regard him as a patron". เพิ่งอ้าง หน้า 177-178

9. เพิ่งอ้าง หน้าเดียวกัน อาจารย์ชัยอนันต์อ้างคำสัมภาษณ์ของ อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทองว่า พลเอกเปรมเป็นผู้กล่าวกับเลขามูลนิธิ ที่ให้การสนับสนุนรายการ "มองต่างมุม" ให้เลิกให้การสนับสนุนรายการ: "According to Dr. Chirmsak Pintong, the show's host, it was General Prem who told the secretary-general of the foundation which had been supporting the program to withdraw its support".

10. Ukrist Pathmanand. 2005. Chapter 4: Thaksin and the Repoliticization of the Military. In Duncan McCargo and Ukrist Pathmanand. The Thaksinization of Thailand. Copenhagen: Nordic Institute of Asian Studies. หน้า 134

11. เพิ่งอ้าง, หน้า 135 - 157 อาจารย์อุกฤษดิ์เสนอว่า การโยกย้าย พลเอกสุรยุทธจาก ผบ.ทบ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของพลเอกเปรม โดยนับตั้งแต่การที่ทักษิณวิจารณ์นโยบายความมั่นคงชายแดนพม่าที่เข้มงวดของสุรยุทธ กับพลเอกวัฒนชัย (แม่ทัพภาค ๓ รุ่นเดียวกับพลเอกสุรยุทธ) และภายหลังการเกษียณอายุราชการของพลเอกสุรยุทธเพียงหนึ่งเดือน พลเอกเปรมเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งพลเอก สุรยุทธให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี รวมทั้งพลเอกสุรยุทธยังได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสมาคมราชตฤณมัย ขณะที่พลเอกชัยสิทธิไม่ได้รับเลือกตั้ง (หน้า 150-151 และ 163)

12. ในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Duncan McCargo ที่ปรับปรุงขึ้นตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1997 ดันแค่นเสนอว่า กรอบคิดทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพลตรีจำลองนั้นมีลักษณะที่คับแคบและอิงกับการเคลื่อนไหวแบบชนชั้นนำ พลตรีจำลองเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะประสบผลสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับการนำเอาคนที่มีความสามารถ และมีจิตใจสูงส่งมารับตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งยุทธศาสตร์เช่นนี้ของพลตรีจำลองไม่สามารถที่จะนำไปสู่การเพิ่มปริมาณของอำนาจของประชาชนได้ นอกจากนี้แม้ว่าพลตรีจำลองจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน แต่พลตรีจำลองนั้นดูเหมือนว่าจะไม่สามารถที่จะข้ามไปให้พ้นจากประเด็นทางจริยธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ และแคมเปญการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะด้านในแต่ละแคมเปญ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองในระดับที่กว้างขวางขึ้น

ดันแค่นยังเสนอต่อไปว่า การเคลื่อนไหวบนท้องถนนนั้นอาจสามารถขับไล่พลเอกสุจินดาไปได้ แต่โดยตัวของการชุมนุมเคลื่อนไหวบนท้องถนนเองนั้น ไม่สามารถแปรเปลี่ยนสังคมการเมืองของไทยไปได้: ดูที่ Duncan McCargo. 1997. Chamlong Srimuang and the New Thai Politics. New York: St.Martin's Press. หน้า 300-303.





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
280349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

กองทัพนั้นมีส่วนในการกำหนดทิศทางประชาธิปไตยในสังคมไทย และกองทัพมิใช่ศัตรูกับประชาธิปไตยในหลายๆกรณี อาทิ การที่นายทหารส่วนหนึ่งมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 การกำหนดนโยบาย 66/23 ที่มีส่วนผลักดันให้ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งนั้น มีที่ทางมากขึ้นเมื่อสังคมมีความขัดแย้ง และในขณะเดียวกันยิ่งกองทัพมีการแบ่งฝักฝ่ายและขัดแย้งทางความคิด ประชาชนก็ยิ่งมีพื้นที่ในการกำหนดทิศทางของประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น ดังที่เราเห็นมาในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณี 14 ตุลา 2516 และ พฤษภาทมิฬ 2535

The Midnightuniv website 2006