The Midnight University
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่รากหญ้า
บทเรียนจากอาร์เจนตินาและขบวนการปีเกเตโรส์
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นักวิชาการและนักแปลอิสระ
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
และเคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร A
Day Weekly
เกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนในลาตินอเมริกา
ชื่อเดิมของบทความ
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่รากหญ้า : บทเรียนจากอาร์เจนตินา
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 865
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10.5 หน้ากระดาษ A4)
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่รากหญ้า:
บทเรียนจากอาร์เจนตินา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ :
นักวิชาการและนักแปลอิสระ
หลังจากสื่อกระแสหลักเสนอข่าวจลาจลในอาร์เจนตินาเมื่อปลายปี ค.ศ. 2001 โดยเน้นแต่ภาพความยุ่งเหยิงวุ่นวาย
การบุกปล้นร้านค้า สภาพที่เสมือนไร้ขื่อแปโดยสิ้นเชิง พร้อมกับคำอธิบายสั้น
ๆ ว่าทั้งหมดนี้เกิดมาจากการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ แล้วอาร์เจนตินาก็เลือนหายไปจากความสนใจของประชาคมโลก
หรืออย่างมากก็แค่ถูกกล่าวขวัญถึงในหมู่ชาวประชาบ้าฟุตบอลเพราะความล้มเหลวของทีมอาร์เจนตินาในฟุตบอลโลก
2002 แต่มีน้อยคนที่สนใจว่า ท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจ ประชาชนชาวอาร์เจนตินาดิ้นรนต่อสู้เพื่ออยู่รอดกันอย่างไร
และยิ่งมีน้อยคนที่รับรู้ว่า ปัจจุบันอาร์เจนตินากลายเป็นพื้นที่ทดลองการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมในระดับรากหญ้าที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
ภูมิหลัง
อาร์เจนตินาก็เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกา ภูมิภาคที่สหรัฐอเมริกาถือเป็น
"หลังบ้าน" ของตนและเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเสมอมา อาร์เจนตินาผ่านการปกครองทั้งระบอบเผด็จการทหารที่เหี้ยมโหด
และรัฐบาลพลเรือนที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นสูง เมื่อระบบทุนนิยมโลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่
อาร์เจนตินาคือหนึ่งในหลายประเทศของโลกที่สามที่ตกเป็นหนูทดลอง "การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ"
ของไอเอ็มเอฟ รวมทั้งนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน
หลังจากได้ชื่อเป็นนักเรียนตัวอย่างและเฟื่องฟูแบบฟองสบู่อยู่ระยะหนึ่ง ผลสุดท้ายที่ประเทศนี้ได้รับกลับเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การพังทลายของภาคอุตสาหกรรมและความยากจนของมวลชน แต่โชคดีที่พวกเขาแตกต่างจากประชาชนในอดีตสหภาพโซเวียต ตรงที่ชนชั้นแรงงานอาร์เจนตินาสั่งสมประสบการณ์ของการประท้วง และการเคลื่อนไหวทางสังคมมายาวนาน เพียงพอที่จะต่อกรกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้อย่างเข้มแข็งในระดับหนึ่ง สนามทดลองการเปลี่ยนแปลงระดับรากหญ้าในอาร์เจนตินา สร้างความระทึกใจได้ไม่แพ้กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสต้าในแคว้นเชียปาสของเม็กซิโก และขบวนการชาวนาไร้ที่ดินในบราซิล
อาร์เจนตินาเคยได้ฉายาเป็น "ประเทศยุโรปในอเมริกาใต้" โครงสร้างทางสังคมในประเทศนี้คล้ายคลึงกับประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวคือในประชากรทั้งหมดราว 34 ล้านคน มีถึง 87% ที่อาศัยอยู่ในเมือง และถือได้ว่ามีช่องว่างระหว่างชนชั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดในละตินอเมริกา
แต่ในช่วง 20 ปีหลัง ชนชั้นกลางที่มีอยู่เป็นจำนวนค่อนข้างมาก และชนชั้นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีรายได้ดี ต้องประสบกับภาวะตกต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะการบั่นทอนของระบบเสรีนิยมใหม่ที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทข้ามชาติ ประเทศที่เคยอุดมสมบูรณ์จนเป็นอู่อาหารและมีภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง ต้องเผชิญกับการปิดโรงงาน ค่าแรงตกต่ำและการตัดสวัสดิการสังคม จนกระทั่งชาวเมืองจำนวนมากตกลงสู่ภาวะยากจนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
การว่างงานและความไม่เท่าเทียมแพร่ระบาดไปทั่วอาร์เจนตินาตลอดช่วงทศวรรษ 1990 พร้อมกับที่รัฐบาลอาร์เจนตินาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของไอเอ็มเอฟ ในเรื่องการแปรรูปและการตัดค่าใช้จ่ายทางสังคมอย่างแข็งขันยิ่งกว่าประเทศใดในโลก จนนำไปสู่ภาวะล่มสลายครั้งใหญ่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2001 เป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือของมวลชนที่ชักนำชาวอาร์เจนตินานับล้านคนออกมาตามท้องถนน เพื่อต่อต้านรัฐบาลด้วยคำขวัญว่า "นักการเมืองจงไสหัวไปให้หมด" เพียงสิบวันแรกของสภาพปั่นป่วนนี้ ประชาชนจับมือกันแต่งตั้งและถอดถอนประธานาธิบดีถึง 4 คน
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ประชาชนหลายล้านที่ออกมา "ดำเนินการทางการเมือง" กันบนท้องถนน ยังคงปักหลักต่อไป และสร้างสรรค์ขบวนการทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา ในปี ค.ศ. 2002 ประมาณว่าประชากรชาวอาร์เจนตินาถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมอยู่ในขบวนการเหล่านี้ ซึ่งมีตั้งแต่การยึดโรงงานที่ถูกปิดและนำมาบริหารงานกันเองในหมู่คนงาน ไปจนถึงการก่อตั้งสภาชุมชนหรือสมัชชาละแวกบ้าน (Neighborhood Assemblies) ที่มีโครงสร้างและการตัดสินใจตามวิถีประชาธิปไตย เพื่อให้คนทั้งหมดในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประท้วงทางการเมือง และแสวงหาความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ขบวนการปีเกเตโรส์
"Piqueteros" (ความหมายตรงกับภาษาอังกฤษคือ picketers เป็นคำเรียกนักประท้วงที่ใช้วิธีปิดล้อมทางเข้าออก)
คือชื่อของหนึ่งในขบวนการทางสังคมใหม่ข้างต้น ขบวนการปีเกเตโรส์เป็นขบวนการของคนว่างงานหรือกึ่งว่างงานหลายแสนคน
จัดตั้งเป็นองค์กรแบบกระจายอำนาจในลักษณะของ "สหพันธ์" โดยมีเป้าหมาย
วัตถุประสงค์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ขบวนการปีเกเตโรส์มีร่วมกันคือ
มันเป็นตัวแทนของคนจนว่างงานในชุมชนแออัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะล่มสลายของภาคอุตสาหกรรม
เพื่อเข้าใจว่าขบวนการปีเกเตโรส์ประกอบด้วยคนแบบไหน ขอให้ย้อนนึกไปถึงภูมิหลังของประเทศอาร์เจนตินาที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากชนชั้นกลางแล้ว ชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งในสังคมอาร์เจนตินา คนงานเหล่านี้นี่เองที่เป็นแรงสนับสนุนหลักต่อระบอบประชานิยมของประธานาธิบดีฮวน เปรอง (ผู้มีภรรยาที่โด่งดังคือ เอวิต้า เปรอง) และมีการจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งมายาวนาน ถึงแม้จะเป็นสหภาพที่ไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง และอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ตาม อย่างไรก็ดี สหภาพแรงงานช่วยให้คนงานมีสภาพความเป็นอยู่และการทำงานที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในละตินอเมริกา ชนชั้นแรงงานอาร์เจนตินาจัดว่าได้รับค่าแรงดีและมีการจัดตั้งที่ดี
ทว่าความเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับของไอเอ็มเอฟและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งความเหลวแหลกของระบบเผด็จการทหารและพลเรือน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่เคยมั่นคงต้องลอยแพคนงานเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อคนงานอาร์เจนตินาสูญเสียทั้งงานในโรงงานและงานของภาครัฐ พวกเขาต้องจำใจทำงานอะไรก็ได้ แม้ว่าจะได้ค่าแรงต่ำ สภาพการทำงานเลวร้ายและขาดความมั่นคง ขณะเดียวกัน ความฉ้อฉลของระบบราชการก็ค่อย ๆ เปลี่ยนสหภาพแรงงานที่เหลืออยู่ในอาร์เจนตินาให้กลายเป็นมาเฟียดี ๆ นี่เอง เมื่อมาถึงยุคที่บรรษัทข้ามชาตินิยมย้ายฐานการผลิตไปที่ไหนก็ได้ในโลกที่มีค่าแรงต่ำสุด ปัญหาว่างงานในอาร์เจนตินาจึงมาถึงจุดวิกฤต
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สภาพเช่นนี้ทำให้โครงสร้างของชนชั้นทางสังคมในอาร์เจนตินาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ในประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมเคยมีความสามารถทางการผลิตเหลือเฟือ ปัจจุบัน ประชากรกว่า 25% ต้องตกงาน และงานที่หาได้ส่วนใหญ่เป็นงานในภาคบริการที่ไม่มีสหภาพคุ้มครอง หรือไม่ก็เป็นงานในเศรษฐกิจ "นอกระบบ" (เช่น ตลาดมืด)
ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นส่วนเกินที่ไม่อยู่ในแผนการตลาดของชนชั้นสูง คนเหล่านี้ต้องดำรงชีวิตในสภาพแร้นแค้นตามสลัมในเมืองใหญ่ นอกจากจนอย่างที่สุด ยังกลายเป็นชนชั้นที่ถูกกีดกันออกไปอยู่ริมขอบนอก ทั้งในทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ผู้คนในสลัมเหล่านี้มีทั้งคนที่ถูกลอยแพจากอุตสาหกรรมที่ล่มสลาย และบางส่วนเป็นคนที่อพยพมาจากประเทศที่ยากจนยิ่งกว่า เช่น โบลิเวียและเปรู
แต่แทนที่จะปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ชาวสลัมยากไร้เริ่มรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรของคนว่างงานขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เรื่องน่าขันก็คือ ขณะที่กลุ่มองค์กรเหล่านี้เติบโตขึ้น พวกเขาโชคดีที่ถูกฝ่ายซ้ายในประเทศนี้มองข้าม ทั้งนักการเมืองในพรรคประชานิยมแบบพรรคของประธานาธิบดีเปรอง และหัวขบวนนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ทั้งหลาย ซึ่งปรกติมักกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเป็นผู้นำของกลุ่มคนยากจนเสียเหลือเกิน กลับละเลยการเติบโตขององค์กรคนว่างงานเหล่านี้ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ผลลัพธ์ในด้านดีก็คือ กลุ่มจัดตั้งเหล่านี้ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิธีปฏิบัติงานแบบฝ่ายซ้ายยุคเก่า กล่าวคือดำเนินงานด้วยแกนนำเพียงไม่กี่คน ขบวนการเหล่านี้ดำเนินงานด้วยวิถีประชาธิปไตยแบบรากหญ้าที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งในการปฏิบัติงานและการระดมมวลชน จุดเน้นในการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและความเท่าเทียมในการตัดสินใจภายในองค์กรนี่เอง ที่ต่อมาเรียกกันว่า "การจัดตั้งองค์กรแนวระนาบ" (horizontalism)
พวกเขายังปฏิเสธ "ระบบหัวคะแนน" (clientelism) ที่พรรคการเมืองในอาร์เจนตินาชอบใช้ เพื่อหาคะแนนเสียงจากองค์กรจัดตั้งที่ได้รับความนิยม (ระบบที่ทำให้มีการขายคะแนนเสียงในชุมชนจัดตั้งแลกกับเงิน สิ่งของหรือการอุปถัมภ์อย่างใดอย่างหนึ่ง) นอกจากนี้ พวกเขายังใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ดำรง "ความเป็นเอกเทศ" (autonomy) โดยไม่ยอมขึ้นต่อนักการเมืองคนใดในอาร์เจนตินา การจัดตั้งแนวระนาบและความเป็นอิสระทางการเมือง ถือเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการปีเกเตโรส์ทั้งหมด
หลังจากขบวนการปีเกเตโรส์ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดและได้รับความนิยมมากแล้วนั่นแหละ ฝ่ายซ้ายจึงตระหนักว่า ตัวเองตกขบวนอย่างน่าเจ็บใจและเริ่มพยายาม "ลอกแบบ" ระเบียบวิธีของปีเกเตโรส์ พร้อมกับจัดตั้งกลุ่มองค์กรคล้าย ๆ กันขึ้นมาบ้าง แม้ว่าเดี๋ยวนี้มีกลุ่มแบบปีเกเตโรส์ที่จับมือกับนักการเมืองและพรรคฝ่ายซ้ายแบบเก่าบ้างก็ตาม แต่องค์กรปีเกเตโรส์ที่แท้จริงส่วนใหญ่ยังคงเป็นอิสระจากการเมืองเช่นเดิม
ยุทธวิธีใหม่
ยุทธศาสตร์ใหม่
ปีเกเตโรส์มีวิธีการและข้อเรียกร้องอะไรบ้าง? ขบวนการใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า
cortas de ruta นั่นคือ การปิดถนน เพื่อสร้างแรงกดดันให้ข้อเรียกร้องประสบผล
เนื่องจากชุมชนแออัดที่พวกเขาอยู่อาศัยมักอยู่ตามชานเมือง มันจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการปิดสกัดการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ
โดยเข้าไปยึดและปิดถนนหลวงหรือสะพานสายหลัก พวกเขาเผายางรถยนต์เพื่อใช้เป็นป้อมกำบัง
ใช้ท่อนไม้กับหน้ากากป้องกันตัวจากตำรวจ การปิดถนนเช่นนี้กลายเป็นปฏิบัติการทางตรงที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด
แม้ว่าต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบและการต่อสู้อย่างมีวินัยและอดทนก็ตาม
ด้วยยุทธวิธีปิดถนน ขบวนการปีเกเตโรส์สามารถจี้เข้าไปที่จุดเปราะบางของระบบเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา
นั่นคือ การขนส่งสินค้า
ยกตัวอย่างเช่น ยุทธการปิดถนนคราวหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว องค์กรหนึ่งในขบวนการปีเกเตโรส์ที่ชื่อ MUP-20 ปิดกั้นทางเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในวันสุกดิบก่อนคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันจับจ่ายซื้อสินค้าที่สำคัญที่สุดประจำปี การขัดขวางทางเศรษฐกิจแบบนี้สร้างแรงกดดันโดยตรงต่อภาคธุรกิจของอาร์เจนตินา และสร้างแรงกดดันทางอ้อมต่อรัฐบาลให้หันมาสนใจปัญหาการว่างงาน
ยิ่งกว่านั้น ปฏิบัติการเช่นนี้มักนำมาซึ่งผลได้ทางวัตถุทันตาเห็น บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต้องยอมแจกจ่ายขนมนมเนยหลายร้อยถุงให้ครอบครัวของสมาชิกองค์กร MUP-20 เพื่อยุติการประท้วง แม้ว่าจะเป็นแค่ชัยชนะระยะสั้น แต่อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนที่ตกงานยาวนานสามารถนำอาหารกลับไปให้ครอบครัวที่บ้านในวันคริสต์มาสเหมือนคนอื่นเขาบ้าง
ยุทธการปิดถนนทำให้ขบวนการสามารถผสมผสานข้อเรียกร้องเฉพาะหน้า (เช่น อาหาร) เข้ากับข้อเรียกร้องระยะยาวที่กดดันให้รัฐบาลหันมาเหลียวแลปัญหาการว่างงาน สองประการนี้ถือเป็นเหตุผลสำคัญในการกำหนดชัยชนะของขบวนการปีเกเตโรส์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว ขบวนการสามารถกดดันให้รัฐบาล ดำเนินตามโครงการช่วยเหลือคนว่างงานทั่วประเทศ โดยจ่ายเงินให้คนตกงานเดือนละ 150 เปโซ (ประมาณ 2,000 บาท)
แม้ว่าเงินจำนวนนี้แทบไม่พอยาไส้คนในครอบครัว แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการตัดลดงบประมาณทางด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามแนวทางของไอเอ็มเอฟ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ หลายกลุ่มในขบวนการปีเกเตโรส์มีโอกาสเข้าไปบริหารโครงการด้วยตัวเอง
ชัยชนะที่สามารถบีบรัฐบาล ให้ยอมเปิดทางให้องค์กรของคนว่างงานเข้าไปบริหารเงินสวัสดิการ ยังนำไปสู่การรวมตัวของชุมชนจนจัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นมาอย่างกว้างขวาง เพราะกลุ่มต่าง ๆ ในขบวนการปีเกเตโรส์สามารถนำกองทุนชดเชยแก่ผู้ว่างงาน มาสร้างสำนักอนามัยหรือโรงทานของชุมชน แต่ในแง่ร้ายก็คือ ชัยชนะนี้เริ่มทำให้ขบวนการบางส่วนตั้งตัวคล้ายระบบราชการ
การที่มีเงินไหลเข้ามาให้องค์กรแบ่งสันปันส่วนกัน ทำให้คนบางกลุ่มเริ่มเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง ผู้นำบางคนในกลุ่มองค์กรใหญ่ ๆ ผ่อนปรนข้อเรียกร้องลงและหันมาสนับสนุนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เพื่อแลกกับเส้นสายทางการเมืองและส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในกองทุนสวัสดิการ มีบางกลุ่มที่เลิกใช้ยุทธการปิดถนนและไม่ยอมตั้งข้อเรียกร้องที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่แท้จริง จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเองว่า นี่คือการทรยศ
อย่างไรก็ดี ตอนนี้รัฐบาลเองก็เริ่มกลับลำและพยายามดึงโครงการสวัสดิการพ้นจากมือของขบวนการปีเกเตโรส์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า กลุ่ม "สายกลาง" เหล่านี้จะทำอย่างไรต่อไปเมื่อสูญเสียการอุปถัมภ์จากรัฐ
"นักการเมืองจงไสหัวไปให้หมด"
สมาชิกส่วนใหญ่ของขบวนการ ไม่ต้องการเห็นองค์กรของตนกลายเป็นแค่ระบบราชการที่คอยจัดสรรเงินทุนสวัสดิการ
ในระดับรากหญ้า สมาชิกปีเกเตโรส์เหล่านี้อุทิศตัวให้กับการแสวงหาทางเลือกใหม่เพื่อหนีให้พ้นวัฏจักรความยากจนในชุมชนของตน
และพยายามสร้างกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือพึ่งพิงกันและกันขึ้นมาอย่างหลากหลาย มีตั้งแต่การสร้างศูนย์อนามัย
จัดหาที่อยู่อาศัย ทำการเกษตรชีวภาพ เลี้ยงสัตว์ คิดค้นโครงการสำหรับเยาวชน
จัดงานเทศกาล และสร้างโรงทานชุมชนเป็นจำนวนมาก
สมาชิกปีเกเตโรส์จับมือกันบุกรุกที่ดินที่ถูกทิ้งรกร้างเพื่อนำมาทำเป็นแปลงผัก นำผลผลิตไปปรุงอาหารในโรงครัวของชุมชน แล้วนำไปแจกจ่ายให้คนตกงานและผู้หิวโหยรับประทาน กระบวนการทำงานเช่นนี้สร้างสำนึกถึงศักดิ์ศรีและความสามัคคีขึ้นในหมู่ประชาชน ที่ถูกระบบเศรษฐกิจทอดทิ้งมาเนิ่นนาน มันกระตุ้นให้สมาชิกปีเกเตโรส์มองปัญหาในขอบเขตที่กว้างขึ้น แทนที่จะขอแค่เศษขนมปังหรือเชื่อตามสูตรสำเร็จของฝ่ายซ้ายเก่า
พวกเขาเริ่มเรียกร้องให้ประเทศแตกหักกับระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ที่เอื้อผลประโยชน์แก่บรรษัทข้ามชาติ รวมถึงค้นหาการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทางใหม่ แนวทางที่จะทำให้พวกเขามีงานทำอย่างแท้จริง และมีความยุติธรรมทางสังคมพร้อมกันไปด้วย แน่นอน ความมุ่งมาดนี้เป็นไปได้ยากภายใต้ระบบทุนนิยมของบรรษัทข้ามชาติ ทำให้สมาชิกปีเกเตโรส์จำนวนมากหันมาตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม ระบบเสรีนิยมใหม่และการขูดรีดมากยิ่งขึ้น
โรงงานประชาธิปไตย
ทุก ๆ วัน คนงานจำนวน 330 คนของโรงงานเซรามิกส์ซานอง (Cer?mica Zanon) ทั้งทำงานทั้งบริหารโรงงานกระเบื้องปูพื้นที่ใหญ่ที่สุดในอาร์เจนตินา
แต่หากจะกล่าวอย่างเถรตรงตามกฎหมายแล้ว คนงานเหล่านี้กำลังบุกรุกโรงงาน และเข้าไปใช้เครื่องจักรดำเนินการผลิตอย่างผิดกฎหมาย
กระนั้นก็ตาม พวกเขาสามารถดำรงสถานภาพที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายเช่นนี้มาได้ถึงสองปี
โดยอาศัยการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นเนวเก้น ซึ่งเป็นเมืองขนาดประชากร 300,000
คนที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอาร์เจนตินา
แม้ว่าศาลมีคำสั่งให้ไล่คนงานออกไปตั้งแต่เกือบหนึ่งปีก่อน รัฐบาลก็ไม่กล้าสั่งการให้ตำรวจเข้าไปจัดการ เพราะต้นทุนทางการเมืองที่ตามมานั้นสูงเกินกว่าที่รัฐบาลจะรับมือไหว กลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่สหภาพครู สหภาพแรงงานปิโตรเลียม ไปจนถึงโบสถ์คาทอลิกออกมาขู่ว่า หากมีการขับไล่คนงานเมื่อไร พวกเขาจะเปิดฉากประท้วงกันทั้งเมือง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปทางอื่น
ตั้งแต่ก่อนที่เศรษฐกิจอาร์เจนตินาจะพังทลายลงอย่างสิ้นเชิงในปี ค.ศ. 2001 มีคนงานในโรงงานและสถานประกอบการหลายแห่งที่ล้มละลาย เริ่มบุกเข้ายึดโรงงานและเครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิต แม้ว่าโรงงานนั้นจะถูกสั่งปิดไปแล้วก็ตาม คนงานหลายพันคนในสถานประกอบการหลายร้อยแห่ง ตั้งแต่โรงงานเซรามิกส์ โรงพิมพ์ ไปจนถึงโรงแรม กำลังบริหารงานด้วยตัวเอง ยิ่งกว่านั้น พวกเขาบริหารได้ดีกว่าเจ้านายเก่าที่ทำธุรกิจล้มละลายเสียด้วย
แต่กว่าคนงานจะทำได้ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดอย่าง ทั้งการพยายามเข้ามาแทรกแซงของกฎหมาย เจ้านายและเจ้าของเก่าของโรงงาน รวมทั้งภาวะมืดแปดด้านในตอนเริ่มแรกว่า พวกเขาจะทำงานกันอย่างไรโดยที่ไม่มีใครมาคอยออกคำสั่ง ยุทธวิธีที่พวกเขาใช้ร่วมกันในการแก้ปัญหาก็คือ ยกเลิกระบบบริหารจัดการที่ใช้การตัดสินใจจากบนลงล่าง แล้วแทนที่ด้วยโครงสร้างการบริหารแบบใหม่ ที่การตัดสินใจทำกันเป็นกลุ่ม หรือที่เรียกกันว่า สมัชชาคนงาน
แต่ละแผนกหรือหน่วยงานจะเลือกตัวแทนคนหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำเสนอปัญหาหรือความต้องการต่อที่ประชุม โดยคนงานทุกคนเข้าร่วมประชุมพร้อมกัน คนงานทั้งหมดจะลงคะแนนเสียงเพื่อรับรองหรือปฏิเสธข้อเสนอของแผนกนั้น ๆ วิธีการนี้ทำให้แต่ละแผนกสามารถเสนอหนทางแก้ไขปัญหาของตนเอง และคนงานทั้งหมดรับรู้ความเป็นไปในทุกส่วนของโรงงาน
ดังนั้น กระบวนการตัดสินใจที่โรงงานซานองและสถานประกอบการอื่น ๆ จึงโปร่งใสและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ในโรงงานซานอง มี "ผู้ประสานงาน" ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 30 คนจากส่วนต่าง ๆ การตัดสินใจของผู้ประสานงานทำกันอย่างเปิดเผยในสมัชชา คนงานหรือสมาชิกของชุมชนมีสิทธิตั้งคำถาม และขอดูสถานะทางการเงินของโรงงานเมื่อไรก็ได้ นอกจากนี้ ยังมี "ผู้ประสานงานของผู้ประสานงาน" อีกสองคนจากการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการทั่วไป แตกต่างตรงที่คนงานทุกคนมีสิทธิตรวจสอบการตัดสินใจของทั้งสอง และสามารถยกเลิกหรือทบทวนการตัดสินใจที่ทำไปแล้วได้
มีการประชุมสมัชชาทุกสัปดาห์ หากต้องมีการลงมติครั้งสำคัญ คนงานทุกคนจะหยุดงานเพื่อมาประชุมโดยพร้อมเพรียง การประชุมไม่ได้มีแต่เรื่องการบริหารโรงงานและการต่อสู้ทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่วมมือและการผนึกกำลังกับกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนท้องถิ่นด้วย
การสนับสนุนจากชุมชน
ซานองได้รับแรงสนับสนุนจากทุกส่วนในชุมชนเมืองเนวเก้น ทั้งนี้เพราะพวกเขาดำเนินการผลิตในโรงงานเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนส่วนรวม
เป้าหมายของพวกเขาคือเรียกร้องให้รัฐบาลยึดโรงงานและมอบโรงงานมาให้คนงานบริหารต่อเอง
โดยคนงานจะตอบแทนผลประโยชน์คืนกลับให้แก่รัฐและชุมชน
แต่แทนที่จะนั่งรอให้รัฐบาลดำเนินการ พวกเขาชิงเป็นฝ่ายรุกก่อน ปัจจุบัน โรงงานซานองบริจาคกระเบื้องและสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนกลุ่มอื่น ๆ จับมือกันเป็นพันธมิตรทางการเมือง เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลคอร์รัปชั่น เจ้านายขี้ฉ้อและปัญหาการว่างงาน นี่คือการตอบแทนบุญคุณของผู้คนที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าระดับความยากจน ที่เคยช่วยบริจาคเงินกับอาหารให้คนงานระหว่างช่วงที่พวกเขาบุกเข้ายึดโรงงาน และเริ่มดำเนินการผลิตอีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งของการสนับสนุนซึ่งกันและกันก็คือ ซานองเป็นโรงงานขนาดใหญ่ในเมืองเล็ก ๆ ชาวเมืองเกือบทุกคนต้องรู้จักมักคุ้นกับคนงานซานองสักคนหนึ่ง นอกจากนั้น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของซานองไม่ได้ออกจดหมายข่าวที่มีเฉพาะเรื่องราวภายในโรงงาน แต่ตีพิมพ์วารสารที่มีข่าวคราวของชุมชนทั้งหมด รวมทั้งผลิตรายการวิทยุสัปดาห์ละสามครั้ง โรงงานเปิดกว้างให้คนกลุ่มใดก็ได้ที่ต้องการเข้ามาเยี่ยมชม ที่ผ่านมามีผู้มาเยือนทั้งในระดับนานาชาติ และเด็กอนุบาลในโรงเรียนท้องถิ่น
พวกเขายังจับมือเป็นพันธมิตรกับการต่อสู้ของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง โดยชาวพื้นเมืองบริจาคดินเหนียวให้โรงงาน ส่วนโรงงานก็บริจาคกระเบื้องให้ศูนย์ประชาคมและโรงพยาบาล ในทางกลับกัน สหภาพนางพยาบาล ส่งนางพยาบาลเปลี่ยนเวรกันมาดูแลสุขภาพอนามัยของคนงานเป็นการตอบแทน
เมื่อไรที่มีการรับคนงานเพิ่ม ซานองจะพิจารณาคนจากกลุ่มที่ให้การสนับสนุนโรงงานก่อน จนถึงปัจจุบัน ซานองเปิดรับคนงานเพิ่มถึง 90 ตำแหน่ง โรงงานยังยกการดำเนินงานในแผนกรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีทั้งหมดราว 30 ตำแหน่ง ให้แก่สมาชิกของกลุ่มคนว่างงาน คนกลุ่มนี้มักถูกกีดกันจากสังคมและไม่ค่อยมีโอกาสได้งานทำ เนื่องจากพวกเขาตกงานมานานเกินไป
ชั่งน้ำหนักความเสี่ยง
ทำไมคนงานถึงตัดสินใจบุกเข้ายึดโรงงานตั้งแต่แรก? เหตุผลก็คือพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว
ความเสี่ยงที่ต้องทำผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่ต้องตกงานเป็นระยะเวลาอีกไม่รู้นานเท่าไร
ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีวี่แววแม้แต่น้อยว่าจะดีขึ้น ในสถานการณ์แบบนี้ การบุกเข้ายึดสถานประกอบการมาดำเนินงานเอง
ช่วยสร้างหลักประกันให้ปากท้องและความอยู่รอดมากกว่า
การต่อสู้ของคนงานซานองสืบย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000 เมื่อมีเหตุการณ์ที่คนงานคนหนึ่งเสียชีวิต เนื่องจากความมักง่ายของนายจ้าง อีกทั้งสหภาพแรงงานที่มีอยู่เดิมไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้เท่าที่ควร คนงานซานองจึงก่อหวอดประท้วงด้วยตัวเองเป็นเวลาเก้าวัน จบลงที่ผู้บริหารยอมให้คนงานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลความปลอดภัยของการผลิตในโรงงาน
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2001 ฝ่ายบริหารไม่ยอมจ่ายค่าแรงเต็มเวลา อ้างว่าโรงงานไม่มีกำไร หลังจากประท้วงอยู่ 34 วัน โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพ คนงานชนะและได้รับสิทธิตรวจสอบบัญชีรายได้ของโรงงาน เปิดโปงความจริงว่าโรงงานมีกำไรมาตลอด ประสบการณ์และการผนึกกำลังระหว่างการต่อสู้ทั้งสองครั้ง ทำให้คนงานซานองจับมือกับคนงานโรงงานอื่น สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานประจำเมืองเนวเก้นและได้ชัยชนะในที่สุด
ทว่าวันที่ 5 กันยายน 2001 เจ้าของโรงงานประกาศปิดโรงงาน อ้างว่าไม่มีเงินพอจ่ายค่าแรง ทั้ง ๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก้อนใหญ่ แต่เจ้าของกลับยืนกรานว่าโรงงานไม่มีกำไร ไม่สามารถดำเนินการต่อ คนงานซานองปักหลักประท้วงหน้าโรงงาน จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พวกเขาบุกเข้าโรงงานเพื่อกันไม่ให้เจ้าของย้ายเครื่องจักรออกไป ไม่นานหลังจากนั้น กลุ่มคนงานประมาณ 20 คนเสนอให้คนงานดำเนินการผลิตกันเอง หลังจากหารือชั่วระยะสั้น ๆ คนงานส่วนใหญ่ก็ลงมติว่า นี่เป็นหนทางเดียวที่จะหารายได้มาจุนเจือตัวเองและครอบครัว
เดินหน้าต่อไป
ในวันที่ 2 มีนาคม 2002 โรงงานเริ่มดำเนินการอีกครั้ง โดยเปิดสายพานการผลิตแค่เส้นเดียว
ในระยะเริ่มแรก คนงานตัดสินใจทำการผลิตเพียงแค่ 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมดที่เคยมีอยู่
แล้วค่อย ๆ เพิ่มการผลิตทีละน้อยเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์
หลังจากนั้น ด้วยการระดมสมองเพื่อปรับปรุงผลผลิต และด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ภายในเวลาแค่ปีเดียว คนงานสามารถดำเนินการผลิตได้มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตในอดีต ถึงตอนนี้ คนงานกำลังมองหาลู่ทางส่งออกกระเบื้องอีกครั้ง ทั้งยังได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร เพราะกำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นถูกใช้ไปเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริจาคให้ชุมชน
ก่อนการยึดโรงงาน คนงานบางคนได้รับค่าแรงมากกว่าคนงานอื่น ๆ ถึงสองเท่า เดี๋ยวนี้ทุกคนได้ค่าแรงเท่ากันหมด (800 เปโซ หรือประมาณหนึ่งหมื่นบาทเศษ ๆ ซึ่งถือเป็นเงินเดือนในระดับดีที่เนวเก้น) คนงานบอกว่ารู้สึกเครียดน้อยลง เพราะสามารถหยุดพักได้เมื่อมีเหตุจำเป็น และอุบัติเหตุในโรงงานที่เคยเกิดขึ้นบ่อย ๆ ตอนนี้กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก
ก็เหมือนกับที่โปสเตอร์ใบหนึ่งในโรงงานเขียนไว้ว่า "ตอนนี้ไม่มีเจ้านายแล้ว ความปลอดภัยจึงเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน"
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
เรียบเรียงจาก: Jim Straub, "Argentina's Piqueteros and Us," Tomdispatch.com, March 02, 2004. (จิม สเตราบ์เป็นนักเคลื่อนไหวจัดตั้งองค์กรที่มีพื้นเพอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอยู่ในอเมริกาใต้)Ginger S. Gentile, "Argentine Lessons," Znet, March 08, 2004. (สมัยที่เป็นนักศึกษา จิงเจอร์เป็นนักกิจกรรมในกลุ่ม United Students Against Sweatshops ปัจจุบันทำงานในโครงการจัดตั้งองค์กรชุมชนที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา)
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน A Day Weekly
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ปีเกเตโรส์มีวิธีการและข้อเรียกร้องอะไรบ้าง? ขบวนการใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า cortas de ruta นั่นคือ การปิดถนน เพื่อสร้างแรงกดดันให้ข้อเรียกร้องประสบผล เนื่องจากชุมชนแออัดที่พวกเขาอยู่อาศัยมักอยู่ตามชานเมือง มันจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการปิดสกัดการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ โดยเข้าไปยึดและปิดถนนหลวงหรือสะพานสายหลัก พวกเขาเผายางรถยนต์เพื่อใช้เป็นป้อมกำบัง ใช้ท่อนไม้กับหน้ากากป้องกันตัวจากตำรวจ การปิดถนนเช่นนี้กลายเป็นปฏิบัติการทางตรงที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด แม้ว่าต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบและการต่อสู้อย่างมีวินัยและอดทนก็ตาม ด้วยยุทธวิธีปิดถนน ขบวนการปีเกเตโรส์สามารถจี้เข้าไปที่จุดเปราะบางของระบบเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา นั่นคือ การขนส่งสินค้า