The Midnight University
ทางตันของแนวคิดเสรีนิยมใหม่
การท้าทายเสรีนิยมใหม่
และใครหาว่าทุนนิยมปฏิเสธไม่ได้
ภัควดี
วีระภาสพงษ์
นักแปลและนักวิชาการอิสระ
หมายเหตุ
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นการเรียบเรียงการอภิปรายและงานวิชาการของ คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกัน
เกี่ยวกับการปฏิเสธแนวคิดเสรีนิยมใหม่และลัทธิทุนนิยมโลก
โดยทางกองบรรณาธิการได้นำข้อมูลมาจากประชาไทออนไลน์ และได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น
๒ เรื่องดังนี้
๑. มาร่วมกันท้าทายเสรีนิยมใหม่ ๒. ละตินเลี้ยวซ้าย ใครว่าทุนนิยมปฏิเสธไม่ได้
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 840
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
9.5 หน้ากระดาษ A4)
การท้าทายเสรีนิยมใหม่
และใครหาว่าทุนนิยมปฏิเสธไม่ได้
ภัควดี วีระภาสพงษ์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักคิด นักแปลอิสระผู้เฝ้าติดตามการรุกคืบของ 'ลัทธิเสรีนิยมใหม่'
ทั่วโลก กล่าวในเวทีเสวนา "จาก WSF ถึง WTO
: มาร่วมกันทายท้าเสรีนิยมใหม่" ที่ห้องประชุม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา
การอภิปรายนี้มีขึ้นเนื่องจากจะมีการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ
รอบที่ 6 ที่จัดให้มีขึ้นที่เชียงใหม่ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคมนี้
(เรียบเรียงโดย'ประชาไท' และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ส่งบทเรียบเรียงให้ผู้อภิปรายตรวจทานแล้ว)
1. มาร่วมกันท้าทายเสรีนิยมใหม่
ความจริง การค้าในโลกเกิดมานานแล้ว ระบบตลาดของมนุษย์มีอยู่มานมนาน แต่มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นตลาดเสรี
ตลาดเสรีไม่ได้สร้างความมั่งคั่งให้โลกได้จริง มีแต่ว่าความพยายามที่เปิดเสรีมักนำมาซึ่งหายนะ
เมื่อมีการยกเลิกมาตรฐานทองคำเมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 20 สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ
การเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะการเกิดลัทธินาซีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามตอบโต้การเปิดเสรีของเศรษฐกิจ
เป็นการตอบโต้เชิงนโยบาย คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เขาจะบอกว่า การค้าเสรีเมื่อเปิดแล้วสิ่งที่ตามมามักเป็นความหายนะเสมอ
ในขณะที่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในโลกที่เกิดขึ้น ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้ว มักจะเกิดมาจากการวางแผนและการสนับสนุนของรัฐบาล นั่นคือ มีการศึกษาและวางแผนว่า ภาคเศรษฐกิจไหนมีศักยภาพที่จะเติบโต มีการวางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางไหน ฉะนั้น การวางแผนและการปกป้องต่างหาก ที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งขึ้นมาในสังคมของแต่ละประเทศ การค้าเสรียังไม่เคยพิสูจน์ได้เลยว่าสร้างความมั่นคงได้จริง
"การค้าเสรี" คือการครอบงำวิธีคิดของมนุษย์ในปัจจุบันเกือบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และคำว่า "การค้าเสรี" ที่เรียกกันในปัจจุบัน มันไม่ได้เสรีจริง ยกตัวอย่างในเรื่อง 'ทริปส์' นี้ อยากชี้ให้เห็นว่า มันมีความขัดแย้งในตัวเองสูงมาก เพราะถ้าเสรีจริง ทำไมต้องจดสิทธิบัตร ถ้ามันเสรีและดีจริง ทำไมไม่เปิดเสรีไปเลย? ทำไมต้องการผูกขาดเอาไว้แบบนี้ และนับวันจะมีแต่เรียกร้องขอผูกขาดมากขึ้นกว่าเดิม
การค้าเสรีในปัจจุบันอาศัย WTO กับ FTA เป็นตัว "บังคับ" ให้มีการเปิดเสรีขึ้นมา คนที่ได้ผลประโยชน์จริง ๆ จากการค้าเสรี ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศร่ำรวย ประเทศยากจน แต่การค้าเสรีจะให้ประโยชน์เฉพาะชนชั้นได้เปรียบทางเศรษฐกิจระดับสูงเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก ก็ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีเหมือนกัน อย่างเช่น ในอเมริกาตอนนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า มีโลกที่สามทับซ้อนอยู่ในโลกที่หนึ่ง มีคนจนอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยมหาศาลอย่างสหรัฐฯ ในยุโรปก็เหมือนกัน ตอนนี้ยุโรปตะวันออกถูกทำให้กลายเป็นโลกที่สาม เพื่อป้อนวัตถุดิบ สินค้าราคาถูก และแรงงานราคาถูกให้แก่โลกที่หนึ่ง นั่นคือ ยุโรปตะวันตก
ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาไม่นาน และมันมีความแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ระบบเสรีนิยมใหม่แตกต่างจากระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ตรงที่ในสมัยก่อน ระบบเศรษฐกิจเกือบทุกประเภทในโลก เป็นระบบเศรษฐกิจที่ถูกฝังไว้ในระบบสังคม นั่นคือมันมีการกำกับดูแล กระบวนการทางเศรษฐกิจทั้งหมดถูกฝังอยู่ในระบบสังคมที่ประกอบไปด้วยวัฒนธรรม ศาสนา ระบบการปกครอง หรืออะไรก็แล้วแต่ สถาบันทางสังคมเข้ามากำกับดูแลระบบเศรษฐกิจเสมอ
ลัทธิเสรีนิยมใหม่ น่าจะเป็นแนวคิดหรือลัทธิทางเศรษฐกิจอันแรกและอันเดียวของโลกเลยที่ต้องการแยกระบบเศรษฐกิจออกมาจากระบบสังคม คือยกเลิกการกำกับดูแลทั้งหมด และไม่ยอมให้สถาบันทางสังคมใดๆ เข้ามาแทรกแซงด้วย
เมื่อระบบตลาดที่ไม่มีการกำกับดูแลขยายตัวจนถึงระดับสูงสุดแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ มันจะดูดเอาระบบสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน กล่าวคือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่พยายามทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับระบบเศรษฐกิจในอดีตทั้งหมด นั่นคือ มันจะทำให้ระบบสังคมถูกฝังลงในระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะกลายเป็นตัวที่กำกับสถาบันทางสังคมแทน
- แรงงาน มนุษย์ไม่ควรเป็นสินค้า เพราะมนุษย์เป็นระบบกายภาพที่รองรับการดำรงอยู่ของตลาด หมายความว่า ตลาดต้องรับใช้มนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์รับใช้ตลาด แต่การที่มนุษย์กลายเป็นแรงงาน ก็หมายความว่า มนุษย์เป็นสินค้าในตลาด มนุษย์ถูกทำลายคุณค่า การที่มนุษย์ถูกทำลายก็เท่ากับตลาดกำลังถูกทำลายลงเช่นกัน
- ที่ดิน ที่ดินไม่ควรเป็นสินค้า เพราะที่ดินคือธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นระบบกายภาพที่รองรับทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดไว้ แต่เมื่อถูกดูดเข้าไปอยู่ในระบบตลาด ที่ดินก็กลายเป็นสินค้าที่ถูกนำมาใช้อย่างหมดเปลืองไปได้ ซึ่งเท่ากับว่า ระบบตลาดมีความขัดแย้งในตัวเอง มันกำลังทำลายระบบกายภาพที่รองรับการดำรงอยู่ของตัวตลาดเอง
- เงิน เพราะเงินเป็นสิ่งสมมุติ มันเป็นเพียงแค่สื่อกลางของการแลกเปลี่ยน แต่เมื่อเงินกลายเป็นสินค้า มันจะทำลายระบบตลาดลงเช่นกัน เพราะมันไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนในภาคการผลิตจริง ทุนในโลกตอนนี้ทุ่มเทไปอยู่ในตลาดหุ้นหรือภาคการเงิน มันไม่ได้สร้างการผลิตที่แท้จริงขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ ตอนนี้ทรัพยากรทุนส่วนใหญ่ในโลกไปกระจุกอยู่ที่ตลาดหุ้นที่เป็นตลาดของเงิน จนกระทั่งภาคการผลิตจริงไม่เติบโต ทั้งนี้เพราะว่าการเก็งกำไรทางการเงินทำให้เกิดผลกำไรมากกว่า
ประการที่สอง
ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำให้กิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ที่ไม่เคยเป็นสินค้าและไม่ควรเป็นสินค้า
ต้องกลายเป็นสินค้า เช่น การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ วิทยาศาสตร์ สุขภาพอนามัย
วัฒนธรรม พันธุกรรม เพศ ฯลฯ กลายเป็นสินค้าในตลาด
ประการที่สาม เมื่อทำให้ทุกอย่างข้างต้นกลายเป็นสินค้าไปแล้ว
ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็ทำให้กาละและเทศะกลายเป็นสินค้า กาลเวลาที่กลายเป็นสินค้าก็คือ
การเก็งกำไร การซื้อสินค้าล่วงหน้า พันธบัตร การประกันราคา ตราสารอนุพันธ์
ฯลฯ เทศะที่กลายเป็นสินค้า เช่น น่านน้ำ น่านฟ้า วงโคจรดาวเทียม อวกาศ การโยกย้ายแหล่งผลิตไปสู่สถานที่ที่มีค่าแรงต่ำสุด
เป็นต้น
ประการสุดท้าย คือการกำหนดนโยบายในทุกสังคม หมายความว่า ทุกประเทศจะต้องยอมรับโครงสร้างของตลาดในระบบทุนนิยม ทุกประเทศจะต้องปรับรื้อสถาบัน องค์กรดั้งเดิมของตนเอง ตลาดจะครอบครองความเป็นใหญ่ในกำหนดนโยบายสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากล
สถาบันต่าง ๆ จะต้องปรับรื้อตัวเองให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของตลาดทุนนิยม หรือเสรีนิยมใหม่ หมายความว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ จะเข้าไปครอบงำกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ทั้งหมด เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้ เรามักจะมองทุกอย่างโดยตัดสินจากแง่คิดมุมมองทางเศรษฐกิจเท่านั้น เช่น วัฒนธรรม จะมีคุณค่า มีความหมาย ก็ต่อเมื่อมันขายได้หรือก่อผลกำไรทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีการเอาวัดไปเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรามองทุกอย่างด้วยแง่มุมทางเศรษฐกิจเท่านั้น ละเลยแง่มุมอื่น ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ไปแทบทั้งหมด
ยกตัวอย่างเช่น
ข้าว ตอนนี้เรามองมันแค่เป็นสินค้าส่งออก แต่ความจริง ข้าว มีมิติในด้านอื่น
ๆ อีกมาก เช่น ข้าวมีมิติในด้านการเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ข้าวมีมิติในแง่ของการเป็นยุทธปัจจัย
ดูจากสมัยก่อนที่ข้าวและเกลือจะเป็นสินค้าควบคุม ฯลฯ แต่ทุกวันนี้ เรามองทุกสิ่งทุกอย่างผูกติดกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
ขอย้อนกลับไปพูดถึงเรื่อง WTO และ FTA ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำให้เกิด FTA และ
WTO ขึ้นมา WTO นี้ส่งผลกระทบมากมาย แต่การเกิดของ WTO ก็มีปัญหาในตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามไปก็คือ
WTO นั้น ถ้ามองในแง่ของนักกฎหมายระหว่างประเทศ WTO เป็นองค์การที่ผิดกฎหมาย
มันเกิดขึ้นอย่างผิดกฎหมาย
WTO เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1994 หลังจากการลงนามในข้อตกลงทางเทคนิค โดยที่การเจรจาทั้งหมดเป็นการประชุมลับ แม้แต่หัวหน้าคณะตัวแทนของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการตกลงครั้งนั้น ก็ยังไม่รู้เลยว่า กฎข้อบังคับทั้งหมดของ WTO จะมีอะไรบ้าง แต่ว่าไปเซ็นสัญญาผูกมัดตนเองไปแล้ว แต่ยังไม่เคยรู้เลยว่าเนื้อหาของสัญญานั้นมีอะไร
เมื่อตั้ง WTO ขึ้นมาแล้ว WTO ไม่เคยผ่านการรับรองจากประชาชน ส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านแม้กระทั่งสภาผู้แทนราษฏรของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก คือไม่เคยนำเอาข้อตกลง WTO ทั้งหมดนี้มาเปิดให้มีการทำประชามติ หลายๆ ประเทศที่เป็นสมาชิก ก็ไม่เคยนำข้อตกลงผ่านมติรัฐสภาในประเทศของตัวเองด้วยซ้ำ. ถ้าเอาเนื้อหาข้อตกลงของ WTO มาผ่านการลงประชามติ หรือผ่านสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปได้ที่ WTO จะไม่ผ่านประเทศไหนในโลกเลย นั่นหมายความว่า นี่เป็นองค์กรที่ก่อตั้งมาโดยที่ไม่เคยมีประชาชนที่ไหนในโลกยอมรับ
WTO ในปัจจุบันเป็นองค์การอิสระ ที่มีสถานะเหมือนสหประชาชาติ แต่ในขณะเดียวกัน มันแตกต่างจากองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตรงที่ว่า WTO มีอำนาจบังคับกฎทางการค้าของตนด้วย นอกจากนี้ ยังมีอำนาจที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในของประเทศสมาชิกก็ได้ด้วย
WTO จึงเป็นองค์กรที่มีลักษณะเผด็จการมากที่สุดองค์กรหนึ่งในโลก เผด็จการทั้งในแง่ความคิด เพราะดูอย่างกรรมการตัดสินคดีพิพาททางการค้าของ WTO เขาจะเลือกเฉพาะกรรมการที่มีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับการค้าเสรี และจะมีแต่ผู้เชี่ยวชาญทางการค้าเท่านั้น ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ เข้ามาเป็นกรรมการตัดสินคดีพิพาททางการค้าเลย ไม่มีข้อบังคับให้กรรมการพวกนี้หาข้อมูล หรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก และไม่รับฟังความคิดเห็นของฝ่ายที่สาม เช่น องค์กรประชาชน ด้วย
ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น ศาลโลก จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ WTO จะไม่รับฟังเลย เมื่อพิจารณาคดีออกมาแล้ว มันจะมีการอุทธรณ์ได้ 1 ครั้ง เมื่ออุทธรณ์แล้วแพ้หรือชนะถือว่าเด็ดขาด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก หลังจากนั้นประเทศคู่กรณีก็จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศของตัวเองให้สอดคล้องกับการตัดสิน
วิธีการของ WTO จึงเป็นการเข้าไปทำลายอำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ ทำให้เราไม่มีสิทธิที่จะกำหนดนโยบาย หรือชะตากรรมของตนเอง คำถามต่อมาคือ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะมีรัฐบาลไปทำไม? ถ้าอย่างนั้น เราไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเลยก็ได้ เพราะสมมติประชาชนไทยพร้อมใจกันเลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจนชุดหนึ่งเข้าไปเป็นรัฐบาล แต่ถ้านโยบายชุดนั้นขัดกับกฎการค้าของ WTO นโยบายชุดนั้นก็ไม่มีวันนำมาใช้ปฏิบัติได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ ต่อไปการมีรัฐบาล การเลือกตั้ง กระบวนการทางการเมืองทั้งหมด จะไม่มีความหมายอะไรเลย
สรุป
ข้อตกลงการค้าเสรี ไม่ว่า WTO หรือ FTA ผู้ที่จะได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้น
แต่จะรวมไปถึงชนชั้นกลางและคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ เพราะจะกระทบต่อทุกๆ ด้าน
ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าด้านการศึกษา ที่จะถูกต่างชาติเข้ามาจัดการระบบการศึกษา
ตั้งสถานศึกษาแข่งขันกับสถานศึกษาของไทยได้ แม้กระทั่งพันธุ์พืช ที่จะถูกต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนเป็นของตัวเอง
หรือการเข้ามาจัดการป่าสงวน เพื่อทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ดังที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งวนอุทยานแห่งชาติหลายแห่งของสหรัฐฯ ถูกบริษัทดิสนีย์เข้ามาดูแลจัดการ การแปรรูปพิพิธภัณฑ์ให้เอกชนจัดการ การแปรรูปคุก รวมทั้งการแปรรูปน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโบลิเวีย ซึ่งมีปัญหาจนถึงขั้นที่ว่า แม้แต่น้ำฝน ชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิ์รองไว้ใช้ มีกรณีที่นายทุนไล่รื้อรางรองรับน้ำฝน เนื่องจากน้ำฝนกลายเป็นทรัพย์สินของบริษัท ตามการตีความในข้อตกลงที่ระบุว่า บริษัทที่รับแปรรูปน้ำมีสิทธิ์ "ในการจัดการแหล่งน้ำ" ดังนี้เป็นต้น
2. ละตินเลี้ยวซ้าย
: ใครว่าทุนนิยมปฏิเสธไม่ได้
(หมายเหตุ บทความนี้เดิมชื่อ : อีกก้าวนอกกรอบ : โฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของชิลีและโบลิเวีย)
การหันเหทิศทางเลี้ยวซ้ายของรัฐบาลหลายประเทศ ในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ไม่ได้สร้างมิติใหม่ในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังฉีกกรอบค่านิยม วัฒนธรรมและความเคยชินเดิมๆ
ลงอย่างสิ้นเชิง การทดลองครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม แต่มันแสดงให้เห็นว่า
ประชาชนในภูมิภาคนี้ พร้อมแล้วที่จะบุกเบิกเส้นทางใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาซ้ำซากที่หมักหมมมานานเหลือเกิน
ชิลี:
พลังของผู้หญิง
ครั้งหนึ่ง มีคนเคยตั้งคำถามกับการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียว่า
มนุษยชาติควรทำอย่างไรเพื่ออยู่รอดในศตวรรษที่ 21 มาร์เกซตอบว่า หนทางเดียวที่จะรักษามนุษยชาติให้รอดพ้นได้ในศตวรรษใหม่ก็คือ
ต้องให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทจัดการโลก เขากล่าวย้ำด้วยว่า "ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องความเป็นความตายทีเดียว"
ราวกับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในชิลีจะตระหนักถึงเรื่องนี้ มิเชล แบชเชเลต์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศชิลี แม้ว่าเธอจะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนที่สามของละตินอเมริกา แต่เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในภูมิภาคนี้ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยตัวเอง โดยไม่ได้มีสามีที่เป็นประธานาธิบดีหรือนักการเมืองมาก่อน ในรัฐบาลชุดที่แล้ว แบชเชเลต์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นผู้หญิงคนแรกเช่นกัน
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของแบชเชเลต์นั้น ความเป็นผู้หญิงยังไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สุด สังคมชิลีเป็นสังคมหัวโบราณ ผู้ชายเป็นใหญ่ เคร่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างมาก ถึงขนาดที่กฎหมายการหย่าร้างเพิ่งออกมาใช้เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ตัวมิเชล แบชเชเลต์นั้นจัดว่าฉีกกรอบค่านิยมในชิลีอย่างกระจุยกระจาย นอกจากเธอเป็นผู้หญิง เธอยังเป็นนักสังคมนิยมที่ประกาศชัดเจนว่าไม่ได้นับถือศาสนา มิหนำซ้ำ เธอยังเป็นแม่ของลูก 3 คน ที่เกิดจากสามี 2 คนที่ไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี และปัจจุบันเธอมีสถานภาพโสด
แบชเชเลต์เป็นเหยื่อคนหนึ่งของระบอบเผด็จการภัยสยองในยุคนายพลปิโนเชต์ บิดาของเธอเป็นทหารอากาศที่ต่อต้านการรัฐประหารที่ล้มล้างประธานาธิบดีอัลเยนเด เขาจึงถูกจับและเสียชีวิตในคุก แบชเชเลต์ในวัย 22 และมารดาถูกจับ ถูกทรมาน และต้องลี้ภัยไปอยู่ในออสเตรเลียและเยอรมันตะวันออก
เมื่อกลับมาชิลีและก้าวเข้าสู้เส้นทางการเมือง เธอได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเพื่อประสานรอยร้าวระหว่างกองทัพและภาคประชาสังคม เธอทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี
แม้ว่าแบชเชเลต์ประกาศจะดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมเช่นเดียวกับรัฐบาลก่อน แต่นโยบายที่เธอหาเสียงไว้ก็มีน้ำหนักทางด้านสวัสดิการสังคม เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เธอสัญญาไว้ในการหาเสียงด้วยว่า จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีผู้หญิงกับผู้ชายดำรงตำแหน่งครึ่งต่อครึ่ง และเธอก็ทำตามที่สัญญาไว้
แบชเชเลต์ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้หญิง 10 คนและผู้ชาย 10 คน ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญที่ผู้หญิงจะได้เข้ามากุมนโยบายก็คือ กระทรวงกลาโหม, เสนาธิการเหล่าทัพ, กระทรวงเศรษฐกิจ, กระทรวงวางแผนและนโยบาย และกระทรวงสาธารณสุข
แบชเชเลต์พยายามแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เฉลี่ยกันไปในพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสร้างความสมดุล โดยยังรักษาแนวทางซ้ายกลางเอาไว้ เธอกล่าวว่า "รัฐมนตรีชุดนี้เป็นตัวแทนของก้าวย่างครั้งประวัติศาสตร์ที่มุ่งสู่ความเท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง" ประธานาธิบดีแบชเชเลต์และคณะรัฐมนตรีจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 11 มีนาคม 2549
โบลิเวีย:
พลังของชนพื้นเมืองและองค์กรรากหญ้า
เอโว โมราเลส ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองเผ่าไอมารา ผู้นำกลุ่มเกษตรกรปลูกโคคา
สร้างประวัติศาสตร์การเป็นชาวพื้นเมืองคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของโบลิเวีย
เขาได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของโมราเลสสร้างความวิตกไม่น้อยแก่ประเทศทุนนิยมในตะวันตก
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
สื่อมวลชนประโคมข่าววิจารณ์ความเป็น "ซ้ายจัด" ของโมราเลส รวมทั้งวิจารณ์ไปถึงเรื่องที่โมราเลสมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำ เพราะชาวพื้นเมืองผู้นี้ไม่เคยแม้แต่เข้าโรงเรียนไฮสกูล ขาดประสบการณ์ในการบริหาร และพอเขาประกาศคณะรัฐมนตรีออกมา นิตยสาร The Economist ก็ออกมาวิจารณ์ทันที
คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของโมราเลสประกอบด้วยชาวพื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาจากแวดวงที่ไม่ใช่นักการเมืองโดยสิ้นเชิง แต่เฟ้นหามาจากนักวิชาการ กลุ่มองค์กรและขบวนการรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อนำโบลิเวียไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และโมราเลสเองก็ขนานนามคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ว่า "คณะรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง" ด้วย
บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งสำคัญ มีอาทิเช่น อันเดรส โซลิส ราดา นักกฎหมายและนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อสู้เพื่อโอนกิจการด้านพลังงานกลับมาเป็นของชาติมายาวนาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ. วอลเตอร์ วีญาโรเอล ผู้นำสหกรณ์คนงานเหมืองแร่ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่. นีลา เอเรเดีย นักกิจกรรมด้านสังคมและสาธารณสุข เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข. อาเบล มามานี ผู้นำการต่อสู้เพื่อคัดค้านการแปรรูปน้ำในเมืองลาปาซ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำ
แต่ที่สร้างสีสันและความฮือฮามากที่สุด คงเป็นคาสซิมิรา โรดิเกซ เธอสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในชุดพื้นเมือง ไว้ผมเปียที่ยาวถึงหลัง เป็นรูปลักษณ์ที่ไม่แตกต่างจากผู้หญิงชาวพื้นเมืองทั่วไปในโบลิเวีย. ประสบการณ์ในชีวิตของโรดิเกซก็ไม่แตกต่างจากผู้หญิงชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ เธอเป็นชาวอินเดียนแดงเผ่าเกชัว ตอนอายุ 13 เธอถูกพาจากหมู่บ้านในชนบทมาอยู่เมืองโคชาบัมบา เพราะคล้อยไปกับคำสัญญาว่า เธอจะทำงานแลกกับการได้เรียนหนังสือ แต่สิ่งที่เธอประสบคือการถูกบังคับให้ทำงานบ้านเหมือนทาสโดยไม่ได้ค่าแรง และถูกนายจ้างทำร้ายเป็นประจำ จนกระทั่งหนีออกมาได้ในอีกสองปีต่อมา
การกดขี่ทางเศรษฐกิจและเชื้อชาติ ทำให้ผู้หญิงเผ่าเกชัวและไอมาราส่วนใหญ่ ต้องอพยพจากชนบทเข้ามาทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้านในเมือง โรดิเกซกลายเป็นนักกิจกรรมสังคมจนได้รับเลือกตั้ง เป็นเลขาธิการสหพันธ์แรงงานบ้านสตรีแห่งละตินอเมริกาและแคริบเบียน เธอต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานรับใช้ในบ้าน ซึ่งมีอยู่มากกว่า 132,000 คน ทั่วโบลิเวีย ด้วยวัยเพียง 39 ปี เธอเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อถูกถามว่า เธอมีความรู้พอที่จะทำงานนี้ได้ดีหรือไม่ โรดิเกซอธิบายอย่างเรียบง่ายว่า "ในการผดุงความยุติธรรมนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายหรอก"
โมราเลสกล่าวในวันปฏิญาณตนว่า "นี่คือคณะรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลงชุดแรก เลือกสรรขึ้นมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและสังคมในประเทศนี้"
แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการศึกษาและขาดประสบการณ์ แต่เอโว โมราเลสก็ทำสิ่งที่น่าสนใจมากตั้งแต่รู้ว่าได้รับเลือกตั้งแน่นอน เขาใช้ชัยชนะของตนอย่างชาญฉลาดไม่น้อย ตั้งแต่ก่อนเข้าสาบานตนด้วยซ้ำ โมราเลสก็ออกเดินทางไปถึง 4 ทวีปเพื่อสร้างข้อตกลงในระดับนานาชาติ เขาขอความช่วยเหลือในการยกเลิกหนี้สินจากสเปน ขอโครงการด้านการอ่านออกเขียนได้จากคิวบา (คิวบาช่วยเหลือเวเนซุเอลาสำเร็จมาแล้วในเรื่องนี้) ทำข้อตกลงด้านการค้ากับจีน ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการพัฒนาน้ำมันและก๊าซจากบราซิล และทำข้อตกลงแลกถั่วเหลืองกับน้ำมันดีเซลจากเวเนซุเอลา
ดังนั้น ตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โมราเลสก็ลงมือหาทางแก้ปัญหาด้านการเงิน การศึกษา การค้า เทคโนโลยีและพลังงาน ไม่น่าแปลกใจที่คะแนนนิยมหลังเลือกตั้งของเขาพุ่งสูงขึ้นถึง 74%
แน่นอน หนทางข้างหน้าของชาวพื้นเมืองโบลิเวียย่อมไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันยังเต็มไปด้วยขวากหนามอีกมาก ก้าวครั้งนี้แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ ของชาวโบลิเวีย แต่มันก็เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่มากของชาวพื้นเมืองและองค์กรรากหญ้า
ไม่ใช่แค่เลี้ยวซ้าย
ภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ไม่ใช่แค่เลี้ยวซ้าย แต่ผู้คนในภูมิภาคนี้ยังเต็มใจทดลองในสิ่งใหม่ๆ
ที่ต่างไปจากความเคยชินเดิมๆ แม้กระทั่งในชิลีที่ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ชาวชิลีที่เคยหัวโบราณก็ยังพร้อมที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่
ละตินอเมริกาที่เคยเป็นสนามทดลองลัทธิเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว
หลายประเทศที่มหาเศรษฐีนักธุรกิจเคยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำบนความคาดหวังของประชาชนว่า นายทุนเหล่านี้จะนำพาชาติสู่ความรุ่งเรืองทางวัตถุ บัดนี้ดูเหมือนประชาชนในภูมิภาคแทบจะพร้อมใจกันหันไปหาทางเลือกใหม่ ประเทศแล้วประเทศเล่าที่นายทุนนักการเมืองในชุดสูทหรูหราต้องพ่ายแพ้แก่สามัญชนคนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นชิลี โบลิเวีย เวเนซุเอลา บราซิล อุรุกวัย และที่กำลังจะตามมาคือเปรู และเม็กซิโก
การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเปรูที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน เป็นที่คาดหมายกันว่า โอญันตา อูมาลา นายทหารชาวพื้นเมืองที่เคยพยายามทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายฟูจิโมริเมื่อปี ค.ศ. 2000 น่าจะได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก
ส่วนการเลือกตั้งในเม็กซิโกที่จะมีขึ้นในปีนี้เช่นกัน คาดว่านายอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ แห่งพรรค PRD ที่ถือเป็นพรรคฝ่ายซ้ายจะได้รับการเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเม็กซิโกน่าสนใจอย่างยิ่ง รองผู้บัญชาการมาร์กอสและขบวนการซาปาติสตาวิจารณ์ว่า โอบราดอร์ไม่ใช่ฝ่ายซ้ายที่แท้จริง และไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
ตอนนี้ซาปาติสตากำลังรณรงค์การเมืองในแนวทางใหม่ในชื่อว่า "The Other Campaign" เพื่อสร้างการเมืองทางเลือกคู่ขนานขึ้นมาคานกับการเมืองกระแสหลัก โดยรองผู้บัญชาการมาร์กอสใช้ฉายานามใหม่ชั่วคราวว่า 'ผู้แทนหมายเลขศูนย์' (Delegate Zero) และออกเดินทางไปทั่วประเทศเม็กซิโกเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อพบปะกับประชาชนและองค์กรรากหญ้า เป็นการปฏิบัติการเมืองแนวใหม่ที่เรียกว่า 'การเมืองของการรับฟัง' (Politics of Listening) เพราะแค่โวหารทางการเมืองฝ่ายซ้ายนั้นย่อมไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่แท้จริง
14 กุมภาพันธ์ 2549
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของแบชเชเลต์นั้น ความเป็นผู้หญิงยังไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สุด สังคมชิลีเป็นสังคมหัวโบราณ ผู้ชายเป็นใหญ่ เคร่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างมาก ถึงขนาดที่กฎหมายการหย่าร้างเพิ่งออกมาใช้เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ตัวมิเชล แบชเชเลต์นั้นจัดว่าฉีกกรอบค่านิยมในชิลีอย่างกระจุยกระจาย นอกจากเธอเป็นผู้หญิง เธอยังเป็นนักสังคมนิยมที่ประกาศชัดเจนว่าไม่ได้นับถือศาสนา มิหนำซ้ำ เธอยังเป็นแม่ของลูก 3 คน ที่เกิดจากสามี 2 คนที่ไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี และปัจจุบันเธอมีสถานภาพโสด