นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University




ปัจจุบันและอนาคต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
พิเคราะห์พิจารณ์: สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน
รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้
เป็นการถอดเทปเรียบเรียงจากการบรรยายหัวข้อ
"สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต"
จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชียงใหม่
วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 841
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 26 หน้ากระดาษ A4)



พิเคราะห์แห่งพิเคราะห์ พิจารณ์แห่งพิจารณ์: สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน
เรียบเรียงจากคำบรรยายของ รองศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ถอดเทปเรียบเรียงจากการบรรยายหัวข้อ "สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต"
ของรองศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ ในโครงการมลายูศึกษา
จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชียงใหม่, ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙

กล่าวนำ
วันนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของหลักสูตรมลายูศึกษาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งทำมาทั้งหมด 6 ครั้งด้วยกัน ตลอดเดือนมกราคมนี้ สำหรับเมื่อวานนี้ก็คือ ท่านอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ พูดถึงเรื่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายู พูดถึงประวัติศาสตร์ที่ไล่เรียงมาเกี่ยวกับการพัฒนาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมาตลอด จนมาสิ้นสุดการเกิดเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับวันนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันของสัปดาห์ คือสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งจะเสนอโดย ท่าน อ.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้เกียรติ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มาให้ความรู้กับพวกเรา

อ.เกษียร เตชะพีระ
สวัสดีครับ ผมคงเริ่มโดยการบอกให้รู้ก่อนว่าที่ผมจะทำบ่ายนี้มีอะไรบ้าง หัวข้อที่ตั้งคือ สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต โจทย์ที่ละเอียดไปกว่านั้น อ.นิธิ ได้ส่งจดหมายถึงผม และบอกว่าที่อาจารย์หวังว่าจะให้ผมขึ้นมาช่วยคุยมี 3 เรื่องใหญ่ ๆ

1.ทฤษฎีหรือความเห็นต่าง ๆ ที่ใช้อธิบายสถานการณ์ในภาคใต้ปัจจุบันทั้งที่ผลิตในประเทศและจากต่างประเทศ ประเมินทฤษฎีเหล่านั้น และอาจารย์เองมีความคิดเห็นที่เป็นของตัวเองอย่างไร ก็คือทฤษฎีที่อธิบายปัญหาภาคใต้ทุกวันนี้มีอะไรบ้างทั้งในและนอกประเทศ

2. อาจารย์คิดว่าโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่พอเป็นไปได้ภายใต้รัฐไทยอย่างไรจึงจะเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนขึ้นมาในภาคใต้บ้าง ก็คือทางออกที่เป็นไปได้ ที่จะคืนสันติสุขให้ภาคใต้

3.ในขณะเดียวกันก็อยากให้อาจารย์แถมพกด้วยว่ามีมิสเมเนจเมนท์ (mismanagement) คือการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ถ้ายังมีต่อไปในระยะยาวแล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

เป็นธรรมเนียมเลยครับว่าทาง ม.เที่ยงคืน กับผมตั้งแต่รู้จักกันมาก็มีกิจกรรมร่วมกันเป็นบางครั้ง ทุกครั้งที่ชวนขึ้นมามันไม่เคยง่ายเลย หนนี้ก็ยากมากๆ คือโจทย์ที่ตั้งมาผมเห็นความสำคัญและน่าสนใจ และพูดตรง ๆ ว่า ในกองข้อมูลที่ผมเริ่มสะสมเก็บตั้งแต่เกิดปัญหาปล้นปืนภาคใต้เมื่อปี 47 มีตัวงาน มีกองหนังสือ ในคอมพิวเตอร์มีไฟล์ที่ดาวโหลดมา บรรดาคำอธิบายต่างประเทศ ไม่ว่าของ ICG - International Crisis Group, หรือของนักวิจัยบางรายที่คิดว่าโยงกับซีไอเอ หรือของ Amnesty International ผมเห็นอยู่ว่าถ้าจะตอบโจทย์พวกนี้ ต้องอ่านงานเหล่านั้นทั้งหมดและสังเคราะห์ แต่มันไม่ไหว

คือตอนที่ผมทราบข่าวจนมาถึงปัจจุบันประมาณ 1 เดือน คือรู้ตัวว่าเกินกำลังสุดวิสัย ปัจจุบันนอกจากเรื่องนี้แล้ว ผมมี NPL จำนวนมาก นี่เป็นศัพท์อาจารย์อัมมาร ก็คือ non-performing loan คือผมไปรับงานอิเหละเขละขละไว้เยอะ และติดค้างอยู่ ต้องแปลหนังสือ Imagined Communities บทหนึ่งเป็นต้น และผมยังพบอย่างตกใจว่าพออายุอานามมากขึ้น ชักทำงานได้ช้าลง ทีนี้ก็เลยหาทางออก

จริง ๆ แล้วหัวข้อนี้ผมนึกถึงเพื่อนอาจารย์กัลยาณมิตร คือ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งอยู่ใน กอส. ผมอ่านโจทย์แล้วนึกถึงแก ผมคิดว่าจริง ๆ คือถ้าเชิญอ.ชัยวัฒน์มาจะตรงเป้าที่สุดและคงจะทำได้มากที่สุด มีเช้าวันหนึ่งแกเดินกะปลกกะเปลี้ยเข้ามาที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมก็เข้าไปหา แกเพลียเพราะแกทำร่างรายงานกอส.ที่กำหนดต้องเสนอรัฐบาลเดือนมีนาฯ-เมษาฯปีนี้ แกทำข้ามวันข้ามคืน ช่วงปิดเทอมเมื่อเดือน ต.ค.แกทำทั้งเดือนจนป่วย พอเห็นแกป่วยผมเลยทำแกไม่ลง ก็เลยเปลี่ยนยุทธวิธี ถามแกว่าอาจารย์ช่วยให้คำชี้แนะผมหน่อยว่ามีโจทย์อย่างนี้ผมจะทำอะไรได้บ้าง

ในเมื่อผมรู้สึกว่าผมจะทำตรงตามโจทย์เต็มร้อยไม่ไหว อาจารย์ชัยวัฒน์ก็แนะ และผมก็เห็นด้วย คือแกแนะว่า มันมีบางอย่างที่คุณอาจจะทำได้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ถึงแม้จะไม่ตรงกับโจทย์เป๊ะ งานที่โจทย์ระบุให้ทำนั้นในภาษาวิชาการเขาเรียกว่าวรรณกรรมปริทัศน์หรือ literature review เอางานทฤษฎีอธิบายเหตุรุนแรงภาคใต้ทั้งหมดในและนอกประเทศมาอ่านและวิจารณ์ ซึ่งผมทำไม่ไหว ไม่สามารถทบทวน สรุป วิเคราะห์คำอธิบายสถานการณ์ภาคใต้ในประเทศ ต่างประเทศทั้งหมดเท่าที่มีได้

แต่ที่น่าจะทำได้คือลองสร้างเครื่องมือการคิดจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะช่วยจัดประเภท (categorize) ประเมินค่า (evaluate) และวิเคราะห์วิจารณ์ชุดคำอธิบายต่าง ๆ เท่าที่มีมาและจะมีต่อไปในอนาคต กล่าวคือเราคิดถึงปัญหาภาคใต้ว่ามันมีชุดคำอธิบายวิ่งเข้ามาหาเราเต็มไปหมด เรามีเครื่องมืออะไรจะไปจัดการกับมัน ที่เราจะใช้มาประเมินวิเคราะห์ วิจารณ์มันได้....

สมมติว่าเราสามารถสร้างเครื่องมือการคิดเหล่านี้ขึ้นมาได้แล้ว มีอยู่ในมือแล้ว ก็จะมีตัวช่วย เวลาเราอ่าน ฟัง เผชิญหน้า ชุดคำอธิบายต่าง ๆ เราสามารถมีเครื่องมือตัวช่วยที่จะจัดการมันได้เอง ไม่เพียงแต่จัดการเฉพาะชุดคำอธิบายเท่าที่มีมาแล้วเท่านั้น หากยังรวมถึงชุดคำอธิบายที่จะเจอต่อไปข้างหน้า ที่จะมีผู้ผลิตขึ้นมาใหม่ในอนาคตได้ด้วย พูดอีกอย่างคืออ.ชัยวัฒน์เสนอแนะว่า แทนที่จะพยายามทอดแหกว้านจับปลามาหมดทะเล ให้ผมลองคิดเครื่องมือหรือเบ็ดตกปลาที่จะสามารถเสนอแนะให้ผู้ฟังใช้ไปคัดประเภทปลาและพิจารณาปลาได้ด้วยตัวเอง

ตอนที่ทำอันนี้ ผมก็คงยกตัวอย่างคำอธิบายเท่าที่มีมาประกอบบ้างแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เพื่อเกริ่นให้ทราบ ขณะเดียวกันอีกอย่างที่ผมจะทำเพราะว่าในโจทย์ของทั้งผู้จัด บอกด้วยว่าจะฟังความเห็นผมว่า ผมคิดถึงปัญหาภาคใต้อย่างไร ในท่ามกลางทฤษฎีทั้งหลายแหล่ที่เข้ามาล้อม ผมจะเสนองานอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งผมพยามยามวิเคราะห์และอธิบายเหตุการณ์ภาคใต้และประมวลเสนอทางออกผ่านมุมมองเปรียบเทียบมุมมองเดียวที่เป็นไปได้สำหรับผม ที่พูดอย่างนี้เพราะผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่จำนวนมากคงจะเหมือนผม ก่อนจะเกิดเหตุปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาฯต้นปี ๒๕๔๗ เราไม่ได้ขบคิดเรื่องปัญหาภาคใต้จริงจังเท่าไหร่

เราอาจจะติดตามสนใจฟังข่าวคราว แต่เราไม่คิดว่าจะเป็นภารกิจหลักทางภูมิปัญญา ทางการคิดของเราในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา พอมันเกิดเราก็ตกใจ และเราก็เริ่มสำรวจค้นคว้ากันอย่างจริงจัง และก็พบว่าเรารู้เรื่องภาคใต้น้อยมาก ผมคิดว่านี่ก็เป็นประเด็นที่จุดให้ทาง ม.เที่ยงคืนเองก็คิดถึงโครงการมลายูศึกษาขึ้นมา คือพบว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาคใต้ เกี่ยวกับผู้ที่เราเคลม (claim) ว่าเป็นพี่น้องร่วมชาติเรา ที่เป็นมลายูมุสลิมนั้น เรามีน้อยเหลือเกิน เราจึงโกรธพวกเขาได้ง่ายมาก แค้นเขาได้ง่ายมาก หรือแม้กระทั่งรักเขาได้ง่ายมาก หวังดีต่อเขาได้ง่ายมาก โปรยนกกระดาษต่อเขาได้ง่ายมาก โดยที่เราไม่เข้าใจพวกเขาด้วยซ้ำไป และบางทีก่อนที่จะด่วนเกลียดหรือรักใคร เราควรต้องมีความเข้าใจพวกเขาเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อน

ทีนี้จะพยายามหาทางเข้าใจเขา...ทำอย่างไร ผมเริ่มต้นแบบเดียวที่ผมทำได้ คือเริ่มต้นจากตัวตนจริงอย่างที่เราเป็นและเราเข้าใจ ข้อวิเคราะห์ของผมจึงมาจากการเปรียบเทียบกรณีเจ๊กกับแขกในสังคมไทย(งานชิ้นนี้จะอยู่ในลำดับ 842 ถัดไปจากคำบรรยายนี้) ในฐานะที่ทั้งเจ๊กและแขกก็เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมนี้ด้วยกันทั้งคู่ พอดีผมเป็นเจ๊ก ผมเลยสนใจศึกษาประวัติความสัมพันธ์ระหว่างเจ๊กกับสังคมไทยมาระยะหนึ่ง ว่าเจ๊กมีประสบการณ์อย่างไร เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มีข้อคิดข้อเปรียบความเหมือนความต่างระหว่างเจ๊กกับแขกอย่างไรได้บ้าง ถ้าเราจะเอาประสบการณ์เจ๊กไปดูประสบการณ์ของแขกมลายูมุสลิมในสังคมไทย

ก่อนที่จะเริ่มเนื้อหาทั้งหมด ผมขออัพเดทสถานการณ์สักนิด
ประการแรก ผมสังเกตเห็นจากการรับฟังข่าวอยู่วงนอกว่าประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมา การจัดการปัญหาในภาคใต้ของทางรัฐบาล ทหารมีบทบาทมากขึ้น

ประการที่สอง คือทหารกำลังจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างค่อนข้างมี confidence หรือความเชื่อมั่นว่ามาถูกทางและได้ผลมากขึ้น ผมได้เล่าข้อสังเกตเหล่านี้ให้ผู้รู้ข้อมูลในแวดวง กอส. และหน่วยงานความมั่นคงฟัง ได้รับปฏิกิริยาตอบกลับมาว่ามีการพัฒนาใหม่ ๆ ๓ อย่างเกิดขึ้นในสถานการณ์ชายแดนใต้ ได้แก่: -

1) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารยืนยันว่าเริ่มรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการภาคใต้มากขึ้นหลังจากระยะแรกมืดแปดด้าน เนื่องจากสายข่าวถูกทำลายตัดขาดในช่วงที่รัฐบาลทักษิณขึ้นมา, ตอนนี้เขารู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการมากขึ้น และเริ่มคลำถูกที่ จับกุมถูกตัวขึ้น ใครที่เคยดูหนังเรื่อง The Battle of Algiers ที่ อ.สมเกียรติ ตั้งนโม นำมาฉายในการประชุมมนุษยศาสตร์แห่งชาติ ที่โรงแรมปางสวนแก้ว เชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นเรื่องราวที่ชาวอัลจีเรียต่อสู้เพื่อเอกราชกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายอย่างคล้ายสถานการณ์รุนแรงภาคใต้มาก คือฝ่ายขบวนการใต้ดินกู้เอกราชทำการก่อการร้ายในเมือง ตำรวจฝรั่งเศสที่อยู่ที่นั่นคลำผิดคลำถูกไประยะหนึ่ง จัดการอะไรไม่ได้ ก็เลยมีการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเป็นทหารพลร่มจากฝรั่งเศสไปจัดการที่อัลจีเรีย

และมีฉากหนึ่งที่ผู้บัญชาการกองทหารพลร่มแสดงในที่ประชุมว่าเขาเข้าใจแล้วว่า กำลังต่อสู้กับอะไร โดยวาดรูปวงกลมเล็ก ๆ เชื่อมต่อกันเป็นสามเส้าแทนหน่วยจัดตั้งย่อย (cells) ของผู้ก่อการและโยงมันเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายเต็มไปหมดบนกระดาน จากนั้นก็เริ่มเอาชื่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการทยอยเขียนใส่เข้าไปในวงกลมต่าง ๆ เหล่านั้นได้ แสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มเข้าใจโครงสร้างการจัดตั้งของกลุ่มผู้ก่อการ เริ่มสามารถระบุตัวใส่ชื่อคนเข้าไปได้ หากจะเปรียบกับสถานการณ์ภาคใต้ตอนนี้ก็คือคล้าย ๆ กับฝ่ายทหารเริ่มคลำเจอโครงข่ายการจัดตั้งของผู้ก่อการ และเริ่มเอาชื่อคนใส่เข้าไปได้

2) พัฒนาการใหม่ข้อถัดมาคือมี uniformity ของหน่วยงานที่จัดการปัญหาภาคใต้ เดิมทีเรารู้มาตลอด มันไม่ใช่ความลับ ว่าทหารตำรวจไม่สามัคคีกันเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ทะเลาะกันไปมา จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเคยตรัสขอให้หน่วยงานทั้งหลายสามัคคีกันในการจัดการปัญหาภาคใต้ ปรากฏว่าในปัจจุบันมีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติการของหน่วยงานต่าง ๆ โดยทหารเป็นฝ่ายควบคุมและผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหาร ได้จัดการโยกย้ายตำรวจนักอุ้มไปอยู่ในจุดที่ไม่เป็นปัญหาแล้ว กล่าวคือทหารได้เข้ามากุมการดูแลจัดการปัญหาเรื่องนี้แล้ว และเคลียร์ให้นโยบายและการปฏิบัติเป็นเอกภาพแล้วว่าจะทำยังไง

3) รัฐบาลทักษิณได้ยินยอมให้กองทัพบกและประธานองคมนตรี เข้ามาช่วยดูแลงานภาคใต้โดยตรง เมื่อไม่นานมานี้ นายกฯทักษิณได้เข้าพบพลเอกเปรม แล้วออกมาบอกว่าพลเอกเปรมจะลงไปช่วยดูแลภาคใต้มากขึ้น จากนั้นพลเอกเปรมพร้อมทั้งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯและผู้บัญชาการทหารบกก็ลงไปชายแดนภาคใต้ด้วยกัน กล่าว คือดูเหมือนได้มีการตัดสินใจและได้มีการปฏิบัติโอนการนำทิศทางการแก้ปัญหาภาคใต้ ไปอยู่กับฝ่ายกองทัพและพลเอกเปรม อันนี้เป็นพัฒนาการใหม่

หากอ่านด้วยภาษาผมก็รู้สึกว่าทหารมี confidence มากขึ้นในการจัดการปัญหาใต้ ภาพโดยรวมคล้ายกับเข้าสู่ขั้นตอนที่การต่อสู้ทางภาคใต้ของฝ่ายกองทัพเป็นแบบมืออาชีพ(professional) มากขึ้น ปฏิบัติการเริ่มมีลักษณะเป็นการรบแบบทางการมากขึ้น แล้วทหารก็ประยุกต์ประสบการณ์ของตัวจากการจัดการปัญหาคอมมิวนิสต์ในอดีต เช่น ปฏิบัติการมวลชนอะไรต่าง ๆ เข้ามาใช้

อันนี้แปลว่าจะแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ได้เร็วไหม? ไม่นะครับ ข้อคำนึงมีอย่างนี้ ซึ่ง อ.ชัยวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตและผมก็เห็นด้วย ตรงกับข้อมูลที่ผมเข้าใจ คือว่าเพราะองค์การหรือเครือข่ายการจัดตั้งของผู้ก่อการภาคใต้มันไม่ได้เป็น hierarchy แบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มันไม่ได้เป็นสามเหลี่ยมพีระมิดและมีศูนย์กลาง แต่มีลักษณะที่ decentralized หรือกระจัดกระจายมาก ถ้าพูดในคำของส.ว. โสภณ สุภาพงษ์ ซึ่งลงไปคลุกปัญหาภาคใต้ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุปล้นปืนกองพัน ทหารพัฒนาฯที่นราธิวาสต้นปี ๔๗ มาโดยตลอด มีผู้เล่าให้ผมฟังว่าแกเคยพูดว่าที่บอกว่ากลุ่มผู้ก่อการภาคใต้เป็น "เครือข่าย" มันไม่ถูกซะทีเดียว แต่มันเป็น "ข่ายที่ไม่เป็นเครือ" มากกว่า คำนี้ก็เป็นปริศนาธรรม

ผมพยายามคิดว่าข่ายมันก็เป็นเน็ต มีความสัมพันธ์กัน แต่มันไม่เป็นเครือเดียวกัน ไม่ได้เป็นเครือบริษัทเดียวกัน หรือเครือครอบครัวเดียวกัน คือมันมีลักษณะ decentralized สูงมาก ซึ่งแปลว่าต่อให้คุณรู้ชื่อและทำลายได้บางหน่วยย่อย บางเซลส์ มันไม่ได้แปลว่าคุณจะบล็อกหรือทำลายเซลล์อื่นได้หมด เพราะเซลล์มันกระจาย

มันมีการคิดทำนองนี้อยู่ในที่อื่น แต่ไม่ได้แปลว่ามันเกี่ยวโยงกันในความหมายไหนเลยนะครับ คือมันมีพวกก่อการร้ายฝ่ายขวาในอเมริกาคนหนึ่งชื่อ Louis Beam เคยเสนอว่าต้องใช้ยุทธศาสตร์การต่อต้านแบบไร้ผู้นำ (Leaderless Resistance) ทำอย่างไร? ก็คือ ต้องมีหน่วยภูติพราย (phantom cells) เล็ก ๆ ไปจัดตั้งกระจายกันในที่ต่าง ๆ และไม่มีความสัมพันธ์กันแบบทางการ ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีผู้บัญชาการหรือศูนย์กลาง หากสัมพันธ์กันผ่านทางจดหมายข่าว อีเมล์ อินเตอร์เนตที่เผยแพร่กว้าง ๆ เท่านั้น ต่างคนต่างรู้แต่ว่ามีคนคิดคล้าย ๆ กูรวมตัวกันเป็นก๊กอยู่ตรงนั้นตรงนี้ มันเป็นใครบ้างก็ไม่รู้ จะมีเพียงการกระจายข่าวนัดแนะกันว่าให้วางระเบิดคลีนิคทำแท้งนะ ให้โจมตีที่ทำการหน่วยงานรัฐบาลกลางนะ ฯลฯ ทุกหน่วยที่รับกระแสคลื่นข่าวอันนี้จากอินเตอร์เนตหรืออีเมล์หรือจดหมายข่าวก็จะออกไปปฏิบัติการเหมือนกันหมด

ที่ผมเล่าสู่ท่านฟังนี้ไม่ได้แปลว่าภาคใต้เป็นแบบนั้นนะครับ แต่ว่าการคิดทำนองนี้หรือรูปการทำนองนี้มีคนเขาทำกันอยู่ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นจริงซึ่งดูเหมือนว่าอาจจะเป็นอย่างนั้นได้ การปราบหรือจัดการกับปัญหาการก่อการร้ายหรือผู้ก่อการร้ายภาคใต้มันไม่เสร็จเร็วหรอก เพราะคุณทำลายได้เซลส์เดียวแต่เซลส์อื่นยังอยู่

ผมควรเล่าด้วยว่ามีนายทหารที่ดูแลงานข่าวกรองของกองทัพ แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ที่น่าสนใจต่อข้อเสนอปฏิรูปต่าง ๆ ของ กอส. ท่านวิจารณ์เลยว่า ทำไมจะทำอะไรมากมายไปไกล ปัญหาการก่อการร้ายภาคใต้คุณก็รู้ต้นเหตุแล้ว คุณก็แก้ที่ต้นเหตุสิ ทำไมคุณจะคิด ปฎิรูปอะไรไปไกล ทำไมไม่ทำตามเท่าที่ประชาชนต้องการล่ะ จะไปปฏิรูปอะไรให้มันยุ่งยาก? ผมอยากจะทิ้งประโยคนี้ไว้ เพราะมันจะโยงกับข้อวิเคราะห์ เครื่องมือการวิเคราะห์ ทฤษฎีทั้งหลายที่ผมจะบอกต่อไปข้างหน้า

ผมขอเริ่มเข้าสู่ข้อเสนอเรื่องเครื่องมือในการที่จะไปจับชุดคำอธิบายต่าง ๆ
ตอนเริ่มแรกเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้รอบนี้เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 ชุดคำอธิบายที่เราได้ยินตอนนั้นมีอยู่ 4 คำอธิบายด้วยกัน คือ

- ทฤษฎีมือที่สาม
- ทฤษฎีขบวนการแยกดินแดน
- ทฤษฎีความรุนแรงของฝ่ายรัฐ และ
- ทฤษฎีกบฏชาวนา

ผมฟังและก็เก็บมาเป็นจุด ๆ แต่คนที่รวบยอดให้ว่ามี 4 คำอธิบาย คือคุณสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผมจะเรียบเรียงให้ฟังว่าแต่ละทฤษฎีมีคำอธิบายละเอียดอย่างไรบ้าง

1) ผู้ที่เชื่อทฤษฎีมือที่สาม จะบอกว่า ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2547 ไม่ใช่ฝีมือผู้ก่อการแยกดินแดนโดยตรง แต่เป็นคนอื่นทำเพื่อผลประโยชน์และอำนาจ ได้แก่โจรกระจอก พ่อค้ายาเสพติด พ่อค้าอาวุธ รวมทั้งทหารในพื้นที่ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือแม้แต่อิทธิพลเบื้องสูงซึ่งสูงแค่ไหนไม่ทราบ - มีความเชื่อในหมู่ผู้แวดล้อมรัฐบาลว่าปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นเพราะเบื้องสูงต้องการที่จะทำให้รัฐบาลลำบาก - และอิทธิพลภายนอกประเทศ มีเสียงร่ำลือเยอะมากโดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการ ผมไม่รู้ว่าเริ่มที่ไหนอย่างไร แต่ร่ำลือกันว่ามาเลเซีย

ชุดคำอธิบายเหล่านี้เหมือนกันอย่างหนึ่งคือมันใช่เรื่องของคู่กรณีเดิม อย่างน้อยไม่ใช่เรื่องของมุสลิมเชื้อสายมลายูกับรัฐบาล มันเป็นเรื่องของมือที่สาม ซึ่งมีอำนาจและผลประโยชน์ของตัวที่ขัดแย้งกับรัฐบาลและอยากจะเลื่อยขาเก้าอี้รัฐบาล ดังนั้นก็เลยทำสิ่งเหล่านี้ขึ้น ใครบ้างเป็นเจ้าของทฤษฎีนี้ มีรัฐบาล ผู้แวดล้อมรัฐบาล และตำรวจ นี่คือแหล่งใหญ่ของผู้ที่เชื่อแบบนี้ และพูดแบบนี้ ถ้าท่านตามข่าวมันจะแว๊บเข้าหู เคยปรากฏข่าวว่าจุฬาราชมนตรีเข้าพบนายกทักษิณ พอออกมาก็เล่าให้นักข่าวฟังว่านายกฯบอกว่าปัญหาปล้นปืนมันเป็นเรื่องของทหารทำเพื่อเอาปืนไปขายให้พวกอาเจะห์ ไม่เกี่ยวกับคนมลายูมุสลิม และตอนนั้นนายกฯฟังมาจากไหน? อาจจะเป็นตำรวจ

2) ทฤษฎีขบวนการแบ่งแยกดินแดน อันนี้มีมาแต่เดิม อาทิ พูโล, บีอาร์เอ็น, เบอร์ซาตู ฯลฯ คนที่เชื่อทฤษฎีนี้คือกองทัพและบรรดาอดีตนายทหารใต้ หมายถึงนายทหารที่เคยเป็นใหญ่เป็นโตในภาคใต้และทุกวันนี้ก็เกษียณราชการแล้ว อาจจะเล่นการเมืองเป็น ส.ว.หรือที่ปรึกษารัฐบาล เช่นพลเอกกิตติ รัตนฉายา, พลเอกหาญ ลีนานนท์

3) ทฤษฎีความรุนแรงของฝ่ายรัฐ เหตุเกิดเพราะฝ่ายรัฐทำรุนแรงต่อเขาก่อน ใช้ความรุนแรงก่อน กลุ่มคนที่พูดเรื่องนี้มีเยอะแต่ว่าตัวแทนที่มีพลังและพูดชัดเจนที่สุดคือ ทีมของรองนายกฯจาตุรนต์ ฉายแสง (ตำแหน่งก่อนเป็นเจ้ากระทรวงศึกษาฯ) ที่ลงไปสำรวจปัญหาภาคใต้ตามคำสั่งนายกฯ แล้วมาทำเป็นรายงานเสนอ ระบุชัดเลยว่าปัญหาความรุนแรงของภาคใต้ส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐทำ ถ้าจะยุติปัญหาความรุนแรง...ฝ่ายรัฐต้องเลิกทำรุนแรง เพียงเท่านี้เหตุรุนแรงก็จะหายไปกว่าครึ่ง นี่คือเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ ซึ่งก็ปรากฏว่ารายงานนั้นถูกฝ่ายทหารปฏิเสธ. พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีกลาโหมตอนนั้น ขึ้นมารับหน้าเสื่อแทน ทักท้วงว่าฟังจากเสียงชาวบ้านแค่นั้น ไม่ได้ฟังเสียงกองทัพเลย กองทัพขอพูดก่อน รายงานนี้ก็เลยถูกเก็บขึ้นหิ้งไป

4) ทฤษฎีกบฏชาวนา ของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเป็นบทความลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม สรุปคือมันเป็นปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองสมัยใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจทุนนิยมที่เข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ ก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำรงวิถีชีวิตและเศรษฐกิจแต่เดิมของชาวบ้านแถบนั้น ชาวบ้านจึงลุกขึ้นสู้ ไม่ได้ชี้นำโดยศาสนาที่รู้หลักอะไรลึกซึ้งนัก ไม่ได้เป็นขบวนการที่ใหญ่โตอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้แบบเป็นไปเอง อาจจะมีการจัดตั้ง อาจจะมีการสื่อสารดีกว่าสมัยก่อน แต่โดยพื้นฐานเข้าใจมันได้ว่าเหมือนกับกบฏชาวนาสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐

สรุปผลทางปฏิบัติก็คือ ทฤษฎีมือที่สามกับทฤษฎีขบวนการแบ่งแยกดินแดนถูกนำไปใช้ชี้นำการโต้ตอบของรัฐต่อเหตุรุนแรง ในขณะที่ทฤษฎีความรุนแรงของฝ่ายรัฐถูกแช่แข็งขึ้นหิ้ง ส่วนทฤษฎีกบฏชาวนาเป็นที่ฮือฮา ผู้คนในแวดวงปัญญาชนวิชาการต้อนรับมาก บทความนี้ตีพิมพ์ไม่ทันไรก็มีนักวิชาการชาวฝรั่งที่ทำงานในเมืองไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษไปลงเว็บไซต์ที่เกียวโต และก็ถูกด่าทอโดยอาจารย์คนหนึ่งที่อยู่คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คือ อ.สมศักดิ์ บอกว่าเป็นทฤษฎีที่หน่อมแน้มต่อผู้ก่อการ ทำผู้ก่อการกลายเป็นพระเอกไป แต่ว่าการที่จะเอาเนื้อหาของข้อเสนอนี้มาวิเคราะห์วิจารณ์อย่างจริงจัง แปลกดีครับ กลับไม่เกิด ... คือทุกคนเฮ ... น่าสนใจ แต่ไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์เนื้อหาของมันจริง ๆ คำวิจารณ์ของ อ.สมศักดิ์ เป็นคำวิจารณ์ถึง implication ทางการเมืองศีลธรรมของมัน ไม่ใช่เรื่องอื่น

คราวนี้ถ้าจะลองแบ่งกลุ่มชุดคำอธิบายต่าง ๆ ข้างต้น จะพอแบ่งได้อย่างไร อันนี้เป็นความคิดที่ผมได้มาจาก อ.ชัยวัฒน์ แล้วมาขยายความเพิ่มเติม คือสามารถแบ่งกว้าง ๆ เป็น 2 อย่าง ได้แก่

- ชุดคำอธิบายที่เน้นความมั่นคงหรือสายเหยี่ยว (security-oriented or hawkish) กับ
- ชุดคำอธิบายที่เน้นการเมืองหรือสายพิราบ (politically-oriented or dovish)

1) ชุดคำอธิบายที่เน้นความมั่นคงหรือสายเหยี่ยวมีบุคลิกอย่างไร? มันจะพุ่งเป้าไปที่ตัวผู้ก่อการ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากและจะเป็นปมต่อไปข้างหน้า กล่าวคือเมื่อเกิดการฆ่ากัน เกิดการปล้นปืน เกิดความวุ่นวายฆ่ารายวัน มันจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ก่อการ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำพูดของนายทหาร ผู้ดูแลรับผิดชอบงานข่าวกรองของกองทัพข้างต้นที่ว่า คุณรู้เหตุแล้ว คุณก็แก้ที่เหตุ ในเมื่อคุณรู้แล้วว่าใครเป็นใคร คุณจัดการตัวการเสียเท่านั้นก็จบ ไม่ว่าจะจัดการโดยการฆ่า อุ้ม หรือด้วยนโยบายที่ถูกต้องขึ้น คืออบรมทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนใจเขาก็ตาม

ความสนใจของชุดคำอธิบายนี้จึงไปที่ประเด็นเรื่องการก่อตัว หาสมัครพรรคพวก ฝึกอบรม จัดตั้งและอุดมการณ์ของผู้ก่อการ เสนอทางแก้ด้วยเทคนิคการทหาร เทคนิคการปกครองควบคุม เทคนิคการศึกษา กล่าวคือ identify ลงไปที่กลุ่มคน แล้วก็ศึกษากลุ่มคนในประเด็นต่าง ๆ จากนั้นก็แก้โดยมาตรการทางเทคนิค เช่น สิ่งที่เราได้ยินช่วงปี 2547 ว่าผู้ก่อการมันซ้อนจักรยานยนต์มายิงเจ้าหน้าที่ จะทำไงดี? พลเอกเชษฐา รมว. กลาโหมก็ปิ๊ง...ดำริว่าห้ามนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีไหม? ปรากฏว่าอันนี้ต้องไตรตรองดูก่อนเพราะมันแปลกมาก หรือต่อมามาตรการนั้นตกไป

มีการเสนอใหม่ว่าเอางี้ดีไหมเปลี่ยนท่านั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ของทหาร คือหันหลังชนกันกับคนขับเสีย เพื่อป้องกันถูกประกบยิงจากด้านหลัง ....

ต่อมาก็มีการให้จดทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือเพราะผู้ก่อการมักใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิด, หรือการขึ้นบัญชีดำเรียกตัวกลุ่มเสี่ยงมาอบรมวิวัฒน์พลเมือง ฯลฯ นี่คือเทคนิคทั้งนั้น วิธีคิดมันชวนหัวมากในความหมายนี้ เพราะคุณคิดเหรอว่าฝ่ายผู้ก่อการจะจนแต้มแค่นี้ พอคุณให้จดทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือ เขาก็เปลี่ยนมาใช้สายไฟฟ้าจุดชนวนระเบิดแทน .... หรือจะห้ามขายสายไฟฟ้าอีก? ... คือมันไม่มีวันจบเพราะมันเป็นการแก้เชิงเทคนิค

ตัวแทนของคนที่คิดแบบนี้มีพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ตอนนี้ก็หลุดจากตำแหน่ง รมว. กลาโหมไปแล้ว พลเอกหาญ ลีนานนท์, พลเอกกิตติ รัตนฉายา, พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี, นักวิชาการที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น พลเอกหาญท่านเขียนเป็นบทความชุดดับไฟใต้สิบกว่าตอนแล้ว โดยสรุปท่านพูด 2 เรื่องคือ

1. ขบวนการแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ใหญ่มาก มันทำงานมวลชนอยู่หลายปี ตอนที่เราไปถอนทหารออกมาเราพลาด ปล่อยให้มันยึดกุมไปหมด องค์การปกครองท้องถิ่น 3 จังหวัดภาคใต้จึงตกอยู่ในกำมือพวกผู้ก่อการไปหมดแล้ว ถ้านี่เป็นความจริง แสดงว่าที่เรากำลังต่อสู้ด้วยมันไม่ใช่กลุ่มเล็ก ๆ แต่คือมวลประชามหาชน

2. อีกข้อที่พลเอกหาญเสนอคือเรื่องเทคนิคการทหาร ต้องจัดหน่วยรบใหม่ ต้องวางมาตรการเชิงปฏิบัติการต่าง ๆ ตามประสบการณ์ที่เคยเป็นแม่ทัพภาค 4

พลเอกกิตติจะยืนยันอยู่ 2 -3 เรื่อง อันที่ 1 คือที่เราสู้ด้วยไม่ใช่โจรกระจอก ไม่ใช่พ่อค้ายาเสพติด นั่นเป็นด้านรอง. ด้านหลักแล้วต้องชัดเจนว่าเรากำลังสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างหาก ขบวนการแยกออกได้เป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับฝ่ายนำ 2. ระดับตรงกลาง คือระดับผู้ปฏิบัติการทางทหาร และ 3. ระดับล่างคือมวลชน

พลเอกกิตติเสนอว่าสำหรับมวลชน เราต้องช่วงชิง ส่วนผู้ปฏิบัติการทางทหาร เราก็ต้องรบกับเค้า แต่พวกตัวหัวหน้า เราต้องไปเจรจา มันอยู่ที่ไหนเราไปเจรจาที่นั่น ในความรู้สึกผมถึงแม้ท่านจะเสนอให้เจรจากับฝ่ายนำขบวนการ แต่นี่ไม่ใช่มาตรการทางการเมือง หากเป็นประสบการณ์เชิงเทคนิคที่ท่านเคยสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มาจนสำเร็จ แล้วก็เลยเอามาประยุกต์ใช้ใหม่ แต่มันไม่ได้บอกเลยว่าเจรจาเรื่องใดและจะนำไปสู่อะไร? กล่าวคือมาตรการที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจจะมีอะไรบ้าง? ไม่ปรากฏ มันเป็นแค่เทคนิคในการแก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายเท่านั้น

2) ชุดคำอธิบายที่เน้นการเมืองหรือสายพิราบ จะพุ่งเป้าไปที่ตัวโครงสร้างที่เป็นเงื่อนไขความเดือดร้อน ความขัดแย้ง และความรุนแรง คือจะไม่หยุดแค่ตัวผู้ก่อการ แต่พุ่งไปที่โครงสร้างใหญ่ของสังคม การเมือง เศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ สนใจว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเพื่อขจัดเงื่อนไขเหล่านั้นอย่างไร ทางแก้ที่เสนอได้แก่การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม เช่น อดีตรองนายกฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ยืนยันเรื่องนี้มาแต่ต้นหลังเกิดเหตุปล้นปืนไม่นานประมาณเดือนมีนาคม 2547 มีบันทึกสำนักนายกฯ ลงนามโดยรองนายกฯชวลิตเรื่องนี้ กระทั่งท่านโดนเขี่ยออกไปจากการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล

แต่แล้วก็ถูกนายกฯทักษิณดึงกลับเข้ามาอีกตอนหลังบอกว่ามาแก้ปัญหาความยากจน แต่ผมดูแล้วเป็นเรื่องภาคใต้ด้วย เพราะว่าดูเหมือนพลเอกชวลิตจะเป็นตัวเชื่อมไปเชิญประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ให้มาช่วยนำแนวนโยบายแก้ปัญหาใต้, นอกจากนี้ พวกนักการเมืองในพื้นที่ เอ็นจีโอ ปัญญาชนสาธารณะ นักวิชาการอิสระ รวมทั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ก็จะยืนกรานในแนวทางสายพิราบนี้

ผมอยากจะพูดถึงพลเอกชวลิตสักหน่อยเกี่ยวกับข้อเสนอของท่านในการแก้ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ คือท่านได้ประสบการณ์มาจากการปราบคอมมิวนิสต์สมัยก่อน ใช้การเมืองนำการทหาร ท่านไม่เห็นด้วยที่จะใช้การทหารนำ สำหรับปัญหาชายแดนภาคใต้ ท่านมีสูตร 3 ประการ

1.ดอกไม้ร้อยดอกบานพร้อมพรัก คือเปิดให้มีความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา อย่าไปกีดกันแบ่งแยกเขา
2.ถอยคนละ 3 ก้าว คือทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายผู้ก่อการ ถอยคนละ 3 ก็าว หมายถึงให้ยุติความรุนแรงทั้งสองฝ่าย
3.มหานครปัตตานี คือยอมให้มีการปกครองตนเองในระดับหนึ่งในชายแดนภาคใต้ นี่เป็นแนวเน้นการเมือง มุ่งแก้ที่โครงสร้าง

ก่อนจะเดินเรื่องต่อผมอยากชี้แจงว่าอคติของผมท่านก็คงรู้ ไม่ได้เป็นความลับอะไร ฟังผมพูดท่านก็จะรู้ว่าผมชอบกระแนะกระแหนชุดคำอธิบายที่เน้นความมั่นคงหรือสายเหยี่ยว แต่ถึงกระนั้นในการพิจารณาปัญหาก็ควรที่จะพยายามพับเก็บอคติของเราไว้ก่อน แล้วลองนำชุดคำอธิบายที่เราไม่ค่อยเห็นด้วยมาพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจัง. ในที่นี้สมมุติเราลองมาดูว่าในวงวิชาการความรู้ทางรัฐศาสตร์ของตะวันตก มันมีเครื่องคือการคิดอะไรบ้าง ที่เราจะใช้วิเคราะห์กลุ่มผู้ก่อการ (ซึ่งเป็นศูนย์รวมความสนใจของชุดคำอธิบายสายเหยี่ยว) อย่างเป็นระบบได้?

ชุดเครื่องมือความคิดที่วงการรัฐศาสตร์ตะวันตกใช้วิเคราะห์อธิบายขบวนการประท้วงของมวลชนมีด้วยกัน 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ

- The Internal Resource Mobilization Approach หรือแนวทางการศึกษาแบบดูการระดมทรัพยากรภายในองค์การ กับ
- The Political Opportunity Structure Approach หรือแนวทางการศึกษาแบบดูโครงสร้างโอกาสทางการเมือง

นี่เป็น 2 แนวทาง 2 ทฤษฎีหลักที่ประกบคู่กันมาในการศึกษาขบวนการมวลชน ที่ก่อการประท้วงในโลกตะวันตก คนที่เคยใช้มาแล้วในเมืองไทย คือ อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ตอนที่ศึกษาเรื่องขบวนการสมัชชาคนจนก็ใช้ทฤษฎีทั้ง 2 นี้

1) ทฤษฎีแรกว่าด้วยการระดมทรัพยากรภายในองค์การ The Internal Resource Mobilization Approach ดูอะไร? จะว่าไปก็คล้ายกับที่พวกชุดคำอธิบายเน้นความมั่นคงหรือสายเหยี่ยวจะดูผู้ก่อการ เพียงแต่ถ้าเราดูอย่างเข้มข้นเคร่งครัดทางวิชาการ เราจะดูอะไรได้บ้าง?

- ประการแรกดูที่ฝ่ายนำ (leadership) องค์กรนำคืออะไร? การนำเป็นแบบบุคคลหรือเป็นองค์กรจัดตั้ง? มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน? กลุ่มนำเป็นคนรุ่นไหน? เปลี่ยนแปลงไปยังไง?

- ประการที่สองดูองค์การจัดตั้ง (organization) คือรูปการจัดตั้งเป็นยังไง? รวมศูนย์แบบเลนินหรือ เป็นแบบดาวกระจาย? หรือเลียนแบบองค์กรของรัฐ? ขบวนการกู้ชาติทั้งหลายน่าสนใจมากอย่างหนึ่งตรงที่ถ้าดูโครงสร้างองค์การจัดตั้งของพวกเขา มันมักจะเหมือนขององค์กรรัฐ คือมีองค์กรนำ องค์กรแนวร่วม กองกำลังอาวุธ เป็นต้น

- ประการที่สาม ดูความสมานฉันท์ภายในของขบวนการ (internal solidarity) ว่าภายในตัวขบวนการนั้นเอง มีความสมานฉันท์ เป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นเอกภาพมากน้อยแค่ไหน? มันอยู่ได้ รักกันสามัคคีกันด้วยอุดมการณ์ หรือเพราะมันเป็นคนภาคเดียวกัน หรือชาติพันธุ์เดียวกัน หรือมันเป็นเครือข่ายพี่น้องญาติโยมกัน? อย่างนี้เป็นต้น

2) อีกแนวทางการศึกษาหนึ่งคือโครงสร้างโอกาสทางการเมือง The Political Opportunity Structure Approach มันเริ่มจากความไม่เพียงพอของแนวทางการศึกษาแรก คุณดูแต่ข้างในของขบวนการประท้วง คุณก็เห็นพลังภายใน แต่ว่าการมีพลังภายในของเขา มีผู้นำดี มีองค์การจัดตั้งดี มีความสามัคคีเหนียวแน่นภายใน ไม่แน่หรอกว่าเขาจะเคลื่อน ไหวได้ ถ้าโครงสร้างโอกาสทางการเมืองข้างนอกไม่เปิด แล้วอะไรคือโครงสร้างโอกาสทางการเมืองข้างนอกที่เปิดช่องให้ขบวนการเคลื่อนไหวได้ หรือปิดช่องแล้วขบวนการไม่อาจเคลื่อนไหวได้? เราดู 3 อย่างและผมขออธิบายโดยยกตัวอย่างกรณีชายแดนภาคใต้ของไทยมาประยุกต์ใช้เพื่อลองวิเคราะห์เลย คือ: -

- อย่างแรก openness and closure of political access กล่าวคือระบอบการเมืองเปิดหรือปิดต่อการเข้าถึงของผู้คน ผมอยากจะพูดแบบฟันธงเลยว่า ไอ้นี่เปลี่ยนตอนที่คุณทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาล คือระบอบการเมืองระดับชาติโดยรวมก็เริ่มปิดต่อคนที่ไม่ใช่พรรคพวก หรือไม่ใช่เครือข่ายของคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย

ในภาคใต้ รัฐบาลสั่งยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ยุบกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท. 43) องค์กรทั้ง 2 นี้สร้างขึ้นสมัยรัฐบาลเปรม เป็นช่องทางที่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนายื่นเรื่องร้องทุกข์เข้าถึงศูนย์อำนาจรัฐในเขต 3 จังหวัดภาคใต้ได้โดยตรง และโยกย้ายข้าราชการที่ก่อปัญหา

พอถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็พยายาม normalize ทฤษฎีคุณทักษิณคือบ้านเมืองเราได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ทุกภาคก็มีตำรวจดูแลเรื่องโจรผู้ร้าย อาชญากรรม ทำไมภาคใต้ปล่อยให้ทหารเป็นใหญ่และรวมศูนย์ควบคุมอยู่ใน ศอบต. เพราะฉะนั้นก็ไม่เอาแล้ว ยุบทิ้งเสีย ให้ทหารกลับค่ายกรมกอง ตำรวจมีอำนาจกลับเข้ามาดูแลเรื่องโจรผู้ร้าย อาชญากรรมเหมือนภาคอื่น ๆ พอกลับสู่ภาวะปกติ บรรดาคนทั้งหลายที่เคยต่อสายตรงถึงศูนย์อำนาจรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันก็ทำไม่ได้เพราะโดนยุบไปแล้ว ระบอบการเมืองการปกครองท้องถิ่นมันเปลี่ยน access หรือช่องทางเข้าถึงอำนาจโดยตรงในท้องถิ่นมันถูกปิดไป

- อย่างที่สอง คือ stability of political alignment หรือนัยหนึ่งการแบ่งข้างแบ่งกลุ่มทางการเมืองมีเสถียรภาพแค่ไหน? โอกาสจะเปิดให้การเคลื่อนไหวเมื่อการแบ่งกลุ่มแบ่งข้างทางการเมืองมันเปลี่ยน มันไม่เสถียร ผมรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงในการแบ่งกลุ่มแบ่งข้างทางการเมืองที่สำคัญในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ คือการที่กลุ่มวาดะห์แปลกแยกออกจากชาวบ้าน ผมไม่รู้รายละเอียดลึกซึ้งมากนัก แต่คล้ายกับว่าในยุคหนึ่งกลุ่มวาดะห์เหมือนเป็นทางออก คือชาวบ้านและกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่สามารถติดต่อผ่านกลุ่มวาดะห์เข้าไปถึงอำนาจรัฐระดับชาติได้

แต่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ เกิดเหตุรุนแรงและการอุ้มฆ่าขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2547 ตั้งแต่มีการ normalize การบริหารการปกครองชายแดนภาคใต้ เอาตำรวจเข้าไปดูแล มันก็เริ่มมีการอุ้มแล้ว และถ้าท่านตามข่าวแล้วจำได้ ปี 2545-46 ตำรวจถูกลอบยิงเป็นว่าเล่นในภาคใต้ นั่นก็คือการตอบโต้ ทำไมต้องหันไปใช้วิธีรุนแรงนอกระบบแบบนี้? ง่ายนิดเดียว หนึ่ง) มันไม่อาจเข้าถึงศูนย์อำนาจในระบอบการเมืองทางช่องเดิมเพราะถูกยุบไปแล้ว และสอง) มันผ่านกลุ่มวาดะห์ก็ไม่ได้เพราะกลุ่มวาดะห์ไปเอากับรัฐบาลทักษิณหมดแล้ว

- อย่างที่สาม คือ allies and support groups กล่าวคือพันธมิตรและกลุ่มสนับสนุนเป็นอย่างไร? ในประเด็นนี้ น่าเชื่อว่าบรรดาผู้เสียผลประโยชน์จากระบอบทักษิณทั้งปวงเป็นตัวช่วย...มันก็มีหลายกลุ่ม สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแปลกแยกพวกพ่อค้ายาเสพติดภาคใต้ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่มีการค้ายาเสพติดสูง สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้มีอิทธิพลแปลกแยกพวกเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลภาคใต้ที่บางรายอาจสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าพ่อบางคนอาจหันไปหนุนหลังผู้ก่อการในลักษณะต่าง ๆ เพื่อให้ก่อการขึ้น

ในลำดับต่อไป ทางผู้จัดบอกว่าเอาทฤษฎีที่พยายามอธิบายการก่อการร้ายภาคใต้จากต่างประเทศด้วย
ผมขออนุญาตแปลงโจทย์เป็นว่าในการศึกษาการก่อการร้ายในแวดวงวิชาการระหว่างประเทศ เขาพูดถึงมูลเหตุใหญ่ ๆ ว่ามีอะไรบ้าง? และมันพอจะประยุกต์เข้ากับเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง? โดยสรุปรวมความมี 3 ทฤษฎี คือ

- Failed Modernization Theory หรือทฤษฎีการทำให้ทันสมัยที่ล้มเหลว,
- Clash of Civilizations Theory หรือทฤษฎีการปะทะกันของอารยธรรม และ
- Primary and Secondary Terrorism Theory หรือทฤษฎีการก่อการร้ายขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิ

1) Failed Modernization Theory อธิบายว่าการก่อการร้ายเกิดขึ้นเพราะการพัฒนาล้มเหลว อาจเป็นความล้มเหลวจากการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาสมัยใหม่ คุณสัญญาว่าการพัฒนาจะนำโน่นนี่มาให้ คุณเปลี่ยนแปลงทำลายแบบวิถีชีวิต แบบการยังชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน พรากทรัพยากรของเขาไปแต่แล้วก็พาพวกเขาเข้าสู่กระบวนการทำให้ทันสมัยไม่ได้ เขาไม่สามารถหลุดจากท้องนากลายมาเป็นทนายความ หมอ ครู อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือวิศวกรได้ แต่กลับกลายเป็นคนที่หายหกตกหล่นจากกระบวนการทำให้ทันสมัย กล่าวอีกนัยหนึ่งการทำให้ทันสมัยล้มเหลวสำหรับพวกเขา

หรืออาจเกิดจากความล้มเหลวของการสร้างรัฐชาติ-ดัดแปลงพลเมืองให้กลายเป็น "คนไทย" ด้วยสาเหตุนานัปการ เช่น การฟอร์มแนวคิดเกี่ยวกับชาติอย่างคับแคบเกินไป ไม่สามารถจะรับคนที่ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์เข้ามาเป็นเพื่อนพลเมืองร่วมชาติอย่างเสมอภาคกันได้ เมื่อกระบวนการสร้างรัฐชาติล้มเหลวในการรวมกลุ่มคนที่แตกต่างเหล่านั้น กลุ่มดังกล่าวก็อาจเป็นฐานให้เกิดการก่อการได้ ทั้งนี้เพราะเขาไม่ยอมกลายเป็น "คนไทย" แบบที่รัฐนิยามและต้องการ มันเป็นไปไม่ได้เนื่องจากเอาเข้าจริงเขาไม่ได้เป็น "คนไทย" อย่างเดียว แต่เป็นเจ๊ก แขก อาข่า กะเหรี่ยง ม้ง ฯลฯ ด้วย แล้วอยู่ดี ๆ จะให้เขาเลิกเป็นชนชาติเหล่านั้นได้อย่างไร?

ในเมืองไทย ถ้าเราลากเข้ามาตีขลุมกับทฤษฎีฝรั่ง การวิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ในแนวทางนี้มีอาทิ ทฤษฎีกบฏชาวนา ของ อ. นิธิ, งานวิจัยข้อมูลพื้นฐาน ของ อ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรีแห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คือ อ.ศรีสมภพนั่งดูสถิติเลย งานวิจัยของท่านเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยสถิติการต่อสู้ การก่อการ เศรษฐกิจและสังคม ข้อสมมุติฐานเบื้องลึกของท่านดูเหมือนจะเป็นว่าเหตุรุนแรงเกิดเพราะว่าพื้นที่ชายแดนภาคใต้มันไม่เป็นธรรม การพัฒนาที่จะดึงคนมาสู่เศรษฐกิจสังคมที่ทันสมัยมันล้มเหลว และอีกท่านที่วิเคราะห์ไปในทำนองเดียวกันคืออาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

2) Clash of Civilizations Theory คือ เข้าใจง่าย ตั้งแต่ Samuel Huntington นักรัฐศาสตร์กระแสหลักอเมริกันเสนอบทความ "The Clash of Civilizations?" (ค.ศ. ๑๙๙๓) และต่อมาขยายเป็นหนังสือ The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order (ค.ศ. ๑๙๙๖) วิเคราะห์สถานการณ์โลกยุคหลังสงครามเย็นว่า ความขัดแย้งหลักเป็นเรื่องวัฒนธรรม ที่สำคัญคือระหว่างอารยธรรมอิสลามปะทะกับอารยธรรมตะวันตก

หากเอาทฤษฎีนี้มาอ่านในภาคใต้ก็จะเป็นความขัดแย้งระหว่างกระแสอิสลามสู้รบกับจักรวรรดินิยมอเมริกา อาจบอกได้ว่ารัฐบาลทักษิณเป็นตัวแทนผลประโยชน์อเมริกันโดยส่งทหารไทยไปร่วมรบที่อิรัก ขณะที่คนมลายูมุสลิมในพื้นที่ต่อสู้ในนามของชาวอิสลามทั่วโลก หรือในมุมมองที่เล็กไปกว่านั้น อาจเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างเอกลักษณ์รัฐกับเอกลักษณ์ชุมชนท้องถิ่น ที่เกิดขึ้นเพราะรัฐยัดเยียดเอกลักษณ์แบบที่รัฐพึงประสงค์ ให้คนชายแดนภาคใต้ต้องเป็นไทยพุทธ ทั้งที่ชุมชนท้องถิ่นที่นั่นส่วนใหญ่เขาเป็นมลายูมุสลิม จึงรับไม่ได้ ก็เลยขัดแย้งกัน หรือมองง่ายกว่านั้นคือเป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยพุทธกับมลายูมุสลิมตรง ๆ

งานที่อยู่ในแนวนี้เช่นงานของ อ.วัฒนา สุกัณศีลแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้วท่านพบว่าตัวเองรู้เรื่องมลายูมุสลิมน้อยมาก จึงศึกษาแหลกลาญเลย แล้วทำเป็นบทความวิจัยมาชิ้นหนึ่งร่วมกับ อ.ศรีสมภพ สืบสาวที่มาของความคิดญิฮาด ที่มาของความคิดอิสลามหัวรุนแรงว่ามาจากไหนในแง่องค์ความรู้ นอกจากนี้ก็มีหนังสือเรื่องการก่อการร้ายของนาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งเสนอว่าการก่อการร้ายในเอเชียอาคเนย์มันโยงกับกลุ่มเจมาห์ อิสลามียาหรือเจไอ เชื่อมต่อกับอัลเคด้า เพื่อสู้กับอเมริกา

อีกคนคือบะห์รูนเป็นอดีตผู้ก่อการใต้ที่ออกมามอบตัว อาจจะอยู่ในรุ่นคริสต์ทศวรรษ 1970 ชื่อบะห์รูนเป็นนามปากกา ไม่ใช่ชื่อจริง ตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนภาคใต้ต้นปี 2547 ท่านเขียนคอลัมน์ลงในเนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นที่ชื่นชมของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธมาก งานเขียนของท่านจะมีน้ำเสียงเผ็ดเปรี้ยว ชอบด่าว่าพวกนักวิชาการกับปัญญาชนสาธารณะเป็นประจำ ทฤษฎีของบะห์รูนคือปัญหาการก่อการร้ายภาคใต้ระลอกใหม่นี้เกิดขึ้นเพราะลัทธิประหลาด มันเป็นเรื่องศาสนา. อีกท่านคือ อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ชี้ว่าประเด็กหลักของปัญหาขัดแย้งชายแดนภาคใต้คือเรื่องเอกลักษณ์ ระหว่างเอกลักษณ์ ท้องถิ่นกับเอกลักษณ์รัฐ

ทฤษฎีทำนองนี้ตำรับหนึ่งมักพูดเรื่องการก่อการร้ายในโลกปัจจุบันว่า มันเป็นการชนกันระหว่างญิฮาดกับแม็กเวิลด์ เป็นการชนกันระหว่างอิสลามกับทุนนิยมโลก จากหนังสือ Jihad vs. McWorld: How Globalism and Tribalism Are Reshaping the World (ค.ศ. ๑๙๙๕) ของศาสตราจารย์ Benjamin R. Barber นักรัฐศาสตร์อเมริกัน

สิ่งที่น่าสนใจที่ท่านอาจจะลืมหรือไม่ได้สังเกต คือกลางปี 2547 หลังจากเกิดเหตุรุนแรงชายแดนภาคใต้รอบใหม่ไม่นาน นายกฯทักษิณได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและบอกว่า ปัญหาภาคใต้มันเกิดขึ้นเพราะทุนนิยมกับวัฒนธรรมศาสนาแบบเดิมเข้ากันไม่ได้ แต่ความคิดของนายกฯ ก็เปลี่ยนได้รายวัน จึงไม่รู้แน่ว่าตอนนี้เชื่ออะไรอยู่

3) Primary and Secondary Terrorism Theory หรือทฤษฎีการก่อการร้ายแบบปฐมภูมิกับทุติยภูมิ ผู้คิดทฤษฎีนี้ไม่ได้บอกว่าการก่อการร้ายของคนเล็ก ๆ หรือคนที่ถูกกดขี่และลุกขึ้นมาจับปืนจับระเบิดขว้างทำร้ายผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งชอบธรรม เขาประณามนะครับ การก่อการร้ายประเภทไหนก็ตามเขาไม่เห็นด้วยทั้งนั้น แต่เขาบอกต่อว่าถ้าคุณจะอธิบาย จะวิเคราะห์ว่ามันเกิดอย่างไรละก็?

เอาเข้าจริง มันเกิดจากการก่อการร้ายขั้นปฐมภูมิที่ระบอบอาณานิคมทำกับคนทั่วโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ในยุคที่บรรดาฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งหลายยกพลขึ้นเรือปืนไปยึดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาเป็นเมืองขึ้น ก็ได้ใช้ความรุนแรงแบบก่อการร้ายในการยึดประเทศเหล่านั้น เอาคนที่นั่นมาอยู่ใต้การปกครองของตัว นี่คือ primary terrorism ที่ก่อให้เกิด secondary terrorism ซึ่งหมายถึงการก่อการร้ายของคนเล็ก ๆ ที่ตอบโต้เอาคืน

ถ้าลองนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์มองเมืองไทย ท่านอาจจะบอกว่าใช้ไม่ได้เพราะเมืองไทยไม่มีอาณานิคม แต่ก็มีนักวิชาการตะวันตกอธิบายในหนังสือเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ที่พิมพ์ในสิงคโปร์ว่า สิ่งที่เราเรียกด้วยภาษาของเราว่าการรวมศูนย์อำนาจการปกครองแผ่นดินมาไว้ที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มันไม่ใช่ centralization แต่เป็น internal colonialism หรือนัยหนึ่งระบอบเมืองขึ้นภายในประเทศต่างหาก

ซึ่งก่อนที่ใครจะรีบปัดข้อวิเคราะห์นี้ตกไป มันมีเหตุผลที่น่าคำนึงเพราะว่าในแง่ข้อมูล ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรวมศูนย์อำนาจและสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ขึ้น พระองค์ทรงประพาสดูงานที่ประเทศข้างเคียง อาทิ สิงคโปร์ ชวา พม่า อินเดีย ซึ่งล้วนเป็นเมืองขึ้นทั้งนั้น ดังนั้น รัฐที่พระองค์ทรงไปเห็นแม่แบบและลอกเลียนแบบสร้างขึ้นนั้น เป็นรัฐเมืองขึ้น (colonial state) เป็นรัฐที่ไม่ให้อำนาจกับคนพื้นถิ่นที่อยู่ใต้การปกครอง เป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจเพื่อสามารถรักษาความสงบและควบคุมได้

ทฤษฎีนี้ถูกนำมาพูดใหม่ในระยะหลังผ่านงานที่คนรู้จักได้ยินได้ฟังมากหน่อยคือ ปาฐกถาของ อ.ธงชัย วินิจจะกูลเรื่อง "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม" (๒๕๔๔) ซึ่งบอกว่าสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำจะบอกว่าเป็น centralization ก็ได้ แต่อันที่จริงเป็น colonization

ถ้าเรามองแบบนี้ก็จะเห็นได้ว่าภาคใต้เหมือนเป็น colony ของบางกอก ของรัฐบาลกลาง และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุรุนแรงภาคใต้ก็คือมี colonial state terrorism หรือการก่อการร้ายโดยรัฐอาณานิคมลงไปก่อน ไปอุ้ม ฆ่า ทำร้ายผู้คนมลายูมุสลิมในพื้นที่ เขาก็เลยตอบโต้ด้วย local group terrorism หรือการก่อการร้ายโดยกลุ่มท้องถิ่น

คนที่เชื่อแนวคำอธิบายนี้ในกรณีเหตุรุนแรงภาคใต้มีเยอะมาก โดยเฉพาะนักข่าวที่เกาะติดพื้นที่ จะเชื่อแบบนี้ตลอด เพราะเห็นข้อมูล เช่น คุณศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี และทีมเนชั่น คุณดอน ปาทาน ซึ่งตอนนี้ไปอยู่ศูนย์ข่าวอิสราแล้วในหนังสือ สันติภาพในเปลวเพลิง (๒๕๔๗) และนักข่าวเครือผู้จัดการ ผมเคยไปร่วมกินเลี้ยงสังสันทน์ที่หาดใหญ่กับกลุ่มอาจารย์วิทยาลัยวันศุกร์ และพบหัวหน้าข่าวผู้จัดการในท้องถิ่น มีผู้ถามหัวหน้าข่าวผู้นี้ว่าความรุนแรงชายแดนภาคใต้เกิดจากอะไร? ท่านบรรยายเป็นฉาก ๆ เลยทีเดียว

อีกกลุ่มที่เน้นคำอธิบายทำนองเดียวกันได้แก่คุณชวน หลีกภัยและพรรคประชาธิปัตย์ คุณชวนจะพูดย้ำแล้วย้ำอีกหลายวาระโอกาสว่า ขบวนการแยกดินแดนชายแดนภาคใต้มันมีมาแต่ไหนแต่ไรแต่เราคุมได้ ทว่าที่มันเกิดลุกลามร้ายแรงหนักในปัจจุบันเพราะรัฐบาลทักษิณเดินนโยบายผิด ไปอุ้มฆ่าชาวบ้านเขา คุณชวนพูดเรื่องนี้หลายครั้งและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่น ๆ ก็ไปพูดที่อื่น เช่น อดีต ส.ส. สตูล ธานินทร์ ใจสมุทร เป็นต้น. อ.ชัยวัฒน์ก็ได้ยินสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เล่าในเวทีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศมาอีกทางหนึ่ง แล้วเล่าต่อให้ผมฟัง ในหมู่นักวิชาการ ผู้เขียนงานวิเคราะห์ภาคใต้ในแนวนี้ก็เช่น อ.ภูวดล ทรงประเสริฐ แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นต้น

ประมวลความแล้วเรื่องเป็นอย่างนี้ ประมาณกลางปี พ.ศ. 2544 หลังจากที่นายกฯทักษิณขึ้นกุมอำนาจไม่นาน ก็ลงไปภาคใต้ เพราะมีเหตุเผาโรงเรียน พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ส่งนายตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งดูแลภาคใต้อยู่ไปให้ข้อมูลนายกฯ ว่าปัญหาภาคใต้กระจอก มีโจรกระจอกไม่กี่ร้อยคน จัดการแป๊บเดียวก็เสร็จ จึงเกิดการประชุมฝ่ายความมั่นคงขึ้น ในการประชุมนั้นหัวหน้าฝ่ายบริหารสูงสุดในที่ประชุมได้พูดอะไรบางอย่างที่มีคนเอ่ยอ้างถึงมากเสียจนกระทั่งพอปะติดปะต่อกันได้ แต่ไม่มีบันทึกการประชุมเป็นทางการ หรือมีผมก็ยังไม่เห็น คือพูดว่าโจรใต้มีแค่ไม่กี่ร้อยคน จัดการเดือนละสิบคนเดี๋ยวก็หมด

อันนี้ตามมากับการ normalize ภาคใต้ยุบ ศอบต. และ พตท. 43 ในเมื่อสถานการณ์เป็นปกติไม่ต่างจากภาคอื่นแล้ว เหลือโจรไม่กี่คนก็ไม่จำเป็นต้องปกครองพิเศษ จึงยุบ ศอบต. ยุบ พตท.43 เสีย ถอนทหารออก ให้กลับเข้ากรมกอง ตำรวจเข้าไปทำหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายแทน

ทีนี้ในกระบวนการนี้เกิดอะไรขึ้น? นักข่าวเหล่านี้ก็จะบรรยายว่า ศอบต. กับ พตท. 43 ที่ยุบไป จะบอกว่ามันเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นช่องทางให้ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำศาสนาท้องถิ่นเข้าถึงอำนาจมาเรียกร้องความเป็นธรรมก็ได้ ซึ่งมันก็ทำหน้าที่ในแง่นี้ด้วย หากพูดให้เข้าใจง่ายคือเหมือนเป็น clearing house เพราะภาคใต้ผลประโยชน์ธุรกิจนอกระบบเยอะมาก ไม่ว่าค้าของเถื่อน ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ ฯลฯ

หน้าที่ของ clearing house คือจัดการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ ในเมื่อรักษาสันติให้โจร เลิกก่อการร้ายแยกดินแดนมามอบตัวแล้ว ก็ต้องหาอะไรให้โจรทำเพื่อเลี้ยงตัว จะได้มีข้าวกิน คนเหล่านี้ก็อาจจะหันไปทำธุรกิจนอกระบบบ้าง ค้าของเถื่อนบ้าง ฯลฯ แบ่ง ๆ กันไปเพื่อการนี้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็อาจต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง มันอาจไม่ใช่สิ่งดีงามหรืออยู่ในกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่สิ่งที่ท่านแลกมาและรักษาไว้คือสันติภาพ ถ้าเกิดการแบ่งปันผลประโยชน์นี้มันไม่ลงตัวเมื่อไหร่ ก็จะมีการส่งสัญญาณบอกด้วยการเผาโรงเรียนบ้างล่ะ วางระเบิดบ้างล่ะ ก็เป็นอันรู้กันว่าไม่ลงตัวต้องมาเคลียร์ใหม่เพราะมันมี clearing house

ในสภาพแต่ก่อนนั้น จริงไหมที่มีอาชญากรรมอันไม่พึงประสงค์? จริงไหมที่เลี้ยงโจร? ก็คงกล่าวได้ว่าจริง... แต่นี่แหละคือวิธีรักษาสันติภาพ จะว่าไปแล้วมันก็เป็นระเบียบแบบหนึ่ง คุณจะบอกว่ามันเป็นระเบียบบัดซบก็ได้ แต่มันก็รักษาสันติไว้ได้ ทว่าสิ่งที่นายกฯทักษิณทำและตำรวจยุให้ทำนับแต่เลิกระเบียบเก่าของ ศอบต. และ พตท. 43 ไปเมื่อปี 2545 เป็นต้นมา คือสร้างระเบียบใหม่ที่พยายาม normalize มัน กวาดล้างโจรและสิ่งอันไม่พึงประสงค์ให้หมด พอตำรวจเข้าไปกุมอำนาจควบคุมดูแล พวกนี้ก็ผิดกฎหมายหมด

มิหนำซ้ำตำรวจยังเข้าไปคุมพื้นที่แบบค่อนข้างหูหนาตาบอดเพราะกุมสภาพพื้นที่ไม่ได้ ไม่มีสายข่าวของตัวเอง เท่าที่มีอยู่เดิมก็เป็นเครือข่ายสายข่าวของทหาร เพราะทหารคุมพื้นที่มาก่อน ซึ่งตำรวจก็ไม่ไว้ใจ วิธีหาข่าวของตำรวจจึงไปจับสายข่าวของทหารเดิมมารีดเค้นข้อมูล และบางรายก็จับกันเอิกเกริก อุ้มกันกลางที่สาธารณะก็มี ทำกันถึงขั้นนั้นแล้วขืนปล่อยไปก็น่าเกลียด บางทีก็เก็บเสียเลย มันก็เริ่มมีหนี้เลือดเกิดขึ้น...

นับแต่นั้นปฏิกิริยาของกลุ่มคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เพื่อต่อต้านระเบียบใหม่ของรัฐบาลทักษิณก็เริ่มต้น มีการลอบยิงลอบทำร้ายพุ่งเป้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นอย่างผิดสังเกตเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงปี 2545-2546 จนไต่ระดับไปสู่เหตุปล้นปืน 403 กระบอก และสังหารทหาร 4 นาย ณ กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่บ้านปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

การคลี่คลายของสถานการณ์หลังเหตุปล้นปืน ยิ่งนำไปสู่การขยายตัวของขบวนการก่อการร้ายยิ่งขึ้น สมมุติว่าคุณมีขบวนการก่อการร้ายอยู่ในมือ มีสมาชิก 10 คน ทำไงคุณจะมีพวกได้เยอะ คือขยายจาก 10 กลายเป็น 100 เป็น 1000 ได้อย่างไร? บทเรียนที่ผ่านมาของขบวนการในประเทศต่าง ๆ ต้องทำ 2 อย่างคือ

1) ต้องปฏิบัติการที่มัน spectacular หรือตื่นตาตื่นใจให้ชาวบ้านเห็นฝีมือสักครั้ง เช่นปล้นปืนกองพันพัฒนาเป็นร้อย ๆ กระบอกแล้วหายวับไปกับตาอย่างไร้ร่องรอยเป็นต้น ถ้าคุณเป็นคนดูอยู่ข้างนอก คงอดบอกตัวเองไม่ได้ว่าแหม...ลูกพี่ไม่เลว ฝีมือถึง ในแง่หนึ่งจึงรู้สึกเห็นกึ๋น เห็นสมรรถภาพของผู้ก่อการ. ในแง่กลับกัน

2) ชาวบ้านจะต้องเห็นความบัดซบเลวร้ายของฝ่ายรัฐฝ่ายเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นพอเกิดเหตุใหญ่ดังกล่าว ฝ่ายรัฐก็แก้ปัญหาโดยยกกองกำลังมหาศาลลงไปและกวาดจับผู้ต้องสงสัยแหลกแบบเหวี่ยงแห ทรมานเขาให้รับสารภาพ ดังกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรสืบรู้ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทรมานผู้ต้องหาปล้นปืนที่จับมา เยี่ยวใส่ปากเขา ทุบตีกระทืบเขา นี่ผิดกฎหมาย ท่านก็ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าทนายสมชายเอง กลับโดนตำรวจพวกนี้อุ้มหายสาบสูญไปจนทุกวันนี้

ทีนี้เข้าใจหรือยังล่ะครับว่าทำไมการก่อการมันขยายตัวรวดเร็วนัก? ทำไมมีคนอยากเป็นผู้ก่อการเยอะ สรุปก็เพราะ

- ขบวนการก่อการแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่ามีประสิทธิภาพ
- ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่าแย่มาก...(holy shit) จริง ๆ

มาถึงตอนนี้ท่านผู้ฟังคงสับสนงงงวย กับทฤษฎีสารพัดสารพันทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ ที่ผมจัดแบ่งนำเสนอมาตามสมควร ในท่ามกลางความสับสน ผมขอใช้ อ.ชัยวัฒน์เป็นตัวช่วยอีกที อ. ชัยวัฒน์เห็นว่าความสับสนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัญหาชายแดนภาคใต้ในสังคมไทยเกิดจากปัญหาญาณวิทยา (epistemology) ของคนไทย คือคนไทยไม่เข้าใจ 2 เรื่อง

ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น เพื่อช่วยการเข้าใจ ผมขอกล่าวเกริ่นเกี่ยวกับตัว อ.ชัยวัฒน์สักเล็กน้อย ผมเห็นว่ามนุษย์แต่ละคนมีนิยายประจำชีวิตตัวเองอยู่ คนเราไม่สามารถดำรงชีวิตในโลกใบนี้บนพื้นฐานข้อเท็จจริงอย่างเดียวล้วน ๆ ได้ตลอดหรอก เพราะโลกมันบัดซบเกินไป ทันทีที่เราจูบปากกับคนที่เรารัก ความจริงคือเรากำลังแลกแบคทีเรียกันเป็นล้าน ๆ ตัว นี่เป็นความจริงที่อยู่ด้วยยากเพราะมันทำให้ความโรแมนติคหายไปจากชีวิตของเราหมด เป็นต้น

ทีนี้เท่าที่ผมรู้จักเป็นลูกศิษย์ลูกหาและร่วมงานกับท่านมากว่ายี่สิบปี ผมพบว่านิยายประจำชีวิต อ.ชัยวัฒน์มีอยู่ 3 เรื่อง คือ

1.คนเราทั่วไปนั้นเป็นคนดี
2.คนเลวที่มีอยู่บ้างเป็นเพราะมันยังไม่รู้ หรือพูดแบบพุทธคือยังมีอวิชชา และ
3.ดังนั้น ปัญหาจริยธรรม คือปัญหาญาณวิทยา ฉะนั้นหากสอนให้เขาสว่างได้มันก็เป็นคนดีหมด อันนี้เป็นฐานคติเชิงปรัชญาแบบโสเครตีส-เพลโตของท่าน

ในทำนองเดียวกัน อ.ชัยวัฒน์จึงเห็นปัญหาภาคใต้ที่แก้ไม่ได้เพราะคนไทยไม่รู้ไม่เข้าใจ 2 เรื่อง คือ

- ปัญหา causality
- ปัญหา causation กับ justification สับสนกัน

ผมขอนำมาตีความต่อว่า
1) ปัญหา causality คือหลงผิดว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรงแล้วต้องแก้หรือขจัดตัวการก่อเหตุหรือ agency แล้วความรุนแรงก็จะหมดไป มันเกิดการปล้นปืน การอุ้มฆ่ารายวัน ใครเป็นคนทำก็จับหรือยิงมันทิ้งเสีย แก้ที่เอเย่นต์แห่งความรุนแรง เท่านี้ก็สิ้นเรื่อง อันนี้เป็นปัญหาคลาสสิกของสังคมวิทยาว่าระหว่าง structure หรือโครงสร้างกับ agency หรือตัวผู้กระทำการ อะไรคือเหตุที่แท้? คราวนี้คนไทยดันเชื่อว่าแก้ที่ตัวคนทำมันก็จบ

อันนี้เป็นวิธีคิดแบบฉบับของตำรวจ ทหารด้วย คือถ้าเราคิดในแง่องค์กรหรือสถาบัน เราสร้างหน่วยงานอย่างตำรวจขึ้นมาก็เพื่อเอาไว้จับผู้ร้าย แต่ตำรวจไม่มีหน้าที่แก้ปัญหาโครงสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง ที่เป็นเงื่อนไขก่อกำเนิดผู้ร้ายขึ้นมา นั่นเป็นหน้าที่ของนักการเมือง ดังนั้นตำรวจก็ทำแค่จับผู้ร้าย คือองค์กรทหารตำรวจโดยวิญญาณ โดยเป้าหมายของมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก็ปัญหาแค่ระดับ agency หรือผู้กระทำการ ทหารมีหน้าที่ไปต่อสู้ผู้รุกรานหรือปราบผู้ก่อความไม่สงบ แต่ไม่มีหน้าที่แก้ปัญหาการเมืองมูลฐานที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดสงครามหรือกบฏขึ้นมา

ในอดีตเผอิญเรามีทหารที่ขยายบทบาทมากเป็นพิเศษ ยืน 2 ขาอยู่ระหว่างการทหารกับการเมืองอย่างพลเอกเปรมเป็นต้น ทหารก็เลยช่วยแก้ขบปัญหาการเมืองด้วย แต่โดยองค์กรทหารเองแล้วมันมีปัญหาที่จะคิดเลยไปสู่เรื่องเชิงโครงสร้าง ดังนั้นพอคิดแบบนี้ก็เลยไม่เห็นว่าเหตุที่แท้คือโครงสร้าง (structure) ที่เป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา ถ้าโครงสร้างยังอยู่ ยังไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ต่อให้คุณจับเขาฆ่าเขาไปวันนี้ 10 คน โครงสร้างมรณะอันนั้นมันก็จะผลิตผู้ร้ายผู้ก่อการรุ่นใหม่มาพรุ่งนี้อีก 10 คน เข้าทำนองตายสิบเกิดแสน

2) สับสนระหว่างปัญหา causation หรือความเป็นเหตุเป็นผลกับ justification คือการให้ความชอบธรรม คือหลงผิดคิดว่า เหตุรุนแรงเกิดจากคำอธิบายแก้ต่างทางวัฒนธรรมที่ให้ความชอบธรรมแก่ความรุนแรง รัฐบาลทักษิณเป็นตัวอย่างความสับสนที่ว่านี้ โดยเจ้าหน้าที่ไปพบเอกสาร เบอร์ ญิฮาด เดอ ปาตานี ในตัวผู้ก่อการซึ่งอ้างอิงหลักศาสนาอิสลามมาสอนว่า ยิงตำรวจแล้วได้บุญ ฝ่ายรัฐบาลก็คิดกันว่าจะแก้ความเชื่อที่หลงผิดนี้ยังไงดี เอาอย่างนี้แล้วกัน เชิญท่านจุฬาราชมนตรีให้ช่วยจัดประชุมผู้รู้ศาสนาอิสลามออกคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตอบโต้ว่า เบอร์ ญิฮาด เดอ ปาตานี ผิดตรงไหน เหมือนป่าวร้องบอกมุสลิมทั้งหลายว่านี่คำสอนของจริงของแท้มาแล้ว เบอร์ ญิฮาด เดอ ปาตานี ที่ท่านอ่านเป็นของไม่ดี ถ้ามุสลิมได้อ่านของจริงก็จะเลิกก่อการไปเอง นี่คือความเชื่อลึก ๆ

ทหารก็เริ่มโน้มเอียงมาเชื่อแบบนี้ ผมจำได้ว่าโฆษกกองทัพบกให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปี 2548 ว่าเอาเข้าจริง ปัญหาภาคใต้เป็นการต่อสู้ทางความคิด ก็นับว่าเป็นการวิเคราะห์ที่แปลกใหม่น่าสนใจกว่าเดิม แต่พูดให้ถึงที่สุดก็ยังหยุดแค่ว่า อะไรคือคำอธิบายแก้ต่างให้แก่ความรุนแรง มันยังไม่ได้แก้ที่โครงสร้างอันเป็นต้นเหตุ มันพยายามแก้แค่คำอธิบายที่ผู้ก่อการให้กับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองในการไปก่อการ แทนที่จะเข้าใจว่าเหตุเกิดจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคม ดังนั้นจึงมุ่งขจัดแก้ไขตัวคำอธิบายแก้ต่างทางวัฒนธรรมเท่านั้น เป็นต้น

แล้วอะไรคือชุดคำอธิบายของอ.ชัยวัฒน์ ที่พยายามจะแก้จุดอ่อน ความสับสน ความไม่รู้ไม่เข้าใจเหล่านี้? ชุดคำอธิบายของ อ.ชัยวัฒน์ แบ่งความรุนแรงเป็น 3 ประเภท คือ

- physical violence,
- structural violence และ
- cultural violence
หรือความรุนแรงทางกายภาพ, ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง, และความรุนแรงทางวัฒนธรรม

1) physical violence หรือความรุนแรงทางกายภาพก็คือใครทำ ใครยิง ใครฟัน ใครวางระเบิด อันเป็นแค่ปรากฏการณ์ แต่ถึงแม้เป็นแค่ปรากฏการณ์ เราก็พึงเห็นพึงเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า มันมีพลังปลุกเร้าอารมณ์สูง มันทำให้คนเจ็บปวด สูญเสีย และโกรธแค้นมาก ในวินาทีนั้นคุณจะไปบอกเขาว่าใจเย็นก่อนพ่อแม่พี่น้อง ได้โปรดศึกษาปัญหาโครงสร้างก่อน ฯลฯ อะไรทำนองนี้ เผลอ ๆ ก็จะโดนกระทืบกลับมา แต่นึกออกไหมครับคนเขาจะหยุดการคิดอยู่แค่นี้โดยทั่วไป จะติดอยู่แค่ที่ physical violence

2) structural violence หรือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เป็นตัวสาเหตุหรือ causation ที่แท้จริง แต่เห็นยาก ต้องใช้ปัญญาและความเยือกเย็น และแก้ยากด้วย และ

3) cultural violence หรือความรุนแรงทางวัฒนธรรม ก็คือวัฒนธรรมที่ถูกใช้เป็นคำอธิบายให้ความชอบธรรมแก่ความรุนแรง สิ่งนี้ได้ยินง่าย และอาจหลงผิดคิดว่าเป็นเหตุแท้ แต่ต้องต่อสู้

ในภาคใต้เป็นเวลายาวนานพอสมควร คนมลายูมุสลิมมากหลายเขาจะบอกว่าความขัดแย้งภาคใต้ไม่ได้เป็นเรื่องศาสนา ซึ่งมีส่วนถูก เพราะมูลเหตุของความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากพุทธศาสนา เข้ากันไม่ได้กับศาสนาอิสลามในทางลัทธิคำสอน หรือชาวไทยพุทธเข้ากันไม่ได้กับชาวมลายูมุสลิมในแง่วิถีปฏิบัติทางศาสนา แต่จะบอกว่าศาสนาไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งเลยก็คงไม่ใช่ แต่ต้องเข้าใจว่ามันเกี่ยวยังไง

บางคนคิดว่าศาสนาเกี่ยวเพราะเป็นต้นเหตุ มุสลิมก็เป็นแบบนี้กันทั่วโลก ต่อต้านรุนแรง ดังนั้นเลิกเป็นอย่างนี้ได้ไหมมุสลิมน่ะ? อันนี้เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนา ทว่าในทางกลับกัน ศาสนาก็มีบทบาทในแง่ที่ถูกใช้อธิบายให้ความชอบธรรมกับการก่อความรุนแรง ฉะนั้นก็ต้องสู้ต้องโต้คำอธิบายอิงศาสนาเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าเหตุไม่ได้เกิดจากหลักคำสอนที่ถูกนำมาใช้ดอก เหตุมันอยู่ที่โครงสร้างความไม่เป็นธรรมข้างนอกต่างหาก

ก่อนที่ผมจะจบส่วนแรก มี 2 ประเด็นที่อยากจะเสนอปิดท้าย ประเด็นแรกคือเรื่องมือที่สาม ล่าสุดเชื่อกันว่ามือที่สามเบื้องหลังเหตุรุนแรงภาคใต้คืออเมริกา หลังจากเกิดเหตุวางระเบิดสนามบินและศูนย์การค้าในหาดใหญ่ จ.สงขลา พี่น้องมลายูมุสลิมภาคใต้จำนวนมากเชื่อจริง ๆ ว่าซีไอเอของอเมริกาทำ ว่ามันไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน แต่อเมริกามายุยงปั่นหัวอยู่เบื้องหลัง...

เรื่องนี้ในแง่ข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรผมไม่มีคำตอบ แต่ผมมีข้อควรคำนึง กล่าวคืออยากจะเสนอว่าการยึดมั่นถือมั่นกับ conspiracy theory หรือทฤษฎีสมคบกันวางแผนหรือมือที่สามทำนองนี้ มันมีจุดอ่อน 3 อย่าง ได้แก่

- diversion มันหันเหความสนใจของเราไปจาก ประเด็นที่เป็นปัญหาต้นเหตุเชิงโครงสร้างที่แท้จริง,
- de-politicization หรือทำให้เราไม่เห็นประเด็นทางการเมือง เพราะมัวแต่ไปสนใจประเด็นข่าวกรองความลับ ซึ่งสืบรู้พิสูจน์ได้ยากหรือกระทั่งเหลือวิสัย, และ
- disempowerment ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเราหนอก็เล็กแค่นี้ จะมีปัญญาไปสู้รบตบมือทัดทานมือที่สามมหึมาข้ามชาติลึกลับอย่าง ซีไอเออย่างไรได้...

ผมข้ออ้างอิงข้อความจากงานชิ้นหนึ่งที่ผมแปลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้: -

"จะเอาไงดีกับทรรศนะแบบซีนิกที่ไม่ค่อยเชื่อความดีความจริงใจของคนอื่น เพราะถือว่ามันก็มนุษย์ขี้เหม็นเห็นแก่ตัวเหมือนกันทั้งนั้นแหละวะ ในแง่นี้ จะมีคำแถลงของทางราชการหรือรายงานข่าวในสื่อกระแสหลักชิ้นไหนไหมที่จะให้เราปลงใจเชื่ออย่างสนิทใจได้? ในทำนองเดียวกัน ไอ้ครั้นจะไม่ใส่ใจบรรดาทฤษฎีที่ว่าเหตุร้ายต่าง ๆ ล้วนเกิดจากมือที่สามแอบคบคิดกันอยู่เบื้องหลังเสียเลยก็เห็นจะยาก เนื่องจากการก่อการร้ายทั้งหลายรวมทั้งการก่อการร้ายโดยรัฐด้วยนั้น มักมีเล่ห์เพทุบายและสปายสายลับเข้ามาเกี่ยวพันด้วยเสมอ ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องรอบคอบและขี้สงสัยไว้ก่อนเป็นดี แต่ส่วนการตามล่าหาแผนคบคิดของมือที่สามนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญไปก็แล้วกัน

แม้เพียงเท่านี้ผมก็พอเห็นผลลัพธ์บางอย่างของการก่อการร้ายได้แล้ว นั่นคือการสนทนาประสาแผนคบคิดของมือที่สามนั้นมันดึงความสนใจของนัก วิเคราะห์มือฉกาจไปจากประเด็นการเมืองสำคัญอื่น ๆ แถมยังตั้งข้อสงสัยเอากับความน่าเชื่อถือของถ้อยแถลงทางการเมืองทั้งปวงด้วย จะเห็นได้ว่า การก่อการร้ายและปฏิบัติการตอบโต้มันนั้น ทั้งหันเหความสนใจและลดคุณค่าความสำคัญของการเมืองลงแต่ต้นทีเดียว"
(อ้างจาก โจนาธาน บาร์เกอร์, "คำนำ", คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า,๒๐๐๓)

คือถ้าเราคิดว่าปัญหาภาคใต้เกิดจากซีไอเอของอเมริกาอยู่เบื้องหลัง ประทานโทษเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง? พอเราเอาอันนี้เป็นตัวตั้งในการคิดและแก้ปัญหาความรุนแรง เราจะพบว่าเราไม่มีปัญญาทำอะไร นอกจากบ่นด่า

ประเด็นต่อมาคือ ข้อคำนึงเรื่องจิตวิทยาสังคม อันนี้อาจจะเกี่ยวพันกับเรื่องที่พูดกันเมื่อวาน คือกรณีนักฟุตบอลที่อำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่ก่อการลุกขึ้นสู้แล้วถูกยิงตายทั้งทีมเมื่อ 28 เม.ย. 2547 ปรากฏว่าล้วนเป็นนักเรียนเรียนดี มันแปลว่าอะไร? ตกลงผู้ก่อการเป็นใครกันแน่? เป็นคนที่มีการศึกษา ฐานะค่อนข้างดี หรือเป็นคนที่จนตรอกและไม่มีทางออก ผมขออ้างอิงข้อความอีกตอนหนึ่งจากหนังสือเล่มเดียวกับข้างต้นมาทำความเข้าใจประเด็นนี้ กล่าวคือ: -

"กรณีเหล่านี้ยืนยันว่าเสียงร้องทุกข์เชิงวัตถุของผู้ที่ยากไร้และถูกขูดรีดที่สุดนั้น มักไม่ค่อยใช่บ่อเกิดของปฏิบัติการก่อการร้าย (ถึงแม้ว่าในการต่อต้านระบอบอาณานิคมด้วยความรุนแรงและการลุกขึ้นสู้ของชาวนานั้น บางทีชาวนาไร้ที่ดินก็โจมตีผู้เข้ามาตั้งหลักแหล่งที่ยึดครองที่ดินของตนไปเหมือนกัน) น้อยนักที่ความยากจนโดยตัวมันเองจะดลบันดาลพลังทางอารมณ์ความรู้สึกที่เรามักพบเห็นในปฏิบัติการก่อการร้าย

เอาเข้าจริงบ่อเกิดของการก่อการร้ายจึงอยู่ในความรู้สึกว่าตนถูกเหยียดหยาม ลบหลู่และดูแคลนมากกว่า ความยากจนและการขูดรีดมีความสำคัญตรงที่ มันเป็นเครื่องหมายของการเหยียดหยามซึ่งเกิดแก่กลุ่มชนอันตนถือเป็นพวก พวกนักวิเคราะห์วิจารณ์ผู้อ้างว่าความทุกข์ทรมานทางวัตถุไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายแต่อย่างใด เพราะผู้ก่อการร้ายมากมายเป็นคนชั้นกลางนั้นมองไม่เห็นว่าความเชื่อมโยงระหว่าง สภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากไร้กับปฏิบัติการทางการเมืองเกิดขึ้นผ่านความรู้สึกว่ากลุ่มที่ตนถือเป็นพวกถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม"
(โจนาธาน บาร์เกอร์, คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า, บทที่ ๕)

ถ้าที่พูดมาคลุมเครือ เข้าใจยาก ขอให้นึกถึงพวกที่เข้าป่า ตอนเกิดเหตุรัฐประหารและฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กับผม ไม่มีใครเป็นชาวนาสักคนและน้อยนักที่เป็นลูกหลานชาวนา ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาลูกหลานคนชั้นกลางชาวเมือง แต่ที่เข้าป่าเพราะ identify ตัวเองกับชาวนาและรู้สึกว่าชาวนาโดนรังแก ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น sense of identification มันทำให้คนที่ไม่ยากจนลำบากเดือดร้อน ตัวเองอาจจะไม่เคยถูกกดขี่ข่มเหงโดยตรงด้วยซ้ำไป ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมเพราะรู้สึกว่ากลุ่มชนที่ตนสำนึกสำเหนียก หมายว่าสังกัดเป็นพวกเดียวกันนั้นถูกข่มเหงรังแกดูหมิ่นดูแคลน...

ต่อเรื่อง : เจ็กและแขกในสังคมไทย (บทความต่อเนื่อง)




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
210249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

หน้าที่ของ clearing house คือจัดการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ ในเมื่อรักษาสันติให้โจร เลิกก่อการร้ายแยกดินแดนมามอบตัวแล้ว ก็ต้องหาอะไรให้โจรทำเพื่อเลี้ยงตัว จะได้มีข้าวกิน คนเหล่านี้ก็อาจจะหันไปทำธุรกิจนอกระบบบ้าง ค้าของเถื่อนบ้าง ฯลฯ แบ่ง ๆ กันไปเพื่อการนี้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็อาจต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง มันอาจไม่ใช่สิ่งดีงามหรืออยู่ในกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่สิ่งที่ท่านแลกมาและรักษาไว้คือสันติภาพ ถ้าเกิดการแบ่งปันผลประโยชน์นี้มันไม่ลงตัวเมื่อไหร่ ก็จะมีการส่งสัญญาณบอกด้วยการเผาโรงเรียนบ้างล่ะ วางระเบิดบ้างล่ะ ก็เป็นอันรู้กันว่าไม่ลงตัวต้องมาเคลียร์ใหม่เพราะมันมี clearing house

The Midnightuniv website 2006