นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University




ปัจจุบันและอนาคต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
เจ๊กและแขกกับสังคมไทย
พินิจปัญหาคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจากประสบการณ์คนไทยเชื้อสายจีน

รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ
บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้
ได้รับมาจากผู้เขียนโดยตรง ซึ่งต่อเนื่องกับการบรรยายเรื่อง
"สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต"
จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชียงใหม่
วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 842
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 24 หน้ากระดาษ A4)



เจ๊กและแขกกับสังคมไทย:
พินิจปัญหาคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจากประสบการณ์คนไทยเชื้อสายจีน

รองศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทคัดย่อ
บทความนี้ไม่มีเป้าหมายจะเสนอข้อค้นพบใหม่จากการวิจัยเกี่ยวกับ "เจ๊ก" และ "แขก" (หรือชนกลุ่มน้อยคนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู) ในสังคมไทยแต่อย่างใด หากเพียงมุ่งพยายามประมวลข้อสรุปเชิงแนวคิดทั่วไปหลัก ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์และการเมืองวัฒนธรรมของ "เจ๊ก" ในสังคมไทย เท่าที่ผู้เขียนได้เคยค้นคว้าวิจัยมาแล้ว เพื่อนำมาลองประยุกต์พิจารณาปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ผู้เป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มในรัฐชาติไทย ทว่าเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูล และสงขลา) อันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อเรื้อรังในพื้นที่ กระทั่งปะทุเป็นเหตุรุนแรงต่อเนื่องในระยะหลังนี้

เนื้อหาบทความแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่: -

๑) เปรียบเทียบความเหมือน/ไม่เหมือนที่โดดเด่นระหว่างสถานการณ์ของ "เจ๊ก" กับ "แขก" ในฐานะชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย
๒) ประมวลสรุปข้อค้นพบหลักของผู้เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์และการเมืองวัฒนธรรมของ "เจ๊ก" ในสังคมไทย, และ
๓) ทดลองเสนอหลักเค้าโครงของ "ข้อตกลงใหม่" (a new deal or modus vivendi) ระหว่าง "แขก" กับรัฐชาติไทยตามที่ประมวลได้จากทรรศนะของบุคคลและกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ อันหลากหลายทั้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสังคมไทยทั่วไป ประสานกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของ "เจ๊ก" ซึ่งอาจเป็นพื้นฐานแก่การแสวงหาทางออกให้คนไทยที่ต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันไปพลางและทะเลาะกันไปพลางอย่างสมานฉันท์ และสันติวิธีในรัฐชาติไทยสืบไป

Yet there is, I think, a sense in which ethnocentrism is inescapable,…..We can, in the end, only understand the unfamiliar by analogy with the familiar. The important thing is to extend the range of the latter and to discipline the processes of understanding by the use of rigorous and relevant comparative methods.
Steven Lukes
Liberals & Cannibals: The Implications of Diversity 2003

เจ๊กกับแขกในสังคมไทย: ความเหมือน
ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์การสร้างความสมานฉันท์ การจัดการความขัดแย้งและร่วมกันฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้ ในการประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในส่วนภูมิภาคประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ (ภาคใต้) จัดโดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (หาดใหญ่) โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ณ โรงแรมเจบีหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อเช้าวันที่ ๒๙ กันยายน ศกนี้ ผู้อภิปรายที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังเป็นพิเศษเห็นจะได้แก่ "หมอแว" หรือนายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยผู้จัด การประชุม

มูลเหตุก็เพราะนี่เป็นครั้งแรกหลังถูกปล่อยตัวเป็นอิสระมา ที่หมอแวรับเชิญขึ้นอภิปรายในเวทีสาธารณะ โดยที่เขาและเพื่อนพ้องชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในภาคใต้อีก ๓ คนได้ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจรและความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักรหรือที่เรียกกันว่าคดี "เจไอ" อันอื้อฉาวตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นมา ตามที่ประเทศสิงคโปร์ร้องขอ เนื่องจากคำซัดทอดของสมาชิกขบวนการเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือ เจไอ ชาวต่างชาติที่ถูกทางการสิงคโปร์จับกุม(2)

ระหว่างพิจารณาคดีในศาลอาญา หมอแวถึงกับหลั่งน้ำตาร้องไห้สะอึกสะอื้นกลางศาลขณะให้การว่าตัวเองถูกตำรวจซ้อมทรมานในวันจับกุม และระหว่างสอบสวนอย่างไร(3) ภายหลังถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีอยู่ร่วมสองปี ในที่สุดศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง "เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจนำมาลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง" เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ศกนี้(4) และพนักงานอัยการตัดสินใจไม่อุทธรณ์ คดีจึงสิ้นสุด(5)

ในคำอภิปราย นอกจากเล่าถึงกิจกรรมตระเวนเยือนมัสยิดและชุมชนชาวพุทธในจังหวัดนราธิวาส นับแต่ออกจากคุกเพื่อแนะนำตัวและรับฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านสำหรับเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกปีหน้า ซึ่งหมอแวไปมาแล้วถึง ๔๐๐ มัสยิดกับอีก ๑๐ ชุมชนพุทธจากทั้งหมดที่ตั้งใจจะไปให้ครบทั้ง ๖๐๗ มัสยิดทั่วจังหวัด(6) เขายังเล่าประสบการณ์ชีวิตในอดีตให้ฟัง ๒ - ๓ เรื่องเป็นตัวอย่างสะท้อนปัญหาอันเกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ได้แก่: -

เรื่องแรก หมอแวเล่าถึงพ่อของเขาว่าถึงแม้จะไม่รู้ภาษาไทย แต่ก็รู้ภาษามลายูดี ได้ประกอบอาชีพทอดปาท่องโก๋ขาย ส่งเสียเลี้ยงดูลูก ๘ คนจนกระทั่ง ๒ คนได้เป็นหมอ, ๔ คนได้เป็นวิศวกร, และอีก ๒ คนทำโรงงานผ้าบาติกของตัวเอง แต่กระนั้นเมื่อพ่อไปโรงพยาบาล กลับถูกเจ้าหน้าที่หาว่าไร้การศึกษา

เรื่องที่สอง สมัยเป็นเด็กอายุได้ ๗ ขวบ นอกจากเรียนหนังสือสายสามัญจันทร์ถึงศุกร์แล้ว หมอแวยังต้องไปเรียนศาสนาที่โรงเรียนตาดีกาทุกเสาร์-อาทิตย์ เหมือนลูกหลานมลายูมุสลิมทั่วไป(7) จึงบ่นกับพ่อว่าตนเหนื่อย แต่พ่อบอกจะไม่เรียนตาดีกาไม่ได้ มิฉะนั้นจะไม่รู้ภาษามลายู หมอแวตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า: ใครผิดที่เด็กเล็กอย่างเขาในตอนนั้นต้องเรียนถึง ๗ วัน? พ่อของเขา? หรือกระทรวงศึกษาธิการ?

เรื่องสุดท้าย ที่แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งเขาเคยทำงานอยู่ มีโต๊ะครู(8) คนหนึ่งพาภรรยามาคลอดลูกที่โรงพยาบาล และขอเข้าไปในห้องคลอดด้วยเพื่อจะได้ทำ "อาซาน" ลูกของตนทันทีที่เกิดตามประเพณีมุสลิม(9) ทว่านางพยาบาลไม่อนุญาต หลังจากนี้ โต๊ะครูก็ไม่พาภรรยามาทำคลอดที่โรงพยาบาลอีกเลย หมอแวตั้งคำถามทิ้งท้ายอีกว่า: กรณีนี้ใครผิด? ประชาชนผิดหรือนโยบายของโรงพยาบาลผิดที่ไม่เคารพประเพณีชาวบ้าน?

เรื่องเล่าของหมอแวเหล่านี้มีกังวาน (resonance) ที่กระตุ้นให้ผมหวนคิดถึงประสบการณ์ส่วนตัวในวัยเยาว์ในฐานะลูกเจ๊กโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นความฮึดฮัดขุ่นเคืองที่เห็นอาอี๊ (แม่) ถูกเสมียนที่ว่าการอำเภอตะคอกดุด่าว่าไม่รู้ภาษาไทย เมื่อไปยื่นใบคำร้องคล้าย ๆ กัน, หรือการที่เตี่ย (พ่อ) ทั้งปลอบทั้งขู่ผมสมัยอยู่ชั้น ป. ๕ ให้เรียนภาษาจีนพิเศษตอนกลางคืนเพิ่มเติมจากเรียนหนังสือไทยปกติตอนกลางวัน จากหกโมงเย็นถึงสองทุ่มตั้งแต่จันทร์ยันศุกร์ และเมื่อผมดื้อดึงขัดขืนเพราะไม่พอใจที่อดดูทีวีตอนหัวค่ำ เตี่ยก็กระหน่ำหวดน่องผมด้วยด้ามหวายไม้ขนไก่ (โกยหม่อไช่) เสียขาลายพร้อย จนผมจำต้องยอมทู่ซี้เรียนจีนที่ "สี่ต่อตงฮัก" (หรือชื่อไทยว่าโรงเรียนสีตบุตรบำรุง ซึ่งส่วนหนึ่งกลายเป็น Oriental Academy ของ ดร. ปรีดี เกษมทรัพย์ในชั้นหลัง) อยู่ถึง ๗ ปีทำนองเดียวกัน ฯลฯ

ผมได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ที่ประชุมและหมอแวฟังพร้อมทั้งเสนอต่อไปว่า กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วปัญหาเจ๊กในสังคมไทยเกิดขึ้นเพราะรัฐไทยบีบคั้นบังคับให้พวกเขาเลือกเอาว่า จะมีเอกลักษณ์ (identity) เป็น "คนจีน" หรือ "คนไทย" อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว อันฝืนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์, การเมือง, วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่พวกเขาเป็นพร้อมกันทั้งสองอย่าง

ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาเจ๊กในสังคมไทยมาผ่อนเพลายุติไปในระยะหลัง ราวสองทศวรรษที่ผ่านมาก็ด้วยรัฐและสังคมไทยยอมรับว่า It's OK to be both Thai and Jek at the same time. (เป็นอันว่าตกลง เป็นทั้งไทยและเจ็กในเวลาเดียวกัน) บางทีด้วยการยอมรับอย่างเดียวกัน ปัญหาของคนมลายูมุสลิมในสังคมไทยอาจบรรเทาเบาบางลงและแก้ตกไปก็เป็นได้

การแสวงหาความไม่เหมือน
ทว่าเมื่อผมแชร์ประสบการณ์ร่วมที่ "เจ๊ก" ดูจะมีละม้ายเหมือน "แขก" ในสังคมไทยให้ฟัง น่าสนใจว่าปฏิกิริยาตอบรับกลับเน้นไปที่ความ "ไม่เหมือน" ระหว่างชนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ทั้งสอง หมอแวกล่าวว่าประสบการณ์ของคนจีนต่างจากมลายูมุสลิมเพราะคนจีนเป็นผู้อพยพมาจากที่อื่น ขณะที่คนมลายูมุสลิมเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ในท้องถิ่นนี้มาแต่เดิม

ความจำกัดของเวลา (รายการถัดไปเป็นปาฐกถาพิเศษของคุณอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) ทำให้หมอแวไม่ได้ขยายความมากกว่านี้ อาการคันคะเยอในใจยากที่จะเการะหว่างความเหมือน/ความไม่เหมือนของเจ๊กกับแขก จึงเรื้อรังคาใจผมจนกระทั่งมาได้อ่านถ้อยความอธิบายเต็มปากเต็มคำยิ่งขึ้น ในประเด็นเดียวกันของคุณไพศาล พรหมยงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแห่งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติจากภาคประชาสังคมนอกพื้นที่, รองเลขาธิการคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย, และประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยประจำปี ฮ.ศ. ๑๔๒๖ (หรือ พ.ศ. ๒๕๔๘)(10) ในข้อเขียนของท่านเรื่อง "คนไทยเชื้อสายมลายู" ว่า: -

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับแผ่นดินปัตตานี ความเป็นชาติพันธุ์ของคนปัตตานีก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเขาเหล่านั้นจากชาติพันธุ์มลายูไปเป็นอื่นได้ เฉกเช่นเดียวกับคำประกาศอย่างภาคภูมิใจของพี่น้องร่วมชาติไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาได้ประกาศว่า "เราคือคนไทยเชื้อสายจีน" การประกาศก้องดังกล่าวกลับได้รับการขานรับยกย่องว่า เป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์ที่มีต่อบรรพบุรุษและพี่น้องชาวจีน เขาเหล่านั้นได้ประกาศให้ทราบด้วยว่าพวกเขาเพิ่งอพยพเดินทางมาสู่ดินแดนนี้ไม่ถึง ๑๐๐ ปี และที่ผ่านมาก็มีบางยุคบางช่วงที่ชาวจีนเหล่านี้ได้เคยร่วมกันก่อกบฎกลางเมืองหลวง และมีการตั้งกลุ่มตั้งแก๊งค์อิทธิพลจนทางราชการต้องปราบปราม จนมีการเสียชีวิตกันจำนวนมาก เป็นที่รู้จักกันในนามว่า "กบฎอั้งยี่"

และยิ่งในยุคที่มีการปลุกผีคอมมิวนิสต์ ก็ปรากฏว่าพี่น้องชาวจีนบางส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรลับใต้ดินต่อต้านรัฐบาล จนปัจจุบันปรากฏว่ากลุ่มชาวจีนที่เพิ่งอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยไม่ถึง ๓ ชั่วอายุคน กลับกลายเป็นกลุ่มชนที่มีอิทธิพลและควบคุมเศรษฐกิจเกือบทั้งประเทศ โดยมีคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศเป็นเพียงลูกจ้าง และผู้เช่าที่ดินทำกินไม่ต่างอะไรกับผู้อาศัย

ในขณะที่กลุ่มชนซึ่งบรรพบุรุษอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ร่วมเสียเลือดเสียเนื้อปกป้องแผ่นดิน ไม่เคยแม้แต่คิดที่จะมีอำนาจทางการเมือง การทหารหรือทางเศรษฐกิจ เพื่อการเป็นพลเมืองที่เหนือกว่าพี่น้องร่วมชาติ เพียงแค่ความแตกต่างกันทางศาสนา กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถที่จะประกาศชาติพันธุ์ของตนให้ได้รู้ว่าชาติพันธุ์ที่แท้จริงของตนคือคนไทยเชื้อสายมลายู(11)

มองจากมุมของผู้นำมลายูมุสลิมคนสำคัญ ความไม่เหมือนกันระหว่างคนไทยเชื้อสายจีนกับคนไทยเชื้อสายมลายู ถูกขีดเน้นด้วยเส้นเสียงแปร่งปร่าเฝื่อนฝาดพอสมควร และถึงแม้ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ชุดดังกล่าว จะผิดแปลกแตกต่างไม่คุ้นชินสำหรับลูกหลานเจ๊กส่วนใหญ่ผู้ไม่เคยอพยพมาจากไหน หรือนักประวัติศาสตร์ผู้ค้นคว้าข้อมูลขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีนฝ่ายต่าง ๆ ในเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอย่างไร(12) แต่ความไม่เหมือนกันกับ "เจ๊ก" หรือนัยหนึ่งลักษณะเฉพาะของชนส่วนน้อยชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในประเทศไทย ก็เป็นโจทย์ที่ชวนขบคิดค้นคว้าอย่างเยือกเย็นในทางวิชาการ

ต่อโจทย์ข้อนี้ เท่าที่สังเคราะห์รวบรวมจากงานวิชาการชิ้นต่าง ๆ พอจะประมวลลักษณะ เฉพาะที่ว่าได้ ๔ ประการใหญ่ ๆ กล่าวคือ: -

๑) คนมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้ของไทย ไม่ใช่ผู้อพยพมาจากดินแดนอื่น แต่มีรากฐานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมายาวนาน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ประชิดติดประเทศเพื่อนบ้านที่มีคนมลายูมุสลิมเป็นประชากรหลักด้วย อย่างไรก็ตามลักษณะเพียงเท่านี้ก็ไม่ถึงกับโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จำเพาะกลุ่มคนมลายูมุสลิมเสียทีเดียว เพราะคนลาวทางภาคอีสานของไทยก็มีความเป็นมาและเป็นอยู่ในสภาวการณ์คล้ายคลึงกัน

๒) ในทางวัฒนธรรม คนมลายูมุสลิมยังแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งเป็นชาวไทยพุทธทั้งทางชาติพันธุ์, ภาษาและศาสนา ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมดังกล่าวผนึกผสานเชื่อมโยงแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวในวิถีชีวิต-วิถีอิสลามของพวกเขา จนมิอาจแยกความเป็นมลายูทางชาติพันธุ์และภาษาออกจากความเป็นมุสลิมทางศาสนาได้ ปริมณฑลความแตกต่างทับซ้อนหลายชั้นดังกล่าวจึงอ่อนไหวทางวัฒนธรรมอย่างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีชนส่วนน้อยกลุ่มอื่น

ลักษณะข้อนี้สำคัญยิ่งขึ้นเมื่อมาพิจารณาว่าแม้โดยทางการรัฐไทยจะเป็นรัฐฆราวาส (secular state) ไม่ใช่รัฐศาสนาตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามหลักการแล้วรัฐประเภทนี้ควรต้องเป็นกลางทางศาสนา แต่ทว่ากล่าวในทางปฏิบัติที่เป็นจริงของ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" สถาบันพุทธศาสนามีสถานะพิเศษกว่าศาสนาอื่น ๆ ในรัฐไทยตามวัฒนธรรมการเมืองไทยแต่เดิมจวบจนปัจจุบัน (13)

๓) ยิ่งกว่านี้ หากมองให้ลึกลงและกว้างออกไปจากระดับชาติ สถานภาพชนกลุ่มน้อย (minority) ของคนมลายูมุสลิมในสังคมไทยมีบุคลิกพิเศษที่ดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ชนกลุ่มน้อยซ้อนกันสามชั้น (triple minorities) กล่าวคือ: -

ชั้นแรก: - ในระดับพื้นที่ ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อย (ราว ๓ แสนคน) ท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ (ราว ๑ ล้าน ๘ แสนคน) ในชายแดนภาคใต้

ชั้นที่สอง: - ในระดับประเทศ ชาวมลายูมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ชั้นที่สาม: - ในระดับภูมิภาค ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียอาคเนย์ (ซึ่งมีชาวมลายูอยู่ราว ๓๓๐ ล้านคนและชาวมุสลิมอยู่ราว ๒๖๐ ล้านคนในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียอาคเนย์)(14) โดยเฉพาะในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนและภาคใต้ของฟิลิปปินส์

ความสลับซับซ้อนหลายชั้นดังกล่าว ทำให้ประเด็นสิทธิของคนส่วนน้อยสำคัญโดดเด่นขึ้น มาและกดดันให้ทุกฝ่ายพึงต้องคิดเผื่อคนอื่นในเรื่องนี้ เพราะหาก "คนอื่น" ที่เป็นชนส่วนน้อยในบางระดับได้สิทธิหนึ่ง ๆ ไว้ "ฝ่ายเรา" ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยในระดับอื่น ก็ย่อมมีความชอบธรรมที่จะได้สิทธินั้นมาด้วยตามหลักความเสมอภาคของพลเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตย เนื่องจากทั้ง "เรา" และ "เขา" คือทั้งมลายูมุสลิมและไทยพุทธ ก็เป็นชนส่วนน้อยในบางระดับบางสถานการณ์เหมือนกัน มีฐานะและประสบปัญหาชะตากรรมละม้ายคล้ายกัน เพียงแต่อยู่ในระดับต่าง ๆ กันเท่านั้น

๔) ทว่าความแตกต่างเป็นพิเศษจากชนส่วนน้อยกลุ่มอื่นในประเทศไทย น่าจะอยู่ตรงคนมลายูมุสลิมบางส่วนโดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชน และผู้นำชุมชนมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างสูงว่า พื้นที่แถบนี้เคยเป็นรัฐปตานีอิสระมาแต่ก่อน ซึ่งมีอารยธรรมย้อนหลังไปยาวนานเก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัย และเคยเป็นศูนย์กลางความรู้ศาสนาอิสลามในภูมิภาคอุษาคเนย์ จนกระทั่งถูกศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯยึดครองเป็นเมืองขึ้น และผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕(15) อันเป็น "เรื่องเล่า" ต่างหากที่แตกต่างแปลกแยกจากประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับราชการไทยที่ ธงชัย วินิจจะกูลเรียกว่า "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม"(16)

สำนึกหรือ "เรื่องเล่า" ประวัติศาสตร์ฉบับ "ปตานี ดารุสสะลาม" ดังกล่าวฉายทาบทาทับจากอดีตสู่ปัจจุบันให้ผู้คนในพื้นที่อาจมองเปรียบเทียบสภาพทุกวันนี้ต่างออกไปจากสำนึกประวัติศาสตร์กระแสหลักในสังคมไทยได้ ว่าเสมือนเป็น "รัฐในรัฐ" และ "สังคมในสังคม" (หรือนัยหนึ่ง "รัฐและสังคม[ปตานีในอดีต]ในรัฐและสังคม[สยามปัจจุบัน]") อันอิหลักอิเหลื่อ ไม่ลงร่องลงตัว มันช่วยประกอบส่วนสร้างชุมชนแห่งความทรงจำและชุมชนทางศีลธรรม (community of memory & moral community) ขึ้นมาเป็น "บ้าน" หรือเอกลักษณ์ต่างหากที่กลุ่มชนมลายูมุสลิมสังกัด(17) ทำให้สามารถจินตนาการถึงความเป็น "ชาติ[ปตานี]ในชาติ[สยาม]" ที่อึดอัดขลุกขลัก ดิ้นรนแสวงหาทางเลือกทางออกไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งได้ (18)

จากการเมืองจีนสยามสู่การเมืองมลายูมุสลิมไทย
ความไม่เหมือนดังลำดับแจกแจงมาข้างต้น มีนัยกระทบต่อเนื่องที่สำคัญต่อสถานการณ์ ลักษณะและบทบาททางการเมืองของมลายูมุสลิมไทย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นได้ด้วยการเปรียบเทียบกับการเมืองจีนสยามในอดีตที่ผ่านมา

เมื่อพินิจพิจารณ์ข้อค้นพบในงานวิจัยที่ละเอียดพิสดารที่สุด ว่าด้วยบทบาททางการเมืองยุคเริ่มแรกของจีนอพยพในสยามเรื่อง การเมืองจีนสยาม: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ของเออิจิ มูราชิมา(19) เราอาจดึงข้อสรุปบางประการเกี่ยวกับการเมืองจีนสยามมาได้ว่า: -

๑) ลักษณะพิเศษแห่งสถานการณ์ทางการเมืองของจีนสยามคือ ความเหลื่อมล้ำลักลั่น ไม่ลงร่องลงตัวระหว่างรัฐกับชาติที่พวกเขาสังกัด (the non-congruence between the state and the nation) กล่าวคือพวกเขาอยู่ใต้เขตอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในทางเป็นจริง แต่กลับรู้สึกสำนึกว่าตนสังกัดชาติจีนในทางจินตนากรรม

๒) ตรงรอยปริแยกระหว่างรัฐไทยกับชาติจีนนี่เอง ที่เผยออ้าเปิดช่องให้จีนอพยพตกอยู่ใต้ข้อเรียกร้องและการอ้างสิทธิกะเกณฑ์เอาจากลัทธิชาตินิยมต่าง ๆ หลายกระแส (being subjected to the calls and claims of many nationalisms) ไม่ว่าชาตินิยมก๊กมินตั๋ง, ชาตินิยมจีนคอมมิวนิสต์, ชาตินิยมของรัฐราชการไทย เป็นต้น

๓) การเมืองจีนสยามจึงเป็นการเมืองของชุมชนอพยพพลัดถิ่น (diaspora politics) และจีนอพยพในสยามก็แสดงบทบาททางการเมืองเป็นนักชาตินิยมทางไกล (long-distance nationalists) หรือพูดง่าย ๆ ว่าพวกเขาอยู่เมืองไทยนี่แต่ดันรักชาติจีนโน่น(20)

จากนี้ เราก็อาจคิดเปรียบเทียบพิเคราะห์พิจารณ์การเมืองมลายูมุสลิมไทยออกมาได้ว่า: -

๑) ลักษณะพิเศษแห่งสถานการณ์ทางการเมืองของมลายูมุสลิมไทยคือ ความเหลื่อมล้ำลักลั่น ไม่ลงร่องลงตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างรัฐที่พวกเขาอยู่ใต้อำนาจอธิปไตย กับชุมชนที่พวกเขารู้สึกว่าตนสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พวกเขาผ่านเผชิญประสบการณ์ที่อาจทำให้เห็นไปได้ว่า รัฐมิได้พิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกเขา (มิใช่ a protective state), มิได้เป็นตัวแทนของพวกเขา (a non-representative state), มิได้เป็นรัฐแห่งชาติของเขาเอง (มิใช่ their own national state)(21)

ในกรณีนั้น ท่ามกลางสภาพที่ถูกกีดกันแบ่งแยก เลือกปฏิบัติ และแปลกแยกเสมือนมิได้เป็นหุ้นส่วนหนึ่งของชาติไทย พวกเขาก็อาจหันไปหาและรู้สึกว่า ตัวเองสังกัดชุมชนแห่งความทรงจำอื่น (ชาติปตานี) หรือชุมชนทางศีลธรรมอื่น (แนวคิดชุมชนอิสลามเอกภาพที่ครอบคลุมทั่วสากลหรือที่เรียกว่า Umma)(22) เป็นเอกเป็นหลักเหนือสิ่งใด

๒) ตรงรอยปริแยกระหว่างรัฐไทยกับชาติปตานีหรือชุมชนอิสลาม Umma นี่เองที่เป็นเงื่อนไขให้แนวคิดและขบวนการอันหลากหลายรวมทั้งชาตินิยมแยกรัฐ (separatist nationalism) และอิสลามสู้รบ (militant Islam) สามารถอ้างความชอบธรรม เรียกร้องแสวงหาความเห็นอกเห็นใจสนับสนุนเป็นแนวร่วม และกะเกณฑ์สมัครพรรคพวกเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยวิธีการต่าง ๆ

๓) การเมืองมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้ของไทย จึงเป็นการเมืองบนฐานชุมชนชาติพันธุ์ -ศาสนา (ethno-religious community-based politics) และชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูก็แสดงบทบาททางการเมืองออกมาในลักษณะนักชาตินิยมทางชาติพันธุ์-วัฒนธรรม (ethno-cultural nationalists) ผู้เรียกร้องให้ยอมรับฐานะการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายอย่างเสมอภาค และต้องการอำนาจส่วนรวม ที่สะท้อนแสดงออกซึ่งลักษณะทางวัฒนธรรมชุมชนของพวกเขา และพิทักษ์ปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น (23)

ประมวลสรุปประสบการณ์เจ๊ก
เมื่อได้พิจารณาความไม่เหมือน "เจ๊ก" หรือนัยหนึ่งลักษณะพิเศษของชนกลุ่มน้อยคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูมาบ้างระดับหนึ่งแล้ว เราก็อาจใช้ความเข้าใจดังกล่าวเป็นพื้นฐานประกอบการพินิจพิเคราะห์ เลือกสรรดัดแปลงประสบการณ์เจ๊กในสังคมและรัฐไทย เพื่อลองนำมาขบแก้ปัญหามลายูมุสลิมไทยด้วยวิจารณญาณ

ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอประมวลสรุปรวบยอดแนวคิด (conceptual synopsis) ของข้อค้นพบจากงานวิจัยเรื่องนี้ที่ผ่านมาของตัวเองจำนวนหนึ่ง เพื่อสะดวกแก่ผู้สนใจติดตามค้นคว้าต่อไป ผู้เขียนขออนุญาตนำรายชื่อบทความและหนังสือที่เกี่ยวข้องมาแสดงไว้ ณ ที่นี้: -

- "Pigtail: A Pre-History of Chineseness in Siam," Sojourn. VII:1 (February 1992), 95-122.
-แลลอดลายมังกร: รวมข้อเขียนว่าด้วยความเป็นจีนในสยาม. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ๒๕๓๗.

- จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน: คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดยรัฐของไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมนักข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, ๒๕๓๗.

- "The Story of Three Songs: Illuminations on the Cultural Politics of Thai Cultural Citizenship," Journal of Behavioral and Social Sciences, 1997:1 (April 1997), 105-28.

- "Imagined Uncommunity: The Lookjin Middle Class and Thai Official Nationalism." Essential Outsiders: Chinese and Jews in the Modern Transformation of Southeast Asia and Central Europe. Daniel Chirot and Anthony Reid, eds. Seattle and London: University of Washington Press, 1997. Pp.75-98.

- Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958. Kyoto and Melbourne: Kyoto University Press and Trans Pacific Press, 2001.

- "De-Othering Jek Communists: Rewriting Thai History from the Viewpoint of the Ethno-Ideological Other." in Southeast Asia over Three Generations: Essays Presented to Benedict R. O'G. Anderson. James T. Siegel and Audrey R. Kahin, eds. Ithaca: Southeast Asia Program Publications, Southeast Asia Program, Cornell University, 2003. Pp. 245-62.

เมืองไทยมักได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวอย่างอันโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ ที่สามารถประสานชนส่วนน้อยชาวจีนเข้ากับสังคม-วัฒนธรรมไทยได้อย่างสนิทแน่นแฟ้น ทรรศนะมองโลกในแง่ดีดังกล่าวนี้ มีรากฐานข้อเท็จจริงให้เห็นประจักษ์ในการดำเนินชีวิต ประจำวันของประชาชนไทยต่างชาติต่างภาษาอยู่ แต่ขณะเดียวกันมันก็ออกจะมองข้ามแง่มุมและเหตุปัจจัยทางการเมืองที่เกี่ยวข้องไป ทำให้ไม่เห็นคลื่นใต้น้ำของการครอบงำและความตึงเครียดทางเชื้อชาติ รวมทั้งการปรับตัวและต่อรองด้วยยุทธวิธีทางการเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ซึ่งดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับคนจีน

ลัทธิชาตินิยมโดยรัฐของไทย (Thai official nationalism) ตั้งอยู่บนสมมุติฐานประเภทเดียวกับแนวคิดเรื่อง "สังคมพหุภาพ" (plural society) ของข้าราชการเจ้าอาณานิคมอังกฤษในเอเชียอาคเนย์คนหนึ่งชื่อ John Sydenham Furnivall กล่าวคือถือว่า อันผู้คนต่างชาติต่างภาษากันเช่นคนไทยกับคนจีนนั้น "ผสมแต่ไม่ผสานกัน" และ "อยู่เคียงข้างแต่แยกต่างหากจากกัน" ("They mix but do not combine. They live side by side but separately.") (24)

ด้วยเหตุนี้ หากเราจะเลียนแนวคิดอันโด่งดังของศาสตราจารย์ Benedict Anderson ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย, เอเชียอาคเนย์และลัทธิชาตินิยมที่ว่า ชาติคือชุมชนในจินตนากรรมหรือ imagined communities แล้ว(25) ก็จะพบว่าชาติไทยได้ถูกลัทธิชาตินิยมโดยรัฐของไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐบาลทหารอำนาจนิยมจินตนากรรมว่า "ไม่เป็นชุมชน" หรือ "แบ่ง แยกเป็นก๊กเป็นเหล่า" (imagined uncommunity) เพราะคนจีนกับคนไทยผสานเข้ากันไม่ได้ ซึ่งทางเดียวที่จะสร้างชาติขึ้นมาจากสภาพไม่เป็นชุมชนดังกล่าวก็คือ ให้ชนชาติไทยครอบงำชนชาติอื่นเสียในทางการเมืองวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือให้ชนชาติอื่น ๆ ยอมหลอมละลายเอกลักษณ์ทางการเมือง และวัฒนธรรมของตัวกลายเป็นคนไทยเสียนั่นเอง

สิ่งที่เรียกกันว่า "นโยบายผสมกลมกลืน" หรือ "นโยบายสมานลักษณ์" (assimilation policy) ของรัฐไทย เอาเข้าจริงแล้วจึงเป็น "นโยบายตอน" (emasculation policy) สองทิศทาง กล่าวคือ ด้านหนึ่งมันตอนคนจีนทางวัฒนธรรมและการเมือง โดยเอาขุมพลังทางเศรษฐกิจที่ทรงพลวัตสูงสุดในประชาสังคมเมืองของไทย ไปสยบอยู่ภายใต้อุดมการณ์ชาติพันธุ์ว่าด้วย "ความเป็นไทย" (the ethno-ideology of Thainess) แบบรัฐนิยมอุปถัมภ์ ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ตอนชุมชนคนไทยและชนชาติอื่น ๆ ในชนบททางเศรษฐกิจ โดยเอาแรงงานและทรัพยากรท้องถิ่นของพวกเขาไปสังเวยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่ยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ซึ่งวางแผน ชี้นำและบริหารโดยรัฐ

แต่ถึงแม้ในทางวาทกรรม ลัทธิชาตินิยมโดยรัฐของไทยจะมีลักษณะเชื้อชาตินิยม (racism) ทว่าในการประยุกต์ใช้ที่เป็นจริง มันกลับมีลักษณะเลือกปฏิบัติและฉวยโอกาสเสมอมา หรือกล่าวให้แม่นยำขึ้นก็คือ ชาตินิยมโดยรัฐของไทย ไม่ใช่เชื้อชาตินิยมเรียบง่ายตรงไปตรงมา เท่ากับเป็น วาทกรรมที่ฉวยเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ไปใช้ในทางการเมือง (racializing or ethnicizing political discourse)

ดังจะเห็นได้ว่าแต่ไหนแต่ไร ชาตินิยมโดยรัฐของไทยไม่เคยเป็นอุปสรรคขัดขวางชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการไทยไม่ให้อุปถัมภ์ค้ำจุน ปกป้อง คบค้าสมาคมและเซ็งลี้อย่างใกล้ชิดสนิทแนบกับพ่อค้านายทุนจีนเลย จนกระทั่งการทุจริตติดสินบนแพร่ระบาดมโหฬารกลาย เป็น(อ)ธรรมเนียมปฏิบัติของข้าราชการไทยมาช้านาน ถึงขั้นลุกลามหยั่งรากลึกเป็นระบบทุนนิยมขุนนางในทางเศรษฐกิจ (bureaucratic capitalism)(26) ควบคู่กับรัฐข้าราชการ (bureaucratic polity)(27) ซึ่งรวมศูนย์อำนาจสูง แต่ขาดเอกภาพในทางการเมือง

จนอาจกล่าวได้ว่า เนื้อแท้แล้วชาตินิยมโดยรัฐของไทยมีขึ้นมาก็เพื่อการนี้ นั่นคือเป็นหลักประกันไม่ให้นายทุนจีน แปรเปลี่ยนอำนาจครอบงำในทางเศรษฐกิจของตัวไปเป็นอำนาจอิสระในทางการเมือง จะได้พึ่งพาอภิสิทธิ์อิทธิพลอุปถัมภ์จากรัฐไทยสืบไปนานเท่านาน กล่าวในแง่นี้ ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับจีนในเมืองไทย เอาเข้าจริงแล้วเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนที่ใช้วาทกรรม "ความเป็นไทย" มาเป็นสื่อจัดการแค่นั้นเอง ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้

สำหรับ "เจ๊ก" หรือคนจีนอพยพรุ่นแรก ๆ ในเมืองไทย เมื่อถูกรัฐบังคับให้ต้องเลือกเอาว่าจะธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมตามชาติพันธุ์ของตัวเองไว้ หรือ จะรักษาสมบัติทรัพย์ศฤงคารที่เพิ่งเก็บหอมรอมริบสะสมมาใหม่ให้อยู่รอด พวกเขาส่วนใหญ่ก็ทิ้งอย่างแรก เลือกเอาอย่างหลัง พูดง่าย ๆ ก็คือ "รวยไว้ก่อนดีกว่าจะเปิดตัวเป็นจีน" ส่วนบางคนในหมู่พวกเขาที่ตื่นตัวสนใจและทะเยอทะยานทางการเมือง ก็จะใช้ยุทธศาสตร์ปรับตัวต่อรองแบบยืดหยุ่นพลิกแพลง ด้วยการเล่นหรือปลอมเป็น "ไทย" ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเข้าสู่วงการเมือง ซึ่งก็ใช่ว่าจะต้องทำอะไรมากมายนัก เพียงแค่เปลี่ยนชื่อแซ่เป็นชื่อสกุลไทย เรียนหนังสือไทย หาข้าราชการไทยเป็นนายอุปถัมภ์ทางการเมือง และถ้าจำเป็นก็เข้ารับราชการเสียเอง

แต่สำหรับ "ลูกเจ๊ก" หรือ "ลูกจีน" รุ่นหลัง ๆ โดยเฉพาะรุ่นที่เติบโตภายใต้ยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ของจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสเป็นต้นมา พวกเขาเป็นผลผลิตของพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ และระบบการศึกษาแห่งชาติ ภายใต้การกำกับรวมศูนย์ของรัฐ ดังนั้นพวกเขาจึงเติบใหญ่กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของชนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีฐานะมั่งคั่ง ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร และกลมกลืนเข้ากับชนชั้นกลางเชื้อชาติอื่น ๆ ทั้งในทางวิธีคิด รสนิยมและแบบแผนการดำเนินชีวิต ภายใต้อิทธิพลของสินค้าและลัทธิบริโภคนิยมตะวันตก

พวกเขาเริ่มเห็นระบอบเผด็จการทหาร และรัฐราชการเป็นอุปสรรคกีดขวางเสรีภาพทางการเมือง และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสืบไปของตน จึงได้ลงสู่ท้องถนนกระทั่งเข้าป่าเพื่อประท้วงต่อสู้ทั้งโดยสันติวิธีและรุนแรง กับระบอบเผด็จการทหารและรัฐราชการนับแต่กลางพุทธทศวรรษที่ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา จนกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖, การฆ่าหมู่และรัฐประหาร ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙, การเข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธภายใต้การนำของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตชนบทป่าเขาในพุทธทศวรรษที่ ๒๕๒๐ มาถึงการลุกขึ้นสู้เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕

การตื่นตัวสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมจีนกันอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งความพยายามจินตนากรรมชาติไทยใหม่ ตามสื่อมวลชนระยะหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา เป็นการแสดงออกของการต่อสู้สืบเนื่องทางการเมืองวัฒนธรรมดังกล่าวนี้เอง

ทว่าถึงจะมั่งมีทรัพย์สินและเรืองอำนาจทางวัฒนธรรมขึ้นมามากเพียงใด ชนชั้นกลางโดยเฉพาะที่เป็นลูกจีนเหล่านี้ก็ยังเป็นคนส่วนข้างน้อยของประเทศ เหตุนี้เองทำให้ความเพียรพยายามของพวกเขาที่จะควบคุมและปฏิรูปรัฐราชการไทยไม่สำเร็จเรื่อยมา ทั้งนี้ก็เพราะรัฐราชการไทยอาศัยฉวยใช้ความแบ่งแยกแตกต่างจริง ๆ (real uncommunity) ทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองวัฒนธรรม ระหว่างประชาสังคมเมืองกับชุมชนชนบทส่วนข้างมากของประเทศ อันเป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจรัฐไว้ที่ส่วนกลางเบื้องบน และการพัฒนาทุนนิยมไม่ยั่งยืนต่อเนื่องกันกว่าสี่สิบปีมาธำรงรักษาอำนาจของตนไว้

ตราบเท่าที่ช่องว่างนี้ยังไม่ถูกปิด ตราบเท่าที่ชนชั้นกลางลูกจีนยังไม่พบทางที่จะผูกพันธมิตรกับคนไทยและคนเชื้อชาติอื่น ๆ ส่วนข้างมากในชนบทเป็นแนวร่วมเข้าควบคุมรัฐ ตราบนั้นชุมชนชาติใหม่ของประชาชนไทย ที่กอปรไปด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมเป็นเจ้าของร่วมกัน ก็จะยังคงอยู่ในจินตนาการเท่านั้น

ร่างเค้าโครง "ข้อตกลงใหม่" ระหว่างมลายูมุสลิมกับรัฐชาติไทย
ปัจจุบัน ปัญหาความสัมพันธ์จีน-ไทย หรือนัยหนึ่งปัญหาความสัมพันธ์ทุนกับรัฐในสังคม ไทย ได้รับการแก้ไขตกไปทางประวัติศาสตร์แล้ว กลุ่มทุนใหญ่เชื้อสายเจ๊กหรือลูกจีนที่กลายเป็น "ไทย" ได้อาศัยกำลังทุนที่สั่งสมมาจากธุรกิจสัมปทานผูกขาดและตลาดหุ้นฟองสบู่ ใช้เงื่อนไขของระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตย ผงาดเป็นอิสระทางการเมือง ผูกสัมพันธ์ทางการเมืองกับคนชนบทด้วยสัญญาประชาคม "ประชานิยม" แบบอุปถัมภ์-บริโภคนิยม เข้ายึดกุมอำนาจรัฐ และควบคุมกลไกรัฐระบบราชการ ให้รับใช้ขึ้นต่อผลประโยชน์และแนวนโยบายของตน

"ข้อตกลง" (a deal or modus vivendi) ทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันระหว่างเจ๊กกับรัฐชาติไทยนี้ เกิดขึ้นภายหลังการลุกขึ้นสู้ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖, การยุติสงครามประชาชนระหว่างขบวนการคอมมิวนิสต์กับรัฐไทย และการลุกขึ้นสู้พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา กล่าวในทางวัฒนธรรม "ความเป็นจีน" จึงมิใช่ปมด้อยในสังคมไทยที่จะต้องคอยปกปิดอำพรางอีกต่อไป ถ้าไม่ถึงกับเป็นปมเขื่องให้อวดอ้าง มันสามารถเปิดตัวออกมาปรากฏเคียงข้าง "ความเป็นไทย" ได้อย่างปกติธรรมดา หลังจากดิ้นรนท่ามกลางแรงกดดันให้ต้องเลือกเอาระหว่าง "ความเป็นจีน" กับ "ความเป็นไทย" อย่างใดอย่างหนึ่งมานานปี บัดนี้กล่าวได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่า It's OK to be both Thai and Jek at the same time.

ทว่าตราบเท่าทุกวันนี้ ดูเหมือนมันจะยังไม่โอเคที่จะเป็นทั้งไทยและมลายูมุสลิมหรือ "แขก" ในเวลาเดียวกัน "ระเบียบเก่า" ที่รัฐไทยได้จัดวางสร้างไว้ในชายแดนภาคใต้นับแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๘/๒๕๒๔ ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ ๔๓ (พตท. ๔๓) เป็นหน่วยงานแกนกลาง ถูกยุบเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงภายใต้รัฐบาลทักษิณ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ตามคำแนะนำของตำรวจ

ปรากฏว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การพยายามสถาปนา "ระเบียบใหม่" ในชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมุ่งอาศัยกำลังตำรวจเป็นหลักในการเข้ารักษาความสงบ แทนที่ทหารที่ถูกถอนกำลังกลับกรมกอง ได้เกิดการรื้อโครงสร้างสายสัมพันธ์ทางการเมืองของ "ระเบียบเก่า" ลง ปฏิกิริยาต่อต้านขัดขืนจากบุคคลสายข่าวของทหารในพื้นที่ ถูกจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยอำนาจระเบียบใหม่ ในลักษณะก่อการร้ายโดยรัฐด้วยการอุ้มฆ่าและสังหารทิ้ง

ในทางกลับกันก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกลอบสังหารทำร้ายในพื้นที่มากมายหลายครั้งผิดสังเกต(28) สถานการณ์ความรุนแรงยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อรัฐบาลทำสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัดตอนที่เป็นปัญหามากมายทั่วประเทศกว่า ๒,๐๐๐ ศพรวมทั้งในพื้นที่ภาคใต้

อาการต่อต้าน "ระเบียบใหม่" ในชายแดนภาคใต้ มาปะทุระเบิดด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ ๔ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ นับแต่นั้นเหตุรุนแรงรายวันก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง(29) สิ่งเหล่านี้เมื่อประกอบกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้(2548) ย่อมเป็นสัญญาณบ่งบอกดีที่สุดว่า "ระเบียบใหม่" ของรัฐบาลทักษิณไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มพลังฝ่ายต่าง ๆ ในชายแดนภาคใต้ มากพอที่พวกเขาจะเลือกใช้ทั้งกระสุนและ/หรือบัตรลงคะแนน ไปแสดงการคัดค้านต่อต้านมัน และก่อภาวะไร้ระเบียบที่รัฐอ่อนแอหรือกระทั่งล้มเหลว (failed state) ในการทำหน้าที่พื้นฐานที่จะปกป้องร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของพลเมืองขึ้นมา(31)

ในปรัชญาการเมืองเสรีนิยมคลาสสิค รัฐที่สูญเสีย consent หรือความยินยอมให้ปกครองของราษฎรไป ได้แต่ใช้ coercion หรือกำลังบังคับในการปกครองควบคุมและลงอาญาราษฎรถ่ายเดียวโดยสิทธิ์ขาดนั้น พูดให้ถึงที่สุดก็ไม่ต่างจากภาวะไม่มีรัฐหรือภาวะธรรมชาติ (stateless state or the state of nature)(32) ที่ปราศจากอำนาจทางการที่สถิตยุติธรรม (want of a common judge with authority) นัก และอาจเสื่อมถอยไถลไปสู่ภาวะสงคราม (the state of war) ซึ่งผู้คนใช้กำลังเข้าทำร้ายกันโดยปราศจากสิทธิ (force without right, upon a man's person) ได้โดยง่าย(33)

ถ้านี่คือภาพสะท้อนแนวโน้มสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ที่สมจริง ทางออกจากภาวะธรรมชาติที่เสมือนไร้รัฐเช่นนี้ในทางทฤษฎีการเมืองก็คือ การแสวงหาข้อตกลงหรือสัญญาประชาคมฉบับใหม่ เพื่อสร้างอำนาจทางการอันชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับได้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่อะไรเล่าคือ "ข้อตกลงใหม่" (a new deal or modus vivendi) ที่จะทำให้ชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวไทยชาติพันธุ์-ศาสนาต่าง ๆ ในรัฐและสังคมไทยต่อไปได้อย่างสมานฉันท์และสันติ?

เพื่อพยายามหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น ผู้เขียนได้อ่าน และประมวลสรุปข้อคิดเห็นและเสนอแนะของบุคคล กลุ่มองค์การและหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารทั้งสิ้น ๒๔ ชิ้น จำแนกเป็นกลุ่มตามผู้เขียน/แหล่งที่มา ได้แก่: -

หน่วยงานความมั่นคงและการปกครอง

๑) แนวทางการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘.

๒) บันทึกเรื่องแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึง ศปก.กห. ศปก.มท. ศปก.ตร, ทภ.๔สน. กปร. จาก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๑ มี.ค. ๒๕๔๗.

๓) วิเคราะห์สภาพความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ คลังสมองวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร.

๔) สรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๒๒ เม.ย. ๒๕๔๘, ปัตตานี).

๕) สรุปรายงานการรับฟังข้อมูลระดับผู้บริหารและแกนนำท้องถิ่น พร้อมข้อเสนอแนะการแก้ปัญหา ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา ระหว่างวันที่ ๔ - ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ (๕ สิงหาคม ๒๕๔๘).

๖) สัมภาษณ์ "พลตรี พิเชษฐ์ วิสัยจร รองแม่ทัพภาคที่ ๔ เศรษฐกิจพอเพียง - กุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้", นิตยสารสารคดี (๒๒ ส.ค. ๒๕๔๘).

๗) สัมภาษณ์ "พิชัย รัตนพล อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สันติวิธีกับทางออกของสถานการณ์ภาคใต้", นิตยสารสารคดี (เอกสารขาดหายไปหลายหน้า ไม่ลงวันที่).

๘) เอกสารโครงการตำบลสานสัมพันธ์ ของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ไม่ลงวันที่).

นักวิชาการและสถาบันวิจัย
๙) "ความรุนแรงและการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน" (๒๕๔๘) (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์).

๑๐) ทัศนคติเรื่องความขัดแย้งของประชาชนใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิอาเซีย มีนาคม ๒๕๔๘.

๑๑) รายงานการศึกษาปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๘ วันจันทร์ที่ ๒๗ มิ.ย. ๒๕๔๘ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร โดย นายปิยะ กิจถาวร กรรมการภาคประชาสังคมในพื้นที่ กอส.

นักคิดนักเขียนและกลุ่มอิสระในประชาสังคม
๑๒) กมล กมลตระกูล
-การสร้างสันติภาพในภาคใต้ (พ.ค. ๒๕๔๘)
-บทเรียนจากความรุนแรงในอิรัก (พ.ค. ๒๕๔๘)
-หนทางดับไฟใต้ (พ.ค. ๒๕๔๘)

๑๓) จดหมายนำและบทวิเคราะห์ยุทธศาสตร์พระราชทานในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ตอนล่าง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" โดยพลเอก ปัญญา สิงห์ศักดา นายกสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ลงวันที่ ๗ มี.ค. ๒๕๔๘.

๑๔) จดหมายเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจาก ส....(อ่านลายเซ็นไม่ออก) ลงวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๔๘.

๑๕) บะห์รูน. "ยุทธศาสตร์-แนวทาง-นโยบายเพื่อความสันติสุขของจังหวัดชายแดนภาคใต้", เนชั่นสุดสัปดาห์, ๑๔: ๖๙๑ (๒๙ ส.ค. ๒๕๔๘), ๑๔ - ๑๗.

๑๖) เอกสารการจัดตั้งกลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพถึงประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติจากนายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพลงวันที่ ๘ มี.ค. ๒๕๔๘.

องค์การศาสนาอิสลาม
๑๗) คำตอบจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ มะหะหมัด) เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลาม ฉบับปรับปรุงโดย ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หนังสือนำลงวันที่ ๒๗ มิ.ย. ๒๕๔๘.

๑๘) ไพศาล พรหมยงค์. จดทะเบียนปอเนาะ จุดเริ่มต้นหรือบทสุดท้าย และ คนไทยเชื้อสายมลายู. (ไม่ลงวันที่).

๑๙) สมาพันธ์นักเรียนเก่าอาหรับ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย (ซือมันนันญงมลายู). "สาสน์ถึงพี่น้องผู้รักสันติ" (ไม่ลงวันที่).

บุคคลและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่
๒๐) ข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จากการพบปะกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๕ - ๗ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ จังหวัดปัตตานี.

๒๑) จดหมายร้องทุกข์ของนางสาแลฮะ มะรานอ ไม่ลงวันที่.

๒๒) ใบปลิวในพื้นที่แปลโดยรัตติยา สาและ ๗ พ.ค. ๒๕๔๘.

๒๓) ระดมแนวคิดร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เชิงรุกแบบบูรณาการ ด้านการศึกษาและด้านการอุตสาหกรรมโดยนายสุชาติ มั่นคงพิทักษ์กุล นายกสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ไม่ลงวันที่).

๒๔) สรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ๒๒ เม.ย. ๒๕๔๘ (ไม่ลงชื่อผู้เขียน).

วิธีการสรุปวิเคราะห์ของผู้เขียนคือ เลือกหยิบชิ้นที่สรุปรวบยอดแนวคิดและนำเสนอข้อ เสนอได้เป็นระบบและกว้างขวางครอบคลุมที่สุด แล้วสังเคราะห์ประเด็นหลักแกนออกมาเป็นตัวตั้ง จากนั้นจึงค่อยเพิ่มเติมบทสรุปสังเคราะห์จากเอกสารชิ้นอื่นที่เป็นระบบ หรือครอบคลุมน้อยกว่าเข้าไป ชิ้นที่ผู้เขียนเลือกเป็นตัวตั้งได้แก่ ๑๕) บะห์รูน. "ยุทธศาสตร์-แนวทาง-นโยบายเพื่อความสันติสุขของจังหวัดชายแดนภาคใต้", เนชั่นสุดสัปดาห์, ๑๔: ๖๙๑ (๒๙ ส.ค. ๒๕๔๘), ๑๔ - ๑๗.

สำหรับผลการสรุปวิเคราะห์ข้อเสนอทางออกสำหรับปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้เป็นดังนี้คือ: -
๑) สร้างชุมชนทางการเมืองขึ้นมาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

- ปลุกพลังชุมชนขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการแก้ปัญหา โดยมีฐานะเป็นภาคีที่เสมอภาค อิสระ เป็นตัวของตัวเองกับภาครัฐในระดับพื้นที่

- เป้าหมายคือสร้างชุมชนทางการเมืองที่อิสระและหลากหลายทางวัฒนธรรม (a culturally diverse & autonomous political community) ที่รักสันติ, สามารถแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งภายในได้เอง, ดำเนินงานภายใต้กรอบสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อไปแก้ไขประดาความอยุติธรรม

- ชุมชนทางการเมืองดังกล่าว ต้องมีสถาบันแทนตนระดับพื้นที่ที่สามารถแทนตน พลังสังคมอันหลากหลายและเข้มแข็ง ในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงเพื่อร่วมทำงานควบคู่ไปกับภาครัฐ

- ในการนี้ มวลชนระดับหมู่บ้านเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชี้ขาดที่จะต้องเข้าถึง ช่วงชิงและปลุกพลังให้เข้าร่วมให้ได้

- ปัญหาหลักของภาครัฐได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งของผู้นำหน่วยงานราชการต่าง ๆ ด้วยเหตุผลทางการเมือง

๒) เปลี่ยนเอกลักษณ์ไทยให้หลากหลาย

- ต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นทางการ (legal constitution) ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากมาตราต่าง ๆ ที่มีลักษณะโลกวิสัย (formal secularistic provisions) ในแง่ประกันความเสมอภาค หลากหลาย เปิดกว้างทางศาสนา ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม

- ต่อ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" (cultural constitution หรือนัยหนึ่งแบบแผนวัฒนธรรมการเมืองไทยดังที่เป็นอยู่) ผลักดันแบบแผนปฏิบัติและการสร้างสถาบันแก้ไขข้อพิพาทจากเดิมซึ่งมีลักษณะวัฒนธรรมเดี่ยว (monocultural แบบไทยพุทธ) ให้เปลี่ยนไปในทิศทางพหุวัฒนธรรม (multicultural)

- เมื่อเทียบกับข้อตกลงทางวัฒนธรรม (cultural deal) ที่รัฐไทยเคยทำกับเจ๊กโดยให้เจ๊กคงวัฒนธรรมจีนได้ในปริมณฑลชุมชนและส่วนตัว (community & private spheres) แต่ยอมรับวัฒนธรรมราชการไทยในปริมณฑลสาธารณะและทางการ (public & official spheres)นั้น ในกรณีมลายูมุสลิมภาคใต้ อาจต้องขยับเส้นแบ่งให้วัฒนธรรมมลายูมุสลิม เคลื่อนจากปริมณฑลชุมชนและส่วนตัว เข้าไปสู่ปริมณฑลสาธารณะและทางการมากขึ้น อย่างน้อยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่มลายูมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่และถือตนเป็นเจ้าของพื้นที่

- ปัญหานโยบายวัฒนธรรมของรัฐคือเน้นมิติศาสนาอิสลาม, ละเลยมิติชาติพันธุ์มลายู, และพุ่งเป้าเล่นงานปอเนาะ

๓) การประคับประคองและปฏิรูปเศรษฐกิจชายแดนใต้

- ปัญหานโยบายเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมาคือ ดึงคนมุสลิมเข้าเศรษฐกิจหลัก เน้นพื้นที่มีศักยภาพ แต่ละเลยพื้นที่ยากจน

- ถ้าหากข้อตกลงทางเศรษฐกิจ (economic deal) ที่รัฐไทยทำกับเจ๊กคือเปิดกว้างให้เจ๊กพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม โดยรัฐเก็บภาษีและค่าเช่าเศรษฐกิจแล้ว ต่อมลายูมุสลิมพึงปรับเปลี่ยนเป็นสร้างเศรษฐกิจโดยรวมให้สมดุล โดยเปิดทางให้ชาวบ้านเลือกเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนา และวิถีชีวิตเดิมของตน

- ต่อเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ซึ่งรับผลกระทบรุนแรงต่อเนื่อง จากภัยธรรมชาติและความไม่สงบ ขอให้ภาครัฐผ่อนปรนภาษี ตั้งกองทุนช่วยเหลือ และภาคธนาคารพาณิชย์ลดหย่อนผ่อนปรนดอกเบี้ย

เชิงอรรถ : --------------------------------
(1) บทรายงานฉบับนี้ เสนอต่อการประชุมกลุ่มย่อยกลุ่มที่ ๑ เรื่องความสมานฉันท์บนความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ในการสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเรื่อง "สู่สังคมสมานฉันท์" ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, ๒๖ - ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘

(2) ตามคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเองในรายการวิทยุนายกฯทักษิณพบประชาชนเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ อ้างถึงในคำพิพากษาศาลอาญาคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๘๒/๒๕๔๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๐๖/๒๕๔๘, ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายโจทก์ กับ นายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ จำเลยที่ ๑ นายมัยสุรุ หะยีอับดุลเลาะ จำเลยที่ ๒ นายมุญาฮิด หะยีอับดุลเลาะ จำเลยที่ ๓ นายสมาน แวกะจิ จำเลยที่ ๔, ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘, น. ๔๓.

(3) "หมอคดี"เจไอ"ร่ำไห้กลางศาล ถูกทรมาน! จับนั่งรถใช้ถุงผ้าคลุมหัว ตระเวน100 กม.เค้นข้อมูล," มติชนรายวัน, ๓ ก.พ. ๒๕๔๘, น. ๑; และ "น.พ. แฉเค้นในค่าย ตชด.สงขลา อ้างถูกอุ้มชื่อพ้อง หน.เบอร์ซาตู," มติชนรายวัน, ๔ ก.พ. ๒๕๔๘, น. ๑.

อนึ่ง [การจับกุม -> มักซ้อมทรมานให้ผู้ต้องหารับสารภาพในชั้นสอบสวน -> แต่แล้วศาลก็พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยเป็นอิสระในที่สุด เพราะหลักฐานอ่อน] นี้ดูจะเป็นแบบแผนที่ค่อนข้างคงเส้นคงวาของการดำเนินคดีด้านความมั่นคงในชายแดนภาคใต้ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในระยะสองปีหลังนี้หลายคดี ดูรายงานข่าวและบทวิเคราะห์เปรียบเทียบใน เกษียร เตชะพีระ, "สิทธิเสรีภาพกับเอกราชอธิปไตย," มติชนรายวัน, ๑๗ มิ.ย. ๒๕๔๘, น. ๖; สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร, "ยกฟ้อง ๓ ผู้ต้องหาคดียิงน.ศ.มอ.," มติชนรายวัน, ๒๑ ต.ค. ๒๕๔๘, น. ๒; และ "ศาลพิพากษายกฟ้อง ๔ คดีดัง "ภาพ ๗๐ ไร่-เล่าต๋า-ป่วนใต้" สะท้อนศักยภาพ"ตร.-อัยการ," มติชนรายวัน, ๓๐ ต.ค. ๒๕๔๘, น. ๑๒.

(4) คำพิพากษาศาลอาญาคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๘๒/๒๕๔๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๐๖/๒๕๔๘, ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘.

(5) "ไม่ยื่นอุทธรณ์จบคดี"หมอแว"," ข่าวสด, ๗ ก.ค. ๒๕๔๘.

(6) "หมอแว'หยุดกิจกรรมประชาสังคมลุยหาเสียงส.ว.," เว็บข่าวประชาไท, ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘,
www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=5319.

(7) โรงเรียนตาดีกา "หมายถึงโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามประจำมัสยิดระดับชั้นเด็กเล็ก เพื่อปูพื้นฐานด้านศาสนาอิสลาม มักสอนกันในวันเสาร์-อาทิตย์ช่วงกลางวัน หรือบางแห่งอาจสอนเวลา ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. ทุกวัน....." อ้างจาก ภูมิบุตรา (นามแฝง), "ภาคผนวก (๓) คำอธิบายศัพท์เพิ่มเติม", ๑๐๖ ศพ ความตายมีชีวิต (กรุงเทพฯ: คณะบุคคลสำนักพิมพ์เขียนแผ่นดิน, ๒๕๔๗), น. ๒๕๕.

(8) โต๊ะครู "หมายถึงเจ้าของปอเนาะหรือสถาบันการศึกษาทางศาสนาอิสลาม ผู้ที่จะเป็นโต๊ะครูต้องเรียนมาทางศาสนาในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ การเรียนทางศาสนาอาจไม่มีการจัดระดับชั้นว่าจบมาจากชั้นไหน ไม่จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรรับรอง แต่วัดจากความรู้ของผู้นั้น ซึ่งคนที่รู้ทางศาสนาจะยอมรับคนที่มีความรู้ด้วยกัน เมื่อมีปัญหาทางศาสนา โต๊ะครูจะสามารถอธิบายหรือสอนคนอื่นได้ ภายหลังเมื่อมีการจัดระเบียบปอเนาะเป็น "โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม" แล้ว เจ้าของโรงเรียนยังเรียกว่า "โต๊ะครู"..." อ้างจาก ภูมิบุตรา (นามแฝง), ๑๐๖ ศพ ความตายมีชีวิต, น. ๒๕๗.

(9) คู่มือวัฒนธรรมมลายูมุสลิมได้อธิบายธรรมเนียมประเพณีนี้ว่า "เมื่อเด็กเกิด ผู้เป็นพ่อจะกระซิบใส่หูลูกน้อยเป็นถ้อยความ azan ทางหูขวาและ iqamat ทางหูซ้าย ทั้งนี้เพื่อปัดเป่าภยันตรายให้เด็กและเป็นการประกาศว่าทารกนี้เป็นมุสลิม" ดู Asiapac Editorial, Gateway to Malay Culture (Singapore: Asiapac Books Pte Ltd., 2005), p. 56. การ์ตูนอัตชีวประวัติของ Lat นักเขียนการ์ตูนยอดนิยมของมาเลเซีย ได้บรรยายประเพณีนี้ไว้ในฉากการเกิดของตนว่า:

"ไม่กี่นาทีให้หลัง (จากตนเองคลอด) พ่อก็มายืนอุ้มผมไว้ในอ้อมแขนที่ชานบ้าน แล้วกระซิบคำเรียกบิลาลใส่หูผมเบา ๆ เหมือนดังพ่อมุสลิมที่ดีคนไหน ๆ เขาก็ทำกันกับลูกเกิดใหม่ของตัว"
ดู Lat, The Kampung Boy (Kuala Lumpur: Berita Publishing Sdn. Bhd., 1994), p. 1. คำแปลจากอังกฤษเป็นไทยทั้งสองแห่งเป็นของผู้เขียน

(10) ไพศาล พรหมยงค์เป็นบุตรของนาย แช่ม พรหมยงค์ หรือหะยีซำซุดดิน มุสตาฟา ผู้นำชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ที่ร่วมงานขบวนการเสรีไทยกับสมาชิกคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปรีดี พนมยงค์ สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงคราม นายแช่มได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีและมีบทบาทสำคัญร่วมกับรัฐบุรุษอาวุโสและนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ ในการแก้ปัญหาขบวนการแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๘- ๒๔๘๙

สำหรับบทบาทโดดเด่นของคุณไพศาล ในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยหลายปีหลังนี้รวมทั้งความขัดแย้งเรื่องการจัดงานดังกล่าวในหมู่ชาวไทยมุสลิม โปรดดูบทความพิเศษในเว็บไซต์ของงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยประจำปีนี้: ฮัจยีไฟซอล บินซำซุดดี, "เมาลิดินนบีถึงเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย" (www.maolidthai.com/subindex.php?page= show&id=13)

(11) ไพศาล พรหมยงค์, "คนไทยเชื้อสายมลายู" (เอกสารสำเนาไม่ปรากฏที่พิมพ์ สำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์ แต่น่าจะเป็นภายในปี(พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘).

(12) โปรดพิจารณา เออิจิ มูราชิมา, "สัมพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่นกับชาวจีนในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง", แปลโดยเออิจิ มูราชิมาและนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ฮายาโอะ ฟูกุย, บรรณาธิการ, ญี่ปุ่น-ไทย-อุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ: โครงการ Core University ธรรมศาสตร์-เกียวโต และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๑).

(13) แนวคิดดังกล่าวและคำอธิบายเรื่องนี้อยู่ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย," สุพจน์ แจ้งเร็ว, บรรณาธิการ, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๘), โดยเฉพาะหน้า ๑๔๘-๕๑. ความตอนหนึ่งว่า: -

"พระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ศาสนาหนึ่งที่พลเมืองทุกคนมีเสรีภาพจะเลือกนับถือ ไม่ต่างไปจากศาสนาอื่น ๆ แต่พระพุทธศาสนามีสถานะพิเศษในรัฐไทย รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรทุกฉบับกำหนดให้องค์พระประมุขต้องเป็นพุทธมามกะ ราชพิธี, รัฐพิธี, และพิธีกรรมที่หน่วยราชการจัดขึ้นแทบทุกอย่าง มักมีพิธีสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วย รัฐเข้ามาอุดหนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศด้วยเงินภาษีอากรซึ่งเก็บจากพลเมืองมุสลิม, คริสต์, ฮินดูและซิกข์

"ฉะนั้นรัฐไทยจึงไม่ใช่รัฐฆราวาสแท้ ๆ เหมือนรัฐในยุโรปตะวันตก.....จะเขียนหรือไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐไทยเป็นรัฐพระพุทธศาสนา.....เราจัดให้พระพุทธศาสนามีสถานะพิเศษกว่าศาสนาอื่น ๆ รัฐไทยเป็นกลางระหว่างศาสนาคริสต์, อิสลามหรือฮินดู แต่รัฐไทยเจตนาและแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่าจะลำเอียงเข้าข้างพระพุทธศาสนา

"ถึงจะเขียนหรือไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ และตราไว้อย่างเปิดเผยชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมอยู่แล้ว"

(14) Gateway to Malay Culture, p. 1, 26.

(15) สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ, รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘). โดยเฉพาะบท "คำนำบรรณาธิการ", "บทนำเกียรติยศ: เรื่องเล่าจากชายแดน" โดย ธงชัย วินิจจะกูล, และ "ปตานี ดารุสสะลาม (มลายู-อิสลาม ปตานี) สู่ความเป็น "จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส" โดย รัตติยา สาและ

(16) ธงชัย วินิจจะกูล, "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่ หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม, ๒๓: ๑ (พฤศจิกายน ๒๕๔๔), ๕๖-๖๕.

(17) ดูคำอภิปรายแนวคิด community of memory ใน Daniel Bell, Communitarianism and its Critics (Oxford: Clarendon Press, 1993), Act IV: On the Importance of the Nation; ส่วนบทบาทความสำคัญของ moral community ทางการเมือง โปรดดู Jonathan Barker, The No-Nonsense Guide to Terrorism (London: New Internationalist & Verso, 2003), pp. 87-95.

(18) ความเปรียบเหล่านี้เป็นของ ธงชัย วินิจจะกูล ใน "บทนำเกียรติยศ: เรื่องเล่าจากชายแดน," ในสุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ, รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์, หน้า ๒-๓๐; และ ธงชัย วินิจจะกูล, ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ ๑๔ ตุลา, ๒๕๔๘), หน้า ๖๗-๗๘.

(19) เออิจิ มูราชิมา, การเมืองจีนสยาม: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๔๑, เออิจิ มูราชิมาและวรศักดิ์ มหัทธโนบล, แปล (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙).

(20) ดัดแปลงจาก เกษียร เตชะพีระ, "ชวนอ่านการเมืองจีนสยาม (ตอนจบ)," ผู้จัดการรายวัน, ๘ เม.ย. ๒๕๓๙, น. ๘.

(21) Barker, The No-Nonsense Guide to Terrorism, p. 90.

(22) L'Islam: Histoire & Patrimoine (Toulouse: Milan Presse, 2004), p. 50.

(23) Barker, The No-Nonsense Guide to Terrorism, p. 52, 54.

(24) John Sydenham Furnivall, Colonial Policy and Practice : A Comparative Study of Burma and Netherlands India (New York: New York University Press, 1956).

(25) Benedict Richard O'Gorman Anderson, Imagined Communities : Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (London: Verso, 1983).

(26) งานวิชาการคลาสสิคเรื่องนี้ได้แก่วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ที่ต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือของ สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๓) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, ๒๕๒๖).

(27) งานคลาสสิคทางรัฐศาสตร์เรื่องนี้ที่รู้จักกันดีย่อมได้แก่ Fred Warren Riggs, Thailand: The Modernization of a Bureancratic Polity (Honolulu: East-West Center Press, 1966).

(28) สุภลักษณ์ กาญจนขุนดีและดอน ปาทาน, สันติภาพในเปลวเพลิง (กรุงเทพฯ: บริษัทเนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, ๒๕๔๗), น. ๓๐๑-๐๕.

(29) "ผลวิจัยฯชี้รัฐบาลทักษิณมีส่วนโหมไฟใต้," ประชาไท, ๒๑ ธ.ค. ๒๕๔๗, www.prachathai. com.

(30) "ชัยวัฒน์ สถาอานันท์...ตั้ง 'ปุจฉา'ทรท. วืดเจาะใต้," มติชนรายวัน, ๑๐ ก.พ. ๒๕๔๘, น. ๑๑.

(31) "สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์...สันติวิธีมิใช่ไม่สูญเสีย และสูญเสียมิใช่พ่ายแพ้," ประชาไท, ๓๐ ก.ย. ๒๕๔๘, www.prachathai.com; นิธิ เอียวศรีวงศ์, "แดนไร้รัฐ", มติชนรายวัน, ๑๑ ก.ค. ๒๕๔๘, น. ๖.

(32) ดูบทวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ภาคใต้อันแหลมคมในประเด็นนี้ได้ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ประเทศไทยที่หายไป," มติชนรายวัน, ๑ ส.ค. ๒๕๔๘, น. ๖.

(33) John Locke, "Second Treatise," Two Treatises of Government (New York: New American Library, 1965), Chapter II Of the State of Nature, Chapter III Of the State of War, Chapter VII Of Political or Civil Society.





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
220249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับแผ่นดินปัตตานี ความเป็นชาติพันธุ์ของคนปัตตานีก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเขาเหล่านั้นจากชาติพันธุ์มลายูไปเป็นอื่นได้ เฉกเช่นเดียวกับคำประกาศอย่างภาคภูมิใจของพี่น้องร่วมชาติไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาได้ประกาศว่า "เราคือคนไทยเชื้อสายจีน" การประกาศก้องดังกล่าวกลับได้รับการขานรับยกย่องว่า เป็นการแสดงถึงความซื่อสัตย์ที่มีต่อบรรพบุรุษและพี่น้องชาวจีน เขาเหล่านั้นได้ประกาศให้ทราบด้วยว่าพวกเขาเพิ่งอพยพเดินทางมาสู่ดินแดนนี้ไม่ถึง ๑๐๐ ปี และที่ผ่านมาก็มีบางยุคบางช่วงที่ชาวจีนเหล่านี้ได้เคยร่วมกันก่อกบฎกลางเมืองหลวง และมีการตั้งกลุ่มตั้งแก๊งค์อิทธิพลจนทางราชการต้องปราบปราม จนมีการเสียชีวิตกันจำนวนมาก เป็นที่รู้จักกันในนามว่า "กบฎอั้งยี่"

The Midnightuniv website 2006