นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University



สับเละเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์กระแสหลัก

บททดลองเสนอ
เสรีนิยมใหม่ สังคมไทยไร้ทางเลือกจริงหรือ?

ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักแปลและนักวิชาการอิสระ

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 801
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)


บททดลองเสนอ: "เสรีนิยมใหม่ สังคมไทยไร้ทางเลือกจริงหรือ?"
สับเละ เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์กระแสหลัก


ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) เป็นแนวคิดทางการเมือง-เศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนประมาณ 25-30 ปีมานี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นพัฒนาการอีกขั้นตอนหนึ่งของระบบทุนนิยม ที่เกิดมาพร้อมกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ เน้นการลดขนาดและลดบทบาทของรัฐ ส่งเสริม "ตลาดเสรี" ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้กลไกตลาดกำกับดูแลตัวเอง ลดระเบียบข้อบังคับในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจและการลงทุนข้ามชาติ นับตั้งแต่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ฝ่ายทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่เชื่อว่า นี่คือชัยชนะขั้นเด็ดขาดทั่วโลก ดังคำพูดของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ที่ว่า "เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว"

แต่คำพูดเช่นนี้ออกจะดูแคลนมนุษย์และจินตนาการของมนุษย์มากไป หากมองด้วยสายตาของเวลานับพันนับหมื่นปีที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่มาได้โดยยังไม่ล่มสลาย เวลาของลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมใหม่อาจเปรียบได้กับกาละแค่ชั่วกะพริบตาเดียว มิหนำซ้ำ ลัทธินี้ยังเป็นระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่สร้างความปั่นป่วนและวิกฤตการณ์ยิ่งกว่าระบบใด ๆ ที่เคยมีมา ไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยที่จะคิดว่า โลกและมนุษย์ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว

แต่ปัญหาก็คือ เหตุใดคนส่วนใหญ่จึงปักใจเชื่อว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นอีก ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ประสบความสำเร็จสูงสุด น่าจะเป็นการครองความเป็นใหญ่ทางด้านอุดมการณ์ ที่เป็นเช่นนี้มิใช่เพราะมันมีระบบคิดที่สมเหตุสมผลยอดเยี่ยม หรือมีข้อมูลหลักฐานสนับสนุนความน่าเชื่อถือที่แข็งแกร่ง ตรงกันข้าม ในบรรดาระบบคิดใหญ่ ๆ เท่าที่เคยมีมา ลัทธิเสรีนิยมใหม่จัดว่า มีความพิการทางเหตุผลและมีข้อมูลสนับสนุนความน่าเชื่อถือของตัวมันเองน้อยมาก เพียงแต่มันมีความสามารถยอดเยี่ยมในการปิดกั้นจินตนาการของคน ตีกรอบการมองของคนให้เห็นอยู่แค่ช่องทางเดียว นั่นคือ รางรถไฟสายเสรีนิยมใหม่ เท่านั้น

การที่เปรียบลัทธิเสรีนิยมใหม่เหมือนรางรถไฟ ไม่ใช่ถนนหรือการเดินทางแบบอื่น ๆ ก็เพราะแนวคิดทางเศรษฐกิจในระบบเสรีนิยมใหม่มุ่งความเติบโตเพียงอย่างเดียว ดังความเชื่อที่ว่า หากไม่เติบโตก็เท่ากับตาย ลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงมุ่งหน้าไปอย่างดันทุรัง จะเลี้ยวกลับก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็อิหลักอิเหลื่อ จะออกนอกเส้นทางก็ไม่ได้ ทำได้เพียงแค่แล่นไปตามรางด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ มีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้นคือ วิ่งไปจนสุดสถานีปลายทางที่ไม่รู้ว่าที่ไหน หรือไม่ก็ตกรางไปทั้งขบวน ส่วนมนุษยชาติที่แออัดอยู่ในโบกี้ของขบวนรถไฟสายเสรีนิยมใหม่ ได้แต่นั่งตาปริบ ๆ มองดูชะตากรรมของตนเองตกอยู่ในกำมือของหัวรถจักรที่ไม่มีใครรู้ว่า ใครเป็นคนขับ หรือมีคนขับหรือเปล่า

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ครอบงำการมองของคนได้ ด้วยการสร้างและผลิตซ้ำข้ออ้างเหตุผลผิด ๆ (fallacy) บางประการ หากเราต้องการทลายกรอบการมองที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ตีกรอบไว้ให้เรา เพื่อให้มองเห็นทางเลือกอื่น ๆ เราต้องรื้อทลายมายาคติที่เป็นรากฐานในการอ้างความชอบธรรมของลัทธินี้เสียก่อน

ข้ออ้างเหตุผลผิด ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์
วิชาเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อันได้แก่ สำนักคลาสสิกและนีโอคลาสสิกนั้น เป็นพื้นที่ทางสังคมศาสตร์ที่อยากจะเรียกว่า พื้นที่ลับแลทางสังคมศาสตร์ หมายถึง มันเป็นพื้นที่ปิดที่ไม่ค่อยรับแนวคิดจากภายนอกหรือจากชุมชนความรู้ทางสังคมศาสตร์อื่น ๆ อันที่จริง นักเศรษฐศาสตร์บางคนอาจไม่ยอมรับว่า พื้นที่ความรู้ของตนเป็นสังคมศาสตร์ด้วยซ้ำไป แต่พอใจจะทึกทักว่า วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จึงวางตัวอยู่บนหอคอยงาช้าง คอยผลิตทฤษฎีบทแปลก ๆ ออกมา แล้วสมอ้างว่า ทฤษฎีบทเหล่านี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนต้องยอมรับ

แต่โดยทั่วไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่ เป็นนักวิชาการที่อ่อนด้อยในด้านปรัชญามากที่สุด รู้ประวัติศาสตร์น้อย (เพราะแม้แต่วิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ยังมักกลายเป็นแค่วิชาเลือกในหลาย ๆ สถาบัน) ไม่รู้เรื่องทางด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาเลย คำนวณทางด้านคณิตศาสตร์เก่ง แต่ไม่รู้ข้อมูลเชิงปริมาณในโลกของความเป็นจริง ความคับแคบของวิชาเศรษฐศาสตร์นี่เอง ทำให้นักศึกษาหัวกะทิกลุ่มหนึ่งในสถาบันทางเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของฝรั่งเศส (Ecole Normale Superieure [ENS]) ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรการเรียนการสอนของวิชาเศรษฐศาสตร์ จนนำไปสู่การสร้างขบวนการที่เรียกว่า Post-Autistic Movement ในราวปี ค.ศ. 2000

ขบวนการ Post-Autistic Movement วิจารณ์ว่า การเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสำนักอเมริกันนีโอคลาสสิก มีลักษณะเหมือนเด็กออทิสติก นั่นคือ ฉลาดมาก แต่คับแคบและไม่สนใจโลกภายนอก เน้นการคำนวณทางคณิตศาสตร์และการสร้างแบบจำลองเสมือนเป็นคำตอบต่อปัญหาทั้งหมด แต่ขาดการรับรู้ข้อมูลในโลกความเป็นจริง

การลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ระดับหัวกะทิ ถึงกับทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาประเด็นนี้ โดยมี ฌอง-ปอล ฟีตูชี (Jean-Paul Fitoussi) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ผลจากรายงานของคณะกรรมการชุดนี้ได้ข้อสรุปว่า ข้อเรียกร้องและวิพากษ์วิจารณ์ของนักศึกษามีมูลความจริง การเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ควรมีการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ควรมีการเพิ่มหลักสูตรที่วิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันละเลยไป อาทิเช่น ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ความเคลื่อนไหวนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในสถาบันชั้นนำของประเทศอื่น ๆ เช่น กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น แต่ดูเหมือนอาจารย์เศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะไม่สะดุ้งสะเทือนกับข้อวิพากษ์เหล่านี้เลย

วิชาเศรษฐศาสตร์น่าจะเป็นวิชาเดียวในสังคมศาสตร์ ที่ทึกทักว่าวัตถุที่ตัวเองศึกษา กล่าวคือระบบเศรษฐกิจ เป็นระบบกายภาพที่ครอบคลุมระบบกายภาพอื่น ๆ ไว้ทั้งหมด โดยที่ระบบกายภาพอื่น ๆ เช่น โลกธรรมชาติ มนุษย์ เป็นแค่ระบบย่อยของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถเอามาคำนวณด้วยคณิตศาสตร์แบบกลไกได้ ทุกอย่างแปรเป็นต้นทุนที่เอามาคำนวณทางเศรษฐกิจได้หมด หรือไม่ก็มองว่าไม่ต้องเอามาคำนวณ เพราะอยู่นอกระบบ เช่น ความเสียหายทางด้านนิเวศวิทยา เป็นต้น

นักเศรษฐศาสตร์มักแกล้งมองข้ามความเป็นจริงพื้นฐานที่สุดประการหนึ่ง กล่าวคือ ระบบกายภาพอื่น ๆ ต่างหากเป็นสิ่งที่รองรับระบบเศรษฐกิจเอาไว้ และหากระบบกายภาพอื่น ๆ พังทลายลง ระบบเศรษฐกิจย่อมพังทลายตามไปอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ข้ออ้างเหตุผลผิด ๆ ของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักประการต่อมาคือ ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษย์ นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ธรรมชาติของมนุษย์คือการเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีเหตุผล มีเหตุผลในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์หมายถึง การมุ่งทำเฉพาะสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลได้ในทางเศรษฐกิจเท่านั้น และมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง

ความที่นักเศรษฐศาสตร์มีความอ่อนด้อยทางปรัชญาและไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านมานุษยวิทยานี่เอง จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองไม่เห็นจุดบอดของความคิดทางปรัชญาแบบนี้ การที่มนุษย์มีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองความจำเป็นทางวัตถุ ซึ่งเป็นพื้นฐานการดำรงอยู่เบื้องต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด นักเศรษฐศาสตร์กลับนิยามพฤติกรรมนี้ด้วยข้อตัดสินเชิงคุณค่าว่าเป็น "ความเห็นแก่ตัว" ทั้งนี้คงเป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ได้รับอิทธิพลความคิดทางปรัชญามาจากสำนักพฤติกรรมศาสตร์ และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์แบบกลไก แต่น่าเสียดายที่ไม่ว่าสำนักคิดเหล่านี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จนแทบปิดสำนักไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกลับไม่ยอมทบทวนสมมติฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ของตนเลย

การนิยามธรรมชาติมนุษย์ว่าเป็นความเห็นแก่ตัว โดยขยายความหมายของคำว่า "ความเห็นแก่ตัว" ให้ครอบคลุมพฤติกรรมทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงแม้จะเป็นพฤติกรรมในเชิงเสียสละ ก็ถูกตีความเป็นความเห็นแก่ตัวไปทั้งหมด วิธีอ้างเหตุผลเช่นนี้มักอธิบายได้ทุกอย่าง ซึ่งเท่ากับไม่ได้อธิบายอะไรเลย มันเป็นการพูดซ้ำไปซ้ำมา (tautology) เหมือนกล่าวว่า แมวดำคือวิฬาร์ที่มีสีมืดเหมือนกลางคืน (ตัวอย่างนี้แสดงถึงการพูดเรื่องง่าย ๆ ให้ฟังยากด้วย) เพราะเมื่อตั้งสมมติฐานเบื้องต้นไว้เสียแล้วว่า แรงจูงใจของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว ไม่ว่ายกพฤติกรรมไหนมา ก็เพียงแต่ชี้ว่ามันเป็นความเห็นแก่ตัว วิธีการแบบนี้เป็นเพียงการแจกแจงรายการอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้อธิบายอะไรมากนักในโลกความเป็นจริง

ตัวอย่างของจุดอ่อนในวิธีคิดแบบนี้ก็อย่างเช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน สมมติฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการคือ สัตว์ย่อมวิวัฒนาการจนเหลือแต่องคาพยพในร่างกายที่มีประโยชน์ในการอยู่รอด เมื่อตั้งสมมติฐานอย่างนี้เสียแล้ว องคาพยพที่สัตว์มีอยู่ย่อมมีประโยชน์ในการอยู่รอดทั้งนั้น มิฉะนั้นมันก็คงไม่อยู่รอดมา หากถามต่อไปว่า อะไรคือความหมายขององคาพยพที่มีประโยชน์ในการอยู่รอด คำตอบก็คือ จงดูองคาพยพที่มีอยู่ตอนนี้นั่นแหละ

หรือแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจของฟูโกต์ ในเมื่อตั้งสมมติฐานว่า ความสัมพันธ์ทุกอย่างคืออำนาจ เราก็จะมองเห็นแต่ความหมายของความสัมพันธ์ในแง่ของอำนาจเท่านั้น มองไม่เห็นแง่อื่น ๆ อีกแล้ว หรือต่อให้มองไม่เห็นอำนาจที่แฝงอยู่ ก็ต้องวิเคราะห์จนเกี่ยวพันกับอำนาจจนได้ ต่อจากนี้ การบรรยายทั้งหมดก็เป็นแค่การจดรายการของอำนาจที่แสดงออกมาในรูปของความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ วิธีการคิดเช่นนี้ย่อมอธิบายได้ทุกอย่างและไม่ได้อธิบายอะไรเลย

นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอ้างเหตุผลสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ โดยใช้แบบจำลองของนักชีววิทยาที่ชื่อ การ์เร็ตต์ ฮาร์ดิน (Garrett Hardin) ในบทความเรื่อง 'The Tragedy of the Commons' ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 ในบทความนี้ ฮาร์ดินสมมติว่า ถ้ามีที่ดินเลี้ยงสัตว์อยู่ผืนหนึ่งกับมีคนเลี้ยงสัตว์จำนวนหนึ่ง คนเลี้ยงสัตว์ "ที่มีเหตุผล" แต่ละคนย่อมพยายามเพิ่มจำนวนสัตว์ที่ตนเลี้ยงให้มากขึ้น จนทรัพยากรที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ถูกทำลายหมดสิ้น แต่นักชีววิทยาไม่รู้เรื่องมานุษยวิทยา ไม่เคยมีชุมชนของมนุษย์ที่ไหนทำลายตัวเองแบบนั้น ตราบเท่าที่อำนาจในการจัดการทรัพยากรเป็นของชุมชน

จากสมมติฐานที่ตื้นเขินเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็สร้างข้ออ้างเหตุผลผิด ๆ เกี่ยวกับตลาด โดยอ้างว่าตลาดเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการมาจากธรรมชาติมนุษย์ ระบบทุนนิยมแบบตลาดจึงเป็นวิวัฒนาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษยชาติ หากเราไม่ยอมรับระบบทุนนิยม เราก็จะไม่มีตลาดที่ตอบสนองการบริโภค เนื่องจากธรรมชาติของตลาดคือการแข่งขัน ตลาดที่ดีที่สุดคือตลาดเสรีที่ควรปล่อยให้กำกับดูแลตัวเอง

นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักพูดราวกับว่า ระบบทุนนิยมกับตลาดเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าลองย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ ตลาดมีมานานแล้ว มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดระบบทุนนิยม และประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักเสมอก็คือ ตลาดอยู่ได้โดยไม่ต้องมีระบบทุนนิยม แต่ระบบทุนนิยมอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีตลาด

การค้าและตลาดนั้นมีมาเนิ่นนานแล้ว หากดูในภูมิภาคเอเชียเป็นตัวอย่าง ในสมัยก่อนนั้น พ่อค้าที่เป็นตัวจักรสำคัญคือชาวอินเดีย ชาวอาหรับและชาวจีน การค้าขายแบบดั้งเดิมนั้น พ่อค้าจะนำสินค้าจากภูมิลำเนาของตน นำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าในต่างถิ่น โดยค้าขายกับชาวพื้นเมืองโดยตรงหรือผ่านผู้มีอำนาจชาวพื้นเมือง

แต่เมื่อชาวยุโรปบางกลุ่ม เช่น ชาวสเปน โปรตุเกส ฮอลันดา ออกมาแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อหาเครื่องเทศ มันไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้าขาย แต่มีแบบแผนเดียวกันหมดคือการช่วงชิงทรัพยากร ซึ่งกลายเป็นการล่าอาณานิคม นับตั้งแต่ปิซาร์โรทำลายอาณาจักรอินคา มาจนกระทั่งสหรัฐอเมริกายึดครองอิรักในปัจจุบัน

เมื่อชาวฮอลันดาค้นพบหมู่เกาะโมลุกกะหรือ "หมู่เกาะเครื่องเทศ" ของอินโดนีเซีย เขาไม่ได้พยายามปฏิบัติตามแบบแผนการค้าทั่วไป กล่าวคือหาสินค้าของตนมาแลกกับสินค้าของชาวพื้นเมือง แต่สิ่งที่ชาวฮอลันดาทำคือเข้าไปยึดครอง บังคับให้ชาวพื้นเมืองปลูกเครื่องเทศอย่างเดียว ห้ามปลูกพืชอย่างอื่น พร้อมทั้งสั่งห้ามเกาะอื่น ๆ ปลูกเครื่องเทศ จากนั้นก็บังคับคนพื้นเมืองมาเป็นแรงงงานทาส แล้วบริษัทอินดีสตะวันออก (VOC) ก็จัดส่งเครื่องเทศไปขายยุโรป ในทำนองเดียวกัน เมื่อชาวอังกฤษต้องการไม้ในอินเดีย ชาวยุโรปต้องการเพชรในแอฟริกา แบบแผนเดียวกันที่เกิดขึ้นคือการรุกราน ยึดครองและริบเอาทรัพยากรที่ตนต้องการไป

"การค้าขาย" ในแบบแผนนี้ (หากเราจะเรียกมันว่าเป็นการค้าขาย) ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างชนชาติหรือระหว่างทวีป มีแต่การค้าขายระหว่างชาวยุโรปด้วยกันเอง และแม้แต่การค้าขายระหว่างชาวยุโรปด้วยกัน ก็ยังเป็นการค้าขายในลักษณะผูกขาด การล่าอาณานิคมนี้เป็นการถ่ายโอนทรัพยากรจำนวนมหาศาลจากภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกเข้าสู่ยุโรป ก่อให้เกิดการสะสมทุนและพัฒนาขึ้นมาเป็นระบบทุนนิยม ทุนนิยมจึงไม่ได้วิวัฒนาการมาจาก "ตลาดเสรี" หรือ "การแข่งขัน" แต่สถาปนาตัวเองลงบนโลกใบนี้ได้ด้วยความรุนแรง

คำถามต่อมาก็คือ แบบแผนของการช่วงชิงทรัพยากรจนนำไปสู่การพัฒนาเป็นระบบทุนนิยมนี้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่ ในที่นี้ขอเสนอว่า แบบแผนนี้เป็นเพียง "วัฒนธรรม" ของคนผิวขาวกลุ่มหนึ่งในยุโรป (คำว่า "วัฒนธรรม" อาจไม่ใช่คำที่ดีที่สุด ในที่นี้เพียงต้องการใช้ในความหมายของแบบแผนการประพฤติปฏิบัติที่คนกลุ่มหนึ่งมีร่วมกัน) ทั้งนี้มิได้ต้องการจะนำเสนอแนวคิดแบบ "ตะวันตก" หรือ "ตะวันออก" ซึ่งเป็นแค่นามธรรมที่สมมติขึ้นมาอย่างเหมารวม เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ทุนนิยมไม่ใช่พัฒนาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษยชาติ

ที่กล่าวว่าทุนนิยมเป็นวัฒนธรรมของคนผิวขาวกลุ่มหนึ่ง ก็เพราะไม่ใช่ว่าชนชาติอื่นไม่มีความสามารถในการล่าอาณานิคม หากเปรียบเทียบกับชาวอาหรับและชาวจีน สองชนชาตินี้มีอารยธรรมสูงและเก่าแก่ มีศักยภาพที่จะรุกรานและยึดครองดินแดนอื่น รวมทั้งเคยแผ่ขยายอาณาเขตมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่การแผ่ขยายอาณาเขตและการกดขี่ มักเป็นไปด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การช่วงชิงทรัพยากร

ชาวอาหรับเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมและวิทยาการ ความรู้เกี่ยวกับจักษุวิทยา เลนส์ การแพทย์ เข็มทิศ มีพื้นฐานมาจากชาวอาหรับ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุโรป นอกจากเกิดมาจากการแปลปรัชญากรีกแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการแปลตำราวิทยาการมาจากภาษาอาหรับด้วย ส่วนชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักดินระเบิด จีนมีกำลังประชาชนมากและคนจีนกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่อาหรับและจีนไม่มีแบบแผนของการรุกราน ยึดครองและริบเอาไปเหมือนชาวยุโรป

ทั้งนี้มิได้หมายความว่าชาวอาหรับหรือชาวจีนนั้นมีจิตใจสูงส่งกว่าชาวยุโรป แต่เพราะเหตุใดชนชาติทั้งสองนี้จึงไม่มีแบบแผนของการล่าอาณานิคม เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ต่อไป ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า พ่อค้าของชนชาติต่าง ๆ ที่เดินเรือมาค้าขายในต่างแดนนั้น ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของ "ตลาด" ในประเทศของตนและในประเทศที่ตนไปค้าขาย

ในขณะที่ชาวยุโรปที่เดินเรือออกมา "แสวงหาดินแดนใหม่" (ไม่ใช่เพื่อค้าขาย) มักเป็นส่วนผสมของโจรสลัด ทหารรับจ้างและนักแสวงโชค ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตลาดใด ๆ เลย (นอกจากตลาดค้ามนุษย์) วัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้จึงไม่รู้จักการค้าขาย ดังจะเห็นได้ว่า บริษัทเอกชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสองบริษัทในยุคนั้น กล่าวคือ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ และบริษัทอินดีสตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ต่างก็มีลักษณะแบบกองกำลังกึ่งทหารมากกว่าจะเป็นบริษัทธุรกิจธรรมดา

ระบบทุนนิยมคือการสร้างกำไรสูงสุด กำไรสูงสุดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการผูกขาดเท่านั้น ถ้าไม่มีการผูกขาด ก็ไม่มีทางสร้างกำไรสูงสุด เพราะในโลกที่มีการแข่งขันและเปิดเสรีอย่างแท้จริง การประนีประนอมจะทำให้เกิดการเฉลี่ยผลประโยชน์แก่หลาย ๆ ฝ่าย ดังนั้น ตลาดแบบทุนนิยมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อตลาดในความหมายของการแลกเปลี่ยนจริง ๆ ต้องถูกทำลายลงก่อน

เรามักเข้าใจผิดคิดว่า การค้าเสรีเป็นสิ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากยุโรป โดยยกย่องให้อดัม สมิธและเดวิด ริคาร์โดเป็นบิดาของการค้าเสรี การยกย่องนักคิดทั้งสองนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ นักคิดคนใดก็ตามจะยิ่งใหญ่ได้ ไม่ใช่เพราะเขาพูดถึงสิ่งที่มี ๆ อยู่แล้วในสังคมของตน แต่เป็นเพราะเขาเสนอถึงบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีอยู่ในสังคมของตนต่างหาก

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น เรามีกระบวนการทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย หากแบ่งตามความสัมพันธ์ในการกระจายความมั่งคั่ง จะมีรูปแบบใหญ่ ๆ อยู่ 3 รูปแบบคือ

1. การตอบแทนหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือแรงงาน
2. การกระจายความมั่งคั่งด้วยอำนาจศูนย์กลาง และ
3. การผลิตที่สามารถเลี้ยงดูหน่วยการผลิตนั้นได้อย่างพอเพียงในตัวเอง

สรุปสั้น ๆ คือ ระบบสมมาตร ระบบรวมศูนย์ และระบบปิด ตามลำดับ รูปแบบหลัก ๆ ทั้งสามรูปแบบนี้อาจผสมผสานกันและมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ทำให้มนุษย์มีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย และในจำนวนนี้มีมากมายหลายระบบที่สามารถดำรงอยู่ได้นานหลายพันปีโดยไม่ทำลายตัวเอง

แต่ระบบเศรษฐกิจจะเป็นแบบใดก็ตามแต่ ลักษณะที่มีร่วมกันของทุกระบบเศรษฐกิจในอดีตก็คือ กระบวนการทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิตและการกระจายความมั่งคั่ง จะถูกฝังอยู่ในระบบที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ความสัมพันธ์ภายในและภายนอกชุมชน ฯลฯ ในที่นี้ขอเรียกรวม ๆ ว่า ระบบสังคม ในอดีตนั้น กระบวนการทางเศรษฐกิจจะฝังอยู่ในระบบสังคม ระบบสังคมจะเป็นตัวกำหนดการผลิตและความสัมพันธ์ในการกระจายความมั่งคั่ง

ส่วนลัทธิเสรีนิยมใหม่คือ ความพยายามที่จะทำให้ความเพ้อฝันของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกลายเป็นความจริงขึ้นมา ดังที่กล่าวแล้วว่า นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่า ระบบเศรษฐกิจไม่ขึ้นกับระบบกายภาพอื่น ๆ เลย รวมทั้งครอบคลุมระบบกายภาพอื่น ๆ เข้าไว้ในระบบเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ระบบทุนนิยมนั้นก็แตกต่างไปจากระบบเศรษฐกิจอื่นใดของมนุษย์ กล่าวคือ ทุนนิยมเกิดจากการแยกระบบเศรษฐกิจออกจากการฝังตัวในระบบสังคม และในขั้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ มันยังดูดกลืนเอาระบบสังคมให้เข้ามาฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วย

เมื่อระบบทุนนิยมแยกกระบวนการทางเศรษฐกิจออกมาจากการฝังตัวในระบบสังคม ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเติบโตขึ้น จนถึงจุดที่ตลาดดูดกลืนระบบสังคมให้เข้ามาฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ การดูดกลืนนี้มี 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ

ประการแรก ตลาดทำให้สิ่ง 3 สิ่ง ที่โดยธรรมชาติแล้วไม่ควรเป็นสินค้า กลายเป็นสินค้า นั่นคือ

- แรงงาน (มนุษย์ไม่ควรเป็นสินค้า เพราะมนุษย์เป็นระบบกายภาพที่รองรับตลาดไว้ แต่เมื่อมนุษย์กลายเป็นวัตถุในตลาด ซึ่งย่อมหมายถึงทำลายทิ้งได้ เท่ากับมนุษย์และตลาดกำลังทำลายตัวเอง)

- ที่ดิน
(ที่ดินหรือธรรมชาติเป็นระบบกายภาพที่รองรับตลาดเช่นกัน และเป็นระบบกายภาพที่เป็นรากฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์ด้วย) และ

- เงิน
(เพราะเงินเป็นแค่สิ่งสมมติ เป็นแค่เครื่องมือในการแลกเปลี่ยน เมื่อเงินกลายเป็นสินค้า ทำให้ระบบตลาดในปัจจุบันไม่เอื้อให้เกิดการผลิตจริง แต่ไปทุ่มเทให้กับการเก็งกำไรหรือแสวงหาสิ่งสมมติ ซึ่งจะย้อนกลับไปทำลายตลาดเองในที่สุด)

ประการที่สอง เมื่อสามสิ่งข้างต้นกลายเป็นสินค้าไปแล้ว ลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงก้าวไปสู่การทำให้กิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ที่ไม่เคยและไม่ควรเป็นสินค้าเลย กลายเป็นสินค้าไปได้ นั่นคือ การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ วิทยาศาสตร์ สุขภาพอนามัยของสิ่งมีชีวิต วัฒนธรรม เพศสัมพันธ์ แม้กระทั่งรหัสพันธุกรรม เป็นต้น จนทำให้มนุษย์สมัยใหม่มีแนวโน้มจะตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจ เช่น คุณค่าของวัฒนธรรมอยู่ที่การขายได้ในแง่ของการท่องเที่ยว เป็นต้น

ประการที่สาม ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำให้กาละและเทศะกลายเป็นสินค้า กาละที่กลายเป็นสินค้า มีอาทิเช่น การเก็งกำไรค่าเงิน การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า การประกันราคา การบริหารความเสี่ยง พันธบัตร ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ เป็นการทำกำไรจากเหตุการณ์ที่จะเกิดหรือไม่เกิดในอนาคต เทศะที่กลายเป็นสินค้า มีอาทิเช่น การโยกย้ายเงินทุนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในพริบตา การย้ายสถานประกอบการจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเรื่อย ๆ การควบคุมน่านฟ้าและอวกาศ ฯลฯ

ประการสุดท้าย คือการครองความเป็นใหญ่ในการกำหนดนโยบายของทุกสังคม ทำให้แง่มุมของชีวิตทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ต้องยอมรับโครงสร้างของตลาดในระบบทุนนิยม ต้องยอมปรับรื้อสถาบันหรือองค์กรดั้งเดิมทั้งหมดของตน เพื่อตอบรับกับข้อเรียกร้องของตลาด ไม่ว่าข้อเรียกร้องนั้นจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม กล่าวง่าย ๆ คือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่เข้าไปครอบงำกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล และจุดยืนทางจริยศาสตร์ของมนุษย์

การดูดกลืนระบบสังคมให้เข้าไปฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างทางด้านสังคมที่เราเรียกว่า ปัญหาสังคม ปัญหาสังคมในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนในยุคปัจจุบันเลวกว่าในอดีต แต่เกิดจากการที่สังคมกลายเป็นแค่ระบบย่อยที่ฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กวัยรุ่น อาชญากรรม ยาเสพย์ติด ความรุนแรงทางเพศ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมของคนในปัจจุบันถูกกระตุ้นด้วยการบริโภคที่ไม่มีขอบเขตจำกัด และกลไกของสถาบันทางสังคมเอง ก็ตกอยู่ภายใต้การกระตุ้นของระบบเศรษฐกิจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดเช่นกัน ซึ่งอาจนิยามได้ว่าเป็น สังคมประกิตแบบเสรีนิยมใหม่

การแสวงหาทางเลือกใหม่ หรือขอเรียกว่า การหาทางลงจากรถไฟสายเสรีนิยมใหม่ โดยพื้นฐานที่สุดคือ การหาหนทางแยกระบบสังคมออกจากระบบเศรษฐกิจ และถ้าทำได้ ก็ต้องฝังระบบเศรษฐกิจกลับเข้าไปในระบบสังคมอีกครั้ง

การที่ระบบสังคมถูกลัทธิเสรีนิยมใหม่ดูดกลืนเข้าไป 4 ประการข้างต้นนั้น มันมีข้อจำกัดและหนทางต่อต้านในตัวมันเอง
- ประการแรก การที่แรงงาน ที่ดินและเงินกลายเป็นสินค้า การต่อต้านขั้นรากฐานที่สุดคือ การต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้ทางชนชั้นไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ เพียงแค่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อปลดปล่อยแรงงาน ที่ดิน และเงินออกจากการเป็นสินค้า ซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อสังคมและการอยู่รอดของมนุษย์โดยส่วนรวม

- ประการที่สอง การแสวงหากำไรในปริมณฑลที่ไม่สมควรหรือไม่เคยเป็นสินค้ามาก่อน การต่อต้านในส่วนที่สองเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในปัจจุบัน อาทิเช่น การต่อต้านการแปรรูป ขบวนการของชมรมผู้บริโภค ขบวนการทางศาสนา การอนุรักษ์ธรรมชาติ จนแม้กระทั่งการต่อต้านการผูกขาดความรู้ทางด้านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เช่น การส่งไฟล์ในแบบ peer-to-peer, การแลกเพลงทางอินเตอร์เน็ต, Napster, การใช้ระบบ Fair Use แทนระบบลิขสิทธิ์ เป็นต้น

ประการที่สาม การทำให้กาละและเทศะกลายเป็นสินค้า เราสามารถต่อต้านด้วยการนิยามกาละและเทศะเสียใหม่ เช่น แนวคิดเรื่อง เวลาแบบนาฬิกาทรายของซาปาติสตา หรือขบวนการ Reclaim the Streets ที่ต้องการยึดพื้นที่สาธารณะกลับคืนมาเป็นของส่วนรวม เพื่อสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร เป็นต้น

ประการสุดท้าย มันคือการต่อสู้ทางความคิด การสร้างทัศนคติในด้านชีวทัศน์และโลกทัศน์ใหม่ การรื้อฟื้นสามัญสำนึก รวมไปถึงการให้คุณค่ากับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับอรรถประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น การเน้นย้ำในเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหลายขบวนการในละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นซาปาติสตา ขบวนการปีเกเตโรส์ และขบวนการยึดโรงงานของคนงานในอาร์เจนตินา ขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (MST) ในบราซิล เป็นต้น

ข้ออ้างเหตุผลผิด ๆ ในทางรัฐศาสตร์

ระบบทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่มักอ้างว่า ระบบของตนเป็นหลักประกันของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ บางครั้งถึงกับทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กับระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกัน วิชารัฐศาสตร์กระแสหลักทำให้ผู้คนในปัจจุบันเชื่อว่า ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดคือ ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทน และการตัดสินนโยบายด้วยการลงคะแนนเสียงข้างมากเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และเป็นจุดสุดยอดของพัฒนาการการปกครองของมนุษยชาติ

แต่ความเป็นจริงในโลกปัจจุบันดูเหมือนจะสวนทางกับแนวคิดของรัฐศาสตร์กระแสหลัก ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนในปัจจุบัน ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด และความล้มเหลวนี้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกที่หนึ่งอย่างในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หรือในโลกที่สามอย่างเอเชีย ละตินอเมริกาและแอฟริกา

ดังที่แพทริค บอนด์ (Patrick Bond) นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชาวแอฟริกาใต้กล่าวว่า ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลือกพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน สังคมนิยมประชาธิปไตย ประชานิยม คอมมิวนิสต์ ฯลฯ แล้วก็ได้แต่นั่งตาปริบ ๆ ดูผู้แทนของทุกพรรคศิโรราบต่อทุน บรรษัทข้ามชาติและองค์กรโลกบาลทั้งหลาย

ความรู้สึกหมดศรัทธาต่อพรรคการเมืองเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก จนวิกฤตการณ์ทางศรัทธาครั้งนี้ทำให้นักคิดบางคนอย่าง ริชาร์ด รอร์ตี (Richard Rorty) แสดงความหวั่นเกรงว่า มีแนวโน้มที่เรากำลังจะหวนกลับไปสู่ยุคแสวงหาเผด็จการผู้มีเมตตากันอีก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐศาสตร์กระแสหลักสร้างข้ออ้างเหตุผลผิด ๆ บางประการเกี่ยวกับคำว่า ประชาธิปไตย ข้ออ้างเหตุผลผิด ๆ นี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากมายาคติเกี่ยวกับกรีก แม้ว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะอุดมคติเกี่ยวกับกรีกเป็นเรื่องสวยงาม แต่มันถูกขยายความเกินความจริง รัฐศาสตร์กระแสหลักสร้างมายาคติว่า กรีกเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน เป็นการปกครองที่ให้หลักประกันถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

แต่ถ้าเราไปดูสภาพสังคมและประวัติศาสตร์ของกรีกจริง ๆ เราจะพบความลักลั่นบางประการที่นักรัฐศาสตร์และนักปรัชญาการเมืองหลายคนพยายามมองข้าม เพื่อรักษาอุดมคติเกี่ยวกรีกเอาไว้ สังคมกรีกเป็นสังคมที่มีทาส พลเมืองที่มีสิทธิ์ออกเสียงถูกจำกัดไว้เฉพาะชนชั้นสูง และเฉพาะเพศชายเท่านั้น กรีกยังชอบแผ่ขยายอำนาจและรุกรานประเทศเล็ก ๆ รอบข้าง ในทางวัฒนธรรม กรีกเป็นพวกนิยมความแข็งแกร่งแบบเพศชาย ชมชอบการแข่งขันการต่อสู้ ความเป็นจริงทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ของกรีกนั้น เข้ากันไม่ได้เลยกับอุดมคติเกี่ยวกับกรีก

อันที่จริง ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากเป็นระบอบอำนาจนิยมอย่างหนึ่ง และไม่มีทางดำรงอยู่ได้ถ้าไม่ใช้ความรุนแรง ลองสมมติดูว่า ในการลงมติครั้งหนึ่ง เสียงข้างมากชนะไปด้วยคะแนน 51-49 ความแตกต่างระหว่าง 51-49 นั้นน้อยมาก ถ้ามติครั้งนั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นตายหรือการเสียผลประโยชน์ขั้นร้ายแรงของฝ่ายที่เป็นเสียงข้างน้อย เสียงข้างมาก 51 เสียงนั้นจะทำอย่างไรไม่ให้เสียงข้างน้อย 49 เสียงก่อกบฏ มีวิธีการเดียวคือ การใช้กำลังบังคับ

ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากจึงเป็นระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ได้ ต่อเมื่อมีกลไกการใช้กำลังบังคับอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่ากำลังนั้นจะเป็นกองทัพ ตำรวจ หรือกองกำลังในรูปแบบอื่นใดก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว ฐานอำนาจที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน แต่เป็นกองกำลังติดอาวุธต่างหาก ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากจึงเป็นเผด็จการเสียงข้างมากในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

ยิ่งในสังคมที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น บางครั้งเราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า การลงคะแนนเสียงหรือการลงมติที่เกิดขึ้นครั้งใด ๆ ฝ่ายที่ชนะเป็นเสียงข้างมากจริงหรือไม่ เพราะตัวเลขและกระบวนการในการลงคะแนนนั้นซับซ้อนจนบิดเบือนได้ง่าย

ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากคือรูปแบบที่ดีที่สุดของการปกครองแบบกดขี่ เพราะผู้ถูกกดขี่ไม่รู้ตัว รัฐศาสตร์กระแสหลักปิดกั้นจินตนาการของคนส่วนใหญ่ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไปว่า ถ้าไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ ก็มีอีกทางเลือกเดียวคือระบอบเผด็จการ การที่คนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่สนใจการเมือง อาจไม่ใช่เพราะคุณภาพของคนยุคนี้ด้อยกว่ายุคก่อน แต่เป็นเพราะความรู้สึกที่ว่า ทางเลือกมีเพียงแค่ สิ่งที่แย่น้อย กับ สิ่งที่แย่มาก เท่านั้น

ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยสารัตถะแล้วไม่แตกต่างไปจากสมัยกรีกสักเท่าไร กล่าวคือเป็นระบอบที่ผู้มีสิทธิ์มีเสียงที่แท้จริงคือ อภิสิทธิชนที่เข้าไปเป็นตัวแทนอยู่ในสภา รัฐศาสตร์กระแสหลักทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่า "หนึ่งคนหนึ่งเสียง เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงเท่าเทียมกัน" แต่ความเท่าเทียมนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อระบบการเมืองถูกฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่มีช่องว่างมหาศาล ระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มี

ระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันมีการออกแบบมาอย่างดี โดยสร้างตะแกรงร่อนที่รับประกันว่า คนที่จะผ่านตะแกรงร่อนเข้ามาเป็นตัวแทนในสภาได้ ต้องเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจที่กุมความมั่งคั่งไว้เท่านั้น เมื่อไรก็ตามที่เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้คนที่ไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นสูงหลุดรอดตะแกรงร่อนเข้าไป คน ๆ นั้นก็จะถูกรุมกระทำทุกวิถีทางให้เขาแปรพักตร์ไปเข้ากับชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเต็มใจหรือรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ตะแกรงตัวนี้ยังทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้น ไม่ให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเข้าถึงตัวผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้าไปแล้วด้วย

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นตะแกรงนี้ก็คือ

1. การทำให้การเลือกตั้งในทุกระดับต้องใช้เงินจำนวนมาก
2. การแยกตัวผู้แทนให้อยู่ห่างไกลจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงให้มากที่สุด ไม่ว่าด้วยระยะทาง ระบบราชการ พิธีการในทางปฏิบัติ ฯลฯ
3. การที่ผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้าไปไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงให้เขา เขาสามารถเข้าไปทำอะไร ลงมติอย่างไรสภาก็ได้ และ
4. การกำหนดวาระตายตัวให้แก่ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนเสียงไม่สามารถถอดถอนผู้แทนก่อนถึงวาระเลือกตั้งครั้งใหม่ หรือการถอดถอนทำได้ด้วยความยากลำบาก

ระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ดำเนินมาจนกระทั่งผู้ลงคะแนนเสียงมีทางเลือกในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งจากคนกลุ่มเล็ก ๆ หน้าเดิม ๆ เพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น โดยที่คนกลุ่มนี้มีความแตกต่างทางนโยบายน้อยมาก และล้วนแต่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นสูง การออกไปกาบัตรในคูหาเลือกตั้งทุก 4 ปี จึงเป็นแค่การไปเซ็นชื่อรับรองสถานภาพเดิม ๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมลงชื่อในเช็คเปล่าให้คนที่จะมาเป็นรัฐบาลเอาเงินภาษีของเราไปใช้อะไรก็ได้ตามใจชอบ

ปรัชญากรีกของเพลโตยังฝังหัวผู้คนให้งมงายกับแนวคิดในเรื่อง "ราชาปราชญ์" เราเฝ้าแต่มองหาอัศวินขี่ม้าขาวที่คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เราทั้งหมด พวกเราจะได้กาบัตรเลือกตั้ง แล้วกลับบ้านไปนอนดูทีวี ความงมงายในเรื่อง "ราชาปราชญ์" "อัศวินขี่ม้าขาว" เมื่อผนวกกับวิธีคิดของพุทธศาสนาที่ชมองเห็นแต่ตัวบุคคล แต่มองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้เกิดตรรกะอันผิดเพี้ยนขึ้นมาในสังคมไทยว่า "หาคนดีมาปกครองบ้านเมือง" "รวยแล้วจะไม่โกง" "นักการเมืองที่ดีต้องมีความจริงใจกับประชาชน" "ปัญหาอยู่ที่คน ไม่ใช่ที่ระบบ" ตรรกะทำนองนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ถ้าเลือกตัวบุคคลได้ถูกต้อง ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไข

แต่ในความเป็นจริงทางการเมือง การเป็นคนดีกับการเป็นนักการเมืองที่ดี ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย เมื่อนักการเมืองคนหนึ่งก้าวเข้าสู่การบริหารประเทศ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ซับซ้อน การตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยจุดยืนทางจริยธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น แต่การตัดสินใจเชิงนโยบายทุกครั้ง เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันของกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างเกษตรกรเลี้ยงโคนมกับเกษตรกรปลูกข้าว ระหว่างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อต้องตัดสินใจบางอย่างที่เป็นผลดีต่อฝ่ายหนึ่งและเป็นผลเสียต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายก็อ้างตัวว่าเป็นผลประโยชน์ของชาติด้วยกันทั้งคู่ ผลลัพธ์ของการตัดสินใจมักขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มผลประโยชน์ไหนมีพลังในการกดดันมากกว่า มีช่องทางชงเรื่อง ชงข้อเท็จบ้างจริงบ้างขึ้นไปให้ผู้ตัดสินนโยบายได้มากกว่า การตัดสินใจในการบริหารประเทศ จึงไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดี หลาย ๆ ครั้งไม่เกี่ยวกับการเป็นคนเก่งด้วยซ้ำไป

ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะเป็นหลักประกันให้ผลประโยชน์ของสามัญชน เบียดเข้าไปเป็นวาระแห่งชาติได้ก็คือ เราต้องสร้างพลังกดดันของประชาชนขึ้นมา แต่ปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ตรงนี้ กล่าวคือ เรายังมีประชาชนน้อยเกินไป เรายังไม่ได้สร้างประชาชนขึ้นมา เรายังไม่ได้กลายเป็นประชาชน

ทุกวันนี้ มนุษย์ทุกคนเกิดมา พร้อมกับถูกยัดเยียดให้เป็นคนชาติใดชาติหนึ่ง แล้วก็ถูกบังคับให้เป็นพลเมืองที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติและไม่ปฏิบัติอะไรบ้างในอาณาเขตอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่ง เราเป็นคนไทย เป็นพลเมืองไทยโดยอัตโนมัติตั้งแต่เกิด แต่การเป็นประชาชนนั้น ไม่ได้เป็นโดยอัตโนมัติ เราจะกลายเป็นประชาชนได้ด้วยหนทางเดียวเท่านั้น เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา

คำว่า "ประชาชน" เป็นพหูพจน์ในตัวมันเอง เราที่เกิดมาเป็นปัจเจกบุคคลจะกลายเป็นพหูพจน์ได้อย่างไร? เราจะเป็นได้ต่อเมื่อผ่านการจัดตั้งร่วมกับคนอื่น แม้เพียงสองคนขึ้นไปก็ได้แล้ว การจัดตั้งหมายถึงอะไร? การจัดตั้งหมายถึง การทำการเมืองให้เป็นชีวิตประจำวัน การปฏิบัติการเมืองในชีวิตประจำวัน

เรามักเข้าใจผิดว่า การเดินขบวนครั้งใหญ่ ๆ เช่น 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ เป็นการแสดงพลังประชาชน อันที่จริงเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เช่นนั้น เป็นแค่การรวมตัวของมวลชน ไม่ใช่ของประชาชน พลังของมวลชนที่กระทำไปตามกระแสความรู้สึกและการโน้มน้าวของผู้นำคนใดก็ตาม เพื่อให้บรรลุวาระเฉพาะกิจเฉพาะหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงที่สุดแล้ว พลังมวลชนเช่นนี้ไม่สามารถทำให้วาระและเจตจำนงของสามัญชนเข้าไปมีอิทธิพลอย่างแท้จริงต่อการตัดสินใจทางนโยบายในระยะยาว

กล่าวอีกด้านหนึ่ง พลังมวลชนแบบนี้แทบไม่แตกต่างเลยกับมวลชนที่ถูกระดมออกมาเลือกตั้ง เพียงแต่มวลชนแบบแรก ออกมาเพื่อล้มล้างใครบางคนหรือวาระบางอย่าง ส่วนมวลชนแบบหลังออกมาเพื่อกาบัตรรับรองใครบางคนหรือวาระบางอย่าง ใครบางคนหรือวาระบางอย่างนั้น อาจเป็นคน ๆ เดียวกันหรือวาระเดียวกันก็ได้ และพลเมืองคนหนึ่งสามารถเป็นหนึ่งในมวลชนที่วันนี้ออกมาล้มล้าง แล้ววันรุ่งขึ้นออกมารับรองก็ได้

มวลชนจะสร้างวีรชนขึ้นมา 3 ประเภท
ประเภทแรกคือ วีรชนที่ต้องสูญเสียชีวิตหรือพิการ ยังความโศกเศร้าให้คนใกล้ชิดและครอบครัวอย่างไม่จำเป็น แล้วค่อย ๆ ถูกสังคมหลงลืมไปอย่างไร้ค่า

ประเภทที่สองคือ วีรชนที่รอดชีวิตมา แล้วคอยออกมาด่าว่าพวกเราสมองกลวงทุกเดือนตุลา หรือออกมาวิพากษ์รัฐบาลด้วยถ้อยคำที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ได้ในวันรุ่งขึ้น การมีวีรชนประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นแค่ความเท่ที่กินไม่ได้

ส่วนวีรชนประเภทสุดท้ายคือ ประเภทที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือ วีรชนที่เข้าร่วมรัฐบาลและกลายเป็นชนชั้นสูงเสียเอง

ส่วนประชาชนที่แท้จริงจะสร้างรัฐบุรุษที่แท้จริงขึ้นมา รัฐบุรุษที่แท้จริงคือคนที่อยู่ใต้อุ้งเท้าของประชาชน คนที่ประชาชนโบยตี และบีบคั้นให้ต้องทำตามวาระและเจตจำนงที่ประชาชนมอบหมายให้ ไม่ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม หลังจากโบยตีจนพอใจและบรรลุวาระแล้ว ประชาชนจะสร้างอนุสาวรีย์ให้เป็นรางวัลแก่รัฐบุรุษคนนั้น จะเป็นอนุสาวรีย์ที่ลูกหลานมากราบไหว้ หรือมีไว้ให้นกเกาะและขี้ใส่ก็ตามที

ในเมื่อประชาธิปไตยแบบผู้แทนเสียงข้างมากเป็นแค่หน้าฉากของอำนาจนิยม ไม่ได้ประกันสิทธิเสรีภาพของสามัญชน ไม่ได้เป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชน และปล้นเอาการตัดสินใจไปจากเรา เราจึงต้องช่วยกันแสวงหาระบอบใหม่ ในประวัติศาสตร์มนุษย์มีความหลากหลายและน่าประหลาดใจให้ค้นหาเสมอ

ประชาธิปไตยไม่ได้มีเพียงแค่แบบผู้แทนเสียงข้างมาก แต่ยังมีประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งการตัดสินใจในนโยบายใดก็ตามอยู่ใกล้ผู้รับผลกระทบมากที่สุด ประชาธิปไตยแบบตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งเราถอดถอนตัวแทนออกเมื่อไรก็ได้ และผู้รับมอบอำนาจไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจนอกเหนือจากมติที่เรามอบหมายให้เขาไป ประชาธิปไตยแบบมติเอกฉันท์ ที่ตั้งอยู่บนสันติวิธี ไม่ใช่อำนาจนิยม สังคมนิยมก็ไม่ได้มีแค่สังคมนิยมแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ยังมีสังคมนิยมแบบกระจายอำนาจ หรือสังคมนิยมสหการนิยม ที่เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วในประวัติศาสตร์ เพียงแต่เราต้องค้นหา ไม่ปล่อยให้รัฐศาสตร์กระแสหลักปิดกั้นความรู้และจินตนาการของเราไว้

การปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องเป็นปฏิบัติการขนาดใหญ่ มันอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว เช่น การจับกลุ่มศึกษาค้นคว้าและรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลความรู้ในบางประเด็น ปัญหาของระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย ฯลฯ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตั้งคำถามต่อความคิดความเชื่อทั้งหมดที่อยู่รอบตัวเรา คำถามจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า เดินไปด้วยเท้าของเราเอง ไม่ใช่นั่งนิ่งอยู่บนขบวนรถไฟสายเสรีนิยมใหม่ที่พาเราไปไหนก็ได้ตามใจชอบ และสุดท้ายอาจพาเราไปสิ้นสุดที่สถานีที่เราไม่ต้องการลง

การเดินอาจไม่ทำให้เราค้นพบคำตอบ แต่กลับเจอคำถามใหม่ ๆ เข้ามาอีก และยิ่งเราถาม เราก็จะก้าวไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุดนิ่ง ชีวิตไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และความหมายของชีวิตอาจไม่ใช่การพบคำตอบ แต่ความหมายของชีวิตคือการไม่หยุดนิ่ง เพราะการหยุดนิ่งหมายถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิต นั่นคือความตาย

ภัควดี วีระภาสพงษ์
17 ธันวาคม 2548

บรรณานุกรม
ข้อวิจารณ์ต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่และตลาดเสรี

Bob Jessop, "Regulationist and Autopoieticist Reflections on Polanyi's Account of Market Economies and the Market Society,"
http://www.comp.lancs.ac.uk/sociology/papers/Jessop-Regulationist-and-Autopoieticist-Reflections.pdf

Deirdre McCloskey, The Secret Sins of Economics, Chicago: Prickly Paradigm Press, 2002.

Karl Polanyi, The Great Transformation, Boston: Beacon Press, 2001.

Richard Mcintyre, "Revolutionizing French Economics: Interview with Gilles Raveaud," Challenge, vol. 46, no. 6,

November/December 2003

ซูซาน ยอร์จ, รายงานลูกาโน, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545.

สุธน หิญ, "เศรษฐศาสตร์หลังยุคออทิสติก" http://www.nokkrob.org/

ข้อวิจารณ์ต่อระบอบประชาธิปไตยแบบกรีก

David Graeber, Fragments of an Anarchist Anthropology, Chicago: Prickly Paradigm Press, 2004.

Walden Bello, "The Global Crisis of Legitimacy of Liberal Democracy," http://focusweb.org/




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
110149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnight University web 2006
"การค้าขาย" ในแบบแผนนี้ (หากเราจะเรียกมันว่าเป็นการค้าขาย) ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างชนชาติหรือระหว่างทวีป มีแต่การค้าขายระหว่างชาวยุโรปด้วยกันเอง และแม้แต่การค้าขายระหว่างชาวยุโรปด้วยกัน ก็ยังเป็นการค้าขายในลักษณะผูกขาด การล่าอาณานิคมนี้เป็นการถ่ายโอนทรัพยากรจำนวนมหาศาลจากภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกเข้าสู่ยุโรป ก่อให้เกิดการสะสมทุนและพัฒนาขึ้นมาเป็นระบบทุนนิยม ทุนนิยมจึงไม่ได้วิวัฒนาการมาจาก "ตลาดเสรี" หรือ "การแข่งขัน" แต่สถาปนาตัวเองลงบนโลกใบนี้ได้ด้วยความรุนแรง คำถามต่อมาก็คือ แบบแผนของการช่วงชิงทรัพยากรจนนำไปสู่การพัฒนาเป็นระบบทุนนิยมนี้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่ ในที่นี้ขอเสนอว่า แบบแผนนี้เป็นเพียง "วัฒนธรรม" ของคนผิวขาวกลุ่มหนึ่งในยุโรป