นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

การเมืองในสังคมไทยร่วมสมัย
สังคม การเมือง และเรื่องพระปรมาภิไธย

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความ ๓ เรื่องต่อไปนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว ประกอบด้วย
๑.
ความหวังสุดท้ายของประชาธิปัตย์
๒. ความชอบธรรมทางการเมือง
๓. ในพระปรมาภิไธย และพระบรมราชโองการ

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 805
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)


การเมืองในสังคมไทยร่วมสมัย
สังคม การเมือง และเรื่องพระปรมาภิไธย
นิธิ เอียวศรีวงศ์

๑. ความหวังสุดท้ายของประชาธิปัตย์
คำประกาศของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่า หากประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์จะทบทวนนโยบายขาย กฟผ.ในตลาดหุ้น ฉะนั้นผู้ที่จะเข้าไปเก็งกำไรกับหุ้น กฟผ.ระวังให้ดี เพราะคุณอภิสิทธิ์ไม่ห่วงว่านักพนันเหล่านี้จะขาดทุนไปเท่าไร ถึงราคาหุ้น กฟผ.จะรูดลงมาในตอนนี้หรือตอนหน้า ก็ไม่เป็นไร

นับเป็นความองอาจกล้าหาญอย่างเยี่ยมยอด เสียดายที่เป็นความองอาจกล้าหาญของคุณอภิสิทธิ์เท่านั้น ไม่ใช่ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะขาดรายละเอียด เนื่องจากขาดการศึกษาและวางนโยบายที่ชัดเจน อันจะทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าประชาธิปัตย์ควรเป็นทางเลือกใหม่ของตัวหรือไม่

ไม่มีโจรที่ไหนปล้นสมบัติของประชาชนมาวางขายในตลาด โดยไม่อ้างความชอบธรรมต่างๆ กลบเกลื่อนความฉ้อฉลของตน ข้ออ้างเหล่านี้ต้องฟังขึ้นเสียด้วย โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คนขาดข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้นประชาธิปัตย์จำเป็นต้องนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องมาเผชิญกับการบิดเบือนต่างๆ เหล่านี้

นโยบายพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกระทบชีวิตคนทุกคน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เฉพาะพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวก็ใหญ่มากแล้ว ถ้าประชาธิปัตย์จะให้ทางเลือกแก่ประชาชน ประชาธิปัตย์ต้องนั่งลงคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง จะทำอะไรกับการลงทุนในอนาคต จะทำอะไรกับการใช้ทรัพยากร (ทั้งในประเทศและเพื่อนบ้าน) ในการผลิตไฟฟ้า จะทำอะไรกับการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ จะทำอะไรกับการประเมินและควบคุมประสิทธิภาพ จะทำอะไรกับการประหยัดพลังงานซึ่งเป็นทางเลือกที่หนีไม่พ้นแล้ว ฯลฯ

หัวหน้าพรรคอาจพูดเฉพาะแนวทาง แต่พรรคต้องมีสมุดปกขาวที่ให้รายละเอียดสนับสนุน พร้อมจะให้นโยบายของพรรคถูกตรวจสอบจากทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันก็เป็นการผูกมัดว่าพรรคจะดำเนินการเช่นนั้นจริงๆ หากได้อำนาจรัฐ โดยไม่ "ศรีธนญชัย" กันอีก

ยิ่งไปกว่านี้ กระบวนการ "ประชาธิปัตย์พบประชาชน" จะเป็นจริงได้ ไม่ใช่การจัดตั้งสภากาแฟ หรือการประชุมเอิกเกริก เท่ากับการออกไปพบประชาชนจริงๆ ประชาชนทั้งที่ได้และเสียจากนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน รวมทั้งประชาชนกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ทั้งรัฐบาลปัจจุบัน และรัฐบาลของประชาธิปัตย์เอง

เฉพาะในกรณีเอา กฟผ.ไปขายในตลาดหุ้น กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านมีอยู่หลายกลุ่ม ด้วยเหตุผลและความวิตกที่ต่างกันไป บางกลุ่มก็เคลื่อนไหวมาตั้งแต่สมัยที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้ว นอกจากสมุดปกขาวของประชาธิปัตย์ ควรรวมความคิดความเห็นของกลุ่มต่างๆ แล้ว ยังต้องสามารถเสนอทางออกที่จะทำให้ฝ่ายต่างๆ พอรับได้อีกด้วย

แม้แต่กลุ่มที่สนับสนุนการขาย กฟผ.โดยบริสุทธิ์ใจ (คือไม่ได้ฉวยโอกาสเอาสมบัติของชาติไปเก็งกำไร หรือไม่ได้เอาใจนาย) พวกเขาก็มีเหตุผลและความวิตกกังวลไปอีกอย่างหนึ่ง ที่ปล่อยให้ กฟผ.เป็นรัฐอิสระอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ นโยบายไม่ขาย กฟผ.ของประชาธิปัตย์จะต้องให้คำตอบแก่คนกลุ่มนี้ได้ด้วย

ถ้าจะเสนอตัวเองเป็นทางเลือกของประชาชนได้จริง ประชาธิปัตย์ต้องสร้างนโยบายทางเลือกที่เป็นแก่นสาร และแสดงเจตนาแน่วแน่ที่จะเดินตามนั้นอย่างไม่ลดละ แม้ว่าบางนโยบายอาจขัดกับที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำมา ก็ควรถึงเวลาที่ประชาธิปัตย์ต้องยอมรับผิดเสียที (หลังจากเที่ยวเรียกร้องให้คนอื่นกล่าวคำขอโทษอยู่เรื่อย)

และแม้ว่าบางเรื่องอาจไม่เรียกคะแนนเสียงในระยะสั้น แต่ถ้าประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่าได้ตรวจสอบไตร่ตรองและสดับตรับฟังข้อมูลมากว้างขวางแล้ว ในระยะยาวเรื่องนั้นก็จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น อีกทั้งพรรคก็จะได้รับความนับถือจากประชาชนด้วย อันเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองไทยไม่ค่อยเคยได้รับ เพราะชอบทำตัวเป็นเพียงปาหี่ขายยา

ประชาธิปัตย์ควรเลิกหาคะแนนนิยมในระยะสั้นเสียที เพราะประกันให้ได้เลยว่าวิธีนั้นจะไม่ทำให้ประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากอย่างแน่นอน เพราะในการเมืองสมัยนี้ ไม่มีใครเลือกผู้บริหารจากความสะใจอีกแล้ว ฉะนั้นในบางครั้ง แม้ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียคะแนนนิยมในระยะสั้น หากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระยะยาว ประชาธิปัตย์ก็ต้องยอมเสี่ยง

ดังกรณีของคุณธานินทร์ ใจสมุทร ซึ่งเผยแพร่วีซีดีตากใบ หลังเกิดเหตุการณ์ได้ไม่นาน สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลเป็นอย่างมาก จนทำท่าว่าจะจับกุมฟ้องร้องคุณธานินทร์ พรรคประชาธิปัตย์กลับสั่งให้คุณธานินทร์ระงับการเผยแพร่ เจตนาของคุณธานินทร์ในการเผยแพร่อาจเป็นเพียงฉวยโอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ แต่กรณีตากใบเป็นกรณีที่มีความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของคนไทยตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์จึงต้องชัดเจนว่าจุดยืนของตนอยู่ที่ใดกันแน่

กรณีการประท้วงของประชาชนที่ตากใบจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรก็ตาม แต่วีซีดีซึ่งเผยแพร่ในทีวีต่างประเทศ (และขายกันแพร่หลายในสามจังหวัดภาคใต้) ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่นในการจับกุมประชาชนซึ่งยอมจำนนแล้ว ได้มีการใช้กำลังปฏิบัติต่อผู้ต้องหาอย่างเลวร้าย ไม่ต่างจากการกระทำของเผด็จการทหารในคราวพฤษภาทมิฬเมื่อ พ.ศ.2535

พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดจะเลือกเงียบเฉย โดยไม่ปริปากอะไรเลยไม่ได้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนั้น ก็ควรประกาศออกมาให้ชัดเจน และในทางตรงกันข้าม ถ้าเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นร้ายแรง พรรคก็ควรออกมาดำเนินการอย่างจริงจังทางการเมือง และควรช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้ด้วย

การสั่งให้คุณธานินทร์ระงับการเผยแพร่วีซีดี ก็เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนไทยอีกเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เจตนาของคุณธารินทร์จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่การเผยแพร่วีซีดีซึ่งเก็บรวบรวมมาจากรายการโทรทัศน์ของต่างชาติ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้อย่างแข็งขัน หากการกระทำนี้ทำให้คุณธานินทร์ถูกจับกุมฟ้องร้อง ก็ควรที่พรรคประชาธิปัตย์จะยืนอยู่ข้างหลังคุณธานินทร์เต็มประตู

ไม่ใช่เพื่อปกป้อง ส.ส.ในสังกัดของพรรค แต่เพื่อปกป้องหลักการของเสรีภาพใน "การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" ซึ่งเป็นของประชาชนไทยทุกคน

จริงอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ระยะแรก เสียงของประชาชนไทยส่วนใหญ่นอกเขตสามจังหวัดภาคใต้ อาจสะใจหรือเห็นว่ามาตรการความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้เท่านั้นที่จะได้ผล หรืออย่างน้อยก็สมน้ำสมเนื้อกับการกระทำของฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์เลือกจะมีจุดยืนประชาธิปไตย ก็อาจได้รับเสียงก่นประณามจากสื่อที่กระเหี้ยนกระหือรือและสังคมไทยได้

แต่นั่นจะเป็นเพียงปฏิกิริยาในระยะสั้นเท่านั้น มีหรือเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดมีคนเสียชีวิตร่วมร้อยเช่นนี้จะเงียบหายไปในสังคมเหมือนคลื่นกระทบฝั่งได้ ดังจะเห็นได้ว่าไม่นานหลังจากนั้น รัฐบาลก็ยอมตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะสอบเพื่อค้นหาความจริงหรือเพื่อกลบเกลื่อนความจริงก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ไม่อาจปล่อยให้เงียบหายไปเฉยๆ ได้ หลังจากนั้นข้อเท็จจริงทั้งที่อยู่ในวีซีดีชุดนั้น และจากแหล่งอื่นๆ ก็แพร่หลายในสังคมไทยมากขึ้น

แต่ประชาชนที่รู้ข้อมูลก็ไม่รู้จะหันหน้าไปทางใด ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ยืนอยู่ในจุดเดียวกัน และนั่นคือเหตุผลที่คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การเมืองในระบบไม่ใช่คำตอบ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคทางเลือกของอะไร?

ความองอาจกล้าหาญของคุณอภิสิทธิ์ในกรณีการขายสมบัติของชาติในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นสัญญาณว่าประชาธิปัตย์กำลังจะเปลี่ยน แต่สัญญาณนี้ไม่แรงพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่า ประชาธิปัตย์กำลังจะเปลี่ยนไปจริงๆ เพราะขาดเนื้อหาสาระที่มากไปกว่าคำประกาศของหัวหน้าพรรค ได้แต่หวังว่าคุณอภิสิทธิ์จะสั่งสมบารมีในพรรคได้มากพอ ในเวลาที่รวดเร็วพอ ที่จะนำความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมาสู่พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึงในครั้งหน้า

๒. ความชอบธรรมทางการเมือง
ถ้าเราอธิบายความเสื่อมความนิยมของรัฐบาลชุดนี้ว่า "ขาลง" ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว ซึ่งเมกะโปรเจ็คต์, ประชานิยมลดแลกแจกแถม, เปลี่ยนที่ประชุมพรรค, เปลี่ยนท่าที, ฯลฯ อาจกู้สถานการณ์ให้กลับเป็น "ขาขึ้น" ได้

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ามองความเสื่อมความนิยมว่ามาจากเหตุที่ฝังอยู่ใน"ระบบทักษิณ" นั่นก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราว และยากมากที่จะกู้สถานการณ์ได้ เพราะการแก้ระบบทำไม่ได้ง่ายเหมือนการแก้คน (ซึ่งไล่ออกเสียก็ได้ หรือแม้แต่"ตัดตอน"เสียก็ได้)

เพื่อความยุติธรรม ควรกล่าวไว้ด้วยว่า แม้เป็น"ระบบทักษิณ" ก็ไม่ได้มาจากคุณทักษิณ ชินวัตรคนเดียว แต่ที่จริงแล้วมีรากอยู่ในหมู่นักการเมืองไทย, ปัญญาชนไทย, และสังคมไทยโดยรวมอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นคุณทักษิณจะได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเช่นนี้ได้อย่างไร

"ระบบทักษิณ"แสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า "ระบบทักษิณ"ไม่สนใจความชอบธรรมทางการเมืองเสียเลย ไม่มีระบบปกครองที่ไหนในโลกที่ไม่ใส่ใจต่อความชอบธรรมทางการเมืองเลย แม้แต่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ยังต้องอ้างการคุกคามของคอมมิวนิสต์ และความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลเก่าเพื่อเถลิงอำนาจ เพียงแต่ว่า"ระบบทักษิณ"ให้ความสำคัญแก่ความชอบธรรมทางการเมืองเฉพาะความหมายตามตัวอักษรในกฎหมายเท่านั้น เช่นคะแนนเสียงในสภา, คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ, คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ลายเซ็นของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ต่อความชอบธรรมทางการเมืองในทุกสังคมมีความหมายเกินตัวอักษรเสมอ เพราะตัวอักษรในกฎหมายไม่สามารถประกันความบริสุทธิ์ใจ, ความซื่อตรง, ความยุติธรรม, ความมีประสิทธิภาพ, ความเมตตากรุณา, มนุษยธรรม ฯลฯ ได้ ปราศจากสิ่งเหล่านี้ ความไว้วางใจจากสาธารณชนก็เกิดขึ้นไม่ได้ และจะหาฐานของอำนาจปกครองอะไรที่สำคัญไปกว่าความไว้วางใจได้เล่า เพราะไม่มีอะไรที่จะทดแทนได้เลย

"ระบบทักษิณ"คิดว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจจะสามารถทดแทนความไว้วางใจได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความชอบธรรมทางการเมืองที่ลึกเกินกว่าตัวอักษรในกฎหมาย ไม่จำเป็น ตราบเท่าที่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อว่ามีความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และด้วยเหตุดังนั้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทักษิณจึงถูกกล่าวหาในเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองของตัวตลอดมา

เริ่มตั้งแต่การปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีตัดตอน, การปิดบังการระบาดของไข้หวัดนก, การออกพระราชกำหนดที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของบางบริษัท, การสร้างพันธะทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและมีส่วนร่วม, การแทรกแซงองค์กรอิสระ, การใช้หน่วยงานของรัฐ เช่น ปปง.หรือกรมสรรพากรคุกคามศัตรูทางการเมือง, การใช้วิธีการอุ้มฆ่า ฯลฯ รัฐบาลทักษิณไม่ใส่ใจที่จะแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้ด้วยความโปร่งใส (ตรวจสอบได้) ยังคงยึดติดอยู่กับความชอบธรรมทางการเมืองตามอักษรอยู่อย่างเดียว (คะแนนเสียงในสภา หรือประชาชน 19 ล้านคน)

สิ่งที่น่าคิดก็คือ ความไม่ชอบธรรมทางการเมืองซึ่งอยู่นอกตัวอักษรของกฎหมายเหล่านี้ กลับไปกัดกร่อนความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งมีตามอักษรของกฎหมาย เช่นคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระต่างๆ ก็ตาม ไม่เพิ่มความชอบธรรมทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น ถ้าสาธารณชนเชื่อเสียแล้วว่าองค์กรเหล่านั้นเป็นเพียงลิ่วล้อที่ทำตามคำสั่งของรัฐบาล หรือถูก"ซื้อ"ไปเสียแล้ว

วุฒิสภาซึ่งประชาชนเชื่อว่ากว่าครึ่งเป็นเพียงลูกสมุน จะทำให้ตั้วเหี่ยมีความชอบธรรมขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้นในระยะยาว ความไม่ชอบธรรมทางการเมืองจึงกัดกินความชอบธรรมซึ่งมีอยู่น้อยนิดให้หมดไปด้วย แม้แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ (ไม่ว่าจะมีจริงหรือไม่) ก็ไม่อาจช่วยเพิ่มความชอบธรรมทางการเมืองได้

น่าประหลาดที่เราได้พบความย้อนยอก (paradox) ในเรื่องนี้อยู่เสมอ นั่นก็คือเมื่อคนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น แทนที่เขาจะพอใจ เขากลับอยากทำให้เงินนั้นมีเพิ่มมากขึ้นไปอีก จึงเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่จะใช้เงินนั้นทำอะไรต่างๆ ที่จะเป็นหนทางให้เงินงอกมากขึ้น ถ้าไม่ได้อย่างที่เรียกร้อง ความพอใจที่มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นกลับหายไปอย่างรวดเร็ว

นั่นคือเหตุผลที่นักธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งเคยพอใจรัฐบาลนี้ที่ทำให้เขาเชื่อว่าได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว กลับเอือมระอากับรัฐบาลชุดเดียวกัน เพราะเขาคิดว่าเขาขาดโอกาสทางธุรกิจที่เท่าเทียมกับบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาล อย่างน้อยในคนกลุ่มนี้ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ (ไม่ว่าจะมีจริงหรือไม่) ไม่อาจทดแทนความชอบธรรมทางการเมืองได้อย่างถาวร

น่าประหลาดที่แม้แต่เงินในกระเป๋าของประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายประชานิยมในช่วงหนึ่ง ก็ไม่อาจทดแทนความชอบธรรมทางการเมืองที่ขาดหายไปได้ มีงานวิจัย(ที่น่าเชื่อถือกว่างานวิจัยซึ่งทำตามคำสั่งรัฐบาล) ที่ชี้ให้เห็นว่า โครงการประชานิยมบางโครงการ กลับไปต่อยอดให้กับคนที่พอมีกำลังอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เพิ่มกำลังให้แก่คนสิ้นไร้ไม้ตอกในระดับรากหญ้า ฉะนั้นในระยะยาว โครงการประชานิยมจึงกลับเพิ่มจำนวนของคนในวงจรผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพหรือความชอบธรรมทางการเมือง เหมือนนักธุรกิจที่กล่าวข้างต้น

อันที่จริงจะตราเป็นหลักไปเลยยังได้ว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่อาจทดแทนความชอบธรรมทางการเมืองได้อย่างถาวร ไม่ว่าที่ไหนในโลก ถ้าสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต้องเผชิญกับสื่ออิสระ แม้เพียงครึ่งเดียวของที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ระบอบสฤษดิ์จะทนอยู่ได้ถึง 2 ปีละหรือ ความชอบธรรมทางการเมืองของระบอบเยี่ยงนั้น ดำรงอยู่ได้ด้วยการกดขี่และการปิดหูปิดตาปิดปากผู้คน ซึ่งในตัวของมันเองยิ่งทำลายความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งแทบจะไม่มีอยู่แล้วให้สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง จนในที่สุด ก็ไม่อาจทำให้รัฐบาลแตกต่างไปจากแก๊งโจรได้ ความชอบธรรมทางการเมืองกลับตกไปอยู่กับฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่พอจะยับยั้งการเรียกร้องความชอบธรรมทางการเมืองได้บ้าง จะต้องกระจายความสำเร็จนั้นให้ทั่วถึงพอสมควร เงินที่ประเทศได้เพิ่มขึ้นต้องไม่กระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อย แต่กระจายไปถึงคนทั่วไป และอย่างสม่ำเสมอด้วย ดังที่ทำได้ในสิงคโปร์มาหลายทศวรรษ มิฉะนั้นก็จะเกิดเทียน อัน เหมิน ซึ่งถึงแม้ปราบปรามได้ด้วยวิธีนองเลือด ก็จะกระจายออกไปเป็นหลากหลายลักษณะและเงื่อนปม ซึ่งไม่มีทางระงับได้เลย และไม่มีใครรู้ว่าจะลงเอยอย่างไร

ความชอบธรรมทางการเมืองที่อยู่นอกตัวอักษรของกฎหมายนั้น เป็นทรัพยากรที่ต้องสั่งสม ยิ่งมีมากก็ยิ่งสั่งสมได้เร็ว และในทางตรงกันข้าม ยิ่งมีน้อยก็ยิ่งสั่งสมได้ยาก ไม่ว่าใครจะลืออะไรในทางร้ายแก่รัฐบาล ทุกคนก็พร้อมจะเชื่อทันที จะแก้ข่าวลือเหล่านี้โดยปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองได้อย่างไร ยิ่งแก้อาจยิ่งทำให้คนเชื่อข่าวลือมากขึ้น ยิ่งเชื่อมากก็ยิ่งลือง่าย

"ระบบทักษิณ" เพราะเป็น"ระบบ"จึงยากมากที่จะพลิกเอาความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นมาเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ไม่ว่าคุณทักษิณในฐานะผู้นำจะเปลี่ยนตัวเองสักเพียงใดก็ตาม เพราะอะไรและใครอื่นๆ อีกมากที่ไม่อาจปรับเปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืนอย่างนั้น ความเสื่อมความนิยมจึงเป็นสิ่งที่ประกอบมาใน"ระบบ"มาแต่ต้น ทั้งหมดเป็น"ยถา ตทา" เป็นมาอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวแล้วว่า การยกย่องความสำเร็จทางเศรษฐกิจไว้เหนือความชอบธรรมทางการเมืองนั้น ไม่ได้เป็นของคุณทักษิณ ชินวัตรเพียงคนเดียว แต่มีรากฐานอยู่กับวัฒนธรรมไทย(ร่วมสมัย)อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จทางเศรษฐกิจต้องเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสัมผัสได้ ไม่ใช่เพียงตัวเลข(ที่อาจปั้นแต่งได้)ของหน่วยงานรัฐ และไม่ได้หมายความว่า หลับตาสนิทให้แก่การกระทำที่ฝืนความรู้สึกของคนไทยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการลุแก่อำนาจ การทุจริตที่โจ่งแจ้งเกินไป (คนไทยอาจไม่รังเกียจการทุจริตของอำนาจ แต่ชอบให้ทำแบบกระมิดกระเมี้ยนสักหน่อย) การละเมิดสิ่งที่คนไทยถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

ฉะนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปในวันนี้ คุณทักษิณจึงอาจได้รับเลือกกลับเข้ามาด้วยคะแนนเสียงข้างมากก็ได้ เพราะ"ระบบทักษิณ"มีฐานทางวัฒนธรรมรองรับอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าไรในสภา ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ บรรยากาศการบริหารของรัฐบาลทักษิณจะไม่สะดวกดายอย่างที่เคยเป็นมาอีกแล้ว เพราะขาดความชอบธรรมทางการเมืองเพียงพอที่จะสยบแก๊งก๊วนในพรรคไทยรักไทย สยบสื่อ สยบสังคม ฯลฯ แม้แต่วิธีอันธพาลก็จะไม่ใช่วิธีที่สังคมยอมหลับตาปิดปากอีกต่อไป ในขณะที่หนูทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการพ่อค้า ต่างเตรียมตัวกระโดดลงทะเลก่อนเรือจะอับปาง

ภาระทางการเมืองดังกล่าวจะเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับที่เคยทำให้รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมทางการเมืองทรุดไปหลายแห่งแล้วทั่วโลก

๓. ในพระปรมาภิไธย และพระบรมราชโองการ
ผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงของผู้ที่ยกเอาพระราชอำนาจขึ้นมากล่าวถึงอย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ แต่ผมพบว่าข้อถกเถียงทั้งหมดก่อให้เกิดความสับสนในประเด็นที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และผมทะเยอทะยานที่จะหาหลักสำหรับสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ถ้าว่าตามกฎหมายแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจกล่าวได้ด้วยว่า พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะบุคคลแทบจะไม่ได้แตกต่างจากบุคคลธรรมดาอื่นๆ เลย ซ้ำร้าย ยังถูกลิดรอนสิทธิ์บางอย่างอีกด้วย เช่น ทรงเษกสมรสกับหญิงต่างชาติไม่ได้ ทรงนับถือศาสนาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนาไม่ได้ เป็นต้น

ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ไม่ว่าสถาบันหรือบุคคล ย่อมมี "อำนาจ" หรือไร้ "อำนาจ" นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดทั้งนั้น เช่น พ่อมี "อำนาจ" เหนือลูก, ครูและผู้อาวุโสเหนือศิษย์และผู้เยาว์ ชายเหนือหญิงในบางเรื่อง เป็นต้น ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจนอกจากที่กฎหมายกำหนดอีกมาก เช่น เมื่อเป็นที่เคารพสักการะ ก็ย่อมมีอำนาจทางวัฒนธรรมสูง

แต่ที่ถกเถียงอภิปรายกัน ไม่ได้มุ่งจะหมายถึงพระราชอำนาจทางวัฒนธรรม, ทางศีลธรรม หรือทางเศรษฐกิจ แต่หมายถึงพระราชอำนาจตามโครงสร้างการเมืองการปกครองที่เป็นทางการ

พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่กฎหมายกำหนดนั้นมีหลายอย่าง นับตั้งแต่แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ไปจนถึงการพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องคดี และทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย และหลักที่จะยึดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ตรงนี้ คือทรงใช้หรือเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย จะว่าเป็นอำนาจศักสิทธิ์ หรืออำนาจสูงสุดก็ได้ เพราะเป็นอธิปไตยของปวงชน

ผมเคยได้ยินท่านผู้พิพากษาบางท่านย้ำเสมอว่า ท่านพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธย ซึ่งถูกต้องตามหลักการ แต่จะเข้าใจผิดไม่ได้ว่าพิพากษาแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะบุคคล มิฉะนั้น พระองค์ก็ต้องเข้ามารับผิดชอบกับคำพิพากษาด้วย เรื่องมันจะมิยุ่งกันใหญ่หรือครับ

แต่คำพิพากษาที่ทำในพระปรมาภิไธยนั้น ก็เพราะอำนาจตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน อย่าลืมนะครับว่าคำพิพากษาของศาลนั้นคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง เช่น ปรับ, เอาตัวไปจำขัง, หรือประหารชีวิต เรื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องอิงอาศัยอำนาจของประชาชน หรือที่เราเรียกว่าอธิปไตยเท่านั้น

ที่ต้องแยกอำนาจตุลาการออกเป็นอีกส่วนหนึ่งของอธิปไตยก็เพราะเหตุนี้ เนื่องจากคำพิพากษาย่อมกระทบถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง อำนาจตุลาการจึงต้องงอกออกมาจากอำนาจอธิปไตยโดยตรง ไม่ผ่านอำนาจนิติบัญญัติหรือบริหาร

พระปรมาภิไธยเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชน เตือนให้ผู้พิพากษาสำนึกถึงฐานที่มาของอำนาจในคำพิพากษา จึงต้องใช้อำนาจนั้นอย่างรอบคอบและเที่ยงธรรม เพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือปวงชน พูดกันตรงไปตรงมาก็คือไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่เป็นบุคคล แต่เกี่ยวอย่างแยกไม่ออกจากอธิปไตยของปวงชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันทรงใช้แทนปวงชน

ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่าพระบรมราชโองการ โบราณอาจมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ย่อมหมายถึงคำสั่งที่อาศัยอำนาจอธิปไตยของปวงชนสั่ง นั่นคือกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ทุกฉบับจึงเป็นพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอาญาและแพ่งพานิชย์ ในทางปฏิบัติคือต้องผ่านสภาผู้แทน และทรงลงพระปรมาภิไธย

กฎหมายเหล่านี้ย่อมจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของปวงชน (เช่น ห้ามลักขโมย หรือห้ามค้าประเวณีประเจิดประเจ้อ) ดังนั้น จึงต้องอาศัยอำนาจอธิปไตยของปวงชนเท่านั้น จึงจะสั่งให้มีข้อจำกัดต่อเสรีภาพเหล่านั้นได้ และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องเป็นพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจอธิปไตยดังกล่าว

(ผมยอมรับว่ามีการปฏิบัติที่หละหลวมจากหลักการนี้ เช่น กฎกระทรวงซึ่งไม่ใช่พระบรมราชโองการ ควรเป็นเพียงคำสั่งในการบริหารที่ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่สภาชอบออก พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้ให้ออกระเบียบหรือกฎกระทรวงตามมาไว้กว้าง บางครั้งก็จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าตัว พ.ร.บ.เสียอีก แม้ว่าระเบียบหรือกฎเหล่านี้อาศัยอำนาจจาก พ.ร.บ. ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการ แต่ก็ห่างออกมาจากอธิปไตยของปวงชนไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว จึงต้องระวังไม่ให้อำนาจไว้เกินความจำเป็นของการบริหารให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.)

พระบรมราชโองการอีกประเภทหนึ่งคือ แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง ผมคิดว่าหลักการก็อันเดียวกัน ตำแหน่งสาธารณะที่พึงได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ควรเป็นตำแหน่งที่เกิดจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็ เช่น นายกรัฐมนตรี และ ครม. เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสนอชื่อขึ้นกราบบังคมทูล และสภาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จึงเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนโดยตรงเช่นกัน

ที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้ ให้ดำรงตำแหน่งก็เพราะมีที่มาจากอธิปไตยของปวงชนชาวไทย แต่ ส.ส.ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เพราะประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตยของตัวโดยตรงในการเลือกตั้งแล้ว ไม่ได้ใช้ผ่านตัวแทน

ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็เช่นกัน ได้รับเลือกสรรจากวุฒิสภา จึงเป็นตำแหน่งที่สืบเนื่องกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน และต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็น ในขณะที่ครูระดับสามได้รับแต่งตั้งจากผู้บริหารของกระทรวงศึกษา เป็นการบริหารงานภายในของกระทรวงเอง ไม่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน จึงไม่ต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีความซับซ้อนมากกว่าจะตัดสินไปง่ายๆ ว่า เหตุดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในฐานะเท่ากับยังไม่ได้ดำรงตำแหน่ง เพราะไม่ว่ากระบวนการจะผิดหรือถูกกฎหมายอย่างไรก็ตาม ได้ผ่านวุฒิสภาซึ่งเป็นส่วนสำคัญอีกอันหนึ่งของอำนาจอธิปไตยไปแล้ว และการที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา เป็นผู้ว่าการ ก็เท่ากับได้รับการรับรองจากอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอย่างแน่นอน

ข้ออ้างของคุณหญิงว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการแล้ว จะให้พ้นจากตำแหน่งต้องมีพระบรมราชโองการถอดถอนเสียก่อนเท่านั้น ท่านจะมีความเข้าใจว่าอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ความเข้าใจของผม ไม่สู้ตรงกับที่หนังสือพิมพ์และคนที่เชียร์คุณหญิงเท่าไหร่นัก เพราะท่านเหล่านั้นพูดให้เข้าใจว่า พระบรมราชโองการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ฝืนไม่ได้ เพราะออกมาจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ แต่ผมคิดว่าความเข้าใจอย่างนี้ผิด และก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างยิ่ง

ในระบอบนี้ พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงมีพระบรมราชโองการใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่ได้เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน (เช่น ทรงสั่งให้ออกรถพระที่นั่งได้ ไม่ใช่พระบรมราชโองการ แต่เป็นรับสั่งธรรมดาเท่านั้น) ฉะนั้น พระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณหญิงจึงเป็นคำสั่งของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งไม่มีอะไรจะใหญ่เกินไปได้ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับความเห็นของ ส.ว. ท่านหนึ่งที่กล่าวว่า หากปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่รอบคอบ ก็เท่ากับปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจวินิจฉัยจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ (ซึ่งเป็นอธิปไตยของปวงชน) ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

อำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีเหนือสภาได้ มีอยู่อย่างเดียว คือวินิจฉัยว่าการดำเนินงานของสภาละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น

เรื่องนี้จึงไม่ง่ายที่จะด่วนตัดสินว่า คุณหญิงยังไม่ได้เป็นผู้ว่าการ ทั้งๆ ที่มีพระบรมราชโองการแล้ว เพราะเนื้อแท้แล้วเป็นการถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจอธิปไตยสองด้าน ซึ่งถ้าดำเนินการผิดจะกลายเป็นต้นแบบให้อำนาจอธิปไตยบางด้านของปวงชนถูกจำกัดลง

ผมจึงเห็นด้วยกับข้ออ้างของคุณหญิง ที่ว่า ต้องมีพระบรมราชโองการถอดเสียก่อน (แต่อาจจะด้วยเหตุผลที่ต่างกัน) เพราะพระบรมราชโองการที่แต่งตั้งคุณหญิงเป็นการใช้อำนาจอธิปไตย หากจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ก่อนวาระ ก็ต้องผ่านอำนาจอธิปไตยก่อน นั่นคือวุฒิสภาต้องมีมติที่ชัดเจนให้ถอดและกราบบังคมทูลให้มีพระบรมราชโองการถอด เนื่องจากพระบรมราชโองการ คือ อำนาจอธิปไตยของปวงชน จะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนได้ก็ด้วยอำนาจอธิปไตยของปวงชนเท่านั้น ไม่ใช่การตีความของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และไม่ใช่พระราชดำริส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคล

อย่างไรก็ตาม มีความสับสนในระบบแต่งตั้งในเมืองไทยว่า เมื่อไรจึงควรเป็นพระบรมราชโองการ เมื่อไรควรเป็นเพียงคำสั่งของรัฐมนตรี เพราะเรารับเอาประเพณีของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้ โดยไม่จับหลักเรื่องอธิปไตยของปวงชนให้มั่น (อันที่จริงหลักอธิปไตยของปวงชนก็ถูกกระทำชำเรายับเยินจากคณะทหารที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ และเหล่าเนติบริกรซึ่งเป็นสมุนรับใช้ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่เรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข)

การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงๆ โดยพระบรมราชโองการจึงถือเป็นเกียรติยศ ระบบราชการเลื่อนเปื้อนไปว่าตำแหน่งสูงๆ ทั้งหมดต้องเป็นพระบรมราชโองการ ทั้งๆ ที่การเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านั้นล้วนเป็นการใช้อำนาจบริหารภายในของราชการเอง ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน

เช่น ตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย ยังต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยนะครับกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน ทั้งการใช้อำนาจของศาสตราจารย์ (ถ้าจะมี) ก็ไม่กระทบอะไรกับอำนาจอธิปไตยของปวงชนด้วย พระบรมราชโองการแต่งตั้งจึงเป็นเรื่องเกียรติยศของผู้ได้ดำรงตำแหน่งเท่านั้นไม่มีหลักอะไรมากไปกว่านั้น

หลักการเกี่ยวกับเรื่องของพระปรมาภิไธยและพระบรมราชโองการนั้น ผมคิดว่ามีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยให้สับสน เพราะจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสองอย่าง เช่น จากความสับสนในเรื่องนี้ มีผู้เสนอให้ "คืนพระราชอำนาจ" เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง

ลัทธิ "คืนพระราชอำนาจ" นั้น เพิ่งเกิดในเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2500 คือหลังการยึดอำนาจของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมักใช้กันเป็นประจำในหมู่ผู้ที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นการคัดค้านต่อต้านที่มีอันตรายน้อยที่สุด นั่นคือสมัยก่อนจะกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้ ในสมัยหลังจะว่าเป็นหน้าม้าของฝ่ายค้านก็ไม่ได้

แต่นับจาก พ.ศ.2500 เป็นต้นมาเช่นกัน ที่เราจะพบว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนักการเมือง (ทั้งในและนอกระบบ) ใช้เป็นข้ออ้างในการเผด็จอำนาจบ้าง หรือรังแกศัตรูทางการเมืองของตนบ้าง หรือทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน โดยสังคมไม่อาจตรวจสอบทัดทานได้ และในขณะเดียวกัน ก็ก่อปัญหาให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เอง (ดังเช่นการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือรังแกศัตรูของตน ก่อให้เกิดความยากลำบากแก่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันมาก เนื่องจากเป็นกฎหมายอาญา ผู้ที่จะพิจารณาตัดสินใจฟ้องร้องจึงล้วนอยู่นอกสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น แต่สถาบันกลับเป็นผู้รับผลกระทบทางสังคมจากการฟ้องร้องไปเองแต่ผู้เดียว)

ฉะนั้น ถ้าอดีตจะช่วยให้เราคาดเดาอนาคตได้บ้าง การ "คืนพระราชอำนาจ" ในการเมืองไทยจึงมีความหมายแต่เพียง อำนาจเปลี่ยนมือจากกลุ่มที่ถืออยู่ไปยังกลุ่มที่ต่อต้านคัดค้านเท่านั้น ถ้าใช้สำนวนของนักคิดคนสำคัญของไทยท่านหนึ่งก็คือ "อัปรีย์ไป จัญไรมา" โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้พระราชอำนาจกลับคืนไปจริงแต่อย่างใด

ยังมีความจริงที่ควรสำเหนียกกันด้วยว่า การ "คืนพระราชอำนาจ" ไม่ได้หมายถึงคืนพระราชอำนาจ (ของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในรัชกาลปัจจุบัน แต่หมายถึงคืนพระราชอำนาจนั้นแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ตั้งความหวังกันว่าจะดำรงอยู่คู่กันไปกับชาติไทยอีกนานเท่านาน

จริงอยู่หรอกที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นระบอบปกครองอะไร ตราบเท่าที่มีคนดีคนเหมาะสมมาถืออำนาจปกครองบ้านเมืองได้ เป็นดีที่สุด แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งแม้แต่ผู้นำของระบอบนั้น เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เองก็ทรงตระหนักเช่นกันคือ ไม่มีหลักประกันอะไรในระบอบนั้นที่ผู้ซึ่งจะดำรงตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน จะเป็นคนดีหรือเหมาะสมเสมอไปทุกรัชกาล

ฉะนั้น ลัทธิ "คืนพระราชอำนาจ" จึงเป็นภัยร้ายแรงแก่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กล่าวคือ อันตรายทั้งแก่ระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกัน

เคยได้ยินเรื่องกษัตริย์เยอรมันพระองค์หนึ่งปฏิเสธการ "คืนพระราชอำนาจ" ไหมครับ ท่านดำรัสว่า "เราไม่อาจรับมงกุฎจากมือลิงได้" อาจฟังดูยโสโอหัง แต่ที่จริงแล้วถูกต้องตามหลักการมาก นั่นก็คือ ถ้าพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์อาจ "ถวาย" ได้ ผู้ถวายย่อมเรียกคืนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ต้น

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
130149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnight University web 2006
พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่กฎหมายกำหนดนั้นมีหลายอย่าง นับตั้งแต่แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ไปจนถึงการพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องคดี และทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย และหลักที่จะยึดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ตรงนี้ คือทรงใช้หรือเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย จะว่าเป็นอำนาจศักสิทธิ์ หรืออำนาจสูงสุดก็ได้ เพราะเป็นอธิปไตยของปวงชน
ผมเคยได้ยินท่านผู้พิพากษาบางท่านย้ำเสมอว่า ท่านพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธย ซึ่งถูกต้องตามหลักการ แต่จะเข้าใจผิดไม่ได้ว่าพิพากษาแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะบุคคล มิฉะนั้น พระองค์ก็ต้องเข้ามารับผิดชอบกับคำพิพากษาด้วย เรื่องมันจะมิยุ่งกันใหญ่