The Midnight University
บทความทางด้านจิตวิทยาและวัฒนธรรมศึกษา
นิธิคุยเฟื่องเรื่องจิตวิทยาและวัฒนธรรมทางสายตา
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความ ๒ เรื่องนี้เคยเผยแพร่แล้วบนสิ่งพิมพ์ของหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
๑. วัฒนธรรมความเครียด
๒. มนุษย์กับความเกลียดชังตนเอง
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 798
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4)
๑. วัฒนธรรมความเครียด
เครียดชิบเป๋ง
นี่เป็นคำบ่นหรือคำอุทานประจำของคนชั้นกลางไทยปัจจุบัน
ไม่ใช่แค่บ่นหรืออุทานเท่านั้นนะครับ ยังใช้เป็นคำแก้ตัวและคำอธิบายอะไรต่อมิอะไรรอบตัวไปหมดทุกอย่าง และเมื่อใครๆ ก็รู้สึกว่าความเครียดเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของกลิ่นปาก ซึ่งใครๆ ก็ต้องมีกันทุกคนไปเสียเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่พ่อค้าพากันเข้ามาหากำไรกับความเครียดกันเต็มไปหมด
ความเครียดช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านอยู่ในทุกวันนี้ หล่อเลี้ยงสปา-อาบนวด-คาเฟ่ เหล้า เบียร์ รวมทั้งคลีนิคบำบัดทางอารมณ์และจิตใจอีกหลายแสนล้าน ทั้งนี้ ยังไม่นับยาเสพติดและสนามกอล์ฟอีกไม่รู้จะอีกกี่แสนล้านนะครับ
ที่ทำให้ผมเครียดชิบเป๋งเลย คือรุกรานเข้าไปในการสร้างสรรค์ทางศิลปะอย่างหนัก นับตั้งแต่ละครทีวี ซึ่งไม่ควรละเลยต่อศิลปะของการละครได้ถึงเพียงนี้ ไปจนถึงเพลงบ้าๆ บอๆ ที่ค่ายเพลงลงทุนไปกับการยึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์เสียยิ่งกว่าลงทุนไปกับการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ไหนจะภาพยนตร์ที่อยากก้าวไปข้างหน้าแต่ก้าวไม่ออก ไหนจะรายการทอล์คโชว์ และอื่นๆ ซึ่งรวมกันแล้วก็หลายแสนล้านเหมือนกัน
ความเครียดและการคลายเครียดกลายเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคนชั้นกลางไทย ผมจึงอยากพูดว่าต่างตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมความเครียดกันไปหมด แล้วเรารู้จักความเครียดจริงแค่ไหน? ผมคิดว่าเราไม่รู้จักมันมากไปกว่าความรู้สึกซึ่งหลอกตัวเองได้ง่ายมาก (เช่น เห็นใครๆ เขาก็เครียดกัน จึงต้องเครียดกับเขาบ้าง) ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงการคลายเครียดเลย ยิ่งไม่รู้จักมันขึ้นไปใหญ่
ผมเข้าใจว่า เรายังไม่รู้ชัดนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมองเวลาเครียด แต่เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่นมากทีเดียว เช่น มีสารบางอย่างหลั่งออกมาให้ร่างกายตื่นตัวเป็นพิเศษ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบภูมิต้านทานในร่างกายลดลง ระบบย่อยอาหารไม่ทำงานหรือทำงานผิดปรกติ เรียกว่าตับไตไส้พุงปั่นป่วนไปหมด ฉะนั้นความเครียดจึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายอย่างมาก อันเป็นความรู้ที่ทำให้ยิ่งหากำไรจากความเครียดได้ง่ายขึ้น
หมอบางคนอธิบายว่า สภาวะเครียดนั้นเป็นธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ ซึ่งในสมัยก่อนต้องเผชิญกับภยันตรายต่างๆ อยู่เสมอ ร่างกายจึงเตรียมตัวเองกับการเผชิญภัยเหล่านั้น แม้ว่าเป็นธรรมชาติของร่างกาย แต่กลไกที่ร่างกายสร้างความเครียดขึ้นนี้ น่าจะคลายลงอย่างรวดเร็วเมื่อพ้นภยันตรายนั้นไปแล้ว ที่น่าประหลาดก็คือ ถึงแม้ว่าคนปัจจุบันไม่ต้องวิ่งหนีเสือทุกวันก็ตาม แต่ร่างกายก็ยังสร้างความเครียดขึ้น เผชิญกับสิ่งที่ไม่ใช่ภยันตรายทางกายเฉพาะหน้าเหมือนเดิม ร้ายไปกว่านั้นก็คือสิ่งที่คนสมัยปัจจุบันมองว่าเป็นภยันตรายนั้นไม่เหมือนเสือ คือวิ่งหนีให้พ้นไม่ได้ง่ายๆ ถึงวิ่งพ้นแล้ว ก็จะมีเสื้อตัวใหม่โผล่มาให้วิ่งหนีได้ไม่สิ้นสุด ความเครียดที่ร่างกายสร้างขึ้นจึงดำรงอยู่เป็นเวลานานๆ ไม่คลายลงสักที
ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเข้าใจความเครียดของคนปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ถ้ามองความเครียดจาก "ใจ" (อันเป็นภาษาโบราณซึ่งปัจจุบันใช้คำว่าสมองแทน) ถึงอย่างไร ความเครียดก็เกิดขึ้นที่ใจ เพราะใจเครียดก่อน จึงทำให้ร่างกายทำงานผิดปรกติ สาเหตุของความเครียดจึงมาจากใจ (ไม่ใช่หัวใจนะครับ) นั่นก็คือเมื่อไรที่ใจไม่ปรกติเมื่อนั้นก็เครียด
"ปรกติ" นี่สำคัญนะครับ ผมขอให้ความหมายว่าอย่างนี้ครับคือใจมันนิ่งๆ อย่างที่มันเป็นตามธรรมชาติ ไม่แส่ส่ายไปหาสิ่งที่จะทำให้ใจไม่นิ่งตามธรรมชาติ เช่น อยากไม่ตาย ซึ่งผิดธรรมชาติ หรืออยากให้ฝนไม่ตก ก็ผิดธรรมชาติอีกนั่นแหละ หรือโกรธ ทั้งโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หรือโกรธอยู่ลึกๆ โดยไม่รู้ว่าโกรธใคร โกรธทำไม ก็ล้วนผิดธรรมชาติทั้งนั้น เพราะล้วนมาจากใจที่อยากอะไรสักอย่างอันไม่เป็นไปตามธรรมชาติ
ดังนั้น โลภก็เครียดนะครับ โลภมากก็เครียดมาก โลภลึกก็เครียดลึก อยากได้อะไรจนตัวซี้ตัวสั่น จนต้องไปเป็นหนี้เป็นสินเขาซื้อหามาให้ได้ ก็เครียด พอเป็นหนี้เขาแล้ว ก็อยากเป็นอิสระ ยิ่งเครียดขึ้นไปอีก อยากได้ตำแหน่งก็เครียด กลัวเขาไล่ออกก็เครียด อิจฉาเขาก็เครียด หมั่นไส้เพื่อนร่วมงานก็เครียด เกลียดนายกฯ ก็เครียด เกลียดตัวเองยิ่งเครียดใหญ่ รักคุดก็เครียด (ถ้าไม่รู้จักปลง) ฯลฯ
ฟังดูเหมือนกับว่า พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่เครียด ซึ่งก็จริงนะครับ แต่ผมไม่ได้คิดจะเสนอให้ทุกคนคลายเครียดด้วยการสำเร็จอรหัตตผลให้หมด แต่หลายอย่างที่เป็นหลักชัยของพระอรหันต์นั้น เราสามารถประยุกต์ใช้ได้ในระดับปุถุชนอย่างเราซึ่งก็ให้ผลได้คลายเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญก็คือ ความเครียดเป็นเรื่องของใจ ฉะนั้น วิธีคลายเครียดจึงต้องทำที่ใจ ไม่ใช่ไปเพ่งเล็งกันที่สมอง (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย) อันเป็นวิธีที่เขาทำธุรกิจหากำไรกันในปัจจุบัน
เพราะไปคิดว่า ความเครียดมาจากการใช้สมองนี่แหละครับที่ทำให้คนชั้นกลางไปสรุปเอาง่ายๆ ว่า เฉพาะพวกตนซึ่งต้องทำงานด้วยสมองเท่านั้นเป็นกลุ่มที่เครียดจัด ส่วนกรรมกรหรือเกษตรกรซึ่งแม้ต้องทำงานหนัก ก็เป็นการทำงานด้วยร่างกายเท่านั้น จึงไม่เครียด
แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่ากรรมกรหรือชาวนาก็มีโอกาสเครียดได้เท่ากันหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่า "ใจ" ของเขาแส่ส่ายไปหาสิ่งที่ผิดธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน ลงข้าวโพดไว้ร้อยไร่ แล้วฝันเฟื่องว่าจะได้รวยกันใหญ่เสียที ก็เครียดน่าดูเลยนะครับ ถ้าใจของกรรมกรและเกษตรกรแส่ส่ายไปหาสิ่งผิดธรรมชาติเหมือนใจของคนชั้นกลาง เขาก็เครียดเท่ากัน ผมออกจะสงสัยด้วยซ้ำว่า ใจของคนชั้นกลางนั้นแผ่ขยายออกไปครอบคลุมคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งสังคมไปหมดแล้ว เช่น เป็นผู้ให้อุดมคติแห่งชีวิตแก่คนอื่นๆ ไปหมด ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพหรือชั้นใดก็ล้วนเครียดเท่าๆ กัน
ส่วนใหญ่ของวิธีคลายเครียดที่คนชั้นกลางเชื่อถือมากที่สุดเห็นจะเป็นการหันเห (diversion) สมองชั่วครู่ชั่วยาม ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือดื่มเหล้า เพราะเหล้าไปกดสมองส่วนต่างๆ ให้ทำงานเลวลง สำนึกต่างๆ ก็ขาดความแหลมคมไปชั่วขณะที่อยู่ใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ใจที่แส่ส่ายไปหาไม้กอล์ฟถุงใหม่, ผู้หญิงคนใหม่, นายใหม่, ฯลฯ จึงทิ่มแทงน้อยลง ดูเหมือนคลายเครียด แต่ที่จริงการกดความเครียดไว้เช่นนั้น นอกจากไม่คลายเครียดได้ถาวรแล้ว ยังอาจทำให้เครียดมากขึ้นไปอีก
การใช้สมองก็ไม่ได้เป็นสาเหตุของความเครียด เพราะถึงอย่างไรเราไม่สามารถหยุดการทำงานของสมองได้ แม้แต่เวลาหลับ สมองก็ยังทำงานอยู่ ฉะนั้น การพักสมองจึงไม่ใช่การไม่คิดอะไรเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าจะคิดอย่างไรต่างหาก
ผมต้องย้ำเรื่องนี้เพราะผมรู้สึกว่าวัฒนธรรมความเครียดของไทยนั้นเป็นศัตรูกับการคิดอย่างยิ่ง ใครพูด-เขียน-แสดงอะไรที่ต้องใช้ความคิด คนก็จะบอกว่าโอ๊ยเครียดจริงโว้ย ฟัง-อ่าน-ชมไม่ไหวแล้ว แล้วเขาหยุดไปทำอะไรหรือครับ ก็หยุดไปคิดอีกนั่นแหละ แต่เป็นการคิดวนเวียนซ้ำซากเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งกลับทำให้เครียดเสียยิ่งกว่าการชมละครโทรทัศน์ที่ทำให้ต้องคิดอะไรที่พ้นตัวเองออกมา
ความจริงแล้ว การพักสมองที่ดีที่สุดคือการหันเหนั่นแหละครับ หมายความว่าเปลี่ยนกระบวนการคิด เช่น นั่งคิดเลขมาทั้งวัน รวมทั้งนั่งคิดสงสารตัวเองมาทั้งวัน ก็กลับมาดูละครโทรทัศน์ที่มีศิลปะทั้งการแสดงและการแฝงแง่คิดที่คมคายอย่างมีศิลปะ ก็คือการพักสมองอย่างวิเศษ ไม่ใช่นั่งดูแต่ละครบู๊ล้างผลาญ, รักหวานจ๋อย หรือตลกโปกฮา ซึ่งกลับยิ่งทำให้คิดวนเวียนแต่ตัวเอง ไม่หลุดไปได้เสียที ก็เลยยิ่งเครียดขึ้นไปใหญ่
การหันเหจากกระบวนการคิดแบบหนึ่งไปสู่กระบวนการคิดอีกแบบหนึ่ง เป็นการใช้สมองที่มีประสิทธิภาพ คือความจริงที่นักจิตวิทยารู้มานานแล้ว และใช้เป็นหลักในการจัดตารางเรียนของเด็ก เช่น เรียนเลขแล้วก็มาต่อด้วยวิชาดนตรี หรือวาดเขียนแล้วกลับไปหาวิชาวิทยาศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ ฯลฯ ทำให้เด็กใช้สมองในการเรียนได้ดีที่สุด
ผมจึงอยากสรุปว่า แก่นแท้ของการคลายเครียดนั้นเอาเข้าจริงก็คือการคิด-การทำอะไรที่พ้นออกไปจากผิวหนังของตัวเองบ้าง วันหนึ่งๆ เราเฝ้าคิดเฝ้าทำอะไรโดยเอาประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้งตลอดเวลา หยุดคิด-ทำวนเวียนซ้ำซากอย่างนั้นเสียบ้าง ก็จะคลายเครียดไปได้พอสมควร เพราะมันไม่ไปกระตุ้นต่อมเครียด ซึ่งก็คือต่อมที่มีไว้เผชิญกับภยันตรายที่อาจมีกับตัวนั่นเอง
ผมเคยได้ยินคำประชดที่เจ็บปวดทารุณมากอันหนึ่ง เมื่อคุณพ่อคนหนึ่งบอกลูกสาวที่เขาเห็นว่าไม่ฉลาดว่า หนูอย่าคิดอะไรเลยเดี๋ยวไม่สบาย
ผมรู้สึกว่าคนชั้นกลางไทยกำลังบอกตัวเองอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ เพราะคนชั้นกลางไปสับสนว่าความเครียดมาจากสมอง แต่ที่จริงแล้วความเครียดมาจาก "ใจ" โลภมาก โกรธมาก หลงมาก ก็ล้วนทำให้เครียดทั้งนั้น ถ้าไม่อยากเครียดจึงต้องทำใจ ไม่ใช่ขอเป็นคนปัญญาอ่อนวันละ 16 ชั่วโมง
๒. มนุษย์กับความเกลียดชังตัวเอง
ผมสงสัยว่า มนุษย์กำลังหมดความนับถือตัวเองลงไป ไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลอะไรนักหรอกแค่สังหรณ์ใจเฉยๆ
เท่านั้น เพราะอะไรๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวมันชวนให้สังหรณ์อย่างนั้น
เคยเห็นภาพโฆษณาของธนาคารแห่งหนึ่งไหมครับ เป็นภาพหญิงชายหกคนเดินบนพื้นมันปลาบ จึงสะท้อนเงาของคนทั้งหก แต่แทนที่เงาของเขาจะเหมือนกับตัวจริง กลับกลายเป็นเงาของหุ่นยนต์ที่มีรูปลักษณะเหมือนคน เงาทั้งหกนั้นเดินห้อยแขนเหมือนกันหมด ทั้งๆ ที่หนึ่งในมนุษย์ตัวจริงยกแขนขึ้นขยับแว่นของตัวเองอยู่ หุ่นยนต์แต่งตัวเหมือนกันหมด เพียงแต่สูงต่ำต่างกันเท่านั้น
เงาของมนุษย์กลายเป็นฝูงหุ่นยนต์ที่ก้าวเดินอย่างมีระเบียบ ความมุ่งหมายของธนาคารคงต้องการบอกว่า ธนาคารใช้ความใส่ใจเพื่อบริการลูกค้าของเขา และคงบริการอย่างมีประสิทธิภาพมาก ผมเดาเอาเองว่า คนทำโฆษณาคงต้องการให้มนุษย์บนพื้นมันปลาบเป็นตัวแทนของความใส่ใจอันเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์เท่านั้นมีได้ ในขณะที่ประสิทธิภาพของบริการมาจากเทคโนโลยีซึ่งแสดงด้วยหุ่นยนต์
ทำนองเดียวกับโฆษณาทางทีวีของธนาคารหนึ่ง (จะอันเดียวกันหรือไม่ผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว) ซึ่งลูกค้าของเขาได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพนักงานธนาคารอย่างดีเลิศ ขนาดผัวลืมทิ้งไว้ที่ธนาคาร พนักงานซึ่งกลายร่างเป็นมนุษย์ซุปเปอร์แมนหรือหุ่นยนต์อะไรไม่ทราบยังช่วยอุ้มเหาะไปวางคืนให้ผัวได้ในพริบตา
สารซึ่งโฆษณาอาจไม่ได้ตั้งใจจะให้อันแรกก็คือ เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์สามารถให้บริการแก่กันอย่างมีประสิทธิภาพได้ อันที่จริงสารแบบนี้เราเห็นในธุรกิจขายบริการหลายอย่าง นับตั้งแต่โรงพยาบาลไปจนถึงอู่ซ่อมรถหรือโรงแรม นั่นคือมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จึงมั่นใจได้ว่าบริการที่เขาขายย่อมมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม
ประสิทธิภาพของบริการจึงอยู่ที่เทคโนโลยี ไม่ได้อยู่ที่ใจของคน นั่นคือเหตุผลที่โรงพยาบาลเอกชนทุ่มเงินลงไปกับเทคโนโลยีที่นำสมัยอย่างมาก และลูกค้าทุกคนจะได้รับ "บริการ" จากเครื่องมือราคาแพงเหล่านี้เพื่อคืนทุนในเวลาอันรวดเร็ว จนแม้แต่เป็นหวัดก็อาจต้องสแกนสมองดูด้วย
โรงแรมชั้นหนึ่งที่ให้บริการดีเยี่ยม เกือบทำให้เพื่อนผมอดนอนทั้งคืน เพราะเสียบบัตรเปิดประตูเข้าห้องไม่เป็น
สารซึ่งโฆษณาไม่ได้ตั้งใจให้อีกอย่างหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีคือความเป็นระเบียบ เงาของพนักงานธนาคารจึงทำท่าเดียวกันหมด ทั้งๆ ที่พนักงานตัวจริงไม่ได้ทำท่าเดียวกัน ความเป็นระเบียบย่อมดีในตัวของมันเอง เพราะระเบียบสะท้อนความสงบสุข และรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ผมเดาเอาเองว่า มนุษย์คงชอบระเบียบมานานก่อนที่เครื่องจักรจะเข้ามาครอบงำชีวิตแล้วกระมัง เพราะระเบียบมีความคงที่แน่นอนจนคาดเดาได้ ชีวิตที่คาดเดาได้ย่อมให้ความรู้สึกมั่นคงเป็นธรรมดา
แต่ระเบียบหมายถึงอะไร อาจแตกต่างกันระหว่างมนุษย์ก่อนเครื่องจักรและหลังเครื่องจักร?
ก่อนยุคเครื่องจักร ระเบียบไม่จำเป็นต้องหมายถึงความเหมือนกัน ฤดูกาลที่ไล่เรียงกันมาอย่างสม่ำเสมอ ร้อนแล้วก็ฝน แล้วก็หนาวแล้วก็ร้อนแล้วก็ฝนแล้วก็หนาวไปเรื่อยๆ ชั่วนาตาปี (หรือน้ำแห้งขอด-น้ำชุ่มฉ่ำ-น้ำหลาก-น้ำทรง-น้ำถอย-น้ำแห้งขอด) คือความเป็นระเบียบที่สำคัญแก่การจัดการชีวิต แต่ละฤดูไม่ได้เหมือนกันเลย และโชคดีที่มันไม่เหมือนเสียด้วย ผมคิดว่าความเป็นระเบียบก่อนยุคเครื่องจักรหมายถึงความสม่ำเสมอ (regularity) ของสรรพสิ่งมากกว่าอื่นใด แต่ความเป็นระเบียบของยุคหลังเครื่องจักรคือความเหมือนและความพร้อมเพรียง อย่างเดียวกับที่เครื่องจักรเป็น
"ระเบียบสังคม" ที่รัฐพยายามจะจัดขึ้นให้ได้มักเป็นระเบียบของเครื่องจักร เช่น นักเรียนต้องแต่งเครื่องแบบเหมือนกันหมด ไว้ผมทรงเดียวกัน ไปโรงเรียนพร้อมเพรียงกัน และเรียนเรื่องเดียวกัน เกือบจะในเวลาเดียวกันด้วยซ้ำ แปดโมงเช้ายืนเคารพธงชาติเหมือนกันและพร้อมกัน ผมรู้สึกว่า "ระเบียบ" ของเครื่องจักรคือความลงรอยในรูปเดียวกันหมด (uniformity)
ด้วยเหตุดังนั้น ภาพของมนุษย์และสังคม (ที่ดี) ทั้งในความเป็นจริงและในจินตนาการของเราเองจึงเป็นหุ่นยนต์ หรือเป็นเครื่องจักร ซึ่งทุกอย่างลงรอยในรูปเดียวกันหมด
เครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้น นับตั้งแต่ก้อนหินมาจนถึงมีดพร้ากะท้าขวานต่างๆ ไม่เคยกลืนกินมนุษย์ไปจนหมดได้เท่ากับเครื่องจักร ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ แต่กลายเป็นตัวมนุษย์ไปเลย อีกทั้งมนุษย์เองต้องเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนกับเครื่องมือของตัวเสียจนไม่เหลือตัวเองอีกเลย
ก่อนที่มนุษย์จะถูกเครื่องจักรกลืนกินไปจนหมด ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 วงการศิลปะและปรัชญาตะวันตกแสดงปฏิกิริยาต่อการเถลิงอำนาจของเครื่องจักรอยู่มากพอสมควร ทั้งในแนวทางต่อต้าน และแนวทางที่สมยอม
นั่นคือการมองหาความงามนอก "ระเบียบ" ของเครื่องจักร ซึ่งทำได้ทั้งการแสดงความน่าเกลียดและความไร้ชีวิตของ "ระเบียบ" นั้น ผมอดคิดไม่ได้เสมอว่า ความพยายามจะสร้างความไพเราะขึ้นจาก "ความไม่ประสาน" (dissonance) ในดนตรีสมัยใหม่คือส่วนหนึ่งของการดิ้นรนให้หลุดจาก "ระเบียบ" ของเครื่องจักร
สิ่งที่สร้างความวิตกห่วงใยแก่ศิลปินและนักคิดตะวันตกในช่วงนั้นก็คือ วิญญาณอิสระของมนุษย์จะถูกเครื่องจักรกลืนกินจนสูญสลายไป ร่องรอยของความคิดแบบนั้นยังตกอยู่ในหนังฮอลลีวู้ดสืบมาจนถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เช่น หนังท่องอวกาศที่ในที่สุดแล้ว มนุษย์ต้องต่อสู้เอาชนะคอมพิวเตอร์ของยานอวกาศ
อันที่จริง ฮอลลีวู้ดขายความสง่างามของความเป็นมนุษย์สืบมาจนถึงทุกวันนี้ และมักจะขายได้ดีทั่วโลกเสียด้วย แม้แต่สิ่งที่ "ระเบียบ" ของเครื่องจักรเห็นว่าเป็นความอ่อนแอ เช่น อารมณ์ซึ่งเครื่องจักรไม่มี (เพราะมันไม่อาจเหมือนกันหรือพร้อมเพรียงกันได้) หนังฮอลลีวู้ดก็ทำให้มันเป็นความเข้มแข็ง ที่ทำให้เราสามารถเอาชนะอำนาของเครื่องจักรได้
อีกอย่างหนึ่งของปฏิกิริยาตอบสนองต่อเครื่องจักรก็คือ การค้นหาความงามใน "ระเบียบ" ของเครื่องจักร เช่น เอาความไร้ชีวิตนั่นแหละเป็นความงาม หรือเอาความเหมือนและความพร้อมเป็นความงาม ผมขอไม่พูดเกี่ยวกับศิลปะและแนวคิดในฝ่ายนี้มากไปกว่านี้ล่ะครับ เพราะรู้อยู่แค่เนียะ
ด้วยเหตุผลอะไรผมก็อธิบายไม่ได้ (โดยยังไม่ได้สำรวจอย่างจริงจัง) ผมคิดว่า ไม่มีปฏิกิริยาต่อ "ระเบียบ" ของเครื่องจักรในหมู่ศิลปินและนักคิดไทย ทั้งๆ ที่คนไทยก็เหมือนคนอื่นๆ ในโลก คือรู้สึกได้ต่อ "ระเบียบ" ใหม่นี้เหมือนกัน เมื่อเครื่องจักรเริ่มเข้ามากลืนชีวิตของตัว
อย่างที่ผมเคยเล่าไว้ในคอลัมน์นี้นานมาแล้วว่า เมื่อผมเป็นเด็กนั้น คนไทยรู้สึกว่ารถไฟเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ากับชีวิตของตัวได้ยาก เนื่องจากรถไฟไม่เป็นของมนุษย์เอาเสียเลย ออกก็ตรงเวลาเป๊ะโดยไม่สนใจว่าคนจองตั๋วไว้จะมาถึงหรือยัง หรือจอดสถานีไหนสองนาทีก็สองนาทีเป๊ะ ต้องรีบขนของลงให้ทันเวลา จะมามัวโอ้เอ้สั่งลากันไม่ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือมันกลืนเอาเวลาของมนุษย์ไปเลย
อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรพัฒนาจากการทำงานแทนมือแทนเท้ามนุษย์มาสู่การทำงานแทนบางส่วนของสมองมนุษย์ พูดอีกอย่างหนึ่งคือเข้ามาจัดการข่าวสารข้อมูลแทนมนุษย์ และอาศัยข่าวสารข้อมูลนั้นเถลิงอำนาจเหนือมนุษย์มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราเองกลับจัดสังคมของเราให้เครื่องจักรทำงานได้คล่องขึ้น (แทนที่จะจัดเครื่องจักรเพื่อให้สังคมของเราทำงานได้คล่องขึ้น) ผมรู้สึกว่าแรงต่อต้าน "ระเบียบ" ของเครื่องจักรก็เสื่อมหายไปในช่วงนี้ด้วย
มนุษย์จึงเกลียดตัวเอง ไม่อยากเป็นมนุษย์ต่อไปอีกแล้ว อยากเป็นหุ่นยนต์มากกว่า ทำทุกอย่าง นับตั้งแต่จัดการศึกษา, การปกครอง, ไปจนถึงจัดบ้านช่องห้องหอ และวิถีชีวิตที่เทียบได้กับการทำงานของเครื่องจักร อะไรที่ไม่ตรงกับ "ระเบียบ" ของเครื่องจักร ล้วนกลายเป็นความวุ่นวายปั่นป่วน ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง เพราะมีสิ่งที่ไม่เหมือนและไม่พร้อมเพรียงกับเขาโผล่ขึ้นมาทิ่มแทงเรา
รูปกายภายนอกของมนุษย์เท่านั้นที่ยังไม่ลงรอยในรูปเดียวกัน แต่ข้างในของเราทุกคนหรือเงาของเราที่สะท้อนด้วยพื้นมันปลาบล้วนเหมือนกันทั้งนั้น นับตั้งแต่เครื่องแต่งกายไปจนถึงกิริยาท่าทาง เพราะเหมือนกันจึงทำทุกอย่างได้พร้อมเพรียงกัน ส่วนรูปกายภายนอกที่แตกต่างกันนั้น ไม่เป็นไร ศัลยกรรมพลาสติคหรือเครื่องจักรอีกอย่างหนึ่ง กำลังค่อยๆ แก้ไขให้ลงรอยในรูปเดียวกันในภายหน้า อีกทั้งในอนาคตยังมีเครื่องจักรชนิดใหม่คือวิศวพันธุกรรมศาสตร์ที่จะทำให้ทุกคนลงรอยในรูปเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มร้อย
เราต่างมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่มนุษย์เกลียดชังตัวเองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย เผ่าพันธุ์ที่เกลียดชังตัวเองขนาดนี้จะดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวต่อไปอีกนานสักแค่ไหนก็ไม่ทราบ
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซคทั้งหมด
กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com