The Midnight University
บทความเกี่ยวกับการให้การศึกษาพุทธ-คริสต์
สถาบันพุทธทาสภิกขุ
- คริสต์มาสและสุกิจวิทยาลัย
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความ ๒ เรื่องนี้เคยเผยแพร่แล้วบนสิ่งพิมพ์ของหนังสือพิมพ์มติชน ประกอบด้วย
๑. สถาบันพุทธทาสภิกขุ
๒. คริสต์มาสและสุกิจวิทยาลัย
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 797
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
8.5 หน้ากระดาษ A4)
สถาบันพุทธทาสภิกขุ
- คริสต์มาสและสุกิจวิทยาลัย
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
๑. สถาบันพุทธทาสภิกขุ
ความเป็นบุคคลสำคัญของโลกนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการประกาศขององค์กรระหว่างประเทศ
แม้ว่าองค์กรนั้นๆ อาจใช้กระบวนการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบสักปานใดก็ตาม
ความสำคัญของบุคคลนั้นจะมีแก่โลกเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่า "โลก"
จะใช้ประโยชน์จากความคิดและการกระทำของเขามากน้อยเพียงใดต่างหาก. แต่ "โลก"
จะใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้ "โลก" ก็ต้องมีโอกาส นั่นคือมีโอกาสรับรู้
มีโอกาสได้รับแรงบันดาลใจ และมีโอกาสนำเอาไปปฏิบัติ
แม้มีชาวไทยหลายคนที่ได้รับการประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยยูเนสโก แต่ประเทศไทยแทบไม่ได้ทำอะไรในทางที่จะทำให้คุณค่าของความคิด และการกระทำของท่านเหล่านั้น เป็นประโยชน์แก่การแสวงหาทางออกให้แก่ปัญหาที่โลกต้องเผชิญอยู่เวลานี้ นอกจากฉลองกันเป็นการภายในของเราเอง หากจะมีการแปลผลงานของท่านเหล่านั้นออกเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ส่วนใหญ่ (คือไม่นับพระมหากษัตริย์ในอดีต) แล้ว ก็เป็นความพากเพียรของเอกชนและองค์กรเอกชน และเท่าที่ทราบ ยังไม่มีเล่มใดถูกพิมพ์ซ้ำเลย ซึ่งไม่ได้แสดงคุณภาพของหนังสือเท่ากับคุณภาพของกลวิธีขยายความคิดนั้นแก่ชาวโลก
ในกรณีของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเพิ่งได้รับประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปีนี้ ความคิดและการกระทำของท่านมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อโลก โดยอาศัยฐานทาง "ปัญญา" ของพระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสเสนอทางออกให้แก่วิกฤตที่โลกต้องเผชิญอยู่เวลานี้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงซึ่งเพิ่มขึ้นในหน่วยเล็กๆ ทางสังคม เช่น ครอบครัว ไปจนถึงในสังคมวงกว้าง และในสังคมโลก หรือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอันเป็นภัยคุกคามการอยู่รอดของอารยธรรมมนุษย์ หรือการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจของทุนซึ่งมีกำลังมากขึ้นต่อประชาชนทั่วโลก (ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศของตัวเอง) ความก้าวหน้าของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่นำไปสู่ความสงบสุขของมวลมนุษย์ ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งขยายห่างมากขึ้น เพราะการกระจุกตัวของรายได้ไว้กับคนกลุ่มเล็กลงทุกที ฯลฯ
การฉลอง 100 ปีชาตกาลท่านพุทธทาสกลางท้องสนามหลวง โดยเน้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับศีลธรรมในหมู่เยาวชน แม้เป็นการกระทำที่ดี แต่ดูจะไร้ความหมายเมื่อเปรียบเทียบกับมรดกทางสติปัญญาที่ท่านพุทธทาสทิ้งไว้ให้แก่ชาวโลก
การรับรองให้คนไทยเป็นบุคคลสำคัญของโลก เป็นแค่โอกาสให้คนไทยชุมนุมตบหลังตบไหล่กันเอง เพื่อบอกแก่กันว่าคนไทยนี้ดี คนไทยนี้เก่ง ก็เท่านั้นเอง ฉะนั้น นอกจากจัดงานกลางท้องสนามหลวงแล้ว ไม่ดีกว่าหรอกหรือ ที่จะช่วยกันคิดทำอะไรที่จะยกมรดกของท่านพุทธทาสไปเป็นสมบัติร่วมกันของชาวโลก
ผู้เขียนขอเสนอโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแก่สังคมไทยพิจารณา (เมื่อไรที่ใช้คำว่าสังคม เมื่อนั้นก็รวมรัฐบาลอยู่ด้วย เพราะรัฐบาลควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคม) น่าจะจัดตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อทางออกจากวิกฤตโลกในนาม "สถาบันพุทธทาสภิกขุ" หรือ "สถาบันอินทปัญโญ" (Institute of The Great Wisdom) สถาบันนี้มีภารกิจที่จะศึกษาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตด้านต่างๆ ที่โลกเผชิญอยู่เวลานี้ โดยอาศัยพระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ และปรากฏอยู่ในนิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนาในโลก เพราะจะเป็นทางนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจวิกฤตต่างๆ ลึกลงไปกว่าระดับปรากฏการณ์ถึงระดับรากเหง้าได้ ก็จะพบทางออกที่แท้จริงหรือการปฏิวัติทางจิตใจซึ่งจะนำสันติสุขมาสู่โลกได้
ทั้งนี้สถาบันยังเปิดให้มองและแก้ปัญหานี้โดยใช้หลักธรรมคำสอนของศาสดาในศาสนาอื่นด้วย ดังที่ท่านพุทธทาสเองก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหลักธรรมในทุกศาสนา (แม้การตีความของท่านอาจไม่เป็นที่ยอมรับจากนักคิดในศาสนาอื่นทั้งหมดก็ตาม)
เหตุที่ควรเป็นสถาบันนานาชาติ ไม่แต่เพียงต้องการให้สะดวกแก่การเผยแพร่ในภาษาซึ่งชาวโลกเข้าถึงได้ง่ายเท่านั้น แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าก็คือ เพื่อสามารถระดมนักปราชญ์ซึ่งสนใจประเด็นปัญหานี้ อันมีทั้งชาวพุทธและไม่ใช่ จากทั่วโลกมาร่วมมือกันได้อย่างจริงจัง
สถาบันควรมีจุดมุ่งหมายตั้งแต่เริ่มแรกที่จะประมวลความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจากทั่วโลกมาสั่งสมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับแหล่งความรู้ประเภทเดียวกันในโลกได้อย่างสะดวก เพราะสถาบันควรเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าความรู้ทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของโลก ที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาที่สนใจด้านนี้ได้อย่างดี ซึ่งจะดึงดูดนักศึกษาทั้งรุ่นใหม่และเก่าเข้ามาใช้บริการได้กว้างขวางทั่วโลก
สถาบันควรเชิญนักปราชญ์จากประเทศต่างๆ ที่มีชื่อเสียงด้านพระพุทธศาสนาให้เป็น "แขก" (visiting scholars) ของสถาบัน หมุนเวียนกันไปครั้งละหลายท่าน เพราะนอกจากสถาบันจะสามารถได้ประโยชน์จากการทำงานของท่านเหล่านั้นแล้ว สถาบันเองก็จะเป็นจุดเชื่อมโยงนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาให้สร้างงานหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกได้กว้างขวางขึ้นด้วย
สถาบันควรมีกำลังทรัพย์และความสามารถพอที่จะอุดหนุนการเผยแพร่ผลงานของนักปราชญ์เหล่านั้น ช่วยลดอุปสรรคของตลาดงานประเภทนี้ซึ่งไม่สู้จะกว้างขวางนักลงบ้าง (ไม่จำเป็นต้องลงทุนเองทั้งหมด อาจร่วมทุนบางส่วนกับสำนักพิมพ์, โรงถ่ายภาพยนตร์, ผู้อำนวยการสร้างรายการโทรทัศน์ ฯลฯ)
สถาบันควรมีทุนการศึกษา หรือทุนอุดหนุนกิจกรรมของตนเอง เพื่อแจกจ่ายแก่บุคคลต่างๆ ทั่วโลกที่เสนอโครงการศึกษาหรือโครงการกิจกรรมที่สถาบันเห็นชอบและต้องการสนับสนุน เพราะสถาบันควรเป็นศูนย์แห่งหนึ่งในโลกที่ทำหน้าที่ "ปม" ที่เชื่อมโยงการเคลื่อนไหวทั้งด้านการศึกษาและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อเปิดทางออกของวิกฤตแก่ชาวโลก
ในอีกด้านหนึ่ง สถาบันพุทธทาสภิกขุ ควรมีภารกิจด้านการเผยแพร่แก่ชาวบ้านธรรมดาด้วย ไม่ใช่เฉพาะนักปราชญ์ระดับโลกเท่านั้น ดังที่ท่านพุทธทาสเองไม่เคยทิ้งชาวบ้านหรือคนธรรมดาซึ่งไม่ใช่ปัญญาชนเลย อีกทั้งท่านยังคิดค้นวิธีการที่แยบคายหลายอย่างในการเผยแพร่ เช่น "โรงมหรสพทางวิญญาณ" เป็นต้น ภารกิจด้านนี้ควรถือเป็นภารกิจหลักอีกด้านหนึ่งของสถาบัน คือกระทำการเผยแพร่ด้วยวิธีการที่แยบคาย และมีประสิทธิผลแก่ประชาชนคนธรรมดาในโลกปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ในโลกที่กว้างขวางของสถาบัน จะช่วยเผยแพร่ทั้งเนื้อหาและวิธีการแยบคายซึ่งสถาบันค้นพบให้เป็นประโยชน์ในสังคมต่างๆ
แน่นอนว่าสถาบันต้องมีเงินทุนจำนวนมาก แต่ก็ไม่เกินกำลังความสามารถของชาวโลกจะอุดหนุนได้ หากสังคมไทยรับภาระเป็นผู้ระดมกำลัง เงินก้อนแรกน่าจะมาจากรัฐไทยเอง และเริ่มระดมทุนจากสังคมไทย และจากองค์กร, มูลนิธิ และสังคมอื่นๆ ทั่วโลก พร้อมกับเริ่มดำเนินงานจากน้อยไปหามากได้เลย กิจกรรมและประโยชน์ของสถาบันจะเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความมีคุณประโยชน์ของสถาบันแก่ชาวโลก อันจะนำมาซึ่งเงินอุดหนุนได้อย่างสืบเนื่องต่อๆ ไป
คนไทยแต่ก่อนมีประเพณี "บอกบุญ" ซึ่งปัจจุบันความหมายเสื่อมลงจนกลายเป็นการ "เรี่ยไรเงิน" เท่านั้น แต่เดิมท่านหมายถึงการบอกถึงกิตติคุณของความดีแก่ผู้อื่น ยังความปลาบปลื้มแก่เขา และโน้มนำจิตใจเขาไปสู่ทางที่ดี ความสำคัญของท่านพุทธทาสต่อชาวโลกนั้นจะมีจริงหรือไม่ หาได้ขึ้นอยู่กับประกาศขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยอยาก "บอกบุญ" แก่ชาวโลกหรือไม่ต่างหาก
๒. คริสต์มาสและสุกิจวิทยาลัย
"เด็กหญิงขายไม้ขีด (ซึ่งในยุโรปยุคนั้นคือขอทานจำแลง) ซุกตัวแนบผนังตึกเพื่อหลบความหนาวเยือก
และหิมะที่โปรยปรายมาไม่ขาดสาย วันนี้เธอขายไม้ขีดไม่ได้สักมัดเดียว จึงไม่กล้ากลับบ้านที่หนาวเยือกพอๆ
กัน เพราะกลัวพ่อจะตี
ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจจุดไม้ขีดไฟกับผนังตึกเพื่อรับความอุ่นจากเปลวไฟสักชั่วครู่ พลันที่แสงไฟลุกขึ้นที่ปลายไม้ขีด เธอก็ได้เห็นเตาผิงทองแดงสวยงามที่แผ่ความอุ่นไปทั่วร่าง เธอยื่นมือที่เกือบแข็งออกรับไออุ่น แล้วกำลังจะยืดขาที่ปราศจากรองเท้าออกไปรับไออุ่นบ้าง พลันแสงไฟจากไม้ขีดก็ดับลงพร้อมกับภาพเตาผิงทองแดงที่หายวับไป
เธอจุดไม้ขีดก้านที่สอง แสงของมันที่กระทบกำแพงทำให้กำแพงโปร่งในเหมือนม่านบางๆ เธอมองเห็นโต๊ะอาหารที่มีห่านย่างวางอยู่บนจานกระเบื้อง มีขนมนมเนยเพียบพร้อม ห่านย่างซึ่งมีมีดและซ่อมปักอกอยู่นั้น กระโดดลงจากโต๊ะแล้วกำลังกระเสือกกระสนมาหาเธอ แต่ไฟก็ไหม้ไม้ขีดจนสิ้นก้าน แสงไฟดับลงและทุกอย่างก็หายวับไปพร้อมกัน
ไม้ขีดก้านที่สาม ทำให้เธอเห็นต้นคริสต์มัสใหญ่ที่ประดับประดาไว้อย่างสวยงาม มีตุ๊กตาตัวเล็กๆ ห้อยอยู่ตามกิ่ง เธอเอื้อมมือออกไปเพื่อจับตุ๊กตาแสนสวยนั้น พลันแสงไม้ขีดก็ดับลงและความหนาวเยือกกลับมาโบยกระหน่ำตัวเธอใหม่
เธอจุดไม้ขีดอีกก้านหนึ่ง พลันเธอก็เห็นย่าผู้ล่วงลับซึ่งเป็นคนเดียวในชีวิตที่รักและเอ็นดูเธอ แต่คราวนี้ย่าแต่งกายงดงาม ใบหน้ายิ้มแย้มด้วยความสุขอย่างที่ไม่เคยปรากฏในชีวิตจริง เด็กหญิงตัวน้อยร้องขอให้ย่าพาเธอไปด้วย แล้วจุดไม้ขีดต่อเนื่องเพราะกลัวว่าย่าจะหายไปเหมือนอะไรดีๆ ที่ได้หายไปพร้อมกับแสงไฟ ย่าอุ้มเธอขึ้นมาแนบอก แล้วพาเธอล่องลอยจากไป
วันรุ่งขึ้น ฝูงชนมองศพเด็กหญิงขายไม้ขีดที่ซอกตึกแห่งนั้น บางคนพูดว่าเธอคงจุดไม้ขีดเพื่อสู้กับความหนาว โถน่าเวทนาเสียจริง" นิทานของ ฮันส์ คริสเจน แอนเดอร์สัน เรื่องนี้กลายเป็นตัวแทนของบรรยากาศวันคริสต์มาสของผม ไม่ได้สนุกสนานรื่นเริงเหมือนเพลงคริสต์มาสที่เขาเปิดตามห้างสรรพสินค้าเลย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในฤดูคริสต์มาสปีหนึ่งเมื่อผมยังอยู่ชั้นประถมครูท่านเล่าให้ฟังหน้าชั้น แล้วมันก็ประทับใจไม่รู้ลืมตลอดมา ทำไมท่านถึงเลือกเอาเรื่องนี้มาเล่าผมก็ไม่ทราบ ครูท่านนั้นเป็นใคร ผมก็ลืมไปแล้วจำได้แต่นิทานของท่านเท่านั้น
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคริสต์มาสโดยตรง ผมเพิ่งมาทราบว่าครูท่านเล่าผิดเมื่อโตแล้ว เพราะวันเกิดเหตุในนิทานจริงนั้นคือวันสิ้นปี ไม่ใช่วันก่อนคริสต์มาสสอย่างที่ท่านเล่า ผมเดาเอาว่าท่านคงดัดแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับฤดูคริสต์มาส ซึ่งโรงเรียนของผมจัดฉลองทุกปี จนเป็นความตื่นเต้นประจำปีของเด็กๆ ด้วย
โรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนคริสต์ แต่พูดอย่างนี้ทำให้ไขว้เขว เพราะโรงเรียนนั้นไม่ได้สังกัดคณะมิชชันนารีใดๆ เพียงแต่เจ้าของโรงเรียนซึ่งเป็นครูใหญ่ด้วยท่านนับถือศาสนาคริสต์ และเป็นศิษย์เก่าวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนนั้นคือโรงเรียนสุกิจวิทยาลัย และครูใหญ่คือคุณ "ครู" อนงค์ อิสรภักดี ท่านตั้งชื่อโรงเรียนตามชื่อสามีของท่านในขณะนั้น คืออาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์
ผมอยากเล่าเรื่องของโรงเรียนสุกิจ และครูอนงค์ ตามที่ผมได้รู้เห็น คุณครูอนงค์นั้นไม่ใช่ครูธรรมดา หรือครูที่เพียงแต่อยากสร้างโรงเรียนเพื่อช่วยเด็กๆ อย่างที่เราเคยได้ยินประวัติของครูเด่นๆ ท่านกำลังพยายามทำอะไรทางการศึกษาที่มากกว่านี้มาก ท่านอยากมีโรงเรียนของตัวเองเพื่อจะจัดการศึกษาตามอุดมคติของท่าน
ท่านจะรวย-จนแค่ไหนผมไม่ทราบ แต่ผมจำได้ว่าเมื่อเริ่มสร้างโรงเรียน ท่านและอาจารย์สุกิจได้มาที่บ้านผม ขอพบพ่อ-แม่ของผม แล้วเล่าเรื่องการสร้างโรงเรียนของท่าน เพื่อขอบริจาค ส่วนท่านจะอธิบายอุดมคติทางการศึกษาของท่านให้พ่อ-แม่ผมฟังอย่างไรนั้น ผมเด็กเกินกว่าเขาจะอนุญาตให้เข้าไปในห้องรับแขกเมื่อมีแขก
เท่าที่ผมทราบ ท่านไม่ได้มาหาพ่อ-แม่ของผมเพียงเจ้าเดียว แต่ท่านตระเวนหาครอบครัวที่พอจะช่วยท่านได้อีกหลายครอบครัวมาก ผมจึงเข้าใจเอาเองในภายหลังว่า ครูอนงค์กำลังคิดถึงการจัดการศึกษาที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน และโรงเรียนสุกิจฯ ของท่านก็พยายามติดต่อกับผู้ปกครองเด็กอย่างใกล้ชิด ดูเหมือนผมเคยได้ยินว่าท่านอยากจะให้มีสมาคมครู-ผู้ปกครองของโรงเรียนด้วยซ้ำ แต่ท่านก็ล้มเหลวเพราะนอกจากไม่มีสมาคมดังกล่าว (สมัยผมเรียน) แล้ว ดูเหมือนผู้ปกครองก็ยกลูกให้ท่านขาดไปเลยเหมือนผู้ปกครองสมัยนี้ ไม่ได้ใส่ใจเข้าไปกำกับดูแลโรงเรียนแต่อย่างใด
เมื่อหกสิบปีก่อน การมองเห็นการศึกษาเป็นมากกว่าการถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นปฏิบัติการทางสังคมด้วย น่าจะถือว่าเป็นคนหัวก้าวหน้ามาก และครูอนงค์เป็นคนหนึ่งในบรรดาคนเหล่านั้นอย่างแน่นอน
โรงเรียนสุกิจฯ ตั้งขึ้นกลางท้องนา มีอาคารไม้มุงจากฝาผนังกั้นจากพื้นเพียงครึ่งเดียว ข้างบนเปิดโล่งแทนหน้าต่าง แต่ชายคายื่นออกมามากพอที่จะกันละอองฝนได้ เพราะผมนึกไม่ออกว่าเมื่อฝนตกจะต้องขยันหนีแต่นึกออกว่าพื้นข้างนอกไม่ได้เทปูน และเวลาฝนตกเรายังเล่นกันใต้ชายคาได้ และหนึ่งในการเล่นคือเอาเท้าจุ่มน้ำฝนข้างนอก แล้วมาทาพื้นดินให้ลื่นเป็นมันปลาบ หวังว่าเด็กผู้หญิงหรือครูจะหกล้มให้ดูบ้าง จึงไม่แปลกที่โรงเรียนสุกิจฯ
สมัยนั้นถูกคนอื่นเรียกว่าโรงเรียนโรงงัว อันเป็นคำที่สามารถเรียกโรงเรียนในประเทศสมัยนั้นกว่าครึ่ง แต่โรงเรียนสุกิจฯ ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จึงดูประหลาดสำหรับคนทั่วไป ผมคิดว่านี่ก็เป็นจินตนาการทางการศึกษาอีกอย่างหนึ่งของครูอนงค์ คือโรงเรียนดีไม่ได้อยู่ที่ตัวอาคาร อันเป็นจินตนาการที่ผู้บริหารการศึกษาและครูของกระทรวงศึกษาฯ ไม่เคยมี ถึงมีก็ถูกทำลายไปหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภายใน "โรงงัว" นั้น ครูอนงค์สามารถดึงเอาครูดีๆ มาไว้เป็นจำนวนมากกว่าโรงเรียนประถมมัธยมทั่วไป ญาติของท่านและของอาจารย์สุกิจที่ จบ อ.บ. จากจุฬาฯ กลายเป็นครูประจำของโรงเรียนหลายคน ศิษย์เก่าวัฒนาฯ อีกหลายคนก็เข้ามาเป็นครูของสุกิจวิทยาลัย แม้แต่ครูเก่าของท่านจากวัฒนาฯ ที่ได้ชื่อว่าสอนภาษาไทยเก่ง คือคุณศรีสอาด บุนนาค ก็มาเป็นครูที่โรงเรียนสุกิจฯ
ครูองุ่น (อาจารย์องุ่น มาลิก) อ.บ. อีกคนหนึ่งซึ่งวิ่งไล่ตามกังวานของระฆังแห่งอุดมคติไปตลอดชีวิต ก็เข้ามาเป็นครูประจำอีกท่านหนึ่ง
เหตุที่ผมเรียกท่านเหล่านี้ว่า "ครู" แทนที่จะเรียกว่า "อาจารย์" ตามความนิยมว่าผู้ที่ได้ปริญญาตรีย่อมได้ชื่อว่า "อาจารย์" ก็เพราะเป็นนโยบายของครูอนงค์เอง ท่านเห็นว่าหากเรียกครูที่จบปริญญาตรีว่าอาจารย์ ก็จะมีครูสองชั้นขึ้นในโรงเรียน บางคนเป็นแค่ครู และบางคนเป็นอาจารย์ เด็กนักเรียนก็จะมีทัศนคติต่อ "สถานภาพ" ของครูแตกต่างกัน อาจเชื่อฟัง "ครู" น้อยกว่า "อาจารย์" หรือมองเห็น "สถานภาพ" ที่มากับการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต
ท่านจะคิดเรื่องของความเสมอภาคด้วยหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ ไม่ว่าจะคิดหรือไม่ การทำให้สถานภาพกลายเป็นเรื่องที่ไร้ความสำคัญถึงเพียงนี้ ในสังคมไทยที่เน้นสถานภาพทางสังคมระหว่างคนมาแต่โบราณ ต้องถือว่าครูอนงค์ "แหกคอก" มากอยู่ทีเดียว
ครูอนงค์เชื่อในระบบ "สหศึกษา" มาตั้งแต่ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ ยังมอง "สหศึกษา" ด้วยความหวาดระแวง และด้วยเหตุดังนั้นผมจึงได้คลุกคลีกับเด็กผู้หญิงมาตั้งแต่เล็ก แต่ก็เป็นอย่างที่ครูอนงค์ท่านวางใจกับระบบ "สหศึกษา" แหละครับ คือผมไม่ได้มีเพื่อนผู้หญิงสักคน เพราะเด็กผู้ชายในวัยขนาดนั้น สนุกกับการแกล้งผู้หญิงมากกว่าใกล้ชิดสนิทสนมกับหล่อน ทั้งๆ ที่เพื่อนร่วมชั้นบางคนของผมเป็นเด็กติดสงครามจึงใกล้สาวสะพรั่งเต็มทีแล้ว... คิดแล้วก็น่าเสียดายว่า ทำไมวุฒิภาวะทางสังคมของตัวถึงโตช้านักวะ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้แม่นยำคือ โรงเรียนสุกิจฯ สมัยที่ผมเริ่มเป็นนักเรียน ไม่มีเครื่องแบบ เพื่อนผู้หญิงบางคนนุ่งผ้าถุงมาเรียนก็มี เมื่อไม่มีเครื่องแบบก็ไม่มีทรงผมบังคับ และไม่มีอะไรอื่นๆ ที่มาพร้อมกับการเตรียมนักเรียนอัดกระป๋องขาย อย่างที่เราพบในการศึกษาสมัยหลัง
ในส่วนที่โรงเรียนสุกิจฯ เป็น "โรงเรียนคริสต์" นั้น นอกจากการฉลองคริสต์มาสแล้ว ก็ไม่มีอะไรอื่นที่จะทำให้รู้สึกได้ว่าเป็น "โรงเรียนคริสต์" เลย ผมไม่เคยรู้สึกต่อต้านศาสนาคริสต์ในโรงเรียนสุกิจฯ แต่เมื่อผมต้องย้ายไปเรียน "โรงเรียนคริสต์" ของมิชชันนารีฝรั่งเศสในภายหลัง ก็รู้สึกได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าชั้นเรียน เพราะ "เด็กเณร" หรือเด็กที่คณะบาทหลวงอุปถัมภ์เพื่อศึกษาและบวชเป็นบาทหลวงในภายหน้า จะต้องสวดสรรเสริญพระเจ้าก่อนเรียน ทุกคนรวมทั้งครูด้วยต้องยืนตรงสงบนิ่งระหว่างนั้น
แต่จนผมจบโรงเรียนแห่งนั้น ก็ไม่เคยมีใครอธิบายเลยว่าที่พวกเราซึ่งไม่ได้เป็นคริสเตียนต้องทำอย่างนั้น ก็เพื่อแสดงความเคารพต่อศาสนาอื่น อันเป็นการกระทำที่สมควรกระทำไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ฉะนั้น ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ผมจึงรู้สึกว่าถูกขืนใจทางศาสนาด้วยอำนาจตลอดมา
อันที่จริงพระเยซูไม่ได้เป็นคริสเตียน และท่านก็ไม่เคยสอนให้ใครเป็นคริสเตียน (อย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครเป็นชาวพุทธแต่ทรงสอนให้ถึงซึ่งพระรัตนตรัย) ท่านสอนให้เคารพพระเจ้าซึ่งทรงการุณยภาพต่อมนุษย์ด้วยการมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสิ่งสร้างสรรค์ของพระเจ้าเสมอกัน ทำได้อย่างนั้นแล้วจะได้ชื่อว่าเป็นคริสเตียนหรือไม่ก็ไม่สำคัญ
ผมเข้าใจว่าครูอนงค์ท่านคงเป็นคริสเตียนในความหมายนี้ มากกว่าอยากจะให้มีคริสเตียนในทะเบียนมากๆ เหมือนมิชชันนารี ฉะนั้น คริสต์มาสของโรงเรียนสุกิจฯ จึงมีความหมายว่าเทศกาลของทานหรือการให้ แม้ว่ามีการแสดงละครกำเนิดของพระเยซูเหมือนโรงเรียนคริสต์ทั่วไป แต่การย้ำความหมายของการให้จะเป็นสิ่งสำคัญในงานฉลองเสมอ (ผมเดาเอาเองว่า ครูที่นำเอานิทานเรื่องเด็กหญิงขายไม้ขีดมาเล่าให้นักเรียนฟัง ก็คงคิดถึงการให้ในความหมายที่กว้างกว่าให้แก่คนใกล้ตัว)
หลังออกจากโรงเรียนสุกิจฯ แล้ว ผมก็ไม่ค่อยได้ยินความหมายของคริสต์มาสอย่างนี้ที่ไหนอีก อันที่จริง โรงเรียนคริสต์จะทำให้คริสต์มาสเป็นฤดูกาลแห่งการให้ด้วยการทำอะไรที่จะช่วย "เด็กขายไม้ขีดไฟ" ซึ่งมีอยู่กล่นเกลื่อนทั่วโลกก็ได้ แต่ผมไม่เคยได้ยิน ผมมาเข้าใจในภายหลังว่า อะไรหลายอย่างของครูอนงค์นั้น ไม่ได้มาจากองค์กรคริสเตียน แต่เป็นอิทธิพลอเมริกันโดยตรงทีเดียว แม้ว่าในตอนนั้นท่านยังไม่เคยไปอเมริกาเลยก็ตาม
ประมาณเอาจากอายุและยุคสมัย ผมเอาว่าคุณครูอนงค์คงเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของแหม่มโคล ซึ่งบริหารโรงเรียนวัฒนาฯ มาเป็นเวลานาน และคงได้รับอิทธิพลอเมริกันผ่าน "แหม่ม" ต่างๆ ของวัฒนาฯ นี่เอง
เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมอเมริกันในประเทศไทย เรามักนึกถึงแต่มิชชันนารีฝรั่ง ซึ่งนำเอาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์เข้ามาเมืองไทย แต่ผมคิดว่าที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ คนไทยที่เป็นผลผลิตทางด้านการศึกษาของมิชชันนารีฝรั่ง เพราะคนเหล่านี้เข้าไปมีบทบาทด้านการศึกษาก่อนหน้าที่กระทรวงศึกษาฯ จะมีอิทธิฤทธิ์เข้าไปกำกับควบคุมมากทีเดียว แม้แต่ตัวผมเองก็ยอมรับว่า โรงเรียนสุกิจฯ มีส่วนสร้างตัวผมมากกว่าสถาบันการศึกษาทุกแห่งที่เคยผ่านมาในชีวิต ถ้าไม่ได้เรียนในโรงงัวแห่งนี้ ผมคงไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะทำให้น่ารักขึ้นหรือน่าชังขึ้นก็ตาม
แต่ในที่สุดผมก็ต้องออกจากโรงเรียนสุกิจฯ เพราะโรงเรียนราษฎร์หลังสงครามจะอยู่รอดได้ ก็ต้องได้รับวิทยฐานะ ฉะนั้น ครูอนงค์จึงต้องเปลี่ยนโรงเรียนสุกิจฯ ให้เป็นไปตามการบังคับบัญชาของกระทรวง เริ่มตั้งแต่แต่งเครื่องแบบ และในที่สุดก็ต้องเลิกสหศึกษา เด็กผู้ชายถูกขอร้องให้ลาออกไปตามแต่จะมีทางไปได้ (ทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับ "วิทยะ" ตรงไหนเลย)
ผมไม่ทราบว่าครูอนงค์ท่านจะเจ็บปวดสักแค่ไหน
ตัวผมเองไม่รู้สึกอะไร จนโตแล้ว ถึงรู้ว่าได้สูญเสียอะไรให้แก่กระทรวงศึกษาฯ
ไปบ้าง
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com