The Midnight University
เนื่องในโอกาสงานครบรอบ
๗๒ ปี ส.ศิวรักษ์
ความไม่เป็นกลางของ ส.ศิวรักษ์
มองผ่านชีวิตและวาทะของ Howard Zinn
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
นักแปลและนักวิชาการอิสระ
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เป็นการเสวนาเนื่องในโอกาสงานครบรอบ ๗๒ ปี
ส.ศิวรักษ์
วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ ณ สยามสมาคม กรุงเทพฯ
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 796
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
6.5 หน้ากระดาษ A4)
ความไม่เป็นกลางของส.ศิวรักษ์
มองผ่านชีวิตและวาทะของ Howard Zinn
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
ผมอยากเล่าความรู้สึกที่มีกับอาจารย์สุลักษณ์ ด้วยการเทียบเคียงชีวิตอาจารย์กับชีวิตบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง
ซึ่งผมว่ามีทั้งความเหมือนและความต่างในหลายด้าน บุคคลท่านนั้นคือ Howard Zinn
ซึ่งแก่กว่าอาจารย์สุลักษณ์ 11 ปีครับ
ความเหมือน
ผลงานวิชาการไม่เป็นที่ยอมรับของกระแสหลัก
- งานชิ้นเอกของซิน A People's History of the United States: 1492 - Present
พิมพ์ขายมากกว่า 1 ล้านเล่ม มีการรีวิวในหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ มากมาย
แต่กลับไม่มีการรีวิวใน "Professional Historical Journals" แม้แต่เล่มเดียว
งานของซินชิ้นนี้เป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอเมริกา จากปากคำของชนชั้นสูงมาเป็นการเสนอมุมมองของคนพื้นเมือง
คนที่ถูกกระทำย่ำยีในช่วง 500 กว่าปี นับแต่โคลัมบัสค้นพบทวีปนี้ในปี ค.ศ.1492
(โปรดสังเกตชื่อรองของหนังสือ) บางส่วนของวาทะของเขาจากหนังสือมีดังนี้
"ผู้ชนะ (จากสงครามโลกครั้งที่สอง) คือสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา...ทั้งสองประเทศปฏิบัติการต่อไป โดยไม่ต้องใช้เครื่องหมายสวัสดิกะ ไม่มีจังหวะก้าวของทหารแบบห่าน ไม่ต้องมีการประกาศลัทธิเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นทางการ แต่โดยการอ้างยี่ห้อ "สังคมนิยม" ฝ่ายหนึ่ง กับ "ประชาธิปไตย" อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างอาณาจักรและอิทธิพลของตนเอง พวกเขาทั้งแข่งขันและร่วมมือกันเพื่อครอบงำโลก
ผลิตอาวุธสงครามปริมาณมหาศาลยิ่งกว่าที่ประเทศฟาสซิสต์ทั้งหลายเคยผลิตได้
สามารถควบคุมชะตากรรมของประเทศต่าง ๆ มากยิ่งกว่าที่ฮิตเลอร์ มุสโสลินีและญี่ปุ่นเคยทำได้
ทั้งยังควบคุมประชาชนของตนเอง แต่ละประเทศก็มีวิธีการแตกต่างกันเพื่อสถาปนาอำนาจของตนเอง
ของโซเวียตอาจเป็นวิธีควบคุมที่หยาบหน่อย ของสหรัฐฯ เป็นการควบคุมที่แยบยลกว่า"
(ใครสนใจหนังสือเล่มนี้แต่ยังไม่อยากซื้อ เข้าไปอ่านได้ที่
http://historyisaweapon.com/zinnapeopleshistory.html)
- เช่นเดียวกัน งานด้านประวัติศาสตร์ของ ส.ศิวรักษ์ ก็ไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการมากเท่าไร โดยเฉพาะความที่เป็นงานที่มีการอ้างอิงงานเอกสารน้อย อาจารย์เคยบอกว่าสิ่งที่รู้รู้มาจากบุคคลในประวัติศาสตร์ เป็นมุขปาฐะ มากกว่าเป็นงานบันทึกเชิงเอกสาร ทั้ง ๆ ที่เรื่อง "พระ" กับ "เจ้า" ในยุคนี้ น่าจะไม่มีใครรู้ดีมากกว่า ส.ศิวรักษ์แล้ว หนังสือกึ่งชีวประวัติส่วนใหญ่ที่ ส.ศิวรักษ์เขียนก็เรื่อง"พระ" กับ "เจ้า" ทั้งนั้น
การทำงานกับเยาวชน
- หลังจากได้รับดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซินเริ่มงานครั้งแรกด้วยการสอนหนังสือที่
Spelman College ซึ่งในตอนนั้นเป็นมหาวิทยาลัยของสตรีผิวดำ ในยุคที่มีการกีดกันด้านสีผิวมากมาย
และกลายเป็นผู้ปลุกเร้าให้นักศึกษาเดินขบวน ทำงานรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้เลิกการกีดกันคนผิวดำ
ทั้งที่ตอนนั้นเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แล้ว
จากมหาวิทยาลัยที่ conservative เหมือน "สำนักชี" กลายเป็น progressive college มีคนบอกว่าเขาฟื้นคืนชีวิตให้กับสถาบันอุดมศึกษา สุดท้าย ซินเป็นผู้นำให้นักศึกษาและเจ้าหน้าที่เดินขบวนประท้วงระบบการบริหารในมหาวิทยาลัย หลังจากสอนที่นั่นมา 7 ปีเลยถูกไล่ออก ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นอาจารย์ประจำแล้ว (tenured faculty) ลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งคนดัง ๆ อย่าง Alice Walker คนที่เขียนเรื่อง Color Purple และมีการทำเป็นภาพยนตร์
- ส.ศิวรักษ์ทำงานกับกลุ่มยุวชนสยามและปัญญาชนมากมาย ผมภูมิใจที่ได้ทำงานกับอาจารย์โดยตรง และอาจารย์ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่เสมอมา ผิดกับผู้ใหญ่หลายท่านที่เลือกทำงานโดยตรงกับคนที่มีอาวุโส อาจารย์สุลักษณ์ให้โอกาสเราลองผิดลองถูกเสมอ เป็นบุญคุณที่ผมและเพื่อน ๆ ไม่เคยลืมเลือน จะเห็นได้จากคนที่มานั่งพูดและฟังที่นี่ก็เป็นคนรุ่นใหม่มากมาย
งานด้านสันติวิธี
- ซินเป็นที่ปรึกษากลุ่ม Student Nonviolent Coordinating Committee (SNCC
อ่านว่า snick) ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาผิวดำที่เคลื่อนไหวตามแนวทางสันติวิธี
ซึ่งน่าสนใจเพราะความสนใจเบื้องต้นของซิน เริ่มเรื่องการต่อสู้ระหว่างชนชั้นและ
Marx (เขาเขียนบทละครเรื่อง "Marx in Soho") ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นนักบินที่ขนระเบิดเนปาล์มไปทิ้งที่ฝรั่งเศส
เบอร์ลิน ฮังการี เช็คโกสโลวาเกีย เรียกว่าในยุคสี่ทศวรรษตั้งแต่สงครามเวียดนามจนถึงสงครามอิรัก
ซินเป็นแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านสงครามมาโดยตลอด
- ส.ศิวรักษ์เป็นแรงบันดาลใจและเป็นที่ปรึกษามากมายให้กับกลุ่มสันติวิธี กลุ่มอหิงสา ในยุคที่มีการเห็นว่าความรุนแรงเป็นคำตอบ เช่นเดียวกับซิน ส.ศิวรักษ์ไม่เคยโน้มเอียงไปในแนวทางที่ใช้ความรุนแรงเลย ยกเว้น "ภาษาธรรม" บางคำที่อาจารย์ใช้ อย่างเช่น "ถีบแม่งออกไปเลย" อันนี้ใช้บ่อย
การท้าชนกับระบบ
- ซินถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยครั้งหนึ่งที่ Spelman College อย่างที่ผมเกริ่นแล้ว
เมื่อมาอยู่กับ Boston University (BU) ก็เป็นผู้นำการประท้วงสงครามเวียดนาม
ปลุกระดมนักศึกษาให้ต่อสู้ และเมื่อ John Silber ขึ้นมาเป็นอธิการบดีของ BU
ก็เริ่มกดดันเขาทุกทาง รวมทั้งสร้างข้อกล่าวหาผิด ๆ แก่เขาเพื่อบีบให้ซินลาออก
อย่างการห้ามไม่ให้เขามีผู้ช่วยสอน (teaching assistant) ทั้ง ๆ ที่ตำแหน่งเขาเป็นศาสตราจารย์ประจำ
แต่ซินมีนักศึกษาคอยหนุนหลังเขา และไม่เคยกลัวที่จะเอาอาชีพการงานเข้ามาเสี่ยง ทั้ง ๆ ที่ครอบครัวของเขาไม่ได้ร่ำรวยอะไร ตอนที่ประท้วงสงครามเวียดนาม เขายังถูกตีหัว กระชากเสื้อ และหิ้วปีกไป ตอนที่เขาไปศาลในคดีบางแยกสีผิว ในยุค 60's ปรกติในศาลจะแบ่งที่นั่งระหว่างคนขาวกับคนดำ ซินเลือกไปนั่งฝั่งคนดำ นักศึกษาผิวดำเลือกไปนั่งฝั่งคนขาว เจ้าหน้าที่สั่งให้สลับที่นั่งก็ไม่มีใครยอมสลับ เมื่อผู้พิพากษาถาม เขาอธิบายให้ฟังว่าศาลสูงมีคำสั่งแล้วว่าตามรัฐธรรมนูญไม่อาจมีการแบ่งแยกด้วยเหตุเรื่องสีผิวได้ ซึ่งเสี่ยงกับการหมิ่นศาล
ตลอดช่วงทศวรรษ 1960 - 1990 ถือได้ว่าซินเป็นสะดมหลักในการเคลื่อนไหวด้านการดื้อแพ่งพลเรือน civil disobedience ต่อต้านสงคราม อย่างยากจะหาใครมาเทียบ อาจเป็นเพราะหลายคนตายไปแล้วก็ได้
- ส.ศิวรักษ์เป็นคนแรก ๆ ที่จุดชนวนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ต่อระบบกษัตริย์ ความคิดหลักของอาจารย์คือการปลุกคนให้ตื่น และปลดแอกตัวเองจากระบบที่เป็นอยู่ ไม่ต่างจากซิน ส.ศิวรักษ์ก็เอาอาชีพการงานเข้ามาเสี่ยงเหมือนกัน และอาจมากกว่าในกรณีที่ท้าทายกับเจ้าชีวิต ลักษณะการพูดของส.ศิวรักษ์ ก็ไม่ต่างจากซิน เป็นการเร่งเร้าให้คนตระหนักถึงสิทธิตนเอง ตระหนักถึงโซ่ตรวนอันอยุติธรรม ผมยังจำครั้งแรกที่ฟังอาจารย์พูดได้ดีครับ นึกถึงทีไรก็ขนลุกครับ
อย่างไรก็ดี ชีวิตอาจารย์ก็แค่ "เฉียด" คุกหลายครั้ง และไม่เคยถูกซ้อม (เพราะหนีทัน อย่างในสมัยรัฐบาลหอย และ รสช.) ผมเคยบอกกับยอร์จ วิลโลบี้ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับอาจารย์และเป็นนักประท้วงและนักสันติวิธีตัวยง มีอยู่เย็นวันหนึ่งเรานั่งคุยกันเล่น ๆ ที่บ้านของเขา ผมเปรยว่าอาจารย์สุลักษณ์เป็นคน radical ที่สุดคนหนึ่ง จอร์จเงยหน้ามองผมด้วยความฉงน ผมถามว่าทำไม เขาบอกว่า "อาจารย์สุลักษณ์เป็นคนที่ประนีประนอมมากที่สุดต่างหาก"
และเริ่มสาธยายว่าอาจารย์มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง คนชั้นสูงอย่างไรบ้างเพื่อทำงานให้สำเร็จ อันนี้ดูเหมือนว่าส.ศิวรักษ์จะไม่เห็นว่า ends กับ means ต้องไปด้วยกันเหมือนที่คานธีบอก ความเห็นของจอร์จมีอิทธิพลกับผมมากทีเดียว ทำให้แว่นที่ผมสวมเปลี่ยนไปบ้าง ยิ่งในตอนหลัง ผมเห็นว่าอาจารย์ประนีประนอมเข้ากับระบบมากขึ้น คบกับนักการเมืองที่ฉ้อฉลด้านจริยธรรม โดยเฉพาะจริยธรรมทางเพศ คบกับธุรกิจที่เป็นมิจฉาวณิชชา โดยเฉพาะมัชชวณิชชาอย่างแน่นแฟ้น ทำให้ผมใจหายไม่น้อยเลย
ความต่าง
การทำงานกับชนชั้นกลางและสูงกับพื้นเพ
- ซินทำงานกับกรรมกร คนชั้นล่างมากกว่า ด้วยพื้นเพที่เป็นกรรมกรและชนชั้นล่างมาก่อน
พ่อของซินอพยพมาจากออสเตรียและจบ ป.4 แม่อพยพมาจากไซบีเรียและจบ ป.7 ที่บ้านของเขาตอนเด็กไม่มีหนังสือสักเล่มเดียว
มีเตาน้ำมันก๊าดที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ให้ความร้อนไปจนถึงต้มน้ำ ไม่มี central
heating หนังสือเล่มแรกที่อ่านเก็บมาจากข้างถนน
อายุ 18 เริ่มทำงานเป็นกรรมกรที่อู่ต่อเรือ (ต่อเรือรบ) และเป็นนักจัดตั้งให้กับสหภาพแรงงาน ตอนอายุ 17 เข้าร่วมการประท้วงของยุวชนคอมมิวนิสต์ ถูกตีหัวจนสลบเลยตั้งคำถามกับความเป็นกลางของรัฐบาลของเจ้าหน้าที่ ต่อมาอยากไปสู้กับระบบ fascism เลยสมัครเป็นทหารและได้ไปทิ้งระเบิดที่ยุโรป
และคำตามที่เขียนใน A People's History of the United States น่าสนใจมาก บอกชัดเจนว่า ต้องการบอกเล่าประวัติศาสตร์จากมุมมองของคนที่ถูกทอดทิ้ง ถูกมองข้าม ทั้งคนผิวดำ ผู้หญิง คนพื้นเมือง ลองหามาอ่านนะครับ อ่านแค่คำตามก็พอ ไม่กี่หน้า เหตุผลหนึ่งที่หนังสือเขาไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการเพราะ มีศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งในฮาร์วาร์ดวิจารณ์ซินว่า "I paid too much attention to the Indians." แสดงว่านักประวัติศาสตร์กระแสหลักน้อยคนที่จะให้ความสำคัญกับคนพื้นเมือง คนชาติพันธุ์
- ส.ศิวรักษ์ทำงานกับคนชั้นกลางและคนชั้นสูงมากกว่าคนชั้นล่าง งานกึ่งชีวประวัติที่อาจารย์เขียนเป็นเจ้านาย และชนชั้นสูงมากยิ่งกว่าสามัญชน อย่างในเรื่อง "อ่านคน - ไทย" อาจารย์อ่าน "เจ้านายและเชื้อพระวงศ์" 14 ท่าน อ่าน "สามัญชน" 10 ท่าน และจริง ๆ ใน"สามัญชน" ของอาจารย์ ส่วนใหญ่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคนชั้นกลางและสูงมากกว่า เช่นเดียวกันในเรื่อง "อ่านคน - เทศ" อาจารย์จำแนกเป็นเชื้อพระวงศ์กับชนชั้นสูงแค่ไม่กี่ราย แต่ผมว่าในรายละเอียด คนเทศที่อาจารย์เขียนถึงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางและสูง
และแน่นอนว่าทั้งนี้เป็นเพราะพื้นเพของอาจารย์เป็นชนชั้นกลางหรือสูงมากกว่าชนชั้นล่าง ทั้งเรื่องชาติกำเนิด (ลูกหลานเจ้าของโรงสีใหญ่ที่สุดในสยาม ) การศึกษา (ได้รับการศึกษาเยี่ยงชนชั้นกลางและสูง และจบจากอังกฤษ ในขณะที่กว่าซินจะได้เรียนอุดมศึกษาก็อายุ 27 ปีแล้ว และต้องกระเตงเลี้ยงลูกถึงสองคนเหมือนกรรมกรทั่วไป ต้องพาครอบครัวไปอยู่ในแฟลตคนจน "ในห้องใต้ดินที่เต็มไปด้วยหนู" อันที่จริง เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าเรียนและต้องการเป็นอาจารย์ เพราะต้องการรายได้มาเลี้ยงครอบครัว เขาบอกว่าที่ไปสอนที่ Spelman College เพราะต้องการไปสอนอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการไปจัดตั้งนักศึกษา)
พื้นแพและความคุ้นเคยในแวดวงคนชั้นสูงนี่เองทำให้อย่างน้อย อาจารย์สุลักษณ์ไม่เคยเขียนประวัติศาสตร์จากแง่มุมของชนเผ่า แง่มุมของผู้หญิง แง่มุมของคนชายขอบ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ที่มีก็เขียนเป็นเกร็ดมากกว่าจะมีการศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นไป หรือเขียนเป็นงานชิ้นหลักออกมา ทำให้งานเขียนด้านประวัติศาสตร์และชีวประวัติของอาจารย์ขาดความขลังตรงนี้ไป อันนี้ผมว่าน่าเสียดายมาก แต่อาจเป็นเพราะความคุ้นเคยของอาจารย์ที่อยู่แวดวงคนชั้นสูงมากกว่าชนชั้นล่าง หรือคนเทศมากกว่าคนไทยนั่นเอง
ที่น่าสนใจเพราะซินเขียนบทละครอยู่สองชิ้น อันแรกคือ Marx in Soho ที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว อีกชิ้นคือ Emma ซึ่งเป็นชีวประวัติของ Emma Goldman ที่เป็น anarchist และ communist คนสำคัญ เป็น feminist ด้วย และแน่นอนมีอิทธิพลมาต่อขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิในอเมริกาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อ 20 เคยถูกจองจำในปี 1893 หนึ่งปี เพราะไปพูดปลุกระดมคนตกงานว่า "(พวกเรา) ของานทำ ถ้าเขาไม่มีงานให้เราทำ ขออาหารจากเขา ถ้าเขาไม่มีทั้งอาหารและงานให้เราทำ เอาอาหารของมันไป" ("Ask for work. If they do not give you work, ask for bread. If they do not give you work or bread, take bread.")
สุดท้ายผมอยากมองว่าทั้งซินและส.ศิวรักษ์มีอะไรร่วมกันมากกว่าต่างกัน ลองฟังคำพูดของซินที่ผมอยากอ่านให้ฟังเพื่อปิดท้ายในหัวข้อ "ความเป็นกลางของส.ศิวรักษ์" ครับ
ซินบอกว่า
"ข้าพเจ้าอยากชี้ให้เห็นว่าประชาชนที่ดูเหมือนไม่มีพลัง ทั้งกรรมกร คนผิวสี
ผู้หญิง เมื่อได้รับการจัดตั้งและรวมตัวเพื่อประท้วง และพัฒนาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวระดับชาติแล้ว
พวกเขาจะมีพลังซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนปราบปรามลงได้"
ปลุกเร้าให้คนลุกขึ้นสู้ไหมครับ หลายท่านในที่นี้คงได้ยินที่อาจารย์พูดในทำนองนี้มามากมายครับ ทั้งที่พูดกับกลุ่มสมัชชาคนจนที่มาประท้วงในกรุงเทพฯ และกลุ่มอื่น ๆ เพราะทั้งซิน และ ส.ศิวรักษ์เชื่อในพลังของคนกลุ่มเล็ก ๆ เสมอ
อีกอันหนึ่งครับที่ผมว่าซินเหมือนกับ ส.ศิวรักษ์อย่างกับแกะ ก็คือ "ความไม่เป็นกลาง" นี่แหละครับ ซินบอกว่า "ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเราสามารถวางตัวเป็นกลางได้ โลกเคลื่อนไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่งเสมอ การวางตัวเป็นกลาง การทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนในสถานการณ์เช่นนั้น ก็คือการให้ความร่วมมือกับสิ่งที่เป็นอยู่นั่นเอง และในฐานะผู้สอน ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ความร่วมมือกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก ในฐานะผู้สอน ข้าพเจ้าอยากให้ตัวเอง ให้ลูกศิษย์ เข้าไปแทรกแซงกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก"
ในแง่ของความเป็นกลางนั้น ซินมีความเห็นอยู่ 2 ประการคือ
หนึ่ง มัน not desirable ไม่เป็นที่พึงปรารถนา สิ่งที่น่าพึงปรารถนาสำหรับเขาคือการอยู่ข้างเดียวกับคนเล็กคนน้อย คนที่ถูกเอาเปรียบ แทนที่เลือกจะอยู่ "ตรงกลาง"
สอง มัน not possible เป็นไปไม่ได้ เพราะในความเห็นของซิน "ประวัติศาสตร์ทุกอย่างเป็นการคัดเลือกความจริงบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น...ทันทีที่เลือก เราก็เลือกเฉพาะส่วนที่ตัวเราคิดว่าสำคัญ มันก็ไม่เป็นภววิสัยแล้ว มีอคติเกิดขึ้นจากจุดยืนที่คุณเป็นในฐานะผู้คัดเลือกข้อมูลที่คุณคิดว่าคนอื่นควรรู้...นักประวัติศาสตร์ควรประกาศว่าพวกเขามีค่านิยมอย่างไร สนใจเรื่องไหน มีพื้นเพมาอย่างไรบ้าง อะไรที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญ เพราะว่าคนรุ่นหลังและทุกคนที่ได้อ่านงานประวัติศาสตร์ของเขา จะได้ทราบล่วงหน้าว่าไม่ควรพึ่งแหล่งข้อมูลจากเขาที่เดียว แต่ควรพึ่งหลายแหล่ง...เราควรมีประวัติศาสตร์ที่ส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ คุณค่าเยี่ยงมนุษย์ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม"
ซินบอกต่อว่า
"นักเขียนอย่างเราก็เหมือนกับขโมย เวลาเห็นอะไรดีเราก็ใช้มัน ถ้าสุภาพหน่อยเราก็ประกาศให้คนรู้ว่าเราได้สิ่งนั้นมาจากไหน
แต่บางครั้งเราไม่บอก สิ่งที่ออร์แวล (จอร์จ ออร์แวล) พูดสำคัญกับผมมากที่ว่า
เราสามารถควบคุมประวัติศาสตร์ได้ ควบคุมสิ่งที่คนควรรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เราเป็นคนตัดสินว่าในประวัติศาสตร์ของประชาชนควรมีความรู้เรื่องใดบ้าง อะไรควรตัดทิ้ง
คุณสามารถกำหนดความคิดของเขาได้ คุณกำหนดค่านิยมของเขาได้ คุณสามารถจัดระเบียบสมองด้วยการควบคุมความรู้ของคนด้วยซ้ำไป
คนที่ทำเช่นนั้นได้ คนที่ควบคุมอดีตได้ เป็นผู้ควบคุมปัจจุบัน"
ส.ศิวรักษ์ก็พูดและทำอย่างนี้ตลอดมา
จนผมไม่ต้องจาระไน ครับ ลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์จึงกระจายอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง
และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่คอยทัดทานความอยุติธรรมอยู่ทุกหัวระแหง
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นำเสนอครั้งแรกในการเสวนาเนื่องในโอกาสงานครบรอบ 72 ปี ส.ศิวรักษ์ วันที่ 22 ธันวาคม 2548 สยามสมาคม กรุงเทพฯ
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com