นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University

ความเป็นมาขององค์กรอิสลามหัวรุนแรง
อัลเคด้า, ยี่ห้อหรือองค์การจัดตั้ง?
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ : แปล
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย
1. อัลเคด้า, ยี่ห้อหรือองค์การจัดตั้ง? 2. รากฐานของอัลเคด้า พลรบผ่านศึกอัฟกันสองรุ่น
3. บุคลิกลักษณะ และจุดอ่อนข้อจำกัด ของอัลเคด้ารุ่นสอง 4. แนวโน้มของอัลเคด้า เปิดแฟรนไชส์
5. แนวโน้มของอัลเคด้า หาหุ้นส่วนและแปรเป็นองค์การอาชญากรรม


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 793
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4)


1. "อัลเคด้า, ยี่ห้อหรือองค์การจัดตั้ง?"
นับแต่เหตุวินาศกรรมก่อการร้าย 11 กันยายน ค.ศ.2001 ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้นมา การโจมตีก่อการร้ายและปฏิบัติการหลายหลากมากมายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถูกกล่าวอ้างเหมารวมว่าเป็นฝีมือของ "อัลเคด้า" ทว่าการดำเนินงานเหล่านี้ หาได้อยู่ภายใต้ตรรกะเดียวกันหมดไม่ อีกทั้งมิได้ถูกจัดตั้งโดยศูนย์การนำหนึ่งเดียวกันอีกด้วย เราจะเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างไร? มันสะท้อนบ่งบอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะ และธาตุแท้ของสิ่งที่เรียกว่า "อัลเคด้า"?

บทความที่ผมจะทยอยนำลงเพื่อพยายามขบตอบปัญหาดังกล่าว แปลมาจากข้อเขียนเรื่อง "Al-Qaida, label or organization?" ในวารสาร Maniere de voir : Sous le sceau des croisades, 78 (Decembre 2004-Janvier 2005), 20-25 ซึ่งลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Le Monde diplomatique, September 2004

ผู้เขียนคือศาสตราจารย์ Olivier Roy เป็นผู้อำนวยการงานวิจัยแห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (Centre National de la Recherche Scientifique - CNRS) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองของศาสนาอิสลามและการก่อการร้าย งานเขียนเด่นๆ ของเขามีอาทิ L"Islam mondalise (อิสลามโลกาภิวัตน์, ค.ศ.2002) และ Les Illusions du 11-Septembre : le debat strategique face au terrorisme (มายาคติแห่ง 11 กันยายน : วิวาทะทางยุทธศาสตร์เบื้องหน้าการก่อการร้าย ค.ศ.2002)

อนึ่ง เพื่อสะดวกแก่การตีพิมพ์และอ่านติดตามในคอลัมน์นี้ ผมได้ตัดทอนเชิงอรรถส่วนใหญ่ออกและแทรกข้อมูลที่จำเป็นลงในตัวบท

องค์การอัลเคด้าดำรงอยู่จริงหรือ?
คำถามซึ่งนักเขียนชั้นดีอย่างเจสัน เบอร์ค (ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ Observer ของอังกฤษ ในหนังสือ Al Qaeda, The True Story of Radical Islam, 2004-ผู้แปล) ต้องนำมาพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจังนั้น ควรจะตั้งกันขึ้นเมื่อคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ากันว่าเป็นฝีมือกลุ่มของโอซามา บิน ลาเดน นับแต่วันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 เป็นต้นมา ได้แก่ :-

- การโจมตีในกรุงมาดริดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2004
- ปฏิบัติการในอิรักที่ดำเนินงานโดยอาบู มุสซาบ อัลซาร์กาวี (ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองฟัลลูจาห์ แต่ถูกหาว่าพัวพันการโจมตีที่มาดริดด้วย),
- การโจมตีที่เกาะบาลี (ตุลาคม พ.ศ.2002),
- คาซาบลังกา (พฤษภาคม ค.ศ.2003),
- อิสตันบูล (พฤศจิกายน ค.ศ.2003),
- และล่าสุดคือ การโจมตีต่อซาอุดีอาระเบีย (พฤษภาคม ค.ศ.2004)
- เรายังอาจนับรวมการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นฝ่ายนำของเครือข่ายอัลเคด้าในสหราชอาณาจักรและปากีสถานเข้าไปอีก (สิงหาคม ค.ศ.2004)

ทว่าอะไรหรือคือสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านี้เข้าด้วยกัน?

เส้นทางความเป็นมาของบุคคลต่างๆ ที่เข้าไปพัวพันกับการโจมตี หรือการพยายามที่จะโจมตีเหล่านี้ช่วยให้คาดประมาณขอบเขตอิทธิพลของอัลเคด้าได้บ้าง เนื่องจากเครือข่ายอัลเคด้าก็พอมีประวัติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากรอบคอบไว้ก็จะเป็นการดี ดังปรากฏว่าข้อกล่าวหาทั้งหลายแหล่ ที่ตั้งกับบรรดาบุคคลผู้ถูกตีตราว่าเป็นพลรบอัลเคด้า และคุมตัวไว้ที่กวนตานาโม (อย่างเช่นชาวฝรั่งเศส 4 คน ที่ถูกส่งตัวมาปารีสในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนมา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2004) หรือแม้แต่ถูกส่งตัวให้ศาลพิจารณาคดี (กรณีนายมูนีร์ อัลมอตาสซาเด็ค ในเยอรมณี) ก็ตามนั้น มักจะอ่อนเปราะมาก และไม่อาจทนทานการตรวจสอบในศาลปกติธรรมดา

แน่นอน บางคนยืนกรานว่าเราเห็นแค่ส่วนปลายเล็กๆ ของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น กล่าวคือ อัลเคด้าเป็นองค์การที่สามารถเติบใหญ่แผ่ขยายออกไปได้เอง มันถูกจัดวางโครงสร้างไว้ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 11 กันยายน และนับแต่นั้นมามันก็ยังธำรงรักษาเครือข่ายสายลับฝังตัวไว้พร้อมจะก่อการเมื่อได้รับคำสั่งจากศูนย์กลางที่ส่งผ่านจดหมายลับมาทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

ฟังแล้วน่าเชื่อไหมครับ?

ถ้างั้นทำไมอัลเคด้าถึงได้รีๆ รอๆ ไม่ลงมือเสียทีล่ะ? เว้นเสียแต่ว่าเงื่อนไขทางเทคนิคยังไม่ครบถ้วนนั่นเอง (เช่น การหาสมัครพรรคพวก, รวบรวมวัสดุอุปกรณ์ เล็ดลอดมาตรการรักษาความมั่นคงต่างๆ) ซึ่งย่อมแสดงว่าองค์การนี้อ่อนปวกเปียกกว่าที่รัฐบาลบุชยินดีที่จะยอมรับ

ดูเหมือนอัลเคด้าจะไม่มีตารางกำหนดเวลาปฏิบัติการที่ตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่แน่ชัด (กล่าวคือ ไม่ได้ลงมือโจมตีในจังหวะที่จะส่งอิทธิพลต่อวิถีคลี่คลายขยายตัวของเหตุการณ์แต่อย่างใด) ตรงกันข้าม ดูเหมือนที่อัลเคด้ามีคือ วิสัยทัศน์แบบนักเคลื่อนไหว ฉวยโอกาส นั่นคือ โจมตีมันดะไปทุกโอกาสเพื่อธำรงรักษาบรรยากาศแห่งความกลัวภัยสยองไว้ และแผลงฤทธิ์ให้เห็นว่าบรรดาการแทรกแซงทางทหารทั้งหลายทั้งปวงตั้งแต่อัฟกานิสถานยันอิรักล้วนไร้ผล

แม้แต่การโจมตีที่กรุงมาดริดก็หาใช่ข้อยกเว้นไม่ ดังที่ลอว์เรนซ์ ไรท์ เน้นย้ำ (ในบทความ "The Terror Web, were the Madrid bombings part of a new Al Qaeda strategy, driven by the Internet?" The New Yorker, 2 August 2004) การกำหนดแผนโจมตีครั้งนั้น เกี่ยวโยงกับจังหวะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสเปนโดยบังเอิญเท่านั้น

และหากไม่เป็นเพราะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโฮเซ่ มาเรีย อัซนาร์ จัดการเรื่องนี้ผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์แล้ว มันก็อาจส่งผลต่อมติมหาชนในลักษณะตรงข้ามกับที่เกิดขึ้นก็เป็นได้

เพื่อให้ง่ายเข้า เราอาจจำแนกการโจมตีที่อ้างว่าเป็นฝีมืออัลเคด้าออกเป็นสองประเภท ได้แก่

1) การโจมีแบบ "สากล" กับ
2) การโจมตีแบบ "ท้องถิ่น"

ประเภทแรก ดำเนินการโดยทีมนานาชาติ ซึ่งล้วนก่อการอยู่นอกประเทศบ้านเกิดของตน (ไม่ว่าจะเป็นที่นครนิวยอร์ก, วอชิงตัน, มาดริด รวมทั้งการโจมตีที่ล่มกลางคันในลอสแองเจลีส, ปารีส และสตราสบูร์ก) ส่วนประเภทสองดำเนินการโดยทีม "ประจำชาติ" ที่ก่อการในดินแดนของตนเอง ทว่ามุ่งใส่เป้าหมาย "ตะวันตก" (เช่นที่คาซาบลังกา, อิสตันบูล, บาหลี)

จวบจบปัจจุบันนี้ ผู้ก่อการ "สากล" มักได้แก่บรรดาพลรบผ่านศึกอัฟกานิสถานก่อนอื่น ส่วนผู้ก่อการ "ท้องถิ่น" จะดำเนินงานแบบฟรานไชส์ (เหมือนร้านมินิมาร์ทอย่าง 7-11 หรือร้านอาหารด่วนอย่างแมคโดนัลด์ หรือเคเอฟซีในบ้านเรา-ผู้แปล) กรณีอิรักออกจะวิเคราะห์ยากอยู่สักหน่อย เพราะยังไม่ทราบชัดเรื่องที่มาและสังกัดของอาสาสมัครชาวต่างชาติผู้อยู่ในเมืองฟัลลูจาห์

ทุกอย่างบ่งชี้ว่า อัลเคด้ากำลังกลายพันธุ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแบบวิธีรับสมัครพรรคพวกเป็นสาเหตุหลัก ฉะนั้นมันจะยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ที่จะพูดถึงอัลเคด้าในฐานะองค์การจัดตั้งที่มีกรอบโครงสร้างแน่ชัด ในทางกลับกัน "ยี่ห้อ" อัลเดค้ากลับยังมีอนาคตข้างหน้าสดใส ตราบเท่าที่มันช่วยประกันว่าปฏิบัติการหนึ่งๆ ที่ดำเนินกันนั้นจะส่งผลสะเทือนสูงสุด

2. รากฐานของอัลเคด้า พลรบผ่านศึกอัฟกันสองรุ่น
สิ่งที่เราเรียกขานกันว่าอัลเคด้ามีรากฐานอยู่บนการรวมตัวของบรรดาพลรบผ่านศึก (หรือพูดให้แม่นยำกว่านั้นคือผ่านหลายศึก) ในอัฟกานิสถาน ทว่านับแต่กองกำลังอเมริกันยึดครองประเทศนี้เมื่อปี ค.ศ.2001 เป็นต้นมา มิเพียงแต่แกนนำกลุ่มนี้จะไม่มีเลือดใหม่เข้ามาเพิ่มเติมเท่านั้น หากยังหดตัวลงอีกด้วยเพราะล้มตายไปบ้างหรือถูกจับกุมบ้าง

กลุ่มที่ว่านี้ประกอบด้วยคนสองพวก ได้แก่ : -

1) พวกหนึ่งคือผู้ปฏิบัติงานและองครักษ์ใกล้ชิดโอซามา บิน ลาเดน บางคนในพวกนี้ติดตามเขามาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980
2) อีกพวกหนึ่งคือกระแสคลื่นเยาวชน "นักสากลนิยม" ที่หลั่งไหลมาถึงอัฟกานิสถานในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี ค.ศ.1997 ถึง 2001

จะเห็นได้ว่ากลุ่มดังกล่าวนี้มีจำนวนจำกัดและง่ายที่จะชี้ตัว

เหล่านักเคลื่อนไหวสู้รบผู้มาจากตะวันออกกลาง เพื่อต่อสู้กับกองกำลังโซเวียตในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และตลอดต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ก่อตัวเป็นแกนกลางของพวกแรก คนเหล่านี้ตื่นตัวทางการเมืองมาก่อนแล้ว มักเคยพัวพันกับขบวนการหัวรุนแรงต่างๆ ในประเทศบ้านเกิดของตน และมาจากแวดวงของผู้ศรัทธาศาสนาอย่างแรงกล้า

พวกเขาติดตามบิน ลาเดนสัญจรไปเยเมนและซูดาน ก่อนจะหวนกลับมาอัฟกานิสถานพร้อมเขาในปี ค.ศ.1996 พวกนี้จำนวนหนึ่งได้ถูกสังหารหรือจับกุมไปแล้ว ได้แก่ ชี้ค โมฮัมเหม็ด ชิ้ค, วาดีห์ อัลเฮก, โมฮัมเหม็ด โอเดห์, อาบู ฮัฟซ์ อัลมาสรี (โมอัมเหม็ด อาเต็ฟ), สุไลมาน อาบูเกย์ธ, อาบู ซูเบดา... พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับบิน ลาเดน อาศัยอยู่ในบริเวณคุ้มบ้านเดียวกันพร้อมครอบครัวและบางทีก็ผูกสัมพันธ์กันฉันเครือญาติผ่านการแต่งงานด้วย (ตัวอย่างเช่น บิน ลาเดนได้ "ยก" ลูกสาวให้แต่งงานกับอาเต็ฟ เป็นต้น.

สำหรับพวกแรก ตอนนี้ก็เหลือแต่ไอมาน อัลซาวาฮีรี ชาวอียิปต์เท่านั้น. ส่วนพวกหลังที่มักเรียกกันว่า "กองกำลังรุ่นเยาว์" มีความเป็นมาต่างไป พวกเขาปรากฏตัวขึ้นหลังปี พ.ศ.1992 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่ปี ค.ศ.1996 เมื่อพวกทาลิบันยึดอำนาจได้เป็นต้นมา

เยาวชน "นักสากลนิยม" เหล่านี้ - ยกเว้นที่เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย - ส่วนใหญ่กลายเป็นผู้มีแนวคิดหัวรุนแรงเมื่ออยู่ในโลกตะวันตก วิถีชีวิตที่พวกเขาดำเนินในแง่อื่นๆ จึงเป็นแบบตะวันตกไปด้วย (ทั้งในแง่การศึกษารวมทั้งแบบแผนพฤติกรรมและการแต่งงานในกรณีที่ไม่ได้เป็นโสดอยู่) พวกเขามาถึงโลกตะวันตกตั้งแต่ยังเด็กมากหรือไม่ก็มาเรียนหนังสือ บางคนเกิดในยุโรปและหลายคนได้สัญชาติประเทศตะวันตกด้วย

จากนั้นพวกเขาก็กลายเป็นมุสลิม "เกิดใหม่" หมายความว่าพวกเขามักแตกหักกับครอบครัวและรับแนวคิดหัวรุนแรงทางการเมืองในกระบวนการ "หวนคืน" สู่ศาสนาของตัวโดยไม่นำพามาปรารมภ์ - หรือในทางกลับกันเราอาจสันนิษฐานว่าการ "หวนคืน" สู่ศาสนานี้ บังเกิดขึ้นในบริบทของการรับเอาแนวคิดหัวรุนแรงทางการเมืองมาก็ได้เช่นกัน

ประดาคนพวกนี้นับรวมถึงนักบินทั้งสี่ที่ร่วมการโจมตีเมื่อ 11 กันยายน,

โมฮัมเหม็ด เรสซัม ผู้ถูกจับพร้อมวัตถุระเบิดบริเวณพรมแดนสหรัฐอเมริกากับแคนาดาเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1999 หลังจากนั้นเขายอม "ร่วมมือ" กับหน่วยงานยุติธรรมอเมริกัน,

เครือข่ายเบกาล ซึ่งถูกตรวจสอบในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.2001 เนื่องจากต้องสงสัยว่าเตรียมการโจมตีสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงปารีส,

ซาคาเรียส์ มุสซาอวี ชาวฝรั่งเศสผู้ถูกจับกุมในสหรัฐอเมริกาและตั้งข้อหาว่าร่วมเตรียมการโจมตี 11 กันยายน,

โมฮัมเหม็ด ซิลตี อามอร์ หรือที่เรียกกันว่า "อาบู โอมาร์" ผู้ถูกหน่วยงานยุติธรรมของเบลเยียมกล่าวหาว่า ให้การต้อนรับและชักนำมือสังหารพลีชีพชาวตูนิเซียสองคน ที่ต่อมาได้ฆ่าผู้บัญชาการมาส์ซูดแห่งพันธมิตรฝ่ายเหนือที่ต่อต้านรัฐบาลทาลิบันในอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.2001 ด้วย

บ้างก็เป็นผู้เปลี่ยนศาสนาหันมานับถืออิสลาม เช่น ริชาร์ค คอลวิน รีด ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานพยายามจุดไฟเผาวัตถุระเบิดที่ซ่อนอยู่ในรองเท้าข้างหนึ่งของเขา ระหว่างโดยสารเครื่องบินจากปารีสไปไมอามีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2001, และโฮเซ่ พาดิลลา ผู้ถูกจับกุมที่สนามบินชิคาโก เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2002 และถูกกล่าวหาว่า จัดหาข้อมูลเพื่อสร้างระเบิดกัมมันตภาพรังสีให้แก่อัลเคด้า

น่าสนเท่ห์ว่า พวกนักเคลื่อนไหวสู้รบเหล่านี้น้อยคนนักที่มาจากประเทศมุสลิมโดยตรง (ยกเว้นผู้ก่อการบางคนในการโจมตีที่เมืองอิสตันบูล เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2003 ซึ่งเกิดในตุรกี) สมาชิกรุ่นหลังนี้ล้วนไม่เคยกลับประเทศบ้านเกิดของครอบครัวตัวเองเลย ในทางปฏิบัติอาทิในบรรดาผู้เกิดในอัลจีเรียนั้น ไม่มีใครกลับไปร่วมกลุ่มอิสลามติดอาวุธ (Groupe islamique arme - GIA) แม้แต่คนเดียว ปกติแล้วพวกเขาจะออกเดินทางไปร่วมญิฮาดในดินแดนชายขอบ (อัฟกานิสถาน, บอสเนีย, และเชชเนียในเวลาต่อมาหรือกระทั่งที่แคว้นแคชเมียร์) แต่ไม่ใช่แถวตะวันออกกลางหรือมาห์เกรบ (Maghreb หมายถึงตอนเหนือของอัฟริกา - ผู้แปล) จากนั้นจึงค่อยกลับมายุโรป

ญิฮาดและการเดินทางไปอัฟกานิสถานดังกล่าว กลายเป็นพิธีผ่านภาวะสำหรับพวกเขา กล่าวคือพลรบผ่านศึกที่กลับมาจะได้รับยกย่องเป็นมูจาฮีดีน หรือนับรบศักดิ์สิทธิ์ผู้ทรงเกียรติ ถึงแม้ช่วงเวลาที่สัญจรไปต่างถิ่นนั้นจะสั้นมากก็ตาม

ด้วยความห่วงใยใคร่จัดระเบียบบรรดาอาสาสมัครชาวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาสักหน่อย โดยที่คนเหล่านี้มักสร้างความตึงเครียดกับชาวบ้านท้องถิ่นบ่อยครั้ง พวกทาลิบันจึงมอบหมายให้บิน ลาเดน (แน่นอนว่าตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1997 มา) ควบคุมค่ายต่างๆ ของ "ชาวอาหรับ" ซึ่งรวมทั้งพวกเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามด้วยโดยสิทธิขาด ขณะที่พวกชาวอุชเบกิสถาน และปากีสถานต่างยังคงรักษาโครงสร้างจัดตั้งเดิมของตนไว้

ดังนั้น เองอาสาสมัครมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวปากีสถานอีกทั้งไม่ได้มาจากเอเชียกลาง และเดินทางเข้าอัฟกานิสถานระหว่างปี ค.ศ.1997 ถึง 2001 จึงต้องผ่านค่ายอัลเคด้าทั้งหมด (หรือในบางกรณีก็ผ่านค่ายขององค์การชาวปากีสถานหัวรุนแรง)

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าทุกคนที่เคยพักค่ายเหล่านี้มีโอกาสจะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเสมอไป

3. บุคลิกลักษณะ และจุดอ่อนข้อจำกัด ของอัลเคด้ารุ่นสอง
ตรงข้ามกับพวกอัลเคด้ารุ่นอาวุโส ไม่มีเยาวชนคนใดในบรรดา "พลรบผ่านศึกอัฟกานิสถาน" รุ่นใหม่นี้ที่ใกล้ชิดบิน ลาเดนเลย. บรรดาพลรบอาสาสมัครเหล่านี้ถูกนำตัวไปผ่านการคัดกรอง พวกดีที่สุดถูกเลือกให้กลับไปโลกตะวันตกเพื่อก่อการโจมตี ช่วงที่พักอยู่ในอัฟกานิสถานนั้นใช้สำหรับฝึกอบรมพวกเขา แต่เหนืออื่นใดยังเพื่อหล่อหลอม "น้ำใจรักสามัคคีในหมู่คณะ" ขึ้นมาซึ่งจะเป็นขุมพลังของเครือข่ายสืบไปด้วย

พวกที่เหลือจากการคัดเลือกซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ถูกบรรจุเข้ากองพลน้อยชาวต่างชาติร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกทาลิบันสู้รบกับผู้บัญชาการมาส์ซูด นี่เองเป็นมูลเหตุให้ระบบยุติธรรมของประเทศตะวันตกทั้งหลาย หาข้อกล่าวหาหลักที่ตรงเป้าเข้าประเด็นมาตั้งกับบรรดานักโทษ ณ กวนตานาโมได้ยากเต็มที เนื่องจากความผิดเดียวของคนเหล่านี้ที่ปรากฏคือ ถูกพบตัวอยู่ในกองทหารของพวกทาลิบันเท่านั้นเอง

พวก "พลรบผ่านศึกอัฟกานิสถาน" รุ่นใหม่นี้นี่แหละที่สนองผู้ปฏิบัติงานสำคัญที่ก่อการโจมตีแบบ "สากล" ให้อัลเคด้า พวกนี้อีกเหมือนกันที่สร้างผลงานและเป็นกำลังให้องค์การจนถึงทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่าโดยนิยามของข้อมูลที่มี เครือข่ายเหล่านี้ทั้งแผ่กว้างในระดับสากลและตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ส่วนตัวแคบๆ ด้วยในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ มันเชื่อมผสานโลกาภิวัตน์เข้ากับความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีลักษณะสอดคล้องกลมกลืนและรู้จักมักคุ้นกันดี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาพลรบผ่านศึก "สากลนิยม" ผู้เคยร่วมอยู่ค่ายเดียวกัน และร่วมสู้รบศึกเดียวกันมานี้ ทำให้เครือข่ายอัลเคด้าทั้งยืดหยุ่นพลิกแพลงและเชื่อใจได้

ในอีกแง่หนึ่งก็ดังที่มาร์ค เซจแมน วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ Understanding Terror Networks (2004) ว่าน้ำใจรักสามัคคีในหมู่คณะที่ว่านี้ ดำรงอยู่ทั้งตอนต้นทางและปลายทางการไปญิฮาดในอัฟกานิสถาน อันประหนึ่งกระบวนการแรกรับเข้าสู่ฐานะใหม่

กล่าวคืออันที่จริงแล้วคนเหล่านี้กลายเป็นพวกหัวรุนแรง(ในเมืองมหาวิทยาลัย, ละแวกที่พักอาศัย, หรือมัสยิด) และตัดสินใจออกเดินทางก็ในท่ามกลางแวดวง "เพื่อนเกลอ" กลุ่มเล็กๆ นี่เอง และเมื่อไปอยู่ในอัฟกานิสถาน(หรือในบอสเนีย,เชชเนีย) พวกเขาก็พบเข้ากับ "พี่น้อง" อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจมาจากมาเลเซีย หรือปากีสถาน และในที่สุดก็จะได้ไปพบกันใหม่อีกครั้งในประเทศของพี่น้องเหล่านี้

บรรดาสมาชิกเครือข่ายมักประพฤติตัวในลักษณะฝ่าฝืนตรรกะ ที่กำกับปฏิบัติการปิดลับใต้ดินแท้จริงอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่นพวกเขาอยู่ร่วมอพาร์ตเมนต์เดียวกัน, เปิดใช้บัญชีธนาคารบัญชีเดียวกัน, รับเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวในงานแต่งงานของกันและกัน, ลงชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรมให้แก่กัน เป็นต้น การรักษาความลับทำโดยอาศัยความผูกพันเหนียวแน่นในกลุ่ม หาใช่ด้วยเทคนิคปฏิบัติการลับแต่อย่างใดไม่

ฉะนั้น ศูนย์การนำ, หน่วยจัดตั้งพื้นฐาน, เครือข่ายข้ามชาติและสายการบังคับบัญชาของอัลเคด้า จึงตั้งอยู่บนสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่ก่อตัวขึ้นในอัฟกานิสถานบ้างหรือในระดับท้องถิ่นบ้าง แล้วนำมาปรับใช้ในมิติข้ามชาติและ "ไร้ดินแดน" ภายหลัง(เช่นด้วยการเดินทางบ้าง, ย้ายไปอยู่ประเทศอื่นบ้าง, ถือหลายสัญชาติบ้าง เป็นต้น)

ความผูกพันฉันสหายจึงมีบทบาทสำคัญมาก และบางครั้งก็ทับซ้อนหนุนเสริมสายสัมพันธ์จากการแต่งงานซึ่งหาได้มีลักษณะ "ตามประเพณีดั้งเดิม" แต่อย่างใดไม่ กล่าวคือพวกเขาจะแต่งงานกับพี่สาวหรือน้องสาวของเพื่อนเกลอ ไม่ใช่กับผู้หญิงที่พ่อแม่เลือกให้, การกระทำเช่นนี้มักส่อแสดงความสัมพันธ์ฉันคู่หนุ่มสาวสมัยใหม่ ดังคำให้การจากปากภรรยาของมือสังหารผู้บัญชาการมาส์ซูดที่เล่าว่า สามีของเธอลงมือประชุนเสื้อผ้าของตัวเองอย่างไร (แทนที่จะต้องให้ภรรยาทำให้ตามธรรมเนียมครอบครัวแบบเดิม-ผู้แปล)

สายสัมพันธ์ที่เป็นส่วนตัวยิ่งนี้ เป็นทั้งขุมพลังและจุดอ่อนของเครือข่ายทีเดียว จึงปรากฏว่าบางทีตำรวจเริ่มจากรู้ตัวนักเคลื่อนไหวสู้รบคนหนึ่งก็พอจะคลายปมปริศนาได้หมดแล้ว (ถึงแม้มันจะหมายความว่าในกระบวนการนั้นคนบริสุทธิ์จำนวนหนึ่งจะพลอยติดร่างแหไปด้วย ทั้งที่ความผิดประการเดียวที่พวกเขามีคือดันเคยอยู่ร่วมห้องพักเดียวกัน หรือเข้ามัสยิดเดียวกับคนผู้นั้นเป็นนิจศีลก็ตาม)

ในลักษณะนี้เองที่ตำรวจฝรั่งเศสส่งสัญญาณเตือนตำรวจสเปนเรื่อง จามาล ซูกัม จนทำให้เขาถูกคุมขังอยู่พักหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2001 และท้ายสุดเขาก็กลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ก่อการโจมตีกรุงมาดริดในเวลาต่อมา

ถึงแม้ยังไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับบรรดาอาสาสมัครที่เดินทางเข้าไปในอัฟกานิสถานทั้งหมด แต่ก็แน่ใจได้ว่าคนเหล่านี้จะถูกชี้ตัวออกมามากขึ้นเรื่อยๆ (โดยอาศัยเอกสารที่ยึดได้จากที่นั่น, การจับกุม, หนังสือเดินทางปลอมที่นำมาใช้ ฯลฯ) แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เมื่อสูญเสียแหล่งหลบภัยในอัฟกานิสถานไปแล้ว ก็แทบไม่มีที่ใดหลงเหลือ ให้ใช้ปลูกฝังความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่พลรบผ่านศึกแบบนี้ขึ้นมาได้อีก

และถ้าใครจะอ้างว่าก็ยังมีเชชเนีย,ซาเฮล (หมายถึงเขตทุ่งหญ้าซาวันนาห์อันแห้งแล้งบริเวณชายขอบทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา-ผู้แปล), เขตชนเผ่าในปากีสถาน, หรือแม้แต่...ฟัลลูจาห์อยู่นี่นา ก็คงต้องบอกว่า ไม่มีที่เหล่านี้แห่งไหนเลยจะเป็นแหล่งหลบภัยอันยั่งยืนได้ เมื่อเผชิญกับการเฝ้าตรวจตราและโจมตีทางอากาศอย่างแม่นยำ ต่อให้ฝ่ายปกครองท้องถิ่นโอนอ่อนผ่อนปรนให้ก็ตาม

กล่าวโดยสรุป สมาชิกอัลเคด้ารุ่นพลรบผ่านศึกอัฟกานิสถานนั้น กำลังลดน้อยถอยลง (เทคนิคโจมตีแบบยอมพลีชีพมีส่วนในเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด) และยากที่จะหาเม็ดเลือดใหม่มาทดแทน

เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเบียดขับลดบทบาท อัลเคด้าจำต้องขยายการรับสมัครพรรคพวกให้กว้างออกไป และสร้างพันธมิตรกับกลุ่มอื่นๆ ทว่าอัลเคด้ากลับขาดสื่อกลางที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะมันไม่ได้ก่อตัวเป็นขบวนการทางการเมืองที่พร้อมด้วยฝ่ายอำนวยการทางการเมือง, โครงสร้างทางทหาร, แนวร่วม, องค์การมวลชนผู้เห็นอกเห็นใจ ฯลฯ

ในฐานะเครือข่ายของนักเคลื่อนไหวสู้รบ มันดำรงอยู่ตราบเท่าที่สมาชิกของมันก่อการโจมตีเท่านั้นเอง การออกสู่เวทีการเมืองจึงดูเหลือวิสัยที่จะนึกคิดไปได้ พูดอีกอย่างก็คือ อัลเคด้าจะทำพันธมิตรได้ก็แต่กับกลุ่มนักรบด้วยกันเท่านั้น (แม้ว่ากลุ่มนักรบเหล่านี้อาจมีมิติทางการเมืองด้วยก็ได้ อย่างเช่นกรณีพวกทาลิบันหรือชาวเชเชน)

4. แนวโน้มของอัลเคด้า เปิดแฟรนไชส์
มียุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ 3 ประการซึ่งอัลเคด้าอาจเลือกใช้สำหรับแสวงหาพันธมิตรหรือแค่เพียงหาสื่อกลางส่งผ่านอิทธิพลของตน กล่าวคือ เปิดแฟรนไชส์, หาหุ้นส่วน, และแปรเป็นองค์การอาชญากรรม

การเปิดแฟรนไชส์นั้นอันที่จริงได้ทำกันไปแล้ว บรรดาผู้ก่อการโจมตีแบบ "ท้องถิ่น"-กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการโจมตีที่กระทำโดยพวกนักเคลื่อนไหวสู้รบในดินแดนของตัวเอง ไม่ว่าคนเหล่านี้จะได้เดินทางเข้าไปในอัฟกานิสถานมาหรือไม่ก็ตาม - จัดอยู่ในประเภทนี้

กลุ่มท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มีสายสัมพันธ์โดยตรงกับศูนย์การนำของอัลเคด้า อย่างกรณีการโจมตีที่คาซาบลังกา หรืออาจเชื่อมต่อกันทางอ้อมอย่างกรณีการโจมตีที่เจอร์บาหรืออิสตันบูล จะก่อการในนามขององค์การอัลเคด้า หรือปล่อยให้อัลเคด้าอ้างความรับผิดชอบในปฏิบัติการของตนไป หรือมิฉะนั้นหากแม้นมติมหาชนหรือทางราชการท้องถิ่นระบุว่าปฏิบัติการนั้นๆ อัลเคด้าเป็นผู้ก่อก็ถือว่าพอแล้วเพราะส่งผลเหมือนกัน

เนื่องจากเป้าการโจมตีนั้นครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวโยงกับโลกตะวันตก, ศาสนายิวหรือผลประโยชน์อเมริกัน มันจึงกว้างใหญ่พอที่จะเกิดเหตุอะไรบางอย่างที่ไหนสักแห่งได้ทุกวี่วัน จนผู้คนรู้สึกฝังใจว่าอัลเคด้าอยู่ทุกหนแห่ง

สื่อกลางท้องถิ่นจำพวกนี้เป็นได้ตั้งแต่ องค์การจัดตั้งที่มีโครงสร้างรัดกุมและแนวคิดหัวรุนแรง อาทิองค์การเจมาห์ อิสลามิยาห์ในอินโดนีเซีย หรือบรรดากลุ่มหัวสุดโต่งในปากีสถานที่มีสมาชิกร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับอัลเคด้าในอัฟกานิสถาน หรือแม้กระทั่งกลุ่มซาร์กาวีในอิรัก ไปจนกระทั่งถึง "แก๊ง" ที่ซึ่งกบฏหนุ่มสาว, อาชญากรรมและปรากฏการณ์ลัทธินิกายย่อยมาผสมผเสกันล้อมรอบผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่ง อย่างในกรณีการโจมตีที่คาซาบลังกา หน่วยย่อยเหล่านี้อาจก่อตัวขึ้นในหมู่ผู้หมกมุ่นเล่นอินเตอร์เน็ตที่มีการศึกษา และพูดได้หลายภาษาแล้วอวดอ้างชื่ออัลเคด้ากันเองได้เช่นกัน

"ลัทธิอัลเคด้า" จึงอาจอยู่รอดต่อไป ต่อให้ตัวเครือข่ายอัลเคด้าเองสูญสลายไปแล้วก็ตาม

การเปิดแฟรนไชส์ยิ่งง่ายดายเข้าไปอีก ในเมื่อมีกระแสการเคลื่อนไหวหัวรุนแรงคอยรับสมัครพรรคพวก และปฏิบัติการตามแนวทางที่ละม้ายคล้ายคลึงกับอัลเคด้าดำรงอยู่แล้วตลอดมา ชั่วแต่ว่ามันไม่เคยเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของอัลเคด้าเท่านั้น อาทิ :-

-เครือข่ายเคลคาลภายใต้การชี้นำของคาเล็ด เคลคาลที่ถูกกวาดล้างโดยตำรวจและต้องสงสัยว่าเป็นต้นเหตุของการโจมตีระลอกหนึ่งในฝรั่งเศส รวมทั้งการโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินแซงมิเชลในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1995
-และ "แก๊งรูแบซ์" ซึ่งใช้ปืนยิงปล้นชิงทรัพย์หลายครั้ง ในเขตรูแบซ์ทางเหนือของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1996 เป็นต้น

เราอาจจินตนาการได้เช่นกันว่า เหล่าสมาชิกขบวนการที่หันไปเคร่งหลักพื้นฐานทางศาสนารุ่นใหม่ แต่ไม่เรียกร้องให้ทำญิฮาดทั้งหลายอย่างเช่น :-

-พวกทาบลิกีสหรือนัยหนึ่ง จามาต อัล-ทาบลิก อันเป็นสมาคมเผยแพร่อิสลามที่ดำเนินงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย, โมร็อกโกและประเทศต่างๆ แถบมหาสมุทรอินเดีย
-หรือแม้แต่พรรคฮิซบ์-อุต-ทาห์รี หรือพรรคเพื่อการปลดปล่อยซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน อาจตัดสินใจหันไปลงมือก่อการโดยลำพังตัวเองภายใต้ยี่ห้ออัลเคด้าก็เป็นได้

ดังนั้นการโจมตีสถานเอกอัครรัฐทูตอเมริกันและอิสราเอลที่ทาชเคนต์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2004 อาจเป็นฝีมือสมาชิกขบวนการอิสลามแห่งอุซเบกิสถานที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่ อัลเคด้ากับพวกอเมริกันในอัฟกานิสถานมา หรือไม่ก็อาจเป็นฝีมือพวกเห็นต่างในพรรคฮิซบ์-อุต-ทาห์รี เพียงแต่ข้อสันนิษฐานประการแรกดูน่าจะเป็นไปได้มากกว่า

พลรบผ่านศึก "อัฟกานิสถาน" อาจหันไปก่อการเองโดยอิสระได้เช่นกันอย่างเช่นอัล-ซาร์ กาวี เป็นต้น ไม่ว่าบทบาทต่างๆ ที่มีผู้อ้างว่าเขาดำเนินนั้นจะจริงหรือไม่อย่างไร ส่วนบรรดาอาสาสมัครชาวต่างชาติผู้อยู่ในเมืองฟัลลูจาห์ ก็ย่อมได้ประโยชน์ที่จะฉวยใช้ยี่ห้ออัลเคด้า และทำให้คนเชื่อว่ามีองค์การสากลซึ่งจัดตั้งดีกว่าที่มันเป็นจริงดำรงอยู่

สำหรับกรณีซาอุดีอาระเบียออกจะสลับซับซ้อนกว่าที่อื่น

ในแง่หนึ่ง เราพบว่ามีอดีตอาสาสมัครผ่านศึกอัฟกานิสถานอยู่หลายคนในหมู่พวกหัวรุนแรง ที่ก่อการโจมตีเมื่อปี ค.ศ.2004 น่าสังเกตว่ามีชาวซาอุดีอาระเบียมากเป็นพิเศษกว่าชาติอื่น ในบรรดาอาสาสมัครมุสลิมที่เคยไปต่อสู้ในทุกแนวรบตั้งแต่อัฟกานิสถาน ผ่านบอสเนียไปจรดเชชเนีย ในสภาพที่ตัวบิน ลาเดนเองก็ถือกำเนิดจากซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งมีบทบาทในการส่งเพื่อนร่วมชาติไปรบที่อัฟกานิสถาน สมัยที่หน่วยราชการลับซาอุดีอาระเบียยังรับฟังเขาอยู่ (การแตกหักระหว่าง ตัวเขากับระบอบปกครองซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหะแรกกทำแค่พอเป็นพิธีนั้นเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมา) จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าบิน ลาเดนคงรู้จักบรรดาหัวหน้ากลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้เป็นการส่วนตัวดีทีเดียว

การโจมตีที่ดำเนินอยู่ในซาอุดีอาระเบียมุ่งต่อเป้าชาวต่างชาติ (รวมทั้งชาวอาหรับด้วย) และสัญลักษณ์การคงอยู่ของต่างชาติมากกว่ากลไกรัฐเอง มันจึงคล้ายปฏิบัติการที่ดำเนินโดยอัลเคด้า และถึงแม้จะเป็นที่แน่ชัดว่าพวกผู้ก่อการร้ายมุ่งมาดปรารถนาให้ระบอบกษัตริย์สูญสลายไป วิธีการที่ใช้ก็มิได้เป็นไปในทำนองยุทธศาสตร์การปฏิวัติแต่อย่างใด

ในอีกแง่หนึ่ง ภายในกระแสการเคลื่อนไหวที่เป็นของชาวซาอุดีอาระเบียเองนี้ โดยทั่วไปไม่ปรากฏมีอาสาสมัครชาวต่างชาติ และนักเคลื่อนไหวสู้รบในกระแสดังกล่าวก็ไม่ได้มีวิถีชีวิตที่โลกาภิวัตน์แต่อย่างใด นอกเหนือจากได้เคยผ่านอัฟกานิสถานหรือเชชเนียมา ซึ่งตรงข้ามกับนักเคลื่อนไหวสู้รบที่อื่นของอัลเคด้า ท้ายที่สุด พวกเขาไม่ใช้ชื่ออัลเคด้าเวลาปฏิบัติการแม้จะไม่ปัดปฏิเสธชื่อดังกล่าวก็ตาม

การที่ยี่ห้ออัลเคด้าปรากฏแพร่หลายอยู่ทุกหนแห่งอาจอธิบายได้ด้วยตรรกะสองชุดซึ่งขัดแย้งกันเองกล่าวคือ

1) ระบอบการปกครองต่างๆ ตั้งแต่ทาชเคนต์ไปจนถึงมอสโก สมัครใจจะเห็นมือของ อัลเคด้าอยู่ทุกหนแห่ง เพื่อจะได้นำเสนอตัวเองเป็นสมาชิกโดยชอบของสโมสรต่อต้านการก่อการร้าย และทำให้คนอื่นหลงลืมนโยบายกดขี่ปราบปรามของตนไปเสีย

2) แต่ในทางกลับกันพวกนักเคลื่อนไหวสู้รบก็ได้ประโยชน์จากการทำให้คนเชื่อว่า อัลเคด้าอยู่ทุกหนแห่งเหมือนกัน ข้างบิน ลาเดนเองก็จะดูประหนึ่งวาทยากรใหญ่กำกับวงก่อการร้ายประสานกันทั่วโลก ส่วนผู้ก่อการ "ลิ่วล้อ" ทั้งหลายก็จะได้รับหลักประกันว่าปฏิบัติการของตนจะส่งผลสะเทือน

จะว่าไปแล้วมันก็เป็นไปตามธรรมเนียมนโยบายการเปิดแฟรนไชส์นั่นเอง กล่าวคือองค์การแม่จะนิยามแนวคิดแล้วให้ผู้รับแฟรนไชส์ทั้งหลายยืมยี่ห้อมา เรื่องยิ่งง่ายเข้าไปอีกในสภาพที่แต่ไหนแต่ไรมา อัลเคด้าก็ไม่เคยเป็นองค์การแบบ "เลนินนิสต์" ที่เอาแต่ห่วงว่าจะเกาะติดควบคุมสมาชิกของตนอย่างไรเลย สมาชิกอัลเคด้าจึงอิสระมาก และศูนย์กลางก็มอบหมายอำนาจแก่สมาชิกรุ่นเยาว์ หรือแม้กระทั่งพวกเปลี่ยนศาสนาให้ริเริ่มสิ่งต่างๆ อย่างง่ายดาย ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกใหม่แท้ๆ ในองค์การอิสลามหัวรุนแรง

5. แนวโน้มของอัลเคด้า หาหุ้นส่วนและแปรเป็นองค์การอาชญากรรม
นอกจากเปิดแฟรนไชส์ แนวโน้มเด่นอีกสองอย่างของอัลเคด้า คือหาหุ้นส่วนและแปรเป็นองค์การอาชญากรรม

การหาหุ้นส่วนหรือแสวงหาพันธมิตรนั้น เมื่อทำไปก็ต้องยอมลดละความบริสุทธิ์ทางอุดมการณ์ลงบ้าง แต่ว่าไปแล้ว อัลเคด้าก็ไม่มีทางเลือกเท่าไหร่นักถ้าไม่อยากโดดเดี่ยวตัวเอง นักเคลื่อนไหวสู้รบของอัลเคด้ามักผูกพันธมิตรกับกลุ่มมุสลิมต่างๆ ที่มีเป้าหมายในระดับท้องถิ่นล้วนๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าพวกทาลิบัน, ชาวเชเชนหัวรุนแรง หรือชาวอิรักนิกายสุหนี่ แต่ทุกกลุ่มก็ฉวยใช้แนวคิดญิฮาดมาอ้างด้วยกันทั้งสิ้น

การสร้างพันธมิตรเหล่านี้อาจขยายต่อไปได้ใน 3 ทิศทางด้วยกัน กล่าวคือ :

1) การสร้างพันธมิตรกับขบวนการชาตินิยมหรือชาติพันธุ์
อย่างเช่น ในบอสเนีย, เชชเนีย และดูเหมือนจะในอิรักด้วย ทว่าในทั้ง 3 กรณีนี้ บรรดา "นักสากลนิยม"(หมายถึงนักรบชาวมุสลิมจากต่างแดนที่อาสามาช่วยต่อสู้ - ผู้แปล) ไม่ได้พัฒนายุทธศาสตร์เฉพาะของตัวเองขึ้นมา หากแต่รับภาระเป็นเพียงกองหน้าทางทหาร ในบริบทที่ปฏิบัติการกันอยู่แต่ในดินแดนชาติหนึ่งๆ เท่านั้น พวกเขาจึงทำหน้าที่เป็น "กองกำลังต่างชาติ" ที่โละทิ้งได้เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ดังที่เคยปรากฏกองกำลังทำนองนี้ในบอสเนียและอาจปรากฏซ้ำอีกในอิรัก

อย่างไรก็ตาม เราไม่พึงปัดปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กลุ่มย่อยหัวรุนแรงบางกลุ่ม ซึ่งสังกัดขบวนการชาตินิยมจะตัดสินใจขยายการต่อสู้ออกไปในระดับสากล เมื่อตกอยู่ในภาวะจนแต้มสิ้นคิดตามอย่างที่พวกปาเลสไตน์ทำ เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1970

ทุกวันนี้ขบวนการปลดปล่อยประชาชาติทั้งปวง ไม่ว่าจะนับถืออิสลามแค่ไหนเพียงใด(อาทิ ขบวนการฮามาสของปาเลสไตน์, กลุ่มชาวเชเชนของชามิล บาซาเยฟ) ล้วนธำรงการต่อสู้อยู่บนดินแดนของตนเอง และดินแดนของผู้ที่ตนถือว่าเป็นเจ้าเข้าครอง ทว่าก็ยังไม่มีสมาชิกอัลเคด้าคนใดไปก่อการอยู่บนดินแดนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และในทางกลับกันก็ไม่มีชาวปาเลสไตน์คนใด (ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาหรือในเขตใต้การยึดครอง) ไปร่วมปฏิบัติการของอัลเคด้า

กระนั้นก็ตาม เราไม่พึงปัดปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า กลุ่มบางกลุ่มเมื่อเผชิญกับการปราบปราม และภาวะโดดเดี่ยว ทางสากลก็อาจตัดสินใจขยายการต่อสู้ขัดแย้งออกไปโดยผูกพันธมิตรกับ "นักสากลนิยม" ของกระแสการเคลื่อนไหวอัลเคด้า

2) การเชื่อมประสานกันระหว่างอัลเคด้ากับฝ่ายซ้ายจัดหัวรุนแรง
การเชื่อมประสานกันระหว่างอัลเคด้ากับฝ่ายซ้ายจัดหัวรุนแรง ที่ใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งกับพวกเขาสุดโต่ง ฝ่ายซ้ายจัดดังกล่าวมี อาทิ พวกทายาทของ "แก๊งบาเดอร์"(bande a Baader ในเยอรมณี), กลุ่มปฏิบัติการโดยตรง(Action directe ในฝรั่งเศส) หรือกองพลน้อยแดง(Brigades rouges ในอิตาลี) ฯลฯ

ทั้งนี้ เพราะต่างก็มีศัตรูตัวเดียวกัน ได้แก่ ระเบียบโลกที่อยู่ภายใต้ "จักรวรรดินิยมอเมริกัน" เป็นด้านหลัก อัลเคด้านั้นน่าทึ่งและดึงดูดใจสำหรับ บรรดาผู้แสวงหาทางแตกหักกับระบบระเบียบที่ธำรงอยู่ และมันยังได้ประโยชน์จากความเสื่อมถอยห่างหายของพวกซ้ายมาร์กซิสต์สุดโต่งหัวรุนแรงด้วย ซึ่งพักหลังนี้ก็หันไปเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิโลกาภิวัตน์ทางเลือก ที่ไม่แตะเรื่องกลุ่มชนยากไร้ตกอับทางสังคมอย่างแท้จริงแทน

จวบจนบัดนี้ ใครจะเข้าร่วมอัลเคด้าก็ต้องเปลี่ยนศาสนาก่อน แต่เงื่อนไขอันนี้อาจเลิกเสียก็ได้

นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ขององค์การอัลเคด้าก็ไม่เคยเป็นเรื่องศาสนาล้วนๆ และลัทธิต่อต้านยิวของอัลเคด้า ก็คล้ายกับลัทธิต่อต้านยิวแบบคลาสสิคของยุโรปมากกว่าแบบมุสลิม (อาทิ กรณี ฮอร์สท์ มาห์เลอร์ อดีตทนายความของบาเดอร์ หลังจากเขาหันไปเป็นพวกขวาสุดโต่งอยู่พักหนึ่ง ก็กลับไปปรากฏตัวอยู่ในการประชุมที่เมืองฮัมบูร์ก ของพรรคอิสลามหัวรุนแรงฮิซบ์-อุต-ทาห์รี ซึ่งต่อต้านยิวอย่างรุนแรงพอๆ กันเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2002)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเปลี่ยนศาสนาที่เข้าร่วมองค์การ เป็นดัชนีบ่งชี้การกลายพันธุ์ในอนาคตของอัลเคด้าที่ดี กล่าวคือเส้นทางผ่านที่คนเหล่านี้กรุยเอาไว้จากเยาวชนคนหนุ่มสาวในโลกตะวันตก ไปสู่ชาวอิสลามหัวรุนแรงนั้นอาจย้อนกลับตาลปัตรได้ เราอาจเจอกับการ "หวนคืน" ของเยาวชนผู้เปลี่ยนศาสนากลับมาสู่ภูมิลำเนาของตัวเพื่อหาพันธมิตร ไม่ว่าจะไว้สำหรับก่ออาชญากรรม หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็ตาม

น่าสังเกตว่า อีลิช รามิเรซ ซานเชส หรือนัยหนึ่งคาร์ลอส(เจ้าของสมญา "หมาจิ้งจอก) เป็นผู้ก่อการร้ายและมือสังหารระหว่างประเทศชื่อดัง ที่เคลื่อนไหวรับจ้างปฏิบัติการให้แก่ฝ่ายต่างๆ หลายปีจนถูกรัฐบาลฝรั่งเศสจับกุมคุมขังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา - ผู้แปล) ได้เปลี่ยนศาสนาหันไปนับถืออิสลามในคุก และกล่าวยกย่องบิน ลาเดน ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง L"Islam revolutionnaire(อิสลามปฏิวัติ)

ขณะที่ นาเดีย เดสเดโมนา ลี โอเช สมาชิกกองพลน้อยแดงของอิตาลี คนเดียวที่รอดชีวิตอยู่ในหน่วยที่เธอสังกัด ก็ได้ประกาศเมื่อถูกตำรวจจับในอิตาลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 ว่าเธอขอสมานฉันท์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับการต่อสู้ของชาวมุสลิมทั้งมวล

พวกเปลี่ยนศาสนาหันไปนับถืออิสลามจำนวนมากที่อยู่ตามแถบชานเมือง ล้วนโน้มเอียงไปทางอยากเคลื่อนไหวสู้รบมากกว่าอยากประสบศาสนธรรมอันน่าพิศวง มันเป็นเรื่องของ "การเปลี่ยนศาสนาเพื่อประท้วง" มากกว่าอย่างอื่น

3) วิธีสุดท้ายได้แก่ การขายบริการเป็นนักรบรับจ้างหรือหันไปก่ออาชญากรรม

ถ้าหากศูนย์กลางของอัลเคด้าถูกทำลายล้างอวสานลง "พลรบผ่านศึกอัฟกานิสถาน" หรือผู้มีศักยภาพจะเป็นสมาชิกขององค์การอัลเคด้าจำนวนหนึ่ง อาจจะนำเอาเทคนิคที่เรียนรู้มา, เครือข่ายที่ก่อตั้งไว้และภาพลักษณ์ประจำยี่ห้อออกวางขายในตลาด

พวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายมาเฟียหรือแปลงตัวเองให้กลายเป็นมาเฟียก็ได้ หรือมิฉะนั้นพวกเขาก็อาจขายบริการเป็นนักรบรับจ้างให้หน่วยราชการลับประเทศต่างๆ ดังที่อาบู นิดาล ชาวปาเลสไตน์ กับคาร์ลอสเคยทำในสมัยของตน

เฉพาะหน้านี้คงไม่มีรัฐใดกล้าเสี่ยงเดินหนทางสมคบกับอัลเคด้าดังกล่าว ด้วยหวาดกลัวปฏิกิริยาโดยตรงของอเมริกา แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปได้ ถ้าหากการติดหล่มจมปลักในอิรักทำให้สหรัฐดูเหมือนตกอยู่ในฐานะอ่อนแอ, และถ้าหากการโดดเดี่ยวแตกสลายของเครือข่ายอัลเคด้า รวมทั้งความสับสนเกี่ยวกับเป้าหมายและวิธีการของ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ลงเอยโดยเปิดเขตพื้นที่สีเทาซึ่งเราไม่รู้ชัดว่าใครเป็นใครอีกต่อไปขึ้นมา

การคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ในทำนองนี้ ยิ่งมีทางจะเกิดขึ้นได้จริงในสภาพที่พื้นที่เคลื่อนไหวของนักสู้รบ "สากลนิยม" ต้องอาศัยเส้นสายและการสนับสนุนจากเครือข่ายค้ายาเสพติด รวมทั้งเป็นไปได้ว่าจะมีการสมรู้ร่วมคิดจากภายในกลไกรัฐเองด้วย (ตัวอย่าง เช่น ในเขตชนเผ่าต่างๆ ของปากีสถาน เป็นต้น)

ในทุกๆ กรณีที่กล่าวมาข้างต้น ปรากฏการณ์อัลเคด้ารวมทั้งอวตารภาคต่างๆ ของมันดูจะมีลักษณะข้ามชาติก่อนอื่น และเชื่อมโยงกับภูมิภาคตะวันออกกลางโดยสภาวะแวดล้อมเท่านั้น พลวัตของการระดมกำลังและปฏิบัติการของมันสัมพันธ์กับความขัดแย้งในภูมิภาคแต่เพียงโดยอ้อม ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวก็เข้าลักษณะตรรกชาตินิยมเหนืออื่นใด


เรามักโน้มเอียงจะ "เน้นความเป็นอิสลาม" ของอัลเคด้าจนเกินเลย และละเลยมิติระดับโลกที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมและอิงโลกที่สามของมัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตรรกะของขบวนการอัลเคด้าจะทรงไว้ซึ่งภารกิจปกป้องอิสลาม น้อยกว่าการเป็นกองหน้าของบรรดาขบวนการทั้งหลาย ที่ลุกขึ้นท้าประลองทั้งระบบระเบียบที่ธำรงอยู่และมหาอำนาจไฮเปอร์อเมริกัน



 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
040149
release date
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
1234567890 -A12345678
ทุกวันนี้ขบวนการปลดปล่อยประชาชาติทั้งปวง ไม่ว่าจะนับถืออิสลามแค่ไหนเพียงใด(อาทิ ขบวนการฮามาสของปาเลสไตน์, กลุ่มชาวเชเชนของชามิล บาซาเยฟ) ล้วนธำรงการต่อสู้อยู่บนดินแดนของตนเอง และดินแดนของผู้ที่ตนถือว่าเป็นเจ้าเข้าครอง ทว่าก็ยังไม่มีสมาชิกอัลเคด้าคนใดไปก่อการอยู่บนดินแดนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และในทางกลับกันก็ไม่มีชาวปาเลสไตน์คนใด (ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาหรือในเขตใต้การยึดครอง) ไปร่วมปฏิบัติการของอัลเคด้า