The Midnight University
ของขวัญปีใหม่สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ฮาโรลด์
พินเทอร์
ปาฐกถารับรางวัลโนเบล - ศิลปะ สัจจะและการเมือง
ภัควดี
วีระภาสพงษ์
นักแปลและนักวิชการอิสระ
ปาฐกถารางวัลโนเบลนี้ผู้เขียนขอมอบให้กับทุกคน
ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๙ ขอส่งความปรารถนาดีมาให้ทุกท่าน
และขอให้ทุกท่านรอดพ้นจากความหลงลืมที่กำลังกลืนกินตัวเราในทุกกะพริบตา
ลบนี้
บันทึกการประชุมนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากกลุ่มเชียงใหม่สำนึก
เป็นบทสนทนากันเรื่อง ภาพยนตร์สารคดี The power of nightmares
(ภัควดี
วีระภาสพงษ์)
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 792
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
14.5 หน้ากระดาษ A4)
ฮาโรลด์ พินเทอร์: ศิลปะ สัจจะและการเมือง
ปาฐกถารับรางวัลโนเบล 2005
ในปี ค.ศ.
1958 ผมเคยเขียนไว้ดังนี้:
"มีเส้นแบ่งเพียงบางเบาระหว่างสิ่งที่จริงกับสิ่งที่ไม่จริง
ระหว่างสัจจะกับความเท็จ สิ่ง ๆ หนึ่งไม่จำเป็นต้องจริงหรือเท็จ มันอาจทั้งจริงและเท็จได้พร้อมกัน"
ผมเชื่อว่า คำยืนยันข้างต้นยังใช้ได้และยังใช้กับการสำรวจความจริงผ่านศิลปะ ดังนั้น ในฐานะนักเขียน ผมยังยืนยันเหมือนเดิม แต่ในฐานะประชาชน ผมยืนยันแบบนั้นไม่ได้ ในฐานะประชาชน ผมต้องถามว่า: อะไรคือความจริง? อะไรคือความเท็จ
ความจริงในการละครเป็นสิ่งที่ลื่นไหลตลอดกาล เราไม่เคยคว้ามันอยู่มือ แต่การแสวงหาความจริงยังคงเป็นแรงผลักดันที่มิอาจต่อต้าน การแสวงหานี้เองที่ขับดันให้เกิดการสร้างสรรค์ การแสวงหาคือภารกิจ หลายครั้งหลายคราที่เราอาจสะดุดเข้ากับความจริงท่ามกลางความมืดมิด ชนเข้ากับมันจัง ๆ หรือเพียงแค่แวบเห็นภาพหรือเงาร่างหนึ่งที่ดูเหมือนสอดรับกับความจริง มีบ่อยครั้งที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าเจอกับความจริงเข้าแล้ว แต่ความจริงที่แท้จริงก็คือ ไม่เคยมีความจริงเพียงหนึ่งเดียวให้ค้นพบในศิลปะการละคร ความจริงมีหลากหลาย ความจริงที่หลากหลายนี้ท้าทายซึ่งกันและกัน หวาดกลัวซึ่งกันและกัน สะท้อนซึ่งกันและกัน เพิกเฉยต่อกันและกัน ยั่วเย้ากันและกัน มืดบอดต่อกันและกัน บางครั้งเรารู้สึกว่า มีบางขณะจิตที่เราตะปบความจริงไว้ได้ แต่แล้วความจริงก็ลอดไหลผ่านร่อง
้วและหนีหายไป
ผมมักถูกตั้งคำถามว่า บทละครของผมมีที่มาอย่างไร ผมตอบไม่ได้ ผมไม่เคยนิยามบทละครที่เขียน นอกจากบอกได้เพียงว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ละครพูด นี่คือสิ่งที่ละครทำ. บทละครส่วนใหญ่อุบัติขึ้นจากประโยคหนึ่ง ถ้อยคำหนึ่งหรือจินตภาพหนึ่ง ถ้อยคำนั้นมักตามติดมาด้วยจินตภาพ ผมจะยกตัวอย่างของประโยคสองประโยคที่จู่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาในความคิด ตามติดมาด้วยจินตภาพ แล้วผมก็ติดตามมันไป
บทละครสองเรื่องนั้นคือ The Homecoming และ Old Times ประโยคแรกของ The Homecoming คือ "แกเอากรรไกรไปไหน?" ประโยคแรกของ Old Times คือ "สีดำ" ในละครทั้งสองเรื่อง ผมไม่มีข้อมูลอื่นอีกเลย
ในละครเรื่องแรก ใครบางคนกำลังหากรรไกรและถามหามันกับอีกคนหนึ่งที่เขาระแวงว่าอาจขโมยมันไป แต่ผมสังหรณ์ใจขึ้นมาว่า คนที่ถูกถามหากรรไกรนั้น ไม่แยแสเรื่องกรรไกรหรือแยแสตัวคนถามเลย
"สีดำ" เป็นคำบรรยายถึงสีผมของใครคนหนึ่ง ผมของผู้หญิง และคำพูดนี้เป็นคำตอบต่อคำถาม ในละครทั้งสองเรื่อง ผมพบว่าตัวเองถูกดึงดูดให้ติดตามเรื่องต่อไป ภาพที่ค่อย ๆ คลี่คลายออกมาอย่างแช่มช้า จากเงาตะคุ่มสู่แสงสว่าง ผมเริ่มเขียนละครโดยตั้งชื่อตัวละครว่า ก, ข และ ค เสมอ
ในบทละครที่กลายเป็นเรื่อง The Homecoming ผมแลเห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องซอมซ่อ และถามคำถามนี้กับชายหนุ่มที่นั่งอ่านข่าวม้าแข่งบนโซฟาน่าเกลียด ผมนึกรู้ขึ้นมาว่า ก เป็นพ่อ และ ข เป็นลูกชาย แต่ผมไม่แน่ใจนัก ทว่าชั่วอึดใจถัดมา ข้อมูลนี้ก็ได้รับการยืนยัน เมื่อ ข (ต่อมาคือ เลนนี) พูดกับ ก (ต่อมาคือ แม็กซ์) ว่า "พ่อ ขอเปลี่ยนเรื่องพูดหน่อยได้ไหม? ขอถามพ่อสักอย่าง? อาหารเย็นที่เรากินเมื่อวาน มันเรียกว่าอะไร? พ่อเรียกมันว่าอะไร? ทำไมพ่อไม่ซื้อหมามาซะเลย? พ่อทำอาหารเหมือนให้หมากิน พูดตรง ๆ นะ พ่อคิดว่ากำลังทำอาหารให้หมาหลายตัวกินหรือไง" ในเมื่อ ข เรียก ก ว่า "พ่อ" มันก็มีเหตุผลที่จะสมมติว่า ทั้งสองเป็นพ่อลูกกัน ก คงเป็นพ่อครัวและฝีมือทำครัวของเขาดูเหมือนไม่ค่อยเข้าท่านัก นี่หมายความว่าครอบครัวนี้ไม่มีแม่หรือเปล่า? ผมไม่รู้ แต่ดังที่ผมบอกตัวเองในตอนนั้น จุดเริ่มต้นของเราไม่เคยรู้จุดจบ
"สีดำ" หน้าต่างบานใหญ่ ฟ้ายามสนธยา ผู้ชายคนหนึ่ง ก (ต่อมาคือ ดีลี) และผู้หญิงคนหนึ่ง ข (ต่อมาคือ เคท) นั่งดื่มเหล้ากันอยู่ "อ้วนหรือผอม?" ผู้ชายถาม ทั้งสองคุยถึงใคร? แต่ทันใดนั้น ผมก็มองเห็น ผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ที่หน้าต่าง ค (ต่อมาคือ แอนนา) เธอยืนอยู่ท่ามกลางแสงอีกแบบหนึ่ง หันหลังให้ ผมของเธอสีดำ
มันเป็นชั่วขณะที่แปลกประหลาด ชั่วขณะของการสร้างตัวละครที่ก่อนหน้านั้นไม่มีตัวตน สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นมีแต่ความไม่แน่นอน ขึ้น ๆ ลง ๆ ถึงขั้นเพ้อคลั่ง แม้ว่าบางครั้งมันก็พรั่งพรูออกมาอย่างถล่มทลายจนหยุดยั้งไม่ได้ สถานะของนักประพันธ์เป็นสิ่งที่แปลกพิกล ในแง่หนึ่ง เขาไม่เป็นที่ต้อนรับของตัวละคร ตัวละครขัดขืนต่อเขา ไม่ง่ายเลยที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยกัน ไม่มีทางนิยามได้ นักประพันธ์ไม่มีทางบอกบทให้ตัวละคร นักประพันธ์ต้องเล่นเกมที่ไม่มีจุดจบกับพวกเขา แมวจับหนู ตาบอดคลำช้าง ซ่อนหา แต่พอถึงที่สุด นักประพันธ์ก็พบว่า เขามีมนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้ออยู่ในกำมือ คนที่มีเจตจำนงและความอ่อนไหวของตัวเอง กอปรขึ้นมาจากส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บิดเบือนไม่ได้
ภาษาในศิลปะจึงเป็นกิจกรรมที่เคลือบคลุมที่สุด ประหนึ่งทรายดูด แทรมโปลีน สระน้ำแข็ง ที่อาจอ่อนยวบพังครืนใต้เท้านักประพันธ์ได้ทุกเมื่อ แต่ดังที่ผมกล่าวข้างต้น การแสวงหาความจริงไม่มีทางหยุดยั้ง ไม่มีทางประวิง ไม่มีทางผัดผ่อน มันเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญหน้าที่นี่และเดี๋ยวนี้
ละครการเมืองเสนอปัญหาที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง กฎข้อแรกคือต้องหลีกเลี่ยงการเทศนา ความเป็นกลางคือหัวใจสำคัญ ต้องปล่อยให้ตัวละครเป็นตัวของตัวเอง นักประพันธ์ไม่สามารถจำกัดหรือบีบคั้นให้ตัวละครตอบสนองรสนิยม อารมณ์หรืออคติส่วนตัวของนักประพันธ์เอง เขาต้องเตรียมพร้อมที่จะเข้าหาตัวละครจากหลายแง่มุม จากมุมมองที่รอบด้านและไม่จำกัด บางทีก็ต้องจู่โจมจนตัวละครตั้งตัวไม่ทันเป็นครั้งคราว แต่ถึงที่สุดแล้ว ต้องปล่อยให้ตัวละครมีอิสระที่จะดำเนินไปตามหนทางที่ตัวละครเลือก นี่อาจใช้ไม่ได้ผลทุกคราว แน่นอน สำหรับละครเชิงล้อเลียนเสียดสีการเมือง ย่อมไม่ยึดติดกับหลักการเหล่านี้ อันที่จริงก็ทำตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของมัน
ในบทละครของผมเรื่อง The Birthday Party ผมคิดว่าผมปล่อยให้ทางเลือกจำนวนมากดำเนินไปในป่าทึบของความเป็นไปได้ ก่อนปรับโฟกัสไปเล็งที่การใช้อำนาจกดบังคับในตอนท้าย
Mountain Language ไม่เสแสร้งว่ามีทางเลือกมากมายอย่างนั้น มันห้วน ป่าเถื่อนและน่าเกลียด แต่ทหารในบทละครยังได้สนุกอยู่บ้าง บางครั้งเราลืมไปว่า ผู้ทำการทรมานมักเบื่อง่าย พวกเขาต้องมีเรื่องหัวเราะนิดหน่อยเพื่อความกระชุ่มกระชวย ไม่เชื่อก็ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นที่คุกอาบู กราอิบในเมืองแบกแดดสิ ละครเรื่อง Mountain Language กินเวลาแค่ 20 นาที แต่จะให้มันยาวยืดเยื้อหลายชั่วโมง เล่นไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ บทเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า ก็ทำได้
ส่วน Ashes to Ashes เหมือนเกิดขึ้นใต้น้ำ ผู้หญิงที่กำลังจมน้ำ มือไขว่คว้าขึ้นไปเบื้องบน จมหายไปจากสายตา ตะเกียกตะกายหาใครสักคน แต่ไม่พบใครเลย ไม่ว่าเหนือน้ำหรือใต้น้ำ เจอแต่เงามืด ภาพสะท้อน ลอยคว้าง ผู้หญิงคนนั้นคือร่างที่สูญหายไปในทิวทัศน์ที่กำลังจมลง ผู้หญิงที่ไม่สามารถหลีกหนีชะตากรรมที่น่าจะเกิดกับคนอื่นเท่านั้น แต่เมื่อคนอื่นตาย เธอก็ต้องตายเหมือนกัน
ภาษาการเมืองที่นักการเมืองใช้ ไม่ได้ผจญภัยไปในดินแดนแบบนี้ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่เท่าที่เราเคยพบเจอ ไม่สนใจความจริง แต่สนใจอำนาจและการรักษาอำนาจ การรักษาอำนาจไว้ย่อมหมายถึงประชาชนต้องโง่เขลา ประชาชนต้องมีชีวิตท่ามกลางความมืดบอดต่อความจริง แม้กระทั่งความจริงในชีวิตของตนเองก็ตาม สิ่งที่แวดล้อมรอบตัวเรา จึงมีแต่ความมดเท็จที่ถักทอเป็นม่านผืนใหญ่ลวดลายวิจิตรตระการ คอยมอมเมาสายตาเราไว้
ดังที่ทุกผู้ทุกนามที่นี่รับรู้กันดี ข้ออ้างในการรุกรานอิรักคือ ซัดดัม ฮุสเซนมีอาวุธทำลายล้างจำนวนมากที่เป็นภัยมหันต์ อาวุธบางอย่างสามารถยิงออกมาได้ใน 45 นาที ซึ่งจะยังความพินาศอย่างน่าตระหนกอกสั่น เราได้รับคำยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ใช่ความจริง เรารับฟังว่าอิรักมีความสัมพันธ์กับอัล กออิดะห์ และมีส่วนรับผิดชอบการก่อวินาศกรรมในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เราได้รับคำยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ใช่ความจริง เรารับฟังว่าอิรักเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของโลก เราได้รับคำยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง แต่มันไม่ใช่ความจริง. ความจริงแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ความจริงอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเข้าใจบทบาทของตัวเองในโลกอย่างไรและเลือกวิธีไหนในการแสดงบทบาท
แต่ก่อนกลับมาสู่ปัจจุบัน ผมขอมองย้อนอดีตไปสักหน่อย ผมหมายถึงย้อนไปดูนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แม้จะมีเวลาจำกัด แต่ผมเชื่อว่าเราควรกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ในยุคนั้นบ้าง ถึงจะทำได้เพียงแค่สังเขปก็ตามที
ทุกท่านรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสหภาพโซเวียตและทั่วทั้งยุโรปตะวันออกในช่วงหลังสงครามโลก ทั้งการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ความโหดเหี้ยมทารุณที่แผ่ขยายไปทั่ว การกดขี่ความคิดอิสระอย่างป่าเถื่อน เรื่องราวทั้งหมดนี้มีการศึกษาและตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่ประเด็นของผมในที่นี้ก็คือ อาชญากรรมของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกันกลับถูกบันทึกไว้เพียงผิวเผิน ยังไม่ต้องพูดถึงการศึกษาตรวจสอบ ยังไม่ต้องพูดถึงการรับรู้ความจริง ยังไม่ต้องพูดถึงการยอมรับว่ามันเป็นอาชญากรรมด้วยซ้ำไป
ผมเชื่อว่าเราต้องหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และการแสวงหาความจริงเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับจุดยืนของโลกในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีขีดจำกัดในระดับหนึ่ง สืบเนื่องจากการคานอำนาจของสหภาพโซเวียต แต่พฤติกรรมของสหรัฐอเมริกาในทุกมุมโลกส่อให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ คิดว่าตัวเองมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ
การรุกรานประเทศอธิปไตยประเทศอื่นโดยตรงไม่เคยเป็นวิธีการที่อเมริกาโปรดปราน ส่วนใหญ่แล้ว สหรัฐฯ นิยมวิธีการที่เรียกว่า "สงครามแบบเจือจาง" (low intensity conflict) สงครามแบบเจือจางหมายถึงการที่ประชาชนต้องตายในสงครามแบบนี้หลายพันคน แต่ตายช้า ๆ ไม่ตายปุบปับเหมือนเอาระเบิดไปทิ้งใส่ตูมเดียว มันหมายความว่าคุณต้องแพร่เชื้อร้ายใส่หัวใจของประเทศนั้น ๆ เพาะเชื้อโรคร้ายแรงให้แพร่พันธุ์และนั่งดูความเจ็บป่วยเน่าเปื่อยขยายวงลุกลาม เมื่อประชาชนในประเทศนั้นอ่อนแรงลง หรือถูกตีปางตาย ซึ่งก็มีความหมายครือกัน และเมื่อสมัครพรรคพวกของคุณ ไม่ว่ากองทัพหรือธุรกิจยักษ์ใหญ่ นั่งครองอำนาจอย่างสบายใจแล้ว คุณก็ออกโทรทัศน์และประกาศว่า ระบอบประชาธิปไตยได้ชัยชนะ นี่เป็นเรื่องปรกติธรรมดาในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคที่ผมกำลังพูดถึง
โศกนาฏกรรมของนิการากัวเป็นตัวอย่างที่มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง ผมเลือกนิการากัวมาเป็นตัวอย่างชั้นยอดที่แสดงให้เห็นทัศนคติของอเมริกาต่อบทบาทของตัวเองในโลก ทั้งในสมัยนั้นและในสมัยนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงลอนดอนในปลายทศวรรษ 1980
สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกากำลังจะลงมติว่า จะเพิ่มเงินสนับสนุนให้กบฏขบวนการคอนทราส์ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลประเทศนิการากัวหรือไม่ ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะผู้แทนที่มาเจรจาในนามของนิการากัว แต่สมาชิกคนสำคัญที่สุดในคณะผู้แทนนี้คือ บาทหลวงจอห์น เม็ทคาล์ฟ ผู้นำของคณะผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ คือ เรย์มอนด์ ไซทส์ (ตอนนั้นเขาเป็นรองเอกอัครราชทูต ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต) บาทหลวงเม็ทคาล์ฟกล่าวว่า
"ท่านครับ ผมเป็นพระประจำสังฆมณฑลแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศนิการากัว ประชาชนในเขตนี้ช่วยกันสร้างโรงเรียน สถานีอนามัย ศูนย์วัฒนธรรม เราอยู่กันอย่างสันติ ไม่กี่เดือนก่อน กองกำลังฝ่ายคอนทราส์โจมตีสังฆมณฑล ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งโรงเรียน สถานีอนามัย ศูนย์วัฒนธรรม มิหนำซ้ำยังข่มขืนนางพยาบาลและครู ฆ่าหมอด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยมที่สุด พวกนั้นปฏิบัติเหมือนสัตว์ป่า โปรดยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถอนการสนับสนุนจากปฏิบัติการก่อการร้ายอันน่าสยดสยองนี้"
เรย์มอนด์ ไซทส์ มีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นคนมีเหตุผล รับผิดชอบ และมีความคิดความอ่านไม่ธรรมดา เขาเป็นที่นับหน้าถือตาอย่างมากในวงการทูต เขารับฟัง นิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วพูดขึ้นอย่างเคร่งขรึมว่า "คุณพ่อครับ ผมขอบอกคุณพ่ออย่างหนึ่ง ในระหว่างสงคราม ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องทนทุกข์ทรมานเสมอ" เงียบกริบ เราจ้องหน้าเขา เขาไม่สะดุ้งสะเทือนเลย
ใช่สิ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องทนทุกข์ทรมานเสมอ
ในที่สุด ใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า "แต่ในกรณีนี้ 'ประชาชนผู้บริสุทธิ์' ตกเป็นเหยื่อความอำมหิตป่าเถื่อนจากขบวนการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลของท่าน ซึ่งเป็นแค่หนึ่งในหลาย ๆ กรณี หากสภาคองเกรสอนุมัติเงินให้ขบวนการคอนทราส์เพิ่มขึ้น ความเลวร้ายแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก ถ้าเช่นนั้น มิใช่กลายเป็นว่า รัฐบาลของท่านมีความผิดฐานให้การสนับสนุนปฏิบัติการฆาตกรรม และทำลายล้างพลเมืองของประเทศเอกราชหรอกหรือ?"
ไซทส์ไม่สะทกสะท้าน "ผมไม่เห็นพ้องเลยว่า ข้อเท็จจริงที่นำเสนอมาสนับสนุนข้อกล่าวหาของคุณตรงไหน" เขาตอบปฏิเสธและตั้งคำถามกลับ. ขณะที่เราออกจากสถานทูต เจ้าหน้าที่ในสถานทูตสหรัฐฯ คนหนึ่งบอกผมว่า เขาชอบบทละครของผม ผมไม่ตอบ
ผมขอเตือนความจำคุณว่า ในตอนนั้น ประธานาธิบดีเรแกนเคยปราศรัยด้วยประโยคต่อไปนี้: "ขบวนการคอนทราส์มีฐานะทางจริยธรรมเทียบเท่ากับรัฐบุรุษผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา"
สหรัฐอเมริกาสนับสนุนระบอบเผด็จการที่ป่าเถื่อนโหดร้ายของโซโมซาในนิการากัวเป็นเวลากว่า 40 ปี ชาวนิการากัว ซึ่งมีขบวนการแซนดินิสต้าเป็นผู้นำ ช่วยกันโค่นล้มระบอบเผด็จการนี้ลงในปี ค.ศ. 1979 นี่เป็นการปฏิวัติโดยประชาชนที่น่าทึ่งมาก
ขบวนการแซนดินิสต้าไม่ได้ดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบก็จริง พวกเขามีความโอหังอยู่ไม่น้อย และปรัชญาการเมืองของพวกเขาก็มีข้อขัดแย้งในตัวเองอยู่มาก กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังนับว่ามีสติปัญญา มีเหตุผลและมีอารยธรรม พวกเขาเริ่มวางรากฐานเพื่อสร้างสังคมที่มีเสถียรภาพ มีขื่อมีแป และยอมรับในความหลากหลาย ยกเลิกโทษประหาร ชาวนายากไร้หลายแสนคนถูกกอบกู้ขึ้นมาจากสภาพตายทั้งเป็น กว่า 100,000 ครอบครัว ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน สร้างโรงเรียนขึ้นมาสองพันแห่ง โครงการรณรงค์เพื่อการอ่านออกเขียนได้ช่วยลดอัตราการไม่รู้หนังสือในประเทศ จนคนไม่รู้หนังสือเหลือน้อยกว่าหนึ่งในเจ็ด มีระบบการศึกษาฟรีและระบบสุขภาพถ้วนหน้า อัตราการตายของทารก ลดลงถึงหนึ่งในสาม โรคโปลิโอถูกกำจัดทิ้งโดยสิ้นเชิง
สหรัฐอเมริกากลับประณามความสำเร็จทั้งหมดนี้ว่าเป็นภัยคุกคามของลัทธิมาร์กซ์/เลนิน ในสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ ตัวอย่างที่อันตรายกำลังก่อรูปก่อร่างขึ้นมา หากปล่อยให้นิการากัวปักหลักลงรากฐานความยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้สำเร็จ หากปล่อยให้นิการากัวยกระดับมาตรฐานทางสาธารณสุข การศึกษา บรรลุถึงเอกภาพทางสังคมและความนับถือตนเองในชาติ ประเทศเพื่อนบ้านย่อมตั้งคำถามเดียวกันและทำอย่างเดียวกันบ้าง แน่นอน ในตอนนั้นกำลังมีกระแสต่อต้านการปกครองระบอบเก่าในเอลซัลวาดอร์อย่างรุนแรง
เมื่อกี้นี้ ผมเอ่ยถึง "ม่านงามแห่งความมดเท็จ" ที่ห้อมล้อมรอบตัวเรา ประธานาธิบดีเรแกนประณามนิการากัวว่าเป็น "คุกใต้ดินของเผด็จการ" อยู่เสมอ สื่อมวลชนกระแสหลักยอมรับหน้าตาเฉยว่า คำประณามนี้ด่าได้ถูกต้อง แน่นอน รวมทั้งรัฐบาลอังกฤษด้วย แต่ความจริงก็คือ ภายใต้รัฐบาลแซนดินิสต้า ไม่เคยมีหลักฐานว่ามีหน่วยรบมรณะ ไม่เคยมีหลักฐานว่ามีการทรมานนักโทษ ไม่เคยมีหลักฐานว่ากองทัพใช้ความโหดร้ายทารุณอย่างเป็นระบบหรืออย่างเป็นทางการ ไม่เคยมีบาทหลวงถูกสังหารในนิการากัว
อันที่จริง มีบาทหลวงสามรูปอยู่ในคณะรัฐบาลด้วยซ้ำไป กล่าวคือ มีบาทหลวงเยซูอิตสองรูปกับมิชชันนารีคณะ Maryknoll หนึ่งคน คุกใต้ดินของเผด็จการอยู่ข้างบ้านต่างหาก ในเอลซัลวาดอร์และในกัวเตมาลา สหรัฐอเมริกาโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในกัวเตมาลาเมื่อปี ค.ศ. 1954 และประเมินกันว่า มีประชาชนกว่า 200,000 คน ตกเป็นเหยื่อของระบอบเผด็จการทหารที่เปลี่ยนหน้ากันครองอำนาจ
บาทหลวงคณะเยซูอิตที่น่านับถือที่สุดในโลก 6 รูป ถูกสังหารอย่างป่าเถื่อนที่มหาวิทยาลัยอเมริกากลางในเมืองซานซัลวาดอร์เมื่อปี ค.ศ. 1989 โดยกองพันของกรม Alcatl ที่ได้รับการฝึกอบรมจากฟอร์ทเบนนิง รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา อาร์คบิชอปโรเมโร สาธุคุณผู้หาญกล้า ถูกลอบสังหารระหว่างประกอบพิธีมิซซา มีประชาชนตายไปประมาณ 75,000 คน ทำไมพวกเขาถึงถูกฆ่า? พวกเขาถูกฆ่าเพราะพวกเขาเชื่อว่า ชีวิตที่ดีกว่า มีทางเป็นไปได้และควรต่อสู้ให้ได้มา ความเชื่อนั้นทำให้พวกเขาถูกตีตราเป็นคอมมิวนิสต์ทันที พวกเขาตายเพราะบังอาจตั้งคำถามต่อระบอบที่เป็นอยู่ ความจน ความเจ็บ ความทรามและการกดขี่ที่ยืดเยื้อไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเป็นสมบัติติดตัวพวกเขามาตั้งแต่เกิด
สหรัฐอเมริกาจัดการโค่นล้มรัฐบาลแซนดินิสต้าลงจนได้ แม้จะต้องใช้เวลาหลายปีและเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนัก แต่การบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจอย่างไม่ปรานีปราศรัยและความตายอีก 30,000 ศพ สุดท้ายก็บั่นทอนจิตใจของชาวนิการากัวได้สำเร็จ ชาวนิการากัวต้องสิ้นเรี่ยวแรงและยากจนข้นแค้นอีกครั้ง บ่อนการพนันคาสิโนย้ายกลับเข้ามาเปิดในประเทศ ระบบการศึกษาและสุขภาพถ้วนหน้าถึงครายุติ บรรษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่หวนกลับเข้ามาอย่างสาแก่ใจ "ประชาธิปไตย" ได้ชัยชนะอีกครั้ง
แต่ "นโยบาย" แบบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภูมิภาคอเมริกากลาง มันถูกนำไปใช้ทั่วโลก ไม่เคยจบสิ้น และทำเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น
สหรัฐอเมริกาสนับสนุน-และในหลายกรณีก็ให้กำเนิดโดยตรง-แก่ระบอบเผด็จการทหารปีกขวาทุกประเทศในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผมหมายถึงอินโดนีเซีย, กรีซ, อุรุกวัย, บราซิล, ปารากวัย, เฮติ, ตุรกี, ฟิลิปปินส์, กัวเตมาลา, เอลซัลวาดอร์ และแน่นอน ชิลี ภัยสยองที่สหรัฐอเมริกาอัดฉีดใส่ชิลีในปี ค.ศ. 1973 ไม่มีวันชำระล้างและไม่มีทางให้อภัยได้
ความตายหลายแสนศพเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงในประเทศเหล่านี้ มันเคยเกิดขึ้นหรือเปล่า? เกิดจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ทั้งหมดเลยหรือเปล่า? คำตอบคือ ใช่ มันเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นสืบเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของอเมริกัน แต่คุณไม่มีทางรู้เรื่องพวกนี้หรอก
มันไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น แม้แต่ตอนที่กำลังเกิดขึ้น มันก็ไม่ได้เกิดขึ้น มันไม่สำคัญ ไม่น่าสนใจ อาชญากรรมของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ ชั่วช้า ไร้ความปรานี แต่มีคนพูดถึงเรื่องนี้กันสักกี่คน คุณต้องยกเรื่องนี้ให้อเมริกา อเมริกาใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างเลือดเย็นไปทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ใส่หน้ากากเป็นพลังแห่งความดีงามสากล ช่างยอดเยี่ยม ฉลาดแสนกล เป็นยอดนักสะกดจิตที่หาใครเปรียบไม่ได้อีกแล้ว
ผมขอบอกคุณว่า สหรัฐอเมริกาเป็นคณะแสดงละครเร่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไม่มีข้อสงสัย ป่าเถื่อน ไร้ยางอาย โอหังและอำมหิต กระนั้นก็ฉลาดเป็นกรด ในฐานะเซลส์แมน มันฉายเดี่ยว และสินค้าที่ขายดีที่สุดคือ ความลุ่มหลงตัวเอง มันสุดยอด ลองฟังประธานาธิบดีอเมริกันทุกคนที่ออกโทรทัศน์พูดคำว่า "ประชาชนชาวอเมริกัน" สิ เช่น "ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่ประชาชนชาวอเมริกันว่า นี่คือเวลาของการสวดมนต์และปกป้องสิทธิของประชาชนชาวอเมริกัน และข้าพเจ้าขอให้ประชาชนชาวอเมริกันไว้วางใจในตัวประธานาธิบดีในภารกิจที่เขากำลังจะกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวอเมริกัน"
นี่เป็นกลยุทธ์ที่เฉียบแหลมมาก ใช้ภาษาเพื่อต้อนความคิดให้จนมุม คำว่า "ประชาชนชาวอเมริกัน" ช่างเย้ายวนชวนตายใจเหมือนฟูกนุ่ม ๆ คุณไม่ต้องคิดมากหรอก แค่เอนหลังลงบนฟูก ฟูกอาจสะกดกั้นสติปัญญาและความคิดวิพากษ์วิจารณ์ แต่มันก็สบายเหลือเกิน แน่นอน นี่ไม่เกี่ยวกับประชาชน 40 ล้านคนที่มีชีวิตอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน และผู้ชายผู้หญิงอีก 2 ล้านคนที่ถูกจองจำอยู่ในคุกกักกันขนาดใหญ่ที่มีทั่วไปทั้งสหรัฐอเมริกา
เดี๋ยวนี้สหรัฐอเมริกาไม่สนใจการทำสงครามแบบเจือจางอีกแล้ว มันเลิกสงวนท่าทีหรือแม้แต่ใช้วิธีอ้อม ๆ มันแบไพ่ในมือลงบนโต๊ะอย่างไม่มีความเกรงกลัวหรือเกรงใจ มันไม่สนใจสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์สักกระผีกเลยด้วยซ้ำ ในสายตาของสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไร้น้ำยาและไร้ความสำคัญ ถึงอย่างไร สหรัฐฯ ก็มีลูกแกะเซื่อง ๆ ตัวหนึ่งคอยร้องแบ ๆ เดินตามต้อย ๆ เสมอ นั่นคือ อังกฤษที่อ่อนปวกเปียกและน่าสมเพชนั่นเอง
เกิดอะไรขึ้นกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในตัวเรา? เรายังมีอีกหรือเปล่า? คำพวกนี้หมายความว่าอะไร? หมายถึง...มโนธรรม...คำที่แทบไม่มีใครใช้กันอีกแล้วในวันนี้หรือเปล่า? มโนธรรมที่มิใช่มีต่อการกระทำของตนเองเท่านั้น แต่ยังมีต่อความรับผิดชอบที่เรามีร่วมกับการกระทำของผู้อื่น? ความรู้สึกแบบนี้ตายหมดตายสิ้นเสียแล้วหรือ? ดูคุกที่อ่าวกวนตานาโมสิ คนเป็นร้อย ๆ ถูกกักขังทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อหามากว่าสามปี ไม่มีทนาย ไม่มีการพิจารณาคดี พูดง่าย ๆ คือขังไปเรื่อย ๆ กระบวนการที่ผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิงนี้ดำรงอยู่โดยไม่แยแสสนธิสัญญาเจนีวาแม้แต่นิดเดียว มันไม่เพียงดำรงอยู่ได้อย่างหน้าตาเฉย แต่แทบไม่คำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า "ประชาคมโลก" เลยด้วย
อาชญากรรมนี้กระทำโดยประเทศที่ประกาศตัวเป็น "ผู้นำโลกเสรี" เราเคยคิดถึงคนที่อยู่ในอ่าวกวนตานาโมบ้างไหม? สื่อมวลชนพูดอะไรถึงพวกเขาบ้าง? พวกเขาโผล่มาให้เห็นบ้างนาน ๆ ครั้ง เป็นข่าวเล็ก ๆ อยู่หน้า 6 พวกเขาถูกส่งไปอยู่ดินแดนลับแล อาจไม่ได้กลับออกมาอีกเลย ขณะนี้มีหลายคนกำลังอดอาหารประท้วง ถูกบังคับให้กินอาหาร ในจำนวนนี้มีชาวอังกฤษรวมอยู่ด้วย การบังคับให้กินอาหารก็ใช่ว่าจะทำกันแบบละม่อม ไม่มีทั้งยาแก้ปวดหรือยาสลบ สักแต่ยัดท่อเข้าไปทางจมูกทะลวงเข้าไปในลำคอ คุณจะอาเจียนออกมาเป็นเลือด
นี่คือการทารุณแท้ ๆ แล้วรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษปริปากอะไรบ้างในเรื่องนี้? ไม่มีสักแอะ นายกรัฐมนตรีอังกฤษปริปากอะไรบ้างในเรื่องนี้? ไม่มีสักแอะ ทำไม? เพราะสหรัฐอเมริกาพูดดักไว้ก่อนแล้วว่า: การวิจารณ์วิธีการของเราในอ่าวกวนตานาโมเป็นพฤติกรรมที่แสดงความไม่เป็นมิตร คุณต้องอยู่ฝ่ายเราหรือไม่ก็เป็นศัตรูกับเรา แบลร์ก็เลยหุบปากเงียบ
การรุกรานอิรักเป็นการกระทำเยี่ยงโจร เป็นการกระทำของรัฐก่อการร้ายอย่างหน้าด้าน ๆ แสดงให้เห็นสันดานที่ดูถูกดูแคลนกฎหมายระหว่างประเทศ การรุกรานนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารตามอำเภอใจที่หาข้ออ้างจากเรื่องมดเท็จเรื่องแล้วเรื่องเล่า ใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมืออย่างน่ารังเกียจ รวมทั้งปลุกปั่นมอมเมาประชาชนไปด้วย นี่เป็นปฏิบัติการที่มุ่งหมายจะหนุนเสริมอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของอเมริกันในตะวันออกกลาง แล้วพอข้ออ้างอื่น ๆ ไม่ได้อีกแล้ว ก็เหลือแค่ข้ออ้างเดียว คือใส่หน้ากากโกหกว่าเป็นปฏิบัติการปลดปล่อย ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่การใช้กำลังทหารรุกรานอย่างสยดสยอง เป็นต้นเหตุการตายและพิการของคนบริสุทธิ์หลายพันหลายหมื่นคน
เรานำเอาการทรมาน, คลัสเตอร์บอมบ์, กากยูเรเนียม, การฆ่าไม่เลือกหน้านับครั้งไม่ถ้วน, ความทุกข์ยาก, ความเสื่อมทรามและความตาย ไปให้ชาวอิรัก แล้วเรียกมันว่า "การนำเสรีภาพและประชาธิปไตยไปสู่ตะวันออกกลาง"
คุณต้องฆ่าคนสักกี่คนก่อนจะถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกรล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรสงคราม? หนึ่งแสนคนหรือ? เกินพอเสียอีก ผมคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น บุชและแบลร์จึงควรถูกจับตัวมาดำเนินคดีในศาลอาชญากรรมข้ามชาติ แต่บุชฉลาดเสมอ เขาไม่ยอมลงนามรับรองศาลอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น ถ้าทหารอเมริกันคนใด หรือนักการเมืองอเมริกันคนใด พบตัวเองอยู่ในคอกจำเลย บุชจึงขู่ว่า เขาจะส่งนาวิกโยธินไปชิงตัวกลับมา แต่โทนี แบลร์ลงนามรับรองศาลอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว เราจึงเอาตัวเขามาดำเนินคดีได้ ถ้าศาลสนใจ เราน่าจะให้ที่อยู่ของเขาแก่ศาล บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ลอนดอน
ความตายในบริบทนี้ไม่มีความสำคัญเลย ทั้งบุชและแบลร์ให้ความสำคัญแก่ความตายของประชาชนน้อยมาก มีชาวอิรักอย่างน้อย 100,000 คน เสียชีวิตด้วยระเบิดและขีปนาวุธอเมริกัน ก่อนที่การก่อการร้ายในอิรักจะเริ่มขึ้น คนที่ตายไปเหล่านี้ไร้ค่า ความตายของพวกเขาไม่มีตัวตน พวกเขาล้วนเป็นความว่างเปล่า ไม่ถูกบันทึกด้วยซ้ำว่าตาย "เราไม่มานั่งนับซากศพหรอก" นายพลอเมริกัน ทอมมี แฟรงค์ส พูดไว้อย่างนั้น
ตอนช่วงต้นของการรุกราน มีรูปถ่ายตีพิมพ์ลงหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์อังกฤษ เป็นรูปโทนี แบลร์ กำลังหอมแก้มเด็กผู้ชายชาวอิรัก ใต้ภาพเขียนบรรยายว่า "เด็กสำนึกบุญคุณ" สองสามวันต่อมา มีข่าวและภาพถ่ายลงในหน้าในของหนังสือพิมพ์ เป็นรูปเด็กสี่ขวบอีกคนหนึ่งที่แขนขาดทั้งสองข้าง ครอบครัวของหนูน้อยตายเกลี้ยงจากขีปนาวุธ เหลือเด็กคนนี้รอดชีวิตเพียงคนเดียว "เมื่อไรผมจะได้แขนคืนมาฮะ?" หนูน้อยถาม แล้วข่าวนี้ก็หายไป แน่ล่ะ โทนี แบลร์ ไม่ได้มาอุ้มเขาไว้ในอ้อมแขน โทนี แบลร์ย่อมไม่อุ้มร่างเด็กที่พิการแขนขาขาดหรือซากศพเปื้อนเลือดชุ่มโชก เลือดมันสกปรก เลอะเทอะเปรอะเปื้อนเสื้อเชิ้ตกับเน็คไทเวลาที่แสดงสุนทรพจน์แสนจริงใจออกทีวี
ทหารอเมริกัน 2,000 นาย ที่เสียชีวิตเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดเหมือนกัน ศพเหล่านี้จึงต้องส่งกลับมาลงหลุมในประเทศอย่างเงียบ ๆ จัดงานศพกันอย่างไม่กระโตกกระตาก ไม่ให้ใครแตกตื่น ส่วนคนที่แขนขาขาดก็ปล่อยให้เน่าอยู่บนเตียง บางคนก็ต้องอยู่ไปตลอดชีวิต ทั้งคนตายและคนพิการจึงเน่าเปื่อยเหมือนกัน เพียงแต่อยู่ในหลุมคนละแบบ
บทกวีต่อไปนี้เก็บใจความมาจากกวีนิพนธ์ของปาโบล เนรูดา "ฉันกำลังอธิบายเรื่องบางอย่าง":
และเช้าวันหนึ่ง
ทุกอย่างลุกเป็นไฟ
เช้าวันหนึ่ง กองไฟโชติช่วง
ผุดโพลงขึ้นมาจากพิภพ
ผลาญเผามนุษยชน
และนับแต่นั้นมามีแต่ไฟ
และนับแต่นั้นมามีแต่ควันปืน
และนับแต่นั้นมามีแต่เลือด
โจรที่มากับเครื่องบินและเรือรบ
โจรที่ใส่แหวนและชุดกรุยกราย
โจรที่ใส่ชุดพระสีดำพ่นคำอำนวยพร
แหวกฟ้ามาฆ่าเด็ก ๆ
เลือดเด็กไหลนองท้องถนน
ไหลง่าย ๆ เหมือนเลือดเด็ก ๆ
สุนัขรับใช้ที่สุนัขรับใช้ยังเหยียดหยาม
หินที่พุ่มหนามแห้งกัดแล้วยังต้องถ่มทิ้ง
อสรพิษที่อสรพิษยังชิงชัง
ต่อหน้าท่าน
ฉันมองเห็นเลือด
ประดุจคลื่นเหนือหอคอยแห่งสเปน
ท่วมท่านจมมิดหายในระลอกเดียว
ระลอกแห่งความโอหังและคมมีด
นายพลคนคดทั้งหลาย
จงมองดูบ้านแห่งความตายของฉัน
มองดูสเปนที่แตกเป็นริ้ว ๆ
จากบ้านทุกหลังมีโลหะหลอมเหลวไหลพลุ่ง
แทนที่จะเป็นดอกไม้
จากทุกซอกมุมของสเปน
สเปนจะก่อกำเนิด
จากซากศพเด็กทุกคน
ปืนยาวที่มีดวงตาจะก่อกำเนิด
จากทุกอาชญากรรม ลูกกระสุนจะก่อกำเนิด
แล้ววันหนึ่งข้างหน้า กระสุนนั้นจะค้นพบ
เป้ากลางดวงใจท่าน
ท่านคงจะถาม
ทำไมหนอบทกวีของเขา
จึงไม่พูดถึงความฝันและใบไม้
และภูเขาไฟใหญ่ยิ่งในถิ่นแดนเกิด
มาสิ มาดูเลือดบนท้องถนน
มาสิ มาดู เลือดบนท้องถนน
มาดูเลือด บนท้องถนน!
ผมขอพูดให้ชัดเจนหน่อยว่า ในการยกบทกวีของเนรูดามานี้ ผมไม่ได้เปรียบเทียบสเปนยุคสาธารณรัฐกับอิรักยุคซัดดัม ฮุสเซนเลยแม้แต่น้อย ผมยกเนรูดามาก็เพราะเท่าที่ได้อ่านกวีนิพนธ์ร่วมสมัย ยังไม่มีบทกวีของใครที่พรรณนาภาพการทำลายล้างชีวิตพลเรือนได้อย่างถึงแก่นเท่า
ผมกล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ตอนนี้สหรัฐอเมริกาหงายไพ่ในมือบนโต๊ะอย่างโจ่งแจ้งแล้ว มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นโยบายของสหรัฐฯ ที่ประกาศอย่างเป็นทางการสรุปได้ด้วยคำว่า "การครอบงำอย่างเต็มพิกัด" นี่ไม่ใช่คำที่ผมคิดขึ้นมาเอง แต่เป็นคำของพวกเขา "การครอบงำอย่างเต็มพิกัด" หมายถึงการควบคุมแผ่นดิน, ทะเล, อากาศ, อวกาศและทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีฐานทัพ 72 แห่งใน 132 ประเทศทั่วโลก และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สวีเดนเป็นข้อยกเว้น เราไม่รู้ว่าสหรัฐฯ ทำได้อย่างไร แต่ก็ทำได้แล้ว
สหรัฐอเมริกามีหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้ 8,000 หัวรบ มีสองพันหัวรบที่พร้อมเหนี่ยวไกและยิงได้โดยมีคำเตือน 15 นาทีล่วงหน้า สหรัฐฯ กำลังพัฒนาระบบอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ ที่เรียกกันว่า หัวรบทะลวงหลุมหลบภัย อังกฤษที่พร้อมให้ความร่วมมือเสมอ กำลังจะนำมาติดตั้งแทนขีปนาวุธนิวเคลียร์ "ไทรเดนท์" ผมสงสัยจริงว่า ขีปนาวุธพวกนี้มีไว้ถล่มใคร? อุซามะห์ บินลาดิน? คุณ? ผม? นายโจ? จีน? ปารีส? ใครรู้บ้าง? สิ่งเดียวที่เรารู้ก็คือ ความคลุ้มคลั่งขาดสติ-การครอบครองและข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์-เป็นหัวใจของปรัชญาการเมืองอเมริกันในปัจจุบัน เราต้องเตือนใจตัวเองว่า กองทัพสหรัฐฯ กำลังยืนซอยเท้าตลอดเวลาและไม่มีวี่แววเลยว่าจะผ่อนเท้าลง
ประชาชนชาวอเมริกันหลายพันหลายหมื่นคน ถ้าไม่ใช่หลายล้านคน กำลังแสดงออกชัดเจนถึงความเบื่อหน่าย อับอายและโกรธแค้นกับการกระทำของรัฐบาลของตน แต่เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ พวกเขาไม่ใช่พลังทางการเมืองที่เป็นกลุ่มก้อน-ยังไม่ใช่ในตอนนี้ แต่ความวิตกกังวล ไม่มั่นใจและหวาดกลัว ซึ่งเราเห็นทวีขึ้นทุกวัน ๆ ในสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีแนวโน้มจะลดน้อยถอยลง
ผมรู้ว่า ประธานาธิบดีบุชมีทีมร่างคำปราศรัยที่เก่งฉกาจมาก แต่ผมอยากเสนอตัวทำงานให้เขาสักครั้ง ผมขอเสนอคำปราศรัยสั้น ๆ ต่อไปนี้ให้เขาเอาไปพูดออกทีวีให้คนทั้งชาติได้ยินได้ฟัง ผมหลับตาเห็นภาพเขาเคร่งขรึมจริงจัง ผมหวีเรียบแปล้ มีเสน่ห์ ดูซื่อ ๆ แต่บ่อยครั้งก็ดูเจ้าเล่ห์ บางครั้งมีรอยยิ้มเยาะ ๆ จาง ๆ หล่อแบบไม่ค่อยน่าไว้ใจ ผู้ชายแบบหัวโบราณ
"พระเจ้าทรงประเสริฐ พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่ พระเจ้าทรงประเสริฐ พระเจ้าของข้าพเจ้าทรงประเสริฐ พระเจ้าของบินลาดินไม่ดี พระเจ้าของเขาไม่ดี พระเจ้าของซัดดัมก็ไม่ดี เพียงแต่ว่าซัดดัมไม่มีพระเจ้า ซัดดัมเป็นคนป่าเถื่อน เราไม่ใช่คนป่าเถื่อน เราไม่เที่ยวตัดคอใคร เราเชื่อในเสรีภาพ พระเจ้าก็เหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่ใช่คนป่าเถื่อน ข้าพเจ้าเป็นผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศประชาธิปไตยที่รักเสรีภาพ เราเป็นสังคมที่มีเมตตาธรรม เรามีการประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าอย่างมีเมตตาและประหารชีวิตด้วยการฉีดยาอย่างมีเมตตา เราเป็นชาติยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าไม่ใช่เผด็จการ เขาต่างหาก ข้าพเจ้าไม่ใช่คนป่าเถื่อน เขาต่างหาก พวกนั้นทุกคนต่างหาก ข้าพเจ้ามีอำนาจทางศีลธรรม ท่านเห็นกำปั้นนี้ไหม? นี่คืออำนาจทางศีลธรรมของข้าพเจ้า และท่านจงอย่าลืมเด็ดขาด"
ชีวิตของนักเขียนเป็นชีวิตที่เปราะบางยิ่งนัก งานเขียนเป็นกิจกรรมที่ต้องเปลือยเปล่าจนเกือบล่อนจ้อน แต่นี่ไม่ใช่เรื่องต้องมานั่งร้องไห้เสียใจ นักเขียนเลือกและยึดมั่นในการเลือก แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่นักเขียนต้องเปิดรับลมแรงจากทุกสารทิศ และมีบ้างที่เย็นยะเยือก นักเขียนต้องยืนอยู่ด้วยตัวเอง บนขาของตัวเอง ไม่มีที่พักพิง ไม่มีเกราะคุ้มกัน นอกจากนักเขียนจะโกหก แน่นอน นั่นเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันขึ้นมา แต่นั่นหมายถึงการกลายร่างเป็นนักการเมือง
ผมเอ่ยถึงความตายหลายครั้งในเย็นวันนี้ ตอนนี้ผมขออ่านบทกวีของตนเองที่มีชื่อว่า "ความตาย"
พบศพที่ไหน?
ใครพบศพ?
ศพตายหรือยังเมื่อถูกค้นพบ?
พบศพตายอย่างไร?
ใครคือศพ?
ใครคือพ่อหรือลูกสาวหรือพี่ชาย
หรือลุงหรือน้องสาวหรือแม่หรือลูกชาย
ของศพที่ถูกทิ้งให้ตาย?
ศพนั้นตายหรือยังเมื่อถูกทิ้ง?
ศพถูกทิ้งหรือเปล่า?
ใครที่ทิ้งศพไว้?
ศพเปล่าเปลือยหรือแต่งตัวเตรียมเดินทาง?
อะไรทำให้ท่านปักใจว่าศพนั้นตายแล้ว?
ท่านประกาศแล้วหรือว่าศพตายแล้ว?
ท่านรู้จักศพดีแค่ไหน?
ท่านรู้อย่างไรว่าศพนั้นตายแล้ว?
ท่านอาบน้ำให้ศพหรือเปล่า?
ท่านปิดดวงตาให้ศพไหม?
ท่านฝังศพหรือเปล่า?
หรือทิ้งศพไว้?
ท่านจูบศพบ้างไหม?
เมื่อเรามองเข้าไปในกระจก เราคิดว่าภาพที่สะท้อนอยู่ตรงหน้าเราเป็นภาพที่เที่ยงตรง แต่ลองขยับไปสักมิลลิเมตรสิ แล้วภาพสะท้อนนั้นจะเปลี่ยนไป เรากำลังมองดูภาพสะท้อนมากมายที่ไม่มีขอบเขตสิ้นสุดต่างหาก แต่บางครั้งนักเขียนก็ต้องทุบกระจกให้แตกกระจาย เพราะอีกด้านหนึ่งของกระจกนั้น ความจริงกำลังจ้องตาเรา
ผมเชื่อว่า
แม้จะมีอุปสรรคใหญ่หลวงขวางอยู่ตรงหน้า พวกเราในฐานะประชาชน ย่อมมีปัญญาอันแน่วแน่
ไม่สะทกสะท้าน ไม่ย่อท้อ การนิยามสัจจะที่แท้จริงในชีวิตและสังคมเป็นพันธกิจสำคัญที่สุดที่มอบหมายให้เราทุกผู้ทุกนาม
มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องกระทำ ถ้าความแน่วแน่นั้นไม่ปลูกฝังลงในวิสัยทัศน์ทางการเมืองของเรา
เราคงหมดหวังที่จะฟื้นฟูสิ่งที่เกือบจะสูญสิ้นไปแล้วตลอดกาล นั่นคือ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
หมายเหตุผู้แปล:
ปาฐกถาของฮาโรลด์ พินเทอร์ เป็นปาฐกถารับรางวัลโนเบลที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในสื่อมวลชนกระแสหลัก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า นี่เป็นปาฐกถาที่ไร้รสนิยม กราดเกรี้ยว ขาดวรรณศิลป์ โดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่บทกวีของพินเทอร์ว่า เป็นบทกวีที่ไม่มีความเป็นบทกวี เป็นบทกวีที่เขียนแย่ ๆ ฯลฯ นักวิจารณ์หลายคนบ่นว่า ไม่รู้ความคมคายแนบเนียนที่เป็นจุดเด่นในบทละครของพินเทอร์หายไปไหนหมด รวมทั้งมีสถานีโทรทัศน์หลายแห่งที่ไม่ยอมถ่ายทอดปาฐกถาของเขา
ผู้สนใจสามารถอ่านบทความที่รวบรวมคำวิจารณ์ของสื่อกระแสหลักต่อพินเทอร์ได้ที่
http://www.medialens.org/alerts/index.php
คงเป็นเรื่องไร้เดียงสาหากกล่าวว่า ราชบัณฑิตยสภาสวีเดนไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย ในเรื่องที่ฮาโรลด์ พินเทอร์จะใช้วาระของการรับรางวัลโนเบลนี้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ และอังกฤษ ในเมื่อปลายปี ค.ศ. 2002 หลังจากพินเทอร์เพิ่งออกจากโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคมะเร็งมาหมาด ๆ สิ่งแรกที่เขาทำคือหยิบปากกาเขียนวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ และอังกฤษ ความดุเด็ดเผ็ดร้อนของการเขียนครั้งนั้นก็ไม่แตกต่างจากปาฐกถาครั้งนี้สักเท่าไร แล้วมีหรือเมื่อได้รับรางวัลโนเบล เขาจะพลาดโอกาสนี้ไปได้
ผู้แปลเคยแปลข้อเขียนของพินเทอร์ครั้งนั้นเอาไว้
ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่
http://www.fridaycollege.org/
ในเซ็คชั่น บทความแปล ชื่อบทความคือ "รัฐบาลอเมริกันคือสัตว์ป่ากระหายเลือด"
หากอ่านหรือฟังปาฐกถาของพินเทอร์เพียงผิวเผิน ดูราวกับพินเทอร์เคียดแค้นและถือรัฐบาลอเมริกันเป็นศัตรู แต่ในทัศนะของผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่า ศัตรูอันดับหนึ่งที่พินเทอร์กำลังต่อกรด้วยปากกาในมือของเขา ไม่ใช่รัฐบาลสหรัฐฯ แต่เป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษยชาติต่างหาก นั่นคือ ความหลงลืม เพราะมนุษย์เราถูกสาปให้เกิดมาพร้อมกับความหลงลืม เราจึงปล่อยให้ความชั่วช้าเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนับวันจะกัดกร่อนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวเรา จนมนุษยชาติหลับตามุ่งหน้าสู่หายนะด้วยความเร็วที่เร่งขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่ว่าจะชอบปาฐกถาของพินเทอร์หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ปาฐกถานี้ตั้งคำถามแก่ชุมชนนักเขียนก็คือ นักเขียนควรดำรงตนอยู่บนหอคอยงาช้าง วางตัวเป็นผู้เปี่ยมรสนิยมและวรรณศิลป์ เขียนถึง "ความฝันและใบไม้ และภูเขาไฟใหญ่ยิ่งในถิ่นแดนเกิด" หรือจะลงมาเดินคลุกฝุ่นตัวมอมอยู่กับสามัญชน
ข้อโต้แย้งเรื่อง "ศิลปะเพื่อศิลปะหรือศิลปะเพื่อสังคม?" ไม่ใช่วิวาทะเพื่อจะมากำหนดทิศทางการทำงานของนักเขียนอีกแล้ว มันเป็นเรื่องที่นักเขียนเลือกเอง และมีแต่ความจริงใจเท่านั้นที่บอกว่า เขาจะยืนบนเส้นทางที่ตนเลือกได้ดีเพียงไร แน่นอน มาถึงยุคนี้ คงไม่มีใครถอยหลังเข้าคลองถึงขนาดที่จะวิจารณ์ว่า งานเขียนหนึ่ง ๆ ดีหรือไม่ดีเพราะรับใช้สังคมหรือไม่ อีกต่อไป จะเดินขึ้นหอคอยงาช้างหรือเดินบนดิน ก็ขอให้เดินจนสุดทางก็แล้วกัน
ฮาโรลด์ พินเทอร์ เป็นนักเขียนอีกคนหนึ่งที่เลือกเดินตีนคลุกฝุ่นไปตามเส้นทางเดียวกับนักเขียนรางวัลโนเบลอย่างการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ และ โฮเซ่ ซารามาโก ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ไม่เคยหยุดที่จะแสวงหาคำตอบให้ปัญหาสังคม ความรุ่งโรจน์ของชื่อเสียง เกียรติสูงสุดของรางวัลทางวรรณกรรม วัยชราหรือโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินของพวกเขาได้เลย
ภัควดี
วีระภาสพงษ์
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com