นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University

ข่าวบ้านการเมืองไทยร่วมสมัย
ประวัติศาสตร์ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก (ตอนที่ ๒)
รศ. สายชล สัตยานุรักษ์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕"
ผู้เขียนขอขอบพระคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยนี้

หมายเหตุ
เนื่องจากบทความวิชาการประวัติศาสตร์นี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว
จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน เพื่อความสะดวกในการจัดการกับเนื้อหาในเชิงเทคนิค
และ เกี่ยวพันกับบการจัดหน้าเว็ปเพจ

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 789
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 29.5 หน้ากระดาษ A4)


ประวัติศาสตร์ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก (ตอนที่ ๒)
สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ : ในตอนที่ ๑ นั้น ได้นำเสนอหัวข้อหลัก ๒ ข้อคือ
๑. มูลเหตุในการนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
๒. ภูมิหลังและความหมายทางการเมืองของการเน้น "เชื้อชาติไทย"

ในส่วนของตอนที่ ๒ นี้ จะนำเสนอหัวข้อหลักอีก ๓ ข้อต่อเนื่องดังนี้
๓."เชื้อชาติไทย" กับ "ความเป็นไทย" และ "การกลายเป็นไทย"
๔. สถานะของราษฎรและชุมชนชาวบ้านใน "ชาติไทย"
๕. ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลักกับโครงสร้างความรุนแรงในปัจจุบัน

๓. "เชื้อชาติไทย" กับ "ความเป็นไทย" และ "การกลายเป็นไทย"
ทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้นการกลายเป็นไทยมาก เพราะหากทุกชาติพันธุ์กลายเป็นไทย ก็ย่อมจะยอมรับอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย และสะดวกแก่การปกครองและการเก็บภาษี รวมทั้งช่วยลดการต่อต้านอำนาจรัฐลงไปได้มาก

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ที่เน้นความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และการพูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้ "การกลายเป็นไทย" เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ง่าย การทำให้คนทุกชาติพันธุ์ในเมืองไทย "กลายเป็นไทย" นี้ เป็นความต้องการที่แท้จริงของชนชั้นนำไทยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา จึงเป็นธรรมดาที่การสถาปนาความหมายของ "ชาติไทย" จะปูทางที่กว้างขวางพอสมควรให้แก่ "การกลายเป็นไทย"

ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงความไม่พอพระทัยเป็นอย่างมากในคนจีนหลายจำพวก ได้แก่ "พวกหัวหน้าสมาคมลับ" "พวกจีนครึ่งไทยครึ่ง...ซึ่งตั้งตนเป็นหัวหน้าในความคิดสมัยใหม่" และ "คนซึ่งเป็นไทยโดยกำเนิด เป็นจีนโดยอาชีวะ เป็นอังกฤษโดยทะเบียน" แต่ทรงยอมรับคนจีนที่กลายเป็นไทย ทรงพระราชดำริว่า "ลูกจีนที่ตั้งใจจะกลายเปนไทยแท้ก็มี แต่...น้อยนัก" เกณฑ์ในการแบ่งว่าเป็นคนชาติใด ได้แก่กำเนิด นิสัย ความเห็น ภาษา และโดยความสมัครใจ ในบรรดาเกณฑ์เหล่านี้ ภาษาสำคัญที่สุด เพราะ "ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น" ทำให้ "รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน" การพูดภาษาใดแสดงว่าภักดีต่อชาตินั้นโดยจริงใจ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือความจงรักภักดี ซึ่งหมายถึงความเสียสละ "ถ้าเขาจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึงจะเป็นไทยแท้"(1) ดังนั้น "ความเป็นไทย" จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ เท่ากับว่าได้กลายเป็นไทยในทางจิตใจอย่างแท้จริง

เป็นที่น่าสังเกตว่าในรัชกาลที่ 6 ปัญหาเกี่ยวกับ "ลาว" ในภาคเหนือและภาคอีสานคลี่คลายลงไปมากแล้ว ส่วนภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกก็คลี่คลายลงระดับหนึ่ง หลังจากที่มีการแก้ไขสนธิสัญญาหลายข้อ ซึ่งทำให้อำนาจในการเก็บภาษี และอำนาจทางการศาลเหนือคนในบังคับของชาติตะวันตกดีขึ้น ในขณะที่ความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยขึ้นกับชาติตะวันตกมากขึ้น แต่ขึ้นกับจีนน้อยลง

เพราะในทศวรรษ 2450 เป็นต้นมาทุนจากตะวันตกได้ไหลเข้ามาสู่ธุรกิจเหมืองแร่และป่าไม้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาดีบุกและไม้สักในตลาดโลกสูงขึ้นมาก การลดความสำคัญของทุนจีนในประเทศเห็นได้ชัดจากกิจการป่าไม้ ซึ่งผู้รับสัมปทานชาวจีนลดลงจากร้อยละ 58 ของพื้นที่ป่า ในปี พ.ศ.2438 เหลือเพียงร้อยละ 14 ในปี พ.ศ. 2472 โดยที่ธุรกิจส่งออกไม้สักก็อยู่ในมือของอังกฤษมากขึ้น

ในด้านกิจการโรงสี ในต้นรัชกาลที่ 6 คือปี 2456 โรงสีข้าวสยามและโรงสีข้าวในเครือต้องปิดกิจการลงถึง 34 แห่ง เนื่องจากแหล่งทุนคือธนาคารสยามปิดกิจการเพราะความบกพร่องของระบบบริหารที่ไม่รัดกุม ส่วนรายได้จากอากรฝิ่นและอากรบ่อนเบี้ยซึ่งเคยสร้างรายได้แก่รัฐบาลถึงร้อยละ 40 ก็ลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลในปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาได้พบว่ารายได้ของรัฐจากอากรเหล่านี้ไม่คุ้มค่า เพราะส่วนใหญ่ของรายได้ที่ตกเป็นของเจ้าภาษีนายอากรนั้น มิได้ถูกนำมาลงทุนหมุนเวียนในประเทศสยาม แต่ถูกส่งกลับไปประเทศจีน หากยกเลิกการผูกขาดภาษีแล้วปล่อยให้เงินไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ จะเป็นผลดีต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า ดังนั้น การยกเลิกอากรฝิ่นและอากรบ่อนเบี้ยจึงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนหมดไปอย่างสิ้นเชิงใน ปี พ.ศ. 2462 (2)

ในบริบทเช่นที่กล่าวข้างต้น เมื่อประกอบกับพระราชประสงค์ที่จะสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในประเทศ ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเน้น "ความเป็นอื่น" ของชาวจีนและเปิดโอกาสให้ชาวจีน "กลายเป็นไทย" ไปพร้อมกัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การ "กลายเป็นไทย" ทางจิตใจและทางวัฒนธรรมมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น

ชาวจีนส่วนใหญ่ในเวลานั้นเป็นผู้ที่ต้องการมาทำงานหาเงินแล้วเดินทางกลับไปบ้านเกิด และการดำรงชีวิตก็ต้องพึ่งพา "ชุมชนจีน" อยู่มาก นอกจากนี้การสร้างสำนึกประวัติศาสตร์ที่เน้นอดีตอันยาวนานของชนชาติไทย ก็ทำให้เกิดความสำนึกในเรื่องการสืบสายเลือดขึ้นเป็นธรรมดา ดังนั้น เมื่อมีการตอกย้ำว่าจีนเป็น "ยิวแห่งบูรพาทิศ" ความรู้สึกว่าจีนเป็น "คนอื่น" จึงเกิดขึ้นในหมู่คนไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในรัชกาลที่ 6 ทุนจีนจะลดความสำคัญลงแล้ว แต่ทุนจีนและแรงงานจีนก็ยังคงมีความสำคัญอยู่มากต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งมิได้ทรงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของกระแสชาตินิยม-สาธารณรัฐนิยมเท่ากับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) จึงยังคงทรงเน้นหลักการ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" กับชาวจีน ถึงกับเน้นความเป็นพี่น้องระหว่างชาวไทยกับชาวจีน ทั้ง ๆ ที่ทรงสำนึกในความเป็นอื่นของกลุ่มทุนจีนเป็นอย่างมาก และตัดสินพระทัยไม่ช่วยเหลือธุรกิจจีนที่ประสบปัญหาในการแข่งขันกับธุรกิจของชาติตะวันตก ด้วยเหตุผลว่าธุรกิจนั้น ๆ ใช้ทุนและแรงงานจีนในการประกอบการ (3)

เพื่อความสะดวกในการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ รัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธราชย์ ได้พยายามดำเนินการเปลี่ยนแปลงคนทุกชาติพันธุ์ให้กลายเป็นไทย วิธีการสำคัญที่เลือกใช้คือ การจัดการศึกษาและการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ ในการนี้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลคือชาวมุสลิม, ชาวลาว และชาวจีน กรณีของชาวมุสลิมรัฐบาลตระหนักว่าการทำให้ "กลายเป็นไทย" ยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ รัฐบาลจึงใช้นโยบายประนีประนอมอยู่มาก และพยายามไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น ระหว่างข้าราชการกับชาวมุสลิม

กรณีชาวลาว ภายหลังการปราบกบฏในภาคเหนือและภาคอีสานที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ปัญหาก็ลดลงไปมาก การปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ในภาคอีสานประสบความสำเร็จด้วยดี ส่วนในภาคเหนือนั้น รัฐบาลสามารถจัดการปัญหาครูบาศรีวิชัยได้ไม่ยากนัก ในกลางรัชกาลที่ 6 ก็สามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ในมณฑลพายัพ ปัญหาใหญ่ในการกลืนชาติพันธุ์จึงเหลือแต่ชาวจีน

ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในมือจีน ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยตรง (ดังเช่นเกิดกรณีการนัดหยุดงานของจีนเพื่อประท้วงการเลิกเก็บเงินค่าผูกปี้ เปลี่ยนมาเก็บเงินค่าราชการเท่ากับคนไทย) แต่ยังมีผลให้การเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งกลายเป็นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (แทนระบบเศรษฐกิจแบบส่วยในอดีต) ต้องเชื่องช้าลงอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเงินมหาศาลส่วนที่ชนชั้นนำเห็นว่าควรจะกลายเป็นทุนในประเทศสยาม ได้ถูกส่งกลับไปประเทศจีน เมื่อถึงทศวรรษ 2470 ชาวจีนส่งเงินกลับประเทศเฉพาะโดยทางโพยก๊วนทางเดียวก็เป็นเงินเฉลี่ยถึงปีละ 26.6 ล้านบาท

นอกจากวัฒนธรรมในการส่งเงินกลับไปสร้างหมู่บ้านที่เป็นบ้านเดิมของบรรพบุรุษให้เจริญรุ่งเรืองแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศจีน และการต่อสู้กับต่างชาติล้วนทำให้เกิดการปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมเพื่อระดมเงินจากชาวจีนโพ้นทะเลทั้งสิ้น เป็นต้นว่าเมื่อจีนทำสงครามกับญี่ปุ่น การส่งเงินทางโพยก๊วนจากสยามในปี พ.ศ.2475 เพียงปีเดียวเป็นเงินถึง 37 ล้านบาท และยังมีการใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อส่งเงินกลับประเทศ เช่น การโอนเงินในรูปของการสั่งซื้อขายสินค้าและการนำผลกำไรจากการค้าระหว่างกรุงเทพฯกับจีน ไปเก็บไว้ที่บริษัทในประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลสยามไม่สามารถจะตรวจสอบได้เลย (4)

ปัญหาสำคัญที่เกิดจากพ่อค้าข้าวชาวจีนตั้งแต่ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ซึ่งรัฐบาลรับรู้และพยายามหาทางแก้ไขคือ การขยายตัวของนายทุนจีนในเขตชนบท นายทุนเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วชนบทไทย กดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาและเป็นนายทุนเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยสูงมาก ซึ่งทำให้ชาวนาเป็นหนี้มากและสูญเสียที่ดินให้นายทุนกลุ่มนี้มาก (5)

พระยาประสิทธิศัลการ หนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขวิกฤตการณ์ข้าวระบุว่า "พ่อค้าประจำเป็นดิกเตเตอร์ในเรื่องราคานั้นอย่างหนึ่ง เป็นเจ้าของตลาดนั้นอย่างหนึ่ง" อีกทั้งยังผูกขาดด้วยวิธีการแบบผู้มีอิทธิพล เช่น เมื่อมีพ่อค้าขาจร ก็ "ทำร้ายด้วยประการทั้งปวง" พร้อมกันนั้นก็ตั้งโรงสีที่สีข้าวด้วยเทคโนโลยี่ต่ำและทำการปลอมปนข้าว ซึ่งทำให้ข้าวที่ส่งออกจากประเทศสยามมีคุณภาพต่ำอีกด้วย นาย Graham ซึ่งเขียนหนังสือ Siam ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2467 ระบุว่าพ่อค้าคนกลางที่ซื้อข้าวจากชาวนาเป็นผู้ทำงานหนัก รอบคอบและหลักแหลมเชิงธุรกิจ พวกเขากำหนดราคารับซื้อที่ทำให้ได้กำไรอย่างมาก แต่เสียภาษีอากรน้อยมาก และโอนรายได้เกือบทั้งหมดกลับไปยังบ้านเกิดในประเทศจีน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้รัฐบาลสยามไม่พอใจ (6)

ที่สำคัญก็คือ ชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมามีความแตกต่างจากบรรดาเจ้าภาษีนายอากรในสมัยก่อนหน้า กล่าวคือ พวกเจ้าภาษีนายอากรจะผูกพันตนเองกับวัฒนธรรมศักดินาของชนชั้นสูง เพราะได้อภิสิทธิ์จากระบบศักดินา แต่ชาวจีนรุ่นใหม่ในรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมานี้ ยังคงผูกพันกับวัฒนธรรมเดิมของตนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะปลูกฝังวัฒนธรรมจีนแก่ลูกหลานอย่างเข้มข้น เห็นได้ชัดจากการจัดตั้งโรงเรียนจีนตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ปรากฏว่าเมื่อถึง พ.ศ.2468 คือปลายรัชกาลที่ 6 ก็มีโรงเรียนจีนจำนวนถึง 48 แห่ง และอีกสามปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 188 แห่ง ทำให้รัฐไทยต้องสร้างความรู้สึกชาตินิยมไทยขึ้นมาต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโรงเรียนจีนเหล่านี้กลายเป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิการเมือง พร้อมกันไปกับการปลูกฝังความจงรักภักดีต่อชาติจีน (7)

ภายใต้ปัญหาข้างต้น ทางออกหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยพยายามทำก็คือการทำให้ชาวจีน "กลายเป็นไทย" ให้มากที่สุดนั่นเอง

พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2454 ยอมให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถแปลงชาติได้โดยกำหนดคุณสมบัติไว้ว่า จะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี และมีรายได้พอเลี้ยงตัวได้ ส่วนพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 ระบุว่าบุคคลใดที่ถือกำเนิดในพระราชอาณาจักรให้ถือว่าเป็นคนไทย (8) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ทำให้ "ความเป็นคนไทย" ตามกฎหมายเปิดกว้างสำหรับลูกจีน ข้อกำหนดเช่นนี้เอื้อให้ "การกลายเป็นไทย" กระทำได้สะดวกขึ้นหากมีความต้องการ

แต่ชาวจีนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีความจำเป็นและความต้องการที่จะกลายเป็นไทยทั้งในทางกฎหมายและในทางวัฒนธรรม การเป็นคนในบังคับฝรั่งจะเอื้อประโยชน์ให้มากกว่า ในขณะที่ผู้ประกอบการและผู้ขายแรงงานส่วนใหญ่ก็เป็นจีน การใช้ชีวิตจึงดำเนินไปท่ามกลางชาวจีนด้วยกัน ในสภาวะเช่นนี้ การรักษา "ความเป็นจีน" เอาไว้จึงมีความสำคัญกว่าการ "กลายเป็นไทย"

ปัญหาชาวจีนที่ไม่กลายเป็นไทย ซึ่งทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจากการเพิ่มของประชากรตามธรรมชาติและการอพยพ และยังมีการกระทำบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์หรือถึงกับเป็นโทษต่อผู้กุมอำนาจรัฐนี้ ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของชนชั้นนำทั้งในสมัยก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจำนวนชาวจีนส่วนที่มิได้อพยพกลับประเทศทวีจำนวนขึ้น ดังปรากฏว่าภายในระยะเวลา 30 ปีเศษ เฉพาะชาวจีนอพยพส่วนที่ไม่เดินทางกลับประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก คือใน พ.ศ.2462 สยามมีประชากรราว 6 ล้านคน เป็นคนจีนราว 370,000คน ใน พ.ศ.2480 สยามมีประชากรราว 14 ล้านคน เป็นคนจีนราว 696,000คน ใน พ.ศ.2490 สยามมีประชากรราว 17 ล้านคน เป็นคนจีนราว 750,000คน จำนวนชาวจีนในที่นี้เป็นชาวจีนอพยพ ไม่นับรวมลูกจีนซึ่งมีสัญชาติไทย

เพราะจากตัวเลขที่เป็นทางการนั้น ในระหว่างกลางทศวรรษ 2460 ถึงต้นทศวรรษ 2490 จำนวนชาวจีนที่อพยพกลับประเทศมีจำนวนน้อยกว่าคนที่อพยพเข้ามาประมาณ 6 แสนคนเศษ (9) ดังนั้น หากนับรวมลูกจีนด้วยแล้วจำนวนชาวจีนในประเทศก็เป็นสัดส่วนที่สูงมาก ที่สำคัญชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง จึงมีบทบาทที่กระทบต่อสถานะของรัฐไทยได้มาก ความพยายามที่จะทำให้ชาวจีนเหล่านี้ "กลายเป็นไทย" ในทางจิตใจและในทางวัฒนธรรมจึงมีอยู่อย่างมาก

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มักได้รับการตีความเพียงว่าพระองค์ทรงโจมตีจีน แต่หากอ่านระหว่างบรรทัดให้ดี จะเห็นได้ชัดเจนว่าพระองค์ทรงเน้นปัญหาเรื่องชาวจีนไม่ยอมกลายเป็นไทย และทรงยอมรับ "การกลายเป็นไทย" ในทางจิตใจและทางวัฒนธรรม โดยที่ทรงแบ่งคนจีนออกเป็นหลายจำพวก และทรงประณามกลุ่มที่ไม่มีความจงรักภักดีต่อชาติไทยและพระมหากษัตริย์ไทยมากเป็นพิเศษ

ใน พ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชนิพนธ์ พวกยิวแห่งบูรพาทิศ พระองค์ทรงเน้นโดยนัยยะถึงปัญหาที่ชาวจีนไม่ยอมกลายเป็นไทย โดยทรงมีพระบรมราชาธิบายว่าเป็นเพราะชาวจีนเป็นคนรักบ้านเกิด ถือโคตร ไม่ยอมลืมโคตร ซึ่งทำให้ชาวจีนไม่มีประโยชน์ต่อประเทศที่ตนเข้าไปอาศัย เมื่อชาวจีนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงแต่งงานกับคนไทยก็จะทำให้คนไทยต้องกลายเป็นจีน และลูกที่เกิดมาก็เป็นจีนไปด้วย (10) การที่ทรงเน้นเรื่องคนจีนไม่ยอมกลายเป็นไทยนี้ สะท้อนว่าหากคนจีนยอมกลายเป็นไทยก็จะเป็นที่พอพระราชหฤทัย

ต่อมาเมื่อทรงพระราชนิพนธ์ เมืองไทยจงตื่นเถิด พระองค์ทรงจำแนกชาวจีนเป็นหลายพวก โดยใช้เกณฑ์ว่าชาวจีนเหล่านั้นกลายเป็นไทยหรือสนิทสนมกับคนไทยมากน้อยเพียงใด ทรงเน้นการประณามไปที่จีนในกรุงเทพฯ ซึ่งรักษาความเป็นจีนแท้ ๆ เอาไว้ แต่ที่ทรงประณามมากที่สุดคือพวก "จีนครึ่งไทยครึ่ง" ซึ่งเปลี่ยนสีเหมือนกิ้งก่า เวลาอยู่ในหมู่คนไทยก็เป็นไทย แต่เมื่อเข้าไปในพวกจีนก็เป็นจีน ไม่มีความรักในชาติไทยอย่างแท้จริง (11) พระราชนิพนธ์เรื่องนี้จึงสะท้อนปัญหาเรื่องชาวจีนไม่ยอมกลายเป็นไทยเช่นเดียวกัน

ส่วนพระราชนิพนธ์ "ความเป็นชาติไทยโดยแท้จริง" พระองค์ทรงเน้นว่า บุคคลผู้ใดยอมเปลี่ยนภาษาเดิมของตนมาเป็นภาษาไทย จึงจะถือว่าเป็นการแปลงชาติโดยแท้จริง มิใช่แปลงบนกระดาษเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าภาษาก็คือความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หากมีความจงรักภักดีก็ถือว่าเป็นคนชาติไทย (12)

พระราชประสงค์ที่จะกลืนคนจีนให้กลายเป็นคนไทย ปรากฏชัดในพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 และพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2465 ซึ่งกำหนดให้ลูกหลานจีนต้องเข้ารับการศึกษา เพื่อผสมกลมกลืนลูกหลานจีนให้กลายเป็นไทย ก่อนหน้านี้ คือ ใน พ.ศ.2461 พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ก็มุ่งควบคุมดูแลให้โรงเรียนจีนจัดการศึกษาเพื่อให้ลูกหลานชาวจีนกลายเป็นไทยให้มากที่สุด โดยกำหนดให้ครูมีวุฒิทางการศึกษาประโยคครูมูลหรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และต้องสอนวิชาภาษาไทย พงศาวดาร และภูมิศาสตร์ไทยด้วย (13)

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลในระบอบใหม่ยังคงเห็นว่าบทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีน เป็นต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาการสะสมทุนภายในประเทศและปัญหาความยากจนของกสิกร จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อหาทางแก้ปัญญาเกี่ยวกับชาวจีนอย่างทันทีและจริงจัง หลังจากนั้นได้มีการออกพระราชบัญญัติหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการธนาคารและการประกันภัย (พ.ศ.2475), พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (พ.ศ.2475), พระราชบัญญัติว่าด้วยการยักยอกทรัพย์ของกสิกร (พ.ศ.2475), พระราชบัญญัติควบคุมการจับสัตว์น้ำในสยาม (พ.ศ.2477), และพระราชบัญญัติการค้ากำไรเกินควร (พ.ศ.2480) เป็นต้น (14)

พระราชบัญญัติเหล่านี้มุ่งแก้ปัญหาการส่งเงินออกนอกประเทศ และปัญหาความยากจนของชาวนา นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว รัฐบาลยังมุ่งแก้ปัญหาในกระบวนการการค้าข้าว เพื่อให้พ้นจากภาวะที่รายได้ราวครึ่งหนึ่งในกระบวนการผลิต และการค้าข้าวตกอยู่ในมือชาวจีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเสนอให้หาชาวจีนที่ "ใจไทย" เข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ พร้อมกับหาทางสนับสนุนให้พ่อค้าไทยหรือลูกจีน หรือจีนที่มีภรรยาเป็นไทย และมีความรู้สึกเป็นไทยให้มีโอกาสทำการค้าก่อนชาวจีนแท้ ๆ (15)

เออิจิ มูราชิมาได้จำแนกผู้นำชาวจีนในทศวรรษ 2480 ออกเป็น 3 ประเภทโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นเป็นหลัก

- หนึ่งคือชาวจีนที่กลายเป็นไทยแล้ว ซึ่งชาวจีนเหล่านี้ทำธุรกิจกับญี่ปุ่นโดยเห็นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา
- สองคือชาวจีนที่ยังคงความเป็นจีนและเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น และ
- สามคือชาวจีนที่มีบทบาทสองด้านไปพร้อมกัน คือต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ แต่จะทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้นำชาวจีนส่วนใหญ่จะเป็นประเภทที่สามนี้ (16)

อย่างไรก็ตามลูกจีนที่ "มีใจเป็นไทย" และเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในขบวนการเสรีไทยก็คงมีจำนวนไม่น้อย เช่น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น

เนื่องจากตระหนักในความรู้ความชำนาญของชาวจีนในการค้าข้าวทุกระดับ ทำให้รัฐบาลมีความหวังว่า "จีนที่มีใจเป็นไทย" จะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ปัญญาชนและรัฐบาลจึงยังคงดำเนินนโยบายทำให้จีนกลายเป็นไทย และเปิดโอกาสให้การแปลงชาติกระทำได้โดยง่าย

หลวงวิจิตรวาทการซึ่งเป็นจีนที่ใจเป็นไทยคนหนึ่ง (เพราะตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบก็บวชเณรและเติบโตขึ้นในวัด ในวัยหนุ่มได้บวชเรียนที่วัดมหาธาตุจนสอบได้เปรียญ 5 ประโยค อีกทั้งยังรับราชการและเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง) เป็นปัญญาชนสำคัญที่เห็นว่าชาวจีนเป็นยิ่งกว่ายิวเพราะยิวในประเทศต่าง ๆ มิได้ส่งเงินออกนอกประเทศ (17) หลวงวิจิตรวาทการสนับสนุนการทำให้จีนกลายเป็นไทยเป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าในอดีตไทยประสบความสำเร็จในการกลืนจีนให้กลายเป็นไทย หนังสือ การเมืองการปกครองของกรุงสยาม ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เพียง 1 เดือน กล่าวว่า

รัฐบุรุษของเราในกาลก่อนได้พยายามต้านทานการถูกกลืน โดยวิธีชักชวนให้จีนมาเป็นไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงใช้วิธีพระราชทานบรรดาศักดิ์... อานุภาพของวัฒนธรรมและขนบประเพณีไทยเคยช่วยชาติของเราเป็นอย่างดี ท่านผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เช่นนี้ ต้องนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนเข้าเฝ้า ...ท่านต้องทำบุญไหว้พระ...ต้องวางตัวเป็นไทย...กลายเป็นตระกูลสำคัญและทำงานเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ...

...ฉะนั้นเมื่อ 50 ปีมาแล้ว ชาวจีนจึงมิได้คุมกันเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากไทย ตรงกันข้ามชนทั้งสองชาติได้สร้างสัมพันธ์ทางเชื้อสายและร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา (18)

ในทัศนะของหลวงวิจิตรวาทการสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว "ในเวลานี้ถึงใครจะพยายามสมานสักเพียงใดก็ดี ความคิดอันเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชาติ โดยเฉพาะจีนกับไทยยังมีอยู่เสมอ... ยิ่งเสรีนิยมเป็นลัทธิสนับสนุนการแข่งขันด้วยแล้ว ความคิดเป็นปฏิปักษ์ก็มีขึ้นทุกที"(19) แต่ชาวจีนเป็นปัจจัยสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้น นอกจากการเปิดโอกาสให้ "แปลงชาติ" ซึ่งจะทำให้คนจีนที่แปลงชาติ "ได้สิทธิเสรีภาพเหมือนคนไทย" แล้ว ใน พ.ศ.2491 หลวงวิจิตรวาทการยังเสนอแนวทางในการที่จะกลืนคนจีนให้กลายเป็นคนไทยอย่างแนบเนียน นั่นก็คือวิธีการสหกรณ์ ซึ่งเป็นวิธีดึงเอาคนจีนไปทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง เพราะ "ถ้าจีนทุกคนเป็นพ่อค้าก็หมายถึงการที่ไทยจะต้องถูกไล่ไปอยู่ป่า" ดังนั้น

ต้องใช้วิธีการสหกรณ์ทุกอย่าง...ซึ่งจะต้องมีคนไทยเข้าร่วม...คนจีน...จะอยู่ในสภาพเดียวกับคนไทย...ซื้อด้วยกัน มีกำไรด้วยกัน ขาดทุนด้วยกัน ความรักใคร่เห็นอกเห็นใจกันย่อมจะมีขึ้นเป็นธรรมดา งานเกษตรกรรมจะจูงให้ชาวจีนคิดฝังรกรากอยู่ในประเทศไทย เพราะเกษตรกรย่อมรักแผ่นดิน รักประเทศที่ตนอาศัยมากกว่าพ่อค้าและกรรมกร...(20)

ปัญญาชนสำคัญอีกคนหนึ่งที่พยายามทำให้จีนกลายเป็นไทย คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
การนิยามความหมายของ "ชาติไทย" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในทศวรรษ 2490 ในระยะต้นทศวรรษดังกล่าวนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต้องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยการสนับสนุนของจอมพล ป. อีกทั้งกระแสสังคมก็คล้อยตามคติเชื้อชาตินิยมอย่างมาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงเน้นความเป็น "ชาติไทย" ในแง่ของเชื้อชาติไทยที่สืบสายเลือดกันมาแต่โบราณ เช่น ในนวนิยาย สากก๊กฉบับนายทุน ตอนเบ้งเฮ็กผู้ถูกกลืนทั้งเป็น

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกลางทศวรรษ เดียวกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตระหนักว่าจอมพล ป. มิได้มีอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมืออีกแล้ว และพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ก็ได้เสด็จกลับมาประทับในเมืองไทยเป็นการถาวรแล้ว ในขณะที่ปัญญาชนฝ่ายนิยมเจ้าได้นำเสนออุดมการณ์ "แบบไทย" อีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ปีแรกที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อุดมการณ์ "แบบไทย" นี้ให้ความสำคัญอย่างสูงแก่การปกครองและวัฒนธรรมไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหัวใจ ว่าเป็นที่มาของระเบียบ ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้า ในบรรยากาศเช่นนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงลดการสนับสนุนจอมพล ป.ลงเป็นลำดับ และหันไปสนับสนุนกลุ่มอำนาจที่ยกย่องสถาบันตามประเพณีแทน (21)

เพื่อทำให้ฐานทางอุดมการณ์ของฝ่ายนิยมเจ้าหรือฝ่ายจารีตนิยมแข็งแกร่งขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เลือกสรรเอาแนวคิดเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ที่สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเสนออีกครั้งหนึ่ง แต่ปรับเปลี่ยนจุดเน้นและความหมายเพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกันนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ตระหนักว่าชาวจีนในประเทศไทยจะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศจีนได้อีก เนื่องจากการยึดครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงเปลี่ยนมาเน้นเรื่อง "ความเป็นไทย" ทางจิตใจและทางวัฒนธรรมแทนการเน้นเชื้อชาติ พร้อมกับเน้น "การกลายเป็นไทย" ของชาวจีนไปพร้อมกัน

ทั้งนี้เพราะ "ความเป็นไทย" ทางจิตใจและทางวัฒนธรรมไม่เพียงแต่จะเปิดโอกาสให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สามารถอิงตัวเองเข้ากับ "ความเป็นไทย" จนมีอำนาจทางปัญญาในฐานะผู้รอบรู้ในวัฒนธรรมไทยชั้นสูง พร้อมกับเลื่อนสถานะจาก "เจ้าหางแถว" ขึ้นมาเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับสถาบันหลักอันเป็นหัวใจของ "ความเป็นไทย" เท่านั้น แต่การทำให้ความเป็นสมาชิกของ "ชาติไทย" ขึ้นอยู่กับ "ความเป็นไทย" ในทางจิตใจและทางวัฒนธรรม (แทนที่จะเป็นเชื้อชาติ) เช่นนี้ ยังเปิดโอกาสให้ชาวจีน "กลายเป็นไทย" ได้ง่าย และชาวจีนที่ "กลายเป็นไทย" โดยมีความเลื่อมใสในตัว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในฐานะของผู้รอบรู้ใน "ความเป็นไทย" นี้เองที่จะกลายมาเป็นฐานคะแนนเสียงให้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในภายหน้า นอกเหนือจากบรรดาข้าราชการที่ยกย่องม.ร.ว.คึกฤทธิ์อย่างสูงเช่นเดียวกัน

การเสนอแนวคิดเรื่อง "กลายเป็นไทย" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ พ.ศ.2494-2495 ในนวนิยาย สี่แผ่นดิน นวนิยายเรื่องนี้สร้างให้พระเอกคือคุณเปรม เป็นจีน "ลูกหลานพระยาโชฎึก" ที่ได้ "กลายเป็นไทย" อย่างสมบูรณ์ คือมีความรักใน "ความเป็นไทย" อย่างลึกซึ้ง ความคิดเรื่อง "กลายเป็นไทย" นี้ ได้รับการเน้นอย่างเข้มข้นในปลายทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เพื่อเปลี่ยนนักศึกษาลูกจีนที่ขยายตัวขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาให้ "กลายเป็นไทย" ซึ่งเห็นได้ชัดในการจัดตั้งคณะโขนธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ.2509 และการสอนวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทยตั้งแต่ พ.ศ.2514

แม้แต่หนังสือ โครงกระดูกในตู้ ซึ่งเขียนแจกใน พ.ศ. 2514 ก็เน้น "ความเป็นจีน" ที่ "กลายเป็นไทย" ของบรรพบุรุษสกุลปราโมชไว้มาก โดยเล่าผ่านเรื่องราวของเจ้าจอมมารดาอำภาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมกับเน้นถึงการที่เจ้าจอมมารดาอำภาบุตรสาวของมหาเศรษฐีชาวจีน ให้การอุปถัมภ์ทางการเงินแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก นอกจากนี้หนังสือ โครงกระดูกในตู้ ยังแสดงถึงการ "กลายเป็นไทย" ของบรรพบุรุษเชื้อสายอื่น ๆ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เช่น เปอร์เชียและมอญ ซึ่งกลายเป็นไทยด้วยการเข้ารับราชการและยอมรับขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของไทย

จะเห็นได้ว่า ชนชั้นนำของรัฐมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ชาวจีน "กลายเป็นไทย" การโจมตีชาวจีนอย่างรุนแรงในสื่อต่าง ๆ เป็นการโจมตีชาวจีนที่ไม่กลายเป็นไทย ซึ่งในทางกลับกัน ก็เท่ากับเป็นความพยายามที่จะกดดันให้ชาวจีนที่ยังไม่กลายเป็นไทย ต้องกลายเป็นไทยโดยเร็วที่สุดนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า นอกจากประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมืองแล้ว นโยบายยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์รวมทั้งวัฒนธรรม ย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเวลาที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าคนชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะชาวจีนส่วนใหญ่ ยังคงมีใจเป็นจีน มีความผูกพันกับประเทศจีนมากกว่าประเทศไทย และเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับส่งเงินมหาศาลออกจากประเทศไทย ต้องรอเวลาอีกหลายทศวรรษ คือหลังการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และชาวจีนในประเทศไทยได้ "กลายเป็นไทย" ไปมากแล้ว และ "คนไทยเชื้อสายจีน" ได้กลายเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางแล้ว การยอมรับ "ความเป็นจีน" ในสังคมไทยจึงเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ในขณะที่อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ กลับยังไม่ถูกถือว่าเป็นสมาชิกที่เท่าเทียมกันใน "ชาติไทย" บางชาติพันธุ์ยังต้องพยายามกลายเป็นไทย และอีกบางชาติพันธุ์ที่ไม่ต้องการและ/หรือไม่สามารถจะ "กลายเป็นไทย" ก็ยังคงถูกกีดกันและถูกเบียดขับให้เป็นคนชายขอบตลอดมา

ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันคนไทยจะมีแนวโน้มยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมใน "ชาติไทย" มากขึ้นกว่าเดิม เพราะอย่างน้อยที่สุดความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการท่องเที่ยวอยู่มาก แต่คนไทยยังมิได้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายถึงระดับที่เห็นว่าทุกวัฒนธรรมมีสถานะเท่าเทียมกัน การแบ่งชั้นทางวัฒนธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จินตนาการ "ชาติไทย" กระแสหลักยังคงห่างไกลจากการเป็น "ประชาชาติไทย" อย่างแท้จริง

๔. สถานะของราษฎรและ "ชุมชน" ใน "ชาติไทย"
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ามโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลัก มิได้เป็น "ชาติไทย" ที่ประชาชนเป็นเจ้าของชาติ (หรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ) และมิใช่ "ชาติไทย" ที่คนทุกกลุ่มมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ "ชุมชนชาวบ้าน" ก็มิได้มีพื้นที่อยู่ใน "ชาติไทย" อย่างไรก็ตาม มโนทัศน์ "ชาติไทย" ที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ มีที่มาอันซับซ้อน ซึ่งควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อเป็นฐานความรู้สำหรับการปรับเปลี่ยนความหมายของ "ชาติไทย" ที่มีมิติของความเสมอภาคและภราดรภาพมากขึ้นในอนาคต

ในรัชกาลที่ 6 เนื่องจากมโนทัศน์ "ชาติไทย" เป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน การจะทำให้คนเข้าใจมโนทัศน์นี้ได้อย่างไรจึงเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในยุคที่สื่อมวลชนและการศึกษายังจำกัดอยู่ในวงแคบ และสื่อมวลชนส่วนหนึ่งก็นิยามความหมายของ "ชาติ" แตกต่างออกไปจากปัญญาชนของรัฐด้วย

วิธีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ คือการสร้างภาพพจน์ให้คนเข้าใจได้ง่าย โดยทรงเปรียบ "ชาติ" กับวัตถุที่เห็นได้ด้วยตา เป็นต้นว่า ทรงเปรียบเทียบคนไทยแต่ละคนเป็นเหมือนผงธุลีที่ลอยไปตามลมอย่างไร้ค่า ชีวิตจะมีความหมายก็ต่อเมื่อรวมกันเป็นชาติ

ผู้ที่ถึงแล้วซึ่งความเจริญชั้นสูง จึงจะเข้าใจซึมทราบว่า ตนของตนนั้นแท้จริงเปรียบเหมือนปรมาณูผงก้อนเล็กนิดเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแห่งภูเขาใหญ่ อันเราสมมุติเรียกว่าชาติ และถ้าชาติของเราแตกสลายไปแล้ว ตัวเราซึ่งเป็นผงก้อนเดียวนั้นก็จะต้องล่องลอยตามลมไป ...แท้จริงราคาของตนนั้นที่มีอยู่แม้แต่เล็กน้อยปานใด ก็เพราะอาศัยเหตุที่ยังคงเป็นส่วน ๑ แห่งชาติซึ่งยังเป็นเอกราช ไม่ต้องเป็นข้าใครอยู่เท่านั้น (22)

อีกวิธีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ คือทรงสร้างสถาบันหรือ "ชุมชน" ใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อให้คนเรียนรู้ที่จะรักสถาบันหรือ "ชุมชน" เหล่านั้น ทรงเรียกสถาบันหรือ "ชุมชน" เหล่านี้ว่า "คณชน" ที่สำคัญได้แก่ เสือป่า, ลูกเสือ, ดุสิตธานี, นามสกุล, โรงเรียน ฯลฯ

ก็ชาตินั้นคืออะไรเล่า คือคณชนหลาย ๆ คณะรวมกันเข้าจนเปนคณะใหญ่ จึ่งได้นามว่าชาติ เพราะฉะนั้น คณะทุก ๆ คณะที่ร่วมชาติกันต้องมีความสามัคคีปรองดองกันในระหว่างคณะต่อคณะ ชาติจึ่งจะตั้งอยู่เปนอันหนึ่งอันเดียวมั่นคงได้ (23)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหาทาง "เพาะ" ความรักชาติ ด้วยการ "เพาะ" ความรักใน "คณะ" ย่อย ๆ ให้เกิดขึ้นก่อน โดยที่ผู้มีความรักใน "คณะ" ของตนจะต้องตระหนักว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของ "ชาติไทย" ซึ่งเป็นคณะใหญ่ที่สุด ทรงมีพระบรมราชาธิบายในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้

"ความรุ่งเรืองของชาติเรานั้นมีอะไรเป็นมูลเป็นรากเหง้า? ต้องมีความรู้สึกรักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวจริง ๆ แต่ก่อนที่จะมีความรู้สึกรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนได้เช่นนี้ต้องเพาะขึ้นมาเหมือนเพาะต้นไม้เหมือนกัน ก็สิ่งที่จะเพาะให้น้ำใจบังเกิดความรักชาติบ้านเมืองได้ต้องเริ่มเพาะจากความรักคณะของตัวเองก่อน ต้องให้รำลึกอยู่เสมอว่าตัวอยู่ในคณะนั้นแล้วต้องเอาใจใส่ เท่ากับฝากน้ำใจของตัวไว้ในคณะ และต้องหวังดี หวังประโยชน์ของคณะมากกว่าหวังประโยชน์ของตัวเอง บางทีประโยชน์ของคณะอาจจะต้องการให้ตัวบุคคลประพฤติสิ่งซึ่งไม่พอใจ หรือไม่สะดวกใจ หรือแม้บางทีอาจถึงกับขอความเสียสละบางอย่าง ผู้ที่รักคณะจริงต้องยอมเสียสละให้ เสียสละความสุข เสียสละความสะดวกของตัวเอง ที่สุดเสียสละร่างกายชีวิตเพื่อประโยชน์ของคณะ

นี้เปนธรรมอันหนึ่งซึ่งข้างฝ่ายยุโรปเรียกเปนภาษาฝรั่งเศสว่า "เอสปรีต์ เดอ คอรป์ส" (Esprit de Corps)...คำที่เคยพูดกันมาแล้วว่า "ความรักคณะ" "ความเห็นแก่คณะ" แต่ไม่กินความลึกซึ้งเท่าศัพท์"เอสปรีต์ เดอ คอรป์ส" ...เพราะคำแปลของศัพท์นั้น แปลว่าเหมือนเปนดวงใจ หรือเปนวิญญาณ คือวิญญาณหรือดวงใจของคณะ หมายความว่าบุคคลที่มีธรรมะอย่างนั้นต้องมอบหมดทุกอย่างให้แก่คณะ ถ้าอาจารย์และครูฝึกสอนให้นักเรียนรู้จักมี"เอสปรีต์ เดอ คอรป์ส" รู้จักรักคณะของตัวไม่ใช่แต่ในเวลาที่ยังคงเปนนักเรียนอยู่ ถึงแม้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว เมื่อไปพบผู้ใดที่เคยเปนคณะโรงเรียนเดียวกัน ก็ยังมีมิตรจิตรเผื่อแผ่ไปเสมอ...และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรู้จักรักคณะแล้ว ต้องรู้จักนึกต่อไปว่าการรักคณะนั้นเองคือรักชาติบ้านเมือง เพราะชาติเราคืออะไร ก็คือเหมือนคณะไทยคณะใหญ่ที่สุด เราเปนสมาชิกของคณะนั้นทุกคน ควรต้องคิดอ่านช่วยเหลือคณะของเราอย่างดีที่สุด...คณะของเราก็จะยืนยาว และชาติของเราก็จะรุ่งเรือง จะมีผู้นับหน้าถือตาต่อไปชั่วกาลนาน" (24)

จะเห็นได้ว่าการนิยามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เน้นชาติที่ประกอบด้วยคนหลาย "คณะ" หรือหลาย "ชุมชน" แต่มิใช่ "ชุมชน" แบบที่คนมีความสำนึกผูกพันกันอันเนื่องมาจากการที่ได้พึ่งพากันในหลากหลายมิติของชีวิต ทั้งในการจัดการทรัพยากร, การผลิต, การดำรงชีวิตประจำวัน และในทางความคิดความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ แต่เป็น "ชุมชน" ที่รัฐสร้างขึ้นมา เป็นต้นว่า กองทัพ, คณะลูกเสือ, คณะเสือป่า, ดุสิตธานี, โรงเรียน, นามสกุล, วรรณคดีสโมสรและสโมสรอื่น ๆ ฯลฯ ความรักความผูกพันต่อ "คณะ" ขนาดเล็กเหล่านี้ จะช่วยให้คนเรียนรู้ที่จะรักในคณะที่ใหญ่ที่สุดอันได้แก่ "ชาติไทย" และสามารถถ่ายทอดความรักความภักดีจากคณะเล็ก ๆ ของแต่ละคนไปสู่คณะใหญ่ที่สุด คือ "ชาติไทย" ได้อย่างแท้จริง

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างคณะทั้งหลายที่ร่วมชาติเดียวกันก็มีอยู่แต่เพียงให้ "คณะทุก ๆ คณะที่ร่วมชาติกันต้องมีความสามัคคีปรองดองกันในระหว่างคณะต่อคณะ" เท่านั้น พร้อมกันนั้นยังได้ทรงเน้นพระราชอำนาจและความสำคัญของพระมหากษัตริย์เหนือ "คณะ" ทั้งหลายซึ่งรวมกันเป็นชาติไทย ในแง่ที่บุคคลใน "คณะ" ทั้งหลายซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจนั้น ได้ "มอบ (อำนาจ) ถวายให้พระราชาธิบดีทรงเปนผู้ถือไว้" และพระองค์ทรง "ใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของคณะ" ทำให้ชาติ "มีอำนาจเต็มบริบูรณมีอิศรภาพเต็มที่...ตั้งมั่นคงอยู่ ...เปนชาติที่มีสง่าราษี เปนที่นับถือยำเกรงแห่งชาติอื่น ๆ" ดังความว่า

พระราชาธิบดี คือ ผู้ที่ได้รับมอบให้ถืออำนาจแห่งคณะไว้ และใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของคณะ เพราะฉะนั้นการที่นับถือฤาเคารพพระราชาธิบดี ก็คือการเคารพนับถืออำนาจแห่งคณะ บุคคลทุก ๆ คนที่เปนส่วนหนึ่งแห่งคณะ ก็เปนเจ้าของส่วนหนึ่งแห่งอำนาจ ซึ่งได้รวบรวมมอบถวายให้พระราชาธิบดีทรงเปนผู้ถือไว้...ชาติใดเมืองใดมีพระราชาธิบดีครอบครองอยู่โดยมั่นคง จึ่งนับว่ามีพยานแน่ชัดอยู่ว่ามีอำนาจเต็มบริบูรณ มีอิศรภาพเต็มที่อยู่ ตั้งมั่นคงอยู่ ก็นับว่าเปนชาติที่มีสง่าราษี เปนที่นับถือยำเกรงแห่งชาติอื่น ๆ พระราชาธิบดีเปนเครื่องหมายแห่งอำนาจ...เปนสง่าของเมืองและชาติ (25)

เหตุที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเน้น "คณะ" หรือ "ชุมชน" ที่มีอยู่แล้วในระดับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในเขตเมืองหรือในเขตชนบท ก็เพราะต้องการดึงเอาความจงรักภักดีจากคนทั้งปวงให้มารวมศูนย์อยู่ที่ "ชาติไทย" และ "ประมุขของชาติ" คือองค์พระมหากษัตริย์ หากให้ความสำคัญแก่ "ชุมชน" แบบเดิม จะยิ่งทำให้คนผูกพันกับ "ชุมชน" ของตนมากขึ้น จนไม่สำนึกในความมีอยู่หรือความสำคัญของ "ชุมชนชาติไทย"

กล่าวได้ว่าการสร้าง "คณะ" หรือ "ชุมชน" ชนิดใหม่ขึ้นมา จะเปิดโอกาสให้ปัญญาชนของรัฐเข้าไปนิยามความหมายและปลูกฝังอุดมการณ์ใหม่ได้โดยสะดวก ดังจะเห็นได้ว่าอุดมการณ์ "ชาติไทย" ได้รับการถ่ายทอด-ปลูกฝังผ่าน "คณะ" ทั้งหลายอย่างเข้มข้นตลอดมา รวมทั้ง "คณะ" ที่อยู่ในรูปของ "สกุล" ซึ่งนอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานนามสกุล เพื่อเน้นให้คนที่เป็นสมาชิกในสายสกุลมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว ยังทรงเน้นความรักในสกุลของตนที่จะส่งผลให้รู้จักรัก "ท่านผู้ปกครองชาติ" ดังความว่า

"การปกครองสกุลนั้น...ย่อมเป็นเครื่องเพาะความเคารพในผู้ปกครอง ผู้น้อยย่อมอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เพราะเป็นกุลเชษฐา และยอมได้โดยชื่นตา เพราะผู้ใหญ่นั้นเป็นบิดาหรือญาติผู้ใหญ่ ซึ่งมีความรักใคร่อยู่ตามธรรมดาโลกแล้ว...นับว่าเป็นมูลแห่งความจงรักภักดีต่อผู้ที่เป็นหัวหน้าปกครองสกุลชั้น ๑ และเลยเป็นเครื่องจูงใจให้รู้จักความภักดีต่อท่านผู้ปกครองชาติอีกชั้น ๑ (26)

ในขณะเดียวกับที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ "ชุมชน" หรือ "ท้องถิ่น" ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของ "ชาติไทย" ศาสนาของชาวบ้านในชุมชนและท้องถิ่นก็ย่อมไม่มีพื้นที่อยู่ใน "ความเป็นไทย" เช่นกัน เฉพาะศาสนาพุทธแบบที่ชนชั้นสูงนับถือเท่านั้นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ "ความเป็นไทย" เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ "ศาสนาเปนเหมือนธงของคณะ คือเปนเครื่องแสดงให้ปรากฏว่าเปนคณะหรือชาติอันรุ่งเรือง ไม่ใช่ซ่องโจรหรือคณะคนป่าคนดง" (27)

นอกจากนี้ยังทรงร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสในการทำให้พุทธศาสนารับใช้ชาติ ดังที่พระไพศาล วิสาโลได้วิเคราะห์ไว้ว่า มีการสอนหลักศีลธรรมทั้งเก่าและใหม่ โดยมุ่งให้คนจงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ เช่น กตัญญูกตเวทิตาธรรมถูกตีความให้หมายถึงความจงรักภักดีต่อชาติ เป็นต้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเทศนาให้คนยึดมั่นในชาติและให้รักชาติอยู่เสมอ เช่น "ท่านทั้งหลายควรถือชาติเป็นสำคัญ ...ควรช่วยกันอุดหนุนชาติของตนไว้เพื่อความเป็นไทยสมชื่อ ไม่ควรรักชีวิตของตนยิ่งกว่ารักชาติ"

ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ชาติที่เป็นของใหม่ กลายเป็นที่รักที่หวงแหนของคนไทยโดยการเชื่อมโยงชาติเข้ากับของเดิมที่คนไทยผูกพันมานานแล้ว คือพุทธศาสนา พระราชนิพนธ์จำนวนมากเน้นให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพุทธศาสนากับชาติ (และความเป็นคนไทย) เช่น "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา เราจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดาและโคตรวงศ์ของเรา ...บรรดาท่านทั้งปวงซึ่งเป็นคนไทย เมื่อรู้สึกแน่นอนแล้วว่า ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้...จะต้องมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา" นอกจากนี้ยังทำให้พุทธศาสนาเป็นรองชาติด้วยการตีความคำสอนให้เกื้อหนุนต่อชาติ เช่น การตีความว่า "การรบเพื่อป้องกันชาติบ้านเมือง ไม่เป็นข้อที่พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามเลย" เป็นต้น (28)

"ชาติไทย" ที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยาม มิใช่ชาติที่คนมีความเสมอภาคกันดังเช่น "ชาติ" ที่เกิดจากการนิยามของชนชั้นกลางในสังคมตะวันตก "ชาติไทย" เป็นชาติที่ประกอบด้วย "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย" มากมายหลายชั้น แม้ว่าพระองค์จะทรงเน้นว่ามีเพียงสองชนชั้นเท่านั้น

ในเมืองไทยเรานี้มีคนสองชั้นเท่านั้น ไม่มากกว่าสองชั้น หนึ่งคือพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นหัวหน้า ซึ่งเขามอบให้ทรงไว้ซึ่งอำนาจทุกอย่าง ...อีกชั้นหนึ่งคือคนไทยทั่วไป ถ้าใครจะมาแทรกแซงในระหว่างคนไทยกับพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไม่ใคร่ได้ความรักนับถือยกย่องของคนไทยนัก... ข้อนี้พอสังเกตหลักฐานในพงศาวดารของเราเองได้ คือถ้าเมื่อใดขุนนางหรือบุคคลชั้นใดก็ดี แย่งชิงหรือยึดถือเอาอำนาจไว้และเข้าแทรกแซงในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎร ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเดชานุภาพก็ได้ปราบปรามพวกนั้นให้ราบคาบไป แต่ถ้าถูกคราวที่พระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอ พวกที่แทรกแซงมีอำนาจมาก ก็เกิดความฉิบหายย่อยยับกันทุกที (29)

การเน้นว่าชาติไทย "มีคนสองชนชั้นเท่านั้น" พร้อมกับเน้นว่า "ธรรมเนียมไทยเรานั้นพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรสนิทชิดเชื้อกันมาก" (30) ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ข้างต้นนี้ เกิดขึ้นในบริบทที่พระองค์ทรงพยายามทำให้ชนชั้นข้าราชการซึ่งทวีอำนาจและมีสถานภาพสูงส่งขึ้น และเริ่มมีการเคลื่อนไหวในทางท้าทายพระราชอำนาจ (ดังกรณี "กบฏ ร.ศ.130") กลายเป็นเพียงกลไกที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจอย่างสมบูรณ์ ดังที่ทรงใช้คำสรรพนาม "ผู้รับใช้" "คนใช้" "ผู้ที่รับใช้" แทนข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังพระราชทานพระบรมราโชวาทอยู่เนือง ๆ โดยทรงย้ำให้เห็นว่า ข้าราชการอยู่ในสถานะที่อาจกระทำผิดได้มาก (31)

ในกรณีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิยาม "เมืองไทย" ที่ประกอบขึ้นด้วยคนหลายชั้น แต่การสร้างความสำนึกทางอัตลักษณ์ให้แก่คนใน "เมืองไทย" เป็นความสำนึกในฐานะของปัจเจกบุคคล ซึ่งจะตระหนักว่าตนเป็นคนใน "ชั้น" ใด จนสามารถปฏิบัติหน้าที่และประพฤติตนตามสถานะทางสังคมได้อย่างถูกต้อง มิใช่การสร้างอัตลักษณ์ให้เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในแต่ละ "ชั้น" แต่อย่างใด

แม้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงสร้างอัตลักษณ์ของเจ้า, ข้าราชการ, พ่อค้า, พระสงฆ์ และราษฎร แต่มิได้ทรงสร้างความสำนึกในความเป็น "ชุมชน" ของคนแต่ละชั้น ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์กับ "ชาติ" หรือ "เมืองไทย" เป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับปัจเจกบุคคล และระหว่างปัจเจกบุคคลกับ "ชาติ" แม้แต่ความเป็นญาติ พระองค์ก็ทรงเน้นเฉพาะความเป็นญาติในหมู่ชนชั้นสูง มิได้ให้ความสำคัญแก่ความเป็นญาติในระดับราษฎร หน่วยสังคมที่กระทรวงมหาดไทยติดต่อสัมพันธ์ด้วย เป็นหน่วยระดับ "ครอบครัว" และเป็นครอบครัวเดี่ยว มิใช่ครอบครัวขยาย "ชุมชนเครือญาติ" จึงไม่มีพื้นที่อยู่ในชุมชน "ชาติไทย" เช่นเดียวกันกับ "ชุมชนชาวบ้าน"

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้น "ชาติไทย" ที่เป็นชาติของ "ชนชาติไทย" (หรือ "ชาติ" ของคน "เชื้อชาติไทย" ในความหมายที่เป็นกลุ่มคนซึ่งมีวัฒนธรรมเดียวกันและสืบเชื้อสายกันมา) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ทรงเน้น "ชาติไทย" ที่เป็นชาติของชนชาติไทยเท่านั้น แม้ว่าจะทรงเน้นว่า "เมืองไทย" มีชนชาติไทยเป็นใหญ่ แต่ "เมืองไทย" มีชนชาติอื่น ๆ อีกหลายชนชาติ โดยที่ชนชาติไทยไม่เบียดเบียนชนชาติต่าง ๆ เหล่านั้น อีกทั้งชนชาติไทยยังมีความฉลาดในการประสานประโยชน์อีกด้วย (32)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้น "ชาติไทย" ที่เป็นของคนไทย แต่พระองค์ทรงยอมรับ "การกลายเป็นไทย" ไปพร้อมกัน ทรงตรา "พระราชบัญญัติแปลงสัญชาติ" ใน พ.ศ.2454 แล้วทรงย้ำว่าการแปลงสัญชาติมิได้ทำให้ใครกลายเป็นไทยอย่างแท้จริง ผู้ที่กลายเป็นไทยอย่างแท้จริงนั้นอย่างน้อยที่สุดจะต้องพูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน และต้องมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยที่คุณสมบัติในประการหลังนี้เป็นคุณสมบัติอันสำคัญที่สุด สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของชาติไทย

อนึ่ง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจใน "ชาติไทย" ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในจินตนาการของคนทั้งหลาย และเพื่อให้คนทั้งหลายสามารถเสียสละเพื่อชาติไทย มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของปัญญาชนภาครัฐในการเน้นความเป็นชาติเก่าแก่ที่เจริญรุ่งเรือง และคนไทยมีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถรักษาเอกราชเอาไว้ได้ ซึ่งนำมาสู่แนวความคิด "เมืองไทยนี้ดี" ที่กลายเป็นโลกทัศน์ของคนไทยและมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง

ในการเลือกสรรคุณลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อเน้นว่าเป็นองค์ประกอบของ "ความเป็นไทย" ที่ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" ปัญญาชนภาครัฐมิได้มองหาคุณลักษณ์ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมชาวบ้านหรือในวัฒนธรรมชุมชน เพราะมุ่งเน้น "ภูมิธรรม" ที่จะทำให้ "ชาติไทย" มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมกันหรือเหนือกว่าชาติตะวันตก ตลอดจนเน้น "ภูมิธรรม" ที่จะทำให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจใน "ชาติไทย" และเกิดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิใช่ "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ที่จะเอื้อให้ชาวบ้านมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง หรือมีความสัมพันธ์ทางสังคมในทางช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้น "วัฒนธรรมชาวบ้าน" หรือ "วัฒนธรรมชุมชน" จึงไม่มีพื้นที่อยู่ใน "ความเป็นไทย" เช่นเดียวกับที่ "ชุมชนชาวบ้าน" ไม่มีพื้นที่อยู่ใน "ชาติไทย"

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หลวงวิจิตรวาทการได้เสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาความยากจนของราษฎร ว่าควรมีการจัดตั้งสหกรณ์ของเกษตรกรและจัดตั้งสมาคมอาชีพของช่างฝีมือและผู้ประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ เช่นผู้ขับรถรับจ้าง แนวความคิดเกี่ยวกับสหกรณ์ที่หลวงวิจิตรวาทการเสนอ มิได้ปรากฏความคิดที่ให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมชาวบ้านหรือวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเป็นฐานสำหรับการร่วมมือกันหรือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแต่อย่างใด

ทั้งนี้ก็เพราะการจัดตั้งเป็นสหกรณ์และสมาคมอาชีพนี้ มิได้มีจุดมุ่งหมายให้เกิดเป็น "ชุมชน" เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ ปัจจัยการผลิตที่นำมารวมกันในสหกรณ์หรือสมาคมวิชาชีพหนึ่ง ๆ ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกบุคคลอย่างสมบูรณ์ การจัดตั้งเป็นสหกรณ์และสมาคมวิชาชีพมีขึ้น เพื่อให้สะดวกแก่การที่รัฐบาลจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรเท่านั้น เพราะหากไม่มีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์หรือสมาคมอาชีพ ก็เป็นการยากที่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือราษฎรเป็นคน ๆ ไป (33)

สำหรับสถานะของราษฎรแต่ละคนในชาติ นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา ปัญญาชนที่มีบทบาทในการสถาปนาความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก ล้วนแต่เห็นว่าราษฎรยังคงขาดการศึกษาและขาดประสบการณ์ในการปกครองตนเอง จึงควรอยู่ภายใต้การนำของผู้นำแห่งชาติอย่างสมบูรณ์ โดยแต่ละคนต้องทำหน้าที่ของตนเอง ไม่เอิบเอื้อมก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น ต้องสามัคคีกัน ต้องเสียสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อความมั่นคงและความวัฒนาถาวรของ "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" ตลอดไป

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2531 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ยังคงเน้นว่า ราษฎรไทยตกอยู่ในวัฏจักร "โง่- จน-เจ็บ" โดยที่ทั้งสามส่วนนี้เป็นปัจจยาการต่อกัน (34) ในมโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลักราษฎรจึงอยู่ในสถานะต่ำต้อย เป็นผู้คอยรับความเอื้ออาทรจากผู้นำแห่งชาติตลอดมา ทั้งนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้มีบทบาทอย่างมากระหว่างทศวรรษ 2500-2510 ในการสถาปนาแนวความคิดเรื่อง "การปกครองแบบไทย" ซึ่งผู้นำเป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตัวมาทำงานเพื่อบ้านเมือง ทำการปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาดสูงสุด แต่กอปรไปด้วยคุณธรรมที่มาจากการนับถือพุทธศาสนา โดยเฉพาะความเมตตาเอื้ออาทรต่อคนในชาติ นอกจากนี้ศาสนาพุทธยังทำให้ชนชั้นสูงมีความเมตตากรุณาต่อคนชั้นต่ำ ส่งผลให้รัฐไทยเป็นรัฐที่เมตตาและสังคมไทยก็เป็นสังคมที่เมตตา (35) การครอบงำของมโนทัศน์เกี่ยวกับการปกครองแบบไทย และลักษณะพิเศษของสังคมไทยดังกล่าวนี้ ทำให้คนไทยเห็นว่า "สังคมที่ไม่มีการเมือง" เป็นสังคมที่ดี และมองว่าประชาชนใน "ชาติไทย" ไม่พึงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ควรรอคอยความเมตตาเอื้ออาทรจากผู้ปกครองรัฐด้วยความอดทน (36)

๕. ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลักกับโครงสร้างความรุนแรงในปัจจุบัน
มโนทัศน์ "ชาติไทย" (และ "ความเป็นไทย") กระแสหลัก ก่อให้เกิดโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ส่งผลให้เกิด "ความรุนแรง" ขึ้นในหลายมิติของสังคมไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอาจสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

ประการแรก "ชาติไทย" ที่เน้นคุณสมบัติในด้าน "เชื้อชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ไปพร้อมกัน ด้านหนึ่งเป็นการกีดกันและเบียดขับคน "เชื้อชาติ" อื่น หรือ "ชาติพันธุ์" อื่น ที่ถือกำเนิดและมีชีวิตอยู่ในประเทศ ให้กลายเป็นคนชายขอบ ทำให้คนเหล่านั้น (ซึ่งหลายกลุ่มอาศัยอยู่ในประเทศมาก่อนคน "เชื้อชาติไทย" เสียอีก) ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจเท่าเทียมกันกับคน "เชื้อชาติไทย"

อีกด้านหนึ่งเป็นการกดดันและบังคับให้คน"เชื้อชาติ" อื่น หรือ "ชาติพันธุ์" อื่นต้องกลายเป็นไทย ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในแง่ที่คนบางกลุ่มไม่ต้องการจะ "กลายเป็นไทย" ตามคำนิยามของชนชั้นสูง (เช่น ชาวมลายูมุสลิม) และคนบางกลุ่มต้องการ "กลายเป็นไทย" แต่มีเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้ไม่สามารถ "กลายเป็นไทย" ได้อย่างสมบูรณ์ (เช่น คนลาวกับชาวเขาที่ไม่มีทุนรอนเพียงพอที่จะเข้ารับการศึกษาระดับสูงพอที่จะอ่าน เขียน และพูดภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง หรือไม่สามารถเข้าถึงศิลปะไทยชั้นสูงได้ เป็นต้น)

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่คนที่ "กลายเป็นไทย" ทางจิตใจหรือทางวัฒนธรรมแล้ว แต่การที่มโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลักยังคงให้ความสำคัญแก่ "เชื้อชาติไทย" ก็ทำให้มีกลุ่มคนที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากคนไทยทั่วไปไม่สามารถจะ "กลายเป็นไทย" ได้อย่างแท้จริง ส่วนใหญ่แล้วต้องตกอยู่ในพื้นที่ชายขอบของ "ชาติไทย" ตลอดมา ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ไม่มี "เชื้อชาติไทย" หรือไม่สามารถ "กลายเป็นไทย" เหล่านี้ ย่อมจะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรของรัฐได้ไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นใน "ชาติไทย"

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมองอัตลักษณ์ไทยในแง่ "เชื้อชาติ" และ "ความเป็นไทย" จะเห็นได้ว่าในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา ชาวจีนซึ่งมีความแตกต่างกับคนไทยน้อยกว่าชาวมุสลิมและชาวเขาและมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยมากกว่า พร้อมกับสามารถกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเอาไว้ในมือได้สำเร็จ เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการ "กลายเป็นไทย" ในขณะที่ยังสามารถจะรักษาและแสดง "ความเป็นจีน" ในบางด้านออกมาสู่การรับรู้และการยกย่องของสังคมไปพร้อมกัน

เห็นได้ชัดว่าประเด็นเรื่องอัตลักษณ์มีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง สื่อมวลชนไทยยังมิได้ตระหนักในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ จึงมักเสนอข่าวเกี่ยวกับคนที่ "ยังไม่กลายเป็นไทย" โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมและชาวเขาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีอัตลักษณ์เป็นคนร้าย ที่คอยทำลายความเป็นระเบียบ, ความสงบสุข และความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของชาติ เปิดโอกาสให้มีการใช้ความรุนแรงต่อคนที่ "ยังไม่กลายเป็นไทย" อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อร่างกายหรือต่อจิตใจ

ประการที่สอง เมื่อมีการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" โดยเน้นว่า "เมืองไทยนี้ดี" และเน้นว่า "ความเป็นไทย" (เช่น การปกครองแบบไทย พุทธศาสนา ศิลปะไทย ฯลฯ) เป็นปัจจัยที่ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" ด้านหนึ่งทำให้ "ความเป็นอื่น" หรือ "วัฒนธรรมที่ไม่ใช่ไทย" ของคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไม่มีพื้นที่อยู่ใน "ชาติไทย" และเป็นการบีบบังคับหรือกดดันให้คนทุกชาติพันธุ์ต้อง "กลายเป็นไทย"

รัฐและสังคมไทยมิได้ตระหนักว่าคนทุกชาติพันธุ์มีวัฒนธรรมแตกต่างออกไป จึงมีวิธีคิดหรือมุมมองเกี่ยวกับ "ความจริง ความดี ความงาม" เป็นของตนเอง แต่ "ชาติไทย" ไม่มีพื้นที่ให้แก่วิธีคิดและมุมมองของคนเหล่านี้ แต่ได้เบียดขับ "ความจริง ความดี ความงาม" ในทัศนะของคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ให้กลายเป็นชายขอบ หรือ "ไม่ใช่ไทย"

ผู้กุมอำนาจรัฐซึ่งใช้อำนาจในการกระจายทรัพยากรไม่เคยคำนึงว่าอะไรคือ "ความรู้" หรือ "ความจริง" ที่คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญ อะไรคือชีวิตและสังคมที่ "ดี" ที่คนเหล่านี้ปรารถนา อะไรคือ "ความงาม" อันมอบความอิ่มเอมใจให้แก่คนเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นคนเหล่านี้ยังถูกกดดันให้เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของตนต่อ "ความจริง ความดี และความงาม" ซึ่งทำให้มีทั้งความรู้สึกแปลกแยกและดูถูกเหยียดหยามตนเอง พร้อมกับมีความทุกข์อันเนื่องมาจากการถูกคนที่มีวิธีคิดและมุมมอง "แบบไทย"เหยียดหยาม โดยที่การเหยียดหยามจากคนที่มีวิธีคิดและมุมมอง "แบบไทย" นี้ ได้ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ต้องกลายเป็นกลุ่มคนที่เสียเปรียบและด้อยโอกาสในทุกทาง

อนึ่ง การที่มโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" ได้รับการผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งในแบบเรียนทุกระดับ (37) ทำให้กลายเป็นโลกทัศน์ของคนไทย และมีผลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีคิดและมุมมองของคนไทยต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งต่อการที่คนไทยมีความคิดว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่เมตตาและสังคมไทยเป็นสังคมที่เมตตา โลกทัศน์เช่นนี้ทำให้ไม่ยอมรับความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในรัฐหรือในสังคมไทยอันเนื่องมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม และทำให้คนไทยมองเห็น "สังคมที่ไม่มีการเมือง" เป็นอุดมคติ และคิดว่าประชาชนคือผู้รอรับความเมตตาเอื้ออาทรจากผู้ปกครอง มิใช่ผู้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองและการบริการอย่างเป็นธรรมจากรัฐ และมิใช่ผู้ที่สงวนสิทธิและเสรีภาพตามธรรมชาติของตนโดยที่รัฐไม่มีสิทธิจะละเมิด เว้นแต่จะได้พิสูจน์อย่างแน่ชัดว่า การกระทำของประชาชนเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นหรือจะเป็นอันตรายต่อส่วนรวม

เห็นได้ชัดว่าโลกทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เสียเปรียบหรือผู้ด้อยโอกาสสามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิหรือทำการต่อรองให้ตนได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะประสบกับความเดือดร้อนมากมายสักเพียงใด การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านมักจะถูกมองว่ามี "มือที่สาม" คอยยุยง (38) และถูกมองว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว สร้างความวุ่นวาย ทำลายความเป็นระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของชาติ ส่งผลให้ผู้กุมอำนาจรัฐ มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม และสังคมไทยก็จะยอมรับการใช้ความรุนแรงโดยดุษณี ไม่ว่าการปราบปราม "ผู้ก่อความไม่สงบ" หรือ "ผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ" นั้น จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพียงใดก็ตาม

ที่สำคัญ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการเน้นในช่วงเวลาราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้หล่อหลอมให้คนไทยมีจิตใจและวัฒนธรรม ที่ยอมรับความสัมพันธ์ทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และโครงสร้างการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของผู้นำแห่งชาติ ดังนั้น คนไทยจึงยอมรับโดยเห็นว่า ถูกต้องเหมาะสมแล้วที่คนส่วนน้อยจะมีอภิสิทธิ์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะถูกรอนสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูหรือเป็นอันตรายต่อชาติไทย จะถูกรอนสิทธิ์เป็นอย่างมาก โดยที่คนไทยส่วนใหญ่มิได้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เช่น กรณีที่คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกรอนสิทธิ์จากการประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น

นอกจากนี้ "การปกครองแบบไทย" ได้ให้อำนาจแก่ผู้นำไว้อย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ซึ่งถือว่าความคิดของผู้นำย่อมสะท้อนมติมหาชนเสมอ หรือการปกครองระบอบ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ที่ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญและไม่ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ หรือ "การปกครองแบบไทย" ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นิยาม ซึ่งเน้นให้ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดสูงสุดโดยไม่ต้องมีการควบคุมตรวจสอบ โดยอธิบายว่าศาสนาพุทธได้ทำให้ผู้นำแบบไทยมีคุณธรรมประจำใจอยู่แล้ว

ความคิดเหล่านี้แม้ว่าได้รับการเน้นต่างยุคต่างสมัยกัน แต่ทุกความคิดมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับคุณความดีของ "การปกครองแบบไทย" และของ "ผู้นำแบบไทย" ส่งผลให้ผู้นำสามารถใช้อำนาจเผด็จการกำหนดนโยบายและโครงการต่าง ๆ "เพื่อประโยชน์ของชาติ" ได้ตามที่ผู้นำเห็นสมควร ก่อให้เกิดนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเกิดผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ เป็นต้นว่า แผนพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล อันทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ฯลฯ

ประการที่สาม มโนทัศน์ "ชาติไทย" ไม่ให้ความสำคัญแก่ประชาชนและชุมชนในฐานะเจ้าของชาติ นอกจากการเน้นว่าประชาชนต้องเสียสละความสุขและผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐชาติไทยจึงมิได้ประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฐานะปัจเจกบุคคล และมิได้รับรองสิทธิของชุมชนในการดูแลและจัดการทรัพยากรตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของตน แม้จะมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 ที่มีบทบัญญัติรับรองและค้ำประกันสิทธิดังกล่าว แต่ก็ไม่มีพลังทางสังคมที่เข้มแข็งในการผลักดันให้เกิดผลขึ้นจริงในทางปฏิบัติ

ดังนั้น ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภูมิปัญญาหรือความรู้ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของชาวบ้าน จึงถูกแย่งชิงโดยรัฐและกลุ่มทุน รวมทั้งนายทุนน้อยในหมู่บ้านหรือท้องถิ่น โดยที่ชาวบ้านไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการแก้ไขปัญหา ต้องพึ่งพาอำนาจจากภายนอกในการเคลื่อนไหวกดดันให้เกิดผลตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ, นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ฯลฯ (39) ทำให้ชีวิตของชาวบ้านขาดความมั่นคงและต้องพึ่งพิงภายนอกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในการผลิตซ้ำมโนทัศน์ "ชาติไทย" เพื่อปลูกฝังให้อยู่ในจินตนาการของ "คนไทย" ปัญญาชนของรัฐเน้นอยู่เสมอว่า ชาวบ้านตกอยู่ในวัฏจักร "โง่ จน เจ็บ" ไม่เคยสร้างมโนทัศน์ว่าชาวบ้านมี "ชุมชน" ซึ่งมีศักยภาพในการจัดการทรัพยากร มีศักยภาพในการสั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม และมีทางเลือกเป็นของตนเอง ผลการวิจัยเรื่องหนึ่งยังชี้ให้เห็นด้วยว่า "การเมือง" ในชุมชนชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน (40) ซึ่งแสดงว่าชาวบ้านมิได้ขาดประสบการณ์ทางการเมือง จนกระทั่งต้องรอคอยแต่ความเมตตากรุณาจากรัฐ อย่างไรก็ตามปัญญาชนของรัฐยังคงเน้นอยู่เสมอว่าชาวบ้านยังขาดการศึกษา ไม่สามารถจะปกครองตนเองได้อย่างแท้จริง เพื่อเป็นเหตุผลสำหรับการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางต่อไป การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงจึงยากที่จะเกิดขึ้นได้ในรัฐไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะสามทศวรรษที่ผ่านมา นักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนแนววัฒนธรรมชุมชน ได้ให้ความสำคัญแก่ "ชุมชน" ในฐานะที่เป็นหัวใจของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อย่างไรก็ตามการมองชุมชนชาวบ้านยังคงอยู่ในกรอบมโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" ดังนั้น จึงเสนอภาพชุมชนชาวบ้านที่ "ไม่มีการเมือง" เช่นเดียวกัน ภาพเช่นนี้อาจจะใกล้เคียงความจริง ในช่วงเวลาที่กลไกอำนาจรัฐและทุนนิยมยังไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้านมากนัก ซึ่งทำให้ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรไม่รุนแรง แต่ในระยะหลังมีการแตกตัวทางชนชั้นในหมู่บ้านซึ่งทำให้การแย่งชิงทรัพยากรต่าง ๆ รุนแรงขึ้น ทั้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน, ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน และระหว่างชาวบ้านกับนายทุนจากภายนอก "การเมือง" จึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่เป็นช่องทางให้การจัดการทรัพยากรมีความเป็นธรรมมากขึ้น (41)

อย่างไรก็ตาม ในมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ยังคงมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่ดี ถ้า "การเมืองนิ่ง" ผู้นำก็จะมีเวลามากขึ้นในการแก้ปัญหาและการพัฒนาชาติ ทั้งนี้เพราะมองการเมืองในความหมายแคบ คือหมายถึงการแย่งชิงอำนาจ ไม่ได้มองว่าเป็นการจัดความสัมพัน์ทางอำนาจเพื่อการจัดการทรัพยากร ชาวบ้านจึงยังคงถูกกีดกันออกจาก "การเมือง" ไม่สามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้

พร้อมกันนั้นมโนทัศน์ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลัก ยังเน้นว่ารัฐไทยและสังคมไทยมีความเมตตา มองความขัดแย้งและความตึงเครียดว่าเป็นความแตกแยกและการแตกสามัคคี แทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีเวทีที่เป็นกลางและเป็นธรรมสำหรับการแก้ปัญหาอย่างยุติธรรม แม้แต่การเคลื่อนไหวโดยสงบของชาวบ้านก็มิได้ถูกมองว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน แต่ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการสร้าางความปั่นป่วนวุ่นวายเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว

ทางที่ดีแล้วชาวบ้านควรจะยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อชาติ หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็ควรอดทนรอคอยความเมตตาเอื้ออาทรจากรัฐและสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้การผูกขาดอำนาจของผู้นำแห่งชาติ โดยไม่ดำเนินการกระจายอำนาจตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงยังคงดำรงอยู่อย่างชอบธรรมสืบมาจนถึงปัจจุบัน อันทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายประชานิยมในขณะที่ "ชุมชน" รูปแบบต่าง ๆ ของชาวบ้านอ่อนพลังลงไปเรื่อย ๆ

ประการที่สี่ มโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลักทำให้คนไทยจินตนาการถึง "ชาติ" ที่ประกอบขึ้นด้วยคนหลายชั้น ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างคนชั้นต่าง ๆ คือความสัมพันธ์แบบรู้ที่ต่ำที่สูง การเข้าถึง "ความเป็นไทย" ในทางวัฒนธรรม เช่น ภาษาไทย, มารยาทไทย, ศิลปะไทย ฯลฯ หมายถึงการมีจิตใจและมีพฤติกรรมที่รู้ที่ต่ำที่สูง สามารถประพฤติปฏิบัติตนถูกต้องตามแบบแผนหรือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น "คนไทย" ไม่ได้รับสิทธิที่จะมีทางเลือกอื่น นอกจากการคิดและกระทำในกรอบของ "ความเป็นไทย" อันดีงาม การมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้แก่ชีวิตและสังคมจะถูกมองว่าเป็นกบฏ มิใช่เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐและสังคมหรือคนอื่น ๆ จะต้องเคารพ ผลก็คือ คนไทยและสังคมไทยไม่มีทางเลือกมากนัก แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ว่า เพื่อให้นักเรียนคิดเป็น แต่นักเรียนยังคงถูกสอนให้คิดอยู่ในกรอบ "เมืองไทยนี้ดี" ไม่มีสิทธิคิดเป็นอย่างอื่น และต้องยอมรับความสัมพันธ์ในเชิงสูง-ต่ำระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่ครูคิดย่อมถูกเสมอ

ส่วนในวงวิชาการมนุษยศาสตร์ แม้ว่าจะเริ่มพูดถึงการเสริมสร้างพลังทางปัญญาด้วยการวิจารณ์ศิลปะ แต่นักวิชาการหลายคนก็ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะศึกษาถึงการครอบงำทางความคิด และความขัดแย้งระหว่างคนที่อยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองต่างกัน สังคมไทยและคนไทยจึงไม่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง และไม่อาจมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมได้เลย ปล่อยให้โครงสร้างที่เป็นอยู่ทำร้าย "คนไทย" และสังคมไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ไม่ว่าจะเป็นการเมืองที่ผู้นำสามารถผูกขาดอำนาจโดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบ เศรษฐกิจที่ถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมืองซึ่งทำให้เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน และความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและการกระจายรายได้ และวัฒนธรรมที่จรรโลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เสมอภาค โดยที่เงินและการบริโภคมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการกำหนดสถานภาพของคน

สังคมที่ไม่มีทางเลือก จึงเป็นสังคมที่ต้องใช้อำนาจและความรุนแรงในการแก้ปัญหา อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ และเพื่อทำลายโครงสร้างของความรุนแรง การนิยามความหมายใหม่แก่ "ชาติไทย" ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

บทสรุป
คำว่า "ชาติไทย" ถูกใช้มากและเสมอ ๆ จนดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าคำ ๆ นี้ มีความหมายที่ชัดเจน และทุกคนเข้าใจตรงกัน จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ จึงเกิดการตั้งคำถามกับความหมายของ "ชาติไทย" เกิดการวิพากษ์ว่าความหมายเดิมนั้นก่อให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทั้งระหว่างคนไทยกับคนชาติพันธุ์อื่น และระหว่างคนไทยต่างชนชั้นกัน ต่างศาสนากัน ต่างเพศกัน และต่างวัยกัน บ้างก็วิจารณ์ว่า ความคับแคบของความคิด "ชาติไทย" ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และบ้างก็กล่าวว่าความคิด "ชาติไทย" กระแสหลักไม่มีพื้นที่ให้กับประชาชนและและชุมชนชาวบ้าน

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่าควรจะมีการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" เสียใหม่ และปัญญาชนร่วมสมัยหลายคนก็ได้เสนอความหมายใหม่ของคำว่า "ชาติไทย" บนพื้นฐานความคิดที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค และภราดรภาพของคนในชาติ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยที่ทุก ๆ วัฒนธรรมมีสถานะเท่าเทียมกัน (โดยไม่มีคนกลุ่มใดต้อง "กลายป็นไทย" ) เพื่อให้เป็น "ชาติไทย" ที่ประกอบด้วยชุมชนชาวบ้านซึ่งมีสิทธิเลือกวิถีชีวิตของตนเอง อันหมายรวมถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรและการนับถือศาสนา

อย่างไรก็ตาม นิยามใหม่ของ "ชาติไทย" ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป ในขณะที่ความคิด "ชาติไทย" แบบเดิมยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง หรือยังคงเป็นความคิดกระแสหลักตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์ความคิดกระแสหลักเกี่ยวกับ "ชาติไทย" เพื่อเข้าใจชัดเจนขึ้น ถึงมูลเหตุที่ทำให้ความคิดนี้มีพลังตลอดจนผลกระทบสำคัญที่ตามมา โดยค้นหาว่า ความคิดของคนไทยในเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร และก่อให้เกิดปัญหาในเชิงโครงสร้างแก่สังคมไทยอย่างไรบ้าง ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่การตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ความคิดกระแสหลักอย่างกว้างขวางและรอบด้าน และเกิดความเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาที่จะต้องร่วมกันนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เสียใหม่ ที่ทุกคนใน "ชาติไทย" จะสามารถเป็นเจ้าของชาติและมีสิทธิต่าง ๆ ในชาติอย่างเสมอภาค อันจะนำไปสู่ความรู้สึกมีพันธะร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้แก่ "ชาติไทย" เพื่อให้ทุกคนในชาติมีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเพื่อให้ "ชาติไทย" สามารถมีบทบาทในสังคมโลกอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งปวง

ข้อสรุปสำคัญ ๆ ที่ได้จากการศึกษามีดังนี้

1. ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก มิได้เน้นอย่างต่อเนื่องตายตัวว่าการเป็น "ชาติ" เกิดจากการมี "เชื้อชาติ" เดียวกัน หรือว่าเป็น "ชาติ" ที่เกิดจากการมี "ความเป็นไทย" ทางจิตใจหรือทางวัฒนธรรม เฉพาะทศวรรษ 2470 และ2480 ที่รัฐเน้นเชื้อชาติอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การที่ความคิดเรื่อง "เชื้อชาติไทยที่สืบสายเลือดกันมา" ปรากฏอยู่ในงานเขียนทางประวัติศาสตร์, เพลงชาติ และเพลงปลุกใจ ทำให้ความคิดนี้มีพลังยาวนาน

ปัญญาชนส่วนใหญ่เน้น "ชาติ" ในแง่ที่เกิดจากการมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม หรือมี "ความเป็นไทย" และยึดมั่นใน "ความเป็นไทย" ร่วมกัน แม้แต่หลวงวิจิตรวาทการในทศวรรษ 2490 ก็ยังหันมาเน้น "ชาติไทย" ในความหมายที่รวมคุณสมบัติทางเชื้อชาติคู่กันกับวัฒนธรรม ซึ่งแม้มีนัยยะให้เข้าใจว่า "เชื้อชาติไทย" กับ "วัฒนธรรมไทย" เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็มิได้เน้นประเด็นนี้ให้ปรากฏอย่างชัดเจน

2. การที่รัฐและปัญญาชนส่วนใหญ่เน้นความหมายของ "ชาติไทย" ในแง่ที่เป็นชาติของคนไทยที่ยึดมั่นใน "ความเป็นไทย" ทางจิตใจหรือทางวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น การมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ การยอมรับระบอบการปกครองแบบไทย การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง การนับถือพระพุทธศาสนา การเข้าใจศีลธรรมไทย และการมีมารยาทแบบไทย ฯลฯ เปิดช่องให้แก่การ "กลายเป็นไทย" อย่างกว้างขวาง

การทำให้คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ "กลายเป็นไทย"นี้ รัฐส่งเสริมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้สะดวกแก่การปกครองด้วย แม้กระนั้น คติเชื้อชาตินิยมก็มีอิทธิพลควบคู่กัน ทำให้ "การกลายเป็นไทย" อย่างแท้จริงยากจะเกิดขึ้นได้ในหมู่คนที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากคนที่มี "เชื้อชาติไทย" ส่วนใหญ่ ปัญหานี้รัฐมิได้คิดจะแก้ไข เพราะในด้านหนึ่ง ผู้กุมอำนาจรัฐต้องการกีดกันคนจีนซึ่งกุมอำนาจทางเศรษฐกิจออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง จะได้สามารถเรียกค่าอุปถัมภ์คุ้มครองจากธุรกิจของชาวจีน จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 จึงได้ยอมให้ลูกคนต่างด้าวมีโอกาสดำรงตำแหน่งทางการเมือง

3. "การกลายเป็นไทย" ไม่เป็นที่ต้องการของคนบางกลุ่มที่ไม่ต้องการจะ "กลายเป็นไทย" หรือไม่สามารถจะ "กลายเป็นไทย" อย่างแท้จริง เมื่อชาวจีนกลายเป็นส่วนใหญ่ของชนชั้นกลางในสังคมไทย และเข้าไปมีบทบาทสำคัญในวงวิชาการและสื่อมวลชน เสียงเรียกร้องให้ยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นอย่างหนาแน่น อุดมคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคมที่คนเหล่านี้มีอยู่ ทำให้ขยายการเคลื่อนไหวไปสู่การเรียกร้องให้คนชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ชาวเขา ชาวมลายู ฯลฯ มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของ "ชาติไทย" เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ

แต่คติ "เชื้อชาตินิยม" และ "ความเป็นไทยทางวัฒนธรรม " ที่ยังมีอิทธิพลอยู่มาก ทำให้เสียงเรียกร้องนี้ยังไม่บรรลุผลมากนัก จะมีก็แต่ "ชาวไทยเชื้อสายจีน" ซึ่งสามารถสถาปนาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเท่านั้นที่รัฐและสังคมไทยยอมให้มีพื้นที่อยู่ใน "ชาติไทย" อย่างเต็มที่ แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงกีดกัน และเบียดขับคนอีกหลายชาติพันธุ์ไม่ให้เป็นสมาชิกของ"ชาติไทย"เท่าเทียมกับตน การรื้อสร้าง "ชาติไทย" เพื่อปลดปล่อยคนอีกมากให้พ้นจากความเป็นคนชายขอบของ "ชาติไทย" จึงยังคงมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน

4. เนื่องจากความคิด "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" กระแสหลักเป็นฐานทางอุดมการณ์ที่จรรโลงโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่อาจเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องนิยามความหมายของ "ชาติไทย" ใหม่

เป้าหมายของ "ชาติไทย" อาจเป็นเป้าหมายเดิม คือ ระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า แต่ต้องนิยามความหมายของคำต่าง ๆ เหล่านี้เสียใหม่ว่าหมายความอย่างไร และต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ด้วย การกระทำบางอย่างที่เคยถือว่าทำลายระเบียบและความสงบสุข เช่น การชุมนุมประท้วงโดยสันติ จะต้องมองว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติไทย

"ความมั่นคงของชาติ" ไม่ควรหมายถึงความมั่นคงของผู้นำ แต่ควรหมายถึงการที่คนทั้งหลายมีหลักประกันในชีวิตว่า จะมีทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วน "ความเจริญก้าวหน้า" ก็ต้องคิดใหม่ว่าควรมีความหมายอย่างไร จึงจะทำให้คนไทยทั้งปวงมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น

เป็นที่น่าสนใจด้วยว่า ในปัจจุบันเมื่อความสำนึกในความผูกพันทางสายเลือดในหมู่คนไทยเริ่มเจือจางลงมากแล้ว แม้แต่ในระหว่างเครือญาติใกล้ชิดก็มีความผูกพันกันน้อยลง อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ และวิถีชีวิตในสังคมทุนนิยมที่ทำให้คนมีจิตสำนึกปัจเจกชนสูงขึ้น พร้อมกันนั้นความสำนึกถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างคนในชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตลอดจน "วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม" ในสังคมแยกย่อย (fragmented society) ล้วนทำให้ความคิดเรื่อง "เชื้อชาติ" ที่จะผูกพันคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยสายเลือด เริ่มหมดความหมายลงไปเรื่อย ๆ การเน้นความเป็น "ชาติ" ที่เกิดจากการที่ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์ในทุกด้านของชาติ และเน้นเอกลักษณ์ของ "ชาติ" ในข้อ "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์"(42) น่าจะมีความหมายต่อสมาชิกทั้งปวงของชาติมากกว่า เพราะการนิยามเช่นนี้จะเอื้อให้คนทุกกลุ่มในชาติมีความสัมพันธ์กันด้วยสันติวิถี และด้วยความเป็นธรรมมากขึ้น และทำให้ "ชาติไทย" เป็นของ "พลเมืองไทย" ทุกคนเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องมีผู้ใดต้องถูกเบียดขับให้เป็นคนชายขอบของ "ความเป็นไทย" หรือถูกกดดันให้ต้อง "กลายป็นไทย" อีกต่อไป

(จบตอนที่ ๒)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกะคดี กรุงเทพฯ: ศิลปบรรณาคาร, 2515. หน้า 227-228.

(2) ชูศรี มณีพฤกษ์, "เศรษฐกิจไทยในช่วง พ.ศ.2452-2475" ใน เศรษฐกิจไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2535. หน้า 201-203.

(3) สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม กรุงเทพฯ: มติชน, 2546. หน้า 291-304.

(4) พรรณี บัวเล็ก, ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ.2475-2482 บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม กรุงเทพฯ: พันธกิจ, 2545. หน้า 403-407

(5) เรื่องเดียวกัน.

(6) เรื่องเดียวกัน, หน้า 166-167.

(7) เรื่องเดียวกัน, หน้า 423-442.

(8) เรื่องเดียวกัน, หน้า 429-430.

(9) วิลเลียม สกินเนอร์, สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์และคณะ กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2529. หน้า 203.

(10) อัศวพาหุ, พวกยิวแห่งบูรพาทิศ พระนคร: เจริญรัฐ, 2457. หน้า 21-25.

(11) อัศวพาหุ, เมืองไทยจงตื่นเถิด และ ลัทธิเอาอย่าง. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางพร้อม ขวัญบุญจันทร์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 2513. หน้า 12-14.

(12) อัศวพาหุ, ความเป็นชาติไทยโดยแท้จริง กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2520. หน้า1-16.

(13) โปรดดูรายละเอียดใน ภูวดล ทรงประเสริฐ "นโยบายของรัฐบาลที่มีต่อชาวจีนในประเทศไทย" (พ.ศ.2475-2500)" วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519. หน้า 12-14.

(14) พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2529. หน้า 40.

(15) ห.จ.ช.,(2) สร. 0201.57.1/2 เรื่องกระทรวงเศรษฐการเสนอโครงการตั้งโรงสีข้าว หนังสือของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2480. อ้างใน พรรณี บัวเล็ก, ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่างพ.ศ.2457-2482 บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม หน้า 436-437.

(16) เออิจิ มูราชิมา, การเมืองจีนสยาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ.1924-1941. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539. หน้า 185.

(17) สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 173.

(18) หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม. พระนคร: มปพ., 2475. หน้า 176-189.

(19) เรื่องเดียวกัน, หน้า หน้า 190.

(20) หลวงวิจิตรวาทการ, อนาคตของชาติ ใน อนาคต พิมพ์ครั้งที่ 2 พระนคร: เขษมบรรณกิจ, 2502.หน้า 189-193.

(21) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, การเมืองและการนิยาม "ความเป็นไทย" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รายงานการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.

(22) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี. 25 หน้า 122-123.

(23) อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" หน้า45.

(24) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, "พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะโรงเรียนในพระบรมราชูถัมภ์ ในวันงานประจำปีของโรงเรียน" (วันที่ 28 ธันวาคม 2465) ใน พระราชดำรัสร้อยครั้ง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2529. หน้า 212-214. (เน้นโดยผู้เขียน)

(25) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2530. หน้า 49-51.

(26) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี. หน้า 89-90.

(27) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, บทปลุกใจร้อยประการ. รวบรวมโดยฐาปนีย์ นครทรรพ และสุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2530. หน้า 110.

(28) โปรดดูรายละเอียดใน พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546. หน้า 34-41.

(29) ส.วัฒนเศรษฐ์, วาทะพระมงกุฎ กรุงเทพฯ: รุ่งวิทยา, 2506. หน้า129-130.

(30) เรื่องเดียวกัน, หน้า131.

(31) โปรดดู เรื่องเดียวกัน, หน้า 146, 216 เป็นอาทิ.

(32) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

(33) สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 84-98.

(34) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ขุนช้างขุนแผนฉบับบอ่านใหม่ กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2543. หน้า 120.

(35) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, การเมืองและการสร้าง "ความเป็นไทย" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รายงานการวิจัยโครงการประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมมไทยของปัญญาชน พ.ศ.2435-2535. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548.

(36) เรื่องเดียวกัน.

(37) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา" ใน ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียน และอนุสาวรีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2538. หน้า 47-88.

(38) โปรดดู อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ความจริงและการปฏิบัติต่อความจริง ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนภายใต้วัฒนธรรมมือที่สาม รายงานการวิจัยโครงการความจริงและการจัดการความจริง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.

(39) โปรดดู วิเชิด ทวีกุล, "การเมืองภาคประชาชน : การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ พ.ศ.2530-2547" วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548.

(40) เรื่องเดียวกัน.

(41) เรื่องเดียวกัน.

(42) คุณธรรมของชนชาติไทยทั้งสองข้อนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิยามไว้พร้อมกับคุณธรรมในข้อ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" แต่ได้ถูกละเลยโดยปัญญาชนสมัยหลัง ซึ่งหันมาเน้น "ศัตรูของชาติ" ซึ่งทำให้เน้นแต่เรื่อง"ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" ตลอดมา ในยุคปัจจุบัน "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" ก็ควรได้รับการเน้นด้วย แต่ควรจะมีการนิยามความหมายใหม่ เพราะปัญญาชนในอดีตเน้นความจงรักในอิสรภาพของชาติในเชิงการเมือง แต่ในปัจจุบันควรเน้นในเชิงของการสร้างศักยภาพของ "ชาติ" ที่จะต้านทานการแย่งชิงทรัพยากรโดยกลุ่มทุนข้ามชาติให้มากขึ้น

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
271248
release date
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
1234567890 -A12345678
ที่เราว่า "ชาติ" นั้น เราไม่หมายความว่าไทย...อันที่จริงเมื่อเราใช้คำว่า "ชาติ" นั้น เราหมายความว่าชนชาวสยาม แต่ชนชาวสยามปะปนกันมาก ไม่พึงกล่าวถึงไทยที่มีเชื้อจีนปน (เช่นผู้เขียนนี้เอง) หรือไทยที่มีเชื้อแขก เชื้อฝรั่ง หรือเชื้ออื่น ๆ ซึ่งไม่รังเกียจหรือแตกแยกกับไทยแท้ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ย่อมถือเหมือนญาติร่วมเชื้อกันหมด ชนชาวสยามมีเป็นอันมาก ที่เป็นมลายู แขกครัว แขกเทศ กะเหรี่ยง คะมู ลว้า เขมร ล้วนแต่ไม่ใช่ไทย แต่เป็นชาวสยามทั้งนั้น บางพวกอยู่ในสยามก่อนไทยมาอยู่เสียอีก นอกจากนี้ยังมีจีนนอก และพวกแปลงสัญชาติ คือฝรั่งแท้และแขกแท้ เป็นต้น เราไม่รังเกียจพวกนั้นเลย (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)