นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University

ข่าวบ้านการเมืองไทยร่วมสมัย
ประวัติศาสตร์ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก (ตอนที่ ๑)
รศ. สายชล สัตยานุรักษ์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕"
ผู้เขียนขอขอบพระคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยนี้

หมายเหตุ
เนื่องจากบทความวิชาการประวัติศาสตร์นี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว
จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน เพื่อความสะดวกในการจัดการกับเนื้อหาในเชิงเทคนิค
และ เกี่ยวพันกับบการจัดหน้าเว็ปเพจ

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 788
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 26 หน้ากระดาษ A4)


ประวัติศาสตร์ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก (ตอนที่ ๑)
สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"จิตสำนึกแห่งความเป็นชาติต้องมีหน่อย
ไม่ใช่มีแต่มนุษยธรรมแล้วชาติอยู่ไหนล่ะ
มนุษยธรรมมันต้องมีอยู่แล้ว แต่ชาติต้องมี"

(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร : หนังสือพิมพ์มติชน ๒๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๔๘)


ความนำ
ในปัจจุบันความคิดเรื่อง "ชาติไทย" ยังคงมีพลังอย่างสูง แต่มโนทัศน์ "ชาติไทย" ของคนไทยส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ปัญหาอันเกิดจากมโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลัก โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง "เชื้อชาติ" และการ "ไม่กลายเป็นไทย" ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจ "ประวัติศาสตร์ความคิดชาติไทยกระแสหลัก" ในประเด็นดังกล่าว จึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน ประเด็นปัญหาเดิมที่นักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจ คือเรื่อง "ชุมชนชาวบ้าน" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่ "ชุมชน" มีอยู่ หรือการทำให้ "วัฒนธรรมชุมชน" กลายเป็นรากฐานของวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับการนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ทั้งสิ้น ดังนั้น การวิเคราะห์และอธิบายที่มาของมโนทัศน์ "ชาติไทย" กระแสหลัก คงจะมีส่วนช่วยให้เข้าใจข้อจำกัดในการทำให้สังคมยอมรับความหมายหรือความสำคัญของ "ชุมชน" และช่วยให้มองเห็นลู่ทางที่จะก้าวพ้นข้อจำกัดที่มีอยู่ได้บ้างไม่มากก็น้อย

บทความนี้มุ่งวิเคราะห์ที่มาของความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก โดยสำรวจที่มาของความคิดสำคัญ ๆ เกี่ยวกับ "ชาติไทย" ในระยะหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาว่ามีการสร้าง การปรับเปลี่ยน และการสื่อสารความคิดอะไรบ้างในบริบทของแต่ละยุค ซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้ความหมายของ
"ชาติไทย" ของคนไทยส่วนใหญ่ในสมัยหลัง การวิเคราะห์เช่นนี้จะช่วยให้เห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ได้รับเอามรดกทางความคิดที่มีจุดเน้นต่าง ๆ กัน ในแต่ละสมัย โดยที่ความคิดบางอย่างแม้ถูกสร้างโดยปัญญาชนสำคัญ แต่ก็มิได้ถูกเลือกมาเน้นในสมัยต่อมา มีเพียงความคิดบางประการเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อเนื่องและเข้มข้นจนกลายเป็นความคิดกระแสหลัก คือมีอิทธิพลต่อวิธีคิดหรือโลกทัศน์ของคนไทยเป็นอย่างสูงสืบมาจนถึงปัจจุบัน และส่งผลให้เกิดโครงสร้างของความรุนแรง

ประเด็นสำคัญที่จะทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับความคิด "ชาติไทย" กระแสหลัก มีดังนี้

1. มูลเหตุในการนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
2. ภูมิหลังและความหมายทางการเมืองของการเน้น "เชื้อชาติไทย"
3. "เชื้อชาติไทย" กับ "ความเป็นไทย" และ "การกลายเป็นไทย"
4. สถานะของราษฎรและชุมชนชาวบ้านใน "ชาติไทย"
5. ความคิด "ชาติไทย" กระแสหลักกับโครงสร้างความรุนแรงในปัจจุบัน


หมายเหตุ : เฉพาะตอนที่ ๑ นี้ จะนำเสนอเฉพาะเรื่อง
1. มูลเหตุในการนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
2. ภูมิหลังและความหมายทางการเมืองของการเน้น "เชื้อชาติไทย"


1. มูลเหตุในการนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
มูลเหตุสำคัญที่จะนำเสนอในที่นี้ มี 2 ประการ ซึ่งเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด คือ

- การสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ
- การช่วงชิงอำนาจนำในการนิยามความหมาย

การนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาในระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นใหม่ในเวลานั้น กล่าวคือ การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือทุกส่วนของประเทศเท่าเทียมกันในทางทฤษฎี ซึ่งจะเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติก็ต่อเมื่อคนทั้งประเทศตระหนักถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีชะตากรรมร่วมกันภายใต้การปกครองของพระองค์

เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุดีหรือเหตุร้ายเกิดขึ้นแก่คนในเขตใดเขตหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อคนในเขตอื่น ๆ และการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลย่อมส่งผลแก่คนในทุกส่วนของประเทศร่วมกัน ความสำนึกเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเอง เพราะในระยะก่อนเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมานั้น วิถีการผลิตหลักยังคงเป็นแบบศักดินา ซึ่งทำให้การค้าที่เชื่อมโยงคนในอาณาบริเวณต่าง ๆ เข้าหากันยังมีอยู่จำกัด คนส่วนใหญ่อยู่ในระบบการผลิตแบบพอยังชีพและส่งส่วยแก่นาย ความผันผวนที่มีต่อคนในเขตหนึ่ง ๆ แทบจะไม่มีผลกระทบต่อคนในเขตอื่น ๆ แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในรัฐเดียวกันก็ตาม อุดมการณ์ทางการเมืองก็เน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกร ในแง่ที่พสกนิกรพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อบรรลุนิพพาน พสกนิกรไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันอย่างแท้จริง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดอุดมการณ์และโลกทัศน์ที่จำเป็นสำหรับรองรับระบอบการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้พระราชอำนาจ และเอื้อต่อการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบใหม่ ปัญญาชนของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำเป็นต้องสร้างสำนึก "ชาติไทย" หรือ "เมืองไทย" และ "ความเป็นไทย" แล้วนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ไปในทางที่เป็นคุณต่อการเสริมสร้างพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดของพระมหากษัตริย์ เพื่อจะจรรโลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคงและยั่งยืน

ในรัชกาลที่ 5 แม้ว่าจะยังไม่มีการดำเนินการเพื่อสร้างมโนทัศน์ "ชาติไทย" อย่างชัดเจน แต่เริ่มมีการเน้นมโนทัศน์ "เมืองไทยนี้ดี" โดยเฉพาะในแง่ที่ "เมืองไทย" มีเอกราชและความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ และเอกราชกับความเจริญรุ่งเรืองนั้นเป็นผลมาจากการนำของพระมหากษัตริย์ในสมัยต่าง ๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในวาระแห่งการสถาปนา "โบราณคดีสโมสร" เน้นให้สถาบันนี้ทำหน้าที่สืบค้นเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของ "ชาติไทย" ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ตลอดรัชกาลอันยาวนาน พระองค์ทรงเป็นผู้นำในการเลือกสรร"ความเป็นไทย"ทางศิลปะและวัฒนธรรม ที่แสดงถึงเอกลักษณ์แห่งชนชาติไทย และทรงทำให้ศิลปะวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของไทยนั้น ช่วยในการจรรโลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปพร้อมกัน

เป็นต้นว่า โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตร "แบบไทย" แต่มีสัญลักษณ์ใหม่ ๆ อันแสดงถึงพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ (1) และทรงปฏิรูปพระราชพิธีในพระราชสำนักรวมทั้งพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่เสริมสร้างสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้ทรงเป็นศูนย์กลางหรือเป็นหัวใจของรัฐ เพื่อจะทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดเหนือคนทั้งปวง (2)

ในรัชกาลที่ 6 ปัญหาใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญโดยตรงมีอย่างน้อยสองประการ ปัญหาหนึ่งคือความขัดแย้งกับเจ้านายและข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เสนาบดีบางพระองค์ทรงมีอำนาจมากเกินไป เพราะทรงสั่งสมพระบารมีมายาวนานตั้งแต่รัชกาลก่อน และทรงได้รับความจงรักภักดีจากข้าราชการในกระทรวงมากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขปัญหานี้แต่ต้นมือในระยะยาวแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดของพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มาก การสถาปนามโนทัศน์ "ชาติไทย" แบบที่ทำให้คนทั้งปวงสำนึกในความสำคัญสูงสุดของพระมหากษัตริย์ จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนขึ้นมา

ปัญหาการแข่งขันกับ "ชาตินิยม" ที่เสนอโดยข้าราชการ, คนจีน, และ "ลูกจีน" หรือ "จีนสยาม" เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความจำเป็นที่จะต้องนิยามความหมายของ "ชาติไทย" ให้มีพลังเหนือกว่า เพื่อจะมีอำนาจครอบงำคนทั้งประเทศ และเพื่อเบียดขับกระแสชาตินิยมของข้าราชการ, คนจีน และคนจีนสยามออกไปจากพื้นที่ทางอุดมการณ์ของ "ชาติไทย" ปัญหานี้กระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนจำนวนหนึ่งสมาทานแนวคิดทางการเมืองแบบสาธารณรัฐนิยม

ในต้นรัชกาล กลุ่มทหารหนุ่ม หรือ "กลุ่มกบฏ ร.ศ.130" ได้เสนอความหมายของ "ชาติไทย" ที่ท้าทายพระราชอำนาจ เพราะนิยามว่าชาติคือราษฎร (3) "ทหารกบฏ" คนหนึ่งให้การว่า "นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์พูดว่า พวกเราควรจะซื่อตรงต่อชาติไทยของเรา ไม่ควรจะคิดกตัญญูต่อคน ๆ เดียว...คือพระเจ้าอยู่หัว"(4) เอกสารที่เขียนโดยผู้นำของกลุ่ม เรื่อง "ว่าด้วยความเสื่อมทรามแลความเจริญของประเทศ" ระบุว่า " ถ้าทำให้ชาตแลบ้านเมืองมีความเจริญ ฝูงคนทั้งหมด ซึ่งเปนชาตเดียวกัน ก็จะได้รับความสุขความสบายทั่วทุกคน" เป้าหมายสำคัญของกลุ่มนี้ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรืออย่างน้อยก็เปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์

เหรียญ ศรีจันทร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการก่อการว่า "เพื่อจะหาอำนาจใส่ชาตไทย เพื่อมิให้อัประยศแก่ชาตอื่นเขา" และยังกล่าวด้วยว่าเงินเดือนที่ทหารได้รับนั้นมาจากราษฎร ทหารจึงต้องทำหน้าที่ปกป้องชาติไทย "เพื่อไม่ให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนที่จะเปนข้าเขา คงให้ดำรงเปนชาตไทยอยู่"(5) ทหารอีกคนหนึ่งให้การว่าเหตุที่เขาเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการก็เพราะ ต้องการทำให้ชีวิตราษฎรดีขึ้น เพราะเงินเดือนของทหารมาจากภาษีที่เก็บจากราษฎร "ราษฎรจึงเปนนายข้าราชการ มิใช่กษัตริย์"(6)

กลุ่ม "ทหารหนุ่ม" มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับเซียวฮุดเส็งและครอบครัวของเขา ซึ่งเป็นนักชาตินิยมจีนที่สนับสนุนก๊กมินตั๋ง นอกจากนี้ในการประชุมของกลุ่มก่อการ ยังมีผู้นำของพวก "จีนสยาม" เข้าร่วมประชุมด้วย แสดงถึงการมีความสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างกัน รวมทั้งความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ที่เน้นว่าเป็นชาติของราษฎร และการแสวงหาหนทางใหม่ ๆ ในการทำให้ "ชาติไทย" เจริญเพื่อให้ราษฎรมีความสุข (7)

กระแส "ชาตินิยมจีน" ของคนจีนในประเทศสยาม ทวีความเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวอย่างเด่นชัดเกิดขึ้นในต้นทศวรรษ 2450 เป็นต้นมา ในต้นทศวรรษดังกล่าวนี้ ประเทศสยามประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตระดับหนึ่ง ทำให้นายทุนชาวจีน ซึ่งเคยได้รับความคุ้มครองโดยอำนาจทางกฎหมาย และอำนาจทางการเมืองของอังกฤษหรือฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นคนในบังคับของชาติดังกล่าว เกิดความหวั่นวิตกในความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนการสูญเสียอภิสิทธิ์ต่าง ๆ จึงร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในรูปของสมาคมที่แตกต่างไปจากเดิม คือเป็นการรวมตัวกันของชาวจีนทุกกลุ่มสำเนียงในสมาคมเดียวกัน นับเป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันในฐานะที่เป็นจีนด้วยกัน (8)

ในช่วงเวลานั้น ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศจีนส่งผลให้ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายก๊กมินตั๋งดำเนินการหาความสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเล ในวันที่ 1 ธันวาคม 2451 ซุนยัตเซ็นเดินทางเข้ามาอภิปรายที่สโมสรจีนกรุงเทพฯ ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมจีนด้วยการโจมตีว่าคนไทยใช้อำนาจกดขี่ชาวจีน และทำให้ชาวจีนกลายเป็นชาติต่ำต้อย

ระยะนี้เซียวฮุดเส็งนายกสมาคมถุงเหมิงฮุ่ยอันเป็นสมาคมลับที่สนับสนุนก๊กมินตั๋งประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว ถึงขั้นที่สามารถผลักดันสมาคมลับของจีนแคะสองแห่งที่เคยแข่งขันกันให้มารวมตัวกันทำงานเพื่อชาติ ปรากฏว่าหลังจากก๊กมินตั๋งได้ชัยชนะในประเทศจีน สมาคมชาวจีนในสยามซึ่งมีกรรมการหลายคน เช่น ยี่กอฮง (พระยาอนุวัตน์ราชนิยม), อึ้งยุกหลง ล่ำซำ, โกศล ฮุนตระกูล ฯลฯ ยิ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองคึกคักมากขึ้น (9) ความคิด "ชาตินิยมจีน" ของคนกลุ่มนี้คงมีอิทธิพลต่อกลุ่ม "ลูกจีน" หรือ "จีนสยาม" มากทีเดียว

ตัวอย่างหนึ่งของชาวจีนที่เคลื่อนไหวด้วยแรงผลักดันของชาตินิยมจีนอย่างต่อเนื่อง คือกรณีของ เหียกวงเอี่ยม (ซึ่งจะเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของสมาคมพาณิชย์จีน หรือเซียงหวยในปลายทศวรรษ 2470) เหียกวงเอี่ยม เป็นผู้มีความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโดดเด่น ถึงกับเรียกตัวเองเป็นผู้ "รักชาติยิ่งชีพ" (10)

ส่วนเซียวฮุดเส็ง เป็นปัญญาชนที่มีอิทธิพลสูงมากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเสนอแนวคิดเรื่องชาติที่เน้นราษฎรโดยรวม หรือมองราษฎรเป็น "เพื่อนร่วมชาติ" โดยที่ชาติจะเจริญได้ "เพราะราษฎรชาวเมืองมีวิชาความรู้ ประกอบกับสามัคคีธรรมที่มีต่อกันระหว่างรัฐบาลกับชาวเมือง"(11) หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ของเขา เสนอความเห็นเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ว่า

เราทั้งหลายซึ่งเปนชาติไทย พึงมีความสามัคคีปรองดองกัน บำรุงพระมหากษัตริย์เจ้าของเราให้มีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล บำรุงประเทศสยามของเราให้ตั้งมั่นอยู่โดยสวัสดิภาพ และบำรุงเพื่อนร่วมชาติของเราให้มีความสุขความเจริญโดยประการทั้งปวง ...เมื่อท่านจะทำกิจการอันใดเกี่ยวกับราษฎร จะต้องอาไศรยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง หรือว่าย่อ ๆ ถ้าท่านรักนับถือตัวท่านเองฉันใด ท่านจะต้องรักและนับถือราษฎรอันเปนเพื่อนร่วมชาติกับท่านฉันนั้น นี่เปนสามัคคีธรรมที่ฝ่ายผู้ปกครองจะพึงปฏิบัติ (12)

กลุ่มลูกจีนหรือจีนสยาม เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ส่วนใหญ่แล้วได้รับการศึกษาในโรงเรียนสมัยใหม่ในประเทศสยาม เฉพาะโรงเรียนอัสสัมชัญแห่งเดียว ในเวลา 50 ปี ระหว่าง พ.ศ.2428-2478 ก็ผลิตนักเรียนถึง 10,612 คน คนเหล่านี้มีความรู้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน จึงสามารถผลิตงานเขียนในฐานะที่เป็นปัญญาชนของสังคมสยามใหม่ โดยที่หลายคนมีหนังสือพิมพ์ของตนเอง ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มีธุรกิจอยู่ในประเทศสยาม (13) เข้าใจว่าแนวความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ที่คนกลุ่มนี้เสนอ มีอิทธิพลมากและเป็นอันตรายต่อพระราชอำนาจมากที่สุด เนื่องจากมีหนังสือพิมพ์และวารสารเป็นสื่อในการเผยแพร่ความคิดอย่างกว้างขวาง ในรัชกาลที่ 6 ประเทศสยามมีหนังสือพิมพ์ถึง 22 ฉบับ และวารสาร 127 ฉบับ

ในบรรดาชาวจีนเลือดผสมหรือลูกจีนที่มีบทบาทด้านชาตินิยมมาก เช่น นายเล็ก โกเมศ, นายเจือ เพ็ญภาคกุล, นายเอก วีสกุล, นายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง, นายซุ่นใช้ คูตระกูล ฯลฯ หลายคนมีส่วนช่วยการต่อสู้ในประเทศจีน พร้อมกันกับการเสนอแนวคิดชาตินิยมไทย แต่ส่วนใหญ่แล้วมีกิจกรรมทางชาตินิยมอยู่ในประเทศสยาม (14) บางคนเป็นผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ซึ่งทำให้สามารถสื่อสารกับคนในวงกว้าง (15) หลายคนรวมตัวกันเป็นสโมสรสยามจีนางกูร คนเหล่านี้ล้วนได้รับการศึกษาในประเทศสยามและสามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี (16)

ในบรรดาคนเหล่านี้มีบางคนเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับ "ชาติ" ที่ตรงกันข้ามกับแนวความคิดที่ปัญญาชนของรัฐเสนอ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ซึ่งนำโดยนายเล็ก โกเมศ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เมืองไทยไม่ใช่เป็นเมืองสำหรับคนไทยจริง ๆ แต่เป็นเพียงบ้านเช่า และยังประกาศอย่างโจ่งแจ้งในบทความว่า "ชาติ" คือราษฎร" และหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ประกาศว่าจะยึดหลักการใช้ภาษาของราษฎรซึ่งเป็น"ภาษามารดร" พร้อมกับโจมตีเจ้านายที่นิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสนทนากัน (17)

นอกจากนี้ชาวจีนเลือดผสม ยังมีบทบาทในการส่งเสริมและขยายวัฒนธรรมของคนชั้นกลางในเขตเมือง เช่น ละครไทย ภาพยนตร์ไทย นวนิยายไทย และศิลปะการชกมวยไทย เป็นต้น แนวคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ที่คนเลือดผสมจีน-ไทยเสนอผ่านสื่อนานาชนิด เป็น "ชาติ" ในความหมายว่า คือประชาราษฎร์หรือประชาชนซึ่งมีสายสัมพันธ์จากอดีตมาสู่ปัจจุบันและอนาคต (18)

นอกจากการเคลื่อนไหวทางความคิดของกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในรัชกาลที่ 6 ยังมีการเสนอความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" โดย ขุนนางเก่า ที่มีความรอบรู้ คือพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งได้เขียนหนังสือ ทรัพยศาสตร์ ตอนต้นของหนังสือเรื่องนี้กล่าวว่า "เราเกิดอยู่ในแผ่นดินใด ก็ต้องนับว่าเราเป็นราษฎรหรือชาติซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินนั้นอยู่ด้วยคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองก็เป็นคุณประโยชน์แก่เรา"(19)

จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่พระยาสุริยานุวัตรเสนอนี้ เน้นถึงการที่ทุกคนในชาติมีส่วนได้ส่วนเสียกับ "ประโยชน์ของชาติ" พร้อมกันนั้นพระยาสุริยานุวัตรยังเสนอให้หาทางสร้าง "คนชั้นกลาง" ขึ้นในชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้ "ชาวเรา" คิดว่า "ทำประการใดอำนาจของชาวเราจึงจะมีน้ำหนักถ่วง (ชาวจีน)" และ "ต้องหาทางปิดกัน (ชาวจีน) อย่างใดอย่างหนึ่ง"(20)

เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า ทั้ง "ชาตินิยมจีน", "ชาตินิยมจีนสยาม" และ "คนเลือดผสมจีน-ไทย (หรือลูกจีน)" ตลอดจนความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" ของพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งนำเสนออย่างเข้มข้นในรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นความคิดที่เน้น "ชาติของราษฎร" และเน้นให้หาทางแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมที่ราษฎรได้รับ และบางกลุ่มถึงกับคิดว่าหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาของราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของชาติได้อย่างแท้จริง ก็คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ความคิด"ชาติไทย"ที่คนเหล่านี้เสนอจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเร่งนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อย่างจริงจัง โดยเน้นความสำคัญสูงสุดของพระมหากษัตริย์ต่อชาติ และเน้น "ความเป็นอื่น" ของชาวจีนที่ไม่ยอมกลายเป็นไทย (คือไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้นำแห่ง "ชาติไทย" และไม่ยอมพูดภาษาไทย)

ต่างกับในรัชกาลพระราชบิดาซึ่งไม่ทรงขัดขวางการ "เข้าพวกกัน" ในหมู่ชาวจีน ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชดำริว่า "ความคิดถังยูไวแลซันยัดเซนสองจำพวกนี้...เปนธรรมดาที่ใคร ๆ จะต้องเห็นว่าถังยูไวคิดใกล้เข้าถูกมากกว่า...แต่ผลมาถึงเมืองเราไม่ดีทั้งสองทาง เราไม่อยากให้มีโปลิติคัลโอปิเนียนในหมู่พวกจีนในเมืองเราเลย"(21) ทั้งนี้ก็เพราะในรัชกาลที่ 6 นั้น "โปลิติคัลโอปิเนียนในหมู่พวกจีน" ได้ขยายอิทธิพลออกไปอย่างรวดเร็วจนเป็นอันตรายต่อพระราชอำนาจนั่นเอง

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญปัญหาความตึงเครียดและขัดแย้งกับเจ้านายและข้าราชการดังกล่าวมาแล้ว (22) ทำให้ทรงเน้น "ความเป็นไทย" ในแง่ที่จะทำให้คนใน "ชาติไทย" ตระหนักว่า การที่พระองค์ทรงเป็นผู้นำ "ชาติไทย" นั้น ทำให้ชาติไทยยังคงเป็นชาติอารยะ และสามารถรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของชาติให้สูงส่ง ในสายตาของนานาชาติได้เป็นอย่างดี

ทรงชี้ให้เห็นว่า "ชาติไทย" มี "ภูมิธรรม" อันเป็นสากลเช่นเดียวกับของชาติตะวันตก และในบางแง่"ภูมิธรรม"ของชาติไทย เหนือกว่าของชาติตะวันตกเสียอีก และพระองค์ได้ทรงประดิษฐาน "ภูมิธรรมของชาติ กล่าวคือตั้งหลักอันดี" ที่ทำให้ "ชาติไทย" ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา เพราะทำให้ "พลเมืองประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรม...เป็นชาติศิวิไลซ์แท้จริง" ดังจะเห็นได้ว่าในรัชกาลของพระองค์ "ชาติไทย" ดำรงอยู่ในสังคมโลกอย่างเท่าเทียมกับชาติอารยะทั้งหลาย เช่น พระองค์ได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ ในขณะที่ "สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ...ทรงรับคำเชิญของเราให้ทรงรับพระยศเป็นนายพลพิเศษในกองทัพสยาม" และกองทัพไทยทำสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติมหาอำนาจ อันทำให้ธงไตรรงค์ของชาติไทยโบกสะบัดเคียงคู่ธงของชาติมหาอำนาจเหล่านั้น (23)

กล่าวโดยสรุปสำหรับประเด็นนี้ก็คือ ปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำเป็นต้องนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อจัดสัมพันธภาพทางอำนาจในระบอบการปกครองใหม่ที่เกิดขึ้นในกลางรัชกาลที่ 5 พร้อมกันนั้นก็ต้องเร่งนิยามความหมายของ "ชาติไทย" เพื่อแข่งขันกับความหมายที่คนกลุ่มอื่น ๆ นิยาม รายละเอียดเกี่ยวกับความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นิยาม และความคิดสำคัญ ๆ ที่ได้รับการสืบทอดและปรับเปลี่ยนในสมัยหลัง จะได้กล่าวในหัวข้ออื่น ๆ ต่อไปข้างหน้า

2.ภูมิหลังและความหมายทางการเมืองของการเน้น "เชื้อชาติไทย"
การเน้น "เชื้อชาติ" ในแง่กลุ่มคนที่สืบสายเลือดกันมาแต่โบราณ แม้จะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในสมัยนั้นก็มิได้ให้ความสำคัญแก่การสืบสายเลือดในแง่ที่ทำให้คนใน "ชาติไทย" มีความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยอัตโนมัติ เพราะมุ่งเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันเนื่องมาจากการยึดมั่นในพระมหากษัตริย์องค์เดียวกันและการนับถือศาสนาพุทธเหมือนกันมากกว่า

ส่วนการเน้นประวัติศาสตร์อันยาวนานของ "ชาติไทย" แต่โบราณ แม้ว่ามีนัยยะของการเล่าเรื่องราวของ "ชนชาติไทย" ที่สืบสายเลือดกันมายาวนานอยู่ด้วย แต่จุดเน้นอยู่ที่การทำให้คนไทยรับรู้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของ "ชาติไทย" ก่อนชาติอื่น ๆ และการที่สามารถรักษาเอกราชเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิในความสามารถของชนชาติไทย ความภาคภูมิใจนี้นอกจากจะทำให้เกิดความรักใน "ชาติไทย" และเห็นความสำคัญของผู้นำชาติแล้ว ยังช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองในภาวะที่ต้องเผชิญกับความเหนือกว่าของชาติตะวันตก หรือในภาวะที่เกิดวิกฤติอัตลักษณ์อีกด้วย

เนื่องจาก "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการนิยามโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มั่นคง หัวใจของ "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการนิยามจึงเน้นอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนา และภาษาไทย

ทั้งสามส่วนนี้(สถาบันพระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนา และภาษาไทย) เป็น "ภูมิธรรม" แบบไทย ซึ่งจรรโลงความสัมพันธ์ทางสังคมแบบที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และจรรโลงโครงสร้างการเมืองที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ เช่น มีขนบธรรมเนียมประเพณี "แบบไทย" รวมทั้งพระราชพิธี "แบบไทย" จำนวนมากที่แวดล้อมพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้ทรงศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง

มีพระพุทธศาสนา "แบบไทย" ที่ช่วยให้ความหมายแก่พระมหากษัตริย์ เช่น พระสงฆเจ้าแสดง "พระมงคลวิเสสกถา" ที่สรรเสริญพระคุณลักษณะอันวิเศษขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้ทรงมีความชอบธรรมทุกประการที่จะทรงครอบครองพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ (24) และมีราชาศัพท์ใน "ภาษาไทย" ที่ตอกย้ำสถานะอันสูงสุดในระบบการสื่อสารทางสังคม เป็นต้น

ดังนั้น "ความเป็นไทย" ดังที่กล่าวมาข้างต้น อันเป็นส่วนสำคัญของ "ชาติไทย" ในทางจิตใจและทางวัฒนธรรม จึงได้รับการเน้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่มีการเลือกรับความเจริญทางวิทยาการและเทคโนโลยีจากตะวันตก เพื่อเป็นกลไกทางอำนาจของรัฐอย่างเข้มข้น

จะเห็นได้ว่า "ความเป็นไทย" ที่ได้รับการเน้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่เกี่ยวกับเรื่อง "เชื้อชาติ" หรือการสืบสายเลือดโดยตรง แต่การเรียกชื่อชาติว่า "ไทย" และความจำเป็นในการเขียนประวัติศาสตร์ เพื่อยืนยันความสำคัญของพระมหากษัตริย์ต่อ "ชาติไทย" โดยเน้นความสำเร็จของพระมหากษัตริย์ในการกอบกู้ และรักษาเอกราชของชาติ และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ "ชาติไทย" มาอย่างยาวนาน ทำให้จำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องการสืบสายเลือดของชนชาติไทยอยู่ด้วย หนังสือเรื่อง หลักไทย ของขุนวิจิตรมาตราซึ่งเน้นการสืบสายเลือดจึงได้รับพระราชทานรางวัลในรัชกาลที่ 7

หนังสือเรื่อง หลักไทย ซึ่งได้รับการเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2471 และภายใน 7 ปี หนังสือนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 7 ครั้ง เป็นหนังสือสำคัญที่ทำให้แนวคิดเรื่อง "เชื้อชาติ" ในแง่ของการสืบสายเลือดของชนชาติไทยมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง เพราะเล่าถึงเรื่องราวของชนชาติไทยตั้งแต่สมัยโบราณที่อพยพมาจากตอนใต้ของจีน

การเน้นเรื่องการสืบสายเลือดยังเห็นได้ชัดในเนื้อร้องเพลง "ชาติไทย" ที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งใน พ.ศ.2475 และกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมก่อนหน้าที่จะเกิดเพลงชาติฉบับทางการเป็นเวลาหลายปี. เพลง "ชาติไทย" ของขุนวิจิตรมาตรานี้มีความว่า คนไทย "สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา...อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า ..."(25) ในขณะที่นายฉันท์ ขำวิลัย ก็ได้แต่งเพลงชาติที่มีเนื้อร้องคล้ายกัน คือ "เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย" (26)

อย่างไรก็ตามการเน้นเรื่องการสืบสายเลือดอย่างเต็มที่โดยรัฐบาลนั้นเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475

ในคำชักชวนของกระทรวงกลาโหมให้เรียกชื่อประเทศว่า "ไทย" เน้นเหตุผลด้านเชื้อชาติอย่างตรงไปตรงมา เช่นระบุว่าชื่อเดิมนั้น "ไม่สมชื่อที่เป็นเชื้อชาติไทย ในการที่จะใช้ชื่อประเทศอย่างหนึ่งแต่ชื่อพลเมืองไปอย่างหนึ่ง…ชนชาติไทยเป็นเชื้อชาติที่ใหญ่หลวง สมควรเรียกให้สมศักดิ์ศรีของคนไทย"(27)

การให้เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อประเทศสะท้อนความคิดที่เน้น "เชื้อชาติไทย" อย่างตรงไปตรงมา จอมพลป. พิบูลสงครามกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศ ว่า "เมื่อเราได้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายนให้เป็นวันชาติแล้ว ฉะนั้น ควรเปลี่ยนนามประเทศ "สยาม" เป็นประเทศไทย เพราะประเทศต่าง ๆ เขาก็ตั้งชื่อประเทศตามเชื้อชาติของเขา เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหลวงวิจิตรวาทการแล้ว ก็เห็นชอบด้วย"(28) และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย "รัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ" ก็กล่าวว่า "รัฐบาลเห็นสมควรใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติ และความนิยมของประชาชนชาวไทย"(29)

ในต้นทศวรรษ 2480 หลวงวิจิตรวาทการเน้นความคิด "เชื้อชาติไทย" ในแง่การสืบสายเลือดเป็นอย่างมาก บทเพลง "เลือดไทย" เน้นว่า "เลือดไทยกล้าหาญ...โลหิตสายเดียวกลมเกลียวกันไว้"(30) ส่วนบทกวี "การเคารพธงชาติ" ก็เน้น "ชาติ" ของคนไทยทุกชนชั้นที่สืบสายเลือดกันมาตั้งแต่อดีต, ปัจจุบัน จนถึงอนาคต (31)

ในการเสนอความคิดเรื่อง ชาตินิยม ใน พ.ศ.2490 หลวงวิจิตรวาทการยังคงเน้นการสืบสายเลือด "รักคนที่สืบสายโลหิตและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมา โดยไม่จำกัดเขตว่าคนเช่นนั้นจะอยู่ในประเทศใด"(32) จนถึง พ.ศ. 2500 หลวงวิจิตรวาทการจึงขยายความหมายของ "เชื้อชาติ" ออกไปครอบคลุมถึงวัฒนธรรมและการมีชะตากรรมร่วมกัน โดยกล่าวว่า "คำว่าเชื้อชาติ หรือRace หมายถึงการที่มนุษย์มีเชื้อสาย ภาษา วัฒนธรรม ขนบประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเดียวกัน…ชาติ...คือส่วนรวมของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ร่วมโชคชะตากัน"(33)

ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเน้น "เชื้อชาติ"
1. การเปลี่ยนระบอบการปกครองภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475
ทำให้ผู้นำในระบอบใหม่จำเป็นต้องลดความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้ผู้นำในระบอบใหม่มีสถานภาพสูงสุดแทน แต่ผู้นำในระบอบใหม่เป็นสามัญชนที่ก้าวขึ้นมาจากสถานะข้าราชการระดับกลาง ความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญยังขาดความมั่นคง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อระบอบการปกครองใหม่
ในขณะเดียวกันคนที่มีความรู้ในเขตเมืองก็ยังไม่ยอมรับอำนาจของผู้นำอย่างเต็มที่ เพราะยังมิใช่อำนาจในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เพราะจอมพล ป. ต้องการจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ ซึ่งยากที่คนชั้นกลางในเขตเมืองจะยอมรับได้ ที่สำคัญ การรับรู้ "ความเป็นไทย" แบบเดิม (ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ "ชาติไทย") ยังคงดำรงอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากแก่ผู้นำในระบอบใหม่ เพราะ "ความเป็นไทย" แบบเดิมช่วยเสริมสร้างและจรรโลงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ในเวลานั้นการรื้อถอน "ความเป็นไทย" แบบเดิมยังกระทำได้ในขอบเขตจำกัด เพราะนอกจากคนส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือไม่ออก และสื่อมวลชนยังแพร่หลายเฉพาะในเขตเมืองแล้ว ที่สำคัญก็คือ "ความเป็นไทย" แบบเดิมยังมีความสำคัญอย่างมากต่อโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้นำ เช่น สำนึกประวัติศาสตร์ที่เน้นความสำคัญของผู้นำในการรักษาเอกราช ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเล่าเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสำนึกประวัติศาสตร์ที่เน้นความสำคัญของผู้นำในการสร้างความเจริญแก่ชาติ ก็ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเล่าเรื่องสมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระปิยมหาราช

แม้แต่ชื่อพรรคการเมืองของจอมพล ป.ก็ยังต้องเลือกใช้ชื่อ "เสรีมนังคศิลา" อันมาจากชื่อพระแท่นของพ่อขุนรามคำแหง จะเห็นได้ว่า "ความเป็นไทย" แบบเดิมมีส่วนช่วยทำให้คนไทย "เชื่อผู้นำ" จนไม่อาจรื้อถอนลงไปอย่างสิ้นเชิง จะรื้อถอนได้เฉพาะส่วนที่ไม่กระทบต่ออำนาจเด็ดขาดสูงสุดของผู้นำในระบอบใหม่เท่านั้น (แต่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการรื้อถอนก็ยังขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นอันมาก)

วิธีที่จอมพล ป.และหลวงวิจิตรวาทการเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ก็คือการทำให้ "ชาติไทย" มีความสำคัญสูงสุดขึ้นมาแทนพระมหากษัตริย์ โดยการเน้น "เชื้อชาติไทย" เพื่อให้เกิดสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แทนการเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ "ความเป็นไทยทางวัฒนธรรม" อันจะทำให้พระมหากษัตริย์ยังคงมีความสำคัญสูงสุดต่อไป

การเน้นความสำคัญสูงสุดของ "ชาติไทย" นี้ หมายถึงการทำให้คนรู้สึกว่า "ชาติไทย" มีความหมายเต็มเปี่ยมหรือมีความสูงส่งในตัวเอง มิใช่มีความหมายต่อเมื่อมีพระมหากษัตริย์เป็น "หน้าตาของชาติ" หรือเป็น "ประมุขของชาติ" ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยเน้นมาแล้ว นอกจากนี้ยังต้องทำให้ชาติไทยมีความหมายตามอุดมคติของการปฏิวัติ คือเป็นชาติ "ของประชาชน" หรือเป็น "ประชาชาติ" อย่างน้อยก็ในเชิงอุดมการณ์

ดังนั้น เมื่อยังไม่สามารถเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรมของคนไทย (ภายใต้อิทธิพล "ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรมแบบเดิม) อย่างเต็มที่ จึงไม่มีวิธีการใดที่จะดีไปกว่าการหยิบเอาเรื่อง "เชื้อชาติ" ซึ่งรับรู้กันแพร่หลายพอสมควรแล้วขึ้นมาเน้น โดยเบียดขับ "ความเป็นไทย" ส่วนที่ส่งเสริมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ออกไปให้มากที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ พร้อมกับรักษา "ความเป็นไทย" ส่วนที่จรรโลงอำนาจของ "ผู้นำ" ในระบอบใหม่เอาไว้

เพื่อสถาปนาความมั่นคงให้แก่ผู้นำในระบอบใหม่ การเน้นว่า "ชาติไทย" มีความสำคัญสูงสุด (เพราะหมายถึงคนไทยทั้งปวงที่สืบสายเลือดกันมายาวนานแต่โบราณ และจะสืบสายเลือดกันต่อไปในอนาคต) จึงเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ถึงกับเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" โดยอ้างเหตุผลเรื่อง "เชื้อชาติ" นอกจากนี้ยังต้องเน้นด้วยว่า บรรพบุรุษของชนชาติไทยได้หลั่งเลือดปกป้องเอกราชของชาติมาด้วยกันแต่โบราณ ซึ่งจะทำให้ "ชนชาติไทย" ยอมหลั่งเลือดเพื่อปกป้องเอกราชของ "ชาติไทย" สืบไปในอนาคต

พลังของความคิดเช่นนี้ จะช่วยให้เกิดการยอมรับอำนาจเด็ดขาดสูงสุดของผู้นำได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนทั่วไปตระหนักว่าสงครามโลกกำลังจะระเบิดขึ้น ในภาวะสงครามเป็นการง่ายที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่า อำนาจเด็ดขาดสูงสุดของผู้นำเป็นสิ่งจำเป็น และคนไทยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแล้ว ที่ได้รับการปลูกฝังว่าการเสียสละทุกสิ่งแม้เลือดเนื้อและชีวิต เพื่อเอกราชของชาติเป็นสิ่งที่มีเกียรติ. อุดมการณ์ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" จึงแพร่สะพัดออกไปพร้อมกับการเน้น "เชื้อชาติ" อย่างเข้มข้น (34)

อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า นอกจากการเน้น "เชื้อชาติไทย" แล้ว จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการได้พยายามสร้าง "ความเป็นไทย" ชุดใหม่ขึ้นมารองรับระบอบใหม่ด้วย นั่นคือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรม ตามแนวทางรัฐนิยมเพื่อความมั่นคงของ "ระบอบพิบูล" นั่นเอง

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรมตามแนวทางรัฐนิยม เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยทำให้ "ระบอบพิบูล" มีความมั่นคงพอที่จะต้านทานกลุ่มที่นิยมเจ้าได้ เพราะเป็นวัฒนธรรมที่มีมิติของความเสมอภาคมากขึ้น สอดคล้องกับอุดมคติของระบอบใหม่ และเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เกื้อหนุนให้เจ้ามีสถานภาพและอำนาจเหนือชนชั้นอื่น

การสถาปนา "วันชาติ" ให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน แสดงถึงความพยายามที่จะทำให้ระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน ได้รับการนิยามเป็นหนึ่งเดียวกับชาติ (35) ซึ่งต้องนับว่าเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งในทางอุดมการณ์ เนื่องจากระบอบใหม่เป็นระบอบที่ประชาชนเป็นเจ้าของชาติ หรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยที่จอมพล ป.และหลวงวิจิตรวาทการได้สร้างคำอธิบายที่เน้นว่าระบอบการปกครองใหม่ยึดเอา "มติมหาชน" เป็นหลักในการปกครอง เพียงแต่ว่าเป็น "มติมหาชน" ที่ต้องผ่านกระบวนการ "มนุสสปฏิวัติ" เสียก่อน เพื่อทำให้มหาชนคิดอย่าง "ถูกต้อง" [ในทางปฏิบัติคือคิดในกรอบที่รัฐต้องการ จนกระทั่งผู้นำสามารถคิดแทนมหาชนได้ และหลวงวิจิตรวาทการสามารถกล่าวว่า ความคิดของผู้นำสะท้อน "มติมหาชน" เสมอ เพราะผู้นำนั้น "เป็นตัวมติมหาชน เพราะจะพูดอะไร ทำอะไร คนจะพูดตาม ทำตาม"(36) ]

อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรมและทางจิตใจในเร็ววัน แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งด้วยการประกาศ "รัฐนิยม" เช่น ความจำกัดของการศึกษาแผนใหม่และสื่อมวลชน ตลอดจนการที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งทำให้มีวิถีชีวิตผูกพันกับชุมชนมากกว่าผูกพันกับรัฐ ดังนั้น จอมพล ป.และหลวงวิจิตรวาทการจึงจำเป็นต้องหาทางกระตุ้นให้เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเร่งรัดที่สุด

ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะทำได้ง่ายคือการกระตุ้นความรู้สึกเชื้อชาตินิยมนั่นเอง เพราะเชื้อชาตินิยมจะทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกัน หรือรู้สึกเป็นพวกเดียวกันในฐานะที่มีสายเลือดเดียวกัน เหมือนทุกคนในชาติเป็นญาติพี่น้องกัน และได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาช้านาน และลูกหลานเหลนโหลนก็จะยังคงผูกพันกัน และพึ่งพาซึ่งกันและกันตลอดไป โดยเฉพาะในการปกป้องชาติไทยให้มีเอกราชและมีความเจริญรุ่งเรือง อันจะส่งผลดีต่อทุกคนในชาติ ดังที่รัฐบาลจอมพล ป. ทำการโฆษณาอยู่เสมอ

2. นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง
นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป. มีผู้เสนอว่านโยบายข้างต้น เกิดขึ้นเมื่อเกิดสงครามโลกขึ้นในยุโรปแล้ว โดยตีความจากปาฐกถาของหลวงวิจิตรวาทการในวันที่ 18 ตุลาคม 2543 ว่า "สงครามยุโรปเพียงชั่วขวบปีที่แล้วมานั้น ได้ให้บทเรียนอันแน่ชัดแก่เรา"(37) แต่นโยบายข้างต้นเป็นผลมาจากบรรยากาศอันตึงเครียดของโลกซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าสงครามโลกจะระเบิดเป็นเวลานานหลายปี

ปัญหาที่จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการคำนึงถึงมากก็คือ "เราจำจะต้องเป็นมหาประเทศ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องล่มจม...ประเทศเล็ก ๆ จะต้องถูกกลืนหายเข้าไปในประเทศใหญ่"(38) ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าความสำนึกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ที่ติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด และรู้เรื่องการที่มหาอำนาจบุกเข้ายึดครองประเทศที่อ่อนแอเป็นอย่างดี เช่น การที่แมนจูเรียและเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ต้องหาทางป้องกันมิให้ประเทศสยามต้องตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น (39) หากพิจารณาแต่ข้อความจากปาฐกถาก็จะทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย เนื่องจากเป็นปาฐกถาที่แสดงในระหว่างสงคราม และปลุกระดมให้คนสนับสนุนการทำสงครามเพื่อยึดอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส จึงต้องเน้นบทเรียนจากสงครามเป็นธรรมดา

นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง ทำให้ต้องเน้นชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยมเพื่อต่อต้านจีน ทั้งนี้เพราะรัฐบาลจอมพล ป.ต้องการร่วมมือกับญี่ปุ่น ถ้าไม่ต่อต้านจีน การเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมจีน จะไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการส่งเงินมหาศาลออกนอกประเทศ เพื่อช่วยชาติจีนรบกับญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นักชาตินิยมจีนในประเทศไทยยังเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอันสำคัญต่อการที่รัฐบาลจะร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องทำการต่อต้านจีนในนามของชาตินิยมไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างอุปสรรคมิให้นักชาตินิยมจีนเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยได้อย่างสะดวก

การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลไทยย่อมจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง เป็นไปได้ว่านโยบายต่อต้านจีนของรัฐบาลไทย ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นตอบแทนด้วยการสนับสนุนให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนของอินโดจีน "กลับคืน" มาจากฝรั่งเศส และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อกัน ในฐานะพันธมิตรแห่งวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาได้ในที่สุด

นอกจากความร่วมมือกับญี่ปุ่นแล้ว นโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง ยังทำให้รัฐบาลต้องการความร่วมมือจากประชาชน การปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยม ช่วยให้สามารถเน้นคุณสมบัติต่าง ๆ ที่รัฐต้องการให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ให้คนรู้สึกว่าเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในสายเลือดของชนชาติไทยมาแต่โบราณ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน แต่ก็สามารถรื้อฟื้นให้ปรากฏขึ้นมาได้ เช่น นิสัยงอกงาม นิสัยต่อสู้ เป็นต้น (40)

ขณะเดียวกันการสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง ย่อมหมายถึงการที่จะต้องขยายอำนาจอธิปไตยของไทยออกไปยังดินแดนต่าง ๆ โดยรอบ ซึ่งนโยบายนี้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน วิธีที่ง่ายที่สุดจึงได้แก่การทำให้คนในประเทศรู้สึกว่า ประชาชนในดินแดนที่ไทยจะขยายอำนาจออกไปนั้นเป็น "เลือดเนื้อเชื้อไข" เดียวกันกับคนไทยในประเทศ ดังนั้น การเน้น "เชื้อชาติไทย" จึงช่วยสร้างแรงสนับสนุนให้แก่การสร้างกองทัพและการขยายอำนาจของรัฐบาลเป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ หลวงวิจิตรวาทการจึงไม่เพียงแต่กล่าวว่า "ถิ่นไทยอันกว้างขวางซึ่งตั้งอยู่เหนือสิบสองจุไทย...มีเลือดเนื้อเชื้อไขเราอยู่ 24 ล้านคน ซึ่งยังถือตนเป็นคนไทย พูดภาษาไทย มีชีวิตจิตใจเป็นไทย"(41) เท่านั้น แต่ยังนิยามความหมายของ "เชื้อชาติไทย"ไว้กว้างขวางมาก คือครอบคลุมทุกชนชาติในแหลมทอง (จะไม่ครอบคลุมก็แต่ชาวจีนที่ยังไม่กลายเป็นไทยเท่านั้น)

ในละคร ราชมนู ตัวละครกล่าวว่า "เขมรเป็นชื่อสมมุติแท้ ๆ พวกเราในแหลมทองนี้ทั้งแหลม พวกเดียวกันทั้งนั้น"(42) ในละคร พ่อขุนผาเมือง ตัวละครกล่าวว่า "ทั้งญวน แกว และเขมรล้วนเป็นไทย"(43) คำบรรยาย "ชาติไทยจะชนะ" ระบุว่า "ชาติไทยในที่นี้...ข้าพเจ้าหมายตลอดถึงพี่น้องของเราฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และในกรุงกัมพูชาด้วย"(44) ส่วนปาฐกถา "การเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" กล่าวว่า ดินแดนลาวและเขมร "เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทย เลือดไทย ซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อเดียวกับเรา มีจำนวนสี่ล้านคน" แล้วสร้างความสะเทือนใจเพื่อให้ผู้ฟังสนับสนุนการเข้าไปช่วยเหลือ "หน่อเนื้อเชื้อเดียวกับเรา" ให้พ้นจากการถูกฝรั่งเศสกดขี่ข่มเหง ด้วยการกล่าวว่า

ทุก ๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าไปแลเห็นแม่น้ำโขง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าน้ำที่ไหลอยู่นั้นคือน้ำตาของชาวไทย พวกเราทางฝั่งนี้เป็นอิสระเสรี แต่พี่น้องเราทางฝั่งโน้นถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกวัน...ภาษีใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง การเร่งรัดภาษีได้กระทำด้วยพลการอันน่าสยดสยอง (45)

จะเห็นได้ว่าการปลุกเร้าชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยมมีความสำคัญอย่างสูงต่อนโยบายสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง

3. การกีดกัน "ลูกจีน" มิให้มีอำนาจทางการเมือง
การเน้น "ชาติไทย" ในแง่ "เชื้อชาติ" มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะต้านทานการขยายอำนาจทางการเมืองของ "ลูกจีน" อยู่มากทีเดียว เพราะมีลูกจีนได้รับการศึกษาแผนใหม่จากโรงเรียนฝรั่งจำนวนมาก และหลายคนทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น เสนอความคิดเห็นทางการเมืองตามหน้าหนังสือพิมพ์

ความพยายามของจอมพลป. ที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการดำเนินการต่อต้านจีน เกิดขึ้นตั้งแต่จอมพลป. เริ่มมีอำนาจมากขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 ซึ่งจอมพลป.เป็นผู้นำในการยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ต่อมาในเดือนกันยายน 2486 หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ตีพิมพ์ข่าวจอมพล ป.ให้หลวงวิจิตรวาทการแต่งเพลงชาติเพื่อใช้อย่างเป็นทางการ แทนเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราซึ่งแพร่หลายอยู่ในเวลานั้น โดยต้องการให้เป็นเพลงชาติที่เน้นความเป็นศัตรูของจีน (46)

ผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่ได้รับแต่งตั้งในวันที่ 28 มิถุนายน 2575 มีลูกจีน 3 คนซึ่งมีบทบาทอย่างกระตือรือร้น คือนายมังกร สามเสน, นายมานิต วสุวัติ, และนายซุ่นใช้ คูตระกูล บรรยากาศของประเทศในเวลานั้นมีการเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายที่จะให้รัฐบาลเห็นว่า "ประเทศชาติไม่ได้เจริญด้วยรู้ราชการหรือรู้กฎหมายอย่างเดียว จุดสำคัญอยู่ที่การกสิกรรมและพาณิชยกรรมต่างหาก" (48)

ดังนั้น ลูกจีนที่มีความรอบรู้ทางเศรษฐกิจหรือเอาใจใส่ในปัญหา "การกสิกรรมและพาณิชยกรรม" ย่อมจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้งจะเป็นช่องทางให้ลูกจีนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติ ดังนั้น นักการเมืองที่เฉลียวฉลาดอย่างจอมพลป. และหลวงวิจิตรวาทการ ย่อมเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อกีดกันลูกจีนเหล่านี้ออกจากพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งการปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมแบบที่เน้น "เชื้อชาติ" จะตอบสนองปัญหาทางการเมืองในข้อนี้ของจอมพลป.และหลวงวิจิตรวาทการได้เป็นอย่างดี (49)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาหนึ่งที่หลวงวิจิตรวาทการยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ไทย" ก็คือการที่รัฐธรรมมนูญระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของ "ปวงชนชาวสยาม" ซึ่งคำว่า "ชาวสยาม" นี้ "ย่อมจะหมายความไม่เฉพาะแต่ชาติไทย ต้องหมายความถึงชนชาติอื่น ๆ ที่เป็นชาวสยามด้วย" และหลวงวิจิตรวาทการยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการที่กฎหมายเลือกตั้ง "จำกัดให้ฉะเพาะชนชาติไทยนั้น...ขัดกับรัฐธรรมนูญ "(50)

เห็นได้ชัดว่าเป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่แสดงถึงความกังวลใจในเรื่องลูกจีนจะมีอำนาจทางการเมือง เพราะกลุ่ม "ลูกจีน" ซึ่งเกิดในประเทศสยามจะสามารถใช้สิทธิทางการเมืองในฐานะที่มีสัญชาติไทย นับเป็นความหวั่นเกรงที่มาจากผลประโยชน์ทางการเมืองโดยแท้ มิใช่มาจากอคติทางเชื้อชาติแต่อย่างใด (51)

ความหวาดหวั่นในเรื่องการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของลูกจีนยังเห็นได้จากคำกล่าวของหลวงวิจิตรวาทการ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี 25 กรกฎาคม 2481 ความว่า

นายเอ๊กโป้ย (เอก วีสกุล) เคยขอให้ข้าพเจ้าเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้มีการปกครองคนจีนอย่างเดิม คือมีกรมท่าซ้าย ...และทราบมาว่าเตรียมจะสละเงินในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรคราวหน้า เพื่อให้พวกจีนเข้ามาในสภาได้อีกด้วย (52)

กล่าวได้ว่า หากพิจารณาบริบททางการเมืองภายใน ก็จะเห็นได้ชัดเจนถึงความจำเป็นที่หลวงวิจิตรวาทการและจอมพล ป.จะต้องเน้นความคิดเชื้อชาตินิยมต่อต้านจีน ดังนั้น หลวงวิจิตรวาทการจึงแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับ "สยามกับไทย" ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2482 ชี้ให้เห็นว่าจะเกิดปัญหาหลายประการหากยังคงใช้ "สยาม" เป็นชื่อประเทศ ที่สำคัญก็คือปัญหาเกี่ยวกับลูกจีนซึ่งจะมีสิทธิเลือกตั้ง (53)

ใน สุนทรพจน์วันชาติครั้งแรกของจอมพล ป. 24 มิถุนายน 2482 ก็กล่าวถึงการที่คนไทย "ถูกเลือดของชนชาติอื่นเข้ามาผสม" ซึ่ง "ทำให้เลือดไทยจางลงทุกขณะ...ชนชาติไทยกำลังจะถูกกลืนด้วยการผสมพันธุ์" (54) เห็นได้ชัดว่าต้องการให้คนไทยเกิดความหวั่นเกรงภัยที่มาจากการถูกพวก "เลือดผสม" หรือพวก "ลูกจีน" กลืนชาติ การสร้างความรู้สึกเช่นนี้จะส่งผลให้คนไทยเกลียดชังพวก "เลือดผสม" หรือพวก "ลูกจีน" และไม่เลือกคนเหล่านี้เข้าสภา

นอกจากนี้รัฐบาลจอมพลป.ยังต้องนิยามความหมายของ "ชาติไทย" เพื่อช่วงชิงอำนาจครอบงำให้เหนือกว่าคำนิยามของบรรดาลูกจีนทั้งหลายอีกด้วย ดังนั้น ใน พ.ศ.2476 หลวงวิจิตรวาทการก็ตีพิมพ์เรื่อง "ลัทธิชูชาติ" ซึ่งเป็นคำที่แปลมาจาก Nationalism หลังจากนั้นก็ปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการแข่งขันกับคำนิยามของบรรดา "ลูกจีน" แล้ว ยังเป็นความพยายามที่จะเบียดขับคำนิยามของคนกลุ่มอื่น ๆ ไปพร้อมกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ปัญญาชนที่ใกล้ชิดกับรัฐภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เน้น "เชื้อชาติ" ในแง่การสืบสายเลือด จนกลายเป็นความคิดที่มีอิทธิพลสูง หรือเป็นความคิดกระแสหลัก แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่มาก เช่น นับตั้งแต่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาแล้ว ที่ทรงระมัดระวังไม่เน้น "ชาติไทย" เนื่องจากทรงมีพระประสงค์จะ "ประสานประโยชน์" ระหว่างชนชาติต่าง ๆ ในประเทศสยาม กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็ทรงเสนอพระราชดำริในแนวเดียวกัน ใน พ.ศ.2479 ทรงเน้นว่า

ที่เราว่า "ชาติ" นั้น เราไม่หมายความว่าไทย...อันที่จริงเมื่อเราใช้คำว่า "ชาติ" นั้น เราหมายความว่าชนชาวสยาม แต่ชนชาวสยามปะปนกันมาก ไม่พึงกล่าวถึงไทยที่มีเชื้อจีนปน (เช่นผู้เขียนนี้เอง) หรือไทยที่มีเชื้อแขก เชื้อฝรั่ง หรือเชื้ออื่น ๆ ซึ่งไม่รังเกียจหรือแตกแยกกับไทยแท้ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ย่อมถือเหมือนญาติร่วมเชื้อกันหมด ชนชาวสยามมีเป็นอันมาก ที่เป็นมลายู แขกครัว แขกเทศ กะเหรี่ยง คะมู ลว้า เขมร ล้วนแต่ไม่ใช่ไทย แต่เป็นชาวสยามทั้งนั้น บางพวกอยู่ในสยามก่อนไทยมาอยู่เสียอีก นอกจากนี้ยังมีจีนนอก และพวกแปลงสัญชาติ คือฝรั่งแท้และแขกแท้ เป็นต้น เราไม่รังเกียจพวกนั้นเลย (55)

ในพระนิพนธ์เรื่อง "รักชาติ" พ.ศ.2481 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ยังคงทรงยืนยันว่าประเทศสยามประกอบด้วยคนหลายชนชาติ แม้แต่คนไทยก็มีทั้ง ไทยเต็ม ไทยซีก ไทยเสี้ยว ส่วนศาสนาก็มีทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ และผี "รวมเป็นเดียวรักหมู่ไม่หู่หัน แม้จะต่างศาสนาบูชานันท์ ไม่สำคัญอะไรดอกบอกให้รู้" (56)

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นอีกผู้หนึ่งที่หลีกเลี่ยงการเน้นเชื้อชาติไทย ในเพลงชาติที่ท่านแต่งจึงไม่มีคำว่า "คนไทย" แต่ใช้คำว่า "ชาวสยาม" (57)

ผู้นำสำคัญคนหนึ่งในช่วงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 คือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ได้แสดงความเห็นคัดค้านเมื่อจอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ไทย" ตาม "เชื้อชาติ" หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เห็นว่า

คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้ว ก็ใช้ว่า "สยาม" เขาอาจจะน้อยใจได้ถ้าเราเลิกใช้ "สยาม" ใช้แต่ "ไทย" จะเกิดความรู้สึกว่า เอาพวกชาติอื่นออกเพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่า "สยาม" ก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ (58)

นอกจากสมาชิกของชนชั้นสูงในระบอบเก่าส่วนหนึ่งและชนชั้นนำในระบอบใหม่จำนวนไม่น้อยจะไม่เห็นด้วยกับการเน้น "เชื้อชาตินิยม" แล้ว ในกลุ่มลูกครึ่งไทย-จีนทั่วไปที่ไม่ได้สังกัดในฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เน้นเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยต่างพูดถึง "คนไทย" และมีความสำนึกในความเป็น "คนไทย" ในความหมายที่ไม่ได้เน้นเชื้อชาติในทางสายเลือด เช่น ในทศวรรษ 2470 นายมังกร สามเสนซึ่งเป็นคนเลือดผสมคนหนึ่ง ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนพ่อค้าไทย รวมทั้ง "อบรมราษฎรให้รู้จักรักเพื่อนคนไทยด้วยกัน"(59)

ลูกครึ่งจีน-ไทยจำนวนมากได้รวมตัวกันจัดตั้ง "หอการค้าไทย" ใน พ.ศ.2476 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการริเริ่มของลูกครึ่งหลายคน เช่น นายเล็ก โกเมศ, นายเจือ เพ็ญภาคกุล และนายประทุม สุสังกรกาญจน์ ซึ่ง "ปรับทุกข์ถึงเรื่องถูกบีบคั้นจากอิทธิพลและอำนาจจากต่างชาติ ทำไมคนไทยเราจึงไม่ตั้ง Chamber of Commerce เพื่ออุดหนุนเกื้อกูลและป้องกันผลประโยชน์ของบรรดาพ่อค้าไทย"(60) บรรดา "พ่อค้าไทย" เหล่านี้ คงไม่คิดว่าการมี "เชื้อชาติไทย" ในแง่การสืบสายเลือดจากคน "ไทยแท้" เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็น "คนไทย" หรือเป็นสมาชิกของ "ชาติไทย" แต่ความเป็นคนไทยที่ไม่เน้นการสืบสายเลือดเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแนวความคิดเรื่อง "การกลายเป็นไทย" (ที่ปัญญาชนกระแสหลักหลายคนให้ความสำคัญ) เป็นฐานทางความคิดที่ช่วยให้สามารถอยู่ในฐานะของ "คนไทย" ได้เช่นกัน แม้ว่าจะยังมีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากความคิดเรื่อง "เชื้อชาติ" ที่มีนัยยะของการสืบทอดลักษณะทางกายภาพเป็นข้อจำกัดของการ "กลายเป็นไทย" อยู่ไม่น้อย ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ต้องการที่จะ "กลายเป็นไทย" ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ความสำเร็จและผลกระทบของการเน้น "เชื้อชาติไทย"
ความสำเร็จของการเน้นเชื้อชาติไทยเห็นได้ชัดตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. ดำเนินการเปลี่ยนชื่อประเทศตามชื่อเชื้อชาติ ดังปรากฏว่าถึงแม้จอมพล ป. จะไม่แน่ใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ชื่อประเทศในรัฐธรรมนูญเปลี่ยนจาก "สยาม" เป็น "ไทย" นั้น จะได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐสภาเพียงพอหรือไม่ (เพราะจะต้องได้คะแนนเสียงถึงสามในสี่) แต่เมื่อมีการลงมติกลับปรากฏว่าได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ (61)

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนการลงคะแนนแก้ไขรัฐธรรมนูญ จอมพล ป.ได้แถลงเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อประเทศในสภาโดยเน้นว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเพื่อป้องกันมิให้ประเทศของคนไทยในอนาคตต้องตกเป็นของชาวจีน (62) แต่สมาชิกสภาก็ยังลงมติสนับสนุน ซึ่งแสดงว่ากระแสสังคมในเขตเมือง คงมีแนวโน้มหวั่นวิตกในปัญหาดังกล่าวอยู่ไม่น้อยเลย

ในการเน้น "เชื้อชาติ" นี้ มีการถ่ายทอดปลูกฝังผ่านความรู้ทางภูมิศาสตร์ที่สร้างฐานทางความคิดให้แก่ลักษณะทางกายภาพของ "เชื้อชาติ" ต่าง ๆ และคำว่า "เชื้อชาติ" ก็มีนัยยะให้คนไทยนึกถึงลักษณะทางกายภาพได้มาก นอกจากนี้ในการนิยาม "ชาติไทย" ไม่เพียงแต่จะมีการเน้นเชื้อชาติโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเน้นคุณลักษณะบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยอันฝังอยู่ในสายเลือดของคนไทย (ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จะสืบทอดมาสู่คนไทยในยุคหลัง) เช่น การเป็นชนชาติที่มีความจงรักในอิสรภาพของชาติ, ความปราศจากวิหิงสา, ความฉลาดในการประสานประโยชน์, ความเก่งกล้าสามารถในการรบ หรือการเป็นชนชาตินักรบ เป็นต้น (ส่วนโทษสมบัติ เช่น ความเกียจคร้าน ปัญญาชนกระแสหลักอธิบายว่าเกิดจากการรับอิทธิพลของชาติอื่น)

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ความคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะที่สืบทอดมาทางสายเลือดของคนไทยนี้ ปัญญาชนแต่ละคนมีจุดเน้นแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าปัญญาชนผู้นั้นต้องการให้คนไทยในยุคของตนมีคุณลักษณะในข้อใดเป็นพิเศษ มีคุณลักษณะเพียงประการเดียวที่มีการเน้นในทุกยุคทุกสมัย นั่นก็คือ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ"

เหตุที่มีการเลือกเน้น "เอกลักษณ์" ในข้อ "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" ขึ้นมาเน้นอย่างต่อเนื่อง ก็เพราะต้องการสร้างศัตรูของชาติให้คุกคามเอกราชอย่างมากที่สุดนั่นเอง การเน้นศัตรูของชาตินี้ จะทำให้คนในชาติสามัคคีกันภายใต้การนำของรัฐบาล จนพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ชีวิต และไม่หันมาต่อต้านรัฐบาลหรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากรัฐบาล รวมทั้งยอมปฏิบัติตนตามหน้าที่อย่างเต็มใจโดย "ไม่ก้าวก่ายเอิบเอื้อมไปเกี่ยวข้องกับสิ่งซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเรา" ซึ่งหมายความถึงการไม่เข้ามายุ่งเกี่ยววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และระบบราชการ และไม่เสนอความคิดเห็นใด ๆ อันไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของตนนั่นเอง (63)

สำหรับเอกลักษณ์อีกหลายข้อของชนชาติไทยที่ปัญญาชนในอดีตสร้างขึ้น เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเน้น "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" (ซึ่งหมายรวมถึงความฉลาดในการประสานประโยชน์กับชาวจีนด้วย) เห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นนำระหว่างทศวรรษ 2480 จนถึงทศวรรษ 2510 เพราะไม่เพียงแต่ชนชั้นนำในช่วงดังกล่าวนี้จะต้องการกีดกัน เบียดขับ และปราบปราม "ลูกจีน" ทั่ว ๆ ไปที่ไม่ยอมกลายเป็นไทยเท่านั้น แต่ยังดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทำให้ไม่สามารถเน้นเอกลักษณ์ไทยในข้อ "ความปราศจากวิหิงสา" และ "ความฉลาดในการประสานประโยชน์" ได้เลย จะมีก็แต่การทำให้เห็นว่า ชาติไทยมีศัตรูที่คุกคามเอกราชของชาติอย่างรุนแรง เพื่อเน้น "ความจงรักในอิสรภาพของชาติ" ซึ่งจะทำให้คนไทยต่อสู้กับศัตรูของชาติอย่างเต็มที่

ในทศวรรษ 2480 ถึงแม้ว่าจุดมุ่งหมายในการสร้าง "ชาติไทย" ให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง (ที่ทำให้ต้องเน้นเชื้อชาติไทยเพื่อเป็นฐานให้แก่นโยบายนี้) จะไม่บรรลุผล เนื่องจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความรู้สึก "เชื้อชาตินิยม" กลับมีพลังอย่างสูงสืบต่อมา และทำให้สามารถกีดกันลูกจีนไม่ให้มีอำนาจในระบบราชการ และในระบบการเมืองไทยได้เป็นเวลานาน

จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาราว 50 ปี (ตั้งแต่ทศวรรษ 2480 จนถึงทศวรรษ 2520) เป็นไปไม่ได้เลยที่ลูกจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของชาติ ตราบจนกระทั่งลูกจีนในรุ่นถัดมาได้ "กลายเป็นไทย" ไปมากแล้วในทศวรรษ 2530 และเศรษฐกิจกับวัฒนธรรมไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นแล้ว "คนไทยเชื้อสายจีน" จึงมีพื้นที่ในสังคมการเมืองไทยมากขึ้นตามลำดับ จนเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจรัฐไว้ได้เกือบเบ็ดเสร็จ ในทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

ปัจจัยหนึ่งที่น่าจะทำให้ความคิดเรื่องเชื้อชาติเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางและมั่นคงนานพอสมควร คือเพลงชาติ เพราะเพลง "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย..." ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศพร้อมกับพิธีกรรมเคารพธงชาติตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน การที่รัฐและปัญญาชนกระแสหลักเน้น "ความเป็นไทย" หรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติไทยที่มีลักษณะแช่แข็งตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ก็สร้างความรู้สึกนึกคิดว่าเอกลักษณ์ไทยเป็นลักษณะเฉพาะ ที่ฝังแน่นติดตรึงอยู่ในสายเลือดของชนชาติไทย ความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ยิ่งเสริมคติเชื้อชาตินิยมให้มีแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก

(จบตอนที่ ๑)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2547. หน้า 187-191.

(2) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, "ปัญญาชนและการสร้างอัตลักษณ์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 11 มีนาคม 2543.


(3) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 11 มีนาคม 2543. หน้า 11.


(4) ห.จ.ช.ร.6 บ.17/4 คำชี้แจงนายร้อยตรีบรรจบ 5 มีนาคม ร.ศ.130.

(5) ห.จ.ช.ร.6 บ.17/5 คำชี้แจงนายร้อยตรีเหรียญ 4มีนาคม ร.ศ.130.

(6) ห.จ.ช. ร.6 บ.17/6. อ้างในนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" หน้า 11.

(7) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" หน้า 14-15.

(8) ปรารถนา โกเมน, "สมาคมจีนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2440-2488" วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533. หน้า 136.

(9) เรื่องเดียวกัน, หน้า 142.

(10) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 (2542) หน้า 6.

(11) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" หน้า 7.

(12) เซียวฮุดเส็ง, "กิจที่ควรปฏิบัติ" หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ วันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.129.

(13) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน" หน้า 4-5.

(14) เรื่องเดียวกัน, หน้า 6-7.

(15) ดูรายละเอียดในเรื่องเดียวกัน, หน้า 8-9. เป็นที่น่าสังเกตว่านักหนังสือพิมพ์เช่น เซียวฮุดเส็งเสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจโดยมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาทางเศรษฐกิจของชาวจีนกับของชาวนาไทย ดังที่เขาวิเคราะห์ความทรุดโทรมของการค้าว่า "ผลที่ราษฎรได้เงินจากสินค้าข้าวลดน้อยลงไปนั่นแล เปนปัจจัยทำให้การค้าขายอื่น ๆ พลอยทรุดโทรมลง" (หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ 10 กุมภาพันธ์ ร.ศ.129) ซึ่งปรากฏว่าเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ข้าวในทศวรรษ 2450 กิจการของนายทุนจีนประสบภาวะขาดทุน ถึงขั้นล้มละลายเดือนละหลายราย โปรดดู ปรารถนา โกเมน, สมาคมชาวจีนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2440-2488. หน้า 132

(16) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 (2542) หน้า 7.

(17) เรื่องเดียวกัน, หน้า 9.

(18) เรื่องเดียวกัน, หน้า17.

(19) พระยาสุริยานุวัตร, ทรัพยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ: พิฆเณศ, 2518. หน้า 4.

(20) เรื่องเดียวกัน, หน้า 178-179.

(21) หจช.ต. 21/14 สำเนาพระราชหัตเลขาลับถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ร.ศ.127.

(22) สายชล สัตยานุรักษ์, "ปัญญาชนและการสร้างอัตลักษณ์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 11 มีนาคม 2543. หน้า 18.

(23) เรื่องเดียวกัน.

(24) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พระมงคลวิเสสกถา กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2497.

(25) ขุนวิจิตรมาตรา, 80 ปีในชีวิตของข้าพเจ้า พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนวิจิตรมาตรา 9 ตุลาคม 2523. กรุงเทพฯ: บัณฑิตการพิมพ์, 2523. หน้า 406-407.

(26) อ้างใน เริงไชย พุทธาโร เหม เวชกร จิตรกรมือเทวดา หลวงสารานุประพันธ์ ราชาเรื่องลึกลับผู้ประพันธ์เพลงชาติไทย กรุงเทพฯ: ธานธิตรเพรส, 2531. หน้า 191.

(27) หนังสือพิมพ์ประมวญวัน 6 มิถุนายน 2482 อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 88 และ 95.

(28) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 80.

(29) อ้างในเรื่องเดียวกัน, หน้า 90.

(30) "หลวงวิจิตรวาทการ, "ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติระหว่างไทยกับเขมร" ใน สารคดีและสิ่งน่ารู้จากปาฐกถาและคำบรรยายของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ กรุงเทพฯ: เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2516. หน้า 6.

(31) หลวงวิจิตรวาทการ, "การเคารพธงชาติ" วิจิตรวาทการอนุสรณ์ เล่ม 2 ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 16 สิงหาคม 2525. กรุงเทพฯ: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505. หน้า 193.

(32) หลวงวิจิตรวาทการ, ชาตินิยม พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ดำรงการพิมพ์, 2528. หน้า 37-38.

(33) หลวงวิจิตรวาทการ, "นโยบายชาตินิยม" รำลึก 100 ปี พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2541. หน้า 146-147.

(34) ด้วยเหตุผลข้างต้น การเน้นเชื้อชาติจนถึงกับตั้งชื่อประเทศตามชื่อเชื้อชาติ จึงไม่น่าจะเป็นผลโดยตรงจากการที่หลวงวิจิตรวาทการไปเวียดนามและได้พบว่ามีคนไทยอยู่นอกประเทศเป็นอันมาก แต่การไปเวียดนามน่าจะช่วยให้หลวงวิจิตรวาทการมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น จนสามารถชี้แจงให้คนอื่น ๆ คล้อยตามได้ง่ายขึ้น

(35) เรื่องเดียวกัน, หน้า 97.

(36) โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ, หน้า 76-78.

(37) โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 95.

(38) เรื่องเดียวกัน, หน้า 94.

(39) โปรดดูรายชื่อข้อเขียนจำนวนมากของหลวงวิจิตรวาทกาที่เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทศวรรษ 2470 ใน สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการการ . หน้า 30-31.

(40) สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาท หน้า 134-148.

(41) หลวงวิจิตรวาทการ "ปาฐกถาเรื่องการเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" แสดงแก่ครูอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนกรมยุทธศึกษา 18 ตุลาคม 2483 ใน วิจิตรอนุสรณ์ กรุงเทพฯ: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505. หน้า 157-162.

(42) อ้างใน ประอรรัตน์ บูรณมาตร์, หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528. หน้า 88.

(43) อ้างในเรื่องเดียวกัน, หน้า 89.

(44) อ้างในเรื่องเดียวกัน, หน้า 40.

(45) หลวงวิจิตรวาทการ "ปาฐกถาเรื่องการเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" แสดงแก่ครูอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนกรมยุทธศึกษา 18 ตุลาคม 2483 ใน วิจิตรอนุสรณ์. หน้า 138.

(46) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547). หน้า 87.

(47) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 (2542) หน้า 29.

(48) หอม นิลรัตน์ "นักการเมืองมีมากเท่าขนวัว แต่รัฐบุรุษเสมือนเขาวัวเท่านั้น" สยามหนุ่ม 30-31 ตุลาคม 2475. อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับโครงการ 60 ปีประชาธิปไตย, 2535. หน้า 227.

(49) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิเคราะห์ว่า การเสนอเปลี่ยนชื่อสยามเป็นไทยของหลวงวิจิตรวาทการ มาจากความคิดที่ต้องการเทิดทูน (glorify) เชื้อชาติไทยตามคติเชื้อชาตินิยม (Racism) และปฏิเสธสถานะและสิทธิของคน (เชื้อชาติ) จีน ทั้งนี้ แม้ว่าอาจารย์สมศักดิ์จะได้แสดงและวิเคราะห์หลักฐานจำนวนมากอย่างน่าเชื่อถือและน่าสนใจยิ่ง แต่น่าเสียดายที่มิได้อธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่ข้อเขียนของอาจารย์สมศักดิ์มีนัยยะว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความรู้สึกต่อต้านจีนของหลวงวิจิตรวาทการและจอมพล ป. พิบูลสงครามเอง ซึ่งอาจารย์สมศักดิ์มองว่าเป็นเรื่อง irony เพราะหลวงวิจิตรวาทการเองเป็นคนมีเลือดจีนผสม แม้ว่าอาจารย์สมศักดิ์จะกล่าวถึงปาฐกถาที่หลวงวิจิตรวาทการอ้างว่าการใช้ชื่อว่าประเทศสยามต่อไป จะทำให้คนจีนมีโอกาสเข้าสภา เพราะรัฐธรรมมนูญระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวสยามซึ่งคำว่า "ชาวสยาม" นี้ "ย่อมจะหมายความฉะเพาะแต่ชาติไทย ต้องหมายความถึงชนชาติอื่น ๆ ที่เป็นชาวสยามด้วย" และการที่กฎหมายเลือกตั้งที่ "จำกัดให้ฉะเพาะชนชาติไทยนั้น...ขัดกับรัฐธรรมนูญ " แต่อาจารย์สมศักดิ์เห็นว่าประเด็นนี้เป็นเพียงข้ออ้าง หรือเป็น "ปัญหาปลอม ๆ " มิใช่ปัญหาจริง ๆ โดยอาจารย์สมศักดิ์ให้เหตุผลว่า "สิทธิเลือกตั้งที่จำกัดเฉพาะคนสัญชาติไทย (คือเกิดที่นี่) เป็นไปตามบรรทัดฐานสากล" โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 77-96. และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547).

(50) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 77-96.

(51) หากอคติทางเชื้อชาติมีความสำคัญ หลวงวิจิตรวาทการย่อมไม่ประกาศว่า ญวน และเขมรเป็นคน "เชื้อชาติไทย" เป็นแน่

(52) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547). หน้า 98.

(53) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 84.

(54) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547). หน้า 99.

(55) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, "ชาติและอารยะ" ใน ผสมผสาน ชุด 3 กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2513. หน้า 141-142.

(56) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, "รักชาติ" ใน ผสมผสาน ชุด 3 กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2513. หน้า 480-486.

(57) โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 48.

(58) อ้างใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 80.

(59) อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ" รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่ 3 (2542). หน้า 26-28.

(60) อ้างใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 31.

(61) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "ประเทศไทยอายุครบ 65: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2547). หน้า 92.

(62) ข้อความที่จอมพล ป.กล่าวมีความตอนหนึ่งว่า "การที่เราใช้คำว่าประเทศสยามนั้น นอกจากจะไม่ตรงกับเชื้อชาติของเราแล้ว ในต่อไปภายหน้าคนชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเรา ก็อาจที่จะถือเอาสิทธิประเทศของเราเป็นประเทศของเขาก็ได้ คือเราเป็นชาวไทย เราก็อยู่ในประเทศสยาม ชาวจีนก็อยู่ในสยาม ถ้าหากว่าการที่อพยพของชาวต่างประเทศมากขึ้นในต่อไปข้างหน้าตั้งพันปี เราก็อาจจะไม่เข้าใจว่าประเทศสยามนี้เป็นของไทยหรือของจีน หรือของคนอื่น" โปรดดูเรื่องเดียวกัน, หน้า 92.

(63) สายชล สัตยานุรักษ์, ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างชาติไทยและความเป็นไทยโดยหลวงวิจิตรวาทการ. หน้า 84.

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
261248
release date
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
1234567890 -A12345678
ที่เราว่า "ชาติ" นั้น เราไม่หมายความว่าไทย...อันที่จริงเมื่อเราใช้คำว่า "ชาติ" นั้น เราหมายความว่าชนชาวสยาม แต่ชนชาวสยามปะปนกันมาก ไม่พึงกล่าวถึงไทยที่มีเชื้อจีนปน (เช่นผู้เขียนนี้เอง) หรือไทยที่มีเชื้อแขก เชื้อฝรั่ง หรือเชื้ออื่น ๆ ซึ่งไม่รังเกียจหรือแตกแยกกับไทยแท้ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ย่อมถือเหมือนญาติร่วมเชื้อกันหมด ชนชาวสยามมีเป็นอันมาก ที่เป็นมลายู แขกครัว แขกเทศ กะเหรี่ยง คะมู ลว้า เขมร ล้วนแต่ไม่ใช่ไทย แต่เป็นชาวสยามทั้งนั้น บางพวกอยู่ในสยามก่อนไทยมาอยู่เสียอีก นอกจากนี้ยังมีจีนนอก และพวกแปลงสัญชาติ คือฝรั่งแท้และแขกแท้ เป็นต้น เราไม่รังเกียจพวกนั้นเลย (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)