กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น

เว็บไซต์ที่บอกไม่ได้ว่ามีคุณภาพหรือไม่ เพราะคุณต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะใช้คำคุณศัพท์ที่เหมาะสมกับเว็บนี้อย่างไร?
เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการนำความรู้ที่นำเสนอไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการและสังคม
หากนำเอางานวิชาการไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnight2545(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)gmail.com

ขอขอบคุณ https://thaiis.com/ ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่เพื่อการศึกษา
คลิกที่ตัวอักษร a-z เพื่อค้นหาหัวเรื่องตามที่ต้องการ
.........................
copyleft by The Midnightuniv
สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน(บรรณาธิการเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน และสังคมไทยของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ
อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ติดต่อที่ midnightuniv(at)yahoo.com/ midnightuniv(at)gmail.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถคลิกอ่านบทความได้ที่สารบัญ (content 001-800) ข้างบนแถบสีส้มนี้ / ไม่สงวนลิขสิทธิ์
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาส่งไปที่ midarticle(at)yahoo.com

Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.

รายงานข่าวจากประชาไทออนไลน์ เกี่ยวกับการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ฉบับการทำลายการปฏิรูปการเมือง (ฉบับเวทีสนามหลวง)
และรายงานข่าวจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เรื่อง 76 อาจารย์ร่วมสมัชชาคนจน รณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กองบรรณาธิการขอใช้สิทธิ์ในการอนุญาตให้มีการคัดลอกและนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ทุกเมื่อ
คลิกไปหน้า home page เก่า
Midnight-Update : 28 May 2007
เว็บไซต์ที่มีการคลิกมากกว่า 2.0 - 2.5 ล้านคลิกต่อเดือน
โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษใหม่เพื่อสังคม

 

แถลงการณ์: ร่วมกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง (23 พฤษภาคม 2550)

บรรดานักวิชาการ 76 คน ดังรายนามข้างท้ายนี้ ขอร่วมมือกันตามระบอบประชาธิปไตยประกาศแก่สังคมไทยว่า

แถลงการณ์
ร่วมกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง


ปฏิรูปการเมืองเป็นคำตอบที่สังคมไทยร่วมกันค้นพบกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว เพื่อตอบปัญหาที่รุมเร้าประเทศไทยในหลายด้าน ส่วนหนึ่งของคำตอบเชิงสถาบันคือรัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๔๐ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่สังคมไทยมีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นมากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา โดยอาศัยกระบวนการร่างที่มุ่งจะฟังเสียงประชาชนมาแต่แรก จึงจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้น อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันข้อเสนอของตนเข้าไปในรัฐธรรมนูญ

"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" จึงมีความพยายามจะเสนอการปฏิรูปการเมืองในเชิงสถาบันไว้หลายประการ และได้มีโอกาสใช้งานจริงเกือบ ๑๐ ปี ทำให้สังคมเห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าการรัฐประหารในวันที่ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙ สังคมไทยเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องแก้ไขข้ออ่อนของรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน

แต่การรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้ทำลายพัฒนาการทางการเมืองโดยหลักนิติธรรมลงไป และบัดนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้อำนาจเผด็จการหลังรัฐประหาร ก็กำลังได้รับการเสนอเพื่อการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้สังคมไทยหันกลับไปสู่การเมืองยุคเก่า ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำให้สังคมไทยอ่อนแอจนไม่สามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่ถาโถมเข้าสู่ประเทศของเราได้ และแน่นอนว่าทำให้การปฏิรูปการเมืองโดยผ่านกระบวนการร่วมกันของสังคมไทยต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง บุคคลและองค์กรที่ลงนามข้างล่างนี้จึงขอเสนอแก่สังคมไทยว่า เราควรร่วมมือกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยผ่านการลงประชามติหากมีการจัดขึ้นในภายหน้า

ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนเราว่า พลังที่ผลักดันให้การปฏิรูปการเมืองสัมฤทธิ์ผลได้นั้นมีอยู่ 2 ประการ คือพลังทางสังคมและพลังที่เกิดจากการจัดระบบการเมืองที่ตรวจสอบได้, ต้องรับผิด, และอยู่ในความควบคุมและถ่วงดุลของอำนาจที่หลากหลายและเป็นอิสระต่อกันพอสมควร

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้กลับสวนกระแสของพลังปฏิรูปการเมืองดังกล่าวนี้ แม้ดูเหมือนมีการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากกว่ารัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งเท่ากับเพิ่มพลังของสังคมในการตรวจสอบและควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ หากทว่าประสบการณ์ที่ได้ใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาเกือบ ๑๐ ปี พบว่าสิทธิเสรีภาพเหล่านี้มีแต่บนกระดาษ ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันในด้านปฏิบัติได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ, การมีสื่อที่เป็นของประชาชน, การรวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง, หลักประกันสวัสดิการพื้นฐาน, ฯลฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง

ปฏิรูปการเมืองต้องหมายถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นจริงในทางปฏิบัติ มิฉะนั้นสังคมจะมีพลังกำกับควบคุมให้ระบบการเมืองดำเนินไปอย่างถูกทำนองคลองธรรมได้อย่างไร

ในด้านระบบการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ไว้วางใจประชาชนเจ้าของประเทศ จึงริบสิทธิเลือกตั้งองค์กรทางการเมืองไปจากประชาชน พร้อมกันกับทำให้ระบบการแต่งตั้งองค์กรอิสระทั้งหลายไม่ยึดโยงกับพลังทางสังคม แต่ไปผูกติดกับระบบราชการ ระบบเลือกตั้งมุ่งแต่จะไม่ให้เกิดพรรคใหญ่โดยไม่สนใจว่าจะทำลายความเป็นตัวแทนประชาชนของนักการเมืองลงไปมากสักเพียงใด การใช้อำนาจอธิปไตยก็เต็มไปด้วยความสับสน เพราะมีการก้าวก่ายอำนาจกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ใช้อำนาจอธิปไตย โดยเฉพาะจากฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร ในทางปฏิบัตินักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะอ่อนแอจนไม่สามารถริเริ่มนโยบายใหม่ใดๆ ได้ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบของระบบราชการเสียก่อน จึงสมกับที่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับขุนนางที่มุ่งจะรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตยกลับขึ้นมาใหม่

พวกเราดังมีรายนามข้างล่างนี้จึงมีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำประเทศไทยถอยหลังกลับไปหลายสิบปี อำนาจและสิทธิของประชาชนที่ได้มาด้วยการต่อสู้จนสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อไปนับไม่ถ้วน จะต้องถูกริบไปจนไร้ความหมาย จึงไม่ควรนำมาใช้กำหนดความสัมพันธ์ในรัฐของเรา ควรร่วมมือกันไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ และเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับมาใช้ใหม่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงสองประเด็นคือ

๑) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน ๖๐ วัน
๒) รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกระบวนการที่นักการ
เมืองไม่มีอำนาจเข้ามากำกับควบคุมการแก้ไข แต่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

แท้จริงแล้ว ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดในโลกที่เป็นเอกสารสมบูรณ์พร้อมและสถิตสถาพรโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยกระบวนการทางสังคม นั่นคือเกิดสำนึกใหม่ในสิทธิเสรีภาพบางประการหรือบางมิติ จนทำให้ต้องมีการจัดความสัมพันธ์ในองค์กรทางการเมืองใหม่ สังคมที่เสรีคือเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง ไม่มีอำนาจ"บริสุทธิ์"ของทหารหรือการรัฐประหารใดๆ จะทำหน้าที่นี้แทนสังคมเสรีได้ การนำเอารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับมาใช้ใหม่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองเดินหน้าต่อไปได้

โดยวิธีนี้เท่านั้นที่จะนำสังคมไทยกลับไปสู่ความสงบเรียบร้อย และกู้คืนเกียรติภูมิที่สูญเสียไปจากการรัฐประหารกลับมาได้อย่างถาวร โดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อดังเหตุการณ์ที่ผ่านมาอีก

พวกเราที่มีชื่อข้างท้ายนี้จึงใคร่ขอให้พี่น้องร่วมมือกันรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการลงประชามติ เพื่อผลักดันให้นำเอา"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"กลับมาแก้ไขปรับปรุง ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยในภายหน้า โดยการใช้สีเขียวตองอ่อนเป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน ท่านอาจติดแถบริบบิ้นสีเขียวตองอ่อนที่พาหนะของท่าน ติดแถบเขียวตองอ่อนกับเครื่องแต่งกาย ใช้แถบข้อมือสีเขียวตองอ่อน ติดธงเขียวตองอ่อน หรือวิธีอื่นใดที่ท่านอาจคิดขึ้นเองเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ร่วมกันดังกล่าว ทั้งนี้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับคืนมา พร้อมทั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

76 นักวิชาการทั่วประเทศ
(๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐)


ม.เที่ยงคืนชูสีเขียวตองอ่อน ไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับ 'เวทีสนามหลวง'

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

ประชาไท - 25 พ.ค. 50 ตามที่มีการแถลงการณ์ของนักวิชาการหลายสถาบัน เรื่อง "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง" ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 50 นั้น

โดยประกาศไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญโดยการลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงสองประเด็นคือ

1. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน และ
2. รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกระบวนการที่นักการเมืองไม่มีอำนาจเข้ามากำกับควบคุมการแก้ไข แต่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อการร่างรัฐธรรมนูญ นั้น

โดยในท้ายแถลงการณ์ นักวิชาการกลุ่มนี้ยังเชิญชวนประชาชนร่วมมือกันรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการลงประชามติ เพื่อผลักดันให้นำเอา "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" กลับมาแก้ไขปรับปรุง ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยในภายหน้า โดยการใช้สีเขียวตองอ่อนเป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน โดยอาจติดแถบริบบิ้นสีเขียวตองอ่อนที่พาหนะ เครื่องแต่งกาย ใช้แถบข้อมือสีเขียวตองอ่อน ติดธงเขียวตองอ่อน หรือวิธีอื่นใดที่อาจคิดขึ้นเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ร่วมกันดังกล่าว ทั้งนี้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญปี 2540 กลับคืนมา พร้อมทั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

สำหรับบรรยากาศการแถลงข่าวนั้น ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ ประกอบไปด้วยนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหลายสิบคน นำโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และมี รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 25550. ตามที่ได้นัดหมายกันทั่วประเทศ

นิธิยันคว่ำร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ทำให้เลือกตั้งช้า
โดยหลังอาจารย์สมเกียรติ อ่านแถลงการณ์จบ อาจารย์นิธิ ชี้แจงกรณีที่การเรียกร้องให้ลงประชามติ 'ไม่รับ' ร่างรัฐธรรมนูญว่าอาจทำให้คนไทยบางกลุ่มวิตกว่าการเลือกตั้งจะล่าช้าลงนั้น แต่ถ้าเรากลับไปดูในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ถ้ามีการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คมช.มีหน้าที่สรรหารัฐธรรมนูญ จะแก้ไขหรือไม่ก็แล้วแต่ และประกาศใช้ แล้วจัดการเลือกตั้งหลังประกาศใช้ 30 วัน ก็แปลว่า สมมติดำเนินการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ก็จะช้าไป 1 เดือน ในทางตรงกันข้าม ถ้าดำเนินการอย่างรวดเร็ว ก็อาจมีการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นก็ได้

ปัญหาที่ตามมาทันทีคือ ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับที่ คมช.เป็นผู้เลือก จะดีกว่า? เราไม่ได้คิดว่ารัฐธรรมนูญที่ คมช. เป็นผู้เลือกจะดีกว่า เลวกว่า เราไม่ทราบ เพราะเขายังไม่ได้เลือก แต่คิดว่าถ้าเราลงประชามติร่วมกันคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นมาในตอนนี้ มันเกิดเป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคนที่มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ ที่จะเคลื่อนไหวกดดันให้ คมช. เลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดสำหรับพวกเรา คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ไม่มากไปกว่าการจัดให้เกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น อาจารย์นิธิกล่าว

ไม่มีนักวิชาการใต้ร่วมแถลง ขอสื่อแก้ข่าว
อาจารย์นิธิกล่าวต่อไปว่า เพราะฉะนั้น ความห่วงใยเรื่องจะทำให้การเลือกตั้งช้าลง จริงๆ แล้วมันจะไม่ช้าลง หรือถ้าช้าลง ก็จะไม่เกิน 1 เดือน ยังไงๆ ก็ต้องมีการเลือกตั้ง ถึงเราคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยประชามติก็ตาม และถ้าเราคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ก็แปลว่าเรามีพลังพอที่จะกดดันให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เราต้องการกลับคืนมา โดยมีกระบวนการแก้ไขที่เราสามารถกำกับควบคุมได้ ไม่ใช่เลือกเทวดาจำนวนหนึ่งมาร่างรัฐธรรมนูญให้เรา

ประเด็นต่อมาคือ ถ้าท่านดูรายชื่อข้างหลัง(แถลงการณ์ ที่แจกให้ผู้สื่อข่าว มีรายชื่อนักวิชาการ 76 คน) จะเห็นได้ว่าไม่มีนักวิชาการจากภาคใต้เลย คือเราไม่ประสบความสำเร็จในการเชิญชวนนักวิชาการในภาคใต้ให้ร่วมลงนามกับเรา ฉะนั้น ที่มีข่าวในแหล่งข่าวบางแห่งว่าจะมีการแถลงข่าวพร้อมกันในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จริงๆ แล้วจะไม่มีการแถลงอะไรในภาคใต้เลย เพราะว่าเราไม่สามารถหานักวิชาการมาร่วมแถลงข่าวกับเราได้ แหล่งข่าวบางแห่งก็ออกชื่อนักวิชาการเลยว่าเป็นใคร ซึ่งไม่จริง ขอให้ช่วยแก้ข่าวตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจารย์ท่านนั้นจะได้รับความเสียหาย จากการที่สื่อบางแห่งไประบุชื่อ
(หมายเหตุ: ข้อผิดพลาดนี้ เกิดจากการจดบันทึกรายงานการประชุมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งได้ระบุชื่อผู้แถลงข่าวในแต่ละภูมิภาครอบแรก โดยบางคนยังอยู่ในระหว่างการทาบทาม และไม่ได้ทำเครื่องหมายดอกจันทร์ไว้ จึงทำให้มีการนำเอาบางส่วนของบันทึกรายงานฯ แนบไปพร้อมกับจดหมายเชิญชวนนักวิชาการ 76 คน และด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีของคณาจารย์ที่ร่วมลงชื่อ จึงได้มีการ forward จดหมายเชิญชวนฉบับนี้ไปยังเพื่อนนักวิชาการ และเพื่อนสื่อมวลชนทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น - รายละเอียดในเรื่องนี้ สอบถามได้ที่ อ.สมเกียรติ ตั้งนโม - midnightuniv(at)gmail.com)

ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ไม่สู้ทหารบนท้องถนน ขอหาจุดเริ่มต้นสันติมาปฏิรูปการเมืองร่วมกัน
จากนั้นมีการเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถาม, อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายถึงเหตุที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า เพราะไม่เห็นด้วยกับ 'กระบวนการ' ด้วยกระบวนการมันผิดมาแต่ต้น ที่ทำรัฐประหารแล้วเขียนรัฐธรรมนูญ

"แต่ถึงที่สุดแล้ว ถามว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องกระบวนการอย่างไร คำตอบที่ตัวผมซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับคนอื่นในที่นี้ ก็คือไม่รู้จะแก้อย่างไร นอกจากออกไปท้องถนนไปต่อสู้กับกลุ่มทหารที่ 'ทำการรัฐประหาร ท่ามกลางความเห็นชอบของคนกรุงเทพฯ อย่างท่วมท้น' ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้. ฉะนั้น เราก็อยากจะมองหาจุดเริ่มต้นที่มันเป็นไปได้สำหรับประเทศของเรา จะหาจุดเริ่มต้นตรงไหน ในความเห็นของพวกเราคือ หาจุดเริ่มต้นอันหนึ่งที่มันไม่เกิดความรุนแรงด้วย ก็คือการนำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใหม่ เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา ฉะนั้นในแถลงการณ์ฉบับนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของตัวร่างรัฐธรรมนูญ ตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ไปพร้อมๆ กัน

หวังสังคมชี้ข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญแทนที่เทวดา
มีผู้ถามว่า ทำไมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงไม่ระบุจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญที่จะต้องแก้ อาจารย์นิธิกล่าวว่ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคงชี้ไม่ได้ แต่อยากให้มีกระบวนการที่สังคมสามารถช่วยกันชี้ข้อบกพร่อง ซึ่งคิดว่ากระบวนการนั้นน่าจะมาจากการที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) อย่างที่เคยทำกันมา จะโดยวิธีใดก็แล้วแต่ แต่ทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนของคนหลากหลายกลุ่มในสังคม มากกว่าเราชี้ว่าแก้ตรงนั้นแก้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นมันผิดหลักการมาตั้งแต่ต้น ที่คุณคิดว่าจะให้มีเทวดาที่ชี้ได้ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่อยากเป็นคนชี้

มีผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เคลื่อนไหวให้ติดริบบิ้นสีเขียว ถ้าไม่มีคนมีส่วนร่วมเลย จะเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการหรือไม่? อาจารย์นิธิกล่าวว่า "ถ้าคนไม่มีส่วนร่วม หรือไม่ยอมติดริบบิ้นเลย ผมว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่ง่ายที่สุดแล้ว ถ้าเขาไม่ติดริบบิ้นเลย คุณจะไปแก้อะไร แก้ผ้ากันหมดไหม? มันก็ยากขึ้นไปใหญ่ใช่ไหม ถ้าง่ายที่สุดแล้วเขายังไม่ทำตาม ก็แสดงว่าเขาไม่เห็นด้วยกับเรา การที่เราเคลื่อนไหวไม่ใช่แปลว่าทุกคนต้องทำตาม เรามีความคิดอย่างนี้ เสนอแก่สังคมอย่างนี้ ถ้าสังคมเห็นด้วยกับเราก็ต้องช่วยกัน เฉพาะนักวิชาการ 76 คนคงเปลี่ยนสังคมไทยไม่ได้ ถ้าสังคมไทยเองไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองด้วย"

'สมเกียรติ' เสนอจุดประนีประนอมใช้ 'คูหาลงประชามติ' เชื่อมต่อประชาธิปไตย
อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า ช่วง 7-8 เดือนหลังการรัฐประหารที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มมองเห็นแล้วว่า การรัฐประหารไม่ได้เป็นคำตอบในการแก้ปัญหาทางการเมือง โดยอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม เรียกสภาพหลังรัฐประหาร 19 กันยา จนถึงก่อนเลือกตั้งว่า 'สภาพสูญญากาศทางการเมือง' คือ มีผู้บริหารที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีคนที่ผิดกฎหมายกำลังปกครอง ในสภาพบรรยากาศแบบนี้ การจะเริ่มต้น จำเป็นต้องมีจุดตั้งต้น ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มีความขัดแย้งและปะทะกันในอนาคต ฉะนั้นจุดที่ประนีประนอมที่สุดในสภาพสูญญากาศนี้ คือ 'คูหาลงประชามติ' ที่เราพอยอมรับได้ในการเชื่อมต่อระหว่างจุดสูญญากาศกับความมีประชาธิปไตยคือคูหาเลือกตั้ง

รัฐประหารทำให้ปฏิรูปการเมืองชะงัก ชี้ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นฉบับ 'เวทีสนามหลวง'
มีผู้สื่อข่าวถามว่าตามที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ (14 พ.ค. 50) ว่านักวิชาการที่ออกมาคัดค้านรัฐธรรมนูญมีอคติ และแนะนำให้เสนอแก้ตามมาตราที่มีปัญหา อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม ตอบว่า ขอถามกลับคุณประสงค์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ "เวทีสนามหลวง" หรือเปล่า เพราะคนที่เป็นประธานในการร่างรัฐธรรมนูญ อยู่บนเวทีสนามหลวงหลายเดือนติดต่อกัน

อาจารย์สมเกียรติยังกล่าวว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดมาจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน ซึ่งวันที่ 28 กันยายน 2549 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ฉีกรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 4 คนไปแล้ว เพราะกระบวนการไม่ชอบธรรม แต่เราไม่อาจนำเรื่องกระบวนการนี้ขึ้นมานำเสนอได้โดยที่ไม่มีเหตุผล หลังจากได้พินิจพิจารณาเหมือนกับพี่น้องชาวไทยทุกคน โดยให้โอกาส ส.ส.ร.ชุดนี้ หรือ 35 อรหันต์ร่างรัฐธรรมนูญมาให้เราดูแล้ว ผลสรุปว่า นี่คือผลผลิตของสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการนั่นเอง

ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า การที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น มองไม่เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ตามที่หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์หรือ อาจารย์สมเกียรติกล่าวว่า ในแถลงการณ์ระบุชัดว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มีข้อบกพร่อง ขณะเดียวกันก็มีกลไกที่ประชาชนคาดหวังจะให้ปฏิรูปการเมือง แต่ก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน ฉะนั้นสิ่งที่แถลงการณ์เสนอ คือ ทำให้กลไกและกระบวนการนี้เดินหน้าต่อไป คือหลังจากเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว ส.ส. หรือนักการเมืองทั้งหมดห้ามยุ่งเกี่ยวหรือเข้ามาควบคุม แก้ไข หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ต้องเป็นไปตามกลไกเลือกตั้ง ส.ส.ร. อีกชุดหนึ่งที่มาจากประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และแก้ไข

สิ่งที่ต่างจากกลุ่มรักทักษิณและกลุ่มไม่เอารัฐประหาร
เราแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่เอารัฐประหารอย่างไร ในบรรดากลุ่มที่ไม่เอารัฐประหารแต่ละกลุ่ม มีเหตุคนละชนิดกับเรา แต่มีผลคล้ายกับเรา กรณีกลุ่มทักษิณเชิดชูผู้นำ ซึ่งตรงข้ามกับความคิดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและบุคคลที่เซ็นชื่อในกลุ่มนี้ เพราะเราเชื่อมั่นในพลังประชาชนไม่ใช่ผู้นำ. ส่วนกลุ่มไม่เอารัฐประหารต่างๆ ล้วนแล้วแต่คิดว่ากระบวนการรัฐประหารผิดตั้งแต่ต้น จึงไม่เอาอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นพอกระบวนการผิด คุณไม่ต้องพูดอะไรต่อถูกไหม เป็นจุดที่อย่างนี้สังคมไทยรับไม่ได้ และพิสูจน์เห็นชัดว่าการเคลื่อนไหวของหลายๆ กลุ่มในหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวที่มีส่วนผลักดันทางการเมืองค่อนข้างน้อยพอสมควร แน่นอนการเคลื่อนไหววันนี้ เราไม่ได้เล็งผลเลิศ แต่เราเชื่อในหลักประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(deliberative democracy) "เราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เราเป็นส่วนหนึ่งที่จะเสนอเสียงของเรา ท่ามกลางสังคมที่มันวิกฤตและเป็นสูญญากาศตอนนี้"

ซึ่งถึงตรงนี้มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนถามว่านักวิชาการกลุ่มนี้ถ้านายกรัฐมนตรีเชิญไปปรึกษาหารือจะไปไหม อาจารย์สมเกียรติตอบว่า การปรึกษาหารือ ต้องหมายถึงมาจากทุกส่วน ถ้าเอาเฉพาะ 75 คน (นักวิชาการที่ลงชื่อในแถลงการณ์) ก็จะเป็นกลุ่มขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น มันก็เหมือนเดิม และสิ่งนี้ไม่ใช่ความคิดเรา เราแค่ต้องการประชาธิปไตยแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ชี้แค่ 'หมายจับทักษิณ' เรียกรัฐธรรมนูญไม่ได้!
อาจารย์สมเกียรติ กล่าวต่อ "ขอถามว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีคำว่าสหภาพแรงงานอยู่กี่ครั้งใน 299 มาตรา มีคำว่าผู้หญิงอยู่กี่ครั้ง มีคำว่าเด็กอยู่กี่ครั้ง มีคำว่าคนชายขอบอยู่กี่ครั้ง ทั้งหมดมีแต่คำว่า นักการเมือง, ส.ส,. ส.ว., นายกฯ ล้วนแล้วแต่เพ่งเล็งไปที่กลุ่มนักการเมือง และฝ่ายบริหาร ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับเวทีสนามหลวงนี้ เรียกรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่น่าจะเรียกว่า "หมายจับทักษิณ" ในความหมายอย่างกว้าง" อาจารย์สมเกียรติกล่าวในที่สุด

ซึ่งสอดคล้องกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ได้กล่าวว่า "กระบวนการปฏิรูปการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่ แต่ต้องเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของสังคมทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เรามุ่งหวัง เพราะฉะนั้นเราไม่สนใจว่านายกฯ จะทำอะไร ตัวประธาน คมช. จะทำอะไร? เราไม่สนใจ แต่ตัวสังคมไทยต่างหากต้องลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง"

การแถลงข่าวที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การแถลงข่าวที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ประภาส ปิ่นตบแต่ง, นฤมล ทับจุมพล, และเกษียร เตชะพีระ สำหรับประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้ถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของสมัชชาคนจนด้วย

นฤมล-เกษียร อ่านแถลงไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญปี 50
กรุงเทพฯ ระบุเพิ่งออกมาเพราะได้จังหวะ ขณะเดียวกัน ที่กรุงเทพฯ การแถลงข่าวมีขึ้นที่สมาคมศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอ่านแถลงการณ์และตอบคำถามผู้สื่อข่าว

อาจารย์เกษียร กล่าวในตอนเริ่มต้นว่า เหตุที่นักวิชาการเพิ่งออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ เป็นเรื่องจังหวะเวลาและยุทธวิธี แม้ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกเนื่องจากกระบวนการในการยกร่างเป็นการตั้งบุคคลจากผู้มีอำนาจ แต่การปฏิเสธในตอนนั้นโดยที่ยังไม่เห็นเนื้อหา จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ของสังคมวิ่งตามไม่ทัน จนเมื่อเห็นตัวร่างแล้วจึงร่วมกันนำเสนอต่อสังคมให้ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้

"เรายอมกลั้นหายใจ แม้กระบวนการน่าสงสัย เราไม่เห็นด้วย ไม่มีความชอบธรรม ก็ยอมดูตัวร่างก่อนว่าเป็นยังไง แล้วมันก็รับไม่ได้จริงๆ มันถึงเวลาแล้วที่เราจะเสนอว่าต้อง say no - ปฏิเสธ โดยการเ say no ในนี้ เราเสนอให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้โดยผ่านการลงประชามติ ไม่ว่ากระบวนการนี้จะจบลงที่ ส.ส.ร.ยกมือไม่เอา หรือว่ามันผ่าน ส.ส.ร. มาแล้วมีการลงประชามติ" รศ.ดร.เกษียรกล่าว

เสนอ คมช.ใช้รัฐธรรมนูญปี.2540 ปูทางปฏิรูปการเมืองหลังชะงักรัฐประหาร 19 ก.ย.
อาจารย์เกษียรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ข้อเสนอต่อไปคือให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกว้างขวางที่สุด โดยเพิ่มหรือปรับแก้บทเฉพาะกาลเพียง 2 ข้อ คือ

1. จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน เพื่อให้ได้สภาชุดใหม่
2. ให้สภาชุดใหม่ที่มาจาการเลือกตั้งดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในจุดที่คิดว่ามีปัญหา

"พูดง่ายๆ คือ เดินหน้าปฏิรูปการเมืองต่อ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม กระบวนการคล้ายๆ กับตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นเอง อันที่จริงถ้าไม่มีรัฐประหาร 19 กันยา นี่ก็คือทิศทางของการเดินต่อ ที่ไม่ว่าฝ่ายไหนก็เห็นด้วย พรรคไทยรักไทยเองก็เห็นด้วย เป็นกระบวนการชอบด้วยกฎหมาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเพราะไม่มีกระบวนการนี้ ถึงยุ่งอยู่ทุกวันนี้ ใครอยากได้อะไรก็ออกมาเดินถนน เพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนี้มันแคบ ไม่เปิดให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าไม่มีความหวังกับการแปรญัตติที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อแก้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ อาจารย์เกษียรกล่าวว่า "ที่ผ่านมาเราก็กลั้นใจแล้ว มันไม่ไหว และไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะกรอบอำนาจที่เกิดขึ้นพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าได้แค่นี้ ถ้าเอาทหารเอาระบบราชการมาล้อมมันได้แค่นี้"

เตือน คมช.ไม่หยิบ 2540 มาใช้ เท่ากับเชิญคนลงท้องถนน
ส่วนข้อซักถามที่ว่า หากคว่ำการลงประชามติแล้ว คมช.หยิบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ มาใช้ แทนที่จะเป็นฉบับปี 2540 นั้น อาจารย์เกษียรกล่าวว่า คมช.ต้องคิดให้ดี หากข้อเสนอนี้เป็นสิ่งที่สังคมขานรับ คมช.จะต้องเผชิญกับมติมหาชน ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขายังไม่เคยเจอ การยึดอำนาจที่ผ่านมา บังเอิญประชาชนกำลังอึดอัดกับระบอบทักษิณมาก ดังนั้น คมช.คงต้องคิดว่ามันจะสมานฉันท์หรือไม่ บ้านเมืองจะสงบสันติหรือไม่ จีดีพีจะขึ้นหรือจะลง

"คุณจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของประเทศไทย ใน พ.ศ.2550 โดยรวมศูนย์ระบบราชการ คุณกำลังเชิญคนลงท้องถนน"

เชื่อล้มร่างรัฐธรรมนูญปี.50 เพื่อปฏิรูปการเมืองต่อ เป็นแนวทางยอมรับกว้างขวางสุด
อาจารย์เกษียร กล่าวด้วยว่า สังคมไทยหลังรัฐประหาร แตกแยกและแบ่งกลุ่มกันมากกว่าเก่า ข้อเสนอว่าด้วยการล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และปฏิรูปการเมืองต่อน่าจะเป็นที่ยอมรับได้กว้างขวางที่สุด "คุณจะรักทักษิณหรือไม่รักทักษิณ คุณจะเห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็คงจะเห็นร่วมกันว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มันไม่ไหว และต้องปฏิรูปการเมืองต่อ ที่สำคัญกระบวนการนี้เป็นไปได้ที่จะทำโดยสันติวิธี นี่เป็นช่องทางที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียและความรุนแรงมากที่สุดแล้ว"

"ถ้าข้อเสนอนี้ได้รับฉันทมติค่อนข้างหนักแน่นจากสังคม ผมคิดว่ามันจะเป็นฐานให้ความรุนแรงน้อยลง ลองจินตนาการสถานการณ์ว่าประชาชนไม่เอากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้ว คมช.ไปหยิบฉบับไหนมาก็ไม่รู้ยัดให้ สังคมจะรู้สึกอย่างไร นี่เป็นทางหนึ่งที่เลี่ยงการเผชิญหน้ากันด้วยซ้ำไป"

ยันอีกรอบ ยิ่งรวบอำนาจให้ข้าราชการจะยิ่งเจอการเมืองบนท้องถนน
อาจารย์เกษียร กล่าวต่อว่า หาก คมช.ไม่เลือกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และหยิบฉบับอื่นใดมาปรับใช้ ก็เชื่อได้แน่ว่า ประชาชนและนักการเมืองจะมีอำนาจน้อยลง ระบบราชการจะมีอำนาจมากขึ้น จากเดิมที่รัฐธรรมนูญปี 2540 นักการเมืองมีอำนาจมากขึ้น ประชาชนมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพอยู่บ้าง ยังเจอการเมืองบนท้องถนนเยอะ ถ้ายิ่งรวบอำนาจให้ระบบราชการจะเจอการเมืองบนท้องถนนเยอะมาก

"ร่างรัฐธรรมนูญแบบระบบราชการ ไม่ว่าฉบับที่กำลังร่างนี้ หรือฉบับที่ คมช.จะใช้ในอนาคต จะทำให้ คมช.เผชิญหน้ากับความรุนแรงในชนบทและในเมือง ในชนบทนั้นเนื่องจากประชาชนถูกปล้นทรัพยากรจากโครงการพัฒนาทั้งหลาย ดูตัวอย่างกรณีของสุราษฎร์ธานีที่เพิ่งผ่านมา กรณีสมัชชาคนจนตอนนี้ แบบนี้จะยิ่งมากขึ้น เพราะประชาชนไม่มีช่อง ระบบการเมืองแบบรัฐสภามันใช้ไม่ได้ และจากชนบทก็จะมาในเมือง การเมืองจะไม่มั่นคง และทหารจะออกมาอีก แล้วชนชั้นกลางในเมืองก็จะประสบปัญหาเศรษฐกิจอันสืบเนื่องจากทหารออกมาหนักขึ้นอีก ...เราไม่อยากไปนรก" รศ.ดร.เกษียรกล่าว

นฤมลชี้ ร่างรัฐธรรมนูญปี.50 พูดเรื่องสิทธิไม่ต่างจาก 40 แต่การตรวจสอบของประชาชนหายไป
อาจารย์นฤมล ทับจุมพล กล่าวว่า, จะเห็นได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในส่วนที่พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการเพิ่มสิทธิชุมชน และก็เป็นแต่เพียงลอยๆ ขณะที่ส่วนที่หายไปอย่างสิ้นเชิงในโครงสร้างการเมืองคือ การตรวจสอบของประชาชน. "นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกระบวนการที่มามันชอบธรรมหรือไม่ ดูแค่เนื้อหา อาจารย์หลายๆ ท่านก็ไม่สามารถรับได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราเริ่มมารณรงค์สีเขียวตองอ่อน เพื่อทำให้รัฐบาล คมช.ได้รับรู้ว่า สังคมได้เสนอความสมานฉันท์อีกแบบหนึ่งแล้วว่าให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540"

วิพากษ์ คมช. ระวังประเทศจะพัง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จากความกลัวทักษิณ
เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนที่ คมช.จะเลือกรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากโจทย์ของผู้มีอำนาจตอนนี้คือ "ทักษิณออกไป" และรัฐธรรมนูญ 2540 อาจไม่ตอบโจทย์นี้ อาจารย์นฤมลกล่าวว่า ตอนนี้สังคมไทยอยู่ในช่วง Post Thaksin (ยุคหลังทักษิณ) สิ่งที่คมช.ควรทำก็คือทำตามกระบวนการยุติธรรม หากจะมีการเอาผิดคนที่กระทำผิด แต่มันเป็นคนละเรื่องกับรัฐธรรมนูญ คมช.อาจจะกำลังทำผิดฝาผิดตัว นี่คือปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กลายเป็นร่างที่เกิดจากความกลัวว่าคนอย่างทักษิณ ชินวัตร จะเกิดขึ้นมาอีก

"ปัญหาก็คือ เมื่อกลัวแล้วเอาอำนาจไปฝากไว้ที่ใคร ไม่ได้เอามาฝากไว้ที่ประชาชน แต่ฝากไว้กับคนที่คุณคิดว่าดี เก่ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ เก่งหรือไม่ และจะแก้ปัญหาวิกฤตของสังคมที่กำลังเผชิญอยู่อย่างไรในระบบการเมืองโลกในปัจจุบัน การสร้างอำนาจหรือระบบการเมืองใหม่ที่เกิดจากความกลัว จะยิ่งทำให้ประเทศพังมากขึ้น" อาจารย์นฤมลกล่าวในที่สุด

นักวิชาการใต้ไม่ร่วมแถลง ที่แท้ ม.วลัยลักษณ์ ร่างฉบับ 'แรง' กว่า ม.เที่ยงคืน
ตามข่าวที่ ม.เที่ยงคืนระบุว่าไม่สามารถหานักวิชาการจากภาคใต้ร่วมแถลงข่าวนั้น พบว่าในกระดานข่าวฟ้าเดียวกันหัวข้อที่ 8581 หัวข้อ แถลงการณ์ "ร่วมกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง" ตั้งโดยผู้ใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นั้น ได้มี คณาจารย์ในหลักสูตรภูมิภาคศึกษา (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 7 คน ได้แก่ อาจารย์แพทริค โจรี, ทวีศักดิ์ เผือกสม, อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ไพลดา ชัยศร, อับดุลราซัก ปาแนมาแล, จิรวัฒน์ แสงทอง และอำนวยวิชญ์ ธิติบดินทร์ ได้เขียนจดหมายในกระดานข่าวถึงอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ฉบับนี้ โดยให้เหตุผล 5 ข้อ ซึ่งสรุปได้ว่า การแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่เสนอเรื่องการคว่ำรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการลงประชามตินั้น ก็มีค่าเท่ากับการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ในการจัดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่ามีความชอบธรรม

"พวกเราจึงคิดว่าจะไม่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ เว้นเสียแต่ว่า ในแถลงการณ์จะต้องยืนยันถึงความไม่ชอบธรรมของการรัฐประหาร การดำรงอยู่ของอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่กรุณาชักชวนพวกเรามาร่วมคิด และแม้ว่าจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็หวังว่าจะได้มีโอกาสร่วมปฏิสังสรรค์ทางวิชาการกันต่อไป" จดหมายฉบับดังกล่าวระบุ (ดูรายละเอียด)

(ที่มา : กระดานข่าวฟ้าเดียวกันหัวข้อที่ 8581 ผู้โพสต์ความเห็น ภูมิภาคศึกษา
Posted : 2007-05-23 08:28:01 IP : 202.28.68.12)

เรียนอาจารย์สมเกียรติที่รัก

พวกเราได้อ่านและอภิปรายกันโดยละเอียดแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่า แม้จะเห็นด้วยกับเป้าหมายที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของแถลงการณ์ฉบับนี้ เช่น

1) การที่แถลงการณ์ฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้นเพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร

2) การเสนอความคิดเรื่องการคว่ำรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการลงประชามติ มีค่าเท่ากับการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารในการจัดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามีความชอบธรรม หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา "ดี" ก็แปลว่าจะมีข้อเสนอให้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่าจะมีที่มาจากกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย?

3) การเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 กลับมาใช้นั้น กำลังเรียกร้องกับใคร? เรียกร้องกับ คมช. หรือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ? ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นว่า แถลงการณ์ฯ ยอมรับอำนาจเหล่านั้น?

4) เป็นเหตุผลที่เหลือเชื่อที่แถลงการณ์ฯ ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ "ดูเหมือนมีการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540" โดยไม่คิดว่าการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกและอีกหลายมาตราจะเป็นการ "ปิดกั้น"

5) แถลงการณ์ระบุว่า "สังคมไทยเห็นพ้องต้องกัน" ในการแก้ไขข้ออ่อนรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 "โดยอาศัยกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน" พวกเราคิดว่า นักวิชาการน่าจะเลิก "พูดแทน" ประชาชนอย่างเลื่อนลอย โดยเฉพาะในแถลงการณ์ซึ่งสะท้อนความคิดของนักวิชาการและผู้ลงชื่อร่วม มากกว่าความคิดของ "ประชาชน"

ดังนั้น พวกเราจึงคิดว่าจะไม่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ เว้นเสียแต่ว่า ในแถลงการณ์จะต้องยืนยันถึงความไม่ชอบธรรมของการรัฐประหาร การดำรงอยู่ของอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่กรุณาชักชวนพวกเรามาร่วมคิด และแม้ว่าจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็หวังว่าจะได้มีโอกาสร่วมปฏิสังสรรค์ทางวิชาการกันต่อไป

คณาจารย์หลักสูตรภูมิภาคศึกษา (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
แพทริค โจรี, ทวีศักดิ์ เผือกสม, อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ไพลดา ชัยศร, อับดุลราซัก ปาแนมาแล, จิรวัฒน์ แสงทอง, อำนวยวิชญ์ ธิติบดินทร์

ชาญวิทย์หนุน ม.เที่ยงคืน แต่ช่วยเติม "สยาม" และไม่เติม "พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ"
ขณะเดียวกัน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่จดหมาย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 เวลา 16.06 น. เรื่อง ขอร่วมลงนามไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เนื้อความระบุขอร่วมลงนามไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เนื่องจากที่มา เนื้อหาสาระ และเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" โดยอาจารย์ชาญวิทย์ยังเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตามที่จะต้องร่างกันอีก ขอให้บรรจุนามของประเทศว่า "สยาม" ในภาษาไทย และ "Siam" ในภาษาอังกฤษ และไม่จำเป็นต้องบรรจุคำว่า "พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ทั้งเพื่อความสมานสามัคคีและการปรองดองในชาติบ้านเมืองของเรา (ดูรายละเอียด)

เรื่อง ขอร่วมลงนามไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
เรียน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


ผมขอร่วมลงนามไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากที่มา เนื้อหาสาระ และเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ "ไม่เป็นประชาธิปไตย"

อนึ่ง ผมยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตามที่จะต้องร่างกันอีก ขอให้บรรจุนามของประเทศว่า "สยาม" ในภาษาไทย และ "Siam" ในภาษาอังกฤษ และไม่จำเป็นต้องบรรจุคำว่า "พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ทั้งเพื่อความสมานสามัคคีและการปรองดองในชาติบ้านเมืองของเรา

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ

'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' วิจารณ์ 'นิธิ-เกษียร' ในเว็บบอร์ด!
นอกจากนี้หลังการแถลงข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยังมีปฏิกิริยาของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิพากษ์วิจารณ์ต่อจุดยืนและแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผ่านการตั้งกระทู้ในกระดานแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน และประชาไท หลายความเห็นด้วยกัน

โดยในกระดานข่าวฟ้าเดียวกันหัวข้อที่ 8708 หัวข้อ เกษียร (นิธิ, นักวิชาการ) ยังใช้ข้ออ้าง "ระบอบทักษิณ" มารักษาสถานความเป็นเทวดาของพวกตัวเอง และ กระดานแสดงความเห็นท้ายข่าวเว็บไซต์ประชาไท นักวิชาการแถลง "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง"

ทั้งนี้อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ตั้งกระทู้ในกระดานข่าวฟ้าเดียวกันเมื่อวันที่ 24 พ.ค. เวลา 5.25 น. และคัดลอกมาลงกระดานแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวเว็บไซต์ประชาไทในเวลา 6.25 น. วันเดียวกัน โดยความเห็นส่วนหนึ่งของอาจารย์สมศักดิ์แสดงความผิดหวังต่อการแถลงข่าวของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และกล่าวว่า "...วิธีคิดของคนที่อยู่เบื้องหลังแถลงการณ์เมื่อวาน ยังคงเหมือนเดิมคือด้านหนึ่ง อ้าง "ประชาชน" อ้าง "ประชาสังคม" (หรือ "สังคม" ในคำยอดนิยมของนิธิ) แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำตัวเป็นเทวดา ว่ารู้ดีกว่าประชาชน รู้ดีกว่า"สังคม" จริงๆ ที่ได้เลือกผู้ที่ตัวเองต้องการเป็นรัฐบาลไปแล้ว ภายใต้ข้ออ้าง (วาทกรรม) คำขวัญ ประเภท "ระบอบทักษิณ" คนเหล่านี้ พูดโดยไม่กระดากปาก โดยหน้าไม่แดง ในนามของ "ประชาชน" ในนามของ "สังคม" แต่เมื่อประชาชนเลือกใครจริงๆ ที่พวกเขาไม่ชอบ คนเหล่านี้ก็ออกมาชี้นิ้วบงการว่า "มึงเลือกไป ไม่ถูกหรอก", "ที่มึงเลือกไปคือ "ระบอบทักษิณ" เชื่อกูเหอะ" เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ครั้งนี้ ภายใต้ข้อความที่หรูๆ "ปฏิรูปการเมือง" "ทางเลือกที่สาม" เนื้อแท้ของคนเหล่านี้ คือ รักษาความเป็น "กูรู" (กู-รู้) ของพวกตนไว้..." อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงความเห็นในกระดานข่าว

โดย : ประชาไท วันที่ : 25/5/2550
++++++++++++++++++++++++

76 อาจารย์ร่วมสมัชชาคนจน รณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

76 อาจารย์ร่วมสมัชชาคนจน รณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ชี้เป็นการสร้างอำนาจเก่าให้ภาคราชการ ยันการรณรงค์ไม่ทำให้เกิดวิกฤติ โต้เดือด กมธ.ยกร่าง- ส.ส.ร. มีอคติกับระบอบประชาธิปไตย "นิธิ" กร้าวสิ่งที่ต้องทำอย่างเดียวคือไม่รับร่างรธน.ฉบับนี้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กลุ่มสมัชชาคนจนที่เข้ามาทวงสัญญาจากรัฐบาลในหลายข้อเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2550 ที่ผ่านมาได้จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ร่วมชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมอีกจำนวนมากที่กำลังเดินเท้าเข้ามาสมทบโดยมีกลุ่มอาจารย์จามหาวิทยาลับเที่ยงคืนนำโดย นายนิธ เอียวศรีวงษ์ นักวิชาการอาวุโสประจำมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กทม. นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายอรรถจักร สัตานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมพีธีในครั้งนี้ด้วย

โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีบายศรีสู่ขวัญ นายนิธิได้กล่าวกับผู้ร่ววมชุมนุมว่า กลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพิ่งเดินทางกลับมาจากอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ซึ่งจะมีการขยายโรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก โดยมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องการบุรรุกป่าและการออกเอกสารสิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านก็ได้กล้าที่จะยืนหยัดลุกขึ้นต่อสู้ ดังนั้นสิ่งที่พวกเราจะต้องทำต่อไปนี้คือ ร่วมกันต่อสู้และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และสิ่งที่จำเป็นอีกเรื่องคือการสร้างอำนาจต่อรองของภาคประชาชน จะต้องเกิดขึ้นอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมาพวกเราคนจนจะต้องนอนเกลือกกลิ้งที่ท้องถนนถึงจะมีคนมาเหลียวแล แต่ทำไมพวกนายกสมาคมอุตสาหกรรมและประธานหอการค้า เวลาต้องการเรียกร้องเรื่องอะไรไม่ต้องมานอนเกลือกกลิ้งที่ท้องถนนเหมือนกับพวกเรา ดังนั้นหากเราต้องการให้การเจรจากับภาครัฐเกิดขึ้นอย่างเป็นผล ความเป็นธรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด

นักวิชาการอาวุโสประจำมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวอีกว่า การพัฒนาที่สมดุลต้องเกิดจากอำนาจที่ใกล้เคียงกันและต่อรองซึ่งกันและกันได้ ไม่จำเป็นต้องให้เราลำบากลำบนนั่งรถกันมาไกลและเกลือกกลิ้งอยู่กับถนนแบบนี้ เราจะต้องทำให้เกิดการต่อรองแบบเรา 2 คนก็สามารถคุยหรือต่อรองกับนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นวันนี้ตนจึงมีข้อสเนอหลายเรื่องที่อยากบอกกับพี่น้องประชาชนที่นี่คือ

1. การร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดอำนาจเป็นสิ่งทีผิดกฏหมายและไม่มีทางที่เราจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี

2. เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้มีความพยายามใช้ระบบราชการให้เป็นผู้ควบคุมการเมืองไทย เพราะถึงในรัฐธรรมนูญปี 2540 จะให้อำนาจนักการเมืองมาก แต่ไม่ว่านักการเมืองเหล่านั้นจะดีหรือเลวพวกเราก็สามารถควบคุมพวกเขาได้ แต่หากใช้วิธีตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เราไม่สามารถควบคุมราชการได้ เราไม่สามารถควบคุมผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ดังนั้นระบบการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนเล็กๆ มีอำนาจต่อรองได้ในเชิงนโยบายจะต้องถูกผลักดันให้เกิดขึ้น

"ดังนั้นหากมีการลงประชามติ พวกเราต้องลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และต้องช่วยกันผลักดันให้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้แล้วออกบทเฉพาะกาลให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน แล้วให้สภาที่มาจากประชาชนเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนโดยไม่มีพวกการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือเกี่ยวเนื่อง และให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ในส่วนที่มีปัญหาโดยไม่มีอำนาจปืนอยู่เบื้องหลัง เราต้องร่วมกับรณรงค์ให้มีการคว่ำประชามติ โดยใช้ริบบิ้นสัญลักษณ์สีเขียวตองอ่อน ซึ่งหากใครเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมนำสเนอ ก็ขอให้ติดริบบิ้นสีเขียวตองอ่อนที่หมายถึงความเบ่งบานของระบบประชาธิปไตย"นายนิธิกล่าว

นายนิธิกล่าวอีกว่า หากเราผลักดันให้มีการนำรัฐธรรมนุญปี 2540 มาใช้จะทำให้เรามีอำนาจเพิ่มขึ้น เพราะการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประชาชนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ให้เทวดาที่ไหนมาแก้ เราจะต้องกล้าลุกขึ้นยืนต่อสู้เหมือนที่ชาวบ้านอำเภอบางสะพานกล้าลุกขึ้นต่อกรกับนายทุน แล้วเมื่อคุณลุกขึ้นยืนสู้แล้ว คุณจะไมได้ยืนอยู่คนเดียวเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า "เมื่อเรากล้าที่จะลุกขึ้นยืน ตลอดชีวิตเราก็จะนั่งไม่ลงอีกตลอดชีวิต"

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กทม.กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้ศึกษาเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ร่างแรกแล้วตนไม่เห็นด้วยกับหลายส่วน อาทิการกำหนดมาตรา 68 วรรค 2 ไว้ในรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้ ส.ว. ต้องมาจากการสรรหา และการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระที่ให้ศาลเข้ามามีอำนาจมากจนเกินไป และไม่มีการเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระแม้แต่นิดเดียว ซึ่งในหลาย ๆ หมวดจะเห็นได้ว่ามีการเพิกเฉยต่อำนาจของประชาชนมาก เช่น หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ไม่มีส่วนใดกำหนดบททบาทการใช้อำนาจของประชาชนอย่างชัดเจนเลย

เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, และองค์กรภาคประชาชนอีกหลายส่วน จะมีข้อสเนอที่ตรงกันคือจะต้องมีการจัดการเรื่อง"รัฐสวัสดิการ" และประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำสัญญากับต่างประเทศ และรัฐบาลต้องเคารพสิทธิในการชุมนุมของประชาชน และต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายในเรื่องชาติพันธ์ แต่รัฐบาลและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็ไม่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

"หลายข้อที่ผมพูดมาถูกรัฐบาลและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมินเฉย ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาร่างแรกที่ยังไม่มีการแก้ไขจากกรรมาธิการเลยนั้น ผมก็ขอบอกตรงนี้ว่าผมจะไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และจะไปลงคะแนนไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน แต่ที่ผมไม่ได้ประกาศตัวเข้าร่วมกับกลุ่มนักวิชาการ 76 คนที่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูยฉบับนี้ เพราะผมยังอยากให้โอกาสเขาได้ปรับแก้ในร่างแรกก่อน แต่ถ้าหากมีการปรับแก้แล้วอะไรอะไรมันยังไม่ดีขึ้นมา ผมจะรณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างเต็มที่แน่"อดีต ส.ว.กทม.กล่าว

นายจอนกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ตนเห็นว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ 2 ส่วนด้วยกันคือ

1. การไม่ยอมรับของกลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพ ที่เกิดความรู้สึกต่อต้านการรัฐประหาร และ

2. กลุ่มคนที่ยังตกอยู่ภายใต้การครอบงำและอิทธิพลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้นกรรมาธิการยกร่างฯจะต้องพิสูจน์ตนเองกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหนักให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกยอมรับให้ได้

ขณะที่นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 1 ใน 76 นักวิชาการที่ออกมารณรงค์ให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้วเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเคลื่อนไหวว่า ขณะนี้กลุ่มนักวิชาการจากหลายภาคส่วนที่ได้ร่วมลงชื่อคัดค้าน ได้จัดทำเอกสารรวบรวมถึงข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำออกรณรงค์เผยแพร่ต่อไป ซึ่งข้อมูลต่างๆ นั้นเราก็ได้ทำการศึกษากันมากมากพอสมควร ดังนั้นการที่กรรมาธิการยกร่างและ ส.ส.ร.บางคนออกมากล่าวหาโจมตีพวกเราว่า ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญทุกมาตราและออกมาติโดยไม่มีข้อเสนอแนะจึงไม่เป็นความจริง ข้อกล่าวหาของกรรมาธิการยกร่างที่มีต่อพวกเราเป็นสิ่งที่สะท้อนการใช้อำนาจที่อยู่ในตัวตนของกรรมาธิการ และ ส.ส.ร.บางคนได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามการที่กรรมาธิการยกร่างฯ และส.ส.ส.ร.ออกมากล่าวหาพวกเราเช่นนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า อะไรคือต้นตอปัญหาของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลผู้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าดูเหมือนเหตุปัจจัยที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติมีเป็นจำนวนมาก โดยส่วนตัวมองเรื่องนี้อย่างไร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลและกรรมาธิการยกร่างจะต้องทำทุกวิถีทางให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติให้ได้ โดยตนทราบมาว่ารัฐบาลได้อาศัยกำนันผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ ออกรณรงค์ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน.ถูกใช้งานในเรื่องนี้มากแทบจะเรียกได้ว่า 1 ทหาร 1 หมู่บ้าน. อย่างไรก็ตาม ทางทหารก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาแทรกซึมกับผู้ร่วมชุมนุมด้วย โดยเจ้าหน้าที่บางคนได้ไปจองห้องพักโรงแรมระดับ 2 ดาว 3 ดาวเหมือนที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปว่า มีแกนนำของผู้ร่วมชุมนุมไปแฝงตัวจับจองโดยเปิดโรงแรม ตนมองว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่แทรกซึมมาจากภาครัฐด้วย ซึ่งกลไกที่มีอยู่ต่างๆ เหล่านี้จะถูกระดมอย่างเต็มที่และอาจจะทำให้ประชาชนลงมติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านก็เป็นได้

ด้านนายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราเริ่มรณรงค์โดยใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีเขียว เนื่องจากสีเขียวหมายถึงการแตกหน่อของตนกล้า เราต้องการให้ประชาธิไตยเบ่งบานอย่างเต็มที่ไม่ใช่ถูกขีดหรือจำกัดโดยอำนาจปืนแบบนี้ การที่ ส.ส.ร.และกรรมาธิการยกร่างฯ บางคน ออกมาหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับการรณรงค์ของพวกเรา ตนคิดว่าเขาเข้าใจผิดว่าเรากำลังพูดกับเขา

"ซึ่งสิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ เราไมได้พูดกับคุณ ไม่ได้รณรงค์กับคุณ แต่เรารณรงงค์กับประชาชนทั้งประเทศ เพราะประเทศนี้ไม่ใช่ของคุณ แต่เป็นของประชาชนทั้วประเทศต่างหาก จะดีหรือจะชั่วเขานั่นแหละที่จะต้องเป็นคนตัดสิน" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้นำริบบิ้นขียวออกมาแจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุม เพื่อช่วยกันติดรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนญปี 2550 ด้วย โดยคณาอาจารย์กลุ่มนี้จะเดินสายทั่วประเทศเพื่อทำการรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6

ประวัติ ม.เที่ยงคืน I webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ช่องทางด่วน
midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน และสังคมไทยของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 


HOST@THAIIS