โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 22 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๕๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 22, 05,.2007)
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

เมื่อเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ ความฝันที่จะขูดรีดตลาดอันไม่มีขีดจำกัดก็ปลาสนาการไป บริษัทต่างชาติมุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศจีน ไม่ใช่เพราะคิดจะขายสินค้าให้ผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่งร่ำรวยขึ้นมาหลายล้านคน แต่เพราะจีนกลายเป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลกและอาศัยความได้เปรียบของแรงงานราคาถูกที่มีเหลือคณานับ บริษัทที่ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้มี อาทิเช่น ฟิลิปส์ ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติดัทช์. ฟิลิปส์เปิดโรงงานถึง 23 แห่งในประเทศจีน และผลิตสินค้ามูลค่าราว 5 พันล้านดอลลาร์ แต่ผลผลิตถึง 2 ใน 3 ส่งออกไปยังประเทศอื่น
22-05-2550

Political Economy
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

เศรษฐศาสตร์การเมือง จีน, อเมริกัน, ลาตินอเมริกา
เศรษฐกิจการเมือง: การผลิตล้นเกินและนโยบายลาตินของสหรัฐฯ

ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

บทความแปล ๒ ชิ้นต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
นำมาจากบทความที่เคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์ประชาไท ประกอบด้วย
๑. เศรษฐกิจล่ามตรวน : จีน, สหรัฐอเมริกาและระบบเศรษฐกิจโลก
๒. เมื่อบุชลงใต้ (การเยือนกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา)
โดยเรื่องแรกมีหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้: ภาวะการผลิตล้นเกิน,
แนวโน้มสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก, จีนกับวิกฤตการณ์ภาวะการผลิตล้นเกิน,
ยุทธศาสตร์ค่าแรงต่ำ, เศรษฐศาสตร์ล่ามตรวน.
ส่วนเรื่องที่สอง มีหัวข้อสำคัญคือ: โอเปกเอธานอล,
การเมืองทำเนียบขาวที่มุ่งลงใต้ และโลกนี้มิเคยไร้คนทราม
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๕๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++


เศรษฐศาสตร์การเมือง จีน, อเมริกัน, ลาตินอเมริกา
เศรษฐกิจการเมือง: การผลิตล้นเกินและนโยบายลาตินของสหรัฐฯ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

1. เศรษฐกิจล่ามตรวน : จีน, สหรัฐอเมริกาและระบบเศรษฐกิจโลก
โดย วอลเดน เบลโล
จาก Walden Bello, "Chain-Gang Economics: China, The US, and the Global Economy," http://www.focusweb.org/chain-gang-economics-china-the-us-and-the-global-economy-10.html, 01 November 2006.

ความนำ
"โลก [กำลัง] ลงทุนน้อยเกินไป" คือคำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่ง "สถานการณ์ในปัจจุบันมีรากเหง้าอยู่ในวิกฤตการณ์หลายระลอกที่เกิดขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลงทุนเกินขอบเขต อาทิเช่น ปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ของญี่ปุ่น, วิกฤตการณ์ในระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียและละตินอเมริกา, และล่าสุดคือฟองสบู่ของธุรกิจไอที นับแต่นั้นมา การลงทุนก็ลดฮวบลง โดยมีการฟื้นตัวแบบห่วงหน้าพะวงหลังอย่างยิ่ง"

นี่ไม่ใช่คำพูดของนักเศรษฐศาสตร์สำนักมาร์กซิสต์ ที่บรรยายถึงวิกฤตการณ์ของภาวะการผลิตล้นเกิน (overproduction) แต่เป็นคำพูดของ รากูราม ราชัน (Raghuram Rajan) หัวหน้าคณะเศรษฐกรคนใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การวิเคราะห์ของเขา แม้จะเก่าไปปีหนึ่งแล้ว ก็ยังตรงจุดอยู่ดี (1)

ภาวะการผลิตล้นเกิน: แนวโน้มสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก
ภาวะการผลิตล้นเกินเป็นห่วงโซสำคัญ ที่คล้องระบบเศรษฐกิจโลกในยุคของคลินตันและยุคของบุชเข้าด้วยกัน วิกฤตการณ์นี้รุนแรงเป็นพิเศษในภาคการผลิตที่เรียกกันว่า อุตสาหกรรมแกนหลัก (core industry) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ความสามารถในการผลิตคอมพิวเตอร์ของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงปีละ 40% สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่ประมาณการไว้มาก. อุตสาหกรรมรถยนต์ในโลกขายรถได้เพียง 74% ของรถยนต์ 70.1 ล้านคันที่ผลิตได้ในแต่ละปี ทำให้เกิดการหดตัวของอัตราผลกำไรในหมู่ผู้ประกอบการที่อ่อนแอที่สุด อาทิเช่น อดีตยักษ์ใหญ่เจเนรัลมอเตอร์ส (General Motors) ซึ่งขาดทุนถึง 10.6 พันล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2005 และฟอร์ด (Ford) ที่ขาดทุนไป 7.24 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของ ค.ศ. 2006

ในอุตสาหกรรมเหล็ก กำลังการผลิตที่ล้นเกินของโลกสูงเกือบเฉียด 20% แล้ว ในแง่ของปริมาณนั้น ประมาณการว่าน่าจะมากถึง 200 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศผู้ผลิตเหล็กจึงมีแผนที่จะตัดลดกำลังการผลิตลง 100 ล้านตันใน ค.ศ. 2005 แต่ก็ยังเหลือ "กำลังการผลิตจำนวนมหาศาล ซึ่ง...ไม่น่าเอาตัวรอดได้". ในภาคโทรคมนาคม ตามข้อมูลของโรเบิร์ต เบรนเนอร์ (Robert Brenner) การลงทุนล้นเกินส่งผลให้เกิด "ภาวะอุปทานท่วมตลาด: อัตราการใช้เครือข่ายโทรคมนาคมทุกวันนี้อยู่แค่ 2.5-3% ซึ่งต่ำอย่างร้ายแรง ส่วนการใช้เคเบิลใต้ทะเลก็มีเพียงแค่ 13% เท่านั้น". ดังที่ แจ็ค เวลช์ (Jack Welch) อดีตประธานของเจเนรัลอิเล็กตริก (General Electric) กล่าวไว้ว่า มี "กำลังการผลิตล้นเกินในเกือบทุกอุตสาหกรรม"

กำลังการผลิตที่ล้นเกินในโลกทำให้การขยายการลงทุนไม่สร้างผลกำไรอีกต่อไป ส่งผลให้ความเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ในยุโรป ความเติบโตของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เฉลี่ยอยู่แค่ 1.45% ในช่วงสองสามปีหลัง และหากประเทศต่างๆ ไม่มีการลงทุนล่วงหน้าทางเศรษฐกิจ เมื่อนั้นความเติบโตก็จะชะงักงันต่อไป และเป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลก

อย่างไรก็ตาม จีนกับสหรัฐอเมริกากลับดูเหมือนพยายามฝืนกระแส แม้ว่าความเติบโตของ GDP ในสหรัฐฯ จะฝ่อลงในระยะหลัง แต่ความเติบโตในระบบเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ --รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ผูกมัดพึ่งพิงกันมากขึ้น ๆ-- หาใช่สัญญาณของความเข้มแข็ง แต่น่าจะเป็นดัชนีชี้วัดวิกฤตการณ์มากกว่า การที่สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางทั้งความเติบโตและวิกฤตการณ์ของโลก เป็นประเด็นที่ทุกคนรู้ซึ้งแก่ใจกันดี แต่ตัวแปรใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญคือประเทศจีน ถึงแม้จีนจะถูกมองว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบโลกาภิวัตน์ยุคนี้ ทว่าจากการวิเคราะห์อันยอดเยี่ยมของนักเศรษฐศาสตร์การเมือง Ho-Fung Hung การที่จีนก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจโลก กลับกลายเป็นสาเหตุใจกลางของวิกฤตการณ์ภาวะการผลิตล้นเกินของระบบทุนนิยมโลก (2)

จีนกับวิกฤตการณ์ภาวะการผลิตล้นเกิน
อัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจ 8-10% ของประเทศจีน อาจเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นความเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าของจีนช่วยยุติภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจที่ยาวนานเป็นทศวรรษของญี่ปุ่นลงใน ค.ศ. 2003 เพื่อตอบสนองความกระหายของจีนที่มีต่อเงินทุนและสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง การส่งออกของญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 44% หรือ 60 พันล้านดอลลาร์

อันที่จริง จีนกลายเป็นเป้าหมายหลักของสินค้าส่งออกจากเอเชีย โดยมีสัดส่วนสูงถึง 31% ในขณะที่สัดส่วนของญี่ปุ่นลดจาก 20% เหลือเพียง 10% ดังที่หนังสือพิมพ์ สเตรทส์ไทมส์ (Straits Times) ของสิงคโปร์ชี้ให้เห็นว่า "เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบประเทศต่อประเทศ ปัจจุบันจีนเป็นแรงขับเคลื่อนล้นเหลือที่ทำให้การส่งออกขยายตัวในไต้หวันและฟิลิปปินส์ จีนยังเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซียและออสเตรเลีย"

ในขณะเดียวกัน จีนกลายเป็นประเทศที่มีส่วนสำคัญในวิกฤตการณ์ภาวะการผลิตล้นเกินของโลก แม้ว่าการลงทุนจะลดฮวบฮาบลงในระบบเศรษฐกิจของหลายๆ ภูมิภาค อันเป็นผลสืบเนื่องจากกำลังการผลิตล้นเกิน โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและประเทศเอเชียตะวันออกอื่นๆ กำลังการผลิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน การลงทุนในจีนไม่ได้เป็นแค่ด้านตรงข้ามของการลดการลงทุนในภูมิภาคอื่น การปิดสถานประกอบการและลอยแพแรงงานเกิดขึ้นไม่เพียงแค่ในญี่ปุ่นหรือในสหรัฐอเมริกา ทว่ายังเกิดกับประเทศต่างๆ ที่อยู่ชายขอบของประเทศจีน อาทิเช่น ฟิลิปปินส์, ไทย และมาเลเซียด้วย

จีนไม่ได้ทำเพียงแค่ดูดซับกำลังการผลิตที่ถูกตัดลดในประเทศอื่นเข้ามาเท่านั้น แต่ยังตั้งหน้าตั้งตาขุนกำลังการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของตนให้ทวีคูณขึ้น ในขณะเดียวกัน ความสามารถของตลาดในประเทศจีนที่จะรองรับผลผลิตทางอุตสาหกรรมของตนเองกลับมีอยู่จำกัด

ผู้ก่อการลงทุนล้นเกิน
ผู้มีบทบาทสำคัญอีกรายหนึ่งในการลงทุนล้นเกินก็คือ"ทุนข้ามชาติ". ในปลายทศวรรษ 1980 และ 1990 บรรษัทข้ามชาติมองจีนเป็นพรมแดนสุดท้าย เป็นตลาดอันไม่มีขีดจำกัดที่สามารถดูดซับการลงทุนและคายผลกำไรคืนกลับมาไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม จีนมีกฎเกณฑ์เข้มงวดคอยควบคุมการค้าและการลงทุน ทำให้บรรษัทข้ามชาติต้องตั้งฐานการผลิตเกือบทั้งกระบวนการไว้ในประเทศจีน แทนที่จะใช้การผลิตข้ามพรมแดน (outsourcing) เฉพาะบางกระบวนการ นักวิเคราะห์เรียกกระบวนการผลิตของบรรษัทข้ามชาติแบบนี้ว่า "excessive internalization" ด้วยการเล่นตามกฎกติกาของจีน ลงท้ายบรรษัทข้ามชาติก็ลงทุนล้นเกินในประเทศนี้ และสร้างฐานการผลิตที่ผลิตสินค้าได้มากกว่าที่ประเทศจีนหรือแม้แต่ตลาดที่เหลือในโลกจะบริโภคหมด

เมื่อเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ ความฝันที่จะขูดรีดตลาดอันไม่มีขีดจำกัดก็ปลาสนาการไป บริษัทต่างชาติมุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศจีน ไม่ใช่เพราะคิดจะขายสินค้าให้ผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่งร่ำรวยขึ้นมาหลายล้านคน แต่เพราะจีนกลายเป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลกและอาศัยความได้เปรียบของแรงงานราคาถูกที่มีเหลือคณานับ บริษัทที่ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้มี อาทิเช่น ฟิลิปส์ ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติดัทช์. ฟิลิปส์เปิดโรงงานถึง 23 แห่งในประเทศจีน และผลิตสินค้ามูลค่าราว 5 พันล้านดอลลาร์ แต่ผลผลิตถึง 2 ใน 3 ส่งออกไปยังประเทศอื่น

ผู้มีบทบาทรายอื่นๆ ที่หนุนเสริมให้เกิดกำลังการผลิตล้นเกินก็คือ ส่วนปกครองท้องถิ่นที่ลงทุนและสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญขึ้นมา ในขณะที่การดำเนินการเหล่านี้มัก "มีการวางแผนและการบริหารงานที่ดีในระดับท้องถิ่น". Ho-Fung Hung ตั้งข้อสังเกต "แต่ผลรวมของการดำเนินการทั้งหมด...กลับก่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างไร้ระเบียบระหว่างท้องถิ่นต่างๆ ส่งผลให้เกิดโครงสร้างของกำลังการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานที่ซ้ำซ้อนและไม่ประสานงานกัน"

ด้วยเหตุนี้ กำลังการผลิตสูญเปล่าในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เหล็ก, รถยนต์, ปูนซีเมนต์, อลูมิเนียม และอสังหาริมทรัพย์ จึงพุ่งสูงขึ้นมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 โดยมีการประเมินว่า กว่า 75% ของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศจีนกำลังประสบกับภาวะกำลังการผลิตล้นเกิน และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรในอุตสาหกรรมต่างๆ ประสบปัญหาการลงทุนล้นเกินแล้ว โดยคิดเป็นมูลค่าถึง 40-50% ของความเติบโตของ GDP ในประเทศจีน

ใน ค.ศ. 2005 คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปภาครัฐ (State Development and Reform Commission) ของจีนคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์จะผลิตรถยนต์ออกมาเกินกว่าที่ตลาดจะรองรับได้ถึงสองเท่าในปี ค.ศ. 2010 ถ้าเราเชื่อถือข้อมูลทางสถิติของรัฐบาล เราก็ต้องไม่มองข้ามผลกระทบที่มีต่ออัตราผลกำไรต่อการลงทุน. Hung ชี้ให้เห็นว่า ในปลายปี ค.ศ. 2005 อัตราความเติบโตของผลกำไรเฉลี่ยต่อปี ของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมดลดลงถึงครึ่งหนึ่ง และการขาดทุนรวมทั้งหมดของบริษัทที่ไม่ทำกำไรพุ่งสูงขึ้นถึง 57.6%

ยุทธศาสตร์ค่าแรงต่ำ
รัฐบาลจีนสามารถบรรเทาปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน โดยขยายอำนาจการซึ้อของประชาชนผ่านนโยบายปฏิรูปการกระจายรายได้และสินทรัพย์ การแก้ปัญหาเช่นนี้อาจหมายถึงอัตราการเติบโตที่ผ่อนช้าลง แต่จะช่วยให้เกิดเสถียรภาพในประเทศและในโลกมากขึ้น นี่คือข้อเสนอแนะของกลุ่มปัญญาชนและนักวิเคราะห์นโยบายฝ่ายที่เรียกกันว่า "ซ้ายใหม่" ของจีน. กระนั้นก็ตาม ผู้มีอำนาจในประเทศจีนกลับเลือกดำเนินยุทธศาสตร์เดิมๆ เพื่อครอบงำตลาดโลกด้วยการขูดรีดแรงงานราคาถูกในประเทศ แม้ว่าประชากรจีนจะมี 1.3 พันล้านคน แต่มีถึง 700 ล้านคน หรือกว่าครึ่ง ที่อาศัยในเขตชนบทและมีรายได้เฉลี่ยแค่ 285 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 10,500 บาท) ตามตัวเลขการประเมินของบางสำนัก กำลังแรงงานสำรองของคนจนในชนบทนี้ทำให้บริษัทผู้ผลิต ทั้งต่างชาติและท้องถิ่น กดค่าแรงให้ต่ำติดดินเอาไว้

นอกจากการกระจายรายได้ที่ล้าหลังอาจส่งผลกระทบทางการเมืองจนเกิดความไร้เสถียรภาพแล้ว Hung ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ยุทธศาสตร์ค่าแรงต่ำ "ขัดขวางการขยายตัวของการบริโภค โดยไม่ได้สัดส่วนกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร กับการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในด้านการลงทุน". กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วิกฤตการณ์ระดับโลกของภาวะการผลิตล้นเกินจะยิ่งเลวร้ายลง หากจีนยังคงทุ่มตลาดโลกด้วยผลผลิตทางอุตสาหกรรม ในขณะที่ตลาดโลกกลับถูกจำกัดด้วยความเติบโตที่เชื่องช้า

เศรษฐศาสตร์ล่ามตรวน
การผลิตของจีนและการบริโภคของอเมริกันเปรียบเสมือนนักโทษ ในคำพังเพยที่อยากสลัดหลุดจากกัน แต่ทำไม่ได้เพราะถูกล่ามตรวนติดกันไว้. ความสัมพันธ์นี้รังแต่วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ. ในด้านหนึ่ง ความเติบโตอย่างไม่ลืมหูลืมตาของจีน ต้องพึ่งพิงความสามารถของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ในการบริโภคผลิตผลของจีนที่เกิดจากการลงทุนล้นเกินต่อไป ส่วนในอีกด้านหนึ่ง อัตราการบริโภคในระดับสูงของอเมริกา ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ก็ต้องพึ่งพิงปักกิ่งที่คอยเอื้อเฟื้อเงินกู้ก้อนมหึมาจากเงินดอลลาร์กว่าหลายล้านล้านที่จีนสะสมไว้ จากการได้เปรียบดุลการค้ากับวอชิงตันที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นๆ

ราชัน หัวหน้าคณะเศรษฐกรแห่ง IMF กล่าวว่า ความสัมพันธ์ล่ามตรวนแบบนี้ "ไม่ยั่งยืน" ทั้งสหรัฐอเมริกาและ IMF ต่างตำหนิสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจมหภาคระดับโลก" และเรียกร้องให้จีนปรับค่าเงินหยวนเสียใหม่เพื่อลดการได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่จีนไม่ยอมทิ้งนโยบายค่าเงินต่ำของตน เช่นเดียวกับนโยบายค่าแรงต่ำ ค่าเงินต่ำเป็นส่วนหนึ่งของสูตรความสำเร็จในการผลิตที่เน้นการส่งออกของจีน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถแข็งกร้าวกับจีนมากเกินไป เนื่องจากสหรัฐฯ จำต้องพึ่งพิงวงเงินสินเชื่อไม่จำกัดจากปักกิ่ง มาคอยป้อนให้การใช้จ่ายของชนชั้นกลางต่อไป เพื่อค้ำจุนความเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของตนเอาไว้

IMF เรียกภาวการณ์นี้ว่า "ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจมหภาค" แต่แท้ที่จริง มันเป็นวิกฤตการณ์ของภาวะการผลิตล้นเกินต่างหาก โรงงานของจีนและผู้บริโภคชาวอเมริกัน ต่างก็มีส่วนทำให้วิกฤตการณ์นี้ดูท่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

เชิงอรรถ
(1) Raghuram Rajan, "Global Imbalances: An Assessment," International Monetary Fund, Washington, DC, October 2005, http://www.imf.org/external/np/speeches/2005/102505

(2) Ho-Fung Hung, "The Rise of China and the Global Overaccumulation Crisis," Paper presented at the Global Division of the Annual Meeting of the Society for the Study of Social Problems," August 10-12, 2005, Montreal, Canada.

เกี่ยวกับผู้เขียน : วอลเดน เบลโล เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และเป็นผู้อำนวยการบริหารของ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) (http://www.focusweb.org/)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

2. เมื่อบุชลงใต้ (การเยือนกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา)
หมายเหตุจากผู้แปล: แม้ว่าบทความชิ้นนี้อาจแปลช้ากว่าสถานการณ์ไปหลายวัน ทั้งนี้เพราะบุชกลับจากการเยือนอเมริกาใต้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่บทความก็ยังปูพื้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอเมริกาใต้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะความสำคัญของเอธานอลที่เพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อนโยบายทางการเมืองของโลกมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังทำนายถึงแนวโน้มว่า สหรัฐฯ จะ 'จัดการ' อย่างไรกับ 'หลังบ้าน' ของตัวเอง

โดย; เปเป เอสโกบาร์
Pepe Escobar, 'Bush Down South,' (March 8, 2007), Asia Times Online: http://www.atimes.com/atimes/Front_Page/IC08Aa01.html

ความนำ
เซาเปาลู - ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา - ที่กำลังล้มลุกคลุกฝุ่นในอิรัก, ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบ้านตัวเอง และถูกรังเกียจเดียดฉันท์ไปทั่วโลก - ตอนนี้กำลังหยุดพักหายใจและล่องลงใต้เพื่อทัวร์นกขมิ้นในห้าประเทศ คือ บราซิล, อุรุกวัย, โคลอมเบีย, กัวเตมาลา, และเม็กซิโก น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านไร่ปศุสัตว์ขนาด 617,500 ไร่ ที่ บาร์บารา บุช ลูกสาวของเขาซื้อไว้ที่ทุ่งราบกรันชาโกในปารากวัยเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว เขาน่าจะอยากแวะพักที่นั่นบ้าง

การต้อนรับประธานาธิบดีบุชคงไม่ใช่แบบที่ต้อนรับวงโรลลิงสโตนส์แน่ๆ การประท้วงของมวลชนมีกำหนดนัดหมายในทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศที่เขาไม่ได้ไปโชว์ตัวด้วยซ้ำ ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ศัตรูคู่แค้นประจำทวีปของบุช จะกล่าวปราศรัยท่ามกลางฝูงชนแออัดยัดเยียดในกรุงบัวโนไอเรส อาจจะในสนามฟุตบอล ในขณะที่หน่วยราชการลับสหรัฐฯ ที่ป่วยเป็นโรคหวาดระแวง ก็พยายามเปลี่ยนเมืองเซาเปาลูให้กลายเป็น 'เขตสีเขียว' ขนาดใหญ่ (1)

โดยพื้นฐานแล้ว การเดินทางครั้งนี้น่าจะเป็น 'ทัวร์บุชต้านชาเวซ' แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือมันกลายเป็น 'ทัวร์บุชต้านอาห์มาดิเนจาด' ด้วย. เดือนที่แล้ว เพื่อเสริมสัมพันธ์กับละตินอเมริกาให้แน่นแฟ้นขึ้น ประธานาธิบดีอิหร่านจึงเดินทางไปเยือนเวเนซุเอลา, เอกวาดอร์, และนิคารากัว. ในสายตาของฝ่ายนีโอคอน (อนุรักษ์นิยมใหม่) สามประเทศนี้บวกกับโบลิเวียที่ร่ำรวยด้วยก๊าซธรรมชาติ มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับการขนานฉายาเป็น 'อักษะแห่งความชั่วร้าย' ประจำอเมริกาใต้

สำหรับการไปเยือนของบุช กลยุทธ์ของทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศหนีไม่พ้น 'การแบ่งแยกและปกครอง' ตามสไตล์จักรวรรดินิยมอีกครั้ง. Mercosur ตลาดร่วมอเมริกาใต้ที่กำลังพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มในภูมิภาคที่แท้จริง คงจะถูกบุชถล่มโจมตีชุดใหญ่ โดยอาศัยยุทธศาสตร์หลากหลายที่มุ่งเป้าไปที่บราซิลกับอุรุกวัย เพราะเวเนซุเอลานั้นเข้าเป็นสมาชิก Mercosur เต็มตัวเมื่อปีที่แล้ว (Mercosur ชื่อของกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงเป็นตลาดร่วมทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย บราซิล, อาร์เจนตินา, อุรุกวัย, ปารากวัยและเวเนซุเอลา)

บราซิลเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ที่ต้องยื้อแย่งมาให้ได้ ความฝันของทำเนียบขาว/กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ คือการได้สวมมงกุฎอย่างกึ่งเป็นทางการให้แก่ประธานาธิบดีลูอิซ อีนาเซียว ลูลา ดา ซิลวา ในฐานะ 'นักปฏิรูปสายกลาง' ที่สามารถเป็นตัวแทนของทางเลือกอื่นในทวีปนี้ นอกเหนือจากวิถีทางปฏิวัติแบบชาเวซ เพียงแต่มวลชนทั่วทั้งอเมริกาใต้ไม่ยอมตกหลุมพรางของหมากตานี้เท่านั้นเอง

โอเปกเอธานอล
ข้อเสนอของชาเวซในการรวมภูมิภาคอเมริกาใต้เข้าด้วยกัน โดยอาศัยโครงการหลายๆ โครงการ, หนึ่งในนั้นคือ อภิโครงการ Gasoducto del Sur (Gas Pipeline of the South - ท่อส่งน้ำมันแห่งอเมริกาใต้) บุชจะต้องชิงดักทางอภิโครงการนี้ด้วยการเสนอข้อตกลงด้านพลังงาน ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าน้ำมันชีวภาพ. บราซิลกับสหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งการผลิตเอธานอลในโลกรวมกันถึง 70% ภาคเกษตรกรรมในสหรัฐฯ กำลังเนื้อเต้นคึกคัก แม้กระทั่งบิล เกตส์ ยังอยากลงทุนในเอธานอล ท่ามกลางปัญหาโลกร้อนและกลุ่มอาการโรคน้ำมันกับสงคราม นี่เป็นหนทางในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการชาวอเมริกันที่เลือดรักชาติขึ้นหน้าและพร้อมที่จะกอบโกยกำไรสักหลายล้านดอลลาร์ ช่วยกันคิดคำขวัญขึ้นมาเสร็จสรรพแล้วว่า 'พืชผลของเรา, น้ำมันของเรา, ประเทศของเรา'

สำหรับการผลิตน้ำมันชีวภาพ สหรัฐอเมริกาใช้ข้าวโพด, บราซิลใช้อ้อย, เนื่องจากภูมิอากาศที่อ่อนโยนกว่า อ้อยของบราซิลจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าถึง 50% บราซิลมีไร่เกษตรขนาดใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา ที่ดินหลายล้านไร่อยู่ในกำมือของอภิชนกลุ่มเล็กๆ ทรงอำนาจ ซึ่งอยากทำธุรกิจกับทุนระดับโลกใจจะขาด และตอนนี้กำลังฝันกลางวันว่า จะส่งน้ำมันชีวภาพเข้าไปท่วมตลาดสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ สินค้าประเภทแอลกอฮอล์จากบราซิลเจอกำแพงภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อย่างหนักหน่วงถึง 54 เซนต์ต่อแกลลอน (14.27 เซนต์ต่อลิตร)

แม้ต้องเจอกำแพงภาษีสูงลิบขนาดนี้ ใน ค.ศ. 2006 บราซิลยังส่งออกสินค้าประเภทแอลกอฮอล์เข้าไปในสหรัฐฯ มากกว่าใน ค.ศ. 2005 ถึง 10 เท่า ไม่น่าแปลกใจเลยว่า กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่และกองทุนเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่แตกต่างจากทุนโจรครองเมืองสักเท่าไร ตอนนี้กำลังวิ่งวุ่นหาที่ดินและหุ้นส่วนเพื่อลงทุนในบราซิลกันตัวเป็นเกลียว ในบางพื้นที่ เช่น ในรัฐเซาเปาลูอันอุดมสมบูรณ์ของบราซิล การปลูกอ้อยกำลังเข้ามาแทนที่การปลูกส้มและถั่วเหลืองอย่างรวดเร็ว

ภายใต้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศด้านกิจการการเมืองอย่าง นิโคลาส เบิร์นส์ (Nicholas Burns) ในการประชุมเมื่อต้นเดือนที่แล้ว เพื่อเตรียมการให้การไปเยือนต่างประเทศของประธานาธิบดีบุช เขาพูดไว้ตรงประเด็นมากโดยกล่าวว่า บราซิลเป็น 'ประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในอเมริกาใต้' และเสริมว่า สหรัฐอเมริกาไม่ควรพึ่งพิงน้ำมันจาก 'ประเทศอย่างอิหร่านกับเวเนซุเอลา' เบิร์นส์นิยมชมชอบในความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับสูงของบราซิลในการผลิตน้ำมันชีวภาพมาก และย้ำว่าในอนาคต น้ำมันชีวภาพจะเป็น 'ห่วงโซ่สำคัญที่คล้องชาวอเมริกันกับชาวบราซิลเข้าด้วยกัน'

เบิร์นส์ทำเป็นลืมง่ายๆ จนไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องที่ว่า กองกำลังกึ่งทหารในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบีย กำลังใช้ความรุนแรงขับไล่หรือถึงขั้นสังหารผลาญชีวิตชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกันและชุมชนชาวนาเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่ ๆ โดยที่กองกำลังกึ่งทหารเหล่านั้นเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเอาน้ำมันปาล์มไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันชีวภาพนั่นเอง

ในทางทฤษฎี ทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศย่อมต้องการตั้งระบบการผลิตน้ำมันชีวภาพข้ามชาติขึ้นมาในอเมริกาใต้ และหมู่เกาะแคริบเบียน แต่ไม่ต้องการให้มีการรวมกันฮั้วเพื่อผลิตและขายเอธานอลเหมือนอย่างองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เพราะไม่ว่าจะตีโวหารให้สุนทรเสนาะโสตสักแค่ไหน แต่กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลเปี่ยมล้นย่อมวิ่งเต้นทุกวิถีทางไม่ให้ประธานาธิบดีคนไหนกล้าเปิดตลาดสหรัฐฯ แก่เอธานอลจากบราซิล ดังนั้น ลูลาจะตั้งคำถาม และบุชก็จะเฉไปพูดเรื่องอื่น

เกรก มานูเอล ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศด้านพลังงานพูดไว้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ไม่ว่าจะอย่างไร กำแพงภาษีก็จะยังคงเดิม สิ่งที่รัฐบาลบุชตั้งเป้าหมายไว้ในระยะกลางก็คือ จะใช้น้ำมันชีวภาพมาทดแทนความต้องการพลังงานของสหรัฐอเมริกาแค่ 5% เท่านั้น ดังที่อดีตเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย เตอร์กี อัล-ไฟซาล พูดไว้ตรงจุดอย่างยิ่งว่า เรื่องที่สหรัฐอเมริกาจะหาทางเป็นอิสระจากน้ำมันนั้น เป็นแค่ 'นิยายทางการเมือง'

การเมืองทำเนียบขาวที่มุ่งลงใต้
ยุทธศาสตร์ทางการเมืองของทำเนียบขาวที่รุกลงใต้มีความซับซ้อนกว่านั้น มันหมายถึงการเปลี่ยนแนวทางใหม่ในการต่อสู้กับ 'ลัทธิประชานิยมราดิกัล' อันน่าหวาดหวั่น นี่คือสายตาที่วอชิงตันมองกระแสชาตินิยม-ปฏิวัติในละตินอเมริกาที่กำลังถั่งโถมอยู่ในปัจจุบัน กลุ่มมันสมองปีกขวาของสหรัฐฯ สังเกตเห็นแล้วว่า การตั้งป้อมเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของชาวละตินอเมริกา รังแต่จะทำให้บุชและสหรัฐฯ เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ยิ่งกว่าเดิม แน่นอน ความเป็นปฏิปักษ์จะยังมีอยู่ต่อไป แต่ทำเนียบขาว/กระทรวงต่างประเทศกำลังมองหาสูตรสำเร็จใหม่ที่ 'นุ่มนวลกว่าเดิม'

ขณะที่บุชกำลังสูญเสียความน่าเชื่อถือและจนตรอกในประเทศบ้านเกิด ไม่มีอะไรสดชื่นยิ่งกว่าการหยุดพักผ่อนโดยไปเยือนรัฐบาลบริวารปีกขวาอย่างโคลอมเบีย, เม็กซิโก, และกัวเตมาลา, รวมทั้งรัฐบาลซ้ายกลางจอมปลอมที่เคยก้าวหน้าแต่กลายเป็นอนุรักษ์นิยมไปแล้ว อย่างบราซิล และอุรุกวัย. ผลประโยชน์ในด้านการโฆษณาชวนเชื่อยิ่งไม่อาจประเมินต่ำเกินไป การพบปะสังสรรค์ทั้งหมดนี้ย่อมถูกทำเนียบขาวเอามาปั่นเป็นข่าวอย่างไม่ยั้งมือว่า นี่แหละคือหลักฐานว่าอเมริกาใต้ 'สนับสนุน' โศกนาฏรรมอิรักที่รัฐบาลบุชวิศวกรรมขึ้นมา และอาจรวมไปถึงการโจมตีอิหร่านในอนาคตด้วย

การแบ่งแยกและปกครองคือชื่อของหมากตานี้ ประธานาธิบดีบุชต้องหาทางสร้างข้อตกลงตัวต่อตัวกับทีละประเทศ และพยายามทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการผูกพันธมิตร/รอมชอม ระหว่างรัฐบาลของประเทศทั้งห้ากับชาเวซแห่งเวเนซุเอลา, เอโว โมราเลสแห่งโบลิเวีย, และราฟาเอล คอร์เรอาแห่งเอกวาดอร์

ดังนั้น การถล่ม Mercosur ให้แหลกเละจึงเป็นกุญแจสำคัญในยุทธศาสตร์ของวอชิงตัน ลูลาจำต้องบินด่วนไปอุรุกวัยเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เพื่อพบปะกับประธานาธิบดีทาบาเร วาสเควซ และเหนี่ยวรั้งไม่ให้อุรุกวัยละทิ้ง Mercosur แล้วหันไปลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา. Mercosur มีความไม่สมมาตรอย่างเห็นได้ชัด ตรงที่ยักษ์ใหญ่อย่างบราซิลและอาร์เจนตินาไม่ยอมเปิดตลาดให้สินค้าส่งออกของอุรุกวัย ลูลาสัญญาว่า ความไม่สมมาตรนี้จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว อุรุกวัยจะยอมลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ ทว่าไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรีแบบไม่สมมาตร, เอื้ออำนวยต่อบรรษัทสหรัฐฯ หรือครอบคลุมทุกภาคส่วนเป็นแน่

ไม่ว่าวอชิงตันจะมีจุดประสงค์อย่างไร วัลแตร์ โพมาร์ เลขาธิการฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพรรคแรงงานบราซิล (Partido dos Trabalhadores หรือ PT ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของลูลา) ก็กำหนดท่วงทำนองไว้ล่วงหน้าแล้วว่า "บราซิลอาจเป็นสื่อกลาง [ในกรณีที่มีการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ -เวเนซุเอลาเกิดขึ้น] แต่เราจะไม่ยอมเปิดช่องให้จักรวรรดินิยมมาฉวยโอกาส อย่าคิดจะใช้บราซิลไปกดดันคิวบา, เวเนซุเอลา, โบลิเวียหรือเอกวาดอร์"

ไม่ว่าสหรัฐฯ จะบรรลุข้อตกลงง่ายๆ กับอัลวาโร อูริเบ ในโคลอมเบีย และเฟลีเป คัลเดโรน ในเม็กซิโก ได้รับการต้อนรับอย่างสุภาพจากลูลาในบราซิลและวาซเควซในอุรุกวัยสักแค่ไหน ความจริงก็คือ ทั่วทุกมุมถนนในอเมริกาใต้. ชาเวซคือราชา และบุชคือ...อย่างที่ผู้นำสหภาพแรงงานบราซิลกล่าวไว้ว่า...บุชคือ 'ผู้ก่อการร้าย' หมายเลขหนึ่ง

ลูลาและประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์ แห่งอาร์เจนตินา ไม่เคยนำการปฏิรูปทางการเงินหรือการคลังมาใช้ และยังคงส่งเสริมลัทธิเสรีนิยมใหม่ตามฉันทามติวอชิงตัน ในอีกด้านหนึ่ง ความนิยมที่ประชาชนมีต่อการปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์ก็ใหญ่หลวงใช่เล่น เพราะมันมีทั้งรัฐสวัสดิการที่คำนึงถึงด้านสังคม ระบบเศรษฐกิจผสมผสานที่ตั้งอยู่บนภาครัฐที่เข้มแข็ง และระบอบประชาธิปไตยทางตรงที่แท้จริงที่วางรากฐานบนสมัชชาชุมชน

มวลชนทั่วทั้งอเมริกาใต้คิดเปรียบเทียบความก้าวหน้าเหล่านี้ กับความล้มเหลวอย่างน่าสมเพชของลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่ในใจแล้ว อาจมีการแบ่งขั้วเลือกข้างอย่างชัดเจนเกิดขึ้น แต่นั่นหมายถึงการแบ่งขั้วระหว่างประชากรที่เป็นคนส่วนใหญ่ที่จะผนึกกำลังกับรัฐบาลในหลายประเทศ เพื่อประจันหน้ากับรัฐบาลบริวารที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้าแต่สูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว ซึ่งจะผนึกกำลังกับอภิชนกลุ่มเล็ก ๆ แต่มีอิทธิพลอำนาจ พูดอย่างรวบรัดตัดความก็คือ มันลิขิตไว้แล้วว่า ความพยายามของบุชที่จะสร้างพันธมิตรต่อต้านชาเวซต้องล้มเหลวไม่เป็นท่าแน่นอน

โลกนี้มิเคยไร้คนทราม
อย่างไรก็ตาม หนทางยังขรุขระวิบากนัก นับแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ในส่วนที่เป็นความสัมพันธ์กับอเมริกาใต้ วอชิงตันสูญสิ้นการควบคุมทางอุดมการณ์ สูญเสียอำนาจทางด้านความคิด รวมทั้งความน่าเชื่อถือที่เหลืออยู่ขององค์กรที่อ้างตัวเป็นกลางอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ, ธนาคารโลก, องค์การการค้าโลก, และองค์การกลุ่มประเทศทวีปอเมริกา (Organization of American States) จะมอดมลายไปด้วยก็จริง ประธานาธิบดีอิหร่านและประธานาธิบดีจีนเข้าๆ ออกๆ อเมริกาใต้เป็นว่าเล่นเพื่อผูกสมัครเป็นพันธมิตรใหม่ วิกฤตการณ์ของการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่เคยเข้าขั้นตรีทูตขนาดนี้มาก่อน แต่แนวโน้มที่น่าวิตกก็ยังคงมีอยู่

นโยบายต่างประเทศของสเปนในละตินอเมริกา ตอนนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา ทั้งวอชิงตันกับมาดริดมุ่งเน้นแนวทางแบบลัทธิอาณานิคมใหม่อย่างไม่ลืมหูลืมตา และมองละตินอเมริกาเป็นเพียงอาณาบริเวณที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติอันมั่งคั่งและตลาดขนาดใหญ่ ประชาชนจำนวนมากในละตินอเมริกายังตกอยู่ภายใต้การบังคับขับไสในระดับต่างๆ ทั้งการกดขี่ทางเศรษฐกิจ, การควบคุมข่าวสาร, การครอบงำทางวัฒนธรรม, การสอดส่องตรวจสอบ และแม้กระทั่ง (ในกรณีของเวเนซุเอลา) การข่มขู่ทางการทหาร

สำหรับศูนย์ Southern Command ของเพนตากอน (2) ละตินอเมริกาเป็นแหล่งซ่องสุมอันตรายของคนต่างด้าวนอกกฎหมาย, ชาวนาไร้ที่ดิน, นักลักลอบขนของเถื่อน, พวกหัวรุนแรง (มีใครพูดคำว่า 'คอมมิวนิสต์' บ้างไหม?), ขบวนการโลกาภิวัตน์ทางเลือกใหม่, พ่อค้ายาเสพย์ติด, และพวกที่เข้าข้างฝ่ายอิสลาม ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะจัดการกับ 'คนชั่ว' เหล่านี้ มีทางเดียวคือ 'การสร้างอิทธิพลครอบงำอย่างเต็มพิกัด'

ดังนั้น ตอนนี้จึงมีการทุ่มเงินถึง 2 ล้านดอลลาร์ต่อวันเพื่อเข้าไปแทรกแซงในโคลอมเบีย (โคลอมเบียเป็นเสมือนม้าโทรจันที่ต้องมีไว้ เพราะเวเนซุเอลา, โบลิเวีย, และเอกวาดอร์, หลุดไปจากการควบคุมของสหรัฐฯ) การจารกรรมและพยายามบ่อนทำลายความมั่นคงของเวเนซุเอลา, ฐานทัพที่เมืองมันตาในเอกวาดอร์ (ซึ่งเป็นสถานีสอดแนมที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคมูลค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์ โดยมีชื่อเรียกไพเราะเพราะพริ้งว่า สถานีข่าวกรองลับเพื่อความมั่นคง [Sensitive Compartmentalized Information Facility])

นอกจากนั้น ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งหน่วยรบมรณะอันน่าพรั่นพรึงอย่าง จอห์น เนโกรปอนเต (John Negroponte) (3) ที่เป็นมืออันดับสองรองจากคอนโดลีซซา ไรซ์ ในกระทรวงต่างประเทศ. ไรซ์ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับละตินอเมริกา ดังนั้น เนโกรปอนเตคงได้เข้ามาคุมภูมิภาคนี้ในอีกไม่ช้าไม่นาน นี่อาจหมายถึงการเปิดฉากสงครามอำมหิตขึ้นมาอีกครั้งในละตินอเมริกา โดยครั้งนี้มีเป้าหมายคือ ชาเวซ, โมราเลส, และคอร์เรอา

ประชาชนหลายล้านในอเมริกาใต้ รวมทั้งอีกหลายล้านคนทั่วโลกตระหนักดีว่า ข่าวคราวอันน่าตื่นตะลึงไม่ได้มาจากคนอย่างลูลา, วาสเควซ, หรือแม้แต่เคียร์ชเนอร์ แต่มาจากคนอย่างชาเวซ, โมราเลส, และคอร์เรอาต่างหาก. ในโลกการเมืองปัจจุบัน อเมริกาใต้กลายเป็นภูมิภาคที่ก้าวหน้าที่สุดและให้ความหวังมากที่สุด มากยิ่งกว่าเอเชียหรือแอฟริกา เพราะอเมริกาใต้กำลังบุกเบิกเส้นทางสายใหม่ๆ ที่แท้จริงที่แยกจากทางสายพินาศของลัทธิเสรีนิยมใหม่ แม้ว่าเส้นทางเหล่านั้นอาจดูยุ่งเหยิงรุงรัง, ไม่สมบูรณ์แบบ หรือแม้กระทั่งเป็นอุดมคติเพ้อฝัน แต่มันก็ยังน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ดี ในขณะที่วอชิงตันที่ยืนอยู่บนยอดสูงลิบของอิทธิพลอำนาจเต็มพิกัดไร้เทียมทาน ไม่มีอะไรจะมอบให้โลกนอกจากสงคราม, ความตายและความหายนะ

เชิงอรรถ

(1) เขตสีเขียว หรือ Green Zone บางทีเรียกกันว่า Gringo Zone หรือ Emerald City คือบริเวณรัศมี 10 กิโลเมตรในใจกลางกรุงแบกแดดของอิรัก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกองบัญชาการชั่วคราวของกองทัพพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวโจก พื้นที่นี้ถือเป็นหน้าเป็นตาที่มีความปลอดภัยในอิรัก แตกต่างจากพื้นที่สีแดงที่อยู่นอกรัศมีนี้

(2) ชื่อเต็มคือ The United States Southern Command (เรียกย่อ ๆ ว่า USSOUTHCOM หรือบางทีเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า SOUTHCOM) เป็นหน่วยบัญชาการภายใต้เพนตากอน ที่รับผิดชอบกิจกรรมทางการทหารในอเมริกากลาง, อเมริกาใต้ และหมู่เกาะแคริบเบียน ยกเว้นคิวบากับเปอร์โตริโก ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ Northern Command

(3) จอห์น เนโกรปอนเต เป็นนักการทูตขวาจัดของสหรัฐอเมริกา ช่วงที่อื้อฉาวที่สุดของเขาคือระหว่าง ค.ศ. 1981-1985 ที่เขาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำฮอนดูรัส ในช่วงนั้น เงินสนับสนุนทางการทหารที่สหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลฮอนดูรัสเพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมๆ กับมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทั้งโดยกองทัพฮอนดูรัสและการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารออกปฏิบัติการภัยสยอง กวาดล้างประชาชนที่ต้องสงสัยว่าจะเอียงซ้าย ใน ค.ศ. 2004-2005 เนโกรปอนเตเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิรัก หลังจากนั้นจึงมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ

เกี่ยวกับผู้เขียน : เปเป เอสโกบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมมากคือ Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War (Nimble Books, 2007). และเป็นคอลัมนิสต์ประจำใน Asia Times Online บทความแปลชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจาก มร.เอสโกบาร์ ผู้แปลขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

Hugo Chavez ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา
Prasident Hugo Chaves Frias

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com