โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 11 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๓๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 11, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ปฏิมากรรมหรือจิตรกรรมแบบตันตระ ซึ่งมีเทพเจ้าเพศหญิงและเพศชายสวมกอดกันอยู่นั้น เรียกว่า "ยับ-ยุม" (yab-yum) มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าอย่างอื่น พุทธศาสนาฝ่ายตันตระอธิบายว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณา โดยที่เพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของ "ปัญญา" ขณะที่เพศชายเป็นสัญลักษณ์ของ "กรุณา" ตามทรรศนะแบบตันตระ ปัญญาเปรียบเหมือนดวงตา กรุณาเปรียบเหมือนแขนขา หากขาดดวงตาแล้วแขนขาก็กระทำการอย่างมืดบอด หากขาดแขนขาแล้วดวงตาก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ดวงตาและแขนขาจึงต้องทำงานร่วมกัน
11-08-2550

India-Nepal-Bhutan
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

สารคดีท่องเที่ยวที่เกินธรรมดาในดินแดนพุทธศาสนา
จากระบำหน้ากากและภาพยับยุม ถึงถ้ำอะชันตาและวัฒนธรรมคชุรโห
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ : เขียน
ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล

สารคดีท่องเที่ยวที่เกินธรรมดาในดินแดนพุทธศาสนา

1. เนปาล-ภูฏาน: วัชรยานใต้ฟ้าป่าหิมพานต์

1.1 การเยือนประเทศเนปาล

ในระหว่างวันที่ 3 - 10 กันยายน พุทธศักราช 2548 กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของท่านฐากูร พานิช รองปลัดกระทรวงฯ ได้พาคณะผู้แทนจากประเทศไทย อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม สื่อมวลชน รวมทั้งตัวแทนนักศึกษาในฐานะยุวทูต จำนวน 28 คน ไปเยือนประเทศเนปาลและภูฏาน ภายใต้โครงการ "ทำความรู้จักกับประเทศสมาชิกใหม่ BIMSTEC" (Getting to Know the New BIMSTEC Members)

BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) เป็นกรอบความร่วมมืออันหลากหลายทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในบริเวณอ่าวเบงกอล อันได้แก่ บังคลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, พม่า, เนปาล, ศรีลังกา, และไทย นับเป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่เชื่อมโยงอนุภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน นอกเหนือจากความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การเกษตร การประมง พลังงาน การท่องเที่ยว คมนาคม และเทคโนโลยีแล้ว ประเทศสมาชิกยังแสวงหาความร่วมมือในด้านการลดความยากจน การต่อต้านการก่อการร้าย การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

ชาติพันธุ์ของชนเนปาล
ระหว่างที่เยือนประเทศเนปาลในวันที่ 3 - 5 กันยายน 2548 นั้น คณะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นทั้งจากท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเนปาล รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของเนปาลอย่างดียิ่ง โดยได้เยี่ยมชมโบราณสถานต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งในกรุงกาฏมัณฑุ (แปลว่า "มณฑปไม้") อันเป็นเมืองหลวง และเมืองภักทาพูร์ เช่น สถูปสวายัมภูนาถ สถูปพุทธนาถ ย่านธาเมล ย่านพาทาน และพาชูพาตินาถ เป็นต้น เนปาลนั้นเป็นประเทศเล็กที่ถูกขนาบด้วยประเทศใหญ่ที่เป็นอู่อารยธรรมสองประเทศ คือจีนและอินเดีย ชาติพันธุ์ของเนปาลจึงมีลักษณะผสมผสานระหว่างโคเคซอยด์ (Caucasoid) แบบอินเดีย และมองโกลอยด์ (Mongoloid) แบบจีน เป็นภาพที่แปลกตาไม่น้อยที่ได้เห็นชาวเนปาลที่มีหน้าตาแบบมองโกลอยด์แต่งชุดส่าหรีและเจิมหน้าผาก แต่เนปาลก็ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียมากกว่า

อารยธรรมอินเดียเป็นอารยธรรมของการแสวงหาความพ้นทุกข์ โลกทัศน์ของอินเดียนั้นมองว่าชีวิตของมนุษย์มีความทุกข์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ทางจิตใจ) แต่ความพ้นทุกข์และหนทางที่จะเข้าถึงความพ้นทุกข์นั้นมีอยู่ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ (ซึ่งรวมถึงการครองตนเป็นโสด) และการสละโลกเพื่อบำเพ็ญเพียรทางสมาธิภาวนา โดยการใช้ชีวิตนักบวชหรือการหลีกเร้นตามป่าตามถ้ำ ถือเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ อินเดียจึงเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมการออกบวช และเป็นต้นแบบของสถาบันนักบวช ศาสนาทุกศาสนาที่เกิดขึ้นในอินเดียแม้ว่าจะมีปรัชญาและรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีโลกทัศน์ดังกล่าวร่วมกัน

วัฒนธรรมคชุรโห กามสูตร และลัทธิตันตระ
เมื่อวัฒนธรรมการออกบวชของอินเดียมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน และดำเนินมาถึงจุดหนึ่งประชาชนลดน้อยถอยลงเพราะพากันไม่ใส่ใจในทางโลก จึงเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เกิด "วัฒนธรรมคชุรโห" (Khajuraho) อันเป็นวัฒนธรรมที่สุดโต่งในทางกามคุณขึ้นมา เกิดศิลปะและปฏิมากรรมอันลือเลื่องในทางส่งเสริมกามคุณ และเป็นที่มาของ "กามสูตร" (Kama Sutra) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวกับกามคุณอันโด่งดังของอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่า 1,000 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ส่งเสริมกามคุณ แต่วัฒนธรรมคชุรโหก็แสดงออกมาในรูปแบบของศาสนา ภายในวิหารแห่งเมืองคชุรโหนั้นมีการบูชาศิวลึงค์และโยนี อันเป็นสัญญลักษณ์แห่งการกำเนิดชีวิต และเป็นเทพเจ้าในคติความเชื่อของชาวอินเดีย

เมื่อเกิดแนวความคิดที่สุดโต่งทั้งสองนี้ในอินเดียแล้ว ต่อมาวัฒนธรรมสุดโต่งทั้งสองสายนี้ก็ค่อยๆ เข้ามาบรรจบกัน จะเห็นได้ชัดในศิลปกรรมเนปาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพแกะสลักไม้ที่ค้ำยันขอบหลังคาโบสถ์วิหารฮินดู ซึ่งด้านบนจะเป็นรูปเทพเจ้า ส่วนด้านล่างจะเป็นภาพแบบ "กามสูตร" (โดยชาวเนปาลอธิบายว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ฟ้าผ่า!) วัฒนธรรมสุดโต่งของอินเดียทั้งสองสายนี้ได้พัฒนากลายมาเป็นลัทธิ "ตันตระ" (Tantricism) ในที่สุด ลัทธิตันตระได้เชื่อมโยงเรื่องราวของเทพเจ้าและกามคุณเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยอธิบายว่าการที่เทพเจ้าทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่มี "ทาระ" (Tara) หรือคู่ครองสวมกอดอยู่นั้น เป็นสัญญลักษณ์ของการรวมพลังอันยิ่งใหญ่ของเพศชายและเพศหญิงเข้าด้วยกัน กลายเป็นพลังอันสมบูรณ์ของจักรวาล

การผสมผสานระหว่างฮินดูและพุทธ
แม้ว่าชาวเนปาลส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาฮินดู โดยมีชาวพุทธเป็นเพียงคนส่วนน้อยก็ตาม แต่ลัทธิตันตระก็กลายเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น ดังปรากฏในชีวิตทางศาสนาและวัฒนธรรมของเนปาล โดยในโบสถ์ฮินดูมักจะมีสัญญลักษณ์ของพุทธศาสนาปรากฏอยู่ด้วยเสมอ เช่น พระพุทธรูป หรือพระโพธิสัตว์ เป็นต้น และในวัดพุทธศาสนาก็จะมีสัญญลักษณ์ของศาสนาฮินดูปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น พระพรหม พระนารายณ์ หรือศิวลึงค์ เป็นต้น บางครั้งพระพุทธรูปปางสมาธิสี่องค์จะประทับบนอาสนะ หันหน้าไปทิศทั้งสี่ โดยหันหลังชนกับศิวลึงค์ที่ตระหง่านอยู่เป็นเสาหลัก และสถูปที่มีชื่อเสียงที่สุดจนกลายเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศเนปาลคือ สถูปสวายัมภูนาถ และสถูปพุทธนาถ (ดวงตาบนสถูปคือดวงพระเนตรของพระพุทธเจ้าไวโรจนะ ที่กำลังสอดส่องดูความเป็นไปของสรรพสัตว์อยู่) ก็เป็นสถูปที่อยู่ในวัดพุทธศาสนา ปัจจุบันพระลามะจากทิเบตได้อพยพไปอาศัยอยู่ในเนปาลเป็นจำนวนมาก โดยที่ชาวเนปาลเองก็มิได้รังเกียจเพราะมีวัฒนธรรมตันตระเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ

1.2 การเยือนประเทศภูฎาน



ระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน 2548 คณะผู้แทนไทยได้เยือนประเทศภูฏานอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากท่านเอกอัครราชทูตไทย และกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำภูฏาน คณะได้เข้าพบทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภูฏาน ได้เห็นถึงศรัทธาอันมั่นคงในพุทธศาสนา ระบบ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ที่มีเป้าหมายการพัฒนาประเทศคือ "ความสุขประชาชาติ" (Gross National Happiness) อันรวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น การปกครองด้วยสติปัญญา และการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเขาลำเนาไพรและลำธารน้ำใสสะอาด ที่ยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ อันเป็นดินแดนแห่งฟ้าใสและป่าหิมพานต์จากอดีตถึงปัจจุบัน

คณะผู้แทนไทยได้เยี่ยมชมสถานที่ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันวิจิตรพิศดารตระการตาของชาวภูฏาน ทั้งที่เมืองธิมภู (Thimphu) อันเป็นเมืองหลวง เมืองวันดิโพแดรง (Wandi Phodrang) เมืองภูนาคา (Punakha) และเมืองพาโร (Paro) อันเป็นเมืองหน้าด่าน โดยแต่ละเมืองนั้นได้เยี่ยมชม "ซอง" (Dzong) ที่สำคัญซึ่งเป็นปราสาทและวัดในอาเขตเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด รวมทั้งระบำหน้ากากทางศาสนาอันเลื่องชื่อในเทศกาลประจำปีของชาวภูฏาน นอกเหนือจากทิวทัศน์อันงดงามทั่วทั้งประเทศบนเทือกเขาหิมาลัย จนได้ชื่อว่า "สวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย"

ชาติพันธุ์ของชาวภูฏาน
ภูฏานก็เป็นเช่นเดียวกับเนปาล ที่เป็นประเทศเล็ก (พลเมืองมีเพียงประมาณ 700,000 คน) แต่ถูกขนาบด้วยประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียสองประเทศ คือจีนและอินเดีย เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ภูฏานอยู่บนที่ราบสูง (สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 7,000 ฟุต) ติดต่อกับทิเบต ชาติพันธุ์ของชาวภูฏานจึงออกเป็นมองโกลอยด์เกือบทั้งหมด และวัฒนธรรมค่อนมาทางจีนมากกว่า วัฒนธรรมนั้นก็เป็นดังชาติพันธุ์ ชาติพันธุ์ลูกผสมมีลักษณะงดงามและเฉลียวฉลาดฉันใด วัฒนธรรม "ลูกผสม" ที่ถูกผสมผสานอย่างลงตัว ก็มีความงดงามและเปี่ยมด้วยสติปัญญาฉันนั้น วัฒนธรรมภูฏานได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีนอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็เป็นวัฒนธรรมที่ถูกผสมผสานจากอินเดียอย่างลงตัว ทำให้มีลักษณะโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตน

ปัจจุบันชาวภูฏานยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรม เครื่องแต่งกาย วิถีการดำเนินชีวิต และศาสนา โดยประชาชนเกือบทั้งหมดนับถือพุทธศาสนาแบบวัชรยานหรือตันตระ แม้ว่าจะเคร่งครัดในจารีตประเพณี แต่คณะของเราก็ค้นพบด้วยความแปลกใจว่า ชาวภูฏานพูดภาษาอังกฤษได้ดี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พระสงฆ์ ประชาชนทั่วไป ตลอดจนถึงเด็กนักเรียนที่พบปะตามถนน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวภูฏานรู้ความเป็นไปในโลกกว้างเป็นอย่างดี (โดยมีภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางที่สำคัญ) แต่เลือกที่จะดำเนินนโยบายและดำรงชีวิตในแบบฉบับของตนเอง

วัชรยาน-ตันตระในภูฏาน
พุทธศาสนาฝ่าย "วัชรยาน" (Vajrayana) หรือ "ตันตระ" (Tantra) ในภูฏาน ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยที่ลัทธิตันตระกำลังเฟื่องฟู ในยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้นลัทธิตันตระมีอิทธิพลต่อทั้งปรัชญาและศาสนาในอินเดียอย่างใหญ่หลวง จนทำให้เกิดศาสนาฮินดูแบบตันตระ ศาสนาเชนแบบตันตระ และพุทธศาสนาแบบตันตระขึ้น โดยที่ลัทธิตันตระได้ยกย่องและเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง "เทพเจ้า" ทุกพระองค์ในคติความเชื่อแบบตันตระ (ซึ่งรวมทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย) จึงมี "ทาระ" (คู่ครอง) สวมกอดอยู่ ดังที่แสดงออกในศิลปะแบบตันตระในภูฏาน

ยับยุม - Yab Yum (ปัญญา + กรุณา) (ดวงตา + แขนขา)
ปฏิมากรรมหรือจิตรกรรมแบบตันตระ ซึ่งมีเทพเจ้าเพศหญิงและเพศชายสวมกอดกันอยู่นั้น เรียกว่า "ยับ-ยุม" (yab-yum)(1) มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าอย่างอื่น พุทธศาสนาฝ่ายตันตระอธิบายว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณา โดยที่เพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของ "ปัญญา" ขณะที่เพศชายเป็นสัญลักษณ์ของ "กรุณา" (ซึ่งตรงข้ามกับสามัญสำนึกของคนในปัจจุบัน)ตามทรรศนะแบบตันตระ ปัญญาเปรียบเหมือนดวงตา กรุณาเปรียบเหมือนแขนขา หากขาดดวงตาแล้วแขนขาก็กระทำการอย่างมืดบอด หากขาดแขนขาแล้วดวงตาก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ดวงตาและแขนขาจึงต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ได้ ปัญญาและกรุณาต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวจึงจะเป็นการตรัสรู้ที่สมบูรณ์



Yab-Yum - literally 'father-mother' - are pairs of male and female deities depicted in sexual union.
These paired figures express a fundamental concept of Buddhism, the essential process of joining insight
with compassion, also referred to as the union of wisdom and skilful means of action.
The male figure, who embodies compassion, embraces the female, who represents transcendent wisdom.
The development and marriage of wisdom and compassion are necessary for transcending the self-concerns
that hinder progress towards understanding the ultimate nature of reality:
that of non-duality, which leads to enlightenment.
The couples of Buddhist iconography celebrate this deep harmony of the sexes.
The purpose of this dynamic is the creation of partnerships devoted to the realization of the ultimate truth.

ตันตระสอนให้สาวกเข้าหากามคุณด้วยสติ
พุทธศาสนาฝ่ายตันตระ ซึ่งเป็นผลรวมของพุทธศาสนาและลัทธิตันตระนั้น มีทรรศนะในเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ตามคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนซึ่งรักษาศีลห้า สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองได้โดยมิได้ละเมิดคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด สำหรับฆราวาสแล้วศีลข้อที่สามห้ามเพียงมิให้มีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสเท่านั้น พุทธศาสนาฝ่ายตันตระถือว่า เรื่องเพศเป็น "วิถีทาง" หรือ "อุบาย" อย่างหนึ่งในการเดินทางไปสู่การตรัสรู้ แทนที่จะไม่เอ่ยถึงและปล่อยให้ฆราวาสเกี่ยวข้องกับกามคุณอย่างไร้ทิศทาง พุทธศาสนาฝ่ายตันตระกลับสอนให้สาวกเข้าหากามคุณด้วย "สติ" เพื่อที่จะเรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน และเพื่อว่าจะเอาชนะมันได้ในที่สุด พุทธศาสนาฝ่ายตันตระอุปมาว่า เพื่อที่จะเอาน้ำออกจากหู เราต้องกรอกน้ำเข้าไปในหูอีก หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง ดังนั้นในการเอาชนะกามคุณ เราต้องรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมัน ถ้าเราไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมันแล้ว ก็ย่อมไม่อาจอยู่เหนือมันได้

สำหรับบรรพชิตผู้ครองเพศพรหมจรรย์จะต้องใช้วิธีการอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากกิเลสทั้งหลายรวมทั้งกามคุณด้วยนั้น เกิดขึ้นจาก"ความคิด" พุทธศาสนาจึงสอนให้สานุศิษย์เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของความคิด เพื่อที่จะ "เห็น" ความคิดและตัดกระแสของความคิดได้นั้น "ความรู้สึกตัว" (สติ) เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น "การเจริญสติ" จึงเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามในพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ การเพ่งภาพสัญลักษณ์ต่างๆ บางครั้งก็ถูกนำมาใช้ในระหว่างการทำสมาธิภาวนา เพื่อการอยู่เหนือกามคุณทั้งปวง ในอดีตนั้น ภาพตันตระเป็นสื่อการสอนเฉพาะตัวระหว่างอาจารย์กับศิษย์ แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้กลับถูกทำให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมไป

พระสงฆ์ฝ่ายวัชรยานในภูฏานนั้น แม้จะเดินเหินและทำกิจต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว เหมือนดังพระสงฆ์ฝ่ายมหายานโดยทั่วไป มิได้สงบเสงี่ยมเรียบร้อยดังพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยก็ตาม แต่พระภิกษุชาวภูฏานเหล่านั้นดูออกจะเป็นธรรมชาติมากกว่า ทั้งนี้คงเป็นเพราะ "ภายในเป็นอย่างไรภายนอกก็เป็นอย่างนั้น ภายนอกเป็นอย่างไรภายในก็เป็นอย่างนั้น" ศิลปะแบบวัชรยานหรือตันตระของชาวภูฏาน เป็นเพียงศิลปะในจิตรกรรมและปฏิมากรรมที่สื่อความหมายในทางปรัชญาเท่านั้น มิได้เป็นต้นแบบแห่งความประพฤติของพระสงฆ์ฝ่ายวัชรยานแต่ประการใด

พระสงฆ์ภูฏานอยู่กันเป็นสัดเป็นส่วนในวัดหรือ "ซอง" (Dzong) โดยไม่มีสีกาเข้าไปอาศัยปะปนอยู่ด้วย เช่นเดียวกันพระภิกษุณีภูฏานก็อยู่กันเป็นสัดเป็นส่วนในวัดของพระภิกษุณี โดยไม่มีผู้ชายเข้าไปอาศัยปะปนอยู่ด้วย คณะสงฆ์วัชรยานของภูฏานจึงมีความเคร่งครัดในเพศพรหมจรรย์ และมั่นคงในพระธรรมวินัยไม่แตกต่างไปจากคณะสงฆ์ฝ่ายอื่นแต่อย่างใด

วิถีธรรม: ทางเลือกของชีวิต
ตามวัฒนธรรมพุทธของชาวภูฏานนั้น พ่อแม่มักนิยมให้ลูกหลานในครอบครัวได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย (สามเณรบางรูปมีอายุเพียงแค่ 2-3 ขวบเท่านั้น) เมื่อสามเณรเหล่านั้นมีอายุครบ 20 ปี ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตด้วยตนเอง กล่าวคือ จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา หรือจะลาสิกขาบทเพื่อไปใช้ชีวิตแบบฆราวาส ถ้าเลือกหนทางแรกก็จะต้องเป็นพระภิกษุไปตลอดชีวิต เพราะการบวชในฝ่ายวัชรยานหรือมหายานนั้นไม่มีการบวชชั่วคราวหรือการสึกอย่างวัฒนธรรมพุทธในประเทศไทย ถ้าเลือกหนทางที่สองก็กลับมาใช้ชีวิตแบบคฤหัสถ์ตามปรกติ แต่ชาวเมืองภูฏานก็ยังคงให้ความเคารพยกย่องอยู่ โดยบุคคลเหล่านี้ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจริยธรรมหรือศาสนา (lay monk) ให้แก่หมู่บ้านหรือชุมชน (คล้ายมัคคทายกของไทย) แต่ถ้าเป็นพิธีสงฆ์ก็ต้องนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาประกอบพิธี

ระบำหน้ากาก
ระหว่างการเยือนภูฏานในวันสุดท้าย คณะผู้แทนไทยมีโอกาสได้ชม "ระบำหน้ากาก" (mask dance) อันเป็นงานใหญ่ประจำปีในวัดหรือ "ซอง" (Dzong) ใจกลางเมืองธิมพูอันเป็นเมืองหลวง "ระบำหน้ากาก" เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีวัตถุประสงค์หลักสองประการ

- ประการแรก เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายตามคติความเชื่อของชาววัชรยา
- ประการที่สอง เพื่อให้ประชาชนได้คุ้นเคยกับ "หน้ากาก" ชนิดต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น "ใบหน้า" ของพระโพธิสัตว์ที่แปลงร่างมาในรูปของสัตว์หรือเทพเจ้าหน้าตาต่างๆ เผื่อว่าเวลาตายไปจะได้ไม่ตกใจเมื่อพบกับพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ผู้ที่จะนำพาวิญญาณผู้ตายไปสู่สุขคติ

ผู้ที่ประกอบพิธีเต้น "ระบำหน้ากาก" ล้วนแล้วแต่เป็นพระสงฆ์ ที่ต้องเต้นอยู่อย่างนั้นติดต่อกันหลายวัน (บางครั้งเป็นเวลาหลายสิบวันในวัดที่เคร่งครัดบางแห่ง) โดยมีเวลาพักเป็นระยะๆ เพียงสั้นๆ เท่านั้น

ในงานใหญ่ประจำปี ชาวเมืองธิมพูแต่งตัวสวยสดงดงามตามประเพณี ต่างพากันมาชมพิธีการเต้น "ระบำหน้ากาก" กันอย่างเนืองแน่น แทบว่าจะมากันครึ่งเมืองค่อนเมืองกันเลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาอันเปี่ยมล้นของชาวภูฏานที่มีต่อพุทธศาสนาอย่างมั่นคง พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานนั้นรุ่งเรืองอยู่ในภูฏาน ทิเบต และมองโกเลีย ทุกวันนี้ภูฏานได้กลายเป็นปราการหรือที่มั่นสุดท้ายของพุทธศาสนานิกายที่วิจิตรพิศดารและเร้นลับนี้ในโลกปัจจุบัน

ชาวภูฏานมีความรู้สึกที่ดีต่อคนไทยและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งภูฏานและไทยต่างก็เป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนา มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักของประชาชน และพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศทรงมีวิสัยทัศน์ ทั้งในทฤษฎี "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "ความสุขประชาชาติ" (GNH) ที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ชาวภูฏานและชาวไทยยังมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และโอบอ้อมอารี อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพุทธศาสนา คนไทยอาจจะรู้จักภูฏานไม่มากนัก แต่คนภูฏานรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นประตูสู่โลกภายนอกของภูฏานแล้ว ประเทศไทยยังเป็นทั้งโรงพยาบาล สถานศึกษา และแหล่งช็อปปิ้งของชาวภูฏานผู้มีอันจะกินอีกด้วย

2. อินเดีย-ศรีลังกา: รากฐานพุทธศาสนาของไทย



2.1 เยือนประเทศอินเดีย
ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุของการเมืองไทย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของ ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ และท่านธนาธิป รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้พาคณะผู้แทนจากประเทศไทย อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม สื่อมวลชน และศิลปิน รวมทั้งตัวแทนนักศึกษาในฐานะยุวทูต รวมจำนวน 26 คน ไปเยือนประเทศอินเดียและศรีลังกา ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ ในระหว่างวันที่ 20 - 27 มีนาคม พุทธศักราช 2549 ภายใต้โครงการ "การเดินทางแห่งสติปัญญาใน BIMSTEC" (The Walk of Wisdom in BIMSTEC)

ระหว่างที่อยู่ในประเทศอินเดียตั้งแต่วันที่ 20 - 23 มีนาคม 2549 นั้น คณะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นทั้งจากสถานทูตไทยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย ที่ได้บินจากกรุงนิวเดลลีมายังเมืองมุมไบ (Mumbai) เพื่อต้อนรับและร่วมเดินทางไปกับคณะของเรา จากมุมไบเราได้เดินทางต่อไปยังเมืองโอรางคบัด (Aurangabad) อันเป็นสถานที่ตั้งของมรดกโลกอันเป็นสุดยอดแห่งอารยธรรมอินเดีย นั่นคือถ้ำอะชันตา (Ajanta Caves) และถ้ำเอลโลรา (Ellora Caves)

ถ้ำอะชันตา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 26 ถ้ำ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่เป็นรูปเกือกม้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (เพื่อให้มีแสงสว่างที่เพียงพอและยาวนานในการเจาะ การแกะสลักถ้ำ และการเขียนภาพสีบนผนังถ้ำในสมัยโบราณ) ถ้ำอะชันตาเป็นผลงานสร้างสรรค์ของชาวพุทธอินเดีย ซึ่งสร้างขึ้นสองยุคด้วยกัน

- ยุคแรก สร้างประมาณศตวรรษที่ 2 ถึงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตศักราช ภายในถ้ำถูกเจาะเป็น "วิหาร" สำหรับพระภิกษุเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา และ "เจดีย์" เพื่ออุทิศแด่พระพุทธเจ้า ยุคนี้มีแต่ภาพเขียนสีน้ำบนผนังถ้ำ เล่าเรื่องราวชาดกและแสดงพุทธประวัติ ที่น่าสนใจก็คือพระพุทธเจ้าถูกแทนด้วยสัญญลักษณ์ เช่น ดอกบัว หรือธรรมจักร เป็นต้น เป็นคติความเชื่อของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (หรือที่เรียกกันว่า "เถรวาท")

- ยุคที่สอง สร้างประมาณคริสตศตวรรษที่ 5 ถึงคริสตศตวรรษที่ 6 ภายในถ้ำถูกเจาะเป็น "วิหาร" และ "เจดีย์" เช่นเดียวกับยุคแรก แต่มีการแกะสลักพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้งบนเจดีย์และผนังวิหาร โดยมีพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายพระองค์ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปกรรมกรีซที่แผ่มาถึงอินเดีย และแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อของพุทธศาสนาแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ (ซึ่งเรียกกันว่า "มหายาน")

ถ้ำอะชันตาในยุคแรกบางถ้ำถูกเขียนต่อเติม (หรือซ่อมแซม) รวมทั้งถูกแกะสลักพระพุทธรูปเพิ่มเติม นับเป็นการทับซ้อนของสองยุคในถ้ำเดียวกัน แต่มีอยู่ถ้ำหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาเชน (Jainism) อย่างเห็นได้ชัด เพราะพระพุทธรูปถูกแกะสลักให้คล้ายกับนักบวชในศาสนานั้น

ถ้ำเอลโลรา สำหรับถ้ำเอลโลรามีทั้งหมด 34 ถ้ำ แบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน

- กลุ่มแรก คือวิหารของศาสนาเชน
- กลุ่มที่สอง คือวิหารของพุทธศาสนา และ
- กลุ่มที่สาม คือวิหารของศาสนาฮินดู

ถ้ำทั้งสามกลุ่มอยู่ในเทือกเขาเดียวกันและอยู่ห่างกันไม่มากนัก แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างศาสนาทั้งสามที่เกิดในอินเดีย วิหารทั้งหมดเป็นศิลปกรรมการเจาะภูเขาทั้งสิ้น สร้างขึ้นระหว่างคริสตศักราชที่ 5 ถึงที่ 11 สำหรับวิหารของศาสนาเชนนั้นแม้จะอลังการ แต่ก็มีขนาดเล็กกว่าอีกสองศาสนา ศิลปกรรมใกล้เคียงกับพุทธศาสนา โดยรูปแกะสลักของศาสดาคือ "มหาวีระ" และนักบุญอื่นๆ ของศาสนาเชนนั้นมีลักษณะเด่นคือเห็นอวัยวะเพศ (ชาย) อย่างชัดเจน อันเป็นการแสดงออกถึงการบูชา "ศิวะลึงก์" ในแบบของเชน และสะท้อนคติความเชื่อของนักบวชในนิกาย "ฑิฆัมพร" (ลัทธิชีเปลือย) ของเชนอีกด้วย

วิหารของพุทธศาสนาที่เอลโลรานั้น เป็นคติความเชื่อแบบ "มหายาน" มีศิลปกรรมการแกะสลักผนังถ้ำเป็นพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อันวิจิตรมากมาย วิหารมีขนาดใหญ่กว่าศาสนาเชนแต่ก็เล็กกว่าศาสนาฮินดู ที่น่าสนใจยิ่งก็คือเสาหินแต่ละต้นของวิหารขนาดใหญ่ทั้ง 3 ชั้น ยืนเรียงรายตั้งตรงอย่างเป็นระเบียบ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวิชาเรขาคณิตและเทคโนโลยีการเจาะถ้ำในยุคนั้น ส่วนวิหารของศาสนาฮินดูนั้นมีขนาดใหญ่ มีการแกะสลักเทวรูปที่ใหญ่โตอลังการมากมายบนผนังถ้ำ ที่สำคัญได้แก่ พระพรหมคู่กับพระสุรัสวดี พระวิษณุคู่กับพระลักษมี และพระศิวะคู่กับพระอุมา เป็นต้น พระพักตร์ของเทวรูปฮินดูนั้นแสดงออกทั้งร่าเริง เกรี้ยวกราด หรือโศกเศร้า คล้ายกับมนุษย์ ซึ่งผิดไปจากพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ซึ่งแสดงออกถึงความสงบและเมตตากรุณา

วิหารไกรลาส ที่ประทับแห่งพระศิวะ
สุดยอดของอารยธรรมการแกะสลักภูเขาอันวิจิตรพิศดารของอินเดียนั้นได้แก่ วิหาร "ไกรลาส" อันเชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระศิวะ (พระเจ้าที่ชาวฮินดูเคารพยำเกรงมากที่สุด) วิหารไกรลาศเป็นปฏิมากรรมชิ้นเอกของอินเดียและของโลก นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์เหนือคำบรรยายใดๆ ที่ภูเขาทั้งลูกถูกแกะสลักให้เป็นวิหารขนาดใหญ่สองชั้นและสองหลัง ซึ่งทั้งชั้นบนและชั้นล่างมีทางเดินเชื่อมติดต่อกันอยู่ มีการแกะสลักอย่างวิจิตรพิศดารทั้งภายในและภายนอกวิหาร ทั้งในแบบของเทวรูปและภาพแกะสลักผนังถ้ำ เล่าเรื่องราวของพระเจ้าต่างๆ ในศาสนาฮินดู มหากาพย์ "รามายณะ" (รามเกียรติ) ซึ่งพระนารายณ์ทรงอวตารมาเป็น "พระราม" เพื่อปราบทศกัณฑ์ และคติความเชื่ออื่นๆ ของชาวฮินดู มีเสาหินแกะสลักที่สูงใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ทั้งสองข้าง ภูเขารอบๆ วิหารถูกเจาะเป็นทางเดินและแกะสลักเป็นเทวรูปต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นปฏิมากรรมบนหินก้อนเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้เวลาเจาะและแกะสลักหลายชั่วอายุคน นับเป็นเวลาหลายร้อยปี

ศาสนาที่เกิดในอินเดียนั้นมีสองสายใหญ่ๆ ด้วยกัน

สายแรกคือ"พหุเทวนิยม"(Polytheism) เป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ อันได้แก่ศาสนาฮินดู (Hinduism)

สายที่สองคือ"อเทวนิยม"(Atheism)
เป็นศาสนาที่ไม่เชื่อการมีอยู่ของพระเจ้า ได้แก่ศาสนาเชน (Jainism) และพุทธศาสนา (Buddhism) [ศาสนาเชนเป็นศาสนาที่เกิดก่อนพุทธศาสนาอยู่หลายร้อยปี โดยมีศาสดามาแล้วหลายพระองค์แต่ไม่สู้เด่นนัก จนถึง "มหาวีระ" (Mahvira) อันเป็นองค์ที่ 24 และร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า มหาวีระได้รับการยกย่องให้เป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่ และศาสนาเชนได้กลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงยุคปัจจุบัน]

ศาสนาเชนมีคติความเชื่อใกล้เคียงกับพุทธศาสนาแต่เป็นไปอย่างสุดโต่ง เช่น ศีลข้อที่ห้ามฆ่าสัตว์นั้น เชนตีความว่านอกจากจะต้องกินอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดแล้ว น้ำดื่มจะต้องกรองเพื่อนำสิ่งมีชีวิตที่อาจอาศัยอยู่ในน้ำออกก่อนดื่ม เมื่อจะเดินไปทิศใดก็จะต้องปัดกวาดเส้นทางไปด้วยเพื่อมิให้ไปเหยียบถูกมดแมลงหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นต้น ปรัชญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของเชนคือ "ในการเข้าถึงสัจจะมนุษย์ควรอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ" ก็มีการตีความอย่างสุดโต่งว่า เสื้อผ้าถือเป็นสิ่งกีดขวางระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทำให้เกิดนักบวชเชนกลุ่มหนึ่งนิยมการเปลือยกายเรียกว่านิกาย "ฑิฆัมพร" ส่วนนักบวชเชนที่เหลือซึ่งนุ่งห่มผ้าเรียกว่านิกาย "เศวตัมพร" ศาสนาเชนนั้นแม้จะมีศาสนิกไม่มากนัก แต่ก็ยืนหยัดเคียงคู่อารยธรรมอินเดียมาตลอดจวบกระทั่งปัจจุบัน [อนึ่งศาสนาเชนนั้นแตกต่างจากพุทธศาสนานิกายฌาน (Ch'an) หรือเซน (Zen) ซึ่งเกิดขึ้นในจีนและรุ่งเรืองอยู่ในเอเชียตะวันออก รวมทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียตนาม]

ศาสนาฮินดูมีพัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ (Brahmanism) อันเก่าแก่ที่เน้นเรื่องพิธีกรรม เมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นในอินเดีย พวกพราหมณ์ได้พากันมาศึกษาพุทธศาสนา พวกหนึ่งเลื่อมใสศรัทธาจนกลายมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า อีกพวกหนึ่งได้มาเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งเพื่อนำกลับไปปรับปรุงศาสนาเดิมของตน และนำเสนอออกมาในรูปของ "ศาสนาฮินดู" ที่มีปรัชญาอันลึกซึ้งเพื่อแข่งขันกับพุทธศาสนา ทำให้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูฟื้นตัวขึ้นมาและกลายเป็นศาสนาหลักของอินเดีย เมื่อพุทธศาสนาเสื่อมลงในอินเดีย ชาวพุทธอินเดียก็เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของศาสนาฮินดู และนำไปปรับปรุงพุทธศาสนาจนเกิดเป็นพุทธศาสนามหายานขึ้นในที่สุด

จุดร่วมของศาสนาต่างๆ ในอินเดีย
ศาสนาในอินเดียนั้นแม้จะมีปรัชญาและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่ก็มีโลกทัศน์ร่วมกันคือ เห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ มนุษย์สามารถเข้าถึง "ความพ้นทุกข์" (ฮินดูเรียกว่า "โมกษะ" เชนเรียกว่า "ไกลวัลย์" พุทธเรียกว่า "นิพพาน") ได้ และหนทางที่จะเข้าถึงนั้นก็คือ "สมาธิภาวนา" (โดยแต่ละศาสนาก็มีวิธีการของตนเอง) ศาสนาที่เกิดในอินเดียล้วนยึดหลัก "อหิงสา" (สันติวิธี) และการต่อสู้แข่งขันระหว่างศาสนาก็เป็นการ "ต่อสู้ทางความคิด" อันเป็นวิถีแห่งอารยะ (civilized) โดยแท้

2.2 เยือนประเทศศรีลังกา
ระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม พุทธศักราช 2549 คณะผู้แทนไทยได้เยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากท่านเอกอัครราชทูตไทย เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำกรุงโคลอมโบ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของศรีลังกา ได้เห็นถึงศรัทธาอันมั่นคงในพุทธศาสนา และการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเขาลำเนาไพรและธารน้ำอันใสสะอาด ที่ยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ทั่วทั้งเกาะลังกาในปัจจุบัน

ณ กรุงโคลอมโบ (Colombo) อันเป็นเมืองหลวง คณะของเราได้เยี่ยมชมวัดกัลณียาอันสวยงามและเก่าแก่ สิ่งแรกที่ได้เห็นก็คือ ต้นโพธิ์ที่สูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุม แทงกิ่งและใบอ่อนสะพรั่ง ให้ความร่มรื่นแก่สถานที่และความร่มเย็นแก่ผู้มาเยือน ภายในโบสถ์นอกจากจะมีจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรงดงาม เล่าเรื่องราวพุทธประวัติและพุทธศาสนาในศรีลังกาแล้ว ยังมีภาพเขียนที่สำคัญอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี ทั้งด้านขวาและซ้ายของพระประธานอีกด้วย โดยภาพเขียนด้านขวาเป็นภาพของภิกษุณีสังฆมิตตา (Bhikkhuni Sanghamitta) ทรงยืนบนหัวเรือที่แล่นฝ่าคลื่นลม เพื่อนำสถาบันภิกษุณีและกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียมาสถาปนาไว้ยังเกาะลังกา ส่วนภาพเขียนด้านซ้ายเป็นภาพของเจ้าชายสุทันธะและเจ้าหญิงเหมะมาลา ที่กำลังเดินทางนำพระเขี้ยวแก้วจากอาณาจักรกาลิงคะในอินเดียมาประดิษฐานไว้ในลังกา

ณ เมืองธรรมปุระ (Dambulla) อันเป็นเมืองโบราณสถาน คณะของเราได้เยี่ยมชมวัดภูเขาทอง (Golden Mountain Temple) และได้ขึ้นภูเขาเพื่อเยี่ยมชมถ้ำรังคีรี (Rangiri Cave) ซึ่งเป็นถ้ำธรรมชาติอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันเก่าแก่ทั้งปางสมาธิและปางไสยาสน์ จากนั้นได้เดินทางไปชมสีหคีรี (Sigiriya) อันเป็นพระราชวังเก่าแก่ (คริสต์ศตวรรษที่ 5) ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ในอาณาบริเวณด้านล่างมีสระน้ำสำหรับนางสนมอยู่หลายสระ และมีการสร้างระบบการนำน้ำมาเก็บไว้ในสระ รวมทั้งน้ำพุจากแรงดันของระบบส่งน้ำอีกด้วย นอกจากนี้มีการค้นพบรูปเขียนสีน้ำเป็นรูปนางอัปสรอยู่หลายรูป อายุเก่าแก่นับพันปีบนหน้าผาของสีหคีรี

ตกเย็นเราได้พักที่โรงแรม (Kandalama Hotel) ซึ่งสร้างอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า โดยฝีมือสถาปนิกชื่อก้องโลกชาวศรีลังกาคือ เจฟฟรี้ บาวา (Jeffrey Bava) ผนังโรงแรมบางส่วนเป็นชะง่อนหินธรรมชาติ ห้องน้ำเปิดโล่งบนหน้าผา ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ป่า แต่มีความสะดวกและปลอดภัย

ณ เมืองแคนดี้ (Kandy) อันเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา คณะของเราได้เยี่ยมสักการะวัดดาลาดา มาลิกาวา (Dalada Maligava Temple) หรือวัดพระเขี้ยวแก้วอันมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "พระทนต์" (ฟัน) ของพระพุทธเจ้า ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าชายสุทันธะ (Prince Sudantha) และเจ้าหญิงเหมมาลา (Princess Hemamala) ได้นำพระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ในมวยผม หนีภัยตามพระบัญชาพระเจ้ากุหะศิวะ (King Guhasiva) แห่งอาณาจักรกาลิงคะ (Kalinga Kingdom) ของอินเดีย เพื่อให้พ้นจากสงครามแย่งชิงของเจ้าชายภคีเนยยะ (Prince Bhagineyya) มายังเกาะลังกา ในรัชสมัยของพระเจ้ากีรติศรีเมฆวรรณ (King Kirtisri Meghavanna, ค.ศ. 301-328) พระเขี้ยวแก้วได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของศรีลังกานับแต่บัดนั้นจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

ศรีลังกากับไทยมีความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาที่แน่นแฟ้นตลอดประวัติศาสตร์ แม้ว่าไทยจะได้รับพุทธศาสนาโดยตรงจากอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยพระเจ้าอโศกได้ส่งพระโสนะและพระอุตตระมาเผยแผ่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ และไทยก็ได้สร้างเจดีย์นครปฐมเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์นั้น แต่แรงบันดาลใจทางพุทธศาสนาของไทยและประเทศอุษาคเนย์ส่วนใหญ่มาจากศรีลังกา เนื่องจากพุทธศาสนาได้เหือดแห้งไปจากแผ่นดินต้นกำเนิดในชมพูทวีป ขณะเดียวกันศรีลังกาก็ได้พึ่งพาสถาบันสงฆ์ไทยในการฟื้นฟูพุทธศาสนา ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้งหลายคราในประวัติศาสตร์

การทำลายพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา



ชาวศรีลังกาภูมิใจว่า ประวัติศาสตร์ของศรีลังกาเกิดขึ้นพร้อมๆ กับประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และตลอดระยะเวลากว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา ชาวศรีลังกาได้ต่อสู้เพื่อปกป้องพุทธศาสนาให้ยืนยงเคียงคู่แผ่นดินลังกามาอย่างยาวนานและยากลำบาก ในอดีตพุทธศาสนาเคยถูกทำลายจนสูญหายไปจากเกาะลังกามาถึง 3 ครั้ง โดยสองครั้งแรกจากการรุกรานของราชวงศ์โจฬะ (Chola Dynasty) แห่งอินเดียใต้ และครั้งที่สามจากการรุกรานของโปรตุเกสในยุคอาณานิคม ที่มุ่งทำลายพุทธศาสนาเพื่อสถาปนาศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคขึ้นแทน พร้อมกันนั้นก็มีการทำลายพุทธศาสนาจากกษัตริย์ชาวทมิฬของศรีลังกาเองที่นับถือศาสนาฮินดู ทำให้พุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากเกาะลังกา ต่อมาเมื่อชาวสิงหลอันเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของศรีลังกากอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ จึงมีความพยายามฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่

ในปี พ.ศ. 2296 (ค.ศ. 1753) พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ (King Kirati Sri Raja Singha) ได้ส่งทูตมายังสยามประเทศ เพื่อนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปช่วยฟื้นฟูสถาบันสงฆ์และพุทธศาสนาในเกาะลังกา คณะสงฆ์ไทยนำโดยพระอุบาลีพยายามที่จะเดินทางไปยังลังกา แต่ก็ประสบอุปสรรคหลายครั้ง สุดท้ายได้เดินทางไปกับเรือสินค้าของฮอลันดาจนถึงเกาะลังกาอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลา 5 เดือนกับ 4 วัน ขณะนั้นในลังกาเหลือเพียงสามเณรไม่กี่รูปเท่านั้น คณะสงฆ์ไทยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสามเณรสรณังกร (Samanera Saranangara) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสังฆราชรูปแรกแห่ง "สยามวงศ์" ในศรีลังกา เหตุการณ์ครั้งนี้ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระอุบาลีได้ทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาจนกระทั่งมรณภาพในเกาะลังกานั้นเอง

ปัจจุบันพุทธศาสนาในศรีลังกาแบ่งเป็น 3 นิกายใหญ่คือ

- สยามนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับมาจากพุทธศาสนาของไทยและเป็นนิกายที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน
- รามัญนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับมาจากพุทธศาสนาของมอญ และ
- อมรปุระนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับมาจากพุทธศาสนาของพม่า

ในปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลศรีลังกาและไทยได้เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 250 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างกันอย่างยิ่งใหญ่ โดยรัฐบาลศรีลังกาได้มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกในวัดธรรมาราม จังหวัดอยุธยา อันเป็นวัดเดิมของพระอุบาลี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ภิกษุณีสังฆมิตตา พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย เดินทางไปถึงเกาะลังกานั้น นอกจากจะทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ (ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้) ณ เมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมีอายุกว่า 2,200 ปีแล้ว ยังทรงนำสถาบันภิกษุณีมาตั้งมั่นในลังกาทวีปอย่างมั่นคงอีกด้วย สถาบันภิกษุณีรุ่งเรืองอยู่ในศรีลังกาเคียงคู่กับสถาบันภิกษุนับพันปี ระหว่างนั้นภิกษุณีศรีลังกาในพุทธศาสนาเถรวาทนิกายธรรมคุปต์ (Dhammakupta) ได้รับนิมนต์จากราชสำนักจีนให้เดินทางไปอุปสมบทแก่กุลสตรีจีน อันเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันภิกษุณีในฝ่ายมหายาน ภายหลังภิกษุณีได้สูญสิ้นไปพร้อมกับภิกษุในศรีลังกา โดยมิได้รับการฟื้นฟูจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง

การฟื้นฟูภิกษุณีในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของศรีลังกา
ณ ใต้ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สตรีชาวศรีลังกาจำนวนหนึ่งได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็น "ภิกษุณี" กลุ่มแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพุทธศาสนาเถรวาท โดยความร่วมมือของคณะสงฆ์นานาชาติ ทั้งภิกษุและภิกษุณี ทำให้ "พุทธบริษัท 4" อันมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ในพุทธศาสนาเถรวาทกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง คณะภิกษุณีศรีลังกาได้เดินทางกลับไปยังประเทศของตน โดยทำงานเผยแผ่และสืบทอดสถาบันภิกษุณีอย่างต่อเนื่องตราบจนทุกวันนี้

ปัจจุบันกระแสธารกำลังย้อนกลับ สถาบันภิกษุณีซึ่งเคยรุ่งเรืองบนเกาะลังกานับพันปีและสูญหายไปพร้อมกับสถาบันภิกษุ กำลังฟื้นกลับคืนมาใหม่อย่างเต็มรูปแบบ พุทธศาสนาของศรีลังกาปัจจุบันมีภิกษุณีและสามเณรีจำนวนหลายพันรูป ศรีลังกาได้กลายเป็นแหล่งบันดาลใจอีกครั้งหนึ่งให้แก่พุทธศาสนาของไทยและอุษาคเนย์ โดยสตรีไทยได้เดินทางไปประกอบพิธีบรรพชาเป็นสามเณรีและอุปสมบทเป็นภิกษุณีจาก "ปวัตตินีย์" (อุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง) ชาวศรีลังกาอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนทางพุทธศาสนาระหว่างศรีลังกากับไทยยังคงดำรงอยู่อย่างแนบแน่นไม่ขาดระยะ ทั้งในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นและในสภาวการณ์ของโลกปัจจุบัน

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




บทความวิชาการเชิงสารคดีท่องเที่ยวในดินแดนเอเชียใต้ต่อไปนี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงศิลปะ วัฒนธรรม และพระศาสนาที่หลากหลาย
ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ในฐานะที่พื้นความรู้ทางด้านศาสนาเปรียบเทียบ
โดยต้นฉบับเดิม ผู้เขียนได้ใช้วิธีการพรรณาและสอดแทรกสาระเอาไว้
ในส่วนของกองบรรณาธิการ ได้จัดทำเป็นหัวข้อย่อยเพิ่มเติมขึ้น
เพื่อประโยชน์ในการศึกษา พร้อมทั้งจัดหาภาพประกอบเพื่อเสริมความเข้าใจ
และสนับสนุนงานเขียนโดยสังเขปต่อไปนี้

- เนปาล-ภูฏาน: วัชรยานใต้ฟ้าป่าหิมพานต์
- วัฒนธรรมคชุรโห กามสูตร และลัทธิตันตระ
- การผสมผสานระหว่างฮินดูและพุทธ
- วัชรยาน-ตันตระในภูฏาน
- ยับยุม - Yab Yum (ปัญญา + กรุณา) (ดวงตา + แขนขา)
- ตันตระสอนให้สาวกเข้าหากามคุณด้วยสติ
- อินเดีย-ศรีลังกา: รากฐานพุทธศาสนาของไทย
- ถ้ำอะชันตา / ถ้ำเอลโลรา
- การทำลายพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา
- การฟื้นฟูภิกษุณีในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของศรีลังกา
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๓๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)