โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 18 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๑๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 18, 04,.2007)
R

ศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของแฟชั่น : Fashionsophy
สังคมศาสตร์กับแฟชั่น : การทับซ้อนของพื้นที่ เวลา และสถานที่
ทัศนัย เศรษฐเสรี : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการชุดนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นการพยายามอธิบายเรื่องแฟชั่นในเชิงสังคมศาสตร์
ก่อนหน้านี้ นักสังคมศาสตร์และนักสังคมวิทยามองว่าเรื่องแฟชั่นเป็นเรื่องไม่สำคัญ
แต่จากปรากฏการณ์ของภาพ และวัฒนธรรมทางสายตา โดยเฉพาะที่นำเสนออยู่บน
ปกนิตยสารแฟชั่นกลับไม่ได้บอกเราเช่นนั้น. สำหรับในบทความชิ้นนี้ได้นำเสนอเรื่องที่สำคัญ ๒ เรื่องคือ
Fashion Image & Trend Setter & Hyper-Segmentation และ
Change in Conception of Time, Spatial Perception in Clothing Design
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๑๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++

Fashionsophy
สังคมศาสตร์กับแฟชั่น : การทับซ้อนของพื้นที่ เวลา และสถานที่
ทัศนัย เศรษฐเสรี : เขียน

Fashion Image & Trend Setter & Hyper-Segmentation (1)
สังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะถูกจัดการเป็นแนวตั้ง (Vertical) สูง, กลาง, ต่ำ, หากแต่มีลักษณะทับซ้อนเป็นแนวระนาบ (Horizontal) ที่สัมพันธ์ เชื่อมโยง และมีการเรียนรู้ปรับตัว และหยิบยืมนวัตกรรมความรู้ รสนิยม และแบบแผนการใช้ชีวิตอื่น ๆ ซึ่งกันและกัน เมื่อสังคมมีชีวิตที่มีลักษณะการเคลื่อนตัวอย่างเป็นพลวัตร (Dynamic) มากขึ้น บุคคลสามารถที่จะเลือก และเลื่อนสถานะของชีวิตตัวเอง โดยการก้าวกระโดดข้ามวง(ศ์) ของระบบคุณค่าทางรสนิยมที่เคยเป็นที่ปิดยึดเฉพาะของคนในกลุ่มนั้นๆ

การเปลี่ยนสถานภาพ(Shift position)ของบุคคล แบบกระโดดข้ามวง(ศ์)ต่างๆ นี้ ทำให้ความเชื่อเรื่องการ copy style ในโลกใบเก่า กลายเป็นนิทาน. ความเป็นบุคคล กลุ่มคน ผ่านการปันความรู้สึก และระบบคุณค่าต่างๆ สามารถถูกศึกษาได้ผ่านการใช้ชีวิตในเวลาเฉพาะที่เกิดขึ้นในวง(ศ์)เหล่านั้น ในฐานะชุดของความรู้ความเข้าใจต่อโลก และอัตลักษณ์ของรสนิยม ที่มีการยักย้าย ถ่ายเทไปมา

เคยเชื่อกันว่า สิ่งที่เรียกว่า "วง(ศ์)" ของระบบคุณค่ากำหนดทุกอย่างของชีวิตบุคคลไปในทางเดียวกันหมด เชื่อกันว่าคนที่ชื่นชอบการตกปลา แน่นอนที่เดียวต้องมีปลาขนาดที่น่าภูมิใจ เพื่อประดับไว้ในห้องนั่งเล่น มีแนวโน้มที่จะใช้รถประเภท 4W Drive, ชอบดูกีฬาฟุตบอล, ฟังเพลงแนว Country, นั่งตามบาร์เบียร์, ชอบดูระบำเปลื้องผ้า, และใส่เสื้อผ้าประเภท Outdoor ฯลฯ

หรือถ้าเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ก็ต้องมีหูที่สามรถฟังเพลงคลาสสิก ย่อยมหรสพ และงานวรรณกรรมประเภทเทวดาส่งมาเกิดได้อย่างแตกฉาน นึกถึงคุณภาพของการบริโภคมากกว่าปริมาณความบ่อยถี่ ของแพงแต่ใช้ได้นานคือความชื่นชอบหลัก การใช้จ่ายเงินอาจไม่เรียกว่าตระหนี่ แต่ใช้อย่างมีเหตุผล

และคนกลุ่มอื่นๆ ก็จะมีการ "เล่นของ" ที่สะท้อนสไตล์การใช้ชีวิตในชุดที่ต่างกันออกไป. ตา หู จมูก ลิ้น กาย (และจิตใจ) ถูกฝึกฝนให้คุ้นเคยกับ "ของ" ที่ "เล่น" เหล่านั้น นำมาสู่การคุ้นเคยกับโลกเชิงวัตถุที่อยู่ล้อมรอบตนเองเป็นวง(ศ์) ๆ จะเคลื่อนย้ายตัวเองไปที่ไหนก็ตามในโลก สิ่งที่ผูกติดตัวไปด้วยคือกรอบกลมๆ เหล่านั้น

ไม่เหมือนกับแม่เหล็กขั้วเดียวกัน ก็จะผลักกัน ถ้าต่างขั้ว ก็จะดูดเข้าหากัน เพราะคนที่มี "วง(ศ์)" เหมือนกัน จะดูดเข้าหากันขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เหมือนหยดน้ำไหลมารวมกัน และต้องเป็นน้ำประเภทเดียวกันด้วยจึงจะผสมกันได้ น้ำกลั่น กับน้ำเน่า เข้ากันไม่ได้

ภาษาวิชาการเรียกวิธีคิดข้างต้นว่า เป็นแบบ Dichotomy ซึ่งจะเป็น 2 ขั้ว หรือหลายขั้วก็ตาม ขั้วเหล่านั้นจะยืนกันคนละฝั่งเสมอ. ถ้าความเป็นจริงของโลก และสังคม ถูกอธิบายอย่างที่ว่า บรรดานักออกแบบ(designer) คงทำงานได้ไม่ยาก ทั้งนี้โดยการเลือกหยิบเอามาสักวง(ศ์) และกำหนดแผนการตลาดเฉพาะ รวมทั้งรูปแบบของการออกแบบอัตลักษณ์ให้ถูกกลุ่ม ไม่หลุดกรอบกลมๆ นั้น นั่นคือ "เล่น" ให้ถูก "วง(ศ์)" คือปัจจัยสำคัญของการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ อันนี้จริงหรือ? (Niche?! Trend !, Market Segmentation)

พูดกันมากเหลือเกินเกี่ยวกับการวิจัยตลาดสมัยใหม่ ซึ่งต้องลงไปสำรวจชีวิตทางวัฒนธรรมของบุคคล (ผู้บริโภค) ในวง(ศ์)เฉพาะ เพื่อที่จะเข้าใจและอธิบายได้ว่าวง(ศ์)นั้นๆ มีชุดของความรู้ โลกทัศน์ ระบบคุณค่าอะไรบ้าง เชื่อกันว่าถ้าชุดเหล่านี้ถูกจดบันทึกได้บนกระดาษ โอกาสการทำมาหากินและการสร้างรายได้ก็มีสูง

ชีวิตของบุคคล กิจกรรมทางสังคม โลก และวัฒนธรรม ของกลุ่มคนมักถูกอธิบายไปในแนวทางนั้น ชีวิตในวง(ศ์)ต่างๆ ถูกลดทอนเหลือเพียงภาพเชิงเดี่ยวที่ใครก็ตามดูก็จะเข้าใจตรงกัน. "สยามเมืองยิ้ม, ล้านนาTrend, ฝรั่งเศส Chic culture, อิตาลี Sexy culture, อเมริกันต้องลุยๆ, จีนต้องเป็นอะไรที่แดงๆ ทองๆ น้ำมันเยิ้มๆ ต่าง ๆ นานา…."

คำอธิบายห้วนๆ สั้นๆ ที่เป็นป้ายฉลากข้างต้นพบได้ทั่วไปบนโปสการ์ด หนังสือท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์ของรัฐ. ในความเป็นจริงอาจพบว่าสาวฝรั่งเศสบางคนไม่ค่อย chic เท่าไหร่, หนุ่มอิตาลี่ก็ sexy ไม่ได้ขนาด, อาตี๋ อาหมวย ก็ไม่นิยมอะไรที่แดงๆ ทองๆ เสมอไป, และเพื่อนคนไทยของผมหลายคน ก็แสยะยิ้มนานๆ หน. เราอาจจะไม่มีความรู้ลึกและมากพอที่จะเห็นและเข้าใจป้ายที่ปิดหน้าผากของกลุ่มคนตัวอย่างข้างต้น แต่สำหรับผู้เขียนเองเห็นแตกต่าง ผู้เขียนเห็นวง(ศ์)ต่างๆ ที่ผสมผสานข้ามสายพันธ์กัน

เราหลายคนมีปัญหาทั้งการคิดวางมาตรฐานกลางๆ และมาตรฐาน Nicheๆ (ลักษณะเฉพาะพิเศษของผู้บริโภค ที่ตลาดมองว่าสามารถทำกำไรได้) ซึ่งอาจจะไม่สามารถทำได้แล้ว. How about focus groups? คำตอบคือ ไม่รู้… ช่วยคิดให้หน่อย? มาตรฐานที่เป็นแบบแผนในระดับชีวิตที่ทำให้บุคคลเข้าใจอะไรตรงกันนั้น คงมีเรื่องให้ถกเถียงกันได้มากและหลากหลายในวงกว้างหรือแคบ แต่อย่างไรก็ดี มีความพยายามสร้างชุดของมาตรฐาน(Set Standard)กันขึ้นมา และคิดว่าจะใช้ประโยชน์ได้

ปัจจุบัน บุคคลไม่มีมาตรฐานของการใส่เสื้อผ้าแบบทื่อๆ หากแต่ "เสื้อผ้า" ปรากฎตัวในสื่อต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมี Trend Pattern เป็น Standard เฉพาะกลุ่ม. เรากำลังพูดถึง "เสื้อผ้า" ในฐานะ "รูปภาพ" บนปกนิตยสาร, ในจอโทรทัศน์, บนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่(Billboard) และในช่องทางสื่อต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ถูกใส่โดยคน

เส้นที่ถูกขีดสำหรับมาตรฐานแบบกลางๆ หรือสำหรับรสนิยมเฉพาะของวง(ศ์)ต่างๆ แบบ Niche สามารถถูกสร้างเชิงจินตภาพได้ ทำให้มันกลายเป็น "ภาพ" หรือ Image ได้, แต่จะมีผลกับมาตรฐานของคนใส่มากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Fashion Image & Trend Setter & Hyper-Segmentation (2)
"จินตภาพ", "ภาพ"(Image) ของเสื้อผ้าอาจกำหนดรสนิยมเฉพาะของบุคคลในวง(ศ์) ต่างๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารในหลายๆ ช่องทาง. อย่างไรก็ตาม เราควรใส่วงเล็บไว้ในใจก่อนว่าเสื้อผ้า, Style หรือLook ของมันที่ปรากฏตัวในช่องทางสื่อต่างๆ นั้นคือภาพ (Image) แล้วถ้า (Image) หรือ Style เหล่านั้น ถูกเหมารวมว่าคือ "ภาพลักษณ์" (Character) ของการใส่เสื้อผ้ามันเป็นเพียงแต่ "ภาพบนกระดาษ" (Paper image) ในหนังสือแม็กกาซีน, โปสเตอร์, ป้ายโฆษณา, หรือเป็นเพียง "จินตภาพดิจิทัล" (Digital imagination) ในจอทีวี, อินเตอร์เน็ต และอื่นๆ เป็นจินตภาพสองมิติ หรือสามมิติเสมือนจริง

ดังนั้นธุรกิจเกี่ยวกับการใส่เสื้อผ้าในเวลาปัจจุบันคือ การค้า "ภาพ" และถ้าเชื่อว่า Trend ของเสื้อผ้าสามารถถูกกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าได้, Trend ที่ว่าน่าจะทำงานในฐานะ "ภาพ" และถ้า Trend คือ "จินตภาพรวม" นั่นคือแนวโน้มการบริโภค หรือการสวมใส่เสื้อผ้าในแนวหนึ่งๆ ในเวลาเฉพาะ. "จินตภาพ" คือเนื้อหาสำคัญของการออกแบบ, (ไม่ใช่วัสดุ การตัดเย็บ ฝีมือ ราคา หรือแหล่งผลิต)

ธุรกิจจินตภาพ"หรือ "การตลาดเชิงจินตนาการ
เรากำลังพูดถึง "ธุรกิจจินตภาพ"หรือ "การตลาดเชิงจินตนาการ" ที่เล่นกับจินตภาพของการใส่เสื้อผ้าของบุคคล. เวลาที่นักการตลาดและนักออกแบบทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดสไตล์ของเสื้อผ้า พวกเขาจะพยายามสร้างสถานการณ์จำลองหลายๆ แบบขึ้นมาเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมกับการวิจัยผู้บริโภคว่าคนใส่เสื้อผ้าจินตนาการตัวเองอย่างไร เวลาเลือกซื้อ หรือหยิบเสื้อผ้ามาสวมใส่จากชั้นวางเสื้อ

ผู้บริโภคจินตนาการตัวเองอย่างไร? ในอิริยาบถต่างๆ ของการใส่เสื้อผ้าเฉพาะกลุ่ม พวกเขาเห็นภาพตัวเองอย่างไรในจินตนาการ? โลกแฟชั่นตลอดรวมถึงโลกแห่งความเป็นจริงถูกเปลี่ยนสถานะเป็นโลกแห่งจินตนาการ ดังนั้นถ้ามาตรฐานของรสนิยมเฉพาะกลุ่ม สามารถถูกกำหนดก่อนได้ มันก็คือการกำหนดทางจินตนาการเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การแต่งตัวแบบ In-trend ในบางลักษณะมีความไม่สอดคล้องกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมเดิมในบางที่ ไม่แปลกแต่อย่างใดที่ผู้ใหญ่บางคนเห็นคนรุ่นใหม่แต่งตัว แล้วเกิดความรู้สึกหมั่นไส้ เพราะพวกเขาคิดว่าเสื้อผ้าคือพาหนะที่ทำให้พวกเขาเดินทอดน่องในโลกแห่งจินตนาการร่วมกับสมาชิกอื่นๆ ในชุมชนเดียวกันได้ ผู้ใหญ่ไม่เกี่ยว

เช่นเดียวกับกลุ่มเสื้อผ้าประเภท การประยุกต์วัฒนธรรมท้องถิ่น หรืออาจรวมถึงการแต่งกายเชิงประเพณีในวันสำคัญเป็นการเฉพาะต่างๆ ซึ่งหาคำอธิบายเชื่อมโยงการแต่งกายในฐานะสัญลักษณ์เชิงประเพณีกับโลกร่วมสมัยยากมาก (บางหน่วยราชการกำหนดให้ผู้ชายใส่เสื้อม่อฮ่อมในวันศุกร์ คงเหมือนเมื่อถึงในวันปีใหม่ไทยเราก็พากันออกไปสาดน้ำกันโครมโครม)

ในเมืองไทย การแต่งกายเป็นเช่นเดียวกับภาษาและมารยาทกิจกรรมตัวอื่นๆ ซึ่งมันเคยถูกใช้เพื่อกำหนดจิตนาการร่วมทางสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสัญลักษณ์ของชาติที่มีอารยธรรมในรัฐสมบูรณาสิทธิราช เพื่อกำหนดสถานะใหม่ทางสังคมในรัฐราชการ และเพื่อแสดงความเป็นทันสมัยนิยมในรัฐชาตินิยม

เสื้อผ้าและการสวมใส่เสื้อผ้า ถูกกำหนดโดยความสอดคล้องกันของสไตล์ และบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมอื่นๆ มีการ Match กันกับ Time-space นั่นคือใส่เสื้อผ้าถูกกาละ-เทศะ คือเป้าหมายของวัฒนธรรมที่ดีที่สังคมหนึ่งๆ ที่พึงประสงค์. ถ้า Trend คือการกำหนดหรือวางเงื่อนไขทางรสนิยม (แกมบังคับ) ซึ่งมีผลต่อวัฒนธรรมของการแต่งกาย และการสร้างจินตภาพร่วมทางสังคมสามารถถูกอธิบายภายใต้กรอบนโยบายเฉพาะโดยรัฐได้ คงไม่ต้องถึงกับยอมรับอย่างฝืนใจว่า การ Set Trend มีความเป็นไปได้

ด้วยนโยบายของรัฐโลกานุวัตน์ที่ไหนก็ตามในโลกปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นสังคมของการตลาดเชิงบริโภคแบบสุดเหวี่ยง การสร้างจินตภาพร่วมถูกลดทอนลงเหลือเพียงแค่ "ภาพ" (Image) ทีไม่มีความจำเป็นสอดคล้องอะไรอย่างไรกับสไตล์กิจกรรม หรือบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมอื่นๆ (หรือถ้ามีก็คือ สอดคล้องต่อการบริโภคที่ดีเพียงอย่างเดียว). เสื้อผ้าและการสวมใส่เสื้อผ้าไม่มีการ Match กันของ Time-space (กาละ-เทศะ) ที่แน่ชัด มีความสับสนอลม่านของการผสมผสานทางสไตล์ และวิถีชีวิต เชิงจินตภาพ และการใช้ชีวิตจริง. โดยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เห็น"ภาพ"ของเสื้อผ้าในสื่อต่างๆ ที่แทบไม่พูดถึงตัวเสื้อผ้า แต่ให้ภาพแบบแวบๆ ของสไตล์เท่านั้น

เราแทบไม่เห็นหน้าตาของนางแบบ นายแบบด้วยซ้ำในการสื่อสารเรื่องสไตล์เสื้อผ้า (บางครั้งเห็นเพียงบั้นท้าย เส้นผมประบ่าเปลือย หรือภาพเท้า และรองเท้า) อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า "ภาพ" หรือ Image เหล่านั้นเป็นเพียง ภาพสองมิติ หรือสามมิติเสมือนจริง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับอะไรที่เป็นจริงแต่อย่างใด แต่มันก็ยังเป็น "ภาพของการสวมใส่เสื้อผ้าเสมือนจริง"

ถ้าเชื่อว่าการสวมใส่เสื้อผ้าน่าจะมีอะไรที่สอดคล้องกันกับสไตล์ของการใช้ชีวิต ปัจจุบันมันกลับหัวกลับหางกัน คือเราอาจสวมใส่เสื้อผ้าโดยไม่จำเป็นต้องมีสไตล์ของการใช้ชีวิตตามอย่าง "ภาพ" หรือ Image ที่เราไปดูไปเห็นมา นั่นคือการ "บริโภคภาพลักษณ์" หรือ "Image" อย่างเข้มข้น

เมื่อ Image ก็คือ Image ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับความจริง "ภาพ" ไม่ได้สะท้อน "ความจริง" การบริโภคของแท้ หรือ Brand แท้ๆ ก็ไม่มีความจำเป็นเท่ากับ Image ที่ดูคล้ายๆ (ซึ่งอาจเป็นของปลอมก็ได้) หรือไม่มี Brand ก็ไม่ใช่ประเด็นของการเลือกสวมใส่อาภรณ์เครื่องประดับของคนรุ่นใหม่

นั่นคือถ้า Trend คือภาพต่างๆ "เสื้อผ้า" ในฐานะ "รูปภาพ" เท่านั้นที่ถูกบริโภคเพื่อสร้างจินตภาพร่วมเฉพาะของกลุ่มผู้สวมใส่ในชุมชนเดียวกัน นำไปสู่สไตล์ของการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป โดยที่เบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ Trend บอก. "ภาพ" ได้ถูกตีความ และสำหรับ Trend ถ้ามีจริงก็ไร้น้ำยา. สำหรับธุรกิจเสื้อผ้าแล้วเราทั้งหลายอาจไม่แน่ใจว่า การตลาดใหม่กำลังเล่นอยู่กับอะไร?

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้รู้น่าจะช่วยตอบได้ แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่ามันเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ถึงแม้จะผลิตเครื่องมือหรือกรอบคิดใหม่ในการช่วยวิจัยมนุษย์ที่ลึกขึ้นในวงการการตลาดก็ตาม

Change in Conception of Time, Spatial Perception in Clothing Design (1)
ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมในปัจจุบันมาถึงจุดที่ความหลากหลายของความสนใจเฉพาะ ปูมหลังเชิงประวัติศาสตร์ของกลุ่มบุคคลเป็นตัวกำหนดมาตรฐานที่มากกว่าหนึ่งมาตรฐานต่อวิถีชีวิต รสนิยม และกิจกรรมทางสุนทรียะที่แตกต่างกันออกไป

มาตรฐานที่แตกต่างหลากหลายในวง(ศ์)ต่างๆ บางครั้งทับซ้อนกัน นำไปสู่การผสมกันของวิถีชีวิต รสนิยมใหม่ๆ และวง(ศ์)ต่างๆ ที่ทับซ้อนกันบ้าง หรือยืนอยู่อย่างเอกเทศท่ามกลางวง(ศ์)อื่นๆ บ้าง สิ่งเหล่านี้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงภายในอย่างมีพลวัตรอยู่ตลอดเวลา. จะเป็นการยากและเชยเอามากๆ หากที่จะพยายามมองหาความแตกต่างเอกเทศแบบมิติเดี่ยว องค์เดี่ยว หรืออะไรอย่างโดดๆ !

ปรากฏการณ์ข้างต้นส่งผลอย่างมากต่อการให้ทางเลือกของผู้บริโภค และตัวผู้บริโภคเองคือผู้ตัดสินเชิงคุณค่าของตัวสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคคือ Active Agent หรือตัวแทนที่มีลักษณะเป็นฝ่ายกระทำนั่นเอง

จะเป็นการทำสำรวจการตลาดแบบสัตว์ฝูงตามแนววัตถุวิสัย (Objective) หรือความพยายามของการวิจัยจิตวิทยาของผู้บริโภคตามแนวปัจเจกวิสัย (Subjective) ด้วยเทคนิคไหนก็ตาม ไม่สามารถให้หลักประกันสมบูรณ์ (แน่นอนทีเดียว มีความเป็นไปได้ และไม่ได้) ต่อการกำหนดการจับจ่ายใช้สอยของบุคคลได้

ทัศนะคติของบุคคลมาพร้อมกันกับความต้องการภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ที่บุคคลนั้นๆ ปรารถนาจะสร้างสรรค์ขึ้น บุคคลสร้าง "Self-Narrative" (ภาพลักษณ์ของตัวตน) หรือการพูดถึงตัวเองในเชิงจินตนาการในที่สาธารณะ เป็น "Ideal-Self" หรือตัวตนเชิงอุดมคติ (แน่นอน…โดยมีต้นแบบ) ของบุคคลหนึ่งๆท่ามกลางบุคคลอื่นๆ รอบข้าง

"Ideal-Self" หรือตัวตนในเชิงอุดมคตินี้ ให้ประสบการณ์เฉพาะของบุคคลเป็นประสบการณ์ทางรสนิยมของความเป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจแตกต่าง (บางครั้งก็ขัดแย้งกัน) จากที่เกิดขึ้นในอดีต

การสร้าง Story Behind หรือเรื่องราวต่างๆ ซึ่งอยู่เบื้องหลังของสินค้า ก็ด้วยเหตุผลเพื่อที่จะผลักผู้บริโภคสู่กระบวนการ"Self Narrative" หรือสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง และสามารถสร้าง "Ideal-Self" (ตัวตนในเชิงอุดมคติ)อย่างหยาบๆ ได้สะดวกขึ้น. แต่กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ของตัวตน นำไปสู่การเติมเต็มของตัวตนในเชิงอุดมคตินั้น ซับซ้อนเกินกว่าที่อิทธิพลของเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลัง (Story Behind) จะมีอิทธิพลจริงๆ ได้

Story Behind ที่ว่าจึงต้องถูกเขียนขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา จึงหา Story อะไรที่เป็นจริงเป็นจังไม่ได้ และก็ไม่มีใครรู้สักกังวลใจที่ Story Behind ต่างๆ ถูกเขียนขึ้นเพื่อผลประโยชน์ชั่วคราวทางธุรกิจ อันนี้น่าจะเรียกว่าเป็น Simulacra Story (Behind) คือไม่ใช่เรื่องไม่จริง หากแต่เป็นเรื่องเสมือนจะจริง ซึ่งมีวิธีมากมายที่สามารถพูดให้เสมือนจะจริงที่สุดหลายๆ แบบ

ไม่แปลกแต่อย่างใดที่ว่า ทำไมปัจจุบันรสนิยม หรือ สไตล์ต่างๆ ถึงเปลี่ยนเร็ว ไม่คงทนในเวลาและการใช้งาน. ด้วยเหตุนี้ธุรกิจต่างๆ จึงมีอายุสั้นเหมือนฝูงยุง -Mosquito Business Life Circle - และต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายการลงทุนใน Area ใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงรูปแบบการจัดองค์กรด้วย. ทุกอย่างเป็น Modular.

สำนึกเรื่องเวลาใหม่ คือปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20. สำนึกใหม่เรื่องเวลานำมาสู่ความเข้าใจใหม่ต่อเรื่องพื้นที่, สถานะทางสังคมของบุคคล, ครอบครัว, ที่พักอาศัย, การวางผังเมือง, การศึกษาประวัติศาสตร์, แนวคิดการพัฒนาสังคมฯ, การศึกษาของบุคคล, เป้าหมายของชีวิต, และหน้าที่พลเมือง ฯลฯ เหล่านี้กำหนดและทำให้เกิดกิจกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนในศตวรรษที่ผ่านมา บุคคลถูกจัดวางและต้องใช้ชีวิตในบทบาทเฉพาะ กิจกรรมเฉพาะ ในพื้นที่เฉพาะที่สำนึกเวลาใหม่กำหนด

และบุคคลที่เข้าไปมีกิจกรรมในพื้นที่เฉพาะเหล่านั้น แน่นอนทีเดียว ต้องแต่งตัวให้ถูกต้อง สอดคล้องกับกิจกรรมเฉพาะเหล่านั้นด้วย. คุณเป็นใคร เพราะคุณสำนึกรู้ตัวเองภายในไม่มีความสำคัญเท่ากับคุณแต่งตัวอย่างไร และถูกมองอย่างไรด้วยสายตาของคนอื่นรอบๆ

"เวลาทางสังคม" (Social Time) หรือเวลาของการกำหนด ทำให้บุคคลมีชีวิตสมยอมที่น่าเบื่อหน่าย. ในทางกลับกัน "เวลาทางสังคม" (Social Time) ทำให้เกิดการโหยหาเวลาของความเป็นส่วนตัว (Personal Time) ความปรารถนาที่บุคคลต้องการ"เล่น"ให้มากที่สุด(ในขณะที่ทำได้?)ในเวลาของความเป็นส่วนตัว ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าลองสมมุติว่า "เวลาทางสังคม"(Social Time) คือข้อจำกัด เป็นระเบียบที่จัดวางชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน, โรงเรียน, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล, บนถนน, สถานที่ราชการ และอื่นๆ. "เวลาของความเป็นส่วนตัว" (Personal Time) คือการเล่น, ความตื่นเต้น, เป็นเวลาที่บุคคลสร้าง เติมแต่งเสน่ห์ให้ตัวเองมีชีวิต และน่าชวนติดตามจากสายตาคนอื่น, มิใช่การถูกกำหนด ทั้งเชิงจินตนาการหรือในกิจกรรมที่เป็นทางการรูปแบบต่างๆ

การเป็นอิสระทางรสนิยมเชิงจินตนาการในเวลาของความเป็นบุคคลนำมาสู่รูปแบบการแต่งตัว และรูปแบบเสื้อผ้าในแนว Casual Wear (การแต่งตัวตามสบาย) (ซึ่งผู้เขียนขอเว้นประเด็นนี้ไว้ก่อน คงเถียงกันได้มากว่า เสื้อผ้าแนว Casual Wear หรือการแต่งตัวแบบสบาย ตอบสนองจินตนาการอิสระของบุคคลในเวลาของความเป็นส่วนตัวจริงหรือไม่). ถ้าเชื่อว่า"เวลาทางสังคม"(Social Time) คือระบบเป็นมาตรฐาน, เสื้อผ้าในแนว"สวมใส่ตามสบาย"(Casual Wear) คือสัญลักษณ์ของการทำให้ "สำนึกเรื่องระบบ" หลวมลง และไม่เป็นมาตรฐาน

และถ้าเชื่อว่า กรอบเหล็กของมาตรฐานเชิงเดี่ยว ไม่สามารถเป็นเกณฑ์อะไรได้แบบทื่อๆ อีกต่อไป นั่นเหตุเพราะตัวมาตรฐานเอง (Social Time) ที่ทำให้บุคคลหนีมาตรฐาน และไปสร้างพื้นที่ของกิจกรรมทางเลือกอื่น (ที่ซึ่งแต่เดิมมาตรฐานไม่อนุญาตให้ทำ) ด้วยสำนึกเรื่องเวลาอีกแบบในที่อื่น นั่นคือ Casual Time ? Casual Lifestyle (เวลาตามสบาย - การใช้ชีวิตในสไตล์แบบสบายๆ)

มองดูเผินๆ เสื้อผ้าแนว Casual Wear (ตามสบายไปตามอารมณ์) คือท่าทีของการเกิดกิจกรรมนอกมาตรฐานเหล่านั้น เป็นการสวมใส่ตามสบาย ที่ตอบสนองห้วงเวลาสบายๆ อย่างไม่เป็นทางการ นั่นคือการใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมากมาย

อย่างไรก็ตาม หลังๆ มานี้, เสื้อผ้าแนว Casual Wear ถูกผลิตและขายในตลาด ทำให้ Casual Time และ Casual Lifestyle มีพิธีกรรมกำกับมากขึ้น กลายเป็นว่าถูกดูดซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Social Standard Lifestyle หรือ แบบการใช้ชีวิตมาตรฐานทางสังคม ในความหมายเดิมด้วยรูปแบบที่มีให้เลือกมากขึ้นเท่านั้น

ปัจจุบันหลายคนมี Accessories หรืออุปกรณ์ต่างๆ สำหรับออก Trip เดินทางท่องเที่ยวเยอะมากให้สอดคล้องกับที่ที่จะไป มีกางเกงสำหรับว่ายน้ำทะเล น้ำลึกตัวหนึ่ง น้ำตื้นตัวหนึ่ง สำหรับว่ายน้ำจืด ในครอง แม่น้ำ เขื่อน แยกเด็ดขาดชัดเจน และขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในที่นั้นด้วย คือต้องเลือกใส่กางเกงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมด้วยถึงจะเหมาะ

สำนึกใหม่เรื่องเวลาทางสังคมแบบมาตรฐานเชิงเดี่ยว ที่เป็นกรอบจัดวางชีวิตของบุคคลในตำแหน่งเฉพาะต่างๆ ทำให้บุคคลหนีมาตรฐานด้วยสำนึกของเวลาส่วนตัว สร้างกิจกรรมของรสนิยมบนมาตรฐานทางเลือกอื่นๆ (และในที่สุดก็กลายเป็นมาตรฐานในวิธีคิดเดิม…เชิงเดี่ยวเช่นเดิมอีก เพียงแต่เพิ่มสีสันของความหลากหลายมากขึ้น) More choices, but no choice…

คำถามคือว่า เมื่อไหร่บุคคลจะมี Casual Time หรือเวลาสบายๆ ตามอารมณ์จริงๆ ที่ไม่ถูกจัดวางไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีลักษณะของสำนึกเรื่องเวลาอีกประเภท ที่อยู่ระหว่างกลางของเวลาทางสังคม(Social Time) กับเวลาส่วนตัว(Personal Time) นั่นคือ Liminal Time และ Leisure Time (เวลาที่อยู่ครึ่งๆ กลางๆ และเวลาว่างๆ) บนที่เป็นตัวกำหนดกิจกรรมที่แตกต่างออกไป รวมถึงเสื้อผ้าด้วย

Change in Conception of Time, Spatial Perception in Clothing Design (2)
ปัจจุบันบุคคลมีท่าที่ของการทำลายอัตลักษณ์ตัวเองสูงขึ้น พูดอีกนัยหนึ่ง การหนีอัตลักษณ์เดิมของบุคคลทำให้ความเป็นแก่นสารเดิมของความหมาย "อัตลักษณ์" ไม่คงที่ ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันสไตล์การใช้ชีวิตในทุกมิติมีการเปลี่ยนเร็วมากกว่าที่เป็นมา ทุกอย่างที่เคยเปลี่ยนตามฤดูกาล มาบัดนี้ไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว หากแต่เปลี่ยนทุกสัปดาห์

ดังนั้น Trend ในวงการธุรกิจเพื่อการบริโภค เครื่องประดับตกแต่ง สไตล์การใช้ชีวิตของบุคคลจึงต้องเปลี่ยนเร็วไปด้วยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แม้อัตลักษณ์ขององค์กรธุรกิจเองก็ยังมีท่าทีการหนี และทำลายอัตลักษณ์เดิมของตนเช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลอย่าง เราๆ ท่านๆ

คำอธิบายเรื่อง Corperated Identity หรืออัตลักษณ์ของบริษัทที่ใช้เมื่อปีกลาย อาจไม่ได้ผลใน พ.ศ. นี้แล้ว ถ้าหากลองพิจารณาคำว่า "อัตลักษณ์" ของบุคคลในฐานะพื้นที่และเวลาเฉพาะของเอกบุคคล (Personal time + space) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยหลากหลายไปในแนวทางเฉพาะ แล้วแต่บุคลิกของบุคคลนั้นๆ เวลา พื้นที่ของอัตลักษณ์ บุคคล ก็คือหน่วยย่อย (Sub-unit) ที่อาศัยฝังตัวอยู่ในหน่วยที่ใหญ่กว่านั้นคือ เวลา และพื้นที่ทางสังคม (Social space + time)

ความเป็นแบบแผนที่คงที่ของเวลา และพื้นที่ทางสังคมที่เคยเป็นปึกแผ่น ปัจจุบันเกิดแตกตัวออกไม่เป็นปึกแผ่นเหมือนเดิม มีการเปลี่ยนของแบบแผนทางโครงสร้างต่างๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง สิ่งนี้ทำให้กิจกรรมของคนกลุ่มต่างๆ ในเวลา และพื้นที่ของตัวเอง (Personal time + space) หลุด และหมุนเปลี่ยนเร็ว ตามการเปลี่ยนของแบบแผนพื้นที่ และเวลาร่วมสมัยไปด้วย ทุกอย่าง Swing around หรือเหวี่งสลับกันไปมาไปเรื่อยๆ

ผลที่ตามมาคือ ขอบเขตของ Space และ time ที่เคยมี Domain (วงศ์) เฉพาะ เริ่มไม่มีอะไรที่แยกขาดจากกันเป็นพื้นที่เฉพาะอีกต่อไป นั้นคือ เกิดการโกลาหลของการทับซ้อน เคลื่อนตัวไม่รู้จบ และการผสมตัว ผสมพันธุ์ใหม่ ผ่านการทับซ้อนเหล่านี้ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องเวลา และพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาในรอบหลายศตวรรษที่ผ่านมา

3 - 4 ปีที่แล้ว Rem Koolhaas (สถาปนิกที่มีชื่อเสียง)ได้รวบรวมผลวิจัยเกี่ยวกับลักษณ์ใหม่ของพื้นที่ และเวลาในโลกร่วมสมัย และได้จำแนกแยกแยะลักษณะใหม่ของพื้นที่ และเวลาที่ว่านั้นได้เป็น 30 ประเภท คือ

Dump space, Euro - space, Relationship Space, Nano space, Space space, Virtual space, Atlas space, Home space, Voice space, Bush space, Boom space, Tight space, Art space, Sex space, Research space, Blog space, Body space, Golf space, Warning space, Contested space, DNA space, Ad space, Public space, Secure space, office space, Limbo space, Robot space, และ Color space

เราทุกคนกำลังอยู่ในโลกที่มีมิติของความหมายในพื้นที่ และเวลาทับซ้อนโยกย้ายผสมพันธุ์ไปมาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาตั้งแต่โลกเข้าสู่ภาวะหลังสมัยใหม่ (Postmodernity) (ก่อนหน้านี้เชื่อว่ามิติของชีวิตทั้งหลายในโลกไม่เคย แห้งๆ ทื่อๆ แบนๆ แต่หลังคริสตศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาถึงราวทศวรรษที่ 1970s เริ่มที่ยุโรปก่อน เราทุกคนถูกทำให้เป็นคนมิติเดียวมากขึ้น และแคบลงเรื่อยๆ)

สิ่งที่ Rem Koolhaas กำลังบอกเราคือ ในสภาวะโลกานุวัตร สไตล์หรือแบบแผนการใช้ชีวิตต่างๆ ที่ฝังตัวอยู่ใน Space โดยคร่าวๆ ทั้ง 30 ลักษณะที่มีความหลากหลายในคำอธิบาย บุคคลหนึ่งอาจใช้ชีวิตได้ในหลายมิติ เคลื่อนย้ายตัวเองจาก Space A ไม่สู่ Space B, C, D, E และ ฯลฯ ต่างคนก็ต่างกรรมวาระกันไป ธุรกิจที่ทำธุรกรรมใน Space ต่างๆ เหล่านั้นย่อมจะมีลักษณะของการจัดองค์กร รวมถึงสินค้า และบริการที่แตกต่างกันไป

การใส่เสื้อผ้า ก็เช่นเดียวกับอุปกรณ์ประกอบชีวิตอื่น ย่อมจะมีลักษณะของแนวคิด การผลิต และปรัชญาการสวมใส่ ที่บุคคลใช้ในกิจกรรมชีวิตใน Spaces ที่แตกต่างเหล่านั้น. ผลของการแตกตัวออกเป็นลักษณะเฉพาะของ Spaces เหล่านั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความเข้าใจเรื่องเวลาซึ่งมีลักษณะทับซ้อนกัน หรือบางครั้งผลักกันตามไปด้วย

เมื่อความเป็นปึกแผ่นแบบ "องค์รวม" ของ Space / Time ถูกทำให้แตกแยกย่อย สิ่งที่ตามมาอีกอย่างก็คือ การมีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่าง "วงศ์" ของ "Spaces และ Times" ต่าง ๆ มากขึ้น. พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างวงศ์ต่างๆ ของ Spaces และ Times นี้เรียกว่า Liminal Space (พื้นที่ครึ่งๆ กลางๆ หรือกึ่งกลางบนเส้นขอบ) ซึ่งเต็มไปด้วย Contact Zones (โซนที่ติดต่อกัน) และโอกาสของการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหล (Transitional Possibilities) เป็นพื้นที่ของการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Space)

ถ้าบอกว่า Space ทั้ง 30 ลักษณะอย่าง Rem Koolhaas ว่านั้นเต็มไปด้วยโอกาสมหาศาลทางธุรกิจ Transitional Space ที่ว่านี้มีมากกว่า 30 ลักษณะ หรือพูดให้ยากเข้าไปอีกคือ ไม่มีลักษณะเฉพาะ และมีความมหาศาลมากกว่า หลายล้านเท่าตัวสำหรับโอกาส. ใน 24 ชั่วโมง บุคคลใช้ชีวิตสำหรับการเปลี่ยนผ่านจาก Space หนึ่งไปสู่อีก Space หนึ่งอย่างนี้ และมีกิจกรรมใน Transitional Space นี้โดยไม่รู้ตัวมากกว่าทีอื่นๆ

คำอธิบายแบบแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้วตื้นๆ ในแบบ ดี/ชั่ว, ถูก/ผิด, Upper Class/ Lower Class, ผู้ใหญ่/เด็ก, Hi so/ Lo so, ผู้ชาย/ผู้หญิง, มึง/กู, ผัว/เมีย, แฟน/แฟน, แข็งแรง/อ่อนแอ ฯลฯ... ทั้งหมดรวมๆ เรียกว่า Dichotomy หรือขั้ว ไม่มีพลังในคำอธิบายที่มากพอที่จะเข้าใจศัพท์ยอดฮิต ตรึงใจคนร่วมสมัยหลายคน อย่างคำว่า "กิ๊ก" ได้

"กิ๊ก" คือมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่มีชีวิตอยู่ใน Transitional Space (พื้นที่เปลี่ยนผ่าน) มีลักษณะสไตล์ชีวิตหรือ Lifestyle ที่อยู่ใน Liminal Time หรือห้วงเวลากึ่งๆ กลางๆ. "กิ๊ก" คือสิ่งมีชีวิตที่อธิบายไม่ได้ เพราะเมื่อพยายามจะอธิบายสภาวะความเป็น "กิ๊ก" ก็จะจบลง และแน่นิ่ง แช่แข็ง

"กิ๊ก Culture" เป็นอนิจจังและอนัตตา. ผู้เขียนใช้ "กิ๊ก Culture" เป็นอุปมาศัพท์เพื่อที่จะอธิบายถึงความเป็นไปของการบริโภคร่วมสมัยของโลกปัจจุบันที่มีเกิดและแตกดับ ผสมปนเป ไร้จังหวะคงที่ ยากต่อการคาดคะเน. แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของการบริโภคปัจจุบันก็คือสูตรผสมไร้จังหวะนั่นเอง และการหาคำอธิบายผ่านกรอบการวิจัยต่อสภาวะไร้จังหวะอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่ากับการสร้างความเข้าใจ โดยปล่อยไหลไปตามจังหวะที่เปลี่ยนแบบไม่คงที่นั้น (หรือนั่งนิ่งๆ ดูความเคลื่อนไหว)

ทั้งยุทธศาสตร์นั่งนิ่งๆ และปล่อยไหล กำหนดแผนธุรกิจ เป้าหมายองค์กร และขนาดของกำไรต่างกัน อย่างไรก็ดีจะเต้นเร็วไปกับจังหวะหรือนั่งนิ่งดูการเคลื่อนไหวต้องเท่าทัน มีสติพร้อมข้อมูล ต่อสิ่งที่เป็นประสบการณ์ ปรากฏการณ์ตรงหน้า (ไม่ใช่การไหลชีวิตไปในกระแส Postmodern แบบไร้สาระอย่างที่หลายคนเข้าใจ) แล้วถ้าใครสักคนสามารถเข้าใจสภาวะ "กิ๊ก-ism" นี้ได้โดยอาจไม่จำเป็นต้องหาคำอธิบาย คือ เข้าใจจิตวิทยาและสภาวะแวดล้อมของการก่อรูป "กิ๊ก Perception" โอกาสทางธุรกิจน่าจะเปิดกว้างด้วย

ดังนั้นแล้ว เราจะรู้ว่า "กิ๊ก" ต่าง ๆ นั้น แต่งตัวกันอย่างไร (เพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ แอบกระซิบว่า อาจรู้ว่าจะถอดการแต่งตัว "กิ๊ก" ยังไงด้วย!) ซึ่งนั่นคือ Gender topic! Shut up! คำอธิบายทั้งเอาจริงเอาจัง, ตลก, อุปมา, ขำขำ ข้างต้นนั้นปัจจุบันต้องใช้กรอบ Ethnomethodology ช่วยอย่างมาก เพื่อเชื่อมความเข้าใจต่างๆเข้าด้วยกัน

หลายคนเรียกกรอบที่ว่า การ Conceptualize หรือเชื่อมโยงกรอบวิจัยต่างๆ เข้าด้วยกัน จากระดับที่แตกต่าง มีสัดส่วนในการสร้างความเข้าใจเชิงสัมพันธภาพสูง เพื่อจับกระแส หรือเข้าใจปรากฏการณ์การเต้นเร้าของโลกธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่ง Marketing research strategy for, or in - itself won't work

กูรูทางการวิจัยการตลาดท่านหนึ่งพูดด้วยสำเนียงสำนักปรัชญาสาย Romantics ได้น่าฟัง
"What ever is said for its own sake, done for its own need is all only shit one can earn from his or her sweat" นั่นคือ การมุ่งประเด็นไปในสิ่งที่ต้องการมากเพียงอย่างเดียวโดยละเลยการทำความเข้าใจปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รอบข้าง นำไปสู่การคว้าน้ำเหลว. ถึงตรงนี้คงไม่ต้องพูดซ้ำแล้วว่า มีอะไรบ้างที่ควรศึกษา วิจัยสาหรับตลาดเสื้อผ้า

ค่ำวันหนึ่ง ขณะที่กำลังสบายๆ กับการเอาของดองลงท้องกับเพื่อนหลายคน ผมก็ลองๆ เสนอไอเดียบทความนี้ดู ขี้เมาบางคนบอกว่า ฟังแล้วการเปลี่ยนแปลงของโลกโลกานุวัตร รวมถึงกรอบที่ใช้อธิบายแบบ Ethnomethodogy นั้นมันดูละหม้ายคล้ายๆ กับ ส่งที่เราอ่านจาก อภิปรัชญาพุทธ. สมาชิกในวงน้ำเมาคนหนึ่ง ซึ่งไปเติบโตห่างเมืองไทยเสียนาน สวนออกมาทันควัน
"Buddhism is a perfect tool for Capitalism"

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

Rem Koolhaas (สถาปนิกที่มีชื่อเสียง)ได้รวบรวมผลวิจัยเกี่ยวกับลักษณ์ใหม่ของพื้นที่ และเวลาในโลกร่วมสมัย และได้จำแนกแยกแยะลักษณะใหม่ของพื้นที่ และเวลาที่ว่านั้นได้เป็น 30 ประเภท เช่นDump space, Euro - space, Relationship Space, Nano space, Space space, Virtual space, Atlas space, Home space, Voice space, Bush space, Boom space, Tight space, Art space, Sex space, Research space, Blog space, Body space, Golf space, เป็นต้น

18-04-2550

Fashionsophy
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.