บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
ปรัชญาการศึกษาทางเลือก
ความรู้และความจริงที่หลากหลาย
การศึกษาทางเลือก:
สงครามกองโจรบนการเมืองความรู้ (ตอนที่ ๒)
จิรภักดิ์ จอมวิญญาณ์ : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการชิ้นนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาทางเลือกและความซับซ้อนของความรู้
งานชิ้นนี้มุ่งเสนอเรื่องของการขบถของความรู้ ซึ่งโดยพื้นฐานไม่ได้ต่อต้านสาระ
วิธีการ
หรือแนวความคิดของศาสตร์แขนงต่างๆ แต่ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจของความรู้
ความรู้เป็นสิ่งที่มีความหลากหลาย แต่ความรู้กระแสหลักได้มากีดกันความหลากหลายดังกล่าว
และสถาปนาอำนาจความรู้แคบๆ ที่เลือกขึ้นมา มีอิทธิพล เหนือความรู้อื่น
ในโลกหลังสมัยใหม่ ฝ่ายที่ต่อต้านความรู้กระแสหลักพยายามนำเสนอความรู้ที่หลากหลาย
โดยกระตุ้นให้ความรู้กระแสรองหรือของท้องถิ่นได้ปรากฏตัวขึ้นมา
ฟูโกต์เรียกความรู้ที่ถูกกดทับนี้ว่า "subjugated knowledge"
อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ได้ชี้ไปยังแก่นบางอย่างของความรู้ต่างๆ ว่า
ไม่ว่าจะเป็นความรู้กระแสหลักหรือความรู้กระแสรอง ล้วนเกิดขึ้นจากการคัดเลือกทั้งสิ้น
โดยคนกลุ่มต่างๆ การเลือกเอาความรู้หนึ่งเข้ามา ก็หมายถึงการกันอีกความรู้หนึ่งออกไป
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๒๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๓ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ปรัชญาการศึกษาทางเลือก
ความรู้และความจริงที่หลากหลาย
การศึกษาทางเลือก:
สงครามกองโจรบนการเมืองความรู้ (ตอนที่ ๒)
จิรภักดิ์ จอมวิญญาณ์ : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คลิกกลับไปทบทวนบทความนี้ตอนที่
๑
การที่จะต้องมีความรู้แบบทางเลือก เป็นการแสดงออกที่มีต่อระบบการศึกษากระแสหลักของบุคคลภายในวงการการศึกษา เป็นแนวทางการต่อต้านแบบใหม่ ดังที่ ใจ อึ้งภากรณ์ กล่าวว่า "เราควรจะอยู่ในระบบ แล้วก็ใช้พลังของผู้ผลิตรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับระบบ อันนี้เป็นแนวทางที่ให้เลือกอย่างชัดเจน" (27) และการปลดปล่อยความรู้ที่ถูกกดทับไว้ อาจจะกล่าวได้ว่าต้องให้อำนาจทางความรู้ที่ถูกอำพราง "ดัง" ขึ้น และยอมรับความรู้ทางเลือกแบบนี้โดยการไม่คิดว่ามันเป็น "ความรู้ที่เป็นอื่น", "ความรู้ข้างน้อย", หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดคือ การที่ไม่ยอมรับว่ามี "ความรู้ทางเลือก" โดยการเรียกมันว่า "ความรู้" เฉยๆ และมันก็คือวาทกรรมที่ต่อต้านอำนาจ เป็นวาทกรรมต้าน (counter-discourse) (28) ทางความรู้
การต่อต้านระบบการศึกษา ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวเพื่อขจัดการครอบงำของสิ่งที่เรียกว่าลำดับชั้นของความรู้. อันที่จริง มีหลากหลายแนวทางที่เราจะสามารถต่อต้านระบบการศึกษากระแสหลัก (29) แต่การต่อต้านจำนวนมาก กลับมีสถาบันหรือโครงการหลักที่ไม่นำไปสู่ระบบการศึกษาที่ปราศจากชนชั้น แต่กลายมาเป็นระบบการศึกษาที่ถูกจัดเป็นระบบโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง กลายเกิดเป็นภาวะที่เฮเกล (Hegel) เรียกว่า "วิภาษวิธี" หรือ "ปฏิพัฒนาการ" (dialectic) (30) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การทำลายระบบเพื่อให้การศึกษาหรือความรู้ที่ปราศจากชนชั้นจึงไม่เกิดขึ้นจริง เราต้องพยายามที่จะหยุดหรือสร้างจุดจบให้แก่วิภาษวิธีหรือปฏิพัฒนาการ (end of dialectic) (31) นี้ให้ได้ การเคลื่อนไหวนี้จึงมีลักษณะที่เป็น "ภาวะที่ถูกทอดทิ้ง" (desertion) เรื่องวิธีการ กล่าวคือให้มีเครือข่ายหลวมๆ กระจัดกระจาย ปฏิเสธการสร้างพรรค (32) อันมีลักษณะเป็นระบบองค์กร (organism) และไม่มีลักษณะการเจรจาต่อรอง (negotiation) ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำไปสู่สิ่งที่หนังสือ "Empire" เรียกว่า "post-modern republicanism" (33) หรือ "สาธารณรัฐนิยมหลังสมัยใหม่" และหากจะปรับปรุงแนวทางนี้ให้เข้ากับระบบการศึกษาก็คือ การสร้าง "สังคมสาธารณะทางความรู้หลังสมัยใหม่" ขึ้นมานั่นเอง
โดยประยุกต์จากขบวนการสังคมใหม่ (new social movement) ก็คือยุทธวิธีที่ว่า แทนที่เราจะ "ถอนตัว" ออกเพื่อปฏิเสธและต่อต้านระบบการศึกษา โดยแสดงตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่กลับสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ความรู้ที่เป็นอื่น" (otherness knowledge) ขึ้นมา นิตเช่เรียกการกลับค่า (transvalue) และ "เอาคืน" ในรูปแบบทางจินตนาการ (imaginary revenge) นี้ว่า ความขุ่นเคืองใจหรือ "ressentiment" (34)
เราควรจะมองระบบการศึกษากระแสหลักในฐานะที่จำเป็นจะต้องมีอยู่เพื่อเป็น "แอกทางความรู้" ที่มนุษย์ต้องอาศัยมันเพื่อสร้างคุณค่าในตัวของมนุษย์ (self-creation) ขึ้นมา เพราะ หากปราศจาก "แอก" เหล่านั้นแล้ว มนุษย์ก็อาจไม่มีค่า" ซึ่งตัวของฟูโกต์ก็ดูจะเห็นด้วยกับเฮเกลในจุดนี้ (35) ฉะนั้นในประเด็นการมีอยู่ของตัวโรงเรียนยังคงมีความจำเป็นในสังคม จึงไม่ต้องถึงขนาดที่จะประกาศว่าเป็น "Deschooling Society" (36) (สังคมที่ปราศจากโรงเรียน) อย่างที่ไอวาน อิลลิช (Ivan Illich) ปรารถนาแต่อย่างใด แต่สอดคล้องกับแนวความคิดของ อดัม เคิล (Adam Curle) มากกว่าที่เห็นว่า การมีอยู่สถาบันทางการศึกษายังเป็นสิ่งจำเป็น ที่มนุษย์จะรวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้ (37)
การยอมรับในการมีอยู่ของระบบการศึกษาหรือความรู้กระแสหลัก มิใช่เหตุผลในการที่ความรู้แบบทางเลือกจะร่วมมือ และยอมถูกกลืนไปกับระบบการศึกษาที่มีอยู่ก่อนแต่อย่างใด เพราะถึงแม้จะยอมรับ แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่คอร์เนล เวสต์ (Cornel West) กล่าวไว้ว่า "การเข้าใจไม่ใช่เงื่อนไขของความร่วมมือ" (comprehension is not requisite for cooperation).(38) หมายถึงแม้จะยอมรับให้มีการศึกษากระแสหลัก แต่การแสวงหาความรู้แบบทางเลือกก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหรือไม่เข้าไปช่วยเหลือหรือส่งเสริมการศึกษากระแสหลักแต่อย่างใด ความรู้แบบอื่นพอใจที่จะสู้แบบ "สงครามกองโจร" (guerrilla warfare) และผลิตสร้างอัตลักษณ์เสมือน (virtual identities) ของตนขึ้นมา (39) เป็นการสร้างวาทกรรมชุดใหม่ เพื่อต่อรองแบบไม่เจรจาในการสร้างอำนาจในการอธิบายและเหตุผลทางด้านการเมืองของความรู้ ที่ทั้งสองต่างต้องต่อรองเชิงพื้นที่ทางความรู้ของตนในวาทกรรมการศึกษาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวว่า ในสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ความจริงที่ถูกนำเสนอโดยวิชาการต่างๆ ยังถูกเคลือบแฝงด้วยสิ่งไม่บริสุทธิ์ทั้งหลาย กระบวนการที่เกิดขึ้นที่มักจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นสภาวะหลังสมัยใหม่ จึงมีเป้าหมายที่จะชำระล้างให้ความรู้ในสภาวะสมัยใหม่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น นี่เป็นสภาวะสมัยใหม่ที่หนักแน่นมาก (hypermodernity) ขึ้นไปกว่าสภาวะสมัยใหม่แบบเดิม "ความจริง" กรอบความคิดของสภาวะสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องของการค้นพบ (discovery) แต่กลับเป็นการถูกสร้างขึ้น (40) และการนำเสนอความคิดของวิชา (discipline) ที่ดำเนินอยู่ภายใต้อิทธิพลของหลังสมัยใหม่ (postmodern) ก็ใช่ว่าจะเป็นการปฏิเสธความจริงแต่อย่างใด เป้าหมายที่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปก็คือ ความจริง เช่น ความจริงที่ได้จากความรู้เกี่ยวกับตนเอง (self-knowledge) (41)
ความสามารถของครูในการศึกษาทางเลือกก็คือ ทำตัวเป็นผู้ประสานให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครูไม่ใช่คน "บอก" หนังสือแต่เพียงอย่างเดียว การศึกษาทางเลือกอยู่ในการเรียนรู้ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน นิธิจึงสรุปว่า "เด็กไทยอยู่ในการศึกษาทางเลือกทุกคน แต่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนทุกคน" (42), การเรียนรู้จึงอยู่ในทักษะการใช้ชีวิตของเราตลอดเวลา และ "ทุกคนภายในสังคมจะต้องทำให้เป็น "ครู" แก่กันและกันทั่วหน้า ทั้งที่เป็นดอกเตอร์และที่อ่านหนังสือไม่ออก" (43)
จากความเห็นของนิธิ อาจจะกล่าวได้ว่า การศึกษาทางเลือกนั้นอยู่มาก่อนที่จะมีระบบการศึกษาของชาติเสียอีก ผ่านการทำมาหากิน การละเล่น กิจกรรม หรือพิธีกรรมต่างๆในสังคม เวลามีงานการในบ้านเกี่ยวกับวิถีชีวิต มีเรื่องเกิด แต่งงาน และตาย เป็นต้น ก็มีพิธีทำขวัญหรือสวดมนต์เลี้ยงพระอยู่แทบทุกประเพณี นอกจากนั้นยังมีประเพณีอันเนื่องด้วยเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษ สารท เด็ก ๆ ไม่ว่าชายหรือหญิงก็มีโอกาสได้ดูรู้เห็นเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ เท่ากับเป็นการศึกษาอยู่ในตัว (44) แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการเรียกในชื่อว่า "การศึกษาทางเลือก" เพราะคำนี้มาตามหลังที่มีระบบการศึกษา แต่ความหมายของมันดำรงตนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกคนอยู่ก่อนแล้ว
หากมองมันในแง่การให้คำจำกัดความ ระบบการศึกษาผลิตคำว่า "การศึกษากระแสหลัก" และผลิตการศึกษา "กระแสอื่น" ว่าการศึกษาทางเลือก อาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องของอำนาจการผลิตคำและการให้นิยามความหมายจากระบบ ทำให้การศึกษาที่มีอยู่ก่อนในชีวิตประจำวัน ต้องกลายเป็น "ทางเลือก" ไป
ดังนั้น จุดมุ่งหมายหนึ่งของการศึกษาทางเลือกก็คือ การพยายามเปิดเผย (unfold) บางสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ให้ปรากฏออกมาจากการศึกษากระแสหลัก บางสิ่งที่การศึกษากระแสหลักปกปิด ซ่อน หรืออำพรางและไม่ให้แสดงตัวออกมา ฟูโกต์ใช้คำว่า "subjugated knowledge"(D) ก็คือการนำสิ่งที่พลาโตเรียกว่า "การนำเข้ามาปรากฎ" (bringing - "poiesis")(E) ปรากฏการณ์ที่ว่าเป็นการเปิดเผย (revealing - "aletheia") สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" (truth) นั่นเอง
การศึกษากระแสหลักที่ใช้ทฤษฎีความรู้ (epistemology) เป็นภาพตัวแทน (representation) ของความจริงเป็นตัวตั้ง และไม่เลือกที่ใช้ "aletheia" อันเป็นสิ่งที่ปรากฏตัวออกมาในลักษณะแบบกระบวนการ ที่ต้องการความเป็นอื่นเพื่อมาเสริมสร้างความรู้และความจริงที่จะเปิดเผยตัวเอง แสดงบทบาทของการสนทนาแลกเปลี่ยนอันเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญสำหรับความจริง (45) อันหลากหลายและถูกสร้างขึ้นมา ด้วยความหวังแบบการศึกษากระแสหลัก ที่ให้มี "ความจริง" ขึ้นมาจึงเป็นจุดมุ่งหมาย (goal - talos) ของระบบการศึกษาไทย ก็ยังคงไว้ซึ่งความหวังตามแบบสมัยใหม่ ที่ดำเนินรอยตามแบบ "mimesis" อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
การถกเถียงเรื่องอำนาจในพื้นที่ทางการเมืองของการความรู้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอำนาจที่เปลี่ยนมือกันไปมาในการมุมมองทางด้านการพยายามสร้าง "ความจริงของความรู้" ของตนขึ้นมา มากกว่าที่จะมุ่งไปยังสิ่งที่โสกราตีส (Socrates) เรียกว่า "จงรู้จักตัวท่านเอง" (know thyself) แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำให้ตัวเองกลายเป็นวัตถุสำหรับการศึกษาตัวเองตามคำของโสกราตีสนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำเช่นกัน (46) แต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพยายามไปให้ถึงตามแบบสมัยใหม่ (modernity) แม้จะอยู่อาศัยในช่วงหลังสมัยใหม่ (postmodern) ก็ตาม (47)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปทบทวนบทความนี้ตอนที่ ๑
เชิงอรรถ
(27) ใจ อึ้งภากรณ์, (2546).วิพากษ์จักรวรรดิ (นิยม) ใหม่ : คุยเรื่องหนังสือ Empire ว่าด้วยจักรวรรดิในมุมมองใหม่และการลุกขึ้นสู้ในยุคโลกาภิวัตน์. วารสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4. ฟ้าเดียวกัน. กรุงเทพฯ. หน้า 82.
(28) สายพิณ ศุพุทธมงคล, 2543. คุณลักษณะอำนาจและการต่อต้านขัดขืน. พิมพ์ครั้งที่ 1.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ. หน้า 3-5.
(29) จากงานวิจัย "โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก : ฐานข้อมูลและการวิเคราะห์" โดยสุชาดา จักรพิสุทธิ์ และคณะ ได้พบว่า กลุ่มหรือชุมชนที่รวมตัวกัน โดยเจตนา (Intentional Community) ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน นั้น มีถึงกว่า 60,000 กลุ่ม/ชุมชน โปรดดูรายละเอียดในบทความของสุชาดาเรื่อง - ชุมชนกับการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา http://midnightuniv.org/midnight2545/document9562.html,- ทำไมต้อง...สื่อทางเลือก http://midnightuniv.org/midnight2545/newpage17.html ,- บทสัมภาษณ์ : โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก http://midnightuniv.org/midfrontpage/newpage12.html,- อำนาจและพลังสร้างสรรค์ของหลักสูตรท้องถิ่น http://midnightuniv.org/midnight2545/document9662.html
(30) "dialectic" ราชบัณฑิตยสถานแปลได้ว่า "วิภาษวิธี" หรือ "ปฏิพัฒนาการ" จากพื้นฐานปรัชญาของเฮเกลที่ว่า ความเป็นจริงมีแต่จิตสัมบูรณ์ (absolute mind) ดวงเดียว ซึ่งไม่มีวันอยู่นิ่งแต่ต้องพัฒนาไปโดยมีการขัดแย้งภายในตัวเองเรื่อยไปเป็น 3 ภาวะคือ ภาวะพื้นฐาน (thesis) ภาวะแย้ง (antithesis) และภาวะสังเคราะห์ (synthesis) ที่เรียกว่า ปฎิพัฒนาการก็เพราะต้องพัฒนาโดยการขัดแย้ง เมื่อถึงภาวะสังเคราะห์ได้ครั้งหนึ่ง จิตจะก้าวหน้าไปขั้นหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นภาวะพื้นฐาน(thesis)ของขั้นต่อไปในทันที และจะปฎิพัฒนาไปเช่นนี้ เรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 27.)
(31) เป็นคำที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ใช้ ในพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, วิพากษ์จักรวรรดิ (นิยม) ใหม่ : คุยเรื่องหนังสือ Empire ว่าด้วยจักรวรรดิในมุมมองใหม่และการลุกขึ้นสู้ในยุคโลกาภิวัตน์. วารสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4. 2546. ฟ้าเดียวกัน. กรุงเทพฯ. หน้า 63.
(32) ใจ อึ้งภากรณ์, เรื่องเดียวกัน.
หน้า 70.
(33) พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ,เรื่องเดียวกัน. หน้า 80.
(34) ในหนังสือของนิทซ์เช่ที่ชื่อ "On the Genealogy of Morals" (1969) หน้า 36-37 กล่าวในประเด็นนี้ว่า "การปฏิวัติของทาสในทางศีลธรรม (the slave revolt in morality) เริ่มขึ้นเมื่อความขุ่นเคืองใจ (ressentiment) กลับกลายตัวเองเป็นการสร้างสรรค์และให้กำเนิดคุณค่า ( itself becomes creative and gives birth to values) นั่นคือ ความขุ่นเคืองของธรรมชาติที่ปฏิเสธการตอบโต้ที่แท้จริงออกมาเป็นการกระทำ, และชดเชยตนเองด้วยการแก้แค้นทางความคิด.
ในขณะที่ศีลธรรมแบบนายทุกชนิด พัฒนามาจากการยืนยันตนเองอย่างชื่นชมยินดีนั้น ศีลธรรมแบบทาสกลับเริ่มต้นด้วยการพูดว่า "ไม่" (No) ต่อสิ่ง "ภายนอก"(outside), ต่อสิ่งที่ "แปลกออกไป"(different), ต่อสิ่งที่ "ไม่ใช่ตัวเอง" (not itself); และคำว่า "ไม่" นี้เอง เป็นการกระทำที่สร้างสรรค์ของมัน.
การกลับตาลปัตรแนวทางการมองคุณค่า ด้วยความต้องการที่จะมองออกไปภายนอก แทนที่จะมองดูตนเองเช่นนี้ ก็คือสารัตถะของความขุ่นเคือง (the essence of ressentiment): นั่นคือ เพื่อที่จะดำรงอยู่ได้, ศีลธรรมแบบทาสมักจะต้องการความชิงชังต่อโลกภายนอกเป็นอันดับแรก; ซึ่งถ้าพูดตามแบบกายภาพแล้ว, มันต้องการสิ่งกระตุ้นจากภายนอกเพื่อที่จะทำการใดๆ ได้. การกระทำของมัน โดยพื้นฐานก็คือ การตอบสนองการกระทำ (reaction) " อ้างใน วนิดา คุตตวัส, (2523).ความสัมพันธ์ระหว่างทรรศนะเรื่องนิจวัฎกับการวิจารณ์จริยศาสตร์ของนิทซ์เช่. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: หน้า 53.
(35) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, คอลัมน์วิจารณ์หนังสือ. วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉ. 2 มิ.ย. 2525 กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์. หน้า 181.
(36) อีวาน อิลลิช, ที่นี่ไม่มีโรงเรียน, (2543). สันต์ สิงหภักดี และ สันติสุข โสภณสิริ แปล. พิมพ์ครั้งที่ 2 . สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. เรือนแก้วการพิมพ์. กรุงเทพฯ.
(37) อดัม เคิล, การศึกษาเพื่อความเป็นไท. (2538). วิศิษฐ์ วังวิญญู แปล. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. โรงพิมพ์ จงเจริญเทพารักษ์: กรุงเทพฯ.หน้า 195. แต่กระนั้นแนวคิดแบบมากซิสต์ของอดัม พูดถึงความสามารถที่เราจะเข้าไปถึงสภาวะรวบยอด (totality) ที่อดัมเรียกว่า "ประสบการณ์ที่จุดสุดยอด" ได้ยังคงมีข้อโต้แย้ง โดยเขาอ้างถึงนักจิตวิเคราะห์อย่าง อัลพอต ฟรอมม์ มาสโลว์ เพิลส์ และโรยส์ ว่า "พวกเขาจะมีความเชื่อร่วมกัน คือเชื่อในความสามารถที่จะค้นพบตัวเอง และประจักษ์แจ้งในตัวเองของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถเกิดใหม่โดยผ่านจุดสุดยอดแห่งประสบการณ์ หรือเราอาจใช้ศัพท์อื่นๆ ก็ได้ เช่น ซาโตริ (การรู้แจ้ง) (หน้า 90)"
อดัม กล่าวต่อมาว่า "การรับรู้ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้เราจะสามารถข้ามพ้นพรมแดนแห่งอัตตา และอาจจะไปถึงขนาดที่เราจะไม่มีตัณหา จะไม่ยึดติดกับการเป็นบุคคล ไม่มีความต้องการใดๆ ปล่อยวางไม่มีความอยากหรือปรารถนาใดๆ ... ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้กรอบแห่งกาลเวลาและสถานที่จะแปรเปลี่ยนไป อาจจะถึงขั้นที่ว่างเปล่าจากการรับรู้เรื่องกาลเวลาและสถานที่ ก็คือประสบการณ์ที่หยั่งถึงความเป็นสากลและความเป็นนิรันดร...(หน้า 92)" ข้อถกเถียงในแนวคิดนี้ของอดัม ดูเชิงอรรถที่ 16 ประกอบ
(38) คอร์เนล เวสต์ (Cornel West) ได้กล่าวประโยคทองนี้ไว้ในภาพยนต์ "Matrix Reloaded". อ้างใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, (2546). บทสัมภาษณ์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง "The Matrix". วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 . คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: หน้า 10.
(39) อัตลักษณ์ที่ถูกพยายามสร้างขึ้นใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองมีปัญหาอะไรบ้าง...ดูรายละเอียดใน Rozanna Lilley, "Afterword : Wethnicity" and anthropology" in Gehan Wijeyewardene (ed.) Ethnic Groups across National Boundaries in Mainland Southeast Asia (Singapore : Institute of Southeast Asian Studies, 1990), pp.173-184. อ้างใน นิติ ภวัครพันธุ์ , "บางครั้งเป็นคนไทย บางครั้งไม่ใช่" อัตลักษณ์แห่งตัวตนที่ผันแปรได้. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 20 ฉ. 3 2541. หน้า 236.
(40) ธเนศ วงศ์ยานนาวา,
(2546). เรื่องเดียวกัน. น. 162-3.
(41) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 157.
(42) นิธิ เอียวศรีวงศ์, (2546).นอกรั้วโรงเรียน. มูลนิธิเด็ก.เรือนแก้วการพิมพ์.กรุงเทพฯ:
หน้า 151.
(43) นิธิ เอียวศรีวงศ์, (2546).นอกรั้วโรงเรียน. มูลนิธิเด็ก.เรือนแก้วการพิมพ์.กรุงเทพฯ:
หน้า 152.
(44) ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, (2525) .200 ปีของการศึกษาไทย, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, กระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ: หน้า 13.
(45) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). ชาติพันธุ์วรรณาในความเป็นซับเจคของนักมานุษยวิทยา: "จริยธรรม" ระหว่างการหาความจริงและการสร้างความจริง . รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉ.3 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : น. 160.
(46) ดูการอธิบายเรื่องนี้ที่ค่อนข้างซับซ้อนใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). องค์รวม: องค์ขาด: องค์อนันต์. ศึกษาศาสตร์สาร. ปีที่ 30 ฉบับที่ 2. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. โรงพิมพ์นันทพันธ์. เชียงใหม่: หน้า 84-85.
(47) Jean-Francois Lyotard, J.F. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge, trans. Geoff Bennington and Brian Massumi, Minneapolis; University of Minnesota Press, 1999. p. 81. การอธิบายเกี่ยวกับ "หลังสมัยใหม่" หรือ postmodern ดู มารค ตามไท, สี่ท่าทีที่มีต่อความจริง: รากฐานปรัชญาหลังสมัยใหม่. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บทความถอดเทปคำบรรยาย ณ ห้องประชุมปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / 200640, มารค ตามไท, ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ Post-modernism. ร่มพฤกษ์ ปีที่ 15 เล่มที่ 2 ตุลาคม 2539- มกราคม 2540. ศูนย์วิจัยและผลิตตำรามหาวิทยาลัยเกริก กรุงเทพฯ, บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่. วารสารร่มพฤกษ์ ปีที่ 15 เล่มที่ 2, 2540.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถโดยกองบรรณาธิการ
(ต่อ)
(D) คำนี้พบได้ใน Archaeology
of Knowledge ของฟูโก มีลักษณะของ literally excavates elements of SUBJUGATED
KNOWLEDGE, knowledge which has no place or which has been confined (in the
clinic or the prison) by dominant and standard forms of knowledge sanctioned
by the established history of ideas.
(E) Poiesis means "to make" in ancient Greek. (creation, from poiein, to make) This word, the root of our modern "poetry", was first a verb, an action that transforms and continues the world. Neither technical production nor creation in the romantic sense, poietic work reconciles thought with matter and time, and man with the world.
Martin Heidegger refers to it as a 'bringing-forth', using this term in its widest sense. He explained poiesis as the blooming of the blossom, the coming-out of a butterfly from a cocoon, the plummeting of a waterfall when the snow begins to melt. The last two analogies underline Heidegger's example of a threshold occasion: a moment of ecstasis when something moves away from its standing as one thing to become another.
คลิกกลับไปทบทวนบทความนี้ตอนที่ ๑
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com