โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 01 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๑๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 01, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

กรณีของประเทศออสเตรเลีย การุณยฆาต กลายเป็นธุรกิจที่น่าสะพรึงกลัว นายแพทย์ Phillip Nitschke ผู้รณรงค์ให้ การุณยฆาต กระทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คิดวิธีการุณยฆาต เอาไว้ให้เป็นทางเลือก เช่น โปรแกรมสำเร็จรูป death-by-laptop ประกอบด้วย สายยางต่อกับเข็มฉีดยาที่บรรจุยาระงับความรู้สึก เช่น Barbiturate ที่ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำงานพร้อมกับโปรแกรมที่บรรจุใน Laptop เมื่อผู้ป่วยตอบคำถาม ครบ 3 คำถาม ที่ปรากฎบนจอ การทำงานของโปรแกรมจะเริ่มต้นทันที คำถามที่สร้างไว้ ในโปรแกรมคือ ...
01-08-2550

Euthanasia
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

วาระสุดท้ายแห่งชีวิตและสิทธิการตาย
Euthanasia : สิทธิการตายอย่างสงบที่ยังเป็นข้อถกเถียง
อมรา สุนทรธาดา (1) หทัยรัตน์ เสียงดัง (2)
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความเกี่ยวกับสิทธิการตายชิ้นนี้ กองบรรณาธิการหยิบยืมมาจาก
งานของนักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งต้นฉบับได้เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ ของสถาบันดังกล่าว ที่
http://www.ipsr.mahidol.ac.th/content/home/ConferenceII/Article/Article14.htm
โดยมีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้
- กระบวนทัศน์การุณยฆาต ในวัฒนธรรมตะวันตก
- Death-by-Laptop โปรแกรมการตายด้วยแล็บท๊อป
- การทำการุณยฆาตส่วนใหญ่โดยผู้ชาย
- การุณยฆาตตามหลักศาสนา : การเชื่อมโยงและการเห็นต่าง
- ข้อโต้แย้งในสังคมไทย สิทธิที่จะตายคืออะไร?
- การุณยฆาต : ทางเลือกเพื่อความมั่นคงของมนุษยชาติหรือไม่
สำหรับบนเว็บเพจนี้ ได้เพิ่มเติมในส่วนของหมายเหตุโดยกองบรรณาธิการ

เพื่ออธิบายคำศัพท์ทางเทคนิค สำหรับผู้ที่อยู่นอกขอบเขตความรู้สาขาวิชาดังกล่าว
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๑๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระสุดท้ายแห่งชีวิตและสิทธิการตาย
Euthanasia : สิทธิการตายอย่างสงบที่ยังเป็นข้อถกเถียง
อมรา สุนทรธาดา (1) หทัยรัตน์ เสียงดัง (2)
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนว่าจะไม่ให้คำแนะนำหรือการรักษาใดๆ
อันเป็นการทำลายชีวิตผู้ป่วยแม้ร้องขอ

Hippocratic Oath

บทนำ
ปรากฏการณ์ "การุณยฆาต"(Euthanasia) เป็นเรื่องใหม่และยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศในวัฒนธรรมตะวันตก เช่น เนเธอร์แลนด์ (3), เบลเยี่ยม, ออสเตรเลีย, และอังกฤษ เป็นต้น ความคิดเห็นหลากขั้วเกี่ยวกับการจัดการชีวิต สำหรับผู้ป่วยที่หมดหนทางเยียวยาให้หายจากการเจ็บป่วย และมีคุณภาพชีวิตเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี ล้วนมีเหตุผลที่รับฟังได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางการแพทย์ ศาสนา สังคม และความชอบธรรมทางกฎหมาย

บทความนี้เป็นการนำเสนอความคิดเห็นต่อสภาวะที่มนุษย์เผชิญกับวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ด้วยพยาธิสภาพที่สิ้นหวังและเกินกว่าจะเยียวยาและมีคุณภาพชีวิตในภาวะปกติแล้ว มนุษย์มีสิทธิที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน โดยเลือกที่จะตายได้ด้วยเงื่อนไขอะไรได้บ้าง

กระบวนทัศน์การุณยฆาต ในวัฒนธรรมตะวันตก
การุณยฆาต หรือ Euthanasia เป็นภาษากรีก ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ eu หมายถึง good และ thanatos หมายถึง death แปลรวมความว่า ตายดี ตายสงบ (4) สำหรับแนวคิดตะวันตกสำหรับ การุณยฆาต มีข้อพิจารณา 3 ประการ คือ (5)

1. เมื่ออยู่ในภาวะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส
2. สิทธิส่วนบุคคลที่จะยุติชีวิตลง
3. บุคคลไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไร้การรับรู้ทางสมอง

ถ้าหากพิจารณาทั้ง 3 เงื่อนไขในเชิงลึกแต่ละกรณีแล้ว จะเห็นว่า กรณีแรกที่บุคคลอยู่ในภาวะที่เจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพที่มีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้มีลมหายใจ หรือไม่รับรู้ความเจ็บป่วยด้วยการใช้ยาระงับความเจ็บปวดทรมาน ข้อโต้แย้งก็คือ เราจะใช้เทคโนโลยีเอาชนะความเจ็บปวดทรมานได้มากน้อยเพียงไรและนานเพียงใด ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง

เราจะแยกแยะระหว่าง "ความเจ็บปวดทรมานที่บุคคลหนึ่งกำลังเผชิญอยู่และต้องการหลุดพ้น โดยที่ไม่กดดันทางอารมณ์ หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้า ทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมาพบสภาพที่เจ็บปวดทรมานและเลือกที่จะตายในแต่ละวัน" กับ "ความเห็นทางการแพทย์ที่วินิจฉัยว่าบุคคลนั้นๆ ยังมีโอกาสที่จะเยียวยาและมีชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง" ได้อย่างไร

ความเห็นประการที่ 2 ที่ว่าบุคคลควรมีสิทธิที่จะยุติชีวิตในสภาวะที่พร้อมและสมัครใจ ต่อกรณีนี้ "สิทธิที่จะตาย" ต้องไม่ถูกหยิบยื่นให้กับผู้อื่น นอกจากผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตจะร้องขอเท่านั้น เงื่อนไขนี้จะมีช่องว่างทันทีหากผู้ที่หยิบยื่นความตายให้บุคคลอื่นใช้ดุลยพินิจส่วนตัวตัดสินว่า บุคคลนั้นๆ หมดหนทางที่จะเยียวยาได้จากสภาพทนทุกข์ทรมาน เพราะเป็นการล่อแหลมต่อการใช้ "การุณยฆาต" ฟุ่มเฟือยเกินไป

"การุณยฆาต" ในแนวคิดที่ 3 ที่ว่า ผู้ป่วยไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไร้การรับรู้ทางสมอง การยืดชีวิตไว้ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยหรือไม่ เราจะมีทางเลือกอย่างไรบ้าง. สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะ "ฟื้นไม่ได้ ตายไม่ลง" (6) จะถือว่าเป็นการยืดชีวิตโดยที่ผู้ป่วยไม่ปรารถนาจะทนกับภาวะทรมานนั้นอีกต่อไปหรือไม่ (ทั้งที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และไร้การรับรู้) ทางออกที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ การให้สิทธิผู้ป่วยวาระสุดท้าย อยู่ในสภาพที่พร้อมตายอย่างมีศักดิ์ศรี สงบ และมีสติ โดยมีคนรักรอบข้างที่ยอมรับการจากไปอย่างมีสติและเห็นความตายเป็นธรรมชาติ แนวคิดในซีกวัฒนธรรมตะวันตกเช่นนี้เป็นที่มาของการจัดหาสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (7) (hospiceหรือ in-home hospice) (a) ให้เตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรี และตายอย่างมีสติ ปราศจากการยืดชีวิตไว้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

การุณยฆาตที่ได้รับอนุญาตในประเทศตะวันตก
การุณยฆาตถูกนำไปปฎิบัติอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ อาทิ

- รัฐบาลเบลเยี่ยม ประกาศออกกฎหมาย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 กันยายน 2545 อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่ และให้มีผลบังคับใช้กับผู้ป่วยเด็กในอีก 2 ปีต่อมา แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่า แพทย์จะมีสิทธิ์กระทำการุณยฆาตทารกที่มีอาการสมองตายได้หรือไม่. ในปี พ.ศ. 2548 มีกฎหมายรองรับให้เภสัชกรและแพทย์สามารถจำหน่ายและใช้อุปกรณ์การทำการุณยฆาตได้ "การุณยฆาตสำเร็จรูป" ดังกล่าว ซื้อขายกันในสนนราคาประมาณ 2,000 บาท ประกอบด้วย ยากล่อมประสาท เช่น Barbiturate และยาประเภทดมให้หมดสติ เป็นต้น

- ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ กฎหมายเปิดช่องให้พิจารณาได้ว่า แพทย์สามารถกระทำการุณยฆาตได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าไม่มีมูลเหตุที่ "จงใจทำให้ผู้อื่นตาย"

- ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกกฎหมายรองรับ การุณยฆาต ตั้งแต่ปี 2539 และพบว่าสถิติการตายประมาณ 9.1% ของการตายทั้งหมดต่อปี เกิดจาก การุณยฆาต (2,300 ราย สมัครใจตาย และ 400 ราย ตายเพราะแพทย์ลงมือเอง และ 1,040 ราย ถูกการุณยฆาตโดยผู้ป่วยไม่มีส่วนรับรู้หรือให้ความยินยอม) นอกจากนี้กฎหมายยังเปิดกว้างให้ผู้ป่วยอายุ 12-16 ปี มีสิทธิร้องขอการุณยฆาต ได้ โดยพ่อแม่หรือญาติให้คำยินยอม (8)

- ในประเทศออสเตรเลีย เฉพาะ Northern Territory เท่านั้น ที่มีกฎหมายรองรับให้แพทย์สามารถกระทำ การุณยฆาต ได้ ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยเองและญาติผู้ป่วยร้องขอ (passive euthanasia) หรือกรณีที่แพทย์มีส่วนช่วยเหลือในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อปลิดชีพตามความต้องการของผู้ป่วย และกระทำด้วย "น้ำมือ" ของผู้ป่วยเอง (active euthanasia) แต่ภายหลังที่มีเหตุการณ์ผู้ป่วย 4 ราย ปลิดชีพตนเองด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งโดยแพทย์ (passive euthanasia) รัฐบาลกลางจึงได้สั่งยกเลิกกฎหมายทันทีในปี พ.ศ. 2540

Death-by-Laptop & Internet
โปรแกรมการตายด้วยแล็บท๊อปและอินเตอร์เน็ต
กรณีของประเทศออสเตรเลีย การุณยฆาต กลายเป็นธุรกิจที่น่าสะพรึงกลัว นายแพทย์ Phillip Nitschke ผู้รณรงค์ให้ การุณยฆาต กระทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คิดวิธีการุณยฆาต เอาไว้ให้เป็นทางเลือก เช่น โปรแกรมสำเร็จรูป death-by-laptop ประกอบด้วย สายยางต่อกับเข็มฉีดยาที่บรรจุยาระงับความรู้สึก เช่น Barbiturate ที่ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำงานพร้อมกับโปรแกรมที่บรรจุใน Laptop เมื่อผู้ป่วยตอบคำถาม ครบ 3 คำถาม ที่ปรากฎบนจอ การทำงานของโปรแกรมจะเริ่มต้นทันที คำถามที่สร้างไว้ ในโปรแกรม คือ

1. ท่านต้องการเดินเครื่องฉีดสารพิษเพื่อตาย กดปุ่ม "ใช่"
2. ท่านพร้อมที่จะตาย กดปุ่ม "ใช่"
3. ท่านต้องการให้ฉีดสารพิษเข้าเส้นเลือดภายใน 15 วินาที กดปุ่ม "ใช่"

ด้วยวิธีดังกล่าว นายแพทย์ Phillip สรุปว่า แพทย์ไม่ได้ลงมือฆ่าผู้ป่วย แต่เป็นการตายที่ผู้ป่วยตัดสินใจเอง นายแพทย์ Phillip ไม่หยุดยั้งความคิดของเขาเพียงเท่านั้น เขาได้พัฒนาโปรแกรมการุณยฆาต ที่ผู้ป่วยสั่งได้ผ่าน Internet เพื่อให้การุณยฆาต ทำได้เร็วยิ่งขึ้นและไม่ต้องมีผู้เกี่ยวข้องมาก สนนราคาอยู่ที่ 2,500 บาท นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีก เช่น หน้ากากบรรจุคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นวิธีง่ายกว่าการใช้เข็มฉีดสารพิษเข้าเส้นเลือดดำ และเหมาะสำหรับผู้ป่วยอายุมากๆ ไม่มีใครหยุดยั้งการคิดวิธี การุณยฆาต ของนายแพทย์ Phillip ได้ เครื่องมือตัวใหม่ถูกเผยแพร่ใน Internet มากขึ้น แม้แต่วิธีการสำหรับให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงโดยผ่าน Internet ในปี 2547 นายแพทย์ Phillip คิดค้น "ยาเพื่อเป็นนิรันดร์" ในราคา 5,000 บาท สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นพร้อมหยิบออกมาใช้เมื่ออยากตาย

การทำการุณยฆาตส่วนใหญ่โดยผู้ชาย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ บุคลากรทางการแพทย์ที่หยิบยื่น "การุณยฆาต" ให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ตัวอย่างกรณีของบุรุษพยาบาลวัย 27 (9) ในสหรัฐอเมริกา ทำสถิติ "การุณยฆาต" ผู้ป่วยรวม 29 ราย เขาถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่รออุทธรณ์ ซึ่งญาติผู้ตายไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรม ตัวเขาเองคัดค้านการตัดสินของศาล และคิดว่าตนทำหน้าที่การเป็นบรุษพยาบาลได้อย่างดีที่สุดแล้ว. ขณะศาลอ่านคำพิพากษา เขาตะโกนด่าทอผู้พิพากษาตลอดเวลา จนเจ้าหน้าที่ต้องเอาแผ่นพลาสเตอร์ปิดปากเขาไว้

นายแพทย์ Jack Devorkian จากมิชิแกนทำการุณยฆาตรวม 40 ราย เขาถูกถอนใบอนุญาตวิชาชีพและถูกตัดสินว่าไม่ได้ทำผิด. ในประเทศอังกฤษนายแพทย์ Harold Shipman สังหารผู้ป่วยวาระสุดท้ายรวมถึง 215 ราย (10) ญาติผู้ป่วยร้องเรียนศาลให้พิจารณาคดีเอาผิดเขาให้ถึงที่สุด เพราะลงความเห็นว่า เขาฆ่าผู้ป่วยด้วยความเคยชินมากกว่าจะเป็น "การุณยฆาต"

การุณยฆาตตามหลักศาสนา : การเชื่อมโยงและการเห็นต่าง
กระบวนทัศน์แนวพุทธ : พุทธปรัชญาเน้นการสอนให้มองทุกอย่างทางโลกเป็นความจริง เพราะทุกสิ่งล้วนเป็น อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา เปลี่ยนแปลง ไม่คงทน และไม่มีตัวตนให้ติดยึด, ทุกข์ สุข เป็น ของคู่กัน หมุนเวียนกันเข้ามาในชีวิต ชีวิตและความตายเชิงพุทธปรัชญาถือว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ให้เผชิญกับความตายอย่างไม่หวั่นไหวและยอมรับสภาพ คือ การเตรียมตัวตายอย่างมีสตินั่นเอง

ภาวะการตายคือ การละสังขาร สิทธิที่จะ "ถูกฆ่าให้ตาย" หรือ "สิทธิที่จะฆ่าตัวตาย" (จะด้วยมีผู้อื่นช่วยเหลือหรือไม่ก็ตาม) เป็นการละเมิดวัฒนธรรมว่าด้วยชีวิตตามกฎแห่งธรรมชาติของคนไทยหรือไม่ เพราะพุทธศาสนาให้ความสำคัญการละสังขาร คือ การตายอย่างสงบ อย่างมีสติ ดังที่ ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเราฝืนความตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็เสมือนว่า เรายอมรับ "ตายดี - ตายเป็น" ให้เป็น "ตายลำบาก - ตายทรมาน - ตายโหง" (11)

กระบวนทัศน์แนวคริสต์ : ศาสนาคริสต์ เน้นแนวคิดเรื่องชีวิต 2 ระดับ คือ ระดับดิน (กายภาพ - ชีวภาพ) และระดับลมหายใจ (12) คริสตศาสนิกชนเชื่อว่า ชีวิตมิได้สิ้นสภาพเพราะสภาวะธรรมชาติ (เกิด พัฒนา ชรา ป่วยไข้ และสิ้นสุด) แต่ชีวิตมีสภาวะนิรันดร์ หมายถึงเมื่อมนุษย์สิ้นสุดสภาวะทางกายที่เป็นธรรมชาติก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ "จิตวิญญาน" คือการได้ใกล้ชิดกับพระเจ้า คริสตศาสนิกชนจึงฝังศพเพื่อคืนร่างสู่ดิน ในฐานะที่มาแห่งชีวิต และส่งผ่าน "จิตวิญญาน" สู่พระเจ้า. ความเชื่อในจุดเปลี่ยนผ่านจากชีวิตกายสู่ชีวิตจิตวิญญาน มีพลังต่อวิธีคิดของการมองชีวิต และให้คุณค่าชีวิตต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตามนัยแห่งคริสต์ ซึ่งถ้าเชื่อมโยงกับการุณยฆาต ก็จะมีข้อถกเถียงว่าใครควรมีสิทธิ์จะเป็นผู้หยิบยื่นการเปลียนผ่านแห่งชีวิต

กระบวนทัศน์แนวอิสลาม : ความเชื่อของศาสนาอิสลามในเรื่องกำเนิดและการสิ้นสุดชีวิต กล่าวไว้ว่า ความตายตามบัญญัติศาสนาจะยังไม่เกิดขึ้นจริงจนกว่าวิญญาณจะออกจากร่างกาย และสิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายหยุดทำงาน. สิ่งที่แสดงว่า ชีวิตสิ้นสุดแล้วนั้นถือตามเงื่อนไขว่า ให้ใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ของความตายที่ผู้คนรู้จัก หรืออาศัยการตรวจภายนอกโดยคณะแพทย์. ในกรณีที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่จะใช้แยก คนเป็น ออกจาก คนตาย ได้ (13) แนวคิดที่พิจารณาอาการสมองตายมาเป็นหลักตามศาสนา มีข้อร่วมพิจารณา 2 ประการ คือ คณะแพทย์ลงความเห็นว่าก้านสมองตายทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นคนตาย โดยมีข้อพิจารณาย่อยๆ อีก 5 เงื่อนไข (14) คือ

- หมดความรู้สึกอย่างสมบูรณ์ โดยไม่อาจหายจากอาการหมดความรู้สึกนั้นได้อีกต่อไป
- ประสบอุบัติเหตุ เลือดตกในสมอง สมองบวม
- ไม่สามารถหายใจได้เอง ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ
- หมดความรู้สึกโดยไม่ได้เกิดจากสิ่งมึนเมา ยาเสพติด ดื่มยาพิษ อาการไตวาย
- ไม่มีอาการตอบสนองจากก้านสมอง รวมทั้งการวัดคลื่นสมอง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีคลื่นใดๆ และ ไม่มีการหมุนเวียนโลหิตในสมอง ด้วยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์เส้นเลือดสมอง

ดังนั้น ศาสนาอิสลามใช้เกณฑ์ที่ว่าผู้ป่วยที่สมองตาย เป็นคนตายแล้วตามบัญญัติศาสนา ไม่ว่าจะยังหายใจได้โดยเครื่องช่วยหายใจ หรือเซลล์บางตัวในร่างกายยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม

ข้อโต้แย้งในสังคมไทย สิทธิที่จะตายคืออะไร ?
การตื่นตัวเรื่องสิทธิการตายในสังคมไทย กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น หากนับจากความพยายามที่จะผลักดันพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ปัจจุบันมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มพุทธิกา ที่ประกอบด้วยสมาชิกจากหลากกลุ่มอาชีพที่สนใจการดูแลผู้ป่วยวาระสุดท้ายในมิติ กาย-จิต-สังคม มากขึ้น และเห็นว่าการแพทย์แบบประคับประคอง (palliative care) (b) ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเผชิญกับการเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด เป็นสิ่งที่การแพทย์สมัยใหม่ควรศึกษาอย่างรอบคอบ

ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ - ว่าด้วยสิทธิการตาย
- มาตรา 24 ระบุไว้ว่า
"บุคคล มีสิทธิแสดงความจำนงเกี่ยวกับวิธีการรักษาพยาบาล หรือปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อการยืดชีวิตในวาระสุดท้ายในชีวิตของตนเอง เพื่อการตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" โดยมีคำชี้แจงว่าเพื่อให้บุคคลมีสิทธิเลือกตายอย่างสงบ และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในบั้นปลายของชีวิต โดยไม่ยืดชีวิต หรือถูกแทรกแซงการตายเกินความจำเป็น และเพื่อไม่ให้เป็นภาระทุกๆ ด้าน โดยให้มีสิทธิแสดงความจำนงล่วงหน้า (15) (Living will) ในร่างพ.ร.บ. นี้ ไม่ได้กล่าวถึงการให้แพทย์มีสิทธิ์ฆ่าผู้ป่วยด้วยความสงสาร (การุณยฆาต) และไม่ได้กล่าวถึงการให้แพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตายด้วยการจัดหาอุปกรณ์ปลิดชีพให้ผู้ป่วย

- มาตรา 10 ระบุไว้ว่า
'บุคคล มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน' มาตรฐานในการวินิจฉัย ภาวะสมองตายของแพทยสภา (16) มีดังนี้

1. กระทำด้วยคณะแพทย์ ไม่น้อยกว่า 3 คน คือ แพทย์เจ้าของผู้ป่วย และแพทย์สาขาประสาทวิทยา
หรือแพทย์สาขาประสาทศัลยแพทย์ (ถ้ามี)

2. ต้องไม่ประกอบด้วยแพทย์ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะรายนั้น

3. ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
จะต้องร่วมเป็นผู้รับรองการวินิจฉัยสมองตายเป็นผู้รับรองการตาย

การุณยฆาต : ทางเลือกเพื่อความมั่นคงของมนุษยชาติหรือไม่
ถ้าเรามองความตายเป็นเรื่องกฎธรรมชาติ เกิดหนเดียว ตายหนเดียว ก็ดูเหมือนว่า"การุณยฆาต"เป็นเรื่องเข้าใจง่ายขึ้น แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่ายอย่างที่คิด ตราบใดที่การให้คุณค่าของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ต่างกัน ถ้าหากเราลั่นกระสุนใส่ม้าแข่งที่พลาดท่าประสบอุบัติเหตุขาหักในการแข่งขัน มนุษย์ไม่รู้สึกผิดอะไร แต่กลับคิดว่าช่วยให้ม้าแข่งตายโดยไม่เจ็บปวดทรมาน แต่สำหรับชีวิตมนุษย์ เราพอใจที่จะมองต่างมุมว่าผู้ป่วยวาระสุดท้ายอาจมีโอกาสรอดชีวิตได้ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ซับซ้อนและราคาสูง เรามักจะคิดว่าต้องช่วยคนที่เรารักให้ถึงที่สุด แม้ว่าการยืดชีวิตออกไปอีกช่วงระยะเวลาสั้นๆ ให้ความรู้สึกที่ดีและเป็นการได้ทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้กับบุคคลที่เราไม่อยากให้จากไป

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ"การุณยฆาต"ในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น ชีวิตมนุษย์ถูกเทียบค่าเป็นตัวเงิน ถ้าเราจะต้องดูแลผู้ป่วยที่มีสภาพที่เรียกว่า "ผักถาวร" (persistent vegetative state) คือ มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการให้อาหารและน้ำผ่านเครื่องช่วย ถ้าดึงสายเครื่องช่วยออกผู้ป่วยก็จะตาย ในแง่นี้ มีความคิดเห็นแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

- เมื่อผู้ป่วยหมดหนทางรักษาให้หายจะมีประโยชน์ประการใดที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มีต้นทุนสูง ในขณะที่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากรอความช่วยเหลือ และมีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่า โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะเบียดแทรกเข้ามาในกระบวนการรักษาพยาบาล ถ้าด้วยเหตุผลนี้เรากำลังแลกชีวิตกับชีวิตใช่หรือไม่

- ในอีกมุมมองหนึ่ง เรามองเห็นประโยชน์ในทางการแพทย์สมัยใหม่หรือไม่ว่า ผู้มีวิชาชีพแพทย์มีโอกาสทดลองวิธีการ เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ แต่เมื่อสุดความสามารถแล้ว ผู้มีวิชาชีพแพทย์ก็พร้อมที่จะเป็น "ยมฑูตชุดขาว" สิ่งที่ท้าทายเราอยู่คือการแยกแยะระหว่างวิทยาศาตร์และจริยศาสตร์. เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่โน้มน้าวให้เราต้องการยืดชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ ด้วยวิธีการให้อาหาร ให้ลมหายใจ และรักษาระบบการหมุนเวียนของโลหิตให้ทำงาน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ในสภาพที่เรียกว่า 'จะตายก็ไม่ตาย จะเป็นก็ไม่เป็น' (17) มีชีวิตได้อีกหลายเดือน หรือนานนับปี โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เพียงเพื่อให้ญาติผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าไม่ได้นิ่งดูดาย ปล่อยให้ผู้ป่วยตาย

ในสภาพการณ์เช่นนี้ ชวนให้คิดได้ว่า การยืดชีวิตคนตายเอาไว้ด้วย "พันธนาการทางการแพทย์" เป็นการเสียทรัพย์ เสียเวลา เสียเตียงคนไข้ของโรงพยาบาล (18) ที่ยังมีผู้ป่วยรายอื่นๆ มีสิทธิที่จะใช้ได้หรือไม่ ถ้ามองในแง่ของความมั่นคงแห่งมนุษยชาติ เราจะแปลเจตนาตรงนี้อย่างไร จะกล่าวได้ไหมว่า คนที่ตายแล้ว (ยังอยู่ได้เพราะมีเครื่องช่วยชีวิต) ก็ต้องเป็นคนตาย และควรหยิบยื่นโอกาสและทรัพยากรให้กับผู้ที่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า จะถือเป็นกระบวนการความมั่นคงของมนุษยชาติได้หรือไม่

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ตรงจากการใกล้ชิดกับผู้ป่วย 2 ราย ที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากและเอดส์ ในกรณีวาระสุดท้ายของชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ ภรรยาเป็นผู้ขอร้องแพทย์ให้ดึงเครื่องช่วยหายใจออก เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องทรมานอีกต่อไป หลังจากที่เวียนเข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง รวมทั้งการดูแลรักษาอย่างดีที่บ้าน โดยมีถังอ๊อกซิเจนวางไว้ข้างเตียงผู้ป่วยตลอดเวลา เมื่อผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับภรรยา ได้รับคำตอบว่า ในช่วงที่ผู้ป่วยอาการไม่ทรุดหนัก ผู้ป่วยสนใจดูแลรักษาตนเองดีมาก มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ในระยะหลังที่มีอาการรู้สึกตัวบ้างเป็นบางครั้ง และต้องนอนอยู่โรงพยาบาลจนสิ้นอายุนั้น ภรรยาดูแลใกล้ชิดมาก และลังเลอยู่นานที่จะบอกแพทย์ให้หยุดการรักษาด้วยเหตุผลว่า "เขาเป็นคนรักตัวเองมาก ไม่อยากตาย ดูแลตนเองดี เลือกวิธีรักษาที่ดีที่สุด ที่แพงที่สุด เท่าที่จะได้รับคำแนะนำจากคนรู้จัก เขาคงไม่อยากตายจริงๆ"

กรณีที่สอง ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มีระยะเวลารักษาตัวระยะสุดท้ายสั้นมาก ประมาณ 1 เดือน ผู้ป่วยมีสติดีมาก และกล้าเผชิญกับความตายอย่างสงบและมีสติ ในระยะก่อนสิ้นใจ ผู้ป่วยมีอาการทุรนทุรายมาก ขอผ้าชุบน้ำเช็ดตัวตลอดเวลา และบ่นว่าร้อนมาก หายใจหอบและเหนื่อย เนื่องจากมีอาการน้ำท่วมปอด ระยะสุดท้ายผู้ป่วยรู้สึกตัวบ้างในบางเวลา แต่สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้ชัดเจนคือ ผู้ป่วยพยายามดึงสายยางเครื่องช่วยหายใจออกอยู่ตลอดเวลา จนญาติต้องขอร้องให้พยาบาลมัดแขนมัดมือเอาไว้กับขอบเตียง เพราะคิดว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สติ แต่ผู้เขียนกลับคิดว่า ผู้ป่วยคงอยากพ้นสภาพความทรมานจากการเจ็บปวด มากกว่าเหตุผลอื่นใด

จากกรณีตัวอย่างผู้ป่วยสองรายนี้ สิ่งที่เราน่าพิจารณาก็คือ ชีวิตและความตายเป็นของใคร ใครเป็นผู้กำหนดว่าจะตายเมื่อไร อย่างไร ให้สมกับความเป็นมนุษย์ กรณีศึกษารายแรก รักชีวิตไม่อยากตาย ในขณะที่ผู้ป่วยรายที่สองพร้อมที่จะตายอย่างสงบและทรมานน้อยที่สุด

บทสรุป
ถ้าเราจะประมวลแนวคิดหลักว่าด้วยวาระสุดท้ายแห่งชีวิตและสิทธิการตาย รวม 3 มิติ (19) คือ

- มิติด้านชีวการแพทย์ ซึ่งให้ความสำคัญกับกลไกการทำงานทางกายภาพเป็นหลัก แยกความตายและร่างกายออกจากกัน

- มิติด้านกาย-จิต-สังคม
ให้ความสำคัญด้านจิตใจ ครอบครัว ให้โอกาสผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาด้วย โดยมีมาตรการทางการแพทย์ให้การช่วยเหลือ เพื่อจัดการกับความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และ

- มิติด้านจิตวิญญาน
ให้ความสำคัญว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนถาวร และความตายไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

เมื่อร้อยเรียงมิติการมองชีวิตและความตายดังกล่าวแล้ว สังคมไทยอาจมีแนวทางปฏิบัติเรื่องวาระสุดท้ายแห่งชีวิตและสิทธิการตายได้ตรง และสอดคล้องกับกระบวนการและหลักประกันความมั่นคงแห่งมนุษยชาติได้อย่างลงตัว ไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์และจริยศาสตร์เหมือนสังคมตะวันตก. คนไทยจะเตรียมตัวอย่างไรที่จะมองชีวิตและการสิ้นสุดชีวิต ให้แนบเนียนกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา ให้พิจารณาทุกอย่างเป็นอนิจจัง การเลือกที่จะตายเมื่อเผชิญกับภาวะสุดท้ายแห่งชีวิต ควรถือหลักปัจจัยเหตุประการใดบ้างที่ทำให้คนที่จากไปก็สงบและมีศักดิ์ศรี ในขณะที่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่รู้สึกสูญเสียสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ"สิ้นสุดภาระ"ที่จะดูแล เพราะความรู้สึกทั้งสองประการนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และมีนัยต่อการยอมรับ "การุณยฆาต" ในสังคมไทยอย่างยิ่ง

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) รองศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
(2) เจ้าหน้าที่วิชาการประจำโครงการสุขภาพคนไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

(3) รัฐสภาประเทศเนเธอร์แลนด์ประกาศรับรองกฎหมาย มาตรา 41 เมื่อ วันที่ 10 เมษายน 2544 ว่าด้วยการให้สิทธิผู้ป่วยขอปลิดชีพได้ ตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย โดยแพทย์ไม่มีความผิด (สืบค้นจาก http://www.euthanasia.com/page4.html 11 กุมภาพันธ์ 2549)
(4) สืบค้นจาก http://www.buddhism.siamindustry.com/index2.html วันที่ 10 เมษายน 2549
(5) The World Medical Association มีสมาชิก 82 ประเทศ ที่ร่วมออกโรงคัดค้านการทำ การุณยฆาต (Mercy Killing)

(6) การุณยฆาต ปัจจุบันใช้กันอยู่ 2 ความหมาย คือ แพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยจัดการปลิดชีพด้วยตนเองตามการร้องขอ (active euthanasia) ด้วยการเตรียมอุปกรณ์ให้ เช่น เข็มฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือด หน้ากากรมยา หรือการให้ยาในปริมาณเกินมาตรฐาน (overdose) ผ่านสายน้ำเกลือ เป็นต้น. การุณยฆาต อีกประเภทหนึ่งคือ การที่แพทย์ทำให้ผู้ป่วยตายด้วยการถอดอุปกรณ์ช่วยเหลือการหายใจ โดยได้รับการยินยอมจากผู้ป่วย ญาติ หรือพยาน รับรู้ตามข้อกฎหมาย (passive euthanasia) (สืบค้นจาก http://www.nswrtl.org.au/latestreleases/100730.html วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549)
อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า การุณยฆาต ในความหมายที่ถูกต้องควรจะมีขอบเขตอย่างไร นักวิชาการบางกลุ่มคัดค้าน passive euthanasia และไม่ถือว่าเป็นการุณยฆาต เพราะผู้ป่วยไม่ได้ร้องขอความตายด้วยตนเอง

(7) รายละเอียดเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง 'ชีวิตแลกชีวิต' ของนายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
วันที่ 1 ตุลาคม 2548
(8) แนวคิดการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการจัดสถานที่ดูแล เริ่มในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2510 โดย Dame Cicely Saunders เป็นผู้ก่อตั้งในสหรัฐอเมริกา จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2517
(9) สืบค้นจาก http://www.euthanasia.com/page4.html วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549

(10) The New York Times หน้า 2 วันที่ 11 มีนาคม 2549
สืบค้นจาก http://www.news.bbc.co.uk/1/2135604.stm วันที่ 24 กันยายน 2548
(11) อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดใน นันทน อินทนนท์ 'สิทธิที่จะตาย' ใน ตายอย่างมีศักดิ์ศรี มาตรา 24 ร่าง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง 24 กันยายน 2545) สำนักงานปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ.
(12) สุวรรณา สถาอานันท์, 2539 'ชีวิตและความตายตามคติคริสตศาสนา' ใน มุมมองเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย. นายแพทย์ประสาน ต่างใจ บรรณาธิการวิชาการ ธนพรรณ สิทธิสุนทร บรรณาธิการเรื่อง. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์คบไฟ.

(13) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ. 2548. แนวคิดทางศาสนาอิสลามเกี่ยวกับการวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่. กรุงเทพ: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.
(14) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ. 2548. เพิ่งอ้าง.
(15) พินัยกรรมชีวิต (Living will) มีข้อโต้แย้งเชิงกฎหมาย เพราะ "พินัยกรรม" จะมีผลต่อเมื่อเจ้าของพินัยกรรมสิ้นชีวิตแล้วเท่านั้น

(16) อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการวินิจฉัยสมองตายได้จาก "มุมมองเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย" นายแพทย์ประสาน ต่างใจ บรรณาธิการวิชาการ ธนพรรณ สิทธิสุนทร บรรณาธิการเรื่อง, 2539 กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์คบไฟ.
(17) พระไพศาล วิสาโล 2545 'ความตาย ประตูสู่สภาวะใหม่' โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ และ พจน์ กริชไกรวรรณ. บรรณาธิการ. มิติสุขภาพ: กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ.

(18) จากการศืกษาต้นทุนต่อหน่วยบริการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ในปีงบประมาณ 2543 พบว่าต้นทุนบริการของผู้ป่วยใน เฉลี่ย 15,185.68 บาท ต่อราย และ 230,051.91 บาท ต่อราย สำหรับผู้ป่วยหนักและ ICU (ดาวฤกษ์ สินธุวนิช และคณะ อ้างใน ธนา นิลชัยโกวิทย์ และคณะ. 2546. รายงานผลการศึกษา : โครงการทบทวนกระบวนทัศน์เรื่องความตายและมิติแห่งสุขภาวะ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. ในสหรัฐอเมริกา ประมาณว่า ร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยทั้งประเทศเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะ 6 เดือนสุดท้ายของชีวิต (สืบค้นจาก http://www.budnet.info/notedead/notedead9.htm วันที่ 3 เมษายน 2549 )

(19) ธนา นิลชัยโกวิทย์ และคณะ 2546 "โครงการทบทวนกระทัศน์เรื่องความตายและมิติแห่งสุขภาพ" สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย
- โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่. 2548. แนวคิดทางศาสนาคริสต์นิกาย
คาทอลิกและโปรเตสแตนทเกี่ยวกับการวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพฯ: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.

- โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่. 2548. แนวคิดทางศาสนาอิสลามเกี่ยวกับ
การวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพฯ: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ.

- ธนา นิลชัยโกวิทย์ และคณะ. 2546. กระบวนทัศน์เรื่องความตายและมิติแห่งสุขภาวะ. รายงานวิจัยส่งสถาบัน
วิจัยระบบสาธารณสุข.

- นันทน อินทนนท์. 2545. 'สิทธิที่จะตาย' ใน ตายอย่างมีศักดิ์ศรี มาตรา 24 ร่าง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ.
กรุงเทพฯ สำนักงานปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ.

- พระไพศาล วิสาโล. 2545. 'ความตาย ประตูสู่สภาวะใหม่' ใน มิติสุขภาพ: กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคม
แห่งสุขภาวะ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,นงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ และ พจน์ กริชไกรวรรณ. บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 1 : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

- สันต์ หัตถีรัตน์ 'ชีวิตแลชีวิต' มติชนรายวัน วันที่ 1 ตุลาคม 2548.

- สุวรรณา สถาอานันท์. 2539. 'ชีวิตและความตายตามคติคริสตศาสนา' ใน มุมมองเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย
นายแพทย์ประสาน ต่างใจ บรรณาธิการวิชาการ ธนพรรณ สิทธิสุนทร บรรณาธิการเรื่อง. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คบไฟ.

ภาษาอังกฤษ
http://www.nswrtl.org.au/latestreleases/100730.html
http://www.euthanasia.com/page4.html
http://www.buddhism.siamindustry.com/index2.html
http://www.budnet.info/notedead/notedead9.htm
The New York Times หน้า 2 วันที่ 11 มีนาคม 2549

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ (อธิบายศัพท์)

(a) hospice
สำหรับคำนี้ มาจากรากคำในภาษาฝรั่งเศส ลาติน และอินโด-ยุโรปดังนี้ : French, from Old French, from Latin hospitium, hospitality, from hospes, hospit-, host; see ghos-ti- in Indo-European roots.] มี 2 ความหมายคือ

1. A shelter or lodging for travelers, pilgrims, foundlings, or the destitute,
especially one maintained by a monastic order.

2. A program that provides palliative care and attends to the emotional and
spiritual needs of terminally ill patients at an inpatient facility or at the patient's home.

(b) Palliative care (from Latin palliare, to cloak) is any form of medical care or treatment that concentrates on reducing the severity of the symptoms of a disease, or slow the disease's progress, rather than provide a cure. However, it may occasionally be used in conjunction with curative therapy, providing that the curative therapy will not cause additional morbidity. It aims at improving quality of life, by reducing or eliminating pain and other physical symptoms, enabling the patient to ease or resolve psychological and spiritual problems, and supporting the partner and family.

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com