บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
วาทกรรมความเป็นวีรบุรุษและปัญหาของของการลงประชามติ
จากความเป็นวีรบุรุษของ
คมช. ถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐
กำพล จำปาพันธ์ - ภาสพงษ์ เรณุมาศ : เขียน
นักวิชาการอิสระ - รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความต่อไปนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน ประกอบด้วย
๑. ไม่มีประชาธิปไตยในความเป็นวีรบุรุษของ คมช. (กำพล จำปาพันธ์)
๒. ประชามติ :รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฤาไม่เอารัฐบาลเผด็จการ (ภาสพงษ์ เรณุมาศ)
โดยเรื่องแรกได้กล่าวถึงความเปลี่ยนวาทกรรมของคำว่าวีรบุรุษตามยุคสมัย
ที่ได้สะท้องแง่มุมของคำว่าวีรบุรุษในประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการลงประชามติ ทั้งที่ของนิยาม ความหมาย
ความสำคัญ และตัวอย่างการลงประชามติประเด็นต่างๆในต่างประเทศ
รวมถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องการลงประชามติในประเทศไทย
ซึ่งอาจมิได้สะท้อนถึงมติมหาชนตามที่ต้องการ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๑๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
วาทกรรมความเป็นวีรบุรุษและปัญหาของของการลงประชามติ
จากความเป็นวีรบุรุษของ
คมช. ถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐
กำพล
จำปาพันธ์ - ภาสพงษ์ เรณุมาศ : เขียน
นักวิชาการอิสระ - รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๑.ไม่มีประชาธิปไตยในความเป็นวีรบุรุษของ คมช.
กำพล จำปาพันธ์ : นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การยกย่องผู้นำ คมช. ให้เป็นวีรบุรุษขุนศึกผู้กู้แผ่นดิน ดังที่งานเขียนเชิงอัตชีวประวัติบางชิ้นได้ทำอย่างมีนัยสำคัญ
แง่หนึ่งก็ดูชวนขันเสียจนทำให้หลายท่านน่าจะคาดเดาได้ถึงระดับสติปัญญาความฟั่นเฟือนของเจ้าของผลงานดังกล่าว
ทว่าที่น่าแปลกเสียจนอาจทำให้บางท่านตกอยู่ในอาการ "ขำไม่ออก" ก็ได้
เมื่อสื่อหลายสำนักต่างขานรับเป็นเสียงเดียวกัน อย่างชนิดที่แทบจะหาข้อผิดเพี้ยนไปกว่ากันไม่ได้
ภาพลักษณ์ การกระทำ และความทรงจำต่าง ๆ ที่มีต่อการรัฐประหารถูกให้ค่าเป็นบวก
มีน้ำหนัก เป็นเหตุเป็นผล หลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งเห็นเป็นทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับแก้ไขวิกฤติทางการเมือง
จากนั้นไม่นานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเชื่องช้าแต่เป็นระบบมากพอจนสังเกตเห็นได้ง่าย
ก็คือ ภาพลักษณ์ของผู้นำ คมช. ตลอดจนนายทหารที่มีส่วนร่วมในการรัฐประหารสำหรับคนบางกลุ่มแล้ว
พวกเขาสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูไว้ในฐานะวีรบุรุษของชาติ [หรือของอะไรอื่นก็ตามที]
(1)
คำถามที่เกิดตามมาก็คือว่า ผลของการรัฐประหารทำให้นิยาม "ความเป็นวีรบุรุษ" ในสังคมไทยเปลี่ยนไปหรือไร ทำไมจึงนิยามกลุ่มคนที่ทำรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยว่าเป็น "วีรบุรุษ" ?
อันที่จริง ดูจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการ จะพบวีรบุรุษมากมาย ประวัติชีวิตและการกระทำของพวกเขาถูกยอมรับว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในขณะร่วมสมัยเดียวกับพวกเขา และทั้งยุคที่เขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับยุคพวกเขา ความสำคัญนั้นจะเห็นได้จากการถือวีรบุรุษบางท่านให้เป็นผู้มีบทบาทกำหนดหรือเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์จากยุคก่อนหน้า สมดังที่เรียกขานทฤษฎีประวัติศาสตร์แนวนี้ว่า "ทฤษฎีมหาบุรุษ"
ทว่าแม้สมเด็จพระนเรศวรเอง ก็อาจมีตำนานที่กล่าวขานถึงพระองค์ในอีกแง่มุมหนึ่ง เช่นที่ทรงไม่เคยว่างเว้นจากเครื่องศาสตราวุธ พกธนูไว้เมื่อพบใครทำผิดก็จะยิงผู้นั้นทันที โปรดให้ขุนนางเฉือนเนื้อตัวเองแล้วสั่งให้ผู้นั้นกลืนกินเนื้อนั้น จนขุนนางต่างหวาดกลัว เมื่อได้รับสั่งให้เข้าเฝ้าจึงมักตกแต่งบ้านเรือนพร้อมสั่งเสียลูกเมีย ราวกับจะไม่ได้กลับมาพบหน้าลูกเมียอีก มีผู้คนเสียชีวิตมากมายในรัชสมัยของพระองค์ บางฉบับกล่าวว่าพระองค์มีน้ำพระทัยเหี้ยมโหดกับเพื่อนบ้านขนาดทำพิธีปฐมกรรมตัดศีรษะเอาเลือดล้างพระบาท แม้สมัยหลังจะมีการพิสูจน์หักล้างว่าไม่เป็นความจริง ทว่าการสร้างเกียรติประวัติแก่พระองค์ด้วยเรื่องเล่าเช่นนั้น กลับเคยถือเป็นการถวายเกียรติแก่พระองค์เป็นอย่างสูง เนื่องเพราะความเคร่งครัดต่อกฎหมายบ้านเมืองและความเด็ดขาดในการปกครอง ถือเป็นคุณสมบัติที่อย่างน้อยก็น่าจะมีในอดีตมหาบุรุษ แต่เรื่องเล่าอันเป็นเกียรติประวัติสำหรับยุคหนึ่งก็อาจกลายเป็นเรื่องเล่าอันแสนอัปยศสำหรับอีกยุคถัดมาก็ได้
ในทางกลับกัน เรื่องเล่าที่ไม่เป็นที่ยอมรับแม้ในปัจจุบัน ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีผู้ตีความหรือทำให้กลายเป็นเรื่องเล่าในอีกแนวหนึ่งก็ได้ และผู้ตีความต้องเป็นผู้มีประโยชน์หรือส่วนได้เสียกับการเล่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยกย่องสมเด็จพระนเรศวรให้เป็นวีรบุรุษ [และ "มหาราช"] โดยอ้างความสืบเนื่องจากการเป็นจักรพรรดิราชของพระองค์ ก็เนื่องจากปมปัญหาลึกๆ ที่ต้องการอุทิศหนังสือพระประวัติสมเด็จพระนเรศวร ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในคราวเสด็จนิวัติกลับพระนคร
สถานะพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ที่ตกต่ำลงหลังเปลี่ยนระบอบการปกครอง ถูกแทนที่เทียบเคียงด้วยเรื่องราวความตกต่ำของราชอาณาจักรอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรยังทรงพระเยาว์ การประกาศอิสรภาพ กอบกู้พระราชอาณาจักร ตลอดจนการแผ่ขยายอำนาจของสมเด็จพระนเรศวร ถูกย่อยประทับลงเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการกอบกู้พระเกียรติยศแห่งราชจักรีวงศ์ หนังสือ "พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่ทำให้พระนเรศวรกลายเป็นวีรบุรุษ จึงเปรียบได้ดังคู่มือการต่อสู้ทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ (2) แต่เนื่องจากเกิดกรณีสวรรคตขึ้นเสียก่อน เราจึงไม่อาจทราบว่าในหลวงอานันท์จะทรงซาบซึ้งในน้ำพระทัยของ "เสด็จปู่ดำรง" ที่มีต่อพระองค์ในเรื่องนี้เพียงใด อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ก็ทรงรับอุปถัมภ์จัดการตีพิมพ์เผยแผ่ครั้งแรกในงานพระราชพิธีถวายพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๘ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๓
แต่ลักษณะความสำคัญได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะถูกตีความซ้อนทับให้เข้ากับอีกกรอบเต็มที่ คือกรอบของรัฐประชาชาติ หาใช่เพียงกรอบของรัฐราชวงศ์ดังพระประสงค์ท่านผู้นิพนธ์แต่ดั้งเดิม สมเด็จพระนเรศวรจึงกลายเป็นวีรบุรุษของชาติ นอกเหนือจากที่ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ วีรกรรมของพระองค์ถูกมองเป็นการกอบกู้เอกราชเทียบได้กับสงครามปลดแอกจากการยึดครองของเจ้าอาณานิคม เดิมซึ่งมีนัยยะทางชนชั้น [การต่อสู้ระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายราชวงศ์] ก็กลับกลายเป็นเรื่องชาติ [ไทย vs. พม่า] การบิดเบือนปัญหาภายในให้กลายเป็นปัญหาภายนอก ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมหนึ่งที่ชนชั้นนำยุครัฐประชาชาติมักปฏิบัติกัน (3)
เมื่อกล่าวว่ามีกระบวนการ "ทำให้เป็นวีรบุรุษ" หรือ "สร้างวีรบุรุษ" ความหมายเท่ากับบอกว่าเดิมหาได้มีวีรบุรุษไม่ หรือหากมีก็ไม่มีการนิยามเช่นที่พบในปัจจุบัน บางครั้งวีรบุรุษในปัจจุบันขัดแย้งสิ้นเชิงกับวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุคคลคนเดียวกันก็ตาม
โดยเหตุที่วีรบุรุษมักเป็นผู้นำ จึงมีบางด้านที่สะท้อน "ความเป็นตัวตน" ของคนบางหมู่เหล่า ขุนเจืองเป็นวีรบุรุษของชนกลุ่มน้อยลุ่มแม่น้ำโขง พอ ๆ กับที่เป็นวีรบุรุษของชนกลุ่มใหญ่ในภูมิภาคเดียวกัน ชนชาติข่านับถือพญาเจืองธรรมิกราชว่า จะกลับมาเกิดอีกครั้งเพื่อชี้นำการต่อสู้ปลดแอกพวกตนจากการปกครองของชนชาติลาว. ชนชาติไทในเวียดนามก็เชื่อตามวรรณคดี "เจืองฮาน" ว่าขุนเจืองคือวีรบุรุษของตน วีรบุรุษผู้ซึ่งเคยมีอำนาจปกครองเหนือชนชาติแกว [หรือ "แกวปะกัน" ในมหากาพย์ท้าวฮุ่งฯ] ซึ่งก็คือบรรพชนของชาวเวียดนามในปัจจุบัน มีคำกลอนเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ของขุนเจืองเช่นว่า ทัพเจืองไปถึงที่ไหนแผ่นดินถล่มถึงที่นั่น ทั้งวีรบุรุษผู้นี้ยังไม่ได้ห่างหายไปไหนแต่ดวงวิญญาณ ยังวนเวียนอยู่ไม่ไกลจากลูกหลาน เพราะเชื่อกันว่า เสียงหิ่งห้อยคือเสียงกะพรวนม้าของขุนเจืองที่ลูกหลานชนชาติไทจะได้ยินอยู่เกือบทุกค่ำคืน โดยนัยนี้เรื่องเล่าขุนเจืองจึงมีประเด็น "การเมืองอัตลักษณ์" ที่แฝงไว้ต่อรองอำนาจกับชนชั้นปกครอง [ทั้งในกรณีลาวและเวียดนาม]
เหตุนี้วีรบุรุษบางท่านสำหรับชนชั้นปกครองแล้วจึงกลายเป็นผู้ร้ายไป เมื่อครั้งสยามยังมีอำนาจเหนือลาวและทำสงครามปราบฮ่อในปี พ.ศ.๒๔๑๗ กองทัพสยามยังต้องปราบข่าแจะที่มีผู้นำเช่น พระยาพระกับพระยาว่าน ซึ่งประกาศตัวเป็นธรรมิกราชหรือขุนเจืองที่กลับชาติมาเกิด ทำการรวบรวมลี้พลจัดตั้งเป็นกองทัพต่อสู้กับลาว ฝรั่งเศส และสยาม ในทางกลับกันวีรบุรุษของชนชั้นปกครองอาจเป็นผู้ร้ายของคนชั้นล่างก็ได้ พระนเรศวรถึงได้มีตำนานเล่าขานตามแบบที่ปรากฏใน "พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต" ซึ่งนักประวัติศาสตร์เห็นว่า ฟาน ฟลีท เขียนจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน รวมทั้งใน "คำให้การชาวกรุงเก่า" ที่เป็นคำให้การของชาวบ้านโดยตรงก็บอกชัดว่า สงครามที่พระนเรศวรทรงทำกับพม่านั้น เป็นสงครามอันเกิดจากความแค้นเคืองส่วนพระองค์ที่มีต่อมหาอุปราชมังสามเกียดเท่านั้น
เทียบกันแล้ว ขุนเจืองเป็นวีรบุรุษมาแต่เดิม โดยไม่จำต้องผ่านกระบวนการทำให้เป็นวีรบุรุษด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ เช่นที่ชนชั้นนำไทยทำให้อดีตกษัตริย์กลายเป็นวีรบุรุษของชาติอย่างผิดฝาผิดตัว แต่ขุนเจืองเป็นวีรบุรุษเช่นใด นั่นต่างหากที่เป็นประเด็นปัญหา! ธรรมเนียมอันเป็นสากลทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการสร้างวีรบุรุษ คือยกย่องให้เป็นเทพ มีสถานะพ้นไปจากความเป็นมนุษย์
Achilles (4) แห่งสงครามทรอยจึงกลายเป็นเทพแห่งสงครามบนโลกมนุษย์และบุตรแห่งนางอัปสร Thetis สมัยยังเป็นทารกมารดานำไปชุบตัวในแม่น้ำ Styx ที่ไหลในยมโลก แต่ลืมหย่อนเท้าลงไปด้วย Achilles จึงขาดคุณสมบัติของเทพ [คือความเป็นอมตะ] เพียงที่เท้า ตอนหลังถูกธนูอาบยาพิษเข้าที่เท้า จึงเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ความตาย
แน่นอนว่าผู้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าสงครามทรอยย่อมต้องมีอะไรที่ไม่ธรรมดา เพราะมีตำนานกล่าวถึงทรอยว่า เป็นเมืองที่มีกำแพงสร้างโดยความร่วมมือกันของ ๒ เทพผู้ยิ่งใหญ่ คือเทพสมุทร Poseidon กับสุริยเทพ Apollon ผู้ที่จะเอาชนะอำนาจเทพได้ก็มีแต่เทพด้วยกันเท่านั้น Achilles คือเทพในคราบมนุษย์ที่มาช่วยพวกกรีกรบกับพวกโทรจัน เขาต่อสู้อย่างเทพ แต่ต้องตายอย่างมนุษย์ โดยนัยนี้ความเป็นมนุษย์ [แม้เพียงที่เท้า] จึงเป็นจุดอ่อนของวีรบุรุษในตำนาน เช่น Achilles
ความเป็นวีรบุรุษของขุนเจืองนั้นขมวดสองปมปัญหาเข้าด้วยกัน คือการเกิดและตาย ตามมหากาพย์ท้าวฮุ่งฯ ขุนเจืองเป็นแถนอยู่เมืองฟ้ามาแต่เดิม ได้รับคำสั่งพระยาแถนหลวงให้มาเกิดเป็นบุตรขุนจอมธรรม เพื่อจะได้ปกครองคนเมืองลุ่ม สุดท้ายเมื่อขยายอำนาจเหนือเมืองต่างๆ สำเร็จ แถนลอ แถนวี จึงรวมกำลังกันลงมาช่วยพวกแมนตาตอกฯ ทำศึกปราบกองทัพเจือง นำขุนเจืองกลับไปเป็นแถนอยู่เมืองฟ้าตามเดิม ด้วยคติความเชื่อของชนเผ่าไท - ลาว ขุนเจืองจึงเป็นแถน และแถนหรือผีตามคติความเชื่อดังกล่าวมีฐานะเทียบได้กับเทพของทางอินเดียใต้ บาบิโลเนีย จนถึงกรีก เมื่อเป็นแถนอย่างเต็มที่จึงไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะเอาชนะได้ ก็เลยร้อนถึงแถนด้วยกันให้ยกกองทัพผีลงมาปราบ
จุดนี้แตกต่างสิ้นเชิงกับวีรบุรุษสมัยใหม่ วีรบุรุษก็คือวีรบุรุษในตัวเอง หาได้ซับซ้อนถึงขนาดต้องอ้างอิงเชื่อมโยงกับโลกอื่นที่มีสถานะพ้นไปจากความเป็นมนุษย์ การเกิดจึงไม่ใช่ปมปัญหาสำคัญเมื่อเทียบกับการกระทำหรือพฤติกรรมขณะยังมีชีวิตอยู่ การนิยามความเป็นวีรบุรุษหลุดพ้นออกจากกรอบของตำนานและความเชื่อทางศาสนา ทั้งการกระทำที่ว่ามักมุ่งที่ประโยชน์ต่อรัฐเอง เพราะส่วนรวมหรืออาณาเขตสาธารณะอันเป็นเบ้าหลอมวีรบุรุษเปลี่ยนพื้นที่จากศาสนาเป็นรัฐ จึงสรุปได้ว่าวีรบุรุษสมัยใหม่มีนิยามที่ตื้นเขินอยู่เพียงผู้ทำประโยชน์ให้รัฐ หรือไม่ก็เสียสละเพื่อชาติเท่านั้น!
ชีวิตส่วนตัวจึงถูกแยกออกไป กลายเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญในการพิจารณาวีรบุรุษ จนความเสื่อมเสียในทางส่วนตัวถูกเพิกเฉยไม่มีพิษภัยต่อความเป็นวีรบุรุษ เพราะถือว่าการทำเพื่อส่วนรวมสำคัญกว่า "ผู้กล้า" ของตำนานสูญหายจนเหลือเพียง "คนดี" ในแบบฉบับของสังคมรัฐ ทว่าการแยกส่วนตัว - ส่วนรวมดังกล่าวเป็นเพียงมายาคติที่เพิ่งเกิด การแยกดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเรื่องส่วนตัวจะหายไปจริงๆ เพราะนอกจากจะเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกขาดอย่างสัมบูรณ์แล้ว ผู้นำบางคนยังสามารถทำเพื่อตนเองในนามของส่วนรวมได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย
การเคลื่อนไหวรณรงค์ด้วยวิธีทำประเด็นส่วนตัวให้มีความเป็นการเมืองโดยขบวนการสตรีนิยม ถือเป็นช่องทางเลือกสำคัญหนึ่ง สำหรับการตอบโต้หรือปฏิเสธการเมืองในแบบฉบับของระบบชายเป็นใหญ่ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องตัวเอง สั่นคลอนรากฐานของการเมืองในแบบของผู้ชายที่ถือว่าเรื่องส่วนรวมต้องมาก่อน ส่วนเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องทางบ้านเป็นหน้าที่ผู้หญิง นักสตรีนิยมวิพากษ์การกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ที่แฝงมาในหลากหลายรูปแบบทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว จากร่างกายที่เคยมองเป็นเรื่องของธรรมชาติก็เปลี่ยนประเด็นเป็นร่างกายในแง่สิ่งประดิษฐ์ของสังคม หันมาให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่ดูไม่ซับซ้อนและไม่เป็นการเมือง สู่การนิยามให้เป็นการเมืองได้แบบหนึ่ง เผยให้เห็นการกดขี่ทางเพศว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องภายในบ้านภายในครอบครัว แต่เป็นผลจากโครงสร้างอำนาจในสังคมที่ขาดมิติของความยุติธรรมและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
จากมุมมองของนักสตรีนิยม ก็ช่วยให้เรามองวีร "บุรุษ" ได้ว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ถูกสร้างและกำหนดจากระบบชายเป็นใหญ่ เรื่องเล่าของวีรบุรุษเป็นช่องทางหนึ่งที่มักแสดงความพิเศษเฉพาะเหนือกว่าในแบบของผู้ชาย สร้างความชอบธรรมให้ผู้หญิงยอมรับความอ่อนด้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ และทำให้ผู้ชายเกิดมายาภาพว่าตนเข้มแข็งกว่า สูงส่งกว่า มีความสามารถมากกว่า เหมาะสมจะเป็นผู้นำมากกว่า จนเห็นอีกฝ่ายอ่อนแอกว่าตน ฉะนั้นจึงเป็นภารกิจ [ทางเพศ] ที่ตนจะต้องให้ความปกป้องคุ้มครองอีกฝ่าย
ในรัฐประชาชาติไทย แม้จะมีการสร้าง "วีรสตรี" แต่ทว่าต้นแบบวีรสตรีของรัฐไทย เช่น พระสุริโยทัย กลับเป็นวีรสตรีที่ยอมตายเพื่อปกป้องสวามี หาใช่ชาติบ้านเมืองดังที่เราเข้าใจในปัจจุบันไม่ แม้จะมีความพยายามให้ความหมายต่อเรื่องราวของพระสุริโยทัยให้พระองค์ทรงเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติและแผ่นดิน แต่นั่นก็เท่ากับพระองค์ยังยอมรับระบบที่เป็นอยู่ สมยอมโดยทุ่มเทช่วยเหลือราชกิจของพระสวามีอย่างกระตือรือร้น ดังที่เราจะเห็นในภาพยนตร์ที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผู้กำกับ พระสุริโยทัยไม่เคยประทับนั่งในพระที่นั่งเคียงข้างระดับเดียวกับพระเทียรราชา พระองค์ทรงนั่งพับเพียบอยู่เบื้องล่างไม่ต่างจากบ่าวไพร่ในเรือนของพระเทียร การสิ้นพระชนม์บนคอช้างแทนที่จะเป็นโศกนาฏกรรมด้านลบของระบบดังกล่าว กลับเป็นเกียรติประวัติของพระองค์ในอีกแง่ กล่าวได้ว่าพระสุริโยทัยเป็นแบบฉบับวีรสตรีของระบบชายเป็นใหญ่อย่างเต็มที่ ทั้งมุมมอง เรื่องเล่า และการให้ความหมายต่างมุ่งที่ประโยชน์ของระบบที่เป็นอยู่อย่างเห็นได้ชัด
นอกจากการกระทำแล้ว องค์ประกอบสำคัญของเรื่องเล่าวีรบุรุษยังได้แก่ ความตาย ที่แม้จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความตายในอุดมคติทางศาสนา ที่เน้นการเสียสละสู่โลกหน้า เพื่อพระเจ้า หรือเพื่อสัจจะ แต่การจัดการกับความตายของบุคคลสำคัญสำหรับรัฐสมัยใหม่แล้ว ก็มีความสำคัญเทียบเท่ากับการจัดการชีวิตทางสังคมของพลเมือง นิยามความตายกลายเป็นจุดหักมุมในโครงเรื่องของวีรบุรุษ ทำให้ความเป็นวีรบุรุษได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ที่สามารถสั่นสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน โดยมากมักเป็นโครงเรื่องแบบโศกนาฏกรรม แสดงฉากการตายเพื่อคนอื่นได้อยู่ต่อ
กล่าวกันว่ากลุ่มคนแรก ๆ ที่พร้อมจะตายเมื่อมีภัยรุกราน คือตำรวจและทหาร วีรบุรุษส่วนใหญ่ก็ถูกปั้นแต่งให้ข้องเกี่ยวแต่กับศึกสงครามและการปราบปรามโจรผู้ร้าย ภายใต้บรรยากาศโครงเรื่องแบบนี้ยากที่จะมีวีรบุรุษระดับชาติที่เป็นฝ่ายบุ๋น เช่นพวกศิลปิน นักปราชญ์ นักคิดนักเขียน นักกวี ฯลฯ ตรงข้ามฝ่ายบู๊ซึ่งถูกฟูมฟักให้เชื่อเรื่องการเสียสละและการทำหน้าที่พิเศษแตกต่างจากคนอื่น กลับได้รับความเชื่อถือในสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ใช่ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างความเป็นตัวตนของตำรวจและทหารเองเพียงลำพัง และความเชื่อถือดังกล่าวนี้พวกเขาก็ไม่ได้รับมันมาฟรีๆ เพราะมีเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมกำกับไว้อยู่
สื่อสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม นวนิยาย ภาพยนตร์ ละคร การ์ตูน ฯลฯ ต่างมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าว ตำรวจและทหารถูกทำให้เป็น "พระเอก" ในหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ใช่เพียงที่ผลิตกันในประเทศ แต่ความบันเทิงฉาบฉวยที่ส่งตรงจากฮอลลีวูด ล้วนแต่มีเนื้อหาปลุกปั่นอยู่ตลอดว่ามีเหล่าร้ายแฝงตัวก่อความไม่สงบ จากนั้นก็จะมีฮีโร่คนเก่งออกทำการปราบปราม โครงเรื่องในงานบันเทิงดังกล่าวมักไม่มีความซับซ้อนไปกว่าการต่อสู้ระหว่างคนดีกับคนชั่ว หรือฝ่ายธรรมะกับอธรรม ที่ต้องจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายธรรม
โดยนัยนี้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ หาใช่เหตุการณ์ที่ห่างไกลจากจินตนาการของผู้คนไม่ เพียงแต่มันทำให้จินตนาการที่แฝงมาในรูปสื่อบริโภคกลายเป็นความจริงทางสังคมขึ้นมาเท่านั้น และคนกลุ่มแรกๆ ที่แสดงความชื่นอกชื่นใจกับรัฐประหารนี้จึงได้แก่ คนชั้นกลางในเมือง ผู้มักตกเป็นทาสสื่อบริโภคมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยนัยนี้แล้วเมื่อทักษิณกับพวกเป็นผู้ร้ายก่อเหตุวุ่นวายในบ้านเมือง ฝ่ายตรงข้ามจึงเป็นพระเอกและวีรกรรมรัฐประหารถูกตีค่าเป็นบวกย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เข้าใจได้ในแง่ที่มันถูกมองเป็นเหตุการณ์ที่คลี่คลายสถานการณ์ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการตอบโต้ผู้ร้าย คนเลว คนขายชาติ โกงกิน ส่วนฝ่ายตนนั้นดี มีคุณธรรมสูง เสียสละเข้ามาทำหน้าที่ เป็นฮีโร่ นับเป็นตรรกการคิดที่ปราศจากความเข้าใจต่อโลกและมนุษย์ที่มีวุฒิภาวะและความซับซ้อนอย่างเพียงพอ
แต่อย่างไรก็ตามบรรดา คมช.วีรบุรุษเก๊ของเราก็นิยามตัวเองอย่างนี้ชัดเจน และคิดว่าตัวเองเป็นพระเอกหรือวีรบุรุษภายใต้ตรรกนี้ แต่ความจริงอาจเป็นตรงข้าม สมมติว่าเราลองพลิกมุมสลับขั้วให้ คมช.กับพรรคพวกที่สนับสนุนเขาเป็นผู้ร้ายก่อเหตุสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองดูบ้าง เราอาจจะได้โครงเรื่องของการรัฐประหารอีกแบบหนึ่ง วีรบุรุษตัวจริงอาจจะได้แก่ คนอย่างคุณลุงไพรวัลย์ นวมทอง ก็ได้ [โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคุณทักษิณ] และวีรบุรุษขณะนี้อาจเป็นผู้ร้ายในอนาคตก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วีรบุรุษที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเท่ากับขาดองค์ประกอบหลักสำคัญของการเป็นวีรบุรุษ [คือโศกนาฏกรรมของความตาย] แง่นี้ผู้ที่ยกตนขึ้นเป็นวีรบุรุษทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับเรียกร้องที่จะตายอย่างหารู้เท่าถึงการณ์ไม่ คนที่มีสติและรู้รอบเพียงพอย่อมไม่ทำ!
เหตุผลเดียวกันนี้เองที่ผู้นำคณะราษฎร เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา และปรีดี พนมยงค์ เห็นพ้องกันที่จะปฏิเสธข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร [สมัยแรกๆ] ที่จะให้มีการสร้างอนุสาวรีย์คณะราษฎรขึ้นเป็นการเฉพาะ ต่อมาก็ปฏิเสธข้อเสนอของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่จะเฉลิมพระนาม "มหาราช" แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเห็นว่าตนยังมีชีวิตอยู่จึงไม่สมควรที่จะมีการยกย่องกันเช่นนั้น คณะราษฎรจึงเป็นแบบอย่างของกลุ่มคนที่กระทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาล แต่แสดงท่าทีอ่อนน้อมจนไม่ แม้แต่จะอวดอ้างคุณความดีของตน ไม่ยกตนขึ้นเป็นวีรบุรุษ ทั้งที่มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่
การหลงตัวเองของสมาชิก คมช. รวมทั้งการสอพลอของสื่อบางฉบับจึงขัดแย้งสิ้นเชิงกับแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของการสร้างวีรบุรุษในสังคมไทย เพราะขาดองค์ประกอบหลักสำคัญที่เป็นปัจจัยชี้ขาดของความเป็นวีรบุรุษ ทั้งการกระทำและเรื่องเล่าที่ใช้ [เช่น รัฐประหาร ๑๙ กันยา'] ก็ยังไม่อาจสร้างความชอบเพียงพอแก่การขึ้นหิ้งวีรบุรุษ แน่ใจได้อย่างไรว่าบุคคลเหล่านี้มีเกียรติเพียงพอที่จะมีความสำคัญในแบบเดียวกับที่พระนเรศวร หรือแม้คณะราษฎรเคยมีในประวัติศาสตร์?
อันที่จริงการยกตนขึ้นเป็นวีรบุรุษของคนเหล่านี้มีความหมายเท่ากับบอกว่า ตนอยู่เหนือคนอื่น ได้กระทำภารกิจที่สำคัญยิ่ง ใครอื่นทำไม่ได้ ต้องเป็นตนเท่านั้น ไม่ได้คิดบนพื้นฐานการยอมรับความแตกต่างหลากหลายและความเสมอภาคเท่าเทียมกันของบุคคล ไม่ได้คำนึงถึงหลักพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ร่วมกันกับคนอื่น หลักการมีส่วนร่วมของทุกคนก็ถูกละเลยอย่างตรงไปตรงมา วิธีคิดเช่นนี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหลักพื้นฐานของ "ประชาธิปไตย" เท่ากับเผยให้เห็นธาตุลักษณะเผด็จการออกมา... อย่างหน้ามึนตาใส!
เชิงอรรถ
(1) ในจำนวนงานเขียนขนาดพ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของสมาชิก คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เช่น กองบรรณาธิการมติชน. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ."ม้ามืด"... ผู้นำรัฐประหาร. [กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๐] เน้นเสนอข้อมูลประวัติพลเอกสนธิ แนะนำให้รู้จักว่าเป็นใคร มาจากไหน อย่างคร่าว ๆ, กองบรรณาธิการไอ.เอ็น.เอ็น. สนธิ - คมช. "ขุนพลปฏิวัติ ๒๕๔๙" [กรุงเทพฯ:ร่วมด้วยช่วยกัน, ๒๕๕๐] เน้นเสนอข้อมูลเช่นกัน แต่บางช่วงกลับแสดงความเห็นพร้อมให้คำยกย่อง คมช. เป็น "วีรบุรุษ" [เช่นในหน้า ๘๒ - ๘๓], ส่วนบางเล่ม เช่น ชรินทร์ แช่มสาคร. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ขุนศึกผู้กู้แผ่นดิน. [กรุงเทพฯ: กรีน ลิบรา, ๒๕๕๐] ที่มีคนเขียนคำนิยมอย่างพลโทบัญชร ชวาลศิลป์ และอดีตพคท. อย่างสหายช่วง กลับเต็มที่ในการเยินยอคมช. และรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๔๙ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสามเล่มก็เหมือนกันตรงที่ขาดแง่มุมทางประวัติศาสตร์ในการนิยามวีรบุรุษ(2) ผู้เขียนตระหนักดีว่าข้อเสนอเช่นนี้ยังจำเป็นต้องอธิบายแจกแจงเหตุผล ตลอดจนแสดงหลักฐานประกอบอีกมาก ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอไว้แต่เพียงลำลองเท่านั้น หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
(3) ขอให้นึกถึงกรณีพลเอกสนธิ ก่อกระแสเกลียดชังสิงคโปร์โดยกล่าวหาว่าดักฟังโทรศัพท์ ภายหลังจากมีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเยือนสิงคโปร์และเข้าพบรองนายกของประเทศดังกล่าว
(4) A mythical Greek hero of the Iliad; a foremost Greek warrior at the siege of Troy; when he was a baby his mother tried to make him immortal by bathing him in a magical river but the heel by which she held him remained vulnerable--his 'Achilles' heel'
๒. ประชามติ :รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ฤาไม่เอารัฐบาล(เผด็จการ)
โดย ภาสพงษ์ เรณุมาศ : เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
(1)
ตามที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง
3 วาระ ด้วยคะแนนเสียง 98 จากจำนวนเต็ม 100 คน ซึ่ง 2 คะแนนที่หายไป ก็มิได้เกิดจากการงดออกเสียง
หรือออกเสียงคัดค้านแต่อย่างใด แต่เนื่องจากที่สมาชิกท่านหนึ่งได้เดินทางไปต่างประเทศ
ส่วนอีกท่านหนึ่ง เข้ามาร่วมประชุมไม่ทัน เนื่องจากระยะเวลาในการลงมติใช้เวลาเพียง
30 นาที โดยการประชุมในครั้งนั้นได้มีมติให้วันที่ 19 สิงหาคม 2550 เป็นวันที่มีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
จากจุดกำเนิดดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปมขัดแย้งในทางสังคมและทางการเมือง ออกมาเป็นหลายฝ่าย อาทิเช่น
1. ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมิต้องพิเคราะห์ถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายนี้เห็นว่า กระบวนการได้มาของรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ที่มาของ สนช.ไม่ถูกต้อง ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน บ้างก็อ้างหลักต้นไม้มีพิษในทางกฎหมายบ้าง บ้างก็ไม่ชอบใจนโยบายของรัฐบาล บ้างก็ไม่ชอบการรัฐประหาร กลุ่มที่เสนอแนวคิดนี้ จะเห็นได้จากกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังบางท่าน กลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มที่เรียกร้องในท้องสนามหลวง จนปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มดาวกระจาย
2. ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยพิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย รายมาตราแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่มีลักษณะ ถอยหลังมากกว่าที่จะเดินหน้า อาทิเช่น การบัญญัติ นิรโทษกรรมลงในรัฐธรรมนูญ อันเสมือนเป็นการยอมรับการรัฐประหาร เป็นวิถีทางหนึ่งอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ บ้างก็อ้างว่าเป็นการร่างในลักษณะเพิ่มบทบาทให้กับภาคราชการ จนถอยหลังไปสู่ระบบเจ้าขุนมูลนาย บ้างก็อาศัยมาตราที่ฝ่ายตนเองไม่ได้รับผลประโยชน์ มาเป็นข้ออ้างในการไม่รับทั้งหมด บ้าง เช่น กรณีการไม่บรรจุพระพุทธศาสนา ในร่างรัฐธรรมนูญ3. ฝ่ายที่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมิต้องพิเคราะห์ถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มนี้เห็นว่า ประเทศประสบปัญหาและทางตันมามากพอแล้ว จึงควรจะหยุดการสร้างปัญหา บ้างก็อ้างว่าเพื่อเป็นการถวายในหลวงบ้าง และก็อีกนานาจิตตัง กลุ่มคนเหล่านี้ จะเห็นได้จาก กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพรรคการเมืองบางพรรค กลุ่มที่ไม่ชอบอำนาจเก่า กลุ่มที่สนับสนุนนโยบายและการทำงานของรัฐบาล และของ คมช. สุดท้าย
4. ฝ่ายที่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยพิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย แล้วเห็นว่า ยังมีส่วนดีอยู่บ้าง ช่วยป้องกันการคอรัปชั่น ได้ส่วนหนึ่ง ขจัดปัญหากระบวนการสรรหาในองค์กรอิสระ มีระบบตรวจสอบที่นำระบบศาลเข้ามาช่วยมากขึ้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติครอบคลุมและแก้ปัญหาการบังคับใช้ได้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้จะเห็นได้เป็นการทั่วไปในลักษณะทางสายกลาง
จากปมขัดแย้งดังกล่าว
ทำให้การลงประชามติในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นจุดสุดท้ายหรือทางเดินสุดท้ายในการชี้ขาด
หรือการแสดงความต้องการของคนบางกลุ่ม จนกลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองอย่างหนึ่ง
อันบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของการลงประชามติในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
อันมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนพิจารณาถึงเนื้อหาของร่าง ฯ ว่ามีความเหมาะสมในการปกครองหรือไม่
มิได้ให้แสดงออกถึงการเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น จากจุดนี้ ผู้เขียน จะขอกล่าวถึงการหลักการและแนวคิดในการลงประชามติ
หรือ Referendum ของไทย และของต่างประเทศ ว่ามีที่มาอย่างไร และแนวคิดดังกล่าวจะตอบโจทก์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
หรือเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น
1. แนวคิดเรื่องการออกเสียงประชามติ ( Referendum)
ในประเทศต่างๆ ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ที่มีการปกครองโดยประชาชนแล้ว จะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยนั้น มีอยู่ 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน
โดยรูปแบบแรก เรียกว่า"ประชาธิปไตยทางตรง" และรูปแบบที่สองเรียกว่า"ประชาธิปไตยแบบตัวแทน"
โดยประชาธิปไตยทางตรงจะเป็นรูปแบบที่เน้นการมีส่วนร่วมทางตรงของพลเมืองทุกคน
ในการใช้อำนาจทางการเมือง, ในขณะที่รูปแบบที่สอง คือประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น
จะเป็นรูปแบบที่อำนาจทางการเมืองถูกมอบหมายให้ตัวแทน ที่ได้รับการเลือกตั้งจากพลเมือง
เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว และจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการของตนเอง (2)
ประชาธิปไตยทางตรงนั้น มีที่มาย้อนหลังไปได้ถึงสมัยกรีกโบราณ หรือ เมื่อประมาณ
200 ปี ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเธนส์ ( Athens) และรัฐอื่น ๆ ของกรีก
ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละรัฐของกรีกเป็นรัฐขนาดเล็ก มีประชาชนไม่มากและประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับค่อนข้างดี
ดังนั้น จึงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในการกำหนดมาตรการในการปกครองตนเองได้
โดยประชาชนทั้งหมดของแต่ละรัฐจะเป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองโดยตรง ด้วยการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาตัดสินปัญหาต่างๆ
(3) ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ค่อนข้างคล้ายคลึงกับ ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
2. ความหมายของคำว่า "ประชามติ"
คำว่า "ประชามติ"
หรือ Referendum หรือบางรัฐเรียกว่า Plebiscite มีรากฐานมาจากภาษาลาติน (Latin)
ที่เรียกว่า Plebiscita ซึ่งหมายถึง"การลงคะแนนเสียง" หรือ"การลงคะแนนชี้ขาด"
โดยประชาชนทั่วไปเป็นผู้ชี้ขาดในการยอมรับหรือปฏิเสธ ข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งของรัฐ
อาทิเช่น การลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการลงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
(Constitution amendment) หรือกฎหมาย หรือการลงประชามติเพื่อกำหนดแนวทางในการปกครองประเทศ
จึงถือได้ว่าการลงประชามติ เป็นประชาธิปไตยทางตรงแนวหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบในการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากการเลือกตั้งโดยทั่วไป (General Election) การเลือกตั้งทางอ้อม (Indirect
Election) หรือการเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง (Local
Election)
3. การลงประชามติในประเทศต่างๆ
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การลงประชามติ ได้แพร่หลายไปสู่ในหลายประเทศ ในการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการปกครองประเทศหรือในการออกกฎหมาย
ซึ่งมีมากกว่า 13 ประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา อิหร่าน ชิลี ไอร์แลนด์
อิตาลี นิวซีแลนด์ โรมาเนีย เซอร์เบีย สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ บราซิล โครเอเชีย
ฝรั่งเศส เปอร์โตริโก (Pureto Rico) อังกฤษ หรือแม้แต่กระทั่งในภาคพื้นเอเชียเอง
เช่น ประเทศสิงคโปร์ (4) ซึ่งพอจะยกตัวอย่างได้ ดังนี้
3.1 ประเทศบราซิล
ในประเทศบราซิล ได้มีการนำเสนอโดยรัฐบาลให้ประชาชนลงประชามติ ในเรื่องการอนุญาตให้มีการขายอาวุธปืน (Firearms) หรือการส่งออกไปนอกประเทศ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธดังกล่าว ในประเทศตนเอง โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการปลดอาวุธ หรือลดอาวุธ" (Project disarmament) ซึ่งก็มีผู้โหวตให้ความยินยอมให้มีการขายอาวุธปืนต่อไปได้ถึง 122 ล้านคน เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 20053.2 ประเทศสเปน
ในปี ค.ศ. 1976 รัฐบาลของประเทศสเปน ได้จัดให้มีการลงประชามติของประชาชน ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง(เผด็จการ) หรือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ภายหลังที่เกิดการเสียชีวิตของ Francisco Franco ซึ่งผลการลงประชามติดังกล่าว ปรากฏว่า ชาวสเปน (Spaniards) เลือกที่จะเปลี่ยนแปลง ถึง 94 % และอีกครั้งหนึ่ง คือ การลงประชามติในการเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ (NATO) ในปี ค.ศ. 1986 (Spain: In 1976 a referendum was held to determine if citizens wanted to change the political system (i.e., the dictatorship) or not to change it, after the death of Francisco Franco. Spaniards chose (94%) to change ("Refer?ndum para la reforma pol?tica", literally ?Referendum for political reformation?). Also, in 1986 another referendum approved Spain's membership to NATO.) (5)3.3 ประเทศเวเนซูเอล่า
ในประเทศเวเนซูเอล่าเอง ก็ได้มีการจัดให้มีการลงประชามติในการถอดถอนการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Hugo Chavez เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2004 ซึ่งผลการลงประชามติดังกล่าว ปรากฏว่า ชาวเวเนซูเอล่าประมาณ 59% หรือกว่า 5 ล้านแปดแสนคน ลงประชามติไม่ถอดถอน Chavez ส่วนอีก 42 % หรือกว่า 3 ล้านเก้าแสนคน เลือกให้มีการถอดถอน โดยมีผู้ Non-Voting ถึง 30% (Venezuela: In the Venezuelan recall referendum of 2004 voters determined whether or not Hugo Ch?vez, the current President of Venezuela, should be recalled from office. The result of the referendum was to not recall Ch?vez.) (6)3.4 ประเทศฝรั่งเศส
ในประเทศฝรั่งเศส เองก็ได้มีการกำหนดวิธีการลงประชามติไว้ ในกรณีที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับฉันทานุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ในสภา ที่เรียกว่า Super - Majority in Parliament หรือมิฉะนั้น ก็มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในการลงประชามติ3.5 ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีระบบการออกเสียงประชามติมาร่วม 200 ปี โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกเสียงประชามติ ระดับมลรัฐ เนื่องด้วย สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ และประกอบด้วยมลรัฐ เป็นจำนวนมาก แต่ละมลรัฐต่างก็มีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง ดังนั้น การออกเสียงประชามติของประชาชนแต่ละมลรัฐ จึงเป็นเรื่องที่เคยชิน และมักจะมีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ อยู่บ่อยๆ ในแต่ละมลรัฐ
4. การลงประชามติในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่
24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็เข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยนำเอาระบบประชาธิปไตยโดยตรงมาใช้เป็นส่วนเสริมอยู่บ้าง
โดยจากรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร จำนวนทั้งหมด 17 ฉบับ ปรากฏว่ามีรัฐธรรมนูญจำนวน 6
ฉบับ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยได้ด้วยวิธีการออกเสียง
นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492, พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2517, พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม
พ.ศ. 2539) พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2549 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ซึ่งความหมายของ การแสดงประชามติ ตามแบบไทยๆ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเข้าร่วมในคำเสนอที่ฝ่ายปกครองได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น
แต่ความคิดเห็นจะผูกพันหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของฝ่ายปกครอง และกฎหมายบัญญัติ
4.1 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2511 และฉบับปี พ.ศ. 2517
โดยทั้ง 3 ฉบับ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐสภาและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยฯ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศ หรือประชาชนและทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศ ออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น. ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่ปรากฎว่ามีการนำออกมาใช้ เพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ แต่อย่างใด4.2 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2539)
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภา ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยได้มีการกำหนดไว้ให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญกระบวนการออกเสียงประชามติจึงไม่เกิดขึ้น4.3 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540
ได้นำเรื่องระบบการออกเสียงประชามติ มาบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่งในมาตรา 214 โดยกำหนดเหตุที่จะต้องมีการออกเสียงประชามติไว้ว่า จะต้องเป็นกิจการในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้ และนอกจากนี้ ผลของการออกเสียงประชามติก็ไม่ผูกพันรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตาม เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ผลของการออกเสียงประชามติเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีเท่านั้น4.4 ประชามติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน นั่นคือ พ.ศ. 2549 (ฉบับชั่วคราว)
ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ไว้ในมาตรา 29 - มาตรา 31 ให้ประชาชนออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยถ้าเห็นชอบก็ให้นำร่างดังกล่าวออกบังคับใช้ แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ก็ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี นำรัฐธรรมนูญ ฉบับใดฉบับหนึ่ง มาแก้ไขและออกมาใช้บังคับแทน
บทวิพากษ์ การลงประชามติในประเทศไทย
ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550
จากแนวคิดและความเป็นมาของประเทศไทย
และของต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า การทำประชามติอันเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางหนึ่งมาใช้
มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งในต่างประเทศเอง บางครั้งการคำนึงถึงเสียงของประชาชนในการลงประชามติมากเกินไป
ก็อาจเกิดผลของประชามติ ที่ไม่ตรงหรือไม่ถูกต้องเจตนารมณ์ ของการลงประชามติในเรื่องนั้น
ๆ เช่น
- ล่าสุดกรณี ของประเทศฝรั่งเศส ในการลงประชามติครั้งที่ 10 ในเรื่องของธรรมนูญยุโรป เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2548 ผลปรากฏว่า มีผู้ให้ความเห็นชอบ 45.32 % และมี ผู้ไม่ให้ความเห็นชอบ 54.68 % ซึ่งจำนวนที่ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่ง มิได้มาจากการพิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียของการเข้าเป็นสนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรป หรือ European Constitution แต่มีนัยสำคัญที่ไม่เห็นด้วย กับรัฐบาล Jacques Chirac ทั้งแนวนโยบายต่างๆ ของรัฐที่ประทบต่อส่วนได้เสียของประชาชน เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ระบบประกันสังคม การขยายระยะเวลาการทำงาน การปฏิรูประยะเวลาเกษียณอายุ ฯ ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดที่ไม่ยอมรับในความสามารถ ของรัฐบาล และประจวบเหมาะกับการลงประชามติ จึงมิได้เกิดความสงสัยเลยว่า นั่นคือ ช่องทางหนึ่งที่ประชาชนจะอาศัยโอกาสนี้ ลงโทษรัฐบาลของตน ซึ่งเมื่อผลเกิดขึ้นเช่นนี้ หลังจากนั้นเพียง 2 วัน นาย Pierre Raffarin จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
-ประเทศเนเธอร์แลนด์ เหตุการณ์ ดังที่กล่าวมาในประเทศฝรั่งเศส มิได้เกิดเพียงประเทศเดียว ในอารมณ์ของการไม่เอารัฐบาล หรือไม่พอใจรัฐบาล โดยผ่านการแสดงออกทางประชามติ เพราะหลังจากนั้นเพียง 3 วันให้หลัง คือ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ประเทศเนเธอร์แลนด์เอง ประชาชนก็ออกเสียงประชามติ ในเรื่องธรรมนูญยุโรป เช่นเดียวกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความเห็นชอบในการเข้าเป็นสนธิสัญญาดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งไม่ชื่นชอบในแนวนโยบายของ Jan Peter Balkenende (Prime Miniater)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การลงประชามติ บางครั้งก็เป็นการลงประชามติที่ก่อให้เกิดแนวทางในการปกครองประเทศ หรือมีผลต่อแนวนโยบายของรัฐบาล เช่น ในประเทศบราซิลในเรื่องการขายอาวุธ สเปนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในเวเนซูเอล่าเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดี. แต่อีกแนวทางหนึ่ง อาจเป็นการลงประชามติที่มิได้ตรงตามเจตนารมณ์ ในเรื่องประชามตินั้นๆ แต่เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจผู้ปกครอง โดยการแสดงออกผ่านประชามติ
นอกจากนี้บางประเทศใช้การลงประชามติ ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ เรียกว่า Referendum Consult คือ เป็นการขอคำปรึกษาจากประชาชน โดยผลประชามติดังกล่าว ไม่ผูกพันรัฐแต่อย่างใด เช่น ในประเทศกรีก สเปน และประเทศลักซัมเบอร์ก ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
จากประวัติศาสตร์ต่างๆ ของทั่วโลก ที่เคยผ่านการใช้วิธีการออกเสียงประชามติ จนมาถึงปัจจุบัน อันเป็นรอยต่อของประเทศไทย จึงสามารถมองเห็นถึงอนาคตได้ว่า การออกเสียงประชามติ ในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ของประเทศไทย อาจเจริญรอยตามแบบในอารยประเทศ กล่าวคือ ปัจจัยในการรับหรือไม่รับ มิได้อยู่กับแต่เพียงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ตามที่รัฐบาลต้องการที่จะให้เป็น อันเป็นเป้าวัตถุประสงค์ของการลงประชามติ แต่อาจมีปัจจัยที่แฝงอยู่ในการลงประชามติ ที่จะถึงนี้ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550
ปัจจัยแฝงดังกล่าว อาทิเช่น
- ความไม่พอใจในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
- ความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ อาทิ
เช่น มาตรการกันสำรองค่าเงินบาท 30 % เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ที่ก่อให้เกิดการเสียหายทางบัญชีของรัฐ อัตราการว่างงานของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม หรือในเรื่องการแก้ปัญหาทางภาคใต้
- ความไม่พอใจในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มิได้มีการร่างตามความต้องการของคนบางกลุ่ม เช่น
นักการเมือง พระภิกษุ หรือองค์กร NGO บางส่วน
- ความไม่พอใจในตัวรัฐมนตรี หรือบุคคลในรัฐบาล อันมาจากความไม่เชื่อมั่นในความสุจริต และท่าทีที่มีลักษณะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน
- กลุ่มอำนาจเก่า หรือ กลุ่มที่ประชาชนยังนิยมชมชอบในรัฐบาลทักษิณ โดยในปี พ.ศ. 2548 มีผู้มาจดทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยถึง 14 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2549 ที่มีการจัดการเลือกตั้ง มีผู้เลือกพรรคไทยรักไทย ถึง 16 ล้านคน
เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยแฝง ที่อาจเกิดขึ้นในการลงประชามติ ในครั้งนี้
หมายเหตุและเชิงอรรถ
(1) บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด
(2) นันทวัฒน์ บรมานันท์ ,การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ฯ (ตอนที่ 1),
www.Pub-Law.net เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545.
(3) กมล สมวิเชียร ,ประชาธิปไตยกับสังคมไทย (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์,2520) หน้า ก.
(4) http://en.wikipedia.org/wiki/Referendum. วันที่ 9 กรกฎาคม 2550
(5) เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน เพื่อความถูกต้อง
(6) เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน เพื่อความถูกต้อง
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com